จิตใจของมนุษย์มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนจนบางครั้งเรายังมีความรู้สึกขัดแย้งกับตัวเองได้ อีกทั้งมนุษย์ยังต้องมีสังคม และแต่ละสังคมเราก็จะเจอคนหลากหลายลักษณะบางครั้งเราคงเคยรู้สึกไม่ชอบคนนี้ หรือ ชอบคนนั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจผ่านทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Model) แบ่งภูเขาน้ำแข็งเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ ส่วนที่พ้นน้ำ จะเป็นส่วนที่มองเห็น เช่น พฤติกรรม ทักษะ ความรู้ เป็นต้น และ ส่วนที่อยู่ใต้น้ำ เป็นส่วนที่มากกว่าพื้นที่พ้นผิวน้ำมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรม เช่น ความรู้สึก ความคิด ความต้องการ เป็นต้น โดยมีแนวคิดจากนักจิตวิทยา เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir) และ Dr.David McClenlland ได้ให้แนวคิดไว้ดังนี้

เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir) เป็นนักจิตวิทยาหญิงชาวอเมริกัน ผู้ได้รับการขนานนามว่า “มารดาแห่งจิตบำบัดครอบครัว” ซาเทียร์จะใช้ภูเขาน้ำแข็งเป็นตัวแทนจิตใจ ถอดความซับซ้อนในจิตใจออกมาเป็นชั้นๆ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจพฤติกรรมและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะทำเพื่อทบทวนตัวเองหรือทำความเข้าใจผู้อื่น

1. พฤติกรรม (Behaviour) : คือส่วนที่พ้นเหนือน้ำเป็นสิ่งที่มนุษย์แสดงออกต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เห็นได้ด้วยตา

2. ความรู้สึก (Feeling) : สภาวะอารมณ์หรือแรงจูงใจที่เกิดขึ้นในใจของบุคคลต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น ดีใจ เศร้า โมโห หงุดหงิด เป็นต้น

3. ความรู้สึกต่อความรู้สึก (Feeling about Feeling) : การรับรู้และประเมินความรู้สึกต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อเรารู้สึกโมโห แล้วรู้สึกผิดที่ควบคุมตัวเองไม่ได้

4. การรับรู้ ทัศนคติ (Perception) : กระบวนการรับรู้ ตีความ มุมมอง จากข้อมูลที่เราได้รับในสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีแนวคิด หรือทัศนคติแบบไหนต่างก็มาจากประสบการณ์ในชีวิตที่เราพบเจอมา

5. ความคาดหวัง (Expectations) : ทุกคนล้วนมีความหวังทั้งกับตัวเองและคนรอบตัว เช่น เราหวังอยากรวย เราหวังอยากให้แฟนทำบางอย่างให้เรา เราอยากให้ลูกเป็นหมอ เราควรหวังอย่างสมเหตุสมผล อย่าคาดหวังมากเกินไป เมื่อผิดหวังอาจทำให้เรามีบาดแผลในใจได้

6. ตัวตน (Self) : ซาเทียร์เรียกว่า “พลังชีวิต” หรือบางคนเรียกว่า “จิตวิญญาณ” คือสิ่งที่เราเป็นจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เราพยายามจะเป็น ไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่เราพยายามสร้างขึ้นมา

Dr.David McClenlland เป็นผู้คิดค้น ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบบุคลิกของคนกับภูเขาน้ำแข็ง เพื่อมองถึงสมรรถนะของแต่ละบุคคลในการปฏิบัติงานในองค์กร หรือก็คือเปรียบคนกับภูเขาน้ำแข็งแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆดังนี้

ส่วนที่อยู่เหนือน้ำที่จะเห็นได้ง่าย ได้แก่

1.ทักษะ หมายถึง สิ่งที่บุคคลนั้นสามารถทำได้เป็นอย่างดี

2.ความรู้ หมายถึง สิ่งที่บุคคลรู้และเข้าใจในหลักการแนวคิดเฉพาะด้าน

ตามมาด้วยส่วนที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ยาก ได้แก่

  1. บทบาททางสังคม (Social Role) หมายถึง ภารกิจที่บุคคลจะต้องปฏิบัติหรือสามารถต้องการให้ปฏิบัติในสังคม เพื่อสื่อให้บุคคลอื่นในสังคมเห็นว่าตัวเขามีบทบาทอย่างไรต่อสังคม

2. ภาพพจน์ที่รับรู้ตัวเอง หมายถึง ภาพที่เรามองตัวเองว่าเป็นอย่างไร

3. อุปนิสัย หมายถึง เป็นพฤติกรรม หรือ นิสัยถาวร ของแต่ละบุคคลที่มีความเฉพาะแตกต่างกัน

4. แรงกระตุ้น (Motive) หมายถึง พลังขับเคลื่อนที่เกิดจากภายในจิตใจของบุคคล ที่จะส่งผลกระทบต่อการกระทำ

ทฤษฎีนี้ทำให้เราจำแนกสมรรถนะได้ 3 ประเภท คือ สมรรถนะหลัก คือ ความสารถของคนในองกรณ์โดยรวม สมรรถนะตามสายงาน คือ ความสามารถที่จะช่วยส่งเสริมเพื่อร่วมงาน และ สมรรถนะส่วนบุคคล คือ ความสามารถเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป ซึ่งสมรรถนะเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาบุคคลในองกรณ์ เช่น คัดเลือกบุคคลให้เหมาะกับงาน การพัฒนาฝึกอบรมแก่พนักงานในองค์กร เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะความรู้ระหว่างหน่วยงาน เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปคือ ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Model) เป็นการทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของตัวเอง และ ผู้อื่น โดยวิเคราะห์ให้ลึกถึงแก่นแท้ในตัวตนที่แท้จริง เพราะคนเราเติบโตมาไม่เหมือนกัน เจอประสบการณ์ในชีวิตที่แตกต่างกันไป หากเราเข้าใจตัวเองแล้ว เราก็สามารถวิเคราะห์และเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น ทำให้เราเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้มากขึ้น ช่วยให้เราจำแนกสมรรถะเพื่อพัฒนาบุคคลากรในองกรณ์ ก็จะทำให้องกรณ์ของเราเข้มแข็ง ทำงานได้อย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จอย่าง่ายดาย