Position sizing คืออะไร

Position sizing เป็นกระบวนการที่ใช้ในการกำหนดขนาดการลงทุนในแต่ละไม้การเทรด ว่าจะเราลงทุนเท่าไหร่ เพื่อควบคุมความเสี่ยงในการลงทุน โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ผลตอบแทนที่คาดหวัง และเงินทุนที่มีอยู่ 

ความสำคัญของ Position sizing

การกำหนดขนาดการลงทุนนั้นมีความสำคัญต่อผลการเ่ทรดของเราเป็นอย่างมาก ถ้าเรากำหนดไม้การลงทุนที่น้อยเกินไป ก็จะทำให้เวลากำไรก็จะน้อยตาม แต่หากเรากำหนดไม้การลงทุนมากเกินไป ความเสี่ยงที่พอร์ตจะระเบิดก็มีมาก ดังนั้นเราควรกำหนดไม้ในการลงทุนให้เหมาะสม ให้เราสามารถเทรดได้กำไรเหมาะสม และในอีกด้านนึงก็ต้องไม่เสี่ยงมากเกินไปด้วยเช่นเดียวกัน

กลยุทธ์ในการวาง Position sizing

การทำ Position sizing สามารถทำได้โดยใช้วิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. Fixed Dollar Amount

เป็นวิธีการกำหนดขนาดไม้การลงทุนที่เรียบง่ายที่สุด โดยเทรดเดอร์เลือกขนาดความเสี่ยงที่รับได้เป็นตัวเลขที่แน่นอนออกมาเลย 

เช่น ถ้าเรากำหนดความเสี่ยงอยู่ที่ 2,000 บาท ต่อไม้การเทรด เราสามารถคำนวณปริมาณการเทรดของเราได้จากตัวเลขดังกล่าว 

เช่น สมมติจะเข้าซื้อหุ้น ราคา 100 บาท วางจุด Stop loss อยู่ที่ระดับ 90 บาท (Risk = 10 บาท) ดังนั้นเราจะเข้าเทรดต่อไม้อยู่ที่ 2,000 / 10 = 200 หุ้น นั่นเอง

หรือ อีกกรณีนึง คือ กำหนดขนาดการลงทุนที่ชัดเจนไปเลย เช่น เทรดไม้ละ 100,000 บาท สมมติราคาหุ้นอยู่ที่ 100 บาท ดังนั้นเราจะเข้าเทรดจำนวน 100,000 / 100 = 1,000 หุ้น 

  1. Fixed Percentage Risk

คล้ายกับวิธี Fixed Dollar Amount แต่จะคำนวณเป็นเปอรเซนต์แทน โดยส่วนมากมักจะกำหนดความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 2% ของพอร์ต (อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของเทรดเดอร์) 

ข้อดีของการใช้วิธี Fixed Percentage Risk จะทำให้ขนาดไม้การเทรดของเราขยับไปตามมูลค่าพอร์ตของเรา ถ้ามูลค่าพอร์ตสูงขึ้น มูลค่าการเทรดต่อไม้ก็จะสูงขึ้นต่อ ในทางตรงกันข้าม ถ้ามูลค่าพอร์ตลง มูลค่าการเทรดต่อไม้ก็จะลงตาม (ไม่เหมือน Fixed Dollar Amount ที่จะคงที่อยู่ตลอด ไม่ว่าพอร์ตจะขึ้นหรือลง)

ตัวอย่างการคำนวณ สมมติกำหนดความเสี่ยงอยู่ที่ 2% ขณะที่ขนาดพอร์ตเราอยู่ที่ 20,000 บา่ท ดังนั้นแปลว่า เรารับความเสี่ยงต่อไม้สูงสุดได้ที่ 400 บาท (2%*20,000) โดยสมมติราคาหุ้นอยู่ที่ 100 บาท แล้ว Stop loss อยู่ที่ระดับ 90 บาท (Risk = 10 บาท) ก็จะเข้าเทรดจำนวน 400/10 = 40 หุ้น

หรือ อีกกรณีเช่นเดียวกัน คือ กำหนดขนาดการลงทุนในแต่ละไม้ ตาม % การลงทุนที่ต้องการไปเลย เช่น ลงตัวละ 10% ของพอร์ต อย่างถ้า ขนาดพอร์ต 40,000 บาท ก็จะเทรดไม้ละ 4,000 บาท นั่นเอง

  1. Volatility-Based Position Sizing Strategy

เป็นการคำนวณไม้การเทรดผ่าน “ความผันผวน” ของราคา โดยตลาดหรือราคาสินทรัพย์ต่างๆ มีการแกว่งตัวของราคาที่หลากหลาย ความผันผวนต่างกันในแต่ละช่วง เราสามารถกำหนดขนาดไม้การลงทุนตามความผันผวนของราคาได้ด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างปกติ ช่วงที่ผันผวนมาก จะเสี่ยงมาก ก็ควรลดขนาดไม้ในการเทรด และในทางตรงกันข้าม ช่วงที่ผันผวน จะเสี่ยงน้อย เราก็สามารถเพิ่มขนาดไม้ในการเทรดได้เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างการใช้ ATR ในการกำหนด Position sizing ในการเทรด เช่น พอร์ตมูลค่า 150,000 บาท ขนาดความเสี่ยงที่รับได้อยู่ที่ 5,000 บาท หุ้นมูลค่า 200 บาท ค่า ATR อยู่ที่ระดับ 4.5 กำหนด Stop loss ที่อยู่ที่ระดับ 2*ATR ดังนั้นความเสี่ยงที่รับได้คือ 2*4.5 = 9 ซึ่งจะทำให้สามารถซื้อหุ้นได้อยู่ที่ 5,000 / 9 = 555.55 หุ้น

  1. The Kelly Criterion

วิธีการนี้ถูกพัฒนาโดย John L. Kelly ซึ่งเป็นที่กว้างขวางในการใช้ในการเทรดเพื่อการกำหนดขนาดต่อไม้การเทรด และในวงการพนันยังชอบใช้กันอีกด้วย

Kelly Formula

Kelly% = W – [ (1-W) / R ]

โดยที่ 

  • Kelly % คือ จำนวนเงินที่จะเทรดต่อ 1 ไม้
  • W = %Win ของกลยุทธ์ที่ใช้
  • R = Win/Loss ratio

ดังนั้นในการใช้วิธีนี้ เราต้องทำการ Backtest เพื่อดู %การชนะ และ Win/Loss ratio ว่าเป็นเท่าไหร่ สมมติเราคำนวณ Kelly% ได้ที่ระดับ 0.03 แปลว่าการเทรดของเราควรอยู่ที่ระดับ 3% ของเงินลงทุน

สรุป

นี่เป็นเพียงวิธีการส่วนหนึ่งของ Position sizing โดยยังมีอีกหลากหลายวิธีการ เช่น Optimal F, Progressive Exposure, Dynamic position sizing, Sizing based on conviction level และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหลักสำคัญของการกำหนดไม้ในการเทรด คือ การควบคุมความเสี่ยงให้ความเสี่ยงของเราอยู่ในระดับที่เหมาะสมนั่นเอง