พลังของคนที่กล้าทำอะไรคนเดียว

สรุปหนังสือ : พลังของคนที่กล้าทำอะไรคนเดียว

ในชีวิตใครบ้างจะมีคนอยู่ด้วยได้ตลอดเวลา หรือจะอยู่กับใครได้ตลอดเวลาบ้าง ดังนั้นถ้าอยู่กับตัวเองตามลำพังไม่ได้หรือได้ไม่ดีพอ มันจะน่าหวั่นใจแค่ไหน อาจน่ากลัวยิ่งกว่าไม่มีใครเสียอีก ปัญหาคือบางครั้งสังคม หนังละคร หรือการตลาดก็สร้างภาพให้การเกาะเกี่ยว หรือเชื่อมต่อระหว่างคนเราเป็นเรื่องโรแมนติกชวนใฝ่หาจนเกินไป และใส่ร้ายป้ายสีการอยู่โดยลำพังหรือการต้องทำอะไรคนเดียวเสียน่าเกลียดน่าชัง ทั้งที่มันคือภาคสำคัญของชีวิต คือเครื่องมือสำคัญในการเพาะบ่มวุฒิภาวะของมนุษย์ทุกคน คุณโกะโด โทคิโอะ ผู้เขียนเรียกวุฒิภาวะอันสมบูรณ์จากการอยู่คนเดียว หรือทำอะไรคนเดียวว่าเป็นความสุกปลั่งของการเป็นผู้ใหญ่

เด็กที่เข้มแข็งและเข้าใจอะไรง่าย ผู้ใหญ่ที่มั่นใจในการดำเนินชีวิต คู่รักหรือคู่ชีวิตที่มั่นคงในความสัมพันธ์ คนเหล่านี้ล้วนมีทักษะสำคัญของการทำอะไรคนเดียวเป็นทั้งสิ้น เขาเหล่านี้รู้จักวิธีอยู่กับคนอื่น ขณะเดียวกันก็ให้ค่าสูงกับการใช้เวลากับตัวเอง หนังสือเล่มนี้ยังทำให้เห็นว่าการอยู่คนเดียวเป็น มันยังเกี่ยวโยงกับทักษะอีกหลาย ๆ อย่างที่สำคัญมากต่อความสำเร็จทั้งในชีวิตการเรียน การงาน และเส้นทางอาชีพ ไม่มีนักเรียนเกียรตินิยม นักกีฬาชั้นเยี่ยม นักธุรกิจชั้นยอด นักคิดค้นของโลก หรือศิลปินแห่งยุคคนไหนที่ไม่รู้ค่ามหาศาลของการมีเวลาได้อยู่คนเดียว ได้ทำอะไรคนเดียว ได้คิดอ่านตามลำพัง

พลังของการกล้าทำอะไรคนเดียว ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อย่างเช่น เฟสบุ๊ก อินสตาแกรม รวมถึงสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้โปรแกรมเหล่านี้ ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนตลอดเวลา จนขณะนี้ได้กลายเป็นยุคแห่งการเชื่อมต่อถึงกัน โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือเติมเต็มความต้องการ ที่มนุษย์ยอมรับอย่างเต็มใจ คนส่วนมากจึงพยายามหนีห่างจากการทำอะไรคนเดียว และพยายามไม่ให้ใครเห็นหรือรู้เวลาที่อยู่ตัวคนเดียว การมีความเชื่อเช่นนี้จะทำให้ฝืนคบกับคนที่เข้ากันไม่ได้ หรือเอาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มคนที่เข้ากันไม่ได้ เพียงเพราะไม่อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากถูกมองว่าน่าสมเพช การทำเช่นนี้ทำให้ไม่อาจเปิดเผยความเป็นตัวเอง และต้องใช้ชีวิตอย่างฝืนทน เพื่อให้กลมกลืนไปกับคนรอบข้าง จนนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจ คนจำนวนไม่น้อยเหนื่อยหน่ายกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปเลย แต่ก็หาทางออกไม่ได้

พลังของการกล้าทำอะไรคนเดียวคือ ความสามารถและทักษะที่ฝึกฝนได้ การใช้ชีวิตท่ามกลางความสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม โดยที่ยังตั้งมั่นในความคิดของตัวเอง และรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้ จะรู้สึกสนุกไม่ว่าจะอยู่กับผู้อื่นหรืออยู่คนเดียว แม้เวลาที่ต้องอยู่โดยลำพังก็จะไม่รู้สึกเหงา การจะเกิดความรู้สึกที่ดีเช่นนี้ได้ ต้องอาศัยการพูดคุยกับตัวเอง หรือที่เรียกว่า การสะท้อนตัวตน (Self-reflection)  จนเป็นนิสัย การสะท้อนตัวตนคือกระบวนการเรียนรู้ขั้นสูง ที่ต้องอาศัยการรับรู้และยอมรับค่านิยมของตัวเอง ให้ใช้มันเป็นพื้นฐานในการย้อนมองประสบการณ์ตัวเอง แล้ววิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนวิถี ความคิด หรือพฤติกรรมของตัวเองให้ถูกต้อง และพัฒนาตัวเองยิ่ง ๆ ขึ้นไป

บทที่ 1 การสะท้อนตัวตน

คนที่กลัวการอยู่คนเดียวมักไม่รู้จักตัวเองดี เพราะการอยู่หรือติดต่อพูดคุยกับใครสักคนตลอดเวลา ทำให้ไม่มีเวลาสะท้อนตัวตนของตัวเอง คนที่พูดว่าไม่มีความหวังในอนาคตก็เช่นกัน เพราะไม่รู้ว่าตัวเองถนัดหรือไม่ถนัดอะไร จึงไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี และถูกความกังวลหรือความสิ้นหวังเข้าครอบงำ ยิ่งรู้จักตัวเองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมองเห็นเส้นทางในการใช้ชีวิตได้ชัดเจน สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ในทุกด้าน เช่น การเลือกงาน ความสัมพันธ์กับผู้คน การใช้เงิน เป็นต้น และยังเป็นวิธีนำพาความสุขมาให้ด้วย

ตัวตนที่อ่อนแอนั้นไม่จำเป็นต้องพยายามเติมแต่ง หรือฝืนทำให้โดดเด่น แต่จงแสดงตัวตนที่เป็นอยู่ในตอนนี้ออกไป หากยอมรับว่าตัวเองเป็นคนเช่นนี้ และแสดงตัวตนนั้นออกไปเรื่อย ๆ ต่อให้เป็นคนอ่อนแอ ก็จะไม่รู้สึกกังวลกับมันอีกต่อไป ในทางกลับกัน หากเอาแต่กังวลถึงข้อเสียของตัวเอง จะรู้สึกเสียใจกับอดีตที่ผ่านมา ไม่มีใครทดแทนใครได้ ตัวเราเองคือหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่มีวันซ้ำกับใคร

เลิกอยู่กับใครสักคนตลอดเวลา ในที่ทำงานแห่งเดียวกัน ย่อมมีทั้งคนที่พูดว่า สนุกกับงาน กับคนที่บอกว่า เบื่องาน และอยากลาออก ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เช่นนี้ ไม่ได้เกิดจากใครมากำหนดว่าสนุก น่าเบื่อ มีความสุข ไม่มีความสุข แต่ความรู้สึกเหล่านี้แตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับว่ายอมรับสถานการณ์เช่นนั้นอย่างไร การยอมรับสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกในแง่ดี ทำให้ได้มองดูการเคลื่อนไหวของจิตใจของตัวเองจากจุดที่ห่างออกไป เหมือนเป็นการสร้างตัวเองอีกคนหนึ่งขึ้นมา หากทำได้เช่นนี้จึงจะเรียกว่าสะท้อนตัวตน เมื่อสะท้อนตัวตนบ่อย ๆ จะทำให้ได้ยินเสียงของตัวเองที่ซ่อนลึกอยู่ภายในได้อย่างรวดเร็ว หากฟังเสียงของตัวเองที่ซ่อนลึกอยู่ภายในได้คล่องแล้ว แม้แต่ในเวลาที่รู้สึกสับสน ก็ยังตัดสินใจตามความเชื่อมั่นของตัวเองได้โดยสัญชาตญาณ การจะไม่มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ที่สำคัญคือต้องย้อนมองประสบการณ์ของตัวเองเป็นประจำ และพยายามค้นหาสิ่งที่เป็นเหตุและผล

เลิกวิ่งหนีความเจ็บปวด การกระทำที่ต้องอาศัยความกล้าหาญ คนที่ไม่มีความกล้าหาญจะเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความรู้สึกของตัวเอง ไม่พยายามปฏิเสธตัวเอง จะต้องยอมรับในอารมณ์ที่เกิดขึ้นว่า นั่นคือความรู้สึกของเราโดยไม่ปฏิเสธ ถ้าพยายามปฏิเสธก็จะยิ่งเป็นการกดดันตัวเองมากขึ้น ไม่ให้กำลังใจตัวเองจนเกินไป เพียงเพราะนั่นคือทำนองครองธรรมที่ควรปฏิบัติ การยอมรับเสียงของตัวเองที่พรั่งพรูออกมาโดยธรรมชาติ ดังนั้นถ้ารู้สึกว่าเหนื่อย อยากพัก ให้ยอมรับความรู้สึกที่แท้จริงนั้นว่า เรากำลังอยากพัก การทำเช่นนี้จะทำให้หลุดจากความคิดว่า ต้องทำแบบนี้ แต่จะสังเกตเห็นว่าจิตใจที่แท้จริงกำลังบอกแบบนี้

เลิกจัดตารางงานแน่น การอยู่คนเดียวหรือความโดดเดี่ยว มีพลังในการฟื้นฟูตัวเองในแต่ละวัน ได้พบเจอผู้คนและเหตุการณ์มากมาย ทำให้ได้สะสมประสบการณ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน ยังดูดซับทั้งความรู้สึกและความรู้ใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น กังวล โกรธ ดีใจ เสียใจ บางครั้งยังเจอสถานการณ์ซึ่งตรงกันข้ามกับค่านิยม หรือแนวคิดของตัวเอง และต้องฝืนยอมรับผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้ดั่งใจ

มนุษย์ไม่ได้พัฒนาตนเองแค่จากการมีปฏิสัมพันธ์ หรือคลุกคลีกับผู้อื่น แต่จะต้องมีกระบวนการนำเอาสิ่งปลุกเร้าจากการคลุกคลีนั้นเข้ามาในตัว มากระทบกับความตั้งใจหรือค่านิยม จนถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่นนั้น จึงจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น บางคนยังไม่ชอบการใช้เวลาคนเดียว เป็นเพราะกระบวนการรวบรวมจิตใจให้เป็นหนึ่งของเขายังไม่ดีพอ ทำให้จิตใจยังสั่นคลอน คนเหล่านี้จึงมักทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความสันโดษ เช่น พยายามเอาตัวเองเข้าไปรวมกลุ่มกับคนอื่น เพื่อยืนยันการมีตัวตนของตัวเอง หรือใช้โซเชียลมีเดียเพื่อยืนยันว่าตัวเองมีความสัมพันธ์กับผู้คน นั่นคือจิตใจที่ยังไม่สุกปลั่งพอ

จริง ๆ แล้วคนที่มีสภาพจิตใจสุกปลั่งจะชอบความโดดเดี่ยว การทำงานหนักจนละเลยตัวเอง ไม่สามารถเผชิญหน้ากับความกังวล ความทุกข์ทรมานต่าง ๆ ทำให้มองไม่เห็นทางเลือกที่จะพักหรือเลิก ดังนั้นไม่ว่าจะงานยุ่งแค่ไหน ต้องหาเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง ต่อให้ที่ทำงานหรือสายงานที่ทำมีงานยุ่งมาก ก็เลือกจัดวิธีการทำงานให้ว่างได้ เพราะรู้ถึงความสำคัญของการใช้เวลาสะท้อนตัวตน การมีเวลาสะท้อนตัวตนตามลำพัง ช่วยให้เซ็นเซอร์ในตัวทำงานได้ไวขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ตัวเองถูกละเลย จะคิดและตอบโต้ได้อย่างชัดเจนว่า แบบนี้ดีแล้ว หรือไม่ก็มีอะไรแปลก ๆ เวลาที่ได้อยู่กับตัวเองคือ ช่วงเวลาสำคัญที่จะทวงคืนอำนาจควบคุมชีวิตของตัวเอง

เลิกโยนความผิดให้คนอื่น คนที่สนุกกับการอยู่กับตัวเอง ทำอะไรคนเดียวคือ คนที่ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง และควบคุมชีวิตตัวเองได้ คำว่ายืนหยัดได้ด้วยตัวเองในที่นี้หมายถึง ด้านการใช้ชีวิต(มีกำลังทางการเงิน) ส่วนควบคุมนั้นหมายถึง ด้านของจิตใจ ยิ่งเป็นคนพึ่งพาและควบคุมชีวิตตัวเองได้ก็ยิ่งมีอิสระภาพมากขึ้น แต่เวลาที่อยู่กับคนอื่นอิสรภาพนี้จะถูกจำกัดให้แคบลง ในอีกทางเวลาที่อยากทำอะไร หรืออยากไปที่ไหนแต่ทำไม่ได้ เพราะไม่มีคนไปด้วยนั่นก็ทำให้ชีวิตถูกจำกัดเช่นกัน แต่ถ้าไม่กังวลกับการทำอะไรคนเดียว จะไปไหนหรือสนุกสนานกับสิ่งต่าง ๆ ได้โดยลำพัง

การอยู่คนเดียวทำให้ไม่ต้องรับอิทธิพลหรือข้อจำกัดจากคนอื่น จึงตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง การที่ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความคิดและเกณฑ์การพิจารณาของตัวเองอย่างอิสระ โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นเช่นนี้เรียกว่า อิสรภาพ และสิ่งสำคัญที่ทำให้ได้มาซึ่งอิสรภาพที่ว่านี้ก็คือ สำนึกในการรับผิดชอบตัวเอง การจะหลุดพ้นจากความอ่อนแอ และได้มาซึ่งอิสรภาพและความสำเร็จ ต้องลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยคิดว่าทุกอย่างคือความรับผิดชอบของตัวเอง หากคิดได้แบบนี้จะคิดได้ว่าตัวเองควรทำอะไร ทั้งยังคาดเดาอนาคต และรู้จักเตรียมพร้อมต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

เลิกสร้างภาพ คนที่กลัวความโดดเดี่ยวคือ คนที่มักคิดว่าคนอื่นจะมองอย่างไร มักจะให้คนรอบข้างคิดว่า สุดยอดหรือน่าอิจฉา นั่นเป็นเหตุให้รู้สึกอยากเป็นประธานบริษัท อยากเป็นดารา อยากเป็นคนรวย เป็นต้น เมื่อกลัวจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง จนไม่ลงมือทำอะไร ทำให้รู้สึกเกลียดตัวเองแบบนี้ก็มีไม่น้อย การให้ความสำคัญกับคนอื่น ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมออกไปโดยหลอกตัวตน และจิตใจที่แท้จริงของตัวเอง ส่งผลให้สภาพจิตใจอ่อนล้า ความสามารถที่จะสนุกกับความโดดเดี่ยว จะทำให้ไม่แคร์สายตาคนอื่น และกล้าที่จะแสดงตัวตนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงใช้ชีวิตได้อย่างซื่อตรงต่อตัวเอง โดยไม่ต้องโกหกปิดบัง หรือสร้างภาพทำให้รู้สึกว่า ทุกวันช่างเป็นวันที่สดใสจริง ๆ

บทที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

คนที่มองการอยู่คนเดียวในแง่ลบคือ คนที่กลัวการถูกเกลียดแบบสุดขั้ว คนเหล่านี้เชื่อว่ามนุษย์ใช้ชีวิตโดยลำพังไม่ได้ หรือมนุษย์เป็นสัตว์สังคมอย่างไม่คิดเฉลียวใจ จึงพยายามให้ความสำคัญกับเพื่อนมาก ๆ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิด และสังคมก็สำคัญจริง ๆ แต่มันก็อาจทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นตัวเอง จมอยู่กับความเครียด และทำให้ตัวเองเจ็บปวดได้ด้วย หลายคนคิดว่าหากแสดงตัวตนที่แท้จริงออกไป จะถูกมองว่าไม่รู้จักดูสถานการณ์รอบข้าง ทำให้คบหากันยากหรือถูกกีดกัน แต่ถ้าเป็นตัวของตัวเองแล้วถูกเกลียด จะยังเรียกอีกฝ่ายว่าเพื่อนได้หรือ การใช้เวลาอยู่กับคนแบบนี้จะมีประโยชน์อะไร การยอมรับตัวตนที่แท้จริงของอีกฝ่าย และอีกฝ่ายก็ยอมรับในตัวตนที่แท้จริงของเรา ความสัมพันธ์แบบนี้ต่างหากที่เรียกว่าเพื่อน

บางคนอาจคิดว่าควรมีเพื่อนไว้ปรึกษาในยามคับขันเยอะ ๆ แต่คำว่ายามคับขันหมายถึงสถานะการแบบไหน แล้วคนที่สามารถจัดการกับสถานการณ์เช่นนั้นได้จะมีสักกี่คนกัน แน่นอนว่าการมีเพื่อนเยอะอาจมีข้อดีตรงที่ว่า เวลาไม่รู้จะปรึกษาใครย่อมมีคนแนะนำได้เยอะ แต่ปัจจุบันสามารถค้นหาและเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ เพื่อนที่ปรึกษาได้ในยามคับขันจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป ต่อให้มีเพื่อนมากมาย แต่หากไม่มีเงินหรือเวลา ซึ่งเป็นตัวเลือกในการทำเรื่องสนุกก็น้อยลง เพื่อนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมายขึ้น แต่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสุข ถึงจะไม่มีเพื่อนแต่บางคนก็มีความสุข เวลาได้ดูการ์ตูนหรือเล่นเกมที่ชอบ

ตอนนี้หากใครกำลังเครียดและเหนื่อยล้าในความสัมพันธ์กับผู้คน ลองทิ้งแรงกดดันจากทั้งโลกที่บอกว่า ต้องให้ความสำคัญกับเพื่อนไปก่อน แล้วถามตัวเองว่า อะไรคือสิ่งจำเป็นที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย เวลาไหนที่รู้สึกมีความสุข หรือเพื่อให้ตัวเองมีความสุขคนแบบไหนที่จำเป็น

เลิกฝืนคบ หากเป็นคนที่ไม่กลัวความโดดเดี่ยว จะไม่ทำอะไรด้วยเหตุผลว่า เพราะไม่อยากอยู่คนเดียว หรือเพราะดีกว่าอยู่คนเดียว จึงเลือกคบเฉพาะคนที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย และเลือกไม่คบคนที่ไม่ดีต่อตัวเองไปโดยปริยาย ความสัมพันธ์ที่เหลือไว้แต่คนดี ๆ โดยไม่ต้องประนีประนอม จะนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุข จงใช้ชีวิตโดยเอาตัวเองและเป้าหมายเป็นศูนย์กลางให้มากกว่านี้ ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองอยากทำ หรือเป้าหมายของตัวเองเป็นอย่างแรก หากไตร่ตรองให้ดีว่า จากนี้ไปจะใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่า จะคิดได้ว่าการหลอกตัวเอง การพูดคุยเรื่องไร้สาระกับคนที่ไม่จำเป็น เป็นการใช้ช่วงเวลาของชีวิตอย่างไร้ค่า

เลิกปกปิดข้อด้อยของตัวเอง คนกลัวการทำอะไรคนเดียว มักเสี่ยงที่จะแสดงข้อด้อยของตัวเองให้ใครเห็น เพราะกลัวว่าถ้าคนอื่นรู้ข้อด้อยของตัวเองจะโดนดูถูก หรือคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกระอาแล้วตีตัวออกห่างจนต้องอยู่คนเดียว ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ คนเหล่านี้ยังกลัวความผิดพลาดอีกด้วย เพราะเขาเชื่ออย่างแรงกล้าว่า ความผิดพลาดคือสิ่งเลวร้าย และไม่อยากให้คนอื่นมองว่าตัวเองไร้ความสามารถ เพราะกลัวผิดพลาดจึงไม่กล้าทำเรื่องท้าทายและทำผลงานอะไร กลายเป็นวงจรที่ทำให้เจ้าตัวไม่อาจสร้างความสำเร็จอะไรได้เลย เมื่อไม่ต้องคอยพยายามสร้างเรื่องให้สอดคล้องกันจิตใจจึงปลอดภาระ และใช้ชีวิตอย่างที่เป็นตัวเองได้ตลอดเวลา การไม่ต้องปกปิดตัวตนที่แท้จริงคือความรู้สึกอันแสนสบาย สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกลียดตัวเองคือการมีเพื่อนที่ไม่ตรงกับนิสัย ถ้าอยู่ในกลุ่มนั้นแล้วรู้สึกว่านิสัยไม่ดี ให้สงสัยได้เลยว่ากำลังคบกับคนที่ไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับในความเป็นตัวเอง กรณีเช่นนี้ให้ลองเปลี่ยนกลุ่มเพื่อนไปเลย หากเข้ากับเพื่อนที่โรงเรียนหรือที่ทำงานไม่ได้ ก็หาเพื่อนใหม่ที่ชอบงานอดิเรกหรือดนตรีเหมือนกัน ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

เลิกปกปิดความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง คนเราเป็นเหมือนกระจกเงา หากใช้คำพูดห้วน ๆ อีกฝ่ายก็จะพูดห้วน ๆ กลับ หากเราพูดจาสุภาพด้วยรอยยิ้ม อีกฝ่ายก็จะยิ้มตอบเช่นกัน ดังนั้นคนที่รู้สึกว่าถูกกีดกัน ทั้งที่อยู่ท่ามกลางผู้คน จริง ๆ แล้วเป็นเพราะเจ้าตัวเป็นฝ่ายกีดกันคนอื่น และปิดกั้นตัวเองโดยไม่รู้ตัว การกดดันตัวตนไว้ข้างในคือการปิดบังตัวเอง ซึ่งจะส่งผลให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ไว้ใจ ต่อต้าน ไม่เชื่อใจ หรือไม่สนใจ ทุกคนล้วนผ่านอะไรมาไม่เหมือนกัน ตัวเราเองไม่ใช่แค่คนเดียวที่โชคร้าย เมื่อเข้าใจได้เช่นนี้จะไม่จมปลักอยู่กับความสิ้นหวัง คนที่รู้จักการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นคือ คนที่หมั่นสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง มนุษย์ทุกคนต่างต้องการเป็นที่ยอมรับ หรือมีความคิดที่ว่าอยากให้คนอื่นยอมรับ หากอยากเป็นที่ยอมรับของคนอื่น ต้องเป็นฝ่ายยอมรับเขา รักเขา และให้ความสำคัญกับเขาก่อน เมื่อรู้สึกได้เช่นนี้ จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป คนที่รู้จักยื่นมือเขาหาคนอื่นได้โดยไม่อึดอัดใจนั้น แม้อยู่คนเดียวก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับคนอื่นตลอดเวลา

เลิกกลัวว่าจะถูกเกลียด คนเรามักรู้สึกไม่ดีกับคนที่เข้าใจยาก และรู้สึกไม่สบายใจเวลาที่ต้องอยู่กับคนแบบนี้ การตีความ ระบุ หรือจัดกรอบให้ผู้อื่นมากเท่าไหร่ จะยิ่งเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น การทำเช่นนี้จะส่งผลให้ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ทำให้สภาพจิตใจมั่นคง แต่คนที่กลัวความโดดเดี่ยวส่วนมาก มักระบุหรือจัดกรอบให้คนอื่นน้อย ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ต่อผู้คนหลากหลายรูปแบบที่ต่างไปจากตัวเอง ทำให้เหนื่อยล้าในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมัวแต่คิดว่า คนรอบข้างจะมองตัวเองอย่างไร แต่ไม่คิดที่จะเข้าใจคนอื่นเลย การด่วนตัดสินคนอื่นมากเกินไป อาจส่งผลให้ยิ่งเข้าใจอีกฝ่ายผิดได้เช่นกัน

เลิกปรับตัวตามวิถีของคนอื่น คนที่ชอบทำอะไรคนเดียว มักทำอะไรตามวิถีของตัวเอง เวลาได้ยินคำว่าวิถีของตัวเอง บางคนอาจมองภาพในแง่ลบ เพราะไปคิดถึงคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยไม่เคยต้องง้อใคร ความสามารถในการทำตามวิถีของตัวเองในที่นี้ ไม่ใช่การทำอะไรตามอำเภอใจ แต่คือการเคารพในวิธีการใช้ชีวิตของตัวเอง โดยไม่โอนเอนตามผู้อื่น แม้จะได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเอง หรือการใช้ชีวิตจากคนอื่น ก็ไม่ได้แปลว่าต้องโอนเองตามคนอื่น ความสำเร็จที่สังคมยอมรับกับความสำเร็จในแบบของเราเองไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ความสุขที่คนอื่นไขว่คว้าก็ไม่เหมือนกับความสุขของเราเอง ดังนั้นจะต้องเชื่อมั่นในค่านิยมของตัวเอง ว่านี่คือสิ่งที่ดีสำหรับตัวเราเอง ไม่ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร และกล้าลงมือทำตามความคิดนั้น

เลิกฝืนทนอยู่กับที่ทำงานเดิม คนที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็รู้สึกโดดเดี่ยว เป็นเพราะเจ้าตัวไม่สามารถแสดงตัวตนที่แท้จริง และเอาแต่คอยปรับตัวตามคนอื่น หรือไม่ก็เพราะฝืนทนอยู่กับคน กลุ่มคนที่มีนิสัยหรือวิธีคิดต่างจากตัวเอง หากสร้างบุคลิกในที่ทำงานซึ่งต่างจากตัวตนที่แท้จริง ก็จะรู้สึกอึดอัดเพราะในที่ทำงานมีแต่คนที่มีค่านิยมต่างจากเรา แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในที่ทำงานได้ด้วยตัวเอง ในกรณีเช่นนี้สามารถรีเซ็ตทุกอย่างใหม่ได้ด้วยการเปลี่ยนงาน ความเจ็บปวดทรมานในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ก่อให้เกิดความเครียดได้พอ ๆ กับความเจ็บปวดอื่น ๆ ในชีวิต

ดังนั้น หากตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้จริง ๆ การเปลี่ยนงานเพื่อปลดแอกตัวเองก็ถือเป็นเรื่องคุ้มค่า หากเปลี่ยนงานโดยไม่คิดให้ดี ก็อาจเสี่ยงเจอปัญหาซ้ำเดิม ทำให้ต้องเปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ ต้องมองย้อนกลับไปว่า การแสดงออกหรือค่านิยมแบบไหนในตัวเรา ที่ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่น่าอึดอัด แล้ววิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ไม่เข้าใจ กับนิสัยของเรา กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แบบที่ต้องการด้วยตัวเองให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แทนที่จะรอให้คนรอบข้างเปลี่ยน ตัวเราต้องเป็นฝ่ายขับเคลื่อนด้วยความตั้งใจของตัวเอง และต้องเข้าใจให้ดีว่าตัวเองชอบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแบบไหน ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนงาน คนที่โดดเดี่ยวได้จะเข้าใจถึงทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ตัวเองมีอยู่ ความสามารถนี้จะช่วยนำพาไปสู่งานที่เหมาะกับนิสัย และส่งผลให้มีระดับความพึงพอใจในชีวิตสูงขึ้น

ดังนั้น หากเป็นคนไม่ชอบสุงสิงกับใคร ก็ควรเลือกงานที่ไม่ต้องวุ่นวายกับคนมากนัก เช่น งานดีไซเนอร์หรือนักเขียน ที่ใช้วิธีรับส่งงานทางคอมพิวเตอร์ได้ ต่อให้เป็นคนที่ไม่ชอบสุงสิงกับใคร คนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหากับการติดต่อพูดคุยทางอีเมล์ หรือถ้าเป็นคนไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับคนอื่น ก็ควรเลือกงานที่ทำได้โดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจมากนัก เช่น นักวิชาการ นักวิจัย พนักงานในโรงงานหรือโกดัง คนขับรถ เหล่านี้ถือเป็นงานที่อาศัยความร่วมมือในการทำงานน้อยกว่างานอื่น ๆ หากเป็นคนไม่ชอบเข้าสังคม อาจเลือกทำธุรกิจตัวเองก็ได้ สำหรับคนที่ไม่อาจแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา และกำลังรู้สึกอึดอัดในใจอยู่ แนะนำให้ลองพาตัวเองไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เช่น ไปเข้าคอร์สเรียนเสริมทักษะต่าง ๆ ดู

หากไม่อาจเปิดเผยตัวจริงในการทำกิจกรรมนั้นได้ ให้ลองกำหนดบุคลิกจำลองขึ้นมา แล้วเล่นบทตามนั้น หากทำในสิ่งที่อยากทำออกไปได้ จะรู้สึกว่าได้ปลดปล่อยและเป็นอิสระมากขึ้น

บทที่ 3 ค่านิยม

ความหมายหนึ่งของการเติมเต็มชีวิตคือ การใช้ชีวิตตามความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง และสร้างภาพสภาพแวดล้อมหรือสังคม ที่ยอมรับเมื่อทำเช่นนั้น คนที่สนุกกับการอยู่คนเดียว มักใช้ชีวิตตามความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง เพราะคิดว่าเป็นตัวเองแบบนี้ก็ดีแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องหลอกลวงหรือฝืนใจทำตามคนรอบข้าง และใช้ชีวิตเป็นตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ ไม่มีสิ่งใดที่จะบ่งบอกถึงการใช้ชีวิตในสังคมอย่างเติมเต็มได้ดีกว่านี้อีกแล้ว

การวิเคราะห์ถึงสิ่งสำคัญและไม่สำคัญกับตัวเอง การวิเคราะห์นี้จะต้องใช้ตัวเองเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่หลงเชื่อสามัญสำนึกของคนในสังคม หรือคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่น แค่ลองแยกแยะว่าชอบหรือเกลียดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ช่วยให้เข้าใจค่านิยมของตัวเองได้ลึกซึ้งขึ้นเยอะ การจะค้นหาค่านิยมที่สำคัญให้เจอ ต้องอาศัยการสะท้อนตัวตน มองย้อนกลับไปที่การกระทำของตัวเอง และคิดถึงสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น การทำเช่นนี้เป็นประจำจะทำให้มองเห็นรูปแบบของความคิด และการกระทำของตัวเอง การตัดสินใจหรือการกระทำมีพื้นฐานมาจากค่านิยมก็จริง แต่ต้องสร้างตัวเราอีกคนหนึ่งที่มีความสุขุมขึ้นมา เพื่อคิดอย่างมีเหตุผลอีกชั้นว่า ค่านิยมนี้จะนำพาความสุขมาให้ได้หรือไม่ อาจปรับเปลี่ยนความคิดให้ยอมรับค่านิยมที่แท้จริงของตัวเองได้จากใจจริง พื้นฐานการตัดสินใจหรือแนวทางพฤติกรรมจะชัดเจนขึ้น แล้วจะแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ และอะไรคือสิ่งไม่สำคัญสำหรับชีวิต

เลิกให้ความสำคัญกับสามัญสำนึก คนที่ต้องอยู่กับคนอื่นตลอดเวลา จะได้รับอิทธิพลจากคนอื่นได้ง่าย เพราะกลัวถูกกีดกันจึงเอาแต่คอยตามคนอื่น หรือพูดอีกอย่างว่าให้ความสำคัญกับเสียงของคนอื่นมากกว่าเสียงของตัวเอง ดังนั้นเวลาที่เลือกสิ่งใดก็ตาม แม้จะดูเหมือนว่าเลือกด้วยตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วคือการที่คนอื่นเลือกให้โดยที่ไม่รู้ตัว นั่นก็เท่ากับว่าใช้ชีวิตเป็นคนอื่นไม่ใช่ตัวเอง สามัญสำนึกเป็นเพียงสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดหรือปฏิบัติ การที่เชื่อในสามัญสำนึกเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ก็เท่ากับใช้ชีวิตตามแบบคนส่วนใหญ่เหล่านั้น แน่นอนว่าไม่จำเป็นต้องละทิ้งจริยธรรม ศีลธรรม สามัญสำนึก หรือจิตสำนึกที่ดีในสังคมทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย

เลิกใส่ใจกับมาตรฐานสังคม คนที่กลัวความโดดเดี่ยวจะคิดว่าต้องคอยเข้าหาคนอื่น และใช้ชีวิตในแนวนอนอยู่ตลอด ทำให้กลายเป็นคนที่ใส่ใจกับมาตรฐานในสังคมมากเกินไป เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่จะเอาเงินไปใช้ในแบบที่ตัวเองต้องการ หรือสร้างอาชีพของตัวเอง กลับไปเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วรู้สึกไม่พอใจขึ้นมา แทนที่จะทำเช่นนั้น ควรมองไปที่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต แล้วคิดถึงทางเลือกชีวิตในแนวตั้งดีกว่า หากสูญเสียความเป็นตัวเอง ก็จะเอนเอียงไปตามค่านิยมของสังคม จะถูกชักจูงไปตามมาตรฐานของคนอื่น ต้องยอมรับอดีตและปัจจุบันให้ได้ทั้งหมด และใช้สิ่งเหล่านั้นเป็นฐานในการสร้างตัวเองในอนาคต โดยคิดว่าตัวตนที่ผ่านมาก็โอเค ในตอนนี้ก็โอเค แต่เพราะยังมีวิธีใช้ชีวิตอย่างที่คาดหวังในอนาคต

ดังนั้น จากนี้ไปต้องทำแบบนี้ หากเกิดสับสนว่าแบบนี้จะดีจริง ๆ หรือ แล้วอาจเดินไปเจอทางตันเข้า ก็ขอให้ลองมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของตัวเองดู การสังเกตพฤติกรรมในอดีตของตัวเอง ด้วยมุมมองของตัวเองในปัจจุบัน จะทำให้คิดได้ว่า ทำไมตอนนั้นถึงคิดอะไรเด็ก ๆ แบบนี้ ตอนนั้นน่าจะทำแบบนี้แท้ ๆ ก็จะทำให้ยิ้มได้ และรับรู้ได้เองว่าโตแล้ว และพัฒนาขึ้นมามากแค่ไหนแล้ว

เลิกใส่ใจการประเมินจากคนอื่น คนที่ทำอะไรคนเดียวไม่ได้ มักจะใส่ใจการประเมินจากคนอื่นมากเกินไป กลัวคนอื่นจะมองตัวเองเป็นเบี้ยล่าง คนประเภทนี้มักไม่มั่นใจในค่านิยม หรือเกณฑ์การพิจารณาของตัวเอง จึงรับรู้ตัวเองจากการประเมินของคนอื่น เรียกว่ารับรู้ตัวตนของตัวเองผ่านสายตาของคนอื่นเท่านั้น แต่คนที่มีความสุขกับการทำอะไรคนเดียว จะไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองตัวเองอย่างไร การที่เขาอยู่คนเดียวได้ เป็นเพราะเขาเชื่อในตัวเอง และยอมรับตัวตนจากการประเมินตัวเอง การยอมรับในความแตกต่างว่า คนอื่นก็มีความสุขในแบบของเขา ตัวเราก็มีความสุขในแบบของเรา ทำสิ่งต่าง ๆ ไปตามจังหวะของตัวเอง และค่อย ๆ เติบโตขึ้นจนจิตใจมีความสุกปลั่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทุกคนมีระดับของจิตใจที่ต่างกัน การเติบโตของสภาพจิตใจเป็นตัวกำหนดนิสัยของมนุษย์แต่ละคน วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความมั่นใจคือ การที่รู้คุณค่าของตัวเอง สะสมประสบการณ์ความสำเร็จให้มาก ความสำเร็จจะช่วยให้จิตใจมั่นคงและยืดหยุ่น ไม่หวั่นไหวไปกับเรื่องเล็กน้อย ทำให้รู้สึกว่าชีวิตในแต่ละวันนั้นสงบสุข

บทที่ 4 พฤติกรรม

ความรู้สึกเชื่อมโยง ไม่ได้หมายถึงการเชื่อมโยงกับใครสักคนที่เห็นอยู่ตรงหน้า มีใครอยู่เคียงข้าง หรือมีครอบครัว แต่หมายถึงการเชื่อมโยงกับหัวใจของตัวเอง ซึ่งนั่นก็หมายถึงการเชื่อมโยงกับความฝันหรือเป้าหมายของตัวเอง เวลาที่กำลังมีสมาธิกับการทำงาน จะไม่คิดว่าตัวเองช่างโดดเดี่ยวเหลือเกิน คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือเหงาจึงควรหาอะไรที่ช่วยให้ใจจดจ่อทำ การทำสิ่งที่ชอบเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ให้ผลดี ยิ่งถ้าทำได้ดีกระบวนการที่ผ่านมาจะทำให้รู้สึกถึงพัฒนาการและความสำเร็จของตัวเอง ส่งผลให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้น หากลองทำดูแล้วรู้สึกไม่ชอบหรือไม่มีไฟที่จะทำสิ่งนั้นก็ให้เลิกไปเลย แล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน อะไรที่ไม่ถนัดหรือทำแล้วรู้สึกทรมานก็ควรโยนทิ้งไป แล้วเลือกเก็บไว้เฉพาะสิ่งที่ทำให้มีความสุขก็พอ ไม่ว่าจะเรื่องงาน กีฬา หรืองานอดิเรก จะต้องมองไปถึงอนาคต และเลือกสิ่งที่ตัวเองทำได้อย่างจดจ่อ

หากรู้ตัวว่าตัวเองควรทำอะไร ต่อให้ไม่มีใครบังคับ ก็จะคิดลงมือทำสิ่งนั้นได้ด้วยตัวเอง  งานที่เหมาะกับตัวเองไม่ได้หมายถึงงานที่เข้ากับนิสัยแต่กำเนิด แต่คืองานที่ได้ใช้เวลาและเหลาทักษะ ทำให้สนุก รู้สึกว่าตัวเองเติบโตขึ้น พัฒนาขึ้น และเกิดความพึงพอใจการจะได้เจองานเช่นนี้ หรือไม่ถือเป็นปัญหาของเราเอง เพราะไม่รู้ข้อดีของตัวเอง ไม่กำหนดเป้าหมายระยะสั้น ไม่คิดที่จะเสริมทักษะอย่างตั้งอกตั้งใจ แค่ทำแบบแกน ๆ ไปวัน ๆ ย่อมไม่มีวันพัฒนาตัวเองได้ ถามตัวเองว่าทุกวันนี้เข้านอนทั้งที่ยังมีแรงพอที่จะทำอะไรอีกหรือเปล่า จะใช้ชีวิตต่อไปยังไงดี คุณค่าของตัวเราอยู่ที่ไหน เมื่อตอบคำถามเหล่านี้ได้ จะเกิดความพอใจในชีวิตของตัวเอง

เลิกคิดมากจนไม่กล้าลงมือทำ คนที่คิดมากคือคนที่ไม่ได้ใช้ความคิด เขาแค่ยึดติดกับเรื่องหนึ่งแล้ววนเวียนอยู่กับสิ่งนั้น แค่นึกถึงเรื่องบางเรื่องบนอยู่ในหัวตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าหันหน้ารับฟังเสียงของตัวเอง แต่ตกอยู่ในสภาพนึกขึ้นมาในหัวเฉย ๆ คนที่ชอบคิดนู่นคิดนี่มากเกินไปจนจิตตกมักมีลักษณะเช่นนี้ ต่อให้มีทางเลือกอื่นอีกมากมายแค่ไหนก็มองไม่เห็น และเอาแต่จมอยู่ในความคิดของตัวเอง คนเหล่านี้จึงไม่อาจวาดภาพอนาคตที่ดีขึ้นได้ จึงไม่แปลกที่จะไม่ลงมือทำอะไรเลย

เวลาที่เจอเรื่องกลุ่มใจ คนที่ไม่สะท้อนตัวตนเป็นประจำ จะเกิดการลนลาน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เรื่องกลุ้มเป็นสิ่งที่ต้องก้าวผ่านไปทีละเปราะ ด้วยการคิดหาวิธีแก้ไขด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอให้ใครมาแก้ให้ ต้องนำเรื่องกลุ่มนั้นมาวิเคราะห์ เพื่อที่จะนำไปสู่การพิจารณา ปฏิบัติ ตรวจสอบ และหาข้อสรุปออกมา การหาข้อสรุปให้ได้ถือเป็นการใช้ความคิด

วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลคือ การเขียนเรื่องกลุ้มของตัวเองออกมาเป็นตัวหนังสือ เป็นการดึงตัวเองออกมาจากสิ่งนั้น และช่วยให้มองสถานการณ์จากมุมมองคนนอกได้ การดึงเรื่องกลุ่มที่วนเวียนอยู่ในหัวออกมาวางไว้บนวัตถุในโลกของความเป็นจริงที่เรียกว่ากระดาษ เป็นเหมือนการบังคับให้ตัวเราอีกคนหนึ่งได้มองเห็นสิ่งนั้น ซึ่งจะช่วยดึงสติกลับคืนมาได้ หากยอมรับความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ และคิดว่าแล้วต้องทำยังไงต่อ เรื่องกลุ้มจะกลายเป็นโจทย์แทน เมื่อค้นหาข้อมูลจะรู้ว่ามีตัวเลือกหรือวิธีแก้โจทย์นั้นอยู่ และเข้าใจได้ว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นใด จะต้องมีทางแก้หรือทำให้ดีขึ้นได้เสมอ

เลิกระดมสมองด้วยกันทุกคน การค้นหาสิ่งที่จะจุดประกายความคิด อาจต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากภายนอก แต่การพัฒนาไอเดียต้องอาศัยการอยู่คนเดียวโดยไม่มีใครรบกวน คนส่วนมากมักแค่รู้หรือมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ต่อแรงกระตุ้นจากภายนอกเท่านั้น เพราะการอ่านเฉย ๆ การจำได้เฉย ๆ การโต้ตอบไปว่าไม่มีเหตุผลเฉย ๆ หรือการยอมรับว่าอย่างนี้เอง หรือเป็นเรื่องง่ายกว่ามาก แต่คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือคนที่ชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ มักเอาแรงกระตุ้นนั้นไปปรับแต่ง หรือขัดเกลาความคิดหรือพฤติกรรมของตัวเองอยู่เสมอ เขาจะหาข้อสันนิษฐานจากสิ่งที่คิดได้ แล้วพิสูจน์หรือเปรียบเทียบกับความเป็นจริง และสร้างผลผลิตออกมาให้โลกได้เห็น

เลิกปรึกษาแล้วค่อยตัดสินใจ ในจุดที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองเท่านั้น แน่นอนว่าจะฟังความเห็นหรือเสียงสนับสนุนจากคนอื่นก็ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วคนตัดสินใจจะต้องเป็นตัวเราเอง เวลาที่ต้องเลือกทิศทางของชีวิต เช่น เลือกสถาบันที่จะเรียนต่อ เลือกบริษัทที่จะเข้าทำงาน เลือกว่าจะทำงานแขนงไหน หรือจะแต่งงานหรือไม่ จะต้องขุดลึกลงไปว่า กำลังให้ความสำคัญกับอะไร และจงเลือกตามความรู้สึกของตัวเองว่า อยากทำอย่างไร

คนที่สะท้อนตัวตนไม่มากพอมักคิดถึงแต่ความเสี่ยง หรือรู้สึกกังวลอยู่เสมอ แน่นอนว่าความรู้สึกคือพื้นฐานในการตัดสินใจ แต่ถ้าไม่เอาความรู้สึกนั้นมาใคร่ครวญ ร่วมกับเหตุผลอย่างมีหลักการ เพื่อหาข้อสรุปกับตัวเองว่า ตกลงจะทำหรือไม่ทำ ก็จะคิดถึงแต่เรื่องในแง่ลบ ส่งผลให้ตัดสินใจลงมือทำไม่ได้เสียที หากคิดแบบง่าย ๆ ชีวิตทุกคนจะแค่ตื่นเช้าไปทำงานแล้วก็กลับบ้านนอน พอถึงวันรุ่งขึ้นก็ตื่นแต่เช้าแล้วกลับมานอนตอนกลางคืน วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วก็ทำงานแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา 40 ปีก็ได้ แต่สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่านั่นคือ การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขหรือไม่ก็คือ ระหว่างนั้นได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำด้วยหรือเปล่า เป็นเพียงการขายเวลาช่วงที่ตื่นอยู่ เพื่อเงิน เพื่อตำแหน่งสูง ๆ หรือเพื่อสร้างชื่อเสียงเท่านั้น

การใช้เวลาย้อนมองเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งสำคัญ คนที่ไม่หันหน้าเข้าหาตัวเอง จะเห็นปลายทางหรืออนาคตของเส้นทางที่อยู่ตรงหน้าไม่ชัดเจน ทำให้รู้สึกกังวลและตัดสินใจอะไรไม่ได้ ลองมาเขียนชีวิตของตัวเองหลังจากนี้กัน เขียนสิ่งที่คิดออกมาว่าอยากเป็นแบบนี้ให้ได้ก่อนอายุเท่านี้ หรือจะทำแบบนี้ตอนอายุประมาณเท่านี้ จะเป็นสิ่งที่ชื่นชอบหรือว่าฝันไว้ก็ได้ เมื่อเขียนออกมาแล้วจะมองเห็นเส้นทางว่า งั้นภายใน 5 ปีนี้ต้องทำอะไรบ้าง ปีนี้จะทำอะไร และเดือนนี้จะทำอะไร เมื่อมองเห็นเช่นนั้นแล้ว จะย้อนมองดูตัวเองในแต่ละวันเป็นประจำ ซึ่งช่วยให้ตรวจสอบตัวเองง่ายขึ้น คนที่ไม่ค่อยคิดอะไรด้วยตัวเองคนเดียวมักเป็นคนขี้กังวล และต้องขอคำปรึกษาจากเพื่อนหรือคนรู้จักเสมอ แต่เพื่อนหรือคนรู้จักจะไม่รับผิดชอบอะไรด้วย พวกเขาจึงให้คำแนะนำโดยไม่ต้องคิดอะไร แล้วจะยังต้องการคำแนะนำแบบนี้อีกหรือ

เลิกหนีปัญหา การถามและตอบกับตัวเอง คือหนึ่งในทักษะการแก้ปัญหาที่ดีเยี่ยม เมื่อต้องตั้งคำถามกับตัวเอง และหาคำตอบด้วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ไหน ก็จะผ่านพ้นไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ชีวิตคนเราเต็มไปด้วยการเลือก ดังนั้น คงไม่เป็นการพูดเกินจริง หากจะบอกว่าวิธีหรือเนื้อหาในการตั้งคำถาม คือตัวกำหนดโลกของเราเอง คนที่ชีวิตดี คนที่มีความสุข คือคนที่ตั้งคำถามเก่ง เพราะหากตั้งคำถามเป็น คำตอบก็จะยิ่งมีคุณภาพ ทำให้ได้ใช้ชีวิตในโลกด้วยระดับจิตใจที่สูง

หลายเรื่องที่คิดว่าเป็นปัญหา หากแยกย่อยออกมาว่ามันมีความหมายอย่างไร จะรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ปัญหาเลย จึงไม่จำเป็นต้องแก้มัน โดยพื้นฐานแล้วเรื่องกลุ้มใจของคนเราเป็นเพียงมโนภาพเท่านั้น หากคิดได้เช่นนี้เรื่องกลุ้มใจก็จะหายไปเกือบหมด เหลือเพียงเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขจริง ๆ แทนที่จะหนีต้องเผชิญหน้ากับมันตรง ๆ หากคิดว่าสำคัญจริง ๆ ก็ให้ลงมือทำ ถ้าไม่สำคัญก็ไม่ต้องทำอะไร นี่จะช่วยให้ยอมรับตัวตนที่แท้จริง และมีแรงขับเคลื่อนที่จะใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

เลิกคิดลบ คนเรามีนิสัยในการใช้ความคิดไม่เหมือนกัน คนจำนวนไม่น้อยที่มักเผลอคิดลบไปก่อน กรณีเช่นนี้ต้องเผชิญหน้ากับตัวเองให้มากขึ้น จนกว่าจะได้ยินเสียงของตัวเอง หากฝึกฝนจนสามารถตีความสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวกให้เป็นนิสัยได้ ต่อให้ในอนาคตจะต้องเจอเรื่องที่ดูเหมือนเรื่องทุกข์ ก็จะก้าวผ่านไปได้อย่างเข้มแข็ง ความมั่นใจนี้จะทำให้กังวลต่ออนาคตน้อยลง มองหาความสุขได้ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์แบบไหน นั่นกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ให้รู้สึกว่า อนาคตจะต้องสดใสมีความสุขแน่ การควบคุมการประเมินตัวเองโดยรู้ว่า สิ่งนี้จะทำให้มีความสุขมากขึ้น ต่อให้ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ หากมองว่านั่นคือประสบการณ์ที่มีความหมาย ก็จะยอมรับได้ว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะช่วยให้แข็งแกร่งขึ้น หากยอมรับเหตุการณ์ทุกอย่างได้เช่นนี้ ช่องว่างระหว่างความฝันกับความเป็นจริงจะแคบลง แล้วจะไม่เศร้าหรือสิ้นหวังอะไรง่าย ๆ

บทที่ 5 อ่านหนังสือ

คนที่กลัวการทำอะไรคนเดียว มักให้ความสำคัญกับการติดต่อกับใครสักคน จึงใช้เวลาไปกับการพูดคุย หรือการใช้โซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก ทำให้มีเวลาอ่านหนังสือน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น คนที่เผชิญหน้ากับตัวเองไม่เป็น ยังไม่อาจเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสังคม หรือตัวเองกับคนรอบข้างได้ จิตใจของคนจะมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อควบคุมระยะห่าง และระดับของอิทธิพลระหว่างตัวเองกับสังคม หรือตัวเองกับคนรอบข้างอย่างเหมาะสม แต่เพราะคนที่ไม่ฝึกเผชิญหน้ากับตัวเอง ไม่มีความรู้มากพอว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมหรือที่เกิดกับตัวเอง ส่งผลกระทบต่อตัวเองอย่างไรบ้าง จึงรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสังคมหรือชีวิตตลอดเวลา เพื่อการนี้สิ่งที่อยากแนะนำเป็นอันดับแรกก็คือ การอ่านหนังสือ ปัจจุบันมีหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตแทบทุกแขนง ดังนั้นการอ่านหนังสือจึงเป็นวิธีหาความรู้ บนโลกใบนี้ได้อย่างดีเยี่ยมและราคาย่อมเยา

เลิกปล่อยให้ข้อมูลชักจูง การใช้เวลาอยู่คนเดียวด้วยการอ่านหนังสือ รวมถึงประโยชน์ของการอ่านไปแล้ว แต่ควรเลือกอ่านหนังสือแบบไหน แน่นอนว่าจะอ่านหนังสือที่ตัวเองสนใจก็ได้ แต่ควรเลือกอ่านหนังสือเกี่ยวกับสิ่งที่จะนำพาความสุขมาให้ตัวเองและครอบครัวจะดีกว่า เช่น การเลือกอ่านหนังสือด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย หรือสุขภาพ ความรู้ด้านเศรษฐกิจได้แก่การเงิน การลงทุน การลงทุนในต่างประเทศ ดอกเบี้ย ระบบภาษี กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ข้อมูลทั้งหมดที่อาจส่งผลต่อการเงินในครอบครัว รวมไปถึงเรื่องใกล้ตัวเช่น หลักการทำงานของบัตรเครดิต ซึ่งรวมถึงเรื่องของระบบสะสมคะแนน เงินดิจิทัล ข้อมูลส่วนลดต่าง ๆ การรู้ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เจอทางเลือกที่เป็นประโยชน์ด้านการเงิน และช่วยให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น การศึกษาความรู้ด้านกฎหมาย ยังช่วยให้ตัวเองไม่ถูกเอาเปรียบ หรือต้องเจอความเสี่ยงต่าง ๆ

สุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อก้าวเริ่มเข้าสู่วัย 40 เพราะการมีสุขภาพที่ดี ทำให้ได้ทำสิ่งท้าทายต่าง ๆ และใช้ชีวิตได้อย่างสนุกสนาน การที่มีความรู้เหล่านี้เป็นเพราะอ่านหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือบทความบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ขณะพบปะ หรือพูดคุยกับผู้คน การหาเวลาเพื่ออ่านหนังสือเงียบ ๆ คนเดียวอยู่เสมอ จะสิ่งที่ดีทำให้มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย และสุขภาพมากพอ ช่วยขจัดความรู้สึกกังวลในการใช้ชีวิตให้ลดน้อยลงด้วย

เลิกพูดสั้น ๆ แค่ว่าตายแล้วหรือน่ารักจัง ยิ่งอ่านหนังสือมากยิ่งรู้กฎหรือโครงสร้างของสิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้มากขึ้น ทำให้คลายกังวลและมีความหวัง มีความรู้ช่วยแก้ความกังวล และทำให้ข้ามผ่านอุปสรรคได้ การอ่านหนังสือยังทำให้รู้ศัพท์มากขึ้น และเชื่อมโยงกับความสุขมากขึ้น ยิ่งรู้ศัพท์มากก็ยิ่งมีความสุขได้ง่าย ทักษะการใช้คำศัพท์ที่ดี จะนำไปสู่การใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองคาดหวังได้ และวิธีหนึ่งที่ช่วยให้มีทักษะนี้ก็คือ การอ่านหนังสือ

เด็กที่อ่านหนังสือมักมีบุคลิกเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเขารู้วิธีแสดงออกทางอารมณ์และรู้คำศัพท์ เพื่อทำความเข้าใจตัวเองและสังคมได้ดี ทำให้เจ้าตัวยอมรับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย ด้วยการรู้ศัพท์มาก ทำให้สื่ออารมณ์หรือความรู้สึกข้างในจิตใจออกมาได้ดี จึงจัดการกับอารมณ์นั้นได้ง่าย แต่ถ้าสื่อความกังวลของตัวเองออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ จะระบุไม่ได้ว่าสาเหตุของเรื่องกลุ้มนี้คืออะไร เมื่อไม่รู้สาเหตุย่อมไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ได้แต่กลุ้มใจอยู่อย่างนั้นต่อไปเรื่อย ๆ

มนุษย์เรารับรู้สิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ รวมถึงตัวตนของเราเองได้ด้วยคำพูด ดังนั้น ความสามารถในการสื่อออกมาเป็นคำพูด จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และจะทำให้มีความสุขได้มากกว่า คนที่สื่อออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ เป็นที่รู้กันว่าภาษาคือเครื่องมือสื่อสารของมนุษย์ ความสามารถในการใช้ภาษาจำเป็นต่อการสร้างความสนิทสนมกับผู้คน ผลักดันให้คนทำในสิ่งที่ต้องการ หรือทำให้คนอื่นเข้าใจในตัวเราเอง ในทางกลับกันหากรู้ศัพท์น้อย อีกฝ่ายจะเข้าใจหรือทำตามที่ต้องการได้ยาก อีกทั้งการเลือกใช้คำผิด ก็อาจสร้างปัญหาหรือสะสมความรู้สึกขุ่นเคืองใจได้

บนโลกนี้มีทั้งคำในแง่บวกและแง่ลบ จะเลือกพูดคำไหนถือเป็นสิทธิ์ของผู้พูด ขอเพียงไม่ใช่คำพูดเหยียดหยามคนอื่น จะพูดคำไหนยังไงก็ได้ คำพูดคือสิ่งที่เลือกเอง และปฏิกิริยาจากคนรอบข้างก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามคำพูดนั้น เรียกได้ว่าคำพูดคือสิ่งหล่อหลอมชีวิตของเราเอง การเลือกใช้คำคือการเลือกว่าอยากใช้ชีวิตของตัวเองเป็นไปในทางไหน ตัวเลือกคำพูดจะกำหนดตัวตนและชีวิตจากนี้ไป การอ่านหนังสือเป็นการเปิดโลกกว้าง นอกเหนือไปจากสิ่งที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้ได้รู้ว่ายังมีวิธีใช้ชีวิต หรือวิธีคิดแบบอื่น ๆ อีกมากมาย หากไม่รู้ว่าชีวิตของตัวเองยังมีทางเลือกอื่นอีกมากมายนับไม่ถ้วน จะไม่มีทางคิดได้ว่าในสถานการณ์ไหน ทางเลือกไหนถึงจะเป็นประโยชน์ ทางเลือกไหนที่ช่วยลดความเสี่ยงได้

เลิกยึดติดกับความคิดของตัวเอง ประสบการณ์ของเราอาจเป็นเพียงเรื่องในอดีตก็จริง แต่การอ่านหนังสือแล้วได้เห็นกรอบความคิดของผู้เขียน จะทำให้มองย้อนกลับไปยังประสบการณ์ของตัวเองอีกครั้ง ทำให้ได้เรียนรู้ ได้สำนึก รวมถึงเห็นบทเรียนที่จะนำไปใช้ในอนาคตได้อีกมากมาย ต้องไม่ปล่อยให้ประสบการณ์เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป หรือเป็นเพียงความทรงจำให้หวนคิดถึงเท่านั้น ประสบการณ์ อุปสรรค และความยากลำบากที่ผ่านพ้นมาต่างมีความหมายทั้งสิ้น การจะทำความเข้าใจประสบการณ์ และเปลี่ยนมันให้เป็นแรงในการก้าวเดินต่อไปในอนาคตได้ ต้องอาศัยกรอบความคิด หรือรูปแบบการทำความเข้าใจที่ไม่เคยมีมาก่อน คิดว่านี่แหละคือ ประโยชน์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของการอ่านหนังสือ

บทที่ 6 ครอบครัว

คู่รักที่มีพลังของการกล้าทำอะไรคนเดียวสูง จะมีชีวิตหลังการแต่งงานที่ดี คนที่รู้สึกสบายเวลาได้อยู่คนเดียว จะรู้วิธีใช้เวลาร่วมกับผู้อื่นให้รู้สึกสบายเช่นกัน เพราะพลังของการกล้าทำอะไรคนเดียว จะนำไปสู่ความเข้าใจ ใส่ใจ และยอมรับอีกฝ่าย ทำให้ทั้งคู่ต่างรักษาระยะห่างในระดับที่พอเหมาะ การรู้ว่าเวลาส่วนตัว หรือพื้นที่ส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ไม่เข้าไปรบกวนอีกฝ่าย คนที่สนุกกับการทำอะไรคนเดียวเท่านั้นที่จะเข้าใจในจุดนี้ หากมีพลังของการกล้าทำอะไรคนเดียว ต่อให้แต่งงานแล้วก็จะไม่สูญเสียความเป็นอิสระ การแต่งงานช่วยให้มีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากขึ้นต่างหาก นั่นหมายถึงเวลาอยากอยู่คนเดียวก็เลือกอยู่คนเดียวได้ เวลาอยากอยู่ด้วยกันก็ไปอยู่ด้วยกันได้

เลิกมองการแต่งงานที่ผลประโยชน์ ผู้ชายต้องการความอบอุ่นแบบสัญชาตญาณความเป็นแม่จากผู้หญิง ส่วนผู้หญิงต้องการคนที่เอาใจใส่ให้ความสำคัญกับตัวเอง จริงอยู่ว่ารายได้ไม่ใช่เรื่องที่จะละเลยได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าเงินคือความรู้สึกใส่ใจ และเข้าอกเข้าใจที่มีให้ฝ่ายหญิงต่างหาก ดังนั้นผู้หญิงดี ๆ จึงมักไม่เข้าหาคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และพูดว่าถ้าแต่งงานจะไม่สามารถใช้เงินและเวลาของตัวเองได้อย่างอิสระ นอกจากนี้เสน่ห์ในตัวผู้ชายอีกอย่างที่ผู้หญิงชอบก็คือ ท่าทางขณะทำอะไรบางอย่างด้วยความตั้งอกตั้งใจ คนส่วนมากมักไม่มุ่งมั่นกับความฝันหรือเป้าหมาย จึงลงเอยด้วยการทำอะไรแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ดังนั้น คนที่พยายามทำสิ่งใดด้วยความตั้งใจเต็มที่จึงดูเปล่งประกาย โดยพื้นฐานของการแต่งงานคือความรัก ความเคารพ และการนับถือที่มีให้อีกฝ่าย หรือจะเรียกว่าความรู้สึกอยากเป็นผู้ให้ก็ได้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า คนที่ไม่มีความคิดของการ GIVE ไม่เหมาะที่จะแต่งงาน

เลิกถามลูกว่าได้เพื่อนใหม่หรือยัง ชีวิตของเด็กก็จำเป็นต้องมีเวลาอยู่คนเดียวเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ถ้าการอยู่คนเดียวเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากจะให้เด็กได้เผชิญหน้ากับความรู้สึกภายในใจ และค้นพบตัวตนของตัวเอง พัฒนาการทางจิตใจบางอย่างจะเกิดได้เวลาที่อยู่คนเดียวเท่านั้น เด็กที่มีเวลาเผชิญหน้ากับตัวเองน้อย จะไม่รู้ว่าควรรักษาระยะห่างระหว่างตัวเองกับคนอื่น หรือระหว่างตัวเองกับโลกภายนอกอย่างไร ทำให้ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวและพบเจอปัญหาต่าง ๆ มากมาย บางครั้งการที่เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง ก็ต้องอาศัยการอยู่นิ่ง ๆ บ้าง การได้จดจ่อกับบางสิ่งเป็นเวลานานโดยไม่มีอะไรมารบกวน ยังจำเป็นต่อกิจกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็กด้วย

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการที่กล่าวว่า การได้พักคนเดียวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และปรับการทำงานของทุกส่วนในร่างกายให้ดีขึ้น ขณะที่เด็กเล่นคนเดียวเขาจะเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองทำได้ไปทีละอย่าง ผ่านการลองผิดลองถูก พฤติกรรมเช่นนี้จะส่งเสริมความสามารถในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และประสบการณ์นี้จะสอนให้เขารู้ว่า ฉันทำได้ เกิดเป็นความมั่นใจในตัวเอง ถ้าเด็กคนไหนกำลังเล่นคนเดียวอย่างใจจดใจจ่อ สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือคอยเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ เพราะการเล่นคนเดียวเป็นสิ่งจำเป็นต่อพัฒนาการของเด็ก การเข้าไปขวางเวลาเด็กเล่นคนเดียว อาจกลายเป็นการขัดขวางการสร้างตัวตนของเด็กได้

กล้าที่จะบอกกับลูกว่า ถึงไม่มีเพื่อนก็ไม่เป็นไร ความสามารถในการเข้าสังคมคือ การเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม และปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ซับซ้อนในกลุ่มคนนั้น จะเรียกว่าเป็นการทำตัวให้กลมกลืนกับคนรอบข้างก็ได้ การได้เพื่อนใหม่ในสภาพแวดล้อมใหม่ คือสิ่งบ่งชี้ว่าสามารถจะใช้ชีวิตในสังคมนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้พ่อแม่จึงมักกังวลว่าลูกของตนจะมีเพื่อนหรือเปล่า ดังนั้นต่อให้ลูกยังไม่มีเพื่อน สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือลบความเชื่อว่า คนไม่มีเพื่อนคือคนไร้ค่าออกไปจากความคิดของลูก และปลอบประโลมให้ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจนั้นจางลง ที่ยึดเหนี่ยวทางใจของลูกมีเพียงพ่อแม่เท่านั้น โลกของเรามักสอนให้คนคิดว่า เพื่อนคือสิ่งสำคัญ หรือคนไม่มีเพื่อนคือคนมีปัญหา แต่พ่อแม่เท่านั้นที่จะยอมรับในตัวลูก และให้ความมั่นใจแก่ลูกว่า แม้จะไม่มีเพื่อนลูกก็เป็นคนที่วิเศษมาก ถึงจะมีเพื่อนน้อยก็ไม่เป็นไร รักษาเพื่อนเหล่านั้นไว้ให้ดีก็พอ หรือจำนวนเพื่อนไม่ได้วัดคุณค่าความเป็นคนได้

บทส่งท้าย

โชคชะตาคือสิ่งที่สร้างขึ้นเอง

จากการฟังเสียงภายในจิตใจของตัวเอง

บางคนชอบพูดว่าช่วยไม่ได้ก็มันเป็นโชคชะตา แล้วยอมแพ้ต่อเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่แท้จริงแล้วโชคชะตาคือ การเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบของตัวเองต่างหาก การยอมรับโดยลำพังคือ พื้นฐานของชีวิตที่มีความสุข ผู้ใหญ่ที่สุกปลั่งอย่างเต็มที่คือ คนที่ปลูกฝังตัวตนของตัวเองได้อย่างเหมาะสม โดยมีความรับผิดชอบต่อตัวเองเป็นพื้นฐาน และนั่นเกิดขึ้นได้จากการเผชิญหน้ากับจิตใจของตัวเองโดยลำพัง เรียกกระบวนการภายในเช่นนี้ว่า การสะท้อนตัวตน นี่คือสิทธิพิเศษที่มีในมนุษย์เท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นเหตุผลที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสัตว์อื่น ๆ เป็นพลังที่ทำให้มองหาความสุขเจอ ไม่ว่าจะต้องเผชิญสถานการณ์แบบใดก็ตาม นี่คือพลังที่แกร่งกล้าที่สุด ที่จะช่วยให้ข้ามผ่านไปได้ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใด หรือสภาพแวดล้อมแบบใดก็ตาม กระบวนการภายในจิตใจนี้ จะทำให้ได้ฝึกจิตใจของตัวเอง จนมีระดับจิตใจที่สูงขึ้น.