สรุปหนังสือ ตีแตก กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต

สั่งซื้อหนังสือ “ตีแตก : กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก

ตีแตก : กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต

ผู้เขียน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เกริ่นนำ

ทำไมผมถึงเขียนหนังสือแล่มนี้ ?

ข้อแรก    ผมเป็นคนที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนมามาก รู้สึกว่าตนเองเป็นคนทรงภูมิ จึงอยากบอกใครต่อใคร

ข้อสอง    ผมเป็นนักลงทุน เริ่มตั้งแต่สมัครเล่นตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน เพื่อความสนุก ตื่นเต้น และทำเงินเป็นครั้งเป็นคราว แต่ตอนหลังๆ ก็ลงทุนเต็มตัว ไม่ขาดทุนมากนัก โดยรวมแล้วกำไรพอสมคสร ทั้งที่ตลาดตกต่ำมาไม่น้อยกว่า 4-5 ปี

ข้อสาม    วิธีการที่ผมใช้ ไม่ค่อยเหมือนใครในประเทศ เพราะเล่นแล้วมันไม่ตื่นเต้น เป็นวิธีที่คนไม่ค่อยนิยมกัน

ถ้าคุณบาดเจ็บหนัก คุณต้องอ่านหนังสือแล่มนี้หลายๆ รอบ และพิจารณาทบทวนหลักการที่เคยใช้ ถ้ายังทำใจไม่ได้ ผมคิดว่าฝากเงินในธนาคารน่าจะดีเสียกว่า

ถ้าคุณไม่ใช่นักลงทุน หนังสือแล่มนี้จะช่วยให้คุณจุดประกายความคิด ว่าการลงทุนไม่ใช่เรื่องที่ควรหลบเลี่ยง หรือสุ่มเสี่ยง เพราะถ้าคุณไม่รู้จักการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากเงินธนาคาร ชีวิตบั้นปลายของคุณอาจจะไม่สดใสเท่าคนที่รู้

บทที่ 1 ลงทุนในหลักทรัพย์ต้องทำให้เหมือนกับการเข้าหุ้นทำธุรกิจ

ถ้าอยากทำธุรกิจทำไมไม่ซื้อหุ้น ?

ผมซื้อหุ้นในตลาด ก็เหมือนเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เวลาไปจ่ายตลาด ผมก็จะอุดหนุนสินค้าจากบริษัทที่ผมซื้อหุ้นไว้ แล้วผมจะก่อตั้งหรือทำธุรกิจของตนเองไปทำไมในเมื่อ….

1) ธุรกิจของผมจัดตั้งใหม่ๆ ย่อมมีความเสี่ยงสูง แม้จะมีความเข้าใจในการทำธุรกิจ ทั้งด้านการผลิต การตลาด การเงิน แต่โอกาสในธุรกิจใหม่จะรอดถึง 5 ปีนั้นค่อนข้างยาก

2) ถึงธุรกิจใหม่จะไปได้ ผลตอบแทนอาจไม่สูงเท่าที่ควร เพราะแต่ละธุรกิจจะมีผู้นำเท่านั้น ที่จะได้กำไรเหนือคู่แข่ง

3) แต่สำหรับผมนั้น ผมสามารถเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนในบริษัทที่ประสบความสำเร็จ และเป็นผู้นำอยู่แล้วได้ทันที โดยการเข้าซื้อหุ้น และราคาก็ถูกกว่าการลงทุนเสียเองซะอีก

ธุรกิจส่งออกคือความหวัง

ในช่วงเศรษฐกิจที่ตกต่ำ กำลังซื้อในประเทศมีน้อย ธุรกิจส่งออกคือคำตอบ เพราะเราได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิต การหาซื้อหุ้นส่งออกดีๆในตลาดหลักทรัพย์ ก็คือพวกที่ประสบความสำเร็จแล้ว

การที่เราซื้อหุ้นเขาก็เหมือนเราทำส่งออกเอง แถมหุ้นบางตัวยังขายถูกกว่าเจ้าของเริ่มลงทุน

ธุรกิจแต่ละประเภทมีธรรมชาติไม่เหมือนกัน

ก่อนที่จะซื้อหุ้นเขาก็ต้องศึกษาลักษณะการดำเนินงานทางธุรกิจเสียก่อน ถ้าธุรกิจนั้นมีวิธีการทำมาหากินแบบเดียวกันเราควรจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

กลุ่มผู้ผูกขาดสินค้าอุปโภคบริโภค

กลุ่มแรกคือ บริษัทมียี่ห้อติดตลาดเหนือกว่าคู่แข่งขันค่อนข้างมาก ส่วนแบ่งในตลาดสูง หรือแปลได้ว่าขายสินค้ามีกำไรสูงทำกำไรนานหลายปี ไม่ต้องกังวลว่าใครจะมาล้มตำแหน่งได้ง่ายๆ เราสามารถเก็บยาวๆได้ โอกาสที่พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงนั้นมีน้อย

ธุรกิจสัมปทานหรือธุรกิจควบคุม

เป็นธุรกิจที่ต้องได้รับการอนุญาต และใบอนุญาตต่างๆนั้น มีมูลค่าเป็นร้อยๆ ล้านบาท บางธุรกิจเป็นพันๆ ล้านบาท ขอแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย

1) ธุรกิจสัมปทาน

กลุ่มนี้คือ บริษัทที่ได้สัมปทานให้บริการสาธารณูปโภคแทนรัฐบาล หรือเสริมงานของรัฐ ข้อดีคือ มีคู่แข่งน้อย ข้อเสียคือ ถูกควบคุมด้านราคาขาย เพราะฉะนั้นธุรกิจจะดีก็ต่อเมื่อ มีความต้องการเพิ่มขึ้น

2) กลุ่มธุรกิจควบคุมหรือกลุ่มสถาบันการเงิน

กลุ่มนี้ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มประกันภัย/ประกันชีวิต

ทั้งหมดนี้ถูกควบคุม หรือได้รับความคุ้มครองไม่ให้มีรายใหม่ๆ เข้ามาได้ง่ายๆ ทำให้มีคู่แข่งไม่มาก เหตุผลคือ ไม่ต้องการให้แข่งขันจนบริษัทใดบริษัทหนึ่งล้มละลาย จะกระทบกับความเชื่อมั่นทั้งระบบ

ธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์

ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ก่อให้เกิดการขยายตัวของการลงทุน ทำให้หุ้นหลักทรัพย์เป็นที่นิยม เพราะธุรกิจเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในขณะที่ตลาดตกต่ำลง ผลการดำเนินงานของไฟแนนซ์ จึงมีราคาขึ้นลงที่หวือหวา และกลายเป็นสื่อกลางในการเก็งกำไร

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์

เป็นหุ้นที่มีไม่มากเกินไป ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจไทย สามารถทำกำไรเทียบกับสัดส่วนของผู้ถือหุ้นได้ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แม้ว่าบริษัทไฟแนนซ์ที่กำลังบูม ก็อยู่ในระดับ 15 เปอร์เซ็นต์ คนที่คิดว่าหุ้นไฟแนนซ์เป็นหุ้นที่ดี ส่วนมากไม่ได้ดูเรื่องของกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น แต่จะมองที่การเติบโตในอนาคต แต่ผมจะไม่พยายามคาดการณ์อนาคต เพราะอนาคตมันทำนายได้ยาก

ธุรกิจส่งออก

เป็นบริษัทที่ขายสินค้าส่วนใหญ่ไม่น้อยกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ส่งไปยังต่างประเทศ บริษัทเหล่านี้มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน โอกาสที่จะกำไรขาดทุน ของธุรกิจส่งออก เป็นผลจากการดำเนินงาน และอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สามารถควบคุมได้

ธุรกิจมีจุดเด่น

เป็นบริษัทที่เก่งในด้านการผลิตหรือการดำเนินงาน ในสินค้าเฉพาะด้าน ทำให้บริษัทเรานี้ค่อนข้างที่จะมั่นคง สามารถทำกำไรเติบโตได้ค่อนข้างมาก ปลอดภัยจากคู่แข่ง แม้ว่าจะเจอสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย บริษัทเหล่านี้จะเข้มแข็งพอที่จะเอาตัวรอดไปได้ ธุรกิจเหล่านี้นักลงทุนจะต้องคอยติดตาม ถ้าเห็นหุ้นตกลงเมื่อไหร่ต้องรีบช้อนซื้อไว้ทันที

ธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์

สินค้าโภคภัณฑ์นั้นรวมถึง น้ำ น้ำมัน ข้าว แป้ง อาหารสัตว์ สังกะสี และเหล็ก สินค้านั้นจะดูคล้ายๆกัน ซื้อขายในราคาเดียวกัน ไม่สามารถกำหนดราคาตนเองได้ ผู้ผลิตมีผลการดำเนินงานไม่แน่นอน เมื่อมีกำไรแล้ว เราต้องรีบถอย

บทที่ 2 การวิเคราะห์ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการ

ตัวเลขทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในงบดุล งบกําไรขาดทุน เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ ว่าความคิดของเราต่อกิจการนั้นเป็นอย่างไร นักลงทุนต้องวิเคราะห์ให้ถ่องแท้

การวิเคราะห์งบกำไรขาดทุน

เราจะดูว่ากิจการไปได้ดีแค่ไหน มียอดขาย ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และผลกำไร เป็นอย่างไร

การวิเคราะห์งบดุล

เป็นงบที่แสดงว่ากิจการมีความเข้มแข็งแค่ไหน ถ้าโครงสร้างการเงินไม่แข็งแรง ก็อาจจะประสบปัญหา ล้มละลายได้

สินทรัพย์ของบริษัท

ประกอบด้วยสินทรัพย์ซึ่งเป็นตัวที่สร้างรายได้หมุนเป็นเงินสดให้กิจการ และหนี้สินเป็นภาระของบริษัทต้องนำเงินสดมาชำระ

หนี้สินของบริษัท

ในเรื่องของทรัพย์สินของบริษัท การที่จะทราบรายการทรัพย์สินอาจจะดูยากแน่นอน คนที่จะรู้ก็คือผู้บริหารของบริษัท คนนอกอย่างเราๆ ไม่มีทางรู้อย่างมากก็ทำได้แค่เพียงวิเคราะห์ตัวเลขสัดส่วน แต่ก็คงไม่แน่นอนเท่าไหร่ แต่สำหรับหนี้สินหรือภาระของบริษัทเราจะรู้แน่ชัด ก็คือ เป็นสิ่งที่เราต้องจ่ายให้แก่เจ้าหนี้แน่นอน

การวิเคราะห์แนวโน้มผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกิจการ

สำหรับนักลงทุนซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งผมคิดว่าการมองย้อนหลังไปหลายๆ ปี น่าจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์อยู่ไม่น้อยสิ่งที่ต้องดูย้อนหลัง 4-5 ปีก็คือ

  1. การเติบโตของกำไรและยอดขายหรือรายได้ของบริษัท
  2. เรื่องของหนี้สินถ้าบริษัทลดยอดหนี้ลงได้เรื่อยเรื่อยก็ถือว่าวิเศษแต่ถ้าลดยอดหนี้ไม่ได้แต่อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เพิ่มก็ยังพอทน ถ้าหนี้เพิ่มเพิ่มแบบนี้ถือว่าอันตราย
  3. เรื่องของลูกหนี้การค้าถ้าสัดส่วนยอดขายไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นเร็วและมีสัดส่วนที่สูงอาจเป็นสัญญาณว่าบริษัทเริ่มมีปัญหาการเก็บหนี้
  4. สินค้าคงคลังถ้าพบว่าอัตราส่วนเทียบกับยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยเรื่อยก็เป็นสัญญาณเตือนว่ายอดขายอาจจะชะลอตัวขายได้ยากที่น่ากลัวก็คือ สินค้าเสื่อมคุณภาพหรือล้าสมัย

บทที่ 3 หุ้นถูก-หุ้นแพง

ต้องรู้ว่าบริษัทไหนดี ราคาควรเป็นเท่าไหร่ แล้วเรา ต้องเฝ้ารอเมื่อราคาตกลงมา คุณต้องรีบซื้อหุ้นตัวนั้นทันทีเพราะถ้าช้าอาจจะกลับไปที่ราคาเดิม

คุณภาพของหุ้น

หุ้นคุณภาพดี เราดูที่ความสามารถในการทำกำไร พูดให้ชัด ก็คือ กำไรต่อหุ้นเติบโตปีละกี่เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย

การเติบโตที่ว่าต้องโตไปเรื่อยเรื่อยอย่างน้อย 5-6 ปี นอกจากนั้นแล้ว เราต้องดูเรื่องความมั่นคงในการทำกำไรเป็นตัววัดคุณภาพที่สำคัญด้วย กำไรที่ขึ้นขึ้นลงลงทำให้คุณภาพของหุ้นหย่อนลง นอกจากความมั่นคงของกำไรคุณภาพของบริษัทยังดูได้จากความเข้มแข็งของสินค้าของบริษัทฐานะการเงินและอื่นๆ อีกมาก ถ้าถามว่าโตเท่าไหร่ถึงจะดีผมจะดูว่าบริษัทนั้นทำอะไร

ราคาหุ้น

หุ้นถูกหุ้นแพงขึ้นอยู่กับว่ากำไรต่อหุ้นของแต่ละบริษัทเป็นอย่างไร เราต้องเปรียบเทียบราคาหุ้นกับผลกำไรต่อหุ้นดังกล่าวอัตราส่วนมีชื่อเรียกว่า P/E Ratio หรือ ค่า P/E หาได้จากราคาหุ้นหารด้วยกำไรต่อหุ้นในระยะเวลาหนึ่งปี

ค่า P/E แค่ไหนถึงเรียกว่าแพงแค่ไหนถึงเรียกว่าถูก เราอาจจะต้องเปรียบเทียบทั้งตลาดหุ้น เช่น ปัจจุบัน P/E ทั้งตลาดอยู่ที่ประมาณ 10 เท่า ฉะนั้นหุ้นที่มี P/E เกิน 10 เท่า ก็ถือว่าแพงกว่าตลาดหุ้นโดยเฉลี่ย แต่ถึงหุ้นจะถูก ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะซื้อ เราต้องเทียบกับคุณภาพของหุ้นเสมอ

คุณภาพ vs ราคา

ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของหุ้นนั้น จะต้องเปรียบเทียบคุณภาพของหุ้นที่จะซื้อว่าวัดออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างไร ก็จะได้อัตราส่วนความคุ้มค่าเรียกว่า PEG Ratio เกิดจากการเอา P/E ของหุ้นตั้งหารด้วย G (growth) ถ้าอัตราส่วนออกมาน้อยกว่า 1 เท่า แสดงว่าหุ้นมีราคาถูก ในทางตรงกันข้าม ถ้า PEG มากกว่า 1 เท่า แสดงว่าหุ้นมีราคาแพงเกินกว่าคุณภาพ ไม่สนใจที่จะซื้อ

ส่วนตัวผมไม่ได้ใช้ค่า PEG เป็นตัวตัดสินแต่เพียงอย่างเดียว เพราะ G เป็นค่าที่เกิดจากการคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งมาจากการคาดการณ์

ราคาเก็งกำไร

การเก็งกำไร ควรเป็นเพียงตัวประกอบที่ทำให้คุณเกิดสภาพคล่องที่ดี เมื่อหุ้นถูกใช้เป็นสื่อกลางในการเก็งกำไร จนทำให้ราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริง ในที่สุดราคาก็ต้องดีดตัวและกลับลงมาที่ราคาพื้นฐานที่ควรจะเป็น

บทที่ 4 สไตล์การลงทุน

นักลงทุนก็มีทางเลือกที่จะซื้อหลายแบบหลายสไตล์ เช่น

  1. ซื้อหุ้นคุณภาพสูงไม่ค่อยเกี่ยงราคา
  2. ซื้อหุ้นคุณภาพปานกลางราคาปานกลาง
  3. ซื้อหุ้นคุณภาพต่ำราคาต่ำ
  4. ซื้อหุ้นทุกระดับคุณภาพที่ราคาต่ำกว่าพื้นฐาน
  5. ซื้อหุ้นเฉลี่ยทั้งตลาดตามราคาตลาด

นอกจากนี้มีนักลงทุนที่ใช้วิธีดูหุ้นตามตำรา ซื้อหุ้นแบบแท่งเทียน หรือดูเส้นค่าเฉลี่ยเราเรียกกันว่า เล่นหุ้นตามเทคนิค

นักเล่นหุ้นอีกจำนวนมาก เล่นตามข่าวลือเค้าจะปั่นหุ้นตัวไหน หรือเล่นหุ้นตัวไหนก็เฝ้าดูหุ้นตัวนั้นมีการเคลื่อนไหวตามข่าวที่จะเป็นหรือไม่ เรียกว่า เล่นหุ้นหน้ากระดาน

นักลงทุนที่ยังมีประสบการณ์น้อยหรือเรียนรู้หลักการลงทุนน้อยมักจะไม่มีวิธีการลงทุนที่ชัดเจน บางครั้งก็ฟังมาจากนักวิเคราะห์ บางครั้งก็ฟังก็เก็งกำไรตามข่าวลือ เราเรียกว่า เล่นหุ้นแบบมวยวัด

ส่วนพวกที่มีประสบการณ์มากๆ ชื่นชอบวิธีการบางอย่างเป็นพิเศษ ทำกำไรได้เป็นประจำ หรือว่าดีกว่าวิธีการที่เคยใช้มา แบบนี้เรียกว่า นักลงทุนกำลังเริ่มมีสไตล์การลงทุน

การลงทุนแต่ละสไตล์นั้น ต่างมีข้อดีข้อเสียขึ้นอยู่กับสถานการณ์การลงทุน การเล่นหุ้นต้องมีหลักการและยึดมั่นในแนวทางใดแนวทางหนึ่งของตนเอง จึงจะประสบความสำเร็จ เพราะนั่นคือวิธีการที่คุณรู้จักดี คุณมีความชำนาญ แต่เชื่อผมเถอะ คนเราเป็นอะไรสองอย่างที่ขัดแย้งกันเองไม่ได้ คุณต้องเลือกเอา เมื่อคุณเลือกแล้วอย่าเปลี่ยนใจกลับไปมา เพราะถ้าอย่างนั้นคุณก็ไม่ต่างอะไรกับ มวยวัด

บทที่ 5 ตีแตก

โดยปกติเราต้องมีหุ้นหลายตัวอยู่ในพอร์ต เพื่อกระจายความเสี่ยง หุ้นตัวไหนที่คิดว่ามีโอกาสชนะได้ผลตอบแทนคุ้มค่าน้อย ผมไม่ซื้อ หรือถ้ามีอยู่ก็จะขายทิ้ง หุ้นที่มีโอกาสชนะเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ไม่มาก ผมอาจมีไว้บ้างเล็กน้อย หุ้นที่ผมเห็นว่ามีโอกาสชนะค่อนข้างมาก ผมจะถือไว้มาก และหุ้นที่ผมดูแล้วแทบไม่มีความเสี่ยงเลย แต่กำไรเห็นชัดเจน ผมจะตีแตกทั้งหมด นั่นคือ ซื้อทั้งหมด

ผมจะมาเล่าประสบการณ์ตีแตกของผมคืออะไร

คือการทำให้การลงทุนนั้นได้ผลตอบแทนค่อนข้างที่จะแน่นอน และในจำนวนที่มากกว่าการฝากเงินค่อนข้างมาก โดยแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย โอกาสไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ดังนั้น คนที่เห็นโอกาสเขาต้องพร้อมและกล้าที่จะ “ตีแตก” หรือลงทุนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

บทที่ 6 นักลงทุนเอกของโลก

นักลงทุน ที่มีชื่อเสียงระดับโลกนั้น ผมคิดว่ามี เงื่อนไขหลายหลายประการ ที่ชัดๆ ก็คือ

  1. ต้องเป็นนักลงทุนมืออาชีพ คืออาชีพหลักก็คือ การลงทุนในหลักทรัพย์ หรือตราสารการเงิน คนที่ร่ำรวยเพราะฝีมือทางการบริหารธุรกิจ เช่น บิลเกต ประธาน Microsoft ไม่อยู่ในข่ายนี้
  2. ต้องลงทุนมานานไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป ผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดค่อนข้างมาก
  3. ผลตอบแทนต่อปีของการลงทุนค่อนข้างสูง อย่างสม่ำเสมอ แทบไม่เคยแพ้ตลาดเลย
  4. ต้องบริหารเงินจำนวนมากนับแสนๆ ล้านบาท

ถ้าให้เลือก 3 อันดับนักลงทุนของโลกในเวลานี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นอันดับหนึ่ง จอร์จ โซโรส เป็นอันดับสอง และปีเตอร์ ลินซ์ เป็นอันดับสาม ในแง่ฝีมือการลงทุน

บทที่ 7 การค้นหาหุ้นที่จะซื้อและขาย

หุ้นในตลาดหลักทรัพย์มีจำนวนมาก การค้นพบหุ้นดีๆ เป็นเรื่องไม่ง่าย ทางหนึ่งที่นักลงทุนทำก็คือการอ่านงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ของโบรกเกอร์ ปรึกษาเพื่อนนักลงทุน หรือฟังจาก Marketing พนักงานการตลาดของโบรกเกอร์

หุ้นที่โบรกเกอร์เชียร์หรือแนะนำ มีคุณลักษณะ 2 ประการคือ

  1. เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดี
  2. ราคาหุ้นได้วิ่งขึ้นไปแล้ว

ดังนั้นในวันที่งานวิเคราะห์ออกเผยแพร่ ราคาหุ้นที่แนะนำอาจจะสูงเกินไปแล้ว ไม่คุ้มที่จะลงทุน

กระบวนการค้นหาหุ้นโดยการใช้ตะแกรงร่อน

การค้นพบคุณที่ดี ราคาถูก คงจะมีบ้างแต่ก็คงจะไม่บ่อยนัก แต่การค้นหานั้นไม่ยาก ไม่ใช้เทคนิคซับซ้อนหรือวิชาคณิตศาสตร์ขั้นสูง แต่เป็นความเชื่อมั่นในตัวเองว่าสิ่งที่พบเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในการค้นหาหุ้นนั้นผมมักจะใช้ตะแกรงร่อน นั่นก็คือดูข้อมูลหลักๆ ของบริษัทที่จดทะเบียนที่ประกาศออกทุกไตรมาสโดยตัวที่สำคัญที่สุดก็คือ

กำไร

เป็นตัวที่จะทำให้หุ้นขึ้นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดถ้ากำไรดีขึ้นเรื่อยๆ หุ้นก็ต้องขึ้น กำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดคือเครื่องหมายที่ดี บริษัทอาจเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

ยอดขาย

บริษัทที่มียอดขายเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี เป็นบริษัทที่น่าจับตามอง

กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น

ซึ่งถือเป็นเครื่องมือชี้ที่สำคัญว่า ธุรกิจนั้นมีกำไรดีแค่ไหน หุ้นที่มีกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับสูงนั้นเป็นตัวที่ผมสนใจจะศึกษาต่อ

มูลค่าหุ้นทั้งบริษัท

เป็นข้อมูลหุ้นทั้งหมดของบริษัท นั่นก็คือ ถ้าจะซื้อหุ้นทั้งบริษัท ต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ คำนวณได้จากราคาคูณกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท แล้วผมจะพิจารณาว่าหุ้นแต่ละบริษัทมีมูลค่าสมเหตุสมผลหรือไม่ หุ้นที่ผมสนใจก็คือหุ้นที่มีมูลค่าค่อนข้างต่ำมาก ในขณะที่บริษัทค่อนข้างจะใหญ่ ฐานะทางการตลาดดี และมีกำไรสม่ำเสมอ

ค่า P/E

ค่า P/E เป็นตัววัดความถูกความแพงของหุ้นที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง ถ้า P/E เท่ากับ 1 เท่า ไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องรีบซื้อหุ้นตัวนั้น ควรจะเก็บไว้เป็นตัวที่ต้องศึกษาต่อ

ราคาต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี หรือ P/B

เป็นตัววัดความถูกความแพงของหุ้นอีกตัวหนึ่งที่ใช้ควบคู่กับค่า P/E ค่า P/B ข้อดีใช้ได้กับบริษัทที่อาจมีกำไรผันผวนเป็นบางครั้ง ค่า P/B จะช่วยบอกว่าราคาของหุ้นในขณะนั้นเมื่อเทียบกับเงินทุนที่บริษัทใส่ลงไปในกิจการ มีค่าเป็นอย่างไร ถ้าผลิตภัณฑ์ที่บริษัทขายเป็นสินค้าค่อนข้างที่นิยม รู้จักดีในตลาด และขายได้ราคาดี ในขณะที่ค่า P/B ต่ำกว่า 1 เท่า  ผมจะสนใจเป็นพิเศษ ถ้าพบว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี ก็แสดงว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาถูกกว่าความเป็นจริง เป็นหุ้นที่น่าสนใจน่าพิจารณาศึกษาต่อ

การค้นหาหุ้นจากเหตุการณ์พิเศษ

เราต้องเป็นคนที่”เปิดหูเปิดตา” รับข่าวสารต่างๆที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และวิเคราะห์ว่าข่าวนั้นหรือเหตุการณ์นั้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร เช่น การเกิดสงครามในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น เราต้องรู้ว่าธุรกิจใดจะเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ แล้วเราต้องพิจารณาว่าบริษัทที่ได้หรือเสียประโยชน์นั้ เป็นแค่ชั่วคราว ระยะสั้นหรือยาว มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น การวิเคราะห์เหตุการณ์ต้องพิจารณาให้ดี เพราะบางทีอาจจะมีอะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ ทำให้เหตุการณ์นั้นไม่ได้ส่งผลต่อบริษัทอย่างที่ควรจะเป็น

การค้นหาหุ้นโดยการตามคนอื่น

มีด้วยกันอยู่ 2 แบบ

1) การซื้อขายตามเจ้าของหรือผู้บริหาร

เป็นสัญญาณดีมาก เพราะเจ้าของหรือผู้บริหารเป็นคนที่รู้ข้อมูลบริษัทมากกว่าคนภายนอก เขาย่อมต้องรู้ว่าผลการดำเนินงานจะประกาศออกมาเป็นอย่างไร แต่ก็ต้องระวังเรื่องของการปั่นราคาด้วย

2) การซื้อ-ขายของรายใหญ่

การซื้อขายจำนวนมากๆคนซื้อและคนขายต้องติดต่อกันให้เรียบร้อยก่อน โดยปกติจะผ่านโบรกเกอร์ ก่อนที่จะซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากนั้น คนซื้อย่อมต้องไปวิเคราะห์ฐานะและผลการดำเนินงาน รวมถึงอนาคตของบริษัทที่จะซื้อค่อนข้างละเอียด

บทที่ 8 เรื่องน่าห่วงในการลงทุน

เป็นเรื่องที่ทำให้นักลงทุนนอนไม่หลับ บางคนห่วงว่าหุ้นที่ตัวเองถือจะหมดค่าเนื่องจากภาวการณ์ต่างๆ ในความเห็นผม สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการลงทุนจริงๆ มีอยู่สามเรื่องคือ

  1. เรื่องการกระจายความเสี่ยง

คือการถือหุ้นหลายหลายๆ ตัว หุ้นไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน คุณก็จะสามารถลดความเสี่ยง แต่ผลตอบแทนจะไม่หวือหวามาก พอร์ตการลงทุนของคุณจะมีผลตอบแทนดีมากๆก็จะลดลงไปด้วย แต่กลยุทธ์นี้ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย

  1. เรื่องสภาพคล่องของหุ้น

สภาพคล่องของหุ้นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่ง ถ้าหุ้นมีสภาพคล่องต่ำ นักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่สนใจดูเลยเพราะเขากลัวว่าซื้อได้แต่ขายไม่ได้เพราะไม่มีคนซื้อ

  1. เรื่องของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน

การวิเคราะห์ผู้บริหารนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ โดยทั่วไปเราไม่ได้พบหรือรู้จักหน้าตาของเค้าเหล่านั้น อย่างไรก็ตามเราสามารถมองผู้บริหารผ่านตัวเลขผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน นโยบายต่างๆ ที่บริษัทประกาศและนำมาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฝีมือของผู้บริหาร ในการทำงานว่า มีสายตากว้างไกลในธุรกิจหรือแนวทางการทำงานอย่างไร

บทที่ 9 การลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ

การลงทุนในที่ดิน

ดูเหมือนว่าเป็นทรัพย์สินที่คนนิยมลงทุนไม่น้อยเลยทีเดียว แต่เราต้องคำนึงถึง ภาษีการซื้อขายที่ดินสภาพคล่อง และการเกิดรายได้ อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าคนที่พอมีเงินทุกคน หรือทุกครอบครัวควรมีไว้ซักหนึ่งแปลง เพื่อเอาไว้อยู่อาศัย

การฝากเงิน

อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ เคยพูดว่า ดอกเบี้ยทบต้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับที่แปดของโลกที่มนุษย์คิดขึ้น การฝากเงินประจำนั้น จะสร้างผลตอบแทนค่อนข้างมากเพราะผลตอบแทนมีแต่บวก ไม่มีลบ และพอกพูนทบต้นไปเรื่อยๆ ถ้าคุณมีเงินเหลือจากการลงทุน ก็น่าที่จะพิจารณาเก็บส่วนหนึ่งเป็นฝากประจำ แทนที่จะทิ้งไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ซึ่งให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่ามาก

การซื้อทองคำ

ทองคำเป็นทรัพย์สินที่ผู้นิยมซื้อเก็บลงทุนเหมือนกันโดยเฉพาะคนที่ไม่มั่นใจในฐานะของเงินบาท แต่สำหรับผมนั้น ทองคำคงไม่แวววาวเท่าไร คิดว่าขายแล้วเอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

การซื้อภาพเขียนและงานศิลปะ

การลงทุนในภาพเขียนเพื่อหวังขายได้กำไร จะเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ยกเว้นเสียแต่ว่า คุณจะเจอแจ๊คพอทได้รูปที่สวยสุดยอดและเป็นที่ต้องการของใครต่อใคร โอกาสแบบนั้นก็เหมือนคุณแทงลอตเตอรี่เพื่อหวังรางวัลที่หนึ่งคุณอาจจะต้องรอไปอีกหลายๆ ปี เพราะมีคนบอกผมว่าภาพเขียนจะมีราคาสูงมากๆ ได้นั้น คนเขียนภาพจะต้องตายก่อน ถ้าคนเขียนยังไม่ตาย เขาจะเขียนภาพขึ้นมาใหม่ได้ ของก็จะมีราคาสูงขึ้นยาก

พระเครื่อง, เหรียญ, แสตมป์

ถ้าให้ผมแนะนำ ผมตอบได้ทันทีเลยว่า “อย่าลงทุนเด็ดขาด” เพราะพระหรือเหรียญที่เป็นมงคล ถ้าเรานำมาใช้ในการลงทุนแล้ว เห็นว่าราคาตกลงไปมาก เราจะยังรู้สึกว่าพระเครื่องนั้นเป็นที่พึ่งพาทางใจได้อยู่หรือ?

สิ่งที่ยังพอใช้เป็นเครื่องมือลงทุนได้น่าจะเป็นเหรียญที่ระลึกที่หายาก หรือแสตมป์ที่สะสมกันโดยทั่วไป แต่ทั้งสองอย่างนั้นผมก็คิดว่าไม่น่าสนใจที่จะลงทุน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการคาดการณ์ว่าเหรียญชนิดใดหรือแสตมป์รุ่นไหนจะมีราคาเพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ในความเห็นของผม สิ่งเหล่านี้เหมาะสำหรับเป็นงานอดิเรกสะสมของเก่าซะมากกว่า

เ ฮ J D ÿ™

สั่งซื้อหนังสือ “ตีแตก : กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก