อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น

สรุปหนังสือ อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น

เปลี่ยนการคุยเล่นที่ไร้สาระ ให้เป็นการคุยเล่นแบบชนชั้นแนวหน้า เวลาได้ยินคำว่าการคุยเล่น น่าจะนึกถึงการคุยเรื่องไร้สาระอย่างสนุกสนาน หรือการพูดคุยเรื่องเบา ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น การคุยเล่นไม่ใช่เรื่องไร้สาระ จริง ๆ แล้วการคุยเล่นเป็นเหมือนเวทมนต์ที่ช่วยเสกความสัมพันธ์ และคุณภาพการทำงานให้เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่รากฐาน ทว่าคนส่วนใหญ่ไม่นึกถึงพลังที่แท้จริงของการคุยเล่น อยากจะเตือนว่ากำลังทำเรื่องขาดทุนอย่างมากโดยไม่รู้ตัว เมื่อประสบความสำเร็จในการสื่อสาร ก็จะเกิดผลกระทบดี ๆ ต่อชีวิตอย่างมหาศาล

ในบรรดานักธุรกิจเก่ง ๆ พนักงานที่มีลูกค้าประจำเยอะ และนักแสดงที่โด่งดังในวงการบันเทิงหลายคน มีเทคนิคการเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น ซึ่งอาศัยการพูดคุยเพียงแค่ไม่กี่นาที เทคนิคนี้เป็นสิ่งที่คนชั้นแนวหน้ามีติดตัวกัน และเป็นหัวใจสำคัญของทักษะการคุยเล่น วิธีพูดที่ทำให้ตัวเองดูมีเสน่ห์มากขึ้น และสามารถทำให้อีกฝ่ายประทับใจได้ในเวลาสั้น ๆ ทั้งในกรณีของการทำงานและชีวิตส่วนตัว ก็เป็นทักษะการคุยเล่นแบบคนชนชั้นแนวหน้า

ทักษะการคุยเล่นเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้ อีกทั้งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตการทำงาน และมีโอกาสได้ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ มากกว่าทักษะอื่น ๆ ยิ่งฝึกฝนมากเท่าไหร่ผลลัพธ์ก็ยิ่งแสดงออกมาให้เห็นได้ง่ายขึ้น แถมยังสามารถเลียนแบบวิธีของคนอื่น และนำไปประยุกต์ใช้กับใครก็ได้ สรุปแล้วการที่คนชั้นแนวหน้าพูดต่อหน้าผู้อื่นได้ดี และสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างชำชองนั้น เป็นผลลัพธ์จากการที่พวกเขาคิดว่า ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ต้องฝึกฝนตัวเอง และลงมือทำอย่างมุ่งมั่นนั่นเอง

บทที่ 1

วิธีเริ่มต้นคุยเล่นแบบชนชั้นแนวหน้า

นำเสนอตัวเองให้คู่สนทนารู้สึกชื่นชอบและไว้วางใจ การคุยเล่นสามารถเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดที่คู่สนทนามีไปได้อย่างสิ้นเชิงคนเราจะประเมินอีกฝ่ายแบบคร่าว ๆ ตั้งแต่นาทีแรกที่เริ่มสนทนา โดยใช้เวลามากที่สุดไม่เกิน 4 นาที นั่นหมายความว่าเวลาที่อยากขอร้อง หรืออยากเสนอเรื่องบางอย่างกับอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายยอมรับคำขอ หรือข้อเสนอได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย เทคนิคที่แนะนำให้ใช้ในช่วงต้นของการสนทนาคือ การนำเสนอตัวเองในระดับที่พอเหมาะ

หลักพื้นฐานของวิธีการนี้คือ ไม่โอ้อวดตัวเองและเล่าเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยของตัวเอง ข้อระวังในการเล่าเรื่องผิดพลาดคือ ไม่ต้องเล่าเรื่องผิดพลาดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า คน ๆ นี้ไม่เอาไหน รวมถึงไม่เล่าประสบการณ์ หรือเรื่องส่วนตัวที่อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกรังเกียจ ตัวอย่างเช่น “ผมเป็นคนจังหวัด…รู้ไหม ผมเคยเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเดียวกันกับดาราสาว…ด้วยนะครับ” แค่คุยเล่นไม่กี่คำแบบนี้ บรรยากาศการสนทนาก็ครึกครื้นขึ้นแล้ว แถมการแทรกข้อมูลที่อีกฝ่ายสนใจเข้าไปยังช่วยสร้างโอกาสในการต่อยอดการสนทนาอีกด้วย

สิ่งสำคัญในตอนที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเองก็คือ ต้องพูดสรุปแบบสั้น ๆ เวลาเล่าเรื่องอะไรสักอย่างก็เหมือนกัน ให้พูดสรุปภายใน 30 วินาทีถึง 1 นาที

พูดว่าขอฝากเนื้อฝากตัวด้วย ในช่วงต้นของการสนทนา ตอนคุยเล่นเรื่องที่ทำได้ยากเอาเรื่องก็คือ การทักทายอย่างนอบน้อมในช่วงต้นของการสนทนา สาเหตุนั้นมีอยู่มากมายแต่หลัก ๆ แล้ว เป็นเพราะคนส่วนใหญ่มักจะไม่ใส่ใจกับการทักทายในช่วงต้นของการสนทนา โดยเฉพาะกรณีพูดคุยกับคนที่เพิ่งเคยเจอหน้ากันเป็นครั้งแรก มักจะประหม่าหรือเขินอายมากกว่าปกติ การสนทนาจึงติดขัด และพลอยทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเกร็งไปด้วย

ช่วงต้นของการสนทนาคือ ส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญ ถ้าเปิดการสนทนาได้ดี บรรยากาศการสนทนาหลังจากนั้นก็จะดีตามไปด้วย การทักทายอย่างนอบน้อมว่าขอฝากเนื้อฝากตัวด้วย ถือเป็นการสร้างโอกาสให้สามารถพูดคุยกับอีกฝ่ายในภายหลังได้ อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริง ๆ แล้ว นี่เป็นก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่งเลยทีเดียว แน่นอนว่าเทคนิคนี้ไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้ในเรื่องงานเท่านั้น แม้แต่ในงานเลี้ยงสังสรรค์ ก็สามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้ได้เช่นกัน

การเข้ากับคนอื่นยากไม่ใช่ความผิดปกติ หรือเรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพราะคนในโลกนี้ส่วนใหญ่เดิมทีเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นยากอยู่แล้ว ความแตกต่างระหว่างคนที่เข้ากับคนอื่นยาก และคนที่เข้ากับคนอื่นง่ายคือ ปริมาณประสบการณ์เมื่อได้พบเจอกับผู้คนมาก ๆ ก็จะเริ่มคุ้นเคยกับคนอื่น และมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาทักษะการสื่อสารของตัวเอง ทำให้สื่อสารเก่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ คนที่คิดว่าตัวเองเข้ากับคนอื่นยากคือ คนที่มีอุดมคติในเรื่องการสื่อสารสูง เนื่องจากว่าทักษะการสื่อสารของตัวเองยังไม่ดีพอ ซึ่งอดคิดไม่ได้ว่าตัวเองเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นยาก ความรู้สึกอ่อนด้อยนี้จะกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้คนเราเติบโตขึ้น เมื่อพยายามกำจัดปมด้อยไปเรื่อย ๆ ก็จะมีทักษะการสื่อสารและสร้างผลลัพธ์ได้ ดังนั้นอย่าตั้งกําแพงกับการสื่อสารเพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นยาก ให้หาทางกำจัดปมด้อยในเรื่องการสื่อสารมากกว่า

บทที่ 2

ต้องใช้หัวข้อสนทนาแบบไหน

การคุยเล่นจึงจะสนุกสนาน

เลือกเรื่องเบา ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นมาเป็นหัวข้อสนทนาแรก การคุยเล่นกับคนที่พึ่งเคยเจอกันครั้งแรกเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกประหม่าอย่างมาก ที่สำคัญการตัดสินใจเลือกว่าจะพูดเรื่องอะไรดี เป็นเรื่องที่ยุ่งยากทีเดียว หากพูดแต่เรื่องเบา ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น การสนทนาก็จะไม่สนุกสนาน แต่ถ้าเปลี่ยนมาพูดเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบหรือถนัด ก็มีโอกาสสูงที่การสนทนาจะกร่อนได้เช่นกัน โดยพื้นฐานแล้วจะเปลี่ยนวิธีการเข้าหา หรือหัวข้อสนทนาให้เข้ากันกับอีกฝ่าย เพื่อสร้างบรรยากาศการสนทนาที่สนุกสนาน วิธีที่สำคัญได้แก่เกนสนทนา 2 แกน ซึ่งประกอบไปด้วยแกนตั้งกับแกนนอน แกนตั้งคือความลึกของเนื้อหาการสนทนา ส่วนแกนนอนคือความหลากหลายของหัวข้อสนทนา

หัวข้อที่เหมาะสำหรับการนำมาใช้คุยเล่น สภาพอากาศ ข้อมูลบริษัทของอีกฝ่าย เสื้อผ้า แฟชั่น สุขภาพ งานอดิเรก ข่าวปัจจุบัน เรื่องที่มีจุดร่วมกับอีกฝ่าย บ้านเกิด กรุ๊ปเลือด และงาน การคุยเล่นแบบคนชั้นแนวหน้า ไม่ใช่การพูดคุยด้วยหัวข้อที่มีเนื้อหาซับซ้อน แค่ต้องต่อยอดการสนทนาจากเรื่องทั่วไปอย่างสภาพอากาศ แล้วค้นหาจุดร่วมกันกับอีกฝ่าย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขั้นตอนเหล่านี้คือการคุยเล่นอย่างเป็นธรรมชาติ

หัวข้อที่ไม่ควรนำไปใช้คุยเล่น หัวข้อที่โดดเด่นในเรื่องนี้จะถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ ก็คือ การเมืองและศาสนา ทั้งนี้เพราะการเมืองและศาสนาเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับแนวคิดส่วนตัว ที่สำคัญคือหากจะคุยเรื่องเหล่านี้แบบลงลึกมาก ๆ เข้า มันอาจจะไม่ใช่การคุยเล่นแต่กลายเป็นการถกเถียงแทนได้ กฎเหล็กข้อหนึ่งของการคุยเล่นคือ ต้องไม่ถกเถียงกันอย่างเด็ดขาด เรื่องความรักหรือมุกใต้สะดือ ถ้าเป็นไปได้อย่าพูดเรื่องพวกนี้จะดีกว่า จริงอยู่ว่าในกรณีที่คุยเรื่องพวกนี้แล้วอีกฝ่ายจะให้ความสนใจ ระยะห่างระหว่างกันจะลดลงไปได้มากในทันที แต่ในทางกลับกันถ้าหากอีกฝ่ายรู้สึกไม่ชอบใจ ก็อาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงตามมาได้ วิธีที่ปลอดภัยที่สุดก็คือพูดคุยเรื่องเบา ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบกับใคร

สิ่งที่ช่วยให้พูดจับใจคนได้ ไม่ใช่ความรู้เบ็ดเตล็ด แต่เป็นความรู้ที่นำไปใช้งานได้ เรื่องสนุกนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องตลกขบขันเสมอไป อันที่จริงเวลาคุยเล่นกับคนที่ไม่ค่อยสนิทสนมด้วยควรจะเล่าเรื่องที่อีกฝ่ายสนใจมากกว่าฝืนเล่าเรื่องตลก คนเรามีความสนใจในเรื่องที่แตกต่างกันไป ถ้าอย่างนั้นต้องพูดเรื่องแบบไหนถึงจะดึงดูดความสนใจของอีกฝ่ายได้ง่ายที่สุด คำตอบก็คือเรื่องที่เป็นประโยชน์กับอีกฝ่าย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือความรู้ที่นำไปใช้งานได้ ไม่ใช่ความรู้เบ็ดเตล็ดที่มีไว้ใช้ประดับสมองเท่านั้น ถ้าพูดถึงเรื่องแบบนี้ก็จะดึงดูดความสนใจของอีกฝ่ายได้สำเร็จ ถ้าอีกฝ่ายยังไม่รู้ข้อมูลนั้นก็น่าจะเกิดความสนใจ ถึงแม้อีกฝ่ายจะรู้อยู่แล้วมันก็ช่วยให้การสนทนาสนุกสนานขึ้นได้อยู่ดี แน่นอนว่าถ้าเอาแต่โอ้อวดในสิ่งที่รู้ ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นพวกบ้าวิชาการ ดังนั้นทางที่ดีควรตรวจสอบความสนใจของอีกฝ่าย แล้วถ่ายทอดความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตามจะถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นได้ ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลติดตัวพอสมควร

หาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ไม่ใช่เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ แหล่งข้อมูลที่ช่วยพัฒนาทักษะการคุยเล่น การจะถ่ายทอดข้อมูลให้คู่สนทนานั้น จำเป็นต้องหาข้อมูลก่อน นี่ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการคุยเล่น ตัวอย่างแหล่งข้อมูลแบบต่าง ๆ เช่น

ข่าวที่คนทำงานควรรู้ สิ่งต่าง ๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่คิดว่าคงควรอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานบริษัท เป็นที่รู้กันว่ามาม่าซัง ที่ทำหน้าที่ดูแลคลับในย่านกินซ่าก็อ่านหนังสือพิมพ์เช่นกัน ถ้ามาม่าซังรู้ว่าลูกค้าของคลับตัวเองโยกย้ายตำแหน่ง ก็จะจัดเตรียมดอกไม้แสดงความยินดีไว้ให้ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวอย่างเช่นเรื่องสุขภาพติดตัว ก็จะสามารถพูดคุยกับทุกคนได้ดี

ขัดเกลาสิ่งที่ตัวเองถนัด แต่ถ้าอยากพัฒนาทักษะการคุยเล่นให้ดียิ่งขึ้น นอกจากแหล่งข้อมูลทั่วไปแล้ว ควรจะมีแหล่งข้อมูลที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้ในสาขาที่ตัวเองถนัดด้วย จากการสะสมข้อมูลที่เกี่ยวกับงานของตัวเองก่อน เวลาที่เจอคนจากวงการอื่นหรือสาขาอื่น ถ้าสามารถพูดคุยในฐานะผู้เชียวชาญในวงการของตัวเอง ก็จะได้รับความไว้วางใจจากคนอื่น แน่นอนว่าถ้ารู้เรื่องที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจอย่างกีฬา วงการบันเทิง หรือสุขภาพก็จะสามารถพูดคุยกับทุกคนได้อย่างสนุกสนาน

ทำไมทั้งที่มีความรู้แต่กลับคุยไม่เก่ง อินเตอร์เน็ตทำให้คนเราสามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะที่สามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากในช่วงพริบตา การคุยเล่นกลับไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาบอกต่อกับคนอื่นได้ เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ นอกจากนี้เทคนิคสรุปคำพูดให้กระชับไม่เยิ่นเย้อก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน และเนื่องจากคู่สนทนาแต่ละคนมีความสนใจที่แตกต่างกันไป ถ้าค้นหาความรู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมไว้ ขอบข่ายเนื้อหาของการคุยเล่นก็จะกว้างขึ้น

บทที่ 3

วิธีฟังที่ทำให้คู่สนทนาเปิดใจให้โดยไม่รู้ตัว

วิธีตอบรับทำทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกร่วม ในการพยักหน้ารับรู้หรือตั้งคำถาม เพื่อให้การคุยเล่นดำเนินไปอย่างลื่นไหลต่อเนื่องนั้น วิธีฟังคู่สนทนาพูดถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ คนเราจะดีใจหรือสบายใจเมื่อมีคนฟังคำพูดของตัวเอง ดังนั้นถ้าฟังเรื่องราวของอีกฝ่ายพูดแล้วตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว การสนทนาหลังจากนั้นจะต่อยอดไปได้อย่างกว้างขวาง อย่ามัวแต่สนใจเรื่องที่ตัวเองพูด หากขัดเกลาวิธีฟังด้วย ทักษะการคุยเล่นและทักษะการสื่อสารก็จะเพิ่มสูงขึ้น การกำหนดปริมาณการพูดของตัวเอง และคู่สนทนาให้อยู่ในที่ 2:8 เพราะการฟังมีความสำคัญมากในการพูดเสียอีก หลักพื้นฐานของการฟังเริ่มต้นจากเรื่องการแสดงปฏิกิริยาตอบรับ ในระหว่างที่อีกฝ่ายกำลังพูด

อย่าพูดตอบรับในแบบที่ทำให้อีกฝ่ายไม่แน่ใจว่า กำลังฟังอยู่หรือเปล่า พูดตอบรับโดยสื่อให้รู้ว่าคำพูดของอีกฝ่ายมีคุณค่า แน่นอนว่าจะพูดตอบรับแบบเฉย ๆ ไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตั้งใจฟังอีกฝ่าย แล้วใส่ความรู้สึกลงไปในคำพูด และท่าทางของตัวเอง พูดง่าย ๆ ก็คือ ให้ตั้งเป้าหมายไว้ที่การทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า คน ๆ นี้ตั้งใจฟังที่พูดนั่นเอง

มองคู่สนทนาอย่างอ่อนโยน และพูดตอบรับเป็นช่วง ๆ การพยักหน้ารับรู้สิ่งที่ทำโดยไม่รู้ตัวจนติดเป็นนิสัยอยู่แล้ว หลักพื้นฐานคือให้มองตาคู่สนทนาอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่กล้าสบตา จะใช้วิธีมองตรงบริเวณเนคไท หรือระหว่างคิ้วของผู้สนทนาแทนก็ได้ แต่ห้ามละสายตาเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ถ้าจ้องเขม็งราวกับกำลังพินิจพิเคราะห์อีกฝ่าย เขาอาจจะรู้สึกไม่ดี ดังนั้นทางที่ดีควรมองคู่สนทนาอย่างอ่อนโยน ให้เหมือนกับเวลาที่คุณยายกำลังฟังเรื่องราวของหลาน ๆ พูด ง่าย ๆ ก็คือแสดงสีหน้าและสายตาที่อ่อนโยนในระหว่างการสนทนา ให้คอยสังเกตความเร็วการพูด และวิธีเว้นจังหวะของอีกฝ่าย แล้วพยักหน้ารับรู้ตามจังหวะที่พูด

ทำให้อีกฝ่ายอยากคุยด้วยการถามว่า “คุณทำอะไรเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า” คำถามที่กระตุ้นให้อีกฝ่ายอยากพูดเอง พนักงานขายส่วนใหญ่จะอธิบายตามคู่มือ หรือคำพูดเฉพาะเรื่องที่ตัวเองอยากพูดเท่านั้น ส่งผลให้ลูกค้ารู้สึกรำคาญ ถ้ามีคนชมในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอย่างมุ่งมั่น หรือเรื่องที่ตัวเองใส่ใจในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าใครก็ดีใจกันทั้งนั้นในเวลาแบบนี้ การถามว่าทำอะไรเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า จะช่วยกระตุ้นให้อีกฝ่ายอยากพูดได้ สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าประเด็นที่กระตุ้นความปรารถนา หรือความสนใจของอีกฝ่ายคืออะไร เมื่ออีกฝ่ายเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง ความสนใจของทั้งคู่ก็จะแน่นแฟ้นมากขึ้น

“ทำไมล่ะ” เป็นคำถามสิ้นคิด คำถามที่ไม่ควรใช้ในการคุยเล่น ส่วนใหญ่แล้วคำถามที่ดีจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี แต่คำถามแย่ ๆ มักจะมีรูปแบบตายตัว และเข้าใจได้ง่าย คำถามแย่ ๆ แบบนั้นก็คือ คำถามที่ถามหาเหตุผลว่า ทำไมล่ะ สาเหตุที่ไม่ควรถามเหตุผลก็เพราะว่า มีความเป็นไปได้สูงว่า การสนทนาจะหยุดชะงักนั่นเอง การค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมล่ะ ถึงเป็นภาระหนักสำหรับผู้ถูกถาม นอกจากนี้เนื่องจากแต่ละคนมีระดับความรู้ไม่เท่ากัน อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า มีความรู้ไม่มากพอจะตอบคำถามนั้นได้ เขาก็อาจจะรู้สึกลำบากใจ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือคำถามที่ว่า ทำไมล่ะ จะก่อให้เกิดความรู้สึกกดดัน นี่อาจจะเป็นปัญหาด้านความรู้สึก โดยเฉพาะคำถามนี้จะทำให้ผู้ถูกถามรู้สึกกดดันและอึดอัด ดังนั้นเวลาคุยเล่นควรหลีกเลี่ยงการถามว่าทำไมล่ะ จำไว้ว่าต้องเลือกใช้คำถามให้เหมาะสมกับอีกฝ่ายด้วย

เมื่ออีกฝ่ายตอบคำถามให้พูดสรุปคำตอบนั้นทันที ประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจอีกอย่างหนึ่งได้แก่ การแสดงปฏิกิริยาตอบรับตอนที่อีกฝ่ายตอบคำถาม เทคนิคที่ได้ผลดีก็คือ ในระหว่างที่ฟังอีกฝ่ายพูดให้จดโน๊ต สรุปเป็นแผนภาพ หรือทวนคำพูดของอีกฝ่าย ประเด็นสุดท้ายถือว่าสำคัญที่สุด การสรุปย่อคำพูดของอีกฝ่ายในแบบของตัวเอง อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การสรุปย่อสั้น ๆ แบบนี้ จะทำให้มีภาพลักษณ์ดี ๆ ในใจอีกฝ่ายว่า เป็นคนหัวไว หรือเป็นคนตั้งใจฟัง

เมื่อคุยจบแล้วให้จดโน้ตทันที จดโน้ตเนื้อหาการคุยเล่น เพื่อบันทึกความทรงจำ คนที่ถูกเรียกว่าคนชั้นแนวหน้า มีความสามารถหลายอย่างที่นำห่างจากคนธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการทบทวน การทบทวนในที่นี้คือการนึกทบทวนความผิดพลาดของตัวเอง แล้วแก้ไขปรับปรุง จากนั้นก็ฝึกซ้อมซ้ำไปซ้ำมานั่นเอง หากอยากมีทักษะการคุยเล่นแบบชนชั้นแนวหน้า ก็ต้องทบทวนการพูดคุยเล่นของตัวเองเช่นกัน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการจดโน๊ตเนื้อหาการคุยเล่น

สำหรับคนที่ต้องคุยงานกับคนภายนอก การจดโน๊ตจะมีความสำคัญถึงขั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว วิธีง่าย ๆ คือหลังจากคุยจบก็ให้เขียนทันทีว่าพูดคุยอะไรไปบ้าง พูดง่าย ๆ ว่าจดโน๊ตเพื่อให้จำได้ว่าพูดคุยอะไรไปบ้างนั่นเอง สาเหตุก็เพราะคนส่วนใหญ่นั้น ถึงแม้จะลดระยะห่างได้สำเร็จ ในการสื่อสารครั้งแรก แต่พอครั้งที่ 2 ความสัมพันธ์นี้กลับลดน้อยถอยลง ทำให้ต้องเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ใหม่อีกครั้ง คนที่ไม่เคยฝึกถ่ายทอดข้อมูล ลองฝึกจดโน้ตเรื่องที่สนใจทุกวันจนเป็นนิสัยดู

การฟังใช้พลังงานมากกว่าการพูดถึง 3 เท่า กล่าวกันว่าตอนที่ฟังต้องใช้พลังงานมากกว่าตอนพูดถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ยิ่งถ้าเป็นการสนทนายาว ๆ การฟังไม่ทันย่อมเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับประเด็นนี้ อาจอัดเสียงไว้แล้วนำไปฟังทบทวนในภายหลัง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาฟังไม่ทัน อีกทั้งยังนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงวิธีพูดให้ลื่นไหลมากขึ้นได้ ดังนั้นก่อนจะเริ่มประชุม พูดคุยนัดหมายหรือเจรจาธุรกิจ ลองเปิดแอปพลิเคชั่นอัดเสียงไว้ล่วงหน้า การทำแบบนี้ไม่น่าจะเสียหายอะไร เพราะไม่ได้นำข้อมูลไปแพร่งพราย หรือนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี ดังนั้น ทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ พฤติกรรมแบบนี้จะสร้างความแตกต่าง ระหว่างคนธรรมดา คนชนชั้นแนวหน้า และสุดยอดคนชั้นแนวหน้า

บทที่ 4

วิธีช่วยให้สามารถลดระยะห่างได้ทันทีที่เจอกัน

ระหว่างที่สื่อสาร วิธีพูดและอากัปกิริยาเล็ก ๆ น้อย ๆ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในสายตาอีกฝ่าย ในสังคมมีทั้งคนประเภทที่สนิทสนมกับทุกคนได้ในทันที กับคนที่ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ถึงแม้จะเป็นคนอ่อนโยนหรือฉลาดแค่ไหน ต่อให้มีนิสัยดีเยี่ยม หรือความสามารถเป็นเลิศ แต่ถ้าภาพลักษณ์ภายนอกไม่ได้แสดงให้เห็นเช่นนั้น คนอื่นก็จะไม่สามารถรับรู้ได้ ทั้งนี้คนเราจะรับรู้ข้อมูลจากการมองเห็นมากถึง 14,000 อย่างในเวลา 1 วินาที แล้วสร้างภาพลักษณ์ของคนที่อยู่ตรงหน้าขึ้นมาในทำนองที่ว่า ดูเป็นคนตรงไปตรงมา ท่าทางอ่อนโยน ดูจริงใจ ดูพึ่งพาไม่ได้ หรือดูท่าทางหม่นหมอง พูดง่าย ๆ ก็คือจะตัดสินใจว่าชอบหรือเกลียดอีกฝ่ายตั้งแต่แรกที่เจอกัน การแสดงสีหน้าไม่เป็นมิตร ก็เหมือนกับการแผ่รังสีที่ทำให้คนอื่นไม่ชอบออกมา ส่งผลให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบอย่างมาก ดังนั้น จะดูถูกพลังของสีหน้า เสื้อผ้า และการดูแลรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้

เวลาชมให้พึมพำชม เมื่ออีกฝ่ายบอกถึงประโยชน์หรือพูดสิ่งที่ทำให้รู้สึกประทับใจ ให้ใช้วิธีพึมพำในการบอกความรู้สึกหรือชมอีกฝ่าย วิธีการอย่างละเอียดมีดังนี้ ละสายตาจะอีกฝ่ายแล้วมองที่เพดานหรืออากาศ พยักหน้าหรือเอียงคอไปด้วย ในขณะเดียวกันให้พึมพำพูดกับตัวเองในทำนองว่า “โอ้โหสุดยอด ไม่เคยคิดจากมุมมองนั้นมาก่อนเลยนะเนี่ย เรื่องที่คุณ…พูดน่าจะมีความเปลี่ยนไปได้แฮะ” การพึมพำชมราวพูดกับตัวเองนั้น จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า กล่าวชมจากใจจริงมากกว่าการมองหน้าอีกฝ่าย แล้วเอ่ยชมอย่างแจ่มแจ้ง แน่นอนว่าถ้าชมมากเกินไป ก็อาจจะฟังดูเสแสร้งแกล้งชม ดังนั้นลองใช้วิธีนี้เฉพาะตอนที่คิดว่า อีกฝ่ายพูดเรื่องที่มีประโยชน์

การซื้อขายมูลค่าราคาหลักร้อยล้านเยน บางครั้งก็ตัดสินใจผลกันที่การคุยเล่น ในโลกธุรกิจการซื้อขายมูลค่าหลักร้อยล้านเยน ส่วนมากจำเป็นจะต้องให้กรรมการบริษัทเป็นผู้อนุมัติเรื่องการจ่ายเงิน นั่นหมายความว่าคนที่ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ว่าจะตกลงหรือไม่ตกลงกับการซื้อขายครั้งใหญ่ ๆ เป็นคนในตำแหน่งระดับสูง ฝ่ายที่ยื่นข้อเสนอขึ้นมาจึงกังวลว่า ถ้าเจรจากับพวกเขาได้ไม่ดี การซื้อขายก็อาจจะล้มเหลวได้

แต่ในความเป็นจริง ตอนเจรจาธุรกิจการจริง ๆ เนื้อหาการพูดคุยจะนุ่มนวลกว่านี้ และส่วนใหญ่เป็นการคุยเล่นเสียมากกว่า ในการเจรจา 1 ชั่วโมงพวกเขามักจะคุยเล่นประมาณ 50 นาที อีก 10 นาทีสุดท้ายถึงค่อยพูดเข้าประเด็น พวกเขาคุยเล่นพร้อมกับพิจารณาสิ่งต่าง ๆ เช่น วิธีสื่อสาร ระดับการศึกษา มารยาท และรูปลักษณ์ภายนอก เพื่อตัดสินใจว่าคน ๆ นี้คู่ควรต่อความไว้วางใจหรือไม่

ถ้าเป็นกรรมการบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ท่าทีของเขาอาจจะสุภาพนุ่มนวล ขัดกับสายตาที่มองมาอย่างเฉียบคม ถึงแม้จะยิ้มแย้มแต่ดวงตากับส่องประกายแรงกล้า ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงาน อีกทั้งเป็นทักษะที่ต้องอาศัยความสามารถหลาย ๆ อย่างในตัวประกอบกัน

บทที่ 5

วิธีคุยเล่นในการเจอกันครั้งถัดไป

ที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น

คนจำนวนมากสามารถลดระยะห่างกับอีกฝ่ายได้ตั้งแต่ตอนแรกที่เจอกัน แต่พอเจอกันอีกครั้งกลับทำตัวห่างเหิน กลับไม่เคยมีความสัมพันธ์กันเสียอย่างนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีการรีเซ็ตความสัมพันธ์ที่อุตส่าห์สร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง ที่เป็นแบบนี้เพราะคนเรามักลืมระยะห่างระหว่างกันได้ง่าย ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ก็จะยิ่งรู้สึกห่างเหินมากขึ้นเท่านั้น คนที่สามารถชวนอีกฝ่ายคุยอย่างกระตือรือร้นจึงนับเป็นคนที่สื่อสารเก่ง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ทำแบบนั้นไม่ได้ หากพยายามเข้าหาอีกฝ่ายก่อน และชวนคุยอย่างกระตือรือร้น ก็จะช่วยให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นได้ง่าย

ถึงแม้อีกฝ่ายจะไม่อยู่ ก็ต้องพูดถึงอย่างสุภาพนอบน้อม การพูดจาอย่างสุภาพนอบน้อมนี่เป็นเรื่องที่รู้จักกันทั่วไป แต่คนที่สามารถทำได้จริง ๆ นั้นมีน้อยมาก แน่นอนว่าทุกคนรู้วิธีใช้คำสุภาพอยู่แล้ว แต่เนื่องจากไม่ค่อยมีโอกาสได้พูด หรือเคยชินกับภาษาปาก จึงอาจจะเผลอพูดผิดไปบ้าง อย่างไรก็ตามการพูดจาสุภาพนอบน้อม กับการวางท่าทีห่างเหินนั้น เป็นคนละเรื่องกัน บางคนจึงอาจไม่สามารถพูดจะสุภาพนอบน้อม ไปพร้อมกับวางท่าทีที่เป็นมิตรได้ ถ้าคำนึงถึงความสุภาพมากเกินไป ก็อาจจะพูดหรือติดต่อกับอีกฝ่ายแบบสุภาพเกินเหตุ จนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกห่างเหินได้ การพูดจาอย่างสุภาพนอบน้อมนุ่มนวลและเนื้อหาที่ถูกต้องฟังดูเป็นมิตร เมื่อเข้าใจหลักการที่ละเอียดอ่อนนี้แล้ว ก็จะได้รับความไว้วางใจจากอีกฝ่ายมากขึ้น

แก่นแท้ของการสื่อสาร ที่ได้เรียนรู้จากประเทศอังกฤษ สาเหตุที่คนอังกฤษสื่อสารเก่งก็น่าจะมีที่มาจากวัฒนธรรมของอังกฤษ คนอังกฤษมีนิสัยชอบจัดงานเลี้ยงสังสรรค์อยู่เป็นประจำ และในงานเลี้ยงคนที่ชอบพูดคุยอย่างสนุกสนาน จะได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก กล่าวได้ว่าคนอังกฤษมุ่งมั่นกับการขัดเกลาเทคนิคการพูด แบบเดียวกันกับที่มุ่งมั่นกับการอ่านหนังสือ เพื่อให้ได้คะแนนดี ๆ ในการสอบที่โรงเรียนนั่นเอง สิ่งที่รู้สึกว่าเป็นลักษณะเฉพาะ ในการสื่อสารของอังกฤษก็คือ การสร้างความประหลาดใจ ซึ่งคนที่สร้างความประปลาดใจได้สำเร็จ จะได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง แบบเดียวกันกับคนที่พูดเก่ง

บทที่ 6

เปลี่ยนหัวข้อสนทนา

และวิธีพูดตามคู่สนทนา

เทคนิคการแยกแยะประเภทของคู่สนทนา เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเข้าหา และเรื่องที่ใช้ชวนคุย การสื่อสารมีความยากตรงที่มันไม่ได้มีรูปแบบตายตัว จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเข้าหาคู่สนทนา ให้เข้ากับเวลาและสถานการณ์ด้วย สิ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบก็คือ คู่สนทนาเป็นคนประเภทไหน คนที่ไม่ชอบคุยเล่นคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คนประเภทนี้ไม่ใช่ว่าสื่อสารไม่เก่ง เขาแค่คิดว่าอยากรู้เร็ว ๆ ว่ามีธุระอะไรเท่านั้น โดยเฉพาะเวลาเจรจาธุรกิจ การคุยเล่นเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศกับคนประเภทนี้จะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ทางที่ดีควรพูดถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์กับเขามากกว่า ในทางกลับกันมีคนจำนวนไม่น้อย ที่หากไม่คุยเล่นเพื่อทำความสนิทสนุกคุ้นเคยก่อน ก็จะไม่ยอมเปิดใจให้ ด้วยเหตุนี้ถ้าสามารถเปลี่ยนวิธีพูด หรือเปลี่ยนหัวข้อสนทนาไปตามประเภทของคู่สนทนาได้ ก็ถือว่ามีทักษะการคุยแบบคนชนชั้นแนวหน้าแล้ว ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป แต่ก็สามารถแบ่งประเภทนิสัยแบบคร่าว ๆ ได้

คนประเภทแรกคือ คนที่พูดสิ่งที่อยากพูดแบบตรง ๆ ผู้บริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงหัวหน้างานในบริษัทยักษ์ใหญ่ ส่วนมากเป็นคนประเภทนี้ สามารถแยกแยะคนประเภทนี้ได้จากลักษณะเฉพาะต่อไปนี้ พูดเร็ว ตั้งใจฟังเรื่องที่ตัวเองสนใจ ชอบถามแทรกระหว่างการสนทนา สายตาคมกริบ ทำท่าเหมือนกำลังประเมินมูลค่า หรือตีราคาอีกฝ่ายอยู่ กอดอกขณะที่ฟังคนอื่นพูด เนื่องจากพวกเขามีความสามารถสูง จึงตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่พูดคุยกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าถูกพวกเขามองว่าคน ๆ นี้ระดับความสามารถต่ำจังก็เป็นอันจบเห่

โดยพื้นฐานแล้วต้องดึงดูดความสนใจของคนประเภทนี้ ด้วยการพูดถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่ออีกฝ่าย หรือสิ่งดี ๆ ที่อีกฝ่ายจะได้รับ อย่าคิดว่าคนประเภทนี้น่ากลัวจนไม่กล้าเข้าใกล้ ถ้าหมั่นเข้าหาอยู่เรื่อย ๆ ก็จะสามารถสนิทสนมกับอีกฝ่ายได้เอง ในอีกแง่หนึ่งคนประเภทนี้มีนิสัยที่เรียบง่าย ทำให้สร้างความสัมพันธ์ได้ยาก

คนที่อ่อนโยนและคุยด้วยง่ายนั้นอันตรายกว่าที่คิด พวกเขาเป็นคนที่ให้ความรู้สึกอ่อนโยนอย่างมาก โดยจะยิ้มแย้มไปกับการคุยเล่น และมีอารมณ์ร่วมอย่างลึกซึ้ง ส่งผลให้พวกเขามีภาพลักษณ์ว่าคุยเล่นด้วยง่าย ลักษณะเฉพาะของคนประเภทนี้มีดังนี้ บุคลิกที่ทำให้รู้สึกดี ฟังคนอื่นพูดพร้อมกับพยักหน้าบ่อย ๆ พูดอย่างเนิบ ๆ และแสดงปฏิกิริยาตอบรับช้า พูดค่อนข้างยาว โดยอธิบายรายละเอียดอย่างครบถ้วน แต่ไม่บอกข้อสรุป ไม่ใช้คำพูดเชิงปฏิเสธคู่สนทนา อย่างเช่น แต่หรือแต่ว่า คนประเภทนี้มีลักษณะเด่นตรงที่เป็นคนอ่อนโยน และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ส่วนใหญ่แล้วพวกเขามักใจกว้าง ถึงแม้คู่สนทนาจะคุยเล่นไม่เก่ง แต่พวกเขาก็จะรับฟังอย่างสนุกสนาน

ในทางกลับกัน คนประเภทนี้ส่วนมากตัดสินใจไม่ค่อยเก่ง จึงมักไม่ยอมพูดเข้าประเด็นสำคัญ หรือไม่ยอมให้คำตอบเสียที ทั้งที่พูดคุยอยู่นานมากแล้ว แน่นอนว่าในสถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน คนประเภทนี้ถือเป็นคนที่คบหาด้วยง่าย แต่มองอีกแง่หนึ่งได้ว่า เขาเป็นคนที่พึ่งพาไม่ได้ ในกรณีที่อยากกระตุ้นให้คนประเภทนี้ตัดสินใจ จำเป็นต้องออกแรงเล็กน้อย ถ้าพูดให้ชัดเจนก็คือ ต้องมองหาจังหวะให้เหมาะสม แล้วพูดเข้าประเด็นสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายตัดสินใจ

บอกข้อดีของเรื่องที่กำลังพูด ให้กับคนที่อยากรู้ข้อสรุปเร็ว ๆ วิธีรับมือคนประเภทนักวิเคราะห์ที่พูดจาได้อย่างเฉียบคม ลักษณะเฉพาะของประเภทนี้มีดังนี้ ดูเป็นคนมีระเบียบไม่ค่อยแสดงปฏิกิริยาตอบรับ และมีท่าทีสงบนิ่ง ตอบคำถามอย่างสุขุม ถามในเรื่องที่ไม่กระจ่างแจ้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า สนใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยพื้นฐานแล้วคนประเภทนี้ มักจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ตัวเองสนใจมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่พวกเขาตัดสินใจว่าไม่สำคัญ ความสนใจก็จะลงฮวบทันที อาจกล่าวได้ว่าพวกเขาเป็นคนสายวิทย์ ซึ่งมักจะหัวดีเหมือนอย่างนักวิจัยหรือหมอ

พวกเขามีจุดร่วมที่เหมือนกับคนประเภทเจ้านาย ตรงที่เรียกร้องข้อสรุป และชอบพูดตามหลักเหตุผล แต่จุดที่แตกต่างกันมากที่สุดคือ ความสุขุม การจะตรวจสอบว่าคนประเภทนี้ สนใจเรื่องที่กำลังคุยอยู่หรือไม่ ต้องตั้งสติให้ดีแล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแววตา และคำพูดของอีกฝ่าย หลักสำคัญคือต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงข้อดีของเรื่องที่พูด ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจดีตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้วเพิ่มข้อมูลสนับสนุนเข้าไป

เล่าเรื่องสนุก ๆ ให้คนที่ชอบเข้าสังคมฟัง วิธีรับมือคนประเภทสดใสร่าเริง คนประเภทนี้มีทักษะการเข้าสังคมสูง อีกทั้งยังชอบเรื่องสนุก ๆ และชอบติดต่อกับผู้คน จึงสนุกสนานไปกับการคุยเล่นได้ง่าย ในอีกแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่า พวกเขาชอบการคุยเล่นมาก ซึ่งตัดสินใจได้ว่า จะดำเนินความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายอย่างไร จากบรรยากาศการคุยเล่น พวกเขาไม่ได้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นควรคำนึงถึงการคุยเล่นให้สนุกสนาน ไม่ใช่การพูดเรื่องที่มีเนื้อหาสาระ

วิธีรับมือคนประเภทนี้ก็คือ ตั้งใจฟังให้ดี จากนั้นก็พูดหรือแสดงปฏิกิริยาตอบรับ รวมถึงตั้งคำถามเพื่อให้การสนทนาดำเนินไปอย่างลื่นไหลต่อเนื่อง ดังนั้นถ้าในตอนท้ายของการสนทนา สามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยากบอกได้ หรือแม้ก่อนหน้านั้นอีกฝ่ายจะพูดออกนอกเรื่องไปบ้าง ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจ ถ้าสามารถเพลิดเพลินไปกับการพูดนอกเรื่องของอีกฝ่ายได้ ก็จะก่อให้เกิดบรรยากาศการคุยเล่นที่ดี เวลาคบหาคนประเภทนี้ ควรวางท่าทีในแง่บวก ทั้งในด้านการใช้คำพูด และการแสดงสีหน้า ถ้าชวนคุยด้วยท่าทีแบบนี้อย่างมุ่งมั่น อีกฝ่ายก็จะสนุกสนาน และช่วยให้บรรยากาศ และการสนทนาครึกครื้นขึ้นไปอีก

พูดแบบเนิบ ๆ ให้เข้ากับจังหวะการพูดของคนเรียบร้อย วิธีรับมือคนประเภทขี้เกรงใจ ที่ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น คนประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้ว จะไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นของตัวเอง และตัดสินใจไม่เก่ง ดังนั้นการเข้าหาที่เร่งรัดเกินไป จึงอาจส่งผลให้คนประเภทนี้ปิดใจได้ เวลาเข้าหาคนประเภทนี้ ต้องปรับตัวให้เข้ากันกับเขา ในกรณีที่อีกฝ่ายมีจังหวะการพูดที่ช้า ก็ต้องปรับการพูดของตัวเองให้ช้าลงด้วย

คนประเภทนี้มักจะมีนิสัยเรียบร้อย แต่มีทักษะในการปรับตัวเข้าหาคู่สนทนาสูง เมื่อคุ้นเคยกันแล้ว พวกเขาจึงค่อนข้างทำตัวเป็นกันเอง แถมบางคนยังเป็นตัวของตัวเอง เหมือนตอนที่อยู่ในบ้านอีกด้วย ถ้าอีกฝ่ายเผยแง่มุมนั้นให้เห็น แสดงว่าความสัมพันธ์เหนียวแน่นแล้ว เมื่อความสัมพันธ์พัฒนามาจนถึงขั้นนี้ ก็ไหว้วานเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และอีกฝ่ายก็น่าจะรับสิ่งที่พูดมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือต้องไม่รีบร้อนกระชับความสัมพันธ์

จะนำฐานะทางสังคมมาใช้ตัดสินใจว่าใครเป็นตัวแปรสำคัญไม่ได้ ที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นไปที่วิธีคุยเล่นแบบ 1 ต่อ 1 แต่ในชีวิตประจำวันต้องคุยเล่นกับคนหลายคนด้วย เช่นแบบ 1 ต่อ 2 หรือ 3 ต่อ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่ซื้อขายหรือเจรจาธุรกิจ ซึ่งต้องประชุมหรือหารือพร้อมกันหลายฝ่าย การรู้ว่าใครเป็นตัวแปรสำคัญ ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ประเด็นคือจะทำให้คนที่มีอำนาจที่เป็นตัวแปรสำคัญรู้สึกประทับใจได้หรือไม่ คนที่เป็นตัวแปรสำคัญไม่จำเป็นต้องมีฐานะทางสังคมสูงเสมอไป เรื่องนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่พนักงานขายอย่างเดียว แม้แต่ในสังคมเพื่อนบ้านหรือบริษัท ก็มีความสัมพันธ์ของอำนาจในรูปแบบที่ซับซ้อน และไม่อาจมองเห็นจากภายนอกได้ ถ้าหากสามารถมองเห็นและรับมือได้ดี ก็ถือว่าเป็นคนชั้นแนวหน้าแล้ว

บทที่ 7

วิธีพูดเข้าประเด็นสำคัญต่อจากการคุยเล่น

การพูดว่า “ว่าแต่วันนี้…” เป็นการเปิดประเด็นที่แย่ที่สุด งานประเภทต่าง ๆ ที่ต้องติดต่อกับผู้คนอย่างการขาย นำเสนอ และการเจรจา ล้วนมีประเด็นสำคัญ หรือเป้าหมายที่ต้องบรรลุให้ได้อยู่ แน่นอนว่านอกจากสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการทำงานแล้ว ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัว อย่างเช่น ชวนคนที่ชอบไปเดต หรือสารภาพรักต่อคนที่ชอบ ก็มีหลักพื้นฐานแบบเดียวกัน หลักที่สำคัญที่สุดในการพูดเข้าประเด็นสำคัญมีอยู่ว่า ต้องพูดประเด็นสำคัญทั้งที่ยังอยู่ในบรรยากาศของการคุยเล่น พูดง่าย ๆ ก็คือต้องรักษาบรรยากาศดี ๆ ที่เกิดขึ้นจากการคุยเล่นเอาไว้ ในขณะที่พูดเข้าประเด็นสำคัญ

ส่วนใหญ่แล้วหลายคนมักเผลอเว้นช่วงก่อนจะพูดเข้าประเด็นสำคัญ ในทำนองว่า “ว่าแต่วันนี้…” “จะว่าไปวันนี้…” ซึ่งถือเป็นการทำลายความต่อเนื่องของการสนทนา ส่งผลให้บรรยากาศตึงเครียดขึ้นเล็กน้อย อีกทั้งยังทำให้เกิดความรู้สึกประหม่า ความเป็นไปได้ที่อีกฝ่ายจะระแวงคำพูดก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ที่สำคัญต้องพูดอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

พูดเข้าประเด็นสำคัญบนพื้นฐานคำใบ้ที่ได้จากการคุยเล่น หลังจากคุยเล่นแล้วเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดในการพูดเข้าประเด็นสำคัญอย่างเป็นธรรมชาติก็คือ การพูดเข้าประเด็นสำคัญบนพื้นฐานคำใบ้ที่ได้จากการคุยเล่น แทนที่จะพูดเข้าประเด็นสำคัญด้วยความรู้สึกว่า “ต่อจากนี้จะพูดเรื่องที่เตรียมมาอย่างเต็มที่แล้วนะครับ” ควรจะวางจุดยืนว่า “ผมสามารถช่วยแก้ปัญหาที่กำลังประสบอยู่ตอนนี้ได้นะครับ” เพื่อให้คู่สนทนารู้สึกผ่อนคลาย เมื่อเป็นแบบนี้แล้วโอกาสที่อีกฝ่ายจะรับฟังคำพูดก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ถ้าจะอธิบายให้ชัดเจนก็คือ ให้เลือกคำสำคัญที่นึกได้ จากเนื้อหาของประเด็นที่สำคัญที่อยากจะพูดเอาไว้ล่วงหน้า จากนั้นพอถึงตอนคุยเล่นกับอีกฝ่าย ก็ให้นึกเชื่อมโยงคำเหล่านั้นในเรื่องที่อีกฝ่ายพูด ในการทำแบบนั้นควรเตรียมคำสำคัญ ที่อยู่ในขอบข่ายเนื้อหาการพูดของตัวเองไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถพูดเข้าประเด็นสำคัญได้ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะพูดเรื่องอะไรมาก็ตาม

ก่อนจะพูดเรื่องสำคัญให้เว้นช่วงเล็กน้อย เว้นช่วงก่อนพูดเพื่อให้อีกฝ่ายตั้งใจฟังมากขึ้น การคุยเล่นในอุดมคติคือ การคุยเล่นที่ดำเนินไปอย่างลื่นไหลต่อเนื่องไม่มีจุดสะดุด แต่มีอยู่กรณีหนึ่งที่เมื่อเว้นช่วง จะทำให้การพูดมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นคือ กรณีที่อยากพูดเรื่องสำคัญ ยิ่งการสนทนาที่ผ่านมาลื่นไหลต่อเนื่องมากเท่าไหร่ การเว้นช่วงก็ยิ่งได้ผลมากขึ้นเท่านั้น เพราะความขัดแย้งระหว่างจังหวะที่ลื่นไหล และการหยุดชะงักทำให้อีกฝ่าย จดจ่ออยู่กับเรื่องที่จะพูดต่อไปมากขึ้น

บอกกล่าวล่วงหน้าว่าประเด็นสำคัญมี 3 ข้อ วิธีพูดที่ทำให้อีกฝ่ายนึกอยากจดโน๊ตขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เมื่อพูดเข้าประเด็นสำคัญแล้ว ใคร ๆ ก็คงไม่อยากให้บรรยากาศสนุกสนาน จากการคุยเล่นก่อนหน้านั้นจางหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นของการพูดประเด็นสำคัญ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องอธิบายใจความสำคัญของเนื้อหาที่พูดให้ชัดเจน ในเวลานั้นจะดึงดูดความสนใจของอีกฝ่ายพร้อมกับถ่ายทอดเนื้อหาอย่างถูกต้องได้ วิธีการแรกที่จะแนะนำคือ การบอกเนื้อหาโดยรวมล่วงหน้า ในทำนองว่าประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ เป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง ยิ่งไปกว่านั้น การทำแบบนี้ยังเป็นส่งผลดีต่อตัวผู้พูด ตรงที่จะไม่พูดออกนอกเรื่อง เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว อีกฝ่ายก็จะเข้าใจภาพรวมของเนื้อหา ที่ต้องการบอกได้ง่ายขึ้น

บอกว่าจะพูดเกี่ยวกับเรื่องอะไร ภายในเวลา 10 วินาที เคล็ดลับในการทำให้อีกฝ่ายจำเนื้อหาที่คุยกันได้อย่างแม่นยำ เมื่อเกริ่นนำแบบนี้ไว้ก่อน อีกฝ่ายก็จะเข้าใจทิศทางของเนื้อหาโดยรวมได้ง่ายขึ้น เวลาพูดเข้าประเด็นสำคัญ หากพูดตามที่นึกได้ไปเรื่อย ๆ ผู้ฟังจะไม่รู้ว่าใจความสำคัญอยู่ตรงไหน ทางที่ดีควรจะสรุปเนื้อหาให้เป็นหัวเรื่องก่อน ซึ่งเคล็ดลับในการสรุปนั่นคือ ให้สรุปเนื้อหาของเรื่องที่พูดโดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ 1.เรื่องที่พูดมีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง 2.ถ้าจะสรุปประเด็นสำคัญเหล่านั้นอย่างสั้น ๆ ควรจะพูดอย่างไร เมื่อพูดได้แบบนี้จะดึงดูดความสนใจได้ สิ่งสำคัญคือตอนที่บอกหัวเรื่อง ถ้าเป็นไปได้ควรพูดโดยใช้เวลาประมาณ 10 วินาที และมากที่สุดไม่เกิน 17 วินาที กล่าวกันว่าเวลา 17 วินาทีเป็นขีดจำกัดของมนุษย์ ในการจำข้อมูลผ่านการฟัง ดังนั้น ถ้าพูดยาวเกินไปอีกฝ่ายจะจำไม่ได้

รออีกฝ่ายพูดด้วยสีหน้าอ่อนโยนและไม่กลัวความเงียบ โดยพื้นฐานแล้วสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการคุยเล่นได้แก่การเงียบ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ควรจะเงียบก็คือ ตอนที่คู่สนทนากำลังใช้ความคิด  เวลาพูดข้อเสนอสำคัญบางอย่างกับอีกฝ่าย ต่อจากนั้นอาจจะเกิดความเงียบตามมาได้ เพราะเวลาที่อยากไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนจะเงียบไปโดยอัตโนมัติ ทว่าฝ่ายที่ต้องรออย่างเงียบ ๆ มักจะอดทนต่อความเครียด หรือความกังวลไม่ไหว และอยากพูดรัวเป็นชุดออกมา ถึงอย่างนั้นก็ห้ามพูดแทรก ต้องรอด้วยสีหน้าอ่อนโยน พูดง่าย ๆ ก็คือให้แสดงสีหน้าที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกวางใจได้ว่า ถ้าเป็นข้อเสนอของคนนี้น่าจะเชื่อถือได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ถึงแม้คำตอบของอีกฝ่ายจะทำให้รู้สึกผิดหวัง แต่ก็ไม่ท้อแท้ลองหาโอกาสนัดเจออีกฝ่ายอีกครั้ง แล้วเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนการคุยเล่น

ในชีวิตของคนเรามักจะประสบกับเรื่องร้าย ๆ อยู่เรื่อย ในเวลาแบบนั้นอาจจะเชื่อว่าต้องมีเรื่องดี ๆ รออยู่แน่ ๆ แล้วก้าวไปข้างหน้า หรือจะถอดใจกับความทุกข์ที่อยู่ตรงหน้า ความคิดจะเป็นตัวตัดสินชะตาชีวิต โดยทั่วไปแล้ว  ถึงแม้จะทำอะไรสักอย่างแล้วล้มเหลว แต่ก็ไม่ได้ถึงกับตาย ขอแค่ยังมีชีวิตอยู่ ก็สามารถแก้ตัวได้เสมอ การมองโลกในแง่ดี น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างรอยยิ้มอันแสนวิเศษ

บทที่ 8

เริ่มฝึกคุยเล่นตั้งแต่วันนี้

คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองทำสิ่งไหนไม่ได้ จะเป็นได้เพียงแค่คนไม่เอาถ่าน คนที่รู้ว่าตัวเองทำสิ่งไหนไม่ได้แล้วถอดใจจะเป็นแค่คนธรรมดา คนที่ฝึกฝนอย่างเต็มที่จนกว่าจะทำได้จะเป็นคนชั้นแนวหน้า

ฝึกฝนโดยเวลาอยู่ในลิฟท์ให้ถามว่าจะไปชั้นไหนไหม ก่อนอื่นเวลาขึ้นลิฟท์พร้อมกับใครบางคน ให้ถามว่าจะไปชั้นไหนแล้วกดปุ่มลิฟต์ให้เขา คนที่ทำแบบนี้เป็นประจำอยู่แล้ว อาจคิดว่าไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย แต่ในคนในสังคมนี้ การเอ่ยทักคนแปลกหน้าถือเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรทีเดียว แต่มันก็เป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผล และเหมาะสำหรับใช้ในการทำลายกำแพงของคนที่เข้ากับคนอื่นยาก สิ่งที่ต้องระวังก็คือ พอตื่นเต้นก็มักจะพูดเสียงต่ำ และเสียงเบา ดังนั้น ต้องพยายามพูดให้เสียงสูงขึ้น และดังขึ้นอีกนิดด้วย อยากให้พยายามคิดอย่างมุ่งมั่น ในทำนองว่าจะทำงานให้คนแปลกหน้า ที่อาศัยอยู่ในแมนชั่นเดียวกัน หรือคนที่ทำงานในตึกเดียวกัน มาเป็นแฟนคลับของตัวเองให้ได้ แล้วลองทักทายคนอื่นด้วยเสียงสูง ซึ่งช่วยเพิ่มความประทับใจได้

ฝึกฝนโดยพูดคุยสั้น ๆ กับพนักงานร้านตอนจ่ายเงิน ในช่วงแรกอาจจะพูดแค่ว่า “ขอบคุณครับ” “ขอบคุณสำหรับอาหารมื้อนี้” ก็ได้ แต่ถ้าอยากจะขัดเกลาทักษะการคุยเล่นก็จำเป็นต้องพลิกแพลงบ้าง การเอ่ยคำพูดธรรมดา ๆ ที่ทำให้รู้สึกดีไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้ในทันที จำไว้ว่าไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ต้องเริ่มต้นจากการฝึกฝนในชีวิตประจำวัน

ฝึกฝนโดยเรียกพนักงานในร้านเหล้า ที่มีคนแน่นร้านอย่างชาญฉลาด ฝึกฝนด้วยวิธีเรียกพนักงานร้าน หากตะโกนเสียงดังว่า “ขอโทษนะครับ” อาจจะทำให้คนรอบข้างรำคาญได้ แต่ถ้าพูดเสียงดังด้วยความเกรงใจ พนักงานร้านก็อาจจะไม่ได้ยิน ทว่าทำไมบางคนที่ไม่ได้พูดเสียงดังอะไรมากมายแต่คนอื่นกลับได้ยินชัดเจน ถ้าให้สรุปสั้น ๆ นี่คือเสียงของเขาเป็นเสียงดังกังวานนั่นเองการจะทำได้โดยลองปิดปาก แล้วเปล่งเสียงเหมือนตอนฮัมเพลง ด้วยระดับเสียงคงที่ จากนั้นให้เปลี่ยนมาอ้าปากกว้างเหมือนตอนหาว เพื่อเปิดช่องคอให้ขยายออก ถึงแม้จะออกแรงเปล่งเสียงเท่าเดิม แต่ก็น่าจะรับรู้ว่าเสียงกังวานมากขึ้น ถ้าฝึกเปล่งเสียงแบบอ้าปากกว้างจนชำนาญ คนอื่นจะได้ยินเสียงอย่างชัดเจน การเปล่งเสียงแบบนี้ สามารถทำให้ประยุกต์ใช้ได้ในหลายสถานการณ์ ดังนั้นลองฝึกฝนดู

ฝึกฝนโดยการเข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไม่มีคนรู้จัก การคุยเล่นเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์กับคนอื่น โดยเนื้อแท้แล้วมันเป็นการได้พบกับผู้คนหลากหลายประเภท ในโอกาสที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าประสบการณ์เหล่านี้มากขึ้นเท่าไหร่ ทักษะการคุยเล่นก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น การทำแบบนี้มีประโยชน์ทั้งในแง่ของการทดสอบความสามารถตัวเอง และช่วยในการพัฒนาความสามารถ ดังนั้น แนะนำให้ฝึกพูดคุยกับคนแปลกหน้าจนเป็นนิสัย

ฝึกฝนโดยคุยเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ กับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบหน้าหรือรู้สึกว่ารับมือยาก เมื่ออยู่ในกลุ่มคนที่มีจำนวนคนมากในระดับหนึ่ง ย่อมเจอกับคนที่รู้สึกว่ารับมือยากหรือไม่ชอบหน้า ซึ่งต้องไม่หลบเลี่ยงคนเหล่านั้น ควรลองเป็นฝ่ายเข้าไปพูดคุยกับพวกเขาก่อน นี่ถึงเป็นโอกาสได้ทบทวน และปรับปรุงวิธีพูดคุยกับผู้คน ความพยายามในการพูดคุยสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันจะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ การต้องเจอกับคนที่รับมือยากเป็นเรื่องที่ช่วยอะไรไม่ได้ก็จริง ในหลาย ๆ สถานการณ์ ความพยายามในการสื่อสาร จะทำให้ประสบความสำเร็จ

ฝึกฝนโดยเล่าเรื่องที่ตัวเองเรียนรู้มาให้เพื่อนร่วมงานฟัง และคิดบทสุนทรพจน์ที่โดนใจเพื่อนร่วมงาน การฝึกถ่ายทอดข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงแรกอาจลองพูดกับเพื่อนร่วมงานระหว่างที่กินข้าวก็ได้ด้วย ควรฝึกฝนอย่างค่อยเป็นค่อยไปกับคนที่มีนิสัยง่าย ๆ ที่ถึงแม้จะดูผิดพลาด แต่ก็ยังหัวเราะและรับฟัง แต่เมื่อรู้สึกเคยชินมากขึ้นแล้ว ให้ลองเปลี่ยนไปฝึกที่อื่นดู เช่น ในการประชุมประจำวัน

ฝึกทายปริศนา การจะทำให้การคุยเล่นครึกครื้นยิ่งขึ้นนั้น การยกตัวอย่างเปรียบเทียบถือเป็นสิ่งสำคัญมาก คนที่สื่อสารเก่งจะสามารถทำเรื่องแบบนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่คนที่สื่อสารไม่เก่งอาจจะรู้สึกว่ามันยากมาก จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากขนาดนั้น การยกตัวอย่างเปรียบเทียบคือ การนำคำสำคัญที่นึกขึ้นได้จากเรื่อง A มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เหมือนกันในเรื่อง B พออธิบายอย่างนี้แล้วอาจจะฟังดูยาก แต่สรุปแล้วมันก็คือเกมเชื่อมโยง ให้หาจุดร่วมแล้วนำมาเชื่อมโยงกันนั่นเอง

ฝึกฝนโดยกล่าวคำพูดที่น่าสนใจตอนชนแก้วในงานที่เป็นทางการ สิ่งที่มนุษย์เราไม่อยากเผชิญหน้าที่สุดก็คือ สถานการณ์ที่ต้องพูดอย่างจริงจัง ในงานที่เป็นทางการและมีความกดดันสูง ในระหว่างที่พูด ถึงแม้จะต้องใส่ใจในเรื่องต่าง ๆ พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้คำพูด การอ่านบรรยากาศ การรับมือปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการยิ้มแย้มอยู่เสมอ แต่มันก็ช่วยให้ฝึกฝนความสามารถต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร เดิมทีคนในงานส่วนใหญ่คิดว่า การพูดสุนทรพจน์เป็นเรื่องน่าเบื่ออยู่แล้ว ถึงแม้จะพูดได้ไม่ดีก็ไม่ส่งผลกระทบสักเท่าไหร่ ดังนั้น น่าจะลองฝึกด้วยวิธีนี้ได้ง่ายกว่าวิธีอื่น ๆ

บทส่งท้าย

การคุยเล่นเปลี่ยนแปลงการทำงาน

และความสัมพันธ์กับผู้คน

การคุยเล่นถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่เชื่อมโยงคนกับคนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะทำงานอะไร หรือมีความสัมพันธ์แบบไหน ก็เริ่มต้นจากการทักทายว่าสวัสดี การคุยเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ จะก่อให้เกิดความสุขร่วม และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง รวมทั้งกลายเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจกันในภายหลังอีกด้วย ถ้าสื่อสารโดยที่สามารถทำให้อีกฝ่ายคิดว่า เข้าใจรู้สึกของเขาและเข้าใจเรื่องที่เขาพูด อีกทั้งทำให้เขาไว้วางใจในตัวเราได้ ความสัมพันธ์ก็จะยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น

คนเรามีฐานะทางสังคมที่แตกต่างกันไป แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วเป็นเรื่องระหว่างคนกับคน ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นจะเป็นตัวตัดสินทุกสิ่ง คนที่สามารถทำให้คนอื่นคิดว่า คนคนนี้น่าจะไว้วางใจได้ จะไม่มีวันถูกทอดทิ้งไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความสำพันธ์ในที่ทำงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อน ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรือญาติพี่น้องก็ต้องดูแลให้ดี จึงต้องตั้งใจสื่อสารเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งและแข็งแกร่ง ไม่ใช่สร้างความสัมพันธ์ที่ตื้นเขินและเบาบาง หากสามารถสื่อสารแบบนั้นได้ ชีวิตก็จะสมบูรณ์มั่งคั่งอย่างแน่นอน การคุยเล่นมีพลังยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตได้ ในอนาคตถ้ารู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นจาการคุยเล่น ก็คงจะทำให้ทุกคนมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง.