Venture Capital หรือการร่วมลงทุน เป็นการนำเงินลงทุนเข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัทขนาดเล็กที่เริ่มก่อตั้งกิจการและยังไม่มีรายได้เชิงพาณิชย์ แต่กิจการมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการขยายกิจการ โดยนักลงทุนที่เป็น Venture Capital ไม่ได้ต้องการถือหุ้นของบริษัทที่ลงทุนตลอดไป โดยส่วนใหญ่เมื่อลงทุนไปแล้วระยะหนึ่งประมาณ 3-5 ปี Venture Capital จะถอนตัวออกจากการลงทุน (exit) ความคาดหวังของ Venture Capital คือ ต้องการให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ และ Venture Capital ก็จะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะทำให้ Venture Capital ได้รับผลตอบแทนในรูปของกำไรจากการขายเงินลงทุน (capital gains) ที่ค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทที่ Venture Capital ข้าไปลงทุน ไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ Venture Capital ก็จะขอให้ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นคืน (share buyback) หรือมีการขายหุ้นดังกล่าวให้กับนักลงทุนหรือบริษัทอื่นที่สนใจต่อไป

Venture Capital มีความสำคัญจากทั้งมุมมองของกิจการที่ต้องการระดมทุนและนักลงทุน เพราะกิจการที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง (startups) มักไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้จากสถาบันการเงิน รวมถึงไม่สามารถออกและเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ต่อประชาชนและนักลงทุนสถาบันโดยส่วนใหญ่ การลงทุนใน Venture Capital เหมาะสำหรับนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบันบางประเภทที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงและสามารถแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูง

ลักษณะที่สำคัญของการลงทุนใน Venture Capital ได้แก่การลงทุนในกิจการหรือธุรกิจที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูง Venture Ca pital ทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินระหว่างเจ้าของเงินทุนและกิจการที่ต้องการระดมเงินทุน Venture Capital มีบทบาทสำคัญในการติดตามผลการดำเนินงานและให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆที่จำเป็นแก่บริษัทที่เข้าร่วมลงทุน และเป้าหมายสำคัญของ Venture Capital คือ การได้ผลตอบแทนทางการเงินสูงสุด เมื่อมีการถอนตัวจากการลงทุน โดยการขายหุ้นในกิจการนั้นๆ ให้แก่ Venture Capital อื่นๆ หรือ Strategic Investor หรือการผลักดันกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

โครงสร้างของ Venture Capital ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ นักลงทุนหรือเจ้าของเงิน กองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture Company ผู้จัดการกองทุน หรือ Venture Capital Management Company และกิจการ คือบริษัทที่ผู้จัดการกองทุนนำเงินเข้าไปลงทุนในรูปของ Equity ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัท Startups ที่มีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจสูงและมีแนวโน้มในการสร้างผลกำไรที่ดีในอนาคต ซึ่งการลงทุนในกิจการจะขึ้นอยู่กับช่วงพัฒนาการ ได้แก่ Seed Stage Investing, Early Stage Investing, Expansion Stage Financing และ Later Stage Financing

ปัจจัยสำคัญที่ Venture Capital ให้ความสำคัญเพื่อดัดเลือกการลงทุนในกิจการร่วมลงทุนที่มีความเหมาะสม ได้แก่ ประสบการณ์และความสามารถของทีมผู้บริหาร ดวามสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์และการให้บริการ ความสามารถในการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว แผนการดำเนินธุรกิจและการตลาดของกิจการถึงค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการลงทุนของ Venture Capital ก่อนที่ Venture Capital จะเข้าลงทุนในกิจการร่วมลงทุนใดๆ Venture Capital จะดำเนินการที่สำคัญ อันได้แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ ของบริษัทที่จะร่วมลงทุน การพิจารณาและเจรจาเงื่อนไขการเข้าร่วมลงทุน การวิเคราะห์แนวทางการเข้าลงทุน การพิจารณาแนวทางการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานของกิจการที่ Venture Capitalเข้าร่วมลงทุน การวิเคราะห์แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทที่ร่วมลงทุน และการวิเคราะห์แผนการออกจากการลงทุน

สำหรับการประเมินมูลค่าของกิจการร่วมลงทุน Venture Capital สามารถใช้แนวทางการประเมินมูลค่าอันได้แก่ Discounted Cash Flows Approach และวิธี Multiples ประเภทต่างๆ (เช่น P/E, P/BV, P/Sales และEV/EBITD A) ซึ่งในการประเมินมูลค่าการลงทุนในกิจการร่วมลงทุน Venture Capital ต้องพิจารณาในเรื่องความโปร่งใสและนำเชื่อถือของข้อมูล รวมถึงการขาดสภาพคล่องในการซื้อขายเปลี่ยนมือหลักทรัพย์ของกิจการที่จะร่วมลงทุน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • การวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น CISA