ครองใจคนได้ง่ายนิดเดียว

สั่งซื้อหนังสือ “ครองใจคนได้ง่ายนิดเดียว” (คลิ๊ก)

สรุปหนังสือ THE RULES OF PEOPLE

ครองใจคนได้ง่ายนิดเดียว

ในโลกใบนี้ไม่มีใครอยากเป็นผู้แพ้ แต่อยากชนะใครต่อใครไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งในชีวิต บางครั้งสัญชาตญาณของการเอาชนะ ก็ทำให้อยากเอาชนะคนรอบตัวไปหมด ทั้งที่รู้อยู่ว่าชนะไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา แถมยังอาจก่อความเสียหายอีกต่างหาก แต่กระนั้นก็อดใจไม่ไหวเลย ต้องมีแพ้บ้างชนะบ้างสลับกันไปเป็นธรรมดา ชัยชนะจากการเอาชนะแบบนี้ จึงไม่มีความยั่งยืน แต่จะชนะใจคนได้ก็ต้องชนะใจตัวเองให้ได้เสียก่อน ต้องชนะความโกรธ ความหงุดหงิด เบื่อหน่าย ความไม่สบอารมณ์ และไม่แสดงพฤติกรรมด้านลบออกมาทำร้ายจิตใจใคร

กฎต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้คือวิถีของผู้ชนะในสังเวียนชีวิตอย่างแท้จริง คนที่เลือกหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน เป็นคนประเภทที่มีความสุขทบทวี ในเวลาที่เห็นผู้คนรอบตัวมีความสุข ยิ่งทำให้ชีวิตใครต่อใครรอบตัวดีมากขึ้นเท่าไหร่ ชีวิตก็จะยิ่งง่ายดายและมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ส่วนเครื่องมือที่ใช้สำหรับการนี้ก็มีแค่ทักษะการสร้างความสุขให้กับคนรอบตัว หากใช้เครื่องมือนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อให้เพื่อนร่วมงานขี้บ่น น้องสาวจอมเครียด หรือแม้แต่อาจารย์สุดเนี๊ยบที่มหาวิทยาลัย ก็จะมีพฤติกรรมต่อต้านหรือจุกจิกน้อยลง เพราะรู้วิธีรับมือกับพวกเขา เป็นวิธีที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยกันได้

ในแต่ละวันทุกคนต้องติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย แล้วคนเหล่านั้นก็มีความต่างกันไป ทั้งในแง่บุคลิกส่วนตัวและในแง่ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะในที่ทำงานหรือที่มหาวิทยาลัยก็ล้วนแต่มีคนที่ต้องพบปะพูดคุยด้วยทั้งนั้น และในกลุ่มคนเหล่านั้นจะมีทั้งคนที่อยากเกี่ยวข้องด้วยอย่างตรงไปตรงมา คนที่คุยด้วยแล้วไม่พาเรื่องปวดหัวแสลงใจมาให้ นอกจากคนวงนอกอย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีครอบครัวที่ห่วงใยอยู่ลึก ๆ แล้วก็ไม่มีวันเบาใจได้เลย ถ้าพวกเขาไม่สุขกายสบายใจ

ผู้คนร้อยพ่อพันแม่เหล่านี้ ล้วนช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายและง่ายขึ้นได้ทั้งสิ้น ถ้าสามารถปฏิบัติต่อพวกเขาได้เหมือนกันทุกคน ผู้คนหลากหลายทั้งหมดนี้มีชีวิตที่แตกต่างกัน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องทำอะไรขนาดไหน ถึงจะชนะใจพวกเขาได้ทั้งหมด คำตอบก็คือพวกเขาอาจไม่ได้แตกต่างกันอย่างที่คิด ไม่ได้ต่างในสาระแห่งความเป็นคน จึงทำให้สามารถใช้แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ รวมถึงหลักการและกลยุทธ์ทั้งหลายที่เรียกว่า กฎ มาช่วยให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับทุกคนได้

จริง ๆ แล้วคนเราแทบไม่ต่างกันเลย ถ้าเข้าใจความเป็นธรรมชาติของมนุษย์แล้ว การเข้าใจใครสักคนที่อาจมีลักษณะจำเพาะเจาะจงกว่า และบังเอิญว่าต้องมาพบปะกันทุกวันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร มีวิธีการนับร้อยที่จะชักจูงพวกเขา ให้ก้าวเข้ามายืนเคียงข้างแถมรู้สึกดีที่ได้ก้าวเข้ามา ซึ่งก็คงอยากให้เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ทั้งนี้ไม่ปฏิเสธหรอกว่าโลกเรามีคนที่นิสัยแย่ ๆ หลอกลวงปลิ้นปล้อนอยู่มากมาย

แต่บางทีคนพวกนี้ก็อาจเจอเรื่องหนัก ๆ มามาก หรือมีชีวิตที่ทนทุกข์แสนสาหัส บางคนก็อาจไม่มีเหตุผลอะไรให้แก้ตัวเลยก็ได้ แต่จะยังไงก็ช่างถ้ารู้วิธีที่ดีที่สุด ในการรับมือกับพวกเขาก็จะได้ประโยชน์กว่า ดังนั้น จึงผนวกในเนื้อหาของกฎที่ใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้ร่วมงาน คนในครอบครัว และเพื่อนพ้องที่นิสัยไม่ค่อยดี เอาไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน

การทำความเข้าใจผู้คน

เมื่อใดที่ทุกคนมีความสุข และร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน ถ้าอยากชนะใจผู้คนอยากให้เกิดผลดีทั้งกับพวกเขาและตัวเอง อยากช่วยเหลือเจือจานอีกฝ่ายตามกำลังที่ทำได้ หรืออยากให้คนสองฝ่ายจับมือกระชับมิตรกันอย่างแท้จริง ต้องรู้เสียก่อนว่าอะไรที่คนอื่นหรืออีกฝ่ายเขาไม่ชอบ ต่อให้เป็นความรู้เพียงเล็กน้อยเช่นว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเรามีพฤติกรรมแบบต่าง ๆ ขึ้นมาได้

หมายความว่ามีสิ่งที่ทำให้พวกเขาหยิบยื่น ในสิ่งที่ต้องการมาให้ได้ และก็มีสิทธิ์ช่วยเหลือพวกเขาไปได้พร้อม ๆ กัน กฎต่าง ๆ ในหมวดแรกนี้จะเริ่มต้นจากหลักการด้านพฤติกรรมของมนุษย์ นำมาใช้ประโยชน์ในการคบหาสมาคมกับใคร ๆ ได้ หลักการเหล่านี้เป็นสาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้คนเรามีพฤติกรรมอย่างที่ทำ ๆ กันอยู่ เมื่อรู้หลักการเหล่านี้ก็จะมีช่องทางในการโน้มน้าวจิตใจ ให้พวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรมจากแนวทางเดิม ๆ ที่เคยต่อต้าน มาสู่แนวทางใหม่ที่ได้ประโยชน์สูงสุดกันทุกฝ่าย กฎเหล่านี้ไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อน หรือยากจนเกินเข้าใจ เป็นแค่การสังเกตการณ์ขั้นพื้นฐาน

กฎข้อที่ 1 เข้าใจคำว่าช่วยเหลือ

ทุกคนล้วนมีเรื่องราวแต่หนหลัง ที่ไขปริศนาได้ว่าเพราะเหตุใดจึงมีพฤติกรรมอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ แม้จะพิสูจน์ความถูกต้องไม่ได้เสมอไปทุกครั้ง แต่อย่างน้อยก็บอกถึงสาเหตุ พฤติกรรมได้ เมื่อสังเกตจริง ๆ ก็สามารถตีประเด็นได้แน่นอน มนุษย์ทุกคนในโลกล้วนเติบโตขึ้นมาจากประสบการณ์ที่หล่อหลอม นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับ ดังนั้นเวลาที่เพื่อนร่วมงานตะคอกใส่หน้า หรือเพื่อน ๆ ทำให้ผิดหวัง ก็ขอให้ระลึกไว้เถอะว่ามันเกิดจากเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งเสมอ แม้จะเป็นเหตุผลที่ไร้สาระก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเหตุผล

เมื่อเข้าใจเหตุผลแล้ว ก็จะได้รับมือกับคนที่มีพฤติกรรมเชิงลบได้ง่ายขึ้น ต่อให้เปลี่ยนการกระทำของเขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็พอทำใจได้ หากรู้เหตุผลเบื้องหลังของพฤติกรรมที่แสดงออกมา จะได้ไม่แปลกใจกับท่าทีของอีกฝ่ายจะได้เตรียมใจไว้ แล้วเมื่อไม่แสดงอาการต่อต้าน อีกฝ่ายก็จะไม่ตั้งป้อมป้องกันตัว พฤติกรรมที่แสดงออกในลำดับต่อไป จึงไม่แข็งกร้าวเท่าเดิม ทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าอกเข้าใจกัน เพราะที่สุดแล้วไม่ควรมีใครที่เครียดแล้วไปพาลใส่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นความโมโห ความใจร้อน ความไม่มั่นใจ หรืออะไรก็ไม่ควรทั้งนั้น

แต่เท่าที่รู้พฤติกรรมพวกนี้ก็ยังมีเกิดขึ้นทุกวัน ขอให้เข้าใจแรงจูงใจของคนนิสัยไม่ดี แต่ทั้งนี้ก็เพื่อความสุขของตัวเองล้วน ๆ

กฎข้อที่ 2 ไม่จำเป็นที่ใครต้องเหมือนคุณ

กฎข้อนี้ก็เหมือนกับเหตุการณ์ทำนอง เวลาที่เบื่อหน้าหรือรำคาญใครขึ้นมา การรีบวิพากษ์วิจารณ์เขาแบบเสีย ๆ หาย ๆ ว่าเป็นคนโง่หรือไม่มีเหตุผล หรือเหลวไหลไร้สาระนั้น ย่อมง่ายกว่าการนั่งขบคิดไตร่ตรองว่า พฤติกรรมของเขานั้นอาจถูกต้องชอบธรรมเอามาก ๆ ก็ได้ แค่ไม่เหมาะกับอัธยาศัยของตัวเองเท่านั้น อย่างไรก็ดีถ้าต้องการชนะใจผู้คน เพื่อความสุขและความยุติธรรม ก็ต้องมั่นใจในหลักคิดที่ว่า การที่ไม่ชอบสิ่งใดนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นผิด

กฎข้อที่ 3 คนเราได้ยินแต่สิ่งที่อยากได้ยิน

คนเราถูกตั้งโปรแกรมให้เลือกฟังแต่สิ่งที่อยากได้ยิน และไม่ฟังในสิ่งที่ไม่อยากได้ยิน การตั้งโปรแกรมดังกล่าวหนักถึงขนาดที่ว่า ทำได้โดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าอยากให้ใครต่อใครอยู่ข้างเราหรือร่วมมือ ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อให้เขายอมรับฟังในสิ่งที่เขาไม่อยากได้ยิน นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ท้อแท้กลุ้มใจไปก็ป่วยการ เอาแค่รับทราบไว้ก็พอ การอธิบายใหม่ให้ชัดเจนกว่าเดิม การตั้งคำถาม เป็นการจับมัดไว้กับปัญหาที่พวกเขากำลังหลบฉากอยู่

เทคนิคการพูดตั้งคำถามก็คือ จงพูดให้สั้น กระชับ ชัดเจน เจาะจง ตรงไปตรงมา ถ้าจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรได้ก็จงเขียนไปเลย ถ้าจับทางได้ว่ากำแพงในใจของพวกเขาคืออะไร โอกาสที่จะชนะใจพวกเขาก็นอนมาเห็น ๆ อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้อีกฝ่ายยอมฟังเหตุผล กฎข้อนี้ไม่จำเพาะว่าจะต้องใช้กับคนอื่น ใช้กับตัวเองก็ได้เหมือนกัน เพราะตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ยินแต่สิ่งที่อยากได้ยิน

กฎข้อที่ 4 คนเราเชื่อแต่สิ่งที่อยากเชื่อ

สิ่งที่เชื่อไม่ใช่แค่เรื่องข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ยังมีมุมมองหรือทัศนคติผสมปนเปลงไปอย่างสลับซับซ้อน ทัศนคติมีที่มาจากการเลี้ยงดู ประสบการณ์ในอดีต ความเชื่อของคนใกล้ชิด ความต้องการให้คนอื่นประทับใจ รวมทั้งมุมมองที่มีต่อตัวเอง บ่อยครั้งความคิดรวบยอดของคำว่าความเชื่อ ก็ถูกนำไปใช้กับเรื่องจิตวิญญาณ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับความเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งมีอิทธิพลกับข้อเท็จจริง

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะไปถกเถียงต่อปากต่อคำด้วยได้ ความจริงคือความเชื่อของทุกคนเกิดขึ้นจากความรู้สึกลึก ๆ ข้างในเป็นอย่างแรก แล้วหลังจากนั้นค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อทีหลัง จะมองหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ มาสนับสนุนสิ่งที่ได้เลือกเชื่อไปแล้ว หากไม่รู้ทันขั้นตอนของจิตใจก็จะหลอกตัวเองว่า ความคิดของตัวเองมีเหตุมีผลมากกว่าอีกฝ่าย นั่นจึงเป็นเหตุผลจริง ๆ ที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือศาสนาก็ตาม ดังนั้น จึงป่วยการปล่าวที่จะมาเถียงกัน

ปัญหาก็คือไม่ว่าคำพูดข้อเท็จจริงหรือสถิติ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในเวลาโต้เถียงกับใคร ไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะทำให้ใครเปลี่ยนความเชื่อได้เลย โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนใจอีกฝ่ายหนึ่งได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเราเปลี่ยนความเชื่อกันไม่ได้ ความเชื่อเฉพาะบุคคลเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อเขาคิดได้เอง หรือประสบการณ์ตัวเองเท่านั้น คนอื่นไปคิดแทนเขาไม่ได้ คนเราจะเปลี่ยนความเชื่อก็ต่อเมื่อย้ายถิ่นไปอยู่ที่ใหม่ รู้จักคบหากับคนกลุ่มใหม่ที่สถานะของพวกเขามีอิทธิพลโน้มน้าวได้ สภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือได้ทำงานที่สอนให้ต้องเปลี่ยนวิธีมองโลก

จะเห็นได้ว่าคนเราเปลี่ยนความเชื่อด้วยตัวของตัวเอง เพื่อตอบสนองต่อประสบการณ์ชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปยืนกรานในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แต่ควรยึดถือหลักความเป็นไปได้จริง เกี่ยวกับโอกาสที่คนอื่นจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อของเขาเท่านั้นเอง

กฎข้อที่ 5 ปฏิกิริยาท่าทีของคนอื่นขึ้นกับกิริยาท่าทีของคุณ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมจึงต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน บ่อยครั้งพบว่าสิ่งที่สื่อสารออกไป ไม่ได้รับการตอบสนองสมดั่งใจที่เป็น แบบนั้นก็เพราะสิ่งที่สื่อสารออกไปไม่สำคัญเท่าวิธีการที่ใช้สื่อสาร จำเป็นต้องมองตัวเองให้ออกว่า กำลังใช้ท่าทีแบบไหนประกอบคำพูดคำจาและอากับกิริยา ตัวอย่างเช่น ถ้ามีกิริยาท่าทีเหมือนคนที่กำลังจะหาเรื่องก็จะมีเรื่อง ถ้าทำถ้าหงอ ๆ เป็นหมูสนามคนอื่นก็จะเอาเปรียบ แต่ถ้าแสดงความมั่นอกมั่นใจคนอื่นก็จะเชื่อมือว่าชำนาญงานนั้น ๆ

เมื่อใดก็ตามที่ต้องการให้คนอื่นตอบสนอง หรือมีปฏิกิริยาในแบบที่ต้องการ ก็จงพิจารณาว่าควรใช้สิ่งใดประกอบการสื่อสาร เพื่อให้การพูดคุยครั้งนั้นบรรลุผลสำเร็จ ซึ่งอาจมีโอกาสพูดเพียงครั้งเดียวก็ได้ บางครั้งท่าทีที่แสดงออกมาอาจเกิดจากการพลั้งเผลอโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ถ้าเห็นว่าการสนทนาไม่ราบรื่น ให้ลองตรวจสอบตัวเองก่อนเลยว่า แสดงท่าทีอะไรออกไป ถ้าอยากให้การเจรจาสำเร็จผลตามเป้าหมาย ก็จงนำกฎข้อนี้ไปลองคิดดู

กฎข้อที่ 6 จำความรู้สึกเมื่อแรกพบไว้ให้ดี

ความรู้สึกเมื่อแรกพบที่มีต่อคนอื่นมักถูกต้อง จงอย่าได้ลืมความรู้สึกนั้นไป ช่วงแรก ๆ อาจคิดว่าความรู้สึกไม่ค่อยแม่นยำ แต่ความรู้สึกนี้จะแม่นยำขึ้นมาได้เองในภายหลัง ขอแค่รู้สึกแล้วอาจทำเป็นเฉย ๆ ไว้ก่อนก็ได้ จากนั้นค่อยก้าวสู่สถานการณ์ข้างหน้าด้วยดวงตาที่เปิดกว้าง ถ้าเริ่มมีอะไรไม่ชอบมาพากล ก็จงนึกถึงความรู้สึกเมื่อแรกพบนั้นไว้ให้ดี อย่าได้ลืมความรู้สึกเมื่อแรกพบว่า คนบางคนไม่น่าไว้ใจ อย่าได้ลืมความรู้สึกเฉลียวใจที่มักขึ้นมาแล้วแว๊บหายไป

รวมทั้งความรู้สึกระแวงทางใจว่า บางคนนั้นไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย ไม่สำคัญหรอกว่าสิ่งที่กังวลอยู่จะเกิดขึ้นตามนั้นหรือไม่ เพราะไม่มีใครฉลาดไปกว่าใคร แต่ถ้าเมื่อไหร่มีอะไรผิดปกติขึ้นมา ก็จะมีภาษีดีกว่าคนอื่นตรงที่เอาความรู้สึกลึก ๆ เมื่อแรกพบกลับมาไตร่ตรองใหม่ได้

กฎข้อที่ 7 ผู้คนคือเผ่าคน

ไม่ว่าใครก็อยากมีสมัครพรรคพวกกันทั้งนั้น เพราะมันคือธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถ้าถามว่าพวกของเราคือใครบ้าง แท้จริงแล้วทุกคนล้วนเป็นสมาชิกของเผ่าต่าง ๆ หลายเผ่า บางเผ่าก็ใหญ่ บางเผ่าก็เล็ก บางเผ่าก็ใกล้ชิด บางเผ่าก็หางเหินไม่คุ้นเคย แม้จะเป็นสมาชิกเผ่าครอบครัว เผ่าหมู่บ้านหรือเขตเลือกตั้ง เมืองหรือภูมิภาค ประเทศและเผ่าอื่น ๆ อีกมากมาย ก็ยังเป็นสมาชิกของเผ่าโรงเรียน บริษัทที่ทำงาน สโมสรสุขภาพแถวบ้าน รวมทั้งกลุ่มข่าวในสื่อสังคมด้วย

การเป็นสมาชิกเผ่าทำให้มีความจงรักภักดีต่อเผ่า ซึ่งแน่นอนว่าความรู้สึกจงรักภักดี และความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ที่มีต่อหลายเผ่าที่เป็นสมาชิกอยู่พร้อม ๆ กันนั้นย่อมไม่เท่าเทียมกัน ความผูกพันที่มีต่อครอบครัวย่อมแนบแน่นกว่าความผูกพันที่มีต่อเผ่าชุมชนแถวบ้าน ประเทศและอื่น ๆ ที่ไกลตัวออกไป จะสังเกตว่าเผ่าไหนก็ดีทั้งนั้น มาไม่ดีก็ตอนเกิดความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ในระหว่างเผ่าทั้งหลายที่เป็นสมาชิกอยู่

ปัญหาในโลกล้วนมีรากเหง้ามาจากความรู้สึกว่า เป็นคนละเผ่าในระดับนานาชาติ ความรู้สึกนี้เรียกกันว่า ความรักชาติหรือจะเรียกว่าลัทธิปกป้องก็ได้แล้วแต่มุมมองที่เรียก สภาวะของมนุษย์ก็เป็นเช่นนี้เอง เป็นสัตว์สังคมที่มีสัญชาตญานในการปกป้อง คุ้มครอง ผูกพัน และสนิทสนมอย่างที่สุดต่อกลุ่มสังคมที่ใกล้ชิด การกระทำหรือการลงคะแนนเสียงใด ๆ ให้กับเผ่าของตัวเองอาจไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือถูกต้องเสมอไป มนุษย์มักเข้าข้างเผ่าของตนก่อนเสมอ ถ้าอยากให้ใครสนับสนุนผลประโยชน์ ก็ต้องทำให้เขารู้สึกว่าเป็นเผ่าเดียวกันก่อน

กฎข้อที่ 8 ทุกคนต้องการรู้สึกว่าตัวเองมีค่า

ความภูมิใจในตัวเองต่ำนั้นอยู่เบื้องหลังความทุกข์ทรมานใจนับไม่ถ้วน ความรู้สึกนี้จะเป็นอาการเจ็บป่วยทางจิตแบบหนึ่ง พฤติกรรมต่าง ๆ นานาที่คนอื่นมาทำให้โกรธ ตั้งแต่ข่มเหงรังแก ไปจนถึงใช้อำนาจบงการแบบผิดปกติ ล้วนถูกหล่อเลี้ยงหรือเกิดขึ้นจากความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำทั้งนั้น ความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่านี้ จำเป็นต้องมีอยู่ประจำใจของทุกคน และด้วยความจำเป็นดังกล่าว จึงทำให้หลายคนต้องดิ้นรนกว่าคนอื่น เพราะไม่ว่าชีวิตใครก็ล้วนมีช่วงเวลาที่ราบรื่น และติดขัดเหมือนกันทั้งนั้น

ยังมีคนอีกมากที่มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่ถูกสั่งสอนมาให้กังขาในคุณค่าของตัวเอง จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ ดังนั้น จึงต้องมีคนช่วยบอกให้เขามั่นใจในคุณค่าของตัวเองได้อย่างแท้จริง ถ้าต้องการให้ใครได้รู้สึกดีกับตัวเขาเอง ก็จงบอกให้เขาคนนั้นรู้ตัวว่า เขามีน้ำจิตน้ำใจ มีประโยชน์ต่อผู้อื่น และมีคุณค่า การบอกกับเขาว่าขอบคุณก็พอใช้ได้

การพูดให้อีกฝ่ายเห็นคุณค่าในตัวเอง จะช่วยให้เขาเต็มใจร่วมมือมากขึ้นกว่าเดิม ถ้าทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเองได้มากขึ้น ก็ถือว่าทั้งสองฝ่ายมีแต่ได้กับได้ ดังนั้น ถ้าพบว่าใครมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา ก็จงอย่าพลาดที่จะมอบความภาคภูมิใจให้กับเขา

กฎข้อที่ 9 รักดอกจึงหยอกเล่น

มีหลายคนที่ไม่ชอบให้ใครมากระเช้าเย้ายอก เพราะรู้สึกเหมือนโดนตำหนิ ด้วยส่วนใหญ่เรื่องที่ยกมาหยอกกัน ก็มักก้ำ ๆ กึ่ง ๆ ชวนให้คิดได้ว่าเป็นข้อด้อยหรือข้อผิดพลาด ถ้าพูดแรงอีกนิดก็เป็นการตำหนิติเตียนได้เลย การหยอกล้อคือการนำลักษณะพิเศษของคนที่สนิทสนมด้วยเป็นพิเศษ มาตีไข่ใส่สีล้อเล่นแบบสุภาพและสนุกสนาน เพื่อยั่วเย้าให้อีกฝ่ายได้หัวเราะ แน่นอนว่าถ้าอาการล้อเล่นเลยเถิดก็จะกลายเป็นการข่มเหงรังแก ซึ่งเป็นการเล่นสนุกบนความทุกข์ของผู้อื่น และมีเจตนานำข้อด้วยมาประจาน

การข่มเหงรังแกเป็นคนละอย่าง คนละเรื่องกับการหยอกล้อ ทั้ง 2 อย่างต่างกันโดยสิ้นเชิง การข่มเหงรังแกมีเจตนาสร้างความอึดอัดรำคาญใจ และผู้กระทำก็รู้สึกไม่ชอบใจ ส่วนการหยอกล้อนั้นเกิดขึ้นจากความรักใคร่ จะหยอกล้อเฉพาะคนที่ชอบเท่านั้น การหยอกล้อมีเจตนาให้ผู้ล้อและผู้ถูกล้อได้แบ่งปันเสียงหัวเราะหรืออารมณ์ขันร่วมกัน เกิดขึ้นด้วยเจตนาดี ผู้ถูกกระทำก็รู้สึกชอบใจ

การหยอกล้อเป็นการแสดงความรักใคร่ ดังนั้น จึงสงวนการหยอกล้อไว้ใช้กับคนที่รักเท่านั้น แน่นอนว่าบางครั้งบางคราวอาจมีบางคนมากระตุกหนวดเสือโดยไม่ตั้งใจ ในกรณีเช่นนี้จะดูดีมาก ๆ หากพูดเพราะ ๆ แล้วชี้แจงให้อีกฝ่ายฟังว่า จะชอบกว่าถ้าเขาไม่เอาลักษณะพิเศษดังกล่าวมาล้อเล่น ซึ่งถ้าอีกฝ่ายรักใคร่เอ็นดู เขาก็จะยินดีทำตามที่บอก

กฎข้อที่ 10 การหยอกแรงเกินไปก็ไม่ใช่การหยอกเล่น

คำว่าการหยอกแรงเกินไป ใช้เพื่อสื่อความหมายถึงการหยอกล้อประเภทที่ทำให้คนอื่นโกรธ ลักษณะเด่นสุดของพื้นที่สีเทานี้ก็คือ ผู้กระทำการไม่มีเจตนาทำให้คนอื่นโกรธ ส่วนการข่มเหงรังแกนั้นสร้างความทุกข์ใจ และทำให้คนอื่นตกเป็นเหยื่อ โดยมีเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ การประเมินว่าการกระทำใดเป็นการข่มเหงจิตใจนั้นทำได้ยากมาก

สิ่งที่ต้องสังวรก็คือ ไม่ใช่แค่พูดอะไรหรือพูดอย่างไร แต่กำลังพูดกับใครอยู่ ทุกคนมีประสบการณ์และการมองโลกต่างกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนหนึ่งถึงรู้สึกว่า คำพูดทำร้ายจิตใจ ขณะที่อีกคนหนึ่งฟังแล้วเฉย ๆ ไม่คิดอะไร เรื่องแบบนี้ไม่มีทางรู้หรอกว่าเพราะอะไร ที่สุดแล้วการหยอกแรง ๆ ในกลุ่มเพื่อน จึงอาจกลายเป็นการข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงได้เช่นกัน

ในฐานะนักเล่นกฎ ต้องแน่ใจให้ได้ว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในกลุ่มเพื่อน จะไม่ผสมโรงกับใคร จะพยายามที่สุดเพื่อหยุดพฤติกรรมนี้ ซึ่งไม่ง่ายแต่ถึงอย่างไรก็ต้องพยายาม

กฎข้อที่ 11 ไม่ว่าใครก็ขาดความมั่นใจได้เหมือนกัน

คนที่เคยนำเสนองานในที่ประชุมต่างรู้กันดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนเข้าขั้นกลัว บางครั้งก็กลัวมาก บางเวลาก็กลัวน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเรื่องที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การสร้างความประทับใจให้หัวหน้า รวมถึงผลกระทบที่มีต่อผู้บริหารที่อาวุโสสูงกว่าอีกด้วย เวลานำเสนองานจะรู้สึกประหม่าและวิตกกังวลก็ไม่แปลก เพราะการนำเสนองานเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรจะผิดพลาดเลย

เวลาเห็นคนอื่นนำเสนองานแล้วดูช่างลื่นไหล กิริยาอาการงามสง่า ดูมั่นอกมั่นใจและง่ายดาย จริง ๆ แล้วก็มันไม่มีอะไรยากเลย ก็แค่ซ้อมนำเสนองานให้มาก ๆ ชนิดนับครั้งไม่ถ้วนเท่านั้นเอง ถ้าทำได้ตามนี้รับรองไม่มีพลาด ทั้งหมดที่เห็นเป็นแค่การแสดงตบตา เพราะในใจของคนที่นำเสนองานเหล่านั้น ล้วนประหวั่นพรั่นพรึงไม่น้อยไปเลย ส่วนการแสดงออกภายนอกสงบเยือกเย็น และควบคุมตัวเองได้เก่งไม่มีใครเกิน แต่ที่แน่ ๆ ทุกคนต้องเคยผ่านความรู้สึกไม่มั่นใจมากันแล้วทั้งนั้น ทุกคนล้วนเคยเป็นผลิตผลของประสบการณ์ทั้งสิ้น และไม่มีใครที่ชีวิตนี้จะปลอดจากเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกประหม่า และขาดความมั่นใจไปได้ ไม่มีสักคนเลยจริง ๆ

ถ้าต้องการเข้าใจผู้คน ซึ่งคือวิธีสานสัมพันธ์กับใคร ๆ ให้เกิดประโยชน์ ต้องรู้เสมอว่าต่อให้ใครมีกิริยาท่าทางมั่นอกมั่นใจขนาดไหน ลึก ๆ แล้วก็ต้องมีความรู้สึกไม่มั่นใจซ่อนอยู่กันทั้งนั้น ดังนั้น จงสอดส่องมองหาความรู้สึกไม่มั่นใจที่คนอื่นซ่อนเอาไว้ให้เจอ และเมื่อเจอแล้วก็จงเมตตาพวกเขา

กฎข้อที่ 12 เสือไม่ทิ้งลาย

คนแต่ละคนเปรียบไปก็เหมือนหม้อใบใหญ่ ที่ใส่ส่วนผสมต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก และประสบการณ์ต่าง ๆ มาคลุกเคล้าเคี่ยวจนได้ที่ จะเห็นว่าเปลี่ยนส่วนผสมอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง และด้วยส่วนผสมเหล่านี้นี่เอง ที่ปรุงขึ้นมาให้เป็นคนที่มีเอกลักษณ์ไม่ธรรมดาอย่างทุกวันนี้ ชีวิตคนก็อยู่บนสัจธรรมข้อนี้ คนเราเป็นอย่างที่เป็นคือ เป็นพันธุกรรมที่ถูกกำหนดมาผสมเข้ากับประสบการณ์ชีวิตแต่เก่าก่อน คนส่วนมากไม่ค่อยได้ใช้เวลาขบคิดกันหรอกว่า อะไรทำให้เป็นอย่างที่เป็น

ดังนั้น จึงควบคุมการกระทำ ปฏิกิริยา ความรู้สึก การรับมือกับปัญหา หรือบทบาทหน้าที่ไม่ค่อยได้ จะเที่ยวไปคาดหวังใคร ๆ ให้เสกตัวเองเป็นใครสักคนที่ถูกใจตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าคู่ของคุณจะรับมือกับความสัมพันธ์ที่มีการผูกมัดไม่ไหว หรือเจ้านายไม่เคยมอบหมายงานได้เข้าท่าเลย หรือลูกใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย การไปเคี่ยวเข็ญให้พวกเขาเป็นอย่างที่คิดมีแต่จะทำให้โกรธเกรี้ยวประสาทกินเปล่า ๆ ยิ่งยอมรับตัวตนที่พวกเขาเป็นได้เร็วมากขึ้นเท่าไหร่ ชีวิตก็ยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น

กฎข้อที่ 13 พฤติกรรมไม่ใช่นิสัยใจคอ

หากกฎข้อที่แล้วทำให้รู้สึกเหมือนสิ้นหวังอับจนหนทางไปหมด ก็จริงอยู่ที่คนเราอาจจะเปลี่ยนนิสัยใจคอไม่ได้ แต่บางครั้งเปลี่ยนพฤติกรรมได้ สำหรับบางคนแค่เขาเปลี่ยนพฤติกรรมได้ก็เหลือจะพอแล้ว ส่วนนิสัยใจคอลึก ๆ จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอาจไม่สนด้วยซ้ำไป เช่น ถ้าทำให้เจ้านายกระจายงานได้ก็ถือว่าเผด็จศึก ลึก ๆ แล้วเจ้านายรู้สึกอย่างไรใครจะไปสนใจเขากัน

พฤติกรรมของคนรอบตัวล้วนเป็นผลิตผลของประสบการณ์ในอดีตทั้งสิ้น เมื่อใดที่พวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองได้ เขาก็จะได้รับประสบการณ์ใหม่ไปพร้อมกันเสมอ ในเบื้องต้นช่วยให้พวกเขาได้เห็นผลดีของการมีระเบียบวินัย หรือผ่อนคลายลงบ้างก็ดีถมไปแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่า พฤติกรรมของพวกเขาอาจไม่เปลี่ยนเลยก็ได้

ดังนั้น จะสรุปเองไม่ได้เลยว่า พอเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วนิสัยของใครคนนั้นจะเปลี่ยนไปด้วย และถ้าขนาดเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังเปลี่ยนนิสัยไม่ได้ ก็อย่าหวังเลยว่าจะสรรหาวิธีใดมาเปลี่ยนเขาหรือเธอได้ หรือบางทีอาจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองแทน แล้วอดทนให้มากขึ้น

กฎข้อที่ 14 ความสัมพันธ์ของคนอื่นเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน

เรื่องความสัมพันธ์ของคนอื่นนั้น หากมองจากภายนอกบอกไม่ได้ว่า ประหลาดพิสดารปานใด บางคู่ที่ดูเหมือนรักกันดีหลังฉากก็อาจไม่มีความสุข หรือถึงขั้นทารุณข่มเหงกันก็ได้ หรือบางคู่ที่ดูเหมือนจะไปกันไม่รอด แต่จริง ๆ แล้วอาจชอบอยู่กันแบบนั้น ต่อให้ปัญหาเยอะหรือขัดแย้งกันอย่างไรก็ไม่แยกจากกันอยู่ดี เพราะอาจมีความจำเป็นด้านจิตใจที่ไม่รู้ก็ได้

นัยแอบแฝงเช่นนี้ มิได้จำกัดอยู่แค่ความสัมพันธ์แบบคู่รักเพียงเท่านั้น ความสัมพันธ์รูปแบบอื่น เช่น พ่อแม่กับลูก ๆ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด แม้ความสัมพันธ์ทั้งสองแบบจะแตกต่างกันสุดขั้ว แต่ปัญหาความสัมพันธ์ก็มีไม่ต่างกัน ความสัมพันธ์ทุกอย่างประกอบไปด้วยบุคคล 2 ฝ่าย ที่ร่วมกันสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นมา ซึ่งอาจทำให้ทั้งคู่มีความสุข แยกจากกัน ยอมตามอีกฝ่าย หรือทะเลาะกันก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใด ทางนั้นก็น่าจะเป็นผลดีใช่ไหม ไม่เช่นนั้นคงไม่เลือกเป็นแน่

โปรดจำไว้เถิดว่า ขณะที่พยายามมองปัญหาให้ทะลุนี้ กับอีกฝ่ายอาจช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไปพร้อม ๆ กันได้ นักเล่นกฎที่รู้ว่าควรแสดงออกในทางตรงกันข้าม เพื่อให้อีกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ถ้าอยากให้อะไร ๆ ดีขึ้นกว่าเดิม ก็ต้องเลือกทำในสิ่งที่สร้างสรรค์

กฎข้อที่ 15 ใช้ศัพท์สูงก็เพื่อให้คุณประทับใจ

เคยได้ยินคนที่ทั้งฉลาดและมั่นใจในภูมิรู้ของตัวเองพูดไหม พบว่าคนที่มีดีอยู่แล้วหรือมีจิตใจที่เปี่ยมสุข มักจะเข้าถึงได้ง่าย พูดคุยด้วยไม่ยาก เข้าใจได้ง่าย นั่นเป็นเพราะคนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องสร้างกำแพงขึ้นมาต่อกรกับใคร เพื่อพิสูจน์อะไรในตัวเขาให้คนทั้งโลกได้รู้ ถ้าเมื่อใดมีใครพยายามเหลือเกิน ที่จะสร้างความประทับใจให้ นั่นคือสัญญาณที่บอกเป็นนัย ๆ ว่าคน ๆ นั้นกำลังขาดความมั่นใจ แล้วพยายามหาอะไรสักอย่างมาชดเชย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ คนที่ชอบพูดคำศัพท์ยากและประโยคยาก ๆ ยาว ๆ เพื่อให้ตัวเองดูเป็นผู้คงแก่เรียน และมีการศึกษาสูง คนเหล่านี้คิดผิดว่าจะมีใครดูถูก เหยียดหยาม ถ้ารู้ว่าการศึกษาเขาไม่สูง จึงเข้าใจไปว่าการใช้ประโยคซับซ้อนและศัพท์แสงที่เข้าใจยาก จะหลอกให้คนอื่นเชื่อว่าเขาเป็นคนฉลาด หรือฉลาดกว่าที่เป็นอยู่จริง ๆ ได้

อันที่จริงแล้วถ้าจะตัดสินใครสักคนจากคำพูดคำจาที่เขาใช้ ก็น่าจะเป็นคำพูดที่มีความชัดเจนมากกว่าคำพูดที่มีความซับซ้อนเข้าใจยาก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใด คนที่มีความมั่นใจอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพยายามสร้างความประทับใจแบบผิด ๆ คนที่ชอบใช้ศัพท์สูงฟังยุ่งหู อาจคิดว่าจะช่วยสร้างความประทับใจให้กับใคร ๆ ได้ แต่ที่จริงแล้วเขาสร้างความประทับใจให้กับตัวเองได้แค่คนเดียวเท่านั้น

กฎข้อที่ 16 การเผชิญหน้าก็ต้องน่ากลัวอยู่บ้าง

จะว่าไปแล้วแทบไม่มีความจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับใครอย่างเต็มตัว พูดกันตรง ๆ ก็คือไม่เห็นต้องเผชิญหน้ากันเลย ตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายมีความเป็นผู้ใหญ่มากพอ แต่ปัญหามีอยู่ว่าบางคนกลัวเกินกว่าจะเอ่ยปากพูดเรื่องที่ตนไม่ชอบใจ ก็เลยปล่อยปัญหาคาราคาซังทิ้งไว้อย่างนั้นไม่คิดจะแก้ไข เพราะดูเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยดี อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสี่ยงโต้เถียงกับใครซึ่ง ๆ หน้า

โปรดรู้ไว้เลยว่าที่คนทั้งหลายรอบตัวชอบเก็บกดความกังวล หรือความขุ่นเคืองใจเอาไว้ไม่ยอมพูดออกมา จึงไม่มีทางรู้เลยว่าเขาหงุดหงิดใจอะไรอยู่ และตราบใดที่ปัญหายังไม่ได้แก้ อีกฝ่ายก็ไม่มีทางทำตัวได้ถูกใจ หายเกร็ง น่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ หรือร่วมแรงร่วมใจได้อย่างที่ต้องการ ดังนั้น จงใช้วิธีระบายปัญหาให้อีกฝ่ายฟัง ก่อนเปิดอกพูดเลยว่า เวลาที่คุณทำแบบนี้ฉันรู้สึกเหมือนคุณโกรธฉัน หรือ เวลาที่คุณไม่บอกฉันว่าเกิดอะไรขึ้น ฉันก็รู้สึกว่าคุณไม่เชื่อใจฉัน วิธีการพูดแบบนี้ดูจะเป็นกลาง มีเหตุผล ไม่ใส่อารมณ์ ไม่ชวนทะเลาะ และพอจะเปิดการสนทนาได้ ทั้งเป็นการส่งสัญญาณอีกด้วยว่า ไม่อยากมีปากเสียงกับอีกฝ่าย แค่อยากแก้ปัญหาที่สาเหตุเท่านั้น

โปรดจำไว้เสมอว่า เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาของอีกฝ่าย ที่เขาเองก็อยากแก้อยู่เหมือนกัน ถ้าถึงขั้นนี้ก็จับเข่าคุยกันฉันมิตร เพื่อให้การพูดคุยสัมฤทธิ์ผลได้แล้ว ไม่แน่นะถ้าไม่เริ่มวันนี้ วันหน้าพวกเขาอาจยกประเด็นมาคุยเองก็เป็นได้

กฎข้อที่ 17 ใส่ใจมากก็กังวลมาก

ความทุรนทุรายภายในใจ เกิดจากการที่ใส่ใจกับสิ่งที่ทำเอามาก ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ แต่มักมองไม่ออกเพราะมัวแต่พะวงกับการพยายามสงบสติอารมณ์ และห้ามใจไม่ให้คิดถึงความล้มเหลว เวลาที่ไปเจอใครที่ออกอาการกระวนกะวายใจอยู่ตรงหน้า ขอให้จำไว้ว่าความสำเร็จเป็นเรื่องสำคัญกับชีวิตเขามาก ดังนั้น จงมีความละเอียดอ่อน มีเมตตา และให้กำลังใจอีกฝ่าย

ห้ามไปสั่งเขาว่าเลิกกระวนกะวายใจซะที เพราะจะยิ่งทำให้เขากังวลเข้าไปใหญ่ สิ่งที่ควรจะทำก็คือช่วยให้เขาหายกระวนกระวายใจลง แสดงให้เขาเห็นว่าจะประสบความสำเร็จดังตั้งใจหวังได้อย่างไร จงบอกอีกฝ่ายว่าดีใจที่เห็นเขาตื่นเต้น เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขาสนใจมากอาการตกประหม่ารักษาได้ด้วยยาดีที่สุดคือ ความมั่นใจ และจะมั่นใจได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่า ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่

ดังนั้น ถ้าเห็นคนรอบตัวตื่นเต้นจนตั้งตัวไม่ติดขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จงเตือนสติให้อีกฝ่ายรู้ว่า เขามีความเก่งกล้าและรอบรู้มากมายเพียงใด หรือไม่ก็ช่วยซ้อมทบทวนกระบวนท่า หรือการเอื้อนเอ่ยวาจานำเสนองาน หรือจะช่วยให้กำลังใจว่า ไม่มีใครคาดหวังให้เขาจัดเจนงานได้ตั้งแต่วันแรกหรอก

กฎข้อที่ 18 คนที่โกรธคือคนที่กำลังเศร้าสลดใจ

คนที่โกรธคือคนที่กำลังเศร้าสลดใจ สะเทือนใจกลัว หรือไม่ก็อับอาย ซึ่งความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นสภาวะอารมณ์แห่งความหดหู่ ท้อแท้ และสิ้นหวัง ถ้าใครมีเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ผู้ร่วมงาน หรือคนรู้จักที่ขี้โมโหมากจนเกินเยียวยา ขอให้เข้าใจว่ารากเหง้าของปัญหา อาจเกิดขึ้นมานานแสนนานแล้ว ความรู้ความเข้าใจว่าคนเหล่านี้ มีความโศกเศร้า หดหู่ สิงสู่ในจิตใจ จะช่วยให้อยู่ร่วมกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น แม้คนที่มีนิสัยขี้โมโหจะดูไม่น่ารัก น่าเห็นใจเท่าไหร่นัก แต่ก็ยังสมควรได้รับความเห็นใจอยู่มิใช่หรือ

กฎข้อที่ 19 คนร้องไห้ไม่ได้เศร้าเสมอไป

กฎข้อนี้จะตรงข้ามกับกฎข้อที่แล้ว ซึ่งถ้ากฎข้อที่ 18 พบได้ง่ายในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง กฎข้อนี้ก็จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทราบดีว่าคนส่วนใหญ่ร้องไห้เพราะรู้สึกเศร้าเสียใจ แต่บางคนก็ร้องไห้ด้วยเหตุผลอื่นได้เหมือนกัน จัดได้ว่าการร้องไห้เป็นการแสดงอารมณ์แบบอเนกประสงค์เลยทีเดียว และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คนเราร้องไห้ได้แม้ในยามผ่อนคลายหายทุกข์ ปีติลิงโลดหัวเราะร่า หรือว่าอิ่มเอมใจกับความรัก และแน่นอนยังบอกได้คร่าว ๆ ด้วยว่า การร้องไห้เป็นการแสดงออกของอารมณ์ด้านลบ ที่ไม่ใช่แค่ความโศกเศร้าเสียใจเท่านั้น

โดยทั่วไปแล้วมนุษย์ไม่ได้ใช้แค่การร้องไห้ และความโกรธมาปิดบังอารมณ์เบื้องลึกอื่น ๆ เท่านั้น การอ่านอารมณ์คนไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับคนที่ไม่รู้จักนิสัยใจคออย่างแท้จริง บางครั้งบางคราวถึงกับต้องเสี่ยงดวงเดาใจกันเลยทีเดียว จงอย่าได้คิดไปเองว่าอารมณ์ที่เห็นอยู่นั้นเป็นอารมณ์แท้จริงของใคร บางทีที่ดูเหมือนจะใช่ แต่ถ้าไม่มีความสมเหตุสมผลพอ ก็ขอให้ระลึกไว้เถิดว่า อาจมีเงื่อนงำบางอย่างแอบแฝงอยู่ ถ้าต้องการจะช่วยใคร และช่วยแล้วดีกับตัวเอง ต้องรู้ซึ้งของปัญหาให้ได้ก่อน เพราะอาจช่วยให้อีกฝ่ายระบายความรู้สึก หรือเล่าเรื่องราวได้ง่ายที่สุด

กฎข้อที่ 20 บางคนเขาก็ไม่ได้คิดอะไร แค่เผลอไผลเท่านั้นเอง

บางทีการที่ใครต่อใครพูดว่า ไม่ได้คิดอะไรเลย ก็อาจถูกต้องตามนั้น เพราะไม่ได้มีเจตนาร้ายหรือกลั่นแกล้ง เวลาเจอใครทำอะไรที่ดูแล้วไม่ค่อยจะเข้าท่า จนต้องมานั่งพยายามทำความเข้าใจ ก็ขอให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ว่า อีกฝ่ายอาจไม่ได้คิดอะไรเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นคำอธิบายที่พบกันได้บ่อย ๆ ด้วยความคิดแบบนี้ จะทำให้สบายใจกว่าการคิดย้ำอยู่แต่ว่า คนอื่นจงใจมาดูถูกดูแคลน ลูบคม กีดกัน หรือกระตุกหนวดเสือให้โกรธจนควันออกหู

กฎข้อที่ 21 หมุดสี่เหลี่ยมเข้ากันไม่ได้กับรูกลมๆ

คนเราสามารถแบ่งประเภทของคนจากความชอบเด่น ๆ ในการทำงานได้เป็น 2 จำพวกคือ พวกชอบงานโครงการระยะสั้น กับพวกชอบงานประจำ โลกใบนี้มีงานทั้ง 2 แบบอยู่เต็มไปหมด มีอยู่ทุกระดับนับตั้งแต่เด็กจบใหม่ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง และโลกใบนี้ก็จำเป็นต้องมีคนทั้งสองจำพวก ซึ่งแปลกเอาการที่ไม่เคยได้ยินนักแนะแนวอาชีพท่านไหนพูดถึงเรื่องนี้เลยทั้งที่มันสำคัญ

หากเป็นคนจำพวกชอบงานโครงการระยะสั้น แล้วไปสมัครทำงานประจำขึ้นมา ก็จะไม่มีความสุขในการทำงานเลย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำหมุดที่มีอยู่ มาใส่ให้ตรงกับรูที่เข้ากันไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริง ก็อาจมีเส้นทางชีวิตอีกหลายสาย ที่คนเราฝืนยัดหมุดเข้าไปในรูที่เข้ากันไม่ได้แบบนี้ สำหรับประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรม การกระทำ แต่เป็นก้นบึ้งของบุคลิกที่อยู่ในกมลสันดาน ซึ่งเปลี่ยนกันไม่ได้

ฉะนั้นแล้ว จงอย่าไปขอให้คนประเภทหมุดทรงสี่เหลี่ยม ลบเหลี่ยมของตัวเองให้กลมมนจนใส่ลงไปในรูกลม ๆ ได้เลย หลายคนใช้เวลานับสิบ ๆ ปีหาทางหนีจากรูกลม ๆ นี้ และคนที่ทั้งชีวิตหาทางออกไม่เจอก็มี แต่ถึงอย่างไรหมุดสี่เหลี่ยมก็เป็นหมุดสี่เหลี่ยมอยู่วันยังค่ำ มีเพียงการเปลี่ยนรูใหม่เท่านั้น ที่ช่วยให้การแก้ปัญหาได้ผล ต้องสังเกตให้ดีว่า คนรอบตัวมีใครคนไหนบ้างที่กำลังอยู่ผิดที่ผิดทาง จงตั้งใจฟังพวกเขาให้ดี ๆ เมื่อฟังแล้วจงพิจารณาให้ถี่ถ้วน และเปิดใจรับความเป็นไปได้ว่า พวกเขาอาจอยู่ผิดที่ผิดทางเท่านั้นเอง

จงหักห้ามใจอย่าได้ขอให้หมุดสี่เหลี่ยมทั้งหลาย ที่อาจเป็นคู่ของคุณ เป็นลูก เป็นเพื่อนร่วมงาน หรือญาติสนิทลบเหลี่ยมถอดลาย กลายเป็นบุคคลกลม ๆ เลย ยอมรับความจริงเถิดว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยของพวกเขา แล้วมาช่วยค้นหารูสี่เหลี่ยมที่เหมาะเหม็ง ตรงกับพวกเขาจะดีกว่า

กฎข้อที่ 22 บ้าบอให้สุดชีวิตเพราะชีวิตสนุกได้ไม่นาน

คนที่ใช้ชีวิตเสเพลหัวหกก้นขวิด มักจะสร้างวีรกรรมไว้มากมาย จนกลายเป็นเทพนิยายย้อมใจตัวเอง และจะสะกดจิตตัวเองว่า ชีวิตเสเพลแบบนี้ช่างน่ามหัศจรรย์เหลือแสน ที่จริงแล้วการเมาเหล้า หรือเมายาเสพติดอยู่ตลอดเวลา แล้วตื่นขึ้นมาอีกทีในบ้าน หรือเตียงของคนแปลกหน้าที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้สนุกนักหนาอย่างที่เล่ามาหรอก เพราะไหนจะสับสนมึนงง ไหนจะปวดหัวเมาค้าง ไหนจะต้องเถียงกับคนเมาด้วยกันอีก ดูแล้วไม่น่าสนุกเท่าไหร่

แต่กับคนอีกประเภทหนึ่ง ดูเหมือนจะไม่เข้าใจว่าชีวิตมีอะไรดี ๆ ให้ทำอีกเยอะ นอกเหนือจากการเสรีไม่เอาถ่าน พบว่าพวกที่ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงแบบนั้น เกือบทุกรายมีสภาวะจิตใจที่อ้างว้าง และเปราะบางกว่าคนทั่วไป ควบคุมตัวเองไม่ได้ แม้ภายนอกจะดูสนุกสนานโวยวาย แต่ภายในใจกลับรู้สึกโหยหาและอับจนหนทาง นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่ควรค่าให้อิจฉาเลย คนแบบนี้สมควรได้รับความเห็นใจมากกว่า เพราะพวกเขาต้องฟันฝ่ากับมารในใจ ที่ตัวเองก็ไม่อยากได้

รู้แบบนี้แล้วก็คงไม่อยากเป็นแบบเขา เห็นแล้วก็เชื่อไม่ลงว่าคนเหล่านี้ จะวิ่งหนีมารในใจได้ตลอดรอดฝั่ง ถึงจะรู้แบบนี้แต่ก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้มาก ทำได้แค่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ และอย่าไปอิจฉาพวกเขา อย่าคิดว่าพวกเขาสุขสบายดีอย่างที่อวดอ้างให้ดู

กฎข้อที่ 23 เป็นวัยรุ่นอายุ 13 ไม่ง่ายเลย

ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ หรืออยู่ในวัยใด ชีวิตก็ไม่ง่ายเหมือนกันทั้งนั้น เพราะทุกอายุและทุกช่วงวัยล้วนมีปัญหาของตัวเองทั้งสิ้น ปัญหาของบางคนก็อาจจะง่ายกว่าอีกหลายคน เพียงแต่สถานการณ์ทำให้เครียดมากขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าไม่สนใจบริบทแวดล้อม ก็จะมองไม่ออกว่าทำไมใครต่อใครถึงมีพฤติกรรมอย่างที่ทำ ๆ กันอยู่ ต้องถอยหลังแล้วย้อนกลับมามองใหม่ ถึงจะเห็นภาพเดิมได้กว้างขึ้น

ตอนอายุย่างเข้า 20 ก็ทำโน่นทำนี่ได้สบาย ๆ แต่พออายุ 40 เท่านั้น บางอย่างที่เคยสบายก็กลายเป็นสะบักสะบอม แล้วก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเป็นแบบนี้ แต่บอกเลยว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปตลอดชีวิตที่เหลือ ดังนั้น ควรถอยหลังออกมา 1 ก้าว แล้วพิจารณาความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวล ความกดดัน และความห่วงใยในชีวิตคนอื่นบ้าง ก่อนจะคิดตัดสินใคร หรือสร้างความหนักใจให้ใคร ๆ โดยไม่เจตนา

กฎข้อที่ 24 ลูกจะทำอย่างที่คุณเคยทำ

เด็กถูกตั้งโปรแกรมมาให้เรียนรู้จากตัวอย่างที่เห็น และไม่มีวิธีใดที่จะสอนเด็กได้ผลเท่าวิธีนี้ ถ้าคาดหวังให้ลูก ๆ ทำตัวแบบไหน พ่อแม่ต้องทำแบบนั้นให้เขาเห็นเป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย การพูดจาที่สุภาพมีหางเสียง การกินผัก การงดใช้โทรศัพท์ตอนกินข้าว ถ้าตัวพ่อแม่เองยังทำไม่ได้ แล้วทำไมถึงคิดว่าลูก ๆ จะทำได้ ความยากที่สุดของกฎข้อนี้คือ ต้องหาข้อบกพร่องของตัวเองให้เจอ แล้วควบคุมมันให้ได้ ไม่อย่างนั้นสอนลูกให้เลิกทำนิสัยไม่ดีไปก็เปลืองน้ำลายเปล่า ๆ

กฎข้อที่ 25 ความรับผิดชอบเนรมิตอิสระภาพ

ถ้าอยากเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดี ก็ต้องเข้าใจในธรรมชาติของเด็กอย่างลึกซึ้ง จะทำหน้าที่พ่อแม่ได้ไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของลูก หน้าที่ของพ่อแม่คือต้องมั่นใจให้ได้ว่า เมื่อลูกอายุครบ 18 ปีลูกจะเอาตัวรอดได้ แล้วถ้าเกิดมีสถานการณ์ใด ๆ ที่ทำให้ต้องอยู่กับพ่อแม่ต่อไปอีกสักระยะ ลูกก็น่าจะพึ่งพาตัวเองได้

สิ่งที่จะทำให้คนเรามีอิสรภาพคือ การรับผิดชอบตัวเอง เช่น การไม่ผลักภาระความกังวลใจต่าง ๆ การตัดสินใจ และการซักรีดเสื้อผ้าไปให้คนอื่นแบกรับแทน เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตตามปกติสุข ดังนั้น จะเนรมิตลูกให้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีอิสรภาพได้ ก็ด้วยการมอบความรับผิดชอบให้พวกเขาทีละนิดทีละหน่อย ตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ ไม่ใช่โยนความรับผิดชอบให้รวดเดียวตอนอายุ 17

ส่วนลูก ๆ วัยรุ่นที่เรียนมัธยม ก็สมควรจัดตารางเวลาทำงานส่งครูได้เอง ลูกควรรับผิดชอบตัวเองว่า จะทำการบ้านกี่วิชาและจะทำเมื่อไหร่ เด็กต้องหัดทำเอง หัดผิดพลาดเอง และหัดใช้ชีวิตอยู่กับผลลัพธ์ที่ตามมาเองให้ได้ ไม่อย่างนั้นเด็กจะได้เรียนรู้อะไร การจะใช้กฎข้อนี้ให้สัมฤทธิ์ผลนั้นไม่ยาก เพราะว่าไม่มีทางตัดสินใจแทนใครได้ตลอดเวลา

กฎข้อที่ 26 ลูกวัยรุ่นเกลียดคุณก็เพราะพวกเขารักคุณ

การเป็นวัยรุ่นคือภาวะของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในแง่หนึ่งธรรมชาติก็สร้างแรงผลักดันให้เขาอยากเป็นตัวของตัวเอง แต่ในอีกแง่หนึ่งพวกเขาก็กลัวการเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และอยากให้เลี้ยงดูเขาไปตลอด นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงรู้สึกอยากให้ทั้งกอดและไม่กอดไปพร้อมกัน ใจหนึ่งก็ต้องการหลักประกัน ขณะที่อีกใจหนึ่งก็รู้ว่าถึงเวลาต้องใช้ชีวิตตามลำพังแล้ว

พอต้องถูกขนาบด้วยแรงผลักดันที่ตรงข้ามกันแบบนี้ การจะกำกับทิศทางของชีวิตให้แน่นอนนั้น ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย วัยรุ่นจึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในแบบกลับไปกลับมา ระหว่างความสุขก็ทั้งสองฝั่ง แม้เพียงชั่วอึดใจวัยรุ่นบางคน ก็อารมณ์ผันผวนไปได้ถึงขนาดที่ว่า ปากบอกว่าเกลียดแต่ก็ซบไหล่ร้องไห้ไป แบบที่คนไม่รักกันไม่มีวันทำได้แน่นอน ที่ลูกวัยรุ่นต้องหาเรื่องเกลียดให้ได้ ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่า ถ้ารักคุณแล้วจะกลายเป็นลูกแหง่ไม่ยอมโต แต่ถ้าไม่โตก็ไม่ได้เสียด้วย

กฎข้อที่ 27 เรื่องสำคัญคือคุยกันได้

หนทางเดียวที่วัยรุ่นจะรับมือกับการเติบโตได้ก็คือ การมั่นใจได้เต็มร้อยว่า พ่อแม่จะยังอยู่เคียงข้างในยามที่พวกเขาต้องการ ส่วนสิทธิ์ที่จะเป็นตัวของตัวเองนั้น ไม่มีใครพรากไปจากพวกเขาได้ มีแต่พวกเขาเองที่จะพรากมันไปจากตัวเอง เด็กวัยรุ่นคนไหนจะยังรู้สึกอุ่นใจว่า พ่อแม่จะอยู่เคียงข้างเหมือนเคย การเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้นน่าประหวั่นพลั่นพึงใจ และทุกคนล้วนผิดพลาดได้

สำคัญแต่ว่าพ่อแม่ของเด็กวัยรุ่น ยังอยู่ช่วยเหลือให้ความอุ่นใจหรือไม่ และสำคัญที่สุดก็คือ ถ้าคราวหน้าเด็กเหล่านี้เกิดมีปัญหาแล้วเอาตัวไม่รอด เด็กคนไหนจะกล้าบอกพ่อแม่ตัวเอง เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนกลาง ควรปลูกฝังให้เขารู้จักใช้สติยั้งคิดใคร่ครวญทุกครั้งที่มีโอกาส และปล่อยให้ลูกเติบโตทางความคิด ลองผิดลองถูกทุกอย่างด้วยตัวเอง สิ่งเดียวที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อลูกก็คือ สร้างความมั่นใจให้ได้ว่า ถ้าลูก ๆ ทำผิดพลาดอะไรขึ้นมา ลูกจะกล้ามาเล่าให้ฟัง

กฎข้อที่ 28 เรื่องสำคัญคือรับฟังกันได้

วัยรุ่นคือหมู่มวลของความขัดแย้งต่าง ๆ ในตัวเอง ที่ลึก ๆ ลงไปแล้วก็มีเหตุผลที่สมควรแก่การรับฟัง กลายเป็นเรื่องสำคัญคือ คุยกันได้และรับฟังกันได้ นั่นคือกฎข้อดีใช้ได้กับทุกคนไม่เฉพาะแต่วัยรุ่นเท่านั้น หนทางเดียวที่จะเข้าใจลูกได้ก็คือ รับฟังสิ่งที่ลูก ๆ กำลังบอก ไม่ถึงกับว่าต้องหยุดทำกิจกรรมทุกอย่าง เพื่อรอฟังลูกพูดเสร็จแล้วถึงจะทำต่อได้

แต่หมายความว่าต้องให้ความสนใจตามสมควร แล้วนำไปปฏิบัติตามความเหมาะสม และถ้าเกิดลูก ๆ ใช้อารมณ์อย่างไม่สมเหตุสมผล ก็ไม่ได้หมายความว่าลูก ๆ ไม่มีสติปัญญายั้งคิด แต่หมายความว่าคุยกับเด็กไม่รู้เรื่องเอง ดังนั้น พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายใช้ความพยายามให้มากขึ้น

กฎข้อที่ 29 ให้มีใครชอบพูดคำว่าขอโทษ

คำว่าขอโทษไม่ได้สลักสำคัญแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะทะเลาะกับผู้ร่วมงาน เพื่อน หรือแม้แต่คู่ของคุณก็เถอะ เพราะถ้ารู้แน่ชัดว่าอีกฝ่ายรู้สึกสำนึก และเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ควรช่วยพวกเขารักษาหน้า อย่าไปบีบบังคับให้ต้องพูดคำว่าขอโทษออกมา ในเวลาที่ทั้งคู่ปรับความเข้าใจกัน เพราะจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกขายหน้าเอามาก ๆ ความใส่ใจอย่างแท้จริง และความต้องการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยดีนั้น มีความสำคัญมากกว่า 2 พยางค์นั้นเหลือคณานับ

ถ้าเดินเข้าออฟฟิศตอนเช้า แล้วเจอเพื่อนร่วมงานบางคน ยิ้มทักทายด้วยท่าทีที่ไม่ค่อยเป็นมิตร แบบจงใจให้รู้ชัดว่าไม่ชอบหน้าเต็มแก่ จนบางทีก็อยากจะปรี่เข้าไปคุยกันแบบเปิดอกเลยว่า เกิดอะไรขึ้นทำไมถึงไม่ชอบใจ แล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้ยิน ทักทายอย่างเป็นมิตรขึ้นมาหน่อย จะได้สบายใจว่าไม่มีปัญหากันอยู่แน่ ๆ แม้กฎข้อนี้จะพูดไว้อย่างไร แต่ถ้าเกิดดวงตาเห็นธรรมว่าตัวเองนั้น ทำตัวไม่เข้าท่าเอาเสียเลย และก็เป็นผู้ใหญ่มากพอ จะเป็นฝ่ายพูดคำว่าขอโทษก่อนก็ได้

กฎข้อที่ 30 โลกนี้เต็มไปด้วยคนหัวดื้อ

บางทีเวลาใครสั่งให้ทำอะไรนั้น คนที่ถูกสั่งบางคนก็อาจจะชอบที่มีคนมาชี้นำ แล้วยอมรับคำบงการหรือทำตามสั่งอย่างง่ายดาย แต่หลายคนเขาก็ไม่ชอบให้ใครมาสั่ง จึงต้องอ่านนิสัยคนรอบตัวให้ออกว่า คนไหนเป็นพวกดื้อเงียบ นิสัยของคนพวกนี้จะเป็นแบบยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ

เมื่อเจอคนหัวดื้อให้ลองใช้ 2 วิธีนี้จะได้ผลดีกว่า วิธีแรกคือใช้จิตวิทยาย้อนกลับ วิธีนี้ได้ผลดีเป็นพิเศษกับเด็กเล็ก ถ้าอยากให้อีกฝ่ายทำอะไรก็สั่งเขาไปว่า ห้ามทำ แล้วผลลัพธ์ก็จะเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย แต่ต้องอย่าให้อีกฝ่ายรู้ตัวว่ากำลังโดนจูงจมูกอยู่ ไม่อย่างนั้นก็จะโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง

อีกวิธีหนึ่งที่จะจัดการคนดื้อเงียบให้อยู่หมัดได้ชนะก็คือ สั่งการโดยแนะวิธีปฏิบัติเท่าที่จำเป็น และถ้าจะให้ดีก็จงแสดงเจตนาให้อีกฝ่ายรู้ว่า ไม่ได้พยายามควบคุม หรือบงการชีวิตของพวกเขา จงตั้งข้อกำหนดต่าง ๆ เท่าที่เห็นควร แล้วปล่อยให้คนดื้อเงียบทำไปตามแนวทางของเขาเอง

กฎของการอยู่ร่วมกับคนหัวดื้อก็คือ ยิ่งมีเรื่องให้เขาต่อต้านน้อยลงเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งหัวดื้อน้อยลงเท่านั้น และที่สำคัญยิ่งก็คือ จะซื้อใจพวกเขาได้เพราะอนุญาตให้พวกเขา ได้ใช้วิธีของตัวเองอย่างเต็มที่

กฎข้อที่ 31 คนประหลาดอาจเป็นคนประเสริฐ

คนเรามักยึดถือธรรมเนียมตามประสาสัตว์สังคม ชอบสิ่งที่รู้เรื่อง รู้สึกปลอดภัย ถ้าเป็นสิ่งที่รู้จัก และก็นำความเคยชินแบบนี้ มาใช้พิจารณาผู้คนในสถานการณ์ต่าง ๆ มากมาย จะอ่านคนได้มากจากการแต่งกาย การพูด ความประพฤติ และทรงผม สิ่งเหล่านี้จะช่วยจำแนกคนที่เพิ่งพบกันได้ทันที และมองออกเลยว่าเขาเป็นคนประเภทใด ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการทำตัวกลมกลืนไปกับคนอื่นเท่านั้นเอง

ถ้าเอาแต่เก็บเนื้อเก็บตัว มัวแต่หลีกหนีคนประหลาด ก็เท่ากับว่าตัดโอกาสตัวเอง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไม่ให้รู้จักกับคน ที่อาจเป็นกัลยาณมิตรแสนประเสริฐได้ แถมยังพลาดโอกาสที่จะได้รู้ว่า พอก้าวออกจากเขตปลอดภัยแล้ว ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้นแค่ไหนอีกด้วย เลิกหลบหน้าคนที่ประเมินไม่ถูก และก้าวออกไปหาประสบการณ์ตรงเลยว่า พวกคนประหลาดจริง ๆ แล้ว นิสัยใจคอเป็นอย่างไร และอะไรดลใจให้เขาเป็นแบบนั้น

การช่วยเหลือคนอื่น

เวลาคนที่รักเกิดปัญหาชีวิตขึ้นมา ก็คงเดือดเนื้อร้อนใจไปด้วยเป็นธรรมดา อยากทำสารพัดเพื่อขจัดปัญหาให้เบาบางลง แต่ทำอะไรได้บ้าง แม้ต่อให้ปัญหาหนักหนาเพียงใด ก็จะมีกฎให้หยิบจับไปใช้แก้ปัญหาได้เสมอ กฎหมวดนี้เป็นกฎพื้น ๆ ถ้าทำตามกฎได้ก็จะช่วยเหลือใคร ๆ ได้ผลดียิ่งขึ้น กฎหมวดนี้คือวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น โดยการยืนเคียงข้างแล้วสร้างกำลังใจให้พวกเขา แก้ปัญหาชีวิตอย่างอิสระตามแนวทางของเขาเอง

กฎข้อที่ 32 สวมหน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองก่อน

การช่วยเหลือคนที่กำลังทุกข์ยากนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก และเหตุผล 2 ประการต่อไปนี้ ยิ่งทำให้การช่วยเหลือเป็นเรื่องสำคัญสุดยอดทีเดียว เหตุผลแรกที่เห็นได้ชัดก็คือ พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การช่วยเหลือคนอื่นทำให้รู้สึกดีต่อตัวเอง ดังนั้น ในทางอุดมคติแล้ว ก็ควรช่วยใครต่อใคร ที่ต้องการความช่วยเหลือให้หมดทุกคน จะได้เป็นผู้ชนะ

คนเรามักขอความช่วยเหลือ จากคนประเภทหัวอกเดียวกัน จะว่าไปก็สมเหตุสมผลอยู่ แถมคนที่ช่วยก็มักมีความสุข ที่ได้เล่าบทเรียนชีวิตที่คิดว่า จะช่วยแก้สถานการณ์ได้ ประเด็นของเรื่องนี้คือ ต้องรู้จักปกป้องตัวเองก่อน ปกป้องชนิดสุดชีวิตเลย เพราะถ้าควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่นแทบไม่ได้เลย พวกเขาเองก็ต้องเข้มแข็งให้ได้ และต้องใส่ใจตัวเองมากกว่าใครทั้งหมด และต้องมั่นใจว่าตัวเองจะไม่ก่อปัญหาให้เดือดร้อน ก่อนจะช่วยเหลือใคร ตัวเองต้องมั่นใจเต็มร้อยเสียก่อนว่า อยู่ในภาวะเข้มแข็งพร้อมรับผลที่จะตามมาได้ตลอดชีวิต

ถ้าพิจารณาแล้วว่าไม่ไหว ก็จำเป็นต้องขอโทษอีกฝ่าย แล้วอธิบายให้เข้าใจว่า ที่ช่วยเขาตอนนี้ไม่ได้เพราะมันหนักหนาสาหัสเกินไป หัวใจสำคัญของกฎนี้คือ ต้องเห็นความสำคัญของการมีสมรรถภาพทางอารมณ์ของตัวเอง เพื่อที่จะช่วยใคร ๆ ได้อย่างแท้จริง

กฎข้อที่ 33 ก้าวลงไปในหล่มโคลน

เมื่อมีเรื่องหงุดหงิดอารมณ์เสีย แต่พ่ออีกฝ่ายแนะวิธีแก้ปัญหาให้ ก็กลับรำคาญใจ ทั้งที่เป็นคนไปขอความช่วยเหลือเองแท้ ๆ ตกลงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ว่ากันตามจริงก็อยากรู้วิธีแก้ปัญหาอยู่ แต่ตอนนี้อยากได้อะไรบางอย่างซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ยิ่งถ้าไม่สังเกตความต้องการของตัวเองให้ดี ก็จะเอ่ยปากขอจากอีกฝ่ายไม่ถูก แล้วก็พาลอึดอัดใจ เพราะยังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ แล้วตกลงว่าอยากได้อะไรกันแน่

คำตอบของคำถามนี้คือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้ทุกฝ่ายคุยกันรู้เรื่อง และรู้สึกมีความสุขมากกว่าเดิม อุปมาให้เข้าใจง่ายก็เหมือนกับว่า อีกฝ่ายกำลังตกลงไปในหล่มโคลน ขณะที่ยืนอยู่ริมขอบหล่ม การช่วยเหลือไม่ใช่แค่โยนเชือกลงไปให้ แต่เป็นการลงทุนก้าวขาลงไปในหลุมโคลน จนเห็นชัดว่าหล่มโคลนนั้นเป็นเช่นไร แล้วค่อยฉุดมืออีกฝ่ายขึ้นมาพร้อมกัน

เพราะอีกฝ่ายรู้ว่า อนุญาตให้เขาแสดงความรู้สึกได้ตามที่เป็นอยู่ พวกเขาจะใจเย็นลงและคิดหาทางแก้ปัญหาได้เอง จากจุดนี้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือใด ๆ แม้แต่น้อย แค่อยากให้ความรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจแบบนี้ มีความหมายในสายตาของคนอื่นเท่านั้น

กฎข้อที่ 34 ไม่เป็นไรหรอกถ้าอยากระบายความรู้สึก

คนมากมายที่มองว่า ความรู้สึกไร้ความหมาย ถ้าไม่มีเหตุผลมารองรับ การแสดงความรู้สึกนั้น ควรปล่อยความรู้สึกให้เป็นอย่างที่มันเป็น และไม่ต้องไปตัดสินว่ามันถูกผิดหรือดีเลวอย่างไร ในโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าจะให้สารภาพกันแบบตรงไปตรงมาแล้ว เกือบทุกคนต่างก็เคยมีความรู้สึกละอาย กระดากใจ เขิน หรือไม่มั่นใจมากันทั้งนั้น ความรู้สึกก็คือความรู้สึก ไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากการตัดสินใจ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น แม้บางครั้งจะเลือกได้ว่า ความรู้สึกอย่างโน้นอย่างนี้ก็เถอะ แต่นั่นต้องใช้เวลาฝึกนานพอสมควร กว่าจะเรียนปฏิกิริยาท่าทีที่มีต่อบางสิ่งบางอย่างได้

แม้ฝึกมาดีแค่ไหน แต่ถ้าความรู้สึกนั้นมันรุนแรงมาก ก็ยากจะควบคุม ถ้าอยากช่วยใครสักคนที่กำลังเจ็บปวดกับความรู้สึกของตัวเองอยู่ ก็ต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่า จะไม่ตัดสินความรู้สึกใด ๆ ของพวกเขาว่าดีหรือไม่ดี และบอกให้อีกฝ่ายรู้ไปเลยว่า อยากให้พวกเขาแสดงอารมณ์ และความรู้สึกที่แท้จริงออกมา เพราะมันเป็นเรื่องปกติธรรมดา

อารมณ์สะเทือนใจของคนเรา เปรียบไปก็เหมือนกับลูกไก่ขี้ตกใจ ที่วิ่งหัวซุกหัวซุนเข้าไปซุกอยู่ใต้โซฟา ถ้าอยากให้ลูกไก่ออกมาก็ต้องตะล่อม เกลี้ยกล่อมให้ลูกไก่หายกลัว และรู้ว่าจะอยู่เคียงข้างมันเสมอ

กฎข้อที่ 35 ฟังก่อนอย่าเพิ่งลงมือ

บางครั้งคนเราก็ต้องการความช่วยเหลือแบบเร่งด่วน ความช่วยเหลือเหล่านี้ถือว่า เป็นเรื่องปกติที่พอจะช่วยได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีใครขอมา ก็จัดให้ด้วยความเต็มใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอยากประพฤติตัวเป็นพลเมืองดี เป็นเพื่อนบ้านที่ดี หรือแม้แต่เป็นเพื่อนที่ดี แต่ถ้าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก จะรีบถลาเข้าไปช่วยใครต่อใครแบบไม่ดูตาม้าตาเรือให้ดีไม่ได้ เพราะมันไม่เหมือนกับการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาอย่างอื่นที่เป็นรูปธรรม เพราะในขณะที่อีกฝ่ายรู้สึกหมดหวัง ท้อแท้ โกรธ กลัดกลุ้ม กังวล หรือหวาดกลัว พวกเขาต้องการครุ่นคิด หรือแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน

การที่เขามาเล่าให้ฟังก็เพื่อ ให้ตัวเองรู้สึกดีที่มีคนให้ระบาย แต่ข้างในใจไม่ได้ต้องการคำแนะนำใด ๆ การรับฟังเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ระบายความอัดอั้นออกจากอก อย่าลืมว่าการรับฟังเป็นกุญแจสำคัญ เมื่อไหร่ก็ตามที่เขามีปัญหาหนักอกมาพูดให้ฟัง สิ่งที่จะต้องทำโดยด่วนก็คือ นั่งลงฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ปิดปากให้สนิท อย่าได้โพล่งคำแนะนำใด ๆ ที่อยู่ในหัวออกมา เพราะในใจจริงไม่ได้ต้องการแบบนั้น จำไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า จงฟังและฟังอย่างเดียว

เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่คนในบ้านเท่านั้น กับคนอื่น ๆ ที่เขาวิ่งโร่มาหาเวลามีปัญหาก็เหมือนกัน เขายังไม่ได้อยากให้ช่วยในทันทีทันใด การช่วยให้เขาได้ระบายออกมา จะทำให้เขาเห็นปัญหาของตัวเองชัดขึ้น ไม่แน่ว่าระหว่างนั้น หนทางในการแก้ปัญหาก็อาจผุดขึ้นเป็นคำตอบให้กับตัวเขาเอง โดยที่ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของเขาได้

กฎข้อที่ 36 จงรู้ว่าขีดจำกัดของตนอยู่ตรงไหน

ต่อให้คิดจะช่วยเหลือใครแบบเป็นจริงเป็นจังขนาดไหนก็ตาม ต้องไม่ลืมซื่อสัตย์ต่อตัวเองด้วยว่า ถ้ารับปากไปแล้วจะช่วยเหลืออีกฝ่ายได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ การบอกปฏิเสธไปตั้งแต่แรก ยังดีกว่ารับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้วทำตามที่รับฝากไว้ไม่ได้ แต่ก็อย่างว่าคนส่วนมากมักมีปัญหาเดียวกันคือ ชอบไปเสนอความช่วยเหลือให้ใคร ๆ โดยไม่ประเมินกำลังตัวเองเสียก่อนว่า จะทำได้ตามที่รับปากหรือเปล่า

อาจมีเจตนาดีอยากช่วยใครด้วยน้ำใสใจจริง แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าการไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง แล้วทำให้อีกฝ่ายต้องผิดหวังภายหลังนั้น ก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าการปฏิเสธไปตรง ๆ ตั้งแต่แรก ดังนั้น จงรู้ว่าขีดจำกัดของตัวเองอยู่ตรงไหน จะได้ไม่เสนอความช่วยเหลือให้กับใคร มากเกินกว่าที่มั่นใจว่าทำได้ ไม่เช่นนั้นจะต้องมีคนเสียอกเสียใจเป็นแน่ ไม่ใครก็ใครฝ่ายหนึ่ง หรือดีไม่ดีก็ทั้งสองฝ่ายเลย

กฎข้อที่ 37 อย่าได้แข่งขันประชันความทุกข์

การไปบอกใครว่าสถานการณ์ที่เขาเผชิญอยู่นั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย แบบนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวผู้พูดเลย เพราะอีกฝ่ายย่อมรู้ดีกว่าว่า สถานการณ์เลวร้ายมากน้อยแค่ไหน ถ้าใครเขาเพิ่งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ไม่ว่าจะเป็นการหย่าร้าง ตกงาน ป่วยเป็นโรคร้ายแรง แล้วไปพูดเกทับเขาว่า ที่เจอมาหนักหนาสาหัสกว่าเยอะ โอกาสที่ความรู้สึกของอีกฝ่ายจะดีขึ้นแบบทันใจนั้น เรียกได้ว่าเป็นศูนย์เลย

การแสดงความเห็นอกเห็นใจ ด้วยการเอาเรื่องราวของตัวเอง ไปเทียบเคียงกับของอีกฝ่ายนั้นเป็นธรรมชาติปกติของคนเรา แม้จะเป็นเรื่องดีเพราะแสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่า เข้าใจสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ แต่ถ้าอยากให้ใคร ๆ ประเมินไว้ในฐานะเพื่อนที่ดี ก็ต้องไม่ล้ำเส้นไปเป็นการจ้องจะเอาเปรียบอีกฝ่าย

คนที่พูดแบบนี้กำลังเปลี่ยนจากการปลอบใจเพื่อน ว่าไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง ไปเป็นการทำให้เพื่อนรู้สึกว่า เขาไม่มีสิทธิ์บ่นให้ฟัง หัวใจของกฎข้อนี้คือ เวลาที่เพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานมาบ่นคร่ำครวญ หรือระบายความทุกข์ใจให้ฟัง หรือเขากำลังเผชิญปัญหาความทุกข์ใจ เรื่องหนึ่งเรื่องใดอยู่ก็ดี ต้องทุ่มความสนใจไปที่ตัวเขา และความรู้สึกของเขาเท่านั้น ไม่ใช่ที่ตัวเองแล้ว ถ้าอยากบ่นคร่ำครวญอะไรอย่างเขาบ้าง ก็เอาไว้คราวหน้าดีกว่า

กฎข้อที่ 38 ห้ามให้คำแนะนำใด ๆ

จงอย่าให้คำแนะนำใด ๆ กับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนในบ้าน หรือใครก็ตามที่รู้จักเป็นการส่วนตัว เรื่องราวหรือคำถามที่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรกับเขาด้วย เรื่องทำนองนี้ฟังได้ เห็นอกเห็นใจได้ สนับสนุนอีกฝ่ายได้ แต่ห้ามให้คำแนะนำใด ๆ เลย เพราะไม่มีทางรู้หรอกว่า อะไรที่แก้ปัญหาชีวิตให้อีกฝ่ายได้จริง ๆ จะแน่ใจได้ 100% อย่างไรว่า คำแนะนำนั้นถูกต้อง

ไม่เพียงเท่านั้น คนเราต้องคิดอ่านและตัดสินใจด้วยตัวเองให้ได้ เพื่อจะได้มั่นใจว่า ตัวเองคิดทบทวนมาดีแล้ว จนเกิดความรู้สึกผูกมัดกับการตัดสินใจนั้น ๆ ให้คิดวิธีแก้ปัญหาในใจไว้หลาย ๆ แบบโดยไม่บอกอีกฝ่าย แต่ช่วยให้เขาแตกยอดความคิด ทำให้พินิจพิจารณาหาวิธีแก้ปัญหาหลาย ๆ แนวทาง และชี้ให้เขาเห็นอย่างกระจ่างว่า ตัวเขาจะรู้สึกอย่างไร ถ้าตัดสินใจเลือกใช้วิธีนั้น วิธีนี้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าได้ช่วยเขาจริง ๆ

กฎข้อที่ 39 ยอมรับการตัดสินใจ

กฎข้อนี้เหมือนจะทำตามได้ง่าย แต่ชีวิตจริงไม่ง่ายแบบนั้น บางครั้งบางคราวการตัดสินใจของคนที่อยู่ใกล้ตัว ก็อาจส่งผลกระทบถึงได้ ไม่ว่าจะช่วยเหลือใครด้วยวิธีใด ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปแทรกแซงการตัดสินใจของคนอื่นอยู่ดี ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปรับผิดชอบอะไร ผลลัพธ์ของการตัดสินใจจะออกมาเป็นอย่างไร คนที่ตัดสินใจต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดี ๆ จะได้ไม่ต้องมานั่งรู้สึกผิดกลุ้มอกกลุ้มใจ หรือตำหนิตัวเองโดยไม่จำเป็น

กฎข้อที่ 40 ให้พวกเขาได้ควบคุมชีวิตตัวเอง

หากต้องการช่วยเหลือใครด้วยน้ำใสใจจริง ต้องยอมรับการตัดสินใจของอีกฝ่ายให้ได้ด้วย เพราะความรู้สึกว่าได้ควบคุมชีวิตตัวเองนั้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เมื่อใดก็ตามที่เริ่มตัดสินใจแทนคนอื่น เมื่อนั้นความหวังดีจะเริ่มส่งผลร้าย และกลายเป็นการควบคุมชีวิตคนอื่นไปในบัดดล แม้จะเห็นอยู่ชัด ๆ ว่าอีกฝ่ายกำลังมุ่งหน้าสู่ความหายนะ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้เป็นคนจับพวงมาลัยในรถของตนเอง

ซึ่งหมายความว่า พวกเขายังเลือกได้ว่าจะหักหลบลงข้างทาง หรือกระทืบเบรกดี ถ้าไปแย่งเขาจับพวงมาลัย เขาจะยิ่งขวัญหนีดีฝ่อไปกันใหญ่ แล้วอีกอย่างนี่มันรถของเขา ซึ่งไม่มีทางรู้ดีไปกว่าเขาหรอกว่า รถคันนี้ต้องขับอย่างไร การที่เข้าไปช่วยเขาจับพวงมาลัย แล้วทำให้เขาร้อนใจกว่าเดิม ก็เพราะเขารู้ดีว่าไม่มีใครรู้จักรถของเขา หรือชีวิตของเขามากเท่าตัวเขาเอง

กฎข้อที่ 41 ช่วยให้พวกเขาคิดได้เอง

การตะบี้ตะบันช่วยใครโดยไม่ดูตาม้าตาเรือให้ดี จะยิ่งไปซ้ำเติมความทุกข์ของอีกฝ่ายเข้าไปใหญ่ เพราะเหตุนี้จึงควรช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยไม่ต้องเสียอารมณ์ไปต่อล้อต่อเถียงเรื่องวิธีแก้ปัญหา แต่ยังรู้สึกว่าได้ช่วยเหลืออยู่ แถมอีกฝ่ายก็มีความสุขมากขึ้นด้วย สิ่งที่ต้องทำก็แค่ถามคำถามไม่กี่ข้อเท่านั้นเอง แต่มีข้อพึงระวังนิดหน่อยคือ ไม่ต้องไม่ถามชี้นำเพื่อให้อีกฝ่ายคิดคำตอบได้แบบตรง ๆ ควรถามด้วยคำถามปลายเปิด ให้อีกฝ่ายได้ตอบออกมาอย่างครบถ้วนและเหมาะสม ไม่ใช่ตอบแค่ว่าใช่หรือไม่ใช่

ต้องเริ่มเปิดประเด็นด้วยการให้อีกฝ่ายเล่าปัญหาทั้งหมดให้ฟังก่อน แม้จะรู้ปัญหาอยู่แล้วก็ขอให้อดทนฟัง เพราะกำลังทำเพื่ออีกฝ่ายไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง การที่อีกฝ่ายอธิบายปัญหาให้ฟัง จะช่วยให้เขามองปัญหาได้กระจ่างชัดขึ้น และเห็นช่องทางแก้ปัญหาไปด้วยในตัว จากนั้นค่อยถามคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อให้อีกฝ่ายคิดหาวิธีแก้ปัญหาทุกรูปแบบ แล้วก็อย่าชักจูงให้เขาแค่ปัญหา หรือไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ต่อให้อยากทำแบบนั้นใจแทบขาด ก็ต้องหักห้ามใจตัวเอง

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา จึงต้องช่วยเขาคิดหาวิธีแก้ปัญหาทุก ๆ ทาง ผ่านการถามที่ใช้คำว่า ถ้า กับ หรือไม่ เช่น นายจะรู้สึกอย่างไรถ้า… หรือสมมุติว่าถ้า… ต้องคิดหาทางออกไปเรื่อย ๆ แต่ห้ามเผลอแนะนำทางออกใด ๆ ให้กับอีกฝ่ายเป็นอันขาด แค่ช่วยให้อีกฝ่ายพิจารณาความเป็นไปได้ในทุกกรณีแบบถี่ถ้วน ชัดเจน และละเอียดถี่ถ้วนนั้น จะสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างได้อย่างน่าทึ่งเพียงใด ไม่ต้องให้คำแนะนำใด ๆ ไม่ต้องพยายามกดดัน แค่ใช้ไหวพริบสติปัญญา กับคำถามฉลาด ๆ ไม่กี่ข้อ ก็ช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างแท้จริงแล้ว

กฎข้อที่ 42 ต้องหัดเป็นนักทายใจ

ถ้าจะให้พูดกันจริง ๆ การทายใจแบบไร้กลยุทธ์นั้นมีแต่ผิดทั้งเพ แต่ถ้ามี 2 ขั้นตอนนี้รับรองว่าทายถูกไม่มีผิดพลาด ขั้นแรกต้องมองให้ออกว่า คำพูดของอีกฝ่ายมีความนัยซ่อนอยู่ ซึ่งปกติมองไม่ยาก แต่ถ้าอีกฝ่ายมีท่าทีอิด ๆ อ่อด ๆ หน่วง ๆ เหนี่ยว ๆ ไม่ค่อยเต็มอกเต็มใจ ก็แสดงว่าตัวเขามีอะไรในใจลึก ๆ ไม่ตรงกับที่พูดออกมา ขั้นต่อมาคือล้วงตับเอาความจริงจากอีกฝ่าย ด้วยการใช้คำถามให้ถูกต้อง เรื่องการถามนี้บางทีก็ง่าย อาจง่ายถึงขั้นถามกันตรง ๆ ได้ แต่บางทีอาจไม่สะดวกใจที่จะถามตรง ๆ หรือถามไปก็เท่านั้น เพราะอีกฝ่ายที่ให้คำตอบที่ไม่ชัดเจนอยู่ดี

ขอให้เข้าใจว่าการถามใครตรง ๆ แล้วไม่ได้คำตอบตรง ๆ เหมือนอย่างที่ถามไป เป็นเพราะว่าจริง ๆ แล้วคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ว่า ตัวเองปากไม่ตรงกับใจ จะพูดอะไรจึงมักมีความนัยซ่อนอยู่เสมอ ก็เลยมาตกหนักที่คุณซึ่งต้องฉลาดถามหน่อย ต้องสันนิษฐานล่วงหน้าว่าที่อีกฝ่ายมีท่าทียึก ๆ ยัก ๆ อิดออดไปมาน่าจะเป็นเพราะเหตุใด แล้วค่อยเรียบ ๆ เคียง ๆ ถามเรื่องที่สงสัย

กฎข้อที่ 43 จงฟังในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้พูด

ส่วนใหญ่ปัญหานี้มักเกิดกับบรรดาคู่รักทั้งหลาย ที่ใช้ปัญหาหนึ่งมาบังหน้าอีกปัญหาหนึ่งที่คาใจ ดังนั้น ต่อให้แก้ปัญหาที่อีกฝ่ายใช้เป็นฉากหน้าได้อย่างไร ก็ทำให้แค่บรรเทาอาการภายนอกเท่านั้น ถ้าจะรักษาโรคทุกข์ใจของอีกฝ่ายให้หายขาด ต้องวิเคราะห์สาเหตุภายในให้ลึกซึ้งถึงต้นตอ แต่เรื่องมันยุ่งเหยิงก็ตรงที่อีกฝ่ายมักไม่ค่อยรู้ตัวว่า จริง ๆ แล้วกำลังเกิดอะไรขึ้น เพราะตัวเขาเองก็อาจเชื่อหมดใจว่า เจ้าอาการภายนอกที่กำลังเล่าให้ฟัง เป็นต้นต่อของปัญหาทั้งหมด

ตราบใดปัญหาที่แท้จริงยังแก้ไม่หาย อีกฝ่ายก็จะเฉไฉไปพาลเรื่องอื่นต่อ ไม่ก็เกิดปัญหาเดิมซ้ำซากอยู่ตลอดเวลา แถมยังเข้าใจผิดแล้วคิดไปว่า ได้แก้ปัญหาหมดสิ้นแล้ว เมื่อใดที่รู้ทันสัจธรรมชีวิตข้อนี้ ความรู้ทันจะไปจุดประกายปัญญาว่า เจ้าปัญหาที่เล่ามานั้นไม่ใช่ตัวปัญหาที่แท้จริงแต่อย่างใด ปกติแล้วประเด็นที่อีกฝ่ายหยิบยกมา มักเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง ถ้าเอาปัญหาที่บังหน้ามาคุยกัน ต่อให้ทั้งคู่พูดคุยหาทางออกอย่างไร ภายใต้ผิวน้ำอันเงียบสงบก็จะมีปัญหาอันใหญ่หลวงกว่าซ่อนตัวอยู่เสมอ

กฎข้อที่ 44 คนที่หาคำตอบไม่เจอจริงๆแล้วอาจไม่ต้องการคำตอบ

ที่จริงแล้วตัวเขาก็ไม่อยากได้คำแนะนำแม้แต่น้อย ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะจิตใจคนนั้นซับซ้อนยากจะหยั่งถึง วิธีสังเกตว่าคนที่มาขอคำปรึกษา กำลังหลอกเล่นเกมนี้อยู่หรือเปล่าก็คือ พอคุยกันสักพักอีกฝ่ายก็จะเปลี่ยนหัวข้อการสนทนา จากเรื่องที่ขอคำปรึกษามาเป็นเรื่องของตัวเขาเองล้วน ๆ การขอคำแนะนำก่อนหน้านี้ จึงเป็นแผนเรียกร้องความสนใจนั่นเอง ซึ่งใช้เมื่อไหร่ก็ได้ผลดี

นอกเหนือจากการเรียกร้องความสนใจ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อีกฝ่ายมาเล่นเกมนี้ก็คือ เขาสามารถโยนความรับผิดชอบในการตัดสินใจจากตัวเขามาไว้ให้คุณได้ เพราะเวลาที่เสนอความคิดเห็นมากมายแล้วใช้การไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่คุณ ความล้มเหลวทั้งหมดก็จะตกหนักอยู่ที่คุณไม่ใช่ตัวเขา นอกจากนี้ถ้าเสนอทางออกมากมายแล้วยังไม่ถูกใจเขาสักอย่าง ก็ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเลยว่าคุณนั่นแหละที่หัวคิดไม่ดีไม่ใช่ตัวเขา

กฎข้อที่ 45 อย่าเที่ยวไปบอกใครว่าจงหักอกหักใจ

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีอารมณ์บางประเภท ที่คนเรามักปากแข็งไม่ค่อยยอมรับว่า ตัวเองรู้สึกแบบนั้นอยู่ คนส่วนมากปากแข็งไม่ค่อยยอมรับหรอกว่า ตัวเองนั้นกระเสือกกระสนทรมานอยู่ในมรสุมอารมณ์ที่เกิดขึ้น จากทุกเรื่องรอบตัวมานานแสนนานแล้ว จะว่าไปส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาไม่ได้คิดอ่านบนพื้นฐานของเหตุผล ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือหลายคนชอบคิดไปเองว่า อารมณ์ด้านลบต่าง ๆ ที่เป็นมานาน ระรานชีวิตไปทั่ว ไม่จำเพาะเจาะจงเรื่อง และมีความไม่สมเหตุสมผลอย่างเห็นได้ชัดนั้น เป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอ

จึงเป็นธรรมดาที่ไม่อยากยอมรับว่า ตัวเองรู้สึกเศร้าเสียใจ รู้สึกเหงา รู้สึกร้อนรนกระวนกระวาย รู้สึกสลดหดหู่ พวกชอบคิดว่าคงปีนขึ้นมาจากอารมณ์ทุกข์ได้ไม่ยาก แต่ก็อย่างที่เห็นปีนขึ้นมาไม่ได้สักที เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ทำให้คนเรา ไม่อยากเล่าความรู้สึกของตัวเองให้ใครฟัง ก็เพราะกลัวว่าพอเล่าออกมาแล้ว จะบอกให้พวกเขาลืม ๆ มันไปเถอะหักอกหักใจเสีย พยายามให้มากขึ้นอีกหน่อย หรือออกไปข้างนอกแล้วหาอะไรใหม่ ๆ ทำ

ก็ถ้ามันง่ายดายขนาดนั้น พวกเขาคงทำได้ไปนานแล้ว อารมณ์เหล่านี้ไม่ใช่จะควบคุมกันง่าย ๆ ยิ่งไปบอกให้เขาคิดบวกมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนไปซ้ำเติมให้รู้สึกสิ้นหวัง และสมเพชตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่คิดบวกไม่สำเร็จ

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ควรจะฉุดสถานการณ์ให้เลวร้ายลง ด้วยการสักแต่พูด ๆ ออกมาแบบตรง ๆ ว่า ให้อีกฝ่ายหักอกหักใจเวลาที่เขารู้สึกกระวนกระวาย หรือสลดหดหู่หัวใจ อาจไม่ง่าย เพราะถ้าง่ายจริงเขาก็คงทำได้ไปนานแล้ว ไม่ต้องมาเปิดอกระบายความรู้สึกอัดอั้นอันลึกล้ำให้ฟังอย่างตอนนี้

กฎข้อที่ 46 ความเปล่าเปลี่ยวเป็นเรื่องของสภาวะจิตใจ

เวลานึกถึงความเหงา จะนึกถึงภาพหญิงชายที่อยู่ในวัยชรา ที่อาศัยอยู่คนเดียวไร้ลูกหลาน แม้ในความเป็นจริงบนโลกใบนี้ จะมีคนชราที่โดดเดี่ยวและเปล่าเปลี่ยวอยู่ไม่น้อย แต่ความเหงาก็ไม่ใช่เรื่องของสภาวะทางกายแต่ประการใด ความเหงาเป็นเรื่องของสภาวะทางอารมณ์ และเมื่อคนเราขาดความใกล้ชิดทางอารมณ์กับคนอื่นแล้ว ชีวิตก็จะโกลาหลวุ่นวาย ยิ่งกว่าการขาดความใกล้ชิดทางกายเสียอีก

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงตีความได้ว่าคนบางคน สามารถมีความสุขอิ่มเอมใจ พึงพอใจได้ตามปกติ แม้แทบไม่ได้พบปะกับใครเลยก็ตาม ลองนึกถึงบรรดาผู้บำเพ็ญศีลดู บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองสิ้นหวังและไม่มีใคร แต่ที่อยู่คนเดียวเพราะเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบนั้นเอง และในทางกลับกันก็หมายความว่า มีคนอีกแบบหนึ่งที่ใช้เวลาเป็นอันมากอยู่ท่ามกลางผู้คน แต่ก็ยังรู้สึกเปลี่ยวเหงาจิตใจ บุคคลเหล่านี้มีทั้งที่เป็นวัยรุ่นและวัยบำนาญ คนขี้อายและคนที่จัดเจนสังคม คนโสดและคนที่แต่งงานแล้ว และที่น่าประหลาดใจมากกว่านั้นก็คือ มีคนอีกมากมายที่รู้สึกเปลี่ยวเหงาจิตใจ เพราะชีวิตสมรสขาดความใกล้ชิดทางอารมณ์

หัวใจของกฎข้อนี้คือ การช่วยเหลือผู้อื่น ถ้ามีเพื่อนคนไหนที่ดูท่าทางไม่มีความสุข และก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ขอให้คิดเผื่อเพื่อนเอาไว้ด้วยว่า พวกเขาอาจรู้สึกเหงา แม้ดูจากสภาวะแวดล้อมแล้วไม่น่าจะเหงาได้เลยก็ตาม โลกนี้มีคนเหงาอยู่มากมายเกินกว่าที่จะจินตนาการได้

หากต้องการช่วยเหลือใคร ก็ต้องเสนอตัวออกไปก่อนว่า เป็นคนที่อีกฝ่ายจะพูดคุยระบายความรู้สึกลึก ๆ ในใจได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่ใครบางคนที่มาพูดตลกเท่านั้น แล้วเมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายต้องการคุยกับใครสักคน และมีความกล้ามากพอที่จะพูดออกมา เขาก็จะรู้เองว่าเป็นเพื่อนแท้ที่ช่วยแก้ปัญหาทางใจ ให้เขาคลายทุกข์คลายเหงาลงได้

กฎข้อที่ 47 ให้ความเป็นส่วนตัว

การใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ให้มีความสุขนั้น จำเป็นต้องมีความสมดุล ความพอประมาณ และรู้จักใช้ตรรกะที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างการพูดระบายความรู้สึกออกมา กับการไม่จำเป็นต้องพูดอะไรเลย เพราะตรรกะสุดขั้วทั้ง 2 แบบนี้ต่างกันมากเหลือเกิน ทุกคนควรรู้ว่าการพูดระบายความไม่สบายใจจากปัญหาต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากยิ่ง ถ้าอยากระบายออกมาก็ไม่ควรเก็บกดไว้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า จะต้องอยากพูดออกมา

คนบางคนเขารู้สึกว่า ถึงพูดไปตอนนี้ก็ไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น บางทีอาจต้องการเวลาทบทวนบางสิ่งอย่างบางอย่างเสียก่อน หรือบางทีพวกเขาอาจมีคำตอบอยู่แล้ว แค่ต้องสร้างกำลังใจให้แกร่งพอที่จะแก้ปัญหาได้เท่านั้นเอง การพูดออกมาจึงอาจไม่ได้ช่วยอะไร บางทีพวกเขาอาจจะอยากลืมความทุกข์นั้นด้วยซ้ำไป การพูดออกมารังแต่จะทำให้จิตใจ ซึ่งหมกมุ่นกับความทุกข์มากกว่าเดิม ไม่ได้สบายใจขึ้นเลย

ที่จริงแล้วการช่วยเหลือที่ดีที่สุดก็คือ การทำให้คนที่เขาไม่อยากพูด ได้รับรู้ว่าจะไม่ฝืนใจบังคับให้เขาพูด สำหรับบางคนแล้ว การช่วยเหลือที่ดีที่สุดในภาวะวิกฤต ก็อาจเป็นแค่คำพูดที่ว่า ผมยินดีรับฟังนะถ้าคุณอยากคุยด้วย แล้วผมก็จะไม่ซักไซ้อะไรในเรื่องที่คุณไม่พูดขึ้นมาก่อน การพูดแบบนี้จะช่วยให้อีกฝ่ายเบาใจขึ้น เพราะได้รับรู้ว่าจะไม่กดดันให้เขาพูดในสิ่งที่ไม่อยากพูด

กฎข้อที่ 48 ทุกปฏิสัมพันธ์ล้วนมีทั้งบวกและลบ

มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ เมื่อใดที่กำลังทุกข์อกทุกข์ใจ รอยยิ้มอันอบอุ่นของคนแปลกหน้า น้ำจิตน้ำใจของพนักงานร้านค้า หรือคำพูดอันเป็นมิตรของใครบางคน ที่แทบจะไม่รู้จักก็สามารถสลายทุกข์ในใจไปได้มาก ทั้งที่จริงคนเหล่านั้นไม่รู้หรอกว่า มีทุกข์หรือสุขประการใด แต่การกระทำของพวกเขาก็ช่วยชุบชูกำลังใจให้ได้อยู่ดี เมื่อรับรู้สิ่งที่ดีได้อย่างมีสติ จิตใจก็จะได้รับผลกระทบในทางที่ดีมากขึ้น และถ้ารู้สึกซาบซึ้งในความกรุณา ที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้ด้วยแล้ว ผลกระทบในทางที่ดีนั้นก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นไปอีก แต่ละปฏิสัมพันธ์ที่มีกับใคร ไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแค่เพียงกลาง ๆ แต่จะทำให้รู้สึกดีขึ้น หรือไม่ก็แย่ลงเสมอ เพราะต่อให้ได้พบปะกับใครอย่างผิวเผินที่สุด ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่อีกฝ่ายจะไม่รู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา

กฎข้อที่ 49 บางคนก็ไม่ต้องการความช่วยเหลือ

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าช่วยแล้วชีวิตของอีกฝ่ายจะดีขึ้นอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าอีกฝ่ายนั้นรู้สึกอย่างไร ด้วยหลายครั้งความช่วยเหลือทำให้ใครบางคนรู้สึกว่า ได้รับความรัก ความใส่ใจ ซาบซึ้งใจ มีคุณค่า และเป็นที่ต้องการ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่พวกเขารับได้ แต่ก็ใช่ว่าจะทุกครั้งไป เมื่อใดก็ตามที่หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ใคร กำลังเชื้อเชิญคน ๆ นั้นให้มาติดค้างหนี้บุญคุณอยู่ เพราะพอมอบความช่วยเหลือไปแล้ว จะกลายเป็นเจ้าบุญนายคุณของเขาทันที ซึ่งหมายความว่าอยู่ในสถานะที่มีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่าย แม้จะไม่มีเจตนาทำนองนั้น แค่อยากเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่นบ้าง แต่ไม่ว่าจะมีเจตนาดีปานใด ผลสุดท้ายก็ออกมาในรูปนี้อยู่ดี เพราะมันคือธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ดังนั้น จะได้พบการบอกปฏิเสธความช่วยเหลือ ด้วยท่าทีที่สุภาพเป็นที่สุดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากคนที่ชีวิตนี้ อาจไม่มีโอกาสได้ตอบแทนกลับคืนแน่ ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็จงอย่าหยุดช่วยเหลือคนอื่น เพียงแต่ว่าต้องคอยเปิดหูเปิดตา ดูท่าทีตอบสนองของอีกฝ่ายให้ดี และเข้าใจหัวอกของพวกเขาด้วยว่า ทำไมบางคนถึงต้องปฏิเสธความช่วยเหลือ ซึ่งตรงนี้ไม่เกี่ยวกับตัวคุณหรอก แต่เกี่ยวกับว่าความช่วยเหลือทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไรมากกว่า

ทำให้พวกเขาอยู่ข้างเดียวกับคุณ

ก็ใช่ว่าทุกคนจะมองรูปแบบเดียวกับที่คุณมอง การทำความเข้าใจวิธีคิดของใครต่อใครนั้น ก็เพื่อจะโน้มน้าวให้อีกฝ่ายคิดแบบเดียวกับคุณ เนื้อหาของกฎต่าง ๆ ในหมวดนี้ ล้วนเป็นเรื่องของการทำให้คุณและใคร ๆ ใจตรงกัน เพื่อทั้งสองฝ่ายจะได้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ไปในแนวทางเดียวกัน จะได้เจรจาต่อรอง หาข้อตกลงร่วมกันได้ ไม่ใช่เรื่องของการหาทางปั่นหัว หรือบังคับจิตใจใครแต่ประการใดทั้งสิ้น กฎหมวดนี้ไม่ได้มีไว้ให้บรรลุสิ่งที่ต้องการให้ได้ แต่มีไว้ให้ใช้ทักษะทางสังคมโน้มน้าวทุกคนให้อยากได้สิ่งเดียวกัน

ดังนั้น ถ้าทำตามกฎแล้ว เกิดมีใครรู้สึกผิดหวัง รู้สึกว่าถูกหลอก ถูกข่มเหงจิตใจ ถูกคุกคาม ถูกบังคับใจ ถูกเป่าหู หรือถูกรังแก ก็แสดงว่าทำผิดวิธีแล้ว เพราะจุดประสงค์ของกฎหมวดนี้คือ การให้ทั้งสองฝ่ายมีความสุข ความพอใจกับทุก ๆ การตัดสินใจที่เกิดขึ้น และรู้สึกร่วมกันว่าทั้งคู่ ได้ตกลงใจร่วมกัน

กฎข้อที่ 50 ความจงรักภักดีต้องมีให้กันทั้งสองฝ่าย

ความจงรักภักดีไม่ใช่เรื่องที่จะฝืนใจกันได้ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ความจงรักภักดีไม่ใช่ข้าวของเครื่องใช้ ที่จะเปิดหรือปิดสวิตช์ได้ทันใจ ถ้าอยากให้รอบตัวมีแต่คนที่จงรักภักดี ก็ต้องสร้างความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นมา นี่เป็นวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะสร้างความจงรักภักดีขึ้นมาได้ การทำให้คนอื่นจงรักภักดีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แค่มอบความจงรักภักดีให้กับอีกฝ่ายก่อนก็เท่านั้นเอง และจงยอมรับว่าการจะซื้อใจคนแต่ละคนได้นั้น มีความยากง่ายแตกต่างกันไป ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูกอะไร คนเราแค่มีนิสัยต่างกันเท่านั้นเอง

กฎข้อที่ 51 จดจำรายละเอียดในชีวิตผู้อื่น

ไม่ว่าใครก็อยากรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ และเป็นคนสำคัญในสายตาของผู้อื่น ถ้าเคยเจอคนที่จำชื่อไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ควรจะจำได้ จะรู้สึกได้ว่าอีกฝ่ายไม่ให้ความสำคัญ ไม่เห็นหัว ไม่แยแส ไม่สนใจ หรือมองว่าไม่มีค่าควรต่อการจดจำ ซึ่งล้วนแต่เป็นความรู้สึกที่แย่มาก ๆ ทั้งนั้น แน่นอนว่าถ้าอีกฝ่ายแค่จำชื่อได้อย่างเดียว ก็คงไม่มีอะไรสลักสำคัญมากไปกว่าการเป็นเครื่องมือ ป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่ดี เวลาที่อีกฝ่ายจำชื่อไม่ได้

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า อีกฝ่ายรู้จักมากแค่ไหน เจอกันครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ จึงไม่ควรดราม่าคุณค่าของการจดจำคนอื่นได้ รวมทั้งรายละเอียดของเรื่องที่พวกเขาคิดจะทำโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะกับคนที่อาจมองเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ หรือสูงส่งกว่าในแง่ใดแง่หนึ่ง อาจกำลังสงสัยว่าแล้วตัวข้าจะไปจำข้อมูลละเอียดยิบขนาดนั้นได้อย่างไรไหว มีเคล็ดลับอยู่ 2 ประการ ประการแรกยิ่งรู้สึกสนอกสนใจจากใจจริง จะรู้สึกมีส่วนร่วมในการพูดคุยมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งจดจำรายละเอียดได้มากขึ้นเท่านั้น วิธีที่ 2 จดข้อมูลเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ เพื่อป้องกันการหลงลืมตกหล่น

กฎข้อที่ 52 อย่าสรรเสริญเยินยอใคร โดยปราศจากความจริงใจ

ถ้าเปิดหาคำว่าสรรเสริญเยินยอในพจนานุกรม จะเห็นคำแปลว่า คำสรรเสริญที่เกินจริง หรือไม่จริงใจ เลยทำให้วลีที่ว่าสรรเสริญเยินยออย่างจริงใจแทบหมดความหมายไปเลย เพราะไปตั้งธงไว้แต่แรกแล้วว่า การสรรเสริญเยินยอคือคำสรรเสริญที่ไม่จริงใจ คนเราชอบให้เหมือนกัน บางคนก็ชอบการสรรเสริญเยินยอทุกประเภท ขณะที่บางคนกลับมองว่าเป็นคำพูดที่ไม่จริงใจ แถมจะโกรธคนที่มาพูดเยินยอด้วยซ้ำ

การพูดยกย่องสรรเสริญคนอื่นนั้น เป็นวิธีการอันทรงคุณค่า ต่อการสร้างความจงรักภักดี และช่วยให้ทั้งคู่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน เพราะนอกจากจะแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ และความใส่ใจในตัวอีกฝ่ายแล้ว ยังช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกดีต่อตัวเอง และมีกำลังใจทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น จงอย่าหยุดพูดยกย่องสรรเสริญคนอื่นด้วยความจริงใจ และจงอย่าปล่อยให้คำยกย่องสรรเสริญจากใจจริงต้องเสียของ กลายเป็นการสรรเสริญเยินยออย่างไม่จริงใจ หรือเป็นลมปากที่ไร้คุณค่าต่อใคร ๆ เป็นอันขาด ต้องมองหาอะไรสักอย่างที่ชอบ แล้วเอาเรื่องนั้นมาพูดชม การพูดแบบนี้เป็นการพูดชมเฉพาะเรื่องดี ๆ ของอีกฝ่าย โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรที่ไม่อยากพูดออกมาเลย

กฎข้อที่ 53 พูดชมให้โดนใจ

คำชมแต่ละแบบไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นคำชมจากใจจริงก็ตาม ในบรรดาคำพูดยกย่องชมเชยนั้น จะมีทั้งที่ดีในระดับทั่ว ๆ ไปและดีเลิศ คนที่รู้วิธีผู้ชมได้อย่างดีเลิศนั้นก็หาได้ยากมาก และคนกลุ่มที่ว่านี้ก็มักจะมีนิสัยดีเลิศด้วยเช่นกัน ถ้ารู้วิธีที่จะพูดชมได้อย่างถูกต้อง ต่อไปนี้จะเป็นบทเรียนง่าย ๆ ที่ทำให้พูดชมคนได้เป็นเลิศ บทเรียนข้อแรกและอาจจะเป็นข้อสำคัญที่สุด ในเรื่องการทำให้คำชมมีความเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ

เมื่อเอ่ยปากชมออกไปแล้ว ถ้าจะให้ดีต้องถามไถ่ในประเด็นที่เป็นข้อสงสัยด้วย เพราะไม่ว่าใครก็ชอบพูดเรื่องของตัวเองทั้งนั้น การถามเป็นการแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าสนใจ และใส่ใจเป็นอย่างมาก อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่ควรพูดกับใครก็คือ การพูดชมแล้วตามด้วยคำว่าแต่ ใคร ๆ ก็ชอบให้ตัวเองได้รับการยอมรับ แม้เหตุผลของแต่ละคนจะต่างกันไปมากมาย แต่ที่เหมือนกันแน่ ๆ คือทุกคนชอบให้คนอื่นยกย่องตัวเอง ดังนั้น ถ้ามีใครทำอะไรได้ดีเยี่ยมมาก ๆ ก็ต้องพูดยกย่องชมเชยให้เป็นทางการกว่าเดิม หรือพูดชมอีกฝ่ายต่อหน้าสาธารณชนให้มากขึ้น

กฎข้อที่ 54 พูดชมให้เหมาะสมกับความเป็นจริง

ในเมื่อการพูดชมเป็นเรื่องดี หลายคนก็อาจคิดว่ายิ่งชมมากก็ต้องยิ่งดีมากขึ้น แต่กรณีนี้แปลกออกไป เพราะมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด การพูดยกย่องชมเชยจนเกินพอดี กลับจะสร้างความเสียหายได้อย่างไม่คาดคิดด้วยซ้ำไป การชมมากเกินไปจนไม่สมเหตุสมผล นอกจากจะเป็นการให้ท้ายแบบผิด ๆ แล้วยังดูไม่จริงใจอีกด้วย

ก่อนจะชมใครจงคิดให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน และเมื่อชมแล้วก็จงชมอย่างพอเหมาะพอควรสมเหตุสมผล หากไม่แน่ใจว่าจะชมอย่างไร หรือต่อให้แน่ใจก็ตามที มีกลเม็ดสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ อย่าใช้เวลาให้มากนักกับการพล่ำพรรณนาคำชมที่พบได้ทั่ว ๆ ไป แต่ควรให้เวลากับการเลือกพูดคุยเจาะลึกในรายละเอียดของตัวผลงาน และทุกประเด็นความสำเร็จกับอีกฝ่าย การทำแบบนี้ก็เท่ากับได้ยกย่องชมเชยอีกฝ่ายแล้ว โดยที่ไม่ต้องไปปวดหัวกับการคิดสรรหาคำชมมาพูด เพื่อให้เหมาะสมกับความดีเด่นของอีกฝ่ายเลย

กฎข้อที่ 55 ไม่ว่าใครก็อยากให้คนอื่นชอบตัวเอง

เรื่องนี้ฟังดูเป็นสัจธรรมมาก พูดเมื่อไหร่ถูกเมื่อนั้น จะผิดจากนี้ก็เฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นยากมาก ๆ เช่น คนที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า เป็นโรคจิตชนิดต่อต้านสังคม คนปกติทั่วไปก็น่าจะอยากให้คนมาชอบมากกว่าเกลียด บางคนถึงขั้นยอมทำทุกอย่าง เพื่อให้ใครต่อใครมาชอบตัวเอง ก็มีบางคนก็แปลกหน่อย คืออยากเป็นที่ชื่นชอบของใคร ๆ แต่ห้ามใจตัวเองไม่ให้ชอบคนอื่นก็มี จะว่าไปคนเหล่านี้ก็คงอยากให้คนที่พวกเขาชื่นชอบ และเคารพนับถือมาชอบตัวเขาอยู่เหมือนกัน

ถ้ามีใครสักคนคิดว่าชอบเขา เขาก็มักให้ความร่วมมือ ส่วนใครที่คิดว่าไม่ชอบหน้าเขา ก็มักจะงอแงไม่ให้ความร่วมมือเท่าไหร่ เขาจะร่วมมือไปให้เหนื่อยทำไม เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ชอบหน้าเขาอยู่ดี แต่ในทางกลับกัน ถ้าทั้งคู่ชอบหน้าซึ่งกันและกัน อีกฝ่ายก็จะเต็มใจให้ความร่วมมือมากขึ้น ถ้าชอบหน้าใครก็จะมีโอกาสชนะใจเขาได้มากกว่า เพราะอีกฝ่ายจะดูออกว่าชอบเขา ความชอบนี้ก็จะไปเกื้อหนุนให้อีกฝ่ายรู้สึกดีได้เช่นกัน

วิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้ชอบคนที่เกลียดขี้หน้ามาก ๆ ได้ก็คือ อย่าไปพยายามฝืนใจตัวเองให้ชอบหน้าอีกฝ่ายทุกเรื่อง เพราะมันยากเกินไป แต่ให้พยายามมองหาอะไรบางอย่างในตัวเขาที่พอจะชอบได้ก็พอ จะชั่วดีอย่างไรคนทั้งคนก็ต้องมีอะไรสักอย่างให้ชอบได้บ้าง ถ้ามองไม่เห็นจริง ๆ ก็ลองนึก ๆ ดูว่าอีกฝ่ายอาจจะพอมีอะไรบางอย่าง ที่ทำให้คู่ครองหรือบรรดาลูก ๆ ชอบเขาได้บ้าง แล้วค่อยคิดใคร่ครวญว่าอะไรทำให้เขากลายเป็นคนแย่ ๆ แบบนี้ ไม่แน่อาจจะรู้สึกสงสารเขาขึ้นมาบ้างก็ได้

กฎข้อที่ 56 สร้างความยอมรับนับถือ

วิธีสร้างความยอมรับนับถือนั้นมีอยู่มากมาย แต่ไม่ว่าวิธีใดก็ไม่พ้นหลักการ 3 ประการนี้คือ 1.เชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำ 2.รู้ตัวว่าเชี่ยวชาญมากน้อยเพียงใด 3.กระทำสิ่งนั้นด้วยความซื่อตรง ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ในแวดวงมิตรสหาย หรือในชมรมแถวบ้านที่ช่วยดูแลอยู่ก็ตาม ขอให้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจริง ๆ ก็แล้วกัน ความเชี่ยวชาญนี้ไม่ใช่แค่ทำงานให้เสร็จทันเวลา หรือบรรลุเป้าหมายเท่านั้น แต่การทำอะไรให้ได้ผลสำเร็จที่เรียกว่าดีเยี่ยมนั้น ต้องบรรลุเป้าหมายให้ได้อย่างสงบเยือกเย็นและสุภาพนุ่มนวล

การทำงานให้ดีไม่ใช่แค่ทำงานบนหน้ากระดาษเท่านั้น แต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นไปพร้อมกัน ด้วยเหตุผลสำคัญที่ต้องรู้ว่าตัวเองเชี่ยวชาญมากน้อยเพียงใด ก็เพื่อสร้างความรู้สึกยอมรับนับถือให้เกิดขึ้นในใจของอีกฝ่ายด้วยตัวเอง ส่วนความซื่อตรงนั้น ก็จะเป็นหลักที่ยึดคุณค่าเอาไว้ แม้ในยามที่อาจยึดไว้ได้ยากเต็มที ในยามปกติความซื่อตรงจะเป็นสิ่งค้ำจุนความศรัทธา และในยามจำเป็นมันจะเป็นเกราะคุ้มครองให้ ดังนั้น จงปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความเคารพ สุภาพ และยืนหยัดเพื่อพวกเขา ในยามที่พวกเขาต้องการการสนับสนุน

กฎข้อที่ 57 มีอารมณ์ขัน

อารมณ์ขันคือกุญแจสำคัญของการเป็นที่ชื่นชอบ และได้รับความยอมรับนับถือจากผู้อื่น เพราะใคร ๆ ก็ชอบคนที่มีอารมณ์ขัน ถ้ามีอารมณ์ขันคนอื่นจะสนับสนุนได้ง่ายขึ้น การทำให้อีกฝ่ายหัวเราะได้ ก็เท่ากับชนะใจเขาได้ครึ่งค่อนแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเดินไปทั่วออฟฟิศหรือที่ไหน ๆ แล้วเที่ยวปล่อยมุกตลก เพราะอารมณ์ขันที่ว่าไม่ได้หมายถึงแบบนี้แน่ ๆ

โชคดีที่มีอารมณ์ขันอยู่ประเทศหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ใครต่อใครดูเป็นคนปล่อยมุกเก่งกันได้ทุกคน เช่น การปล่อยมุกตลกล้อเลียนตัวเอง เพราะไม่ว่าใครก็ใช้ตัวเองมาล้อเล่นเป็นมุกตลกได้ไม่ยาก หรือจะเล่าเรื่องที่ทำให้ตัวเองดูเซ่อซ่าบ้าบอ แล้วหัวเราะให้กับความเปิ่นเป๋อของตัวเองก็ได้ทั้งนั้น ไม่ต้องถึงกับนั่งกุมขมับนับมุขเด็ด ๆ มาปล่อยทุกวันหรอก แค่คว้าโอกาสปล่อยมุกที่ผ่านเข้ามาให้ดีที่สุดก็พอแล้ว และถ้าเจ้าโอกาสที่ว่าเกิดไม่ผ่านเข้ามาบ่อยดั่งคิด ก็อย่าเพิ่งท้อใจเพราะยังมีความสามารถในการหัวเราะให้กับตัวเอง และการปล่อยให้ใคร ๆ ได้หัวเราะไปพร้อมกัน ก็เป็นกลเม็ดหนึ่งที่ช่วยให้คนรอบข้างรักใคร่ชื่นชมได้อยู่ดี

กฎข้อที่ 58 อย่ากลัวที่จะยอมรับความผิดพลาด

คนบางคนไม่กล้ายอมรับความผิดพลาดของตัวเอง เป็นเพราะขาดความมั่นใจในตัวเอง กลัวว่าคนอื่นจะมองว่าจริง ๆ แล้วแสนโง่งม ต่ำตมประสบการณ์ ตาถั่วหรือไม่ก็ทำอะไรผิดพลาดไปหมดเสียทุกเรื่อง แต่ปัญหาก็คือว่า ถ้าไม่กล้ายอมรับความผิดพลาด จะกลายเป็นคนที่เอาแต่ปัดสวะให้พ้นตัว การที่ไม่ยอมรับความผิดพลาดเสียบ้างเลย กำลังทำลายโอกาสที่ตัวเองจะได้เป็นมนุษย์จริง ๆ ที่เป็นคนใจกว้างและมีนิสัยสุภาพถ่อมตน ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนั้น จะไม่ยิ่งพลาดไปกันใหญ่หรือ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้สนับสนุนให้เอาความผิดพลาดหยุมหยิม หรือความบกพร่องเสียหายภายในครอบครัว ในที่ทำงาน หรือของโลกใบนี้ไปเที่ยวโพนทะนาได้เต็มที่ โดยไม่มีขอบเขตอันควร ขอให้คิดใคร่ครวญถึงผลได้ผลเสียทั้งหมดให้ดีว่า คุ้มหรือไม่ที่จะยอมรับความผิด

กฎข้อที่ 59 ไม่ถือสาหาความ

ปัญหาใหญ่ที่สุดเวลาเจอคนน่ารำคาญ มันเกิดขึ้นที่ความรู้สึกตอบสนอง จะให้ความรู้สึกรำคาญและหงุดหงิดใจขึ้นมา ในสถานการณ์ทำนองนี้ มีทางเลือก 2 แบบ ทางเลือกแบบแรกซึ่งเป็นทางเลือกที่ผิดก็คือ การต่อต้านกับความน่ารำคาญ เฝ้าหวังว่าพวกเขาจะหยุด จะเลิกรา และโอดครวญถึงความน่ารำคาญ ถ้าเลือกทำแบบนี้จะเป็นการต้อนตัวเองให้จนตรอก ได้แต่รอให้พวกเขาก่อความรำคาญขึ้นมาใหม่ แล้วนั่งมองตาปริบ ๆ ไปทั้งชีวิต ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งก็ง่าย ๆ เลย แค่ยอมรับให้ได้ว่า คนคนนี้ก็มีนิสัยน่ารำคาญของเขาแบบนี้ แล้วก็เปลี่ยนนิสัยเขาไม่ได้ด้วย เปลี่ยนได้อย่างเดียวคือตัวเอง

ดังนั้น จงเลิกต่อต้านพฤติกรรมของอีกฝ่าย แล้วหันมาต่อรองกับปฏิกิริยาตอบสนองของตัวเอง ถ้าจะให้ดีก็ควรคิดด้วยว่า อีกฝ่ายทำไปทำไม จากนั้นให้ความเมตตาสงสารเขาไป หรือไม่ก็พยายามมองในแง่บวก แล้วถ้าเปิดใจยอมรับความน่ารำคาญของอีกฝ่ายได้เมื่อไหร่ สิ่งหนึ่งที่จะทำได้สำเร็จทันทีเลยก็คือ ลดความรำคาญลงได้ชนิดทันอกทันใจ กระบวนการบำบัดปัญหาหน้ารำคาญเหล่านี้ จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่เปิดใจยอมรับความน่ารำคาญ แล้วก้าวข้ามมันไปด้วยวิธีที่ดีที่สุด

กฎข้อที่ 60 ผูกสัมพันธ์กับใคร ๆ เป็นรายบุคคล

คนเรามีแนวโน้มที่จะชอบ และเชื่อใจคนที่ดูแล้วว่าเป็นคนประเภทเดียวกัน นั่นเป็นเพราะรู้ทางลมว่า ต้องวางตัวกับอีกฝ่ายอย่างไร จึงเป็นการดีมากหากทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันได้ ไม่ว่าจะด้วยความชอบหรือไม่ชอบในสิ่งเดียวกัน กังวลใจในเรื่องเดียวกัน เป็นคนภูมิภาคเดียวกัน หรือชอบดูหนังเรื่องเดียวกันก็ตาม จะพบความสุขเหลือล้นเมื่อรู้ว่า ใครสักคนที่อาจไม่ได้สนิทสนมคุ้นเคยกันมาก่อน แต่มาต่อกันติดด้วยเรื่องง่าย ๆ หากมาถึงจุดนี้แล้วก็จงเดินหน้าต่อไป ให้อีกฝ่ายได้รู้ว่าปลื้มใจที่เจอมิตรสหายที่ชอบอะไรคล้ายกัน

แต่กระนั้นก็อย่าพูดพร่ำซ้ำซาก เอาแค่นาน ๆ ครั้งพูดถึงบ้าง จากนั้นค่อยสานต่อก่อความสัมพันธ์เพิ่มเติมเท่าที่ทำได้ แต่เป็นเรื่องที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า ไม่ได้มีเยื่อใยแบบนี้กับใครทุกคนหรอก ซึ่งคนส่วนใหญ่เขาก็เป็นกันประมาณนี้ ถ้าจะให้ดีที่สุดควรสร้างมิตรภาพไมตรีแบบนี้ไว้กับทุกคน มากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่กรณีเท่าที่ทำได้ วิธีนี้จะช่วยเปลี่ยนคนรู้จักให้กลายเป็นเพื่อน แล้วชีวิตจะดีขึ้นกว่าเดิม

กฎข้อที่ 61 หันด้านดีไว้หน้าสุด

การสร้างจิตสำนึกเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ด้วยว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงต้องการการสื่อสารทางสังคมกับคนอื่น ยิ่งสื่อสารได้ดีเท่าไหร่ ยิ่งรู้อกเขาอกเรามากเท่าไหร่ สิ่งต่าง ๆ ก็จะยิ่งสำเร็จผลง่ายขึ้นเท่านั้น กฎข้อนี้เป็นเรื่องของการแสดงออกเป็นนัย ๆ เป็นเรื่องของการเลือกใช้คำพูดให้เหมาะสมกับบุคคลและกาละเทศะ

ต่อให้เป็นคนช่างสบถแค่ไหน หรือต่อให้คำสบถดูหยาบคายน้อยกว่าคนอื่น แต่คำสบถก็ยังเป็นคำสบถอยู่ดี หากสุภาพชนคนไหนได้ยินพูด ก็ล้วนเข้าใจความหมายอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนเรื่องกาลเทศะ ถ้าคุยกับเพื่อนสนิท คู่ครอง หรือใครก็ตามที่ทำตัวตามสบายได้ จะใช้ถ้อยคำแบบไหนก็คงไม่มีใครว่า

การที่สามารถสบถต่อหน้าใครคนหนึ่งได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพูดแบบเดียวกันนั้นต่อหน้าอีกคนหนึ่ง ถ้าปรับตัวเองให้เข้ากับคนที่พบปะพูดคุยด้วยสักหน่อย เช่น พูดหรือวางตัวแบบเดียวกับพวกเขา ใช้คำพูดคำจาและออกท่าทางแบบพวกเขาบ้าง ก็จะมีอากับกิริยาที่กลมกลืน นั่งรวมกับพวกเขาได้อย่างสบายอกสบายใจ นี่คือเคล็ดลับที่ทำให้พวกเขาชอบโดยไม่รู้ตัวเลย

กฎข้อที่ 62 คนส่วนมากมักใช้ความเห็นของตนเป็นใหญ่

บางครั้งการที่มีคนมาเอาอกเอาใจ สร้างความประทับใจ หรือโน้มน้าวเพื่อให้ยอมรับความคิดของเขาก็อาจเป็นเรื่องดี เพราะถ้าไม่รู้ความคิดหรือท่าทีของอีกฝ่าย แล้วโพล่งความคิดของตัวเองออกไปก็จะกลายเป็นผิดใจกัน ยิ่งถ้าฝ่ายนั้นยืนกรานความคิดชนิดยอมหักไม่ยอมงอด้วยแล้ว ทางออกของเรื่องนี้ก็มีอยู่ ประการแรกสิ่งที่ส่วนใหญ่มักมองข้ามไปก็คือความคิดของอีกฝ่ายอาจถูกต้องก็ได้ หรืออย่างน้อย ๆ ก็อาจถูกต้องไม่น้อยไปกว่ากัน ทางออกที่ดีที่สุดนั้นไม่ได้มีอยู่แค่ทางเดียว

ดังนั้น การได้ลองทำตามความคิดของอีกฝ่าย ก็อาจเป็นการเปิดโอกาสที่ดีให้กับตัวเองก็เป็นได้ ต่อให้มีอำนาจล้นฟ้าสามารถสั่งใคร ๆ ให้ทำตามความคิดได้ขนาดไหนก็ตาม แต่การที่อีกฝ่ายยินดีทำงานให้อย่างเต็มอกเต็มใจ ย่อมทำให้งานมีประสิทธิภาพมากกว่าเสมอ ไม่ว่ากิจการงานใด ๆ ในโลกนี้ ล้วนมีส่วนประกอบหลักอยู่ 2 ประการคือ จุดหมายปลายทาง และวิถีทางไปสู่จุดหมายดังกล่าว

กฎข้อที่ 63 ยกความดีให้อีกฝ่ายว่าได้ต่อยอดความคิดมาจากเขา

ถ้าใช้กฎข้อนี้ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ทุกคนก็จะเป็นฝ่ายชนะไปด้วยกัน ตราบใดที่พวกเขารู้สึกว่าความคิดที่ได้รับการนำไปใช้นั้น เป็นความคิดของเขาแบบนี้ใครจะไม่ชอบ ขอบอกเลยว่ากฎข้อนี้ไม่ง่ายเลย และใช้ได้ผลดีที่สุดก็ตอนที่คุณกับอีกฝ่าย เริ่มต้นวางแผนงานร่วมกัน การใช้กฎข้อนี้ให้สำเร็จผลทั้งหมดทั้งมวล ล้วนขึ้นกับความดีความชอบทั้งสิ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ยกความดีความชอบให้ใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน อีกฝ่ายจะไม่ปฏิเสธ ยิ่งในยามที่ตัวเขาเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าใช่หรือไม่ใช่กันแน่

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีสิทธิ์ไปบีบคออีกฝ่าย ให้จำใจต้องยอมรับความดีความชอบอย่างเสียมิได้ สิ่งที่ต้องทำคือทำให้เขาเชื่ออย่างจริงใจว่า ความคิดดังกล่าวเป็นความคิดของเขาเอง ขอให้ใช้กฎข้อนี้ด้วยความสุขุมรอบคอบ และจำไว้เสมอว่ากฎข้อนี้ จะใช้ได้ผลดีก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายรู้สึกภาคภูมิใจว่า ความคิดดังกล่าวเป็นของเขาเอง

กฎข้อที่ 64 ห้ามพูดว่าอีกฝ่ายผิด แม้จะผิดจริงก็ตาม

แม้จะรู้ทั้งรู้มั่นใจเต็มประตูว่าอีกฝ่ายผิด 100% แต่ก็ต้องรักษาจุดประสงค์ไว้ด้วยนั่นคือ การไม่หักหน้าอีกฝ่ายจนดูเหมือนเขาเป็นคนโง่ แล้วทำไมต้องตั้งเป้าหมายเอาไว้แบบนี้ด้วย เพราะมันช่วยให้พวกเขาเต็มใจทำงานให้ ทั้งที่เห็นตรงข้ามกัน จงมองปัญหาความขัดแย้งจากมุมมองของอีกฝ่าย เพราะถ้าเอาแต่ปะทะคะคานตั้งหน้าตั้งแต่เถียงให้อีกฝ่ายยอมจำนนลูกเดียว สิ่งที่อีกฝ่ายจะตอบโต้กลับมาก็มีด้วยกัน 2 แบบ 1.ยอมถอย 2.สู้ไม่ถอย

ในกรณีที่อีกฝ่ายยอมถอย ก็ไม่พ้นจะแอบเถียงอยู่ในใจอยู่ดี ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับการมีหอกข้างแคร่ ถ้าไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ก็ต้องหาทางออกอื่นให้อีกฝ่ายหายคับอกคับใจด้วย นั่นคือการเปิดเส้นทางใหม่ โดยเข้าไปเคียงข้างอีกฝ่าย แล้วค่อย ๆ เบี่ยงความคิด ให้เขาเปลี่ยนทิศทาง

กฎข้อที่ 65 สร้างความสมัครสมานสามัคคี

แม้มีกุศโลบายมากมาย ที่จะช่วยสร้างความร่วมแรงร่วมใจให้เกิดขึ้น แต่หัวใจสำคัญของกุศโลบายต่าง ๆ นั้นเหมือนกันหมดนั่นคือ การตั้งเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเป้าหมาย การให้ผลตอบแทนร่วมกันทุกคน ในหมู่คณะต้องร่วมมือกัน และได้รับความดีความชอบเป็นผลตอบแทนร่วมกันด้วย

แม้การมอบคำชมเชยและรางวัลให้เป็นรายบุคคลจะต้องมีอยู่ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องมีอยู่ประจำใจก็คือ ความมุมานะพากเพียรเพื่อเป้าหมายเดียวกัน เมื่อใดที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน การทำงานร่วมกันในแต่ละวันก็จะง่ายขึ้น เป็นความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเองตามเหตุตามผล ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ก็คือ การปลุกใจให้พวกเขามีเป้าหมายร่วมกัน

กฎข้อที่ 66 จงเป็นมนุษย์เดินดิน

เมื่ออยู่ในจุดที่มีอำนาจประกาศิต ใคร ๆ ได้ก็เป็นธรรมดา ที่อยากจะใช้อำนาจนั้นให้เต็มเหนี่ยว โดยที่คนรอบข้างยังรู้สึกเคารพอยู่ เลยตั้งใจจะใช้อำนาจที่มีล้นฟ้าด้วยความเมตตา แต่ไม่ลืมที่จะควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในกำมือ พร้อมกับภาพภายนอกที่วางตัวเป็นคนใจดีชนิดสุด ๆ ถ้าทำตัวคล้าย ๆ พระเจ้าเข้าไปทุกทีแบบนี้ ใครเขาก็ต้องกลัวอยู่บ้าง ตอนอยู่ใกล้ก็ต้องมีเกรงกันทั้งนั้น ยิ่งถ้าเป็นผู้จัดการ คุณครู หรือผู้เชี่ยวชาญในแวดวงใด ที่รู้ไปหมดเหมือนพระหูสูตรอีกด้วยยิ่งไปกันใหญ่เลย เพราะใคร ๆ ที่อยู่ใกล้ก็จะเกร็งจนตัวลีบ

ที่หนักไปกว่านั้นคือ คนอื่นจะรู้สึกว่าไม่ต้องมีใครคอยช่วยก็เอาอยู่ แต่จำเป็นต้องมีสมัครพรรคพวกอยู่ข้างตัว เพราะยังมีเรื่องราวอีกสารพัดที่ไม่มีทางทำได้สำเร็จเพียงลำพัง ไม่ว่าจะเป็นการโต้แย้งบนศาล หรืองานโปรเจคยักษ์ใหญ่ ถ้าไม่มีใครคอยช่วยก็ไม่มีทางสำเร็จแน่นอน ดังนั้นการทำเป็นว่าชีวิตนี้ไม่ต้องการใคร หรืออะไรไว้ช่วยผ่อนแรงเลย จึงดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร แต่ครั้นจะทำตัวตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา ก็จะกลายเป็นว่าพึ่งพาคนอื่นจนเสียนิสัยได้เหมือนกัน

คนส่วนใหญ่เลยเลือกอยู่ตรงกลางคือ การพึ่งพาตัวเองตามเหตุผลสมควร เพราะการเอาแต่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ และทำอะไรไม่เป็นเลยสักอย่าง ก็เป็นความคิดที่ไม่เข้าท่าเท่าไหร่ จึงต้องสร้างสมดุลให้ได้และให้ดี อย่าทำตัวเป็นสิงห์สำออย ที่อ่อนแอกับทุกเรื่องในชีวิต จงเป็นคนเข้มแข็ง แต่อย่าให้ถึงขั้นเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบเหนือมนุษย์ ที่ไม่เคยทำอะไรผิด ไม่เคยมีข้อบกพร่อง และควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในกำมือได้ตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้สมบูรณ์แบบ 100% ทุกครั้งไป

กฎข้อที่ 67 จงแบ่งปันคนรอบข้าง

โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการมีส่วนร่วม และต้องการเป็นสมาชิกของหมู่คณะ ทำงานได้ผลดีมากขึ้น หากเข้าใจแจ่มแจ้งว่า ความอุตสาหะพยายามที่ลงไป จะทำให้เกิดผลดีอะไรขึ้นมา ถ้าไม่รู้อะไรเลยก็จะไม่สามารถช่วยงานได้เต็มที่ จะหาคนมายืนเคียงข้างได้อย่างไร ถ้าอีกฝ่ายไม่รู้ว่าอยู่ข้างไหนกันแน่ ถ้ามีนิสัยชอบไม่บอกอะไรให้ใครรู้เลย คนอื่นก็จะไม่รู้สึกอนาทรร้อนใจ

แม้อีกฝ่ายไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมากก็จริง แต่เขาก็จำเป็นต้องรู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนในกลุ่ม จึงต้องเล่าอะไรให้เขาได้รู้บ้าง ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องราวคร่าว ๆ เท่านั้น ยิ่งถ้าเป็นหัวขบวนของคนในทีม เป็นหัวขบวนของคนที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ยิ่งต้องบอกเล่ารายละเอียดอื่น ๆ ด้วย

การบอกข้อมูลความรู้ การควบคุมอำนาจ หรือความดีความชอบให้กับอีกฝ่ายได้รับรู้นั้น จะทำให้รู้สึกเสี่ยงก็จริง แต่การไม่บอกอะไรบ้างเลยนั้นเสี่ยงกว่ามาก ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเปิดใจ ให้กับพวกเขาได้มีส่วนร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ ตามสมควร ถ้าทำแบบนี้ได้ พวกเขาก็จะแบ่งปันความขยันขันแข็ง ความมีน้ำใจไมตรี และความมุ่งมั่นมาตอบแทนให้

กฎข้อที่ 68 พูดขอบคุณในระดับที่สมน้ำสมเนื้อ

ถึงแม้การขอบคุณจะดีกว่าไม่ขอบคุณเอาเสียเลย แต่เวลาจะขอบคุณใครก็ต้องใช้ศิลปะอยู่ไม่น้อย เพราะวิธีการพูดขอบคุณมีอยู่มากมาย คนที่หาวิธีขอบคุณคนอื่นได้เหมาะสมที่สุด ต้องถือว่าเป็นคนเก่งคนหนึ่ง อย่างแรกเลยต้องขอบคุณให้ได้สัดส่วนเหมาะสม แต่ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็อาจพลาดได้ง่าย ๆ คงไม่อยากขอบคุณอีกฝ่ายมากเกินกว่าเหตุ หรือน้อยเกินไปจนดูน่าเกลียด เวลามีใครช่วยเหลือในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วไปขอบคุณอย่างมโหฬาร ก็อาจทำให้อีกฝ่ายอึดอัดใจ หรือรู้สึกว่ากำลังแสดงอำนาจอยู่ได้เหมือนกัน

ในทำนองเดียวกัน ก็คงไม่อยากเหยียบย่ำน้ำใจใคร ที่ให้ความช่วยเหลือเจือจุนด้วยการพูดขอบคุณแบบผ่าน ๆ ขอไปที อีกทั้งที่อีกฝ่ายต้องทุ่มเททั้งเวลา และความมานะพยายามอย่างแสนสาหัสเพื่อช่วยเหลือ หัวใจของการพูดขอบคุณอีกฝ่ายให้ล้ำค่าก็คือ ต้องทำให้อีกฝ่ายรู้ชัดไปเลยว่า รู้สึกขอบคุณในเรื่องใด

ขั้นต่อไปมาคิดหาวิธีพูดขอบคุณ ซึ่งไม่ใช่แค่ดูว่าเขาทำอะไรให้ แต่ต้องดูด้วยว่าอีกฝ่ายเป็นใคร มีนิสัยใจคออย่างไร บางคนชอบให้ขอบคุณเป็นการส่วนตัว บางคนก็ชอบของขวัญ บางคนชอบการ์ดที่มีข้อความซึ้ง ๆ บางคนก็ชอบให้ประกาศคำขอบคุณต่อหน้าผู้คน การขอบคุณที่อีกฝ่ายไม่ได้คาดฝันมาก่อน ย่อมล้ำค่ากว่าการขอบคุณที่รู้ ๆ กันอยู่ และจะมีคุณค่ากว่าการขอบคุณที่เป็นมาตรฐานสังคมทั่ว ๆ ไปด้วยซ้ำ ควรขอบคุณอีกฝ่ายด้วยตัวเอง และให้คำขอบคุณนั้นมีความพิเศษสุดเท่าที่จะทำได้

กฎข้อที่ 69 จับจุดความต้องการของอีกฝ่าย

ถ้าจับจุดความต้องการของอีกฝ่ายได้แล้วใช้สิ่งนั้นจูงใจ ผลสัมฤทธิ์ก็จะเกิดขึ้นแต่ปัญหาคือ คนเรามีนิสัยต่างกันความต้องการจึงไม่เหมือนกัน ซึ่งก็ท้าทายความอยากรู้ไปอีกแบบ เพราะจะรู้สึกสนุกกับการค้นหาสิ่งที่ใครสักคนชอบ เพื่อทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกดี มีแรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ การมีคุณค่าในสายตาคนอื่น ประเด็นนี้เหมือนจะคล้ายกับการรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า แต่ความต่างก็คือพวกเขาต้องได้รับความมั่นใจว่า ทำไปแล้วจะเห็นแน่ ๆ และถ้าจะให้ดีใครต่อใครก็ควรได้เห็นสิ่งที่เขาทำด้วย

ในบรรดาแรงจูงใจทั้งหมด การมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ จูงใจคนได้มากที่สุด แม้พวกเขาอาจต้องการเงิน และสถานภาพไปพร้อมกันด้วยก็จริง แต่การได้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบคือ สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุด คนส่วนใหญ่มีแรงจูงใจมากกว่า 1 อย่าง ต่างกันแต่ว่าแรงจูงใจอย่างไหนจะมีมากมีน้อยกว่ากันเท่านั้นเอง ถ้ารู้ว่าอะไรคือแรงจูงใจให้อีกฝ่ายลุกขึ้นมา จากเตียงนอนตอนเช้า ๆ ได้ การโน้มน้าวใจคน ๆ นั้นจะทำได้ไม่ยากเลย เมื่อจับจุดความต้องการของคนอื่นได้ ก็เหมือนเข้าไปนั่งในหัวใจของพวกเขาครึ่งค่อนตัวแล้ว

กฎข้อที่ 70 ตำหนิอย่างสร้างสรรค์

ไม่ควรพูดจาตำหนิใครแบบส่ง ๆ โดยไม่ถนอมน้ำใจ ยิ่งถ้าอยากให้เขาทำงานให้ การตำหนิยิ่งต้องใช้ความระมัดระวัง มิให้อีกฝ่ายเสียกำลังใจ ข้อควรจำอย่างแรกในกฎข้อนี้คือ อย่าตำหนิใครถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ นิสัยชอบตำหนิใครไปทั่ว ไม่ได้เกิดจากความโชคร้ายที่ไปไหนมาไหนก็เจอแต่คนห่วย ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เป็นเพราะชอบเพ่งโทษจับผิดใคร ๆ ไปเสียทุกเรื่อง เป็นคนที่ความอดทนต่ำ ถ้ามีอะไรไม่ได้อย่างใจหรือเป็นคนบ้าอำนาจ ในฐานะนักเล่นกฎแล้วไม่ควรทำตัวแบบนี้อย่างยิ่ง

ข้อควรจำต่อมาก็คือ เรื่องที่อีกฝ่ายแก้ไขไม่ได้ตำหนิไปก็เปล่าประโยชน์ แถมไม่สร้างสรรค์อีกด้วย จะว่าไปแล้วไม่มีใครชอบให้คนอื่นมาตำหนิ หรือวิจารณ์ตัวของเขาหรอก วิธีที่ดีที่สุดในการวิจารณ์ใคร ๆ ก็คือ หยิบยกสิ่งดี ๆ ขึ้นมาพูดชม โดยท่าทีที่เป็นความรู้สึกจริง ๆ ด้วยท่าทีที่เป็นกลาง และปราศจากความรู้สึกส่วนตัว

กฎข้อที่ 71 เห็นต่างอย่างแนบเนียน

ไม่มีทางที่ใครจะแสดงความคิดเห็นคัดง้างใครได้ โดยไม่ต้องมีการโต้เถียงกัน จะว่าไปนี่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข คำถามคือจะแสดงจุดยืนอันถูกต้องให้อีกฝ่ายยอมรับได้อย่างไร โดยไม่ต้องทะเลาะบาดหมางกัน ถ้าทำแบบหน้าไหว้หลังหลอก ก็จะเสียอุดมการณ์ คำตอบคือต้องกลับไปใช้กฎของการถนอมน้ำใจ ให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าใส่ใจในทุกความรู้สึกของเขา ซึ่งหมายความว่าหากต้องแสดงความคิดเห็นใด ๆ ก็จะไม่พูดวิจารณ์คนอื่นนั้นแม้แต่น้อย จำกัดขอบเขตการพูดเอาไว้แค่เรื่องอารมณ์ตอบสนองเท่านั้น พวกเขาจะเข้าใจไปเองว่า เห็นด้วยและอยู่ข้างเดียวกับพวกเขา

กฎข้อที่ 72 ให้อีกฝ่ายได้ชนะการต่อรอง

การต่อรองเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำให้คนอื่นร่วมมือ สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือ ต้องรู้ว่าอีกฝ่ายเขารู้สึกอย่างไร และทำอย่างไรเขาถึงจะยอมร่วมมือด้วย ทุกคนล้วนใช้บรรทัดฐานเดียวกันนี้ ในการต่อรองไม่ว่าใครก็อยากเป็นฝ่ายชนะ ในการต่อรองหัวใจอยู่ตรงนี้ ดังนั้นจงให้อีกฝ่ายได้ชนะแล้วเขาจะร่วมมือเอง

สถานการณ์ที่ 2 ฝ่ายเป็นผู้ชนะทั้งคู่ก็อาจคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ทั้งในการต่อรองเชิงธุรกิจ หรือการแลกเปลี่ยนเงินตรา แม้ในสถานการณ์อื่นก็ยังใช้หลักการนี้ได้เช่นกัน  การต่อรองกับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน คนในบ้าน ลูก ๆ รวมถึงบรรดาเพื่อนบ้านทั้งหลายอีกด้วย แม้ในเรื่องเล็ก ๆ อย่างการต่อรองกับลูก ถ้ารู้หัวอกอีกฝ่ายว่าเขาคาดหวังอะไร คิดอย่างไร ทั้งคู่ก็จะไม่ขัดแย้งกัน แผนร่วมมือกันก็จะง่ายขึ้นด้วย

กฎข้อที่ 73 ต่อรองแบบสามมิติ

ในการเจรจาธุรกิจ มีประเด็นอื่นที่นำมาเป็นเงื่อนไขในการต่อรองได้มากกว่าราคา เช่น คุณภาพสินค้า ระยะเวลาการจัดส่งสินค้า เป้ายอดขาย การบริการหลังการขาย การรับประกัน และอีกสารพัด ซึ่งสามารถเปลี่ยนเงื่อนไขไปมาให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ ตัวแปรที่หลากหลายคือหัวใจของการต่อรองให้ประสบความสำเร็จ เพราะอีกฝ่ายจะได้มีช่องทางให้ตัวเองได้เปรียบเล็ก ๆ น้อย ๆ มากที่สุดจนรู้สึกพอใจว่า ตัวเองชนะการต่อรอง ส่วนตัวคุณเองก็ชนะการต่อรองด้วยเช่นกัน สามารถนำตัวแปรใหม่ ๆ มาใช้เป็นข้อเสนอในการต่อรองได้อย่างไม่จำกัด ยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการต่อรองมากขึ้นเท่านั้น ยื่นข้อเสนอให้แปลกใหม่อย่างไรก็ได้ แต่อย่าลืมว่าอีกฝ่ายก็มีสิทธิ์ปฏิเสธข้อเสนอได้ตลอดเช่นเดียวกัน

กฎข้อที่ 74 รู้จักให้ไม่เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว

เมื่อมีตัวแปรที่ใช้เป็นแรงจูงใจได้ครบทุกรูปแบบแล้ว จึงควรเริ่มใช้ต่อรองหรือโน้มน้าวใจใครจริง ๆ เสียที หลักการข้อหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลาในการต่อรองก็คือ อย่าให้โดยไม่ได้อะไรกลับมา เพราะการให้และการรับเป็นหัวใจสำคัญของการแลกเปลี่ยน หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ ต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองต่อรองชนะเสียก่อน เขาถึงจะตอบตกลงได้ ดังนั้น จึงไม่ควรคิดแต่จะได้โดยไม่คิดจะให้อะไรกลับคืนไป ต้องไม่คิดเอาเปรียบอีกฝ่าย ต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายอกสบายใจกับข้อตกลงมากที่สุด เขาจะได้ไม่หนีไปไหนและอยากกลับมาทำข้อตกลงอีก

ดังนั้น ถ้าอีกฝ่ายยอมจ่ายเงินล่วงหน้าก็จงส่งสินค้าให้เร็วขึ้น หรือถ้าอีกฝ่ายยอมลดมาตรฐานลงก็จงลดราคาให้กับเขา ความสมน้ำสมเนื้อคือหัวใจสำคัญที่ทำให้การต่อรองทุกอย่างดำเนินต่อไปได้ แม้การให้จะเป็นสิ่งสำคัญแต่ต้องไม่มากเกินไป จงทำให้ทุกฝ่ายรับรู้ว่าเป็นคนสมเหตุสมผล และชอบเงื่อนไขการต่อรองที่สมน้ำสมเนื้อ โดยสรุปก็คือเมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายขออะไรมาให้ตอบว่า ได้ถ้า… เสมอ ในชีวิตมีเพียงสถานการณ์เดียวเท่านั้น ที่ไม่ต้องต่อรองกับใครนั่นคือ ในสถานการณ์ที่มีความสุขจริง ๆ จากการทำอะไรให้คนอื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

กฎข้อที่ 75 รู้ว่าคุณทั้งคู่ต้องการอะไร

อย่าไปต่อรองกับใครโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรมากที่สุด หากไม่รู้เป้าหมายความต้องการที่ชัดเจน จะมั่นใจไม่ได้เลยว่าการเจรจาต่อรองจะสำเร็จหรือไม่ การจะรู้ว่าตัวเองอยากได้อะไรมากที่สุดจากการต่อรองง่ายนิดเดียว แค่ก่อนเจรจากับใครก็ให้ใช้ปัญญาใคร่ครวญให้ดีว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ที่สมน้ำสมเนื้อกัน แต่ทั้งนี้อีกฝ่ายก็อาจมีสิ่งที่อยากได้มากที่สุดจากการต่อรองเช่นกัน ซึ่งต้องหาทางรู้ให้ได้ เพราะถ้าอีกฝ่ายไม่ได้สิ่งที่ตัวเองอยากได้มากที่สุดจากการต่อรอง เขาก็อาจถอนตัวจากการต่อรอง ซึ่งคงไม่อยากให้อีกฝ่ายทำแบบนั้นเป็นแน่

ปกติแล้วแนวทางการต่อรองจะทำให้มองออกเองว่า อีกฝ่ายอยากได้อะไรมากที่สุดจากการต่อรองนั้น แต่วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการถามอีกฝ่ายตรง ๆ ให้รู้ไปเลยครั้งนี้อย่าได้มัวหาว่าอีกฝ่ายอยากได้อะไรมากที่สุดจากการเจรจาต่อรอง เพราะบางทีก็ต้องยอมผ่อนปรนบ้างในเรื่องเล็ก ๆ ในสายตา ซึ่งอาจเป็นเรื่องใหญ่ในสายตาอีกฝ่ายก็ได้ แต่ถ้ายืดหยุ่นให้เขาได้ก็จะได้รับผลสำเร็จในการต่อรองมากขึ้น

กฎข้อที่ 76 จงให้อีกฝ่ายเผยไต๋ให้หมด

โดยหลักการแล้ว การต่อรองใด ๆ ควรจะบรรลุความต้องการของทั้งสองฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายล้วนยื่นข้อเสนอถ่วงน้ำหนักกันไปมาจนกว่าจะเป็นที่พอใจ และเกิดความสมดุลบนตาชั่งของการต่อรอง ทันทีที่ตุ้มถ่วงสมดุลเป๊ะ ๆ ก็จับมือกับอีกฝ่ายเซ็นชื่อบนเส้นประ แล้วจบการเจรจาได้เลย แต่ทั้งนี้ก่อนจะเซ็นชื่อลงไป ต้องแน่ใจ 100% ว่ายังเหลือแรงจูงใจไว้เป็นก๊อก 2 อยู่อีก เพราะถ้าไม่เผื่อขาดเผื่อเหลือเอาไว้ แล้วด่วนไปตกลงราคาเสียเป็นมั่นเป็นเหมาะ เพื่อแลกกับการได้เลื่อนกำหนดส่งของออกไป จะเท่ากับว่าเอากาวไปติดตุ้มถ่วงน้ำหนักไว้กับแขนตราชั่งทั้งสองฝั่ง จนเลื่อนไปเลื่อนมาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ถ้าอีกฝ่ายเกิดเขี้ยวยาวได้คืบจะเอาศอก ขอต่อรองอะไรเพิ่มขึ้นมาก็จะน้ำท่วมปากพูดไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น จงอย่าได้ตกลงอะไรเป็นมั่นเป็นเหมาะร้อยเปอร์เซ็นต์ จนกว่าจะแน่ใจว่าข้อตกลงทั้งหมดเข้าที่เข้าทางแล้ว วิธีป้องกันการเสียรู้คู่เจรจาคือการตั้งคำถาม ถามและถามให้ละเอียดก่อนจะตกลงอะไรเป็นมั่นเป็นเหมาะ เมื่อตกลงจบแล้วก็คือจบ ยิ่งทำข้อตกลงได้ชัดเจนเพียงพอ อีกฝ่ายก็จะหมดสิทธิ์มาโต้แย้งใด ๆ

กฎข้อที่ 77 ช่วยคู่เจรจาหาทางออก

แม้การเจรจาต่อรองที่ต่างฝ่ายต่างชนะนั้นจะดีที่สุด แต่บางทีคู่เจรจาก็อาจจะอยากเป็นฝ่ายชนะบ้าง แม้จะไม่ทั้งหมดแค่บางส่วนก็ยังดี ดังนั้น ต้องระวังให้มากว่าอีกฝ่ายจะไม่เสียหน้า แล้วพาลยกเลิกการเจรจาหรือพยาบาทจองเวรไปอีกนานโทษฐานต่อรองแพ้ การรู้ความต้องการลึก ๆ ของอีกฝ่ายจะทำให้รู้ว่าที่เคลียร์กันไม่ลงตัวนั้นเพราะอะไร หากรู้อยู่แล้วก็สามารถนำความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่าย มาใช้เป็นข้อแลกเปลี่ยนให้เขายอมตามข้อเสนอได้ แต่ก็ใช่ว่าจะได้ผลทุกครั้งไป

การเจรจาต่อรองทางธุรกิจก็เหมือนกัน อีกฝ่ายอาจถูกหัวหน้าสั่งมาว่า ต้องกดราคาสินค้าให้ได้มากกว่านี้ แต่ราคาที่ว่านั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเอาเสียเลย ถ้าขืนเซ็นชื่อตกลงตามราคาที่อีกฝ่ายเสนอมาก็คงขาดทุนเห็น ๆ สิ่งที่ควรจะพูดก็คือ จะให้ขายที่ราคานั้นคงไม่ไหวแน่ ๆ เอาอย่างนี้แล้วกัน จะยืดเวลาชำระเงินออกไปให้ยาวขึ้น การพูดแบบนี้เป็นการหาทางออกให้กับอีกฝ่าย จะได้กลับไปรายงานหัวหน้าโดยที่เขาไม่ต้องเสียหน้า แล้วก็ไม่ได้ต้อนอีกฝ่ายให้จนตรอก แถมยังหาบันไดลงสวย ๆ ให้อีก แบบนี้คู่เจรจาจะรู้สึกว่าต่อรองสำเร็จ ไม่ได้ล้มเหลวกลับไป

กฎข้อที่ 78 ห้ามกลัวเด็ดขาด

ในการเจรจาต่อรองนั้น เรื่องของจิตวิทยามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด หากการต่อรองใดมีความสำคัญในระดับสูง คู่เจรจาก็จะยิ่งพลิกตำราหาเล่ห์เหลี่ยมมาต่อรองให้ชนะมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าคู่เจรจาจะมองหาจุดอ่อนตอนที่เผลอแสดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นตัวเงื่อนไขในสัญญา การปฏิบัติจริง การเงิน หรือจิตวิทยาในทุก ๆ สถานการณ์ที่ยกตัวอย่างมานี้ จะเห็นได้ว่าคู่เจรจาพร้อมเสมอที่จะล้มโต๊ะ หรือยกเลิกการเจรจาต่อรองแล้วปล่อยให้รู้สึกล้มเหลวอยู่เพียงฝ่ายเดียว

เพราะสำหรับอีกฝ่ายนั้นการเจรจาให้ล้มเหลว อาจเป็นแผนบีของเขาก็ได้ ขณะที่ฝ่ายคุณนั้นมันคือให้ใบสุดท้าย ที่จำเป็นต้องทิ้งออกจากมือ สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือ ห้ามแสดงออกให้คู่เจรจาเห็นเป็นอันขาดว่า กำลังกลัว วิตกกังวล หวั่นหวาดว่าอาจพบกันคนละครึ่งทางไม่ได้แล้ว อีกฝ่ายก็จะเล่นบทเรียกร้องเอาทุกสิ่งที่อยากได้ พร้อมขู่ว่าจะล้มการเจรจาถ้าไม่ยอมรับข้อเสนอ ถ้าเป็นเสียแบบนี้แล้วจะทำอะไรได้ นอกจากฝืนใจตอบตกลงแล้วพ่ายแพ้ต่อการเจรจาในครั้งนี้ และก้มหน้ารับข้อเสนอที่เสียเปรียบเต็มประตู

กฎข้อที่ 79 อย่าให้ใครใช้ความเร่งรีบมาบีบให้ต้องตัดสินใจ

โลกจะสวยงามปานใดถ้าใคร ๆ ก็มีน้ำใสใจซื่อต่อกันได้ตลอดเวลา แต่บางครั้งบางคราวคนเราส่วนมาก ก็อยากได้หรือจำเป็นต้องได้อะไรสักอย่าง จนกระทั่งมองเห็นประโยชน์ส่วนตนสำคัญกว่าคนอื่น และนี่คือธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน ที่บางครั้งก็อยากจะได้อะไรจนตัวสั่น ถึงขั้นใช้เล่ห์เหลี่ยมคดโกงเอาก็มี ถ้าไม่อยากตกหลุมพรางใครก็ต้องตั้งการ์ดสูงเอาไว้เสมอ เพราะนอกจากจะป้องกันไม่ให้ใครมาหลอกจนเผลอไผลรับปากไปง่าย ๆ แล้ว ยังปรามอีกฝ่ายไม่ให้มาใช้ลูกไม้นี้อีกในวันข้างหน้า เพราะรู้แล้วว่าไม่ใช่หมูสนามที่จะให้ใครมาหามไปต้มได้ง่าย ๆ

แค่บอกอีกฝ่ายว่าเวลานี้ยังไม่เหมาะจะคุยก็พอ หรือแนะอีกฝ่ายไปก็ได้ว่า ประเด็นที่อีกฝ่ายยกมานั้นต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ควรยกเป็นระเบียบวาระใหม่ในการประชุมครั้งหน้า ที่ประชุมจะได้มีเวลาเตรียมตัวมาพิจารณาเรื่องนี้กัน ถ้ามีใครมาตั้งท่าบีบให้รีบตอบตกลงโดยอ้างว่าเร่งด่วนรอเวลาไม่ได้ ขอแนะนำให้ตอบเขากลับไปอย่างที่บอกเลย เวลาเจอใครมาบีบให้รีบตัดสินใจตอนนี้ ที่ไม่มีเวลาจะพิจารณาอะไรได้ถี่ถ้วน ตอบแก้เกมไปว่า ถ้าจะเอาคำตอบให้ได้ทันทีเดี๋ยวนี้คงจะไม่ได้

มนุษย์เจ้าปัญหา

ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่ว่าใครก็อาจกลายเป็นคนเจ้าปัญหาได้ทั้งนั้น แต่กับบางคนก็ดูจะทำตัวเป็นมนุษย์เจ้าปัญหาอยู่แทบตลอดเวลา ถ้าไม่ก้าวร้าวก็มองโลกในแง่ลบ บ่นนู้นบ่นนี่ บ้าอำนาจ ชอบทำตัวให้คนอื่นลำบากใจ การต้องรับมือกับคนพวกนี้เป็นเรื่องน่าปวดหัวพอแรงอยู่แล้ว การหวังจะเอาชนะคะคานจึงไม่ต้องพูดถึงเลย แต่ถ้ารู้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองก็จะดี เพราะจะพัฒนาความสัมพันธ์กับใคร ๆ ได้ดีขึ้นมาก คนพวกนี้อาจเหลี่ยมจัดไม่หาย มีลวดลายไม่เลิก แต่ก็จะอยู่ร่วมกันฉันมิตรกับพวกเขาได้ ถ้ารู้เคล็ดลับกลยุทธ์และกุศโลบาย ไม่เพียงเท่านั้นถ้ารู้วิธีมัดใจเขาเหล่านี้ให้อยู่หมัด พวกเขาก็จะมองเป็นสมัครพรรคพวก ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะได้ความร่วมมือ ช่วยกันง่ายขึ้นด้วย

กฎข้อที่ 80 มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะดัดนิสัยได้อย่างใจ

จะว่าไปแล้วมนุษย์เจ้าปัญหาบางคน ก็ไม่ได้ก่อปัญหาอะไรให้มากมายนัก ถ้าไม่นาน ๆ เจอหน้าเจอตากันที ก็อาจนาน ๆ ทีถึงแผงฤทธิ์กันลืม แต่บางคนที่น่าปวดหัวก็เพราะชอบทำตัวป่วนตลอดเวลา แถมไม่รู้จะหลีกเลี่ยงอย่างไรพ้น ถึงอย่างไรมนุษย์เจ้าปัญหาก็จะกลับมาทำตัวเจ้าปัญหาเหมือนเดิม ถ้ามีสถานการณ์อะไรไปกระตุ้น หรือกดปุ่มสตาร์ทนิสัยเดิมในตัว ด้วยตรรกะการคิดแบบเดียวกันนี้ คงเห็นแล้วว่ามีคนเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่จะดัดนิสัยได้อย่างใจนั่นคือตัวคุณเอง ถ้าเห็นความประพฤติของใครแล้วรู้สึกรังเกียจ เครียด รำคาญใจ ไม่พอใจ อารมณ์เสีย ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเอาเอง ไม่ใช่ปัญหาของอีกฝ่าย เพราะความรู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบจิตใจนั้นเป็นของคุณล้วน ๆ กระบวนการแรกในการรับมือกับเหล่ามนุษย์เจ้าปัญหาทั้งหลายก็คือ การเข้าใจหลักความจริงที่ว่า ถ้าทุกข์ใจกับความรู้สึกของตัวเอง ก็จงเปลี่ยนมันเสีย

กฎข้อที่ 81 ชีวิตภายใต้พันธนาการนั้นน่ากลัว

ถ้าจะให้พูดกันตรง ๆ พฤติกรรมของหลาย ๆ คนก็เข้าขั้นชั่วช้าสามานขนาดที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเขาประพฤติดีเป็นปกติวิสัยให้เห็นอยู่ทุกวัน คนจำพวกที่ว่านั้นกลับไม่ใส่ใจแม้แต่น้อย ยังทำตัวป่าเถื่อนหยาบคาย ทำหน้าหาเรื่อง เมาเช้ายันบ่าย โอหังไม่ฟังใคร หรือเผลอไผลไม่ได้เป็นต้องโกง ทุกคนล้วนอยากเป็นตัวของตัวเองกันทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นไม่ได้ขึ้นมาก็บอกได้เลยว่า เป็นภาวะที่น่ากลัวมาก

การควบคุมตัวเองไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญ หรือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายคนทำตัวเลวร้าย ไม่ว่าจะตลอดเวลาหรือนาน ๆ เป็นทีก็ตาม บางทีนิสัยแย่ ๆ ก็อาจไม่ใช่แค่ความกักขฬะหยาบคาย หรือประหลาดก็เป็นได้ พวกเขาอาจจะกำลังกลัวหรือรู้สึกว่าตัวเองควบคุมพฤติกรรมบางอย่างไม่ได้ และอาจกำลังพยายามแก้ไข เหตุสุดวิสัยพวกนี้อยู่อย่างหนักก็เป็นได้ การหาทางเอาตัวรอดด้วยการมองให้ออกว่า จริง ๆ แล้วไม่สำคัญหรอกว่าจะมองออกหรือไม่ ว่าอีกฝ่ายเป็นโรคอะไรอยู่จริงหรือเปล่า เพียงแค่คิดว่าเขาอาจเป็นโรคสมาธิสั้น ติดสุราเรื้อรัง มีความผิดปกติ หรือเสพติดอะไรสักอย่าง แค่นี้ก็ทำให้ยอมรับพฤติกรรมแย่ ๆ ได้มากขึ้น ให้อภัยและไม่ถือสาอีกฝ่ายได้ง่ายกว่าเดิม

กฎข้อที่ 82 ความกร่างมาจากความรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย

อันธพาลส่วนใหญ่จะทำตัวกลาง กดขี่ข่มเหงทุกวิถีทาง เพื่อให้ใคร ๆ กลายเป็นเหยื่อ เพราะหลายครั้งเหยื่อจะยอมจำนนต่อคนที่มาระราน หรือพูดง่าย ๆ ว่าหาเรื่องก่อนได้เปรียบกว่า ยิ่งใหญ่กว่า มีอำนาจมากกว่า ควบคุมคนอื่นได้มากกว่า เป็นความรู้สึกที่อันธพาลชอบมาก เพราะลึกลงไปในจิตใจแล้วคนพวกนี้ รู้สึกว่าตัวเองขาดอำนาจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการถูกข่มเหงมาก่อน รู้สึกเคว้งคว้างควบคุมตัวเองไม่ได้ หรืออาจกลัวอะไรบางอย่างอยู่ลึก ๆ ก็เป็นได้

แม้การระรานคนอื่นจะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมก็จริง แต่ถ้าโดนใครหาเรื่องก็ขอให้เห็นใจเถิดว่าที่อีกฝ่ายจิตใจเร่าร้อนเช่นนี้ ต้องมีเหตุอะไรสักอย่างในอดีต แล้วก็อย่าลดตัวเป็นอันธพาลตอบโต้ไปเสียเอง แม้การคิดแบบนี้จะไม่ได้ทำให้อันธพาลเลิกหาเรื่อง ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และปัญหาก็ยังไม่หายไปไหน แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้รู้สึกเหลืออดน้อยลงบ้าง เพราะรู้ว่าจิตใจของอันธพาลไม่ได้มีความสุขเลย

นิสัยอันธพาลเป็นแค่อาการหนึ่งของการขาดความสุขอย่างมากเท่านั้นเอง คนพวกนี้ทำไปด้วยสัญชาตญาณดิบ ไม่ได้ใช้สมองไตร่ตรองเท่าไหร่นัก แถมร้อยทั้งร้อยยังไม่รู้เลยว่าจะรักษาตัวเองให้หายจากนิสัยอันธพาลได้อย่างไร ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะอันธพาลมองว่า ตัวเองขาดอำนาจและเป็นเหยื่อที่ถูกทำร้ายมาอีกที การหาเรื่องคนอื่นจึงไม่ใช่ความผิดของเขา

กฎข้อที่ 83 นิสัยชอบโวยวายเพราะอยากให้คนอื่นรับฟัง

ถ้ามีใครมาตะโกนใส่หน้าก็คงไม่สบอารมณ์เท่าไหร่ คงอยากให้อีกฝ่ายหยุดโวยวายโดยเร็วที่สุด และวิธีที่จะทำให้อีกฝ่ายหยุดตะโกนได้ทันใจก็คือ การรับฟังและแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่ากำลังรับฟังเขาอยู่ นี่คือสิ่งที่คนอารมณ์เสียอยากได้ การหยุดเพื่อรับฟังจึงเป็นเหตุเป็นผลให้อีกฝ่ายหยุดตะโกนใส่หน้า ใครต่อใครชอบตะโกนเอะอะโวยวาย ก็เพราะรู้สึกคับอกคับใจว่า ไม่มีใครรับฟังสิ่งที่เขาพูด

มีหลักการอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าเมื่อไหร่มีใครมาตะเบ็งเสียงใส่ นั่นเพราะเขาคิดว่ากำลังทำหูทวนลมใส่เขาอยู่ ซึ่งเขาอาจจะเข้าใจถูกหรือผิดก็ได้ ถ้าเขาคิดถูกก็ขอให้ใช้คำว่าของเขาเป็นตัวกระตุ้นให้เปิดใจรับฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด แต่ถ้าเขาเข้าใจผิดเพราะเงี่ยหูฟังอยู่เต็มร้อย ก็ขอให้ใช้คำตวาดของเขาเป็นอุปกรณ์วัดระดับชั้นดี ที่เข็มบนหน้าปัดกำลังบอกว่า ได้เวลาที่ต้องแสดงให้อีกฝ่ายเห็นความตั้งใจฟังอย่างเต็มที่ ด้วยการไม่ขัดจังหวะการพูดของอีกฝ่าย พูดทวนประเด็นสำคัญและพยักหน้ารับรู้ เพื่อให้เห็นว่าเข้าใจทุกคำพูด และทุกความรู้สึกของเขา

ผู้ฟังที่ดีที่แสดงความตั้งอกตั้งใจฟังนั้น จะไม่ค่อยถูกใครตะโกนใส่หน้าบ่อย ๆ เหมือนคนที่ชอบพูดแทรก พูดขัดจังหวะ พูดตัดบท ด่วนสรุปแบบไม่ฟังคำพูดของอีกฝ่าย หรือปิดใจไม่รับฟังคนอื่น เรื่องแบบนี้มันก็เป็นไปตามเหตุตามผลของมัน

กฎข้อที่ 84 คนที่มีความคิดแง่ลบใช่ว่าจะไร้ประโยชน์

พวกที่เอะอะอะไรก็คิดลบไว้ก่อนนั้นเป็นมนุษย์ที่น่ารำคาญ ยังมองอีกว่าพวกที่ชอบคิดเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย สภาพจิตหดหู่ และบ่อนทำลายไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้สังคมเท่าไร แม้บางครั้งจะรำคาญคำวิจารณ์ด้านลบ แต่ก็เข้าใจดีว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานทุกประเภท ตั้งแต่ขายไม้จิ้มฟันยันบ้านหลังใหญ่ เตรียมตัวไปเที่ยววันหยุด เปิดกิจการใหม่ จัดสวน หรือย้ายงาน

หลายครั้งชีวิตก็อาจต้องมีใครสักคนมาบอกให้เห็นปัญหาล่วงหน้า ก่อนที่ปัญหาจริงจะเกิดตามมา แล้วบุคคลที่ว่านี้ก็มักพูดอะไรในทางลบบ้างเป็นธรรมดา แต่สามารถแยกแยะได้ว่า คนที่วิจารณ์ในทางลบนั้นตั้งใจมาช่วยจริงหรือเปล่า โดยดูจากคำวิจารณ์ของเขาว่าเจาะลึกแค่ไหน คนที่ไม่ได้ตั้งใจช่วยจะพูดสนุกปาก โดยไม่บอกเหตุผลที่เป็นรายละเอียดเลย แล้วถ้าบังเอิญเขาคาดการณ์ถูกขึ้นมา สิ่งที่จะเกิดก็คือการโดนตอกย้ำ ทั้งที่จะว่าไปก็ไม่ได้บอกอะไรนักหนาเลย

เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอคำวิจารณ์เชิงลบ ให้ถามเหตุผลที่เป็นรายละเอียดเจาะจงลงไปเลย ถามออกไปแล้วปรากฏว่าคำตอบที่ได้คือ การพูดกว้าง ๆ ลงรายละเอียดไม่ได้ ก็ไม่ต้องใส่ใจคำวิจารณ์ของอีกฝ่ายแล้ว

กฎข้อที่ 85 พวกที่ชอบควบคุมคนอื่นจะคิดว่าตัวเองถูกเสมอ

คนที่ชอบควบคุมคนอื่นนั้นมีอยู่ 2 ประเภท พวกแรกคือพวกคนที่ชอบจดรายการต่าง ๆ อย่างละเอียดยิบ คนพวกนี้บางทีก็จู้จี้น่ารำคาญ ชอบให้ทำนู่นทำนี่ตามวิธีการของเขา โดยไม่ปล่อยให้ได้คิดเองทำเองบ้างเลย แต่ถึงอย่างไรคนกลุ่มนี้ก็จะไม่เข้าไปควบคุมภายนอกอย่างออกหน้าออกตา จึงจัดอยู่ในพวกที่อาการไม่หนักเท่าไหร่

แต่อีกพวกหนึ่ง เป็นพวกที่ชอบหาทางควบคุมชีวิตคนอื่นให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คนพวกนี้ถึงจะต้องเข้ามาควบคุมชีวิตให้ได้ ก็เพื่อชดเชยความรู้สึกเจ็บปวดที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าเดี๋ยวนั้น หรือเป็นความรู้สึกตกค้างมาตั้งแต่วัยเด็ก จะว่าไปการควบคุมก็คือความพยายามแก้ไขสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ ด้วยการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งคนให้เป็นไปดั่งใจ

คนเดียวในโลกนี้ที่จะแก้นิสัยชอบจู้จี้ชีวิตคนอื่นได้ ก็มีเพียงเจ้าตัวเขาเองเท่านั้น ปะทะคะคานกับเขาไปก็รังแต่จะเครียดเอาเปล่า ๆ แต่ถ้าทำแล้วก็ยังถูกอีกฝ่ายควบคุมไม่เลิก ก็เดาได้เลยว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ยืดยาวนักหรอก

กฎข้อที่ 86 พวกชอบข่มขู่ทางอารมณ์คือนักควบคุม

คนที่มีนิสัยชอบข่มขู่ทางอารมณ์ เวลาอยู่กับคนพวกนี้จะลำบากใจมากกว่าปกติ ในความเป็นจริงแล้วคนที่ชอบใช้การข่มขู่ทางอารมณ์เป็นใบเบิกทางนั้น จะเป็นพวกจนตรอกทางอารมณ์ เพราะระหว่างที่เขากำลังกดดันให้ทำอะไรสักอย่าง เขาก็กำลังรู้สึกหวาดหวั่น รู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้ ต้องการให้คนมารักมาเอาใจใส่ ต้องการคำมั่นสัญญาถึงขั้นบังคับให้อีกฝ่ายต้องแสดงออกมา แม้จะยึดถือเป็นสาระอะไรไม่ได้ก็ตาม แต่พวกเขาก็จะรู้สึกสบายใจกว่า

สาเหตุที่พวกเขาพยายามจะควบคุมก็เพื่อให้ได้ในสิ่งที่อยากได้เท่านั้นเอง ถ้าเป็นคนขี้เกรงใจ หวั่นไหวง่ายกับความรู้สึกข้างต้น ไม่ว่าจะกับทุกคนในบางเวลา หรือกับบางคนตลอดเวลาก็ตาม จงรับทราบไว้เลยว่า ยิ่งปล่อยให้อีกฝ่ายข่มขู่ได้สำเร็จมากครั้งเท่าไร ก็ยิ่งทำให้พวกเขาเสพติดการข่มขู่มากขึ้น และควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ยากขึ้นเท่านั้น ต้องกล้าปฏิเสธว่าไม่ด้วยน้ำเสียงนุ่ม ๆ แต่หนักแน่น หรือจะพูดทำนองดักคอไปตรง ๆ เลยว่ารู้ทันอีกฝ่าย สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องตระหนักไว้ตลอดเวลาก็คือเป็นฝ่ายถูกข่มขู่ ดังนั้น ต้องสร้างอาณาเขตล้อมรอบตัวให้ได้ จงปฏิเสธให้ขาดเลย

กฎข้อที่ 87 ความรู้สึกไม่มั่นใจทำให้คลางแคลงใจกันได้

ลำพังอาการไม่มั่นใจก็น่าเศร้าอยู่แล้ว แต่ผลร้ายที่ตามมานี่สิน่าเศร้ายิ่งกว่า บางทีทำให้กลายเป็นคนขี้หึงจนอีกฝ่ายทนไม่ไหว ความขี้หึงขี้หวงไม่เหมือนกับความอิจฉา ความอิจฉาเป็นอารมณ์หมั่นไส้ในสิ่งที่คนอื่นเขามี แต่ความริษยาหึงหวงมันบาดใจลึกกว่านั้นมาก เป็นความรู้สึกกลัวว่าคนอื่นจะมาแย่งเอาใครหรืออะไรไป และความรู้สึกนี้จะเกี่ยวข้องกับความไม่มั่นใจในตัวเอง และความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ

สามารถรักษาน้ำใจคนขี้หึงหวงได้ด้วยการไม่ทำตัวเป็นปรปักษ์ ไม่ไปยั่วโทสะเขาเท่าที่พอจะทำได้ อาจต้องใช้วิจารณญาณแยกแยะแล้วว่า นิสัยนี้เป็นปัญหาส่วนตัวของเขา ต้องให้เขาแก้เอง พอถึงที่สุดปัญหานี้จะจบลง ก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายหากเชื่อใจคนอื่นบ้างเท่านั้นเอง

กฎข้อที่ 88 อคติเกิดขึ้นจากความไม่รู้จริง

ใครก็กลายเป็นเหยื่อของความมีอคติได้ทั้งนั้น โชคดีที่ไม่ต้องผจญกับคนที่มีอคติหมดทุกคนบนโลกนี้ แต่หากจะพูดถึงบรรดาคนดื้อด้านเจ้าปัญหาที่อยู่ในชีวิต บอกได้คำเดียวเลยว่าต้องพยายามเข้าใจพวกเขาให้มาก ๆ ถึงจะอยู่ร่วมกันได้ อคติคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากอวิชชา หรือความไม่รู้จริง คนที่มีอคติต่อใคร ๆ นั้นส่วนมากแล้ว เป็นคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับอีกฝ่ายน้อยเกินไป จนเปลี่ยนความเชื่อเดิม ๆ ไม่ได้

หลายครั้งหลายคราอคติก็ถูกสั่งสมทับถมมาจากครอบครัว หรือวัฒนธรรมโดยมีความไม่รู้จริงเพราะคนได้ใส่สีตีไข่เข้าไปอีก และบ่อยครั้งที่ความกลัวจะเป็นตัวจุดชนวนอคติ คนส่วนใหญ่ถ้าได้เห็นความจริงถนัดตาก็จะคิดได้เองว่า ตัวเองกลัวและมีอคติโดยไม่สมเหตุสมผล แต่กับบางคนต่อให้พูดหรือพิสูจน์ขนาดไหนเขาก็ไม่เลิกมีอคติ ถ้าเจอแบบนี้ก็เข้าข่ายจงใจปฏิเสธความเป็นจริงที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของเขา นี่คือที่มาของปัญหาโลกแตก

ถ้าเจอใครมาทำเป็นมีอคติใส่ ขอให้รู้ไว้เลยว่าอคติของใครก็ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวเอง แต่สะท้อนกำพืดของอีกฝ่ายอย่างหมดไส้หมดพุง เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็อย่าเอาอคติของอีกฝ่ายมาถือเป็นอารมณ์เลย

กฎข้อที่ 89 พวกทำเป็นเสียสละเพื่อประชดชีวิต ปรารถนาการยอมรับนับถืออย่างมาก

คนที่เป็นพวกประชดชีวิตด้วยการเสียสละ จะว่าไปก็คล้ายกับคนขี้งอน ต่างกันที่ว่าคนขี้งอนจะหนีหน้าไปอยู่คนเดียว ตามความรู้สึกจริง ๆ แต่คนที่ประชดจะชอบแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจต่อหน้าสาธารณชน เพื่อเรียกร้องความสนใจ ทำให้รู้สึกผิดว่าเป็นคนทำให้เขาทุกข์ใจ พวกประชดชีวิตด้วยการเสียสละ จะมีเหตุให้ตนน้อยเนื้อต่ำใจได้สารพัด เพราะมีความภูมิใจในตัวเองต่ำ หรือรู้สึกว่าถูกมองข้ามหัวอยู่ตลอดเวลา

จงอย่าทำตัวเป็นคนที่ประชดเลย ถ้าเมื่อไหร่รู้สึกว่าถูกประเมินค่าต่ำเกินไป ก็ให้แก้ไขปัญหาแบบมีวุฒิภาวะ ด้วยการพูดตรงไปตรงมากับคนที่คิดว่า เห็นเป็นของตายจะดีกว่า จงอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจว่ารู้สึกอย่างไร และเพราะอะไร ซึ่งคนที่ประชดจะไม่กล้าแก้ปัญหาแบบนี้  ในกรณีเช่นนี้ ถ้าไปตอบสนองแบบที่เขาร่ำร้องอยากได้ ก็จะทำให้เขานิสัยเสียไม่เลิก สิ่งที่ทำได้มากที่สุดก็คือ การปกป้องตัวเองและสกัดกั้นไม่ให้อีกฝ่ายได้รับคำยกย่องสรรเสริญ และความเห็นใจดังที่เขาปรารถนาไว้เท่านั้นเอง

กฎข้อที่ 90 อย่าคิดเปลี่ยนคนที่จิตใจอ่อนไหวให้เป็นคนแข็งแกร่ง

คนอารมณ์อ่อนไหวเกินเหตุ อยู่ในหมวดเดียวกับคนดื้อที่รับมือยาก คนที่อารมณ์อ่อนไหวเกินเหตุก็จะไม่เหมือนกับคนดื้อแบบอื่น ๆ พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดสักอย่าง แต่เกิดมาอารมณ์อ่อนไหวมากเท่านั้น เขาจะปรับตัวให้ใคร ๆ ไม่สบอารมณ์ได้เก่งเป็นที่สุด แต่กับคนแบบนี้ต้องปฏิบัติต่อเขาดี ๆ ไม่อย่างนั้นเขาจะรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ได้ง่ายมาก แล้วก็ไม่ต้องไปบอกให้เขาทำตัวเข้มแข็งขึ้น เขาไม่มีทางทำได้ และไม่ควรฝืนทำตัวเข้มแข็งด้วยประการทั้งปวง

ปัญหาใหญ่ก็คือ ถ้าไม่ได้จิตใจบอบบางแบบที่เขาเป็น ก็อาจสร้างความขุ่นเคืองใจให้เขาได้ง่าย จึงต้องระวังคำพูดคำจาให้มากเวลาอยู่กับเขา อย่างแรกที่ต้องระลึกไว้เสมอก็คือ ห้ามวิจารณ์อะไรให้ผิดหูเป็นอันขาด เพราะเขาอาจถือสาเป็นเรื่องใหญ่ และเก็บไปคิดมากนานเป็นชาติ

กฎข้อที่ 91 คนจะฟังคุณพูดหากเป็นเรื่องที่เขาสนใจ

การที่จะพูดแล้วมีคนฟังต้องเกิดจากคนสองฝั่งร่วมมือกัน ทั้งสองฝ่ายต้องแบ่งความรับผิดชอบกันไป ถ้าทำทุกวิธีแล้วแต่อีกฝ่ายก็ไม่ยอมฟังอยู่ดี หรือแกล้งไม่ได้ยินที่พูดเลย ก็อาจต้องเปลี่ยนวิธีพูดกับเขา ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มันต้องมีสาเหตุอะไรสักอย่างที่ทำให้อีกฝ่ายไม่ยอมฟังซึ่งต้องหาให้เจอ ถ้าทำให้อีกฝ่ายอยู่ข้างเดียวได้ยังไงเขาก็อยากฟัง ดังนั้นจงใช้น้ำเสียงที่ไม่รุกไล่ เลือกเวลาพูดให้เหมาะสม ใช้คำพูดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีกับตัวเอง แล้วต่อให้จำเป็นต้องตำหนิใครจำเป็นจริง ๆ ก็ขอให้พูดออกมาในเชิงบวก เพราะอีกฝ่ายจะเสียเวลาฟังก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าสิ่งที่พูดควรค่าต่อการรับฟังจริง ๆ การทำให้อีกฝ่ายกลายมาเป็นบุคคลสำคัญในบทสนทนาได้ ไม่ว่าจะพูดอะไรเขาก็อยากฟังทั้งนั้น เคล็ดลับก็คือให้ถามคำถามอีกฝ่าย ให้เขาแสดงความเห็นด้วยทุกวิถีทาง และที่สำคัญที่สุดคือ ตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดเสียก่อน

กฎข้อที่ 92 คนพูดดีแต่ประสงค์ร้ายจะไม่กล้าขัดกับใครซึ่งหน้า

พฤติกรรมร้ายลึกที่ทำเป็นพูดดีแต่ประสงค์ร้าย มีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อว่าหรือตำหนิติเตียนอีกฝ่ายแบบอ้อมไปอ้อมมา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับอีกฝ่ายโดยตรง คนทั่วไปจะนาน ๆ ทำที แต่กับบางคนพอรู้สึกขัดใจหรือโกรธอะไรขึ้นมา เป็นต้องตั้งท่าพูดดีประสงค์ร้ายเอาไว้ตลอดก็มี ปกติแล้วคนจำพวกนี้จะกลัวความขัดแย้ง เพราะเคยเจอประสบการณ์เลวร้ายจากความขัดแย้งในอดีต แต่กระนั้นก็ยังอยากต่อว่าใคร เพื่อระบายความรู้สึกขัดใจอยู่ดี พฤติกรรมแบบนี้ถือว่าไร้ประโยชน์เป็นที่สุด เพราะทำไปก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น รังแต่จะทำให้ใครต่อใครอึดอัดใจกับคำพูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรย

จะทำอย่างไรกับคนประเภทนี้ ถ้าบังเอิญว่าเขาเป็นเจ้านาย คู่ครอง เพื่อนร่วมงาน หรือลูก ๆ อย่างแรกเลยต้องมองเกมให้ออกเสียก่อนว่า กำลังเผชิญกับพฤติกรรมก้าวร้าวของอีกฝ่าย ไม่ว่าเขาจะทำรับลวงพรางไว้แนบเนียนแค่ไหนก็ตาม ขั้นตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่สุด ต่อการหยุดความคิดไม่ให้รู้สึกผิดว่าคิดระแวงอีกฝ่ายไปเอง ถ้าปล่อยให้พฤติกรรมก้าวร้าวนี้ดำเนินต่อไป จะช่วยใครไม่ได้เลยสักคน

บางทีอารมณ์ขันก็กู้สถานการณ์ได้ หากเจอกับการพูดทีเล่นทีจริงว่า อย่ามาทำเป็นหวังดีประสงค์ร้ายหน่อยเลย ต่อให้อีกฝ่ายปฏิเสธว่าไม่จริง อย่างไรก็เป็นต้องสะดุด และหยุดพูดจารุกล้ำก้ำเกินในทันที ถ้าเจอพวกชอบเหน็บแนมพูดทำร้ายจิตใจไม่ยอมเลิก ก็ต้องหันหน้ามาปะทะกับอีกฝ่ายแบบซึ่งหน้าไปเลย และทำให้เขาเห็นว่าคนเราสามารถแสดงความรู้สึกไม่ชอบใจกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องขัดแย้งหรือมีเรื่องกัน จริง ๆ แล้วคนพวกนี้มีความกลัวอยู่ว่า ถ้าพูดตรง ๆ แล้วจะมีเรื่อง ถ้าทำให้เขาหายกลัวไม่ได้ เขาก็จะไม่เลิกพูดทำร้ายจิตใจสักที

กดข้อที่ 93 การยกตนข่มท่านอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจ

คนที่ชอบยกตนข่มท่านมักมาอีหรอบเดียวกันกับพวกอันธพาล คือกดลงต่ำเพื่อให้ตัวเองสูงขึ้น คนพวกนี้ลึก ๆ แล้วขาดความมั่นใจในตัวเอง และรู้สึกหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองมีดีแค่ไหน ก็เลยลบปมด้อยด้วยการกดให้อยู่ต่ำกว่าเขาเข้าไว้ ทั้งในแง่สถานะทางสังคม สติปัญญา หรือลำดับขั้นในหมู่คณะ การยกตนข่มท่านเป็นพฤติกรรมที่คล้ายกับความดื้ออื่น ๆ ที่เกิดจากนิสัยไม่ดีของอีกฝ่ายแต่เพียงอย่างเดียว

ทำได้ดีที่สุดแค่สงบและสุภาพเข้าไว้ แต่ก็ต้องตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดให้ดี ๆ เพื่อจะแก้ลำได้ถูก มีอย่างหนึ่งที่พึงระวังก็คือ ต้องไม่ไปเปิดช่องยั่วให้อีกฝ่ายมากดยกตนข่มเสียเอง เมื่อไหร่ที่เจ้าตัวได้รับมอบหมายงาน ก็จะถูกอีกฝ่ายถามซ้ำซากด้วยความไม่มั่นใจอยู่ตลอดเวลาว่า ทำได้แน่นะ ถ้าเจอเข้าแบบนี้ก็ขอให้รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะมีใครสงสัยในความสามารถ แต่เขาก็ควรถามดี ๆ แทนที่จะมาถามแบบยกตนข่มท่าน ในกรณีนี้ถ้าวางท่าทีให้มีความมั่นคงมั่นใจมากขึ้น อีกฝ่ายก็จะเลิกตั้งป้อมกังขาความสามารถไปเอง

กฎข้อที่ 94 ไม่มีทางเอาชนะคนที่เป็นโรคหลงตัวเองได้เลย

พวกหลงตัวเองจะมีลักษณะเด่นหลายประการ เช่น ชอบทำตัวให้เป็นที่รู้จักไปทั่ว อยู่ที่ไหนก็ต้องโดดเด่นสะดุดตา เป็นคนที่สร้างสรรค์ปัญหาสารพัด คนหลงตัวเองจะมองเห็นแต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเท่านั้น ความหลงตัวเองจะทำให้สติปัญญามืดบอด จนไม่เข้าใจหัวอกคนอื่น คนแบบนี้มักไม่สนใจสิ่งใด ๆ ที่ไม่สร้างประโยชน์ต่อตัวเอง คู่ครอง หรือหัวหน้างานที่มีนิสัยเอาแต่ใจยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางนั้นมักอยู่ด้วยยาก เพราะมีนิสัยอันธพาลลึก ๆ แล้วคนหลงตัวเองมักขาดความมั่นใจ ไม่เหมือนกับที่แสดงออกมาภายนอก

คนหลงตัวเองไม่ได้แค่ชอบทำตัวเป็นบุคคลสำคัญเท่านั้น แต่ยังต้องการให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกในทุกเรื่อง วิธีที่ดีที่สุดในการอยู่ร่วมกับคนแบบนี้ก็คือ ต้องทำตัวชัดเจนและใจเย็นเป็นน้ำแข็ง คนหลงตัวเองจะไม่แยแสแม้แต่น้อยว่า มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร การแสดงอารมณ์อะไรออกไป ก็รังแต่จะทำให้อีกฝ่ายรำคาญ

กฎข้อที่ 95 คนขี้บ่นทนการเปลี่ยนแปลงไม่ได้

คนขี้บ่นมักเป็นคนคิดลบมองโลกในแง่ร้าย เมื่อไหร่ที่คนขี้บ่นได้ตั้งอกตั้งใจบ่น จิตใจของพวกเขาจะไม่คิดหาวิธีแก้ปัญหาใด ๆ เลย พวกขี้บ่นนอกจากจะชอบโอดครวญแล้ว ยังชอบอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรให้ดีขึ้นอีกด้วย ด้วยความคิดลบและมองโลกในแง่ร้าย คนขี้บ่นจึงมีประโยชน์ในแง่ที่ว่าทำให้เห็นปัญหาต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น บางทีคนขี้บ่นก็เป็นคนแรก ๆ ที่แจ้งปัญหาให้กับทีมงาน ครอบครัว หรือหมู่คณะได้รับรู้ทันท่วงที แต่เสียดายที่คนกลุ่มนี้ไม่ยอมเอานิสัย ช่างคิดริเริ่มมาทำให้เกิดประโยชน์

ถ้าอยากรับมือกับคนขี้บ่นให้ได้ ก็ต้องช่วยปลอบใจเขาให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง หรือชี้ให้เห็นว่าชีวิตจะดีขึ้น ราบรื่นขึ้นและสะดวกขึ้นหากเกิดการเปลี่ยนแปลง จากนั้นปล่อยให้เขามีเวลาซึมซับความคิดบ้าง ยิ่งถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ก็ยิ่งต้องให้เวลามากขึ้นไปอีก

กฎข้อที่ 96 คนขี้บ่นที่ชอบชิงดีชิงเด่นไม่ได้ต้องการแค่บ่นเฉย ๆ

คนขี้บ่นที่ชอบชิงดีชิงเด่นก็จะบ่นทับกันไปเรื่อย ๆ คนขี้บ่นที่ชอบชิงดีชิงเด่นจะเป็นพวกที่แสร้งเสียสละตัวเองเพื่อประชดชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง และเขาอยากให้ใคร ๆ จิตใจตกต่ำเหมือนกับเขา อยากให้ใคร ๆ รับรู้ว่าเขาทำงานเหนื่อยยากแค่ไหน ทุกข์ทรมานเพียงใด และรู้สึกน้อยใจที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี อย่างไรนิสัยก็เหมือนกับพวกที่ชอบประชดชีวิตทั่ว ๆ ไป ถ้าไปให้รางวัลเขาด้วยกันเห็นอกเห็นใจ อาการของพวกเขาก็จะหนักขึ้นกว่าเดิม ต้องทำเป็นไม่สนใจแล้วใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ

บางครั้งอาจพบว่าคนบางคนก็เผลอไผลตกกะไดพลอยโจนมาบ่นแข่งกับใคร ๆ โดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน กรณีแบบนี้ต้องใส่ใจให้ดี ๆ คนกลุ่มนี้ปกติแล้วปากหนักไม่เคยคิดบ่นอะไรให้ใครได้ยิน แต่จะเลิกปากหนักทันทีถ้ามีใครมาบ่นทำนองว่า ชีวิตทุกข์ทรมานกว่าคนอื่น คนกลุ่มนี้อาจสมควรได้รับความใส่ใจ และจำเป็นต้องได้รับการยอมรับในคุณค่ามากกว่าปกติเป็นอย่างยิ่ง ต้องใส่ใจและคิดถึงคนกลุ่มนี้ไว้ให้มาก ๆ

กฎข้อที่ 98 บางคนก็แพ้ใครไม่เป็น

คนทั่วไปมักแข่งกันเรื่องกีฬาหรืองานอดิเรกที่ทำด้วยกัน หรือไม่ก็แข่งกันเรื่องการเลี้ยงลูกชนิดเอาเป็นเอาตาย สำหรับคนที่มีนิสัยชอบแข่งดีแข่งเด่นเอามาก ๆ แล้ว บทสนทนาแบบนี้แฝงความนัยไว้มากกว่าการพูดคุยโวโอ้อวด พวกเขาไม่ได้ต้องการแค่ให้ตัวเองดีกว่าเด่นกว่าเท่านั้น แต่ยังต้องการกดให้ด้อยกว่าอีกด้วย ซึ่งตรงนี้ต่างกันมากกับการพูดคุยโม้อวดแบบปกติ มีเทคนิคไว้ต่อกรกับคนที่ชอบแถมาชิงดีชิงเด่นคือ จะทำตัวเป็นคนที่ไม่ยอมแข่งขันอะไรกับใคร ถ้าอีกฝ่ายมาพูดประชันขันแข็งให้แกล้งวางตัวเป็นที่โหล่ไปเลย เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองชนะแล้ว แต่ที่จริงเรานี่แหละที่ชนะ ชนะจากการถูกยั่วโมโหให้หงุดหงิดรำคาญใจ ชีวิตเลยมีความสุขได้ดั่งเดิม

กฎข้อที่ 99 การใช้เล่ห์เหลี่ยมล่อลวงคนอื่นไม่ใช่การโน้มน้าวจูงใจ

คนที่ชอบแก่งแย่งแข่งขันชนิดเข้าเส้น มักมีนิสัยพื้นฐานที่สามารถกลายพันธุ์เป็นคนเจ้าเล่ห์และหลอกลวง คดโกงใครต่อใครเพื่อให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ต้องการ คนปกติทั่วไปจะใช้เล่ห์เหลี่ยมก็นาน ๆ ครั้งด้วยความจำเป็นตามแต่เหตุการณ์ แต่คนนิสัยขี้โกงจะคิดคดเอาเปรียบได้ตลอดเวลา เรียกว่าเจอหน้าใครเป็นต้องคิดใช้เล่ห์มาเอาเปรียบให้ได้หมด สาเหตุที่ทำให้คนเรากลายเป็นคนขี้โกง ชอบเป่าหู หรือล่อลวงจิตใจคนอื่นนั้นค่อนข้างซับซ้อน และมีความเป็นไปได้จากสารพัดปัจจัย

แต่สาเหตุที่สำคัญก็คือการถูกประสบการณ์ไม่ดีหล่อหลอมให้เชื่อฝังหัวว่า ด้านได้อายอด ถ้าไม่ใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงก็ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ จะเอาตัวรอดจากคนพวกนี้ได้อย่างแรกต้องไม่ยอมให้อีกฝ่ายกล่อมได้ว่าเป็นคนผิด รู้อยู่แล้วว่าอีกฝ่ายเป็นคนขี้โกง ชอบใช้เล่ห์เหลี่ยมล่อลวงจิตใจ ต้องหัดพูดปฏิเสธคนที่เข้ามาฉ่อเลาะ ลวงหรือหลอกให้ความหวัง ห้ามพิสูจน์ตัวเองเพื่อใคร ไม่จำเป็นต้องทำเลย และที่สุดแล้วถ้าเป็นไปได้ ให้หลีกหนีจากคนที่ชอบปั่นหัวล่อลวง

กฎข้อที่ 100 คนที่งานเต็มมือมักไม่สร้างปัญหาให้ใคร

แม้จะมีเจ้านายที่เป็นตัวปัญหาประจำออฟฟิศ ซึ่งก่อเรื่องหน้าเวียนหัวตลอดเวลา ก็คงไม่มีใครกล้าไปห้ามปรามให้โดนลูกหลง แต่เคยสังเกตไหมว่าถ้าเจ้านายคนนั้น ไปหมกมุ่นสนอกสนใจอยู่กับงานอื่นที่ไหนสักที่จะรู้สึกโล่งขึ้นเยอะ เพราะเผชิญหน้ากับเขาน้อยลง แต่ถ้ามนุษย์จอมสร้างปัญหาไม่ใช่เจ้านาย จะลดความปวดหัวได้อย่างไร

ง่าย ๆ เลยแค่หาอะไรให้เขาทำจนยุ่ง ไม่มีเวลาว่างเท่านั้นเอง แต่ถ้าจะให้ดีจริง ๆ ก็คือหางานที่ทำให้มาก นักเจ้าปัญหาอยู่ห่างไกลไปคนละที่ กับคนที่รู้สึกรำคาญใจในนิสัยแบบนี้ของเขา เช่น ส่งตัวมนุษย์เจ้าปัญหาออกไปสำรวจข้อมูลข้างนอกออฟฟิศ หรือให้เดินทางไปตรวจงานหรือสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่ามนุษย์เจ้าปัญหาจะเกิดมาจากสาเหตุใด แต่เขาจะกลายเป็นคนน่ารักและคุยง่ายขึ้น หากเขารู้สึกว่ามีคนยอมรับในคุณค่า ไม่ใช่คนที่สังคมรังเกียจ

วิสัยของมนุษย์เจ้าปัญหาทั้งหลายนั้น ถ้าได้ทำอะไรสักอย่างที่มอบหมายให้เขารับผิดชอบอย่างเต็มตัว แล้วเกิดประสบความสำเร็จขึ้นมา ในฐานะที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ก็มีแนวโน้มว่าครั้งต่อไปเขาจะทำงานได้สำเร็จเลิศเลอเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนคุณเองที่อาจเป็นเจ้านายของมนุษย์เจ้าปัญหา ก็สามารถเอาความสำเร็จในครั้งนี้ไปเป็นต้นแบบ ในการแก้ปัญหาของเรื่องทำนองนี้ได้.

สั่งซื้อหนังสือ “ครองใจคนได้ง่ายนิดเดียว” (คลิ๊ก)