นักลงทุนทุกคนคงจะเคยได้ยินกูรูด้านการลงทุนพูดเสมอว่าเราควรที่จะกระจายความเสี่ยงภายในพอร์ตของเราโดยการแบ่งสัดส่วนถือสินทรัพย์หลายๆตัว ด้วยเหตุที่ว่าหากมีสินทรัพย์ใดที่เราถืออยู่เกิดขาดทุนหนักขึ้นมาจนบางครั้งล้มละลายไป เราก็ยังคงเหลือสินทรัพย์อื่นๆอยู่ไม่หมดตัวตามไปด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในการกระจายความเสี่ยงที่ดีเราไม่ควรที่จะซื้อสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงกันมากเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราซื้อหุ้น OR แล้วแบ่งไปซื้อ PTG เพิ่มเติมเพื่อกระจายความเสี่ยง หุ้นทั้ง 2 ตัวนี้อยู่ในกลุ่มบริษัทค้าน้ำมันเหมือนกัน หากมีปัจจัยต่างๆเข้ามากระทบ ราคาหุ้นก็มักจะขึ้นลงไปในทางเดียวกัน ในทางการเงินเรียกว่าหุ้น 2 ตัวนี้มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient (⍴)) เป็นบวก ซึ่งถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก
กราฟเปรียบเทียบความเสี่ยงและผลตอบแทนของพอร์ตเมื่อมีสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและสูงในสัดส่วนต่างๆ และค่า Correlation Coefficient ตั้งแต่ -1 ถึง +1
Source: https://sapientinv.com/investment-articles/how-does-diversification-work
จะเห็นได้ว่าการจัดพอร์ตที่มีความเสี่ยงเท่ากัน ไม่จำเป็นว่าจะได้ผลตอบแทนที่เท่ากันเสมอไป จึงเกิดเป็น Efficient frontier จากทฤษฎี Modern Portfolio Theory (MPT) เสนอโดย Harry Markowitz ซึ่งเป็นการหาพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในความเสี่ยงแต่ละระดับ และวาดเป็นเส้นกราฟโค้งตามภาพด้านล่าง โดยแต่ละจุดบนกราฟคือพอร์ตการลงทุนที่นำมาพล็อตตามระดับผลตอบแทนและความเสี่ยงของแต่ละพอร์ต
Source: https://towardsdatascience.com/efficient-frontier-in-python-detailed-tutorial-84a304f03e79
จุดต่างๆที่อยู่บนเส้น Efficient frontier จะเป็นพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในระดับความเสี่ยงนั้นแล้ว เรียกว่าเป็น Efficient portfolios ส่วนพอร์ตที่อยู่บน Efficient frontier ด้านซ้ายสุดของกราฟเรียกว่า Global minimum-variance portfolio ซึ่งจะเป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดบน Efficient frontier นั่นเอง สำหรับพอร์ตที่ไม่ได้อยู่บน Efficient frontier จะเรียกว่าเป็นพอร์ตที่ไม่มีประสิทธิภาพ (Inefficient portfolios) เนื่องจากไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงสุดในระดับความเสี่ยงนั้นๆ
ในความเป็นจริงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะลงทุนใน Efficient portfolios ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในแต่ละระดับความเสี่ยงได้ แต่การเข้าใจเกี่ยวกับ Efficient frontier ก็ทำให้เราเข้าใจว่าความเสี่ยงที่สูงขึ้นไม่ได้แปลว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเสมอไป โดยเราจะต้องมีการคัดเลือกสินทรัพย์ที่นำมาลงทุนให้ดี และมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลงทุนที่ต่างกันของแต่ละคน