Zero to One

สั่งซื้อหนังสือ “Zero to One” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก

สรุปหนังสือ Zero to One

หลักคิดสำหรับสตาร์ตอัพ สู่การสร้างอนาคต

By Peter Thiel

ถ้าใครคิดที่จะประสบความสำเร็จด้วยการทำตาม Bill Gates, Mark Zuckerberg หรือ Larry Page และ Sergrey Brin แล้วฝันไปได้เลยว่าจะประสบความสำเร็จแบบพวกเขา เพราะโลกจะไม่ก้าวกระโดดไปไหนเลย ถ้าเรามัวแต่ยังยึดติดอยู่กับของเดิม ๆ ช่วงสำคัญของธุรกิจเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวเท่านั้น การลอกเลียนแบบนั้นง่าย แต่การคิดทำอะไรใหม่ ๆ เป็นการพาโลกให้เคลื่อนไปข้างหน้าจาก 0 ไป 1 ผลลัพธ์ที่ได้จึงแปลกประหลาด และไม่เคยมีมาก่อน การตักตวงผลประโยชน์จากธุรกิจเดิม ๆ จะนำพาไปสู่งทางตัน เส้นทางที่ดีที่สุดจึงต้องเป็นเส้นทางใหม่ ที่ไม่เคยมีใครเหยียบย่างมาก่อน

มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ตรงที่มีศักยภาพในการสร้างปาฏิหาริย์ และเรียกปาฏิหาริย์นั้นว่าเทคโนโลยี เพราะมันช่วยให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง และช่วยยกระดับความสามารถของมนุษย์ให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ หนังสือ Zero to One เป็นหนังสือที่ว่าด้วยการสร้างบริษัทที่สร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้รวบรวมความรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้เขียน เป็นต้นกำเนิดของหลักสูตรที่มีสอนในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อปี 2012

1.ความท้าทายแห่งอนาคต

อนาคตคือช่วงเวลาที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่ทำให้อนาคตสำคัญและมีความพิเศษก็คือมันเป็นช่วงเวลาที่โลกจะแตกต่างจากปัจจุบัน จาก 0 เป็น 1 อนาคตของความก้าวหน้าจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ หนึ่งความก้าวหน้าในแนวราบหรือกว้าง เป็นการเลียนแบบสิ่งที่ใช้ได้ดีอยู่แล้ว เป็นการเคลื่อนที่จาก 1 ไป n ความก้าวหน้าที่จินตนาการได้ง่าย สองความก้าวหน้าในแนวดิ่งหรือในทางลึก หมายถึงการทำสิ่งใหม่ ๆ เป็นการเคลื่อนที่จาก 0 ไป 1 ทำให้จินตนาการได้ยาก เพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ตัวอย่างเช่น มีเครื่องพิมพ์ดีด 1 เครื่องแล้วผลิตออกมาอีก 100 เครื่อง เป็นการสร้างความก้าวหน้าในแนวราบ ในระดับมหภาคเรียกโลกาภิวัฒน์ แต่ถ้าสร้างโปรแกรมพิมพ์งานขึ้นมา เป็นการสร้างความก้าวหน้าในแนวดิ่ง คำที่ใช้เรียกคือเทคโนโลยี ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ผู้คนต่างคาดหวังถึงความก้าวหน้า แต่น่าเสียดายที่มันไม่เกิดขึ้น สมาร์ตโฟนทำให้เลิกสนใจสภาพแวดล้อมรอบตัว มีแค่คอมพิวเตอร์และการสื่อสารเท่านั้น ที่มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด คนรุ่นนั้นไม่ได้คิดผิดที่จินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่า พวกเขาแค่คิดผิดต้องจินตนาการและสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ศตวรรษที่ 21 มีความสุขและเจริญไปมากกว่าศตวรรษที่ 20

วิธีคิดแบบสตาร์ตอัพ เทคโนโลยีใหม่มักเกิดจากความพยายามของกลุ่มคนที่ร่วมกันในรูปของสตาร์ตอัพ (startup) พวกเขารวมตัวกันเพื่อทำภารกิจที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น หากจะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างต้องร่วมมือกับคนอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาขนาดของกลุ่มให้เล็กพอจะบรรลุเป้าหมายได้

2.ฉลองให้สุดเหวี่ยงเหมือนเป็นปี 1999

จากคำถามที่ว่า “มีเรื่องอะไรบ้างที่สำคัญและเป็นความจริง แต่ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยกับคุณ” เป็นคำถามที่ตอบตรง ๆ ได้ยาก หากสามารถระบุความเชื่อผิด ๆ ที่คนส่วนใหญ่ยึดถือออกมาได้ ก็จะค้นพบความจริงที่สวนกระแสอยู่เบื้องหลัง คนที่สร้างอนาคตได้มักจะเชื่อในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่

ในช่วงยุค 90 ถือว่าเป็นยุคทองของกระแสดอตคอม ผู้คนมองอินเทอร์เน็ตเป็นความหวังที่มีการเติบโตอย่างไม่สิ้นสุด ทุกคนต่างมองโลกในแง่ดี การขาดทุนถูกมองว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่ยิ่งใหญ่และสดใสกว่า มีความหวัง ทำให้เหล่าบริษัทสตาร์ตอัพ ระดมทุนได้เป็นกอบเป็นกำ ราคาหุ้นเทคโนโลยีก็วิ่งขึ้นสูงเรื่อย ๆ สุดท้ายความเชื่อก็พังทลายลง เราต่างเรียกมันว่าปรากฎการณ์ฟองสบู่ดอตคอม เป็นกระแสความคลั่งไคล้อินเตอร์เน็ตในยุค 90 ซึ่งเป็นฟองสบู่ลูกใหญ่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีตล่มสลายเมื่อปี 1929

กระแสคลั่งไคล้เพย์พาล ที่มี Peter Thiel ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยความต้องการสร้างสกุลเงินเพื่อใช้ในอินเทอร์เน็ตแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยบริการส่งข้อมูลผ่านเครื่องปาล์มไพล็อตของตัวเองไปยังเครื่องของคนอื่น แต่โชคร้ายที่ไม่มีใครใช้เครื่องปาล์มไพล็อต แต่อีเมลล์เริ่มเป็นที่แพร่หลายแล้ว จึงเปลี่ยนมาสร้างวิธีชำระเงินผ่านอีเมลล์แทน ในปี 1999 ระบบก็เสร็จแต่ผู้ใช้ยังน้อยเกินไปจึงใช้วิธีจ่ายเงินให้กับคนที่สมัครใช้บริการแบบฟรี ๆ โดยมอบเงิน 10 ดอลลาร์ให้ทุกคนที่สมัคร และหากแนะนำเพื่อนมาสมัครก็จะได้รับอีก 10 ดอลลาร์ ทำให้เพย์พาลมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีค่าใช้จ่ายแบบก้าวกระโดดด้วย จึงเดินหน้าระดมทุนให้เร็วที่สุด พวกเขาคาดการณ์ว่ายุคเฟื่องฟูของดอตคอมกำลังจะสิ้นสุดลงด้วย เมื่อระดมทุนได้ 100 ล้านดอลลาร์สำเร็จ ในเดือนมีนาคมปี 2000 ช่วยชื่อเวลาให้แก่เพย์พาลได้ ทันทีที่ปิดการเจรจาและทำสัญญาเสร็จ วิกฤติฟองสบู่ดอตคอมก็แตกโพละลงในที่สุด

บทเรียนที่ได้จากวิกฤติในครั้งนี้ ทำให้เหล่านักธุรกิจสตาร์ตอัพได้รับคือ แนวคิดในการทำธุรกิจแบบใหม่ ที่ค่อย ๆ ก้าวไปข้างหน้า อย่ารีบร้อน คำนึงถือความปลอดภัย มีความยืดหยุ่น พัฒนาสิ่งที่คู่แข่งทำได้ดีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้ายอมรับ โฟกัสไปที่ตัวสินค้าบริการ ไม่ใช่เทคนิคในการขาย ใครที่ฝืนแนวคิดเหล่านี้จะพบวิกฤติแบบดอตคอมแน่นอน

แต่ Thiel ก็มีความคิดที่ตรงกันข้าม ด้วยแนวคิดนี้จำเป็นต่อการตามหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยแนวคิดที่ว่า จงกล้าเสี่ยงในสิ่งใหม่ ๆ ดีกว่าเสี่ยงในสิ่งที่ธรรมดาสามัญ แผนการที่แย่ยังดีกว่าไม่มีการวางแผนเลย การแข่งขันจะกัดกร่อนกำไรไปจนหมด เทคนิคการขายก็สำคัญพอ ๆ กับสินค้าบริการ

ความโลภและความบ้าบิ่นอาจทำให้เกิดฟองสบู่เทคโนโลยี แต่ทุกคนรู้สึกว่าพวกเขาต้องการเทคโนโลยีที่ดีกว่านี้ ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้มากกว่านี้ เราก็อาจต้องการพลังแบบนี้อีกครั้ง หากว่ากำลังตามหาเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกชิ้นต่อไปจริง ๆ

3.บริษัทที่มีความสุขล้วนแตกต่างกัน

ในแง่ทางธุรกิจ มีคำถามที่น่าคิดว่า “บริษัทแบบไหนที่มีคุณค่าสูงแต่ยังไม่มีใครสร้างขึ้น” ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยาก บริษัทที่ทำยอดขายได้ใหญ่โต ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างมูลค่าได้เยอะ ในขณะที่บริษัทซึ่งทำยอดขายไม่ได้เยอะมาก อาจสร้างมูลค่าได้มากกว่าก็ได้ ซึ่งธุรกิจที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องมียอดขายที่มาก  แต่ต้องเก็บกักคุณค่าให้ได้มาก ๆ เช่น ในปี 2012 Google สร้างรายได้อยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สามารถเก็บ 21 เปอร์เซ็นต์ของรายได้มาเป็นกำไร แต่มียอดขายต่ำกว่า US Airline สร้างรายได้อยู่ที่ 1.6 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3 เท่า แต่ทำกำไรได้เพียง 37 เซนต์ต่อลูกค้าหนึ่งคนเท่านั้น Google สามารถสร้างกำไรได้มากกว่าอุตสาหกรรมการบินรวมกันกว่า 100 เท่า ความแตกต่างก็คือ บริษัทการบินต้องแข่งขันกันเอง ในขณะที่ Google นั้นครองตลาด

การทำธุรกิจยังไงก็ต้องทำให้อยู่รอดในตลาดผูกขาดให้ได้ ผู้ผูกขาดตลาด (Monopoly) หมายถึงบริษัทที่ทำในสิ่งที่ทำอยู่ได้ดีมาก จนไม่มีบริษัทไหนเสนอสินค้าทดแทนได้ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ตัวอย่าง ในตลาดเสิร์ชเอนจิน ข้อมูลในเดือนพฤษภาคมปี 2014 ระบุว่า กูเกิลถือครองตลาดอยู่ 68 เปอร์เซ็นต์ บิงของไมโครซอฟท์ 19 เปอร์เซ็นต์ และยาฮู 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ใช่การสร้างความขาดแคลนจาการเป็นผู้ผลิตในตลาดเพียงเจ้าเดียว แต่เป็นการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าในตลาดนั้นได้ดีกว่าเจ้าอื่น ๆ ดึงจุดเด่นของตัวเองออกมา เพื่อบอกว่าเรานี่แหละแตกต่างและดีกว่าคนอื่น

ทุนนิยมบนฐานของการผูกขาด เราได้เห็นแล้วว่าการผูกขาดนั้นดีต่อทุกคนที่ทำธุรกิจ เพราะมันจะนำมาสู่การสร้างกำไรอย่างมหาศาล จากการที่ไม่ต้องแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งรายอื่น ซึ่งเงินจำนวนมากนั้นก็สามารถนำมาใช้เป็นเงินลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนา ในการทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหนือกว่าคู่แข่งไปเรื่อย ๆ มีเวลาที่จะวางแผนสร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้กับธุรกิจได้ในอนาคต ตรงกันข้ามกับบริษัทที่ล้มเหลว ที่ไม่สามารถสลัดตัวเองออกจากตลาดที่ต้องแข่งขันสูงได้ จะไม่สามารถโฟกัสอย่างอื่นได้เลยนอกจากการทำกำไร อาจจะไม่สนใจสภาพแวดล้อมการทำงาน สวัสดิการของพนักงาน หรือการคิดค้นอะไรใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์ในระยะยาวของบริษัทด้วยซ้ำ

4.อุดมการณ์ของการแข่งขัน

การผูกขาดที่สร้างสรรค์หมายถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน และทำกำไรให้กับผู้สร้างได้อย่างยั่งยืน ในโลกแห่งทุนนิยมนั้นถูกปลูกฝังเรื่องการแข่งขัน นับตั้งแต่ระบบการศึกษาที่วัดกันที่เกรดวิชา ไปจนถึงการแข่งขันของบริษัทยักษ์ใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรม การแข่งขันไม่ใช่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ หรือเป็นความท้าทายที่บริษัทต้องเผชิญ แต่เป็นอุดมกรณ์ที่ครอบงำสังคมาและบิดเบือนความคิดไปแล้ว

การแข่งขันเกิดจากความแตกต่างอย่างสุดขั้ว หรือความเหมือนกันอย่างสุดขีด ซึ่งการแข่งขันนั้นมักจะนำมาสู่การถดถอยของอัตราผลกำไร และการเจ็บตัวของคู่แข่งขันทุกรายในตลาด การแข่งขันเกิดจากเหตุผลสองประการจากสองทฤษฎีคือ คาร์ล มาร์กซ์ และเชกสเปียรส์

โดยคาร์ล มาร์กซ์บอกว่า คนเราต่อสู้กันก็เพราะความแตกต่างกัน เหมือนชนชั้นแรงงานกับชนชั้นกลาง ที่มีความคิดขัดแย้งกัน ยิ่งต่างกันมากเท่าไหร่ ความขัดแย้งก็มากขึ้นเท่านั้น

ในทางตรงกันข้ามเชกสเปียร์กล่าวว่า คนที่สู้กันนั้นมักจะมีความคล้ายคลึงกัน อย่างสองตระกูลใหญ่ซึ่งมีเกียรติยศเสมอกัน แต่พวกเขากลับเกลียดกัน จนสุดท้ายทั้งสองตระกูลจำไม่ได้แล้วว่าอะไรเป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งตั้งแต่แรก

ในโลกธุรกิจแนวคิดของเชกสเปียร์จะค่อนข้างตรง บริษัทที่อยู่ในการแข่งขันสูง ๆ มักจะโฟกัสไปที่บริษัทคู่แข่ง ไม่ว่าสินค้าหรือบริการก็จะต้องเชือดเฉือนกันไม่มีใครยอมใคร จนทำให้สูญเสียจุดแข็งของตนเองไป เพียงเพราะต้องการชนะคู่แข่งเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ กับ กูเกิล ดูเหมือนทั้งคู่ไม่น่ามาแข่งขันกันได้ เพราะเจ้าหนึ่งทำระบบปฏิบัติการ ส่วนอีกเจ้าหนึ่งก็ทำเสิร์ชเอนจิน เมื่อทั้งคู่ประกาศจะเป็นคู่แข่งกัน ต่างฝ่ายก็ต่างงัดบริการมาสู้กัน เช่น วินโดวส์สู้กับโครมโอเอส (ระบบปฎิบัติการ) บิงสู้กับกูเกิลเสิร์ช (เสิร์ชเอนจิน) เอ็กซ์พลอเรอร์สู้กับโครม (เบราว์เซอร์) ออฟฟิสสู้กับกูเกิลด็อกส์ (ชุดโปรแกรมสำนักงาน) และเซอร์เฟสสู้กับเน็กซัส (แท็บเล็ต) สุดท้ายแอปเปิลก็เข้ามาในปี 2013 แล้วกินเรียบทั้งคู่ด้วยมูลค่าตลาดที่ 5 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่กูเกิลและไมโครซอฟท์รวมกันมีเพียงแค่ 4.67 แสนล้านดอลลาร์ ถ้าย้อนกับไป 3 ปีก่อนหน้านั้น ทั้งสองมีมูลค่าสูงกว่าแอปเปิลมาก นี่เป็นผลของการสู้กันมากเกินไปมีต้นทุนสูงเหลือเกิน

การหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ดีทีสุดสามารถทำได้โดยการควบรวมหรือซื้อกิจการ แบบ เพย์พาลได้ตัดสินใจเข้าร่วมทุนกับบริษัท เอ็กซ์ดอตคอมของอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการแบบเดียวกัน เป็นการกำจัดคู่แข่งพร้อมกับการเพิ่มจำนวนฐานลูกค้า จนทำให้เพย์พาลเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ

5.ความได้เปรียบของผู้มาหลังสุด

เมื่อทำการหลบเลี่ยงการแข่งขันได้สำเร็จ อำนาจผูกขาดก็อยู่ในมือ แต่การผูกขาดจะกลายเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อมันยังดำรงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต ลองมาเปรียบเทียบระหว่างหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ กับแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์กัน สิ่งที่เหมือนกันของทั้งคู่คือ พวกเขามีพนักงานเป็นจำนวนมาก และทั้งคู่ยังให้บริการข่าวสารเหมือนกันอีกด้วย เมื่อทวิตเตอร์จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2013 มีมูลค่าสูงถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่านิวยอร์กไทมส์ถึง 12 เท่า ทั้งที่ในปีก่อนหน้านั้นนิวยอร์กไทมส์มีกำไร 133 ล้านดอลลาร์ ในปี 2012 ซึ่งในขณะที่ทวิตเตอร์ยังขาดทุนอยู่เลย

คำถาม ทวิตเตอร์มีมูลค่ามหาศาลได้อย่างไรกัน ? คำตอบ คือ กระแสเงินสด ความยิ่งใหญ่ของธุรกิจนั้นตัดสินกันที่ศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดในอนาคต นักลงทุนคาดหวังกับกำไรจากการผูกขาดในทศวรรษหน้า แม้ตอนนี้ยังทำกำไรไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม บริษัทธุรกิจดั้งเดิมสามารถสร้างกำไรได้ในปัจจุบันและอนาคตอันสั้น แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจถูกเทคโนโลยีเข้ากลืนอย่างเต็มตัว ทำให้เสียตลาดไปก็ได้ ฉะนั้น การโฟกัสที่เป้าหมายระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่ามองแต่ตัวเลขผลประกอบการระยะสั้น ให้ถามคำถามสำคัญว่า บริษัทแห่งนี้จะยังคงอยู่ในอีกสิบปีข้างหน้าหรือไม่ ? จึงต้องวิเคราะห์ธุรกิจในเชิงคุณภาพด้วยจึงจะรู้

คุณสมบัติของผู้ผูกขาดมีดังนี้

1.มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง สิ่งนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นอาวุธสำคัญเลยก็ว่าได้ เพราะมันทำให้คนอื่นเลียนแบบได้ยากหรือไม่ได้เลย เช่น เสิร์ชเอนจินของกูเกิล ที่ให้ผลลัพธ์ในการค้นหาได้ดีกว่าของทุกบริษัท และเทคโนโลยีต้องดีกว่าเทคโนโลยีใกล้เคียงอย่างน้อย 10 เท่า หากทิ้งห่างน้อยกว่านั้นจะเป็นเพียงแค่การพัฒนาเล็กน้อย ถ้าให้ดีที่สุดง่ายที่สุดคือสร้างของใหม่ไปเลย

2.ใช้พลังของเครือข่าย พลังของเครือข่ายทำให้น่าใช้ยิ่งขึ้น การสร้างเครือข่ายผู้ใช้งานที่ยิ่งคนใช้กันเยอะ ก็จะยิ่งดึงดูดให้คนอื่นมาใช้มากขึ้น เช่น ถ้าเพื่อนใช้เฟซบุ๊กกันทุกคน เราก็มีแนวโน้มจะสมัครใช้เฟซบุ๊กด้วย บริษัทที่อาศัยพลังของเครือข่ายควรจะเริ่มกับตลาดเล็ก ๆ ก่อน เช่น เฟซบุ๊กเริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษาฮาร์วาร์ดจำนวนแค่หยิบมือ ไม่ได้ตั้งใจจะให้บริการกับคนทั่วโลกตั้งแต่แรก

3.มีความได้เปรียบจากขนาด ธุรกิจผูกขาดจะแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะสามารถถึงจุดที่ขยายขนาดได้เท่าไหร่ต้นทุนก็ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากได้จ่ายค่าต้นทุนคงที่ไปหมดแล้ว การจะสร้างซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชุดนั่นไม่ได้กินต้นทุนอะไรมากเลย หลายธุรกิจไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อขยายแล้วต้นทุนก็เพิ่มขึ้นตาม หากขยายสาขาได้ก็จริง แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่าเพิ่ม จ้างคนเพิ่ม ชื้ออุปกรณ์เพิ่ม จ่ายค่าไฟ – ค่าน้ำเพิ่ม เป็นต้น ทำให้กำไรไม่สามารถพุ่งสูงได้เท่าไรนัก

4.มีการสร้างแบรนด์ การมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งก็เป็นวิธีสร้างอำนาจผูกขาดที่มีประสิทธิภาพ สามารถมอบมูลค่าทางจิตใจให้ลูกค้าได้ เช่น แอปเปิลมีภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์แบบมินิมัล การให้บริการลูกค้าอย่างใกล้ชิด จึงสามารถทำให้ผู้คนทั่วโลกซื้อสินค้าได้ทั้ง ๆ ที่ราสูงมากจนทำให้แอปเปิลได้กำไรต่อการขายหนึ่งเครื่องเยอะมาก ๆ

การสร้างอำนาจผูกขาด ทำได้โดย เริ่มจากเล็ก ๆ แล้วผูกขาด การเข้าหาคนไม่กี่พันคนที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริงนั้นง่ายกว่าการพยายามแข่งกันเรียกร้องความสนใจจากคนเป็นล้าน ๆ คน ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ควรหาตลาดที่มีคนกลุ่มเล็ก ๆ เลือกตลาดเฉพาะที่ธุรกิจสามารถครอบครองตลาดนั้นได้ จากนั้นขยายขนาดเมื่อยึดครองตลาดขนาดเล็กได้แล้ว ขยายไปยังตลาดใกล้เคียง สุดท้ายอย่าสร้างความปั่นป่วน ในซิลิคอนวัลเลย์หมกมุ่นกันมากกับคำว่า Disrupt มันคือการสร้างการแข่งขันขึ้นนั่นเอง ทางที่ดีควรโฟกัสการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ต่างหาก ทางที่ดีคือการส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น เพย์พาลที่ไม่ได้กินส่วนแบ่งของ VISA แต่ไปช่วยสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้นั่นเอง

สิ่งสำคัญของการเป็นเจ้าตลาดผูกขาด ไม่ใช่การเข้ามาเป็นคนแรก ซึ่งการเข้ามาเป็นคนแรกนั้นดีแน่ แต่ถ้ามาแล้วไม่มั่นคง มีคู่แข่งอื่น ๆ ที่ตามมาแล้วเอาชนะได้ การเข้ามาเป็นคนแรกก็ไม่เป็นผล จะดีไหมถ้าหากก้าวเข้ามาเป็นคนสุดท้าย แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เป็นคนสุดท้าย แล้วคงอยู่ให้ได้นานที่สุด

6.คุณไม่ใช่ลอตเตอรี่

อาจได้ยินคนประสบความสำเร็จพูดถ่อมตัวว่าเพราะโชคดี เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมาก ซึ่งอนาคตเป็นเรื่องของโชคหรือการออกแบบกันแน่ การประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งอาจมาจากโชค พร้อมกับการวางแผนไว้ดี มีความพยายามมากพอ มองเห็นอนาคตที่ชัดเจน รู้ว่าจะต้องทำอะไรด้วย ทุกคนควรเห็นพ้องกันว่าควรทำสิ่งที่ทำได้ ไม่ใช่จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำไม่ได้ จึงต้องสร้างโชคชะตาของตัวเองขึ้นมาด้วย

การพิจารณาอนาคตจะได้มุมมอง 4 แบบดังนี้

1.มองโลกในแง่ร้ายและเห็นอนาคตไม่แน่นอน เชื่อว่าอนาคตจะแย่ลง แต่ไม่รู้ว่าจะแย่ยังไง ก็เลยทำอะไรก็ได้เพียงแค่พยุงไม่ให้มันแย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ เปรียบเหมือนยุโรปในปัจจุบันที่มีปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหานอกจากการเก็บออม

2.มองโลกในแง่ร้ายและเห็นอนาคตแน่นอน เชื่อว่าอนาคตจะแย่ลง รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นแน่นอน จึงหาทางเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เปรียบเหมือนจีนที่พัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด แต่ก็รู้ดีว่าทรัพยากรที่มีไม่สามารถรองรับการเติบโตมาก ๆ เหล่านั้นได้

3.มองโลกในแง่ดีและเห็นอนาคตแน่นอน เชื่อว่าอนาคตจะดีขึ้น รู้ว่ามันสามารถดีขึ้นในเชิงไหนได้ จึงวางแผนล่วงหน้าและทำตามแผน เปรียบเหมือนอเมริกาในยุคเฟื่องฟูในปี 50 ถึง 60 ที่มีการสร้างเมืองอย่างจริงจัง ส่งคนไปดวงจันทร์และอีกมากมาย

4.มองโลกแง่ดีและเห็นอนาคตไม่แน่นอน เชื่อว่าอนาคตจะดีขึ้น แต่ไม่รู้หรอกว่าจะดีขึ้นยังไง เลยลองทำไปให้หมด น่าจะถูกหวยสักอัน ซึ่งเป็นภาวะปัจจุบันของอเมริกา และชนชั้นกลางจากทั่วโลก เตรียมพร้อมพัฒนาชีวิตตัวเอง แต่ไม่มีแผนและนวัตกรรมดี ๆ เพื่ออนาคต

หากมองว่าอนาคตเป็นสิ่งแน่นอน การทำความเข้าใจล่วงหน้าและลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อให้มันเป็นไปตามที่ต้องการ ย่อมเป็นเรื่องสมเหตุสมผล มันจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่จะทำอะไรอย่างหนักแน่น เพราะจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและจะทำสิ่งนั้นเพียงอย่างเดียว ก็เปรียบเสมือนเรามีเป้าหมายและวางแผนระยะยาว ระยะสั้นไปพร้อมกัน

แต่หากมองว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนคลุมเครือ ไร้แบบแผน ก็อาจจะไม่อยากที่จะทำอะไรกับมัน เมื่อไม่มีแผนการที่ชัดเจนในการใช้ชีวิต ก็พยายามทำให้ตัวเองมีทางเลือกมาก ๆ เข้าไว้ แต่ปัญหาก็คือ ไม่รู้ว่าพร้อมสำหรับอะไร เป้าหมายไม่มีแล้วจะมีแผนการได้อย่างไร

ฉะนั้น มันไม่ใช่ลอตเตอรี่ที่จะมามัวแต่มองโลกในแง่ดี ที่อยู่ในอนาคตที่ไม่แน่นอน อย่ามัวแต่เฝ้ารอลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะถูกรางวัลสักวัน จงอย่าทำตัวเองให้อยู่ในโลกแบบนี้เด็ดขาด การก่อตั้งบริษัทเป็นความพยายามครั้งใหญ่สุดที่สามารถควบคุมได้ โดยจะไม่เพียงกุมชะตาชีวิตของตัวเองเท่านั้น ยังสามารถสร้างผลกระทบต่อโลกใบนี้ได้อีกด้วย

7.ตามรอยเงินไป

สิ่งที่ตอกย้ำพลังของการเติบโตแบบทวีคุณให้มีน้ำหนักมากขึ้นไปอีกนั่นคือ อย่าประมาทพลังของการเติบโตแบบทวีคูณ ในปี 1960 นักเศรษฐศาสตร์ชื่อวิลเฟรโต พาเรโต ได้ค้นพบสิ่งที่กลายมาเป็นหลักการพาเรโต หรือกฎ 80-20 อันว่าด้วย 20 เปอร์เซ็นต์ของบางสิ่งบางอย่างนั้นส่งผลถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของบางสิ่งบางอย่างนั้นส่งผลเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

การลงทุนที่มุ่งเน้นไปที่การกระจายความเสี่ยงผ่านการลงทุนที่หลากหลาย ถึงแม้จะเป็นวิธีการป้องกันความเสี่ยงที่ดี แต่นั่นก็ไม่สามารถทำผลของการลงทุนให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ ในแวดวงสตาร์ตอัพนั้น บริษัทที่มาหนุนหลังคือ Venture Capital (VC) ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งหวังผลตอบแทนและกำไรจากการลงทุนในสตาร์ตอัพที่เพิ่งเริ่มต้น วิธีการก็คือ พวกเขาจะรวบรวมเงินจากสถาบันและเศรษฐีมาอยู่ในกองทุน ซึ่งกองทุนนี้ก็จะไปลงทุนในสตาร์ตอัพที่พวกเขาเชื่อว่าในอนาคตจะต้องรุ่งแน่นอน แต่ปัญหาก็คือไม่ใช่ทุกสตาร์ตอัพที่จะประสบความสำเร็จ หลาย ๆ แห่งขาดทุนและต้องพับกิจการกันไป เมื่อเป็นแบบนั้นนักลงทุนก็ซวยไปด้วย

ดั้งนั้นจึงต้องพิจารณาบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนให้ดี โดยดูว่ามันสอดคล้องกับความเสี่ยงหรือไม่ อย่าให้การลงทุนที่ดีเปรียบเหมือนการซื้อลอตเตอรี่ นั่นหมายถึงว่าต้องเตรียมใจไว้ว่าอาจจะถูกกินได้เสมอ

เหตุที่มองไม่เห็นกฎการยกกำลังก็เพราะว่ามันต้องใช้เวลา และปัญหาของนักลงทุนส่วนใหญ่ก็มักจะสนใจในเรื่องปัจจุบันเท่านั้น จะใช้กฎการยกกำลังอย่างไร กฎการยกกำลังไม่ได้สำคัญเฉพาะนักลงทุนเท่านั้น เพราะมันสำคัญกับพวกเราทุกคนด้วย แต่ชีวิตเราไม่ใช่พอร์ตการลงทุนที่จะมาใช้กฎการกระจายความเสี่ยงได้ แต่ก็แปลกมากว่าระบบการศึกษากลับสอนไปในทางตรงกันข้าม เพราะมักจะถ่ายทอดความรู้ที่เหมือน ๆ กันหมด ไม่ว่าจะในระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ที่ฝึกให้เราเป็นเลิศในทุกสิ่งที่ทำ จึงมีคำพูดที่ว่า “ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะทำอะไร ตราบใดที่คุณทำสิ่งนั้นได้ดี” แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ เพราะสิ่งที่ทำนั้นมีความสำคัญมาก จริงอยู่ที่ควรจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ดีอย่างไม่ลดละ แต่ก่อนจะทุ่มเทกับสิ่งใด จงคิดให้หนักว่ามันจะมีคุณค่าต่ออนาคตหรือไม่

8.ความลับ

ทุกแนวคิดที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในทุกวันนี้ ล้วนเคยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน แม้ความจริงกระแสหลักอย่างความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์จะมีความสำคัญ แต่มันก็ไม่ช่วยให้มีความได้เปรียบหรอก เพราะมันไม่ใช่ความลับ การที่ทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ มันก็เหมือนกับว่าเราค้นหาความลับบางอย่างเจอ จึงอยากจะทำมันและประกาศให้ผู้อื่นได้รู้ซึ่งความลับ การก้าวกระโดดจาก 0 ไป 1 ก็เปรียบเสมือนการที่ค้นเจอความลับอันยิ่งใหญ่ ความลับที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน ในโลกนี้สามารถแบ่งความเข้าถึงได้ออกเป็น 3 ระดับคือ

1.สิ่งที่รู้แล้ว ระดับง่าย เป็นเป้าหมายที่สามารถบรรลุได้โดยไม่ต้องพยายามมาก นี่จะง่ายไปใคร ๆ ก็ทำได้ เผลอ ๆ คงทำกันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว

2.ความลับ ระดับยาก เป้าหมายที่บรรลุได้โดยใช้ความพยายามใหญ่หลวง จะเห็นได้ว่าโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ในยุคนี้ดูเหมือนว่าคนจะเริ่มไม่ค่อยกระตือรือร้นกับการตามหามากเท่าไร นั่นก็เพราะทุกคนคิดว่าความลับบานโลกนี้ถูกเปิดเผยไปหมดแล้ว ดูง่าย ๆ แทบจะทุกหย่อมหญ้าบนโลกใบนี้ ถูกสำรวจมาหมดแล้ว สูตรทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ นานาก็ถูกแก้ได้หมดแล้ว

3.ความลี้ลับ ระดับเป็นไปไม่ได้ เป้าหมายที่ไม่มีทางบรรลุได้ ไม่ว่าจะพยายามสักเท่าใดก็ตาม

ซึ่งความลับในที่นี้หมายถึง ตลาดที่เรายังมองไม่เห็น ปัญหาที่กำลังรอเราไปแก้ไข และโอกาสที่กำลังรอเราไปพบ นอกจากเรื่องของภูมิศาสตร์แล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากแนวโน้มทางสังคม 4 อย่างด้วยกันที่ทำให้เป็นแบบนี้ คือ

1.การทำอะไรแบบค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่เด็กเราถูกสอนให้ค่อยเรียนไปตามลำดับ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กขยันที่อ่านหนังสือล่วงหน้า เรียนอะไรที่ไม่ได้ออกสอบ เราก็ไม่ได้ถูกสรรเสริญเยินยออะไรมากไปกว่าการได้เกรด A ด้วยเหตุนี้มันจึงหล่อหลอมให้เรากลายเป็นพวกที่ทำอะไรตาม ๆ กัน ทำในสิ่งที่ถูกคาดหวังไว้ ไม่กระหายที่จะอยากรู้ไปมากเกินความจำเป็น

2.การเกลียดชังความเสี่ยง ไม่กล้าเสี่ยง ไม่มีใครอยากโดดเดี่ยวเดียวดายกับแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเป็นแนวคิดที่ลองทำแล้วผิดพลาด บางทีการไม่ลงมือทำอะไรเลย ยังจะรู้สึกดีซะกว่าการลงมือทำแล้วผิดพลาด

3.ความพอใจในสภาพที่เป็นอยู่ ปัญญาชนหลายคนอยู่ในสถานะที่มีอิสระสามารถค้นหาอะไรใหม่ ๆ ได้ แต่พวกเขาก็ไม่ทำ เพราะอยู่เฉย ๆ ก็สบายดีอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องไปหาความท้าทายใหม่เลย

4.ความแบนราบ เมื่อกระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้โลกเราแบนลง โลกเรากลายเป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งของค้าขายกฤมีการแข่งขันกันสูง คนที่พอเริ่มจะมีไอเดียใหม่ ๆ อาจเริ่มถามตัวเองว่า ไอเดียนี้จะไม่มีใครเอาไปแล้วจริง ๆ ซึ่งกลายเป็นการสกัดดาวรุ่งตัวเอง

โลกที่ไร้ความลับ ผู้คนจะเข้าใจเรื่องความยุติธรรมอย่างถ่องแท้ ความอยุติธรรมจะคงอยู่ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่เห็นว่ามันผิด เมื่อโลกนี้ไม่มีความลับหลงเหลือก็หมายความว่าเราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ไม่มีความอยุติธรรมซุกซ่อนอยู่เลย ในทางเศรษฐกิจการไม่เชื่อความลับจะทำให้ตลาดไร้ประสิทธิภาพ ทำให้เกิดฟองสบู่ในวงการเงิน จนกลายเป็นวิกฤติต่าง ๆ ที่ผ่านมาหลายระลอกแล้ว

ความลับที่เหลืออยู่ จะไม่มีทางค้นพบความลับถ้าหากไม่พยายามมองหามัน การเชื่อว่าโลกยังมีความลับอยู่เป็นมุมมองที่ทรงพลังมาก ซึ่งความจริงยังมีความลับอีกมากมายที่รอคอยการค้นพบ มันจะเผยโฉมกับผู้ที่ค้นหาอย่างไม่ลดละ มีวิธีค้นหาความลับอย่างไร ต้องเข้าใจเรื่องความลับกันก่อน ความลับนั้นมี 2 ประเภทคือ ความลับของธรรมชาติ กับความลับของผู้คน และเพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าจะสร้างบริษัทแบบใด คำถามสำคัญสองข้อที่ต้องถามตัวเอง คือ ธรรมชาติมีความลับใดที่ยังไม่ได้บอกให้คุณรู้ และผู้คนมีความลับใดที่ยังไม่ได้บอกคุณ

บนโลกธุรกิจยังมีความลับที่กำลังรอให้เราไปค้นพบ ฉะนั้น หาให้เจอแล้วสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการขึ้นมา พร้อมทั้งจัดตั้งบริษัทเพื่อประกาศให้คนรู้ว่าเราค้นพบความลับบางอย่าง ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคุณ

จะทำอย่างไรกับความลับ เมื่อรู้ความลับแล้วก็ต้องเลือกเอาว่าจะบอกคนอื่นหรือเก็บไว้เอง คำตอบขึ้นอยู่กับความลับนั้นเอง เพราะความลับบางเรื่องอาจเป็นอันตรายได้ การบอกทุกเรื่องที่รู้ไม่ใช่ความคิดที่ดี หนังสือเล่มนี้แนะนำว่าให้บอกแค่เฉพาะคนที่จำเป็นต้องรู้จริง ๆ เท่านั้นก็พอ หรือนั่นก็คือเพื่อนร่วมทีมของเรานั่นเอง

9.รากฐาน

บริษัทที่ยิ่งใหญ่ทุกแห่งล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่มีบางสิ่งที่ทุกบริษัทต้องทำให้ถูกต้อง นั่นคือการวางรากฐานให้ดี เพราะการสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับบริษัทเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหุ้นส่วน การจัดตั้งบริษัท ระบบการบริหารงานต่าง ๆ และการให้ค่าตอบแทน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการที่ผลักดันธุรกิจจาก 0 ไป 1 ได้ สิ่งที่ควรจัดการตั้งแต่แรกเริ่มนั้นก็เช่น

การเลือกคู่ การก่อตั้งบริษัทก็เหมือนกับการแต่งงาน ควรดูว่ามีคนเก่งที่เข้ากับคุณได้ไหม และก็ต้องมีโครงสร้างที่จะช่วยให้ทุกคนเดินหน้าไปในทิศทางที่สอดคล้องกันในระยะยาว ถ้าเกิดมีการบาดหมางกัน สิ่งที่ซวยก็คือบริษัท แต่ส่วนใหญ่ช่วงแรกเริ่มก็ไม่มีใครอยากจะคิดว่าจะเกิดอะไรไม่ดีขึ้น ก็เลยอาจจะเกิดข้อผิดพลาดของการเลือกทำทีมผิดคนได้ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจ 3 แนวคิดต่อไปนี้

1.ความเป็นเจ้าของ คนที่ถือหุ้นบริษัท

2.การบริหารงาน คนที่ทำงานในทุก ๆ วันให้บริษัทยังไปต่อได้

3.การควบคุม คนที่ดูแลภาพรวมของบริษัทอีกที

บริษัทใหญ่ ๆ ซีอีโอจะถือหุ้นน้อยมาก เขาจึงมีแรงจูงใจเรื่องค่าตอบแทนในแง่มุมของการบริหารงานมากกว่าความเป็นเจ้าของ เพียงทำให้ตัวเลขผลประกอบการดูดีเข้าไว้ เขาก็จะได้ค่าตอบแทนก้อนโต หากพวกเขาถือหุ้นไว้มาก ก็คงจะจดจ่อกับการลดต้นทุน เพราะมันง่ายกว่าและเห็นผลมากกว่าการวางแผนเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่ม ส่วนคณะกรรมการคนมีจำนวนน้อยยิ่งดี เหมาะสมที่สุดคือ 3 อย่างมากที่สุดคือ 5 คน เพราะจะช่วยให้การสื่อสาร การหาข้อสรุป และการกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กฎพื้นฐานในการเลือกผู้ร่วมทางคือ ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมแบบเต็มเวลา เพราะเมื่อใดก็ตามที่ทุกคนไม่ได้ทำงานร่วมกันเต็มเวลาในสถานที่เดียวกันเป็นประจำทุกวัน จะเป็นการเปิดโอกาสให้ความไม่สอดคล้องแทรกซึมเข้ามาได้ทันที ในการตัดสินใจว่าจะรับใครเข้ามาร่วมทาง มีทางเลือกอยู่ 2 ทางนั่นคือ จะล่มหัวจมท้ายไปด้วยกัน หรือจะไม่ลงเรือเลยตั้งแต่แรก

เงินสดไม่ใช่ทุกอย่าง การให้เงินสดนั้นเป็นเหมือนการให้รางวัลระยะสั้น พนักงานที่ทำงานเต็มเวลาก็ได้เงินเดือนทุกเดือน แม้ว่าบางเดือนจะไม่ได้ทำอะไรน่าตื่นเต้นนัก โบนัสดีขึ้นมาหน่อยตรงที่อิงกับผลงานของแต่ละคน แต่ภาพรวมเมื่อให้เงินสดเยอะ ๆ ก็เหมือนตัวล่อให้พนักงานคว้าผลประโยชน์ระยะสั้นเอาไว้ แทนที่จะโฟกัสกับการสร้างมูลค่าระยะยาวให้บริษัท

สตาร์ตอัพไม่จำเป็นต้องให้เงินเดือนสูง ๆ ก็ได้ เพราะสามารถให้หุ้นบางส่วนไปเลย สิ่งนี้แหละจะช่วยกระตุ้นให้พนักงานอยากทำให้บริษัทดีขึ้น เพิ่มมูลค่าระยะยาวให้แก่บริษัท เพื่อที่ราคาหุ้นที่ตนถือนั้นจะได้มีมูลค่าสูงขึ้นตามไปนั่นเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย ในเรื่องการจัดสรรปันส่วนว่าใครวรได้กี่เปอร์เซ็นต์ จะบอกว่าคนมาก่อนควรได้เยอะกว่าก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะพวกเขาอยู่มานานกว่า เจอความท้าทายมาเยอะกว่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรมองข้ามคนที่มาใหม่ บางทีคนมาใหม่อาจสร้างมูลค่าได้มากกว่าคนที่อยู่มานานก็ได้ การให้หุ้นเท่า ๆ กันทุกคนเป็นเรื่องทีไม่แฟร์ การให้แต่ละคนได้ไม่เท่ากันก็ดูไม่แฟร์เช่นกัน ดังนั้นการจัดสัดส่วนหุ้นจึงไม่ควรประกาศออกไปโต้ง ๆ ให้เห็นกันทุกคน ก็เหมือนเงินเดือนควรให้รู้แค่ของตัวเองก็พอ

10.กลไกของมาเฟีย

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ๆ มักจะนึกถึงสวัสดิการต่าง ๆ หรือออฟฟิศสวย ๆ แต่ทว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่มีประโยชน์เลย หากทุก ๆ คนในบริษัทไม่ได้เชื่อมั่นในสิ่งเดียวกัน ไม่ชอบทำงานด้วยกัน เกลียดการไปทำงานในทุก ๆ วัน ดังนั้นการสร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กรจะต้องมาก่อน และจะต้องเริ่มตั้งแต่การรับสมัครพนักงานใหม่เลย

มาเฟียเพย์พาล คือชื่อเรียกกลุ่มอดีตผู้ก่อตั้งเพย์พาล ที่ตอนนี้ต่างแยกย้ายกันไปสร้างบริษัทของตัวเองกันหมดแล้ว พวกเขาทำงานได้ดีทั้งตอนที่ทำงานด้วยกัน หรืแม้กระทั่งแยกกันไปทำบริษัทของตัวเอง การทำงานที่เพย์พาลมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ไม่ใช่คุยกันแต่เรื่องงาน มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ทำให้มีความสุขในการทำงาน ทำให้ทำงานได้ดีขึ้น และประสบความสำเร็จในอาชีพ ดังนั้น จึงควรเลือกรับแต่คนที่จะมีความสุขในการทำงานร่วมกัน เป็นคนเก่ง และตื่นเต้นที่จะได้มาทำงาน จึงจะสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวแม้ออกจากบริษัทไปแล้ว

ทีมที่ดีนั้นควรจะมีสมาชิกที่คลั่งไคล้ในสิ่งเดียวกัน เชื่อในสิ่งเดียวกัน สามารถหาเรื่องพูดคุยกันได้มากมาย โดยเฉพาะสตาร์ตอัพเพราะมีจำนวนคนน้อย ทุก ๆ คนจึงควรจะแชร์มุมมองแบบเดียวกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ถ้าคุณอยากให้บริษัทเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าพนักงานใหม่จะมีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นเช่นไร หรือว่าพวเขามาจากประเทศไหน ขอเพียงแค่พวกเขามีความหมกมุ่นไม่แพ้กันก็พอ

11.ถ้าคุณสร้างมันขึ้นมา เดี๋ยวก็มีคนซื้อ

ถึงแม้การขายจะเป็นสิ่งที่พบได้ทุกหนทุกแห่ง แต่คนส่วนใหญ่ประเมินถึงความสำคัญของมันต่ำเกินไป หลักการขายที่ดีนั้นคือ การขายที่ถูกซ้อนเร้น เพื่อให้คนซื้อไม่รู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกขาย  พวกเนิร์ดกับนักขาย โดยเฉพาะคนทำงานฝั่งเทคโนโลยี อาจไม่เชื่อว่าลีลาการขายหรือโฆษณาเท่ห์ ๆ จะมีประโยชน์ พวกเขาเชื่อว่าถ้าสินค้าดีเดี๋ยวก็ขายได้เอง แต่โลกความจริงไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะแม้ว่าสินค้าจะดีแค่ไหน แต่ช่องทางการจำหน่ายไม่ดี การขายไม่ดี ก็ย่อมไม่สามารถถึงมือลูกค้าที่เล็งไว้ได้

ต้องขายอย่างแนบเนียน นักขายทุกคนล้วนเป็นนักแสดง งานหลักของพวกเขาคือการชักจูง ไม่ใช่การแสดงความจริงใจ ถือว่าเป็นทัศนคติที่ไม่ดีต่อการขาย เราจะรู้สึกไม่ดีกับนักขายจอมตื้อเท่านั้น คนพวกนี้เป็นแค่นักขายปลายแถว เราจะขายผลิตภัณฑ์อย่างไร เพื่อให้คนซื้อไม่รู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกหลอก หรือถูกเอาเปรียบ จึงมีวิธีการขายที่ดีซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 วิธีหลักอันได้แก่

1.การขายแบบซับซ้อน การขายประเภทนี้มีมูลค่าหลานสิบล้านดอลลาร์ อาจจะเป็นการขายให้รัฐบาลใช้ ให้องค์กรใหญ่ ๆ ใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือ CEO เป็นคนขาย ซึ่งต้องใส่ใจเรื่องรายละเอียดเป็นพิเศษ ขายได้เต็มที่ปีละครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น และหลังการขายเสร็จสิ้นก็ต้องดูแลการติดตั้ง การให้บริการไปอีกนาน ตัวอย่างเช่น Space X ที่ขายจรวดให้ NASA ใช้

2.การขายแบบประกบตัว การขายแบบนี้มีมูลค่าประมาณ หลักหมื่นถึงแสนดอลลาร์ ซึ่ง CEO ไม่ต้องไปขายเอง ความท้าทายคือการสร้างทีมขายยังไงให้ประสบความสำเร็จ การขายประเภทนี้อาจเหมาะกับสินค้าบริการที่เฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่มเป้าหมาย ไม่ต้องโฟกัสที่ลูกค้ารายใหญ่มากเกินไป

3.เขตอันตรายในการขาย การขายงานมูลค่ากลาง ๆ ไม่คุ้มค่าในการส่งพนักงานขาย ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดอันตราย เพราะสินค้าบริการอยู่ในประเภทที่สาดโฆษณาไปเยอะ ๆ ก็ไม่คุ้ม จะมีมูลค่าประมาณหนึ่งพันดอลลาร์ และมีลูกค้าเฉพาะกลุ่มอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น ซอฟท์แวร์ช่วยขายที่ออกแบบมาสำหรับร้านสะดวกซื้อขนาดกลาง-เล็ก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางทีสิ่งที่ SME ใช้กับสิ่งที่บริษัทใหญ่ ๆ ใช้ถึงต่างกัน

4.การตลาดและการโฆษณา เป็นการทำตลาดที่ส่งผลต่อผู้คนจำนวนมาก มูลค่าสินค้าประมาณหนึ่งร้อยดอลลาร์ เป็นสินค้าราที่ไม่แพง จะใช้การตลาดให้ได้ผลโดยเจาะตลาดแบบวงกว้าง เป็นวิธีการขายที่เราต่างคุ้นเคยกันดี คือการโฆษณาตามโทรทัศน์ ลงแบนเนอร์ตามหนังสือพิมพ์ แจกคูปอง เป็นต้น ส่วนใหญ่บริษัทที่ใช้จะเป็นพวกที่ขายของอุปโภคบริโภคเป็นส่วนใหญ่ สตาร์ตอัพอาจต้องระวังการสาดงบตรงนี้ เพราะเป็นการยากที่จะไปสู้เจ้าใหญ่ ๆ

5.การตลาดแบบไวรัล เป็นการตลาดที่คุ้นเคยกันมากในสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอเท่ห์ ๆ มีมฮา ๆ หรือคอนเทนต์ที่คนแชร์กันเยอะ ๆ ซึ่งการตลาดประเภทนี้เป็นวิธีดังลูกค้าที่ถูกที่สุด เฟซบุ๊กกับเพย์พาลก็ไว้วิธีนี้เหมือนกัน ใครทีใช้แพลตฟอร์มนี้จะต้องบอกต่อเพื่อน เกิดเป็นเครือข่ายกว้างต่อไปเรื่อย ๆ

กฎการยกกำลังของการกระจายสินค้า สำหรับบริษัทแต่ละแห่งจะมีอยู่วิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีอื่น ไ ที่เหลือ การทำมันทุกทางนั้นไม่ได้ผลหรอก ถ้าหากมีช่องทางกระจายสินค้าที่ประสบความสำเร็จแม้เพียงช่องทางเดียว ธุรกิจของคุณก็จะไปได้สวยแล้ว แต่ถ้าลองหลายอย่างแล้วยังไม่ก็ต้องจบเห่อย่างแน่นอน

การขายให้ผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้า สิ่งที่ต้องขายไม่ได้มีแค่ผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังต้องขายบริษัทให้กับพนักงานและนักลงทุนด้วย จึงต้องอาศัยการวางแผนบุคลากรและการนำเสนอบริษัทอย่างรอบคอบ

ใคร ๆ ก็ต้องขาย ทุกคนมีสิ่งที่ต้องขาย ไม่ว่าบริษัทของคุณมีแค่ตัวคุณกับคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็ตาม หากมองไปแล้วไม่เห็นพนักงานขายก็ไม่ต้องตกใจไป พนักงานขายที่ว่าก็คือคุณนั่นแหละ

12.คน VS คอมพิวเตอร์

ในขณะที่อุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มถึงจุดอิ่มตัว แวดวงไอทีกลับก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนเริ่มกลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแย่งพื้นที่การทำงานของมนุษย์ เทคโนโลยีที่ดีนั้นจะเข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ในงานที่ต้องทำซ้ำ และใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยเปิดโอกาสให้คนทำงานต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นต่างหาก ไม่ได้เกิดมาเพื่อแข่งขันกับมนุษย์ ซึ่งคอมพิวเตอร์กับมนุษย์นั้นมีจุดแข็งที่ต่างกัน คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลข้อมูลมหาศาลได้ แต่มนุษย์สามารถตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อนเฉพาะกิจได้

คอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วยของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งทดแทน ธุรกิจที่มีคุณค่าสูงสุดในอีกหลายสิบปีข้างหน้า จะถูกสร้างขึ้นโดยผู้ประกอบการที่แสวงหาวิธีเพิ่มศักยภาพให้มนุษย์ ไม่ใช่ลดความสำคัญของมนุษย์ลง ประเด็นระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ว่าใครจะเก่งกว่าหรือด้อยกว่า เพราะเราไม่ควรนำมนุษย์กับคอมพิวเตอร์มาแข่งกันตั้งแต่แรกแล้วต่างหาก คอมพิวเตอร์เป็นเพียงเครื่องมือไม่ใช่คู่แข่ง

จริง ๆ แล้วการมีคอมพิวเตอร์มากขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาในตัวมันเอง ไม่เหมือนเวลาที่แรงงานหรือประชากรเพิ่มขึ้น เพราะมันไม่แก่งแย่งงานกันเหมือนแรงงานมนุษย์ และมันยังไม่แย่งชิงทรัพยากรกันด้วย สิ่งที่คอมพิวเตอร์ต้องการก็แค่ไฟฟ้าที่เพียงพอให้ทำงานได้เท่านั้น บริษัทที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่นำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ให้ดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น LinkedIn ที่ช่วยให้เหล่าบริษัทหาผู้สมัครงานได้ง่ายขึ้น ช่วยงาน HR และ Headhunter ในการสแกนหาผู้สมัครงานได้โดยไม่ได้ลดบทบาทของอาชีพเหล่านี้ลง หรือ Palantir บริษัทใหม่ของ Peter Thiel ที่เกิดจากการพัฒนาระบบป้องกันการโกงในระบบเพย์พาล ด้วยการสแกนข้อมูลเพื่อคาดเหตุการณ์น่าสงสัย มาให้คนที่มีประสบการณ์วิเคราะห์ต่อ ซึ่งบริการของ Palantir นั้นได้ถูกซื้อไปโดยภาครัฐ เพื่อใช้ในการป้องกันการก่อการร้าย การตรวจหาการโกงและอาชญากรรมได้

เมื่อเราค้นพบวิธีใหม่ ๆ ในการใช้คอมพิวเตอร์ มันจะไม่เพียงปรับปรุงสิ่งที่เราทำให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราสามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อนด้วย

13.โลกสีเขียว

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าแนวคิดพลิกโลกลำดับต่อไปจะต้องเป็นเทคโนโลยีสะอาดอย่างแน่นอน จึงกลายมาเป็นประเด็นสำคัญของกระแสธุรกิจสีเขียว ที่เราทั้งหลายต่างได้รับรู้ถึงกระแสนี้มาพักหนึ่งแล้ว แต่ทำไมหลาย ๆ บริษัทที่เล่นตลาดนี้ถึงล้มหายตายจากกันไป เนื่องจากฟองสบู่ของธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่งแตกลงไป เปรียบกันได้กับช่วงฟองสบู่ดอตคอม ที่ผู้คนให้ความสนใจกับเมกะเทรนด์ โดยไม่ได้สร้างธุรกิจที่แตกต่างและมีนวัตกรรมที่แท้จริง จนนำไปสู่การแข่งขันและล่มสลายลง ดังจะเห็นในดัชนีราคาหุ้นของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน หรือ ดัชนีเรนิกซ์ (Renewable Energy Industrial Index) สะท้อนให้เห็นฟองสบู่ที่แฟบลงอย่างฮวบฮาบได้ดีมาก

ธุรกิจสีเขียวในปัจจุบันที่อยู่รอดได้อย่าง Tesla Motor นั้นมีคุณสมบัติที่ดีครบถ้วนในการเป็นธุรกิจแห่งนวัตกรรมเพื่อโลก ซึ่งมีการวิเคราะห์ธุรกิจเพื่อเช็คบริษัทพลังงานสะอาดผ่าน 7 คำถามนี้ คือ

1.คำถามเรื่องวิศวกรรม คุณสามารถสร้างเทคโนโลยีที่สั่นสะเทือนวงการแทนการปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้ดีขึ้นทีละน้อยได้หรือไม่? ต้องมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างน้อย 10 เท่า เป็นการทำให้ผู้บริโภคจดจำ และเห็นว่าบริษัทนำเสนอสิ่งที่น่าใช้ ถ้าน้อยกว่านั้นผู้บริโภคจะไม่รู้ว่าแตกต่างจากสิ่งที่มีในท้องตลาดเท่าไร หากบอกว่า มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ยังดูเหมือนโฆษณาชวนเชื่ออีก ในทาง Tesla บริษัทรถอื่น ๆ ยังต้องมาใช้เทคโนโลยีนี้ด้วยกันทั้งนั้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ Tesla สามารถประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกัน และสรรสร้างรถยนต์ของตัวเองออกมาได้

2.คำถามเรื่องจังหวะเวลา ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการทำธุรกิจนี้หรือไม่? บริษัทผู้ประกอบการเทคโนโลยีสะอาดต่างนึกว่าเวลาที่กระแสโลกร้อนมาแรงในขณะนี้แหละคือโอกาส แต่คงไม่ใช่เสมอไป ตัวอย่างเช่น SpectraWatt มองว่าอุตสาหกรรมพลังงานแสดงอาทิตย์จะต้องพุ่งแรงไม่แพ้ซิปประมวลผลในช่วงปลาย 1970 แน่ ๆ แต่เอาเข้าจริงซิปประมวลผลนั้นพัฒนาไวกว่ามาก ในขณะที่แผงโซลาร์นั้นมีพัฒนาการที่ช้ามาก แผงโซลาร์แผงแรกสร้างขึ้นก่อนซิปประมวลผล แต่ปี 2014 ประสิทธิภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายนัก จริง ๆ ถ้าบริษัทมีแผนการครองตลาดที่แข็งแกร่งพอ การเข้าบุกตลาดที่พัฒนาช้านั้นก็เป็นกลยุทธ์ที่ดี ส่วน Tesla ในช่วงปี 2009 ขณะที่บริษัทอื่น ๆ มองว่าเดี๋ยวยังไงเงินสนับสนุนก็ต้องไหลเข้ามาจากรัฐบาลเรื่อย ๆ แน่นอน แต่ Elon Musk มองเห็นโอกาสครั้งหนึ่งครั้งเดียวท่ามกลางฟองสบู่เทคโนโลยีสะอาดนี้ รีบคว้าเงินกู้มูลค่า 465 ล้านดอลลาร์จากระทรวงพลังงานของสหรัฐ ในปี 2010 ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก ซึ่งโอกาสแบบนี้ก็คงยากที่จะเกิดขึ้นอีก

3.คำถามเรื่องการผูกขาด คุณเริ่มต้นด้วยการยึดครองตลาดขนาดเล็กหรือไม่? สิ่งที่เทคโนโลยีสะอาดหลาย ๆ เจ้าเข้าใจผิดคือ พวกเขาเข้าใจว่าตลาดที่มีมูลค่าหลายล้านล้านนั้นเป็นโอกาสที่น่าจับจอง แต่จริง ๆ แล้วยิ่งตลาดมีมูลค่าสูงเท่าไร การแข่งขันก็ยิ่งโหดขึ้นเท่านั้น และนั่นไม่ใช่เรื่องดีสำหรับธุรกิจเลย เพราะจริง ๆ ธุรกิจควรเริ่มจากการคลองตลาดเล็ก ๆ ก่อน เหล่าบริษัทเทคโนโลยีสะอาดต่างพยายามบอกว่าตัวเองโดดเด่นที่สุดในตลาดนั้น ๆ โดดเด่นที่สุดในตลาดแผงโซลาร์ของสหรัฐ ฯ แต่จริง ๆ แล้วร์ของสหรัฐ ฯ แต่จริง ๆ แล้วถ้ามองใหม่ว่าบริษัทกำลังแข่งกับทั่วโลก ไหนจะแข่งกับพลังงานหมุ่นเวียนรูปแบบอื่น ๆ คงเหลือส่วนแบ่งทางการตลาดที่เล็กจิ๋ว ส่วน Tesla เริ่มจากการครองตลาดเล็ก ๆ อย่างรถสปอร์ตไฟฟ้า การเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้ช่วยให้ Tesla พัฒนาไปเรื่อย ๆ จนสามารถสร้าง Model S ที่ราคาถูกลงมา และสามารถครองตลาดรถซีดานไฟฟ้าได้

4.คำถามเรื่องบุคลากร คุณมีทีมงานที่เหมาะสมหรือไม่? Elon Musk เป็นทั้งวิศวกรและนักขาย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเขาถึงสามารถรวบรวมคนที่เก่งมาก ๆ ทั้งสองด้านมาได้

5.คำถามเรื่องการกระจายสินค้า คุณไม่ได้มีแค่วิธีสร้างผลิตภัณฑ์ แต่มีวิธีส่งมอบมันให้ถึงมือลูกค้าด้วยใช่หรือไม่? ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ต้องพึ่งคนอื่นให้ขายรถให้ แต่ Tesla นั้นกินทั้งต้นน้ำยันปลายน้ำ ในฝั่งขายก็ขายเอง มีหน้าร้านของตัวเอง ยิ่งช่วยให้แบรนด์แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สามารถควบคุมประสบการณ์ของลูกค้าได้ และลดต้นทุนในระยะยาวด้วย

6.คำถามเรื่องความยั่งยืน คุณจะรักษาตลาดของตัวเองในอีก 10-20 ปีข้างหน้าไว้ได้หรือไม่? ด้วยความที่ Tesla บุกตลาดก่อนและพัฒนาเร็วมาก จึงน่าจะเป็นผู้นำทิ้งห่างคู่แข่งไปได้อีกยาว ๆ จุดแกร่งคือการสร้างแบรนด์ให้คนรู้สึกว่าอยากจับจองเป็นเจ้าของ ด้วยความที่การซื้อรถยนต์นั้นเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนคนหนึ่ง ความเชื่อมั่นในแบรนด์จึงสำคัญมาก การที่เจ้าของ Tesla ยังคอยบริหารงานอยู่นั้น ก็ช่วยให้จุดนี้แข็งแกร่งขึ้น

7.คำถามเรื่องความลับ คุณมองเห็นโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็นหรือไม่? เหล่าบริษัทพลังงานสะอาดต่างก็เห็นตรงกันว่าโลกเราต้องสะอาดขึ้น สังคมต้องการพลังงานที่ดีกว่าเดิม ฉะนั้นจึงมีโอกาสอยู่มาก ปัญหาคือทุกคนคิดแบบนี้ นั่นทำให้ไม่มีบริษัทไหนเด่นกว่ากันสักแห่ง พวกเขามองเห็นโอกาสเดียวกัน และเชื่อว่ามันเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ต้องคว้าเอาไว้ ทาง Tesla พยายามสุดความสามารถในการทำให้ตัวเองแตกต่างจากที่อื่น ค้นพบความลับที่ว่าพลังงานสะอาดนั้นเป็นกระแสที่ใครหลาย ๆ คนอยากจะโอ้อวด ประมาณว่าถ้าใช้รถของ Tesla ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น ถือเป็นอะไรที่เท่ห์มาก Tesla จึงสร้างรถที่ทำให้คนขับดูเท่ห์

ความสำเร็จของ Tesla พิสูจน์ให้เห็นว่าตัวเทคโนโลยีสะอาดนั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะโลกต้องการพลังงานใหม่จริง ๆ กระแสความคลั่งในเทคโนโลยีสะอาดนั้นซ้ำรอยกับช่วงปี 90 ที่คนบ้าอินเทอร์เน็ต มีบริษัทผุดขึ้นมามากมาย และคนก็ให้มูลค่ามันสูงเกินจริง จึงนำมาซึ่งหายนะ การจะสร้างบริษัทให้อยู่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จไปยาว ๆ ต้องอย่าไหลไปกับกระแสมากนัก บริษัทที่จะสร้างคุณค่าให้กับโลกดได้ ต้องเริ่มต้นจากการค้นหาที่ทางของตัวเอง และครองตลาดขนาดเล็กให้สำเร็จเป็นอันดับแรก ไม่ใช่การมองภาพรวม แต่เป็นการคิดให้เล็กเข้าไว้ต่างหาก

14.บุคลิกสองขั้วของผู้ก่อตั้งบริษัท

สำหรับผู้ก่อตั้งธุรกิจทั้งหลาย ต้องการผู้ก่อตั้งที่มีความแปลกและความสุดโต่งเสมอ เจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต้องเป็นบุคคลที่ไม่ธรรมดา ซึ่งจะนำพาบริษัทสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ คนที่มีพฤติกรรมสุดโต่งเหล่านี้มักจะพาตัวเองไปสุงสิงกับคนที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน มีแนวคิดคล้าย ๆ กัน นอกจากพวกเขาจะมีพฤติกรรมสุดโต่งแล้ว เราอาจจะเจอผู้ก่อตั้งบางคนที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันในตัวคนคนเดียวอีกด้วย แม้ตัวพวกเขาไม่ได้มีความสำคัญ แต่ผลงานของพวกเขามีคุณค่ามากกว่าใคร ๆ พวกเขาสามารถกระตุ้นให้ทุกคนในบริษัทสร้างผลงานที่ดีที่สุดได้ต่างหาก บางคนมีบุคลิกที่น่าดึงดูดและน่าเกลียดในตัวคนคนเดียวกัน บางคนเป็นทั้งคนที่อยู่วงในและอยู่วงนอก บางคนเมื่อประสบความสำเร็จก็ดึงดูดทั้งชื่อเสียงทั้งข่าวฉาว

อย่างไรก็ดีการมีผู้ก่อตั้งบริษัทที่มีนิสัยแปลกประหลาด ก็สามารถนับเป็นข้อดีได้ เพราะคนกลุ่มนี้จะมองอะไรที่แตกต่างจากผู้อื่น เป็นต้นคิดไอเดียครีเอทีฟที่ไม่เหมือนใคร สามารถมองการณ์ไกลนำพาให้บริษัทประสบความสำเร็จได้ มีเสน่ห์เป็นพิเศษที่ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกเชื่อมั่นในบริษัท ใครที่ทำงานกับผู้ก่อตั้งประเภทนี้ก็อาจจะต้องทน ๆ ความติสต์ของเขาหน่อย สิ่งที่อันตรายคืออะไรที่มากไปก็ไม่ดี การหลงเชื่อตำนานของตัวเองแบบหัวปักปักปำจนสติแตก ส่วนอันตรายใหญ่หลวงที่สุดสำหรับบริษัททั้งหลายคือ การทำลายตำนานของตัวเอง แล้วเข้าใจไปว่ามนต์ขลังที่เสื่อมคลายไปนั้น เป็นสัญญาณของความรู้อันเที่ยงแท้

บทสรุป : อนาคตที่ไม่ได้มีเพียงหนึ่ง

ถ้าแม้แต่ผู้ก่อตั้งที่มองการณ์ไกลที่สุดยังไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าไกลกว่า 20-30 ปีได้ เราก็คงไม่ต้องพูดถึงอนาคตอันไกลโพ้นกันแล้ว แต่ถึงแม้เราจะไม่สามารถระบุรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับอนาคตได้ แต่ก็ยังพอนึกภาพแบบคร่าว ๆ ดังนักปรัชญาชื่อนิก บอสตรอม บอกว่าอนาคตที่เป็นไปได้ของมนุษย์ชาติมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบด้วยกันคือ

การตกต่ำเป็นวัฏจักร คนโบราณมองว่าประวัติศาสตร์นั้นผกผันไปมาระหว่างความรุ่งเรืองและความถดถอย สลับกันไปมา แต่พักหลังนี้มีพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้คนสมัยใหม่เชื่อว่าอนาคตอย่างน้อยก็น่าจะมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว

การพัฒนาจนถึงจุดอิ่มตัว คนรุ่นใหม่เชื่อว่าพัฒนาการต่าง ๆ จะหวังเทียบเคียงกลุ่มประเทศที่รวยที่สุดในโลก อนาคตก็คงไม่ต่างไปจากปัจจุบันเท่าไหร่

การล่มสลาย ก่อนจะเกิดความวินาศสันตะโรขึ้น ด้วยบริบทของหลายภูมิภาคในโลกที่เชื่อมต่อกัน และอำนาจของอาวุธทำลายล้างที่ทวีความรุนแรงขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าอาจเกิดความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

และการพุ่งทะยาน นี่คือรูปแบบอนาคตที่ยากจะคาดเอาได้ เพราะมันจะเปลี่ยนทุก ๆ อย่างไปหมดเลย และเป็นไปในทางที่ดีขึ้นอย่างคาดไม่ถึงด้วย

แต่ไม่ว่าแนวโน้มต่าง ๆ ในอนาคตจะเป็นเช่นไร อนาคตไม่มีทางเกิดขึ้นด้วยตัวเอง ยุคแห่งเอกภาวะทางเทคโนโลยีในอนาคตอันไกลโพ้นจะมีลักษณะอย่างไรนั้นไม่สำคัญเท่ากับทางเลือกที่เราเผชิญอยู่ในตอนนี้ ซึ่งแยกออกเป็นสองทางระหว่างอนาคตที่ไม่มีอะไรเลยกับอนาคตที่มีบางสิ่งบางอย่างรออยู่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเรา ซึ่งเราต้องลงมือสร้างมันตั้งแต่วันนี้ ภารกิจของเราในตอนนี้คือการค้นหาวิธีการที่ไม่เหมือนใครในการสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งไม่เพียงทำให้อนาคตต่างไปจากเดิม แต่ยังดีขึ้นอีกด้วย หรือก็คือการเคลื่อนจาก 0 ไป 1 นั่นเอง.

สั่งซื้อหนังสือ “Zero to One” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก