สรุปหนังสือ LIVES OF THE STOICS

นักปราชญ์สโตอิกรู้วิธีช่างแม่งมาตั้ง 2,500 ปีแล้ว

เหตุผลเดียวที่ควรศึกษาปรัชญาคือ เพื่อเป็นคนที่ดีขึ้น ไม่มีสำนักคิดใดเชื่อมั่นในพลังของการกระทำเหนือความคิดมากไปกว่าลัทธิสโตอิกอีกแล้ว นี่คือปรัชญาโบราณ ที่มีต้นกำเนิดจากกรีซเมื่อ 300 ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบันปรัชญาคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำพูดของคนฉลาด ภาษาเลิศหรูที่พวกเขาเลือกใช้ ความย้อนแย้งและปริศนาที่พวกเขาทำให้มึงงง ไม่แปลกเลยที่คนในปัจจุบันมองว่าปรัชญาไม่ใช่สิ่งที่นำไปใช้ได้จริง เพราะมันกลายเป็นอย่างนั้นไปแล้ว

หนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับความรู้ในแบบที่แตกต่าง และเข้าถึงได้ง่ายกว่านั้นมาก นักปรัชญาสโตอิกสนใจมากที่สุดว่ามนุษย์ใช้ชีวิตอย่างไร พวกเขาสนใจตัวเลือก หลักเกณฑ์ที่ยึดถือ และหลักการที่เชื่อมั่นยามเผชิญภัยคุกคาม พวกเขาใส่ใจสิ่งที่ทำไม่ใช่สิ่งที่พูด ปรัชญาของพวกเขาซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการในตอนนี้ยิ่งกว่าตอนไหนคือ ปรัชญาที่ไม่ได้มาจากแนวคิดที่จะต้องยาก แต่เป็นปรัชญาแห่งการกระทำ หลักการ 4 ข้อของมันก็เรียบง่าย และตรงไปตรงมานั่นคือ ความกล้าหาญ การยับยั้งชั่งใจ ความยุติธรรม และความรู้

โครงสร้างและรูปแบบของหนังสือเล่มนี้ นำเสนอชาวสโตอิกแต่ละคนผ่านเลนส์ที่แสดงอุปนิสัยอันโดดเด่น หรือบทบาทของพวกเขาในประวัติศาสตร์ของปรัชญานี้ เป้าหมายในหน้าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การบรรลุความแม่นยำทางวิชาการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว สำหรับเรื่องที่ผ่านมานานหลายร้อยปีเช่นนี้ แต่อยากแจกแจงบทเรียนทางศีลธรรม ซึ่งอาจได้มาจากชีวิตของบุคคลผู้ซับซ้อนเหล่านี้ ซึ่งเต็มไปด้วยข้อคิดและเรื่องเล่าอันงดงามมากมาย

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว มันก็จะกลายเป็นงานของผู้อ่านที่ต้องทำตามคำปรึกษานี้ และดิ้นรนกับสิ่งที่เซเนกาบรรยายว่า เป็นงานสำคัญที่สุดของผู้อ่านปรัชญา นั่นคือการเปลี่ยนถ้อยคำให้เป็นการกระทำ เปลี่ยนบทเรียนที่ได้จากชีวิตของชายหญิงผู้อยู่มาก่อนหน้า ทั้งจากชีวิตและความตายของพวกเขา ความสำเร็จและความล้มเหลวของพวกเขา เปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้เป็นการกระทำในโลกจริง เพราะสิ่งนี้และมีเพียงสิ่งนี้เท่านั้น ที่ทำให้คนผู้หนึ่งสมควรได้รับคำเรียกขานว่านักปรัชญา

เซโน

ผู้ก่อตั้ง

เรื่องราวของลัทธิสโตอิกเริ่มต้นด้วยความโชคร้าย ช่วงปลายศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล พ่อค้าชาวฟินิเซียชื่อเซโนออกเดินเรือไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนพร้อมสินค้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรทำให้เรือของเขาอับปางทำให้เซโนสูญเสียทุกอย่างทั้งเรือและสินค้า แต่ภายหลังพ่อค้าผู้โชคร้ายกลับมีความสุขกับการสูญเสีย เหตุการณ์นี้เองที่ส่งเซโนไปเอเธนส์ และนำไปสู่การก่อตั้งสิ่งที่กลายเป็นปรัชญาสโตอิกในเวลาต่อมา

ในบรรดาต้นกำเนิดที่เป็นไปได้ของปรัชญาแห่งความยืดหยุ่น ระเบียบวินัย และการวางเฉยต่อความทุกข์กับความโชคร้ายนั้น เรื่องที่เล่าถึงหายนะไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะทำให้เซโนและครอบครัวถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวหรือไม่ก็ตาม เรืออับปางน่าจะส่งผลให้เซโนต้องใช้ชีวิตเรียบง่ายในฐานะพ่อค้า ที่ปักหลักค้าขายบนบก หรืออาจทำให้เขาสูญเสียครอบครัวก็ได้ แต่สุดท้ายมันก็กลับกลายเป็นสิ่งที่เขานำมาใช้ประโยชน์ กลายเป็นเสียงเรียกที่เขาขานรับ นำทางเขาไปสู่ชีวิตใหม่และวิถีชีวิตใหม่

โชคชะตาชดเชยให้เขา ด้วยการดลบันดาลให้เดินเข้าไปในร้านหนังสือ อีกทั้งยังทำให้ตอนนั้นมีนักปรัชญาคนดังชาวเอเธนส์ชื่อ คราเตส บังเอิญเดินผ่านมาพอดีด้วย คราเตสแห่งธีบส์ก็เป็นลูกชายจากครอบครัวมั่งคั่ง และเป็นทายาทผู้รับสืบทอดสมบัติมากมายเช่นเดียวกับเซโน บทเรียนแรก ๆ มีจุดประสงค์เพื่อให้เซโนเลิกใส่ใจรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเอง คราเตสใช้บทเรียนต่าง ๆ สอนให้เซโนเอาชนะตัวตนเดิม จนกลายเป็นผู้ที่ควรเป็นอย่างแท้จริง

เมื่อเซโนละทิ้งเส้นทางการค้า เขาก็ได้เลือกเส้นทางใหม่ของการใช้ชีวิต ที่มีสมดุลระหว่างการเรียนกับความคิด และความจำเป็นของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยการค้า การยึดครอง และเทคโนโลยี สำหรับเซโนแล้วเป้าหมายของปรัชญาและคุณธรรมคือ การค้นพบกระแสชีวิตอันราบรื่น เพื่อไปยังสถานที่ซึ่งทุกสิ่งที่ทำสอดคล้องกับจิตวิญญาณนำทางของแต่ละคน และเจตจำนงของผู้ที่ปกครองเอกภพ

เซโนไปยังสถานที่ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อสเตาโพอิคิเล หรือแปลตรงตัวได้ว่าระเบียงทาสี มันสร้างขึ้นในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล ระเบียงทาสีนี้คือสถานที่ซึ่งเซโนและศิษย์ของเขามารวมตัวกันเพื่อถกปรัชญา ความถ่อมตนของเซโนและความเป็นสากลของคำสอน ที่ทำให้สำนักศึกษาซึ่งเขาก่อตั้งไม่ได้ใช้ชื่อตามเจ้าตัว ทุกวันนี้รู้จักมันในชื่อลัทธิสโตอิก เพื่ออุทิศให้กับจุดเริ่มต้นที่ไม่ธรรมดาของมันนั่นเอง

ระเบียงแห่งนี้คือสถานที่สำหรับการเรียนรู้และรับฟังคำสอน ผลงานสำคัญที่สุดของเขาคือ Republic ซึ่งเป็นการตอบโต้การอ้างเหตุผลของเพลโต จากหนังสือชื่อเดียวกันได้อย่างชาญฉลาด เซโนยังได้เขียนบทความอันโด่งดัง เกี่ยวกับการศึกษา ธรรมชาติ มนุษย์ หน้าที่ อารมณ์ กฎหมาย โลกอส และแม้แต่เรื่องที่ตั้งชื่อได้อย่างน่าอ่านว่า Homeric Problems ด้วย มันทำให้นึกสงสัยว่าบทความชื่อ Of the Whole World ของเขานั้น เกี่ยวกับเรื่องอะไร จะดีขนาดไหน หากได้อ่านผลงานเรื่อง Recollections of Crates ของเซโน น่าเสียดายที่ได้เห็นแค่เศษเสี้ยว หรือการอ้างอิงถึงมันเท่านั้น แต่กระทั่งเศษเสี้ยวที่ว่า ก็ยังสอนอะไรได้หลายอย่าง

เซโนยังเป็นคนแรกที่พูดถึงคุณธรรม 4 ข้อของลัทธิสโตอิกด้วยนั่นคือ ความกล้าหาญ การยับยั้งชั่งใจ ความยุติธรรม และความรู้ เซโนต่างจากผู้ก่อตั้งหลายคนตรงที่ เขาได้รับความนับถือและความชื่นชมในยุคสมัยของตัวเอง เขาไม่โดนไต่สวน ไม่โดนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเกลียดชัง อีกทั้งยังได้รับกุญแจกำแพงเมืองเอเธนส์ ได้รางวัลเป็นมงกุฎทองคำและรูปหล่อสัมฤทธิ์ ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับการตายของเซโน อาจดูเหลือเชื่ออยู่บ้าง เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับนักปรัชญาหลายคน แต่ถึงอย่างนั้นมันก็สอนบทเรียนได้อยู่ดี ตอนที่เซโนอายุได้ 72 ปีก็เดินออกจากระเบียงในวันหนึ่งแล้วสะดุดล้มจนนิ้วหัก สร้างความเจ็บปวดยิ่ง เขานอนฟุบอยู่บนพื้น และดูเหมือนตัดสินใจได้ว่า นี่คือสัญญาณบอกเหตุว่า เวลาของเขาหมดแล้ว เขาทุบพื้นแล้วพูดว่า ข้ามาด้วยตัวเอง แล้วจะเรียกหาข้าทำไมเล่า จากนั้นเซโนก็กลั้นหายใจจนสิ้นชีพ

คลีแอนเทส

ผู้เผยแพร่แนวคิด

คลีแอนเทสมาถึงเอเธนส์ในสถานการณ์ที่สิ้นหวังไม่ต่างจากเซโนซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งปรัชญาที่คลีแอนเทสอุทิศตนให้ เขามาถึงเอเธนส์ในสภาพถังแตก มีแค่ชื่อเสียงในฐานะนักมวยคอยนำทางเท่านั้น เขาทำงานต่าง ๆ มากมายเพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเอง รวมถึงงานแบกน้ำไปยังสวนหลายแห่งในเมือง ซึ่งต้องรดน้ำด้วยมือ หลักการทำงานของคลีแอนเทสยึดมั่นในความซื่อสัตย์อย่างชัดเจน ก็ทำไมจะเป็นแบบนั้นไม่ได้ ปรัชญาก็เหมือนชีวิตที่ต้องอาศัยการทำงาน อีกทั้งความไม่ซื่อสัตย์ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ เมื่อคลีแอนเทสมีชื่อเสียงแล้ว เขาก็ยังคงทำงานใช้แรงต่อไป และถึงขั้นปฏิเสธของขวัญที่เป็นเงินก้อนโตจากผู้อุปถัมภ์

คลีแอนเทสเชื่อว่าการใช้แรงงานและปรัชญาไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งกัน มันเป็น 2 ด้านของเหรียญเดียวกัน เขารักงานเช่นเดียวกับที่รักปรัชญา เมื่อพิจารณาจากการทุ่มเทที่เขาทำให้เซโน ก็ดูเหมือนว่า 2 คนนี้ไม่เคยมองตัวเองเป็นคนร่วมสมัย หรือเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นครูกับศิษย์มาตลอด เซโนเป็นผู้ก่อตั้งลัทธิสโตอิก ส่วนคลีแอนเทสก็เป็นผู้เผยแพร่ลัทธิสโตอิก แน่นอนว่าเขาเป็นนักเรียนประเภทที่ทำให้หัวใจของครูอบอุ่น เป็นศิษย์ผู้นั่งตั้งใจฟัง ผู้ไม่กลัวที่จะถามคำถามโง่ ๆ ผู้ที่ทุ่มเทขยันขันแข็ง ผู้ไม่เคยท้อใจต่อให้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ช้ากว่าคนอื่นก็ตาม ชัดเจนว่าคลีแอนเทสรังเกียจหนี้สินและความฟุ่มเฟือย เขาปรารถนาอิสระภาพของชีวิตที่เรียบง่ายมากกว่าการเป็นทาสของความหรูหรา

เมื่อมีคนนับถือเพิ่มก็มีคนวิจารณ์เพิ่มด้วย โดยเฉพาะเมื่อปรัชญาเริ่มโด่งดังขึ้น เขารับมือกับผู้วิจารณ์เหมือนที่เขารับมือกับอุปสรรคทุกอย่าง เขามองมันเป็นโอกาสเพื่อฝึกฝนสิ่งที่ตัวเองพร่ำสอน ตลอดประวัติศาสตร์ของลัทธิสโตอิก ชาวสโตอิกหลายคนใช้อารมณ์ขันดี ๆ เป็นวิธีหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเมื่อโดนบ่นหรือกล่าวหา

คลีแอนเทสผู้เป็นคนสำคัญลำดับที่ 2 ในสำนักสโตอิก นอกจากจะมีชีวิตที่ดีแล้ว ยังอายุยืนถึง 100 ปีพอดีด้วย เขาน่าจะเป็นชาวสโตอิกผู้อายุยืนที่สุด อีกทั้งยังคงรักษาอารมณ์ขันไว้ได้จนถึงบั้นปลายชีวิต เมื่อมีใครบางคนล้อเลียนเขาเรื่องความแก่ชรา เขาก็พูดติดตลกว่า ตัวเองพร้อมจะไปได้ทุกเมื่อ แต่ก็ไม่อยากรีบร้อน เพราะยังมีสุขภาพดีและยังอ่านเขียนได้อยู่ ทว่าเมื่อเขาอายุเกือบ 100 ปี ก็พบว่าร่างกายเริ่มไม่ไหว แพทย์ผู้พยายามรักษาอาการเหงือกอักเสบรุนแรงให้เขาแนะนำว่า ควรงดอาหาร 2 วัน การรักษาได้ผลแต่การงดอาหารครั้งสุดท้ายนั้น ดูเหมือนทำให้เขาเข้าใจบางอย่างขึ้นมา หลัก ๆ ก็คือถึงเวลาที่ต้องจากไปแล้ว เมื่อแพทย์บอกให้เขากลับไปกินอาหารได้ตามปกติ เขาก็ตอบว่ามาไกลเกินจะย้อนกลับได้แล้ว เขาเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่กี่วันขณะอดอาหาร เพื่อเดินทางสู่โลกหน้า

อริสโต

ผู้ท้าทาย

ไม่ควรประหลาดใจที่มีความขัดแย้ง ในหมู่นักปรัชญาโบราณเหมือนที่เป็นมาเสมอ ในแวดวงวิชาการสำนักศึกษาที่ให้ความสำคัญกับเหตุผล ความอดทน ความกล้าหาญ และสำนึกผิดชอบชั่วดีเหนืออื่นใด ย่อมดึงดูดศิษย์ผู้มีจิตใจแข็งแกร่ง และไม่ยอมถอยหรือประนีประนอม เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของสำนักสโตอิกก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งให้มากขึ้นไปอีก ไม่มีใครเป็นตัวแทนของแนวคิดนี้ได้ดีไปกว่าอริสโต เขาคือคนที่ชอบแข่งขันและโต้แย้ง ทั้งยังเกือบเปลี่ยนเส้นทางของปรัชญาสโตอิกไปทั้งหมดด้วย

ในขณะที่คลีแอนเทสเป็นศิษย์คนโปรดของเซโน และได้รับเลือกเป็นผู้สืบทอดเมื่อ 262 ปีก่อนคริสตกาล อริสโตก็เป็นนักปรัชญาผู้มีอนาคตไกลพอกัน เขาไม่นิ่งและไม่รักสันโดษเท่าคนแบกน้ำ ผู้ขยันขันแข็งที่รับสืบทอดตำนานของเซโน เขาได้ฉายาว่าอริสโตศีรษะล้าน อริสโตแห่งไคออสบุตรของมิลทิอาเดส และมีชื่อเล่นว่าไซเรน เพราะพลังดึงดูดใจด้วยคารมคมคาย ซึ่งจะเอาชนะใจผู้ฟังได้ แถมเชื่อกันว่าอาจทำให้ผู้ฟังหลงทางได้ด้วย ฉายาที่เหมาะสมกว่านั้น น่าจะเป็นอริสโตผู้ท้าทาย เพราะเขามักตั้งคำถาม บ่อนทำลาย และโต้แย้งคำสอนสโตอิกช่วงแรก รวมถึงกฎการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันอยู่บ่อย ๆ

สิ่งที่อริสโตอยากให้คนสนใจก็คือ หลักการใหญ่ที่ชัดเจน มันคือสิ่งที่ผู้ฉลาดจำได้ขึ้นใจผ่านการฝึกฝน เขาอยากได้สิ่งที่เป็นเหมือนบัญญัติ 10 ประการ ไม่ใช่ตำราการเป็นคริสศาสนิกชนที่ดี เขาอยากมอบคุณธรรมที่เปรียบเหมือนดาวเหนือ เพื่อนำทางให้ศิษย์ และเชื่อว่าคำเตือนกับคำอธิบายใด ๆ นอกเหนือจากนี้ อาจทำให้สับสนได้

อริสโตโดนชาวสโตอิกรังเกียจ ในขณะที่เจ้าตัวอาจยังมองว่าเป็นพวกเดียวกันอยู่ เขามีความคิดหลายอย่างเหมือนสำนักซีนิก และได้รับอิทธิพลจากสำนักอะคาเดมี ที่มองโลกอย่างหวาดระแวง แถมยังงัดข้อกับสำนักเพริพาเททิกด้วย สุดท้ายอริสโตผู้มีอิสระจึงย้ายออกไปนอกกำแพงเอเธนส์ ซึ่งห่างไกลจากระเบียงทาสี เขาไปอยู่ในยิมเนเซียมของซีนิก ที่ตั้งชื่อได้อย่างเหมาะสมว่าซินโนซาร์เกส

อริสโตสอนอยู่ที่นั่นกับพวกหัวรุนแรงคนอื่น ๆ สำนักศึกษาของเขาเป็นการแยกตัวอย่างจงใจจากเซโนและคลีแอนเทส เขาตัดทิ้งหัวข้อฟิสิกส์และตรรกศาสตร์ไปเลย อริสโตมองว่าอย่างแรกห่างไกลจากคนเรา และอย่างหลังไม่มีค่าคู่ควรให้ใส่ใจ มีเพียงจริยธรรมเท่านั้นที่สำคัญ มีเพียงคุณธรรมเท่านั้นที่จำเป็น

ไม่ว่าอย่างไรกระแสประวัติศาสตร์ก็จัดสรรทุกอย่างได้ลงตัวอยู่ดี งานของอริสโตพร้อมคำถามของเขาโดนปฏิเสธอย่างรวดเร็ว โดยชาวสโตอิกรุ่นหลัง แต่กลับสร้างความประทับใจไม่น้อยให้มาร์คัส ออเรลิอัสในวัยเยาว์ ตอนที่มาร์คัสอายุ 25 ปี มารคัสรู้ประวัติสำนักสโตอิกค่อนข้างดี แถมยังรู้ด้วยว่าความขัดแย้งหัวชนฝาเหล่านั้น สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ทุกอย่างล้วนสลายหายไปกลายเป็นฝุ่น หรือตำนานหรือสิ่งที่เล็กน้อยกว่านั้น

อริสโตคงบอกว่าสิ่งที่เหลืออยู่คือ วิธีที่ใช้ชีวิตว่าได้เข้าใกล้คุณธรรมในช่วงเวลาสำคัญมากน้อยแค่ไหน

คริสซิปปุส

นักสู้

คริสซิปปุสผู้จะกลายเป็นผู้นำคนที่ 3 ของสำนักสโตอิก รู้จักการวิ่งมาตั้งแต่อายุยังน้อย มันคือกีฬาที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล การวิ่งนั้นแตกต่างจากกีฬาอื่น ทั้งในโลกยุคโบราณและในโลกยุคปัจจุบัน การวิ่งต้องใช้ความอดทน เป็นทั้งการต่อสู้ที่จิตใจและร่างกาย ต้องต่อสู้กับตัวเอง และในขณะเดียวกันก็เป็นการต่อสู้กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นด้วย ถ้าเป็นปรัชญาสโตอิกซึ่งเป็นปรัชญาแห่งความอดทนและพละกำลังภายใน เป็นปรัชญาแห่งการพัฒนาขีดจำกัดของตัวเอง และการประเมินตัวเองกับมาตรฐานภายในที่สูงส่ง มันเกี่ยวข้องกับการวิ่งระยะไกล ทั้งคู่มีส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสำหรับชายหนุ่มอย่างคริสซิปปุส ผู้เกิดในเมืองท่าโซเลแห่งซิลิเซีย

อันที่จริงคริสซิปปุสก็เหมือนชาวสโตอิกคนอื่น ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายในโลกหลังยุคสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เขาแทบไม่เคยพบเจอความสงบสุขเลยในช่วงต้นของชีวิต มันยังผลักดันเขาไปที่เอเธนส์ด้วย เมื่อไม่มีทางเลือกที่บ้านเกิดมากนัก ด้วยการออกจากบ้านไปแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า หลายชั่วคนแล้วที่เอเธนส์ไม่เพียงดึงดูดคนดีที่สุดและเก่งที่สุด ผู้มาแสวงหาปรัชญาในโลกสมัยเฮลเลนิกสต์ (Hellenistic world) แต่ยังดึงดูดเหล่าผู้ที่คาดหวัง ผู้ล้มละลาย และผู้ที่หลงทางด้วย คริสซิปปุสก็เหมือนเซโนและคลีแอนเทสที่เป็นส่วนผสมของคนเหล่านั้นทั้งหมด

คริสซิปปุสต้องเข้ามารับบทบาทสำคัญที่ไร้ความชอบนี้ ในการต่อสู้เพื่อปกป้องสำนักที่เพิ่งตั้งไข่แต่ทรงอิทธิพล ยิ่งเมื่ออริสโตเผยแพร่หนังสื่อเรื่อง Against Cleanthes ก็เป็นคริสซิปปุสที่ลุกขึ้นมาเขียนตอบโต้ เมื่อมีนักปรัชญาพยายามโต้แย้งเขา ในหลักเหตุผลเล็กน้อยบางอย่าง ก็เป็นคริสซิปปุสที่กระโดดเข้ามาตะโกนใส่ชายผู้นั้น และถ้าอยากต่อปากต่อคำนักก็ขอบอกว่าเขาพร้อมแล้ว ดูเหมือนไม่ได้พร้อมปะทะคารมอย่างเดียว แต่ยังพร้อมที่จะชนะด้วย

คริสซิปปุสไม่ได้เมินความสุขทุกอย่าง และทรัพย์สินเงินทองทั้งหมด เขาแค่ระแวงความต้องการและความปรารถนาในสิ่งต่าง ๆ คงไม่มีนิยามใดที่เหมาะสมกับชาวสโตอิกมากไปกว่านี้แล้ว พวกเขาคือผู้ที่มีแต่ไม่ต้องการ ผู้ที่ใช้งานแต่ไม่เรียกร้อง ความเชื่อเช่นนี้นำพาเสรีภาพและอิสรภาพมาให้ เขาไม่เคยขายผลงานหรือคิดเงินเมื่อให้คำปรึกษา เพราะไม่อยากลดค่าของปรัชญา เขาไม่กู้ยืมจากใครหรือให้ใครกู้ยืม เขาไม่สนใจจะมีผู้อุปถัมภ์ เมื่อเขาไม่รับเงินก็ไม่มีใครบังคับให้เขาทำอะไรได้ทั้งนั้น

แม้ผลงานของคริสซิปปุสอาจคงอยู่ไปชั่วนิรันดร แถมใบหน้าของเขายังปรากฏบนเหรียญในดินแดนบ้านเกิด หลังเสียชีวิตไปหลายทศวรรษด้วย ทว่าเจ้าตัวย่อมรู้ดีว่าไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไป หลังการสอนในคืนหนึ่งที่โอเดียน มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งเชิญเขาออกไปดื่มด้วยกัน หลังจากดื่มไวน์หวานไม่ผสมน้ำเข้าไป เขาก็มึนศีรษะและเสียชีวิตในอีก 5 วันต่อมา ตอนที่อายุได้ 73 ปี

หากคริสซิปปุสเสียชีวิตเช่นนี้จริง มันก็ยืนยันภาพลักษณ์ของเขาในฐานะชายผู้จริงจังกับตัวเองและการงานมาก สุดท้ายก็ตายหลังจากค่ำคืนหายาก ที่ได้วางมือจากงานเขียนและการใช้ความคิด รายงานอื่นเกี่ยวกับการตายของเขา น่าตื่นเต้นมากกว่านั้นมีเรื่องหนึ่งเล่าว่า คริสซิปปุสนั่งอยู่ที่นอกชาน ตอนที่มีลาตัวหนึ่งเดินผ่านมาแล้วเริ่มกินพืชจากสวนของเขา คริสซิปปุสรู้สึกว่าภาพที่เห็นน่าขันมาก และเริ่มหัวเราะไม่หยุดจากนั้นก็หัวเราะหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งตายไปในที่สุด นี่ถ้าเป็นเรื่องจริง เขาก็อาจเป็นผู้นำคนที่ 2 ของลัทธิสโตอิกที่ไม่ได้เสียชีวิตขณะโต้วาทีอย่างร้อนแรง หรือเขียนหนังสืออย่างเร่งรีบ ทั้งที่เขาก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการทำสิ่งเหล่านั้น แต่กลับเสียชีวิตเพราะอารมณ์ขัน และความสุขที่เกิดจากความบันเทิงเรียบง่าย

ไดโอจีนิส

นักการทูต

เมื่อ 155 ปีก่อนคริสตกาล ไดโอจีนิสแห่งบาบิโลน ผู้นำคนที่ 5 แห่งระเบียงทาสี ได้เดินทางจากเอเธนส์ไปทำภารกิจทางการทูตที่โรม เมื่อไปถึงที่นั่นเขากับเหล่าหัวหน้าสำนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ของกรีซ ก็ได้สอนหลักปรัชญาของตัวเองให้คนที่นั่น นี่อาจดูเหมือนเหตุการณ์ไม่สลักสำคัญ แต่มันจะเปลี่ยนแปลงทั้งโรมและโลกเลยทีเดียว

การส่งกลุ่มนักปรัชญาไปยังเมือง ที่ขึ้นชื่อว่าไม่ชอบปรัชญาในฐานะการทูต ไม่กี่ปีก่อนหน้านั้นสภาเซเนทของโรม ยังเคยประกาศห้ามนักปรัชญาเข้าเมืองด้วยซ้ำ ช่วงเวลาวิกฤตก็ต้องรับมือด้วยมาตรการที่ไม่ธรรมดา

เมื่อเอเธนส์เกิดความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน ก็โดนตุลาการที่ควบคุมโดยโรมตัดสินให้เป็นฝ่ายผิด และต้องจ่ายค่าปรับมากถึง 500 ทาเลนต์ เอเธนส์มีเงินแทบไม่พอจ่าย จึงตอบโต้ด้วยอาวุธ 1 ในไม่กี่อย่างที่มี นั่นคือนักปรัชญา ตอนนั้นผู้นำทั้งสองฝ่ายไม่รู้เลยว่า การตัดสินใจของเอเธนส์ที่ส่งนักคิดแถวหน้าไปยังโรมเพื่ออุทธรณ์คำตัดสิน คือกระสุนนัดแรกในการต่อสู้ยาวนานนับ 100 ปี เพื่อความเป็นหนึ่งทางวัฒนธรรม

ดังนั้น จึงกลายเป็นว่าไดโอจีนิสแห่งบาบิโลน ผู้เกิดในปีเดียวกับที่คลีแอนเทสเสียชีวิต คือชายคนแรกที่ชาวเอเธนส์หันไปหาในช่วงเวลาวิกฤต เขามาจากเมืองเซลูเซียในบริเวณที่ปัจจุบันคือนครแบกแดด เขาศึกษาในเอเธนส์โดยเป็นศิษย์ของคริสซิปปุส เขาเป็นนักคิดผู้ปราดเปรื่อง และสื่อสารความคิดได้อย่างน่าทึ่ง ในฐานะพลเมืองเอเธนส์ผู้ทำหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น เขาคือผู้นำที่น่าเชื่อถือ และไม่ได้เป็นแค่คนฉลาดเท่านั้น ไดโอจีนิสคือดาวรุ่งในวงการปรัชญา สร้างผลงานสำคัญไว้ในยุคแรกของแนวคิดสโตอิก รวมถึงยังมีผลงานในศาสตร์หลากหลายอย่างภาษาศาสตร์ ดนตรี จิตวิทยา วาทศิลป์ จริยธรรม และปรัชญาการเมืองด้วย

ภารกิจทางการทูตเริ่มต้นในรูปแบบการสอนปรัชญาในที่สาธารณะหลายครั้ง ตามด้วยการกล่าวปาฐกถาให้วุฒิสภาฟัง ทั้งหมดมุ่งหวังเพื่ออวดวัฒนธรรม และการเรียนรู้อันสูงส่งของผู้นำสำนักศึกษาอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในเอเธนส์ สถานการณ์นี้มีเหตุจูงใจที่ขัดแย้งกันอยู่ ทั้งระหว่างเอเธนส์กับกรมการค้ากับอำนาจปกครองและการจ่ายหนี้กับการต่อสู้กับคำตัดสินที่ไม่ยุติธรรม เขาหาจุดลงตัวของมันจนได้ เขาทำให้เกิดสมดุลระหว่างผลประโยชน์กับความจงรักภักดีที่ขัดแย้งกัน นี่คือบทบาทของนักการทูต และที่ปรึกษาทางการเมืองอย่างชัดเจน เขายังสวมบทบาทที่คล้ายกัน เมื่อไกลเกลี่ยการโต้เถียงที่ซับซ้อนในลัทธิสโตอิก

โชคร้ายที่แทบไม่มีงานเขียนใดของไดโอจีนิสเหลือรอด นี่เป็นความจริงที่น่าเศร้า เพราะหากพิจารณาจากบรรดาข้อเขียนที่ถูกฝังอยู่ใต้เมือง ซึ่งโดนทำลายจากการระเบิดของภูเขาไฟเวซูเวียส เขาก็น่าจะเป็นนักเขียนในยุคโบราณ ที่มีคนนำไปอ้างอิงมากที่สุด มากยิ่งกว่าเพลโตและอริสโตเติลด้วยซ้ำ งานของไดโอจีนิสสูญหายไป ตัวเขาเองก็ถูกลืมไป ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเสียชีวิตอย่างไร ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเกิดขึ้นตอนไหน

ไม่ว่าอย่างไร เจ้าชายแห่งปรัชญาผู้นี้ย่อมไม่อาจอยู่ได้ตลอดกาล นี่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแห่งตำนานของเขาเท่านั้น ทั้งเรื่องที่ลัทธิสโตอิกจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนทางการเมือง และคุณสมบัติที่เขาแสดงออกเป็นแบบอย่างไว้ด้วย อันที่จริงลัทธิสโตอิกกำลังจะพิชิตโลกได้ในอีกไม่นานนี้แล้ว

แอนติพาเตอร์

นักจริยธรรม

ถ้าไดโอจีนิสเป็นนักการเมืองแนวปฏิบัตินิยม ลูกศิษย์ของเขาอย่างแอนติพาเตอร์ ซึ่งเป็นผู้นำคนต่อมาของระเบียงทาสี ก็เป็นนักจริยธรรมในโลกแห่งความเป็นจริง เขาคำนึงถึงความเป็นจริง แต่ก็ตั้งใจสร้างหลักการที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการกระทำทุกอย่างด้วย ไม่รู้ว่าแอนติพาเตอร์แห่งทาร์ซัสเกิดเมื่อใด รวมถึงไม่รู้แน่ชัดเกี่ยวกับชีวิตช่วงต้นของเขาในทาร์ซัสด้วย รู้แค่ว่าเขาขึ้นเป็นผู้นำระเบียงทาสีต่อจากไดโอจีนิสแห่งบาบิโลน หลังจากไดโอจีนิสเสียชีวิตเมื่อราว 142 ปีก่อนคริสตกาล ไม่เคยมีใครเห็นแอนติพาเตอร์พยายามทำตัวเป็นจุดเด่น เขามัวยุ่งอยู่กับการทำงานอย่างที่นักปรัชญาที่ดีควรเป็น แม้แต่สื่อกลางที่เขาใช้ถ่ายทอดความคิด ก็ยังธรรมดาและจับต้องได้

การนำเสนอความคิดแบบเงียบ ๆ ของแอนติพาเตอร์ เหมาะสมกับชายผู้ละเอียดอ่อนในเรื่องจริยธรรมเช่นนี้แล้ว เพราะการอธิบายมุมมองบนหน้ากระดาษ ย่อมทำได้ละเอียดกว่าคำพูด ส่วนงานชุมนุมกลุ่มเล็ก ก็ทำให้เขาเข้าถึงผู้ฟังแต่ละคนได้อย่างแท้จริง ได้พูดแบบเจาะจงและได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ มันยังเปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด กับความจำเป็น ความต้องการ และความลำบากของมนุษย์ที่แท้จริงด้วย

แอนติพาเตอร์เป็นพลังสำคัญในการผลักดันชาวสโตอิก ให้มองโลกอย่างมีสามัญสำนึกมากขึ้น เขาพยายามผ่อนคลายความคิดสุดโต่งที่ว่า ต้องทำตัวเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งหรือไม่ก็เลวร้ายไปเลย อีกทั้งเขายังวางจริยธรรมให้อยู่ในแถวหน้าของสิ่งที่นักปรัชญาควรใส่ใจด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ปรัชญาเป็นหลักปฏิบัติที่ใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นคู่มือการดำเนินชีวิต และเป็นระบบปฏิบัติการให้ได้

สิ่งที่น่าสนใจคือแอนติพาเตอร์คิดว่า ปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรมส่วนใหญ่นั้น อาจแก้ได้อย่างตรงไปตรงมา สูตรสำหรับคุณธรรมของเขาคือ จงเลือกสิ่งที่เป็นธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่หวั่นไหว และปฏิเสธสิ่งที่ตรงข้ามกับธรรมชาติให้หมด เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการระมัดระวัง ไม่ให้ประโยชน์ส่วนตัวมีอำนาจเหนือกว่าเข็มทิศภายใน ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ต้องทำสิ่งที่ถูกต้องไม่ว่าเป็นใคร หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม

แอนติพาเตอร์เสียชีวิตเมื่อ 129 ปีก่อนคริสตกาล คนมักกลัวกันว่าผู้มีจริยธรรมสูง ต้องใช้ชีวิตในโลกที่ไร้จริยธรรม หรือคนที่เชื่อในหลักการของตัวเองอย่างแรงกล้า แต่ไม่ใช่สำหรับแอนติพาเตอร์ ตอนที่เขาใกล้สิ้นชีพและกำลังทบทวนพรที่ได้รับในชีวิต กลับไม่ลืมที่จะเอ่ยถึงการเดินทางแห่งความรุ่งเรืองจากบ้านไปเอเธนส์ ราวกับเขาคิดว่าของขวัญใด ๆ จากโชคชะตาอันดีงาม เป็นสิ่งที่ต้องขอบคุณ ด้วยความซาบซึ้งใจ แล้วเก็บไว้ในความทรงจำ ซึ่งเป็นคลังที่แข็งแกร่งที่สุด สำหรับพรในชีวิตของมนุษย์ผู้หนึ่ง

แพนอายทีอัส

ผู้ประสาน

ลัทธิสโตอิกถือกำเนิดในเอเธนส์ แต่เติบโตและทรงพลังในโรม นับเป็นเรื่องที่สะท้อนชีวิตของแพนอายทีอัสแห่งโรดส์ได้ดี เขาจะกลายเป็นทูตของลัทธิสโตอิกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในโลก หนุ่มน้อยแพนอายทีอัสกลายเป็นลูกศิษย์ของคราเตสที่เพอร์กามัม ว่าที่นักการทูตและผู้ประสานคนนี้ ได้รู้จักปรัชญาผ่านสายสัมพันธ์ทางการทูตแบบโชคช่วย

การศึกษาของแพนอายทีอัส ภายใต้ครูชาวสโตอิกยุคแรก เป็นแนวทางเดียวกับที่ไดโอจีนิส แอนติพาเตอร์ ได้กำหนดไว้ให้ชาวสโตอิกในอนาคตด้วย นั่นคือการรับใช้ประโยชน์สาธารณะ เมื่อ 155 ปีก่อนคริสตกาล แพนอายทีอัสก็ได้รับตำแหน่งนักบวชผู้ดูแลพิธีสังเวย เพื่อบูชาเทพโพไซดอนที่ลินดอส นี่น่าจะเป็นบทบาทสาธารณะบทบาทแรกของเขาในช่วงชีวิตที่ไม่อยู่นิ่ง

แพนอายทีอัสต่างจากคนรุ่นก่อนตรงที่ เขาเกิดมาเป็นนักโลกาภิวัฒน์ ชีวิตของเขาเริ่มต้นที่โรดส์ แต่ขยายออกไปเมื่อไปเรียนในเพอร์กามัมและโรม เขาเดินทางไปเกือบทั่วเมดิเตอร์เรเนียน เขาเข้ากันได้ดีกับชาวโรมันผู้ทึ่งกับโลกตะวันออก แพนอายทีอัสหาทางหลอมรวมปมที่หลากหลาย และขัดแย้งกันเองนี้ในแบบที่ทันสมัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ

หนังสือเล่มสำคัญที่สุดของเขาคือเรื่อง Concerning Appropriate Actions ซึ่งเป็นข้อคิดแบบยาวเกี่ยวกับพฤติกรรมเชิงจริยธรรมในชีวิตสาธารณะ ที่ไม่ใช่แค่ความรู้ในเชิงทฤษฎีเท่านั้น  แพนอายทีอัสให้เหตุผลว่า หากอยากมีชีวิตอันเปี่ยมจริยธรรม และได้เลือกการกระทำที่เหมาะสม ก็ต้องค้นหาวิธีสร้างสมดุลระหว่างสิ่งเหล่านี้

  1. บทบาทและหน้าที่ทั่วไปในฐานะมนุษย์
  2. บทบาทและหน้าที่เฉพาะสำหรับไดมอนหรืออัจฉริยภาพ/ความใฝ่ฝันส่วนบุคคล
  3. บทบาทและหน้าที่ซึ่งได้รับมาตามสถานะทางสังคม (ครอบครัวและอาชีพ)
  4. บทบาทและหน้าที่ซึ่งเกิดจากการตัดสินใจและความมุ่งมั่นของตัวเอง

แต่ละส่วนเป็นส่วนสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างมีจริยธรรมในโลกจริง ทุกคนอาจมีชีวิตที่มีความหมายและเป้าหมายได้ทั้งนั้น ทุกคนอาจทำสิ่งต่าง ๆ เหมือนชาวสโตอิกที่ดีได้

แพนอายทีอัสเป็นนักเขียนผู้เรียบง่ายและตรงไปตรงมา อีกทั้งยังเป็นนักพูดที่ช่วยกำจัดคำศัพท์ซับซ้อน และรูปแบบที่ไม่น่ารื่นรมย์ออกไปจากปรัชญาด้วย สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เขาทำให้ตัวปรัชญากลายเป็นสิ่งที่นำไปใช้ได้จริง และเข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

บทสุดท้ายของชีวิตแพนอายทีอัสคือกลับไปเอเธนส์ ในปีเดียวกันนั้นเกิดการเสียชีวิตของแอนติพาเตอร์ เขากลับไปรับตำแหน่งผู้นำสโตอิก แล้วรับใช้ระเบียงทาสีต่อไปอีก 20 ปี โดยยังคงสอนและเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง บางทีเขาอาจทำตัวเหมือนบุคคลสำคัญทางการเมืองที่เกษียณแล้วอย่างในปัจจุบัน เขายังกลับไปโรมเป็นครั้งคราว เพื่อสอน หารือกับตุลาการ หรือแนะนำหนังสือของตัวเองด้วย สุดท้ายเขาก็จากโลกนี้ไปเมื่อ 109 ปีก่อนคริสตกาล

โพซิโดนิอัส

คนอัจฉริยะ

โพซิโดนิอัสแห่งอาปาเมียคือชาวสโตอิกอีกคน ที่เกิดจากตระกูลใหญ่ในยุคสมัยแห่งความตึงเครียด เขาเกิดเมื่อ 135 ปีก่อนคริสตกาล ในบริเวณที่ปัจจุบันคือซีเรีย ปีนั้นถือเป็นปีเริ่มต้นความปั่นป่วนทางการเมือง สุดท้ายเขาก็แก้ปัญหาด้วยเท้าเหมือนชาวสโตอิกรุ่นแรกอีกหลายคน เขาออกเดินทางจากดินแดนบ้านเกิดตอนอายุได้ 18 หรือ 20 ปีเพื่อไปเอเธนส์

เมื่อโพซิโดนิอัสมาถึงเอเธนส์ ในช่วงระหว่าง 117 – 115 ปีก่อนคริสตกาล เขาก็พบว่าระเบียงทาสีตกอยู่ในมือของแพนอายทีอัสอย่างมั่นคงแล้ว ตอนนั้นแพนอายทีอัสอยู่ในวัยชรา และเป็นบุคคลสำคัญยิ่ง ไม่เพียงในสำนักสโตอิก แต่ยังรวมถึงอาณาจักรทั้งหมดด้วย

แหล่งข้อมูลเขียนถึงโพซิโดนิอัสว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา และมีความสนใจหลากหลายในประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ดาราศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา สมุทรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา วิทยาแผ่นดินไหว ชาติทพันธุ์วรรณนา คณิตศาสตร์ เรขาคณิต ตรรกศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และจริยศาสตร์ บางทีอาจเป็นแพนอายทีอัส ผู้เคยเดินทางไปทั่วในภารกิจค้นหาความจริง ที่สนับสนุนให้ศิษย์หนุ่มออกเดินทางศึกษาบ้าง

ขณะที่โพซิโดนิอัสเดินทาง ชื่อเสียงของเขาก็เพิ่มพูนในฐานะผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาต่อจากอริสโตเติล มันยังพาเขาออกไปเจอโลกภายนอก ลงไปสัมผัสดินและอยู่กลางน้ำ ห้องเรียนของเขาคือท้องฟ้า ดวงดาว และตลาดอันคึกคัก โพซิโดนิอัสใช้ชีวิตราวกับโลกทั้งใบเป็นวิหารแห่งเทพเจ้า อัจฉริยะบางคนพอใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกความคิดของตัวเองเท่านั้น ปรัชญาหลายสำนักซึ่งเต็มไปด้วยนักปรัชญา ผู้มองตัวเองเป็นอัจฉริยะอย่างไม่ต้องสงสัย ก็สนับสนุนแนวทางนี้ ในสมัยของโพซิโดนิอัสก็สนับสนุนให้ผู้ติดตามหันหลังให้โลก รวมถึงประเมินการเมืองและเสียงรอบตัวด้วย

โพซิโดนิอัสเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เป็นนักสำรวจ นักกลยุทธ์ นักวิทยาศาสตร์ และนักการเมือง เช่นนี้จึงถือว่าเขาเป็นนักปรัชญาตัวจริงด้วย แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งนักเดินทางทุกคนก็ต้องกลับบ้านบ้าง สำหรับโพซิโดนิอัสก็คือโรดส์ เขานำการศึกษาเกี่ยวกับการเมืองมาใช้จริง จากนั้นก็ทะยานขึ้นสู่ชนชั้นผู้นำที่นั่น จนได้ครองตำแหน่งสูงสุดของพลเรือนคือไพรทานี ซึ่งปกครองสภาบริหารในโรดส์ ขณะเดียวกันเขาก็สร้างสำนักศึกษาปรัชญาของตัวเองขึ้นมาด้วย

โรดส์เป็นดินแดนที่ห่างไกล แต่ก็ยังเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า และความคิดในเมดิเตอร์เรเนียนด้วย มันจึงเป็นที่พำนักอันสมบูรณ์แบบ สำหรับนักคิดหัวอิสระผู้นี้ ช่วงนั้นโพซิโดนิอัสเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ และคิดทฤษฎีเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะของมนุษย์ ผลงานทั้ง 2 อย่างสะท้อนการประเมินเพื่อนมนุษย์ ในแบบที่ตรงตามความเป็นจริงและไร้อคติมากขึ้น นี่คือการประเมินแบบที่อัจฉริยะมักทำกัน ชีวิตที่เหลือของโพซิโดนิอัสหมดไปกับการเขียนหนังสือ ศึกษาปรัชญา และสอนหนังสือ ชัดเจนว่าการเดินทางและประสบการณ์จริง ในโลกการเมืองระดับสูงสุดของเขาส่งผลต่อ 3 เรื่องนี้

โพซิโดนิอัสทำงานและใช้ชีวิตในสถานที่หลายแห่ง ตลอดชีวิตอันยาวนานทั้งซีเรีย เอเธนส์ โรม และโรดส์ อีกทั้งเขายังเดินทางไปเกือบทั่วโลก ที่รู้จักกันในตอนนั้นด้วย เขาเขียนหนังสือหลายเล่ม เขาแนะนำสั่งสอนผู้ทรงอำนาจหลายคน เขาเป็นคนฉลาดที่สุดคนหนึ่งในโลกโบราณ เขายอมรับเองว่าตัวเองเป็นแค่ส่วนเล็กในเอกภพจักรวาล แต่ก็เป็นผู้สร้างประโยชน์ที่น่าประทับใจอยู่ดี แต่กระทั่งอัจฉริยะก็ยังถูกลืมในที่สุด อีกทั้งทุกคนล้วนต้องตาย เมื่อ 51 ปีก่อนคริสตกาล เขาก็เสียชีวิตอย่างสงบสุขในวัย 84 ปี เขาเรียนรู้ที่จะจากโลกนี้ไปในฐานะผู้มีความสุข และซาบซึ้งใจในชีวิต

ซิเซโร

สหายนักเดินทาง

ไม่อาจพูดได้ว่าซิเซโรเป็นชาวสโตอิก ตัวเขาเองก็ไม่เคยกล่าวอ้างเช่นนั้น ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นศิษย์ผู้ทุ่มเทของชาวสโตอิก เขาศึกษาโดยตรงจากโพซิโดนิอัส ชาวสโตอิกตาบอดชื่อไดโอโดตัส เพราะเคยพักอยู่กับเขานานหลายปี และถึงกับตายในบ้านของซิเซโรด้วยซ้ำ แถมยังยกมรดกที่ดินให้ชายหนุ่มทรงอำนาจที่เขาสั่งสอนมานานด้วย แต่ถึงอย่างนั้นซิเซโรกลับไม่อาจกล่อมตัวเองให้ใช้ชีวิต ตามหลักคิดที่เขาศึกษาและบันทึกไว้อย่างจริงจังนี้ เขาเป็นสหายนักเดินทาง เป็นชายผู้ไม่มีกลุ่ม เป็นคนที่แม้ประสบความสำเร็จ และมีความทะเยอทะยานมากแค่ไหน กลับขาดความกล้าและอุปนิสัยที่จำเป็นต่อช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ตอนนั้น หรือก็คือเขาไม่อาจทำตามที่ลัทธิสโตอิกเรียกร้องให้เขาแสดงออกได้

ชีวิตของซิเซโรในโรมเริ่มต้นเมื่อ 90 ปีก่อนคริสตกาล ตอนที่เขาอายุได้ 16 ปี ก็ถูกพ่อส่งไปที่นั่นเพื่อศึกษาการพูดในที่สาธารณะและกฎหมาย เขาเข้าเมืองหลวงโดยอาศัยเส้นทางสายธุรกิจของพ่อ และตกหลุมรักสิ่งที่พวกเราในปัจจุบันอาจเรียกว่าชีวิตของชนชั้นสูงทันที ชีวิตช่วงแรกของซิเซโรเกือบเหมือนการฝึกฝน เพื่อรอเหตุการณ์อันน่าทึ่งและสำคัญ ที่เขาจะต้องเจอในวัยฉกรรจ์ ซิเซโรซึ่งเป็นผู้เขียนข้อมูลมากมาย เขายังเป็นนักสร้างสรรค์เรื่องเล่า ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของตัวเองด้วย

เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนตอนอายุเริ่มขึ้นเลข 3 ก็ถึงเวลาให้ซิเซโรเริ่มต้นอาชีพทางการเมือง ซึ่งเขาวางแผนมานาน ชาวโรมันอายุ 30 ปีมีสิทธิ์สมัครเป็นเควสเตอร์ ซึ่งแปลตรงตัวว่าผู้สร้างคำถามแต่ความจริงก็คือ ผู้ร่างกฎหมายและตอบคำถามของผู้ร้องเรียน นี่คือตำแหน่งเริ่มแรกก่อนจะได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในลำดับต่อไป เขาไม่ใช่แค่นักการเมืองโดยธรรมชาติ แต่ยังเป็นผู้ทำงานหนักด้วย เขาตั้งใจสร้างนิสัยให้จดจำชื่อผู้สนับสนุนคนสำคัญทุกคน แถมยังรู้ไปถึงขนาดที่ดิน ธุรกิจ และความต้องการของพวกเขาด้วย นี่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นตามแนวคิดสโตอิก ไม่มีประโยชน์ในฐานะโพลิส หรือสิ่งที่จำเป็นสำหรับรัฐ แต่จำเป็นในมุมมองทางการเมืองล้วน ๆ

แนวทางที่สม่ำเสมอในชีวิตของซิเซโรคือ การไม่หยุดนิ่งต้องก้าวไปข้างหน้าก้าวขึ้นสู่เบื้องบน เกือบทุกอย่างที่เขาทำ เขามักทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ขณะทำก็คิดไปด้วยว่าตัวเองจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง มันไม่ตรงตามแนวคิดสโตอิกเสียทีเดียว แต่ก็ได้ผล นับตั้งแต่ยุคของคลีแอนเทสและเซโน ชาวสโตอิกก็ยึดมั่นในกฎแห่งการวางเฉยต่อความมั่งคั่งและสถานะ แม้ซิเซโรนับถือชาวสโตอิกมากเพียงใด ก็ไม่อาจยืนหยัดตามแนวทางนี้ได้ เขาไม่หันหลังให้ความหรูหรา แต่วิ่งไล่ตามเพื่อไขว่คว้ามัน นอกจากเงินที่ได้จากครอบครัวและเงินสินเดิมของภรรยาแล้ว เขายังหาเงินได้มากมายผ่านวิธีที่ดูเหมือนไม่ค่อยถูกกับจริยธรรมนัก เขาหาทางเข้าไปตีสนิทกับผู้คน เพื่อให้คนเหล่านั้นทิ้งมรดกไว้ให้ในวันหนึ่ง

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องชมเขา แม้มีความทะเยอทะยานและรสนิยมแพงแค่ไหน ซิเซโรก็ยังขีดเส้นแบ่งอย่างชัดเจน เมื่อเป็นเรื่องการทุจริต เขาไม่รับเงินสินบนเลย ซึ่งแตกต่างมากจากนักการเมืองโรมันหลายคน เขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้น่าชื่นชมและซื่อสัตย์ ถึงขั้นปฏิเสธไม่รับค่าทนายจากลูกความด้วยซ้ำ แน่นอนว่าจุดยืนนี้ทำได้ง่ายขึ้น เมื่อได้รับมรดกนับล้าน

ซิเซโรมีอำนาจมากมายในมือ แต่เขากลับลังเลไม่ใช่ด้วยเหตุผลด้านศีลธรรม เขากำลังคิดถึงชื่อเสียงของตัวเองเช่นที่เคยเป็นมาเสมอ เขาสั่งประหารชีวิตผู้สมรู้ร่วมคิดโดยไม่มีการไต่สวน รวมถึงคนอีกนับพันในกองทัพที่สนับสนุนคนกลุ่มนี้ก็เสียชีวิตด้วย วุฒิสภาตอบแทนเขาด้วยการมอบตำแหน่งบิดาแห่งประเทศชาติให้ แต่มาตรการสุดโต่งและผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความตายมากมายเหล่านี้ จะหลอกหลอนเขาไปตลอดชีวิตที่เหลือ แน่นอนว่าตลอดประวัติศาสตร์เลยด้วยซ้ำ

สุดท้ายสิ่งที่เขาทำไว้ก็คืนสนอง ปีท้าย ๆ ในชีวิตของซิเซโรปั่นป่วนวุ่นวายไปกับการเขียนหนังสือ และวิ่งหนีชะตากรรมที่ไล่ตามมา หากเขาถอยออกไปเขียนหนังสืออย่างเต็มตัว ก็อาจทำให้ได้ชื่นชมเขา ตอนนั้นซิเซโรไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยว ไม่มีอะไรช่วยให้มั่นใจ มีเพียงแนวคิดในหนังสือ และความทะเยอทะยานที่อ่อนแรง ทำให้เขารู้สึกสูญเสียและใจสลาย อาชีพของเขาดูเหมือนจบสิ้นแล้ว ชีวิตก็กำลังพังย่อยยับ

ดังนั้น ซิเซโรจึงเขียนถึงปรัชญาต่อไป โดยไม่นำมันมาใช้ในชีวิตจริง เขายังคงเขียนถึงลัทธิสโตอิกแต่ไม่ยอมรับมันเข้ามาในใจ เมื่อเขาไม่อาจทำตามหลักการที่ส่งต่อมาจากเซโน คริสซิปปุส และแม้แต่เพื่อนชาวสโตอิกรุ่นเดียวกัน ถ้อยคำที่เขียนได้ดีเหมือนแทบทุกอย่างที่ซิเซโรสร้างสรรค์เอาไว้ ดูเหมือนสิ่งที่ขาดหายไปคือ ตัวเขาเองไม่ได้นำไปใช้เลย แม้ซีซ่าเป็นทรราชก็ยังแสดงความอ่อนโยนและอารมณ์ขันอยู่เสมอ รวมถึงความรักในศาสตร์แห่งวาทะศิลป์ด้วย ทว่า มาร์ก แอนโทนี่ กลับไม่มีความอ่อนโยนเช่นนั้น คณะ 3 ผู้นำชุดที่ 2 ได้ถกกันเรื่องชะตากรรมของซิเซโรอยู่หลายวัน จากนั้นก็ตัดสินโดยไม่ผ่านการไต่สวนเหมือนที่เขาเคยทำกับศัตรูเมื่อหลายปีก่อน สิ่งที่เขาได้รับก็คือความตาย เขาพยายามหนี จากนั้นก็ลังเลแล้วย้อนกลับมา เขาคิดจะฆ่าตัวตายแบบเล่นใหญ่ แต่แล้วก็ไม่กล้าทำอะไรที่เด็ดขาดขนาดนั้น สุดท้ายก็เลยพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดต่อไป

ซิเซโรพูดจาเล่นใหญ่มานานแล้ว ในช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งนี้ กลับไม่มีอะไรในตัวเขา และปรัชญาโลเลของเขา จะช่วยให้หยัดยืนได้ ขณะโดนชะตากรรมเลวร้ายถาโถมเข้าใส่ ทั้งหมดที่ซิเซโรทำได้คือหวังว่าจะได้รับความเมตตา แต่เขาก็ไม่ได้รับมัน เขาหมดแรงเหมือนสัตว์ที่โดนไล่ล่า สุดท้ายจึงยอมแพ้เลิกดิ้นรน และรอคอยให้อีกฝ่ายลงดาบ ผู้สังหารตามมาทันเขาบนถนนระหว่างเนเปิลส์กับโรม เขาถูกตัดศีรษะ ไม่นานศรีษะ มือ และลิ้นของเขาก็โดนนำไปเสียบประจานที่ฟอรั่มและบ้านของมาร์ก แอนโทนี

เซเนกา

ผู้ทะเยอทะยาน

ลูซิอัส แอนเนอัส เซเนกาคงพอใจมาก หากรู้ว่ายังคงมีคนพูดถึงเขาอยู่ในทุกวันนี้ เขาต่างจากเพื่อนชาวสโตอิกหลายคน ที่เขียนว่าชื่อเสียงหลังความตายนั้นไร้ค่า เซเนกาต้องการมัน เขาพยายามไขว่คว้ามัน ทำทุกอย่างเพื่อมัน จวบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อเขาฆ่าตัวตายแบบเล่นใหญ่ เซเนกาแทบไม่มีความถ่อมตน หรือความอ่อนน้อมเลย แต่เขามีความทะเยอทะยาน ความสามารถและเจตจำนงกระหายอำนาจ

เขาเกิดราว 4 ปีก่อนคริสตกาลในคอร์ดูบาที่สเปน เซเนกามายังโลกใบนี้ตอนใกล้สิ้นสุดยุคสมัยของออกัสตัส พ่อของเขาเลือกชาวสโตอิกชื่อแอตตาลัสมาเป็นครู สาเหตุหลักเป็นเพราะชื่อเสียงของครูผู้นี้ในเรื่องคารมคมคาย พ่อของเขาอยากให้ลูกชายมีทั้งคุณธรรม และความสามารถในการสื่อสารความคิด อย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือตามวิถีชีวิตโรมัน ลูกชายของเขาตั้งใจเรียนมาก แต่บทเรียนอันทรงพลังสูงสุด ที่เซเนกาเรียนรู้เกี่ยวกับความปรารถนา คือการอยากเป็นคนที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงในโลกจริง ได้รับสิ่งดีบางอย่างในทุกวัน ได้กลับบ้านในฐานะคนที่ดีขึ้น หรืออยู่บนเส้นทางสู่การเป็นคนที่ดีขึ้น

ในโรมนั้นทนายหนุ่มอนาคตไกลอาจปรากฏตัวในศาลได้ตั้งแต่อายุแค่ 17 ปี แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าเซเนกาก็คงพร้อมทันทีที่อายุถึงเกณฑ์ แต่หลังจากทำอาชีพที่น่าจะรุ่งนี้ได้แค่ไม่กี่ปี เซเนกาในวัย 20 ปีกว่า ๆ ก็เริ่มมีปัญหาสุขภาพเสียแล้ว บีบให้เขาต้องเดินทางไปพักฟื้นที่อียิปต์เป็นเวลานาน เซเนกาไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ แม้เขาควบคุมเรื่องนี้ไม่ได้ เขาก็ตัดสินใจได้ว่า จะใช้เวลาเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ และสะสมพลังอยู่นาน 10 ปี

เซเนกาได้กลับโรมตอนอายุ 35 ปีในค.ศ. 31 มันคือช่วงเวลาแห่งความวิตกกังวล ความรุนแรง และความวุ่นวายทางการเมือง เขาได้รับตำแหน่งแรกท่ามกลางพายุลูกนี้ เขาได้เป็นเควสเตอร์จากเส้นสายของวงศ์ตระกูล สถานการณ์ของเซเนกาเหมือนหนีเสือปะจระเข้ ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปีเขาได้สูญเสียพ่อ แต่งงานแล้วก็สูญเสียลูกชายคนแรก จากนั้นเมื่อเขาฝังลูกชายได้แค่ 20 วัน ก็โดนจักรพรรดิคลอดิอัสผู้สืบทอดอำนาจต่อจากคาลิกูลาสั่งเนรเทศออกจากโรม

การหายไปจากโรมคราวนี้แค่ 8 ปี แม้ตอนแรกเซเนกาจะใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์ การโดนโดดเดี่ยวก็น่าจะเริ่มส่งผลต่อจิตใจของเขา ไม่นานชายผู้เคยเขียนถ้อยคำปลอบใจคนอื่น ก็ต้องการคำปลอบใจเสียเอง มันคือช่วงเวลาที่ปราศจากเพื่อนและครอบครัว โดนตัดสินอย่างอยุติธรรม แถมยังโดนขโมยวันเวลาอันมีค่าในชีวิตไปอีกด้วย แนวคิดหลักอย่างหนึ่งที่พบบ่อยในจดหมาย และบทความของเซเนกาในช่วงเวลานี้คือ เรื่องความตาย

อากริปปินาผู้เป็นเหลนของออกัสตัส มีความคิดทะเยอทะยานสำหรับลูกชายวัย 12 ปีที่ชื่อเนโร พระนางได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับคลอดิอัส ผู้สืบบัลลังก์ต่อจากคาลิกูลาในค.ศ. 49 และกล่อมให้พระองค์รับเนโรเป็นโอรสบุญธรรม จากนั้นสิ่งแรก ๆ ที่อากริปปินาทำในฐานะจักรพรรดินีก็คือ พยายามให้คลอดิอัสเรียกเซเนกากลับมาจากคอร์ซิกา เพื่อให้เป็นครูของเนโร อากริปปินาวางแผนให้เนโรได้เป็นจักรพรรดิในวันหนึ่ง เซเนกาในวัย 53 ปีผู้ถูกเมินและมองข้ามมาเนิ่นนานก็ได้พุ่งทะยานไปอยู่ใจกลางราชสำนักหลวงแห่งอาณาจักรโรมัน บทเรียนของเซเนกาจึงน่าจะวนเวียนอยู่ในเรื่องกฎหมายกับวาทะศิลป์ วิธีโต้แย้งและการวางกลยุทธ์ ส่วนหลักการสโตอิกใด ๆ คงต้องแทรกซึมเข้าไปในบทเรียน เหมือนผักที่แอบใส่เข้าไปในมัฟฟินสำหรับเด็ก

ในค.ศ. 54 หรือราว 5 ปีหลังจากเซเนกาเข้ามาทำงานในราชสำนัก อากริปปินาก็ปลงพระชนม์พระสวามีคือคลอดิอัสด้วยเห็ดพิษ เนโรได้เป็นจักรพรรดิในวัย 16 ปี และเซเนกาก็ได้รับมอบหมายให้เขียนบทพูดให้เนโร เพื่อกล่อมโรมว่าไม่ใช่เรื่องเสียสติ ที่จะมอบอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จให้เด็กหนุ่มผู้รู้อะไรเพียงผิวเผินคนนี้ เซเนกาในฐานะครูและผู้ปกครองได้พยายามชี้ทางที่ถูกให้ หนึ่งในสิ่งแรก ๆ ที่เขามอบให้จักรพรรดิองค์ใหม่คือ ผลงานที่เขาแต่งขึ้นมาในเรื่อง De Clementia ซึ่งสอนแนวทางสู่การเป็นผู้นำที่ดี และเขาก็หวังว่าเนโรจะทำตาม แม้คนในปัจจุบันอาจมองว่าความเมตตากรุณาเป็นแนวคิดที่ดี ตอนนั้นมันกลับเป็นคำแนะนำแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นี่คือบทเรียนที่เขาตั้งใจมอบให้เนโร รวมถึงผู้นำทุกคนที่อาจได้อ่านบทความนี้ในภายหลัง โลกน่าจะเป็นสถานที่ที่ดีขึ้นหากมีความเมตตาเพิ่มขึ้น แค่มองประวัติศาสตร์แต่ผ่าน ๆ ก็ยืนยันเรื่องนี้ได้แล้ว ปัญหาคือการหาผู้นำที่เข้าใจมันนั้นยากมาก

ความสัมพันธ์ระหว่างเซเนกากับเนโรนั้นน่าสนใจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน หรือถ้าจะพูดให้ถูกคือย่ำแย่ลงไปตามกาลเวลา สุดท้ายแล้วเซเนกาก็แทบไม่ก้าวหน้าใด ๆ ในการสอนเนโร ผู้เป็นชายหนุ่มที่กาลเวลาจะเปิดเผยว่า มีจิตวิปริตและข้อบกพร่องมากมาย นี่เป็นภารกิจที่ไร้ความหวังมาตลอด ทั้งหมดที่ชาวสโตอิกคนหนึ่งทำได้คือ โผล่หน้าไปทำงานของตัวเอง เซเนกาเชื่อว่าเขาต้องทำงานนี้ และเขายังแสดงออกชัดเจนด้วยว่าต้องการทำมัน

เนโรถูกผลักดันด้วยความคิดหวาดระแวงและโหดร้าย ที่สืบทอดมาจากพระมารดา จึงเริ่มกำจัดคู่แข่งของตัวเอง พร้อมกับบีบให้พระมารดาสละอำนาจ และเริ่มวางแผนสังหารพระนางด้วยสุดท้ายก็ทำสำเร็จจนได้ เนโรผู้เคยอดกลั้นและรอคอย เมื่ออำนาจเริ่มอยู่ตัวและซึมเข้าสู่จิตวิญญาณแล้ว เขาก็ทำทุกอย่างได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม เซเนกาเตือนเนโรว่า เป็นไปไม่ได้ที่ราชาผู้แข็งแกร่งที่สุด จะสังหารผู้สืบทอดอำนาจทุกคนได้หมด สุดท้ายย่อมมีใครบางคนโผล่มาอยู่ดี แต่เนโรไม่ฟังและสุดท้ายก็สังหารชายทุกคน ในสายตระจูลิโอ-คลอเดียนจนหมดสิ้น

ยามว่างจากการฆ่าคน เนโรก็ไม่ได้พยายามตั้งใจบริหารอาณาจักรเลย เนโรชอบออกไปแข่งรถม้าในสนามพิเศษสุดโปรดนอกโรม พระองค์เมินบ้านเมืองแต่ขึ้นไปแสดงบนเวทีทั้งร้องเพลงและเต้นรำ เซเนการู้สึกย่ำแย่มาก แต่ก็ไม่จากไป เขายอมเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องน่าอายด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งคือความกลัว เขาได้เห็นจักรพรรดิฆ่าคน และเนรเทศโดยไม่ไต่สวนมาตลอดชีวิต ตัวเขาเองก็เคยโดนเล่นงานจากความอยุติธรรมมาแล้วไม่รู้กี่หน ความอาฆาตของผู้เป็นใหญ่จ่อคอเขาอยู่

แต่กระนั้น เซเนกาก็ร่ำรวยขึ้น และยังคงร่ำรวยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การปกครองของเนโร แค่ไม่กี่ปีสั้น ๆ เขาก็มีทรัพย์สินราว 300 ล้านเซสเตอร์เซส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของขวัญจากเจ้านาย เขาคือชาวสโตอิกผู้ร่ำรวยมากที่สุดบนโลกอย่างแน่นอน บางทีอาจร่ำรวยที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยซ้ำ สุดท้ายเซเนกาก็พยายามถอนตัว เขาอยากเดินจากไปสู่ชีวิตเกษียณแบบปลอดภาระ แต่มันไม่ง่ายขนาดนั้น ดูเหมือนคนทะเยอทะยานอย่างเซเนกาเพิ่งมาคิดได้เมื่อสายว่า คนเราอาจทำประโยชน์ให้เพื่อนพลเมืองได้ในแบบเงียบ ๆ ด้วย เช่น เขียนหนังสือ หรือแค่เป็นคนดีอยู่ที่บ้าน

รูปแบบหลักของงานเขียนที่เขาสร้างไว้คือ จดหมายปรัชญาที่ไม่ได้ตั้งใจสื่อสารถึงแค่เพื่อนชื่อลูซิเลียสที่จ่าหน้าถึงเท่านั้น แต่เขายังต้องการสื่อสารถึงผู้อ่านในวงกว้างด้วย แม้มีอันตรายรออยู่ไม่ไกลก็ยังถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข และความคิดสร้างสรรค์สำหรับเซเนกา เขายังพูดถึงปรัชญาว่า เป็นวิธีส่องกระจกเพื่อกำจัดข้อบกพร่องของตัวเอง คงเป็นเรื่องแปลกหากจะบอกว่าเซเนกาได้ซักซ้อมมาแล้วสำหรับช่วงเวลานี้ แต่มันก็เป็นเช่นนั้นจริง ในแง่หนึ่งงานเขียนและข้อคิดด้านปรัชญาทั้งหมดของเขา ล้วนชี้นำสู่เรื่องความตาย

สำหรับเซเนกาแล้วความตายไม่ได้มาอย่างง่ายดายเท่าที่หวังไว้ การที่เขากินอาหารน้อยดูเหมือนทำให้เลือดไหลช้าไปด้วย ดังนั้น เขาจึงจงใจดื่มยาพิษที่เก็บไว้สำหรับช่วงเวลาเช่นนี้โดยเฉพาะ แต่ก่อนหน้านั้นก็เทบางส่วนเพื่อบูชาเทพเจ้าด้วย ชายผู้เขียนถึงความตายไว้อย่างมากมายกำลังค้นพบความย้อนแย้งเมื่อความตายไม่ยอมมาเยือนเขาอย่างเต็มใจ เมื่อยาพิษไม่ออกฤทธิ์ เซเนกาก็ถูกย้ายให้ไปยังอ่างน้ำร้อนควันกรุ่น ซึ่งความร้อนและอากาศที่หนาแน่นก็ทำให้เขาสิ้นใจในที่สุด ไม่นานหลังจากนั้นศพของเขาก็ถูกกำจัดไปเงียบ ๆ โดยไม่มีพิธีศพ นี่ก็เป็นไปตามความต้องการของเขาที่บอกไว้นานแล้ว

เอพิคเตตัส

คนอิสระ

มีชาวสโตอิกมากมายหลายคน ที่พูดถึงนิยามของความเป็นอิสระ แต่คนที่เข้าใจมันอย่างแท้จริงคือเอพิคเตตัส ชาวสโตอิกคนอื่น ๆ ผู้ยกย่องตัวเองว่าดูแลทาสอย่างมีมนุษยธรรม เอพิคเตตัสกลับแตกต่างออกไปเพราะเขาเคยเป็นทาสตัวจริงมาก่อน เสรีภาพไม่ใช่ความได้เปรียบสำหรับนักปรัชญาสโตอิกผู้นี้ แต่เป็นการต่อสู้รายวันของชีวิต เขาเกิดในค.ศ. 55 ที่เฮียราโพลิส เขารู้จักความเป็นทาสมาตั้งแต่เกิด ชื่อของเขาในภาษากรีกก็แปลตรงตัวได้ว่า ผู้ถูกซื้อมา แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ทัศนคติและความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของเขา ก็ทำให้เอพิคเตตัสกลายเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของความสามารถมนุษย์ ในการค้นหาเสรีภาพที่แท้จริง ในสถานการณ์อันดำมืดที่สุด อิทธิพลของเขาไม่ได้อยู่แค่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่มันยังส่งผลต่อประวัติศาสตร์ตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

เอพิคเตตัสแทบไม่มีเวลามามัวคิดเรื่องความยุติธรรมของชะตากรรม เขายุ่งมากกับการเป็นทาส ทั้งโดนควบคุมอย่างเข้มงวดว่า ทำอะไรได้บ้างหรือทำอะไรไม่ได้บ้าง ผลงานจากการลงแรงก็ถูกแย่งชิงไป แถมร่างกายยังโดนข่มเหงอีก โรมขึ้นชื่อเรื่องใช้งานทาสหนักอยู่แล้ว ทาสเป็นเหมือนเครื่องมือไว้ใช้สอยแล้วโยนทิ้งไป การที่เขารอดชีวิตจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้ก็น่าทึ่งมากแล้ว เอพิคเตตัสถือว่าได้นายที่ทารุณโหดร้าย แม้เทียบตามมาตรฐานของโรม มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาบิดขาของเอพิคเตตัสอย่างสุดแรง เอพิคเตตัสเตือนมาอย่างใจเย็นว่า อย่าได้ทำจนเลยเถิด เมื่อเขาขาหักก็ไม่ได้ส่งเสียงร้องหรือร่ำให้ เขาแค่ยิ้มมองนายแล้วพูดว่า ข้าเตือนท่านแล้วใช่ไหม

เอพิคเตตัสเดินเขยกมาตลอดชีวิต ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเหตุการณ์ ที่สร้างความเจ็บปวดนี้ หรือเหตุการณ์อื่นกันแน่ แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาขาเสียเพราะตกเป็นทาส สำหรับเอพิคเตตัสแล้ว ไม่มีมนุษย์คนใดควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างเต็มที่ เขาบอกว่าชีวิตเหมือนละคร ก็ควรแสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะนี่คืองานที่ต้องแสดงบทบาทที่ได้รับให้ดี ส่วนหน้าที่ในการเลือกสรรเป็นของผู้อื่น

เซเนกาในฐานะนักเขียน อาจเป็นผู้แนะนำให้เอพิคเตตัสได้รู้จักลัทธิสโตอิกด้วยซ้ำ แต่การกระทำของเซเนกาอาจมีอิทธิพลต่อเอพิคเตตัสยิ่งกว่านั้น เพราะมันทำให้เขารู้ว่าเสรีภาพไม่ใช่แค่สถานะอย่างเป็นทางการ แต่มันคือภาวะจิตและวิถีชีวิตด้วย เซเนกาไม่อาจถอนตัวจากการรับใช้เนโร สุดท้ายก็โดนบีบให้ฆ่าตัวตาย เอพิคเตตัสตื่นตระหนกเพราะสิ่งที่เห็นในพระราชวังและหน่วยงานของโรม เขาก็เลยตั้งใจที่จะใช้ชีวิตในแบบที่แตกต่างกันไป เขาได้บรรยายถึงรูปแบบการสอนของมูโซนิอัสว่าตรงเป้าและเฉพาะตัว ครูผู้เรียกร้องสิ่งที่ดีที่สุดจากศิษย์ หากศิษย์ทำพลาด อ้างหลักเหตุผลที่อ่อนด้อย ไม่เห็นข้อบกพร่องของตัวเอง ก็เท่ากับไม่เข้าใจปรัชญาทั้งหมด แล้วถ้าศิษย์พยายามทำเหมือนความผิดพลาดเป็นเรื่องเล็กเล่า มูโซนิอัสมองว่าการกระทำแบบนั้น เลวร้ายเทียบเท่ากับการเผาโรม แล้วเต้นรำบนกองขี้เถ้าเลยด้วยซ้ำ

ครูแบบนี้เองที่สอนเอพิคเตตัสให้เข้าใจปรัชญา ไม่ใช่ในฐานะเรื่องเบี่ยงเบนความสนใจที่สนุกเพลิดเพลิน แต่เป็นเรื่องจริงจังอย่างมาก แม้มูโซนิอัส รูฟัสไม่ใช่ทาส เขากับเอพิคเตตัสก็สนทนากันได้ยาวนานเกี่ยวกับภาวะมนุษย์ (human condition) ชัดเจนว่าต่างคนต่างก็เคยพบเจอสิ่งเลวร้ายที่สุดที่มนุษย์ทำต่อกันแล้ว มูโซนิอัสโดนเนรเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระนั้นแทนที่พวกเขาจะโกรธแค้นที่เป็นอย่างนั้น แทนที่จะรู้สึกว่าควบคุมชีวิตตัวเองไม่ได้ พวกเขาทั้งคู่กลับใช้เหตุการณ์อันเจ็บปวดเหล่านั้น มาเป็นแรงผลักดันจนคิดได้ว่า อำนาจเดียวที่พวกเขามีคือ อำนาจเหนือจิตใจและอุปนิสัยของตัวเอง

เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งในวัย 30 ปี เอพิคเตตัสก็ได้เป็นไท ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และจิตวิญญาณของเขาเอง ตอนนี้ชีวิตได้เสนอทางเลือกใหม่ให้เขาแล้ว เขาเลือกอุทิศตนให้ปรัชญาอย่างเต็มที่ เขาแตกต่างจากชาวสโตอิกคนอื่นคือ เป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่เลือกทำสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่านักวิชาการ เมื่อจัดระเบียบความเข้าใจในโลก จนแบ่งเป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจนได้แล้ว ทุกเหตุการณ์มี 2 วิธีให้เลือกใช้ วิธีหนึ่งอ่อนและอีกวิธีหนึ่งแข็ง การตัดสินใจและวิธีที่เลือกใช้ในแต่ละวันกับทุกคนที่เจอคือ ตัวตัดสินว่าจะมีชีวิตแบบใด และจะกลายเป็นคนอย่างไร

ความสนใจของเอพิคเตตัสที่มีต่อภาวะไร้อำนาจ ไม่ใช่แค่ความเข้าใจถึงโครงสร้างอำนาจในยุคสมัยนั้น เขากำลังมองสิ่งที่ทำให้เป็นมนุษย์ โดยพื้นฐานมีหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่อยู่ในมือ หากไม่สลัดมันทิ้งไป หากคนผู้หนึ่งอยากมีความสุข อยากได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม อยากร่ำรวย เขาก็มองว่าไม่จำเป็นต้องมีชีวิตที่ราบรื่น พบเจอผู้คนที่ใจดี และมีเงินทองที่ไหลมาเทมา พวกเขาเพียงแต่ต้องมองโลกในมุมที่ถูกต้อง

ดังนั้น ทุกเช้าเขาจึงสนทนากับตัวเอง ตรวจสอบความก้าวหน้า ประเมินว่าเขาเตรียมตัวให้พร้อม สำหรับสิ่งที่อาจเกิดหรือยัง ตอนนั้นเองที่เขาจดบันทึก หรือท่องปรัชญาให้ตัวเองฟัง ในขณะที่ชาวโรมันคนอื่น ตื่นเช้าเพื่อบูชาเทพหรือทำงานเพื่อความก้าวหน้า เอพิคเตตัสกลับส่องกระจกเพื่อพิจารณาตัวเองและมองหาข้อบกพร่อง จงลืมทุกสิ่งทุกอย่างนอกจากการกระทำ อย่าเอาแต่พูดถึงแต่จงทำให้เห็น อย่าอธิบายปรัชญาแต่จงทำให้เห็นเป็นรูปธรรม เอพิคเตตัสเคยบอกไว้

มาร์คัส ออเรลิอัส

ราชานักปรัชญา

มันกลายเป็นความฝันของคนฉลาด มาตั้งแต่ยุคสมัยของเพลโตว่า วันหนึ่งอาจมีสิ่งที่เรียกว่าราชานักปรัชญา แม้ชาวสโตอิกใกล้ชิดกับอำนาจมานานหลายร้อยปี กลับไม่เคยมีสักคนที่เข้าใกล้การใช้อำนาจสูงสุดด้วยตัวเอง ชาวสโตอิกก็หวังว่าวันหนึ่งจะมีผู้นำที่คิดแบบพวกเขา เป็นคนที่จะกอบกู้อาณาจักรจากความเสื่อมและการทุจริต ดาวดวงนี้ถือกำเนิดในวันที่ 26 เมษายน 121 และได้ชื่อว่า มาร์คัส คาทิลิอัส เซเวรัส แอนนิอัส เวรัส แม้มีความคาดหวังและความรับผิดชอบที่เหลือเชื่อมากมายรออยู่ แต่ชายผู้นี้ก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่า มีค่าคู่ควรต่อการยกย่องสรรเสริญที่ได้รับ

ตอนที่เขาอายุได้ 10 หรือ 11 ขวบ ก็เริ่มสนใจปรัชญาแล้ว เด็กชายผู้นี้เลือกแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเนื้อหยาบเรียบ ๆ และใช้ชีวิตแบบสมถะ เคร่งครัดถึงขั้นนอนบนพื้นเพื่อฝึกตน ฮาเดรียนผู้ไม่มีพระโอรสและเริ่มคิดหาทายาท พระองค์ต้องเห็นบางอย่างในจิตวิญญาณของมาร์คัส เพราะเมื่อถึงวันเกิดอายุครบครบ 17 ปีของมาร์คัส ฮาเดรียนก็เริ่มวางแผนบางอย่างที่ไม่ธรรมดา พระองค์กำลังจะทำให้มาร์คัส ออเรลิอัสได้เป็นจักรพรรดิแห่งโรม

เมื่อถึงตอนที่ฮาเดรียนสิ้นพระชนม์ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ชะตากรรมก็ถูกกำหนดไว้แล้วมาร์คัส ออเรลิอัสจะได้รับการบ่มเพาะเพื่อตำแหน่งที่มีคนเพียง 15 คนได้ครอบครองในโรม เขาแตกต่างจากเจ้าชายส่วนใหญ่ ที่ตรงที่ไม่ได้ปรารถนาอำนาจ บางทีอาจเป็นเพราะเขาอยากเป็นนักเขียนหรือนักปรัชญามากกว่า เมื่ออายุได้ 19 ปีมาร์คัส ออเรลิอัสก็ได้เป็นกงสุล ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในดินแดน เมื่ออายุ 24 ปีก็ได้ครองตำแหน่งนี้อีกรอบ

ต่อมาในค.ศ. 161 เมื่ออายุ 40 ปีเขาก็ได้เป็นจักรพรรดิ ดูเหมือนการได้รับเลือกให้เป็นจักรพรรดิ และได้รับอำนาจมหาศาลตั้งแต่อายุยังน้อย กลับทำให้มาร์คัส ออเรลิอัสกลายเป็นคนที่ดีขึ้น นี่นับเป็นเหตุการณ์ผิดธรรมดาอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ เมื่อคนผู้หนึ่งไม่ได้เดินไปตามวิถีเดียวกับผู้นำคนอื่น ไม่ได้มีเพียงแรงปะทะของอำนาจที่ต้องเผชิญในชีวิต ยังมีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ที่สร้างความเจ็บปวดมาก มาร์คัสกับเฟาสตีนามีลูกด้วยกันทั้งหมด 13 คน แต่มีแค่ 5 คนที่รอดชีวิตจนได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่

ในรัชสมัยของเขาตั้งแต่ค.ศ. 161 – 180 เกิดเหตุการณ์เด่นคือโรคระบาดแอนโทนิน ซึ่งเป็นโรคระบาดระดับโลก ที่มีต้นกำเนิดจากตะวันออกไกล ได้คร่าชีวิตคนอย่างน้อย 5 ล้านคนในช่วงเวลา 15 ปี อีกทั้งในรัชสมัยนี้ยังเกิดสงครามที่ชายแดนราว 19 ปีด้วย แถมยังต้องเผชิญปัญหามากมายนับไม่ถ้วนตลอดรัชสมัยเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งภายนอกเหล่านี้ไม่ส่งผลต่อชาวสโตอิก

สุดท้ายเมื่อถึงช่วงบั้นปลายชีวิต ตอนที่เอวิดิอัส แคสซิอัส ผู้เป็นแม่ทัพที่เขาไว้ใจมากที่สุดเลือกที่จะก่อกบฏ มาร์คัส ออเรลิอัส ก็ต้องเผชิญบททดสอบความเชื่อทุกอย่างของตัวเอง ทั้งในเรื่องเกียรติ ความซื่อสัตย์ ความเห็นอกเห็นใจ ความมีน้ำใจ และศักดิ์ศรี พระองค์มีสิทธิ์โกรธได้อย่างแท้จริง แต่เขาก็ยกโทษให้แก่แคสซิอัส ถ้ามาร์คัสสมบูรณ์แบบตามธรรมชาติก็คงแทบไม่มีอะไรให้ชื่นชม ประเด็นสำคัญคือพระองค์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เขาพยายามอย่างหนักเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น และนั่นก็เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนสมควรทำเช่นกัน

เขาไม่โดนอำนาจบ่อนทำลาย ไม่หวาดกลัวเมื่อเผชิญโรคระบาดร้ายแรง ไม่โกรธมากเกินไปเมื่อโดนหักหลัง ไม่แตกสลายแบบกู่ไม่กลับ เมื่อเกิดโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ในชีวิต ทั้งหมดนี้ หมายความว่า คุณผู้อ่านเองก็ทำได้เช่นกัน ไม่มีแนวคิดเรื่องใดที่ปรากฏในงานเขียนของมาร์คัสบ่อยกว่าเรื่องความตาย บางทีอาจเป็นเพราะปัญหาสุขภาพนั่นเอง ที่ทำให้พระองค์ใส่ใจเรื่องความตายอย่างจริงจัง งานเขียนของเขาสะท้อนแนวคิดนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า และตั้งคำถามว่ามันสำคัญด้วยหรือว่ามีชีวิตอยู่นานขนาดนั้นหรือนานขนาดนี้ ถึงอย่างไรม่านก็ปิดใส่ตัวละครทุกตัวอยู่แล้ว

นี่คงเป็นบททดสอบสุดท้ายของราชานักปรัชญา เหมือนที่เป็นสำหรับชาวสโตอิกทั้งหลาย และมนุษย์ทุกคนด้วย ทุกคนต้องตายไม่อาจควบคุมเรื่องนี้ได้ แต่ควบคุมได้ว่าจะเผชิญความตายอย่างไร มาร์คัสป่วยหนักมากในช่วงบั้นปลายชีวิต แถมยังอยู่ไกลบ้านในสนามรบแถบเจอร์แมนิกใกล้เวียนนาในปัจจุบัน มาร์คัสกลัวว่าจะแพร่โรคให้ลูกชาย และกลัวปัญหาในการสืบทอดบัลลังก์ ก็เลยตัดสินใจบอกลาลูกทั้งน้ำตา แล้วส่งเขากลับไปเตรียมตัวปกครองอาณาจักร แม้ช่วงเวลาสุดท้ายของตัวเองรออยู่ไม่ไกลแล้ว เขาก็ยังสอนผู้อื่น ยังพยายามเป็นนักปรัชญา เขายังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกประมาณ 1-2 วัน

บางทีพระองค์อาจเขียนข้อความสุดท้าย ที่ปรากฏใน Meditations ในช่วงเวลาสุดท้ายนี้เอง ขณะที่ร่างกายอ่อนแอ แต่จิตใจเข้มแข็ง มันคือข้อความเตือนใจตัวเองให้มั่นคงในปรัชญา คือ

ดังนั้นจงจากไปอย่างมีเกียรติ เหมือนเกียรติที่เจ้าได้รับมา

สุดท้ายในวันที่ 17 มีนาคม 180 ตอนที่มาร์คัสอายุได้ 58 ปี พระองค์ก็หันไปหาองครักษ์แล้วพูดว่า จงไปหาดวงอาทิตย์ที่กำลังลอยขึ้นฟ้า ส่วนข้ากำลังจะตกดิน จากนั้นก็เอาผ้าคลุมศีรษะ เพื่อนอนหลับไปแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย

บทสรุป

ความเป็นวีระชนที่ยิ่งใหญ่ของชาวสโตอิก ที่พวกเราได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาไปแล้ว ในกรณีนั้นอิทธิพลของคนเหล่านี้ มาจากงานเขียนโดยตรง แต่บ่อยครั้งก็ไม่ได้มาจากงานเขียน อิทธิพลของพวกเขามาจากการกระทำ จากวิธีการใช้ชีวิต และสิ่งที่พวกเขาลงมือทำ ชาวสโตอิกเรียนเรื่องนี้มาจากโสกราติส พลูทาร์คผู้เป็นแหล่งข้อมูลมากมายได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าชีวิตของเราเปิดรับปรัชญาได้ตลอดเวลา และในทุกแง่มุมแม้ในขณะที่เผชิญ ประสบการณ์อารมณ์ทุกรูปแบบในแต่ละกิจกรรม และในทุกกิจกรรมก็ว่าได้

ชาวสโตอิกยังรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหาร พวกเขาเตร็ดเตร่อยู่ตามตลาด อีกทั้งพวกเขายังโดนจับกุมเป็นกลุ่มทั้งแบบยุติธรรมและไม่ยุติธรรม พวกเขาพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นนักปรัชญาในสถานการณ์เหล่านี้ พวกเขาผลิตผลงานที่ดีที่สุดผ่านการกระทำ การเลือก และบางครั้งยังใช้เลือดของตัวเองสร้างสรรค์มันขึ้นมาด้วย ไม่มีบทบาทใดเหมาะสมกับปรัชญา เท่าบทบาทที่สวมอยู่ตอนนี้แล้ว มาร์คัส ออเลรีอัสเคยเขียนไว้ มันอาจสื่อถึงบทบาทของพ่อแม่ บทบาทของคู่สมรส บทบาทของคนที่เข้าแถวรอคิวอยู่ บทบาทของคนที่เพิ่งได้รู้ข่าวร้าย บทบาทของคนร่ำรวย บทบาทของคนที่โดนเนรเทศหรือล้มละลาย บทบาทของคนผู้พบว่าตัวเองตกเป็นทาส ทั้งแบบที่เป็นทาสจริง ๆ และทาสทางอื่น ทั้งหมดนี้คือปรัชญา ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้คนผู้หนึ่งเป็นชาวสโตอิก

วิธีการที่ทำหน้าที่ และสวมบทบาทเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ หลัก ๆ แล้วชาวสโตอิกแสดงออกในสิ่งที่เรียนรู้มาจากแนวคิดของเซโน จากข้อความ 500 บรรทัด ที่คริสซิปปุสเขียนในแต่ละวัน จากหนังสือ 50 เล่มของคลีแอนเทส จากคำสอนของเอพิคเตตัส และจากการทบทวนความคิดของมาร์คัส ออเรลิอัส พวกเขาแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียนมาจากความกล้าหาญโดยไม่ต้องพยายาม และบทเรียนสอนใจที่มีชาวสโตอิกหลายคน ที่บกพร่องใช่ไหม แน่นอนอยู่แล้ว พวกเขาถูกล่อลวงด้วยความมั่งคั่ง และยอมประนีประนอมอย่างน่าละอาย ในขณะไขว่คว้าชื่อเสียง พวกเขาคุมสติไม่ได้ พวกเขาโกหก พวกเขากำจัดคู่แข่ง หรือหลับตาข้างหนึ่งขณะคนอื่นทำแบบนั้น

ประวัติศาสตร์โรมเป็นเรื่องราวของความทะเยอทะยาน และแรงผลักดันที่มากล้น เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับอำนาจและความฟุ้งเฟ้อ แถมบ่อยครั้งยังมีความรุนแรงเข้ามาด้วย ไม่มีใครในหนังสือเล่มนี้ที่ใช้ชีวิตตามคุณธรรมสูงส่งของความกล้าหาญ ความยุติธรรม การยับยั้งชั่งใจ และความรู้ได้ ในทุกนาทีของชีวิต แต่ขณะที่พวกเขาพยายามดิ้นรน และได้ชัยชนะมาอย่างยากลำบาก แต่ละคนก็ได้สอนพวกเราในบางอย่าง ได้พิสูจน์ให้เห็นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวว่า ทำไมหลักการที่พวกเขาเชื่อมั่นจึงเหนือกว่าตัวเลือกที่พวกเขาเลือกทำจริง ๆ เหนือสิ่งอื่นใดคือชาวสโตอิกสอนด้วยความจริงที่ว่า พวกเขาพยายามแล้ว หัวใจสำคัญคือสิ่งที่เรียนรู้ได้จากความสำเร็จ และความล้มเหลวของพวกเขา ในการวิ่งตามเป้าหมายมาตลอดชีวิต

ความย้อนแย้งของหนังสือเล่มนี้คือ ในขณะที่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของชาวสโตอิก ในหลายกรณีส่วนที่น่าสนใจ และสำคัญที่สุดในชีวิต กลับเป็นความตายของพวกเขา สำหรับชาวสโตอิกแล้ว ตลอดทั้งชีวิตก็คือการเตรียมพร้อมสำหรับความตาย พวกเขาจึงรวบรวมความกล้าหาญ ศักดิ์ศรี ความฉลาด และความเห็นอกเห็นใจ ออกมาใช้ได้ในช่วงเวลาที่น่ากลัวหรือน่าเศร้านั้น ไม่ว่าชาวสโตอิกเสียชีวิตด้วยน้ำมือของทรราช หรือหัวเราะจนตาย พวกเขาก็ได้สอนถึงบางอย่าง

สิ่งที่พวกเขาทำคือ การนำสิ่งที่เรียนรู้มาอย่างยาวนาน ไปใช้ในบริบทที่สำคัญที่สุดในชีวิต เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำอะไรโดยไม่ผิดพลาด ไม่มีทางอยู่แล้ว แต่อาจพยายามเลี่ยงมันได้เสมอ นั่นคือความหมายของลัทธิสโตอิก มันยืดหยุ่น มันคือการฝึกฝนเพื่อให้ดีขึ้น เพื่อให้คล่องขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในครั้งต่อไป เพื่อเข้าใกล้อุดมคติให้มากขึ้นอีกสักก้าว มันไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ แต่เป็นกระบวนการนี่แหละ คือนิยามของแต่ละชีวิตที่กล่าวถึงไปแล้ว

คำถามเดียวที่เหลืออยู่ สำหรับพวกเราผู้เป็นทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ของธรรมเนียมปฏิบัตินี้ก็คือ กำลังทำสิ่งที่ต้องทำอยู่หรือไม่.