สารบัญ
ทฤษฎี Wyckoff Logic คือ
Richard Demille Wyckoff ช่วงก่อนศตวรรตที่ 20 เขาเป็นผู้บุกเบิกหลักการวิเคราะห์ทางเทคนิค และเขาคือหนึ่งในตำนาน “เบญจภาคี” แห่งวงการวิเคราะห์ทางเทคนิค อันประกอบด้วย Charles Dow, Ralph Nelson Elliott, Arthur A. Merrill, William Delbert (Gann) ครั้งเมื่อตอนที่เขามีอายุ 15 ปี เขาได้ทำงานเสมียน ในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งใน มหานครนิวยอร์ก พออายุ 20 ปี ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้า จากนั้นเป็นเวลากว่า 2ทศวรรษ ที่เขาบ่มเพาะเก็บประสบการณ์ จนแยกตัวออกมาก่อตั้งสำนักพิมพ์นิตยสารเป็นของตัวเอง นามว่า “The Magazine of Wall Street” และมีสมาชิกกว่า 200,000 คน ก่อนหน้าที่เขาจะประสบความสำเร็จ เขาศึกษาตลาด จากการสังเกตพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคา และ จากการได้สัมภาษณ์ แนวคิดในการลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น JP Morgan และ Jesse Livermore หรือ นักลงทุนผู้มีชื่อเสียงคนอื่นๆ วันเวลาผ่านไป ทำให้เขาตกผลึกแนวคิด ออกมาเป็นแนวคิดของตัวเอง
เมื่อครั้งสมัยเขาทำงานที่หลักทรัพย์ เขาได้เห็นกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่ถูกนักลงทุนรายใหญ่เอาเปรียบ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นานวันเข้า ทนไม่ดูความโหดร้ายนี้ไม่ไหว จึงอยากจะถ่ายทอดแนวความคิดของเขาให้นักลงทุนรายย่อยคนอื่นๆ นำไปปรับใช้ โดยเขาตั้งชื่อหัวข้ออธิบายนี้ว่า “The Real Rules of the Game” หรือ กฎแห่งความจริง ของเกมส์
ในปี ค.ศ.1930 เขาได้ก่อตั้งโรงเรียน ต่อมากลายเป็นสถาบันการเรียนรู้ การเงินการลงทุน โดยหลักสูตรที่สอนนั้น มาจากองค์ความรู้ของเขาที่สั่งสมมา ในรายละเอียดเนื้อหานั้น เกี่ยวกับการระบุถึงตัวกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งในระยะสะสม (Accumulation) และ ระยะแจกจาย (Distribution) ในช่วงการซื้อขาย รวมถึงอธิบายหลักการเทขายทำกำไร ตามนักลงทุนรายใหญ่
5 หลักการของ Wyckoff
A Five-Step Approach to the Market
การนำเอา หลักการ Wyckoff ทั้ง 5 ขั้นตอน ไปประยุกต์มใช้ในการเลือกจังหวะเข้าลงทุน
1) กำหนดจุดเข้า และ มองเทรนแนวโน้มอนาคต
ขั้นตอนแรกก่อนที่จะเริ่มลงทุน จำเป็นต้องดูเทรนแนวโน้มและอนาคตของราคาหุ้น ว่าเป็นอย่างไร หากกำลังเริ่มเป็นขาขึ้น หรือเป็นขาขึ้นแล้ว ก็อาจหาจุดเข้าซื้อเพื่อลงทุน หรือเก็งกำไร ก็ตามแต่ความชอบของผู้ลงทุน ช่วงที่หาจุดเข้าซื้อ อาจต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Tools) ต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการจับจังหวะเข้าลงทุน
2) เลือกหุ้นที่มีเทรนแนวโน้ม
หากเป็นนักลงทุนระยะสั้น – กลาง อาจต้องเลือกหุ้นที่มีเทรนแนวโน้มที่กำลังจะเป็นขาขึ้น หรือ เป็นขาขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากสามารถทำกำไรได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอเวลานานนัก แต่ถ้าหากเป็นนักลงทุนระยะยาว อาจจะต้องเลือกหุ้นที่อยู่ในขาลง แล้วทยอยเข้าไปเก็บสะสมหุ้น เพื่อรอวันเปลี่ยนเทรนแนวโน้มมาเป็นขาขึ้น เพื่อขายทำกำไร
3) เลือกหุ้นที่ “เหมาะ” กับความต้องการที่จะลงทุน
การจะเลือกลงทุนซื้อหุ้นแต่ละตัวนั้น นักลงทุนจะต้องรู้จักตัวตนของตัวเองเสียก่อน ว่าเป็นนักลงทุนประเภทอะไร ถ้าหากเป็นนักลงทุนเก็งกำไร ระยะสั้น อาจเลือกหุ้นที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ราคาพุ่งทะยานร้อนแรง หรือ หากเป็นนักลงทุนระยะกลาง – ยาว อาจเลือกหุ้นที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงระยะสุดท้าย หรือ กำลังอยู่ในช่วงระยะแจกจ่าย (Distribution) เพื่อเป็นการเข้าไปซื้อเก็บสะสมหุ้น รอวันฟื้นตัว เพื่อขายกำไร
4) ตัดสินใจ และ พร้อมที่จะออก
เมื่อราคาหุ้นมาถึงจุด จุดหนึ่ง ที่อาจเป็นจุดเป้าหมายทำกำไร ไม่ควรที่จะลังเล และประวิงเวลาความโลภบังตา ควรที่จะทำตามกลยุทธ์ที่วางแผนไว้ตั้งแต่แรก กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะทำกำไร เนื่องจากหากโลภมาก รอให้ราคาวิ่งไปต่อเกินราคาเป้าหมาย แต่สุดท้ายแล้วราคาไม่วิ่งไปต่อไม่เป็นไปตามที่ จินตนาการไว้ จากที่ได้กำไร แล้วกลับกลายเป็นขาดทุน
5) มองหาจุดกลับตัว
นักลงทุนควรตระหนักไว้ว่า ราคาหุ้นมักมีจุดกลับตัวเสมอ เมื่อมาถึงจุด จุดหนึ่ง ควรวางกลยุทธ์ไว้ล่วงหน้า ถ้าหากราคาหุ้นวิ่งมาถึงจุด จุดนั้น ควรจะเข้าซื้อ หรือ ควรจะเทขาย โดยอาจใช้เครื่องมือทางเทคนิค (Technical Tools) ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยจับจังหวะเข้าลงทุนซื้อขาย
Wyckoff Price Cycle
หลักการ Wyckoff สามารถคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มของตลาด ได้จากการวิเคราะห์ อุปสงค์ อุปทาน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ รูปแบบราคา (Price Pattern) ปริมาณการซื้อขาย (Volume) และช่วงจังหวะเวลา (Timing) ประกอบการวิเคราะห์ ในสมัยที่ Wyckoff ทำงานอยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์ เขาได้สังเกตเห็น พฤติกรรม ของกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จ ในการลงทุน เขานำเคล็ดลับที่ได้จากการสัมภาษณ์ และ ศึกษาพฤติกรรมการซื้อขาย และการเคลื่อนไหวของราคา มาตกผลึกเป็นแนวคิดของเขาเอง จึงได้ออกมาเป็นหลักการ Wyckoff ที่ใช้กันในปัจจุบัน โดยปรากฏในภาพด้านล่าง แสดงให้เห็นถึงวัฏจักรของตลาด ที่ประกอบด้วยสภาวะตลาดกระทิง และ สภาวะตลาดหมี แต่ละช่วงเวลาก็จะมี ระยะสะสม (Accumulation) และ ระยะแจกจ่าย (Distribution) รวมทั้งช่วงเวลาที่ Demand (แรงซื้อ) มากกว่า Supply (แรงเทขาย) จะสามารถขับเคลื่อนตลาดให้พุ่งทะยานขึ้นไป ซึ่งทำให้เกิดสภาวะตลาดกระทิง และ ช่วงเวลาที่ Supply (แรงเทขาย) มากกว่า Demand (แรงซื้อ) ฉุดรั้งให้ราคาร่วงหล่นลงมา ซึ่งทำให้เกิดสภาวะตลาดหมี
กฏพื้นฐาน 3 ข้อ ของ Wyckoff
หลักการ Wyckoff ขึ้นอยู่กับพื้นฐาน 3 ประการ ที่มีผลต่อการวิเคราะห์ อันเนื่องจากสิ่งเหล่านี้ มีอิทธิพล กำหนดทิศทางราคา ปัจจุบัน และ อนาคต
1) The law of supply and demand determines the price direction.
กฏแห่งอุปสงค์ และ อุปทาน ถือว่าเป็นหัวใจหลักของ Wyckoff โดยเมื่ออุปสงค์ มากกว่า อุปทาน ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น และ เมื่ออุปทาน มากกว่า อุปสงค์ ราคาก็ปรับตัวร่วงลงมา
2) The law of cause and effect.
กฏของเหตุและผล สามารถช่วยให้นักลงทุนกำหนดเป้าหมายของราคา โดยประเมินความเป็นไปได้ จาก “สาเหตุ” ที่เกิดขึ้น แต่ในขณะที่ “ผล” ของการเคลื่อนไหวของราคาระยะทางที่สอดคล้องกับการนับจุด (Point and Figure Chart) รวมถึงการประเมินศักยภาพของแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งภายใต้กฎนี้ สามารถวิเคราะห์เห็นระยะสะสม (Accumulation) หรือระยะแจกจ่าย (Distribution) ที่จะเกิดขึ้นในกรอบของราคา (Trading Range)
3) The law of effort.
กฎของความพยายาม คือ การแจ้งเตือนล่วงหน้า ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเทรนแนวโน้ม ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเกิดจาก สัญญาณความขัดแย้ง (Divergence) ระหว่างปริมาณการซื้อขายและราคา ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทิศทางของราคา และ เทรนแนวโน้ม
Analyses of Trading Ranges (วิเคราะห์การซื้อขายภายในกรอบ)
จุดประสงค์หลักของ Wyckoff ก็คือ จับจังหวะช่วงเวลาการฟื้นตัวของตลาด บนสมมุติฐาน ตลาดจะฟื้นตัวในไม่ช้า เมื่อผลตอบแทน และ ความเสี่ยง อยู่ในระดับที่ดี
กรอบการซื้อขาย (Trading Ranges “TR”) คือ ช่วงการซื้อขาย ที่มีการหยุดชะงัก ไม่พุ่งทะยานขึ้นไปต่อ หรือ ร่วงหล่นลงไปต่อ หรือเรียกว่าสภาวะ สมดุลของ อุปสงค์ และ อุปทาน โดยราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ภายในกรอบนั้น จนกว่าจะมีอุปสงค์ หรือ อุปทาน ที่มากกว่า เข้ามากำหนดทิศทางราคา
แบบแผนของ Wyckoff (Wyckoff Schematics)
หลักการ Wyckoff สามารถคาดการณ์ และ ดูทิศทางการเคลื่อนไหว ภายในกรอบซื้อขาย (Trading Range) โดยมีเทคนิคในการจับจังหวะการซื้อขายภายในกรอบ สำหรับคาดการณ์เทรนแนวโน้ม และราคาเป้าหมาย ตามภาพตัวอย่างด้านล่าง ที่อธิบายรายละเอียดของการเคลื่อนไหว ในระยะสะสม (Accumulation) และ ระยะแจกจ่าย (Distribution) ภายในกรอบการซื้อขาย (Trading Range)
ระยะสะสม (Accumulation Wyckoff Events)
ระยะสะสม (Accumulation) แบ่งย่อยออกมาได้ 5 Phase
Phase A) ช่วงจังหวะของการร่วงลงระยะสุดท้าย อันเนื่องจากเริ่มมี Demand (แรงซื้อ) เข้ามาสนับสนุนการฟื้นตัวของราคา และในเฟสนี้ ก็มีจุดสังเกตที่มีนัยยะเกิดขึ้น ได้แก่ Preliminary Support, Selling Climax, Automatic rally, Secondary Test
Preliminary Support (PS) ณ จุดนี้ยังอยู่ ในช่วงที่ตลาดคงเป็นขาลง โดยก่อนหน้านี้ Supply (แรงขาย) ยังคงมีอยู่ แต่เริ่มน้อยลงบ้างแล้ว ซึ่งทำให้เห็นการชะลอตัวลงของราคา และเริ่มเห็นการฟื้นตัวบ้างเล็กน้อย แต่ก็ฟื้นไม่ได้ไม่ไกลนัก สุดท้ายราคาก็ยังคงร่วงลงได้ต่อ
Selling Climax (SC) จากที่ผ่านจุด PS ลงมาแล้วนั้น ราคาก็ยังคงร่วงลงมาอย่างแรง และ หนักหน่วง ถ้าหากดูกราฟแท่งเทียน “Candle Stick Chart” จะเห็นได้ว่า เกิดเป็นแท่งเทียนสีแดงยาวๆ พร้อมกับปริมาณการซื้อขาย (Volume) ที่สูงมากๆ อันเนื่องจาก กลุ่มนักลงทุนรายย่อย ได้เทขายหุ้นให้กับ นักลงทุนรายใหญ่
Automatic Rally (AR) หลังจากผ่านพ้น จุด SC มาแล้ว แรงเทขายเริ่มหมดลง และมี Demand แรงซื้อเข้ามา จึงทำให้เกิดการฟื้นตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยแรงซื้อที่เข้ามานั้น คาดว่าเป็นการ “Cover Short” ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ Automation rally
Secondary Test (ST) หลังจากที่ตลาดพุ่งทะยานขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ถึงจุดที่แรงซื้ออ่อนกำลัง และเริ่มมีแรงเทขายออกมา กดดันราคาให้ร่วงลงมา และมีโอกาสลงมาทดสอบจุด SC อีกครั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อ Secondary test โดยถ้าหากการร่วงลงครั้งนี้ ต่ำกว่าจุด SC ก็แสดงว่าการสะสมพลัง ในระยะสะสม (Accumulation) จำเป็นต้องยืดเวลาออกไปอีกพักสัก เนื่องจากแรงเทขายยังคงมีอยู่ ต้องรอจนกว่าแรงเทขายหมดพลัง และเริ่มสะสมแรงซื้อใหม่ อีกครั้ง
โดยช่วงราคา ระหว่างจุด AR มาถึง จุด SC หรือ ST จะเรียกว่ากรอบซื้อขาย (Trading Range “TR”) ใช้เป็นกรอบของระยะสะสม (Accumulation) ใน Phase ถัดไป
ในส่วน Phase B C D E รูปแบบการเคลื่อนไหวในกรอบการซื้อขาย จะคล้ายกับ Phase A แต่ใช้เวลาน้อยกว่า และเหวี่ยงตัวแคบกว่า
Phase B) ช่วงจังหวะนี้ ถูกเรียกว่า “Building a Cause” หรือสร้างเหตุ เพื่อสะสมหุ้นให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดผล ขาขึ้นรอบใหม่อีกครั้ง โดยใน Phase B บรรดาเหล่า นักลงทุนรายใหญ่ จะเข้ามาซื้อสะสมหุ้น และจะใช้เวลานานกว่าจะสะสมได้ครบ และความพิเศษของ Phase B นั่นก็คือ ช่วงเวลาของ “ลับ ลวง พราง” โดยในช่วงแรก ของ Phase B จะเห็นการแกว่งตัวของราคาที่รุนแรง Sideways กรอบกว้าง พร้อมปริมาณการซื้อขาย (Volume) ที่สูงมาก เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ต้องการเขย่าราคา เพื่อกดดันให้รายย่อยเทขายออกมา และเก็บหุ้นให้ได้มากที่สุด เมื่อราคาเริ่มมีการเหวี่ยงตัวน้อยลง พร้อมกับปริมาณการซื้อขาย ที่เบาลง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า Supply (แรงขาย) กำลังจะหมดลงแล้ว พร้อมที่จะเข้าสู่ Phase C
Phase C) ช่วงเวลาแห่งการทดสอบแรงเทขาย เพื่อที่จะรับซื้อหุ้นที่ยังหลงเหลือความอยากขาย (Supply testing) ของกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ทำให้แน่ใจครั้งสุดท้ายก่อนที่จะไล่ราคาหุ้นขึ้นมา แม้ว่าก่อนหน้านี้ได้ทำการ กดราคาร่วงหลุดโลว์เดิม “spring” แต่ก็มีนักลงทุนรายย่อยบางกลุ่ม ยอมเทขายออกมา
Spring คือ ราคาที่ถูกกดลงไปจนหลุดแนวรับ Low เดิม และจากนั้นก็ฟื้นตัวกลับมาเคลื่อนไหวภายในกรอบซื้อขาย Trading Range ได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างกับดักหมี “Bull trap” เนื่องจาก การที่หุ้นโดนเทขายออกมาอย่างหนัก จนร่วงหลุดแรวรับสำคัญ (Low เดิม) ซึ่งตามหลักแล้วเป็นการยืนยัน การร่วงลงต่อ (Failing Continuation) แต่ทว่าในความเป็นจริง อาการนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ ขาขึ้นรอบใหม่ (New cycle) เพราะมันคือ กับดักครั้งสุดท้ายที่จะ เขย่า และ บีบ นักลงทุนรายย่อยให้เทขายหุ้นออกมา
ไม่เพียงแค่แนวรับที่ถูกทดสอบ แนวต้านก็ถูกทดสอบด้วยเช่นกัน โดยนักลงทุนรายใหญ่จะไล่ราคา จนทะลุแนวต้านขึ้นไป สร้างบรรยากาศการลงทุนไว้อย่างดี แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็จะโดนแรงเทขายทำกำไรออกมา ทำให้ราคาร่วงหล่นลงมา ภายในกรอบ ดังเดิม หรือที่เรียกว่า “False Break”
การกระทำเช่นนี้ของ นักลงทุนรายใหญ่ มักทำให้นักลงทุนรายย่อยเกิดความหงุดหงิด เบื่อหน่าย และเจ็บปวดใจเป็นอย่างมาก บางรายถึงกับ เข็ดขยาด เลิกลงทุนไปเลยก็มี ซึ่งหารู้ไม่ ว่านี่คือหนึ่งในกลยุทธ์จิตวิทยา เขย่าใจคน ให้ออกจากตลาด
ในทางทฤษฏี Wyckoff การเขย่า หรือ Spring จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า หุ้นตัวนั้นเตรียมที่จะปรับตัวขึ้นแล้ว ถือว่าเป็นโอกาสสุดท้าย ที่จะได้กินกำไรรอบใหญ่
Test นักลงทุนรายใหญ่ มักจะทดสอบตลาด จากแรงเทขาย (Supply) ตลอดการเคลื่อนไหวของราคาภายในกรอบการซื้อขาย (Trading Range) หากมีแรงเทขาย (Supply) ออกมามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในระหว่างการทดสอบ ตลาดจะไม่เกิดการพุ่งทะยานขึ้นไป (Mark up) ดังนั้น ในช่วงจังหวะนี้ นักลงทุนรายใหญ่ อาจยังไม่ไล่ราคา และอาจรอจนกว่า แรงเทขาย (Supply) หมดไปเสียก่อน จึงจะกลับมาไล่ราคาอีกครั้ง และเกิดการพุ่งทะยาน (Mark up)
Sign of Strength (SOS) จะเกิดขึ้นหลังจาก Spring ภายในเวลาที่ต่อเนื่องกัน ถ้าหากการทดสอบ Supply ยังไม่เสร็จสิ้น คือยังคงมีแรงเทขายออกมาต่อเนื่อง ก็จะไม่เกิด Spring และนั้นก็ความว่า Phase C ยังไม่มาถึง
Last point of support (LPS) เป็นช่วงที่ราคาฟื้นตัวจากจุด Low ก่อนหน้านี้ และเป็นการพุ่งทะยานขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดๆหนึ่ง ที่อาจเป็นจุดพีค (Peak) ของรอบ และกลายเป็นจุด SOS
Back-up (BU) คือ ราคาจะต้องพุ่งทะยานทะลุผ่านกรอบแนวต้าน (Trading Range) ขึ้นไปได้สำเร็จ พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงมากๆ แม้ว่าราคาจะพุ่งขึ้นไปอย่างร้อนแรง และมีการเทขาย ก็ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากเป็นธรรมชาติ ของการลงทุน (เมื่อราคาวิ่งขึ้นไปมาก ถูกเทขายทำกำไรเป็นเรื่องปกติ) โดยการร่วงลงของราคา จะไม่ลึกมาก (แต่ก็มีโอกาสหลุด Low เดิมได้) และปริมาณการซื้อขาย ลดลงจากช่วงที่ Breakout กรอบแนวต้าน หากเป็นเช่นนี้ ณ จุดนี้ จะเป็นจุดซื้อที่ดี เพราะจากนี้จะเกิดการฟื้นตัว กลับขึ้นไปยืนเหนือกรอบซื้อขาย (Trading Range TR) ได้อีกครั้ง
Phase D) หากวิเคราะห์ถูก สิ่งที่จะเกิดขึ้นถัดจากนี้ จะแสดงให้เห็น Demand (แรงซื้อ) ที่มากกว่า Supply (แรงขาย) คือเกิดแท่งเทียนสีเขียวยาว พร้อมกับปริมาณการซื้อขาย (Volume) ที่สูงมาก และจากนั้นราคาก็พุ่งทะยานขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แม้ระหว่างทางจะมีแรงเทขายทำกำไรออกมา กดดันราคาให้ร่วงลงมา เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรอยู่เฉยๆ ยังไม่ใช่จังหวะลงทุนที่ดีนัก และเพื่อให้แน่ใจ ให้สังเกตดูการฟื้นตัวของราคา ว่าเป็นไปตามลักษณะ Back-up (BU) หรือไม่ ถ้าเป็นไปตาม ก็สามารถเข้าลงทุนได้
Phase E) หลังจากที่ราคาสามารถ Breakout กรอบแนวต้าน Trading Range ขึ้นไปได้แล้ว เป็นการแสดงว่าถึง Demand (แรงซื้อ) ชนะแรงเทายไปเรียบร้อยแล้ว และถัดจากนั้นจะเกิดการไล่ราคา โดยราคาจะวิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง (Rally) แม้จะมีบางช่วง บางเวลา ที่จะมีแรงเทขายออกมา แต่เป็นเพียงแค่ระยะสั้นๆ สุดท้ายราคาก็วิ่งขึ้นไปทำ New High
ระยะแจกจ่าย (Distribution Wyckoff Events)
ระยะแจกจ่าย (Distribution) แบ่งย่อยออกเป็น 5 Phase
Phase A) การเคลื่อนไหวอันเร่าร้อน เริ่มชะลอตัวลง และเริ่มซื้อขายในกรอบซื้อขาย (Trading Range) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า Demand (แรงซื้อ) อ่อนกำลังลง และ Supply (แรงเทขาย) ทำกำไรเข้ามา และในเฟสนี้ ก็มีจุดสังเกตที่มีนัยยะเกิดขึ้น ได้แก่ Preliminary supply (PSY), Buying Climax (BC), Automatic Reaction (AR), Secondary Test (ST) ซึ่งในแต่ละจุด ก็จะมีความหมาย บ่งบอกสัญญาณ ของการกลับตัวของทิศทางราคา นอกจากนั้น เมื่อปริมาณการซื้อขาย (Volume) หดหายไป สิ่งที่จะตามมาก็คือ การเปลี่ยนแปลงของเทรนแนวโน้ม _
ระยะแจกจ่าย ของ Phase A ในขาลงนี้ จะเหมือนกับจุดเริ่มต้นของระยะสะสม Preliminary Supply (PSY) เป็นช่วงที่ราคาวิ่งขึ้นมาอย่างร้อนแรง โดยไม่มีทีท่าจะพักตัวใดๆ ไม่ว่าจะรูปแบบราคา หรือ Indicator ต่างๆ ยังคงสนับสนุนการพุ่งทะยาน (Rally)
Buying Climax (BC) เป็นช่วงที่ราคา และ ปริมาณการซื้อขาย (Volume) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนต่าง ก็พากันเข้ามาไล่ราคา เนื่องจากในช่วงเวลานี้ ทุกอย่างดูดีไปหมด ข่าวดีถาโถมเข้ามา หารู้ไม่ว่า ณ จุดนี้ นักลงทุนรายใหญ่ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเพื่อต้องการเพิ่มความเชื่อมั่นกับนักลงทุนรายย่อย เตรียมที่จะทยอยขายหุ้นออกมา
Automatic Reaction (AR) เป็นช่วงที่ เริ่มมีแรงเทขายทำกำไรออกมา หลังจากราคาวิ่งขึ้นไปอย่างบ้าคลั่ง ในช่วง BC โดยการร่วงลงมา ในระยะนี้ จะเป็นการสร้างจุดต่ำสุด ที่ซึ่งกลายเป็นกรอบแนวรับล่าง ของกรอบซื้อขาย (Trading Range) ของระยะแจกจ่าย (Distribution)
Secondary Test (ST) เป็นช่วงที่ ราคาฟื้นตัวกลับไปทดสอบความสมดุลระหว่าง Demand (แรงซื้อ) และ Supply (แรงเทขาย) ซึ่งราคาอาจขึ้นไปใกล้ๆจุด Buying Climax เพื่อเป็นการยืนยัน Supply (แรงซื้อ) มากกว่า Demand (แรงขาย) เมื่อเข้าใกล้จุด BC จะเริ่มเห็นการอ่อนตัวของราคา
Sign of weakness (SOW) เป็นช่วงที่ เผชิญกับแรงเทขายทำกำไรออกมาอย่างรุนแรง พร้อมกับปริมาณการซื้อขาย (Volume) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาร่วงหลุดกรอบซื้อขาย (Trading Range) ลงมา ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า นี่คือจุดเริ่มต้น ของการเปลี่ยนเทรนแนวโน้ม
Last point of supply (LPSY): หลังจากที่ลงไปทดสอบจุด SOW แล้วนั้น ราคาก็ฟื้นตัวขึ้นมาไม่หวือหวาเท่าใดนัก โดยไม่สามารถเคลียร์ High เดิมได้ และเผชิญกับ Supply (แรงเทขาย) ที่ถาโถมเข้ามา สะท้อนถึง Demand (แรงซื้อ) ที่อ่อนแอ ทั้งนี้ ยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ ของระยะแจกจ่าย ว่ากำลังจะเปลี่ยนเทรนแนวโน้ม
Upthrust after distribution (UTAD) เป็นช่วงที่ พุ่งทะยานขึ้นเหนือกรอบซื้อขาย และมีการเหวี่ยงตัวของราคาอย่างรุนแรง โดยระยะนี้ คล้ายกับ “Spring” ในระยะสะสม (Accumulation) หลังจากนั้นราคาจะร่วงลงมา และเริ่มเปลี่ยนผ่านเทรนแนวโน้มเข้าสู่ ขาลง ในที่สุด
Phase B) ในเฟสนี้ ของระยะแจกจ่าย (Distribution) ทุกอย่างจะคล้ายกับ Phase B ในระยะสะสม (Accumulation) แต่ในทางกลับกัน เป็นจุดที่นักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มทยอยเทขายทำกำไรออกมา แต่จะยังไม่เทขายออกมาอย่างหนัก ส่งผลให้การเคลื่อนไหวในเฟสนี้ จะเป็นในรูปแบบ Sideways ออกข้าง ภายในกรอบการซื้อขาย (Trading Range) และไม่นานนัก Supply (แรงขาย) ที่มีมากขึ้น จนมากกว่า Demand (แรงซื้อ) และส่งผลให้ราคาร่วงหลุดกรอบซื้อขาย หรือสร้างจุดต่ำใหม่ (New Low) พร้อมกับเกิด จุด SOW ที่เป็นการส่งสัญญาณอย่างมีนัยยะว่า กำลังจะเข้าสู่ขาลง
Phase C) ในระยะแจกจ่าย ของเฟสนี้ จะมาพร้อมจุด Upthrust (UT) หรือ UTAD (ตามที่อธิบายไว้ข้างต้น โดย UT จะตรงข้ามกับ Spring เพื่อเป็นการทดสอบ Demand (แรงซื้อ) ว่ายังคงมีอยู่หรือไม่ และหรือ จะมองว่าเป็นกับดักกระทิง (Bull Trap) ก็ได้เช่นกัน โดยเป็นการสร้างพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคา และ สัญญาณการซื้อขาย ว่ากำลังจะพุ่งทะยานขึ้นไปต่อ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่ได้ขึ้นไปต่อ กลับกลายเป็นร่วงลงมา
บางครั้ง แรงซื้อที่เบาบาง อาจจะทำให้การฟื้นตัวของเฟสนี้ ไปไม่ถึงจุด Buying Climax (BC) หรือ Secondary Test (ST)
Phase D) หลังจากจบ Phase C ไปแล้ว เข้ามาถึง Phase D ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มี Demand (แรงซื้อ) ระลอกสุดท้าย และอ่อนแอมากแล้ว ในเฟสนี้จะเผชิญแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งจะเป็นการทำจุดต่ำใหม่ (New Low) ร่วงหลุดกรอบซื้อขายด้านล่างลงมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยหลุดลงมาครั้งแรกใน Phase B แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง เกิดเป็นจุด LPSY แต่ท้ายที่สุด ก็เป็นการ ฟื้นตัวเพื่อลงต่อ โดยทำ (Lower Low) เป็นการส่งสัญญาณว่า Supply (แรงซื้อ) ชนะ Demand (แรงขาย) และราคากำลังจะเข้าสู่ขาลง เป็นที่เรียบร้อย
Phase E) ในเฟสนี้ เป็นการยืนยันการเปลี่ยนเทรนแนวโน้ม มาเป็นขาลงเรียบร้อย โดยที่ราคานั้นได้เผชิญกับ Supply (แรงขาย) ที่สูงมาก กดดันราคาร่วงลงมา ทั้งนี้แม้ระหว่างการร่วงลง จะมีการฟื้นตัวเล็กๆน้อยๆ ทำให้เกิดจุด SOW แต่การฟื้นตัวนั้น ไม่ได้หวือหวาเท่าใดนัก เป็นเพียงการฟื้นตัวสั้นๆเพื่อลงต่อ หรือที่เรียกว่า Pullback นอกจากนั้น ในระยะนี้ โอกาสที่จะเกิดการ Short sales นั้นมีมาก อันเนื่องจากตลาดได้เข้าสู่ขาลงแล้ว และเครื่องมือที่จะทำกำไรได้ในตลาดขาลง ก็มีไม่กี่อย่าง เช่น Short sales, Short Futures, Long Put Option, Short Call Option เป็นต้น สุดท้ายต้องรอจนกว่า ขาลง จบสิ้น แล้วราคาเปลี่ยนเทรนแนวโน้มเพื่อที่จะเข้าสู่ ระยะสะสม (Accumulation) ครั้งใหม่
Mark Up & Mark Down
Mark Up) ในช่วงระยะนี้ ราคาหุ้นจะมีทิศทางขาขึ้น ในเทรนแนวโน้มหลัก (Primary Trend) ค่อนข้างชัดเจน นอกจากมองด้วยตาเปล่าแล้ว ยังสามารถใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis Tools) เข้ามาช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็น Trend line, Moving Average ซึ่งราคาหุ้นในช่วงนี้ จะเคลื่อนไหวเหนือเครื่องมือทางเทคนิคเหล่านี้ ไม่ว่าจะใน Time Frame ระยะสั้น หรือ ระยะยาว โดยนักลงทุนสามารถกำหนดกลยุทธ์เก็งกำไรได้โดยง่าย แต่ถ้าเมื่อใดราคาหุ้นชะลอความร้อนแรง เริ่มเคลื่อนไหวในกรอบซื้อขาย (Trading Range) ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังเข้าสู่ระยะแจกจ่าย (Distribution) ที่อาจเปลี่ยนแปลงเทรนแนวโน้มได้ในอนาคตข้างหน้า
Mark Down) ในช่วงระยะนี้ ราคาหุ้นจะมีทิศทางขาลง ในเทรนแนวโน้มหลัก (Primary Trend) ค่อนข้างชัดเจน นอกจากมองด้วยตาเปล่าแล้ว ยังสามารถใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis Tools) เข้ามาช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็น Trend line, Moving Average ซึ่งราคาหุ้นในช่วงนี้ จะเคลื่อนไหวต่ำกว่าเครื่องมือทางเทคนิคเหล่านี้ ไม่ว่าจะใน Time Frame ระยะสั้น หรือ ระยะยาว โดยนักลงทุนอาจกำหนดกลยุทธ์ การลงทุนในช่วงนี้ได้ค่อนข้างลำบาก แต่ถ้าเมื่อใดราคาหุ้นชะลอการร่วงลงมา เริ่มเคลื่อนไหวในกรอบซื้อขาย (Trading Range) ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังเข้าสู่ระยะสะสม (Accumulation) ที่อาจเปลี่ยนแปลงเทรนแนวโน้มได้ในอนาคตข้างหน้า
การวิเคราะห์แรงซื้อและแรงขาย (Supply and Demand Analysis)
หลักการวิเคราะห์ Supply (แรงขาย) และ Demand (แรงซื้อ) บนกราฟ Bar Chart ตลอดการเคลื่อนไหวของราคา และ ปริมาณการซื้อขาย เพื่อเป็นการยืนยันหลักการ Wyckoff สำหรับตัวอย่าง ระหว่างกราฟราคา ของราคาปิด ที่อยู่สูงกว่า ราคาปิดวันก่อนหน้า ที่มาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงมาก ซึ่งเป็นการยืนยัน การมีอยู่ของ Demand (แรงซื้อ) ในทำนองเดียวกัน เมื่อปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้น และราคาปิด ต่ำกว่าราคาปิดวันก่อนหน้า ซึ่งเป็นการยืนยัน การมีอยู่ของ Supply (แรงขาย) นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ที่ใช้สำหรับในการวิเคราะห์
สรุป
Wyckoff เป็นหลักการวิเคราะห์ทางเทคนิค อีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นการดูพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคา และปริมาณการซื้อขาย โดยหลักการอาจดูซับซ้อนกว่าวิเคราะห์รูปแบบราคา (Price Pattern) เนื่องจากมีความละเอียดกว่า และผู้ที่จะใช้หลักการนี้ในการซื้อขาย อาจต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญ ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคระดับหนึ่ง จึงจะสามารถใช้งานหลักการนี้ได้ และถ้าหากจะสรุปว่า หลักการนี้ ก็คือ “วัฏจักรการเคลื่อนไหวของราคา หรือ ตลาด” โดยถูกขับเคลื่อนจาก Demand (แรงซื้อ) และ Supply (แรงขาย) ที่มาจากนักลงทุนทั้งรายใหญ่ และ รายย่อย โดยการเคลื่อนไหวในแต่ละวัฏจักรนั้น หลักๆจะมี 4 ช่วง ได้แก่ ระยะสะสม (Accumulation) วิ่งสู้ฟัด (Mark Up) ระยะแจกจ่าย (Distribution) ดิ่งเหว (Mark Down) โดยระยะ สะสม และ แจกจ่าย ที่ราคามีการเคลื่อนไหว Sideways ออกข้าง ภายในกรอบซื้อขาย (Trading Range) ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเทรนแนวโน้มหลัก ภายในนั้น ก็จะมี Phase A B C D E โดยแต่ละ Phase ก็จะมี Event ที่เป็นเอกลักษณ์ของหลักการ Wyckoff มาใช้ในการจับจังหวะ เข้าซื้อขายได้ และนอกจากรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคา หลักการ Wyckoff ยังจำเป็นต้องวิเคราะห์ปริมาณการซื้อขาย (Volume) เพื่อประกอบการตัดสินใจ สุดท้ายนี้ หลักการ Wyckoff ไม่ใช่หลักการทำนายตลาด เพียงแต่เป็นหลักการที่มาจากศึกษารูปแบบพฤติกรรมราคาที่เกิดจากอดีต หากนักลงทุนจะนำหลักการ อาจต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะการเคลื่อนไหวของราคา มักจะเกิดสัญญาณหลอก (False Signal) อยู่เรื่อยๆ หากนักลงทุนนำเอาหลักการนี้ไปใช้ โดยที่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่พอร์ตลงทุนได้
Writer: ชายโขง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง