วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต

สั่งซื้อหนังสือ “วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต” (คลิ๊ก)

สรุปหนังสือ วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต

ค้นพบ วะบิ ซะบิ คือรากฐานของความรู้สึกต่อความงาม และธรรมชาติอันอ่อนโยนของคนญี่ปุ่น มันคือโลกทัศน์ที่นำทางพวกเขาในการเผชิญชีวิต แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพูดถึงกัน แต่อิทธิพลของมันก็อยู่ในทุกหนทุกแห่ง แม้ว่าจะมองไม่เห็นเป็นประจักษ์ที่ใดเลย ผู้คนรู้ได้เองโดยสัญชาตญาณว่า สิ่งใดใช้แทนความหมายของ วะบิ ซะบิ แต่น้อยคนนักที่จะอธิบายออกมาชัด ๆ เป็นคำพูด วะบิ ซะบิ เป็นปริศนาหน้าฉงน คอยกระซิบบอกภูมิปัญญาอันทรงพลัง ให้กับผู้ที่ชะลอตัวเองลงจนเนิบช้า พอที่จะสำรวจตรวจสอบ และเข้าถึงมันด้วยหัวใจเปิดกว้าง

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีชาวต่างชาติอีกหลายคน พยายามขุดค้นเข้าไปในโลกแห่ง วะบิ ซะบิ ซึ่งมักจะเน้นไปที่ลักษณะทางกายภาพของวัตถุ สิ่งของ และสภาพแวดล้อม ที่ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เพียงพอรู้สึกว่า วะบิ ซะบิ ล้ำลึกมากกว่าที่เคยเชื่อ มันหลั่งไหลไปสู่หลากหลายปริมณทลของชีวิต

ทำไมต้อง วะบิ ซะบิ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมเร่งรีบและกระหายความสำเร็จกันมากขึ้น ความเครียดได้ไต่ระดับขึ้นไปจนสูงทะลุหลังคา และก็ยิ่งหมกมุ่นกับเรื่องเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ รูปลักษณ์ภายนอก และสะสมวัตถุสิ่งของมากมายไม่รู้จักพอ ความรู้สึกไม่พอนี้ได้เติบใหญ่ขึ้นในใจ ทำให้ยิ่งเคี่ยวกรำตัวเองหนักขึ้นอีก และยิ่งสับสนวุ่นวายกับสารพันเรื่องราว ทำงานมากเกินไป หักโหมเกินไป และกำลังพังทลายอยู่ภายใน

จึงต้องการวิธีใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับความท้าทายนี้ และเครื่องมือที่จะช่วยให้มีชีวิตที่แท้จริง และเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้นึกย้อนไปถึงความงาม ที่แฝงเร้นความสงบนิ่ง และความรู้สึกชื่นชมความงามแบบญี่ปุ่น ซึ่งไม่เคยประสบพบเคยเห็นที่ใดในโลก มันบอกเป็นนัย เปรียบเหมือนมีบทเรียนชีวิตซุกซ่อนอยู่

นิยามสิ่งที่อธิบาย การพยายามกำหนดนิยามที่ชัดเจนของ วะบิ ซะบิ นั้นเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน มันก็เหมือนคำว่ารัก คิดว่ามันคืออะไร และรู้สึกกับมันอย่างไร แต่จะรู้ว่ามันคืออะไรจริง ๆ ก็ต่อเมื่อรู้สึกถึงมันด้วยตัวเองเท่านั้น ดังนั้น แทบจะร้อยทั้งร้อยการไปสนทนากับคนญี่ปุ่นในเรื่องนี้ มักจะเริ่มต้นว่า วะบิ ซะบิ มันอธิบายยาก ความจริงก็คือคนส่วนใหญ่ไม่เคยกำหนดนิยามที่แน่ชัด  และไม่คิดว่าจำเป็นต้องทำเช่นนั้นด้วย เพราะพวกเขาเติบโตมากับมัน มันคือวิธีที่พวกเขาใช้ดำเนินชีวิตบนโลก และชื่นชมความงาม มันฝังอยู่ในตัวตนที่พวกเขาเป็น

ความลับของ วะบิ ซะบิ เมื่อค่อย ๆ ลอกเปลือกห่อหุ้มความลี้ลับออกทีละชั้น นี่คือสิ่งที่เริ่มเข้าใจว่า ความงามที่แท้จริงของ วะบิ ซะบิ ไม่ได้อยู่ในวัตถุสิ่งของ แต่อยู่ในธรรมชาติของชีวิต

วะบิ ซะบิ คือการตอบสนองของปัญญาญาณต่อความงาม ที่สะท้อนให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิต

วะบิ ซะบิ คือการยอมรับ และชื่นชมต่อธรรมชาติของสรรพสิ่ง ที่ล้วนไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์ ไม่เสร็จสิ้น

วะบิ ซะบิ คือการรับรู้ถึงคุณค่าของความเรียบง่าย ความเนิบช้า และการดำเนินชีวิตไปตามธรรมชาติ

วะบิ ซะบิ คือสภาวะของหัวใจ มันคือการสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ แล้วก็ค่อย ๆ ผ่อนออกมา มันคือความรู้สึก ณ ชั่วขณะที่รู้สึกชื่นชมยินดีอย่างแท้จริง เป็นชั่วขณะที่สมบูรณ์แบบในรูปที่ไม่สมบูรณ์แบบ

บ่มเพาะ วะบิ ซะบิ ขึ้นมาได้โดยการตั้งใจมั่น ที่จะใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และปลูกฝังความเบิกบานไว้ในใจ จะประสบพบเจอ วะบิ ซะบิ เมื่อดำเนินชีวิตไปอย่างซื่อสัตย์ต่อตัวเองที่สุด และเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจที่สุด มันคือการลงสนามไปมีประสบการณ์กับโลกใบนี้ แทนที่จะนั่งตัดสินมันจากข้างสนาม มันคือการเปิดทางให้ความอ่อนไหว มันคือการใช้เวลาเนิ่นนาน ในการใส่ใจหลักการที่แสดงอยู่ ในระเบียบจะสอนบทเรียนชีวิตให้ปล่อยวางความสมบูรณ์แบบ และยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น และคอยเตือนใจให้มองหาความงาม ในทุกวันของชีวิตนั่นเอง

บทที่ 1 ที่มา คุณลักษณะ

สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ของ วะบิ ซะบิ ในทุกวันนี้

ถ้าไปขอให้คนญี่ปุ่นอธิบายเรื่อง วะบิ ซะบิ พวกเขาจะอึดอัดถ้าต้องให้นิยามมัน ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เข้าใจ แต่ความเข้าใจในเรื่องนี้เกิดจากปัญญาญาณ ได้สะท้อนออกมาในวิธีคิด และวิธีเรียนรู้ที่หลากหลาย มันอยู่นอกตำราเรียน คนญี่ปุ่นซึมซับโดยการพบเห็น และมีประสบการณ์กับมันเป็นประจำ การจะชื่นชมภูมิปัญญาโบราณนี้อย่างลึกซึ้งได้ จึงต้องตระหนักว่าเนื้อหาที่แท้จริงนั้น แฝงอยู่ในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้พูดออกมา

ที่มาของ วะบิ ซะบิ เกิดขึ้นจากคำศัพท์สองคำ ทั้งสองคำสื่อถึงคุณค่า ความงาม ถูกใช้ในวงวรรณกรรม วัฒนธรรม และศาสนา คำว่า วะบิ เกี่ยวกับการมองหาความงามในความเรียบง่าย ความร่ำรวยทางจิตวิญญาณ และความสงบงามที่เกิดจากการไม่ยึดติดกับโลกทางวัตถุ ส่วนคำว่า ซะบิ เกี่ยวกับกาลเวลาที่ล่วงไป นำพาให้สรรพสิ่งเติบโตขึ้น และเสื่อมสลายลง คืนวันที่ผันผ่านได้แปรเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นไปตามธรรมชาติของมัน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แนวคิดนี้ มีอิทธิพลอย่างยิ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และมันก็มีความหมายอันน่าทึ่งยิ่งขึ้น เมื่อนำมาใช้รวมกันว่า วะบิ ซะบิ

สายสัมพันธ์แห่งชา การค้นหาที่มาของคำว่า วะบิ ต้องเดินทางบุกฝ่าเข้าไปในดินแดนแห่งชา ผงสีเขียวที่เรียกว่ามัตฉะใช้ในพิธีชงชามาจนถึงทุกวันนี้ มันไม่มีในประเทศญี่ปุ่นมาก่อนเลย จนกระทั่งปี ค.ศ 1191 เมล็ดพันธุ์ชาเขียวถูกนำเข้ามาจากจีน ในยุคราชวงศ์ซ่ง โดยพระเชนรูปหนึ่งนามว่า เมียวอัง เอไซ ผู้ก่อตั้งสำนักรินไทร สำนักพุทธศาสนาแบบเซนในญี่ปุ่น ท่านนำเมล็ดพันธุ์ชาเขียวไปปลูกใน 3 แหล่ง หนึ่งในนั้นคือเมืองอูจิ (ใกล้กับเกียวโต) ที่ซึ่งในอีกศตวรรษต่อมากลายเป็นแหล่งผลิตชาเขียวชั้นยอดของโลก ในช่วงเวลานี้เองที่ลัทธิเชน และอุดมคติแห่งชาได้เผยแผ่ออกไปอย่างรวดเร็ว

ย้อนไปในศตวรรษที่ 15 มีพระเชนที่เป็นอาจารย์ชงชานามว่า มูราตะ ซูโก พบว่าอากัปกิริยาในการชงชาและดื่มชา สามารถสะท้อนถึงหลักปรัชญาของเซนได้ ดังนั้น จึงนับว่าเขาคือผู้ริเริ่มทำให้การชงและดื่มชาเป็นไปอย่างมีพิธีรีตอง การทำให้เรียบง่ายนี้ถูกยกระดับไปอีกขั้น โดยบุรุษนามว่า ทาเกโนะ โจโอ ผู้ได้เรียนรู้พิธีชงชาสืบทอดมาจากศิษย์เอก 2 คนของ มูราตะ ซูโก

ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 16 โจโอ เป็นกวีเขาถ่ายทอดอุดมคติแห่งชาด้วยการร่ายออกมาเป็นบทกวี เขาเปลี่ยนแปลงห้องจัดพิธีชงชา หันมาใช้วัสดุธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งได้ส่งอิทธิพลอย่างยิ่งต่อ เซ็น โนะ ริกิว นักธุรกิจและผู้จัดพิธีชงชาให้กับ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ หนึ่งในขุนศึกที่โด่งดังที่สุดของญี่ปุ่น ต่อมาไม่นาน เซ็น โนะ ริกิว ก็กลายเป็นที่รู้จักกันในนามบิดาแห่งชา

ความเรียบง่ายในฐานะความงามในอุดมคติ ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 16  พิธีชงชากลายเป็นงานสังคมยอดนิยม เป็นโอกาสให้คนรวยได้มาอวดความมั่งคั่ง ขุนศึก ฮิเดโยชิ โหมประโคมห้องทองคำสำหรับจัดพิธีชงชา ด้วยข้าวของเครื่องใช้หรูหราราคาแพง เซน โนะ ริกิว กำลังเริ่มต้นก่อการปฏิวัติเงียบ ๆ เพื่อพลิกไปสู่หลักการพื้นฐานของความงามในอุดมคติ

เขาลดขนาดพื้นที่ห้องลงอย่างชัดเจน ตัดทอนข้าวของเครื่องใช้ออกไปจนเหลือแค่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น คือพื้นที่ให้คนมานั่งด้วยกันสัมผัสธรรมชาติ กาต้มน้ำใบหนึ่งและภาชนะสามัญธรรมดา และเวลาสำหรับชา ในเวลาเดียวกัน ริกิว ได้ปฏิวัติวัฒนธรรมชา จากการบูชาความมั่งคั่งร่ำรวยให้กลายมาเป็นการเชิดชูความเรียบง่าย ซึ่งแตกต่างจากความงามของ ฮิเดโยชิ อย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ กระโจนออกจากธรรมเนียมนิยมของผู้คนในยุคนั้น ว่าอะไรคือสิ่งที่น่าปรารถนา ในยุคที่มหาชนต้องมัธยัสถ์รัดเข็มขัด

ที่มาของวะบิ แม้ว่า เซน โนะ ริกิว จะไม่ใช่ผู้ริเริ่มวิถีชงชา ในช่วงท้าย ๆ ของชีวิตเขาคือผู้นำปรัชญาแห่งความเรียบง่าย และความงามตามธรรมชาติมาสู่พิธีชงชา ซึ่งยังคงตรึงตราอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตราบจนทุกวันนี้ พิธีชงชาแบบ ริกิว จึงถูกเรียกว่า ชาวะบิ คำว่าวะบิแปลว่ารสชาติอ่อน ๆ มีรากศัพท์เชื่อมโยงกับความยากจน ขาดแคลน และสิ้นหวัง ในฐานะของคำศัพท์เกี่ยวกับสุนทรียะ ความงามแบบวะบินั้นแฝงไว้ด้วยโทนมืดมน มันคือความงามอันสูงส่งท่ามกลางความเป็นจริงอันโหดร้ายของชีวิต

วะบิ มีนัยยะถึงความสงบนิ่ง วะบิ ยังสามารถใช้อธิบายความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้ความงามในความเรียบง่าย มันคือความรู้สึกพึงพอใจอย่างเงียบ ๆ หลุดจากกับดักของโลกวัตถุนิยมภายนอก ท้ายที่สุด วะบิ คือชุดความคิดที่ยกย่องความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเรียบง่าย และความประหยัดอดออม ว่าเป็นหนทางสู่ความสงบสุข และความพึงพอใจในตัวเอง

ที่มาของซะบิ คำว่า ซะบิ แปลว่าคร่ำคร่า ดูเก่าแก่ และความเรียบหรู ตัวอักษรเดียวกันนี้แปลได้อีกความหมายว่า ความสุข สงบ เมื่อเวลาผ่านไป

คำว่า ซะบิ ถูกนำมาใช้สื่อถึงความงามอันรำลึก และสงบสุขที่เกิดขึ้นจากเวลาที่ผ่านเลยไป แต่กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัตถุโบราณ

ซะบิ เป็นภาวะที่กาลเวลาทำให้เกิด หาใช่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ให้คุณค่ากับความงามที่กลั่นออกมาจากกาลเวลา คือความงามที่ค่อย ๆ เผยออกมา หลังจากใช้งานไปสักระยะหนึ่งจนผุกร่อน

ซะบิ คือความงามที่เตือนใจให้เชื่อมโยงกับอดีต มองเห็นวัฏจักรชีวิตตามธรรมชาติ และเห็นความตายที่รออยู่เบื้องหน้า

กำเนิด วะบิ ซะบิ ด้วยใจที่มี วะบิ จึงจะเข้าถึงความงามของซะบิ 2 สิ่งนี้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาหลายยุคหลายสมัย แก่นของคำสอนนี้มีความเป็นมายาวนานหลายทศวรรษ แต่การนำ 2 คำนี้มารวมกันว่า วะบิ ซะบิ เพิ่งเกิดขึ้นและใช้กันเมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง วะบิ ซะบิ ปรากฏอยู่ทั้งในระดับของสติรู้ตัว และระดับลึกซึ้งในหัวใจ วะบิ ซะบิ กว้างไกลเกินกว่าความงามของวัตถุ หรือสภาพแวดล้อมแบบใดแบบหนึ่ง ที่คนคนหนึ่งตอบสนอง เมื่อพบเห็นมันเป็นความรู้สึก และมันจับต้องไม่ได้ วะบิ ซะบิ ของคนหนึ่ง จึงอาจไม่เหมือนกับของอีกคน เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์กับโลกด้วยวิธีต่างกัน

บทเรียนชีวิตจาก วะบิ ซะบิ มีรากฐานความคิดดังต่อไปนี้ โลกจะแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก เมื่อเรียนรู้ที่จะมองและเข้าไปมีประสบการณ์กับมันด้วยหัวใจ สรรพสิ่งรวมถึงตัวชีวิตเองด้วย ล้วนไม่เที่ยง ไม่เสร็จสิ้น ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ความสมบูรณ์แบบจึงเป็นเรื่องที่ไปไม่ได้ ความไม่สมบูรณ์แบบเป็นสภาวะธรรมของสรรพสิ่งรวมถึงตัวเอง มีความงาม คุณค่า และความประโลมใจอยู่ในความเรียบง่าย

วะบิ ซะบิ มันเป็นเครื่องเตือนใจว่า ความสงบนิ่ง ความเรียบง่าย และความงามจะช่วยให้อยู่กับทุกสถานการณ์ได้อย่างเต็มเปี่ยมในทุกขณะ และนี่แหละคือบทเรียนสำคัญ

วะบิ ซะบิ ที่เห็นและเป็นอยู่ในทุกวันนี้ ในยุคสมัยที่ถูกอัลกอริทึมแอบสอดส่องตลอดเวลา จนทุกแห่งทุกหนท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ทันทีที่ตื่นนอนจนกลับมาทิ้งตัวลงนอนอีกครั้ง ถูกป้อนด้วยข้อมูลสารพัด หลายคนใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตครุ่นคิดถึงชีวิตของคนอื่นมากกว่าจะสำรวจตรวจสอบชีวิตของตัวเอง บังคับให้ทำงานและใช้ชีวิตไปตามนั้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะรู้สึกหน่วงหนัก ถูกถมทับไม่มั่นคง ไม่เชื่อมโยง และสิ้นไร้เรี่ยวแรง ดวงตาและดวงใจจึงอ่อนล้าเต็มทน แล้วพาตัวเองไปอยู่ภายใต้แรงกดดันต่าง ๆ ว่าต้องบรรลุผลสำเร็จบ้าง ต้องลงมือทำบ้าง และครอบครองวัตถุสิ่งของบ้าง ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ได้ต้องการเลย สิ่งที่ฝืนตัวเองให้ออกไปไขว่คว้า มักจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่ภายในใจโหยหา จึงมาถึงจุดที่ต้องหยุด แล้วมองไปรอบ ๆ เพื่อตั้งสติ ก็ตัดสินใจด้วยตัวเองว่า อะไรคือสิ่งสำคัญกันแน่ ตรงจุดนี้นี่เองที่ วะบิ ซะบิ จะช่วยได้ ด้วยเหตุฉะนี้ภูมิปัญญาที่เก่าแก่หลายศตวรรษ จึงสำคัญอย่างยิ่งกับชีวิตในยุคปัจจุบัน

สู่หนทางใหม่ สิ่งที่จำเป็นต้องมีในตอนนี้ก็คือ หนทางใหม่ในการมองโลก และที่ทางบนโลกใบนี้ จำเป็นต้องมีทางรับมือกับความท้าทายในชีวิต ต้องมีวิธีดำเนินชีวิตอย่างตั้งมั่น มีสติ และมีกรอบการตัดสินใจว่าอะไรที่สำคัญ เพื่อจะได้เดินออกจากความทะยานอยากที่ไม่สิ้นสุด สิ่งทั้งหลายที่ต้องมีสามารถหาได้จากหลักปรัชญาของ วะบิ ซะบิ ไม่ใช่เพราะว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาที่พบเห็น แต่เพราะมันจะเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลง ถึงระดับรากฐานของการมองชีวิต วัตถุน้อยลงจิตใจมากขึ้น เร่งรีบน้อยลงผ่อนคลายมากขึ้น โกลาหลน้อยลงสงบเย็นมากขึ้น บริโภคน้อยลงสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น ซับซ้อนน้อยลงกระจ่างชัดมากขึ้น ตัดสินน้อยลงให้อภัยมากขึ้น อวดโอ่น้อยลงจริงแท้มากขึ้น ขัดขืนน้อยลงยืดหยุ่นมากขึ้น ควบคุมน้อยลงโอนอ่อนมากขึ้น ใช้สมองน้อยลงใช้หัวใจมากขึ้น

วะบิ ซะบิ คือภูมิปัญญาล้ำค่า ที่เชิดชูคุณค่าของความสงบ สอดคล้อง ความงาม ความไม่สมบูรณ์แบบ และจะช่วยให้เข้มแข็งอดทน เพื่อเผชิญหน้ากับทุกข์ทนของความเจ็บป่วยสมัยใหม่

บทที่ 2 เรียบง่ายและงดงาม

ขณะที่แนวความคิดเรื่องมินิมอลลิสม์ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้หลายสิ่ง แต่มันก็อาจจะพาให้หลงไปสู่ความสมบูรณ์แบบอีกชนิดหนึ่ง ความสมบูรณ์แบบชนิดที่จะทำให้โทษตัวเองว่า ทำไมถึงไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็พบว่าวิถีของมินิมอลลิสม์นั้นไม่เหมาะกับตัวเอง เพราะมีลูก มีสัตว์เลี้ยง และมีชีวิตที่แสนเหน็ดเหนื่อย แถมยังมีความคลั่งไคล้แปลก ๆ เช่น ชอบสะสมกาน้ำชาโบราณ เก็บหนังสือไว้เยอะกว่าห้องสมุดแถวบ้าน และเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ต้องล้มเลิกความเนี๊ยบทุกกระเบียด

แนวทางเลือกที่เหมาะสมคือความเรียบง่ายด้วยใจ (soulful simplicity) ความเรียบง่ายด้วยใจคือคำที่ใช้เรียกการเก็บกวาดบ้าน และตกแต่งบ้านด้วยความรัก โดยไม่ต้องทำให้มันมินิมอลแบบเป๊ะ ๆ และไม่ต้องใช้ความพยายามมากเกินไป มันเป็นวิธีการจัดระเบียบ และปรับพื้นที่ให้เข้ากับตัวเอง ซึ่งจะทำให้บ้านสวยพอจะต้อนรับแขกได้ ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่า มันน่าอยู่ด้วย ความเรียบง่ายด้วยใจ ช่วยให้ทำสิ่งที่อยู่อาศัยแบบใด ๆ ก็ตามให้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ โดยไม่ขึ้นกับขนาด พื้นที่ และงบประมาณ

วะบิ ซะบิ เตือนใจว่าบ้านต้องไม่เหมือนบ้านใคร บ้านมีไว้อยู่อาศัย และการอยู่อาศัยก็ไม่ใช่เรื่องของความเป็นระเบียบเรียบร้อยเพียงอย่างเดียว มันไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว มีเพียงชุดความคิด และคำถามเพื่อประกอบการพิจารณาจัดบ้าน

สายสัมพันธ์ทางอารมณ์ ในความเป็นจริง บ้านส่วนใหญ่มีข้าวของระเกะระกะ แม้ว่าทุกคนจะไม่ชอบก็ตาม การเริ่มสะสางสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยคือส่วนสำคัญ สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ยิ่งได้ทิ้งสิ่งของออกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ปลดปล่อยความคิดแง่ลบออกไปมากเท่านั้น ความรู้สึกขาดแคลน ยอมตายเพื่องาน ยึดติดกับตัวตนเดิม และอยากได้อยากมีชีวิตที่ไม่ใช่แบบของตัวเขาเอง และนี่คือจุดที่ วะบิ ซะบิ จะเข้ามาช่วยได้

เมื่อตระหนักว่าเป็นอย่างที่เป็น นั่นคือเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์แบบอันสมบูรณ์พร้อม มันจะทำให้ความอยากได้อยากมีวัตถุสิ่งของ ที่จะต้องนำมาใช้สร้างภาพลักษณ์ตัวเองลดน้อยลง และเหนือสิ่งอื่นใด ความเรียบง่ายด้วยใจภายในบ้าน เป็นเรื่องของตัวเอง การปรับเปลี่ยนบ้านให้เป็นสิ่งที่รัก เป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ มันเป็นเรื่องของสิ่งที่ดึงดูดได้ เรื่องของคุณภาพ ความลึกซึ้ง และทางเลือก แล้วหันมาดูสิ่งที่ทำได้ และสิ่งที่มีอยู่แล้ว บ้านจะเป็นพื้นที่แห่งการพักผ่อน เปิดต้อนรับเพื่อนได้ด้วย และเลี้ยงดูครอบครัว

ทำให้งาม มากิโกะ เฮสติงส์ นั่งอยู่ตรงหน้าแป้นหมุนปั้นดิน บนเก้าอี้ไม้เก่า ๆ กระดำกระด่าง มีริ้วรอยที่ช่างฝีมือฝากทิ้งไว้ ไหล่ของเธอเคลื่อนขึ้นและลงอย่างนุ่มนวล เพื่อก่อร่างก้อนดินตรงหน้าขึ้นมาเป็นรูปทรง งานแต่ละชิ้นคือหัตถศิลป์ที่เธอบรรจงสร้างขึ้นด้วยความรัก และสัมผัสแห่งความงามที่มีในตัวมาแต่กำเนิด ทุกวันนี้ มากิโกะ สร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นอย่างพิถีพิถัน เพื่อขายผ่านร้านออนไลน์ของเธอเอง และขายให้ลูกค้าที่เป็นองค์กร

เมื่อถูกถามถึงมุมมองของเธอต่อความงาม เธออธิบายถึงแนวคิดว่า ความเรียบง่ายในจุดหนึ่งช่วยทำให้เกิดรายละเอียดในจุดอื่น ๆ นอกเหนือจากการคำนึงถึงรูปทรง การตกแต่ง และสีสัน ข้อสังเกตที่สำคัญคือความงามแบบญี่ปุ่นนั้น ค้นพบได้ด้วยการเข้าไปมีประสบการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่มองเห็น

วะบิ ซะบิ อยู่ตรงไหน ชาวตะวันตกนำคำว่า วะบิ ซะบิ มาใช้กันสักพักหนึ่งแล้ว เพื่อเป็นคำคุณศัพท์อธิบายรสนิยมแบบหนึ่ง มันถูกใช้แทนสิ่งที่ดูหยาบ ๆ เป็นธรรมชาติ ในแง่ที่ยกย่องความไม่สมบูรณ์แบบของวัสดุ พื้นผิว และลักษณะตามธรรมชาติ ถ้าในแง่ของสีมักจะเป็นสีที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น สีเอิร์ธโทน เขียว ฟ้าหม่น เทา สนิม แต่การทำแบบนี้ยังไม่ใช่ วะบิ ซะบิ ซึ่งมีความลึกซึ้งกว่านี้

สไตล์ตามธรรมชาติเป็นอย่างไร ลองใช้เวลาสักครู่มองไปรอบ ๆ บ้าน แล้วคิดดูว่ามีตรงจุดไหนที่ให้พลัง จำไว้ว่ารูปลักษณ์ไม่ได้มีแค่สีสันเท่านั้น แต่ยังมาจากพื้นผิว รูปร่าง ขนาด แสง เงาด้วย

ถ้ารสนิยมเป็น ฮาเดะ หรือ อิคิ สไตล์การจัดบ้านแบบ วะบิ ซะบิ สามารถเพิ่มความสงบนิ่ง และสงบงามเข้าไปได้อีก เพื่อช่วยให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติมากขึ้น

ถ้ารสนิยมเป็น ชิบูอิ สไตล์การจัดบ้านแบบ วะบิ ซะบิ ใกล้เคียงกับธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะไม่ทันสังเกต ดังนั้น สามารถเสริมคุณลักษณะเหล่านี้เข้าไปอีกเล็กน้อย และแต่งเติมเรื่องเล่าให้มัน

ถ้ารสนิยมเป็น จิมิ สไตล์การจัดบ้านแบบ วะบิ ซะบิ น่าจะเพิ่มความอบอุ่น และหรูหราเข้าไปได้อีกนิดหนึ่ง

แนวทางที่บันดาลใจ แนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกันมาสรุปรวมเป็น 5 แนวทาง เพื่อให้ลองนำไปสำรวจชีวิตของตัวเอง ได้แก่ ความเรียบง่าย ที่ว่าง ความยืดหยุ่น ธรรมชาติ และรายละเอียด

ความเรียบง่าย การลดทอนข้าวของ และเหลือไว้แค่สิ่งที่รักจริง ๆ เมื่อเลิกใช้ชั้นวางของเป็นเพียงที่เก็บของ แต่มองว่ามันเป็นที่วางของมีค่าแทน ความแตกต่างก็เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แทนที่ห้องจะปิดอับคับแคบรอบตัว มันกลับกลายเป็นห้องที่เปิดกว้างออกไป เคล็ดลับในการเก็บบ้าน มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือได้บอกว่า การเก็บบ้านให้หายรก ช่วยทำให้จิตใจปลอดโปร่งโล่งสบายขึ้นด้วย นี่ยังไม่นับว่ามันช่วยประหยัดเวลาและเงินทอง

ที่ว่าง แม้ว่าคนญี่ปุ่นทั่วไปไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านที่ออกแบบอย่างอลังการโดยสถาปนิก แต่ก็มีบทเรียนล้ำค่าที่ควรศึกษา จากหลักสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่น ซึ่งสามารถนำมาใช้จัดพื้นที่ในบ้านได้ ได้เรียนรู้จากตรงนี้คือ สามารถสร้างที่ว่าง สามารถนำธรรมชาติเข้าไป ตัดสินใจเองว่าอะไรสวย และนำมาใช้ร่วมกันได้อย่างลงตัว และสามารถตัดสินใจเลือกที่จะอยู่กับสิ่งที่รักจริง ๆ

ความยืดหยุ่น สำหรับผู้อาศัยในบ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตชานเมืองหรือในชนบท บ้านแบบนี้มักจะสร้างด้วยไม้เป็นหลัก ผนังบาง และมักดัดแปลงพื้นที่ใช้สอยได้อย่างยืดหยุ่น ห้องปูเสื่อทาทามิ มักจะเป็นห้องอเนกประสงค์ เปลี่ยนจากห้องนั่งเล่นไปเป็นห้องนั่งสมาธิ หรือห้องกินข้าว หรือห้องนอนได้ด้วย สามารถยกประตูออก ย้ายโต๊ะ เอาฟูกที่นอนมาปู หรือเอาฟูกออกไปเพื่อเปิดต้อนรับแขก หรือไว้อยู่เงียบ ๆ คนเดียว

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านสไตล์ญี่ปุ่น ก็สามารถนำแรงบันดาลใจนี้ไปใช้ได้ สามารถใช้เฟอร์นิเจอร์ในการจัดแบ่งพื้นที่ ใช้พรมปูพื้นหรือชั้นวางของเพื่อกำหนดพื้นที่ เปลี่ยนตำแหน่งข้าวของโดยขึ้นอยู่กับว่าต้องการใช้พื้นที่อย่างไร ขอได้โปรดรู้ไว้ว่า การแต่งบ้านจะไม่มีคำว่าสำเร็จเสร็จสิ้น และก็จะไม่ตั้งเป้าไว้ที่ความสมบูรณ์แบบ พึงสังเกตว่าสิ่งหนึ่งในห้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่น ๆ อย่างไร และแต่ละสิ่งลงตัวต่อกัน ต่อพื้นที่ ต่อการไหลเวียน ต่อการใช้ชีวิตในบ้าน และมันทำให้มีความรู้สึกอย่างไร จำไว้ประโยชน์ใช้สอย ความเรียบง่าย ความงาม และเรื่องราว

 ธรรมชาติ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดบ้าน ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรัชญาวะบิ ซะบิ เพราะมันเชื่อมโยงกับส่วนที่ลึกที่สุดของเรื่องนี้ ที่สอนว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยง จะนำวัสดุธรรมชาติเข้ามาใส่ในบ้านอย่างไรได้บ้าง เพียงแค่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ นำมาดัดแปลง และประยุกต์เพื่อใช้ซ้ำ ลองไปเดินตลาดนัด และร้านขายของเก่าบ่อย ๆ เพราะกาลเวลามักจะเพิ่มความล้ำลึก และความงามให้วัสดุธรรมชาติ ดังนั้น อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าจะซื้อหามาแต่ข้าวของใหม่ ๆ

รายละเอียด ความใส่ใจในรายละเอียดเป็นสิ่งที่จะพบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น ในร้านกาแฟ ร้านค้า บ้านเรือน วัด ศาลเจ้า แม้กระทั่งในพื้นที่สาธารณะ จะมีใครสักคนมาคอยดูแล เพิ่มเติมรายละเอียดยิบย่อยให้ รายละเอียดเล็ก ๆ เหล่านี้ทำให้ที่ว่างน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ความโอบอ้อมอารี ที่มาจากปรัชญา วะบิ ซะบิ จึงไม่ได้เกี่ยวกับว่าต้องมีบ้านเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ เฟอร์นิเจอร์จากดีไซเนอร์ชั้นนำ หรือลูก ๆ ทำตัวน่ารัก แต่มันเกี่ยวกับการเปิดบ้านต้อนรับแบบสบาย ๆ โดยที่ได้คิดเตรียมการอย่างถี่ถ้วน และรับรู้ความต้องการของแขกได้ การแสดงตนอย่างเป็นรูปธรรมของ วะบิ ซะบิ ในเรื่องการจัดบ้าน เช่น ร้านชาซึ่งมักจะถ่อมตัว ไม่โอ้อวด สะอาดสะอ้าน และใส่ใจกับสิ่งที่จัดเตรียมไว้ให้แขกอย่างแท้จริง ร้านชาจึงเตือนใจให้รักษาบ้านให้สะอาด ไม่รกรุงรัง และน่าอยู่เท่าที่จะทำได้ ภายใต้บริบทการอยู่อาศัยในชีวิตประจำวัน

บทที่ 3 อยู่กับธรรมชาติ

ในทุก ๆ ปีนักท่องเที่ยวหลายล้านคนถูกดึงดูดให้ไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ด้วยขุมทรัพย์ทางธรรมชาติอันแสนเย้ายวนใจ ป่าเขาลำเนาไพร ภูเขาไฟ น้ำพุร้อน ชายหาดแบบกึ่งเขตร้อน และวิวหิมะที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีสิ่งเตือนใจถึงธรรมชาติ และฤดูกาลอยู่ในทุกช่วงการเปลี่ยนผ่าน ผู้คนไม่เพียงแค่ชื่นชมธรรมชาติ แต่พวกเขามีชีวิตอยู่ภายในธรรมชาติ

ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษของเคมบริดจ์ ธรรมชาติคือ สัตว์ พืช ก้อนหินทั้งหลายในโลก และรวมถึงลักษณะทั้งปวงของพลังงาน และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือดำรงอยู่โดยไม่ขึ้นกับน้ำมือมนุษย์ เช่น ดิน ฟ้า อากาศ ทะเล ภูเขา การเจริญพันธุ์ของสัตว์ พืช และพลังงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางกายภาพ ที่บางครั้งก็เรียกขานมันเป็นบุคคลหนึ่ง ในขณะที่พจนานุกรมญี่ปุ่น โคจิเอ็ง ซึ่งมีความน่าเชื่อถือเทียบเท่าพจนานุกรมของเคมบริดจ์ ให้นิยามเพียงง่าย ๆ ว่าสรรพสิ่งตามที่มันเป็น

โดยเนื้อแท้แล้วประสบการณ์แห่ง วะบิ ซะบิ คือ การตอบสนองด้วยปัญญาญาณต่อความงาม ที่สะท้อนถึงธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งตามที่มันเป็น นั่นก็คือความงามที่เตือนใจ ให้ระลึกว่าสรรพสิ่งนั้นไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์แบบ และไม่เสร็จสิ้น ประสบการณ์แห่ง วะบิ ซะบิ จึงมักรับรู้ได้เมื่อเห็นวัสดุตามธรรมชาติ นี่คือเหตุผลว่าทำไมการใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ จึงเป็นประสบการณ์อันทรงพลัง มันทำให้ระลึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่มหัศจรรย์

วะบิ ซะบิ พาออกมาจากหมอกมัวของงานอันเหนื่อยหน่าย มันช่วยถือกระจกเงาให้ส่องดูความงดงามของชีวิต ซึ่งในกระจกเงาบานนี้เอง ที่ได้สบตากับตัวตน แมกไม้นั้นไม่สนใจว่าจะทำผมทรงอะไร ขุนเขาไม่ได้โยกย้ายตำแหน่งงาน สายธารก็ยังคงเรื่อยไหลไม่ว่าจะมีคนติดตามโซเชียลมีเดียมากน้อยแค่ไหน ได้เงินเดือนเท่าไหร่ มีชื่อเสียงโด่งดังหรือไม่ ดอกไม้ก็ยังคงเบ่งบานของมัน ไม่ว่าจะทำอะไรผิดมหันต์ ธรรมชาติก็แค่เป็นไปของมัน และเปิดรับอย่างที่เป็น ศักยภาพในการเข้าถึงประสบการณ์แห่ง วะบิ ซะบิ นำกลับมาเชื่อมโยงกับความจริงเหล่านี้อีกครั้ง เพื่อให้รู้สึก ณ ตรงนี้ ตอนนี้ ว่าเป็นหนึ่งเดียวกับความจริงนี้ อย่างไม่มีเงื่อนไข

การเขียนถึงธรรมชาติของคนญี่ปุ่น ไม่ได้เน้นเพียงแค่ความรู้สึกต่อสถานที่ แต่ยังรวมถึงสิ่งซึ่งสำคัญมาก นั่นคือความรู้สึกถึงเวลา สิ่งนี้ปรากฏให้เห็นในการอ้างอิงถึงฤดูกาล หรือสิ่งที่เกี่ยวข้อง และจากการสังเกตเห็นความไม่เที่ยง ซึ่งความไม่เที่ยงนี้แสดงออกใน 2 ทาง ทางแรกคือการหายไปของบางสิ่งที่เคยมีอยู่ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว และทางที่ 2 คือผ่านความเชื่อว่าใด ๆ ล้วนไม่เที่ยง ด้วยการกล่าวถึงสิ่งที่มีอยู่ แต่ในไม่ช้าไม่นานสิ่งนี้ก็จะไม่อยู่แล้ว

จังหวะของฤดูกาล การสร้างธรรมเนียมปฏิบัติของตัวเอง ในแต่ละฤดูกาลเป็นวิถีที่งดงาม เพื่อให้เกียรติกับจังหวะของธรรมชาติ และทำให้ได้สังเกตเห็นการเคลื่อนผ่านไปของเวลาในชีวิต แต่ละลำแสงแห่งธรรมชาติที่ส่องลงมา เตือนใจให้มองเห็นและชื่นชมความงาม ที่กำลังปรากฏอยู่เพียง ณ ตรงนี้ตอนนี้ มันเป็นความงามที่มีอยู่เพียงแค่ประเดี๋ยวเดียว ถ้าได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นจะพบว่าใน 4 ฤดู ทั้งใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ล้วนถักทอเข้าไปเป็นผืนแผ่นเดียวกับชีวิตประจำวัน ฤดูใบไม้ผลินำมาซึ่งดอกซากุระบาน และเทศกาลฮานามิ (เทศกาลชมดอกไม้) ฤดูร้อนมาพร้อมกับงานเทศกาลหลากหลาย สาว ๆ แต่งชุดกิโมโนไปเดินที่ริมแม่น้ำเพื่อชมหิ่งห้อย ฤดูใบไม้ร่วงมาพร้อมการชมจันทร์กระจ่างฟ้า และโมมิจิ (ใบเมเปิ้ลแห้ง) ที่ยิ่งงดงามจับใจใต้แสงจันทร์ ส่วนในฤดูหนาวนั้นจะพาเข้าสู่ความสงบงามของหิมะ เหล่านี้คือประจักษ์พยานแห่งฤดูกาลที่พานพบ ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากเสื้อผ้าไปจนถึงเทศกาลเฉลิมฉลอง การให้ความสำคัญกับพิธีการต่าง ๆ พิธีกรรม ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมถึงสิ่งเตือนใจเล็ก ๆ น้อย ๆ นับพันในชีวิตประจำวันเหล่านี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด นี่คือเหตุผลว่าทำไม วะบิ ซะบิ จึงฝังลึกอยู่ในหัวใจของคนญี่ปุ่น

รอยเวลา คนญี่ปุ่นใส่ใจกับฤดูกาลมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตามปฏิทินโบราณของญี่ปุ่นมีการแบ่งฤดูออกเป็น 24 ฤดู แต่ละฤดูยาวนานประมาณ 50 วัน และยังแบ่งย่อยลงไปเป็นอีก 72 ฤดูย่อย แต่ละฤดูย่อยนี้ยาวนานประมาณ 5 วัน ญี่ปุ่นรับปฏิทินแบบนี้มาจากจีน ตั้งแต่ ค.ศ 862 แล้วนำมาปรับปรุงให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในญี่ปุ่น (ซึ่งก็หมายถึงบริเวณเกียวโต)

สุขภาวะตามธรรมชาติ มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมาย ที่ช่วยแก้ความคลางแคลงสงสัยต่อประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้เวลากับธรรมชาติ มันช่วยทำให้ผู้คนมากมายมุ่งหน้าสู่ป่าเขา ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเข้าใจผิดหลงคิดไปว่า จะต้องเดินป่าอย่างเป็นทางการ เพียงนำหลักการสำคัญที่มีผลต่อการวิจัยมายืนยัน เอามาปรับใช้แบบสบาย ๆ ในแบบของตัวเอง เช่น ไปเดินป่า ปีนเขา ฝึกโยคะ ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ ปีนต้นไม้ กอดต้นไม้ และพูดคุยกับมัน นั่งเอนหลังพิงต้นไม้แล้วเขียนบันทึกส่วนตัว แค่นี้ก็จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลแล้ว

ในโลกสมัยใหม่ใช้เวลามากเกินไปกับการปิดกั้นตัวเองอยู่ในกล่องปลอดเชื้อ อยู่ในบ้าน ในรถ ในที่ทำงาน ลองหาเวลาก้าวออกจากกล่องเหล่านั้น ออกไปสู่โลกกว้างใหญ่ภายนอก รับคมประสาทสัมผัส และระลึกถึงคุณค่าของชีวิต บางครั้งก็ต้องปลดเปรื่องสิ่งต่าง ๆ ทิ้งไป เพื่อให้ความงามที่แท้จริงเผยออกมา ต้องการความเรียบง่ายเพื่อเตือนใจว่า ชีวิตไม่ใช่การสะสมวัตถุสิ่งของต้องการเสียงนกร้องและท้องฟ้ากว้าง เพื่อเตือนใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของคนเราเช่นกัน

บทที่ 4 ยอมรับและปล่อยวาง

หนึ่งในคำสอนที่สำคัญของ วะบิ ซะบิ คือการยอมรับในสัจธรรมของชีวิตว่า สรรพสิ่งล้วนไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์แบบ และไม่เสร็จสิ้น

สรรพสิ่งเปลี่ยนผัน นั่นแหละชีวิต ในชีวิตล้วนต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งในเรื่องความสำคัญ การงาน สุขภาพ เงินทอง ทัศนคติ ความสนใจ ความสามารถ ความรับผิดชอบ และมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา บางครั้งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และฉับพลันจนทำให้รู้สึกได้ชัดเจนเหมือนลมกระโชกมาวูบหนึ่ง แต่ในบางครั้งก็เป็นความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต้องเฝ้าดูอย่างจดจ่อจึงจะเห็นว่าเปลี่ยนแปลง ไม่มีแห่งหนใดที่แน่นิ่งคงเดิม ตัวคนเราเองก็เช่นกัน วะบิ ซะบิ สอนว่าความไม่เที่ยงคือสภาวธรรมของสรรพสิ่ง และความเปลี่ยนแปลงนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การพยายามจะเหนี่ยวรั้งอดีต หรือแม้กระทั่งขณะปัจจุบันนับเป็นเรื่องไร้สาระ และทำให้เครียดเสียเปล่า ๆ

ยอมรับอดีต การจมจ่อมอยู่กับอดีตนั้นทำได้ง่าย ๆ คิดถึงคืนวันเก่า ๆ หน่วงหนักกับความรู้สึกผิด เช่น ตีตัวเองว่าทำไมตอนนั้นไม่ตัดสินใจเลือกอีกทาง หรือมิเช่นนั้นก็เพ่งโทษใส่คนอื่น อดีตได้จากไปแล้วไม่ว่าจะดีหรือร้าย สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็ผ่านไปแล้ว อะไรก็ตามที่คอยฉุดรั้งไว้ ลองใช้เวลาทำใจกับมันสักครู่ แล้วก็ปล่อยวางไป ฟังดูเหมือนยากใช่ไหม แต่มันจะง่ายมากถ้าคิดตก แล้วลองเขียนเรียบเรียงออกมา หรือถ้าจำเป็นก็ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

วะบิ ซะบิ สอนให้ยอมรับว่า อดีตที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันแล้วไป นี่คือปัจจุบันและมันก็เป็นอย่างที่มันเป็น ชีวิตอยู่ตรงนี้ตอนนี้ ทุกเช้าวันใหม่ที่ตื่นขึ้นมาคือ การเริ่มต้นของวันเวลาที่ยังเหลืออยู่

ยอมรับปัจจุบัน การยอมรับคือการจัดแนวตัวเอง ให้ตรงความเป็นจริงในปัจจุบัน พิจารณาดูว่าในขณะนี้อะไรคือความเป็นจริงในชีวิต ใช้เวลาครุ่นคิดถึงข้อเท็จจริงในชีวิต ณ ตรงนี้ตอนนี้ ในปัจจุบันขณะนี่แหละที่กำลังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่สามารถยืดเวลานี้ให้คงอยู่ตลอดไป คำสอนที่ทรงพลังที่สุดของ วะบิ ซะบิ คือให้ยอมรับว่า ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งหรือควบคุมสภาวะเดิมไว้ได้ จึงพึงระลึกถึงสิ่งดีที่มีอยู่ตรงนี้ตอนนี้ และเช่นเดียวกันพึงรู้ว่าสิ่งร้ายก็กำลังจะผ่านไป

เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกท่วมท้นล้นเกิน พยายามยอมรับว่าความเป็นไปได้ในขณะปัจจุบันนั้น มีขีดจำกัดทำได้เท่าที่ทำได้เท่านั้น นี่ไม่ใช่การปิดโอกาส แต่เป็นการรู้ถึงศักยภาพของตัวเอง เพื่อที่จะได้เลิกคาดหวังกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และปล่อยให้ตัวเองได้พักบ้าง การตระหนักถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วคือ กุญแจไขสู่ความพึงพอใจ เพียงแค่ยอมรับ เชื่อมั่น และโอบกอดมันไว้

ความสมบูรณ์แบบคืออะไร ชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่มาขายให้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในโฆษณา เป็นภาพประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ที่คาดเดาได้ง่าย ถูกจัดแต่งและลบมิติอื่น ๆ ที่มีอารมณ์ยุ่งเหยิงและความยากลำบากออกไปหมด หรืออีกทางหนึ่งก็คือ พวกนักการตลาดมืออาชีพมักจะใช้วิธีการอันชาญฉลาด มาบอกว่าทำไมชีวิตนี้ช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน ในทางที่จะทำให้รู้สึกว่าการที่อะไร ๆ มันยากนั้นเป็นสิ่งผิด กำลังทำผิดกับชีวิต เรื่องทั้งหมดนี้รู้แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ยังก่อหนี้มหาศาล เพื่อจะมีข้าวของมาถมใส่บ้าน หากิจกรรมมาถมใส่ตารางเวลา และหาเรื่องหาราวมาถมใส่จิตใจ เพื่อแสวงหาความสมบูรณ์แบบ แทนที่จะใช้เวลามาตั้งคำถามกับชีวิตว่า อะไรที่สำคัญ

การยอมรับไม่ใช่การยอมแพ้หรือประนีประนอม แต่มันคือการยอมปล่อยไปตามความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงเข้าไปรับบทบาทผู้ตัดสินใจ เพื่อกำหนดสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นหลังจากนี้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าป่วยมันก็คือการรับรู้ว่าป่วย ยอมรับว่าตอนนี้ไม่มีเรี่ยวแรงเต็มที่ อนุญาตให้ตัวเองได้ผ่อนคลายลง เพื่อจะได้เยียวยาหรือขอความช่วยเหลือที่จำเป็น มากกว่าที่จะมุทะลุทำอะไรต่อไป การยอมรับความจริงว่าชีวิตเป็นทุกข์ กลับจะทำให้ลุกขึ้นมากำหนดอนาคตของตัวเองอย่างแจ่มชัด มีเมตตา และทำได้อย่างผ่อนคลาย

ความไม่สมบูรณ์แบบคืออะไร ความไม่สมบูรณ์แบบที่ วะบิ ซะบิ สอนนั้นมีพื้นฐานมาจากกฎธรรมชาติ ในเมื่อสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงไม่มีสิ่งใดที่เสร็จสิ้นแล้วโดยสมบูรณ์ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าไม่มีทางที่สิ่งใดจะสมบูรณ์แบบ มักใช้คำว่าไม่สมบูรณ์แบบเพื่ออธิบายสภาวะขัดข้อง ความสมบูรณ์แบบที่มีอยู่ในอุดมคติ จึงไม่แปลกใจเลยที่มองสิ่งตรงข้ามกับมันในแง่ลบเสมอ เพื่อที่จะกำจัดความคิดแง่ลบนี้ออกไป ต้องปฏิเสธการใช้ความไม่สมบูรณ์แบบ ในฐานะคำตรงข้ามของสภาวะอุดมคติที่เสริมแต่งกันจนเกินจริง และสร้างให้ความไม่สมบูรณ์แบบเป็นแนวคิดในตัวมันเองนั่นคือ มันไม่ใช่การยอมอ่อนข้อให้ความสมบูรณ์แบบ ความไม่สมบูรณ์แบบไม่ใช่อะไรที่อยู่ระหว่างทางไปสู่ความสมบูรณ์แบบ

เปิดเผยความไม่สมบูรณ์แบบ การยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง การเปิดเผยให้คนอื่นได้เห็นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนั่นมักจะทำให้ได้พบจุดร่วมของกันและกัน คนอื่นจะได้เห็นตัวตนที่แท้จริง และพวกเขาก็จะถูกดึงดูดเข้ามา เมื่อปรับเข้าหากัน การตอบสนองจากการหยั่งรู้โดยปัญญาญาณจะรวดเร็วกว่าการตอบสนองโดยการคิดวิเคราะห์ ด้วยเหตุผล สอนตัวเองให้มีประสบการณ์ร่วมกับคนอื่นแบบนี้ได้ โดยการพบปะกับเขาด้วยหัวใจ แทนที่จะใช้เพียงความคิด เปิดให้สัญชาตญาณและปัญญาญาณนำทาง ให้ข้ามพ้นไปจากการตัดสินด้วยความคิด คนเราไม่สามารถมีครบหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ในเมื่อยังไม่รู้เลยว่าทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีหน้ามีตาอย่างไร ยิ่งเข้าใจเรื่องนี้ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งซื่อสัตย์กับตัวเองและกับคนอื่นได้เร็วเท่านั้น ทุกคนต่างก็มีความไม่สมบูรณ์แบบเป็นสิ่งล้ำค่าของตัวเอง เพียงแค่เชื่อมั่นว่าในยามที่หัวสมองยังหาคำตอบไม่เจอ หัวใจจะช่วยนำทางไปให้เอง

เลือกแบบอย่างให้ดี ยิ่งเก่งในสิ่งที่ทำมากขึ้นแค่ไหน ก็ยิ่งเปิดตัวเองออกไปเจอผู้คนที่เก่งกว่า ล้ำหน้ามากกว่า และประสบความสำเร็จสูงกว่า และทันทีที่ละสายตาออกจากเส้นทางของตัวเอง มัวหลงเข้าไปในเส้นทางของคนอื่น ก็พลาดประสบการณ์ดี ๆ ในการเดินทางของตัวเอง ในแวดวงหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ย่อมต้องมีคนที่ดีกว่า เคยทำมานานกว่า มีประสบการณ์มากกว่า มีความรู้สูงกว่า เลือกได้ว่าจะมองดูคนเหล่านี้เพื่อสะท้อนความขัดข้องของตัวเอง หรือมองว่าเป็นโอกาสได้รับแรงบันดาลใจจากเขา ต้องนำความตั้งใจกลับมาสู่ชีวิต ผูกโยงตัวเองกับสิ่งที่เป็นอยู่ และสิ่งที่เป็นจริงอันได้แก่ ความรัก เสียงหัวเราะ คำพูดที่เปี่ยมเมตตา ความงามอย่างสงบ สิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมายที่แต่งเติมให้เป็นชีวิต

เห็นความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อช่างดินเผาเริ่มลงมือสร้างชุดถ้วยชามหัตถศิลป์ พวกเขาไม่ได้ตั้งเป้าที่ความสมบูรณ์แบบ ในแง่ของความสมมาตรและรูปร่างที่เหมือนกัน ไม่เช่นนั้นพวกเขาคงใช้เครื่องจักรทำมันไปแล้ว แต่พวกเขาตั้งเป้าไปที่ความงามตามธรรมชาติ ซึ่งต้องมีร่องรอยจากนิ้วมือ และมีกลิ่นอายจากหัวใจ คนเราก็เช่นกันไม่จำเป็นต้องไร้ตำหนิและเหมือนกันไปหมด ราวกับแกะออกมาจากพิมพ์เดียวกัน

อะไรจะเกิดขึ้นถ้าลองจินตนาการดูว่า ตัวเองเป็นถ้วยชามหัตถศิลป์ที่งดงาม จัดรูปทรงขึ้นมาด้วยความรักและความชื่นชม ไม่ใช่เพราะความไม่สมบูรณ์แบบกระนั้นหรือ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าได้รู้ถึงความงามตามธรรมชาติ ที่แฝงอยู่ในผิวสัมผัส ลักษณะเฉพาะ และความลึกซึ้งทั้งข้างในและข้างนอก และอะไรจะเกิดขึ้นถ้าได้รู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาล้วนประกอบ สร้างให้เป็นอย่างในทุกวันนี้

อะไรจะเกิดขึ้นถ้าทุกคนมาตกลงกันว่า สภาวะในอุดมคติคือความไม่สมบูรณ์แบบอันสมบูรณ์พร้อม ซึ่งตอนนี้ทุกคนล้วนเป็นกันอยู่แล้ว จึงไม่ต้องดิ้นรนอะไรอีก ไม่ต้องเร่งรีบจนอ่อนระโหย แต่จะได้ผ่อนคลายเพราะรู้ดีว่า มีความสุขอยู่แล้วอย่างที่เป็น ถ้ามองได้แบบนั้น ความสมบูรณ์แบบก็พลันกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาอีกเลย เพราะในท้ายที่สุดจะตระหนักว่าตัวเอง มีศักยภาพสูงกว่าที่เคยจินตนาการไว้เสียอีก

ปล่อยวางความสมบูรณ์แบบ ยอมรับเรื่องยาก ๆ สรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเปลี่ยนแปลงไป เรื่องราวในชีวิตก็เช่นกัน การยอมรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำให้มันไม่เปลี่ยนไป แต่มันคือการรับรู้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นชีวิต เปรียบดังงานที่อยู่ในกระบวนการไปตลอด การมีชีวิตคือการวิวัฒน์เข้าไปจัดการกับการวิวัฒน์นี้ได้ แต่อันดับแรกจะต้องรับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเสียก่อน ซึ่ง วะบิ ซะบิ จะช่วยตรงนี้ได้อย่างดี

วะบิ ซะบิ จะให้มุมในการมองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง การยอมรับไม่ใช่การตั้งรับ แต่คือการลงมือปฏิบัติ การยอมรับคือการที่พูดว่า

  1. นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น สังเกตการณ์มัน ไม่ไปขัดขืนต่อต้าน
  2. นี่คือระดับความสำคัญของมัน ถ้ามันสำคัญ
  3. นี่คือจุดเริ่มต้นของอะไรอีกมากมายที่กำลังจะตามมา และนี่คือสิ่งที่จะลงมือทำ

เปิดรับอนาคต ความหวังไม่ใช่สิ่งเดียวกับความคาดหวัง วางแผนเพื่อเตรียมรับมืออนาคตได้ แต่กำหนดหรือควบคุมมันไม่ได้ จงวาดภาพสิ่งที่ต้องการไว้ แต่ก็จงปล่อยวางมัน ปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการของกรอบเวลา แล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบันของชีวิตตรงนี้ตอนนี้ ปล่อยวางความคาดหวังกับอะไรก็ตามที่ยังไม่เกิดขึ้น เปิดความคิดและหัวใจรับอะไรก็ตามที่จะเผยตัวออกมา

ลองใช้ชีวิตผ่านวันทั้ง 7 ไปโดยไม่ต้องควบคุมอะไร ไม่ต้องเครียดเมื่ออะไร ๆ ไม่เป็นไปตามที่คิดว่ามันจะเป็นหรือควรจะเป็น ถ้าทำได้เช่นนี้แล้ว เมื่อใดก็ตามที่อยากจะเข้าไปควบคุมอะไร ก็ให้พยายามผ่อนคลาย แล้วแค่รอดูว่าจริง ๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น มองหาสิ่งดี ๆ จากสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เพราะสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปตามที่คิดว่ามันจะเป็น หรือมันควรเป็นหรอก ใช้เวลาทดลองไปไม่ต้องเร่งรีบจนร้อนรน เพราะเมื่อคอยวิ่งตามความสมบูรณ์แบบชีวิตก็จะเร่งเร็วขึ้น ต้องรีบตัดสินใจ และต้องด่วนตัดสินคนอื่น วะบิ ซะบิ ให้โอกาสได้หยุดสะท้อนกลับคืนสู่ตัวเอง แล้วค่อยเคลื่อนต่อไปจากจุดนี้ จะรู้สึกผ่อนคลายและตัดสินใจได้ดีขึ้น

บทที่ 5 ทบทวนความล้มเหลว

เกี่ยวกับ วะบิ ซะบิ ก็คือความผ่อนคลาย ที่ได้มาจากการรู้ว่าไม่มีอะไรเที่ยง สมบูรณ์แบบ และสำเร็จเสร็จสิ้น ดังนั้น เมื่อย่ำแย่มันก็แค่ในชั่วขณะนั้น ไม่ได้เป็นแบบนั้นไปชั่วชีวิต เมื่อทำผิดพลาดสามารถแก้ไขได้ ทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป บนเส้นทางแห่งการเรียนรู้นี้ ไม่ว่ากำลังอยู่ตรงจุดไหน ยังคงท่องเที่ยวไปไม่สิ้นสุด การเรียนรู้ไม่มีจบสิ้น เมื่อเข้าใจเช่นนี้ก็ผ่อนคลาย ยังไม่ต้องรู้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ยังคงมีความอยากรู้อยากเห็น ยังมีอะไรอีกมากมายให้เรียนรู้

เส้นกราฟชีวิตของทุกคน จึงมีโอกาสตกต่ำ ราบเรียบ หรือทะยานขึ้นได้เสมอ มันแค่ขึ้นอยู่กับตัวเอง ทัศนคติ พลัง และความตั้งใจ นี่ไม่ใช่เฉพาะแค่กับเรื่องการเรียนรู้ทักษะใหม่ มันใช้ได้กับการเรียนรู้วิธีการวางแผนการเงิน ความรักความสัมพันธ์ หรือการเลี้ยงดูลูก แต่ไม่มีอะไรที่เสร็จสิ้นครบถ้วนหรือสมบูรณ์แบบ มีแค่การเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ

ทัศนะของคนญี่ปุ่นเรื่องความล้มเหลว การทบทวนความล้มเหลวไม่ใช่เพื่อเรียนรู้ที่จะรักมัน หรือต้อนรับมันเข้ามา แต่หมายถึงการทำให้ดีที่สุด ด้วยการตั้งใจว่าจะไม่ล้มเหลว เพราะใส่ใจในสิ่งที่ทำ แต่ถ้ามันเกิดล้มเหลวขึ้นมา ก็ถือเป็นการเรียนรู้ที่จะรับมือ ซึ่งจะช่วยให้เดินหน้าต่อไปได้ ในการทบทวนความล้มเหลว อันดับแรกต้องมาทบทวนเรื่องความสำเร็จกันเสียก่อน เมื่อตั้งเป้าให้ตัวเองเพียงหนึ่งเดียวแล้ว เอาคุณค่าของตัวเองไปแขวนไว้กับมัน ขึ้นอยู่กับว่าจะบรรลุถึงได้ หรือไม่แม้ว่าจะมีปัจจัยเกี่ยวข้องอีกมากมาย ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ความล้มเหลวแบบนี้จะทำให้เจ็บปวดสุด ๆ เพราะการมีเป้าหมายเดียวก็คือ การยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ

แทนที่จะทำเช่นนั้น ถ้าเปลี่ยนมุมมองต่อความสำเร็จไปเป็นว่า อยากจะมีความรู้สึกอย่างไร และอยากจะมีประสบการณ์อย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะพลิกผ่านไปเลย ในตอนนี้มาดูบทเรียนที่ได้รับจากความล้มเหลว เมื่อเผชิญหน้ากับมันด้วยโลกทัศน์ที่ได้มาจาก วะบิ ซะบิ

  1. ไม่จำเป็นต้องชอบความล้มเหลวเพื่อจะเรียนรู้จากมัน แต่ความล้มเหลวนั้นทำให้อดทนมากขึ้น และช่วยให้เติบโตไปในทิศทางอื่น เมื่อเลิกพยายามจะสมบูรณ์แบบ อาจจะไม่มองความล้มเหลวว่าเป็นความล้มเหลวอีกเลย
  2. ความรู้สึกล้มเหลวนั้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ แปลว่าในแต่ละวันมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
  3. สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไป บางทีนี่อาจเป็นจังหวะให้ได้หยุด พลิกมุม หรือหาหนทางอื่นแทน

ภัยร้ายของการแสวงหา ที่จริงแล้วบนเวทีประลองใด ๆ ที่ต่างไขว่คว้าไล่ตามความฝันที่ตนต้องการ ในห้วงยามที่รับรู้ความพ่ายแพ้ เลือกได้ว่าจะทำอย่างไรกับมัน และจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร จงทะเยอทะยาน จงพัฒนาความรู้ความสามารถ จงตื่นเต้นกระตือรือร้นเดินทางแสวงหาความฝัน และเบิกบานกับทุกย่างก้าวบนเส้นทางนี้ แต่จงอย่าไปหลงเดินตามความสมบูรณ์แบบที่ลวงตา โดยอัตตาของตัวเองจงผ่อนคลาย เมื่อรู้ว่าความสมบูรณ์แบบนั้นไม่ใช่เป้าหมาย แต่การที่ได้ขยายตัวเองออกไปต่างหากที่สำคัญ

ฝึกขยายตัวเอง ด้วย 10 วิธีบ่มเพาะความอุตสาหะ มีดังนี้

  1. สร้างเสริมพลังกาย ด้วยการออกกำลังกาย สารอาหาร และการพักผ่อน
  2. สร้างเสริมพลังใจ ด้วยการใช้เวลากับความเงียบ นอนให้เพียงพอ และใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ
  3. ฝึกฝนการรับมือกับเรื่องเล็ก ๆ เพื่อที่จะได้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถรับมือเรื่องใหญ่ได้
  4. ตั้งชุดเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ดำเนินไปต่อเนื่อง และมุ่งหน้าทำงานไปตามนั้น
  5. เพาะปลูกต้นกล้าไว้ แล้วรอดูผลพวงจากความใส่ใจ
  6. จดบันทึกงานบางอย่างที่ทำได้ดี เพื่อเตือนใจว่ามีศักยภาพด้านใด
  7. ค้นหาชุมชนที่เหมาะสม แล้วสร้างเครือข่ายที่ช่วยสนับสนุน
  8. ค้นหาบุคคลต้นแบบในด้านความอุตสาหะ แล้วเรียนรู้จากพวกเขา
  9. ห้อมล้อมไว้ด้วยถ้อยคำที่ให้แรงบันดาลใจ
  10. มองหาเหตุผลที่จะมองโลกในแง่ดีในทุก ๆ วัน

แข็งขืนฝืนไว้ไม่ให้ล้มเหลว การดำเนินชีวิตและเปลี่ยนผ่านช่วงชีวิต สิ่งที่ต้องพบเจอเป็นประจำคือ การแข็งขืนฝืนไว้ไม่ยอมเริ่มต้นใหม่ เพราะถูกท่วมทับไว้ด้วยความกลัวว่าจะล้มเหลว ถ้าจะเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ มันก็เป็นไปได้มากกว่าอะไร ๆ จะผิดพลาดไปได้ตลอดเส้นทาง มันยากสำหรับจิตวิญญาณและสำหรับอัตตา จึงมักเห็นว่ามีผู้คนมากมายที่ยอมทนอยู่นานเป็นปี ๆ บนเส้นทางที่ทำให้ทุกข์ระทม เพียงเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการทำอะไรผิดพลาด ที่อาจจะทำให้ระทมทุกข์ในอนาคต แต่มีสิ่งหนึ่งที่ลืมคิดไป การล้มตอนที่กำลังก้าวไปข้างหน้านั้นถือเป็นพัฒนาการ แต่ละครั้งที่ล้มไปข้างหน้าได้สร้างคลังภูมิปัญญาไว้ภายใน ที่สามารถนำไปใช้ในครั้งต่อไปเมื่อต้องการ เพียงแค่ยอมรับความไม่สมบูรณ์ รักตัวเอง และตัดสินใจเลือกว่าจะเดินหน้าต่อไป

ก้าวข้ามความกลัวที่จะล้มเหลวในการสร้างสรรค์ ผลงานสร้างสรรค์จะไปเชื่อมโยงกับส่วนลึกที่สุดของผู้คน เผยสิ่งซึ่งไม่เคยเอื้อนเอ่ยต่อกันในการสนทนา แต่การแบ่งปันสิ่งที่ออกมาจากภายในจิตใจ ลึก ๆ มักจะทำให้รู้สึกเปราะบาง เปลือยเปล่า และหวาดกลัว ถ้าผลงานโดนวิพากษ์วิจารณ์ ความกลัวที่จะล้มเหลวคือหนึ่งในปราการด่านสำคัญ ขวางกั้นผู้คนไม่ให้ทำสิ่งที่พวกเขารัก ต่อประเด็นนี้มีคำสอนประการหนึ่งว่า วะบิ ซะบิ คือการตอบสนองโดยปัญญาญาณต่อความงาม ที่สะท้อนธรรมชาติอันแท้จริงของชีวิต ดังนั้น มันจึงอาจเป็นการตอบสนองต่อใครสักคนหนึ่ง ต่อความงามในผลงานสร้างสรรค์ซึ่งกลั่นมาจากภายใน

สำหรับอีกหลายคนที่ยังคงเก็บงำการแสดงออกอันสร้างสรรค์ไว้ เพียงเพราะกลัวที่จะล้มเหลว ขอให้รู้ว่ากำลังมองผิดประเด็นไป ความงามที่แท้นั้นไม่ได้บรรลุโดยการสร้างสรรค์ความสมบูรณ์แบบ แต่บรรลุได้โดยการแบ่งปันความสร้างสรรค์นั้นออกไป แน่นอนทุกวันนี้วัดความสำเร็จกันได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าชอบใช้มาตรวัดแบบใด เช่น ขายผลงานศิลปะได้หรือเปล่า หนังสือติดอันดับขายดีหรือเปล่า มาตรวัดเหล่านี้สำคัญตราบที่มันช่วยให้เลี้ยงชีพได้ เพื่อที่จะได้มีเวลาไปทำงานสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ความล้มเหลวเดียวที่จะมีก็คือ การที่ไม่กล้าสร้างสรรค์มันขึ้นมาตั้งแต่ต้น

ปล่อยของ มันไม่ง่ายเลยที่จะจัดการกับความกลัว ล้มเหลวกับเรื่องอะไรที่เป็นส่วนตัวมาก ๆ อย่างเรื่องการสร้างสรรค์งาน แต่จงพยายามมองความกลัวนี้เสียใหม่ว่า มันเป็นส่วนบ่งชี้ถึงบางสิ่งบางอย่าง ที่ใส่ใจเอามาก ๆ แล้วก็ลงมือทำมันเสีย ซึ่งมี 5 วิธีสร้างความมั่นใจในการสร้างสรรค์ จงใช้สุดยอดเคล็ดลับเหล่านี้ เพื่อเสริมความมั่นใจในการทำงานสร้างสรรค์ เมื่อทำได้ตามนี้แล้วก็ไม่มีอะไรที่ถือว่าเป็นความล้มเหลว

  1. ลบป้ายที่ติดตัวอยู่ แล้วก็แค่ทำงานไป
  2. อยู่กับกระบวนการทำงาน ไม่ใช่ที่ผลงานตอนเสร็จแล้ว
  3. ถ้าทำแล้วออกมาไม่ได้ผล ก็ลองหาทางอื่น ใช้สื่อใหม่ วัสดุใหม่ หาครูคนใหม่ เปลี่ยนแง่มุมของงาน
  4. รับผิดชอบต่อผลงานนานแค่ครึ่งหนึ่ง ทำงานไปด้วยใจที่เปิดกว้าง แล้วรอดูว่าจักรวาลจะแสดงตัวในผลงานนั้นอย่างไร
  5. อย่าทำงานคนเดียว เข้าหาชุมชนแหล่งรวมผู้คนที่รักในสิ่งเดียวกัน และให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ภูมิปัญญาจาก วะบิ ซะบิ เพื่อทบทวนความล้มเหลว การเรียนรู้ก็คือการเรียนรู้ มันไม่มีการเสร็จสิ้นหรือความสมบูรณ์แบบ ความล้มเหลวเป็นแค่ช่วงเวลาที่ขยายเวทีให้ใหญ่ขึ้น จงล้มไปข้างหน้าเพื่อสร้างพัฒนาการ มองความล้มเหลวในมุมใหม่ เปลี่ยนมันเป็นประสบการณ์

บทที่ 6 ทะนุถนอมความสัมพันธ์

สุนทรียะแบบญี่ปุ่นแสดงตัวตนอยู่ในรูปแบบพิธีชงชา โดยไม่จำเป็นต้องสั่งสอนอะไรกันมาก ความรู้สึกว่าได้เรียนรู้สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แม้เป็นเพียงแค่พิธีกรรมในการชงชา แต่มันแฝงไปด้วยบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

บทเรียนจากห้องชา ในสมัยโบราณซามูไรต้องปลดดาบ และแขวนมันไว้ที่แท่นวางดาบ ก่อนจะก้าวเข้าห้องชาผ่านทางคลานเข้า ประตูบานเล็กมากจนทำให้ทุกผู้ทุกนามไม่ว่าจะมีสถานะสูงส่งเพียงใด จะต้องก้มลงและมุดลอดเข้าไป ห้องชาได้ย่อโลกทั้งใบมาอยู่ในที่แห่งนี้ รากฐานของพิธีชงชาตั้งอยู่บนหลัก 4 ประการเรียกว่า วะ เคอิ เซอิ จากุ หมายความว่าความสอดคล้อง ความเคารพ ความบริสุทธิ์ และความสงบงาม

วะ ความสอดคล้อง นี่คืออุดมคติของการปฏิสัมพันธ์กันตามธรรมชาติ ระหว่างเจ้าภาพกับแขก สอดประสานกับฤดูกาล ภาชนะที่ใส่อาหาร ที่เสริมและการสะกดข่มอารมณ์ ระหว่างอยู่ร่วมในพิธี เมื่อขยายไปสู่ภาพกว้างขึ้น มันคืออุดมคติของการปฏิสัมพันธ์กันตามธรรมชาติ ของผู้คนในชีวิตประจำวัน

เคอิ ความเคารพ สิ่งนี้เกิดจากการยอมรับผู้อื่น ในแบบที่เขาเป็น ในที่ซึ่งเขาอยู่ และจะได้รับสิ่งนี้เมื่อหยิบยื่นน้ำใจออกไป และแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ทางเจ้าภาพและแขกร่วมกันปฏิบัติต่อภาชนะอย่างใส่ใจ และให้ความเคารพยิ่ง นี่คือสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติต่อกันในชีวิตประจำวัน

เซอิ ความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์นี้หมายถึง ความสะอาดและความใส่ใจรายละเอียด แต่เดิมนั้น แขกที่มาร่วมพิธีจะเดินผ่านทางเดินในสวน ไปล้างมือและบ้วนปากที่อ่างหินเล็ก ๆ ก่อนจะเข้าสู่ห้องพิธี ระหว่างที่เดินผ่านสวนเข้ามา แขกจะค่อย ๆ คลายความอึกทึกจอแจ และความเลอะเทอะเปรอะเรื่องจากโลกภายนอก เปลี่ยนมาสู่ความบริสุทธิ์ และเงียบสงบของห้องพิธี เซอิ ยังหมายถึงความบริสุทธิ์ทางใจด้วย

จากุ ความสงบงาม คือสภาวะตื่นตัวของความสงบนิ่ง มันคือความสุขเมื่ออยู่ในความสงบ จงรักษาความสงบนิ่งเอาไว้ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับชีวิต มันจะช่วยให้ใคร่ครวญได้อย่างปลอดโปร่ง และโต้ตอบปัญหาได้อย่างเหมาะสม

หลักการทั้ง 4 นี้สืบทอดกันมาหลายศตวรรษ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดห้องชา และเพื่อนำความสงบงามมาสู่ชีวิต

สบาย ๆ กับคนที่เรารัก คนเราทุกคนล้วนไม่สมบูรณ์แบบ ใคร ๆ ก็ไม่สมบูรณ์แบบทั้งนั้น มันจะแตกต่างจากเดิมอย่างไร ถ้ามองคนอื่นด้วยหัวใจ แทนที่จะตัดสินพิพากษาด้วยสายตาและความคิด ถ้าปล่อยวางการตัดสินและความหงุดหงิด แล้วยอมรับในสิ่งที่เป็นเขา โดยไม่พยายามเปลี่ยนแปลงเขา บางทีเพียงแค่การยอมรับก็จะทำให้มีมุมมองกว้างขึ้น และเตือนใจว่ายังมีเรื่องอื่น ๆ อีกที่สำคัญกว่าเรื่องแค่นี้

ใจกรุณามองหาสิ่งดี ๆ ทุกคนเชื่อมโยงกันและพึ่งพิงกันและกัน ไม่สามารถดำรงอยู่โดยปราศจากกันและกัน และปราศจากโลกรอบตัวตามปกติ ทุกคนยุ่งและวุ่นวายอยู่กับการดำเนินชีวิตของตัวเอง แต่ในชั่วขณะที่มาร่วมพิธีชงชา เพลิดเพลินกับประสบการณ์ในทุกประสาทสัมผัส หยุดทุกสิ่งทุกอย่างภายนอก และก้าวสู่พื้นที่และเวลานั้น จึงตระหนักได้ว่าหลักการ วะ เคอิ เซอิ และจากุ สามารถนำความเมตตา กรุณา และความสงบสุขมาสู่ชีวิต ซึ่งตามธรรมชาติแล้วมันมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง แต่ในบางครั้งมันก็ปั่นป่วน วุ่นวาย จนหลงลืมไปได้ ถ้ารู้สึกรำคาญนิสัยบางอย่างของใครบางคนสามารถทำแบบนี้ได้

  1. บอกตัวเองว่าเอาอีกแล้ว มองเห็นความคับข้องใจของตัวเองว่าเป็นทุกข์
  2. เท่าทนไม่ไหว ก็ลงมือทำอะไร เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของตัวเอง
  3. ยอมรับว่าเขานิสัยแบบนั้น และไม่ต้องสนใจตรงจุดนั้นของเขา
  4. มองหาสิ่งดี ๆ ในนิสัยของเขา แม้ว่ามันจะขัดแย้งกับความคิดแบบแรกก็ตาม มันขึ้นอยู่กับตัวเอง

มาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ยิ่งแสดงออกต่อคนที่รักว่าให้เกียรติ และยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบที่งดงามของพวกเขา ก็ยิ่งทำให้พวกเขารับรู้ว่า พวกเขาไม่มีวันโดนตัดสินหรือละทิ้ง แม้ว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปด้วยดีดังหวัง จะยิ่งทำให้พวกเขามั่นคงอยู่กับสิ่งที่จริงแท้ ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเห็นบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ และก็ยิ่งมีโอกาสช่วยให้พวกเขารู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเรา

กฎของความสงบ จากข้อมูลดัชนีสันติภาพโลก ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศสงบสุขติดอันดับต้น ๆ ของโลกมาตลอด นอกเหนือจากรถไฟใต้ดินที่แน่นเหมือนปลากระป๋อง ร้านปาจิงโกะเสียงอึกทึกหนวกหู และมีเสียงประกาศในที่สาธารณะตลอดเวลา ที่นี้มีความสงบแฝงอยู่ เชื้อเชิญให้ผ่อนคลาย และสูดหายใจเข้าลึก ๆ บางคนบอกว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะประเทศนี้มีวัดและศาลเจ้าอยู่ดาษดื่น ความสามารถในการเข้าถึงสถานที่อันแสนสงบสุข ท่ามกลางชีวิตอันแสนวุ่นวาย ช่วยให้รับมือกับปัญหา และตัดสินใจได้ดีขึ้น อยู่ในความสงบไว้ และสื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้น มันดีสำหรับจิตใจและร่างกาย เพราะมันช่วยให้ระบบอวัยวะภายใน ไม่ท่วมท้นไปด้วยฮอร์โมนแห่งความเครียด ที่หลั่งออกมาทุกครั้งเมื่อเจอกับความท้าทาย หรือสิ่งที่ไม่คาดฝัน

สื่อสารด้วยความสงบ คุณค่าของการสื่อสารด้วยความสงบนิ่ง ในการประชุมย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกันมากมาย มีปัญหาที่เหมือนว่าไม่มีทางออก และความสับสนวุ่นวายจากทุกฝ่าย ความสุภาพอ่อนโยนจะพาผ่านพ้นไปได้เสมอ ทุกคนอยากให้มีคนรับฟังและเข้าใจ การรักษาความสงบในการสื่อสาร จะช่วยให้ได้รับสิ่งเหล่านี้มากกว่า

เหนือกว่าถ้อยคำ ทุกคนสื่อสารกันด้วยภาษากาย และการแสดงสีหน้า พร้อมด้วยการใช้ระดับน้ำเสียง และพลังงานที่ถ่ายทอดออกมา มันก็ขึ้นกับว่าเลือกปฏิบัติต่อกันอย่างไร เมื่อใครบางคนปิดกั้นเสียแล้ว มันก็ยากที่เขาจะได้ยินสิ่งที่พยายามจะพูด และถ้าปล่อยให้ตัวเองติดอยู่ในวังวนของพลังลบ มันยากที่จะได้ยินเสียงคนอื่นด้วยเช่นกัน

บทที่ 7 รื่นรมย์บนเส้นทางการงาน

ถ้าไปคุยเรื่องอาชีพการงานกับคนญี่ปุ่นแล้ว หัวข้อ วะบิ ซะบิ จะเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร เพราะคำว่าอาชีพการงานทำให้นึกถึงการดิ้นรนขวนขวาย ประชันขันแข่ง แรงกดดันและการตั้งเป้าหมายที่คาดหวังไว้ แต่ วะบิ ซะบิ ทำให้นึกถึงเรื่องซึ่งตรงกันข้ามกับที่ว่ามาทั้งหมด เมื่อมองอาชีพการงานด้วยเลนส์ของ วะบิ ซะบิ เตือนใจว่าชีวิตหมุนวนเป็นวัฏจักร อีกทั้งสามารถมีมากกว่า 1 เส้นทางอาชีพในชีวิต จึงเกี่ยวข้องกับวิธีการว่าจะทำอย่างไร ให้มีความรื่นรมย์บนเส้นทางการงาน และเรื่องนี้ก็ต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจว่า ตอนนี้กำลังอยู่ตรงจุดไหนเสียก่อน แล้วหลังจากนั้นก็คือ การตัดสินใจว่าจะมุ่งหน้าต่อไปอย่างไร

วงจรแห่งธรรมของความไม่สมบูรณ์อันสมบูรณ์พร้อม ความปรารถนาภายในใจมักจะขัดแย้งกัน ใจหนึ่งก็อยากจะเข้าพวกกับคนอื่น แต่อีกใจหนึ่งก็อยากโดดเด่นล้ำหน้าออกมา ใจหนึ่งอยากรักษาสิ่งที่มีอยู่เดิมไว้ แต่อีกใจก็อยากจะกระโจนไปหาสิ่งใหม่ แต่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอยากแสวงหาความสมบูรณ์แบบที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งลวงตา มันทำให้เบี่ยงเบนหันออกจากชีวิตที่มีอยู่ และเป็นอยู่ตรงนี้ตอนนี้ คนส่วนใหญ่ถือว่าเรื่องหลัก ๆ คือเงินและเวลา แต่เรื่องนี้แก้ได้แค่จัดลำดับความสำคัญให้เป็น ทุกวันนี้มันมีโอกาสใหม่ ๆ มากมายที่จะให้ความยืดหยุ่นในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วมีสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ในส่วนลึก ภายใต้การต่อต้านความเปลี่ยนแปลง และความรู้สึกติดขัดคับข้อง นั่นก็คือความกลัวว่าตัวเองยังดีไม่พอ กลัวว่ายังรู้ไม่มากพอ กลัวความล้มเหลว กลัวที่จะลงมือทำ แม้ว่าสถานการณ์ปัญหาของแต่ละคนแตกต่างกันไป แต่มันมีรูปแบบที่เห็นได้ชัด นี่คือวงจรอุบาทว์ของ “ฉันยังไม่สมบูรณ์แบบ” ซึ่งแสดงเป็นแผนผังได้ดังนี้

วงจรแห่งธรรมของความไม่สมบูรณ์อันสมบูรณ์พร้อม

ทลายวงจรนี้ทิ้งไป ด้วยการยอมรับแนวคิดความไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่เสร็จสิ้น ว่าเป็นสภาวะธรรมของสรรพสิ่ง นอกจากนั้นยังจะได้อะไรอีกมาก เพื่อผ่อนคลายสบาย ๆ เมื่อประกอบกันมันจะช่วยเปลี่ยนความคิดไปสู่ความไม่สมบูรณ์อันสมบูรณ์พร้อม และเกิดเป็นวงจรใหม่ขึ้นมาดังนี้

มองลึกลงไปกว่าอาชีพการงาน

มองลึกลงไปกว่าอาชีพการงาน กลับมาทบทวนกันถึงเรื่องอารมณ์ 4 แบบอันสลับซับซ้อน ที่แฝงอยู่ในความงามแบบญี่ปุ่น ลองเอามาทาบทับลงบนเรื่องอาชีพการงานจะเกิดอะไรขึ้น

  1. โมโนะ โนะ อาวาเระ ตระหนักรู้ว่าความงดงามของชีวิตกำลังล่วงไป
  2. มีอะไรดีบ้างในงานที่ทำอยู่ตอนนี้
  3. พิจารณาชีวิตและการงานที่ผ่านมาว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงใด และลองเติมประโยคนี้ให้สมบูรณ์ “ตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วสำหรับ…”
  4. ต้องทำอะไรก่อนเป็นอันดับแรก ที่จะเหมาะสมที่สุดสำหรับช่วงเวลานี้
  5. ยูเก็น ความลุ่มลึกของโลกนี้ ที่เห็นได้ด้วยจินตนาการ ความงามของความลี้ลับ และตระหนักว่า เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า
  6. พยายามควบคุมเส้นทางอาชีพของตัวเองมากแค่ไหน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลองปล่อยมันบ้าง และเปิดให้ความลี้ลับที่คาดไม่ถึงเข้ามา
  7. อะไรคือวัตถุประสงค์ที่ลึกซึ้งในชีวิต งานที่ทำนี้รับใช้วัตถุประสงค์นั้นไหม
  8. ถ้ามีความฝันอะไรที่เก็บไว้มานาน เพื่อที่จะได้ไปดูแลความฝันนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานอย่างไร
  9. 3. วะบิ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อตระหนักถึงความงามในความเรียบง่าย ความรู้สึกพอใจเงียบ ๆ อยู่ภายใน หลุดพ้นจากกับดักของโลกวัตถุนิยม
  10. จะทำชีวิตการงานให้เรียบง่ายกว่าตอนนี้ได้อย่างไร จะเข้าไปจัดการลดปริมาณงานของตัวเอง และปรับปรุงการสื่อสารในสายงานได้อย่างไร เพื่อจะได้โฟกัสกับสิ่งที่สำคัญจริง ๆ
  11. จะลดละการใช้อารมณ์รุนแรง หลีกเลี่ยงการเมืองในองค์กร และการซุบซิบนินทากันได้อย่างไร เพื่อที่ทำงานจะได้สงบสุข
  12. ถ้าทำงานหนักเกินไปเพราะมีนิสัยเป็นเพอร์เพกชันนิสต์ จะเปิดพื้นที่ตรงจุดไหนให้คนที่ไว้ใจเข้ามาช่วยทำงานได้บ้าง
  13. ถ้ามาทำงานนี้เพียงเพื่อจะได้มีเงินเดือนมาใช้จ่าย จะทบทวนฐานะการเงินของตัวเอง และหาหนทางที่จะใช้ชีวิตได้เรียบง่ายกว่านี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาทนทำงานหนักขนาดนี้ได้หรือไม่
  14. งานที่ทำอยู่นี้ง่ายเกินไปแล้วหรือเปล่า นำพรสวรรค์ออกมาใช้ในด้านใดได้ จะนำพรสวรรค์ออกมาใช้มากกว่านี้ได้อย่างไร
  15. ซะบิ ความงามอันล้ำลึกและสงบงาม อันเกิดขึ้นเมื่อเวลาล่วงไป
  16. ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาชีพการงานเติบโตขึ้นอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
  17. เร่งรัดเรื่องการงานของตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า มันจะแตกต่างออกไปอย่างไร ถ้าผ่อนคลายให้มันไหลไปตามจังหวะของมัน ปล่อยให้มันค่อย ๆ บ่มไปตามเวลา
  18. ถ้ารู้สึกว่าเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว จะหยิบทักษะอะไรติดตัวไปใช้กับงานใหม่ เรียนรู้อะไรบ้าง จากโรงเรียนแห่งชีวิตที่จะช่วยให้ก้าวไปบนเส้นทางอาชีพการงานช่วงต่อไป

อารมณ์ที่เป็นองค์ประกอบแห่งความงามเหล่านี้ มีความสำคัญต่อสุนทรียศาสตร์ของญี่ปุ่น และมันก็สามารถเป็นแนวทางสำหรับเส้นทางอาชีพการงาน เพียงต้องหยุดสักนิดหันมาใส่ใจ ปรับตัวเข้าหา และเปิดใจออกรับความอัศจรรย์

เดินตามทางของตัวเอง อาชีพการงานก็คือวิถีหรือเส้นทางด้วยเช่นกัน เมื่อมองย้อนไปบนเส้นทางอันก้าวไกลที่ได้เดินมา จะพบว่าทางสายนี้ไม่เพียงแค่คดเคี้ยว แต่ยังวกวนกลับสู่เส้นทางเดิม มันมีทั้งตีวงโค้งกว้างและโค้งแบบยูเทิร์น ความพยายามนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ และความมุ่งมั่นก็จะได้รางวัลตอบแทน มันไม่สำคัญเลยว่าใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะมาถึงจุดนี้ และก็ไม่สำคัญว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่กว่าจะถึงจุดต่อไป จริง ๆ แล้วประเด็นสำคัญมันคือสิ่งที่สำคัญกว่าผลลัพธ์ที่ได้มา

กำหนดย่างก้าวของตัวเอง เพื่อจะได้คืบหน้าไปบนหนทางที่ฝันไว้ ในบริบทของชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบอันสมบูรณ์พร้อม จะต้องเตรียมตัวให้ดี ทุ่มเทเชื่อมั่นในตัวเอง และในกระบวนการต้องปล่อยวาง ความอยากรู้ในทุก ๆ คำตอบ ปล่อยวางภาพอนาคตอันสมบูรณ์แบบ แล้วก็กระโจนไปลงมือสร้างสรรค์มันขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง

โลกทัศน์จาก วะบิ ซะบิ เปิดโอกาสให้ใช้ความรู้สึกไปบนหนทางของชีวิตด้วยใส่ใจว่า คนอื่นคิดอย่างไรให้น้อยลง แล้วจึงสนใจไปกับสิ่งที่สำคัญกับตัวเองจริง ๆ ต้องเลือกทุ่มเทกำลังให้สิ่งที่จะสร้างผลกระทบได้มากที่สุดก่อน แล้วพาตัวเองให้เดินไปสู่เส้นทางที่ต้องการจะไป และทุกครั้งที่ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้บางสิ่ง ก็จำเป็นเก็บเรื่องอื่น ๆ พักไว้ก่อนแล้ว หลังจากทุ่มเททำเรื่องหลักเสร็จ ก็ต้องจัดสรรเวลาสำหรับพักฟื้น ปล่อยให้ตัวเองได้ผ่อนคลายบ้างสักพัก การใช้เกียร์ปรับความเร็ว 3 ระดับ และปรับความหนักเบา 3 ระดับ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิต ไม่ว่าจะรักชอบอาชีพที่ทำอยู่นี้หรือไม่ก็ตาม จึงจะอยู่กับมันได้ตลอดรอดฝั่ง

เปิดรับความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การทำงานแบบดั้งเดิมล้มหายตายจากไปหลายตำแหน่ง และโอกาสใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาแทน ไม่มีใครรู้หรอกว่าอาชีพการงาน จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในอีก 50 ปีนับจากนี้ ดังนั้นจะเลือกเหนี่ยวรั้งวิถีที่เป็นอยู่ หรือจะโอบกอดวิวัฒนาการของโลก แล้วนำมันมาปรับกลายเป็นอาชีพ ที่สามารถรองรับวิถีชีวิตอย่างที่ต้องการมากที่สุด

ชุดทักษะที่มีไม่จำเป็นต้องมีไว้เฉพาะทำงานใดงานหนึ่ง มันสามารถนำไปใช้ได้หลายทาง เมื่อยอมรับความจริงที่ว่าอาชีพการงานนั้นเคลื่อนไปไม่ใช่หยุดนิ่ง ก็เท่ากับได้เปิดตัวเองให้ความเป็นไปได้อื่นที่ยังไม่รู้ มันจำเป็นขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะต้องเพิ่มความสามารถในการมอง การอ่าน การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การตั้งคำถาม การปรับตัว และปรับแนวทาง เพื่อรับมือกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของโลก และการทำงาน จำไว้ว่าการตอบสนองความงดงามด้วยหัวใจคือ แก่นของเรื่อง วะบิ  ซะบิ ดังนั้น ความงามแบบใดกันที่จะสร้างขึ้นมาด้วยอาชีพการงาน

บทที่ 8 เก็บรักษาวันเวลาที่ดี

ความสมบูรณ์แบบนั้นมีอยู่จริง เฉพาะในบางช่วงเวลา ช่วงที่ส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ ของเวลา แล้วก็ผ่านไป เป็นช่วงเวลาที่สมบูรณ์แบบในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ บนโลกที่หมุนไปตลอดเวลา ชั่วขณะเช่นนี้ จะให้ความรู้สึกเหมือนวันเวลาขยิบตา สิ่งล้ำค่านี้ค้นพบได้ในรายละเอียดที่เล็กที่สุดในชีวิตประจำวัน ถ้าชะลอให้ช้าลงได้ อยู่กับปัจจุบันขณะ ใส่ใจที่จะสังเกตให้นานมากพอ ในช่วงขณะอึดใจ วะบิ ซะบิ ก็ปรากฏขึ้น ความงามตามของธรรมชาตินั้นจะยิ่งเข้มข้นขึ้น เมื่อมันจวนเจียนจะเลือนลับเข้าไปทุกที

อายุยืนยาวชีวิตดีงาม ในประเทศญี่ปุ่น บริเวณหมู่บ้านชนบทของเมืองมัตสึกาวะ ในนางาโนะ มีตัวเลขอายุไขประชากรสูงที่สุด เมืองนี้สร้างความรู้สึกเชิงบวก และพบ 3 เหตุผลหลักที่ทำให้ตัวเลขอายุไขประชากรสูงมากนั่นคือ บริการสาธารณสุขมีมาตรฐานสูง ประชากรมีความตระหนักเรื่องสุขภาพ และเข้าร่วมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และมีชีวิตที่มีความหมาย มีแรงผลักดันในการทำงาน และอยู่ร่วมกันในสังคม สิ่งนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องการมีอายุยืนยาว แต่ยังเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีด้วย ซึ่ง วะบิ ซะบิ นี่แหละที่เป็นมาตรวัดการมีชีวิตที่ดี ด้วยอารมณ์ทุกแบบล้วนมีความงาม ยิ่งเปิดให้ตัวเองได้รู้สึก ก็จะยิ่งสัมผัสความมีชีวิตชีวา และความยิ่งใหญ่ของชีวิต แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่แสนท้าทายก็ตาม ชีวิตนี้ช่างน้อยนัก มันจึงมีค่ายิ่งนัก และมันขึ้นอยู่กับตัวเราเองที่จะใช้มันอย่างดีที่สุดในทุกช่วงชีวิต เริ่มต้นได้เลยตั้งแต่ตรงนี้ตอนนี้

ใคร่ครวญอายุขัย การจินตนาการถึงเรื่องที่ทุกคนไม่มีวันรู้ นั่นคือจะมีชีวิตอีกนานเท่าไหร่ จะเป็นเครื่องมือแห่งการตื่นรู้ที่สำคัญ ในการสำรวจชีวิตตัวเองว่า อะไรคือสิ่งสำคัญจริง ๆ ก็จะได้จัดลำดับไปตามนั้นได้ มันช่วยให้พิจารณาว่า อะไรที่เร่งด่วนจริง ๆ และเผยให้เห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เดิมคิดว่าเร่งด่วนนั้นจริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย มันเป็นแรงบันดาลใจให้ทำตอนนี้ให้ดีที่สุด และช่วยให้ก้าวออกจากความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน หายใจเข้าลึก ๆ และมีความสุขเต็มที่กับทุกสิ่งทุกอย่าง

ความงามของวัย มักจะมองการว่าตัวเลขวัยเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง หรือกระทั่งต้องกลัว แต่ทุกสิ่งที่ วะบิ ซะบิ สอนก็คือ ให้โอบกอดมัน เมื่อชีวิตเบ่งบางและสุกงอมไปตามเวลา ยิ่งอายุมากขึ้นบุคลิกจะยิ่งพัฒนา ภูมิปัญญาจะยิ่งหยั่งลึก ทำให้มีสิ่งดี ๆ มอบให้โลกมากขึ้น ด้วยประสบการณ์มากมายที่ผ่านมา คนเราใช้เวลาและเงินทองไปมากมาย เพื่อเหนี่ยวรั้งความอ่อนเยาของเปลือกภายนอก ในขณะที่เพิกเฉยกับความงาม และปัญญาญาณแห่งวัยที่มีอยู่ภายในนั้น

วะบิ ซะบิ ช่วยให้เลือกเส้นทางแห่งความสงบและพอเพียง โดยยอมรับว่าตัวเองอยู่ตรงจุดไหนของวัฏจักรแห่งชีวิต และจากความเครียดและอารมณ์ฟูมฟาย ปลดปล่อยวางพลังงานร้อนแรกของความเร่งรีบออกไปเสีย แล้วเปิดพื้นที่ให้พลังงานอันสดชื่นของการปล่อยวาง การเปลี่ยนผ่านช่วงชีวิตอาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่รับรู้ และไม่ยอมรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น กับร่างกาย จิตใจ และอารมณ์

ถ้าเปิดรับการเปลี่ยนผ่าน แทนที่จะเกาะกุมสิ่งที่เคยเป็นไว้อย่างเหนียวแน่น จะได้พบกับความลึกล้ำและลื่นไหลไปสู่สภาวะใหม่ ไม่ว่าจะรู้สึกพร้อมแล้วหรือยังก็ตาม ถ้าทำเช่นนี้ วะบิ ซะบิ จะเตือนใจให้ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ รับมือทุกช่วงชีวิตที่เข้ามา เติบโตด้วยภูมิปัญญาและดูแลตัวเองไปได้ตลอดทาง เมื่อเลือกดำเนินชีวิตไปบนระดับความเร็วที่เหมาะกับตัวเอง ทำอย่างสุดความสามารถ และยอมรับว่านั่นคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ความรู้สึกก็จะแตกต่างออกไป แต่ละช่วงชีวิตคือจังหวะเวลาสำหรับการเติบโต

ชื่นชมสิ่งเล็ก ๆ ความสำคัญของการค้นหาความงามในชีวิตประจำวัน สามารถหามันได้ง่าย ๆ โดยใช้ชีวิตให้ช้าลง และมองหาสิ่งที่น่าชื่นชม เช่น รดน้ำต้นไม้ อบขนมเค้ก ดูพระอาทิตย์ตก นอนนับดาว อ่านบทกวี ไปเดินเล่น สร้างบางสิ่งขึ้นมาหรือแม้แต่การทำงานบ้าน ก็เป็นการภาวนาได้ถ้าเลือกให้มันเป็นเช่นนั้น สามารถสร้างพิธีกรรมที่ทำขึ้นเป็นประจำ เพื่อนำตัวเองกลับสู่ปัจจุบันขณะ นอกจากนี้ยังสามารถเปิดใจรับสิ่งที่ไม่คาดฝัน

ความเรียบง่ายด้วยใจในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทุกครั้งที่วิตกกังวลเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เสียพลังไปกับความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจกับบางสิ่งที่ซื้อไม่ไหว หรือรู้สึกเสียใจกับบางสิ่งที่ซื้อมาโดยที่ไม่ได้ต้องการมัน นั่นเท่ากับว่าดึงตัวเองออกจากปัจจุบันขณะ ความวิตกกังวลและสับสน คอยขัดขวางไม่ให้สัมผัสถึง วะบิ ซะบิ และรับประสบการณ์ความงาม การวางแผนการเงินและบริหารเงิน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวด ให้ชีวิตที่พึงมีพึงเป็นในปัจจุบัน และจะส่งผลให้ได้ใช้ชีวิตให้ดีที่สุดด้วย ความสำคัญของความชัดเจน จัดลำดับความสำคัญ และหลักปฏิบัติในเรื่องเงินทอง การจดบันทึกรายรับรายจ่าย ช่วยให้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น จดบันทึกการออมด้วย จะได้รู้ว่าตอนนี้สถานะเป็นอย่างไร จัดลำดับความสำคัญของตัวเอง สร้างนิสัยในการตรวจบัญชีจนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัว นี่จะช่วยสร้างพื้นที่ให้สร้างสรรค์ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบอันสมบูรณ์พร้อมของตัวเอง ปลดปล่อยให้เป็นอิสระและมีความสุขกับที่ทางของตัวเอง

คำตาม

ผูกโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน

สิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมด จากการแสวงหาเรื่องราวเกี่ยวกับ วะบิ ซะบิ จากจุดเริ่มต้นที่เป็นการสำรวจโลกแห่งความงาม แล้วกลายเป็นอะไรที่กว้างไกลกว่านั้นมาก มันกลายเป็นวิธีในการเปิดรับประสบการณ์ที่ดีต่อโลกรอบตัว ไม่ใช่ด้วยความคิดเชิงตรรกะ แต่ด้วยความรู้สึก ด้วยหัวใจ และด้วยทุกประสาทสัมผัส วะบิ ซะบิ แสดงให้เห็นว่าชั่วขณะแห่งความงามที่ล่วงไป ความงามอันไม่เที่ยงแท้แน่นอนนี้ ทำให้ระลึกถึงคุณค่าของชีวิต

บทเรียนที่สำคัญที่สุดของ วะบิ ซะบิ คือเรื่องการเปลี่ยนมุมมอง การมองโลกด้วยเลนส์ของ วะบิ ซะบิ ทำให้มันกลายเป็นสถานที่ซึ่งงดงามขึ้น อ่อนโยนและเป็นพื้นที่แห่งการให้อภัยกัน เต็มไปด้วยความเป็นไปได้มากมาย และสดชื่นเบิกบานใจ วะบิ ซะบิ นั้นเหมือนความรักอย่างยิ่ง มันคือความรักที่จะชื่นชมต่อความงาม ต่อธรรมชาติ ต่อตนเอง ต่อกันและกัน และต่อชีวิต

วะบิ ซะบิ สามารถเป็นยาถอนพิษร้าย สำหรับโลกที่เร่งร้อน และขับเคลื่อนไปด้วยพลังบริโภคนิยม และมันจะช่วยทำให้ใช้ชีวิตช้าลง เชื่อมโยงกับธรรมชาติมากขึ้น และอ่อนโยนกับตัวเองมากขึ้น ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เรียบง่าย จดจ่อกับสิ่งสำคัญจริง ๆ ในชีวิต และมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ ทุกคนไม่สมบูรณ์แบบแต่สมบูรณ์พร้อมอย่างที่เป็น.