โรงงานแห่งหนึ่งในประเทศเนเธอร์แลนด์มีเครื่องจักรผลิตชิปที่ปฏิวัติวงการซึ่งทั้งโลกต่างพึ่งพาอาศัย ต้องใช้เวลาในการประกอบเครื่องจักรนานหลายเดือน และมีเพียงบริษัทเดียวในโลกที่สามารถคิดค้น และรู้วิธีสร้างเครื่องจักร นั่นคือ ASML (Advanced Semiconductor Materials Lithography)
EUV (extreme ultraviolet) machine เป็นเครื่องจักรขนาดเท่ารถบัส แต่ทำงานด้วยความแม่นยำระดับอะตอม ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ซับซ้อนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำหน้าที่พิมพ์รูปแบบของชิปขนาดจิ๋ว โดยเครื่องจักรเหล่านี้เป็นส่วนที่แพงที่สุดของขั้นตอนในการสร้างไมโครชิปขั้นสูงที่ขับเคลื่อนโลกดิจิทัล ตั้งแต่ data center, รถยนต์ ไปจนถึง iPhone ซึ่ง ASML ผูกขาดธุรกิจเครื่องจักร EUV machine และเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีนี้เพียงหนึ่งเดียวในโลก ด้วยต้นทุนในส่วนของเครื่องจักรมูลค่าถึง 200 ล้าน USD และ กว่า 300 ล้าน USD สำหรับเครื่องจักรรุ่นใหม่ล่าสุด
นับตั้งแต่ปี 2018 ราคาหุ้นของ ASML Holding เติบโตกว่า 340% เนื่องมาจากความต้องการเทคโนโลยี EUV พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯมีมูลค่ามากกว่า Intel จนกระทั่งในปี 2021 เกิดภาวะชิปขาดแคลน ส่งผลเสียต่อสินค้า pre-order ที่เกี่ยวข้องขาดตลาด ตั้งแต่เครื่องเล่นเกมส์ PS5 ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อกำหนดการส่งสินค้า และความต้องการของลูกค้าหลายเจ้า แต่ราคาหุ้นของ ASML ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง, บัจจุบันบริษัทมีสำนักงานกว่า 60 สาขา และพนักงานกว่า 32,000 คนทั่วโลก
ประวัติ ASML
รูปภาพการเซ็นต์สัญญาร่วมทุนระหว่าง Philips กับ ASMI
ในปี 1984 บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักใหญ่อย่าง Philips และ ผู้ผลิตเครื่องจักรชิป ASMI (Advanced Semiconductor Materials International) ร่วมทุนกันก่อตั้ง ASML เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี Lithography (กระบวนการใช้แสงและรังสีพิมพ์รูปแบบลวดลายของวงจรขนาดเล็กลงบนแผ่นซิลิคอนเพื่อนำไปสร้างไมโครชิปต่อไป) และเพิ่มศักยภาพการเติบโตในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ บริษัทฯเริ่มจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในโรงเก็บของข้างสำนักงานของ Philips ในเมืองไอนด์โฮเฟน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อยอดโครงการ R&D ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1970 และได้เปิดตัวเครื่องจักรรุ่นแรกที่มีชื่อว่า The PAS 2000 stepper
เทคโนโลยี Semiconductor Lithography เดิมถูกคิดค้นขึ้นในแล็บของกองทัพสหรัฐฯตั้งแต่ปี 1950 ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมมีความพร้อมที่จะริเริ่มการวิจัยเกี่ยวกับ EUV, บริษัทต่างๆในสหรัฐฯกลับไม่ร่วมลงทุนด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุนที่แพง และข้อเสนอที่มีความเสี่ยง ตรงกันข้ามกับ ASML ที่เตรียมพร้อมจะร่วมลงทุน ตัดสินใจรับข้อเสนอ และรับความเสี่ยงนี้ไป ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเป็นเจ้าตลาดเครื่องจักผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์มาจนถึงปัจจุบัน
ASML สำนักงานใหญ่ในเมืองเวลด์โฮเฟน ประเทศเนเธอร์แลนด์
ในปี 1988 ASML มีพนักงาน 84 คน, สำนักงาน 5 แห่งตั้งอยู่ในสหราชอณาจักร และสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเวลด์โฮเฟน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันโรงงานสำนักงานใหญ่มีพื้นที่กว่า 50,000 ตร.ม. และพนักงานกว่า 1,500 คน ที่แบ่งกะกันทำงานตลอด 24 ชม.
ด้วยเทคโนโลยี และเครื่องจักรที่ล้ำสมัยส่งผลให้ ASML ทำกำไร เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ AEX (Amsterdam Exchange index) และ NYSE (New York Stock Exchange) ในปี 1995
ช่วงต้นปี 2000s ASML ได้เข้าซื้อกิจการ Silicon Valley Group Inc. (SVGI) โดยทำธุรกรรมซื้อหุ้นทั้งหมดราว 1.6 พันล้าน USD และทยอยซื้อกิจการของ Supplier อีกหลายบริษัทในเวลาต่อมา ซึ่งการเข้าซื้อกิจการ Suppliers เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ ASML ใช้ลดปัญหาในส่วนของ Supply Chain
ในปี 2012 เนื่องจากโครงการพัฒนาเทคโนโลยี EUV ต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก ASML ได้หาพันธมิตรทางธุรกิจ และเสนอขายหุ้นประมาณ 1 ใน 4 ส่วนให้กับลูกค้ารายใหญ่ที่สุด 3 รายแรก ได้แก่ TSMC, Intel และ Samsung เพื่ออัดฉีดต้นทุนในส่วน R&D ต่อไป
สาเหตุที่ ASML ไร้คู่แข่ง
EUV machine ถูกแบ่งเป็น 7 ส่วนหลัก โดยจะกระจายการผลิตแต่ละส่วนตามโรงงานสาขาต่างๆ และทุกชิ้นส่วนจะต้องถูกส่งมาประกอบ + ทดสอบเครื่องจักรที่โรงงานสำนักงานใหญ่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ หลังจากนั้นจะถอดแยกชิ้นส่วนอีกครั้งเพื่อเตรียมขนส่งให้กับลูกค้าต่อไป ซึ่งการขนส่งต้องใช้รถบรรทุกถึง 20 คัน และเครื่องบินโบอิง 747 อีก 3 เครื่องแบบ Full Load, ปัจจุบันมีลูกค้าแค่ 5 รายที่มีกำลังซื้อ EUV machine ของ ASML ได้แก่ TSMC, Intel, Samsung, Micron และ SK Hynix
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าบริษัทที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งอาจต้องใช้เวลากว่า 20 ปี กว่าจะตาม ASML ทัน ด้วยเหตุผลที่ ASML เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางเทคโนโลยี EUV, ความซับซ้อนในกระบวนการสร้าง และการคิดค้นวัตกรรมใหม่, ข้อตกลงระหว่าง Supplier ร่วม 800 เจ้า, รากฐานของระบบการบริหารจัดการต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ใช้เวลาในการสร้างและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ใครก็ตามที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมเดียวกันจะประสบปัญหายุ่งยากอย่างมากในหลายด้าน ต้องใช้เวลานานนับสิบปี และแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยต้นทุนที่สูงมาก
ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ และอนาคต
ปัจจุบันชิปส่วนใหญ่ถูกผลิตจากฝั่งเอเชีย โดย TSMC และ Samsung แต่เมื่อปัญหาชิปขาดแคลนที่เคยเกิดขึ้นเพิ่มความกังวลในเรื่องการพึ่งพาธุรกิจ (ระดับประเทศ) จากแหล่งที่จำกัดมากจนเกินไป มีหลายประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา, ยุโรป, เกาหลี, ญี่ปุ่น และจีน ได้ริเริ่มกฎหมาย CHIPS Act ส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และสนับสนุนผู้ที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิปภายในประเทศของตัวเอง เพื่อหวังชิงส่วนแบ่งตลาด และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน ส่งผลให้เครื่องจักรผลิตชิปขั้นสูงนี้กลายเป็นสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญไปโดยปริยาย
รูปภาพอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ลงนามกฎหมาย CHIPS Act ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2022
ช่วงปี 2021-2022 Intel ประกาศสร้างโรงงานผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลกมูลค่า 20,000 ล้าน USD ในรัฐ Ohio ขณะที่ Samsung ประกาศสร้างโรงงานมูลค่า 17,000 ล้าน USD ในรัฐ Texas และ TSMC ก็ประกาศสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในสหรัฐฯ ซึ่งโครงการทั้งหมดริเริ่มในยุคของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน จากการลงนามกฎหมาย CHIPS Act ด้วยวงเงินสมทบทุน 52,000 ล้าน USD สำหรับบริษัทที่มาตั้งโรงงานผลิตชิปในประเทศสหรัฐฯ นั่นหมายถึงความต้องการเครื่องจักรของ ASML จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม CHIPS Act ของสหรัฐมีเงื่อนไขว่า ASML ต้องไม่แบ่งปันเทคโนโลยี EUV ให้แก่ประเทศจีน ด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อย้อนกลับในยุคของประธานาธิบดีสหรัฐฯโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2018 เคยมีการกดดันจากฝั่งสหรัฐฯ ห้าม ASML ขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ EUV machine ให้กับจีน เป็นเหตุผลให้ประเทศจีนยังไม่เคยซื้อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ EUV machine จาก ASML มาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังคงมีการซื้อ-ขายเทคโนโลยีเก่าอย่าง DUV (Deep Ultraviolet) machine ระหว่างจีนกับ ASML
สุดท้ายไม่ว่าจะมีปัญหาหนักระดับโลกอย่าง สงครามการค้า เศรษฐกิจ การเมืองโลก หรือแม้แต่โรคระบาด, ASML ยังคงความสามารถในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ พัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคง และเติบโตต่อไปในอนาคต
References: