สรุปหนังสือ WRITE AND GROW RICH เขียนแล้วรวย
กลยุทธ์สู่ความสำเร็จของนักเขียนและสำนักพิมพ์ชื่อดัง แม้นักเขียนที่เขียนหนังสือเล่มนี้จะมีความแตกต่างกัน แต่พวกเขาก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทุกคนต่างก็เริ่มมาจากการไม่มีอะไร พวกเขาไม่ได้เกิดมาพร้อมชื่อเสียง ไม่ได้มีจำนวนผู้ติดตามมากมาย ล้มเหลวและลุกขึ้นมาใหม่นับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเขาก็ประสบความสำเร็จ
อลินกา รุทโควสกา และนักเขียนที่เป็นผู้ประกอบการอีก 23 คน จะมาบอกเล่าเรื่องราวจากชีวิตจริงว่าทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จได้ ในหนังสือเล่มนี้จะได้พบกับกลุ่มนักเขียนที่น่าทึ่ง พวกเขาเป็นทั้งนักการตลาด ครู และวิทยากร ที่ใช้พลังแห่งการเขียนหนุนหลังความสำเร็จ เขียนแล้วรวยคือคู่มือความรู้ที่สอดแทรกเคล็ดลับต่าง ๆ ไว้มากมาย จะได้เรียนรู้การสร้างสรรค์ถ้อยคำให้มีคุณค่ามากกว่าที่คาดคิด ถ้าหากชอบอ่านคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และความคิดเห็นอันหลากหลาย ที่มาในลักษณะคำพูดเรียบง่ายติดดิน จากผู้ประกอบการที่ทำได้มาแล้ว รับรองว่าจะชอบหนังสือเล่มนี้อย่างแน่นอน
ส่วนที่ 1 นักเขียน
อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางความสำเร็จคือ ความกลัว กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวการสูญเสีย กลัวว่าจะไม่สามารถทำได้ กลัวล้มเหลว แต่ความกลัวคือสิ่งลวง จะไม่มีวันทำสิ่งใดให้สำเร็จได้เลยถ้าไม่ลองทำดูก่อน ลองเปิดใจให้กับความเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหน้าใหม่หรือเป็นมืออาชีพ ก็สามารถพัฒนาและก้าวหน้าได้ แต่จะไม่มีวันเก่งด้านใดได้เลย ถ้าหากไม่ลองลงมือทำดูก่อน จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ถ้าไม่กล้าจ้องตากับความล้มเหลว ใจที่มุ่งมั่นคือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน มุ่งมั่น และศรัทธาต่อสิ่งที่ทำ
กุญแจดอกสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ การรู้ว่านักอ่านต้องการอะไร พวกเขาต้องการได้สิ่งนั้นด้วยวิธีไหน จะหาสิ่งนั้นได้ที่ไหน และเชื่อมโยงได้อย่างไร การเลือกสรรสิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะสมนั้นสำคัญกับชีวิตมาก จะทำอย่างไรหากต้องการโน้มน้าวให้ใครสักคนลองชิมอาหารใหม่ ๆ หรือกระตุ้นให้พวกเขาตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ในกรณีเช่นนี้การเลือกสรรถ้อยคำ ให้ตรงใจพวกเขาเป็นเรื่องสำคัญมาก ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาจะรู้สึกขอบคุณ และแชร์สิ่งที่อ่านให้กับคนอื่น ๆ ต่อไป
ปัญหาใหญ่สำหรับนักเขียนและผู้ประกอบการหลาย ๆ คนก็คือ มักใช้กลยุทธ์แบบเก้าอี้ขาเดียว เพื่อหวังให้ธุรกิจโตแต่กลับใช้แหล่งเงินทุนแหล่งเดียว และใช้ช่องทางสร้างฐานลูกค้าเพียงช่องทางเดียว อย่าลืมว่าแม่น้ำย่อมกำเนิดมาจากลำธารหลายสายไหลรวมกัน นี่ก็เป็นหลักการเดียวกับช่องทางรายได้ และช่องทางการสร้างฐานลูกค้า จงมีหนังสือให้มากกว่า 1 เล่ม มีซีรีย์ให้มากกว่า 1 เรื่อง แจกของฟรีเสียบ้างและแจกมากกว่า 1 ที่
โฟกัสในเรื่องราวและสถานที่ที่จะช่วยให้เห็นผลรวดเร็วขึ้น เพราะมันจะช่วยให้เติบโตเร็วขึ้น และเป็นมืออาชีพเร็วขึ้นด้วย กุญแจสำคัญของการตัดสินใจก็คือ ขอให้เริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง เพราะถ้าไม่เริ่มก็ไม่มีวันได้ชื่นชมกับความสำเร็จ ขอให้เริ่มเป็นพอ
ชั่วโมงการทำงานมีค่า คนส่วนใหญ่เพิ่มชั่วโมงการทำงาน เพราะพวกเขาอยากได้เงินมากขึ้น แต่แทนที่จะเพิ่มชั่วโมงการทำงาน ให้พยายามหาหนทางที่จะทำให้แต่ละชั่วโมงมีคุณค่ามากที่สุด ส่งผลมากที่สุด และมีความหมายมากที่สุด ชีวิตนี้ทำอะไรได้มากมายหลากหลาย ดังนั้น กุญแจสำคัญที่เปิดทางให้ทำสิ่งเหล่านั้นได้ จึงไม่ใช่การเพิ่มชั่วโมงการทำงาน แต่เป็นการเรียนรู้ว่าจะทำงานให้เสร็จมากขึ้นได้อย่างไร ในเวลาอันจำกัดที่มีอยู่ หากทำเช่นนี้จนเกิดความเชี่ยวชาญจะประสบความสำเร็จทุกอย่างตามที่ตั้งใจไว้
ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องของการทำมาหากิน หรือหารายได้แต่เพียงอย่างเดียว รางวัลที่แท้จริงของมันก็คือ คุณค่าทางศิลปะ ต้องถ่ายทอดความรู้ออกมาจากแรงทะยานอยากในตัวเองและทำในสิ่งที่รัก ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะมัวยึดติดอยู่กับการเขียนเอาใจตลาด ยึดกับการเขียนเลียนแบบหนังสือดัง แต่ปัญหาหลักของนักเขียนส่วนใหญ่ก็คือ พวกเขามักเขียนหนังสือที่ไม่มีใครอยากอ่าน และไม่ว่าจะอย่างไร พวกเขาก็พิมพ์ออกมาอยู่ดี ซึ่งพวกเขาก็เอาแต่หวังว่าโชคจะถาโถม จนมีคนอยากจ่ายเงินซื้อให้กับสิ่งที่ตนเขียน
ความคิดเกี่ยวกับเงินเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ขั้นต่อไปก็คือการสร้างคุณค่า สิ่งที่จะทำให้แตกต่างจากคนอื่นคือ การรู้จักทำให้เงินเพิ่มมูลค่าขึ้นต่างหาก คนส่วนใหญ่พลาดเพราะมัวแต่มุ่งหาเงิน มูลค่าในตัวสามารถสร้างได้ โดยการใช้ความสามารถ โดยการเสนอบริการที่เป็นประโยชน์ หรือใช้ศักยภาพในตัวเอง เพื่อกระตุ้นให้ผู้อื่นสร้างบริการอันเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้ ซึ่งความลับทางการตลาดและทางธุรกิจโดยทั่วไป หาใช้การโน้มน้าวให้คนอยากได้ในสิ่งที่มี มันคือการสร้างสิ่งที่พวกเขาต้องการขึ้นมาต่างหาก คำแนะนำคือพยายามเขียนหนังสือให้ดีขึ้น และทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินไปกับมันให้ได้
ความปรารถนาอันแรงกล้าจะขับเคลื่อนให้งานมีคุณภาพ ทักษะเป็นสิ่งที่เกิดจากการทำอะไรซ้ำ ๆ และการฝึกฝน ความปรารถนาอาจช่วยผลักดันให้นักเขียนมุ่งมั่น แม้จะต้องล้มเหลวติดต่อกันหลายปีก็ตาม และในที่สุดพวกเขาก็สามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นขึ้นมาได้ และคิดออกว่าจะเขียนหนังสือที่คนอ่านชอบได้อย่างไร แต่คนมักคิดกลับกันว่า ความมุ่งมั่นนั้นสำคัญมากกว่าสิ่งใด แม้ว่าจะไม่มีใครอยากอ่านงานของพวกเขาเลยก็ตาม
คุณภาพสำคัญพอ ๆ กับมูลค่า นักเขียนบางคนคิดว่าพวกเขา ต้องละเมียดกับการเขียนหนังสือของตัวเองให้มาก และใช้เวลาหลายปีอยู่กับมัน ดังนั้น จะต้องคัดสรรถ้อยคำให้ดีที่สุด เพื่อให้ทุกประโยคเจิดจรัส หนังสือเล่มนั้นจะได้มีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริงเลย เพราะเวลาที่เสียไปกับความละเมียดละไมกับการเขียน รวมทั้งความละเมียดที่ทุ่มเทไปนั้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับหนังสือ หรือไม่ได้ช่วยทำให้มันสนุกขึ้นได้ ถ้าเนื้อหาไม่น่าสนใจมากพอให้พวกเขาติดตามต่อไปเรื่อย ๆ พวกเขาก็ไม่มีทางเพลิดเพลินไปกับมันได้ แม้ว่าตอนที่เขียนนักเขียนจะเพลินสักแค่ไหนก็ตาม
มูลค่าและการทำด้วยใจรัก ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ร่วมกันได้ นักอ่านไม่ได้อยากได้ประสบการณ์ การอ่านที่แปลกใหม่หรือแปลกประหลาดมากมาย พวกเขาไม่อยากรู้สึกสับสนหรือตามไม่ทัน แต่อยากได้ความรู้สึกพึงพอใจ ชนิดที่สามารถดึงดูดให้ติดหนึบจนแทบลืมหายใจ อยากได้ตัวละครที่พวกเขาหลงรัก นี่คือส่วนผสมสำคัญ คือช่องว่างระหว่างเวลา และสถานที่อันชวนพิศวง ทำให้พวกเขาอยากพลิกหน้ากระดาษไปเรื่อย ๆ เพื่อตามดูว่าจะเกิดอะไรต่อ
ถ้าหากมองดูกลุ่มนักเขียนที่เลี้ยงชีพได้ด้วยอาชีพนี้ จะเห็นว่ามีจำนวนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่จะโชคดี ที่ความต้องการส่วนตัวบังเอิญประสานเข้ากับสิ่งที่นักอ่านชอบพอดี ส่วนนักเขียนคนอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จล้วนเป็นกลุ่มที่ยึดมั่นในหลักการเดียวที่ว่า จงตั้งใจเขียนในสิ่งที่นักอ่านชอบ
ปัจจัยหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จ กุญแจดอกสำคัญคือการทำต่อเนื่องไม่หยุด และเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทำได้แบบไม่หยุดยั้งก็คือ สนุกไปกับสิ่งที่ทำ ศิลปะในการเขียนหนังสือที่ขายดี บวกกับรายชื่ออีเมลอันยอดเยี่ยม คือมูลค่าที่ประเมินไม่ได้ มันมีค่ามากกว่าถ้อยคำที่เขียนลงในบล็อก หรือเขียนลงในหนังสือเป็นปี ๆ หากต้องการเป็นนักเรียนที่ประสบความสำเร็จ ต้องมีความสามารถด้านการขาย การตลาด และการดำเนินธุรกิจด้วย และถ้าหากทำสิ่งเหล่านี้ได้ดี อาจทำเงินได้มากกว่าการมุ่งแต่จะเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว
เครื่องมือทางการตลาดคือ การเขียนหน้าเว็บที่ช่วยให้ขายดี กับการสร้างรายชื่ออีเมลที่ยอดเยี่ยม หากมีหน้าเว็บที่ช่วยให้ขายสินค้าได้ดี มันก็จะช่วยเร่งให้รายชื่ออีเมลขยายออกไปได้เร็วขึ้นด้วย ความสามารถในการขายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือหัวใจสำคัญในการทำการตลาดทุกรูปแบบ การสร้างรายชื่ออีเมลให้มีประสิทธิภาพ ก็สามารถสะสมผู้สมัครได้
งานชิ้นเอกเพียงชิ้นเดียว ที่อัดแน่นไปด้วยความเป็นมืออาชีพ ปล่อยออกสู่ตลาดในช่วงเวลาที่เหมาะสม และทำการตลาดให้ดีอย่างต่อเนื่อง ย่อมทำรายได้ให้ไปชั่วชีวิต จงปฏิบัติต่อหนังสือเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่องานที่สำคัญต่อชีวิต ทุ่มเท เวลา เงิน และการเตรียมพร้อมกับมันให้มาก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกังวลในวินาทีที่กดปุ่มเผยแพร่ สิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้ทำด้วยใจรัก และการทุ่มเทอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าย่อมเสี่ยงต่อความล้มเหลวอย่างที่สุด
เมื่อรู้สึกขาดแรงจูงใจหรือรู้สึกท้อแท้ ให้หาอะไรสักอย่างทำ เมื่อง่วนอยู่กับการทำอะไรสักอย่าง จะรู้สึกเหมือนชีวิตได้รับการเติมเต็ม ความยากลำบากในเส้นทางธุรกิจมีทั้งขาขึ้นและขาลง บางครั้งมันก็บั่นทอนจิตใจไปบ้าง ถ้าเป็นอย่างนั้นจะพักจากการทำงานไปทำอย่างอื่นแทน ถ้าหากนั่งเอ้อระเหยไม่ทำอะไร รอคอยให้แรงจูงใจเดินมาหาเอง มันอาจไม่มีวันมาถึงได้ แต่ถ้าหากหันไปทำสิ่งที่สนใจ รักที่จะทำมัน เริ่มทำด้วยความชอบและความตั้งใจ ก็ไม่จำเป็นต้องไปขวนขวายหาแรงจูงใจจากภายนอกอีกต่อไป
คำแนะนำผู้ประกอบการหน้าใหม่ จงทำงานร่วมมือกับมืออาชีพที่มีประสบการณ์ นักเขียนส่วนใหญ่มักชอบทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง หรือไม่ก็หยิ่งเกินกว่าจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น แต่จะประหยัดหัวสมองและเวลาได้มาก ถ้าหากได้ความช่วยเหลือ จากคนที่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยลองทำมาก่อน ก็จะทำให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น
ส่วนที่ 2 ผู้สื่อสาร
อันที่จริงแล้วทุกคนต่างก็มีลักษณะการเขียนเฉพาะตัว ส่วนมากร่างแรกมันจะเป็นชิ้นงานที่เขียนขึ้นตามลำพัง สิ่งที่ทำก็คือเมื่อคิดโครงร่างหนังสือขึ้นมาได้ จะหาสถานที่สำหรับการเขียนร่างแรกออกมา จะต้องเขียนส่วนแรกให้ลุล่วงไปให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะต้องใช้เวลา 1 หรือ 2 สัปดาห์ ก็จะต้องเขียนฉบับร่างนั้นออกมาให้ได้ เมื่อได้ออกมาแล้วจึงจะสามารถจัดตารางงานที่เหลือออกมาเป็นกิจวัตรได้ การปลีกวิเวกตัวเองออกมา ในช่วงเขียนฉบับร่างนั้นสำคัญมาก
จดหมายข่าวเป็นช่องทางให้ได้สื่อสารกับนักอ่านโดยตรง มันส่งตรงไปยังอินบ็อกซ์ของพวกเขา ดังนั้น จะแน่ใจได้เลยว่าสิ่งที่พูดนั้น มีคนได้ยิน ได้อ่าน ได้ซึมซับ และพวกเขาก็คือกลุ่มคนที่ต้องการส่งต่อความคิดไปให้ ซึ่งนี่มันเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลังมาก
ความปรารถนาที่จะเขียนอะไรขึ้นมาสักอย่าง นี่คือสิ่งสำคัญมากเสียยิ่งกว่าการสังเกตว่า ความต้องการของตลาดในเวลานั้นคืออะไร เพราะความรู้เรื่องการตลาดไม่สามารถผลักดันให้ก้าวไปไกลนักหรอก โปรเจกต์หนังสือเป็นงานที่อาศัยทั้งแรงกาย แรงใจ และกินเวลายาวนาน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะต้องแน่ใจก่อนว่าอย่าเขียนถึงสิ่งนั้นจริง ๆ
เมื่อรู้สึกขาดแรงจูงใจ หนทางที่ดีที่สุดก็คือ ถอยเพื่อตั้งหลัก และนั่งสมาธิ การนั่งสมาธิก็คือ วิธีจัดการกับเน็ตเวิร์กภายในหัวของตัวเอง ให้กลับไปทำงานในโหมดปกติ วิธีปรับเน็ตเวิร์กในสมองให้กลับไปสู่โหมดปกตินี้ จริง ๆ แล้วก็อยู่บนพื้นฐานของการผ่อนคลาย และไม่คิดอะไร อาจทำได้ด้วยกันนั่งสมาธิ ออกไปเดินเล่น ไม่ฟังรายการบรรยายใด ๆ ปล่อยให้สมองอยู่นิ่ง ๆ และไม่เพิ่มเติมสิ่งใดลงไปสักครู่ เมื่อใดที่รู้สึกขาดแรงจูงใจ หรือรู้สึกว่างานล้นมือ ไม่กดดันตัวเองในช่วงนั้น ถอยออกมาตั้งหลัก ทำจิตใจให้สงบ
สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ ให้ออกไปสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ทีละก้าวทีละเล็กละน้อย มันไม่จำเป็นต้องเป็นก้าวย่างที่สมบูรณ์แบบ แต่ขอให้เริ่มสร้างตัวตนขึ้นมา เพราะว่าตัวตนบนโลกออนไลน์จะนำไปสู่ยอดผู้ติดตาม และผู้ติดตามออนไลน์จะช่วยได้ ในยามที่ตีพิมพ์หนังสือออกมารุ่นแรก อีกเรื่องหนึ่งก็คือไม่ว่าจะมีข้อจำกัดสักแค่ไหน ทั้งในเรื่องของเวลาหรือจำนวนงาน ขอให้อย่าลืมให้ความสำคัญกับการพบปะผู้คน เชื่อมโยงกับคนให้หลากหลาย โดยเฉพาะคนในสายงานเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่สานระหว่างทางนี้ จะช่วยให้ก้าวจากศูนย์ไปถึงร้อย เพราะจะไม่ต้องเสียเวลาเรียนซ้ำ ในสิ่งที่คนอื่นเคยทำมาแล้ว
ผลงานมากมายเหล่านั้นจะไม่มีความหมายเลย ถ้าหากไม่มีคอนเทนต์ที่ดีสำหรับผู้อ่านหรือผู้ฟัง ให้เขียนหนังสือแต่ละเล่มออกมา ด้วยความตั้งใจที่จะตอบสนองผู้อ่าน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และช่วยยกระดับความคิดด้านการทำธุรกิจหรือการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังเสนอข้อมูลมากมายให้อ่านได้ฟรี เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับคนที่คาดว่าจะเป็นลูกค้า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะสามารถเห็นได้ว่า พวกเขาจะได้รับอะไรบ้าง อาจซื้อหนังสือไป และไม่มีทางรู้ว่าคอนเท้นต์ฟรีที่เสนอไปนั้น อาจจะเป็นใบเบิกทางที่ทำให้ใครบางคน เกิดเป็นความประทับใจก็ได้
ส่วนสำคัญของการสร้างคอนเท้นต์ที่มีคุณค่าก็คือ จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มความรู้ ยิ่งมีความรู้เฉพาะด้านมากขึ้นเท่าไหร่ ก็สามารถแชร์มันออกไปให้ผู้ติดตามได้มากขึ้นเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วปัจจัยหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จ จะเป็นการสร้างเครือข่ายทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากพวกเขา บางคนได้แบ่งปันประสบการณ์ ที่ทำให้เปลี่ยนวิธีการทำผังงาน หรือทำให้รู้จักการวิจารณ์แผนงาน เพื่อการเติบโตในอนาคต
ส่วนที่ 3 นักการตลาด
ความแตกต่างระหว่างการเป็นนักเขียนและนักเขียนอาชีพ ศิลปะในการเขียนในแบบฉบับนักเขียน พวกเขาสามารถสร้างวลี ประโยคที่มีความลุ่มลึก
นักเขียนอาชีพก็คือ นักเขียนที่ตัดสินใจแล้วว่า จะก้าวเข้ามามีบทบาทเฉพาะในอุตสาหกรรมการพิมพ์ การเป็นนักเขียนเฉย ๆ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก มันเป็นมิติที่จะมีชีวิตยอดเยี่ยม และเป็นการใช้เวลาที่ดี นักเขียนจะเขียน นักเขียนที่เชี่ยวชาญจะได้เงินจากการเขียนด้วย ส่วนนักเขียนอาชีพก็เขียนเหมือนกัน อีกทั้งพวกเขายังทำงานเหมือนแชมป์ ที่ต้องคอยป้องกันตำแหน่งให้กับหนังสือของตัวเอง ด้วยการกระโดดจากนักเขียนมาเป็นนักเขียนอาชีพนั้น ไม่ได้หมายความว่าแค่ตีพิมพ์หนังสือที่เขียนออกมาให้ได้ แต่มันหมายความว่า ต้องจ่ายเงินให้คนอื่นเพื่อเปลี่ยนถ้อยคำ ให้ออกมาเป็นรูปเล่มให้ได้ด้วย ซึ่งมันต่างกันมาก
นักเขียนอาชีพคือ คนที่มีส่วนร่วมเต็มตัวในอุตสาหกรรมการพิมพ์ ด้านประสานงาน ด้านธุรกิจ การเงิน และการตลาด นักเขียนอาชีพจะโปรโมทผลงานของตัวเอง และติดต่อกับนักอ่านของพวกเขา นักเขียนอาชีพย่อมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ แม้ว่าเขาจะรู้สึกอึดอัดบ้างก็ตาม และยินดีพบปะพูดคุยกับนักอ่านที่ติดตามพวกเขา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ
การเป็นนักเขียนอาชีพหมายถึง การที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจการพิมพ์ การทำธุรกิจ เป็นงานที่ใช้เวลา ความตั้งใจ การอุทิศตน และเงิน การเขียนต้องการปัจจัยเหล่านี้ ด้วยความแตกต่างระหว่างนักเขียน และนักเขียนอาชีพก็คือ คนหนึ่งเขียนอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ในขณะที่มีคนเขียนแบบออกไปเผชิญโลก เผชิญหน้ากับทุกคน ในการผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ให้สละช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อโปรโมทตัวเองในฐานะนักเขียน
ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากนักเขียนที่ประสบความสำเร็จหลายท่านดังนี้
1.นักเขียนที่ประสบความสำเร็จใช้เวลาทุกวันไปกับการเขียน
2.นักเขียนที่ประสบความสำเร็จใช้เวลาทุกวันไปในการโปรโมทสิ่งที่พวกเขาเขียนไปแล้ว
3.นักเขียนที่ประสบความสำเร็จจะถามความคิดเห็นของผู้อื่นอยู่เสมอ
4.นักเขียนที่ประสบความสำเร็จจะเก็บเอาความเห็นเหล่านั้นมาคิดวิเคราะห์อย่างแท้จริงพร้อมกับวาง eco และความต้องการของตัวเองลงเสีย
5.นักเขียนที่ประสบความสำเร็จใช้เวลาเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์เท่าที่จะทำได้
6.นักเขียนที่ประสบความสำเร็จจะเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมการพิมพ์และแวดวงการพิมพ์
7.นักเขียนที่ประสบความสำเร็จจะไม่ล้มเลิกแม้จะรู้สึกไม่พอใจเบื่อหรือยากลำบาก
8.นักเขียนที่ประสบความสำเร็จจะหมั่นอ่านหนังสือในแนวเดียวกับที่เขาเขียน
9.นักเขียนที่ประสบความสำเร็จจะรู้เสมอว่าหนังสือในหมวดหมู่เดียวกับที่เขาเขียนนั้นมีเล่มใดสำคัญและนักเขียนเหล่านั้นคือใครบ้าง
นี่เป็นตัวอย่างของรายการสิ่งที่อาจจะอยากทำหรือตั้งใจจะทำ
ตั้งใจจะทำหรือกำลังจะทำสิ่งต่อไปนี้
1.ส่งใบเสนอชื่อตัวเองเป็นผู้พูดในงานประชุมสัมมนา
2.ส่งอีเมลไปขอให้นักเขียนรีวิวเขียนเกี่ยวกับหนังสือของตัวเอง
3.โทรไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ท่านอื่นเพื่อให้เขียนคำนิยมให้กับหนังสือของตัวเอง
4.เขียนบทความหรือบล็อกเพื่อโปรโมทคำแนะนำหรือหนังสือของตัวเอง
อยากจะไม่ใช้เวลาหรือเงินเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ ทันทีแต่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
1.ติดต่อร้านหนังสือและห้องสมุดเพื่อขอให้พวกเขาสั่งหนังสือของตัวเอง
2.เขียนหนังสือเล่มถัดไป
3.หลายสิ่งจากรายการความตั้งใจย่อมมาจากรายการสิ่งที่อยากทำ
ระบบในการตีพิมพ์หนังสือ ระบบเก็บรายชื่อผู้ที่สมัครสมาชิก นี่คือส่วนสำคัญของความสำเร็จ เมื่อสามารถส่งอีเมล และถ่ายทอดทุกอย่างที่อยากพูดออกไปได้ เช่น พูดเรื่องสินค้าตัวใหม่ หนังสือเล่มใหม่ การฝึกอบรมที่จัด วีดีโอที่เตรียมไว้ ก็สามารถทำได้ จะสามารถกระจายข่าวสารให้คนจำนวนมากฟังได้ ด้วยการสื่อสารในครั้งเดียว วิธีนี้จะทำให้มีอิสรภาพทางการเงิน จากจุดเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ
กุญแจดอกสำคัญสำหรับความสำเร็จ ประการแรกมีการแข่งขันมากมายไปทุกที่ สิ่งที่ควรโฟกัสก็คือ เมื่อต้องเอาหนังสือไปแข่งขันกับคนอื่น ต้องรักษาคุณภาพให้โดดเด่น จะให้ข้อมูลพื้น ๆ ไม่ได้ หากได้เสียงตอบรับที่ดีจากสังคม ยอดขายจะดีตามไปด้วย หนังสือเล่มนั้นจะเป็นหนังสือขายดี ทุกอย่างเพิ่มต้นด้วยการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีคุณภาพ
ประการที่ 2 ส่งต่อมูลค่าไปยังตลาดและลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ควรใส่ใจในการมอบข้อมูลอันน่าประทับใจให้แก่กลุ่มผู้อ่าน เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้ตั้งใจฟัง ในสิ่งที่อยากบอก อยากเล่าให้ฟัง ลองคิดกลับกันว่า ถ้าเป็นตัวเองจะติดตามนักเขียนแบบไหน และเพราะอะไร กำลังมองหาอะไร เมื่อกดติดตามใครสักคนจำเป็นต้องจัดเตรียม และเรียบเรียงข้อมูลให้ดีก่อน ที่จะส่งต่อออกไปยังกลุ่มผู้อ่านหรือผู้ฟัง
ประการที่ 3 คือการมองหาทางแก้ไข สำหรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป ถ้าหากมองหาทางแก้ไขให้กับปัญหา ที่คนส่วนใหญ่กำลังเผชิญได้ ก็มีบางอย่างให้ขาย มีบางอย่างให้พูดถึง และเป็นสิ่งที่พวกเขาพร้อมจะรับฟังด้วย ถ้าหากปัญหานั้นสำคัญสำหรับพวกเขาจริง ๆ จะไม่มีวันคว้างเลย เพราะจะพูดถึงมันไปได้อีกหลายปีตามที่ต้องการ ดังนั้น หากหาปัญหาแบบนี้เจอแล้วก็ตั้งตัวได้เลย
การพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเองคือความผิดพลาด เพราะมันทำให้เหมือนถอยหลังเข้าคลอง ความผิดพลาดนั้นอาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นการทำปกหนังสือ สิ่งที่ทำก็เพียงแค่พูดคุยกับคนออกแบบ ปล่อยให้ดีไซเนอร์และผู้เชี่ยวชาญออกแบบ พร้อมทั้งส่งตัวอย่างปกให้ดู จากนั้นก็ลองทำโพลง่าย ๆ ถามในโซเชียลเพื่อดูว่าคนชอบปกไหนที่สุด สรุปว่าก็แค่ปล่อยให้กลุ่มเป้าหมายช่วยฟันธง ให้ปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ทำงานของเขาเท่านั้นเอง ปล่อยให้คนอื่นทำงานที่พวกเขาเก่งกว่า และมันให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างสุด ๆ มันช่วยให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น
หรือว่าทำตารางการเขียน มันอาจไม่เป็นไปตามนั้น 100% ต้องแบ่งงานออกเป็นช่วงเวลาที่แน่นอน สมมุติว่าอยากเขียนงานชิ้นนี้ให้เสร็จภายใน 2 เดือน ก็จะหารจำนวนคำด้วย 60 และทำเป้าหมายจำนวนคำที่เขียนต่อวันให้ได้ เพียงคิดว่าจำเป็นต้องนั่งทำงานทุกวันเป็นเวลาแค่ 30 นาที และเมื่อครบ 60 วันก็เขียนหนังสือเสร็จแล้ว 1 เล่ม ถือเป็นผลงานที่เหลือเชื่อเลยว่าไหม
การแบ่งงานทั้งหมดที่ต้องทำออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้ผลดีมาก เมื่อมีตารางให้ยึดถือตามนั้นทำไปทุกวัน แม้ว่าบางครั้งการต้องนั่งลงแล้วเขียนอาจเป็นเรื่องทรมานบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเรื่องราวอื่น ๆ เกิดขึ้นรอบตัวเต็มไปหมด เมื่อมีตารางงานจะรู้ได้ทันทีว่า หนังสือจะเป็นเล่มได้เมื่อไหร่ เมื่อเวลาผ่านไปครบ 60 วัน อย่างน้อยจะมีร่างแรกไว้ในมือเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้หมายความว่า จำเป็นต้องมีชิ้นงานที่สมบูรณ์แบบเมื่อถึงเวลานั้น
ก่อนอื่นให้ถามตัวเองว่า ใช้เวลาทำการตลาดให้กับหนังสือเล่มหนึ่งมากไปหรือเปล่า ทั้งที่มันเป็นหนังสือที่ขายไม่ได้ หนังสือบางเล่มต้องทำใจ และปล่อยวางเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ คำแนะนำข้อที่ 2 ก็คือ ถ้ารู้สึกว่ากำลังดิ้นรนเขียนหนังสือที่ไม่ได้มีกลุ่มคนอ่านจำนวนมาก หรือเนื้อหาในหนังสือไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่คนส่วนใหญ่มี แถมยังไม่ยอมเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด ก็จะต้องเหนื่อยเพื่อผลักดันยอดขาย และเพื่อให้เงินไหลเข้ามามากขึ้น เช่น เขียนหนังสือเกี่ยวกับการดูแลผิวพรรณออกมาหลายเล่มหน่อย จากนั้นก็ทำวีดีโอในหัวข้อที่สนับสนุนกัน ทั้งยังเขียนบล็อกเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องออกมาวางขายด้วย ก็จะทำการตลาดให้กับหนังสือ และให้กับตัวเองได้ง่ายขึ้นมาก
จากประสบการณ์นักเขียนหลายร้อยคน ที่ได้พบเจอมาเป็นเวลาหลายปี มีความผิดพลาด 2 ข้อใหญ่ ๆ ที่เห็นก็คือ การที่พวกเขาขาดความชัดเจน และการที่ไม่ยอมสละทั้งเงิน รวมทั้งเวลาไปกับการทำการตลาด ยอมลงทุนเวลาและเงินเพื่อมองหาความช่วยเหลือ และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ จะได้มองเห็นแนวทางและก้าวไปข้างหน้า เพื่อมุ่งสู่การเดินทางที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดว่าทำไม่ได้ แทนที่จะทำเช่นนั้น อย่ากดดันตัวเองให้มากจนเกินไป ควรให้อภัยตัวเอง ขอบคุณตัวเอง และเริ่มต้นจากจุดที่ยืนอยู่
ส่วนที่ 4 ครู
มีคนกล่าวไว้ว่า ตอนแรกคนมักจะถามว่าทำแบบนี้ทำไม อีกไม่นานพวกเขาจะต้องถามว่าทำแบบนี้ได้ยังไง มีหลายอย่างที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่ถึงเวลาต้องจ้างโค้ช ตัวอย่างเช่น โค้ชบอกให้สร้างระบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมา อีกนัยหนึ่งก็คือ กระบวนการที่สามารถขายสินค้าได้ โชว์ให้พวกเขาเห็นว่า พวกเขาจะสร้างนามบัตรใบใหญ่ของตัวเองขึ้นมาได้อย่างไร
เริ่มต้นด้วยการทำแผนงานสำหรับการเขียนหนังสือขึ้นมา เป็นแผนงานและซีดีที่แสดงให้ลูกค้าเห็นว่า จะเขียนหนังสือขึ้นมาได้อย่างไร วางจำหน่ายผ่านช่องทางอีเมล ในเรื่องการทำธุรกิจออนไลน์ และการจัดสัมมนาทางไกล โค้ชก็บอกว่าให้เริ่มทำกรุ๊ปบนเฟสบุ๊คก่อน เพื่อที่จะได้แน่ใจว่าคนที่กดสมัครเข้ามา สนใจเรื่องการเขียนจริง ๆ แล้วก็สามารถเชิญพวกเขาเข้ากลุ่มได้ด้วย
สำหรับนักเขียนมือใหม่จริง ๆ มันควรเป็นเรื่องขนาดสั้นสัก 60 หรือ 100 หน้า และควรเขียนออกมาจากบ้านก่อน เพราะการเขียนเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล คงยากที่จะให้ใครมานั่งเขียนในห้องประชุมโรงแรมใหญ่ ๆ ต่อจากนั้นจึงจะแสดงให้ได้เห็นถึงความอัศจรรย์ ของโลกแห่งการเขียนและการตีพิมพ์ รวมทั้งบอกสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์และวิธีเขียนคำโฆษณา
จงให้ความรู้แก่ผู้อื่นก่อน แล้วเงินจะไหลเข้ามาเอง แม้ว่าจะไม่มีตำแหน่งรับรอง แต่ทุกคนล้วนเป็นครูได้ เมื่อมีข้อความที่ต้องการแบ่งปัน จงออกไปแบ่งปัน ไม่ว่าจะด้วยการเขียนหนังสือ การพูด หรือการเขียนบล็อก อย่าเก็บถ้อยคำเหล่านั้นไว้กับตัวเอง จงเผยแพร่ออกไป และเมื่อทำอย่างสม่ำเสมอด้วยความตั้งใจจริง ทั้งยังคอยติดตามผลเป็นประจำ จะสามารถสร้างธุรกิจ และความสำเร็จได้จากการทำเช่นนี้
สำหรับไอเดียเกี่ยวกับการพิมพ์หนังสือขายเอง เริ่มต้นด้วยการหาหัวข้อที่พอจะทำกำไรได้ ซึ่งเป็นหัวข้อที่กำลังอยู่ในกระแส และเขียนหนังสือเล่มนั้นออกมาโดยใช้นามแฝง ซึ่งมีปัจจัย 2 ประการ
ประการแรก ความมุ่งมั่น การตัดสินใจมาเป็นผู้ประกอบการ จึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องทำ
ประการที่ 2 แน่วแน่ ตัดธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใด ๆ ออก เหลือไว้แต่อันที่จะแน่วแน่กับมัน ทำสิ่งนี้สิ่งเดียว และมันก็ให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม
ถ้าหากงานล้นมือ สมุดจดงานจะเป็นตัวช่วยได้ จงจดรายการงานที่ต้องทำ และแยกออกเป็นหมวดหมู่ จัดลำดับตามความสำคัญก่อน-หลังดูว่า อะไรจะต้องทำทันที อะไรเก็บไว้ทำทีหลังได้ และบางงานก็สามารถกระจายให้ทีมทำได้ วิธีนี้จะทำให้รักษาสมดุลให้แก่จิตใจได้
ถ้าหากยังไม่สามารถหารายได้ จากหนังสือได้เป็นกอบเป็นกำอย่างที่ต้องการ อาจมีสาเหตุสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
หัวข้อ อาจเลือกหัวข้อเฉพาะด้านที่แคบมากเกินไป จนหากลุ่มคนที่สนใจได้ยาก ลองเข้าไปดูใน amazon ว่า หนังสือเล่มอื่นในหัวข้อคล้ายกันมีอะไรบ้าง และดูด้วยว่าขายดีหรือเปล่า ถ้าไม่นี่อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่า กลุ่มนักอ่านในหัวข้อนี้เล็กเกินไป เมื่อจะเขียนหนังสือเล่มต่อไป ลองหาหัวข้อที่กว้างกว่านั้น การเลือกหัวข้อให้กว้างขึ้น จะเป็นที่นิยมในตลาดเฉพาะทางนั้น อาจเป็นความคิดที่ดี จากนั้นเขียนออกมาหลาย ๆ เล่ม ในลักษณะที่แตกย่อยมาจากไอเดียหลักอีกที
เนื้อหา หนังสืออาจมีคุณภาพไม่ดีพอ ถ้าหนังสืออยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับเล่มอื่น ๆ ที่ทำออกมาแล้วขายดี ถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับมาเช็คเนื้อหาว่า มีคุณค่ามากพอหรือเปล่า ลองอ่านรีวิวเชิงลบที่เขียนถึงหนังสือ อาจจะได้แนวคิดในการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ ถ้าหากเป็นหนังสือประเภทให้ความรู้ พยายามให้แหล่งความรู้ที่เป็นประโยชน์ และเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
รูปลักษณ์ ถ้าหากหน้าตาหนังสือไม่เชิญชวนให้นักอ่านอยากคลิกปุ่มซื้อ ลองปรับชื่อเรื่อง คำโปรย หรือหน้าปกให้มันดูดึงดูดมากกว่านี้ได้ไหม ดูด้วยว่าจะสามารถเขียนคำบรรยายหนังสือ ด้วยภาษาที่มีพลังและจูงใจนักอ่านให้อยากซื้อได้มากกว่านี้หรือเปล่า อาจจะลองเปลี่ยนหมวดหมู่และคีย์เวิร์ด เพื่อให้ลูกค้าค้นหาเจอง่ายขึ้น
การตลาด ถ้าที่ผ่านมาไม่ได้ทำการตลาดให้กับหนังสือดีพอ และถ้าหากทำ 3 ข้อที่กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว หนังสือยังขายไม่ดี ก็ถึงเวลาแล้วที่จะทุ่มเทให้กับการทำการตลาดหนังสือ อาจให้ความร่วมมือกับคนอื่น ๆ ในตลาด เพื่อสร้างคุณค่าให้นักอ่านของพวกเขาด้วย
จัดโปรโมชั่นลดราคาบ้างเป็นครั้งคราวไป ลงชื่อเป็นวิทยากรตามงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากการลงโฆษณา หรือในสื่ออื่น ๆ ทำแผนการตลาด และจัดสรรงบประมาณ สำหรับประชาสัมพันธ์หนังสือเอาไว้
นักเขียนส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ จะใส่ใจกับปัจจัย 4 ข้อนี้ และมุ่งมั่นกับการเขียนหนังสือในหมวดหมู่เดียวกันออกมาให้ได้หลายเล่ม นี่คือการทดลองที่นักเขียนอาชีพหลายคนใช้แล้วได้ผลมาแล้ว
ส่วนที่ 5 เทรนเนอร์
ถ้าหากเขียนหนังสือเพราะอยากหาเงินได้เยอะ ๆ เตรียมตัวไว้ด้วยว่ารายได้จะขึ้น ๆ ลง ๆ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักเขียนก็คือ ต้องเข้าใจว่าวิธีการในการเผยแพร่หนังสือ สู่ท้องตลาดมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ต้องฟันธงให้ได้ว่าวิธีไหนเหมาะสมมากที่สุดสำหรับตัวเอง อย่าพยายามลอกเลียนแบบวิธีของนักเขียนคนอื่น เพียงเพราะเห็นว่าเขาใช้วิธีนั้นแล้วดี นักเขียนบางคนทำเงินจากยอดขายได้มากหลายคน รายได้หลักมาจากสินค้าตัวอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการเขียน เพราะความสำเร็จอาจเป็นผลมาจากการคิดนอกกรอบ อาจจะเป็นการทำโปรโมชั่น การสร้างพันธมิตร รวมทั้งให้บริการที่สนับสนุนนักเขียนคนอื่น ๆ
การผจญภัยทุกอย่างต้องมีการทดสอบและการทำพลาด หาให้เจอว่าอะไรเหมาะกับตัวเอง และแน่วแน่กับสิ่งนั้น เลิกทำกิจกรรมที่ดูดเงินแต่ไม่ให้ผลลัพธ์ใด ๆ แทนที่จะตั้งใจสร้างกลุ่มเป้าหมายขึ้นมาเอง และสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา ทำรายชื่อผู้ติดต่อทางอีเมล์เพื่อจะได้รู้ว่า ควรขายหนังสือให้ใคร จากนั้นค่อยลงโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมาย และใส่ความพยายามลงไป
การลงทุนที่ดีที่สุดอีกอย่างก็คือ การสร้างความสัมพันธ์อันดี การขยายเน็ตเวิร์ก และการร่วมมือกันทำงานกับผู้อื่น จะได้เรียนรู้มากมายเมื่อทำงานกับผู้อื่น สัมภาษณ์ผู้อื่น มีส่วนร่วมในงานประชุม การประชุมสุดยอด และการทำโปรเจคร่วมกันเหมือนหนังสือเล่มนี้ มีคำกล่าวว่าการสร้างครอบครัวนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนหลายคน ขอบอกว่าการจะเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนหลายคนเช่นเดียวกัน
ถ้างานชะงัก ให้ลองเขียน mind map ถ้าหากติดตรงส่วนของการเขียน ลองกลับไปเขียน mind map ดู หรือใช้วิธีระดมความคิดออกมา ส่วนใหญ่แล้วที่เขียนอะไรไม่ออก มันอาจจะเป็นเพราะว่า มีไอเดียผุดขึ้นมาในหัวมากเกินไป แต่ว่าจับเอาไว้ไม่อยู่สักอัน พวกมันกลายเป็นสิ่งที่เข้ามารบกวน เวลาที่ทำ mind map ให้หาไอเดียในการเขียนหนังสือหกเล่มถัดไปได้เลย หรือถ้ามีมากกว่านั้นก็ใส่ลงไปด้วย ทำ mind map ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่เหลืออะไรให้ทำ
มีสูตรในการเขียน ทำให้เสร็จดีกว่าทำให้สมบูรณ์แบบ นี่คือสูตรการเขียน นักเขียนส่วนใหญ่เป็นคนติดความสมบูรณ์แบบอยู่ไม่มากก็น้อย เมื่อถึงเวลาต้องสร้างสรรค์ มักคิดว่าต้องทำให้ดีที่สุดก่อน จะปล่อยออกไปให้คนทั้งโลกเห็นไม่ได้ แต่ความคิดเช่นนี้จะนำไปสู่เรื่องราวอันงดงามที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ และนั่นเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดเลย พวกเราต่างติดหนี้โลกใบนี้ที่ให้พรสวรรค์แก่เรามา ถ้าหนังสือสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งได้ จะไม่ยอมให้พวกเขาได้มีความสุขเลยหรือ วิธีที่ดีที่สุดในการเป็นนักเขียนที่ตีพิมพ์หนังสือด้วยตัวเองก็คือ มีความสามารถเปลี่ยนแปลงต้นฉบับที่ตีพิมพ์ไปแล้วได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ไม่มีอะไรจารึกไว้บนหิน พวกเราอยู่ในยุคดิจิทัลกันหมดแล้ว
ต้องสวมหมวกนักธุรกิจ ถ้าหากอยากทำเงินในฐานะนักเขียนจริง ๆ จะต้องถอยออกมา เพื่อที่จะสวมหมวกนักธุรกิจ และลงมือเขียนเหมือนกับว่ากำลังทำธุรกิจ เพราะมันเป็นอย่างนั้น ต้องมีตารางการผลิดที่ชัดเจน มีแผนว่าจะเขียนหนังสือกี่เล่มในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ต้องรู้ว่าหนังสือเหล่านั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร และนักอ่านจะติดต่อกับนักเขียนได้อย่างไร เพื่อที่จะได้บอกเล่าให้พวกเขาฟังต่อไปว่า จะออกหนังสือเล่มไหน หรือบริการอะไรอีกบ้าง หมายความว่าต้องมีเว็บไซต์ มีรายชื่อผู้ติดต่อทางอีเมล มีการวางแผนเพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น จากนั้นค่อยเขียนหนังสือหนึ่งบทออกมารวดเดียวจบ
นี่คือสิ่งที่อาจจะต้องไปคิดทบทวนให้ดี มีดังนี้
1.หมวดหมู่และตลาดใดที่สามารถเขียนหนังสือออกมาได้หลายเล่ม
2.ใครคือกลุ่มนักอ่านเป้าหมาย
3.สินค้าและบริการใดบ้างที่สามารถวางตลาดควบคู่ไปด้วยกันได้
4.สามารถเขียนหนังสือได้ปีละกี่เล่ม
5.จะสร้างเว็บไซต์ได้อย่างไร
6.จะใช้ช่องทางใดในการรับส่งอีเมล
7.จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายนักเขียนที่มีอยู่อย่างไร
สุดท้ายอย่ายอมแพ้ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนบนเส้นทางนักเขียน จงอย่ายอมแพ้ อาจอยู่ห่างจากความสำเร็จแค่ความกว้างของหนังสือปกเดียวก็ได้ ถ้าหากยอมแพ้ไปเสียก่อน จะไม่มีวันคว้าความสำเร็จได้อย่างที่ฝัน การลงมือทำอย่างต่อเนื่องคือสิ่งสำคัญ นี่คือกุญแจของความแตกต่างระหว่างนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ และนักเขียนที่ไม่ประสบความสำเร็จ
ควรขอบคุณทุกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ไม่มีความสำเร็จใดที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน จะทำพลาดบ้างก็ไม่เป็นไรเลย ทุกสิ่งที่ทำล้วนมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่เรียนมา หรือการค้นพบตัวเอง ไม่มีคำว่าเสียเวลากับสิ่งที่ทำไป ถ้าหากมองไปยังประโยชน์ของมัน จะต้องนึกขอบคุณสิ่งเหล่านั้น ที่หล่อหลอมตัวตนในวันนี้ ประการต่อมาจงทำตามความปรารถนาในใจ เชื่อว่าความสุขและความสำเร็จมาจากการทำงานที่รัก เมื่อได้ใช้พรสวรรค์อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และทำประโยชน์แก่ผู้อื่นจากพรสวรรค์นี้ ผลลัพธ์ที่ได้จะน่าจดจำ ท้ายที่สุดจงหาเส้นทางของตัวเอง การมองดูคนอื่นและคิดว่าพวกเขาช่างโชคดี อาจทำให้ไขว้เขวออกนองเส้นทางได้ ความจริงก็คือคนส่วนใหญ่ไม่ได้โชคดี ดังนั้น วิธีทำงานของเขาอาจไม่เหมาะสมกับเราก็ได้
ส่วนที่ 6 ทรานส์ฟอเมอร์
การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมมีผลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเขียน จริง ๆ การเขียนหนังสือที่บ้านก็ฟังดูดี หรือแอบเขียนสักชั่วโมงในที่ทำงาน แต่บางครั้งก็ต้องการออกไปไหนสักที่ เพื่อจะได้ตั้งสมาธิกับงานตรงหน้าอย่างเต็มที่ และปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์พรั่งพรูออกมา นี่คือเหตุผลว่าการจัดเวิร์กชอปแปลงร่างงานเขียน ในลักษณะกิจกรรมผ่อนคลายความคิด นั่นก็เพื่อเปิดโอกาสให้นักเขียนได้มีเวลา ทั้งยังมีพื้นที่ว่างอันห่างไกลจากชีวิตและงานประจำวัน จะได้สามารถเขียนงานออกมาได้ลื่นไหล
อาจจะเลือกไปทำงานที่ร้านกาแฟ ห้องสมุด ไปบ้านญาติก็ได้ถ้าพวกเขาไม่ว่าอะไร ถ้าอยู่ที่บ้านหรือสถานที่ที่คุ้นเคยจะเข้าสู่โหมดแห่งความจำเจ และอาจจะเผลอถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้สู่งานเขียนโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้บอกว่าต้องทำอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเขียนได้ แต่ว่ามันอาจจะยากหน่อยสำหรับคนส่วนใหญ่ การได้พัฒนาความคิดเรื่อง Transformation Quadrant ก่อนที่จะเขียนถ้อยคำใดก็ตามลงในหนังสือ ต้องตั้งสมาธิในแต่ละส่วน เพื่อทำให้ความคิดใสแจ๋ว และดูว่าเมื่อนำทุกส่วนมารวมกัน จะสร้างความสำเร็จในองค์รวมได้อย่างไร ทั้งยังส่งผลต่อนักอ่าน ต่อธุรกิจ และต่อโลกนี้อย่างไร การเขียนหนังสือออกมาสักเล่มแล้วพลาดไม่ใช่เรื่องตลก รวมทั้งการสร้างธุรกิจแล้วพลาดด้วย เพราะมันจะทำให้จมอยู่กับความทุกข์ แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ ถ้าหากเดินหน้าเร็วเกินไป โดยไม่สร้างสัดส่วนทั้ง 4 ของวงกลมออกมาให้สมดุลกัน
นักเขียนดังที่มีผลงานติดอันดับ New York Times พวกเขาจะบอกเลยว่า กว่าจะเขียนเสร็จใช้เวลาเป็นปี ๆ และบอกว่าการเขียนนั้นเป็นกระบวนการที่กินเวลามาก การรีบออกหนังสือเร็วเกินไป จะทำให้เสียความลุ่มลึกและคุณภาพ ซึ่งเป็น 2 สิ่งที่สำคัญต่อการเป็นนักเขียน ที่ประสบความสำเร็จระยะยาว
เมื่อใดก็ตามที่ชัดเจน และรู้ว่าจุดประสงค์ในการเขียน ตอบโจทย์ปัจจัยทั้ง 4 ด้านได้คือ ตัวเอง นักอ่าน ธุรกิจ และโลก ก็จะไม่มีวันหลงทาง มันก็เหมือนกับว่ามี GPS ประจำหนังสือ จะไม่ต้องลำบากอีก เพราะได้ตอบคำถามทำไมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว และรู้ว่าถ้อยคำจะส่งอิทธิพลเช่นไรออกมาได้บ้าง จะมีแรงจูงใจในการเขียนหนังสือใหม่ให้เสร็จ และสร้างธุรกิจให้โตขึ้นได้ ที่สำคัญที่สุดคือจะมั่นใจว่า กำลังเขียนหนังสือเล่มที่ใช่ ด้วยเหตุผลที่ใช่ และกำลังมุ่งไปในทิศทางที่ใช่
นักเขียนทุกคนต่างมีเส้นทางเดินเป็นของตัวเอง อาจจะคดเคี้ยวมากกว่าที่คาดไว้บ้างก็เป็นได้ อย่าเดินตามเงิน จงเดินหาความหมายของชีวิต เมื่อเดินเพื่อตามหาความหมายจะรู้สึกได้รับการเติมเต็มมากกว่าการเดินตามเงิน ถ้าได้ทำในสิ่งที่รักและคิดว่ามันสำคัญเงินจะตามมาเอง
การมีมุมมองที่แน่วแน่ จะช่วยทำให้ไม่ต้องเครียดกับตัวเองมากจนเกินไป เพราะจะไม่รู้สึกเหนื่อยล้าหรือสับสน จะมีอิสระในการหยุดพักสูดลมหายใจ เมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปดั่งใจคิด โดยเฉพาะในเรื่องของการเขียนในระยะยาว การรักษากรอบความคิดแบบนี้ไว้ จะทำให้ฟื้นพลังและกลับไปลุยใหม่อย่างมีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง