ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อราคาซื้อขายน้ำมันดิบโลก ได้แก่ ปัจจัยในเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ปัจจัยในเรื่องกำลังการผลิตน้ำมัน (supply)
- ความเป็นเอกภาพในการดำเนินนโยบายด้านการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่สำคัญอื่น ๆ ของโลก เช่น รัสเซีย โดยถ้ากลุ่ม OPEC และรัสเซีย มีความเป็นเอกภาพในการจำกัดหรือลดกำลังการผลิตน้ำมัน (il production curtailment) จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิตของแหล่งผลิตน้ำมันทางเลือกที่ถูกลง เช่น แหล่งหินดินดาน Shale Oil ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันได้ในปริมาณที่สูงมากประกอบกับปริมาณน้ำมันสำรองที่สูงมากอันจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงในระยะยาว
- ความกังวลในเรื่องความไม่สงบหรือภาวะสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเนื่องจากมีความกังวลว่ากำลังการผลิตน้ำมันในตลาดโลกอาจลดลง
- ภัยธรรมชาติ เช่น พายุ ที่มีผลกระทบทำให้การผลิตน้ำมันในบางแหล่งการผลิตที่สำคัญ เช่น อ่าวเม็กซิโก ลดลง
- ภัยการก่อการร้ายซึ่งทำให้กำลังการผลิตน้ำมันในบางภูมิภาคเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยในเรื่องความต้องการใช้น้ำมัน (demand)
- แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ซึ่งถ้าเศรษฐกิจโลกมีการเติบโตความต้องการใช้น้ำมันก็จะปรับตัวสูงขึ้นด้วย
- ปริมาณน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ เช่น ถ้าสหรัฐอเมริกานำน้ำมันที่เป็นน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศมาใช้ จะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง
- นโยบายพลังงานทางเลือกของประเทศต่างๆ เช่น การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก (alternative enerey) การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกลดลง