สรุปหนังสือ กลยุทธ์รวยหุ้นด้วยปันผล
GET RICH WITH DIVIDENDS
ในหนังสือเล่มนี้นักวิเคราะห์อย่าง มาร์ก ลิชเทนเฟล์ด ทำให้เห็นว่า จะลงทุนในหุ้นปันผลอย่างไร และเพราะอะไรซึ่งเขาแสดงให้เห็นว่า แม้ตลาดอยู่ในช่วงขาลง หุ้นปันผลก็ยังมีผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นที่ไม่จ่ายปันผล และมักจะสวนแนวโน้มหลักได้ในมูลค่าที่สูงขึ้น เหตุผลนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน หุ้นเหล่านี้มักเป็นของบริษัทที่ทำกำไร มีความมั่นคง มีเงินสดมากมาย และเป็นบริษัทที่มีอำนาจมาอย่างยาวนาน กลยุทธ์รวยด้วยหุ้นปันผลจึงเป็นหนังสือที่นักลงทุนทุกประเภทควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง ด้วยประสบการณ์การลงทุนผู้คร่ำหวอดในแวดวงหุ้นมากกว่า 15 ปีของผู้เขียน จึงถือเป็นตำราชั้นยอดที่จะทำให้เงินของผู้อ่านงอกเงยขึ้นอย่างน่าทึ่ง
บทที่ 1
ทำไมต้องเลือกหุ้นปันผล
ลองจินตนาการว่าเก็บเงิน 10% แล้วเอามาลงทุนในหุ้นปันผลที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้ เมื่อเวลาผ่านไปทรัพย์สินจะเติบโตขึ้นจนถึงจุดที่ทำให้มีรายได้มากพอชนิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องทำงานอีกเลย การนำเงินที่หาได้อย่างยากลำบากมาลงทุนนั้นมีอยู่หลายวิธี แต่ไม่ช้าจะได้เห็นว่าทำไมการลงทุนในหุ้นปันผล ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ทรัพย์สิน และรายได้โดยไม่ต้องเสี่ยงนี้ ไม่ใช่ทฤษฎีแต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น และได้รับการพิสูจน์มาแล้วหลายทศวรรษว่าเป็นความจริง
ในตลาดหุ้นมีกลยุทธ์หลากหลายที่ใช้กันอยู่ นักลงทุนที่เน้นเรื่องคุณค่าหุ้น จะซื้อหุ้นราคาถูกแล้วไปขายตอนราคาแพง นักลงทุนเน้นหุ้นโตไวเชื่อว่า ควรซื้อหุ้นที่กำลังมีอัตราการเติบโตของรายได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นักลงทุนที่ดูแนวโน้มของหุ้นเป็นหลัก เลือกลงทุนในหุ้นที่กำลังมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และถอยออกมาเมื่อราคาหยุดไหลขึ้นไป นอกจากนี้ก็ยังมีบางคนที่เชื่อในเรื่องของกราฟหุ้น ตราบใดที่กราฟยังอยู่ดีก็เป็นจังหวะเข้าซื้อ
กลยุทธ์ต่าง ๆ เหล่านี้ใช้ได้ผลในบางครั้ง ยังมีกลยุทธ์อีกหลายประเภทนอกเหนือจากที่ว่ามา ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนเชิงปริมาณ การวิเคราะห์หุ้นตามวัฏจักร วิเคราะห์อัตราเติบโตของกำไรในราคาที่เหมาะสม (Growth At a Reasonable Price หรือ GARP) ซึ่งเป็นการรวมเกณฑ์ด้านมูลค่า และอัตราการเจริญเติบโตเข้าไว้ด้วยกัน
ผู้ที่สนับสนุนกลยุทธ์ใดอย่างสุดโต่งก็มักจะกล่าวว่า วิธีของตนสามารถทำเงินในตลาดได้ แทบจะเทียบได้กับลัทธิที่มีสาวกผู้ศรัทธาเหนียวแน่น และแสดงออกให้เห็นว่า ความเชื่อของตนเป็นความจริงเพียงประการเดียว ยั่งยืน ไม่มีข้อโต้แย้ง เป็นนิรันดร์ หลักการอย่างหนึ่งนักลงทุนหลายคนมักจะลืมไปก็คือ พวกเขากำลังลงทุนกับธุรกิจ ไม่ว่าธุรกิจนั้นจะเป็นธุรกิจค้าปลีกบริษัทผลิตเหล็ก หรือบริษัทผลิตอุปกรณ์ประกอบแผงวงจรไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ต่างเป็นธุรกิจที่ดำเนินไปด้วยผู้จัดการ พนักงาน ลูกค้า เครื่องมือ โดยมีความหวังร่วมกันเพียงอย่างเดียวคือกำไร ไม่ได้เป็นเพียงตัวอักษร 3 – 4 ตัวที่พิมพ์ลงในโปรแกรม Yahoo Finance เป็นบางครั้งบางคราวเพื่อเช็คราคาหุ้น และธุรกิจตัวจริงที่ว่า สามารถเพิ่มความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำเงินปันผลที่ได้รับมาลงทุนซ้ำ
ตัวเลข
การลงทุนในหุ้นปันผลคือหนทางที่ดีที่สุด ในการทำเงินในตลาดหุ้นระยะยาว ฮาร์วีย์ รูบิน และคาร์ลอส สปาท ทั้งสองมาจากมหาวิทยาลัยรัฐลูเซียน่าในชรีฟพอร์ตเคยเขียนไว้ว่า หากนักลงทุนตั้งกรอบเวลาการลงทุนไว้ที่ 10 และ 15 ปี กลยุทธ์หุ้นปันผลจะนำไปสู่ชีวิตแห่งอิสรภาพทางการเงิน ไม่ต้องสนใจทิศทางของตลาด หุ้นปันผลที่เติบโตดีจะทำให้เกิดกระแสรายได้ที่หลั่งไหลมาอย่างไม่หยุดหย่อน พอล แอสควิธ และเดวิด ดับเบิ้ลยู มูลลินส์ จูเนียร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้สรุปว่า หุ้นมีนโยบายจ่ายปันผลจะเป็นหุ้นที่ให้ผลกำไรแก่ผู้ถือ ยิ่งมีการจ่ายเงินปันผลก้อนแรกมากเท่าไหร่ และมีการจ่ายงวดย่อยบ่อยขึ้นเท่าไหร่ ก็จะให้ผลตอบแทนที่มากขึ้นเท่านั้น
ไมเคิล โกลด์ชไตน์ และแคทลีน พี. ฟูลเลอร์ จากสถาบันแบ็บซัน คอลเลจได้กล่าวไว้ว่า หุ้นที่มีการจ่ายปันผลจะเอาชนะหุ้นที่ไม่จ่ายปันผลอยู่ 1 – 2% ต่อเดือน ในช่วงที่ตลาดซบเซามากกว่าในตลาดคึกคัก แม้ว่าหุ้นจะตกก็ยังทำเงินได้ สมมุติว่าซื้อหุ้นมา 500 หุ้นในราคาหุ้นละ 20 เหรียญรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 10,000 เหรียญ หุ้นตัวนั้นจ่ายปันผลให้ 1 เหรียญต่อหุ้นต่อปี หรือคิดเป็น 5% ของต้นทุน และนอกจากนั้นบริษัทดังกล่าว ก็มีประวัติปันผลเพิ่มขึ้นอยู่ทุกปีอีก 10 ปีข้างหน้าบริษัทมีแนวโน้มจะเพิ่มเงินปันผลโดยเฉลี่ย 5% ต่อปี
สมมุติว่าตลาดหุ้นตกลง 13% และถ้าหากนำเงินปันผลที่ได้มาลงทุนเพิ่มในช่วงเวลา 10 ปีนี้ ขณะที่อัตราการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น และอัตราหุ้นตกลงจะมีเงินงอกออกมาถึง 17,000 เหรียญเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้น 70% หรือเท่ากับอัตราการเติบโตเฉลี่ยรายปีที่ 5.45% ทั้ง ๆ ที่ราคาหุ้นตกลงไปถึง 13 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเกิดเอาทรัพย์สินไปลงทุนเป็นเวลา 10 ปี แล้วได้ผลตอบแทนเป็น 2% หลังจากเวลาผ่านไป 10 ปีก็จะได้รับเงิน 10,000 เหรียญกลับคืนพร้อมกับดอกเบี้ยอีก 2,000 เหรียญรวมเป็น 12,000 เหรียญหรือคิดเป็นอัตราเติบโตของกำไรรายปีอยู่ที่ 1.84%
ในตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดนี้ การลงทุนในหุ้นขาดทุน 13% ถ้าว่ากลับให้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในพันธบัตร ที่รับประกันความเสี่ยงต้นทุนถึง 3 เท่า
อยู่ให้รอดในภาวะเงินเฟ้อ
คนส่วนใหญ่ไม่ชอบพูดถึงเรื่องเงินเฟ้อ นับตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมา อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาตกไปอยู่ที่ 1.4% ในปี 2009 และ 2010 เงินเฟ้อ 3.4% ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ในยุค 70 และยุค 80 นั้นค่าเงินเฟ้อเคยแตะอัตราเลข 2 หลักมาแล้วด้วยอัตรา 3.4% อำนาจในการซื้อจะถูกหั่นลงไปถึงครึ่งหนึ่ง หลังจากผ่านไป 20 ปีสิ่งที่มีราคา 1,000 เหรียญในปี 2001 มันจะมีราคาถึง 1,270 เหรียญเมื่อสิ้นสุดปี 2011
ระบบ 10 11 12
การไปถึงเป้าหมายทางการเงิน ด้วยกระบวนการที่ว่านี้แบ่งออกเป็น 3 ข้อง่าย ๆ แต่ล้วนเป็นกุญแจดอกสำคัญ คือ 1. ต้องเข้าใจง่ายและมีประโยชน์ 2. ต้องนำไปใช้ได้จริง 3. ต้องไม่แพง
ผู้เขียนจึงสร้างระบบสำหรับนักลงทุนที่ใช้งานได้ง่ายและไม่แพง เพื่อที่พวกเขาจะได้นำพลังงานที่เหลือไปทุ่มเทให้กับเรื่องอื่นที่น่าตื่นเต้นมากกว่า แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายต่อหลายชั่วโมงไปกับการปรับพอร์ตอยู่เรื่อย
สรุปได้ว่า
1.ออมเงินเอาไว้ ลองเก็บเงินให้ได้ 10% จากรายได้ เพื่อใช้ให้เงินไปทำงานกับหุ้นที่จ่ายเงินปันผล
2.การลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลคือ หนทางที่ดีที่สุดในการสร้างความมั่งคั่งในตลาดหุ้น
3.หุ้นปันผลจะช่วยให้เอาชนะเงินเฟ้อได้ ซึ่งแตกต่างจากทรัพย์สินประเภทอื่น
4.ระบบ 10 11 12 ถูกออกแบบมาเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 12% ต่อปี เมื่อลงทุนในระยะยาวแทบไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร ง่ายแสนง่าย และยังกินเวลาเพียงน้อยนิดตลอดระยะเวลาหลายปีที่ใช้มัน
บทที่ 2
หุ้นที่ขึ้นปันผลต่อเนื่องคืออะไร
ตอนที่ผู้เขียนก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมการเงินเป็นครั้งแรก เคยทำงานเป็นผู้ช่วยโบรกเกอร์ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกราฟหุ้น โดยกุญแจสำคัญมี 2 ดอกในการอ่านกราฟหุ้นก็คือ 1. แนวโน้มคือเพื่อนของคุณ 2. หุ้นที่อยู่ในเส้นแนวโน้มจะวิ่งตามแนวโน้มไปเรื่อย ๆ สิ่งสำคัญก็คือแนวคิดทั้ง 2 ประการนี้หมายความว่า หุ้นจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้มเสมอ จนกว่ามันจะไม่เคลื่อนที่ต่อ มักจะขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีบางสิ่งมาเปลี่ยนทิศทางของมัน สาเหตุที่ทำให้ทิศทางเปลี่ยนอาจเป็นรายงานผลประกอบการแย่ ๆ ข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา หรือจากการที่สถาบันใหญ่พากันเทขายหุ้น ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเส้นแนวโน้มถูกทำลาย หุ้นจะกลับทิศ
รายชื่อหุ้นในกลุ่มอลิสโตแครต
แนวคิดในการเฟ้นหาหุ้นเพื่อมาเข้ากลุ่มอริสโตแครต หุ้นในกลุ่มอริสโตแครตก็คือ บริษัทที่ถูกจัดอยู่ใน S&P 500 และมีการเพิ่มค่าปันผลทุกปีต่อเนืองมาอย่างน้อย 25 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบริษัทที่เป็นหุ้นบลูชิพ ซึ่งมีประวัติการเติบโตทางรายได้และปันผลที่ยาวนาน
ดัชนี
ดัชนีบริษัทที่จ่ายปันผลดีในปัจจุบันมีอยู่จำนวน 51 บริษัท จะมีการจัดอันดับใหม่ทุกปี ถ้าหากว่าบริษัทใดไม่สามารถเพิ่มปันผลได้ก็จะถูกคัดชื่อออก หุ้นที่มีคุณสมบัติจะต้องมีองค์ประกอบ 4 ข้อดังนี้
- เป็นสมาชิกของดัชนี S&P 500
- มีประวัติขึ้นปันผลทุกปีต่อเนื่องมาอย่างน้อย 25 ปี
- มีมูลค่ารวมของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดอย่างน้อย 3 พันล้านเหรียญในวันที่มีการปรับดัชนี
- มีการซื้อขายต่อวันอย่างน้อย 5 ล้านเหรียญตลอดช่วงเวลา 6 เดือนก่อนที่จะมีการปรับดัชนี
จูเนียร์ อริสโตแครต
โดยทั่วไปแล้วหุ้นกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย หุ้นปันผลอริสโตแครตอยู่ราว 40-50 ตัว และมีหุ้นแชมเปี้ยนอยู่ราว 100 ตัว ซึ่งหุ้น 100 ตัวดูเหมือนเป็นจำนวนที่มาก แต่โปรดจำเอาไว้ว่า ไม่ใช่ทุกตัวที่ทำให้ผลตอบแทนสูง
สรุป
1.หุ้นปันผลอริสโตแครตต้องอยู่ในกลุ่ม S&P 500 จะมีการขึ้นปันผลต่อเนื่องมาอย่างน้อย 25 ปี
2.หุ้นปันผลแชมเปี้ยนคือหุ้นที่ขึ้นปันผลต่อเนื่องอย่างน้อย 25 ปี
3.หุ้นปันผลจูเนียร์อริสโตแครตคือ หุ้นของบริษัทที่ขึ้นปันผลต่อเนื่องระหว่าง 5 และ 24 ปี
4.ควรซื้อหุ้นรายตัวจะดีกว่าซื้อกองทุนรวม ETR
บทที่ 3
ผลงานในอดีตการันตีผลลัพธ์ในอนาคตไม่ได้แต่ก็ใกล้เคียง
ผลงานในอดีตไม่สามารถการันตีผลลัพธ์ในอนาคตได้ นั่นก็เพราะการที่กองทุนมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น 10% ไม่ได้หมายความว่าผู้จัดการกองทุนจะทำเช่นนั้นได้อีกในปีถัดไป แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับหุ้นที่ขึ้นปันผลต่อเนื่อง โอกาสอยู่ตรงที่บริษัทซึ่งเป็นปันผลต่อเนื่องมา 25 ปี มักจะทำเช่นนั้นได้อีกในปีที่ 26 ปีที่ 27 และปีที่ 28 เมื่อลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ขึ้นปันผลต่อเนื่อง ข้อได้เปรียบคือ ไม่จำเป็นต้องอ่านรายงานผลประกอบการทุกไตรมาส ไม่ต้องคอยกังวลว่าบริษัทจะมีนโยบายอะไร และจะสามารถขึ้นปันผลในปีนี้ได้หรือไม่ หุ้นกลุ่มปันผลต่อเนื่องทำให้ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านั้น บริษัทได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถมอบสิ่งที่ผู้ถือหุ้นต้องการมาตลอดระยะเวลา 15, 30 หรือแม้แต่ 50 ปี ในปีแล้วปีเล่า ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า ถ้าหากยึดมั่นในวิธีการนี้ โดยมากแล้วพอร์ตจะสร้างกระแสรายรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้ด้วยหุ้นกลุ่มที่ขึ้นปันผลต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างความมั่งคั่งให้ได้ด้วยการลงแรงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การทำงานของหุ้นในกลุ่มปันผลต่อเนื่อง
มีงานวิจัยมากมายที่บ่งชี้ว่าบริษัทที่ขึ้นปันผล มีผลการดำเนินงานที่เหนือความคาดหมายของตลาด มากกว่าหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ ตามผลการวิจัยของ เน็ด เดวิด บริษัทที่ได้มีการขึ้นปันผลต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 ถึง 2010 สร้างรายได้ดีกว่าบริษัทที่ไม่ทำ บริษัทที่ไม่ได้จ่ายปันผลหรือกลุ่มที่จ่ายน้อยลงนั้น ไม่สามารถเทียบชั้นกับกลุ่มที่จ่ายปันผล และกลุ่มที่ขึ้นปันผลได้เลย หุ้นกลุ่มขึ้นปันผลต่อเนื่อง สามารถทำให้เงินประมวลเติบโตขึ้นได้ 10% โดยประมาณ หรือมากกว่านั้น หุ้นหลายตัวอาจมีอัตราเติบโตที่ต่ำกว่านี้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรหุ้นเหล่านั้นก็ขึ้นปันผลอย่างต่อเนื่องมาถึง 30, 40 หรือ 50 ปี กุญแจที่ไขไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าเหลือเชื่อคือ บริษัทไม่เพียงแต่มีสถิติในการปันผลทุกปีเท่านั้น แต่ยังขึ้นปันผลในอัตราที่มากพอ ที่จะทำให้แซงหน้าอัตราเงินเฟ้อ จนกลายเป็นเครื่องมือชั้นดีในการสร้างความมั่นคงได้
ทำไมวิธีนี้จึงได้ผล
การจะเข้าใจได้ว่า เหตุใดหุ้นที่ขึ้นปันผลต่อเนื่อง จึงสามารถสร้างผลตอบแทนมหาศาลได้ เมื่อระยะเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งนั้น จะต้องเข้าใจหลักการทบต้นเสียก่อน สมมุติว่าคนมีหุ้นมูลค่า 10 เหรียญอยู่จำนวน 1,000 หุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูงสุด 0.40 เหรียญต่อหุ้น หรือคิดเป็น 4% ในปีแรก ก็จะได้รับปันผลเป็นจำนวน 400 เหรียญ ในปีต่อมาบริษัทขึ้นเงินปันผลอีก 10% ก็จะได้รับปันผลสูงสุดสี่เหลี่ยมต่อหุ้นหรือคิดเป็น 0.44 เหรียญต่อหุ้น หรือคิดเป็นเงิน 440 เหรียญ ในปีที่ 3 บริษัทขึ้นปันผล 10% อีกครั้ง ที่นี้คุณก็จะได้รับเงิน 0.484 ต่อหุ้น หรือคิดเป็นเงิน 484 เหรียญ เมื่อปีที่ 4 ขึ้นให้อีก 10% ก็จะได้รับเงินปันผล 0.5324 เหรียญต่อหุ้น หรือ 532.40 เหรียญอย่างนี้เรื่อยไป
หลักการทบต้นเป็นเรื่องของโมเมนตัม ในปีแรกก็ดูจะไม่มีอะไรมากนักแต่ขอให้จับตาดูให้ดีว่า จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นอีก 2 – 3 ปี จะเห็นได้ชัดว่าจะต้องใช้เวลาสักหน่อยกว่าเงินปันผลจะงอกเงยอย่างเห็นได้ชัด ในปีที่ 5 อัตราการเติบโตพุ่งขึ้นเป็น 47% แต่การเติบโตในแต่ละปีนั้นมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปีที่ 6 ปันผลสูงขึ้น 61% เมื่อเทียบกับปีแรก ปีที่ 7 สูงขึ้น 77% ในปีที่ 8 เพิ่มขึ้นเป็น 95% และในปีที่ 9 ปันผลก็จะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว นั่นคือ 115 % ของทุนเดิม และยังเพิ่มขึ้นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เหมือนกับก้าวย่างที่เร็วขึ้น เมื่อผ่านไป 10 ปี จะสะสมรายได้เป็นจำนวน 6,375 เหรียญ หรือคิดเป็น 64% ของต้นทุนเดิม หลังจากผ่านไป 20 ปีจะมีรายได้ทั้งหมด 22,910 ซึ่งมากกว่าต้นทุนเดิมถึง 2 เท่า
ลองสมมุติอะไรที่มันไม่น่าจะเป็นไปได้กันหน่อยดีกว่า สมมุติว่าราคาหุ้นที่ซื้ออยู่ไม่ขยับขึ้นเลยตลอดระยะเวลาที่ถืออยู่ เรียกว่าแช่นิ่งอยู่ราคาเดิมเลยอย่างนั้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ยังมีรายได้มากถึง 22,910 เหรียญ หรือคิดเป็นผลตอบแทนในอัตรา 129% ในช่วงเวลาที่ตลาดแน่นิ่ง ถัวเฉลี่ยรายปีแล้วเท่ากับ 6.4% ต่อปี ลองคิดดูว่าถ้าปล่อยให้มันทบต้นจะเกิดอะไรขึ้น เงินที่ทำได้กำลังทำงานของมันไปเรื่อย ๆ การทบต้นก็เหมือนกับระบบเครื่องจักร และมันยอดเยี่ยมตรงที่ไม่ต้องกระดิกตัวทำอะไรเลย หลังจากที่เปิดสวิตซ์ให้มันทำงาน ไม่ต้องตัดสินใจ และไม่ต้องเสียเงินเพียงสตางค์เดียว มันเป็นเครื่องมือทำเงินที่ใช้งานง่ายมาก มีแต่จะสร้างรายรับที่มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้นทุก ๆ ปี
ตลาดหมี
อาจประหลาดใจที่พบว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งความหวังให้ตลาดเพิ่มมูลค่าสูงขึ้น เพื่อทำให้สามารถนำเงินปันผลออกมาลงทุนซ้ำ แล้วได้กำไรมากขึ้น อันที่จริงถ้าหากหุ้นราคาตกก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะนั่นหมายถึงจะซื้อหุ้นเพิ่มได้ถูกลงกว่าเดิม ถ้าอยู่ในช่วงตลาดขาลงแบบปีแล้วปีเล่า โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงนั้นมีอยู่มาก เผลอ ๆ จะได้เจอกับเงินฝืดอีกด้วย ในกรณีเช่นนี้การได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 16% ต่อปีนั้น ก็ยังมีตั้งค่ามากกว่าอำนาจการซื้อโดยทั่วไปในชีวิตประจำวันอาจจะคิดว่า มันฟังดูเป็นทฤษฎีที่ยอดเยี่ยมอยู่ แต่ถ้าตลาดมีมูลค่าต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างนี้ ไม่มีทางที่บริษัทจะขึ้นปันผลต่อเนื่องได้แน่ ๆ อยู่แล้ว ทว่าข้อมูลสำคัญจากตลาดกลับแสดงให้เห็นผลบางอย่างตรงกันข้าม โรเบิร์ต อัลลัน ชวาร์ซ ซึ่งศึกษาเรื่องอัตราการเติบโตของเงินปันผลจากหุ้นกลุ่มแชมเปี้ยนจำนวน 139 ตัวได้พบว่า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมีบริษัทจำนวน 63% ที่ยังคงขึ้นปันผลทุกปี โดยนับจากช่วงปี 2008 ถึง 2011
เมื่อเทียบกับพันธบัตร
นักลงทุนที่ได้รับความเสี่ยงได้น้อยชอบพันธบัตร ก็เพราะว่ามันเป็นรายได้ที่มั่นคง และน่าไว้วางใจ ตรงที่ว่านักลงทุนสามารถรับเงินต้นคืน เมื่อถือพันธบัตรครบกำหนดเวลา ตลอดระยะเวลา 74 ปีที่ผ่านมา หุ้นสามารถทำกำไรโดยเฉลี่ย 91% จากทุนตั้งต้น เรียกได้ว่าเป็นอัตราที่พอ ๆ กันกับพันธบัตรประเภทความเสี่ยงสูง แต่การลงทุนพันธบัตรมีโอกาสได้รับเงินคืนเพียง 94% ในขณะที่นักลงทุนในตลาดหุ้นทำเงินได้ 91% ในเวลาเดียวกันนั้น
มาเปรียบเทียบพันธบัตรความเสี่ยงสูง กับหุ้นที่ขึ้นปันผลต่อเนื่องกันดีกว่าว่า จะให้ผลลัพธ์อย่างไรบ้าง ตลอดระยะเวลา 10 ปี นักลงทุนคนหนึ่งได้ซื้อพันธบัตรจำนวน 10,000 เหรียญ จะได้รับดอกเบี้ยรายปีจำนวนปีละ 650 เหรียญ หลังจากเวลาผ่านไป 10 ปี ตามสถิติแล้วนักลงทุนคนนั้นจะมีโอกาส 94% ที่จะได้รับเงินทุน 10,000 เหรียญคืนพร้อมกับดอกเบี้ยทั้งหมด 6,500 เหรียญ
ส่วนหุ้นที่จ่ายปันผลในอัตรา 4% ต่อปีและขึ้นอัตราปันผลปีละ 10% จะให้ผลตอบแทนหลังจากผ่านช่วงเวลา 10 ปีที่ 6,374 เหรียญ ซึ่งเป็นจำนวนพอ ๆ กับที่จะได้รับจากดอกเบี้ยพันธบัตร แต่ราคาหุ้นอาจขยับสูงขึ้นได้ มีโอกาสประสบความสำเร็จถึง 91% อัตราผลตอบแทนของหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 7.48% ซึ่งเป็นอัตราที่รวมกับปีที่เป็นตลาดราคาลงเอาไว้ด้วย หลังจากผ่านไป 10 ปี เงินลงทุนจำนวน 10,000 เหรียญ ถ้าหากนำเงินปันผลกลับมาลงทุนซ้ำ จะทำให้มีมูลค่าสูงถึง 31,777 เหรียญ แต่พันธบัตรรวมกับดอกเบี้ยคิดเป็นเงินเพียง 16,500 เหรียญ ซึ่งน้อยกว่าผลตอบแทนจากหุ้นเกือบครึ่งหนึ่ง
จากข้อมูลเหล่านี้เห็นได้ชัดว่า การลงทุนโดยการซื้อหุ้นปันผลนั้น ดีกว่าการซื้อพันธบัตรประเภทความเสี่ยงสูง พันธบัตรอาจเสนออัตราดอกเบี้ยที่เร้าใจ พร้อมกับมุมมองที่ว่าตามหลักแล้วจะได้เงินลงทุนคืนแน่ ๆ ส่วนหุ้นดูจากเสี่ยงมากกว่าแต่ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และยังมีโอกาสทำให้เงินทุนเติบโตได้ด้วย บริษัทที่มีสถิติการขึ้นปันผลประจำปีนั้นก็จะเกิดขึ้นอีก และมีการกระตุ้นมันให้ปันผลมากขึ้น ซึ่งแตกต่างตรงข้ามกับพันธบัตรที่มีแต่ความลำบากยุ่งยาก
สรุป
1.บริษัทที่มีสถิติขึ้นปันผลทุกปี มีแนวโน้มจะขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ เช่นนั้นทุกปี
2.บริษัทที่ขึ้นปันผลต่อเนื่องสามารถเอาชนะตลาดอย่างเห็นได้ชัด
3.เงินปันผลที่ทบต้นก็เหมือนกับรถไฟที่ออกตัวแล้วพุ่งต่อไปเรื่อย ๆ และนั่นคือกุญแจที่จะนำพาไปสู่ความมั่งคั่งในตลาดหุ้น
4.การนำเงินปันผลกลับไปลงทุนซ้ำ จะช่วยป้องกันและทำให้สามารถสร้างกำไรในตลาดหมีที่กินช่วงเวลายาวนานได้
บทที่ 4
ทำไมบริษัทถึงขึ้นเงินปันผล
ทีมบริหารกับนักลงทุนย่อมมีความเห็นต่างกันออกไป ทีมบริหารอยากเก็บเงินเอาไว้เพื่อเป็นหลักทรัพย์ หรือเพื่อนำไปพัฒนาให้บริษัทเติบโตขึ้น และเก็บไว้เป็นทุนสำรองในยามคับขัน แต่นักลงทุนไม่สนใจว่าบริษัทนั้นจะเพิ่งก่อร่างสร้างตัว หรืออยู่มาจนมั่นคงแล้ว พวกเขาต่างก็ต้องการได้เงินสดกลับคืนไปบ้าง ส่วนใหญ่บริษัทที่กำลังเติบโตก็จะมีกระแสเงินสดไหลเวียนเข้ามามากทุกปี เมื่อนักลงทุนเห็นว่าเงินที่นอนอยู่ในบัญชี ให้ผลตอบแทนแทบมองไม่เห็นอะไร พวกเขาก็เริ่มคิดว่าถึงเวลาที่จะดึงเงินกลับบ้าง ทีมบริหารส่วนใหญ่เชื่อว่าพวกเขาสามารถนำเงินไปขยายกิจการได้เป็นอย่างดี ซื้อกิจการบริษัทคู่แข่งหรือไม่ก็ซื้อหุ้นคืน ส่วนนักลงทุนก็อ้างว่า ทีมบริหารที่ไม่สามารถทำให้งอกเงยขึ้นเร็วพอ ก็ควรจะจ่ายเงินทุนกลับคืนมาให้ผู้ถือหุ้น ที่สามารถนำเงินก้อนนั้นไปลงทุนกับบริษัทที่โตเร็วกว่านี้ พวกเขามักจะรู้สึกว่า ถ้าหากทีมบริหารจัดการเงินได้ไม่ดีพอ ก็ควรจะคืนเงินกลับคืนให้ผู้ถือหุ้นเสีย
การคืนเงินปะทะการให้เงินปันผล
แทนที่จะจ่ายเงินปันผล อีก 1 วิธีที่ฝ่ายบริหารชอบใช้ในการบริหารเงินสดคือการซื้อหุ้นคืนการซื้อคืนก็คือการดึงเงินจากกระเป๋าถือหุ้น โดยการตัดปันผลทิ้งและโอนเป็นค่าตอบแทนให้ผู้บริหารในรูปแบบของหุ้น แต่การที่บริษัทจ่ายเงินปันผลต่างหากที่เป็นของจริง มันไม่ใช่แผนการตามอำนาจโดยชอบธรรมที่อาจจะกระทำ หรือไม่กระทำก็ได้ ถ้าหากบริษัทใดกล่าวว่า จะจ่ายเงินปันผลต่อหุ้นเป็นมูลค่า 1 เหรียญต่อหุ้นในปีนี้ ก็หมายความว่าบริษัทยินดีจ่ายเงินปันผล 1 เหรียญต่อหุ้นดีกว่ายอมถูกให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาหาประโยชน์จากหุ้น
การประกาศปันผลนั้น ไม่ได้เป็นเพียงการประกาศความมั่นใจจากทีมบริหารว่า พวกเขามีเงินสดมากพอที่จะจ่ายปันผลและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่นั่นหมายถึงการคาดการณ์ว่าในอนาคตจะยังมีการเพิ่มระดับรายได้และกระแสเงินสดอีกด้วย ถ้าหากจำเป็นต้องตัดปันผลในอนาคตเช่น กรณีที่บริษัทซึ่งขึ้นปันผลต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน แล้วต้องการรักษาเงินปันผลให้อยู่ในระดับเดิม ราคาหุ้นก็จะลงแรง ฝ่ายบริหารรู้ดีว่าการเริ่มจ่ายปันผล และเพิ่มอัตราขึ้นเรื่อย ๆ ก็เหมือนกับการวางท่อนไม้ซ้อนกันขึ้นไปเรื่อย ๆ และบอกกับผู้ถือหุ้นว่า บริษัทจะไปให้ถึงระดับที่ถือว่าประสบความสำเร็จให้ได้
ดังนั้นแล้ว เมื่อฝ่ายบริหารได้ให้คำมั่นสัญญากับบริษัทเรื่องรายได้ในอนาคต ถ้าหากไม่เป็นไปตามที่ลั่นวาจาไว้ราคาหุ้นย่อมตกลง แม้แต่บริษัทที่ติดขัดทางการเงินก็จะไม่ถูกผู้ถือหุ้นกดดัน ถ้าหากจ่ายเงินปันผลในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี นักลงทุนหุ้นปันผลมักจะมีเหตุผลพอ พวกเขาเข้าใจตรรกะของการจ่ายปันผล รวมทั้งเหตุผลในการเลือกลงทุนกับบริษัทที่มันมั่นคงแต่น่าเบื่อมากกว่าการไล่งับเนื้อชิ้นโต
สัญญาณที่ส่งออกไปยังตลาด
อัตราเงินปันผลที่เติบโตขึ้น จะมีค่ามากเป็นพิเศษเมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่รายได้ของบริษัทน่าผิดหวัง และบริษัทยังคงสามารถขึ้นเงินปันผลได้ คนจะเข้าใจว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายมาก เมื่อนักลงทุนมองภาพรวม ก็จะทำให้รู้สึกว่านั่นเป็นข้อความที่มีพลังมาก การขาดทุนอาจทำให้ต้องผิดหวังกันไปบ้าง แต่นักลงทุนที่ถือหุ้นตัวนั้นมานาน และเข้าใจว่าธุรกิจย่อมมีขึ้นมีลง จะมองว่ากลยุทธ์ของบริษัทนี้ยอดเยี่ยม และน่าจะสามารถปัดเป่าก้อนเมฆหมอกให้จางหายไปได้ ตลาดรับรู้ข่าวนี้อย่างแจ่มแจ้งและชัดเจน บริษัทที่ขึ้นเงินปันผลปีแล้วปีเล่า มักจะถูกจัดว่าทำผลงานได้ดีกว่าตลาด แน่นอนว่าตลาดชื่นชมกับความจริงที่ว่า บริษัทเหล่านี้มั่นคงพอที่จะขึ้นเงินปันผลได้ทุกปี
สรุป
1.การจ่ายเงินปันผลแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบ ที่บริษัทมีต่อผู้ถือหุ้นได้มากกว่าการซื้อหุ้นคืน
2.บริษัทที่จ่ายเงินปันผลมักจะมีกระแสเงินสดที่มีคุณภาพมากกว่าบริษัทอื่น ๆ
3.ทีมผู้บริหารที่จริงจังในหน้าที่ จะต้องใช้เงินสดของบริษัทด้วยความรับผิดชอบ
4.การขึ้นเงินปันผลเป็นสัญญาณของผู้บริหารที่มีความมั่นใจในศักยภาพของบริษัท
บทที่ 5
รวยด้วยหุ้นปันผลที่แสนจะน่าเบื่อ
(นำไปสู่เส้นทางเงินล้าน)
นักลงทุนที่ชอบรายได้แบบทันใจ จะมีกำไรทบเป็น 2 เท่าตัวภายใน 10 ปี ด้วยการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นอัตราปันผล 10% ต่อปี อัตราปันผลที่เพิ่มขึ้นสามารถก้าวนำหน้าอัตราเงินเฟ้อได้ และหากถ้าว่าเงินไม่ได้เฟ้อแบบน่าเกลียดจนเกินไป ก็จะมีเงินพิเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ เติมลงในกระเป๋าอีกด้วย กลยุทธ์การนำเงินปันผลมาลงทุนซ้ำนี้ มีพลังจากการทบต้นของเงินปันผล แนวคิดเรื่องอัตราทบต้นนี้ น่าจะมีการสอนตั้งแต่ชั้นประถม เมื่อเข้าใจแนวคิดนี้และนำมาปรับใช้ตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต ถนนแห่งอิสรภาพทางการเงินจะเริ่มต้นขึ้น
เบต้า (Beta) คือ ค่าวัดความผันผวนหรือความเสี่ยง เป็นค่าความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของหุ้น หรือของพอร์ตการลงทุน ที่มีทิศทางเดียวกับการเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวม เป็นเรื่องยากที่จะรอจนกว่าผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็นอัตราเลข 2 หลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนต่อปีน้อยกว่า 13% ที่เพิ่งผ่านการลงทุนไปได้ 5 ปี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากซื้อหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลแรกเข้าที่ 5% ที่มีอัตราเติบโตของเงินปันผลต่อปีที่ 10% และมีมูลค่าของหุ้นเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี รายได้สะสมที่เติบโตขึ้นต่อปีจะเท่ากับ 10.82% และด้วยพลังของการทบต้นเมื่อคุณลงทุนไป 10 ปี อัตราเติบโตโดยรวมเฉลี่ยต่อปีซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 11.60% ต่อปี และเพิ่มขึ้นเป็น 13.61% เมื่อลงทุนไป 20 ปี ตามการคำนวณเช่นนี้ เงินลงทุน 100,000 เหรียญจะกลายเป็น 1 ล้านเมื่อเวลาผ่านไป 18.75 ปี ดูเหมือนเป็นระยะเวลาอันยาวนาน แต่ถ้าหากอายุ 40 50 หรือ 60 ปี ลองคิดดูว่าจะอยู่ที่ไหนเมื่อ 19 ปีที่แล้ว เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ไม่ดีหรือที่จะเก็บเงินก้อนหนึ่งเอาไว้แล้วทำเป็นลืม จากนั้นก็คอยดูว่าเงินที่ลงทุนไป มีค่ามากขึ้นกว่าเดิมสัก 10 เท่า
วัฒนธรรมในการบริโภคได้เปลี่ยนให้กลายเป็นคนที่อยากเห็นผลลัพธ์ทันตาเห็น ทำให้อยากได้ทุกอย่างและอยากได้ทันที การเพลิดเพลินกับชีวิตและปล่อยให้เงินทำงานไปสัก 19 ปีนั้น ออกจะเป็นแนวคิดที่แปลกสำหรับคนส่วนใหญ่ ที่สำคัญความฝันทางการเงินสามารถเป็นจริงได้ สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือปล่อยเงินไว้กับการลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพ ซึ่งจ่ายเงินปันผลงาม และมีเงินปันผลเติบโตทุกปีในอัตราที่เป็นที่น่าพอใจ
สรุป
1.หุ้นที่น่าเบื่อมีค่า beta ต่ำมักจะมีผลงานดีในระยะยาว
2.สามารถทำให้เงินเติบโตขึ้นเป็นสามเท่าภายใน 10 ปี แม้ว่าตลาดจะมีมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในประวัติศาสตร์
3.พอร์ตลงทุนของคุณสามารถโตขึ้นได้ 1,000% ภายในเวลา 20 ปีเมื่อใช้ระบบ 10 11 12
4.ด้วยผลตอบแทนต่อปีที่ค่าเฉลี่ย 13% เงิน 100,000 เหรียญจะกลายเป็นเงิน 1 ล้านเหรียญภายในเวลา 19 ปี
บทที่ 6
ได้อัตราปันผลสูงขึ้น
(และอาจได้ประโยชน์เรื่องภาษีอีกด้วย)
หุ้นบางประเภทจ่ายอัตราผลตอบแทนให้มากกว่าหุ้นปันผลทั่วไปที่คุ้นเคย เช่น หุ้นกองทุนปิด กองทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ (REITs) Business Development Corporation (BDCs) บริษัทจัดการกองทุน Master Limited Partnership (MLPs) และหุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกลุ่มนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก และอาจจะมีวิธีการซื้อขายที่ยุ่งยากมากขึ้นสักหน่อย แต่ก็คุ้มค่าแก่การพิจารณา นอกจากนี้ MLPs ยังได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีอีกด้วย
กองทุนรวมนั้นเป็นการลงทุนที่เป็น การระดมทุนจากนักลงทุนหลายราย และทางผู้จัดการกองทุนก็จะซื้อหลักทรัพย์อื่น ๆ ด้วย มูลค่าของกองทุนจะเท่ากับมูลค่าของสินทรัพย์ในกองทุน ซึ่งถูกแบ่งโดยจำนวนหุ้นที่มีอยู่ ในกรณีกองทุนปิดจะแตกต่างไปจากนี้เล็กน้อย อันนี้จริงกองทุนปิดก็คือกองทุนรวมที่มีจุดสำคัญต่างกันหนึ่งอย่างก็คือ กองทุนปิดสามารถซื้อขายได้เหมือนกับหุ้นตัวหนึ่ง ราคาของมันขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของกองทุนเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินทรัพย์ ราคาของสินทรัพย์มีผลต่ออุปสงค์ของกองทุน แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยกำหนดราคาโดยตรงอย่างกรณีของกองทุนรวม
พรีเมี่ยมคือ ราคาที่นักลงทุนซื้อสูงกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริงของกองทุน
ดิสเคาท์คือ ราคาที่นักลงทุนซื้อต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริงของกองทุน
เลี่ยงเจ้าหน้าที่สรรพากร
ทุกครั้งที่ได้รับการเฉลี่ยทุนคืน ราคาต้นทุนจะต่ำลง เมื่อบริษัทขายออฟชั่นตัวเดียวกับหุ้นที่มีอยู่ในพอร์ตและได้ค่าพรีเมี่ยม โดยพรีเมียมที่จ่ายคืนให้แก่นักลงทุนจะถือว่าเป็นการคืนเงินทุน ซึ่งกันพรีเมี่ยมที่ได้จากออฟชั่นจะไม่ถือว่าเป็นรายได้ที่งอกเงยมาจากเงินทุน กองทุนไม่ได้ขายหุ้นเพื่อให้ได้กระแสเงินสดมาจากเงินปันผล ดังนั้นการเฉลี่ยจ่ายคืนเงินในกรณีนี้ถือว่าเป็นการเฉลี่ยคืนทุน เพื่อให้นักลงทุนได้มีความสุขกับผลประโยชน์ทางด้านภาษีบ้าง
MLPs
MLP คือบริษัทที่มีโครงสร้างเฉพาะซึ่งทำให้ปลอดภาษีได้ เพราะว่าได้ถ่ายเทกำไรทั้งหมดให้แก่ผู้ลงทุนในรูปแบบของการเฉลี่ยคืน และการเฉลี่ยคืนกำไรนี้ มีหลักการเหมือนกับการคืนทุน และจัดการโดยกรมสรรพากรของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการลงทุนใน MLP จึงเป็นกลยุทธ์ในการเลี่ยงภาษีที่ช่วยเพิ่มรายได้
กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs)
กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust : REITs) เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มของนักลงทุนที่เน้นเรื่องรายได้ เป็นบริษัทที่สะสมอสังหาริมทรัพย์ โดยมากเป็นสินทรัพย์ปล่อยเช่า และไม่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกันกับ MLP แต่จะต้องกระจายผลกำไรทั้งหมดมาคืนสู่ผู้ถือหุ้น ดังนั้น REIT ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนค่อนข้างสูง REIT นั้นครอบคลุมหลายแขนง มีทั้งผู้เชียวชาญด้านอาคารอพาร์ทเม้นท์ อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าโรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานพักฟื้น ศูนย์เก็บข้อมูล และอื่น ๆ REIT คือผู้ถือหุ้น (unit holder) ปันผลที่คุณได้รับจาก REIT จะถูกเรียกเก็บภาษีเหมือนกับรายได้ประเภทอื่น ๆ ไม่ได้เก็บในอัตราที่เลือกเก็บจากเงินปันผล แม้ว่ารายได้ในส่วนที่ได้รับอาจจะถือว่าเป็นการจ่ายทุนคืนก็ตาม REIT อาจจะผันผวนเช่นเดียวกันกับตลาดอสังหาริมทรัพย์
BDCs
Business Development Company (BDCs) คือบริษัทเอกชนที่ลงทุนผ่านหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยทั่วไปแล้วต้องทุ่มเงินมหาศาล ในการเป็นหนึ่งในกองทุนที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ กองทุนส่วนบุคคลที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาดนี้ มักจะเลือกบริษัทที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง ซึ่งอาจเป็นกิจการอะไรก็ได้ BDC หลายแห่งจ่ายปันผลแบบไม่ยั้งมือ แต่หลักการทางธุรกิจนั้นเหมือนกัน ยิ่งอัตราผลกำไรสูงมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นควรพิจารณาให้ดีก่อนจะลงทุนกับ BDC ที่ให้ปันผลสูง ทำการบ้านให้ดีด้วยการศึกษาข้อมูลบริษัท ดูว่าที่ผ่านมาจ่ายปันผลสม่ำเสมอแค่ไหน และพยายามประเมินว่าบริษัทจะรักษาอัตรานี้ไปได้นานเท่าใด
กรมสรรพากรปฏิบัติต่อปันผลของ BDC ต่างออกไปจากปันผลของ REIT โดยต้องส่งต่อกำไรถึง 90% คืนให้แก่ผู้ถือหุ้น เพื่อที่จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นการเสียภาษี บางแห่งอาจคืนกำไรในอัตราที่สูงกว่านี้ โดยทั่วไปแล้วจะต้องจ่ายภาษีในส่วนรายได้ที่ได้รับจาก BDC ถ้าบริษัทได้ผลกำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้ อาจจะต้องเสียภาษีให้กับเงินจำนวนนั้น แบบการเสียภาษีเงินได้ทั่วไป ถ้าหากบริษัทขายหุ้นเพื่อระดมทุนเพิ่ม ก็จะเสียภาษีในอัตรากำไรจากการขาย
หุ้นบุริมสิทธิ์
หุ้นบุริมสิทธิ์เป็นส่วนผสมระหว่างพันธบัตรและหุ้น การลงทุนแบบนี้มีอัตราปันผลสูง บางครั้งอาจเป็นปันมาในรูปแบบหุ้นสามัญ และอาจมีสิทธิประโยชน์มากกว่าหุ้นสามัญ ถ้าหากว่าบริษัทนั้นเลิกกิจการไป อย่างไรก็ตามในกรณีดังกล่าว ผู้ถือหุ้นลักษณะนี้มีสิทธิรองต่อจากผู้ที่ถือพันธบัตร หุ้นหลายตัวเป็นแบบสะสม ซึ่งจะสะสมแบบปันผลไว้ให้ในปีที่งดจ่าย ถ้าหากในอนาคตบริษัทเกิดมีนโยบายจ่ายปันผลขึ้นมาอีกครั้ง ผู้ถือหุ้นก็ต้องตั้งต้นนับปันผลใหม่ตามที่บริษัทประกาศออกมา เช่นเดียวกันกับพันธบัตร หุ้นบุริมสิทธิก็มีการตั้งราคาพาร์ไว้เหมือนกัน และเป็นอัตราปันผลมักจะตายตัว ไม่มีการขึ้นปันผลเหมือนกับหุ้นกลุ่มขึ้นปันผลต่อเนื่อง อีกอย่างหนึ่งที่เหมือนพันธบัตรก็คือ อัตราปันผลนั้นถูกกำหนดโดยบริษัทตัวแทน และสิ่งที่ไม่เหมือนกับพันธบัตรก็คือ ผู้ถือพันธบัตรไม่มีสิทธิ์ออกเสียง พวกเขาไม่ใช่เจ้าของบริษัท แต่เป็นเพียงผู้ให้เครดิตเท่านั้น
สรุป
1.กองทุนปิดคือ กองทุนรวมที่มีลักษณะการซื้อขายเหมือนหุ้น
2.การเฉลี่ยคืนต้นทุนคือ การกระจายเงินสดที่ได้รับการยกเว้นภาษีและได้รับต้นทุนของคุณต่ำลงได้
3.REITs ลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์
4.MLPs เป็นลักษณะการร่วมทุน ส่วนมากเป็นกลุ่มธุรกิจท่อส่งพลังงาน
5.BDCs คือ บริษัทเอกชนที่ลงทุนผ่านหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
6.หุ้นบุริมสิทธิมีส่วนคล้ายกับพันธบัตรพอ ๆ กับที่คล้ายกับหุ้นสามัญ
7.กองทุนปิดอย่าง REITs, MLPs, BDCs และหุ้นบุริมสิทธิเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุนเพื่อหวังเงินปันผล เพราะมักจะมีอัตราปันผลสูงกว่าหุ้นสามัญ แต่มีขั้นตอนในการคิดคำนวณภาษีที่ซับซ้อน
บทที่ 7
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการจัดพอร์ตลงทุน
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจแนะนำให้กระจายการลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท โดยทั่วไปต้องการเป็นเจ้าของหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ โลหะที่มีค่า สินค้า หรือการลงทุนประเภทอื่น ๆ เพราะลงทุนลักษณะนี้สามารถถัวความเสี่ยงได้ หุ้นและธุรกิจที่อยู่อาศัยล้มครืนในช่วงปี 2008 จนถึงต้นปี 2009 พันธบัตร ทอง และสินค้าอื่น ๆ ยังเป็นไปได้ดี นักลงทุนที่เฉลี่ยความเสี่ยงได้ดีจะขาดทุนน้อยกว่าคนที่ลงทุนในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก สิ่งที่สำคัญต่อนักลงทุนคืออัตราผลตอบแทนจะต้องคงที่ ไม่ว่าราคาหุ้นในปัจจุบันจะเป็นเช่นไร สำหรับนักลงทุนระยะยาว อัตราเติบโตของปันผลก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้อัตราปันผลที่จ่ายในปัจจุบันเลย
จัดพอร์ตลงทุน
สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือตอบคำถามต่อไปนี้
1.กรอบเวลาในการลงทุนอยู่ที่เท่าไหร่
2.เป้าหมายของพอร์ตลงทุนคืออะไร ต้องการรายได้ หรือต้องการสร้างความมั่งคั่ง
หากตอบคำถามข้อแรกว่า 3 ปีหรือน้อยกว่านั้น จงไปมองหาการลงทุนที่เสี่ยงน้อยกว่าหุ้นจะดีกว่า สิ่งเดียวที่ควรมองคือหลักฐานการฝากเงิน สินทรัพย์ และอาจมองหาบริษัทร่วมทุน ที่มีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งเติบโตได้ภายใน 3 ปี แน่นอนว่าพันธบัตรโดยทั่วไปจะไม่จ่ายผลตอบแทนให้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน แต่อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่า เงินจะยังรออยู่ในยามที่ต้องการ แม้แต่หุ้นบลูชิพที่มีในประวัติการขึ้นปันผลต่อเนื่องยาวนานถึง 50 ปี ก็อาจร่วงลงมาในช่วงตลาดหมีได้
ถ้าหากวางกรอบเวลาเอาไว้อย่างน้อย 5 ปี พอร์ตนี้ก็น่าจะให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม โดยทั่วไปแล้วพอร์ตลงทุนจะให้ผลลัพธ์ได้ดีที่สุด ในช่วงก่อนเวลา 10 ปีหรือนานกว่านั้น ธรรมชาติของการทบต้นเงินปันผล จะเริ่มให้ผลลัพธ์ก้าวกระโดดในปีที่ 8 ถึง 9 ยิ่งไม่แตะต้องเงินทุนจำนวนนี้ได้นานเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น ถ้าหากข้ามผ่านปีที่ 10 ไปได้ ความมั่งคั่งจะเริ่มก่อร่างสร้างตัวทันที สมมุติว่าหุ้นตัวหนึ่งจ่ายปันผลเท่าเดิมทุกปี (ไม่มีการนำปันผลมาลงทุนซ้ำ) เมื่อผ่านไป 10 ปี เงินปันผลที่ได้รับจะคิดเป็นการคืนต้นทุนที่ 71% แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากปล่อยให้พลังการทบต้นทำงานต่อเนื่องไป ในโลกแห่งความสมบูรณ์แบบ พวกเราต่างอยากถือหุ้นได้นานเท่าที่ Warren Buffett ต้องการ ซึ่งกินเวลาทั้งชีวิต ถ้าหากสามารถยึดอยู่กับการลงทุนได้ตลอดไป มันก็จะยังคงเพิ่มรายรับให้ทุกปี ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องการรายได้วันนี้ หรือกำลังพยายามสร้างความมั่งคั่งเพื่อวันพรุ่งนี้ ทัศนคติที่แตกต่างกันนี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าจะทำอะไรกับเงินปันผลที่ได้รับมา คนที่ต้องการรายได้ในวันนี้จะกันเงินปันผลออกมาเมื่อได้รับ โดยมากจะจ่ายทุกไตรมาส นักลงทุนที่มองว่าเงินปันผลคือรายได้ จะเฝ้าติดตามว่าเมื่อไหร่จะได้รับเงินปันผล นักลงทุนบางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษียณแล้ว อาจจะเครียดกับกำหนดการจ่ายปันผลมากขึ้น เพื่อที่จะได้ดูว่าควรซื้อหุ้นตัวไหนต่อไป เพราะเขาชอบแนวคิดที่ว่า จะมีเช็คมาถึงทุกสัปดาห์หรือเปล่า ถ้าหากในพอร์ตมีหุ้นอยู่ 10-20 ตัว อาจต้องร่างโครงสร้างที่จะทำให้ได้รับเงินปันผลเป็นประจำ ตามระยะเวลาที่ต้องการ
อัตราปันผล
ถ้าหากต้องการรายได้เร่งด่วน อย่าพุ่งเป้าว่าต้องการสร้างรายรับจากเงินปันผลเท่าไหร่ และเลือกหุ้นที่จะให้เงินปันผลตามคาดไว้ สูตรนี้จะนำไปสู่หายนะ อาจมัวจดจ้องว่าจะได้เงินเท่าไหร่ในวันนี้ และไม่มองไปถึงอัตราการเติบโตและความปลอดภัย หาหุ้นที่ดีที่สุดดีกว่า แล้วดูว่ามันตรงตามเป้าหมายรายรับที่ต้องการหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็ควรกลับไปดูพอร์ตลงทุนที่มีอยู่ และดูว่าควรนำหุ้นตัวใดมาแทนที่ เพื่อไม่ให้กระทบความปลอดภัย และอัตราการเติบโตของผลกำไรมากนัก การที่หุ้นให้ผลตอบแทน 10% น่าจะเป็นสัญญาณเตือนมากกว่าสัญญาณบ่งบอกให้เข้าซื้อ ต้องการลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนมากขนาดนั้น ขอให้ดูด้วยความระมัดระวังมาก ๆ สิ่งแรกที่คุณควรจะคำนึง คือ
สัดส่วนการจ่ายปันผล
สัดส่วนการจ่ายปันผล คือ อัตราการจ่ายเงินปันผลเปรียบเทียบกับรายได้สุทธิ ตามสูตร สัดส่วนการจ่ายปันผล = การจ่ายเงินปันผล / รายได้สุทธิ สังเกตว่าสัดส่วนการจ่ายปันผลนั้นไม่เกี่ยวข้องกับอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อหุ้น สามารถหาอัตราการจ่ายปันผลได้จากรายงานผลประกอบการ โดยเฉพาะรายงานบัญชีกระแสเงินสด ยิ่งสัดส่วนการจ่ายปันผลต่ำเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีช่องว่างให้ปันผลเติบโตได้มากขึ้นเท่านั้น
กระแสเงินสดคือ จำนวนเงินสดที่บริษัทถือครองอยู่ระหว่างช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง
คำว่ารายได้กับกระแสเงินสดนั้น มีความแตกต่างกันอยู่มาก สินทรัพย์ใด ๆ ที่ไม่ใช่เงินสดสามารถนำมาใช้หักกำไรของบริษัทได้ ทำให้นักลงทุนสบายใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่พอใจเวลาบริษัทกับเงินเอาไว้โดยไม่นำไปใช้ในกิจการของบริษัทหรือเพื่อทำให้งอกเงยขึ้นมานักลงทุนที่ต้องการได้รับ
เงินปันผลพิเศษ เงินปันผลพิเศษนั้นมีคุณสมบัติตรงตามชื่อ เงินปันผลพิเศษมักจะจ่ายครั้งเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะมากกว่าเงินปันผลธรรมดา ทำให้นักลงทุนสบายใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่พอใจเวลาบริษัทกักเงินเอาไว้โดยไม่นำไปใช้ในกิจการของบริษัท หรือเพื่อทำให้งอกเงยขึ้นมา นักลงทุนที่ต้องการได้รับเงินปันผลพิเศษคิดเช่นนั้น ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าบริษัทกำลังเก็บเงินของพวกเขาเอาไว้ ถ้าหากทีมบริหารไม่ทำอะไรสักอย่างกับเงินก้อนนั้น พวกเขาก็น่าจะจ่ายคืนมาบ้าง ข้อสุดท้ายคือ ต้องดูการจ่ายเงินปันผลทั้งหมด รวมทั้งการจ่ายเงินปันผลพิเศษด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่จ่ายออกไปไม่มากเกินกว่ากระแสเงินสด
สรุป
1.กระจายความเสี่ยงหุ้นที่ถืออยู่ในพอร์ตลงทุน
2.อย่าลงทุนเพื่อหารายได้ตามที่คุณตั้งเป้าเอาไว้ แต่จงลงทุนกับบริษัทคุณภาพที่มีประวัติการจ่ายปันผลดี
3.เมื่อมองหาอัตราการจ่ายเงินปันผล จงอ้างอิงจากกระแสเงินสด
4.รู้อัตราการเติบโตเงินปันผลของหุ้นที่ถืออยู่
บทที่ 8
ระบบ 10 – 11 – 12
หลักการเลือกหุ้นปันผลที่สำคัญ 3 ประการก็คือ ภายใน 10 ปีหุ้นตัวนั้นจะต้องสร้างผลต่างกำไรรายปี 11 เปอร์เซ็นต์ และผลตอบแทนรายปี 12% ที่มาจาก อัตราปันผล อัตราเติบโตของเงินปันผล สัดส่วนการจ่ายปันผล
อัตราปันผล
ไม่จำเป็นต้องไล่ล่าหาอัตราปันผลสูง ๆ อย่าซื้อหุ้นเพียงเพราะเห็นว่ามันมีอัตราที่น่าสนใจ นี่ถือเป็นสิ่งที่ควรตระหนักอย่างยิ่งในการซื้อหุ้นปันผล การเริ่มต้นกับหุ้นที่ให้อัตราปันผลสูงอยู่แล้วนั้น จะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้ลำบาก จะไม่ซื้อหุ้นที่ให้อัตราผลเป็น 10% ที่ไม่เติบโตแล้วหรือไม่ยั่งยืน และจะไม่ซื้อหุ้นที่ให้อัตราปันผลต่ำเพียงเพราะว่า มันจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และการจ่ายปันผลก็ดูปลอดภัยดี หุ้นตัวใดก็ตามแม้ว่าจะซื้อมาเพราะอยากมีรายได้เพิ่ม จะซื้อก็เพราะคิดแล้วว่าในระยะยาวราคามันจะเพิ่มสูงขึ้น
อัตราเติบโตของเงินปันผล
ตลาดหุ้นเป็นเรื่องของการเติบโต นักลงทุนต่างมุ่งซื้อหุ้นที่มีรายรับ และกระแสเงินสดเติบโต นักลงทุนสายที่เน้นเงินปันผลย่อมอยากได้เงินปันผลเพิ่ม ส่วนผู้บริหารก็พยายามเพิ่มยอดขายและกำไร กุญแจสำคัญในการเล่นหุ้นสูตรนี้ก็คือ อัตราเติบโตของเงินปันผล ถ้าปราศจากสิ่งนี้เงินปันผลก็จะไร้ค่า เมื่อเทียบกับกำลังซื้อที่ด้อยลงเพราะเงินเฟ้อ แม้ว่าจะคำนวณด้วยอัตราเงินเฟ้อขั้นต่ำ เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เงินก้อนนั้นก็จะไม่สามารถซื้ออะไรได้เท่าที่เคย
สัดส่วนการจ่ายปันผล
เป็นเรื่องของความปลอดภัยล้วน ๆ ก่อนที่จะลงลึกและเลือกหุ้นดี ๆ ที่สร้างเงินก้อนโต ก็ต้องมั่นใจก่อนว่าหุ้นตัวนั้นจะรักษาคุณภาพไว้ได้นาน และช่วยให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้ในที่สุด จงมั่นใจก่อนว่าบริษัทจะสามารถรักษานโยบายการปันผลได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการดูสัดส่วนการจ่ายปันผลของบริษัท จะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาส่วนใหญ่ที่จะทำให้พอร์ตหุ้นไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้
สูตร
หากต้องการได้ปันผล 11% และผลตอบแทนเฉลี่ย 12% ต่อปี ก็ต้องสรุปสมมติฐานบางประการขึ้นมา ได้มีการเปลี่ยนสมมติฐานเพื่อให้ได้เห็นว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เพื่อรักษาสูตร 10-11-12 อย่างที่กำลังมองหา
หลักการพื้นฐานก็คือ พยายามหาหุ้นที่ให้ผลตอบแทนอย่างน้อย 4% แม้ว่าจะมีตัวเลข 4.7% เป็นเป้าหมายก็ตาม ถ้าหากไม่สามารถหาหุ้นแบบนี้ได้ หรือเจอหุ้นที่ถูกใจแต่ให้ผลตอบแทนต่ำเกินไป ก็ควรรอให้หุ้นตัวนั้นราคาต่ำลงไปอีกสักหน่อย ในขณะที่หาหุ้นตัวอื่นไปด้วย หรือไม่ถ้าหากถนัดการขายพุท (put) ก็ให้ขายพุท แล้วเก็บเกี่ยวรายได้ระหว่างที่รอให้หุ้นตัวนั้นมีราคาต่ำลงในระดับที่พอใจจะซื้อ
อัตราเติบโตของเงินปันผล 10% หรือมากกว่านั้น มีอยู่ไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่มีอัตราเติบโตเงินปันผล 10% หรือมากกว่านั้นตามความเป็นจริงแล้ว จาก 247 บริษัทที่ขึ้นปันผลต่อเนื่องทุกปี ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีบริษัทเพียง 103 แห่งที่ขึ้นปันผลด้วยอัตรา 10% ต่อปี แน่นอนว่าควรมองหาอัตราเติบโตที่ 10% แต่อย่าลำบากกับมันถ้าไม่สามารถหาสิ่งที่ต้องการได้ เนื่องจากอัตราการเติบโตจะผันผวน โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทีมบริหาร ส่วนอัตราปันผลแรกเริ่มนั้นเป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้ว และอย่างไรก็ตาม สัดส่วนการจ่ายปันผลที่ผ่านมาในอดีต ก็ช่วยบ่งชี้ว่าหุ้นตัวนั้นปลอดภัยหรือไม่
ขายเมื่อไหร่ดี
ตราบใดที่หุ้นเหล่านั้น (หลังจากหักภาษีแล้ว) ยังให้อัตราปันผลสูงกว่าค่าใช้จ่าย ก็จงปล่อยให้กระบวนการทบต้นได้ทำงานต่อไปจะดีกว่า ลงทุนลงแรงไปมากแล้ว และกำลังรอคอยผลรางวัลอยู่ จงแน่ใจว่าจะได้รับมัน อย่างน้อยที่สุดขอให้ดูหุ้นปีละครั้ง เพื่อดูว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น
มีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการจ่ายปันผล
มีการลดลงของกระแสเงินสด, รายได้ หรือยอดขาย
มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายปันผล
กล่าวอีกนัยนึงก็คือ ควรจะดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และใช้วิจารณญาณในการตัดสิน ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีสามารถเข้าถึงข้อมูล และทราบว่าบริษัทมีสุขภาพทางการเงินแข็งแรงพอที่จะสร้างรายได้และผลตอบแทนตามที่คาดหวังได้หรือไม่ ถ้าหากบริษัทแห่งนั้นยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี แม้ว่าจะไม่ขึ้นปันผลให้ก็ตาม และยังคงพอใจกับอัตราที่ได้รับ ก็ถือหุ้นตัวนั้นต่อไป อย่างไรก็ตาม ถ้าหากกังวลว่าปันผลที่ได้อาจจะไม่เสถียร และอาจโดนตัดเข้าสักวัน ก็น่าจะขายและมองหาโอกาสอื่น
สรุป
1.สามารถไปถึงเป้าหมายโดยอัตราปันผล 11% และได้รับผลตอบแทนโดยรวม 12% ในช่วงเวลา 10 ปี
2.การจะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องหาหุ้นที่ให้ปันผลตั้งต้นที่ 4.7% เป็นอย่างต่ำ และมีอัตราการเติบโตปันผลที่ 10% บนข้อสันนิษฐานว่า ตลาดจะทำผลงานได้ตามค่าเฉลี่ยเช่นสถิติที่ผ่านมา
3.พยายามลงทุนกับหุ้นที่มีอัตราปันผลที่ 4% ขึ้นไป และมีอัตราการเติบโตของปันผลรายปีที่ 10% นอกจากนี้ยังต้องมีสัดส่วนการจ่ายปันผลไม่เกิน 75%
4.คำนวณสัดส่วนการจ่ายปันผล โดยอิงจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานและกระแสเงินสดอิสระ
5.สามารถปล่อยให้เงินทำงาน โดยนำเงินปันผลที่ได้มาลงทุนซ้ำในช่วงที่หุ้นเป็นขาลง
บทที่ 9
โปรแกรมการนำเงินปันผลเข้าลงทุนซ้ำ (DRIPs)
และโปรแกรมการซื้อหุ้นโดยตรงจากบริษัท (DSPP)
รู้แล้วว่าการนำเงินปันผลมาลงทุนซ้ำถือเป็นความชาญฉลาด ถ้าหากต้องการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวให้กับตัวเอง โดยทั่วไปแล้ว หนทางที่ง่ายที่สุดคือการหาข้อมูลจากโบรกเกอร์ ซึ่งโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ไม่คิดค่าคอมมิชชั่น หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มจากการนำเงินปันผลไปลงทุนซ้ำ ถ้าหากโบรกเกอร์คิดค่าใช้จ่ายตรงนี้เปลี่ยนโบรกเกอร์ได้เลย ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงเท่านี้ ถ้าอนุญาตให้โบรกเกอร์จัดการนำเงินปันผลที่ได้มาลงทุนซ้ำให้เลย ข้อมูลพอร์ตลงทุนก็จะอยู่ในความดูแลของโบรกเกอร์ บางคนชอบติดต่อกับบริษัทที่ตัวเองถือหุ้นอยู่โดยตรงมากกว่า
คนกลุ่มนั้นจะนำเงินปันผลของตัวเองมาลงทุนซ้ำผ่านบริษัทที่รู้จักกันในนามโปรแกรม หรือนำเงินปันผลมาลงทุนซ้ำ (Dividend Reinvestment Plan หรือ DRIP) ที่นำเงินปันผลจากหุ้นในพอร์ตมาซื้อหุ้นตัวเดิมเข้าไปในพอร์ต อาจจะสามารถซื้อหุ้นเพิ่มโดยตรงจากบริษัทนั้นได้เลย ถ้าหากบริษัทดังกล่าวมีโปรแกรมการซื้อหุ้นโดยตรงจากบริษัท (Direct Purchase Plan หรือ DSPP) เสนอให้ ผู้เขียนไม่ชอบ DRiPs และ DSPPs นั่นก็เพราะส่วนใหญ่วิธีเหล่านี้ จะมีค่าธรรมเนียมและค่าคอมมิชชั่น ซึ่งสูงยิ่งกว่าการดำเนินการผ่านโบรกเกอร์เสียอีก ลงทุนซ้ำผ่านบริการซื้อตรงของบริษัทได้เปรียบกว่าก็คือ การได้รับส่วนลดหรืออาจจ่ายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการที่ใช้บริการเต็มรูปแบบจากโบรกเกอร์ในการซื้อขาย แต่ก็ยังมีโบรกเกอร์ที่บริการครบวงจร และไม่คิดค่าธรรมเนียมอยู่ด้วย ดังนั้นต้องดูเงื่อนไขจากทุกที่ให้ถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจ
สรุป
1.DRIPs และ DSPPs เป็นวิธีที่สะดวกในการนำเงินปันผลมาซื้อหุ้นเพิ่ม แต่หากต้องทำเช่นนั้นบ่อย ๆ การใช้บริการผ่านโบรกเกอร์ก็ย่อมสะดวกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีหุ้นหลายตัว
2.DRIPs และ DSPPs มักจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเริ่ม ในการวางแผนนำเงินปันผลมาลงทุนซ้ำ รวมทั้งเมื่อมีการซื้อขายหุ้น ดังนั้นการใช้โบรกเกอร์ที่มอบส่วนลดจะประหยัดกว่าในจุดนี้
3.บางบริษัทเสนอส่วนลดให้ถึง 5% ในการนำเงินปันผลมาลงทุนซ้ำ กรณีเช่นนี้ อาจจะคุ้มค่ามากที่จะซื้อขายผ่าน DRIP แต่ต้องแน่ใจด้วยว่าค่าธรรมเนียมอื่น ๆ จะลดทอนผลประโยชน์ที่จะได้รับจนเกินส่วนลดที่ได้
บทที่ 10
การใช้ออปชั่นเพื่อติดเทอร์โบให้กับผลตอบแทน
นักลงทุนหลายคนกลัวการลงทุนกับออปชั่น พวกเขาเหล่านี้ได้ยินเรื่องเลวร้ายเกี่ยวกับคนที่หมดเนื้อหมดตัวจากการเล่นออปชั่นมาก่อน หรือไม่การซื้อออปชั่น ก็อาจจะยุ่งยากมากเกินไป สำหรับคนที่ไม่ชอบอะไรซับซ้อนแบบนั้น ก่อนอื่นมาดูนิยามของออปชั่นทั้ง 2 ชนิดกันก่อนก็คือ
พุท (put) คือสัญญาที่ให้สิทธิ์ในการขาย แต่ไม่ได้มีภาระผูกพันให้ต้องขายหุ้นแก่ผู้ซื้อออปชั่น ในราคาหรือวันเวลาใดที่แน่นอน
และคอล (call) คือสัญญาที่ให้สิทธิ์ในการซื้อ แต่ไม่ได้มีภาระผูกพันว่าต้องซื้อหุ้นจากผู้ขายออปชั่น ในราคาหรือวันเวลาใดที่แน่นอน
กลยุทธ์ Covered calls : การลงทุนสูตรเอสเปรสโซ่เพื่อสร้างรายได้
การลงทุนในหุ้นปันผลก็เหมือนกับกาแฟเข้มรสดีสักถ้วยที่อยู่ในพอร์ตลงทุน มันช่วยให้การเงินคล่องตัวขึ้น และช่วยให้ไปถึงเป้าหมายได้ มันก็เหมือนกับกาแฟสักถ้วยที่ทำให้กระปรี้กระเปร่าในยามเช้า กลยุทธ์ Covered Calls คือเมื่อนักลงทุนถือหุ้นของบริษัทหนึ่งอยู่ และขายคอลออปชั่นในจำนวนที่เท่ากับหุ้น ก็เท่ากับตกลงที่จะขายหุ้นในราคาที่ตั้งเป้าเอาไว้ ในวันที่แน่นอนตามความต้องการของผู้ซื้อคอล
ราคาออปชั่น
มีปัจจัยบางประการที่ส่งผลให้ราคาออปชั่น เช่น ราคาของหุ้นแตกต่างจากราคาที่ระบุในสัญญามากแค่ไหน ออปชั่นตัวนั้นมีอายุอีกเท่าไหร่ และมีค่าความผันผวน หรือค่าการแกว่งตัวเท่าไหร่
ราคาหุ้นมากกว่าราคาใช้สิทธิ์ (In the money) คือ คอลออปชั่นที่มีราคาหุ้นสูงกว่าราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือพุทออปชั่นที่มีราคาหุ้นต่ำกว่าที่ระบุในสัญญา
ราคาหุ้นเท่ากับราคา (At the money) คือออปชั่นที่มีราคาหุ้นเท่ากับราคาออปชั่นที่ระบุไว้ในสัญญา
ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาใช้สิทธิ์ (Out of the money) คือ คอลออปชั่นที่มีราคาหุ้นต่ำกว่าราคาที่ระบุไว้ในสัญญา หรือพุทออปชั่นที่มีราคาหุ้นสูงกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา
สรุปว่าคอลออปชั่นที่ได้กำไรก็คือ คอลที่มีราคาในสัญญาต่ำกว่าราคาหุ้นปัจจุบันนั่นเอง
การขายพุท put
เมื่อขายพุท ผู้ซื้อจะมีสิทธิ์ในการขายหุ้นตามราคาใช้สิทธิ์ที่ตกลงไว้ ก่อนที่จะถึงวันหมดอายุ ดังนั้นเมื่อขายพุทก็จำเป็นต้องเตรียมซื้อหุ้นเอาไว้ด้วย ผู้ขายพุทมักจะขายพุทฝั่ง Out of the money ซึ่งก็คือเมื่อราคาใช้สิทธิ์ต่ำกว่าราคาตลาด ในทางกลับกัน ได้รับเงินสดจากผู้ซื้อที่จ่ายให้กับค่าพุทนั้น หากหุ้นไปไม่ถึงราคาใช้สิทธิ์ของพุท ก็สามารถเก็บเงินสดนั้นไว้ได้เลย แต่ถ้าราคาพุทไปอยู่ฝั่ง In the money ก็อาจถูกบังคับให้ซื้อหุ้นตัวนั้น ซึ่งคงจะแพงมากพอดู
สรุป
1.การขาย Covered call เป็นหนทางอันยอดเยี่ยมที่จะเพิ่มรายได้ให้ นอกเหนือจากการถือหุ้นไว้เฉย ๆ
2.เมื่อคุณขาย Covered call เท่ากับให้สิทธิ์ผู้ซื้อ แต่ไม่ได้เป็นข้อบังคับว่าเขาจะต้องมาซื้อหุ้นตามราคาที่ระบุไว้ (ราคาใช้สิทธิ์) ตามระยะเวลาที่กำหนด (วันหมดอายุสัญญา)
3.เมื่อขาย Covered call ฝั่ง Out fo money จะเสี่ยงก็แค่โอกาสทำกำไร
4.เมื่อจำเป็นต้องคอยเฝ้าสังเกตสถานะคอลอย่างสม่ำเสมอ กลยุทธ์ Covered call นั้น ต้องการเอาใจใส่เพื่อจะได้สามารถกรุยทางไปสู่ความมั่งคั่งดังที่หวังได้
5.การขาย Naked put ฝั่ง Out of the money นั่นทำให้มีรายได้ระหว่างที่รอดูว่าหุ้นตัวที่สนใจ ลดเพดานราคาลงเมื่อใด แต่มันก็เสี่ยงกว่าการทำ Covered call
บทที่ 11
หุ้นต่างประเทศ
ผู้จ่ายปันผลบางราย ซึ่งส่วนมากในตลาดเกิดใหม่ อาจจะเสนออัตราปันผลที่น่าเร้าใจ ปลายปี 2011 ขณะที่บริษัทอเมริกันระดับคุณภาพหลายแห่งให้ปันผลในอัตรา 3% ถึง 4% แต่ตลาดกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา หรือตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) และตลาดฝั่งยุโรปที่กำลังปรับตัวขึ้น ต่างจ่ายอัตราที่สูงกว่านั้นเป็นเท่าตัว เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาว่า ทำไมหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เกิดใหม่ อาจให้อัตราปันผลที่สูงกว่า จำไว้ว่าวอลสตรีทไม่ได้ให้เงินใครฟรี ๆ หุ้นที่มีมูลค่าเท่ากัน 2 ตัวมักจะไม่จ่ายอัตราปันผลต่างกันมากถึงหนึ่งเท่าครึ่ง หรือสองเท่าของอีกตัวหนึ่ง
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้จริงในแง่ของการจ่ายปันผล ต้องหาให้เจอว่าบริษัทใดมีอัตราปันผลสูงเมื่อเทียบกับบริษัทอเมริกันอื่น ๆ และมันเป็นหุ้นที่วอลสตรีทประเมินค่าต่ำเกินไป แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญจะต้องตระหนักด้วยว่า ยิ่งอัตราปันผลสูงความเสี่ยงก็สูงตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรลองเสี่ยงดู เพียงแต่ต้องระวังให้มากหน่อยเท่านั้นเอง
ใบรับฝากหุ้นที่ออกโดยสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา (American depositary receipt หรือ ADR) คือเครื่องมือที่ใช้ในการซื้อขายหุ้นต่างชาติ (หนึ่งใบต่อหนึ่งหุ้น) โดย ADR จะถูกแปลงจากหุ้นต่างชาติเป็นดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่หุ้นต่างประเทศตั้งราคาขายด้วยค่าเงินท้องถิ่น เจ้าของ ADR มีสิทธิ์ที่จะแปลง ADR กลับไปเป็นหุ้นต่างชาติได้ด้วย เช่นกัน แม้ว่าจะมีนักลงทุนไม่กี่รายที่ทำเช่นนั้น
กลุ่มหุ้นที่ขึ้นปันผลแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ
เงินปันผลที่แกว่งขึ้นลงของนักลงทุนแบบ ADR ทำให้เป็นการยากที่จะหาบริษัทต่างชาติที่จ่ายปันผลเสถียรได้ โปรแกรมการคำนวณปันผลมักจะมีการคิดอย่างรอบคอบเมื่อมีรายได้ และกระแสเงินสดคาดการณ์ได้ ผู้บริหารมักจะวางกลยุทธ์ว่าจะจ่ายปันผลอย่างไร และจะทำให้มันเติบโตขึ้นได้อย่างไร ถ้าหากมีเงินสดเหลือมากพอให้เพิ่มปันผลได้ในแต่ละปี พวกเขาก็จะตั้งอัตราการเติบโตเอาไว้เลย การซื้อหุ้นเพื่อดักเงินปันผล คือ การซื้อหุ้นก่อนวันขึ้นเครื่องหมาย XD นั้น (วันที่นักลงทุนใหม่จะไม่ได้รับเงินปันผลตามที่ประกาศแล้ว) ก็เพื่อจะรับปันผลก่อน จากนั้นไม่นานจึงขายหุ้น
ความเสี่ยงอื่นๆ
เมื่อลงทุนกับบริษัทซึ่งมีที่ตั้ง และทำการซื้อขายอยู่นอกประเทศ ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ต้องทำการบ้านมากสักหน่อยหากต้องการลงทุนในหุ้นปันผลต่างประเทศ จะต้องแน่ใจด้วยว่ามีความเข้าใจความเสี่ยงจำเพาะบางอย่าง ที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดในบางประเทศ แต่ถ้าตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้ และตลาดก็สามารถให้ผลตอบแทนชดเชยได้ หุ้นเหล่านี้ก็จะมีความสำคัญต่อพอร์ต เน้นย้ำแค่ว่าอย่าได้ไล่ตามหาอัตราสูง ๆ เสียจนทำให้มีหุ้นต่างประเทศอยู่ในพอร์ตมากจนเสียสมดุล
สรุป
1.หุ้นปันผลต่างประเทศ มักให้อัตราปันผลสูงเมื่อเทียบกับหุ้นอเมริกา
2.บริษัทต่างชาติมักจะไม่จัดว่าเป็นกลุ่มหุ้นที่ขึ้นปันผลต่อเนื่อง (Perpetual Dividend Raisers) เนื่องจากมีค่าเงินผันผวน
3.ยิ่งอัตราปันผลสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจมากเท่านั้น
4.หุ้นปันผลต่างประเทศมักจ่ายปันผลเพียง 1 – 2 ครั้งต่อปี
บทที่ 12
ภาษี
เรื่องกฎหมายภาษีขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายปันผล นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ คือ อัตราภาษีเงินปันผล = 15% ในปี 2012 ถ้าหากเป็นคนที่ต้องจ่ายภาษีในอัตรา 25% ของรายได้หรือสูงกว่านั้น อัตราภาษีเงินปันผลจะเท่ากับ 15% นั่นเป็นในกรณีตั้งแต่ปี 2003 เมื่อประธานาธิบดีบุชลงนามในกฎหมายลดภาระทางภาษีและส่งเสริมการจ้างงานในปี 2010 ประธานาธิบดีโอบามาได้ขยายการลดภาษีที่กำหนดอัตราของภาษีเงินปันผลที่ 15% ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าเขาคนนั้นและสภาจะยืดกรอบออกไปอีกหรือไม่ หรือพวกเขาจะปล่อยให้มันหมดอายุตอนปลายปี 2012
ภาษีต่างประเทศ
ในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายภาษีของบริษัทในประเทศนั้นเป็นอย่างไร ภาษีอาจถูกหัก ณ ที่จ่ายตอนที่ได้รับเงินปันผลแล้วก็ได้ การจ่ายภาษีให้รัฐบาลต่างประเทศนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ถ้าหากเคยเป็นเจ้าของกองทุนรวมที่มีหุ้นต่างประเทศปนอยู่ด้วย ก็มีโอกาสที่จะจ่ายภาษีต่างชาติ และผ่านการคำนวณแบบนี้มาแล้ว ประเภทบัญชีที่ถืออยู่ก็อาจทำให้เกิดความแตกต่างในเรื่องกฎเกณฑ์ไปด้วย ซึ่งถ้าหากมีหุ้นต่างชาติอยู่ในบัญชีออมเพื่อการเกษียณ (Individual Retirement Account หรือ IRA) จะไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี นอกจากนี้รายได้สุทธิก็อาจส่งผลต่อเครดิตภาษีที่จะได้รับ
กลยุทธ์การลดหย่อนภาษี
การลงทุนในกองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุน Master Limited Partnership (MLPs) Business Development Corporations (BDCs) และกองทุนปิดไปแล้ว ซึ่งมักจะเป็นการแบ่งสัดส่วน หรือกระจายรายได้ไปยังผู้ถือหุ้น โดยถือว่าเป็นการคืนเงินทุน การคืนทุนมักไม่ถูกคำนวณภาษีในปีที่ได้รับการจ่ายปันผลคืน แต่เนื่องจากมันเป็นส่วนลดต้นทุนของหุ้น จึงต้องนำส่วนต่างจากต้นทุนมาคำนวณตอนที่ขายหุ้น การนำเงินใส่เข้าไปในบัญชีที่เป็นแบบรอการตัดบัญชี (Tax-deferred account) แล้วเงินภาษีจะต้องถูกหักจากส่วนนั้น แต่ก็ไม่ต้องถอนเงินออกมาทั้งหมดในคราวเดียว ซึ่งจะทำให้ทุนมีโอกาสงอกเงยขึ้นมาจ่ายส่วนต่างภาษีได้ ควรเก็บหุ้นเหล่านี้เอาไว้ในบัญชีสำหรับการตรวจสอบภาษี เนื่องจากเงินทุนที่ได้รับคืนจะต้องจ่ายภาษีอยู่ดี ซึ่งไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บเงินเหล่านี้ไว้ในบัญชีภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี อันที่จริงถือว่าเป็นการเสียเปรียบด้วยซ้ำถ้าหากนำเอาการลงทุนที่ก่อรายได้อย่างอื่นที่จะต้องถูกหักภาษีอยู่แล้วมาไว้ในบัญชีที่มีการรอตัดบัญชี เพราะบัญชีประเภทนี้จะหักภาษีจากรายได้ทุกตัวที่ใส่เข้าไป นอกจากนี้ถ้าหากนำการลงทุนที่ถูกหักภาษีไปแล้วมาใส่ไว้ในบัญชีประเภทรอการตัดบัญชีอีก อาจต้องจ่ายค่าปรับให้กับรายได้เหล่านั้นอีกด้วย
สรุป
1.อัตราภาษีเงินปันผลในปัจจุบันคือ 15% แม้ว่าอัตรานี้จะมีกำหนดสิ้นสุดในปลายปี 2012 ขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนหนังสือเล่มนี้อยู่ ผู้คนก็พากันคาดเดาไปต่าง ๆ นานาว่า ผู้นำอันยอดเยี่ยมและทำงานจริงในวอชิงตัน จะรักษาอัตรานี้เอาไว้เหมือนเดิมหรือว่าขึ้นมันเสีย
2.ได้จ่ายภาษีเงินปันผลให้บริษัทต่างประเทศอยู่บ่อย ๆ แต่จะได้แต้มภาษีสำหรับภาษีในอเมริกาทุกครั้งที่มีการจ่ายภาษีต่างชาติเหล่านั้น
3.ลองพิจารณาถือหุ้นปันผลเอาไว้ในบัญชีลดหย่อนภาษี เช่น IRA หรือ 401k
4.อย่าเก็บ MLPs หรือการลงทุนอื่น ๆ ที่มีการจ่ายปันผลคืน (Distribution) เป็นการคืนทุนไว้ในบัญชีภาษีเงินได้แบบรอการตัดบัญชี (Tax-deferred account) เพราะการจ่ายปันผลคืนนั้นผ่านการหักภาษีไปแล้วเรียบร้อย
5.ถ้าหากยังไม่เข้าใจขอให้สอบถามจากที่ปรึกษาด้านภาษีอีกครั้ง
บทสรุป : ตอนจบของหนังสือ
จุดเริ่มต้นอนาคต
นับตั้งแต่ปลายปี 2011 เริ่มเห็นได้ชัดว่าตลาดหุ้นไม่ค่อยขยับไปไหนมาเป็นทศวรรษแล้ว ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินและนักเขียนต่างกระโดดขึ้นรถไฟสายปันผลกันหมด คนที่คาดหวังกับตลาดกระทิง และคนที่มักมองอนาคตว่าจะเป็นตลาดหมี รวมทั้งทุกคนที่อยู่ระหว่างนั้นต่างพากันเชิดชูความชาญฉลาดของการเลือกลงทุนกับหุ้นปันผลว่า มันเป็นทางเดียวที่จะทำเงินให้ได้ในระยะยาว จึงต้องมีความพยายาม แม้ว่าอาจจะไม่ต้องพยายามมากเท่ากลยุทธ์การลงทุนประเภทอื่น และต้องมีความอดทน ยิ่งรอโดยไม่แตะต้องเงินก้อนนั้นได้นานเท่าใด มันก็จะยิ่งเติบโตมากขึ้น และเมื่อใดก็ตามที่ผ่านเวลา 8 หรือ 10 ปีไปได้ เงินก้อนนั้นก็จะเริ่มทบทวีมากขึ้นทุกปี ชีวิตนี้มีค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะมีระบบ 10 – 11 – 12 ที่คอยทำงานแทนแล้วอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องการเงินสำหรับไว้ใช้จ่ายในวันนี้ ไว้ซื้อข้าวของ แต่ถ้ารู้ว่าต้องการเงิน 100,000 เหรียญนี้เอาไว้ เพื่อให้เติบโตปีละ 12% ทุกปีเป็นระยะเวลา 20 ปี มันจะทำเงินให้มากกว่า 1 ล้านเหรียญนั่นอาจทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น การรู้ว่าเงินก้อนนั้นทำอะไรให้ได้บ้างอาจทำให้รู้สึกดีขึ้น.