สั่งซื้อหนังสือ “แด่วัย 30 ผู้คิดมาก” (คลิ๊ก)
สรุปหนังสือ แด่วัย 30 ผู้คิดมาก
เมื่ออายุ 30 คนเราจะเริ่มมีเรื่องที่ต้องคิดมากขึ้น ทุกครั้งที่ทำผิดพลาด หรือพบเจอเรื่องผิดหวัง ก็มักจะเกิดคำถามขึ้นว่า ทางที่กำลังเดินอยู่ใช่ทางของเราจริง ๆ หรือเปล่า หรือมันสายไปแล้วใช่ไหม ความคิดว่าตัวเองช่างอ่อนหัดเสียจริง ๆ ความหวาดกลัวอนาคตที่ดูไม่แน่นอน โลกใบนี้ก็ดูเหมือนจะอยู่ยากขึ้นทุกวัน ผู้คนรอบตัวก็เหมือนอัพเลเวลกันไปหมด เงินก็ไม่มี ภูมิหลังก็ไม่ดี ต้องสู้ด้วยมือเปล่า จนรู้สึกอยากยอมแพ้เสียเดี๋ยวนี้ นอนไม่หลับเพราะกังวลว่าจะทำสำเร็จหรือเปล่า
หากเป็นดั่งที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่เขียนในหนังสือเล่มนี้ น่าจะมีประโยชน์และช่วยได้บ้าง พวกเราหลายคนมีความพร้อมมากกว่าที่ตัวเองคิด ที่จริงอาจเพราะสิ่งที่พวกเราทำอยู่ ไม่จำเป็นต้องใช้ความพร้อมมากเท่าที่คิด แบบนี้น่าจะตรงกว่า คิดว่าสิ่งที่พวกเราต้องการไม่ใช่ความเพียบพร้อมไร้ที่ติ แต่เป็นใครสักคนที่คอยช่วยผลักดันในวันที่ลังเล รวมถึงความกล้าหาญที่จะเริ่มต้นเองด้วย ในวันนี้ไม่มีทางที่จะสมบูรณ์แบบไร้ที่ติได้ และแน่นอนว่าเมื่อวานก็คงซอมซ่อไม่ต่างอะไรจากวันนี้มากนัก เมื่อ 1 สัปดาห์ที่แล้ว หรือ 1 ปีที่แล้วก็เช่นกัน
แต่ถ้าดูเหมือนว่าจะบกพร่อง ขอให้อดทนสู้ต่ออีก 1 วัน 1 สัปดาห์ไปจนถึง 1 ปีและหลายปีถัดมาได้ แล้วย้อนกลับมามองดูตัวเองในสักวันหนึ่ง ก็คงจะเห็นว่าได้เติบโตขึ้นมากจริง ๆ ขอจงอย่าหยุดใช้ชีวิตในวันนี้ อย่าจมปลักอยู่กับเมื่อวาน เพราะคิดว่าวันนี้คงไม่ต่างอะไรกับเมื่อวานมากนัก ขอจงอย่ายอมแพ้วันพรุ่งนี้ เพียงเพราะคิดว่ายังไม่พร้อมรับมือกับมัน แค่ต้องใช้ชีวิตของวันนี้ให้ดี แม้ว่าทุกวันอาจจะดูเหมือนกัน
อาจรู้สึกว่าต่อให้สู้ชีวิตในวันนี้ก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ทุก ๆ วันที่ผ่านไปจะกลายเป็น 1 ปี 10 ปี และสร้างตัวเองขึ้นมา คนเราทุกคนต่างมีเวลาที่เดินไปอย่างยุติธรรม แม้จะช้าสักหน่อยก็ไม่เป็นไร ขอแค่ใช้ชีวิตของตัวเองในวันนี้ให้ดีก็พอ บางวันอาจรู้สึกพังไม่เป็นท่า บางวันอาจรู้สึกผิดที่ผิดทาง หรือบางวันอาจอยากยอมแพ้ไปเสียให้หมด แต่จงอย่าลืมว่าคนที่ปกป้องได้มีเพียงตัวเราเองคนเดียว หากใช้ชีวิตในวัย 30 อย่างเป็นตัวเองที่สุด ในวัย 40 จะสามารถพบเจอตัวตนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก
เป็นเรื่องธรรมดามากที่จะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ทำอะไรได้ดี หรือทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน จึงจำเป็นต้องลอง ลองทั้งสิ่งที่ชอบสิ่งที่ไม่ชอบ หรือแม้แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะทำไม่ได้ จากนั้นถึงจะรู้ได้ว่าเป็นคนแบบไหน ถอดสิ่งที่ห่อหุ้มตัวออกให้หมด แล้วลองหยิบเสื้อผ้าที่หลากหลายมาใส่ดูก่อน ถึงจะรู้ได้ว่าแบบไหนที่ใส่แล้วเหมาะสมและดูดีที่สุด คงเป็นเรื่องน่ายินดีหากจะช่วยให้มีพลังในการเริ่มต้นเพิ่มขึ้น และคงดีหากหนังสือเล่มนี้เป็นเพื่อน สำหรับคนที่กำลังต่อสู้กับชีวิตวัย 30 ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตวัย 30 ด้วย
ตอนที่ 1
เมื่อรู้สึกกังวลว่าตัวเองล้าหลังอยู่คนเดียว
เมื่อมีสิ่งที่ต้องทำเต็มไปหมด แต่กลับไม่อยากทำอะไรเลย การปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานแห่งใหม่นั้นเป็นเรื่องยากเสมอ ทั้งต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ ๆ ต้องเรียนรู้ความเป็นมา และข้อจำกัดของที่ทำงาน ต้องวิเคราะห์โปรเจ๊กต์งานให้ได้ กว่าจะมีส่วนร่วมในระดับที่ช่วยเหลือคนอื่นได้นั้น ต้องใช้ความพยายามและเวลามหาศาล ทุกครั้งที่เห็นคนอื่นพากันขายฝัน ก็มักทำให้คิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับที่แห่งนี้ เหมือนถูกความอับอายและความหวาดกลัวเข้าครอบงำ ความคิดที่กัดกินตัวเองจนเป็นทุกข์ขนาดนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ
- แม้สถานการณ์จะเลยเถิดมาถึงขนาดนี้ แต่เพราะยังทำได้ไม่เต็มที่
- ความรู้สึกเกลียดตัวเองที่เป็นแบบนี้
หากหลงทางก็เพียงแค่มีเชือกสักเส้นหนึ่งให้จับและยึดเหนี่ยวได้ก็เท่านั้นเอง
การบ้านอย่างแรกคือให้จดบันทึกสิ่งที่ต้องทำใน 1 วันเป็นประจำทุกวัน แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และทุกครั้งที่ทำสิ่งนั้นสำเร็จก็จงพูดชื่นชมตัวเองด้วย
อย่างที่ 2 คือการจดสิ่งที่คิดอยู่ในหัว โดยเขียนละเลงลงกระดาษให้หมด
แล้วหลังจากนั้นให้เริ่มทำ to do list สิ่งที่ต้องทำทุกอย่างแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย ขอเพียงแค่สร้างลิสต์ขึ้นมาก็รู้สึกได้เลยว่า ความกังวลที่เกิดจากการละเลยสิ่งที่ต้องทำหายไปเกินครึ่ง เริ่มต้นจากการจัดการงานง่าย ๆ พอทำตามลิสต์ได้ 2 อย่างขึ้นไปแล้ว การทำเพิ่มอีก 3 อย่างก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดามาก และเมื่อมองเห็นความคืบหน้าของงาน ความเครียดจากความคลุมเครือก็จะลดลง ช่วงเวลาที่มืดมนยาวนานและน่ากลัว เปรียบไปเช่นเดียวกับสัตว์ที่มีกระดอง ที่ต้องผ่านช่วงเวลาถอดเปลือกหุ้ม และเหลือแค่ตัวเปล่า ๆ เพื่อเติบโตต่อไป หากไม่ผ่านช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะไม่สามารถย้ายไปอยู่ในเปลือกหุ้มที่ใหญ่ขึ้นได้ ความเจ็บปวดเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับช่วงเวลาแห่งการเติบโต และเมื่อมีชามที่ใหญ่มากขึ้น ทีนี้ก็ได้เวลาเติมเต็มมันอย่างดีที่สุดแล้ว
ถ้าอยากมีความพอใจในตัวเอง (self-esteem) ที่แข็งแกร่งไม่หวั่นไหว เคล็ดลับการทำงานได้อย่างยืนยาวคือ การที่สนุกไปกับการทำงานได้ ว่ากันว่าอัจฉริยะไม่สามารถเอาชนะผู้พากเพียรพยายามได้ และผู้เพียรพยายามก็ไม่สามารถเอาชนะ ผู้ที่ทำงานด้วยความสุขได้เช่นกัน คนเราจะรู้สึกสนุกก็ต่อเมื่อทำงานที่เป็นตัวเอง และตอบสนองความชอบของตัวเองได้ และจะทำงานนั้นได้อย่างต่อเนื่องก็ต่อเมื่อ ทำจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งได้ ด้วยการมีความพอใจในตัวเอง (self-esteem)
ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร ก่อนอื่นต้องรู้ปัญหาในตอนนี้ รู้ว่าจุดที่จะไป (เป้าหมาย) คือที่ไหน รู้ว่ามีวิธีการไปอย่างไรบ้าง แต่เนื่องจากความพอใจในตัวเองเป็นเรื่องภายในจิตใจ การใช้ 3 ขั้นตอนดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทุ่มเทเวลาและความเพียร ปัญหาก็จะถูกแก้ไขได้ไม่ยาก แต่สำหรับเรื่องภายในจิตใจคงยาก ตั้งแต่การรับรู้สภาวะจิตใจ เมื่อตระหนักถึงสภาวะภายในจิตใจไม่ได้ ก็ไม่มีความตั้งใจอยากเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องจมปรักอยู่ในหลุมโคลนอยู่อย่างนั้น หรือไม่ก็ต้องล่องลอยไปเรื่อย ๆ อย่างหาที่มาไม่ได้ การแยกแยะคือจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบทั้งหมด ต้องฝึกจัดระเบียบจิตใจและทำจนเป็นนิสัยให้ได้
การแยกขยะหัวใจ
สิ่งที่สมควรเก็บไว้ : คำชื่นชมและเรื่องราวแง่ดี ในสภาวะที่ความพอใจในตัวเองต่ำ มักจะมีความคิดที่ผุดขึ้นมาเวลาได้รับคำชื่นชมจากผู้อื่น ทั้งที่เป็นคำชมแท้ ๆ แต่กลับคิดว่ามันเป็นคำต่อว่า ไม่ซาบซึ้งกับเรื่องราวที่ถูกชม แต่กลับคิดโยงถึงเรื่องอื่น ต้องรู้จักเก็บบันทึกซึมซับคำพูด และความคิดดี ๆ เอาไว้ เพื่อเป็นวิตามินบำรุงจิตใจของตัวเอง
สิ่งที่ควรทิ้งไป : ขยะหัวใจ ในการกำจัดขยะนั้นต้องจัดการให้ไว ขยะถึงจะไม่เน่าเสีย ขยะหัวใจนั้นมีทั้งขยะที่มาจากด้านนอก และขยะที่เราเป็นคนสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง
ขยะที่มาจากด้านนอกนั้นต้องรีบทิ้งลงถังขยะให้เร็วที่สุด
ส่วนขยะที่สร้างขึ้นมาเองนั้น คือ
1.กรณีที่เอาประสบการณ์และความทรงจำในอดีตมาทำร้ายตัวเองในปัจจุบัน ต้องทิ้งอดีตไว้กับอดีต
2.กรณีที่ปล่อยปละละเลยตนเองในปัจจุบัน ด้วยความกังวลกับเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น
3.กรณีที่สร้างความกลัวให้กับตัวเอง ด้วยเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้
ต้องสังเกตว่าชีวิตกำลังโอบกอดขยะที่ว่านี้อยู่หรือไม่ ต้องฝึกที่จะกำจัดมันออกไปให้เร็วที่สุด
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง : ผู้คนและข้อมูลเชิงแดกดัน มองโลกด้านลบ ความคิดแง่ร้าย การไม่สร้างขยะเหล่านั้นขึ้นมาเลย น่าจะเป็นวิธีการที่หลักแหลมกว่า คงดีกว่าถ้าสามารถตีตัวออกห่างจากคนและข้อมูลเชิงแดกดัน คนมองโลกด้านลบ และคนที่ปลูกฝังความคิดแง่ร้ายได้ พลังที่ไม่ดีนั้นน่าขยะแขยง และทิ้งกลิ่นเหม็นไว้นานอีกด้วย คนที่มองโลกในแง่ลบส่วนใหญ่มักเป็นคนขี้ขลาด คนเหล่านั้นจะไม่ยอมให้คนอื่นได้เห็นความกลัวของตัวเองเด็ดขาด และมักหลบซ่อนอยู่ในฝูงชน พวกเขาไม่มีประโยชน์ในชีวิตแน่ จงหลีกเลี่ยงพวกเขาเถอะ
ถ้าอยากคงไว้ซึ่งความรู้สึกดี ๆ ในทุกวัน มาลองสังเกตดูการดีกว่าว่า คนเราทำอะไรเพื่อให้ร่างกายของตนเองแข็งแรงบ้าง คนเราไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อการป้องกันหรือค้นพบจะได้รักษาแต่เนิ่น ๆ ไปโรงพยาบาลเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อรับการตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แล้วยังบริโภคอาหารที่ดีต่อร่างกาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ อีกทั้งยังออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เป็นการรักษาสุขภาพที่ดีเอาไว้
ที่จริงคนเราน่าจะดูแลรักษาจิตใจตัวเอง ในแบบเดียวกับที่ดูแลร่างกายได้ โดยขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ บริโภคสิ่งที่ดี ๆ และสร้างความแข็งแรงให้มัน วิธีการสร้างจิตใจให้มีสุขภาพดี คือ
การสร้างความแข็งแรงให้กับความเคารพตนเอง
บันทึกคำขอบคุณ ให้เขียนบันทึกคำขอบคุณตอน 10 นาทีก่อนนอนในทุกวัน ช่วงเริ่มต้นอาจคิดไม่ออกจริง ๆ ขอให้พยายามคิด พิจารณา และเข็นเอามันออกมาให้ได้ไปเรื่อย ๆ ก็จะค้นพบว่ารู้สึกภูมิใจ และรู้สึกขอบคุณกับเรื่องที่คิดไม่ถึงด้วยซ้ำ ถ้าสามารถทำเช่นนี้ไปได้เรื่อย ๆ ผลลัพธ์ดังต่อไปนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ
ข้อแรก จะหันไปดูแลความรู้สึกหดหู่ตัวเอง ไม่ปล่อยให้ตัวเองรู้สึกอะไรก็รู้สึกไปอย่างนั้น จะสามารถพิจารณาและจัดการแยกแยะได้ว่าใน 1 วันนี้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้างทำไมความรู้สึกถึงเป็นแบบนี้
ข้อ 2 เวลาที่เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น จะช่วยให้บันทึกมันได้เลยอย่างเป็นธรรมชาติ แล้วนั่นจะทำให้จดจำเวลาแห่งความขอบคุณ และความสุขสั้น ๆ ได้ชัดเจนขึ้นอีกนิด
ข้อ 3 จะสนใจเรื่องราวรอบตัวมากขึ้นอีกนิด และทำให้ตั้งใจสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้นด้วย
ข้อ 4 การเขียนช่วยนำความคิดให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเผชิญหน้ากับจิตใจตัวเอง ควรบันทึกความคิดเอาไว้ในกระดาษ ไม่ควรเก็บไว้แค่ในหัวสมอง
บริโภคสิ่งที่มีประโยชน์ต่อจิตใจ
ถ้าแยกแยะและเลือกทิ้งขยะของหัวใจเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็ต้องเติมเต็มมันด้วยสารอาหารดี ๆ
วิธีแรกคือ การอ่านหนังสือ หนังสือที่ดีจะช่วยเสริมพลังให้กับการสร้างความหนักแน่นของตัวเอง การอ่านเพื่อสุขภาพจิตใจนั้นไม่ใช่การอ่านเพื่อสอบให้ได้คะแนนดี การค่อย ๆ อ่านอย่างสม่ำเสมอให้หัวใจได้ออกกำลังกายเป็นประจำนั้น สำคัญกว่าความเร็วและปริมาณที่อ่านมาก
วิธีที่ 2 คือ การฟังสัมมนาหรือบรรยายดี ๆ หากขาดพลังแห่งความรู้ จะตีความทุกข์ของตนเองเกินกว่าความเป็นจริง ดังนั้น จึงต้องหาความรู้ให้มากขึ้น หากต้องการแยกขยะให้ได้ดีต้องมีความรู้
การกระจายความสุข ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ตัวตนที่หลากหลาย เหตุผลที่คนเราอารมณ์ไม่ดีนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะเอาตัวเองจมอยู่กับอารมณ์นั้น ๆ ทั้งหมด การที่จมอยู่ในอารมณ์นอกจากจะทำให้เยียวยาอารมณ์เชิงลบได้ยากแล้ว ยังอาจสร้างภยันตรายได้อีกด้วย การกระจายความสุขให้ได้มากที่สุด ไม่ได้ทำให้ความหนาแน่นของความสนุกลดลงไป แต่จะทำให้ปริมาณโดยรวม และพลังของความสุขมีมากขึ้นกว่าเดิม
วิธีการปกป้องตัวเองจากคนที่ทำให้เครียด ความเครียดส่วนใหญ่ของคน ล้วนเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนแทบทั้งสิ้น ตราบใดที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เรื่องนี้ก็อาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จากการเจอผู้คนไม่ว่าไปที่ไหน ก็เจอคนแปลก ๆ ได้เสมอ และเราก็อาจเป็นคนแปลก ๆ สำหรับคนอื่นด้วยเหมือนกัน วิธีแก้ปัญหาความเครียดจากความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ มีอยู่ 2 วิธี คือ
การควบคุมภายในจิตใจ (Mind Control)
ข้อแรกถ้าอยากชนะความเครียดให้ได้ต้องสนุก และรู้สึกว่างานมีคุณค่าก่อน ถ้าไม่สามารถรู้สึกสนุกกับงานได้ ก็ต้องทบทวนแล้วว่างานนี้เหมาะสมกับเราจริงหรือเปล่า
ข้อ 2 จงอย่าคิดว่าชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่ทำงานแห่งนี้ สามารถออกจากที่นี่เมื่อไหร่ก็ได้ หากไม่อยากให้ความสัมพันธ์เป็นแบบผู้มีอำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจ ต้องมั่นใจในความสามารถว่า แม้ไม่ใช่ที่นี่ก็หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ การที่ยอมฝืนทนกับเลือกอดทนเองนั้น แตกต่างกันราวฟ้ากับเหวทีเดียว
ข้อ 3 ที่ทำงานคือสถานที่ใช้แรงงาน และรับค่าตอบแทนเท่านั้น ไม่ใช่สถานที่เพื่อการเรียนรู้ หากเป้าหมายคือการเรียนรู้ ก็จงไปสถานศึกษา หรือสถาบันกวดวิชาดีกว่า
ข้อ 4 อย่าคาดหวังกับคนอื่นให้มาก ส่วนใหญ่แล้วความคาดหวังทำให้เกิดความผิดหวัง
ข้อ 5 คำว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยนั้น มีความหมายอีกอย่างว่า ความสามารถในการเรียนรู้ของเราตกต่ำ ในสถานที่เดียวกัน ด้วยประสบการณ์เดียวกัน บางคนก็เรียนรู้และเติบโต บางคนก็อยู่ที่เดิม
ข้อ 6 แยกแยะขยะอารมณ์ของแต่ละวัน ด้วยวิธีการจัดการใหม่ ๆ
การจบสถานการณ์ ถึงแม้จะสามารถควบคุมจิตใจได้ดีแค่ไหนก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังเป็นคนธรรมดาอยู่ ก็ย่อมต้องเจอกับช่วงเวลาคับขันที่ผ่านไปได้ยากอยู่ดี อีกทั้งทุกคนยังมีจุดที่รับไม่ได้แตกต่างกันด้วย
หลายครั้งที่ชีวิตไม่ใช่การเลือกในสิ่งที่ดีกว่า แต่เป็นการเลือกในสิ่งที่อดทนได้มากกว่า หากพิจารณาได้ว่า การยอมทนต่อไปเป็นตัวเลือกที่จะดูดกลืนจิตวิญญาณ คำตอบคือต้องรีบตัดขาด ความอดทนอดกลั้นไม่ยอมแพ้นั้นสำคัญก็จริง แต่ความกล้าหาญและความสามารถในการตัดสินใจเมื่อถึงยามจำเป็นก็สำคัญเช่นกัน นี่ไม่ใช่การกลายเป็นไอ้ขี้แพ้ หรือยอมแพ้แต่อย่างใด แต่คือการที่รู้จักปกป้องตัวเองต่างหาก
7 วิธีเป็นอิสระจากความคิดแง่ลบ มีคนจำนวนมากทีเดียวที่อ่อนไหวกับสายตาและคำวิจารณ์ของผู้อื่น รวมถึงเป็นทุกข์กับความรู้สึกต่ำต้อย และความคิดด้านลบที่มีต่อตัวเอง อาจเป็นเพราะความคิดที่เกิดมาจากนิสัยติดตัวตั้งแต่เกิด สภาพแวดล้อมที่เติบโตมา หรือสถานการณ์ที่ตนเองกำลังเจออยู่ในตอนนี้ แม้ตอนนี้จะรู้สึกว่าตัวเอง เอาชนะความรู้สึกด้อยค่าที่กัดกิน จนทุกข์ทรมานได้ประมาณหนึ่งแล้ว บางครั้งการที่ยิ่งตะเกียกตะกายก็ยิ่งทำให้จมลึกกว่าเดิม
เติมเต็มเวลา ก่อนอื่นต้องเติมเต็มเวลาให้กับหัวใจ โดยทั่วไปแล้วถ้ามีเวลาว่างเยอะ ความคิดเรื่อยเปื่อยก็จะเยอะขึ้นด้วย นี่เป็นวิธีการอุดช่องว่าง เพื่อไม่ให้พื้นที่กับความคิดเรื่อยเปื่อยนั่นเอง
รู้เท่าทัน เวลาที่เริ่มคิดอะไรในแง่ลบแล้วสามารถตระหนักได้ทันทีว่า ตอนนี้กำลังมีความคิดลบอยู่นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และต้องคอยระมัดระวังการสร้างความบิดเบือนอย่างเช่น การเห็นใจตนเอง การหนีความจริง หรือการทำร้ายตัวเอง
การไม่ให้ความหมายกับคำพูดของคนอื่นมากเกินไป หากมองคนที่ชอบพูดจาทำร้ายจิตใจให้ดี ๆ ก็จะรู้ได้ว่าคน ๆ นั้น มีจิตใจที่ไม่มั่นคงและมีบาดแผลเช่นกัน
ต่อสู้กับอดีตและเอาชนะมันให้ได้ บ่อยครั้งความทรงจำไม่ดีในอดีต ก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องราวของคนที่ยังทรมานกับอดีตอันบอบช้ำ ในวัยเด็กที่ถูกกระทำจากพ่อแม่ จำเป็นต้องใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจเท่านั้น ความตั้งใจที่จะไม่ปล่อยให้บาดแผลในอดีต มาทำให้ชีวิตในปัจจุบันพังลงอย่างเด็ดขาด ความตั้งใจที่จะปกป้องรักษาชีวิตของตัวเอง และการจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องใช้ความพยายาม และฝึกฝนอย่างหนัก
เขียนบันทึก การเขียนบันทึกความรู้สึกคลุมเครือให้ออกมาเป็นตัวอักษรนั้น จะทำให้มองเห็นความคิดของตัวเองชัดเจนขึ้น และทำให้รู้ว่ากำลังทุกข์ทรมานกับเรื่องไร้สาระขนาดไหน
ออกเดินทางท่องเที่ยว การออกเดินทางท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้ถูกฝังอยู่ในชีวิตประจำวันเดิม ๆ มากจนเกินไป เมื่อยืนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ความคิดกังวลก็จะเล็กลงไปโดยปริยาย การได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน ทำให้ย้อนกลับมามองชีวิตของตัวเอง ยิ่งได้ออกเดินทางมากขึ้น ก็ยิ่งรู้สึกอยากใช้ชีวิตตัวเองให้ดี นี่คือความคิดน่าสนุกว่า จะตั้งใจทำงานหาเงินเยอะ ๆ เพื่อที่จะได้ไปเที่ยวอีกนั่นเอง
ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นฮีโร่อันดับ 1 ของการดูแลสุขภาพใจ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่นอกจากนั้นตลอดเวลาที่ออกกำลังกาย จะทำให้จดจ่ออยู่กับร่างกายตัวเอง และลืมความคิดไร้สาระไปได้
ตอนที่ 2
หากกำลังวางแผนแต่ไม่กล้าลงมือทำ
ใช้เวลาคิดให้น้อยลงมือปฏิบัติให้เร็ว คนเราชอบวิตกกังวลมากเกินไป แถมยังคิดล่วงหน้าเกินไปมากเลยด้วย ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นความคิดที่เกินตัว การพิจารณาถึงงานที่ทำได้นั้นเป็นเรื่องดี เวลาที่สิทธิ์ในการตัดสินผลลัพธ์ไม่ได้เป็นของเรา ก็แค่ต้องทำในสิ่งที่ทำได้ และค่อยตัดสินใจเลือกเมื่อสิทธิ์ในการตัดสินใจนั้นเป็นของเรา การได้ลองทำแล้วตัดสินใจไม่เลือกกับการไม่ลองทำจึงไม่มีโอกาสเลือกนั้นแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ใช้เวลาคิดให้น้อยแล้วรีบลงมือปฏิบัติให้เร็ว ลองทำดูก่อนไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นค่อยคิดอีกทีวันหลังก็ยังได้
7 วิธีเอาชนะความกลัวการล้มเหลว จะทำอย่างไรดีกับความรู้สึกกลัวที่ต้องเผชิญ ความกลัวเป็นความรู้สึกที่ชั่วร้าย มืดมน และทรงพลังมากที่สุด ทว่าหากรู้จักวิธีจัดการที่ดี ก็จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังมากเช่นกัน มี 7 เคล็ดลับจัดการกับความกลัวดังนี้
- โยนลูกเบสบอล หลายคนบอกว่าต้องโชคดี ต้องมีชะตาสมพงศ์ หรือต้องเป็นคนมีดวงต่าง ๆ นานา ทะว่าดวงชะตาที่ว่านี้ ถ้ามาถึงแต่จับเอาไว้ไม่ได้แล้วจะมีประโยชน์อะไร ความโชคดีที่สุดแล้วก็คือ การลอยกลับมาของบอลที่ขว้างออกไป ตอนที่ลูกบอลลอยกลับมาก็ใช้ไม้เบสบอลให้ดี ครั้งที่ 2 ที่ขว้างลูกเบสบอลจะกลัวน้อยกว่าตอนขว้างครั้งแรก และตอนที่ขว้างครั้งที่ 3 ก็จะกลัวน้อยกว่าตอนขว้างทั้งที่ 2
- เพิ่มความเป็นไปได้ ถ้ากลัวลูกรักบี้ก็จงขว้างลูกปิงปอง ถ้ากลัวลูกบอลสีแดงก็จงขว้างลูกบอลสีเหลือง คนเราจำเป็นต้องค้นหาว่าตัวเองขว้างลูกแบบไหนได้ดี ต้องลองขว้างบอลให้หลากหลาย ขว้างไปในที่ที่ต่างกันไป หากขว้างไปในที่ที่ตั้งใจไว้เพียงอย่างเดียว จะมีโอกาสที่ลูกบอลจะไม่กลับมาสูง
- ทิ้งความตั้งใจที่จะทำให้ออกมาดีตั้งแต่เริ่ม เนื่องจากพวกเราอยากทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ออกมาดีตั้งแต่เริ่มต้น แต่แค่จะเริ่มต้นก็ยังทำไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้วจะทำให้ออกมาดีได้อย่างไร
- เอาความล้มเหลวมาเป็นเกณฑ์ ความล้มเหลวเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดเสมอไม่ว่าสำหรับใครก็ตาม เพราะว่าถ้าคาดการณ์ว่าจะล้มเหลว คิดว่าผลลัพธ์เช่นนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ แล้วจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาลองดูใหม่ได้อีกครั้ง
- อย่ารวมตัวเองให้เป็นหนึ่งเดียวกับความล้มเหลว คนเราจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ ไร้ค่า ไม่มีอะไรน่าชื่นชม กลายเป็นคนที่บกพร่องเสียอย่างนั้น เวลาที่เกิดความรู้สึกเช่นนี้ อาจทำให้เกิดบาดแผลต่อความพอใจในตัวเอง และหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ตกนรกอยู่กับความคิดว่า “ว่าแล้วมันไม่ได้เรื่อง” แต่ว่าความล้มเหลวเป็นเพียงหนึ่งในปรากฏการณ์มากมายบนโลก ไม่ใช่ตัวตนของเราแต่อย่างใด
- ความล้มเหลวคือกระบวนการไม่ใช่ผลลัพธ์ การที่นิยามผลลัพธ์ของสิ่งใดก็ตามด้วยคำว่าล้มเหลว มันจะกลายเป็นผลลัพธ์สุดท้ายของสิ่ง ๆ นั้นไปโดยปริยาย ทำให้ยากต่อการแสวงหาขั้นตอนต่อไป ความล้มเหลวเป็นเพียงผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป จากผลลัพธ์ที่คาดการณ์หรือต้องการ เพียงแค่รู้ว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรจากกระบวนการนั้นบ้าง ได้พัฒนาอะไรบ้าง และสามารถใช้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นเข็มทิศนำทางว่า จะขว้างลูกไปทางไหนต่อก็พอแล้ว
- จงอย่ากลัวที่จะกลัว ความกลัวเป็นสัญชาตญาณพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมถึงมนุษย์ด้วย เหตุนี้มนุษย์จึงดำรงชีพมาจนถึงปัจจุบันได้ วิธีจัดการกับความกลัวที่ต่างกันไปของแต่ละคน ก็ทำให้เกิดฝ่ายขวาจัด ซ้ายจัด เกิดกลยุทธ์ทางการตลาด หรือแม้แต่ระบบการศึกษา เพราะฉะนั้น ความรู้สึกหวาดกลัวนี้ไม่ได้มีเพียงเราคนเดียวที่รู้สึก แต่เป็นความรู้สึกอันแสนธรรมดาของมวลมนุษยชาติทั้งปวง
เหตุผลที่ความล้มเหลวร้อยครั้ง ยังดีกว่าความสำเร็จ 1 ครั้ง หากผลลัพธ์ของสิ่งที่ได้ลองทำออกมาไม่ดี ก็แค่คิดว่าไม่เป็นไร ยังมีโอกาสให้ล้มเหลวอีกตั้ง 99 ครั้ง น่าประหลาดใจที่ความล้มเหลวร้อยครั้ง สร้างความชำนาญให้ได้มากกว่าความสำเร็จเพียงแค่ครั้งเดียว ฉะนั้น จงอย่ากลัวความล้มเหลวเป็นอันขาด ต้องทดลองล้มเหลวก่อน จึงจะได้พบกับตัวตนที่แท้จริง ต้องออกจากสิ่งที่ห่อหุ้มตัว และเผชิญหน้ากับตัวตนให้ได้
ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความรู้ความสามารถ เป็นความคาดหวังจากคนรอบตัว เป็นรูปร่างภายนอกที่สร้างขึ้นมา ต้องกล้าเผชิญกับสิ่งที่อยู่ภายในตัวจริง ๆ ไม่ใช่เปลือกที่สร้างขึ้น และจุด ๆ นั้นจะกลายเป็นตำแหน่งของเสาเอก ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวในชีวิต ต้องรู้จักผืนดินที่กำลังจะก้าวเข้าไป รู้จักจุดเริ่มต้นด้วยเหตุผลที่ทุกคนต่างกังวล หวั่นไหว และหวาดกลัวความล้มเหลวอย่างไม่จบสิ้น
อาจเป็นเพราะยังไม่เจอตัวตนที่แท้จริงของตัวเองก็เป็นได้ ต้องเจอกับตัวเองก่อนจึงจะสร้างสรรค์ตัวเองได้ แต่ปัญหานี้ไม่มีใครในโลกตอบแทนได้ ทุกคนต่างต้องตามหาคำตอบของตัวเองให้เจอ แต่ก็ยังมีความหวังอยู่ว่า การได้พบเจอกับตัวเราจะเกิดขึ้นในสักจุดหนึ่งของเส้นทางชีวิต หากรู้จักตัวเองและกำหนดจุดเริ่มต้นได้ ก็จงอย่าเสียดายแค่สร้างใหม่ก็พอ แต่สิ่งที่สั่งสมจากการสร้างมา จะกลายเป็นสมบัติล้ำค่า ที่ทำให้การสร้างใหม่ดียิ่งกว่าเดิม
ตอนที่ 3
เมื่ออยากเก่งขึ้นแต่รู้สึกว่าตัวเองบกพร่องเกินไป
ความสามารถที่ดีที่สุดที่ทุกบริษัทต้องการ สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ได้นำเสนอทักษะการทำงานที่จำเป็นต่อองค์กรทั่วโลก 15 อย่าง แห่งปี 2025 ในรายงานอาชีพแห่งอนาคต 2020 มีดังนี้
- การคิดและปฏิรูปเชิงวิเคราะห์
- การเรียนรู้ด้วยตัวเอง และกลยุทธ์ในการเรียนรู้
- การแก้ปัญหาขั้นสูง
- การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์
- ความคิดสร้างสรรค์ แปลกใหม่ และพลังขับเคลื่อน
- ความเป็นผู้นำ แรงอิทธิพลต่อสังคม
- ความสามารถ ความเข้าใจ และความคล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยี
- เทคโนโลยีการออกแบบและโปรแกรมมิ่ง
- ความสามารถในการฟื้นฟูตัวเอง สำรวจความเครียด และมีความยืดหยุ่น
- ความสามารถในการอนุมาน ทักษะการแก้ปัญหา พัฒนาไอเดีย
- ความฉลาดทางอารมณ์
- ประสบการณ์ของผู้บริโภค การแก้ปัญหาของประชาชน
- ทักษะการปฏิสัมพันธ์ลูกค้า
- การวิเคราะห์และประเมินระบบ
- การโน้มน้าวและต่อรอง
หากลองแบ่งประเภทของทักษะเหล่านี้ดู จะเห็นชัดเจนว่าทักษะการแก้ปัญหาสำคัญเป็นอันดับแรก องค์กรตามหานักแก้ปัญหา ประเด็นสำคัญในการจัดสอบสัมภาษณ์คือ การประเมินความสามารถด้านการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นตรรกะ ความคิด การสังเกต ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร และอื่น ๆ รวมถึงความสามารถในการแก้ปัญหา ที่มีพื้นฐานมาจากความเชี่ยวชาญในสายงานนั้น ๆ
ทว่าสิ่งที่สำคัญในส่วนนี้คือ ความสามารถในการนิยามปัญหา เพราะวิธีการแก้ปัญหาจะแตกต่างกันไป ตามการนิยามปัญหานั้น ๆ และทักษะที่จำเป็นต้องมีเป็นพิเศษ หรือความสามารถในการค้นพบปัญหา เพราะการค้นหาปัญหาของการบริการสินค้า ผู้บริโภค และสังคม ด้วยทักษะความเข้าใจมนุษย์ สุดท้ายแล้วการสอบสัมภาษณ์ก็คือ ขั้นตอนสำรวจทักษะการค้นพบปัญหา การนิยามปัญหา การแก้ไขปัญหานั่นเอง
การจัดเตรียมวิธีแก้ไขปัญหา โดยไม่คำนึงถึงขั้นตอนก่อนหน้าให้ดีก่อน จะส่งผลให้โอกาสผ่านการคัดเลือกต่ำอย่างแน่นอน องค์กรตามหานักแก้ปัญหา และต้องการบุคลากรที่สามารถคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาได้ด้วย เขาอยากฟังคำตอบที่ตอบได้ว่า เป็นนักแก้ปัญหาผู้มีความคิดสร้างสรรค์หรือเปล่า สำหรับองค์กร การลงทุนเดียวที่ไม่อาจยอมแพ้ได้ ในสถานการณ์เศรษฐกิจอันไม่มั่นคงเช่นนี้คือ การได้เจอนักแก้ปัญหา และนี่คือเหตุผลที่ต้องเป็นนักแก้ปัญหา ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
สิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ห้ามทำสำหรับผู้ต้องการการยอมรับ วิธีการเจรจาอย่างประนีประนอม เช่น ควรประนีประนอมมากแค่ไหน ควรปรองดองเรื่องอะไรบ้าง ต้องเจรจาอย่างไรและควรหลีกเลี่ยงสิ่งใดบ้าง
สิ่งที่ต้องทำ เข้าใจโมเดลกำไรของบริษัท สิ่งสำคัญที่สุดคือสินค้า ที่เล็งเป้าหมายให้ตรงกับกลุ่มลูกค้า ตามตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) ของแบรนด์ ถ้าอยากออกแบบสินค้าแบรนด์เนม คำตอบคือต้องย้ายไปทำงานที่บริษัทสินค้าแบรนด์เนม ต้องมองออกให้ได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่า บริษัทหาเงินจากสิ่งใด จึงจะเจรจาปรองดองอย่างมีกลยุทธ์ได้ การรู้ว่าบริษัทมีวิสัยทัศน์ตรงกับปรัชญาแค่ไหนคือ จุดเริ่มต้นเส้นทางการต่อรอง
เข้าใจภาพใหญ่ ตั้งแต่การวางแผนสินค้า และการบริการลูกค้าหลังการขาย แทบไม่มีอะไรเลยที่การออกแบบ UX จะไม่มีอิทธิพลด้วย ต้องเข้าใจหน้า หลัง ซ้าย ขวา มองบริบทรอบด้านทั้งหมดให้ออก สาเหตุที่ผู้ใช้งานมาศูนย์บริการหลังการขายมากที่สุด เป็นเพราะการตั้งค่าผิดพลาด จนทำให้เกิดปัญหาการใช้งานต่าง ๆ
กำหนดลำดับความสำคัญ ไม่มีกระบวนการพัฒนาสินค้าใด ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน และปัญหาต่อไปนี้คือ มาตรฐานที่ใช้เป็นหลัก
ข้อแรก ความถี่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน
ข้อ 2 ความเด่นชัด เป็นปัญหาที่ผู้ใช้งานมองเห็นได้ง่ายแค่ไหน
ข้อ 3 ความรุนแรง เป็นปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
หากกำหนดมาตรฐานการวัดได้แล้ว จะมองเห็นสิ่งที่สำคัญและไม่สำคัญชัดเจนยิ่งขึ้น และเกิดหลักฐานที่ทำให้ข้อคิดเห็นสมเหตุสมผลมากขึ้น จากนั้นการเจรจาต่อรองกับทีมอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกันก็จะง่ายขึ้น
สิ่งที่ห้ามทำ
การดึงดัน หากมีจุดยืนของตัวเองนั่นหมายความว่า อีกฝั่งก็มีจุดยืนของเขาเช่นกัน ต้องระมัดระวังกับความคิดว่า ถูกต้องอยู่คนเดียว ต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย รวบรวม ตั้งต้น ปรับเปลี่ยนความคิดตัวเอง ซึ่งนับเป็นการปรับเข้าหากัน ไม่ใช่การเจรจาต่อรอง และอย่าให้ได้ไม่คุ้มเสีย
สร้างศัตรู หากเจรจาต่อรองบ่อยครั้งเข้า ก็อาจทำให้เกิดความบาดหมางทางอารมณ์ได้ คำที่พูดอาจแสนกระด้างมากขึ้น จับผิดคำพูดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของอีกฝ่ายมากกว่าที่เคยเป็น แล้วจากนั้นก็จะเกิดอาการไม่อยากแพ้ แทนการอยากแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เกิดเป็นสงครามประสาท ประเด็นที่ต้องจดจ่อก็เลือนราง กลายเป็นการถกเถียงทะเลาะกันไป นี่คือสิ่งที่ต้องระมัดระวังอยู่เสมอ
พังทลาย ผู้รับผิดชอบทุกคนต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสินค้า อยากให้มีฟังก์ชันที่ตนเองเป็นคนออกแบบ มีไอเดียที่ได้นำไปใช้กันทั้งนั้น ฉะนั้น หากสินค้าต้องหยุดพัฒนากัน อันเนื่องจากดีไซน์เริ่มออกนอกลู่นอกทาง หรือไอเดียที่เสนอไปโดนปฏิเสธขึ้นมา ก็อาจทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจได้
สิ่งที่สำคัญกว่าตัวสินค้าคือ ได้เรียนรู้อะไรจากกระบวนการเหล่านี้บ้าง และจะใช้สิ่งเหล่านี้ในโปรเจคต่อไปอย่างไร แม้ตัวสินค้าอาจจะล้มเหลว แต่ถ้าตัวเราได้เติบโตขึ้นแล้ว ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แม้จะทำโปรเจ็กต์เดียวกัน บางคนเติบโต แต่บางคนก็จมอยู่กับความผิดหวัง ซึ่งนี่คือสิ่งที่เลือกเองได้
วิธีการทำงานของอัจฉริยะจากบริษัท google ผลลัพธ์ของการทดสอบนั้น มีความหมายคือ
ข้อแรก ต้องคิดอย่างเปิดกว้างอยู่เสมอว่า ทุกวิธีแก้ปัญหาบนโลกมีโอกาสผิดพลาดได้
ข้อ 2 กระบวนการพิสูจน์นั้น อาจกลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้ค้นพบวิธีการใหม่เลยก็ได้
ข้อ 3 การทำงานร่วมกันเป็นทีมนั้น จำเป็นต้องฟังคำพูดของผู้ที่ผ่านประสบการณ์เป็นสิบ ๆ ปีด้วย ไม่ใช่เพราะเขามีตำแหน่งสูง แต่บ่อยครั้ง ประสบการณ์ที่สั่งสมจากระยะเวลางาน ก็เป็นเหมือนการเล่นกล ที่มาเหนือหลักการวิทยาศาสตร์ใด ๆ
การลองทดสอบพบได้ในทุกที่ที่ไป ถ้ามองจากมุมประสิทธิภาพของงาน นี่เป็นการจัดการทรัพยากรที่แย่ที่สุด ทั้งในด้านต้นทุน ค่าเสียโอกาส ถือได้ว่าขาดทุนมหาศาลเลยทีเดียว แล้วยังไงเพราะมันควรเป็นอย่างนั้น ก็เลยปล่อยให้เป็นแบบนี้ วัฒนธรรมและระบบที่ส่งเสริมให้ทุกคนได้ทำทุกสิ่งให้ถึงที่สุด จนกว่าจะคลายปมได้ การไม่ตัดใบอ่อนของไอเดีย และปล่อยให้มันเติบโตอย่างมีอิสระ เป็นความอิสระของผู้ที่มีมากพอ จะไม่เรียกร้องให้รับผิดชอบ และถามถึงบทเรียนที่ได้ เมื่อเกิดความล้มเหลว
วิธีการค้นพบพรสวรรค์ใหม่ ๆ จากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Ratatouille ที่เปิดตัวเมื่อปี 2007 นั้น เป็นเรื่องราวของหนูที่มีชื่อว่าเรมี ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นเชฟ บทเรียนที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการคิดริเริ่ม และการค้นพบพรสวรรค์ใหม่ ๆ ซึ่งการคิดริเริ่มสิ่งใหม่นั้นมี 10 ขั้นตอนคือ
ขั้นตอนที่ 1 การสังเกต (Observe) คำตอบของปัญหาจำนวนมากอยู่ในชีวิตประจำวัน เวลาที่คิดไอเดียไม่ออก งานไม่คืบหน้า หรือต้องวิเคราะห์หาสาเหตุที่ผลิตภัณฑ์ออกใหม่ไม่ประสบความสำเร็จ จะเริ่มต้นจากการสังเกต เทคนิค AEIOU หมายถึง Activities (กิจกรรม) Environments (พื้นที่และสภาพแวดล้อม) Interactions (การสื่อสารตอบสนอง) Objects (สิ่งของ) และ Users (คน)
ขั้นตอนที่ 2 การค้นพบ (Uncover) สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมาคือ ขั้นตอนการค้นพบ จะเห็นเท่าที่รู้ ความต้องการช่วยสร้างสรรค์เทคโนโลยี ความสนใจช่วยสร้างความอึดและทน ถ้าอยากเจอเพชรเม็ดงาม ก็ต้องมีดวงตาและประสบการณ์ ที่มองอัญมณีให้เป็น
ขั้นตอนที่ 3 หาทีม (Find Team) แทบไม่มีอะไรที่ทำคนเดียวได้ มักต้องการความช่วยเหลือจากใครบางคนอยู่เสมอ ฉะนั้น การหาพาทเนอร์ที่เข้ากันได้เป็นสิ่งสำคัญ
ขั้นตอนที่ 4 สร้างไปด้วยกัน (Build Up) ทีมต้องร่วมกันสร้างและสั่งสมไปด้วยกัน แบ่งปันไอเดียที่แต่ละคนสังเกตและค้นพบ หลอมรวมสิ่งที่มีเข้ากับสิ่งที่พาทเนอร์มี ปรับความคิดเห็นเข้าหากัน กำหนดลำดับความสำคัญ ตั้งเป้าหมายและวางแผน นี่คือกระบวนการ ลองปรับให้เข้ากับคนที่ทำงานด้วยกัน
ขั้นตอนที่ 5 ขยาย (Extend) ส่วนใหญ่แล้วไอเดียเริ่มแรก ย่อมมาแบบกึ่งสุกกึ่งดิบและไม่ชัดเจน ต้องขยายไอเดียด้วยการสร้างสมมติฐาน สร้างแพลน a แพลน b แพลน c และเพิ่มไอเดียเชื่อมโยงอื่น ๆ
ขั้นตอนที่ 6 ดัดแปลง (Transform) การดัดแปลงต้องทดลองจากสองมุมมอง มุมมองแรกคือข้อมูลเริ่มต้น สัญชาตญาณ และการวิเคราะห์ไอเดียซ้ำ ส่วนมุมมองที่ 2 คือการนำไอเดียที่ได้ มาจำลองสถานการณ์ให้หลากหลายมากที่สุด
ขั้นตอนที่ 7 หาเครื่องมือ (Find Tool) หากไอเดียเริ่มมีระเบียบ และจำกัดขอบเขตได้ประมาณหนึ่งแล้ว ก็ถึงเวลาหาเครื่องมือสร้างมันขึ้นมาให้ได้
ขั้นตอนที่ 8 การสร้าง (Make) การทำไอเดียให้เป็นจริง หรือลองสร้างมันขึ้นมานั่นเอง อาจเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง ภาพสเก็ต หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขยับได้จริง ๆ
ขั้นตอนที่ 9 ทดลองใช้ (Test) เป็นขั้นตอนการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ตนเองทำ ก่อนที่จะนำออกสู่ตลาด
ขั้นตอนที่ 10 อธิบายและโน้มน้าว (Articulate) ขั้นตอนสุดท้ายของการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ จึงเป็นการสร้างแบรนด์เพื่อใส่ในคอนเซปของตัวเอง รวมถึงสร้างเรื่องราวด้วย
แต่ก็มีบางเวลาที่นักวิจารณ์ต้องรับความเสี่ยง นั่นก็คือเวลาที่ค้นพบสิ่งใหม่ และต้องปกป้องมันเอาไว้ โลกของเรามักเย็นชากับการริเริ่ม และพรสวรรค์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ต้องการเพื่อน และสิ่งที่ทำให้หัวใจอบอุ่นยิ่งกว่าเดิมคือ ความคิดที่ว่าอาจเป็นเพื่อนกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านั้นได้เหมือนกัน อาจจะมีส่วนช่วยผู้คนที่โดดเดี่ยวและหลงทางพังทลาย สิ่งที่กำลังโอบรับคำพูดเย็นชา ด้วยการทำให้โลกนี้อ่อนหวานและอบอุ่นขึ้นได้
ตอนที่ 4
สิ่งที่อยากบอกวัย 30 ผู้ไม่อยากรู้สึกเสียดายทีหลัง
อย่าฝืนทำสิ่งที่ไม่เป็นตัวเอง “จงไม่ทำอะไรเลย” ประโยคแสนสั้นและรวบรัดนั้นหมายความว่า จงไม่ทำอะไรเลย จงอยู่อย่างนิ่งเฉยข้างในตัวของเจ้าเอง อย่าหันไปมองรอบ ๆ อย่าฟังศัพท์เสียงใด ๆ อย่าโอบความหวังหรือกอดความคิดเห็นใด ๆ ไว้ หากเจ้าอยู่ในสภาวะว่างเปล่า ปราศจากความต้องการและความตั้งใจทั้งปวง ดังเช่นต้นไม้และดอกไม้ เจ้าจะเริ่มรู้แจ้งและสัมผัสได้ว่า ขีดจำกัดของกฎแห่งจักรวาลยิ่งใหญ่
นี่เป็นคำสอนให้อยู่ดั่งต้นไม้ อยู่ดังดอกไม้ อยู่อย่างสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ อย่าต่อต้านกฎเกณฑ์ธรรมชาติ จงใช้ชีวิตตามแบบที่ควรจะเป็น ซูยูซิลด็อก มีความหมายว่า ในน้ำมีความดีอยู่ 7 ประการ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาจิตใจตนเอง
ข้อแรก ความอ่อนน้อม น้ำไม่เคยขัดแย้งกันเพื่อให้ได้อยู่บนที่สูง
ข้อ 2 ความหลักแหลม น้ำจะไหลเวียนเมื่อเจอกับทางตันและรู้จักไหลกลับ
ข้อ 3 ความใจกว้าง น้ำเปิดรับทุกสิ่งไม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร
ข้อ 4 ความยืดหยุ่น น้ำไม่มีรูปร่างเป็นของตัวเอง รูปลักษณ์ของน้ำเปลี่ยนได้เสมอตามภาชนะที่ใส่
ข้อ 5 ความอดทน น้ำที่ไหลตามทางน้ำลงมา เจาะแม้แต่หินก้อนใหญ่จนเป็นรูได้
ข้อ 6 ความกล้าหาญ บางครั้งน้ำก็หลั่งไหลจากหน้าผากลายเป็นน้ำตก
ข้อ 7 ความเที่ยง น้ำจะไหลลงสู่ทะเลเสมอ
พวกเรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่มากเกินไป เป็นยุคที่ข้อมูลจากภายนอกทั้งปวงหลั่งไหลเข้าสู่สมอง โดยไม่มีการคัดกรองใด ๆ แถมยังเข้ามายึดครองพื้นที่ความคิด โดยไร้ซึ่งการพินิจพิจารณาอีก จึงจำเป็นต้องให้เวลากับการคิด เพื่อสร้างความคิดของตัวเอง รวมถึงเวลาแห่งการตั้งคำถามว่า ทำไมอย่างไร้จุดสิ้นสุด ก็จะใช้ชีวิตที่เป็นตัวเรา ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เปลือกเดินได้
ไม่ต้องเป็นที่หนึ่งแต่ไปให้สุดเส้นชัย การควบคุมจังหวะความเร็วให้ได้คือลมหายใจของนักวิ่งมาราธอน ที่วิ่งติดต่อกันโดยไม่หยุด เป้าหมายไม่ใช่การเข้าเส้นชัยที่ 1 แต่เป็นการไปให้ถึงเส้นชัยต่างหาก สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการเลี้ยงลูกฝาแฝดเพศเดียวกันคือ ตอนที่พวกเขามีความเร็วในการเดินไม่เท่ากัน ทั้งคู่เติบโตมากับการเปรียบเทียบความเร็วของตัวเองกับอีกคน หรือถูกคนอื่นเปรียบเทียบมาตลอด การมีคนให้เปรียบเทียบอยู่ข้างกายมาตั้งแต่เกิด ทำให้ไม่สามารถมีความเร็วเป็นของตัวเองคนเดียวได้ แต่เป็นชีวิตที่ต้องตระหนักถึงความเร็วของอีกคนอยู่ตลอดเวลา
ยินดีกับความสำเร็จของใครสักคนจากใจจริง ในแผนกออกแบบของบริษัท google มีคู่มือการออกแบบที่ประกอบด้วย 4E ได้แก่การมีความรู้สึกร่วม (Empathy) การแสดงออก (Expression) ประสบการณ์ (Experience) และความเป็นเลิศ (Excellence) ข้อปฏิบัติที่เป็นพื้นฐานที่สุดในนั้นก็คือ การมีความรู้สึกร่วม ความสามารถในการมีความรู้สึกร่วมกับผู้คนกับสมาชิกในทีมที่ทำงานด้วยกัน ซึ่งผลลัพธ์จากการรู้สึกร่วมนั้นคือ ผลงานการออกแบบ
ทั้งความห่วงใยกับประเด็นข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตยาก หรือเชื่อมต่อระบบสื่อสารได้ช้า ผู้คนที่เข้าถึงข้อมูลได้ยากเพราะไม่มีเงิน เหล่าคนที่มีความฝันแต่ไม่รู้จะสื่อสารกับคนอื่นด้วยวิธีไหน คนที่มีความบกพร่องด้านต่าง ๆ ทำให้ยากต่อการใช้งานอุปกรณ์สื่อสาร งานออกแบบนั้นเริ่มต้นจากความรู้สึกร่วมแบบนั้นเอง
ผู้นำที่พวกเราต้องการ เป็นผู้นำที่อบอุ่น ผู้นำที่เข้าใจความเจ็บปวด ผู้นำที่เข้าใจเมื่อล้มเหลวหรือทำผิดพลาด ผู้นำที่ใจดีกับความสำเร็จด้วยใจจริง ผู้นำที่ไม่ได้คิดว่าทีมงานเป็นแค่ของประดับตกแต่ง แต่คือเพื่อนร่วมเดินทางคนหนึ่ง ผู้นำที่มองในฐานะคนคนหนึ่ง ผู้นำที่ให้เกียรติและให้ได้เป็นตัวเอง ผู้นำแบบนี้ไม่ใช่หรือที่พวกเราในยุคสมัยนี้ปรารถนาอย่างแรงกล้า
แทบไม่มีงานอะไรที่ทำคนเดียวได้เลย งานส่วนใหญ่จำเป็นต้องร่วมมือกับคนอื่น หรือได้รับความร่วมมือจากใครบางคน หรือต้องทำต่อจากสิ่งที่ใครบางคนเคยทำไว้ ความสามารถในการมีความรู้สึกร่วมนั้น มีศิลปะแห่งความเศร้าซ่อนไว้อยู่ ความรู้สึกเศร้าสร้อยไปกับใครสักคนหนึ่งนั้น สิ่งนั้นเองที่เรียกว่าความรู้สึกร่วม
ใส่ใจดูแลคนก่อนตัวเลข หน้าที่ของผู้นำคือ การทำงานกับคน เลือกคนและมอบงานให้ที่เหมาะสมกับความสามารถ จัดสมาชิกทีมที่เข้ากันได้ ไม่เลือกสมาชิกที่อาจกระทบกระทั่งกันมาทำงานด้วยกัน เนื่องจากทุกคนมีอุปนิสัยใจคอไม่เหมือนกัน มีคนที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูง มีคนที่เก่งเรื่องการช่วยเหลืองานคนอื่น มีคนที่ทำงานได้ดีเมื่อทำคนเดียว มีคนที่ต้องทำด้วยกันเป็นกลุ่มจึงจะทำงานได้ดี มีคนที่ชอบพูด มีคนที่ชอบฟัง และสถานที่ที่ผู้คนเหล่านี้มารวมตัวกันก็คือที่ทำงานนั่นเอง
การไม่ได้ตัวบุคลากรดี ๆ การทำบุคลากรดี ๆ หลุดมือ หรือการรักษาบุคลากรดีเอาไว้ไม่ได้ เป็นความเสียหายมหาศาลขององค์กร ยิ่งไปกว่านั้น การที่ไม่สามารถทำให้บุคลากรดี ๆ เหล่านั้นได้เติบโต ก็เป็นความเสียหายอันยิ่งใหญ่ของสังคมด้วย บุคลากรที่ดีมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อองค์กร เพราะคนต้องมาก่อนเสมอ ต้องดูแลใส่ใจคน และคนก็จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีออกมา
อย่าตัดสินใครตามอำเภอใจ พวกเราตัดสินผู้อื่นง่ายดายเกินไป หากไม่ใช่เรื่องที่เจ็บปวดทรมานถึงขั้นจะต้องออกไปยังจักรวาล นิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์ของมนุษย์โลก ก็ดูท่าว่าจะไม่หยุดง่าย ๆ อาจเป็นเพราะคนเราเกิดมากับความสามารถในการคิดแยกแยะที่ไม่เท่ากัน การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกไม่เท่ากัน สติปัญญาในการวิเคราะห์ไตร่ตรองสถานการณ์ก็ไม่เท่ากัน ที่จริงแล้ว การรู้สึกร่วมนั้นอาจไม่ใช่หัวใจที่เข้าใจอีกฝ่าย แต่อาจเป็นแค่การพยักหน้า การแปลสารแบบผิด ๆ อาจทำให้รับพิษจากความรู้สึกร่วมก็เป็นได้ หรือจริง ๆ แล้วสิ่งที่ทุกคนต้องการ อาจไม่ใช่ความเข้าใจหรือรู้สึกร่วม แต่เป็นการมีใครสักคนรับฟังเรื่องราวหรือเปล่า
ตอนที่ 5
วิธีการเรียนของผู้ยอมแพ้ในภาษาอังกฤษไปแล้วครั้งหนึ่ง
เหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องเสียกำลังใจแม้ไม่เก่งภาษาอังกฤษ พวกเราใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ใช้ภาษาเพื่อแสดงออกถึงความสามารถ และใช้ภาษาเพื่อให้ได้รับการยอมรับ นำความคิดและไอเดียภายในตัว มาประกอบเป็นรูปร่างสร้างเป็นคำพูดที่เหมาะสม และแสดงออกในรูปแบบที่ผู้อื่นเข้าใจได้ จากนั้นอีกฝ่ายก็จะเกิดความเข้าใจ และสิ่งนั้นเองคือการสื่อสาร
หากความคิดไม่ถูกทำให้เป็นรูปธรรม ไม่ถูกโน้มน้าว ไอเดียไม่ถูกนำเสนอออกมา มันก็จะเป็นแค่ก้อนเมฆแห่งความคิดที่ล่องลอยอยู่ในหัว จากงานวิจัยของนักวิชาการหลายคนบอกไว้ว่า ภาษาตามพจนานุกรมมีส่วนในการสื่อสารไม่ถึงร้อยละ 20 ด้วยซ้ำ หมายความว่าร้อยละ 80 ของการสื่อสารไม่ใช่การพูด การสื่อสารอันได้แก่ สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง โทนเสียง ความเร็วในการพูด สายตา มือไม้ต่าง ๆ นั่นเอง สิ่งสำคัญคือคอนเท้นต์ของตัวเราเอง พลังความพิเศษและเสน่ห์ที่อยู่ในคอนเท้นต์นั้น จะทำให้ผู้ฟังเปิดหูและเปิดใจรับเอง
นิสัยการเรียนภาษาอังกฤษง่าย ๆ ที่ใครก็ทำตามได้ คำศัพท์คือพื้นฐานที่สำคัญ เพราะจะมองเห็น ได้ยิน และเขียนได้เท่าที่รู้ แต่การฝึกยัดคำศัพท์เข้าไปในหัวก็ไม่ใช่เรื่องที่เข้าท่า โดยเฉพาะเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น
เป้าหมายวันละ 2 คำก็พอ การจดคำศัพท์ที่ไม่รู้จากการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษแบบออกเสียง 1 ชั่วโมง คงออกมาเป็นพจนานุกรมเล่ม 1 ได้ จำให้ได้วันละ 2 คำก็พอ พอตั้งเป้าหมายไว้แค่ 2 คำ ก็เกิดความคิดว่าต้องทำให้ได้อย่างแรงกล้า และพอโฟกัสเจาะลึกแค่สองคำ ก็ทำให้เข้าสมองเองโดยธรรมชาติ การจำได้วันละ 2 คำไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะ เพราะถ้า 1 ปีก็ 500 กว่าคำ 2 ปีก็ 1,000 กว่าคำแล้ว วางเป้าหมายไว้ต่ำแล้วโอกาสประสบความสำเร็จก็จะสูง
ศึกษาคำพ้อง และคำแผลงความหมาย ลองศึกษาคำพ้อง คำแผลง หรือไม่ก็ลองจับคำที่เกี่ยวเนื่องกันมารวมกันดู จากนั้นนึกคำศัพท์ที่เคยเจอตอนอ่านออกเสียง แล้วนำมาคิดทบทวนอีกครั้ง
หาต้นกำเนิดหรือที่มาของคำ เมื่ออ่านหนังสือมากขึ้น จะเริ่มมีคำศัพท์ที่เชิญชวนให้อยากรู้ต้นกำเนิดผ่านเข้าตามากขึ้น การรู้ต้นกำเนิดของคำจะช่วยให้จดจำคำศัพท์นั้นได้ดีขึ้นมาก
การประยุกต์ใช้ พยายามสอดส่องหาโอกาส นำสำนวนคำศัพท์ที่เรียนรู้ใหม่มาประยุกต์ใช้ให้มากที่สุด และเมื่อพยายามทำเช่นนี้บ่อยเข้า จะเริ่มได้ยินเรื่องที่เมื่อก่อนคงมองข้ามไปแล้ว
การฝึกออกเสียง สำหรับคำศัพท์ที่ออกเสียงยากนั้น ฝึกออกเสียงซ้ำ ๆ ด้วยฟังก์ชันแก้ไขการออกเสียงของ google ในโปรแกรมค้นหาของ google จะมีปุ่ม Learn to pronounce ที่มาพร้อมกับสัญลักษณ์รูปปาก เมื่อกดปุ่มนั้นจะมีฟังก์ชันฝึกออกเสียงขึ้นมา และเมื่อกดปุ่ม Practice พร้อมพูดออกเสียงลงไป ก็จะมีการชี้แนะจุดที่ผิดให้
ตอนที่ 6
5 ปีถัดไปกำลังทำอะไรอยู่
กฎของเทคนิคการจัดการงานที่สำคัญยิ่งกว่าเทคนิคการจัดการเงิน ถ้าสร้างผลงานจากงานที่ทำอยู่ไม่ได้ จนทำให้เสียขวัญกำลังใจ หมดแรงจูงใจ เพราะความล้มเหลวซ้ำ ๆ หรือไม่มีแม้แต่ความกล้าหาญที่จะลาออก แต่จำเป็นต้องมีความท้าทายใหม่ ๆ เพราะสิ่งที่ทุกคนต้องการคือการมีตัวตนเท่านั้นเอง
พื้นฐานของการจัดการเงินคือ การกระจายทุนและลงทุนระยะยาว หากเป็นคนที่เคยมีประสบการณ์จากการลงทุนดอกเบี้ยทบต้นจะรู้ดีว่า ความสุขของการเพิ่มพูนทีละนิด ๆ ในระยะยาวเป็นอย่างไร การเอาเงินฝากสะสมนั้นไปลงทุนใหญ่ ๆ ทีเดียว เป็นธรรมดาที่ความเสี่ยงจะสูงขึ้น และหากล้มเหลวก็ย่อมทำให้ผิดหวังครั้งใหญ่ คนธรรมดาที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการลงทุน การกระจายทุน และมุ่งเล็งดอกเบี้ยทบต้น สำหรับการลงทุนระยะยาวคือ เทคนิคจัดการเงินที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว
เทคนิคการจัดการงาน ที่จะช่วยพัฒนาจัดการประสบการณ์การทำงานนั้นก็เช่นเดียวกัน ยิ่งใช้เวลาในการเตรียมตัว หรือทุ่มเทความพยายามไปมากเท่าไหร่ เมื่อประสบความล้มเหลว บาดแผล และความผิดหวังก็จะยิ่งใหญ่มากขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นหากใช้เวลาเตรียมตัวลงแรงให้เบาที่สุด เพื่อลงมือทำเรื่องเล็ก ๆ สิ่งนั้นจะเป็นเหมือนการสะสมเบี้ยทบต้นของทักษะอันแข็งแรง อีกทั้งยังสร้างชั่วโมงบิน และประสบการณ์ให้แก่เราได้อีกด้วย
เหตุผลที่องค์กรต้องการคนทัศนคติดีมากกว่าคนเก่ง พลังขับเคลื่อนยิ่งใหญ่ที่ทำให้คนทำงานเก่ง ๆ และองค์กรในอเมริกามีศักยภาพในการแข่งขันสูง องค์กรและคนทำงานมีความสัมพันธ์แบบชายหญิงที่จีบกันอยู่ ต่างคนต่างเล่นตัวและโปรยเสน่ห์สร้างความตื่นเต้นไม่หยุด องค์กรต้องพยายามพัฒนาปรับปรุง และสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้คนทำงานเก่ง ๆ อยากเข้ามาอยู่ไม่หยุดหย่อน ทันทีที่องค์กรอยากให้พนักงานจงรักภักดี และคาดหวังกับพนักงาน เมื่อนั้นพนักงานก็พร้อมบอกลาแบบไม่เหลือเยื่อใยทันที และแน่นอนว่าองค์กรเองเมื่อถึงเวลาจัดการบุคลากรเมื่อไหร่ ก็จัดการเสร็จสรรพแบบไม่คิดเมตตาเช่นกัน
พวกเราสามารถเห็นองค์กรในอเมริกา ไล่พนักงานที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่า 10% ออกได้บ่อย ๆ หรือไล่บุคลากรที่หมดความจำเป็น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมออกอย่างไร้เยื่อใย เพราะฉะนั้นเหล่าพนักงานเอง ก็ต้องพยายามพัฒนาตนเอง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดงานอย่างสุดความสามารถ เพื่อไม่ให้โดนไล่ออก หรือเพื่อการย้ายไปอยู่ในที่ที่ดี เรียกว่าพยายามเพื่ออยู่รอดน่าจะถูกมากกว่า
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตการทำงาน จิตใจของผู้บริโภคจะมีลักษณะพิเศษ 2 อย่างคือความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ (Demand) และความปรารถนาหรือความอยาก (Desire) อุปสงค์คือต้องการในสิ่งจำเป็น ส่วนความอยากคือความอยากเป็นเจ้าของ จำเป็นต้องเข้าใจจิตใจทั้งสองแบบนี้ให้ดี แต่ในความแตกต่างนี้กลับมีเคล็ดลับแห่งความสำเร็จซ่อนอยู่ ต่อไปนี้คือหัวข้อน่านำไปประยุกต์ใช้ สำหรับการคิดพิจารณากำหนดทิศทาง ในกระบวนการย้ายงานในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรซูเม่ พอตโปลิโอ หรือการสัมภาษณ์ แก่นสำคัญคือการเป็นคนทรงคุณค่าที่องค์กรต้องการ
มีคุณค่าเพราะหายากหรือไม่ คนเรามักรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครนั้นมีคุณค่า จะไม่ค่อยรู้สึกอยากได้อะไรที่หาที่ไหนก็ได้ง่าย ๆ เพราะถ้าอยากได้เมื่อไหร่ก็หาได้อยู่แล้ว คนเราก็เช่นเดียวกัน ทักษะที่ใคร ๆ ก็เขียนลงในเรซูเม่เหมือนกันหมด คงทำให้รู้สึกว่ามีเสน่ห์ได้ยาก สิ่งที่จะสะดุดตาคือคุณค่าที่มีคนเดียว งานที่ต้องมีเราเท่านั้นถึงจะเกิดขึ้นได้ ต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงจำเป็นต่อองค์กร แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นเหมือนของมีค่า ที่ถูกบันทึกไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจนไม่มีใครเอื้อมถึง แต่จะต้องมีเรื่องบางอย่างที่มีแต่คุณเท่านั้นที่ทำได้อยู่แน่นอน
มีเรื่องราวหรือไม่ เรซูเม่ที่อัดแน่นไปด้วยคุณลักษณะเลิศเลอคือ เรซูเม่ที่ไม่ถูกจดจำ การแข่งกันด้วยคุณลักษณะคือ การแข่งกันด้วยความคุ้มค่า หากดึงดูดใจกรรมการด้วยคุณค่า ก็จะถูกเปรียบเทียบกับคนที่มีคุณสมบัติดีกว่า และหากมีคนที่คุณสมบัติดีกว่าโผล่มา ก็จะหมดศักยภาพในการแข่งขันครั้งนั้นทันที เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องมีเรื่องราวเพื่อเจาะทะลุอนาคตการทำงานด้วย เวลาสอบสัมภาษณ์ต้องเล่าเรื่องราวของตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนตอนเล่าเหตุการณ์ในอดีต หากรู้สึกได้ว่ากรรมการสัมภาษณ์เข้าใจเรื่องราว และเชื่อมโยงกับเรื่องตัวเองได้นั่นหมายความว่า ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมนุษย์คิดและจดจำด้วยเรื่องราวทั้งนั้น
มีความจริงใจหรือไม่ เหตุผลที่เรียกของก็อปว่าของก๊อปนั้น เพราะมันไม่ใช่ของแท้ คนเราจะไม่จ่ายราคาแพงเพื่อซื้อสิ่งที่ไม่แท้ หากต้องการมีเรื่องราวและคุณค่า ความหายากเรื่องนั้นต้องเป็นเรื่องจริงด้วย เพราะฉะนั้นการใส่ข้อมูลเท็จลงไปในเรซูเม่ หรือแสร้งทำเป็นรู้ในเรื่องที่ไม่รู้ ตอนสอบสัมภาษณ์คือการกระทำที่อันตรายอย่างยิ่ง
ไปด้วยกันกับคุณค่านั้นได้หรือไม่ ในแต่ละองค์กรจะมีปรัชญา และคุณค่าที่องค์กรนั้นแสวงหาอยู่ หากสิ่งนี้ไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน หรือคุณค่าขององค์กรไม่ตรงกับทิศทางที่อยากเติบโต อาจจะต้องลองพิจารณาเรื่องย้ายงานดู และแน่นอนว่าต้องไล่หาให้เจอว่า คุณค่านั้นมีความจริงใจแค่ไหน ผู้ที่หางานต้องเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าที่องค์กรแสวงหาเป็นอย่างดี แล้วแสดงให้องค์กรเห็นว่าเห็นด้วย และสนับสนุนในคุณค่านั้น องค์กรไม่ได้ตามหาแรงงานที่ปฏิบัติตามคุณค่านั้น แต่ตามหาเพื่อนร่วมทาง ที่จะทำให้เกิดคุณค่านั้นขึ้นด้วยกันต่างหาก
บทส่งท้าย
หากเดินต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่ยอมแพ้จะไปถึงได้ในสักวัน ช่วงฤดูหนาวของปี 2019 ผู้เขียนออกเดินทางท่องเที่ยวแบบโรดทริป ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่เธอเขียนไว้ ณ หุบเขาไซออน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมปี 2019
คริสต์มาสขาวผ่อง ณ หุบเขาไซออน ภาพฉากอันน่าหลงใหลกับทิวทัศน์ที่โดดเด่นยิ่งกว่า ชั้นหินที่ทบซ้อนกันหลายชั้น ต่อกับหน้าผา น้ำตก และเกล็ดหิมะที่ตกลงมาจากท้องฟ้า ชั่วขณะแห่งความซาบซึ้งใจราวกับไม่ได้อยู่ในโลกใบนี้ เมื่อมองลงไปยังพื้นก็ฉุกคิดว่า มาตรงนี้ทำไม เมื่อมองขึ้นไปบนยอดเขาก็ฉุกคิดว่า จะไปถึงตรงนั้นเมื่อไหร่ ทันใดนั้นก็หยุดแล้วลืมตาขึ้นมาพบกับภาพทิวทัศน์น่าตระการตา เมื่อหันหลังกลับไปมาถึงตรงนี้แล้วได้อย่างไร
อาจทักทายผู้คนที่พบเจอบ้างในบางครั้ง อาจหลีกทางให้เขาไปก่อนบ้างในบางที อาจยืนพักให้ตัวเองได้หายใจคนเดียวบ้าง หากมีใครถามว่าจะขึ้นไปทำไม ในเมื่อไม่นานก็ต้องลงมา ตอบได้ว่าเป็นเพราะชั่วขณะที่ได้รู้สึกถึงลมพัด หายใจถี่หอบ และเหยียบก้อนหินนั้น ไม่ใช่หุบเขาไซออนที่พบในวันคริสต์มาสสีขาวปี 2019
ปีนี้ก็กำลังจะผ่านไปไม่มีคลาดเคลื่อน และปีหน้าก็กำลังจะมาถึงเช่นกัน เวลาเหมือนจะหยุดชะงัก แต่กลับไม่เคยหยุดเลย เมื่อผ่านไปเวลาก็ผ่านเลยมาแล้ว คนอื่น ๆ เองก็กำลังคิดหวาดกลัวและกังวลเช่นเดียวกัน สร้างความมั่นใจขึ้นอีกสักหน่อยดีกว่า ทำแล้วผิดพลาดยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ใจกว้างกับตัวเองให้มากกว่านี้ อย่าเร่งมากจนเกินไป พยายามดีอยู่แล้ว หากค่อย ๆ เดินไปเรื่อย ๆ อย่างไม่ยอมแพ้ อาจจะไปถึงได้ในสักวัน.