โลกของธุรกิจในทุกวันนี้ กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากใครมองเห็นโอกาสก่อน ก็มักจะครองความได้เปรียบได้สนามการแข่งขันนี้ และสามารถคว้าโอกาสที่จะสำเร็จได้ก่อนใคร ดังนั้นแล้วการทำธุรกิจ ต้องอาศัยการการวางกลยุทธ์ที่ดี เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต 

หนึ่งในกลยุทธ์ที่บริษัทต่าง ๆ ใช้เพื่อขยายธุรกิจและบริหารความเสี่ยงคือการจัดตั้ง “Holding Company” หรือบริษัทโฮลดิ้ง ลองไปดูกันต่อว่า Holding Company ที่กล่าวไปข้างต้น คืออะไร แล้วมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

โดยการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบ”โฮลดิ้ง” ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรขนาดใหญ่เลือกใช้ เพื่อการขยายธุรกิจและการบริหารความเสี่ยง

วิธีการคือการที่บริษัทเข้าไปถือครองหุ้นหรือทรัพย์สินในบริษัทอื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีการดำเนินธุรกิจในตัวเองอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสามารถควบคุมและจัดการธุรกิจผ่านการถือหุ้นในบริษัทลูก

หากเปรียบเทียบให้เห็นเป็นภาพ Holding Company เป็นเหมือน “ต้นไม้ใหญ่” ที่มี “กิ่งก้านสาขา” ออกไปมากมาย เสมือนมีบริษัทลูกต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแล หากกิ่งก้านใดมีปัญหา ต้นไม้ใหญ่นี้ก็สามารถยังคงอยู่ได้ หรือ ช่วยฟื้นฟูกิ่งก้านเหล่านั้นได้

มาถึงตอนนี้พอจะเข้าใจความหมายของ Holding Company กันบ้างแล้ว ลองมาดูตัวอย่างกัน อย่าง Berkshire Hathaway เป็นบริษัทของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ไม่ได้มีการดำเนินกิจการในธุรกิจของตนเอง แต่เข้าไปถือหุ้นของบริษัทอื่นๆ เพื่อหวังเงินปันผลหรือกำไรจากส่วนต่างของราคา เช่น  Apple, Coca-Cola และ Bank of American เป็นต้น

แล้วทำไม Holding Company ถึงเป็นที่นิยม ลองไปดูข้อดีกัน

  1. ขนาดใหญ่และมีอำนาจ: สามารถต่อรองกับซัพพลายเออร์และลูกค้าได้ในราคาที่ดีกว่า
  2. เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย: เนื่องจากมีขนาดใหญ่และมีความน่าเชื่อถือ
  3. ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ: สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถสูงมาทำงานได้
  4. การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน: นักลงทุนมักจะมอง Holding Company เป็นบริษัทที่มีความมั่นคง เนื่องจากการกระจายความเสี่ยงและการบริหารจัดการที่ดี

แต่เหรียญก็ไม่ได้มีด้านเดียว ก็ยังมีข้อเสียอยู่ด้วยนะ

  1. โครงสร้างที่ซับซ้อน: การบริหารจัดการบริษัทโฮลดิ้งที่ซับซ้อนอาจเป็นเรื่องยาก
  2. ขาดความคล่องตัว: การตัดสินใจอาจช้าลง เนื่องจากต้องผ่านหลายขั้นตอน
  3. ความเสี่ยงทางการเงิน: หาก Holding Company ไม่สามารถจัดการหนี้สินหรือเงินทุนได้ดี อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทลูกและ Holding Company เอง

แม้ว่า Holding Company จะเป็นกลยุทธ์ที่นิยมสำหรับบริษัทในยุคปัจจุบัน แต่การตัดสินใจใช้โครงสร้างนี้จำเป็นต้องพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียอย่างรอบคอบ ทั้งโอกาสและความเสี่ยง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักลงทุนและองค์กร