วิถีผู้ชนะฉบับคนเก่งแบบเป็ด

สรุปหนังสือ

How to be better at (almost) everything

วิถีผู้ชนะฉบับคนเก่งแบบเป็ด

จงเก่งด้านเดียวจนเป็นผู้เชี่ยวชาญไปเลย หากนี่เป็นความเชื่อที่คนส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก แต่ผู้เขียนกลับคิดว่ามันคือกับดัก เพราะเชื่อในวิถีของคนเก่งแบบเป็ด

เหตุผลแรกคือ คนเก่งแบบเป็ดจะเป็นคนที่ไม่น่าเบื่อ เพราะนี่คือคุณสมบัติที่น้อยคนนักจะมี คนส่วนใหญ่มีทักษะ 1 หรือ 2 อย่างในระดับปานกลาง และไม่มีทักษะอื่นเลย คนเหล่านี้อาจทำเรื่องง่าย ๆ อย่างการปลูกต้นไม้ไม่เป็นด้วยซ้ำ

เหตุผลที่ 2 คือ ถ้าสนใจทำธุรกิจหรือกำลังทำธุรกิจอยู่ ยิ่งเรียนรู้ทักษะหลาย ๆ ด้านยิ่งเป็นผลดีมากกว่า เพราะจะมีความสามารถรอบด้านกว่าคนที่เก่งเพียงด้านเดียว และยังประยุกต์ใช้ทักษะต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ด้วย

เหตุผลข้อสุดท้ายก็คือความสุข คนเราจะมีความสุขเมื่อรู้สึกว่ามีส่วนร่วม และเพลิดเพลินไปกับการทำสิ่งดี ๆ ความสุขไม่ได้มาจากสิ่งที่ได้รับ แต่มาจากสิ่งที่พยายามทำต่างหาก พูดอีกอย่างคือ ทักษะต่าง ๆ คือสิ่งที่ดี เพราะมันจะนำพาสิ่งดี ๆ มาให้ สรุปว่าให้เก่งหรือเก่งมาก ๆ ในหลาย ๆ ด้านจากนั้นค่อยเรียนรู้ที่จะนำความสามารถเหล่านั้นมาหลอมรวมกัน เพื่อสร้างข้อได้เปรียบ ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จและความสุขในเวลาเดียวกัน

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเป็ดนั้นเป็นคนเก่งกว้าง เก่งหลายอย่างและทำเงินได้จากหลายทักษะที่มี แต่ที่สำคัญกว่าเงินคือ มีช่วงเวลาที่ค่อนข้างสนุกสนาน เวลาทำสิ่งต่าง ๆ ในเมื่อคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษจะไม่ดี แต่หลายคนมักยกย่องว่า การเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้นพิเศษสุด ๆ และเป็นผลทางเดียวที่ทำชีวิตให้ก้าวหน้า ทั้งที่พวกเขาควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ จนกว้างขวางให้เท่าเทียมกับการเรียนรู้ทักษะเดียวให้ลึก คนเก่งกว้างจะมีอิสระมากกว่าในการเรียนรู้ แล้วนำทักษะนั้นมาใช้งานร่วมกัน โดยที่คนอื่น ๆ ไม่มีทางรู้เลยว่า เขาจะมาไม้ไหน

บทที่ 1 เมื่อเก่งกว้างเป็นศัตรูกับเก่งลึก

ถ้าเป้าหมายคือ การดึงดูดความสนใจจากผู้อื่น เช่นนั้นควรเป็นคนเก่งกว้างไม่ใช่เป็นคนเก่งลึก ซึ่งนาน ๆ ทีจะมีคนประทับใจ บ่อยครั้งที่ความสำเร็จอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น พ่อแม่เป็นใคร เกิดที่ไหน ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไร และอื่น ๆ อีกมากมาย นี่คือปัญหาของคนที่อยากเป็นคนเก่งลึก ข่าวดีก็คือถ้าอยากเป็นคนเก่งกว้างไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยพวกนี้เลย ผู้เขียนเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ทักษะหลาย ๆ ด้าน เพราะต่อให้ไม่ได้เก่งด้านใดเป็นพิเศษ แต่พอนำทักษะทั้งสองอย่างคือ ทักษะด้านการออกกำลังกายและทักษะด้านการเขียนมาใช้ร่วมกัน มันกลับสร้างเรื่องน่าทึ่งมาได้

การเรียนรู้ทักษะหลาย ๆ ด้านจึงเป็นเหมือนกับแซนด์วิช ถึงส่วนผสมจะไม่ได้พิเศษอะไร แต่เมื่อนำส่วนผสมทุกอย่างมารวมกัน รสชาติก็จะอร่อยขึ้น นี่คือวิถีผู้ชนะของคนเก่งแบบเป็ด เริ่มจากสะสมทักษะต่าง ๆ แล้วนำทักษะเหล่านั้นมาผสมผสานกัน ตอนแรกเส้นทางอาจสะเปะสะปะไปบ้าง แต่สุดท้ายมันก็จะเข้ารูปเข้ารอยเอง เมื่อเชื่อมโยงทุกทักษะที่ได้เรียนรู้มา และใช้มันอย่างครบถ้วนผลดีก็จะตามมา จงอย่าละทิ้งทักษะใดไปสิ่งดี ๆ มักเกิดจากทุกอย่างที่ทำ หรือกำลังจะทำ ทักษะต่าง ๆ จะถูกนำมาใช้ร่วมกันอย่างรวดเร็ว แล้วก็จะสร้างชื่อเสียงและเงินทองได้เอง สิ่งจำเป็นก็คือลักษณะนิสัย

คนเราจะพัฒนาตัวเองได้ก็ต่อเมื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่รับสิ่งต่าง ๆ เข้าตัว คนใหม่ที่อยากเป็นต้องใส่ใจกับสิ่งที่สร้างมากกว่าสิ่งที่รับ ของบางอย่างมักเป็นผลพลอยได้จากการทำงานที่เหมาะสม จึงควรใส่ใจว่าได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือไม่ และพวกเขามีความสุขกับการใช้สิ่งนั้น ๆ หรือไม่ อีกเรื่องที่ควรใส่ใจก็คือคนอื่น ๆ ชอบเวลาที่อยู่ด้วยหรือไม่ การพัฒนาตัวเองไม่ได้ตัดสินกันแค่สิ่งที่ทำเท่านั้น แต่มันยังเกี่ยวกับว่าเป็นคนประเภทไหนด้วย ชีวิตมันยาก การเขียนก็ยาก ทุกอย่างเป็นเรื่องยาก แต่สุดท้ายจะพบความหมายของทุกสิ่งที่ทำ จะมีความสุขจากการได้ทำสิ่งดี ๆ นี่แหละวิถีของคนเก่งแบบเป็ด

บทที่ 2 สู่อิสระในการเป็นเลิศ

สมัยก่อนผู้เขียนมองว่าอิสระคือ การทำสิ่งที่อยากทำโดยไม่มีผู้อื่นหรืออำนาจใด ๆ มาขัดขวาง เรียกมันว่าอิสระในการเลือก อิสระแบบนั้นก็ดีแต่มันไม่ใช่ทั้งหมด สำหรับสร้างชีวิตที่มีความสุข เพราะไม่มีอะไรยืนยันว่า เมื่อคนเรามีอิสระนี้แล้วจะมีชีวิตที่ดี คนเราควรมีอิสระในการเลือกสิ่งที่อยากทำ แต่แค่นั้นไม่พอให้มีความสุข เพราะต่อให้มีทางเลือกดี ๆ ในชีวิตเยอะแค่ไหนก็ไม่ได้หมายความว่าจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีให้ตัวเองได้ จึงมีอิสระอีกแบบหนึ่งที่จำเป็นต่อความสุขและความสำเร็จ นั่นก็คืออิสระในการเป็นเลิศ ซึ่งเกิดจากการที่ตั้งข้อจำกัดให้ตัวเอง บังคับตัวเองให้จดจ่อกับสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ไม่ใช่ทำอะไรตามใจ ข้อจำกัดนี้จะช่วยพัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้มีอิสระในการทำสิ่งที่ต้องการ จึงเรียกมันว่าอิสระในการเป็นเลิศนั่นเอง

อิสระในการเป็นเลิศนี้ไม่ใช่การที่เลือกทุกสิ่งตามใจชอบ มันคือการที่เลือกสิ่งที่มีค่าสำหรับตัวเอง และมีวินัยยึดมั่นที่จะพัฒนาสิ่งนั้น โดยกล้าปฏิเสธสิ่งล่อใจต่าง ๆ ที่เข้ามาดึงออกจากเป้าหมายในชีวิต คนที่อยากพัฒนาตัวเองไม่ว่าด้านใดก็ตาม จึงต้องการอิสระในการเป็นเลิศ ในช่วงแรกต้องมีวินัย แล้วพอชำนาญก็ไม่ต้องออกแรงอีก คนเราไม่ได้มีอิสระไว้ใช้เพื่อผลาญจนหมด แต่มีอิสระไว้เพื่อใช้ประโยชน์จากมัน เพื่อตัวเองและคนที่รักอย่างเต็มที่ต่างหาก จึงต้องหัดเลือกทำสิ่งที่มีความสำคัญก่อน มากกว่าสิ่งที่ทำง่าย จึงต้องเสียสละอิสระบางส่วนเพื่อรักษาวินัยกับนิสัยที่ดี

สุดท้ายแล้วต้องตั้งข้อจำกัดให้ตัวเอง และควบคุมตัวเองเพื่อไม่ให้ใช้อิสระในทางที่ผิด ซึ่งไม่ได้หมายความว่า จะเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการไม่ได้ แค่บอกว่าต้องระวังด้วย อาจเลือกเส้นทางชีวิตที่ผิดพลาด ซึ่งอาจนำมาซึ่งผลเสียที่ติดตัวไปชั่วชีวิต การเป็นคนเก่งไม่ได้ช่วยให้ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้มีความสุขด้วย ทุกคนมีสิทธิ์หาความสุข แต่ไม่ควรคิดว่าจะมีความสุข โดยไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย ความสุขคือสิ่งที่ไม่มีใครมอบให้ได้ ความสุขเกิดเมื่อทำสิ่งที่ดี ความสุขจึงมาจากทั้งนิสัยและการกระทำ ความสุขไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ ไม่ใช่ว่าแต่งงานหรือหาเงินล้านแรกได้แล้วจะมีความสุขทันที นี่ไม่ใช่ความสุข

ความสุขคือ สภาวะทางจิตใจที่เกิดขึ้นเมื่อทำสิ่งดี ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ จะเป็นคนที่ดีขึ้นจากการทำสิ่งดี ๆ ด้วยเหตุผลที่ดีนั่นเอง นี่เป็นเหตุผลให้คนเก่งกว้างกลายเป็นคนที่มีความสุขมากกว่า คนเก่งกว้างมีแนวโน้มจะอยากทำทุก ๆ อย่างให้เก่งขึ้น เพราะพวกเขาสนใจหรือเห็นประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไปหมด ในทางกลับกันคนเก่งลึกจะคอยเปรียบเทียบตัวเองกับผลลัพธ์อยู่เสมอ พวกเขาเอาความทุกข์มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบพัฒนาตัวเอง แต่คนเก่งกว้างจะไม่มัวมานั่งกังวลกับผลลัพธ์มากจนเกินไป พวกเขามีความสุขกับการมีส่วนร่วม และพัฒนาตัวเองเมื่อทำสิ่งที่ดี แน่นอนว่าคนเก่งกว้างจะยังประสบความสำเร็จมากกว่าคนเก่งลึก แต่มันเป็นแค่ผลพลอยได้ของการมีทักษะด้านต่าง ๆ ที่หลากหลาย ความสุขของคนเก่งกว้างไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาเก่งกว่าคนอื่น ๆ กี่คน เพราะพวกเขาไม่ได้อยากเหนือกว่าใคร พวกเขาแค่พยายามฝึกฝนด้านต่าง ๆ อย่างมีความสุข

บทที่ 3 5 กฎเหล็กเปลี่ยนเป็นสุดยอดคนเก่งกว้าง

คนส่วนใหญ่เลือกซื้อหนังสือพัฒนาตัวเอง เพื่อมองหาเทคนิคและกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น บอกทีว่าต้องทำอย่างไรถึงจะไปถูกทาง แต่วิธีนี้ผิดถนัด เพราะสิ่งแรกที่ทุกคนจำเป็นต้องมีคือ ความรู้พื้นฐาน หนทางสู่การเป็นสุดยอดคนเก่งกว้าง มีเทคนิคและแนวทางพัฒนาทักษะต่าง ๆ อยากให้เข้าใจกฎของการเป็นคนเก่งกว้างทั้ง 5 ข้อดังต่อไปนี้

กฎข้อที่ 1 เรียนทักษะหลาย ๆ ด้านเพื่อใช้ร่วมกัน ดีกว่าเก่งด้านเดียวเป็นพิเศษ

สรุปง่าย ๆ ก็คือเก่งกว้างดีกว่าเก่งลึก เพราะทักษะหลาย ๆ ด้านพอเอามาผสมผสานกันจะมีประสิทธิภาพมากกว่าทักษะแค่ด้านเดียว แม้ทักษะบางอย่างจะยังไม่พัฒนาเต็มที่ก็ตาม นี่คือข้อได้เปรียบของคนเก่งกว้าง จำไว้อย่างหนึ่งว่าแค่เก่งกว่านั้นยังไม่พอ ต้องรู้วิธีนำทักษะต่าง ๆ มาผสมผสานกันด้วย

กฎข้อที่ 2 จงเป็นคนเก่งลึกในระยะสั้น

เส้นทางสู่การเป็นสุดยอดคนเก่งกว้าง ไม่ได้หมายความว่าต้องพัฒนาทุกด้านพร้อมกันในครั้งเดียว คนเก่งกว้างจะเป็นคนเก่งลึกในระยะสั้น พวกเขาจะพัฒนาทักษะแค่ 1-2 อย่างต่อครั้ง เมื่อพัฒนาทักษะด้านหนึ่งถึง 80% เมื่อไหร่ พวกเขาก็จะเอาเวลาไปพัฒนาทักษะอื่น ๆ ต่อ

กฎข้อที่ 3 เก่งแค่ 80% ก็พอ

กฎข้อนี้บอกว่าถ้าเก่งอะไรสักอย่าง 100% จะเก่งที่สุดในโลก ดังนั้น แค่เก่งเรื่องนั้นสัก 80% ก็พอแล้ว เพราะถ้าเก่งมากกว่า 80% จะก้าวไปสู่โลกของคนเก่ง แค่ 80% ก็เก่งมากพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องนั่งคิดมากว่าเก่งระดับนี้แล้วยังไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป มันแค่ถึงเวลาที่ต้องหันไปพัฒนาทักษะอื่นแทน

กฎข้อที่ 4 โฟกัสแต่ทักษะจำเป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

กฎข้อนี้บอกว่าควรฝึกฝนและพัฒนาแค่สิ่งที่คิดว่าจำเป็น กฎข้อนี้อาจฟังดูง่าย แต่บ่อยครั้งคนส่วนใหญ่มักเสียเวลา พัฒนาทักษะที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อเป้าหมายของพวกเขาเลย กฎข้อนี้ยังมีเพิ่มเติมอีกว่า ควรฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ตามผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้เท่านั้น การฝึกฝนแบบเฉพาะเจาะจง จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจงเช่นกัน

กฎข้อที่ 5 มันฝึกฝนและเพิ่มระดับความยาก

สุดท้ายนี้ถ้าอยากเก่งอะไรสักอย่าง นอกจากต้องหมั่นฝึกฝนแล้ว ต้องเพิ่มระดับความยากในการฝึกด้วย ถ้ามัวแต่ฝึกด้วยวิธีง่าย ๆ ไม่มีทางเก่งขึ้นได้

ขอให้จดจำกฎเหล็กทั้ง 5 ข้อนี้ และหาวิธีนำกฎทุกข้อไปประยุกต์ใช้ กับทักษะที่อยากพัฒนา อาจใช้กฎเหล่านี้เป็นเครื่องช่วยประเมินว่า ทำไมจึงพัฒนาทักษะบางอย่างได้ไม่เร็วเท่าที่ควร อีกทั้งยังสามารถใช้กฎเหล่านี้ช่วยค้นหาว่า ไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะใด และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

บทที่ 4 เทคนิคฝึกฝนให้เก่งและพัฒนาให้เร็วขึ้น

โปรดเข้าใจว่ากฎทั้ง 5 ข้อคือพื้นฐาน สำหรับการเป็นสุดยอดคนเก่งกว้าง ถ้าไม่รู้กฎเหล่านี้ จะใช้ประโยชน์จากเทคนิคต่าง ๆ ที่กำลังสอนได้ไม่เต็มที่ และจะไปผิดทาง กฎทุกข้อจะช่วยแนะนำ ดังนั้น จงอย่าข้ามกฎใดกฎหนึ่งไป ขอให้อดทนอ่านตัวอย่างของกฎทั้ง 5 ข้ออย่างละเอียด

กฎข้อที่ 1 เรียนทักษะหลาย ๆ ด้านเพื่อใช้ร่วมกันดีกว่าเก่งด้านเดียวเป็นพิเศษ

ผู้เขียนเรียนรู้กฎข้อนี้จากครูสอนกีต้าร์สมัยเรียนมัธยม ครูพยายามบอกว่าถึงเขาไม่ได้เป็นมือหนึ่งในด้านใดเลยในอาชีพนักดนตรี เขาก็หาเงินด้วยตัวเองและดูแลครอบครัวได้เป็นอย่างดี ครูอธิบายต่อว่า ทักษะหลาย ๆ ด้านช่วยให้เขามีรายได้จากหลายช่องทาง ทั้งจากการเป็นมือกีต้าร์ให้กับวงดนตรี การรับจ้างอัดเพลงในห้องอัด การขายเพลงของตัวเอง และการเป็นครูสอนกีต้าร์แบบตัวต่อตัว ทั้งหมดนี้คือวิธีที่เขาใช้หาเงินได้มากถึง 500,000 ดอลลาร์ หรือมากกว่านั้นภายใน 1 ปี ทั้งที่เขาไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง หรือเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลก ขนาดใบปริญญาเขายังไม่มีด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับของกฎข้อที่ 1 เรียนทักษะหลาย ๆ ด้านเพื่อใช้ร่วมกัน คนเก่งกว้างจริง ๆ คงรู้ว่าพวกเขาต้องมีทักษะที่จำเป็นหลาย ๆ ด้านที่เก่งมากพอ แล้วค่อยนำทักษะพวกนั้นมาประยุกต์ใช้ร่วมกันให้เป็นประโยชน์ และไม่ซ้ำแนวใคร ครูสอนกีต้าร์ก็ทำเช่นนั้น

ข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ ระหว่างคนเก่งกว้างและคนเก่งลึกคือ คนเก่งลึกจะพยายามทำบางสิ่งจนเชี่ยวชาญ เพื่อดึงความสนใจจากใครสักคน ที่ช่วยยกระดับพวกเขา และเสนอสัญญาจ้างให้ด้วย แต่ท้ายที่สุดแล้วคนเก่งลึก ก็ลงเอยด้วยการพึ่งพาคนอื่นอยู่ดี

ในทางกลับกันคนเก่งกว้างมีทักษะหลายอย่าง ที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง ผู้เขียนไม่ได้เก่งอะไรลึกเลยสักด้าน ยิ่งพูดถึงการทำธุรกิจไม่ได้ขายเก่งที่สุด ไม่ได้สอนพนักงานเก่งที่สุด แต่เก่งมากพอในทุก ๆ ด้าน นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงหาเงินจากการทำในสิ่งที่ชอบได้ พอนำทักษะที่มีมาใช้ร่วมกัน จึงเหนือกว่าคนเก่งลึก ดึงข้อมูลมาได้หลายด้าน แต่ถ้ามีใครสักคนดึงข้อได้มากกว่า ก็ยังทำการตลาดได้เก่งกว่าเขา เพราะเขาอาจไม่รู้วิธีทำการตลาดด้วยซ้ำ หรือต่อให้มีคนที่ทำการตลาดได้เก่งกว่า แต่ขอเดาว่ามีหุ่นที่ดีกว่าเขาแน่นอน มองเห็นประโยชน์ของกฎข้อนี้หรือยัง

ถ้าเป็นคนเก่งกว้าง จะมีโอกาสชนะเสมอ ตราบเท่าที่รู้ว่าจะแข่งขันกับคนอื่นด้วยวิธีใด สรุปสั้น ๆ ก็คือ เทคนิคการเรียนทักษะหลาย ๆ ด้านเพื่อใช้ร่วมกันคือ รากฐานสู่ความสำเร็จ และยังช่วยเพิ่มโอกาสให้มีชีวิตที่เจริญก้าวหน้า มีความหมาย มีประโยชน์ และมีอิสระไม่ต้องพึ่งพาใคร

กฎข้อที่ 2 จงเป็นคนเก่งลึกในระยะสั้น

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยตกอยู่ในห้วงแห่งความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายก็ตัดสินใจว่ามันคงถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มนั่งสมาธิ ผู้เขียนจ้างโค้ชนั่งสมาธิทางออนไลน์มา 1 คน เพื่อสอนการนั่งสมาธิให้ การนั่งสมาธิก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ตรงที่ต้องใช้ความพยายาม และแรงกายเพื่อเอาชนะความเกียจคร้านก่อนในตอนแรก เมื่อเริ่มจับทางได้แล้ว ก็จะรักษาทักษะนี้เอาไว้ได้ ทุกคนอาจรู้สึกกลัวในตอนพัฒนาทักษะด้านหนึ่ง แต่ก็กลัวที่จะเปลี่ยนไปโฟกัสทักษะด้านอื่น เพราะไม่อยากเสียทักษะที่พัฒนาแล้วไป

ใจความสำคัญของกฎข้อนี้ จึงอยู่ที่การเสียสละนิดหน่อย ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อแลกกับพัฒนาการที่ดีในระยะยาว แม้จะไม่ได้พัฒนาทักษะอื่น ๆ ก็ยังรักษาทักษะเหล่านั้นเอาไว้อยู่ และยังพัฒนาทักษะอื่น ๆ นัก ก็ยังรักษาทักษะเหล่านั้นเอาไว้อยู่ และยังพัฒนาทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ทุกคนมีเวลามากพอที่จะใช้กฎข้อที่ 2 เพื่อพัฒนาทักษะในแต่ละด้าน ประเด็นสำคัญคือต้องทำใจยอมรับให้ได้ ถ้าทักษะด้านนั้นจะพัฒนาช้าลง เวลาตั้งใจพัฒนาทักษะสักด้าน ก็ต้องทำใจที่จะเสียทักษะด้านหนึ่งไปนิดหน่อย เพื่อแลกกับการได้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มมา

ขอให้จำไว้ว่าไม่ได้ปล่อยให้ทักษะที่มีลดลงตลอดไป เมื่อกลับมาพัฒนาทักษะนั้นอีกครั้ง มีสิทธิ์พัฒนามันได้ดีกว่าเดิมด้วย เพราะอาจใช้ช่วงเวลาที่ผ่านมาไปกับการพัฒนาทักษะอีกด้าน ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ทักษะเดิมพัฒนาได้เร็วขึ้นนั่นเอง กลับมาที่การฝึกนั่งสมาธิ หลังจากที่โค้ชแนะนำว่า สิ่งแรกที่ควรเริ่มทำในตอนเช้านั่นก็คือนั่งสมาธิ และต้องพยายามทำให้ดีด้วย เขาให้ท้าทายตัวเองโดยการทำกิจกรรมที่มักกังวลวันละครั้ง และก้าวผ่านความกังวลนั้น โดยใช้การนั่งสมาธิช่วย เมื่อผู้เขียนทำตามคำแนะนำนี้ โดยตั้งใจจะเป็นคนเก่งลึกด้านการนั่งสมาธิในช่วงสั้น ๆ จึงเริ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วิตกกังวลน้อยลง นอนหลับได้เต็มอิ่ม และสุภาพกับคนอื่นมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการมีสมาธิ

นอกจากนี้ยังพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ได้ดีด้วย พอความเครียดลดลง ก็มีสมาธิในสิ่งที่ทำ และให้ความสำคัญกับมันได้มากขึ้นนั่นเอง ประโยชน์ทางอ้อมที่ได้หลังจากนั่งสมาธิเก่งก็คือ ทำหลายอย่างได้ดีขึ้น นี่เป็นประโยชน์ที่มาจากทักษะที่พัฒนามาก่อนหน้า แม้ว่าทักษะทุกด้านคงไม่สามารถทำแบบนี้ได้ แต่ก็มีทักษะหลายด้านเช่นกันที่ทำได้

กฎข้อที่ 3 เก่งแค่ 80% ก็พอ

ผู้เขียนเรียนรู้กฎข้อนี้จากห้องเวทในโรงยิม ครูสอนออกกำลังกายคนแรกเป็นครูสอนเทควันโด ครูจึงเข้าใจดีว่าการพยายามเป็นคนเก่งที่สุดในโลก ด้านออกกำลังกายนั้นไม่ได้สำคัญอะไร ครูอยากให้พัฒนาทักษะด้านออกกำลังกายให้กว้างที่สุด แถมยังไม่ต้องเก่งลึกในทักษะใดมากเป็นพิเศษด้วย วิธีนี้จะทำให้เก่งรอบด้าน และจะเก่งเทควันโดมากขึ้น ครูอยากให้เป็นคนเก่งกว้างด้านการออกกำลังกาย สิ่งหนึ่งที่จำได้แม่นที่สุดจากการฝึกซ้อมก็คือ เก่งพอก็พอแล้ว แต่ไม่อยากให้คิดว่ากฎข้อนี้คือสิ่งที่ต้องวัดกันด้วยตัวเลขที่เป๊ะ ๆ ใจความสำคัญอยู่ที่ทัศนคติมากกว่า ควรฝึกทักษะที่ต้องการโดยคิดเสมอว่า เก่งพอก็พอแล้ว ยิ่งเก่งทักษะนั้นใกล้ระดับ 80% มากเท่าไหร่ ทักษะนั้นก็จะมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้น้อยลงเท่านั้น

กฎข้อ 3 บอกว่าจะใช้กฎข้อ 2 ตอนไหน เมื่อทักษะถึงจุดที่เก่งมากพอ ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนไปฝึกทักษะอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และคาดหวังอะไรจากทักษะนั้น แนวคิดเกี่ยวกับกฎข้อนี้คือ ต้องมีทักษะพื้นฐานให้มาก และมีสิ่งที่ไม่ใช่ทักษะพื้นฐานให้น้อยลง เพียงแค่ 80% ก็พอจะเชื่อมโยงกับกฎอีกข้อหนึ่ง แต่ไม่ควรจำสับสนกับกฎอีกข้อที่จะพูดถึง แม้ว่ากฎทั้งสองข้อจะใช้ร่วมกันได้ก็ตาม กฎอีกข้อหนึ่งก็คือกฎ 80/20

กฎ 80/20 หรือกฎของพาเรโตกล่าวว่า ผลลัพธ์ 80% จะมาจากความพยายาม 20% ดังนั้น เมื่อพูดถึงร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ผลลัพธ์ 80% จะมาจากชนิดของการออกกำลังกายที่เลือกฝึก หรือเมื่อพูดถึงธุรกิจกำไร 80% ก็จะมาจากลูกค้า 20% ให้เข้าใจกฎ 80/20 ไม่ใช่เพื่อกำจัดสิ่งที่มีประโยชน์น้อยกว่าออกไป แต่เพื่อจัดสรรเวลากับสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่านั่นเอง

กฎข้อที่ 4 โฟกัสแต่ทักษะจำเป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ใครก็ตามที่เริ่มทำธุรกิจจะรู้ว่า มีสิ่งต่าง ๆ เป็นล้านอย่างที่ยังไม่เคยรู้ แถมมันยังทำให้กังวลมากด้วย การเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ๆ มันยากจนตัดสินใจไม่ถูกว่า ควรจะทุ่มเทให้กับอะไรก่อน โค้ชด้านการทำธุรกิจมักสอนว่า ในการทำธุรกิจต้องมีทักษะแค่ไม่กี่อย่างที่เก่งมาก ๆ และมีทักษะหลาย ๆ อย่างที่เก่งพอใช้ได้ เขาบอกว่าทักษะที่ต้องเก่งมาก ๆ คือการดึงดูดความสนใจจากลูกค้าและการขาย หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เรียนรู้การบริหาร ภาษี และเรื่องอื่นเพิ่มเติม

โค้ชเล่าว่าถ้าเป้าหมายคือการหาเงิน ถึงจะสนใจหลายเรื่อง แต่มีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ควรสนใจ ไม่ควรสนใจทักษะอื่นที่ไม่ได้ช่วยให้หาเงินดีขึ้นตั้งแต่แรก กฎข้อนี้จึงเริ่มจากเป้าหมายเป็นหลัก กฎข้อที่ 4 มีส่วนคล้ายกับกฎ 80/20 อยู่นิดหน่อยตรงที่ ต้องให้ความสำคัญกับการฝึกทักษะที่จำเป็น และจำกัดหลายอย่างให้แคบลง โดยไม่ต้องสนใจทักษะอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อเป้าหมาย กฎข้อนี้ยังบอกว่าควรฝึกทักษะต่าง ๆ ให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งทักษะดังกล่าวต้องอยู่ภายในขอบเขตของเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

เทคนิคนี้เรียกว่าการฝึกแยก หรือกฎข้อที่ 4 จะบอกให้เน้นโฟกัสเฉพาะทักษะที่จำเป็น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะแยกฝึกทักษะใด ๆ ไม่ได้เลย ควรแยกฝึกทักษะหรือเทคนิคบางอย่างที่ต้องการ แล้วค่อยนำมันมาผสมผสานกับทักษะอื่นเพื่อบรรลุเป้าหมาย เทคนิคการฝึกแยกนั้นหมายถึง การแยกทักษะบางอย่างออกมาฝึกเดี่ยว ๆ เพื่อที่จะฝึกทักษะนั้นได้รวดเร็วมากขึ้น แต่เทคนิคนี้มีหลุมพรางรออยู่ คนที่ตกหลุมไปจะฝึกทักษะที่แยกเดี่ยวออกมานั้น เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ประโยชน์จากทักษะนั้นเลย

เส้นทางไปสู่การเป็นสุดยอดคนเก่งกว้าง ไม่ต้องผ่านการเรียนรู้ทักษะทุกด้านบนโลกนี้ไม่ใช่เลย แต่มันเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะหลาย ๆ ด้านที่จำเป็นให้เก่งขึ้น แล้วนำทักษะดังกล่าวมาใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง ต้องค้นหาทักษะพื้นฐาน และแนวทางการฝึกฝนขั้นพื้นฐานของทักษะนั้น ๆ อย่างเช่น การเขียนก็คือทักษะขั้นพื้นฐาน ไม่ต้องรู้จักคำศัพท์ในพจนานุกรมทุกคำเพื่อเขียนให้เก่ง แค่รู้คำศัพท์ให้มากพอ แล้วก็จัดเรียงคำเหล่านั้นให้สวยงามน่าอ่านก็เท่านั้น ถ้ารู้คำศัพท์ไม่มากพอ ก็ต้องใช้เวลาศึกษาคำศัพท์จากพจนานุกรม แต่ไม่ควรเสียเวลากับการค้นหาคำศัพท์มากกว่าการเขียนงานให้เสร็จ เมื่อเริ่มนึกคำศัพท์ที่ใช้เขียนงานไม่ออกค่อยเปิดพจนานุกรม อย่าใช้เวลาทั้งหมดไปกับการค้นหาคำศัพท์ที่ไม่จำเป็น

วิธีโฟกัสฝึกแต่ทักษะที่จำเป็นจะบอกเองว่า ทักษะใดบ้างที่ควรฝึกแยก เมื่อฝึกฝนทักษะบางอย่างตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว แต่กลับใช้งานทักษะนั้นไม่ได้ตามเป้า จะรู้ทันทีว่าทักษะที่ควรฝึกแยกคืออะไร

กฎข้อที่ 5 หมั่นฝึกฝนและเพิ่มระดับความยาก

ตอนที่ผู้เขียนเริ่มออกกำลังกายนั้น ไม่มีใครเชื่อเลยสักคน เพราะเป็นคนที่รูปร่างแย่ที่สุดในกลุ่มเพื่อน เล่นกีฬาไม่เก่ง ซุ่มซ่าม และตัวใหญ่ เพื่อนสนิททุกคนจึงไม่เชื่อว่า จะออกกำลังกายจริงจัง เมื่อเวลาผ่านไปผู้เขียนก็เริ่มลดน้ำหนักสำเร็จ แถมร่างกายก็เริ่มแข็งแรงขึ้น จากนั้นไม่นานคนที่เคยไม่เชื่อว่า จะออกกำลังกายจริงจังก็มาขอคำแนะนำ สิ่งที่ผู้เขียนบอกกลับไปก็คือ กฎข้อแรกที่ควรรู้ก็คือ หมั่นฝึกฝนและเพิ่มระดับความยาก

ถ้าอยากมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น หรืออยากมีทักษะใหม่ ๆ ก็ต้องหมั่นฝึกฝนและต้องหาวิธีฝึกที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ยาก ๆ จะช่วยพัฒนาทักษะ หลายคนมักย่ำอยู่กับที่ เพราะพวกเขาหมั่นฝึกฝนก็จริง แต่กลับไม่ได้เพิ่มระดับความยากในการฝึกเลย หลายคนอาจคิดว่ายิ่งฝึกฝนทักษะก็ยิ่งพัฒนา แต่เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่า การฝึกฝนนั้นควรเพิ่มระดับความยากเข้าไป เพราะถ้ามัวแต่ฝึกฝนในสิ่งที่เก่งอยู่แล้วมันคงไม่เพียงพอ ต้องหาวิธีกระตุ้นตัวเองให้ได้ใช้ความสามารถ หรือทำในสิ่งที่ยังไม่เก่งด้วย

การฝึกฝนไม่มีทางสมบูรณ์แบบ ความจริงแล้วเป้าหมายควรเป็นการพัฒนาความสม่ำเสมอในการฝึกซ้อม ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น แม้ว่าจะเจอกับอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม บางครั้งอาจต้องทำบางอย่างเกินขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป แต่ถ้าฝึกฝนทุกอย่างจนเกินความสามารถตลอดเวลา มันอาจกลายเป็นวิธีที่ทำให้รู้สึกแย่ก็ได้ ท่องเอาไว้เลยว่า ยากแต่ได้ผล จงอย่าลืมการหมั่นฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอด้วย จะปรับระดับการฝึกให้ยากขึ้นได้ จำเป็นต้องอาศัยการหมั่นฝึกฝน ไม่สามารถเพิ่มความยากในสิ่งที่ยังไม่คุ้นเคยได้ เป้าหมายของการหมั่นฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอก็คือ ถ้าอยากเก่งขึ้นก็ต้องฝึกฝน

บทที่ 5 เริ่มพัฒนาตัวเองจากทักษะพื้นฐาน

แนวคิดระบบโรงเรียนโลก (World School System) คือการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ จากล่างขึ้นบน โดยเริ่มจากทักษะพื้นฐานต่าง ๆ ที่สำคัญและมีประโยชน์ในทุกสถานการณ์ จากนั้นค่อยพัฒนาทักษะที่เฉพาะทาง และลงลึกมากขึ้น จะกลายเป็นคนเก่งกว้าง ด้วยการพัฒนาทักษะต่าง ๆ และนำมันมาผสมผสานแล้วใช้ร่วมกัน จะเริ่มจากเรียนรู้ทักษะพื้นฐาน ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน และทุกสถานการณ์ ทักษะตรงนี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญ และเปิดโอกาสให้ปรับตัวเข้ากับอะไรก็ได้ จากนั้นจะสร้างความสนใจส่วนบุคคลขึ้นมา ใครอยากเป็นนักเขียน นักการตลาด หรืออาชีพใด ๆ ก็ได้ทั้งนั้น เพราะนี่คือทักษะที่ตนเองสนใจ ท้ายที่สุดแล้วต้องมีสิ่งเติมเต็มที่เรียกว่าทักษะจำเป็น ซึ่งจะคอยเชื่อมโยงระหว่างทักษะที่เก่ง และการเปลี่ยนทักษะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้จริง สรุปทักษะทั้ง 3 ชนิดเป็นดังนี้

ทักษะพื้นฐาน ทักษะที่มีประโยชน์ต่อทุกคน เช่น ทักษะการโน้มน้าวผู้อื่น ทักษะการใช้เหตุและผล

ทักษะที่สนใจ ทักษะที่ชอบและสนใจมาก ๆ เช่น ทักษะการเล่นอูคูเลเล่ ทักษะการทำอาหาร

ทักษะจำเป็น ทักษะที่ใช้เพื่อหาเงินจากความสนใจ เช่น ทักษะด้านการตลาด ทักษะด้านการขาย

ลองจินตนาการถึงวิธีนำทักษะทั้งหมดมาใช้ร่วมกัน ถ้าใครสักคนเล่นอูคูเลเล่เก่ง มีวาทะศิลป์ในการพูดโน้มน้าว และรู้วิธีโฆษณา แสดงว่าเขาคนนั้นมีทักษะเกือบทุกอย่างที่จำเป็น ในการเล่นเครื่องดนตรีตัวเล็กแสนน่ารักนี้ เพื่อกอบโกยเงินเข้ากระเป๋าแล้ว ต่อให้เขาจะไม่ได้เป็นคนเก่งลึกด้านใดเลยก็ตาม เป้าหมายของระบบโรงเรียนโลกคือ การสอนทักษะต่าง ๆ ที่ทุกคนควรมีให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียน จากนั้นค่อยพัฒนาทักษะที่แต่ละคนสนใจเป็นพิเศษ แล้วร้อยเรียงทักษะเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้พวกเขาหาเงินจากการทำสิ่งที่รักได้นั่นเอง

เข้าโรงเรียนวันแรก

ก่อนอื่นเลยอยากให้ใช้เวลาทำความรู้จัก และทำความเข้าใจ ระบบโรงเรียนโลกมีหน้าที่ให้คำแนะนำ และชี้ทางแก่นักเรียนทุกคน ให้กลายเป็นคนที่มีความสามารถ มีคุณภาพ มีประโยชน์ และประสบความสำเร็จ เป้าหมายคือการวางตำแหน่งดวงดาวให้ถูกที่ถูกทาง เพื่อช่วยรับประกันว่า ทุกคนจะพบส่วนผสมอันลงตัว ระหว่างความสำเร็จ ความสุข และความสงบนั่นเอง ทุกคนเชื่อในวงล้อแห่งโชคชะตาที่ว่า ทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น

โลกใบนี้จะให้อะไรบางอย่างกับคนที่ก้าวเท้าออกมาเพื่อไปไขว่คว้ามัน ไม่มีสิ่งใดได้มาฟรี ๆ ต้องเป็นคนไปหามันเอง แม้ว่าอาจไม่ได้สิ่งที่ต้องการเสมอไป อย่างน้อยก็จะได้ในสิ่งที่คู่ควร และได้บางอย่างที่ไม่คู่ควร โชคชะตาอยู่ด้านหน้าแล้ว แค่ต้องยอมรับมัน ต้องใช้เวลาพัฒนาตัวเอง และยอมรับความท้าทาย เพื่อสร้างตัวตนขึ้นมา เพื่อเปิดเผยความลับอันยิ่งใหญ่ของชีวิตมา 1 อย่างนั่นก็คือ ระเบียบวินัย ซึ่งระเบียบวินัยคือทักษะพื้นฐานอย่างหนึ่งที่จะเรียนรู้กัน มันคือทักษะสำคัญที่สุดที่มนุษย์ควรจะมี

ระเบียบวินัย

ในตอนแรกไม่มีทางมีระเบียบวินัยมากนัก ระเบียบวินัยคือการบังคับตัวเองให้ทำตามคำสั่ง ทุกคนต้องมีระเบียบวินัย เพราะถ้าไม่ฝึกฝนอย่างมีวินัย คงเก่งทักษะอะไรไม่ได้เลย ถ้าไร้ระเบียบวินัยจะกลายเป็นคนไม่เอาไหน และปล่อยให้ชีวิตไร้ทิศทาง ระเบียบวินัยช่วยให้เข้าใจความหมายของชีวิต เพราะมันจะหาบางอย่างให้ทำ ฝึกฝนทักษะ เรียนรู้ และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ผ่านระเบียบวินัย

นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนากิจวัตรต่าง ๆ ในแต่ละวันให้เป็นวันที่มีความหมายได้ด้วยระเบียบวินัย เพียงมีวินัยกับกิจวัตรเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกวันจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นกับจิตใต้สำนึก การทำงานอย่างมีระเบียบวินัยจะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ทุกคนสามารถเป็นคนเก่งกว้างที่ประสบความสำเร็จ และเป็นคนที่มีระเบียบวินัยได้

สมาธิ

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นทั่วไปคือ คนส่วนใหญ่มักคิดมากเกินไป และเรื่องที่คนส่วนใหญ่คิดไม่ค่อยมีประโยชน์ หลายคนอาจบอกว่าการมีสมาธิหมายถึงการนั่งสมาธิ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะการนั่งสมาธิเป็นแค่เทคนิคที่ใช้พัฒนาให้มีสมาธิ สมาธิช่วยให้ฉลาดและยับยั้งไม่ให้ขาดสติ สมาธิคือทักษะที่มีประโยชน์ แต่น่าแปลกที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากพัฒนาทักษะนี้เลย

เมื่อมีสมาธิจะให้ความสนใจกับสิ่งสำคัญได้ดี และยับยั้งความอยากลง นี่คือข้อแตกต่างสำคัญของผู้ชนะและผู้แพ้ ผู้ชนะจะรู้วิธีบังคับตัวเองให้นั่งเมื่อถึงเวลาเขียนหนังสือ และรู้วิธีบังคับให้ลุกไปเข้ายิมเมื่อถึงเวลาฝึกซ้อม ส่วนผู้แพ้จะผัดวันประกันพรุ่ง เขาจะสับสนและจะล้มเลิกก่อนที่งานจะเสร็จ ข้อแตกต่างส่วนหนึ่งเกิดจากระเบียบวินัย และอีกส่วนหนึ่งคือสมาธิ คนส่วนใหญ่มักควบคุมความคิดที่วนเวียนอยู่ในหัวไม่ได้ ถูกความคิดเหล่านั้นครอบงำ จนบางทีอาจรู้สึกว่ากำจัดสิ่งรบกวนเหล่านั้นออกไปได้ มันคงเป็นประโยชน์เอามาก ๆ ข่าวดีก็คือ สามารถมีสมาธิได้ผ่านการนั่งสมาธิ

สมาธิเป็นอาวุธอันยอดที่จะช่วยให้มีสมาธิอยู่กับเป้าหมายได้ สมาธิไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนมี ทุกคนต้องพัฒนามันขึ้นมาเอง วิธีพัฒนาสมาธิก็คือ ให้นั่งลงโดยนั่งแบบขัดสมาธิ คุกเข่า หรือนั่งบนม้านั่งก็ได้ ขอแค่อย่านอนราบกับพื้นราวกับทำพิธีกรรมนอกรีตก็พอ ลำดับต่อมาให้กำหนดตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยใช้การกำหนดลมหายใจ หรือท่องบทสวดมนต์ก็ได้ ส่วนใครที่ชอบคิดฟุ้งซ่าน แนะนำให้ท่องออกมาดัง ๆ วิธีนี้จะช่วยให้มีที่ยึดเหนี่ยว เริ่มกำหนดลมหายใจได้ มีสติมากขึ้น แม้อาจเสียสมาธิไปบ้าง แต่ถ้าวิธีนี้ได้ผลก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

เหตุและผล

เหตุและผลคือพื้นฐานในการศึกษาเรื่องอื่น ๆ ต่อไป มันคือพื้นฐานของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่มีเหตุและผลก็จะไม่มีการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดอย่างมีเหตุผลเลย กฎง่าย ๆ เกี่ยวกับการคิดในเชิงเหตุและผล สร้างเหตุผลดี ๆ และหลีกเลี่ยงการสร้างตรรกะวิบัติ ควรรู้วิธีใช้เหตุผลแบบอุปนัยและนิรนัย นอกจากนี้ยังควรรู้ด้วยว่าทำไมจึงไม่ควรแสดงความคิดโดยการโจมตีที่ตัวบุคคล นี่เป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญ

เหตุและผลช่วยจัดระเบียบความคิด มันคือการคิดอย่างดีและถูกต้อง สิ่งนี้จะช่วยยับยั้งไม่ให้ซื้อของไร้สาระ เหตุและผลช่วยให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่จะมาหลอกลวง ชีวิตเป็นของคุณก็ต้องคิดเองได้ เพื่อที่จะได้อยู่รอดต้องหาแนวทางจัดการเรื่องต่าง ๆ และต้องรู้ว่าตัวเองจะแสดงความคิดเห็นที่ดีได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่มีเหตุผล คนเราชอบคิดว่าการคิดเป็นสิ่งสำคัญ แต่กลับมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ใช้ความคิดได้ดีจริง ๆ ทักษะการใช้เหตุและผลจะส่งผลต่อทุกสิ่งในชีวิต

การคิดได้ดีจะช่วยให้เขียนได้ดี หรืออย่างน้อยก็มีศักยภาพที่จะทำมัน การคิดอย่างเป็นระบบช่วยให้เข้าใจโลกและคนอื่น นี่คือเหตุผลว่าทำไมเหตุและผลจึงเป็นทักษะพื้นฐาน การจะพัฒนาทักษะการคิดได้มีวิธีหนึ่งที่ดูง่ายมาก ๆ แต่มันก็ได้ผลจริง ๆ นั่นก็คือ การฝึกไขปริศนา วิธีพัฒนาทักษะด้านการคิดที่ดีที่สุดอีกวิธีคือ การพูดคุยถกเถียงกับผู้อื่น เพื่อฝึกแสดงความคิดเห็นจริง ๆ และแก้ต่างให้กับจุดยืนของตัวเองในหัวข้อนั้น

เกี่ยวกับทักษะการใช้เหตุและผล เน้นย้ำคำว่าการโต้แย้งจริง ๆ แล้ว การโต้แย้งหมายถึงการเสนอความคิดเห็น และการถกเถียงประเด็นต่าง ๆ อย่างเหมาะสมตามหลักเหตุและผล ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนมักจะทำตอนเมา หรือตอนใช้อารมณ์ ชัยชนะอาจเป็นเป้าหมายของทีมโต้วาที แต่มันไม่ใช่เป้าหมายของการโต้แย้งเพื่อแสดงความคิดเห็น เพราะเป้าหมายคือการหาจุดยืน และเฟ้นหาความจริงต่างหาก

วิธีที่ดีที่สุดที่จะชนะการโต้แย้งคือ ต้องแสดงความคิดเห็นที่ถูก ส่วนวิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงความคิดเห็นที่ถูกก็คือ ต้องรู้ตัวว่าเมื่อใดความคิดเห็นผิด ซึ่งทักษะด้านเหตุและผลจะช่วยค้นหามัน

การโน้มน้าวผู้คน

เรื่องยากหนึ่งในชีวิตก็คือ อยากได้บางอย่างแต่กลับไม่สามารถโน้มน้าวให้คนอื่นมอบสิ่งนั้นให้ได้ อีกเรื่องคือการเข้ากับคนอื่น ๆ ได้นั้นย่อมดีกว่าการเข้ากับใครไม่ได้ และการที่มีคนอื่นชอบนั้นก็ต้องดีกว่าการที่ไม่มีใครชอบ การพูดโน้มน้าวไม่ใช่การทำให้ทุกคนชอบ แต่เป็นการทำให้คนอื่น ๆ ชอบมากพอ หลายคนมักหลงทางเพราะคิดไปว่า การโน้มน้าวคนอื่นหมายถึงการประจบสอพลอ ทั้งที่การประจบนั้นไม่ใช่การโน้มน้าวเลย

การประจบคือการพูดโดยที่ไม่มีความกล้า และไม่มีศูนย์กลางของความเชื่อที่แท้จริง มันคือการพูดในสิ่งที่คิดว่าคนอื่นจะชอบ โดยไม่สนใจว่าตัวเองจะเชื่อในสิ่งนั้น ๆ หรือไม่ก็ตาม ไม่มีใครอยากเป็นเพื่อนกับคนแบบนี้หรอก คนพวกนี้ก็แค่อยากได้บางสิ่งจากคนอื่น คนเราจะสนใจคนที่มีความคิดของตัวเอง และเชื่อมั่นในสิ่งนั้น ต่อให้คนอื่น ๆ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม

ก่อนอื่นต้องยอมรับให้ได้ว่า ไม่มีทางที่ทุกคนจะชอบหรือเห็นด้วยกับสิ่งที่พูด ตราบใดที่มีบางอย่างจะพูด นั่นหมายความว่าต้องมีใครสักคนที่ไม่เห็นด้วย อย่าแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีข้อมูลสนับสนุน ต้องใช้เหตุและผลเพราะควรต้องรู้ว่าจะแก้ต่างให้กับตัวเองอย่างไร เมื่อมีใครสักคนไม่พอใจในสิ่งที่พูด แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม การโน้มน้าวผู้คนคือ การค้นหาคนที่เห็นด้วย และชักชวนให้เขาปฏิบัติตามแนวทาง เช่น อาจค้นพบวิธีใหม่สุดเจ๋ง ในการทำสิ่งที่คนอื่นอยากทำหรือเห็นด้วยอยู่แล้ว และชักชวนให้เขาปฏิบัติตามแนวทางของตัวเอง

คุณสมบัติหนึ่งที่หายไปในสังคมยุคปัจจุบันคือ ความกล้า คนเรากลัวที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่การแสดงความกล้าหาญเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยให้ได้รับความสนใจ การพูดโน้มน้าวคือการกล้าพูดถึงบางอย่างที่คนอื่นคิดว่าถูกอย่างบริสุทธิ์ใจ ซึ่งงานเขียนที่ดีก็สามารถโน้มน้าวคนอ่านได้เช่นกัน สิ่งแรกที่ควรเข้าใจคือ มนุษย์อยากมีความสุข ทุกการกระทำของทุกคนล้วนมีเป้าหมายคือความสำเร็จ แต่ทุกคนต่างเชื่อในสิ่งที่สร้างความสุขแตกต่างกันออกไป มันจึงเกิดการแลกเปลี่ยนสิ่งที่มีค่าระหว่างกันในคนสองกลุ่ม ดังนั้น ถ้าอยากโน้มน้าวใจคนได้ ก็ต้องหาคนที่คิดว่าให้สิ่งที่จะสร้างความสุขกับเขาได้ ขอย้ำว่าการโน้มน้าวผู้คนไม่ใช่การเปลี่ยนความเชื่อของคน แต่มันคือการยืนยันความเชื่อของเขา การโน้มน้าวผู้คน การทำการตลาด หรือการขายไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งดึงดูดคนโดยธรรมชาติ ยิ่งมันดึงดูดคนเข้ามาได้มากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งขับไล่คนอื่น ๆ ออกไปได้มากขึ้นเท่านั้น

ความเชื่อ

หลายคนอาจคิดว่าความเชื่อเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ความเชื่อคือสิ่งที่ต้องฝึกฝน ความเชื่อคือทักษะ และยังเป็นทักษะที่จำเป็นด้วย บางครั้งคิดว่าความเชื่อคือความงมงาย เพราะกำลังเชื่อเรื่องต่าง ๆ โดยไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยัน นี่ไม่ใช่ความเชื่อหรืออย่างน้อยความเชื่อก็ไม่สมควรเป็นแบบนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องจดจำคือ ความเชื่อไม่ได้อยู่ภายใต้เหตุและผล มันอยู่เหนือกว่านั้น

ความเชื่อคือแนวทางสูงสุด และแนวทางเดียวที่จะช่วยให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ มันจะนำพาความพยายาม และเป้าหมายไปอยู่ในเส้นทางที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย และช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้จริง ๆ ความเชื่อไม่เพียงทำให้เชื่อในบางอย่างเท่านั้น แต่มันยังทำให้เกิดศีลธรรมอันดีงามด้วย ความเชื่อไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เชื่อเท่านั้น แต่มันยังเกี่ยวกับว่าสิ่งที่เชื่อหล่อหลอมให้กลายเป็นคนแบบไหนอีกด้วย ความเชื่อจะยับยั้งไม่ให้ใช้ทางลัด ความเชื่อจะเป็นพื้นฐานที่จำเป็น ต่อการบรรลุเป้าหมายในชีวิต

บทที่ 6 ทักษะที่สนใจ (แต่อาจไม่จำเป็น)

ขั้นตอนต่อไปนี้ง่ายมาก ๆ สามารถพัฒนาด้านที่สนใจได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานก่อนเลยก็ได้ แต่ถ้ามีทักษะพื้นฐานย่อมเป็นเรื่องดีกว่า จริง ๆ แล้วมันไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย แต่สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำคือ ถ้าอยากเก่งอะไรสักอย่าง ก็ให้ทดสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่อยากเก่งเสียก่อน จำตอนที่พูดถึงระเบียบวินัยได้ไหม วิธีพัฒนาระเบียบวินัยก็คือการฝึกฝนระเบียบวินัย ซึ่งวิธีฝึกฝนเดียวที่จะได้ผล ทั้งที่ไม่ได้มีระเบียบวินัยอยู่แล้วก็คือ ทำสิ่งที่ชอบ

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องค้นหามัน ทบทวนถึงกฎเหล็กของคนเก่งกว้างสักหน่อย ถ้าจะเริ่มฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ การนำทักษะนั้นมาฝึกในระยะสั้นจนเก่งมากพอ หรือจงเป็นคนเก่งลึกในระยะสั้น กฎข้อนี้สามารถนำไปใช้พัฒนาทักษะอื่น ๆ ด้วย ควรใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อฝึกฝนทักษะที่อยากเก่งให้มากพอในระยะสั้น นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดี

จะฝึกมากกว่าหรือน้อยกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าทักษะนั้นคืออะไร ไม่มีข้อบังคับตายตัว แค่ต้องตัดสินเองว่า ต้องฝึกฝนมากน้อยแค่ไหน เท่าไหร่คือมากเกินไป และเท่าไหร่คือน้อยเกินไป ถ้าไม่มั่นใจก็ถามคนที่เคยฝึกมาก่อน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือจ้างโค้ชมาสอนนั่นเอง ต่อไปให้ใช้กฎเหล็กข้อที่ 4 โฟกัสแต่ทักษะจำเป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ช่วงแรกอาจไม่รู้ว่าตัวเองสนใจอะไร หรืออาจมีบางอย่างที่สนใจในช่วงสั้น ๆ ราวกับตรงหน้ามีผู้ต้องสงสัยยืนเรียงแถวกันรอให้ชี้ตัว แต่ก็ยังไม่มั่นใจสักที นี่คือบททดสอบ เพราะถ้าชอบที่จะทำอะไรบางอย่างจริง ๆ จะยอมเสียเวลาฝึกฝนมัน ต่อให้อาจต้องเจอกับความผิดหวังในอนาคตก็ตาม ถ้าอยากทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องหาเวลามาทำมัน คำถามทำนองนี้ไม่ได้หมายความว่า จะหาเวลาว่างและจัดตารางอย่างไร คำถามนี้หมายถึงสิ่งใดคือแรงผลักดันให้ลุกขึ้นมาตอนเช้า อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต

อริสโตเติลสอนว่า หนทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตมีแค่หนทางเดียว ซึ่งหนทางนั้นก็คือการดำเนินชีวิตให้ได้อย่างถูกต้องนั่นเอง แล้วยังสอนต่อไปอีกว่า การดำเนินชีวิตให้ได้อย่างถูกต้องนั้นคือ การทำสิ่งที่ชอบ มีความสุข และดีต่อผู้อื่น ส่วนนักบุญโธมัสซึ่งสืบทอดแนวคิดของอริสโตเติลมาได้พูดถึงความสุขว่า เกิดจากการเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ดีและถูกต้อง ถ้าทำตามนักปราชญ์ทั้งสองคนนี้จะจัดการกับความสนใจ และสร้างความสุขที่แท้จริงได้

สิ่งที่นักปราชญ์ทั้งสองคนพูดก็คือ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จะไม่มีความสุขครบถ้วนสมบูรณ์แบบ แต่จะหาความสุขส่วนมากนั้นได้จากการสั่งสมความรู้ ศีลธรรมอันดี มิตรภาพ และความมั่งคั่งอย่างชาญฉลาด สิ่งที่อยากบอกก็คือ มนุษย์ควรมีความมั่งคั่ง แต่ควรมีในปริมาณที่ไม่มากเกินไป มนุษย์ควรตั้งใจสร้างความมั่งคั่ง แต่ก็ไม่ควรสร้างเยอะเกินไป สามารถหาเงินได้เยอะ ๆ ถ้าต้องการ แต่อย่าหาเงินเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว ควรบริจาคเงินให้คนอื่น ๆ ด้วย

ไม่ต้องรีบนักกว่าจะเก่งทักษะใดได้มันต้องใช้เวลา ซึ่งการใช้เวลามากเป็นพิเศษเพื่อฝึกเทคนิคที่สำคัญ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่าเช่นกัน ทักษะบางอย่างที่ง่าย ๆ ก็ฝึกไม่นาน ไม่เหมือนกับการฝึกทักษะระดับสูง เมื่อแยกบางทักษะออกมาฝึกขอให้จำไว้เสมอว่า กำลังมุ่งมั่นที่จะทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ งานทุกชิ้นล้วนเกิดจากส่วนย่อย ๆ หลายส่วนประกอบกัน กุญแจสำคัญของทุกทักษะก็คือ การเริ่มต้นลงมือทำและทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

จะพบว่ากฎเหล็กข้อที่ 5 หมั่นฝึกฝนและเพิ่มระดับความยากเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ไม่มีทางนำทักษะต่าง ๆ มาใช้ร่วมกันหรือแยกฝึกทักษะใดได้เลย ถ้าไม่ยอมฝึกฝนและเพิ่มระดับความยากลงไปในการฝึก ไม่สำคัญหรอกว่าจะสนใจทักษะอะไร สิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียวคือ จะค้นหาแนวทางในการนำกฎเหล็กของคนเก่งกว้าง มาประยุกต์ใช้ในการฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ และตรงตามเป้าหมายที่ต้องการมากที่สุดได้อย่างไร

จากนั้นก็ให้ฝึกฝนโดยคิดเสมอว่า ฝึกเพื่อมุ่งมั่นตามหาความสุขและเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น สุดท้ายแม้จะมีทักษะพื้นฐานเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่เป้าหมาย และมีทักษะต่าง ๆ ที่ตัวเองสนใจได้เก่งมากพอแล้ว จะยังเหลืออีก 1 ช่องโหวนั่นก็คือ ช่องว่างระหว่างการพัฒนาทักษะ จากเก่งให้เป็นเก่งมาก ๆ การนำทักษะนั้นมาผสมผสานกับทักษะอื่นที่มี และการนำทักษะทั้งหมดมาประยุกต์ใช้เพื่อหาเงินจากมัน

บทที่ 7 ทักษะจำเป็น (แต่อาจไม่สนใจ)

ตอนนี้มีทักษะต่าง ๆ ดีพอแล้ว จากนี้ไปก็ถึงเวลาที่จะใช้ทักษะที่สะสมมา สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้โลกใบนี้ ข่าวดีก็คือไม่ต้องทำงานหนักอะไรนัก เชื่อว่าต้องประหลาดใจแน่ ๆ เมื่อรู้ว่าการรู้จักเพื่อนใหม่ การมีสมาธิ และการใช้ทักษะที่คนอื่นสนใจได้เป็นอย่างดีนั้น สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ บางคนอาจจะจ้างให้สอนบางอย่าง อยากเห็นทำอะไรสักอย่าง หรืออยากใช้บริการบางอย่าง ทว่าการนำทักษะต่าง ๆ มาใช้ร่วมกันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด บางครั้งอาจต้องจัดวางตัวเอง และสิ่งต่าง ๆ ที่นำเสนอเพื่อดึงความสนใจของผู้อื่นด้วย

คนเราเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล จึงคิดถึงสิ่งต่าง ๆ และตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง อาจคิดว่าแต่ละคนมีรูปแบบตัดสินใจที่แตกต่างหลากหลาย แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด โดยทั่วไปแล้วคนเราจะตัดสินใจในลักษณะเดียวเท่านั้น จะตัดสินใจจากสิ่งที่คิดว่าสร้างความสุขได้มากที่สุด ทุกคนพยายามทำให้ตัวเองพึงพอใจ แทบไม่มีครั้งไหนเลยที่จะตัดสินใจเลือกสิ่งที่นำความทุกข์มาให้ แม้แต่คนที่เสียสละเพื่อผู้อื่น ก็ยอมเสียสละเพราะพวกเขามีความสุขที่ได้ทำเพื่อผู้อื่น

การตัดสินใจโดยใช้เหตุและผลเพื่อตามหาความสุขให้ตัวเองนั้นคือ พื้นฐานที่สุดในด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งเรียกว่า เศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม คนเราทำสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ส่วนการตัดสินใจนั้นจะถูกหรือผิดก็เป็นเรื่องหนึ่ง แนวคิดนี้คือพื้นฐานของการค้าขาย และเป็นหลักขั้นพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่เรียกว่า การแลกเปลี่ยนโดยสมัครใจ คนเราจะซื้อหรือขายบางสิ่ง เมื่อพวกเขาคิดว่าตัวเองจะได้กำไร หรือประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนสิ่งนั้น นี่คือการเพิ่มระดับความสุขส่วนบุคคลนั้นเอง ไม่มีมนุษย์คนไหนจะซื้อหรือขายบางสิ่งถ้าคิดว่าตัวเองจะมีความสุขน้อยลงเรียกง่าย ๆ ว่า ขาดทุน

พวกเราจึงหาความสุขให้ตัวเองโดยการซื้อขายสินค้าหรือบริการกับคนอื่น ๆ อย่างอิสระ แถมทุกคนยังได้ประโยชน์ด้วย หลักการนี้ช่วยให้เข้าใจว่า ทำไมคนเราจึงซื้อบางสิ่ง และทำไมคนอื่นถึงเต็มใจจ่ายเงินให้ ถึงจะมีทักษะดี ๆ อยู่หลายอย่าง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คนอื่น ๆ จะยอมจ่ายเงินให้ ต้องสร้างคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับขึ้นมาก่อน ต้องแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ทักษะนี้จะช่วยให้พวกเขามีความสุขมากกว่าเดิมได้

ขั้นตอนแรกในการหาเงินจากสิ่งที่รักก็คือ หมั่นสังเกตและเรียนรู้ตลาด ศึกษาดูว่าผู้คนใช้เงินไปกับอะไร และลองหาว่าทักษะที่มีนั้นจะนำมาใช้หาเงินจากคนเหล่านี้ได้หรือไม่ ให้ลองศึกษาจากสิ่งที่คนเก่ง ๆ ทำและพยายามทำความเข้าใจว่าเขามีทักษะใด และไม่มีทักษะใด นี่คือแนวทางให้เรียนรู้ทักษะหลาย ๆ ด้าน แล้วพยายามค้นหาทักษะสำคัญที่ขาดหายไป ทักษะเหล่านั้นจะนำคุณค่ามาให้ และดึงดูดให้คนอื่นอยากทำธุรกิจร่วมด้วย

เกือบทุกคนต่างมีปัญหาที่รอใครสักคน ซึ่งมีทักษะสักด้านมาช่วยแก้ไข แต่ปัญหาก็คือคนส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่า ทักษะจะช่วยเขาแก้ปัญหาได้ งานก็คือทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของทักษะที่มี ทักษะการขายนั้นยากกว่าการโน้มน้าวผู้คน คนเราจะยอมเสียเงินให้กับสิ่งที่ต้องการเท่านั้น ถ้าอยากประสบความสำเร็จก็ต้องขายสิ่งที่คนอื่นต้องการ ต่อให้จะพูดโน้มน้าวเก่ง มีคนชอบจนอยากไปสังสรรค์ด้วย หรือมีคนอยากมางานวันเกิดมากแค่ไหน ทั้งหมดนี้ก็ไม่สำคัญถ้าขายบางอย่างที่แก้ปัญหาให้พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ พวกเขาไม่มีทางยอมเสียเงินซื้อสิ่งที่เสนอ

คำแนะนำด้านการขายที่ดีที่สุดที่อยากบอกคือ ไม่จำเป็นต้องศึกษาเทคนิคการขายแบบกดดันลูกค้าไม่ยอมเลิกรา แค่ต้องหมั่นพัฒนาทักษะด้านการขายที่ดึงดูดความสนใจจากคนอื่น และพยายามทำบางอย่างให้น่าสนใจจนมันขายตัวมันเองได้ แม้โดยทั่วไปแล้วมันอาจไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าทำได้จะขายของได้ง่ายกว่าเดิมมาก ในบางสถานการณ์ มนุษย์ก็อยากได้ของบางอย่าง ไม่ใช่เพราะสิ่งนั้นจำเป็นต้องใช้ แต่เป็นเพราะมันช่วยแสดงสถานภาพทางสังคม เช่น iPhone แรงจูงใจที่คอยกระตุ้นให้คนซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็นเรียกว่า อาการกลัวตกกระแส หลายคนอยากมีในสิ่งที่ทุกคนมี แม้ว่าของสิ่งนั้นจะไม่จำเป็นต่อชีวิต หรือช่วยสร้างความสุขใด ๆ เลย

ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อนึกถึงบิดาแห่งการก่อตั้งบางอย่าง จะพบว่าคนเหล่านั้นล้วนเป็นคนเก่งกว้าง พวกเขามีทักษะสำคัญและหลากหลาย นอกจากนี้ พวกเขายังรู้ว่า จะแข่งขันอย่างไรด้วย ไม่ต้องจำกัดขอบเขต หรือกำหนดว่าคนแบบไหนที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง ควรทำตามใครก็ได้ที่ต้องการ (แต่ให้ทำอย่างระมัดระวัง) และนำกฎเหล็กของคนเก่งกว้างมาประยุกต์ใช้ เพื่อวิเคราะห์และถอดแบบทักษะจำเป็นที่ต้องใช้ สิ่งที่ควรระวังก็คือควรให้ความสนใจกับทักษะพื้นฐานมากที่สุด และใช้ทักษะต่าง ๆ ที่มีเพื่อตามหาความสำเร็จ แม้คนที่ใช้เป็นต้นแบบจะไม่เคยประสบความสำเร็จเลยก็ตาม

สามารถเรียนรู้จากคนที่ทำธุรกิจสำเร็จ แต่ล้มเหลวด้านการใช้ชีวิตก็ได้ แค่ให้ปฏิบัติตามสิ่งที่เขาทำแล้วสำเร็จในด้านธุรกิจ และมองข้ามสิ่งที่เขาทำแล้วล้มเหลวในด้านการใช้ชีวิต ความสำเร็จ ชื่อเสียง และเงินทองล้วนเป็นสิ่งดี แต่พวกมันก็กลายเป็นสิ่งไม่ดีได้เช่นกัน เริ่มต้นลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยเป้าหมายในใจ ทำสิ่งนั้นเพราะมันดีและอยากจะทำ ไม่ใช่ทำไปเพราะอยากเพิ่มเงินในบัญชีให้กับตัวเอง ทุกอย่างเริ่มต้นจากความเพลิดเพลินและความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น คนที่คอยสั่งสอนและทำสิ่งดีเพื่อช่วยเหลือคนอื่น จะได้รับรางวัลเป็นช็อกโกแลตที่กินได้ไม่อั้น บวกกับน้ำหนักที่ไม่มีวันขึ้นเมื่ออยู่บนสวรรค์ หากมีหลายเรื่องที่ไม่มั่นใจ แต่ความสุขซึ่งเกิดจากการลงมือทำสิ่งที่ถูกต้องและดีงามในชีวิต มันคือความสุขที่คู่ควรกับการแสวงหา

บทส่งท้ายจะมีชีวิตที่ดีที่สุดเมื่อเข้าใจโลก

ตอนนี้รู้ความลับทั้งหมดแล้ว หนทางไปสู่เป้าหมายสูงสุดที่มีอาจง่ายกว่าที่เคยคิดเอาไว้ สิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นคนเก่งกว้างก็คือ การเรียนรู้ทักษะหลาย ๆ ด้าน และนำทักษะเหล่านั้นมาใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะพื้นฐาน ทักษะที่สนใจ และทักษะจำเป็นในการหาเงิน ตอนนี้จะสนุกสนานอย่างล้นเหลือ โดยเฉพาะตอนที่เริ่มเพลิดเพลินไปกับวิธีฝึกฝน จะได้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ไม่ต้องห่วงเลยถ้าหมั่นฝึกฝนตามระบบที่สอน

เมื่อฝึกเขียนจะได้งานเขียนออกมา เมื่อฝึกศิลปะการต่อสู้คนอื่น ๆ จะถูกจับทุ่มด้วยถ้ายูโด ถ้าใครลงมือทำแล้วไม่มีผลงาน แสดงว่าเขาคนนั้นตั้งใจฝึกไม่มากพอ ซึ่งเพราะเขาไม่ได้สนใจสิ่งที่กำลังฝึกจริง ๆ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เวลา แต่อยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ จะให้คนอื่นช่วยหาเวลาฝึกไม่ได้หรอก สิ่งที่ทำได้คือช่วยให้มองลึกเข้าไปในจิตใจ เพื่อให้รับรู้ว่าการบรรลุเป้าหมาย และมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบนั้นสำคัญมาก จนหักล้างข้ออ้างอื่นได้ทั้งหมด

จะไม่มีทางหาเวลาฝึกได้ตราบใดที่ยังเอาแต่หาข้ออ้าง มันก็ไม่สำคัญแล้วว่าจะมีเวลามากหรือน้อย หลายคนสามารถทำบางอย่างจนเสร็จ ทั้งที่พวกเขามีตารางงานที่แน่นขนัด และมีลูกทีมต้องดูแลหลายคน พวกเขาตื่นแต่เช้าและทำงานจนดึกดื่น แถมยังฝืนดื่มกาแฟสำเร็จรูปเมื่อจำเป็น เพราะพวกเขาอยากเก่งขึ้น และทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ อยากให้รู้สึกว่าทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว ในตอนบั้นปลายชีวิตแค่นี้ก็พอแล้ว เพื่อทำในสิ่งที่พระเจ้ามอบให้ลงมาทำบนโลกใบนี้ นั่นก็คือหน้าที่ในการดำรงชีวิตอยู่ เพื่อตามหาความสุขของการเป็นมนุษย์

เวลาฝึกทักษะพื้นฐาน ควรเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการนั่งสมาธิ คิดไตร่ตรอง และสวดมนต์ อาจออกกำลังกายด้วยก็ได้ จากนั้นให้ฝึกทำสิ่งใดก็ได้ที่อยากเชี่ยวชาญ แบ่งช่วงเวลาที่มากที่สุดและฝึกทักษะที่สนใจ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปเพราะบางครั้งต้องฝึกทักษะพื้นฐานหรือทักษะจำเป็นให้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ แต่ละทักษะไม่จำเป็นต้องฝึกนานเท่ากัน ยิ่งถ้าศึกษาด้วยตัวเองโดยไม่ได้เข้าคลาสเรียนใด ๆ การฝึกฝนจะกินเวลานานเท่าใดก็ได้ ตามที่สามารถยกระดับการฝึกฝนให้มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์มากที่สุด

บางครั้งการฝึกในระยะเวลาสั้นก็อาจจะดีกว่า แต่บางครั้งการฝึกในระยะเวลาที่ยาวนานก็อาจจะดีกว่า ขอให้ใช้เวลาฝึกน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพราะถ้ามีเวลามากเกินไป จะเอาเวลาไปทำเรื่องไร้สาระแทน เส้นตายจะเป็นแรงกระตุ้น อย่าให้เวลาตัวเองนานเกินไปจนฝึกแบบเอื่อยเฉื่อย  คงเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดเวลาอย่างชัดเจนว่า จะฝึกทักษะด้านนี้นานเท่าไหร่ แต่นี่คือเหตุผลให้เรียนรู้จากคำแนะนำของคนอื่น ๆ หลายคนเชื่อว่าสาเหตุที่ทำงานไม่สำเร็จนั้น เป็นเพราะพวกเขามีข้อมูลไม่มากพอ มันอาจจะถูกในบางครั้ง แต่ส่วนมากพวกเขามีข้อมูลมากเสียจนไม่รู้ว่าจะใช้มันทำอะไรดีมากกว่า

การมีข้อมูลไม่มากพอคือข้ออ้างของการไม่อยากทำงานมากกว่า ไม่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมแล้วแค่ต้องลงมือทำให้มากกว่าเดิม ยิ่งลงมือฝึกจริงจะเก่งทักษะในด้านนั้นเอง หากผลาญเงินอย่างบ้าคลั่งเพื่อซื้อหนังสือสอนทำธุรกิจทุกเล่มมาอ่าน แต่ไม่มีทางทำเงินได้สักแดงเดียวถ้าไม่ลงมือทำธุรกิจสักอย่างจริง ๆ ลงมือฝึกฝนด้วยข้อมูลอันน้อยนิด ความคิดนี้ตรงกับกฎเหล็กข้อที่ 4 โฟกัสแต่ทักษะที่จำเป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ วิธีง่าย ๆ นี้จะช่วยเตือนสติในตอนที่ควรจะฝึกฝนทักษะบางอย่าง แต่ดันคิดว่าการอ่านบทความนั้น สามารถทดแทนการฝึกฝนจริง ๆ ได้

ทักษะหลาย ๆ ด้านต้องลงมือปฏิบัติจริงมากกว่านั่งศึกษาหาข้อมูล ต้องทำมากกว่าอ่าน วิธีคิดในการนำแนวทางที่เสนอไปมาใช้ ซึ่งปรัชญามีบทบาทด้วย ปรัชญามินิมอลคือการทำสิ่งต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด เพื่อเดินจากทางจากจุด a ไปจุด b โดยไม่ให้มีจุดบกพร่อง นั่นแปลว่านักมินิมอลคือคนที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างผลลัพธ์และประสิทธิภาพ จริงอยู่ว่าคนเราคงไม่มีทางเป็นนักมินิมอลที่สมบูรณ์แบบได้ ไม่มีใครฝึกฝนสิ่งต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ แต่ทุกคนก็ควรพยายามทำให้เต็มที่มากที่สุด

คนเราจะมีความสุขเมื่อ สิ่งที่ทำนั้นยากแต่ก็มีความหมาย งานใดก็ตามที่ทำแค่นั่งเฉย ๆ อยู่บนโซฟา ถือเป็นงานที่ไร้ความหมาย สิ่งที่ทำจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเห็นพัฒนาการของตัวเอง และสร้างสรรค์ตัวเองขึ้นมา โศกนาฎกรรมที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตไม่ใช่การมีชีวิตอยู่บนโลกในเวลาอันสั้น หรือการเผชิญโรคร้ายอันน่าสยดสยอง แต่โศกนาฎกรรมนั้นคือ การที่มีชีวิตอยู่ยาวนาน แต่กลับค้นหาความหมายของชีวิตไม่เจอ ความหมายของชีวิตจะเกิดขึ้นเมื่อ พัฒนาศีลธรรมอันดี นำพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่แสดงออกได้อย่างสร้างสรรค์ และเต็มใจสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับผู้อื่น

อยากให้จดจำเหตุผลแรกที่เริ่มลงมือทำอะไรบางอย่าง นึกย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่จุดประกายความตั้งใจขึ้นมา นึกถึงคนที่แนะนำให้รู้จักคุณงามความดีกับสิ่งสวยงาม และคน ๆ นั้นก็ทำให้อยากได้มันมา หวังว่าคน ๆ นั้นจะเป็นแรงบันดาลใจให้ เมื่อออกตามหาเป้าหมายบนโลกใบนี้ แล้วอยากให้จำไว้เสมอว่า จงช่วยเหลือผู้อื่น อย่าลืมโทรหาแม่ เปิดประตูบ้านทักทายคนแปลกหน้า วางขนมปังสดใหม่ไว้ในตู้กับข้าว และเรียนรู้ทุกอย่างที่สนใจ

จงเป็นคนที่แก้ปัญหาไม่ใช่เป็นคนที่สร้างปัญหา อย่าเอาตัวเองไปโต้เถียงในสถานการณ์แย่ ๆ ผ่านโลกออนไลน์ อย่าตัดสินคนอื่น แสดงออกว่าภูมิใจในสิ่งที่มี จงเชื่อในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง เชื่อมั่นในความกล้าหาญของตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น 1 อย่างในทุกวัน นั่งสมาธิ ชมดอกไม้ เลี้ยงสุนัข เดินเล่นกลางสายฝนในชุดนอน และจงอย่าปฏิเสธที่จะดื่มไวน์หรือชาสักแก้ว ในขณะที่นั่งดูพระอาทิตย์ตกดินกับคนที่รัก.