เกือบ 30 ปีก่อน ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับ UBC ที่มีหลากหลายช่องให้เลือกรับชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวี ทั้งภาพยนตร์ต่างประเทศ ซีรีส์ การ์ตูน รายการเพลง ไปจนถึงการถ่ายทอดสดฟุตบอล แล้วปัจจุบัน UBC ที่เคยรุ่งโรจน์นั้นหายไปไหน และประวัติ UBC เป็นอย่างไร บทความนี้จะเล่าให้ฟัง
ก่อนจะมาเป็น UBC
ย้อนไปเมื่อปี 2532 ได้มีบริษัท IBC ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี รายแรกของไทย หรือชื่อเต็มของบริษัทคือ บริษัท อินเตอร์เนชันแนล บรอดคาสติง คอร์ปอเรชันส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ เซอร์วิส แอนด์ อินเวสต์เมนท์ (หรือปัจจุบันคือบริษัท INTUCH ซึ่งได้ควบรวมเป็น GULF แล้ว) ของคุณทักษิณ ชินวัตร กับ คุณวิลเลียม ไลล์ มอนซัน นักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้บริหารบริษัท เคลียร์วิว ไวร์เลส จำกัด
เริ่มต้นนั้น IBC ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ในยุค 90 ที่ยังไม่เคยมีทีวีช่องใดทำมาก่อน ทั้งมีรายการทีวีที่น่าสนใจ และสมาชิกเคเบิลทีวีก็จะได้รับหนังสือที่แนะนำตารางการออกอากาศของแต่ละช่อง รวมทั้งแนะนำคอนเทนต์ในช่องต่างๆ และที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากก็คือ การถ่ายทอดสดบาสเก็ตบอล NBA จนสร้างกระแสมาสู่เทรนด์แฟชั่นของวัยรุ่นในยุคนั้นเลยก็ว่าได้
ต่อมาในปี 2538 ได้มีคู่แข่งอย่าง UTV หรือบริษัท ยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวอร์ก จำกัด (มหาชน) (เป็นบริษัทในเครือของบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู คอร์ปอเรชั่น ในปัจจุบัน) ก็ได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด โดยใช้วิธีส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิล Fiber Optic ที่แม้ฝนจะตกก็ดูได้ไม่ติดขัด เพื่อกลบข้อด้อยของ IBC ที่ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมทำให้ผู้ชมดูทีวีไม่ได้เวลาฝนตก และอีกจุดเด่นก็คือเป็นการถือกำเนิดของรายการเพลงอย่าง CHANEL V และ MTV และกำเนิด VJ ดังๆในยุคนั้น
แต่การออกอากาศผ่านสายเคเบิลอย่าง UTV ส่วนใหญ่มักครอบคลุมแค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพราะการติดตั้งก็ยุ่งยากกว่า ต้นทุนก็สูงกว่าแบบดาวเทียม ต่างจาก IBC ใช้การส่งสัญญาณดาวเทียม ที่สามารถตั้งเสาแล้วดูได้เลย
สรุปว่าในเวลานั้น IBC มีเจ้าของคือ คุณทักษิณ ชินวัตร เครือชินคอร์ป
ส่วน UTV มีเจ้าของคือ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เครือซีพี
วิกฤตต้มยำกุ้งและการรวมตัวของ IBC กับ UTV เป็น UBC
เมื่อการแข่งขันผ่านมาระยะเวลาหนึ่ง ถึงในช่วงปี 2540 ก็เข้าสู่วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” แน่นอนว่ากระทบกับ IBC และ UTV ด้วย เพราะเมื่อมีปัญหาค่าเงินบาทลอยตัวไปเกือบ 2 เท่า ส่งผลให้ค่าลิขสิทธิ์รายการทีวีที่ต้องซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศก็สูงขึ้นไปด้วย
เพื่อลดต้นทุน และสามารถใช้ทรัพยากรของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อความอยู่รอด ทั้ง 2 บริษัทจึงตัดสินใจควบรวมกิจการกัน ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2541 ก่อกำเนิดเป็น UBC หรือ บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติง คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็สามารถเพิ่มฐานลูกค้าได้ทีเดียว โดยได้รวมเอาข้อดีของการส่งสัญญาณดาวเทียมของ IBC และการส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิลของ UTV เข้าไว้ด้วยกันให้ลูกค้าได้เลือกติดตั้งตามสะดวก
และบริษัทได้ใช้ จานดาวเทียมสีแดง เป็นอุปกรณ์รับสัญญาณหลักในช่วงหนึ่ง ซึ่งทำให้คนไทยในยุคนั้นเรียกกันติดปากกันว่า “จานแดง” นั่นเอง
หลังจากนั้น UBC ก็กลายเป็นเคเบิลรายใหญ่รายเดียวในประเทศไทย ทำให้มีผลประกอบการที่ดีมาก และได้จดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยใช้ชื่อย่อว่า UBC ถึงขั้นเคยติดอันดับดัชนี SET 50 หรือหุ้นที่มีมูลค่าบริษัทและมีสภาพคล่องมากที่สุด 50 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทยอีกด้วย
แล้วปัจจุบัน UBC หายไปไหน?
ในปี 2549 TRUE ได้เข้าซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด และใช้ชื่อว่า UBC-True ก่อนจะเปลี่ยนเป็น TrueVisions หรือ บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2552 จากนโยบาย Convergence ของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ต้องการรวมเอาบริการทีวี, อินเตอร์เน็ต และ โทรศัพท์มือถือ เข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ดีขึ้น
บทสรุป
ปัจจุบันแค่มีอินเทอร์เน็ต ก็สามารถรับชมรายการต่างๆได้หลากหลาย ทั้งชมฟรีผ่าน Youtube ที่มีให้เลือกหลายแนวและหลายช่องจากอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ หรือจะรับชมผ่านบริการสตรีมมิงของ Netflix, Disney+, Viu ฯลฯ นี่ยังไม่รวมถึงเว็บเถื่อนดูฟรีที่กลาดเกลื่อนเมืองไทยอีก เมื่อทางเลือกของผู้บริโภคมีมากขึ้นขนาดนี้ แน่นอนว่าผู้ผลิตก็คงต้องเร่งปรับตัวหากลยุทธ์เพื่อครองใจผู้บริโภค มิเช่นนั้นก็คงจะเหลือชื่ออยู่แค่ใน “ตำนาน” เท่านั้นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- https://www.marketingoops.com/reports/fast-fact-reports/truevisions-history-ibc-ubc-trueid/
- https://th.wikipedia.org