เนื้อหา :  หนังสือเล่มนี้จะเน้นไปที่การวิเคราะห์หุ้น ด้วยปัจจัยพื้นฐาน จากงบการเงิน งบกำไรขาดทุน งบดุล และ PE, P/BV, ROE และจังหวะเข้าซื้อขายหุ้น 

สิ่งที่ได้ : หลักการวิเคราะห์หุ้นโดยอาศัยปัจจัยพื้นฐาน วิเคราะห์งบการเงิน ตัวเลขในงบการเงิน เพื่อที่จะหาหุ้นที่ดี ราคาถูก หรือ ราคาเหมาะสม 

เหมาะสำหรับ : นักลงทุนมือใหม่ แต่จะให้ดี ควรมีความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาบ้าง จะได้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น หรือ นักลงทุนมือเก๋า ที่อยากจะได้อีกมุมมอง ในการหาหุ้นดี ราคาถูก หรือ ราคาเหมาะสม

สั่งซื้อหนังสือ “เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก

วันนี้ได้ออกไปเดินห้าง หลังจากผ่อนคลาย Lockdown มาหลายเดือน ก็ไม่พ้นที่จะไปเดินดูหนังสือ และก็ไปสะดุดกับหนังสือ “เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน” ของ พี่กวี ชูกิจเกษม กูรูสายพื้นฐาน แห่งหลักทรัพย์กสิกรไทย ซึ่งได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตลอดอาชีพนักวิเคราะห์ ผ่านตัวอักษร เพื่อจะสื่อสาร บอกเล่าถึงหลักการวิเคราะห์หุ้น ที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับทุกๆคน ไม่ว่าจะมือใหม่ มือเก๋า ซึ่งหนังสือเล่มนี้ผมได้เห็นมาหลายปีแล้ว แต่ไม่ได้หยิบมาอ่านสักครั้ง แต่ในวันนี้เกิดความรู้สึกอยากอ่าน เลยตัดสินใจซื้อมา และจากที่อ่าน หนังสือเล่มนี้อธิบายเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) โดยมุ่งเน้นในการหาหุ้นดี บริษัทดี ราคาเหมาะสม (หรือถูก) ถือยาวๆ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ในการวิเคราะห์หุ้น

1. หาหุ้นเข้าพอร์ต

ก่อนอื่นคุณต้องรู้จักตัวเองเสียก่อน ว่าคุณเป็นนักลงทุนประเภทใด นักลงทุนระยะยาว (Value Investor) มุ่งเน้นไปที่การเติบโตระยะยาวของหุ้น, นักลงทุนเน้นปันผล (Yield Investor) ที่เน้นไปที่ปันผลตอบแทนของหุ้น, นักเก็งกำไร ประเภท Momentum ซื้อหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะขึ้นเยอะ ลงน้อย, นักเก็งกำไร ประเภท Speculator เก็งกำไรระยะสั้นๆ โดยในตลาดจะมี Theme, Story หลากหลายให้เก็งกำไร

เมื่อคุณรู้จักตัวเองแล้ว คุณจะต้องมีนิสัยนักลงทุน คือ มีความสุขที่ค้นพบบริษัทที่ดี มีความสุขที่ได้เป็นเจ้าของ มีความสุขที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ลงทุน มีความสุขกับการลงทุนและศึกษาหาความรู้เพื่อเติมโดยไม่เบื่อ คิดบวกกับการลงทุน เช่น คุณอยากรวย จงคิดจริงจังและจริงใจว่าจะต้องรวย หลายคนไม่ประสบผลสำเร็จเพราะไม่ได้คิดแบบจริงจังและจริงใจ ชอบคิดแอบแฝงขึ้นมาว่า มันจะเป็นไปได้เหรอ 

เมื่อเข้าสู่เนื้อหากลางเล่ม ผู้เขียนจะเริ่มอธิบายถึงหลักการ และ ตัวเลขสำคัญต่างๆในงบการเงิน ที่ใช้สำหรับคัดเลือกหุ้น

จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ บริษัทที่มีกำไรโตสม่ำเสมอในระยะยาว, บริษัทมีอำนาจต่อรองกับลูกค้า, บริษัทที่เป็นผู้นำธุรกิจ, บริษัทที่ลงทุนในธุรกิจถนัด, มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง, ไม่จำเป็นใช้เงินทุนมากในอนาคต, ไม่พึ่งลูกค้ารายใหญ่รายเดียว, ผู้บริหารมีฝีมือ ธรรมาภิบาล

การวิเคราะห์งบกำไรขาดทุน

  • วิเคราะห์กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning Per Share : EPS)  ต้องมีตัวเลขที่เติบโตและสม่ำเสมอในระยะยาว
  • วิเคราะห์อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin: GPM) ต้องมีตัวเลขที่สม่ำเสมอในระยะยาว (หรือเพิ่มขึ้น)
  • วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ต้องมีตัวเลขที่สม่ำเสมอในระยะยาว (ควรลดลง)
  • วิเคราะห์อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin: GPM) ต้องมีตัวเลขที่สม่ำเสมอในระยะยาว (ควรเพิ่มขึ้น)

การวิเคราะห์งบดุล

  • หนี้สิน ไม่ควรเพิ่มขึ้น เพราะกระทบต่อความมั่นคงบริษัท
  • วิเคราะห์อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (Debt/Equity: D/E) ควรมีค่าน้อย
  • วิเคราะห์ผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของ (Return on Equity: ROE) ควรมีค่าสูง
  • วิเคราะห์ผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) ควรจ่ายปันผลสม่ำเสมอ

2. ซื้อหุ้นเมื่อราคาถูก

ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อหุ้นของนักลงทุนระยะยาว (Value Investor) จะมีอยู่ 2 เรื่องสำคัญ จะซื้อหุ้นบริษัทไหนดี (กล่าวไปแล้วบทก่อนหน้า) และ จะซื้อหุ้นราคาเท่าใด ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึง ROE P/BV PE เป็นหลัก

2.1 วิเคราะห์อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (Price Earning per Share, PE) คือ ดูค่าเฉลี่ยย้อนหลัง อย่างน้อย 10ปี เนื่องจากระยะเวลาขนาดนี้ บริษัทได้ผ่านรอบวัฏจักรเศรษฐกิจมาครบแล้ว และจากนั้นดูค่า PE ของกลุ่มอุตสาหกรรม และดัชนีตลาดหุ้น (SET Index) เพื่อเปรียบเทียบว่า PE ของหุ้นแตกต่างมากน้อยเพียงใด

2.2 วิเคราะห์อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (Book Value per Share, P/BV) ทฤษฏีกล่าวไว้ว่า หุ้นไม่ควรมี P/BV เกิน 1 เท่า แต่ในความเป็นจริงแทบเป็นไปไม่ได้เลย ยิ่งหุ้นที่มีพื้นฐานดี P/BV ต่ำกว่า1 ที่หมายความว่า เป็นหุ้นที่ถูกมากๆ ยิ่งหายากยิ่ง  

2.3 วิเคราะห์อัตราส่วนผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity, ROE) คือ อัตราส่วนทางการเงินที่สามารถบอกได้ว่า ราคาหุ้นควรซื้อขายที่ PE, P/BV เท่าไร ความหมายของอัตราส่วนนี้คือ ส่วนผู้ถือหุ้นสามารถสร้างกำไรได้มากน้อยเพียงใด และแน่นอนอัตราส่วนนี้ยิ่งมากยิ่งดี ซึ่งหมายความว่า ROE มีค่ามาก PE PBV จะต้องมากด้วย ถึงจะสมเหตุสมผล แต่ก็ม่ควรซื้อขายกันที่ PE สูงกว่า ROE จากประสบการณ์ของผู้เขียน ถ้าหาก P/BV ต่ำกว่า ROE /5 ถือว่าหุ้นมีราคาถูก

3. กระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนหุ้นในจำนวนที่เหมาะสม

ในบทนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึง การกระจายความเสี่ยง ด้วยการเลือกลงทุนในหุ้นหลายๆตัว หลายอุตสาหกรรม ตามทฤษฏีกระจายความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ คือต้องมีหุ้น 30 บริษัท ซึ่งในเชิงปฏิบัติ มันเป็นไปได้ยาก เนื่องจากนักลงทุนคงไม่มีเวลาที่จะมานั่งติดตามข่าว ข้อมูลสำคัญต่างๆได้ครบทุกตัว และ ปรับพอร์ตได้ทันเหตุการณ์ ดังนั้นผู้เขียนจึงแนะนำ สำหรับผู้เริ่มลงทุน ให้มีอย่างน้อย 5 บริษัท และต่างอุตสาหกรรม หรือ ถ้าหากนักลงทุนมีประสบการณ์พอสมควร อาจเลือกลงทุน 10 – 15 บริษัท และต่างอุตสาหกรรม เพื่อจะได้กระจายความเสี่ยงได้มีประสิทธิภาพ

4. ติดตามผลการดำเนินงานของหุ้นที่เราซื้ออย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่นักลงทุนจะต้องติดตาม หลังจากบริษัทเปิดเผยข้อมูลประจำไตรมาส 

1. รายได้ เพิ่มหรือลด และมาจากสาเหตุอะไร และบริษัทในตลาดหุ้นจะมี High season, Low season ซึ่งนักลงทุนต้องมาพิจารณาดูว่า รายได้ ที่เพิ่มลด ในแต่ละไตรมาส มีความสัมพันธ์กับฤดูกาล หรือ ช่วงนั้นมีวิกฤติเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าหากการลดลงของรายได้ เกิดขึ้นจากผลของฤดูกาล เกิดจากเหตุชั่วคราว นักลงทุนไม่จำเป็นต้องกังวล

2. อัตรากำไรขั้นต้น เป็นอัตราส่วนที่แสดงความสามารถในการแข่งขันระยะยาวได้เป็นอย่างดี ซึ่งบางไตรมาสอาจไม่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ควรลดลง หรืออาจลดลงบ้างด้วยสาเหตุจาก ฤดูกาลหรือวิกฤติชั่วคราวแต่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากลดลง มากกว่า 3 ไตรมาสอาจต้องกลับมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าทำให้บริษัทลดราคาเพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้บริหาร หรือซื้อสินค้า และส่งผลกระทบในระยะยาว

3. อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการบริการต่อรายได้ ซึ่งไม่ควรเพิ่มขึ้น หากเพิ่มขึ้นเล็กน้อยบางไตรมาสก็พอรับได้ แต่ทางที่ดีควรจะลดลง ถ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายไตรมาส เป็นไปได้ว่าความสามารถในการแข่งขันเริ่มถดถอย

4. อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี หากบริษัทไม่ได้กู้เงินธนาคารเพื่อลงทุนใหญ่ๆ อัตราส่วนนี้ก็จะไม่มาก แต่หากบริษัทมีอัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาก แสดงว่ามีการกู้เงินก้อนใหญ่มา ซึ่งต้องมาดูว่า การกู้มาลงทุนครั้งนี้ คุ้มค่าหรือไม่

5. ลงทุนระยะยาวก็ลดความเสี่ยง

การมีวินัย คือ ลงทุนระยะยาวให้ได้ ความอดทน คือ อดทนถือหุ้นของบริษัทที่นักลงทุนแน่ใจว่าเป็นบริษัทที่ดี และรอโอกาสซื้อเพิ่มเมื่อราคาร่วงลงมา แต่ถึงกระนั้น กฎเหล็กของการลงทุนระยะยาว หากพบว่าบริษัทที่เราลงทุน มีเหตุปัจจัยทำให้พื้นฐานระยะยาวเปลี่ยนแปลงไป อาจจำเป็นต้องขายหุ้นออกไป อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจตั้งคำถามกับตัวเองว่า ลงทุนหุ้นมา 10ปี แล้วทำไมยังไม่เห็นความแตกต่างกับเพื่อนๆที่ลงทุนระยะสั้น เก็งกำไรเลย ซึ่งของพรรค์นี้ จะเริ่มแสดงพลังของดอกเบี้ยให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่อลงทุนผ่านไปมากกว่า 10 ปี ยิ่งจะต่างกันมากขึ้นเมื่อผ่านไปนานกว่านี้ และพลังของดอกเบี้ยนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงออกไปทีละน้อย

6. ศึกษาหุ้นดีและหาหุ้นดีอย่างต่อเนื่องโดยกลับไปเริ่มขั้นตอนที่1

หลังจากทำตามขั้นตอนเลือกหุ้นสำหรับลงทุนเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึง การคัดเลือกหุ้นเข้า “Watch list” เพราะนักลงทุนจะสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้ว่าจะไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนั้น แต่ในบางครั้งนักลงทุนอาจจะสามารถค้นพบหุ้นที่ดี ได้เรื่อยๆ แต่ ณ ตอนนั้น ราคาอาจแพงไป เมื่อราคาหุ้นใน “Watch list” ร่วงลงมา ก็จะสามารถช้อนซื้อได้ ดังนั้น หากไม่ทำการบ้านวิเคราะห์หุ้นที่ดี และ หาหุ้นดีอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงเวลา อาจพลาดโอกาสได้  

เนื้อหาช่วงท้ายเล่ม ผู้เขียนได้กล่าวถึงนักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจอยากจะลงทุนในหุ้น แต่ว่าศึกษาเองแล้วไม่เข้าใจ หรือไม่มีเวลาศึกษา และไม่อยากให้ยอมแพ้กับการลงทุนในหุ้น แนะนำให้ไปซื้อกองทุนรวมหุ้น เพราะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลตลอดเวลา โดยที่ผลตอบแทนจะค่อนข้างใกล้เคียงตลาด ด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบ Dollar Cost Average (DCA) โดยซื้อกองทุน ในจำนวนเงินที่เท่าๆกันในทุกเดือน ยาวๆไป 20 30 ปี โดยไม่สนใจว่าตลาดจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีงานวิจัยออกมาแล้ว ได้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนั้น ผู้เขียนได้อธิบายถึงวิธีบริหารจัดการเงิน (Money Management) ให้พร้อมสำหรับซื้อหุ้นในยามวิกฤติ โดยอาจแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก ซื้อหุ้นทั้งหมด 100% และอีกส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่คล้ายเงินสด เช่น กองทุนตลาดเงิน (Money Market) กองทุนพันธบัตร (Bond Market) เพื่อจะได้มีสภาพคล่อง พร้อมซื้อหุ้น

สรุป

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือดีที่อ่านสนุกอีกหนึ่งเล่ม ที่เหมาะสำหรับนักลงทุนแนวพื้นฐาน โดยที่เนื้อหาหลักๆ ผู้เขียนเน้นไปที่การหาหุ้นที่ดี ราคาถูก และเหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยดูเพียงตัวเลขทางการเงินไม่กี่ตัว เช่น งบกำไรขาดทุน, งบดุล P/E, P/BV, ROE ซึ่งจากประสบการณ์การลงทุนของผู้เขียน จะใช้ตัวเลขเหล่านี้ในการคัดเลือกหุ้น ซึ่งอาจทำผู้อ่านนักลงทุนมือใหม่ อาจเกิดความมึนงงได้บ้าง เนื่องจากเป็นข้อมูลเชิงวิชาการ อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจสักพัก แต่เมื่อเข้าใจ Concept ของหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็สามารถที่จะเฟ้นหาหุ้นดี ราคาถูก ด้วยตัวเองได้ไม่ยาก สุดท้ายนี้ ขอกล่าวถึงสุภาษิตจีนที่ว่า “หนทางไกลทำให้รู้ถึงกำลังของม้า วันเวลาที่ยาวนานทำให้รู้จิตใจคน”

Writer: ชายโขง

สั่งซื้อหนังสือ “เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก