สรุปหนังสือ 12 Rules for Life

สั่งซื้อหนังสือ “12 กฏที่ใช้ได้ตลอดชีวิต” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก

สรุปหนังสือ 12 Rules for Life

12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต

By Jordan B. Peterson

หนังสือ 12 Rules for Life : An Antidote to Chaos มีชื่อภาษาไทยว่า 12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต จอร์แดน ปีเตอร์สัน เป็นนักจิตวิทยาชาวแคนาดา และศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโตรอนโต ลักษณะวิธีการเขียนใช้วิธีเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ออกมาเป็นภาพจนทำให้เข้าใจ ส่วนเนื้อหาเป็นเรื่องของการพัฒนาจิตใจ สร้างความรู้สึกมั่นใจในตนเอง ค้นหาคุณค่าในตนเอง เลือกคบคนที่จะไม่ดึงเราลงต่ำ ไม่นำตนไปเทียบกับคนอื่น ให้ความรักความเมตตากับผู้คนรอบข้าง รวมไปถึงการเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดี

หากมนุษย์ปราศจากกฎเกณฑ์แล้วจะตกเป็นทาสกิเลสอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่มีสิ่งใดคอยกำกับและถูกทิ้งให้อยู่กับวิจารณญาณที่ไม่ได้รับการขัดเกลา จะทำให้มองต่ำและเทิดทูนคุณสมบัติเบื้องต่ำของตัวเอง ความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2012 ผู้เขียนเข้าใช้งานเว็บไซต์ Quora ซึ่งใครจะตั้งคำถามและตอบคำถามอะไรก็ได้ ผู้อ่านจะโหวตให้คะแนนที่ตนชอบ และก็โหวตหักคะแนนที่ตนไม่ชอบด้วย คำตอบที่ดีมีประโยชน์ที่สุดก็จะขึ้นสู่อันดับสูงสุด ส่วนคำตอบอื่น ๆ ก็จมลงจนถูกลืม ปัจจุบันจากที่เขาได้ตอบคำถาม “อะไรคือสิ่งที่มีค่ามากที่สุด…” คำตอบของเขามีผู้ชมหนึ่งแสนสองหมื่นคนและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้คะแนนดันโหวต 2,300 ครั้ง จาก 600,000 คำถามใน Quora ได้คะแนนเปอร์เซนต์ไทล์ 99.9 มีตัวแทนสำนักพิมพ์สนใจจึงส่งอีเมลล์มาหา และถามว่าสนใจเขียนหนังสือสำหรับผู้อ่านทั่วไปหรือไม่ เป็นหนังสือคู่มือที่คนคนหนึ่งจำเป็นต้องมี “เพื่อที่จะมีชีวิตที่ดี”

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับโลกคืออะไร ในทัศนคติของเขาได้อธิบายไว้ว่า เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของโลก ซึ่งประกอบไปด้วย ระเบียบ คือ สถานที่ที่ผู้คนรอบตัวปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดี กับสิ่งที่ตรงกันข้าม ความโกลาหล คือ สถานที่และเวลาซึ่งบางสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทั้งสองอย่างนี้เปรียบเหมือนหยินกับหยาง สัญลักษณ์ของลัทธิเต่าอันโด่งดัง เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดความสมดุลในชีวิต หากเราใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เจริญรุ่งเรื่องไปด้วยกัน กฎนี้จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจสิ่งที่รู้อยู่แล้ว นั่นคือ จิตวิญญาณที่โหยหาวีรกรรม ของการดำรงอยู่อย่างแท้จริงตลอดกาล ความเต็มใจที่จะรับผิดชอบ เป็นการตัดสินใจที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย

กฎข้อที่ 1 ยืนให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง

มนุษย์จะคอยตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางสังคมอยู่ตลอดเวลาว่า คนอื่นคิดอย่างไรกับตนเอง ข้อมูลที่ได้รับจะส่งผลเป็นวัฏจักรเพิ่มพูนขึ้น อยู่ที่ว่าเรานั้นรับมาในแง่บวกหรือแง่ลบ เมื่อใดที่มีความรู้สึกว่าคนอื่นปฏิบัติกับเราในเชิงบวก คิดว่าเราเป็นที่พึ่งหรือผู้นำของพวกเขาได้ เมื่อนั้นฮอร์โมนเซโรโทนินจะพรั่งพรูเข้าในสมอง ทำให้รู้สึกสดชื่นและมองชีวิตว่ามีคุณค่า เมื่อมองชีวิตว่ามีคุณค่ะก็จะมีสารเซโรโทนิน หลั่งเข้าในสมองอีก วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุด ในทางตรงกันข้าม หากรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติในเชิงลบ หรือถูกลดค่าให้เป็นเพียงผู้ตาม ก็จะไม่สารเซโรโทนินหลั่งเข้าสู่สมอง หรือหลั่งก็จะมีในปริมาณที่น้อย จนทำให้รู้สึกหดหู่ มองโลกไม่สดใส เกิดอารมณ์ขุ่นมัวเศร้าหมอง มองชีวิตว่าไร้ค่า และก็จะวนเวียนเป็นวัฏจักรความเศร้างหมองเก็บกด จนในที่สุดอาจเลยร้ายจนถึงขั้นทำลายชีวิตของตัวเอง

ดังผู้เขียนยกตัวอย่างเรื่องของกุ้งลอปสเตอร์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อหาที่ปลอดภัยที่สุดอยู่ ตัวที่ชนะก็จะได้อยู่ในถ้ำที่ปลอดภัยที่สุด และตัวที่ชนะก็จะสามารถชนะไปเรื่อย ๆ หรือเรื่องไก่ นักสัตววิทยาในปี 1920 ได้สังเกตพฤติกรรมของไก่ว่า ไก่ที่แข็งแรงในฝูงจะได้กินอาหารก่อน ส่วนไก่ที่อ่อนแอจะได้กินของที่เหลือ เมื่อเอาไปทดสอบเพื่อหาสาร จะพบว่าตัวที่เพิ่งต่อสู้ชนะมา จะมีระดับสารเซโรโทนิน (serotonin) สูงกว่าปกติและสารออกโทพามีน (octopamine) ต่ำ ตัวมันจะเด้งขึ้นมาตัวไม่งอ มีความคล่องแคล่วสูง และเป็นที่ยำเกรงแก่กุ้งตัวอื่น ๆ ในขณะที่ตัวที่เพิ่งแพ้ระดับสารเซโรโทนินจะต่ำลงและสารออกโทพามีนจะสูงเลยทำให้ตัวงอ

ดั่งในเรื่องกฎแห่งการกระจายที่ไม่เสมอภาค บางทีก็รู้จักกันในชื่อว่ากฎไพรซ์ (Price’s Law) ตามชื่อของดีเร็ค เจ. เดอโซลลา ไพรซ์ นักวิจัยผู้คนพบการใช้กฎนี้กับวิทยาศาสตร์เมื่อปี ค.ศ.1963 กฎนี้สร้างเป็นโมเดลได้โดยใช้กราฟรูปร่างคล้ายตัว L โดยมีจำนวนคนอยู่บนแกนตั้ง และผลผลิตหรือทรัพยากรบนแกนนอน ผู้เขียนยกตัวอย่าง กุ้งล็อบสเตอร์ที่กล้าหาญจะมีโอกาสชนะศัตรูของมันมากขึ้น โลกของผู้ชนะก็จะได้ทุกอย่าง เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ซึ่งสถานะภาพสูงสุดร้อยละหนึ่ง ก็จะได้รับส่วนแบ่งปริมาณที่มากกว่าประชากรระดับล่างร้อยละห้าสิบ เมื่อสำรวจดูคนที่รวยที่สุดแปดสิบห้าคนจะมีทรัพย์สินมากเทียบได้กับคนชั้นล่างสามพันห้าร้อยล้านคน

การจะเปลี่ยนวงจรหรือวัฏจักรจากแง่ลบเป็นแง่บวก สิ่งที่ง่ายที่สุดก็ด้วยการแสดงท่าทางที่พร้อมจะสร้างการเปลี่ยนแปลงออกมา คำว่ายืดตัวตรงมีความหมายทั้งทางกายภาพและอารมณ์ เช่น เมื่อแสดงความกระฉับกระเฉงอารมณ์ก็จะดีขึ้น หรือทำท่าทางห่อเหี่ยวก็จะทำให้อารมณ์เฉื่อยชาด้วยเช่นกัน เป็นการเผชิญหน้ากับความท้าทาย ยอมรับความรับผิดชอบที่จะแก้ไขปัญหา แทนที่จะกอดเข่าจมจ่อมอยู่ในความทุกข์จนตายไปกับมัน

เมื่อแต่ละคนล้วนจับจ้องมองคนอื่น เพื่อที่จะหาสถานะอันเหมาะสมของตนในสังคม เราก็จะต้องใช้มุมมองของพวกเขาให้เป็นประโยชน์ด้วยการยืดตัวให้ตรง เปิดไหล่ให้กว้าง แสดงความมั่นใจออกมาให้ปรากฎ เมื่อใดที่คนอื่นรู้สึกและเชื่อว่าเรามีความมั่นใจในตัวเอง พวกเขาก็จะปฏิบัติกับเราดีขึ้น สารเซโรโทนินก็จะพรั่งพลูเข้าในสมอง ทำให้รู้สึกดีขึ้น เมื่อใดที่เรารู้สึกมั่นใจ คนอื่นก็ปฏิบัติกับเราดีขึ้นในวงกว้างขึ้นไปอีก วนกันเป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น ขอให้ใส่ใจท่าทางของตัวเองให้ดี พูดถึงสิ่งที่ต้องการ แสดงความปรารถนาออกมาบ้าง เพื่อให้รู้ว่ามีสิทธิ์ในเรื่องนั้น อย่างน้อยก็มีสิทธิ์พอ ๆ กับคนอื่น ๆ ก็จะทำให้เริ่มรู้สึกว่ามีศักยภาพและความสามารถ เมื่อรู้สึกกล้าขึ้น แข็งแกร่งขึ้น ก็จะสามารถยืนหยัดในทุกสภาพโอกาสที่เข้ามา จะเริ่มต้นการเดินทางแห่งชีวิต ให้ตัวเองเปล่งประกาย และไขว่คว้าโชคชะตาที่เป็นของตัวเอง เพื่อสร้างความหมายของชีวิตให้ปรากฏ จากนั้นอาจยอมรับภาระอันหนักหนาของโลกใบนี้ได้ และได้พบกับความสุขในชีวิต จงเป็นล็อบสเตอร์ผู้พิชิต กับภูมิปัญญาอายุกว่า 350 ล้านปีของมันที่เอาไปใช้ได้ จงยืนให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง

กฎข้อที่ 2 ดูแลตัวเองให้ดี เหมือนเวลาที่ดูแลคนอื่น

เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการขึ้นมา สมองที่ทำให้เกิดความรู้สึกละอายขยายใหญ่ขึ้น ปัจจุบันคนเราจึงมีแนวโน้มที่ไม่ค่อยดูแลตัวเอง เหตุก็เพราะการมองแต่สิ่งบกพร่องของตน และโทษความผิดพลาดทั้งหลายว่ามาจากความบกพร่องนั้น ลดทอนคุณค่าตัวเองด้วยความรู้สึกตอกย้ำจนโงหัวไม่ขึ้น ละเลยการดูแลสุขภาพของตน แต่กลับมีความรู้สึกดีๆ ต่อสัตว์เลี้ยงมากกว่าความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อตนเอง เช่น เวลาเราพอหมาไปหาหมอ เราจะดูแลหมาเป็นอย่างดีเลย แต่พอเราไปหาหมอ จากสถิติแล้วจะมีคนจำนวน 1 ใน 3 ที่ไม่ทำตามที่หมอสั่ง หรือไม่กินยาที่หมอสั่ง คำถามคือทำไมเราถึงเป็นแบบนั้น ทำไมเราไม่ค่อยดูแลตัวเอง คำตอบคือคนเราชอบหมกหมุนอยู่กับปมด้อย และจุดบกพร่องของตัวเอง เราชอบคิดว่าตัวเองไม่คู่ควรกับสิ่งดี เราเลยไม่ค่อยดูแลตัวเองดีเหมือนที่เราดูแลคนอื่น

หากตอนนี้คุณเป็นผู้หนึ่งที่มีความคิดดังกล่าว จะต้องรีบเปลี่ยนวิธีคิดจากที่มองตนเองว่า ไร้ค่าเกินกว่าที่จะแก้ไข มาคิดเสียใหม่ว่าตนเองยังมีสิ่งที่ดีอยู่ และการได้ใช้ชีวิตอยู่กับมัน เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ดังนั้นเราควรตระหนัก และชื่นชมถึงคุณค่าของตัวเอง เราทุกคนต่างมีความสำคัญต่อใครซักคน ต่อให้ชีวิตนี้เหมือนไม่มีใครก็ตาม ก็ยังคงมีตัวเราเองและโลกใบนี้ ที่เราจะเปลี่ยนแปลงและทำมันให้ดีขึ้นได้ เราจึงควรได้รับการดูแลที่ดีบ้าง เริ่มต้นด้วยการค้นหาสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ให้ความสุข แต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับเรา ท้าทายเรา ทำให้เราเติบโตขึ้นเป็นคนที่ดีกว่าเดิม

ผู้เขียนแนะนำให้เริ่มสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตนเองด้วยการ

1.เขียนคุณค่าของตนลงในกระดาษ แม้ว่าจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ขอให้ยึดมั่นกับสิ่งนั้นไว้

2.เมื่อใดที่ได้ใช้คุณค่านั้น จงให้รางวัลแก่ตนเองด้วยความรู้สึกว่ามีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำนั้น
3.เมื่อใดที่ล้มเหลวกับสิ่งใด อย่าตีโพยตีพาย พยายามทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

กำกับทิศทางของชีวิต วางหมุดหมายไปยังสิ่งที่จะมอบความหมายให้ และแทนที่ความละอายด้วยความภาคภูมิตามธรรมชาติ เริ่มได้ด้วยการทำดีกับตัวเอง ให้ดีเหมือนกับเวลาที่ทำดีกับคนอื่น

กฎข้อที่ 3 คบหาคนที่อยากให้คุณได้ดี

คนเรามักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกคบเพื่อน ความเป็นเพื่อนมักเกิดจากการมีกิจกรรมที่ชอบเหมือนๆ กัน เช่น อาจชอบการศึกษาเรียนรู้ หรือชอบการท่องเที่ยวเหมือนกัน เพื่อนที่ดีจะช่วยดึงเราให้สูงขึ้น พวกเขาจะช่วยให้คำแนะนำแก่เรา เพราะจะไม่ยอมทนกับพฤติกรรมแย่ ๆ ของเรา เพื่อนที่ดีจะบอกเราตรง ๆ แม้ว่าเราจะโกรธหรือเราจะเจ็บ หรือว่าเรากำลังเดินบนเส้นทางที่ผิด เพื่อนที่ดีจะเป็นคนที่คอยผลักดันให้เราเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดของตัวเราเอง เป็นคนที่คอยประคองเราให้อยู่ในเส้นทางที่ดี และเพื่อนที่ดีจะเป็นคนที่ทำให้เรายิ้มออก

จงพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนที่เก่งและดี แม้ธรรมชาติมักจะพาเราเข้าหาคนที่คล้ายกัน แต่นั่นอาจไม่ใช่ผลดีก็ได้ การอยู่ท่ามกลางคนที่ดีและเก่งเป็นเรื่องยาก เพราะทำให้รู้สึกว่าเราตัวเล็ก บางครั้งก็ไร้ค่า แต่ถ้าเรากล้าพอ นั่นคือหนทางที่เราจะได้รับการผลักดันไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ส่วนเพื่อนที่ไม่ดี (Toxic friend) คือเพื่อนที่คอยจะลากเราไปสู่จุดที่เราไม่สบายใจ สิ่งที่เราไม่ชอบต่าง ๆ พาเราไม่อยู่ในสถานการณ์แย่ ๆ พิษที่เพื่อนคายมาให้เรา ต่อให้เราไม่เจอเพื่อนคนนั้นแล้ว แต่พิษก็จะค้างอยู่ในร่างกายต่อไปอีกนาน จนกว่าเราจะได้รับการถอนพิษ ซึ่งการถอนพิษจะเป็นลักษณะค่อย ๆ ถอน เหมือนเพื่อนเคยพูดสิ่งแย่ ๆ กับเราไว้ตั้งแต่เด็ก มันก็จะตกค้างกับเราอีกนาน ดังนั้นเราควรเลือกคบเพื่อนให้ดี อย่าคบกับคนที่จะดึงเราลงต่ำ หรือสนับสนุนให้เราทำพฤติกรรมที่ไม่ดี เพียงเพื่อพวกเขาจะได้มีความรู้สึกว่ามีคนเช่นเดียวกับเขาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน โดยไม่คิดถึงผลเสียใด ๆ ที่จะเกิดกับเรา

หากเราต้องการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อนที่เป็นสภาพแวดล้อมของเราด้วย หรือไม่ เราไม่สามารถช่วยคนที่ไม่ต้องการให้ใครช่วย หากเพื่อนของเราเป็นคนประเภทนั้น ทางที่ดีที่สุดคือควรถอยห่างจากเขา     กฎข้อที่สามนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราควรทอดทิ้งเพื่อนให้อยู่ในความลำบาก หรือตัดสัมพันธ์เมื่อไม่ได้รับประโยชน์ แต่หมายความว่าเราควรเลือกคบเพื่อนที่ดีตั้งแต่แรก ไม่เข้าไปอยู่ในสังคมที่ดึงให้เราลงต่ำ เช่น ไม่คบเพื่อนที่ชอบเล่นการพนัน หรือติดยาเสพติด เมื่อพบว่าเพื่อนของเรากำลังจะเดินผิดทาง หากเราได้ให้คำแนะนำแก่เขาแล้ว และพยายามดึงเขาให้กลับมาสู่เส้นทางที่เหมาะสมแล้ว แต่ได้รับกลับมาซึ่งการปฏิเสธ เมื่อนั้นก็ไม่ควรเดินตามเขาลงสู่อบาย

ในการเลือกคบเพื่อนที่ดี จึงควรใช้แนวทางต่อไปนี้

1.คัดเพื่อนที่ใกล้ชิดหรือสนิทกับเรามากที่สุดขึ้นมา 10 คน

2.ทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า ใครที่ช่วยให้เราดีขึ้น และใครที่ดึงให้เราต่ำลง

3.หากพบว่าเพื่อนบางคนในจำนวนนี้กำลังดึงเราลงต่ำ ลองถามตนเองว่าเขาต้องการให้มีคนช่วยเขา ให้ช่วยตามกำลังที่เราพอจะทำได้ แต่ถ้าหากเขาปฎิเสธก็ควรที่ก้าวออกมาจากตรงนั้นเสีย

ต้องมีความละอายใจและต้องมีความกล้าที่จะไปคบหาเพื่อนที่ไม่ดี ต้องใช้ดุลยพินิจของตัวเองและปกป้องตัวเองจากพิษร้ายของความเมตตาแบบไม่ลืมหูลืมตา จงคบหาแต่กับคนที่อยากให้ได้ดีเท่านั้น

กฎข้อที่ 4 เปรียบเทียบตัวคุณกับคนที่คุณเป็นในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นเป็นในวันนี้

การเป็นคนเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นไม่ยากเลย ถ้าหากว่าได้อาศัยอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ แต่โลกสมัยใหม่ยังต้องติดต่อกับคนทั้งโลก ไม่ว่าจะทำบางอย่างได้เก่งสักแค่ไหนก็ตาม หรือจัดอันดับความสำเร็จไว้อย่างไร ก็ยังมีคนที่ทำให้รู้สึกด้อยค่าลงได้อยู่ดี ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เรามีความทุกข์ง่ายที่สุดคือ แค่การเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น แล้วก็จะได้รับความทุกข์เดี่ยวนั้นเลย

โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเวลาเปรียบเทียบกับคนอื่น ก็มักจะเปรียบเทียบกับแค่เรื่อง ๆ เดียวว่า ตัวเองด้อยกว่าคนอื่น แต่จริง ๆ แล้วชีวิตของคนอื่นเขาก็มีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่เราไม่ได้เห็น เราก็ไปเปรียบเทียบว่าด้อยกว่าแค่นั้น คนส่วนมากชอบคิดว่าทำไมชีวิตถึงไม่แฟร์ ทำไมเรื่องแบบนี้ต้องเกิดกับตัวเอง ทำไมโลกนี้ถึงไม่แฟร์ ทำไมคนอื่น ๆ ทำอะไรก็ได้ดิบได้ดีกัน เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่เสมอ

จริง ๆ สิ่งที่ดีที่สุดคือควรมองย้อนอดีตในตัวเอง เช่น การเขียนความเป็นมาของตัวเองเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลง นับจากอดีดมาถึงปัจจุบัน ให้เห็นความสำเร็จไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ว่า ชีวิตวันนี้จริง ๆ มันดีกว่าเมื่อวานแล้ว จริง ๆ แล้วเรื่องของอดีตและอนาคต มันเป็นสิ่งที่พูดถึงเรื่องจุดของเวลา มันเป็นสิ่งเดียวกัน เดี่ยวอนาคตก็จะกลายเป็นอดีต แต่สิ่งที่ต่างกันคืออดีตมันจบลงไปแล้ว เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว แต่อนาคตมันยังเปลี่ยนแปลงได้ เรายังสามารถทำให้อนาคตเกิดหรือไม่เกิดขึ้นได้

คนเรามักชอบนำตนเองไปเทียบกับคนอื่น ทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ในกรณีที่ไปเทียบกับคนที่ด้อยกว่า ก็หลงระเริงว่าตนเองเก่ง แต่เมื่อไปเทียบกับคนที่เหนือกว่า ก็พาลโทษโชคชะตาและโอกาสอันต่ำต้อยของตน หมดกำลังใจที่จะสู้ชีวิต ผู้เขียนเสนอให้ใช้วิธีการต่อไปนี้ คือ

1.ยอมรับว่าจะมีคนที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีกว่าเราอยู่เสมอ จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะนำตนเองไปเทียบกับคนอื่น

2.สิ่งที่ควรทำคือเปรียบเทียบตัวเราวันนี้กับเมื่อวาน

3.ให้ดูไปที่พฤติกรรม การทำงาน การดูแลตนเอง และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ พิจารณาว่ามีอะไรที่เราจะสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้างในวันนี้ แม้มันจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม

หากทำได้เช่นนี้เป็นประจำ ต่อเนื่องได้สักระยะหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เมื่อหมั่นเปรียบเทียบตัวเราเองเช่นนี้ทุกวัน เราจะหยุดการนำตนเองไปเทียบกับคนอื่น เพราะเราได้ใช้เวลาและความคิดไปกับการพิจารณา และปรับปรุงตนเองจนหมดแล้ว ตั้งใจทำวันนี้ แต่ตั้งเป้มไปที่ความดีสูงสุด นั่นจะทำให้มีความหวัง การเดินทางอย่างมีความสุขอาจดีกว่าการไปถึงได้สำเร็จ  จงขอแล้วจะได้รับ จงเคาะเรียกแล้วประตูจะเปิด โอกาสที่จะปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นในชีวิตเอง จงเปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองที่เป็นในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นเป็นในวันนี้

กฎข้อที่ 5 อย่าให้ลูกของคุณทำสิ่งใดที่จะทำให้คุณไม่ชอบพวกเขา

เด็กจะลองผิดลองถูกเพื่อค้นหาว่าอะไรทำได้หรืออะไรทำไม่ได้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงควรสอนลูกหลาน เพื่อให้พวกเขารู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ มิเช่นนั้น เด็ก ๆ อาจเรียนรู้ในสิ่งที่ผิด เพราะไม่ได้รับแนวทางที่ถูกต้องจากผู้ใหญ่ เมื่อเติบโตขึ้นมาจึงยากที่จะปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานของสังคม สร้างปัญหาให้กับทั้งตัวเองและสังคม และต้องรับโทษที่สังคมกำหนดไว้ โดยพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่สามารถทำอะไรได้แล้วในตอนนั้น ตัวอย่างเช่น เวลาไปร้านอาหารแล้วไปเจอลูกคนอื่นทำกริยาไม่น่ารัก ส่งเสียงดัง ร้องโวยวาย หรือปาสิ่งของ คำถามคือ ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ตรงนั้น เราจะเกลียดเด็กหรือเกลียดแม่พ่อของเด็กกันแน่ ถ้าเราเป็นแม่พ่อของเด็กคนนั้น แล้วเราจะปล่อยให้คนอื่นมาเกลียดลูกของเราได้หรือ? ฉะนั้นในการเลี้ยงดูลูก อย่าทำให้ลูกกลายเป็นคนที่คุณจะไม่ชอบเขา

พ่อแม่หลายคนอาจจะเถียงว่า เราจะไม่ชอบลูกของเราได้หรือ แต่ผู้เขียนก็บอกว่าคิดดี ๆ ทุกคนก็เป็น การที่พ่อแม่ไม่ชอบลูกตัวเองในบางครั้ง มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ชอบพฤติกรรมที่ไม่ดีบางอย่าง หลายคนชอบเชื่อว่าเด็กเกิดมาเป็นผ้าขาว แต่จริง ๆ แล้วเราทุกคนเกิดมาพร้อมกับความก้าวร้าว ดังนั้นการรับผิดชอบในฐานะพ่อแม่ คุณไม่อาจโยนหน้าที่นี่ให้คนอื่นได้ ผู้ซึ่งจะทำมันอย่างน่าเกลียดยิ่งกว่าเรามาก พ่อแม่ควรสั่งสอนด้วยหลักการ 3 ข้อนี้ 1.การฝึกวินัย คือมีกฎที่ต้องสร้างขึ้น 2.ใช้การบังคับให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น 3.พ่อแม่ควรมาเป็นคู่ เพราะการเลี้ยงลูกน้อยนั้นยากและเหนื่อย พ่อแม่เป็นตัวแทนของโลกที่ลูกจะต้องเจอ คุณจะปล่อยให้ลูกไปเจอสิ่งนั้นภายนอกหรือว่าจะให้เขาเห็นตัวอย่างจากตัวพ่อกับแม่เอง

ดังนั้น ในการเลี้ยงดูลูก พ่อแม่ต้องมีกฎและเข้มงวดกับพวกเขาบ้าง เพราะในวันข้างหน้าพวกเขาต้องโตขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่ในกฎระเบียบของสังคมเช่นกัน นอกจากการมอบความรักและความสุขให้แก่ลูกแล้วนั้น การสอนให้รู้จักวินัย ให้ความรู้สึกมั่นคง และความเคารพนับถือในตัวเองก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญของพ่อแม่

การสั่งสอนอบรมลูกหลาน จึงควรใช้แนวทางต่อไปนี้

1.ให้เวลาพูดคุยกับเด็กๆ เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาเข้าใจกฎเกณฑ์พื้นฐานของสังคมว่า อะไรควรทำและไม่ควรทำ

2.อย่าใช้อารมณ์เปลี่ยนกฎหรือแนวทางการปฏิบัติตามอำเภอใจ เพราะจะสร้างความสับสนให้กับเด็ก

อย่างไรเสียพ่อแม่ก็รักลูก ๆ หากการกระทำของพวกเขาทำให้ไม่ชอบพวกเขา ลองคิดดูว่ามันจะมีผลอย่างไรต่อคนอื่น ๆ ที่ให้ความใส่ใจพวกเขาน้อยกว่าพ่อแม่มากนัก คนพวกนั้นจะลงโทษลูก ๆ ของคุณ ทางที่ดียอมลูกได้รู้ว่าอะไรดีและอะไรไม่ดี เพื่อที่เขาจะได้กลายเป็นพลเมืองที่รู้จักการวางตัวในโลกภายนอกครอบครัวได้อย่างดี ไม่มีของขวัญใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าสิ่งที่พ่อแม่ที่กล้าหาญ และรับผิดชอบมอบแก่ลูก ๆ ของพวกเขา อย่าให้ลูกของคุณทำสิ่งใดที่จะทำให้คุณไม่ชอบพวกเขา

กฎข้อที่ 6 ดูแลบ้านของคุณให้เรียบร้อยก่อนที่จะวิจารณ์โลก

ในความเป็นจริงชีวิตนั้นยากลำบาก ทุกคนถูกลิขิตให้พบกับความเจ็บปวด และถูกตำหนิจนย่อยยับ แต่บางครั้งเห็นได้ชัดว่าความทุกข์เป็นผลมาจากความผิดส่วนตัว การวิพากษ์วิจารณ์หรือเพ่งชี้ความบกพร่องของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องพฤติกรรม หรือผลงาน เป็นเรื่องที่ใครก็ทำได้ บางครั้งยังลามไปถึงการดูถูกชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่น ในลักษณะยกตนข่มท่าน โดยไม่เคยมองตัวเองเลยว่า มีข้อบกพร่องในเรื่องใดบ้าง การทำเช่นนั้นอาจได้ความรู้สึกสะใจ แต่ไม่นานก็คงได้รับการโต้กลับจากคนรอบข้าง ที่รังเกียจพฤติกรรมดังกล่าว

คำบ่นสุดคลาสสิกอย่างหนึ่งคือคำว่า โลกนี้ไม่แฟร์เลย ซึ่งผู้เขียนก็บอกว่ามันไม่เคยมีคำว่าแฟร์อยู่บนโลกอยู่แล้ว บทนี้ผู้เขียนตั้งใจจะวิจารณ์เหตุการณ์กลาดยิง เขาสงสัยว่าในเชิงจิตวิทยาอะไรคือแรงจูงใจให้คน ๆ หนึ่งถือปืนไปกลาดยิงคนเป็นสิบได้ ซึ่งสิ่งที่คนเหล่านั้นคิดคือ โลกนี้เต็มไปด้วยความโชคร้าย ความทุกข์ และความอยุติธรรม บางครั้งการที่เขาฆ่าผู้อื่นคือ คนกำลังปลดทุกข์และช่วยคนเหล่านั้นอยู่ ซึ่งตรงนี้คือทัศนคติของคนที่เอาแต่โทษว่าโลกนี้ไม่แฟร์ สิ่งที่คนเหล่านี้มีคือความคับแค้น ความโกรธ และโยนความผิดทุกอย่างให้กับสังคมและโลกนี้

ผู้เขียนก็เลยแนะนำให้กลับไปจัดบ้านให้เรียบร้อยก่อน เหมือนกับไปสะสางเรื่องที่กำลังขุ่นมัวให้เรียบร้อยก่อนที่มันจะรุนแรงมากขึ้น จนทำให้สุดท้ายแล้วก็ไปโทษสิ่งรอบตัว โทษว่าโลกนี้ไม่แฟร์ เพราะโลกนี้นั้นเต็มไปด้วยสิ่งร้ายมากมาย เราอาจโทษว่าพายุเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง หรือเป็นการกระทำของพระเจ้าที่ไม่อาจขัดขวางได้ แต่การที่เราไม่เตรียมพร้อมรับมือกับมันเลย คือความผิดพลาดของเราเอง ดังนั้นก่อนที่จะโทษสิ่งรอบข้าง ให้ถามตัวเองก่อนว่าเราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง

ตัวอย่างที่ดีคือ อะเลคซันดร์ โซลเซนิตซิน ซึ่งเขามีเหตุผลอย่างเต็มที่ที่จะเคลือบแคลงสงสัยของการดำรงอยู่ เขาเป็นทหารที่อยู่ทัพหน้าของรัสเซีย แต่โชคร้ายโดยจับ โดนทำร้าย และโดนยัดเข้าห้องขังของนาซี และเขายังป่วยเป็นโรคมะเร็งอีกด้วย ชีวิตของเขาต้องทรมานจากทั้งสตาลินและฮิตเลอร์ จอมเผด็จการที่เลวร้ายที่สุดสองคนในประวัติศาสตร์ เขามีชีวิตที่โหดร้าย เวลาอันมีค่าถูกปล้นไปและสูญเปล่า เขาเห็นความตายอันไร้ค่าของเพื่อน ๆ และคนรู้จักของเขา โซลเซนิตซินมีเหตุผลที่จะสาปแช่งพระเจ้า แม้แต่ผู้ศรัทธาที่เชื่อยังว่าตัวเองถูกทดสอบยังไม่ทุกข์ขนาดนี้

เขาสำรวจรายละเอียดชีวิตของเขาอย่างถี่ถ้วน เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ฉันจะหยุดทำผิดเช่นนั้นในตอนนี้ได้ไหม ฉันจะซ่อมแซมความเสียหายที่กระทำลงไปเพราะความผิดพลาดในอดีตของฉันในตอนนี้ได้ไหม เขาเรียนรู้ที่จะเฝ้าดูและรับฟัง เขาแยกตัวเองออกมาทีละชิ้น ปล่อยให้สิ่งที่ไม่จำเป็นและเป็นภัยตายไป และชุบชีวิตตัวเองขึ้นมาใหม่ จากนั้นเขาก็เขียนหนังสือเกาะกูลัก (The gulag Archipelago) เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของระบบค่ายกักกันในสหภาพโซเวียต เปรียบดั่งเขาหยิบขวานฟันเข้าที่ลำต้นอขงต้นไม้พิษ ต้นไม่ซึ่งเขาได้เป็นสักขีพยาน และสนันการปลูกมันขึ้นมาเอง

การตัดสินใจที่จะเปลี่ยนชีวิต แทนที่จะนั่งสาปแช่งโชคชะตา จนสั่นสะเทือนระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ และล่มสลายลงในอีกไม่กี่ปีจากนั้น ความกล้าหายของโซลเซนิตซินไม่ใช่เหตุผลที่แปลกประหลาด เขาไม่ใช่คนเดียวที่สร้างปาฎิหาริย์เช่นนั้น ยังมี วาคลาฟ ฮาเวล นักเขียนผู้ถูกกลั่นแกล้งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีของเชโกสโลวะเกีย ซึ่งตอนนี้คือสาธารณรัฐเช็กอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นเดียวกับมหาตมาคานธีด้วย

หากคุณคิดอยากจะแก้ไข ควรปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้

1.ทบทวนว่าตนเองได้เคยทำอะไรผิดพลาดมาบ้างหรือไม่ แม้ว่าคุณจะเป็นคนที่เข้าข้างตนเองมากมายเพียงใด อย่างน้อยก็น่าจะนึกออกได้บ้าง

2.เมื่อนึกได้แล้ว ก็ควรหยุดทำสิ่งนั้นทันที และตั้งใจมั่นว่าจะไม่ทำสิ่งนั้นอีก

3.อย่าเสียเวลาไปกับการตั้งคำถามว่า อะไรเป็นเหตุให้คุณทำความผิดนั้น เพราะคุณอาจได้ข้อแก้ตัวขึ้นมามากมาย แทนที่จะเห็นโทษของการกระทำความผิด

ให้พิจารณาสถานการณ์ของคุณ เริ่มจากเล็ก ๆ ก่อน คุณได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ได้รับอย่างเต็มที่หรือยัง ทุ่มเททำงานหนักเพื่ออาชีพของคุณ หรือแม้แต่งานของคุณ หรือปล่อยให้ความขมขื่นและเกลียดชังเหนี่ยวรั้งไว้ และดึงให้ตกต่ำกัน เคยอยู่สงบสุขกับคนในครอบครัวหรือเปล่า บางทีหากทุกคนทำเช่นนี้ได้ในชีวิต โลกจะหยุดเป็นสถานที่อันชั่วร้าย ทุกคนพยายามเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด จิตวิญญาณก็จะใสสะอาดด้วยความสัตย์จริง จงดูแลบ้านของคุณให้เรียบร้อยก่อนที่จะวิจารณ์โลก

กฎข้อที่ 7 ทำสิ่งที่มีความหมาย (ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายทันใจ)

ชีวิตคือความทุกข์ เรื่องนี้ชัดเจนมาก ไม่มีสัจธรรมใดจะเรียบง่ายและทรงพลังเท่านี้อีกแล้ว สักวันหนึ่งเราจะต้องตายไป ในการใช้ชีวิตเราควรใช้มันอย่างไร อย่างแรกเราอาจแสวงหาความสุขไปวัน ๆ โดยไม่สนใจว่าชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละวัน จะมีความหมายหรือคุณค่าอะไรที่ต้องคิดเป็นพิเศษ อาจพยายามหลีกเลี่ยงงานหนักทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการทำงานหนักจะช่วยชีวิตของตนให้ดีขึ้นได้ในอนาคต แม้คุณจะยังมองไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิต แต่ในความเป็นจริง โอกาส คือสิ่งที่เราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ หากมีความมุ่งมั่นกับมัน จึงจะสามารถทำเช่นนั้นได้ ยิ่งคิดใหญ่ ก็หมายความว่าเราจำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเองให้มาก ทำให้มองเห็นความหมายในชีวิตของตนได้เด่นชัดขึ้น

อีกวิธีหนึ่งคือให้เลือกทำในสิ่งที่เป็นความหมายที่ดีที่สุดของชีวิต ไม่ใช่ทำสิ่งที่หาความสนุกชั่วคราว การเสียสละตอนนี้เพื่อประโยชน์ในภายหน้า มันมีราคาสำหรับความโลภเสมอ หากโลกที่เห็นอยู่ไม่ใช่โลกที่ต้องการ ก็คงถึงเวลาที่ต้องสำรวจค่านิยมของตัวเองแล้ว ถึงเวลาที่ต้องเสียสละสิ่งที่รักเพื่อที่จะกลายเป็นบุคคลที่มีศักยภาพจะเป็นสักที ตัวอย่างการทดลองของนักจิตวิทยา คือมีลิงอยากกินคุกกี้ เลยเอามือไปหยิบคุกกี้ในโหล แล้วมือติดในโหลเอาออกมาไม่ได้ ถ้าจะเอาออกมาได้จะต้องทิ้งคุกกี้ก่อน สิ่งที่มีค่าที่ใช้แลกกับความรุ่งเรืองในอนาคต มันคือสัญลักษณ์ของการให้บางส่วนเพื่อรักษาทั้งหมดไว้

การแบ่งปันไม่ได้หมายถึงการสละให้สิ่งที่มีค่าสำหรับคนอื่น แล้วคุณไม่ได้อะไรกลับคืน แต่มันเป็นคำเชิญมาสู่การเกี่ยวดองทางสังคม เพราะมีหนี้เกิดขึ้นแล้วความคุ้นเคยและความไว้ใจกันจึงเพิ่มขึ้น ทั้งสองฝ่ายสามารถเอาชนะความลังเลและความหวั่นกลัวคนแปลกหน้าตามธรรมชาติที่มีต่อกันได้

มนุษย์นั้นพิเศษเพราะเราเล็งเห็นอนาคตได้ เรารู้ว่าถ้าเรายอมทนลำบากในวันนี้ วันข้างหน้าอาจจะดีขึ้นได้ แต่การทำสิ่งที่มีความหมายเช่นนั้นยาก เพราะสิ่งที่ง่ายนั้นได้ผลเร็วกว่า ทำให้เรากลายเป็นคนมักง่าย ทำให้อนาคตโดยรวมแย่ลง ดังนั้นให้เลือกทำสิ่งที่มีความหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายทันใจ

ลดการให้ความสำคัญกับความสุขที่ได้มาจากกิเลสตัณหาต่าง ๆ ด้วยการปฏิบัติตามวิธีการต่อไปนี้

1.ให้ความสนใจกับโลกรอบตัวคุณ อย่าพร่ำรำพันแต่ว่าหมดหวัง

2.ถามตนเองว่าสามารถทำอะไรให้รอบตัวเราดีขึ้นบ้างแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม

3.ถามตนเองว่าสามารถทำอะไรในปัจจุบันได้บ้างเพื่อให้ชีวิตของเราดีขึ้นในอนาคต

4.คิดให้ใหญ่ขึ้นไปอีกว่า ในการทำอะไรให้โลกรอบตัวดีขึ้นนั้น จะต้องปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองอย่างไร

ความหมายคือการดิ้นรนอย่างยากแค้นทั้งหมดที่ชีวิตต้องผ่านพบ กลายเป็นส่วนที่จำเป็นและคุ้มค่าต่อความพยายามที่ประสบความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในการสร้างบางสิ่งที่ทรงพลังและดีงามอย่างแท้จริง ความหมายคือความสมดุลขั้นสูงสุด จงทำสิ่งที่มีความหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายทันใจ

กฎข้อที่ 8 พูดความจริง หรืออย่างน้อยก็ไม่โกหก

คนส่วนมากน่าจะคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่น่าจะชอบโกหก แต่การโกหกไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำกับคนอื่นได้อย่างเดียว มันทำกับตัวเองก็ได้ ตัวอย่าง เราตั้งเป้าหมายอะไรไว้แล้วไปไม่ถึง ก็อาจจะโกหกตัวเองว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นจึงทิ้งเป้าหมายนั้นไป อีกอย่างหนึ่งถ้าพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับความเชื่อ มันก็เหมือนกับเป็นการโกหกอย่างหนึ่ง อย่างเช่น ไม่เชื่อในการทุจริตแต่ก็ยังปล่อยให้มันเกิดขึ้นต่อหน้า ก็เหมือนกับว่ามีส่วนร่วมด้วยเหมือนกัน

หนึ่งในเหตุผลที่คนเราโกหกทั้งตัวเองและผู้อื่นก็เพราะว่า เราคิดว่าเราต้องการอะไรบางอย่าง เราก็เลยโกหก เช่น เราคิดว่าตอนที่เราเกษียณ เราจะมีภาพในหัวอยู่เช่น นอนจิบไวน์ริมทะเล เราคิดว่าเราต้องการสิ่งนี้ตอนที่เราเลิกทำงานแล้ว อยากไปเที่ยวแล้ว เราก็เลยเอาภาพนี้ไปสร้างมายาคติต่าง ๆ รอบมัน ซึ่งมันก็เป็นการโกหกประเภทหนึ่ง เราก็จะหลอกตัวเองว่าถ้าเราเกษียณแล้ว ไปเที่ยวรอบโลก เราน่าจะมีความสุข แต่จริง ๆ แล้วเมื่อถึงวันนั้นจริง ๆ เราอาจจะไม่ได้มีความสุขแบบนั้นก็ได้

เราจะต้องฝึกตัวเองให้อยู่กับความจริงมากหน่อย ไม่โลกสวยเกินไปหรือคิดลบมากเกินไปก็คือ เรามีสิทธิที่จะฝันได้ แต่ต้องเผื่อใจไว้หน่อยว่าถ้ามันไม่ได้เป็นแบบนั้นจริง ๆ มันจะเป็นยังไง การโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ พอทำบ่อย ๆ เข้ามันจะกลายเรื่องที่เชื่อขึ้นมาจริง ๆ แล้วก็จะอยู่ในโลกที่สร้างขึ้นมาจากคำโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้น

ประเด็นสำคัญก็คือไม่ว่าจะไม่การโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อย่าโกหกเลย ใช้ชีวิตอยู่บนความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด การโกหกมีได้หลายลักษณะและวัตถุประสงค์ เช่น อาจโกหกเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ อาจโกหกเพื่อไม่ทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่น อาจโกหกโดยปิดบังความจริงบางส่วนไว้ และอาจโกหกแม้กับตัวเองเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง

การโกหก เป็นการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดของตนเองหรือของผู้อื่น อาจให้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่เป็นการทำลายคุณค่าของผู้โกหกในระยะยาว ปัญหาจะยิ่งพัวพันไม่จบสิ้นหากต้องโกหกในเรื่องใหม่ เพื่อปกปิดสิ่งที่ได้เคยโกหกไว้ ใครก็ตามที่เสียคุณค่าของตนเองไปในการโกหก จะมีความเปราะบางและเสียความเป็นตัวตนได้ง่าย เมื่อต้องประสบกับปัญหาที่ไม่สามารถอาศัยการโกหกแก้ไขได้ ผู้เขียนกล่าวว่า กฎการดำเนินชีวิตในข้อที่ 4 (เปรียบตัวเองกับเมื่อวาน) จะได้ผลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีความซื่อตรงต่อตัวเองมากเพียงใด

การแก้ไขปัญหาจากการโกหกควรทำดังนี้

1.เมื่อการโกหกจะส่งผลย้อนกลับมาทำร้ายคุณ ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดแต่ความจริง หรืออย่างน้อยจะต้องไม่โกหก

2.ถามตนเองว่ากำลังพยายามหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงเรื่องใดอยู่ มีอะไรที่เป็นอุปสรรคในการพูดความจริงทั้งกับตนเองและผู้อื่น แล้วอย่าไปให้ความสำคัญกับมันมากกว่าการพูดแต่ความจริง

หากชีวิตในตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่มันน่าจะเป็นได้ ให้ลองพูดความจริงดู หากติดอยู่กับคตินิยมอะไรสักอย่างลองพยายามพูดความจริง หากรู้สึกอ่อนแอและถูกปฏิเสธจนหลงทางและสับสน ลองพูดความจริง ทุกคนจงพูดความจริง หรืออย่างน้อยก็ไม่โกหก

กฎข้อที่ 9 สงสัยไว้ก่อนว่าคนที่คุณกำลังฟังอาจรู้บางสิ่งที่คุณไม่รู้

การฟังคือการใส่ใจ เมื่อรับฟังอย่างตั้งใจจะพบว่าสิ่งที่ได้ฟังนั้นน่าทึ่งมาก บางครั้งถ้าตั้งใจฟังคนอื่นให้ดี พวกเขาอาจจะบอกถึงขั้นว่า พวกเขามีปัญหาอะไร บางครั้งพวกเขาอาจเล่าด้วยว่า พวกเขาจะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร และบางครั้งมันยังช่วยแก้ไขบางปัญหาให้กับตัวของเราได้อีกด้วย บางครั้งต้องเปลี่ยนจากการที่เป็นคนเข้าใจทุกอย่าง ไปเป็นคนที่เข้าใจแค่บางอย่างทีละเรื่องแทน

คนเรามักเข้าใจว่าตนเองรู้เรื่องราวมากมาย ไม่ว่าจะโดยวุฒิการศึกษา หรือการค้นคว้าที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง จนบางครั้งดูถูกความคิดเห็นของคนอื่น ในการสนทนาใด ๆ ก็มักทำตนเป็นน้ำเต็มแก้ว ไม่รับฟังความคิดเห็นหรือข้อมูลใหม่ ๆ จากคนอื่น ตัดสินผู้อื่นตั้งแต่แรกว่ารู้น้อยกว่าตน จึงเสียโอกาสและพลาดโอกาสที่จะได้แนวคิดหรือความคิดใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มพูนความรู้ไปอย่างน่าเสียดาย

เราไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้จริงจังจากการพูด แต่สามารถเรียนรู้ได้มากจากการฟังมากกว่า ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คือ ต้องการให้ผู้อื่นฟังและเข้าใจในสิ่งที่พูด ดังนั้น หากเรายอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นอย่างตั้งใจ นอกจากจะเป็นการสนองความต้องการพื้นฐานของผู้พูดแล้ว ยังทำให้เข้าใจความคิดของเขาด้วย อีกทั้งยังช่วยสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น และสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกันอีกด้วย การสร้างทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดี สามารถทำได้ดังนี้

1.ตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้พูดหรือคู่สนทนากำลังกล่าว ด้วยความเข้าใจในพื้นฐานความคิด และบุคลิกลักษณะของเขา

2.สรุปเนื้อหาสาระสำคัญของเรื่องที่ได้ฟัง และถามกลับไปเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นถูกต้องตามเจตนาของผู้พูดหรือไม่

3.หากมีข้อทักท้วง ให้ย้อนกลับไปในข้อแรก ที่เกี่ยวกับความเข้าใจในพื้นฐานความคิด และบุคลิกลักษณะของผู้พูด หากผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่ยอมรับฟังความคิดของผู้อื่น ก็ขอให้เข้าใจว่าเขามีความคิดเช่นนั้น ไม่จำเป็นต้องพยายามไปเปลี่ยนความคิดของเขา ซึ่งนอกจากจะสำเร็จยากแล้ว ยังอาจสร้างความขัดแย้งขึ้นมาโดยไม่จำเป็น

เวลามีบทสนทนากันถ้าเราตั้งใจฟัง เราจะได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้เสมอ ผู้เขียนบอกว่าให้ฝึกการสนทนากับตัวเอง คือแบ่งตัวเองออกเป็นสองข้าง แล้วลองให้ให้ทั้งสองข้างได้ถกเถียงกัน มันคล้ายว่ากำลังรับฟังตัวเองในระหว่างการสนทนาเช่นนี้ เหมือที่คุณกำลังรับฟังอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วเราจะค้นพบความจริงอะไรบางอย่างเสมอ

ความจำเป็นเครื่องมือ ความจำเป็นแค่เครื่องนำทางของอดีตไปสู่อนาคต หากจำได้ว่าเรื่องไม่ดีบางอย่างได้เกิดขึ้น และเดาได้ว่าเพราะอะไร ก็จะหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งไม่ดีนั้นเกิดขึ้นอีกได้  คนเราจำเป็นต้องคิด มิฉะนั้นจะเดินท่องไปอย่างคนตาบอดจนตกหลุม คนเราคิดว่าตัวเองคิดแต่นั่นไม่จริงเลย ส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์มากกว่า การคิดที่แท้จริงหาได้ยาก การคิดคือบทสนทนาภายในระหว่างมุมมองที่มีต่อโลก

ใจความสำคัญของบทนี้คือ การรับฟังที่มีประสิทธิภาพ ให้เรียนรู้ที่จะฟังอย่างตั้งใจ ไม่ให้คำแนะนำ ไม่ตัดสิน รับฟังทั้งตัวเราเองและคนที่กำลังพูดคุยอยู่ แล้วภูมิปัญญาของเราจะสูงขึ้น เพราะไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ความรู้ของตัวเราเองอีกต่อไป แต่ยังแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นรูปแบบสูงสุดของภูมิปัญญา จงคิดว่าบุคคลที่คุณกำลังรับฟังอาจรู้บางสิ่งที่คุณไม่รู้

กฎข้อที่ 10 พูดอะไรให้ชัดเจน

เมื่อเรามองดูโลก เรารับรู้แค่สิ่งที่เพียงพอ นั่นคือการทำให้โลกเรียบง่ายในระดับจิตไร้สำนึก ที่เน้นประโยชน์และสุดโต่ง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเราจะไม่หลงเข้าใจว่านั่นคือโลก ไม่สามารถเข้าใจมันได้ทุกอย่าง จะมองเห็นเฉพาะสิ่งที่มีผลกระทบกับตัวเองเท่านั้น เช่น การขับรถถ้ามันเป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น ก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเครื่องยนต์มันทำงานยังไง แต่เมื่อไหร่ที่มันหยุดทำงาน เราจะโดนบังคับให้มองไปถึงความซับซ้อนที่มันซ่อนอยู่ในเบื้องหลัง อย่างเช่นว่าเคยเอารถไปทำการบำรุงรักษาสม่ำเสมอหรือเปล่า เคยรู้สึกว่ามันผิดปกติแล้วไม่เอาไปซ่อมหรือเปล่า สุดท้ายก็ต้องหาวิธีแก้ไขสถานการณ์

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องเกี่ยวกับสามีภรรยา ที่เข้าไปปรึกษาปัญหาชีวิตคู่ หลาย ๆ คู่ปัญหามันไม่ได้เกิดจากเรื่องใหญ่เลย เช่น มีอยู่คู่หนึ่งที่มีปัญหาจนถึงขั้นที่กำลังจะเลิกกันแล้ว แต่ต้นตอของปัญหาเกิดจากการที่ภรรยาไม่ชอบที่สามีไม่โกนหนวด แต่ภรรยาไม่พูดตรง ๆ ว่าไม่ชอบ จนลามกลายไปปัญหาต่าง ๆ มากมายเช่น การไม่วางใจกัน ไม่ใส่ใจ ตามมาในที่สุด

หลาย ๆ ปัญหาเกิดจากการที่เราไม่พูดตรง ๆ ไม่พูดในสิ่งที่มันเกิดขึ้น หรือต้องการอะไรก็ไม่พูดออกไป เหมือนเวลาเราป่วย วิธีที่จะหายได้เร็วที่สุดคือพูดตรง ๆ ว่ามีอาการอะไร หรือเจ็บตรงไหนบ้าง ผู้เขียนแนะนำว่าบางทีหากเราไม่รู้ว่าจะพูดตรง ๆ ยังไง ให้เขียนออกมาแล้วลองอ่านดูว่ามันใช่สิ่งที่เราคิดมั้ย ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน หากขาดเป้าหมายไป เราจะจมอยู่ในความซับซ้อนของโลก

มีนิทานเด็กเรื่องหนึ่งชื่อว่า There are no such thing as dragons. มีแม่กับลูกชายอยู่ที่บ้าน ลูกชายตื่นขึ้นมาก็เจอมังกรอยู่ที่ปลายเท้าตัวเอง ก็ไปบอกแม่ว่ามีมังกรอยู่ปลายเท้าตน แม่ก็ตอบไปว่ามันไม่มีอะไรที่เรียกว่ามังกรหรอก เด็กก็เลยไปบอกมังกรว่ามันไม่มีอะไรที่เรียกว่ามังกรหรอก มังกรก็เลยทำให้ตัวใหญ่ขึ้น ลูกก็เอากลับไปบอกแม่ว่า แม่มันมีมังกรจริง ๆ นะ ตัวมันใหญ่ขึ้นด้วย แม่ก็บอกลูกชายเหมือนเดิมว่าในโลกจริงมันไม่มีมังกรหรอก มีแต่ในนิทาน ลูกก็กลับไปบอกมังกรอีก คร่าวนี้มังกรขยายตัวเองใหญ่ขึ้นเท่าบ้าน แล้วพาบ้านบินออกไป จนลูกก็กลับไปบอกแม่ว่า แม่มันมีมังกรจริง ๆ นะ ตอนนี้ตัวมันใหญ่เท่าบ้านแล้ว หันมาดูหน่อย คร่าวนี้แม่ก็รู้ละว่ามีมังกร แต่ก็ไม่รู้จะพูดยังไง เพราะเป็นคำที่ตัวเองสอนลูกเสมอว่ามันไม่มีสิ่งที่เรียกว่ามังกร สุดท้ายแม่จึงคร่ำครวญขึ้นมาว่า แล้วทำไมมันต้องทำตัวใหญ่ขนาดนั้นด้วย ลูกก็บอกกับแม่ว่า การที่มังกรมันตัวใหญ่ขึ้น มันก็แค่ต้องการให้เรายอมรับและมองเห็นมัน

ผู้เขียนเล่านิทานเรื่องนี้เพราะต้องการจะสื่อว่าจริง ๆ การพูดอะไรให้ชัดเจน ความต้องการมันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการที่ให้คนอื่นเห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ

เมื่อจำเป็นต้องขึ้นกล่าวบางอย่างที่ไม่ได้เตรียมมา ควรพูดให้กระชับ เอาแต่เนื้อๆ และจบให้ไว จะช่วยลดความประหม่าซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนว่าจะมีอะไรเกิดตามมา การพูดไปขณะที่ใจก็คิดถึงโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ทำให้สมองสับสนและความกระวนกระวายใจเพิ่มสูงขึ้น

วิธีการแก้ไข

1.เมื่อรู้สึกว่ามีความคิดสับสนเริ่มเข้ามารุมเร้า ควรพูดให้กระชับและรีบจบลงในขณะที่ยังไม่มีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น

2.เมื่อผ่านพ้นสถานการณ์นั้นมาแล้ว ควรเขียนลงไปในกระดาษหรือในบันทึกว่าอะไรที่มาสร้างความสับสนให้แก่เรา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และจะแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

การเขียนหรือพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้เรามีโอกาสอ่านซ้ำว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ครบถ้วนตามที่คิดหรือไม่ ดีกว่าการนั่งคิดซึ่งอาจตกหล่นข้อเท็จจริงบางอย่างไป หรืออาจผ่านเข้ามาในความคิดเร็วเกินไปจนไม่สังเกตความสำคัญของมัน เมื่อชีวิตมีปัญหาให้เผชิญหน้ากับมัน ความกังวลจะหมดลงได้ เมื่อเรารู้ว่าปัญหานั้นคืออะไร อย่ามองข้ามปัญหาเล็ก ๆ และซ่อนมันไว้ แต่ให้พูดออกไปให้ชัดเจนถึงสิ่งที่เจอ

ต้องพิจารณาว่ากำลังจะไปที่ไหนในชีวิต เพราะไม่สามารถไปถึงที่นั่นได้ถ้าไม่เคลื่อนที่ไปในทิศทางนั้น การเดิมตามยถากรรมจะไม่ช่วยให้ก้าวหน้า แต่มันกลับทำให้ผิดหวัง หงุดหงิด วิตกกังวล และไร้ซึ่งความสุข ทั้งยังยากที่จะเอาตัวรอดได้ จงพูดตรงตามที่ตั้งใจ เพื่อที่จะได้ค้นพบว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ ทำตามสิ่งที่พูด เพื่อที่จะได้ค้นพบว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นขอจงใส่ใจ สังเกตความผิดพลาด พูดมันออกมาให้ชัด พยายามแก้ไขมัน นั่นคือวิธีที่จะได้ค้นพบความหมายในชีวิต นั่นจะช่วยปกป้องจากโศกนาฎกรรมในชีวิต มันจะเป็นอื่นไปได้อย่างไรล่ะ จงพูดอะไรให้ชัดเจน

กฎข้อที่ 11 อย่าไปยุ่งเวลาที่เด็ก ๆ กำลังเล่นสเกตบอร์ด

คนเราไม่ได้หาทางลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด พวกเขาแสวงหาทางที่จะเพิ่มมันให้ได้ระดับที่ดี เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ และบางทีพวกเขาก็ทำให้มันยากขึ้นเล็กน้อยด้วย เพื่อที่จะได้พัฒนาต่อไป หากไม่ถูกจำกัด และได้รับการสนับสนุน ก็อาจจะอยากใช้ชีวิตที่เสี่ยงมากกว่า เพราะที่นั่นมีทั้งความมั่นใจในประสบการณ์ของเรา และได้เผชิญกับความโกลาหลที่ช่วยให้ได้พัฒนา เมื่อใดก็ตามที่เราเผชิญกับความเสี่ยงเล็กๆ น้อยๆ และสามารถผ่านมันไปได้อย่างปลอดภัย เราจะเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ และมีทักษะการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ในลักษณะคล้ายกันได้ดีขึ้น

ผู้ที่มีความสามารถในการแก้ปัญหา ย่อมดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ มากกว่าผู้ที่ไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหา เช่นเดียวกันกับการพัฒนาเด็กให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ผู้ปกครองไม่ควรทะนุถนอมเด็ก กลัวเด็กจะมีอันตรายเสียจนเด็กไม่รู้วิธีการดูแลตนเอง และไม่ได้ใช้ความคิดในวัยที่กำลังศึกษา สังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว

ผู้เขียนยกตัวอย่างการเล่นสเกตบอร์ด ซึ่งผู้ปกครองมักไม่ยอมให้เด็กเล่นเพราะกลัวอันตราย แต่หากผู้ปกครองสอนให้เด็กสวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัย และให้เด็กได้เล่นในสภาพแวดล้อมที่สมควร จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ ดีกว่าการสั่งห้ามปิดกั้นจนเด็กแอบไปลองเล่นกับเพื่อน โดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน หรือไปเล่นตามถนนจนเกิดอันตราย การที่ไปห้ามเด็ก ๆ ที่กำลังเล่นสเกตบอร์ด คุณไม่รู้เลยว่าคุณอาจจะกำลังไปตัดอนาคตของเด็กคนหนึ่ง ที่กำลังจะกลายเป็นแชมป์โลกสเกตบอร์ดได้

ตอนเป็นเด็กเรากล้าเสี่ยงกว่าผู้ใหญ่เยอะ เช่น ตอนเราหัดขี่จักรยานครั้งแรก เราจะมีความรู้สึกอยากขี่ให้ได้มากกว่ากลัวเจ็บ ดังนั้นเราเองไม่มีสิทธิที่จะไปห้าม หรือแทรกแซงความกล้า ความอยากที่จะเรียนรู้ของผู้อื่น

บทนี้มีพูดถึงประเด็นของความเป็นหญิงและชายในสังคม เป็นสิ่งที่อาจจะสร้างความเสื่อมเสียกันได้ เพราะมันเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศชายและหญิง ผู้เขียนคิดว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็นสิ่งที่ดี แต่เขาคิดว่ากลุ่มเรียกร้องความเท่าเทียมในชาติตะวันตก เริ่มจะพลักหลักการณ์ข้อนี้ไปไกลเกิน พวกเขาคิดจะจำกัดธรรมชาติของเพศชาย และกล่าวหาว่าการมีเพศชายเป็นผู้นำ เป็นต้นตอของปัญหาสังคมหลายอย่างในทุกวันนี้

พวกเขายังคิดว่าควรจะลดธรรมชาติความเป็นชายลงอีกด้วย ธรรมชาติของเพศชายมีความห้าวหาญ และความรุนแรงมากกว่าเพศหญิง ผู้ชายบางคนใช้ความรุนแรงในทางที่ผิด แต่ความห้าวหาญมันก็มีประโยชน์ เพราะมันทำให้มีการแข่งขัน และมีความกล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่ไม่มีใครกล้าทำมาก่อน เขายกตัวอย่างเด็กเล่นสเก็ตบอร์ดที่มหาลัย เด็กพวกนี้กล้าที่จะทดลองท่าใหม่ ๆ ที่อันตราย เพื่อพัฒนาความสามารถของตัวเอง

การที่สังคมหรือพ่อแม่ไม่อนุญาต หรือไม่ให้เด็กผู้ชายเรียนรู้ธรรมชาติของเพศตัวเอง จะทำให้เขาโตขึ้นเป็นผู้ชายที่อ่อนแอ และมันจะไม่ดีกับสังคมทั่วไป เพราะจำกัดกฎธรรมชาติเพศชายมากเกินไป สักวันหนึ่งมันอาจจะออกมาในรูปแบบที่มีความรุนแรงเกินควร ศาสตราจารย์คิดว่าการที่สังคมจะก้าวหน้า ไม่ควรทำลายธรรมชาติของเพศใดเพศหนึ่ง แต่ควรจะใช้จุดแข็งของแต่ละเพศให้ผสมผสานกันมากกว่า คือไม่แทรกแซงหรือพยายามเปลี่ยนแปลงเพศสภาพของเด็กไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

กฎข้อที่ 12 หยุดเพื่อลูบแมวที่คุณพบเจอตามถนนบ้าง

บางครั้งเราก็ต้องพบกับสิ่งไม่พึงประสงค์ เรามีทางเลือกว่าจะโกรธเกลียดโชคชะตาชีวิตของตนเอง เกลียดสังคมที่เหมือนคอยมากระหน่ำซ้ำเติมตนแต่ผู้เดียว หรือจะยอมรับว่าสิ่งไม่พึงประสงค์เหล่านั้นคือธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คุณสามารถเปลี่ยนความรู้สึกหดหู่เหล่านั้นได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

1.สังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว มองหาส่วนที่ดีเพื่อสร้างความสุขขึ้นในใจ

2.อาจเปลี่ยนชีวิตที่จำเจออกไปบ้าง เช่น นำสัตว์มาเลี้ยง หากาแฟกินในร้านที่ยังไม่เคยไป หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน

การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิต จะช่วยให้เข้าใจได้ว่า สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของคุณได้ด้วยการเริ่มค้นหาด้วยตัวคุณเอง ถ้าพูดถึงซุปเปอร์ฮีโร่ซุปเปอร์แมนคงเป็นระดับต้น ๆ ที่คนคิดถึง ในยุคแรกของซุปเปอร์แมน เขาเองมีพลังมหาศาลที่ไม่มีอะไรที่เขาไม่สามารถแก้ไขได้ นี่แหละทำให้เนื้อเรื่องมันน่าเบื่อ แต่หลังจากนั้นคนเขียนเรื่องให้ซุปเปอร์แมนมีจุดอ่อน และต้องดิ้นรนเพื่อจะเอาชนะอุปสรรคได้ ซุปเปอร์แมนเลยมีความน่าสนใจขึ้นมาอีกรอบ

ถ้ามาสะท้อนดูชีวิตคนเรา มันก็เต็มไปด้วยความรีบร้อนและความยากลำบาก แต่ความดิ้นรนในชีวิตก็ก่อให้เกิดความหมายของการเป็นมนุษย์ คนเราก็สามารถเลือกวิธีการตอบโต้ความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับชีวิตได้ ศาสตราจารย์ได้เล่าเรื่องของลูกสาวเขา ที่เป็นโรคข้อต่อตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ลูกสาวเขาจะมีความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าเขาไม่ต้องการให้ลูกเขาเจ็บปวดอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก แต่ประสบการณ์นี้ทำให้ลูกสาวโตขึ้นเป็นคนมีจิตใจที่เข้มแข็ง มันไม่มีทางรอดพ้นจากความยากลำบาก แต่เราสามารถรับมือมันได้ ด้วยกการเห็นความสวยงามของชีวิตเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน

คนที่มีความทุกข์หรือความเครียดมาก ๆ อย่างน้อยเราต้องปล่อยให้ตัวเองได้สัมผัสกับความสุขเล็ก ๆ ที่โผล่มาให้เห็นในจังหวะที่ไม่ทันตั้งตัวบ้างก็ได้ เปรียบเทียบอย่างเช่นเราเดินไปเจอลูกแมวก็ใช้เวลาสัก 1–2 นาทีเล่นกับมันบ้างก็ได้ แมวอาจจะเล่นกับเรา ขู่เราหรือวิ่งหนีเราไป แต่โมเม้นสั้นๆแบบนี้แม้มันจะไม่ได้ทำให้ปัญหาที่เรามีอยู่หายไปแต่มันทำให้เรากลับไปทนและเผชิญกับปัญหาที่เรามีอยู่ต่อไปได้ ถ้าเห็นเด็กเล่นอย่างมีความสุขก็ควรจะยิ้ม ถ้ามีแมวเดินมาหาก็ควรจะลูบหัวมันบ้าง.

สั่งซื้อหนังสือ “12 กฏที่ใช้ได้ตลอดชีวิต” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก