Trailing Stop คือ
Trailing Stop คือ การเลื่อนจุด Stop loss ขึ้นมาเรื่อยๆ ตามราคาปัจจุบัน โดยเป็นการตั้ง Stop loss ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถ Lock กำไรในการเทรดได้ เพื่อให้ไม้ที่กำไร ไม่กลับเป็นขาดทุน
โดยเป็นการยกระดับ Stop loss ขึ้นไปเรื่อยๆ ในกรณีที่เราเทรดถูกทางแล้ว
วิธีการตั้ง Trailing Stop มีอยู่ 2 แบบ
- ไม่ใช้กราฟ
- ใช้กราฟ
การตั้ง Trailing Stop แบบ ไม่ใช้กราฟ
ส่วนมากเราจะกำหนดจุด Trailing Stop เป็น % ไปเลย เช่น 5%, 10% หรือ 20% เป็นต้น คือถ้าราคาลงมาจากระดับ High กี่เปอร์เซ็นต์ เราจะทำการปิดออเดอร์ในการเทรดนั้น
เช่น
สมมติ เข้าซื้อหุ้น AAA ที่ระดับราคา 100 บาท ตั้ง Trailing Stop ไว้ที่ 10%
หลังจากที่เราเข้าซื้อหุ้น ราคาหุ้นก็ได้ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ไปถึงระดับ 120 บาท
ถ้าราคาลงจากระดับ 120 บาท มาที่ 108 บาท (10% ของ 120บาท = 12 บาท … ระยะทางการ Stop loss) เราก็จะปิดออเดอร์ทันที
แต่หากราคาย่อตัวลงมาไม่ถึง 108 บาท เราก็จะยังถือออเดอร์นั้นต่อไปเรื่อยๆ
และถ้าราคาขึ้นไปทำ High ใหม่ต่อ เช่น ไปถึง 150 บาท เราก็ต้องขยับจุด Trailing Stop ขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน (เป็น 135 บาท … คำนวณจาก 10% ของ 150 บาท = 15 บาท … เป็นระยะทางการ Stop loss)
จากตัวอย่าง เป็นการตั้ง Trailing Stop ที่ 10%
ในการย่อตัวรอบแรก เรายังไม่ขายออก เนื่องจากราคาย่อตัวเพียง -6.9% ไม่ถึงระดับ Trailing Stop ที่เรากำหนด
เราจะมาขายในช่วงการย่อตัวรอบที่ 2 เนื่องจากราคาย่อตัวเกินระดับ Trailing Stop ที่ 10%
เสริม : จะนับจาก High หรือ จาก Close ของจุดสูงสุดก็ได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับสไตล์การเทรดของแต่ละคน
การตั้ง Trailing Stop แบบ ใช้กราฟ
วิธีนี้จะใช้กราฟเป็นตัวกำหนดจุด Trailing Stop อย่างที่นิยมกันจะมีอยู่ 2 วิธี คือ การยก Low และ การใช้เส้นค่าเฉลี่ย
การยก Low
เราจะขยับจุด Trailing Stop ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามรอบการทำ Low ของราคา (Higher Low)
จากกราฟตัวอย่าง เราจะยกจุด Trailing Stop ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการทำ Low ที่สูงขึ้นของรอบ และหากราคาหลุดจุด Trailing Stop เมื่อไหร่ ก็จะเป็นจุดขายนั่นเอง
การใช้เส้นค่าเฉลี่ย
วิธีนี้จะคล้ายๆกันการถือรันเทรน โดยถือว่าเป็นการใช้ Trailing Stop เช่นเดียวกัน
เราจะใช้เส้นค่าเฉลี่ยเป็นตัวกำหนดจุด Trailing Stop คือถ้าตราบใดที่ราคายังไม่ลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยที่เรากำหนด เราก็จะถือหุ้นไปเรื่อยๆ รอจนกว่าราคาลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย ค่อยเป็นจังหวะในการขาย
จากตัวอย่าง ใช้เส้นค่าเฉลี่ย 25 วัน เป็นตัวกำหนดจุดออก
ซึ่งการใช้กราฟเป็นตัวกำหนดจุด Trailing Stop นั้น สามารถนำไปพลิกแพลงเติมเพิ่มได้หลากหลาย
อย่าง Chandelier Exit ที่ผมเคยนำเสนอ เป็นการใช้ Trailing Stop ที่ผสมผสาน ช่วง High-Low กับ ATR เข้าด้วยกัน (เพื่อให้คำนึงถึงความผันผวนของช่วงนั้นเข้าไปด้วย) เป็นการเสริมประสิทธิภาพในการใช้งาน
สรุป
หลายคนอาจคิดว่าการใช้ Trailing Stop ใช้ได้เฉพาะ สายรันเทรน แต่จริงๆแล้ว อย่าง Swing trade ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นเดียวกัน รวมถึงกลยุทธ์อื่นๆด้วยเช่นเดียวกัน โดยหลักการของมันคือ ป้องกันไม่ให้ไม้ที่กำไรแล้ว กลับมาขาดทุน