ในการลงทุนหุ้นด้วยการวิเคราะห์ปัจจับพื้นฐาน เราจำเป็นต้องเข้าใจงบการเงินของแต่ละบริษัท เพื่อที่จะเข้าใจผลการดำเนินงาน, สถานะทางการเงิน, และความเสี่ยงต่างๆ โดยงบการเงินสามารถแบ่งเป็นสามส่วนหลักๆ คือ 1) งบแสดงฐานะทางการเงิน (Balance sheet) 2) งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Comprehensive income statement) 3) งบกระแสเงินสด (Statement of cash flows)

Balance Sheet

งบแสดงฐานะทางการเงิน (Balance Sheet) คืองบที่บอกเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน ประกอบด้วย 

1) สินทรัพย์ (Assets) คือทรัพยากรทั้งหมดที่บริษัทบริหารจัดการอยู่

2) หนี้สิน (Liabilities) คือส่วนที่จำเป็นจะต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้

3) ส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s equity) คือส่วนที่เหลือสำหรับผู้ถือหุ้นหลังหักสินทรัพย์ด้วยหนี้สิน

ทั้งสามองค์ประกอบมีความสัมพันธ์กันดังนี้

Assets = Liabilities + Shareholder’s equity

ซึ่งสัดส่วนระหว่างส่วนหนี้ส่วนกับส่วนของผู้ถือหุ้นเราจะเรียกว่า โครงสร้างเงินทุน (Capital structure)

Statement of Comprehensive Income

งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จเป็นการรวมกันของงบกำไรขาดทุน (Income statement) และงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Other comprehensive income) โดยส่วนหลักที่เราใช้วิเคราะห์ผลดำเนินงานของบริษัทก็คือส่วน Income Statement มีส่วนประกอบแบบดูง่ายๆดังนี้

รายได้ (Revenue)

– ต้นทุนขาย (Cost of goods sold)

= กำไรขั้นต้น (Gross profit)

– ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (Selling general and administrative (SG&A))

= กำไรจากการดำเนินงาน (Operating profit (EBIT))

– ต้นทุนทางการเงิน (Interest expense)

= กำไรก่อนหักภาษี (EBT)

– ภาษีจ่าย (Tax expense)

= กำไรสุทธิ (Net profit)

ส่วนงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นจะเป็นการบันทึกผลกำไรขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealized profit/loss) แต่จะรับรู้ผลจากส่วนนี้ในอนาคต นักลงทุนจึงสามารถใช้เพื่อเตรียมตัวสำหรับอนาคตที่ผลเหล่านี้จะไปอยู่ใน Income Statement ได้

Statement of Cash Flows

เป็นงบส่วนที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวของเงินสดของบริษัท ซึ่งรายรับหรือรายจ่ายภายใน Income statement จะมีทั้งที่เป็นเงินสด (Cash) และส่วนที่ไม่ใช่เงินสด (Non-cash) รวมกัน แต่หากเราต้องการที่จะดูเฉพาะส่วนที่เป็น Cash จะต้องดูจากงบกระแสเงินสดนี้ แบ่งออกเป็นสามส่วนดังนี้

1) กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Operating cash flows) เป็นกระแสเงินสดที่บริษัททำได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติ

2) กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Investing cash flows) เป็นเงินสดที่ใช้ในการซื้อและขายสินทรัพย์ต่างๆ

3) กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (Financing cash flows) เป็นเงินสดที่บริษัทกู้ยืมหรือให้คนอื่นกู้เงิน รวมถึงการออกหุ้นสามัญ

นอกจากงบการเงินจะมีสามส่วนหลักที่อธิบายไปด้านบนแล้ว ยังมีหมายเหตุประกอบงบ (Footnotes) ที่อธิบายที่มาที่ไปของงบการเงินแต่ละส่วนอย่างละเอียด และรายงานจากผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor’s report) ที่เป็นความเห็นของผู้ตรวจสอบเกี่ยวกับความถูกต้องต่างๆตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของงบการเงินบริษัท ในบทความต่อๆไป เราจะมาเจาะลึกเกี่ยวกับงบการเงินแต่ละส่วน ซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยมากมายที่นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานจำเป็นจะต้องเข้าใจเพื่อความถูกต้องในการวิเคราะห์งบการเงินของทุกบริษัทในตลาดหุ้น