สรุปหนังสือ 37 เคล็ดลับรักษาโรคขี้เกียจ
เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยกำจัดโรคผัดวันประกันพรุ่ง
คงไม่มีใครหวังจะเก็บเกี่ยวพืชผักได้ โดยไม่ลงมือเพราะเมล็ดพันธุ์ หรือไม่ได้ปลูกต้นกล้า ทว่าหากเปลี่ยนพืชผักเป็นเป้าหมาย ความฝัน หรืองานในแต่ละวัน คนที่มีเป้าหมายมีความฝันกระนั้นกลับคาดหวังเพียงผลลัพธ์ โดยไม่ลงมือทำเพื่อให้มันเป็นจริงมีเยอะกว่าที่คิด บางคนคงเป็นเช่นนี้ การทำงานในแต่ละวันก็เช่นเดียวกัน
หากยังปล่อยให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะเกิดการตำหนิตัวเองขึ้นได้ หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ลงมือทำทันที ทุกคนล้วนทำได้เพียงแต่อย่าเผลอตัวผัดวันประกันพรุ่งทำให้หลงลืมไป จุดร่วมของคนที่จะลงมือทำทันทีคือ มีทัศนะคติแบบเปิดรับ และไม่จมจ่อมอยู่กับปัญหา สามารถทำโน่นทำนี่ได้อย่างราบรื่นโดยไม่ฝืน รวมถึงไม่ต้องอาศัยแรงกระตุ้นหรืออดกลั้น
การที่ไม่สามารถลงมือกระทำได้ต้นเหตุมาจากสมอง ความจริงแล้วสมองขี้รำคาญอย่างมาก เมื่อพยายามท้าทายกับเรื่องใหม่ หรือแก้ปัญหายาก ๆ กลไกการทำงานของสมองจะสั่งให้ปกป้องชีวิต ทำให้พยายามรักษาสภาพที่เป็นอยู่ไว้ ในทางตรงข้าม ถ้าทำให้สมองที่ไม่ชอบความยุ่งอย่างวุ่นวาย หรือรู้สึกว่ารับมือได้ง่าย จึงจะสามารถเปิดสวิตช์ลงมือทำทันทีได้
หนังสือเล่มนี้จะมาแนะนำวิธีเปิดสวิตช์ 3 วิธีที่ใคร ๆ ก็สามารถเริ่มต้นได้ทันที ทุกคนล้วนมีช่วงเวลาขี้เกียจ ไม่อาจขยับตัวกระทำการอย่างที่ตั้งใจไว้ได้ในทันที ถ้าจะพูดให้ถูกคือเลือกที่จะไม่ทำตอนนี้มากกว่า ถ้าอย่างนั้นเกณฑ์ที่ทำให้เลือกว่าจะไม่ทำตอนนี้อยู่ตรงไหน ส่วนใหญ่ไม่มีหลักการตายตัว รอความชัดเจน รอใครสักคนให้คำแนะนำ รอคำสั่งหรือแนวทางที่แน่ชัด รออีกฝ่ายติดต่อมา รอให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือจังหวะเวลาที่ดีที่สุดมาถึง รอให้เห็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบชัดเจน คนที่รอเช่นนี้มีจุดร่วมเหมือนกันคือ กำลังรอดูสถานการณ์แทนที่จะลงมือกระทำด้วยความกระตือรือร้น เพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือนำไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม การตั้งรับเกือบทั้งหมดทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงมากกว่าจะดีขึ้น ยุคสมัยนี้เป็นยุคสมัยแห่งความวุ่นวาย ซึ่งยากจะคาดการณ์อนาคต อีกทั้งคำตอบรวมถึงค่านิยมต่าง ๆ ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เป็นใครก็คงอยากหยุดและรอดูจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ถ้าจะลงมือก็อยากให้เชื่อมโยงไปสู่ความสำเร็จอย่างมั่นคง ทว่าแม้จะรอให้สถานการณ์ดีขึ้น อย่างน้อยก็ให้ลองเพราะเมล็ดหรือปลูกต้นกล้าเอาไว้สักหน่อย ทำอะไรให้เป็นสารตั้งต้นไว้บ้างแล้วค่อยรอ ถ้าทำเช่นนั้นก็มีโอกาสจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต กล่าวคือความเป็นไปได้ที่ความฝัน หรือเป้าหมายจะกลายเป็นจริง ไม่ใช่ศูนย์อีกแล้ว มาใช้วิธีการในหนังสือเล่มนี้ เปลี่ยนแปลงชีวิตไปอย่างช้า ๆ และมั่นคงกันเถอะ
บทที่ 1 เลิกผัดวันประกันพรุ่ง
วิธีสร้างความเร็วต้นให้กับการเริ่มลงมือกระทำ
สมองของคนเราทำงานภายใต้สัญชาตญาณการป้องกัน เพื่อพยายามรักษาชีวิตโดยหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด และรักษาสภาพที่เป็นอยู่เอาไว้ ตราบใดที่ชีวิตไม่ได้ตกอยู่ในอันตราย เมื่อพยายามเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมเก่า ความมุ่งมั่นอุตสาหะจะช่วยให้ 2-3 วันแรกผ่านไปด้วยดี แต่เกือบทุกกรณีมักจะทำได้ไม่นานก็เบื่อหน่าย หรือกลับไปเป็นอย่างเดิม
ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากความสามารถ นิสัย หรือแรงจูงใจ ทว่าเพราะสัญชาตญาณการป้องกันของสมอง ที่พยายามควบคุมการกระทำ กลไกของสมองทำให้ยากต่อการทำสิ่งใดแบบรวดเดียวให้เสร็จสมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้นบางคนอาจกังวลว่า การจะเป็นคนที่คิดแล้วลงมือทำทันทียากมากเลย
ดังนั้น จะกลายเป็นคนที่สามารถทำอะไรได้ทันทีโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง จุดสำคัญอยู่ตรงจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นการสร้างความเร็วต้นให้กับการกระทำนั่นเอง
เคล็ดลับที่ 1
คนที่คิดมากเกินไปจนไม่กล้าทำอะไร
ให้เริ่มจากการตัดสินใจและลองทำในเบื้องต้นก่อน
คนที่ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างใจนึก มีลักษณะร่วมกันอยู่ข้อหนึ่งตรงเรื่องของจิตใจ ต้องตัดสินใจให้ดีก่อนค่อยลงมือ อยากวางแผนให้รอบคอบจะได้ไม่ผิดพลาด ในทางตรงข้ามกลับมีหลายคนที่ทุ่มเททั้งเวลา และพลังงานในการเอาแต่คิดแล้วจบเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องเสียเปล่าอย่างแท้จริง
ประเด็นสำคัญที่ทำให้คิดแล้วลงมือทำได้ทันทีคือ ต้องเป็นไปตามลำดับ ขั้นแรกควรเพิ่มปริมาณในการกระทำก่อน แล้วค่อยเพิ่มคุณภาพทีหลัง ในกรณีที่ได้ตัดสินใจและลองทำเบื้องต้นแล้ว ผลลัพธ์ออกมาต่างจากที่คาดหวัง หรือคาดการณ์ในตอนแรก ๆ แก้ไขให้อยู่ในเส้นทางที่ควรจะเป็นเสียก็สิ้นเรื่อง ให้คิดเสียว่าเมื่อเรื่องที่ลองทำแล้วไปได้ไม่สวย หรือไม่ราบรื่นไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นผลที่ได้จากการลงมือกระทำ
เคล็ดลับที่ 2
เมื่อทำอย่างไรก็ไม่สามารถเริ่มก้าวแรกได้
ให้ลองทำก่อนสัก 10 วินาที
ทั้งที่ต้องการเริ่มต้นสิ่งใหม่ แต่ทำอย่างไรก็เริ่มก้าวแรกไม่ได้สักที แม้จะนึกอยากตัดสินใจและลองทำในเบื้องต้น ร่างกายกลับไม่ยอมขยับ สิ่งที่ได้ผลในสถานการณ์เช่นนี้คือ ลองลดอุปสรรคของก้าวแรกให้มากที่สุด หรืออธิบายอย่างเป็นรูปธรรมคือ ลองเริ่มจากเรื่องที่ทำได้ภายใน 10 วินาที เรียกวิธีนี้ว่า Action 10 วินาที ซึ่งหมายถึงการกระทำอย่างเป็นรูปธรรม ที่ทำได้ในเวลา 10 นาที การกระทำเพียงแค่นี้ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่มีใครล้มเหลวในขั้นตอน Action 10 วินาที เพราะไม่ล้มเหลวนี่แหละ จึงนำไปสู่การกระทำ
ผลลัพธ์ของ Action 10 วินาทีได้รับการพิสูจน์ทางประสาทวิทยาแล้ว สมองของคนเราทำงานภายใต้สัญชาตญาณการป้องกัน เพื่อพยายามรักษาชีวิตโดยหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด และรักษาสภาพที่เป็นอยู่ ในทางตรงข้ามสมองก็มีคุณสมบัติที่เรียกว่า ความสามารถในการปรับเปลี่ยน ซึ่งยอมรับการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย กล่าวอีกนัยหนึ่งหากเป็นการกระทำเล็กน้อยที่ใช้เวลาเพียง 10 วินาที สมองก็สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นได้
เคล็ดลับที่ 3
เรื่องไหนมีความยุ่งยากในการจัดการ
ให้เตรียมไว้ก่อนเล็กน้อยล่วงหน้า 1 วัน
งานยุ่งยากที่มักจะเผลอผัดวันประกันพรุ่ง กุญแจสำคัญในการทำเรื่องเหล่านี้ให้เสร็จอยู่ที่วันก่อนหน้า หากเป็นงานควรจะเริ่มหรือเตรียมล่วงหน้าไว้นิดหน่อย ในช่วงเวลาเลิกงานของวันก่อน ถ้าเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวก็จัดแจงก่อนเข้านอน เพียงเท่านั้นก็ช่วยให้เริ่มต้นจัดการเรื่องต่าง ๆ ที่มักจะผัดผ่อนออกไปได้แล้ว
เคล็ดลับที่ 4
ทำสิ่งเดียวกัน
ในสถานที่เดียวกัน
เมื่อทำงานเดิมในที่เดิมเท่ากับค่อย ๆ สลักข้อความลงในสมอง ยิ่งกระทำแบบเดิมต่อไปเท่าไหร่ ยิ่งสลักลึกลงไปเท่านั้น ในทางจิตวิทยาผลลัพธ์นี้เรียกว่า Anchor Effect (การยึดติดทางความคิด) แทนที่จะสุ่มทำโดยไม่มีการวางแผน ให้ตัดสินใจว่าจะทำงานนี้ที่นี่ แล้วพยายามทำให้ได้ เพื่อสร้างการยึดติดทางความคิดดู ใคร ๆ ก็มีงานที่เผลอผัดผ่อนออกไป หรือรวบรวมสมาธิให้ทำไม่ได้สักที
ดังนั้น พยายามตัดสินใจและรักษากฎไว้ให้ได้ แน่นอนคนที่ทำงานทางไกลก็ใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน เพียงแบ่งพื้นที่ในบ้านให้เป็นสัดส่วนก็ใช้ได้แล้ว นอกจากนี้ Anchor Effect ไม่ได้ส่งผลเฉพาะสถานที่แต่รวมถึงด้านเวลาด้วย ถ้าอยากให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ให้กำหนดช่วงเวลาเข้าไปด้วย มันเป็นเทคนิคที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ให้สร้างกิจวัตรโดยเชื่อมโยงงานกับสถานที่นั้น ๆ
เคล็ดลับที่ 5
เมื่อต้องการสร้างพฤติกรรมใหม่
ควรทำควบคู่ไปกับพฤติกรรมเดิมที่ทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว
Anchor Effect ไม่ได้นำมาใช้ในแง่ของสถานที่และเวลาเท่านั้น มันยังมีประโยชน์ในการเสริมสร้างพฤติกรรมที่อยากทำ หากอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมคือ ทำสิ่งที่ต้องการเสริมสร้างให้เป็นนิสัย ตามหลังพฤติกรรมที่ทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว แทนที่จะสร้างพฤติกรรมใหม่โดยเริ่มจากศูนย์ สามารถยืมพฤติกรรมเดิมที่ทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว มาช่วยผลักดันให้เริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น สิ่งสำคัญคือเจาะจงไปเลยว่า อยากทำอะไรตามหลังพฤติกรรมที่ทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว ตอนแรกอาจรู้สึกแปลก ๆ แต่ทำต่อเนื่องไปสักพัก หากไม่ทำจะกลายเป็นรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปสักอย่างด้วยซ้ำ ถ้ารู้ว่าการทำอะไรสักอย่างให้เป็นกิจวัตร ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ อุปสรรคขวางกั้นจะน้อยลง
เคล็ดลับที่ 6
หากรู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร
ให้ลองขยับร่างกาย
เมื่ออยู่ในภาวะที่มีความกระตือรือร้นสูง รู้สึกดี กระฉับกระเฉง ตื่นเต้น จะริเริ่มทำอะไรได้ง่ายกว่าการตกอยู่ในภาวะที่มีความกระตือรือร้นต่ำ จิตตก หม่นหมอง หดหู่ เพราะสมองจะหลั่ง ซึ่งทำให้มีเรี่ยวแรงไปทำอะไรต่าง ๆ วิธียกระดับความกระตือรือร้นที่ง่ายที่สุด เพื่อให้สมองหลั่งโดปามีนคือ การชกหมัดขึ้นไปในอากาศพร้อมกับพร้อมตะโกน ซึ่งวิธีนี้ถูกนำไปใช้แม้แต่ในการสู้รบด้วย
อย่างไรก็ตาม การนำมาใช้ในบริษัทถือว่ามีอุปสรรคค่อนข้างมาก แต่สบายใจได้เพียงขยับร่างกายเล็กน้อย ก็ทำให้สมองหลั่งโดปามีนได้แล้ว ยกตัวอย่าง ยืดหลัง ปรับท่านั่งให้ดี หมุนไหล่ ยืนเขย่งปลายเท้า กระโดดเบา ๆ อยู่กับที่ ตบส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น แก้ม ไหล่ แขน ต้นขา เป็นต้น เมื่อรู้สึกเฉื่อยชาให้ลองขยับร่างกายเล็กน้อย ไม่ใช่ฝืนบังคับตัวเองให้กระฉับกระเฉง เพียงฝึกให้ติดเป็นนิสัย ก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ให้มีเรี่ยวแรงทำเรื่องต่าง ๆ อย่างใหญ่หลวงแล้ว
บทที่ 2
มีสมาธิต่อเนื่องจนน่าตกใจ
วิธีปลดเบรคที่คอยฉุดรั้ง
ทั้งที่กำลังมีสมาธิทำงาน กลับมีคนมาชวนคุย มีเรื่องที่ควรทำมากเกินไป จนระบบความคิดหยุดชะงัก เพราะไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อนดี เกิดปัญหาไม่คาดคิดจนตื่นตระหนกไปหมด เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จะเสียสมาธิและไม่สามารถทำอะไรตามที่คิดไว้ได้ ความจริงเบรคที่คอยฉุดรั้งนั้น ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันนั่นเอง ในกรณีเช่นนี้สามารถอาศัย 2 วิธีคือ
- ระบุต้นเหตุ และกำจัดปัจจัยขวางกั้น
- ลดอิทธิพลของปัจจัยขวางกั้น โดยโฟกัสที่จุดประสงค์
หากรู้วิธีก็สามารถปลดเบลคที่คอยฉุดรั้ง ซึ่งทำให้เสียสมาธิได้อย่างง่ายดาย
เคล็ดลับที่ 7
กำหนดตำแหน่งวางของบนโต๊ะให้ชัดเจน
ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า นักธุรกิจใช้เวลา 150 ชั่วโมงต่อปีเพื่อค้นหาสิ่งของ ยิ่งกว่านั้นการหาของอาจจะกวนอารมณ์ให้ขุ่นมัว หรือร้อนรนจนเสียสมาธิ เป็นเหตุให้ทำเรื่องต่าง ๆ ติดขัด อย่างไรก็ตาม หากพยายามจัดการให้เรียบร้อย กลับกลายเป็นไม่ประสบความสำเร็จสักที ดังนั้น ควรเริ่มจากการกำหนดตำแหน่งเอาสิ่งของที่ใช้บ่อย เช่น เอกสารหรือเครื่องเขียนจะเก็บไว้ในลิ้นชักหรือวางบนโต๊ะ ถ้าเป็นของที่ใช้บ่อยจะไม่ลำบากสักเท่าไร ลำพังแค่เก็บกวาดนิดหน่อย เผลอแป๊บเดียวก็กลับมารกอีกครั้ง แต่หากระบุตำแหน่งใช้เสร็จแล้วเอาไปวางที่เดิม จะช่วยป้องกันตรงจุดนี้ได้
เคล็ดลับที่ 8
จัดระเบียบหน้า Desktop ในคอมพิวเตอร์เดือนละครั้ง
ไม่ใช่เพียงสิ่งของเท่านั้น แต่การหาไฟล์ข้อมูลไม่เจอก็เป็นสาเหตุของความหงุดหงิด และทำให้เสียสมาธิเช่นกัน เมื่อ Desktop รกสิ่งที่ไม่จำเป็นจะโผล่เข้ามาในขอบเขตการมองเห็น ทำให้จิตใจวอกแวก เริ่มทำในเรื่องที่ควรทำไม่ได้สักที ทำการจัดระเบียบหน้าจอ Desktop คอมพิวเตอร์ ให้เป็นเช่นเดียวกับที่จัดระเบียบโต๊ะ วิธีจัดระเบียบมีขั้นตอนดังนี้
ก่อนอื่นกำหนดวันจัด Desktop เดือนละครั้ง แล้วจดลงในปฏิทินหรือสมุดแพลนเนอร์ ตามด้วยการลบไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่ไม่จำเป็น แล้วให้สร้างโฟลเดอร์ 5 โฟลเดอร์ดังนี้
- สำหรับจัดเก็บและอ้างอิง
- ทำเสร็จแล้ว (ไฟล์ที่ไม่น่าจะได้ใช้แล้วแต่ยังทิ้งตอนนี้ไม่ได้)
- ไฟล์ที่จำเป็นสำหรับอาทิตย์นี้
- ไฟล์ที่ยังไม่พูดถึงในสัปดาห์นี้ แต่กำลังดำเนินการอยู่
- ไฟล์ที่ไม่เข้าข่ายข้อ 1-4
ใน 5 ข้อนี้ให้วางเพียงข้อ 3 ไฟล์ที่จำเป็นสำหรับอาทิตย์นี้ไว้บนหน้า Desktop ส่วน 4 ข้อที่เหลือให้วางไว้ตรงที่อื่น การจัดเรียงไฟล์ทุกเดือนในลักษณะนี้ ทำให้เมื่อถึงคราวจำเป็นจะค้นหาข้อมูลในโฟลเดอร์ได้ง่าย
เคล็ดลับที่ 9
หากถูกขัดจังหวะควรจดสิ่งที่จะทำเอาไว้
เพื่อกลับมาสะสางงานต่อ
เมื่อเสียสมาธิไปครั้งหนึ่งจะเรียกคืนได้ยาก แม้จะพยายามกลับมาทำงานต่อ ความจริงมีเคล็ดลับในการกลับมาสะสางงานต่ออยู่นั่นคือ การจดบันทึกเอาไว้ล่วงหน้า ว่าจะเริ่มทำอะไรเป็นอย่างแรก หลังจากกลับมาสานงานต่อ สามารถรวบรวมสมาธิได้อีกครั้งในชั่วพริบตาด้วยวิธีง่าย ๆ แค่นี้เอง หากถูกขัดจังหวะด้วยเหตุผลบางประการ เพียงจดสิ่งที่จะกลับมาทำต่อเอาไว้ เรียกวิธีนี้ว่า บันทึกคำสั่ง 10 วินาที
ประสิทธิผลของการบันทึกคำสั่ง 30 วินาที ได้รับการพิสูจน์ทางประสาทวิทยาศาสตร์แล้ว เพราะเมื่อปฏิบัติตามสิ่งที่จดไว้ จะไปกระตุ้นสมองส่วนนิวเคลียสแอคคัมเบนส์นั่นเอง การจดโน้ตก็มีเคล็ดลับคือ จดโน้ตในรูปแบบ ทำ…เดี๋ยวนี้ ซึ่งจะทำให้กลับมาจัดการงานต่อได้อย่างราบรื่นมากขึ้น แม้จะถูกขัดจังหวะกลางทางก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ต้องบันทึกคำสั่ง 10 วินาทีเพียงเรื่องเดียว เพื่อป้องกันความสับสนไว้ด้วย
เคล็ดลับที่ 10
จินตนาการและจดสิ่งที่จะทำในวันพรุ่งนี้เมื่อสิ้นสุดงานในแต่ละวัน
หากประสบกับเหตุการณ์มาถึงบริษัทในตอนเช้า แต่ใช้เวลาตั้งนานกว่าจะลงมือทำงานได้ เหตุที่ใช้เวลานานกว่าจะเริ่มต้นได้ก็เพราะ ไม่ได้ตัดสินใจไว้ให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร ทำให้เกิดอาการสับสนคิดโน่นคิดนี่อยู่ในหัวจนกระทั่งเวลาผ่านไป การจะหลีกเลี่ยงปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรตัดสินใจตั้งแต่วันก่อนว่า จะทำอะไรเป็นอย่างแรกในตอนเช้าของวันพรุ่งนี้ และจดเอาไว้ ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่า บันทึกคำสั่งแรกในตอนเช้า
เมื่อจบงานในแต่ละวันแล้ว ลองจินตนาการถึงกระแสการทำงานในวันพรุ่งนี้ จากนั้นตัดสินใจว่าจะทำอะไรเป็นหลัก 3 ข้อ ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยการทำเช่นนี้ เมื่อเริ่มทำงานในเช้าวันรุ่งขึ้น ก็แค่เลือกปฏิบัติ 1 ใน 3 ข้อ การวางแผนถึงสิ่งที่จะทำไว้หลายข้อตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยป้องกันไม่ให้งานหยุดชะงัก เมื่อข้อใดข้อหนึ่งเกิดการติดขัดนั่นเอง
เคล็ดลับที่ 11
เมื่อกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้จนไม่มีสมาธิ
ให้เขียนใส่กระดาษ
สังคมของเรามีนิยามคำว่า Multitask (ทำหลายอย่างได้พร้อมกัน) แต่หากจะพูดกันจริง ๆ มนุษย์คิดอะไรได้เพียงครั้งละเรื่อง ถ้าในหัวอัดแน่นไปด้วยปัญหาที่ค้างคา ย่อมไม่มีสมาธิกับเรื่องตรงหน้า ในเวลาเช่นนี้ควรไล่เรียงเรื่องที่ตัวเองกังวลออกมาให้หมด ความยุ่งเหยิงในหัวจะจัดการได้ยาก หากปล่อยให้อยู่ในหัวต่อไป ทว่าถ้าเขียนออกมาให้เห็น จะรับมือได้ง่ายขึ้นอย่างน่าตกใจทีเดียว มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 เขียนเรื่องที่กังวลลงในกระดาษ
ขั้นที่ 2 จดมาตรการรับมือไปทีละข้อ
เมื่อเขียนเรื่องที่กังวลออกมาเป็นตัวอักษร จะทำให้เห็นภาพที่เป็นเพียงนามธรรมในหัว จึงสามารถจัดระเบียบความคิด ให้สมองรู้สึกปลอดโปร่งได้อย่างน่าตกใจ หนำซ้ำเมื่ออ่านกระดาษที่ตัวเองเขียน ยังวิเคราะห์ได้ถึงความคิด ความรู้สึก สถานการณ์ และการกระทำอย่างเป็นกลาง
ในทางจิตวิทยาสิ่งนี้เรียกว่า อภิปรัชญา (Metacognition) หรือจะพูดง่าย ๆ คือเข้าใจว่าตัวเองรู้และไม่รู้อะไรบ้าง การเขียนปัญหาที่ค้างคาอยู่ในหัว จะทำให้เกิดมุมมองที่ดีขึ้นในแง่ของความคิดและการกระทำ ความสามารถในการแก้ปัญหาจึงเพิ่มขึ้นด้วยเมื่อเกิดอภิปรัชญา คนส่วนใหญ่เลยมองเห็นมาตรการรับมือได้อย่างง่ายดาย
เคล็ดลับที่ 12
เมื่อรู้สึกว่าจะไม่ไหวแล้ว
ให้จำกัดขอบเขตและเจาะจงเป็นเรื่อง ๆ ไป
เมื่อเรื่องราวไปได้ไม่สวย คนเรามีแนวโน้มจะคิดว่า สภาพย่ำแย่นี้จะคงอยู่ตลอดไป หรือหากเป็นไปอย่างราบรื่น จะคิดว่าแค่โชคช่วยชั่วครั้งชั่วคราว แต่ความจริงคิดเห็นไปอีกทางจะดีกว่า หากเรื่องราวเป็นไปได้ไม่สวย จนทำท่าจะรับไม่ไหว ให้ลองคิดแบบจำกัดขอบเขต และเจาะจงเป็นเรื่อง ๆ ไป แม้ไม่อาจควบคุมผลลัพธ์ แต่ควบคุมการกระทำได้ ดังนั้น ควรโฟกัสการกระทำที่สามารถทำได้ในตอนนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ ไม่ใช่ผลลัพธ์ ทั้งนี้เรื่องไหนไปได้สวยทำให้เป็นปกติ เรื่องไหนไปได้ไม่สวยให้จำกัดวิธีคิดเป็นเรื่อง ๆ ไป
เคล็ดลับที่ 13
ยามใดกดดันหนัก
ให้หลับตาปิดกั้นข้อมูลต่าง ๆ สัก 1 นาที
ถึงจะทำเป็นครั้งแรก แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ผิดพลาด แทบไม่มีข้อมูลหรือตัวอย่างให้อ้างอิง ไม่มีพรรคพวกหรือคนให้ปรึกษา หากตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นใครก็คงร้อนรนไม่สบายใจ กดดันจนเครียดจัด ทำให้ระบบความคิดรวมถึงการกระทำหยุดชะงัก เมื่อเครียดจัดก็เหมือนเวลาคอมพิวเตอร์ค้างทำอะไรก็ไม่ได้ จึงเผลอผัดวันประกันพรุ่งมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
สำหรับคนที่เครียดเป็นประจำ การผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึกอย่างมีสติ สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้ วิธีง่าย ๆ และมีประสิทธิภาพที่สุด ในการคลายความตึงเครียดคือ หลับตาสัก 1 นาที เพียงปิดกั้นข้อมูลจากการมองเห็น ก็ลบภาระให้สมองได้มหาศาล ช่วยผ่อนคลายความเครียด ข้อมูลจากสายตาสามารถเพิ่มภาระให้กับสมอง จนมีข้อมูลการวิจัยออกมาว่า 85% ของข้อมูลที่สมองมนุษย์ได้รับมาจากการมองเห็น
เคล็ดลับที่ 14
หากรู้สึกหย่อนยานเกินไป
ควรสร้างแรงกดดันให้ตัวเองในระดับที่เหมาะสม
ความเครียดที่มากเกินไปเป็นอุปสรรคต่อการกระทำ แต่ในทางตรงข้าม อารมณ์ที่หย่อนยานเกินไปจะกลายเป็นเบรค ซึ่งคอยฉุดรั้งเช่นกัน ในเวลาแบบนี้จำเป็นต้องสร้างระดับความเครียดที่พอเหมาะ ซึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ พึงระลึกไว้ว่ามีคนคาดหวังในตัวเรา ในแง่จิตวิทยามีสิ่งที่เรียกว่า Pygmalion Effect หมายถึง หากใครถูกคาดหวังก็มีแนวโน้มจะพยายามสร้างผลลัพธ์ตามที่ถูกคาดหวังนั่นเอง ความจริงความคาดหวังหรือการเป็นจุดสนใจนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ต่อให้เป็นฝ่ายทึกทักไปเองก็ยังใช้ได้ผล เมื่อจิตคิดว่าตัวเองถูกคาดหวัง และเป็นจุดสนใจของผู้คนรอบข้าง จะสร้างความกดดันและตึงเครียดในระดับหนึ่ง ส่งผลให้การทำสิ่งต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น อาจฟังเหมือนเรื่องโกหกแต่เป็นความจริง บางครั้งก็จำเป็นต้องกดดันตัวเองบ้าง
เคล็ดลับที่ 15
กำหนดเส้นตายแม้จะเป็นคำสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง
การกำหนดเส้นตายให้กับตัวเอง ก็เป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพ ในการแก้ไขอารมณ์ซึ่งหย่อนยานเกินไป พอเป็นเรื่องซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ก็รักษาเดดไลน์ได้ แต่พอเป็นกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ให้ตัวเองกลับผลักไสไปไว้ทีหลังสุดเป็นประจำ สถานการณ์เป็นเช่นนี้เพราะไม่ได้ลงวันที่ใส่สมุดแพลนเนอร์ให้ออกมาเป็นรูปธรรม การกำหนดวันที่แน่ชัดคือ การให้สัญญากับตัวเอง ดังนั้น การให้สัญญากับตัวเอง ย่อมเหมือนกับให้สัญญากับคนอื่น ต้องจดลงสมุดแพลนเนอร์เป็นอย่างแรก โดยถือว่ามีความสำคัญสูงสุด และรักษามันไว้ให้ได้
เคล็ดลับที่ 16
เตรียมแผนการไว้หลายแผน
เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
แม้จะกำหนดเส้นตายให้กับตัวเอง และพยายามทำให้สำเร็จ ทว่าบางครั้งเรื่องราวกลับไม่ราบรื่น สถานการณ์นี้เป็นปัญหาจากวิธีการวางแผนไม่เกี่ยวกับความสามารถ ควรเตรียมแผนไว้หลาย ๆ แผน เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันนั่นเอง การวางแผนไว้หลายแผนล่วงหน้า จะช่วยให้เรื่องราวเป็นไปตามกำหนดการ แม้จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นก็ตาม
เคล็ดลับที่ 17
หากทำอย่างไรก็ไม่อาจหายจากโรคเลื่อนสถานการณ์จะเลวร้ายลงถึงขีดสุด
เหตุผลที่คนเราลงมือทำอะไรบางอย่างมีเพียง 2 ข้อคือ 1.เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด หมายถึงการกระทำเพิ่มหลีกเลี่ยงเรื่องไม่พึงประสงค์ หลีกเลี่ยงความขมขื่น อึดอัด เจ็บปวด อับอาย
และในทางตรงกันข้าม 2.แสวงหาความสุข หมายถึงการเรียกร้อง ต้องการ เป็นการกระทำเพื่อทำให้ความฝันหรือเป้าหมายที่ต้องการเป็นจริง หรือเพื่อให้เกิดความรู้สึกสนุกสนาน ดีใจ รู้สึกดี
ก่อนอื่นลองคิดถึงภาพในอนาคต หากใครนึกถึงแล้วตื่นเต้นจะเป็นรูปแบบการแสวงหาความสุข ตรงข้ามคนที่คิดแล้วมีแนวโน้มจะจิตตก รู้สึกร้อนใจ ไม่สบายใจมากกว่าตื่นเต้นเป็นรูปแบบการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดนั่นเอง ประเด็นนี้แล้วแต่ตัวบุคคล ไม่มีใครถูกใครผิด การทำความเข้าใจว่า สวิตช์ในการกระทำ ของตัวเองอยู่ในโหมดไหนเป็นเรื่องสำคัญ จงระวังจะพึ่งพาสวิตซ์เรื่องความเจ็บปวดมากเกินไป พยายามใช้เฉพาะคราวจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
เคล็ดลับที่ 18
กระตุ้นตัวเองด้วยการให้รางวัล
การลงมือกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด หากใช้ชีวิตนี้ตลอดเวลาความสนุกจะหมดไป กลายเป็นการบั่นทอนทั้งสมอง จิตใจ และร่างกายแทน โดยเฉพาะการทำอะไรตามสำนึกในหน้าที่ หรือความรับผิดชอบเพียงอย่างเดียว ต้องทำนั่น ควรทำนี่ จะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้ ในเวลาเช่นนี้ ต้องเปิดใช้งานสวิตช์การกระทำ เพื่อแสวงหาความสุข ให้ตัวเองรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ลองเริ่มจากการนึกภาพผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด หมายถึง สถานการณ์ที่การงานซึ่งลงแรงกระทำสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่เพียงตัวเองจะยิ้มออก แต่ยังรวมถึงรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้คนรอบตัวอีกด้วย
ในวงการโค้ชชิงเรียก วิธีจินตนาการภาพเป้าหมายล่วงหน้าเช่นนี้ว่า การซักซ้อมในจิตใจ (Mental Rehearsal) จะเปิดสวิตช์แสวงหาความสุขว่า อยากเป็นแบบนี้ เป็นเหตุให้จัดการกับเรื่องต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจของตัวเอง และเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ไม่ใช่ทำไปเพราะสำนึกในหน้าที่ แม้การให้รางวัลตัวเองจะไม่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง แต่มีประสิทธิผลในการเปิดสวิตช์แสวงหาความสุข การให้รางวัลไม่ควรเป็นสิ่งที่ใช้เงินมาก ใช้การเพิ่มจำนวนครั้งแทน
บทที่ 3
ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึก
วิธีสร้างทัศนคติในการลงมือทำ
ความจริงแล้วความสามารถ และลักษณะนิสัยของคนที่ลงมือทำทันที กับคนที่เผลอผัดวันประกันพรุ่งโดยไม่รู้ตัว แทบจะไม่แตกต่างกันเลย ทว่ากลับมีความแตกต่างอย่างมากในเรื่องท่าทาง วิธีคิด เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ วิธีรับมือและวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับตัวเอง ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้น 2 ครั้ง (All things are created twice) หากจะพูดให้เข้าใจง่าย ทุกสิ่งทุกสร้างขึ้นในจิตใจก่อน แล้วจึงกลายเป็นรูปร่างให้จับต้องได้
นั่นหมายความว่าทุกสิ่งล้วนผ่าน 2 กระบวนการ การสร้างทางปัญญาและการสร้างทางกายภาพ คนที่ลงมือกระทำทันทีมักจะจินตนาการภาพเป้าหมายเชิงบวกโดยอัตโนมัติ ด้วยเหตุนี้จึงใช้พลังจากการนึกภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางตรงข้ามคนที่เผลอผัดวันประกันพรุ่งโดยไม่รู้ตัว มักจะวาดภาพเชิงลบ เมื่อคิดแบบนี้จะเข้าใจว่ากุญแจสำคัญในการลงมือกระทำทันทีคือ ต้องนึกภาพในเชิงบวกว่า ทำได้ หรือเจาะจงอย่างเป็นรูปธรรมว่า ทำได้แน่ ซึ่งจะทำให้เรื่องต่าง ๆ ก้าวหน้า เพราะความสนใจพุ่งไปที่ประเด็นทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ ทำอย่างไรถึงจะดีขึ้น ไม่ใช่จะทำได้หรือเปล่า มันไม่เกี่ยวกับลักษณะนิสัย หรือความสามารถอะไร เพียงเปลี่ยนวิธีมองสิ่งต่าง ๆ เล็กน้อย ก็สามารถเปลี่ยนจากคนคิดลบมาเป็นคิดบวกได้แล้ว
เคล็ดลับที่ 19
เมื่อทำท่าเหมือนจะหวั่นไหวไปตามผลลัพธ์
ให้คิดโดยอาศัยทฤษฎี Batting Average
(ค่าเฉลี่ยในการตีลูกเบสบอล)
ผลลัพธ์หรือผลสำเร็จเหวี่ยงอารมณ์ให้ดีใจหรือเศร้าใจเกินไป เวลาที่เรื่องต่าง ๆ เป็นไปด้วยดีก็ดีไป ทว่าเมื่อผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นดั่งใจ จะกลายเป็นยึดติดเกินไป ทำให้ถอดใจยอมแพ้ บ้างก็จิตตกจนล้มเลิกไป กรณีเช่นนี้ควรฝึกคิดแบบ Batting Average (ค่าเฉลี่ยในการตีลูกเบสบอล) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว ลองคิดว่าตี 5 ครั้ง ตีโดนสัก 1 ครั้งก็ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าการกระทำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ 1 ใน 5 ครั้งก็เพียงพอแล้ว และหากสำเร็จ 1 ใน 3 ครั้งก็ถือว่าเก่งพอ ๆ กับมืออาชีพ วิธีมองตัวเองจากมุมมองที่กว้างขึ้นนี้เรียกว่า การมองจากมุมสูง เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ซึ่งการเรียนรู้ที่จะมองจากมุมสูง ส่งเสริมให้เกิดการกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยอารมณ์ไม่สวิงไปตามผลลัพธ์ตรงหน้า
เคล็ดลับที่ 20
ถ้าทำอย่างไรก็ติดขัดไม่ราบรื่น
ให้ลดสเกลลง
คนที่จิตตกง่าย เพราะส่วนใหญ่ใช้มาตรฐานเดียวเป็นเกณฑ์ตัดสินนั่นคือ ก้าวไปตามเป้าหมายหรือแผนที่วางไว้ตอนแรก ในโลกนี้แทบไม่มีสิ่งใดเป็นไปอย่างราบรื่นตามที่คาดคิด 100% ในทางกลับกันก็ไม่มีสิ่งใดติดขัด 100% แต่เมื่อใช้มาตรฐานเดียวมาวัดการประเมิน จะเหลือเพียง 2 ตัวเลือก สำหรับใครที่คิดได้ลองลดสเกลลงให้เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฝึกนิสัยสังเกตความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องผลลัพธ์และผลสำเร็จดู การที่ตระหนักหรือไม่ตระหนักในเรื่องเหล่านี้ จะสร้างความแตกต่างอย่างมาก ให้กับการกระทำในอนาคต
เคล็ดลับที่ 21
โฟกัสในเรื่องที่ทำได้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้
ทั้งที่กำลังควบคุมอาหารระหว่างลดน้ำหนัก แต่กลับอดใจไม่ไหวกินขนมไปแล้ว ทั้งที่ตั้งใจจะทบทวนหนังสือ 1 ชั่วโมงก่อนนอน แต่ดันเหนื่อยจนหลับไปได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ มักจะเผลอตำหนิหรือตัดสินตัวเอง จะยิ่งสูญเสียความมั่นใจ ความหวัง และพลังงานทีละน้อย สุดท้ายกลายเป็นเบื่อหน่าย จนโยนทุกอย่างทิ้งไป
เพื่อหลีกหนีวงจรเชิงลบเช่นนี้ มีวิธีที่ใครก็สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ทันทีนั่นคือ เขียนสิ่งที่ทำได้ลงในกระดาษ ซึ่งจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ได้ เขียนเพื่อใช้แว่นสามารถในการมองสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่แว่นไร้สามารถ การตระหนักว่าตัวเองทำได้ จะนำไปสู่ครั้งต่อไปก็น่าจะทำได้ เขียนสิ่งที่ทำสำเร็จใส่กระดาษ แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ก็ยังช่วยให้ตระหนักถึงการเติบโตเล็ก ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม กุญแจสำคัญคือ การให้คะแนนบางส่วนต่อให้ทำได้ไม่สมบูรณ์แบบ เพียงจดจำใส่ใจเอาไว้ ก็จะตีความสิ่งต่าง ๆ ผ่านแว่นสามารถได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่คิดอยู่ในหัว การเขียนออกมาจะช่วยให้มองเห็นได้ง่ายขึ้น
เคล็ดลับที่ 22
หลุดพ้นจากวงจรปัญหา
โดยโฟกัสที่การกระทำ ไม่ใช่ผลลัพธ์
เมื่อผลลัพธ์ไม่ออกมาเป็นดั่งหวัง แรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ มักจะลดลง วิธีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้หลุดพ้นจากวงจรปัญหานี้คือ การโฟกัสที่เป้าหมายการกระทำไม่ใช่เป้าหมายผลลัพธ์ เป้าหมายผลลัพธ์หมายถึง การตั้งเป้าหมายโดยเน้นที่ผลลัพธ์ ในทางตรงข้ามเป้าหมายการกระทำหมายถึง การตั้งเป้าหมายโดยเน้นการกระทำ ที่จำเป็นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์
เป้าหมายผลลัพธ์มีข้อดีคือ ป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจและตื่นตัวอยู่เสมอ เมื่อการงานเป็นไปด้วยดีเป้าหมายผลลัพธ์จะเพิ่มโอกาสในการทำผลงานให้ออกมาดีกว่าเดิม แต่เมื่อใดเกิดความผิดพลาดซ้ำ ๆ หรือทำเป้าหมายให้สำเร็จไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยภายนอกอยู่เรื่อย จะก่อให้เกิดความเครียดและไม่สบายใจได้ง่าย สุดท้ายก็กลายเป็นสาเหตุให้หยุดกระทำ
กลับกันเป้าหมายการกระทำเพียงทำตามสิ่งที่ตัวเองกำหนดไว้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลสำเร็จหรือผลลัพธ์แต่อย่างใด จึงลดเรื่องผิดพลาดลงได้มาก ก็จะไม่ค่อยรู้สึกเครียดหรือไม่สบายใจ
ดังนั้น เมื่อผลลัพธ์ไม่ออกมาเป็นดังหวัง ควรเปลี่ยนจากการตั้งเป้าหมายผลลัพธ์ มาเป็นเป้าหมายการกระทำ ที่สามารถทำได้จริง จะช่วยให้เริ่มใหม่ได้โดยที่แรงจูงใจยังไม่ถดถอย
อนึ่งการโฟกัสที่เป้าหมายการกระทำเพื่อให้ได้ผลลัพธ์และเริ่มเห็นผล ให้กลับไปโฟกัสที่เป้าหมายผลลัพธ์อีกครั้ง เพราะการนึกถึงเพียงเป้าหมายการกระทำ จะนำมาซึ่งความซ้ำซากจำเจ ให้กำหนดทั้งเป้าหมายผลลัพธ์ และเป้าหมายการกระทำ แล้วแยกใช้อย่างเหมาะสม
เคล็ดลับที่ 23
ตระหนักถึงข้อแก้ตัวที่มักกล่าวอ้างออกไปโดยไม่รู้ตัว
ความจริงคำพูดติดปากที่ใช้กันโดยไม่คิดอะไร เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการผัดวันประกันพรุ่ง เมื่อพูดบ่อยเข้ามันจะฝังลงในจิตใต้สำนึก ทำให้การที่ไม่สามารถทำได้กลายเป็นเรื่องถูกต้อง หากต้องการเปลี่ยนพฤติกรรม รูปแบบความคิดของตัวเอง วิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพคือ การตระหนักถึงคำพูดติดปาก ดังนั้น จะหยุดแก้ตัวได้ต้องเริ่มก้าวแรก จากการรับรู้เสียก่อนว่ากำลังแก้ตัว
อันดับแรก เมื่อจบวันหมั่นนึกย้อนให้เป็นนิสัยว่าใน 1 วันนี้ได้แก้ตัวกลับผิดเป็นถูกให้พฤติกรรมตัวเองหรือไม่
เมื่อชินแล้ว จะรู้ตัวเองในวินาทีที่หลุดปากแก้ตัว ถ้ารู้ตัวทันทีก็ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ จากนั้นลองนับดูว่าแก้ตัวกี่ครั้งใน 1 วัน
พอชินแล้วอีก คราวนี้จะตระหนักได้ในจังหวะที่กำลังคิดจะแก้ตัว
ถ้าพบว่ากำลังแก้ตัวไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องป่าวประกาศ ให้เปลี่ยนคำพูดใหม่ทุกครั้ง เมื่อตระหนักได้แล้วเหตุผลที่สามารถทำได้จะผุดออกมาโดยอัตโนมัติ คำพูดมีพลังอันยิ่งใหญ่
เคล็ดลับที่ 24
สร้างนิสัยเปรียบเทียบตัวเองในปัจจุบันกับตัวเองในอดีต
แทนที่จะเปรียบเทียบกับคนอื่น
ตราบใดที่ยังดำเนินชีวิตตามปกติ ย่อมต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงาน ปัจจุบันยิ่งสอดส่องชีวิตผู้อื่นได้ง่ายขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย กล่าวได้ว่าสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ทำให้เผลอเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นอย่างช่วยไม่ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเปรียบเทียบ ทว่าเป็นอารมณ์เชิงลบที่เกิดจากการเปรียบเทียบ นำไปสู่การหยุดกระทำต่างหาก
วิธีการแก้ไขง่ายมาก แค่เปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต ไม่ใช่เปรียบเทียบกับผู้อื่นเสียก็สิ้นเรื่อง การเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต จะช่วยให้โฟกัสกับการเติบโตของตัวเอง จะรู้สึกได้ถึงการเติบโต จึงริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่บางครั้งการเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต อาจทำให้รู้สึกด้อยลง ถึงตอนนั้นอย่าจิตตก ให้คิดถึงเรื่องในอนาคตแทน แม้ตอนนี้เรื่องราวจะไม่ราบรื่น แต่เมื่อเทียบตัวเองในอนาคตกับตัวเองตอนนี้ จะวาดหวังหรือมองไปถึงเหตุการณ์ในอนาคตได้ โดยไม่ดูถูกตัวเอง
เมื่อคนเราเห็นภาพอนาคตชัดเจน ก็จะอยากลงมือทำเพื่อมุ่งเป้าไปสู่สิ่งนั้น การเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีตหรืออนาคต แทนที่จะเทียบกับคนอื่น จะไม่ทำให้ติดอยู่ในหล่มของความรู้สึกด้อยกว่าหรือเหนือกว่า และสามารถทำสิ่งต่าง ๆ โดยโฟกัสที่การเติบโตของตัวเอง หากเข้าใจว่าเติบโตขึ้นมากเพียงใด เมื่อเทียบกับตัวเองในอดีต จะค้นพบศักยภาพการเติบโตในอนาคตได้ง่ายขึ้น
บทที่ 4
จะไม่มีคำว่ายุ่งจนไม่มีเวลาทำอะไรอีกแล้ว
วิธีใช้เวลาให้คุ้มค่า
สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้สามารถลงมือกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้คือ การบริหารเวลา แล้วทำไมการบริหารเวลาจึงเป็นเรื่องจำเป็น นั่นก็เพราะต่อให้จะทำหรือไม่ทำอะไร ก็ยังต้องอาศัยทรัพยากรทางด้านเวลา กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้จะใช้หรือไม่ใช้ก็จำกัดอยู่แค่วันนั้น สุดท้ายแล้วเวลาก็เท่ากับชีวิต คนเราใช้เวลาที่เหลือของชีวิตในทุกสิ่งที่กระทำ แค่จดจำเรื่องนี้ให้ขึ้นใจมันจะเปลี่ยนพลังในการกระทำไปเลย
เคล็ดลับที่ 25
ทำความเข้าใจว่าตัวเองใช้เวลาไปกับเรื่องอะไร
แน่นอนว่าเวลาคือทรัพยากรที่จำเป็นในการทำสิ่งต่าง ๆ เช่นเดียวกับการลงทุนที่ต้องอาศัยเงินทุน ในกรณีของเงินจำเป็นต้องทำสมุดบัญชีครัวเรือน เพื่อให้เข้าใจถึงแนวโน้มในการใช้ทรัพย์สินของตัวเอง กับเวลาก็เหมือนกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งการจะลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้ สิ่งสำคัญคือต้องทำสมุดบัญชีเวลา และมองย้อนกลับไปถึงเส้นทางการใช้เวลาของตัวเอง อาจจะอธิบายอย่างเป็นรูปธรรม ก็แค่แจกแจงเส้นทางการใช้เวลาออกเป็น 3 หัวข้อ โดยระบุเพียงคร่าว ๆ วิธีคิดคล้ายกับการใช้เงินนั่นเอง มีดังนี้
1.ลงทุน คือเวลาที่ใช้จินตนาการถึงอนาคต และทำให้เป็นรูปเป็นร่าง เป็นเวลาที่ใช้เพื่อการศึกษา หาประสบการณ์ สุขภาพ กระชับความสัมพันธ์กับผู้คน เป็นต้น
2.บริโภคใช้แล้วหมดไป คือเวลาที่ใช้เพื่อดำเนินชีวิต เช่น กิน นอน พักผ่อน ปรับเปลี่ยนอารมณ์ เป็นต้น จะบอกว่าเป็นเวลาที่ใช้เพื่อรักษาสภาพปัจจุบันก็ได้
3.เปล่าประโยชน์ คือเวลาที่ไม่ใช่การลงทุนและบริโภค เป็นเวลาที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือใช้ไปโดยไม่มีจุดประสงค์อะไรเป็นพิเศษ เช่น เล่นเน็ตไปเรื่อยเปื่อย ดูทีวี หรือ YouTube ทั้งวี่ทั้งวัน ดื่มกินมากเกินไป นอนดึกเกินไป
ประเด็นตรงนี้คือไม่จำเป็นต้องลดเวลาที่เปล่าประโยชน์ให้เหลือศูนย์ ยิ่งตอนงานยุ่งหรือเหนื่อย ช่วงเวลาที่ได้ทำตัวเอื่อยเฉื่อยเม่อลอยยิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับระยะฟรีของพวงมาลัยรถ แต่ถ้าเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์แบบไม่สร้างสรรค์ หรือไร้จุดหมายมากเกินไป ก็ควรปรับลดช่วงเวลานั้นลง แล้วเอาส่วนเกินมาใช้เพื่อการลงทุนในอนาคต รวมถึงลงทุนในตัวเอง อนาคตจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
หากเวลาลงทุนเป็นศูนย์ จะดีต่อการรักษาสภาพปัจจุบันให้คงอยู่ดังเดิม กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้ใจจะคิดอยากเป็นคนที่ลงมือทำทันที ทว่ากลับใช้เวลาเพียงเพื่อบริโภค และทำสิ่งที่เปล่าประโยชน์ ก็จะเป็นคนที่อยากลงมือทำทันทีแต่ทำไม่ได้ไปตลอดกาล อันดับแรกลองตรวจสอบเส้นทางการใช้เวลาของตัวเองดูก่อน
เคล็ดลับที่ 26
จัดทำตารางเวลาและยึดมั่นในหลักเกณฑ์
ยุ่งกับงานหรือการใช้ชีวิตเกินไป กว่าจะหมดวันก็หมดสภาพ ไม่มีเวลาทำในสิ่งที่ชอบหรือเรื่องที่อยากทำจริง ๆ หลายคนคงกำลังกลัดกลุ้มว่า ทำอย่างไรถึงจะกันเวลาเผื่อไว้ทำในสิ่งที่อยากทำได้ หากรู้จักปรับเปลี่ยนวิธีใช้เวลา ผลลัพธ์จะต่างออกไปมาก ดังนั้น ตารางเวลาจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งตารางเวลาที่พูดถึงนี้ เป็นเพียงตารางเวลาคร่าว ๆ กว่าสมัยเรียน อธิบายอย่างเป็นรูปธรรมคือ 1 วันแบ่งเป็น 5 ส่วน และจัดสรรงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา ดังตัวอย่าง
- ก่อนเวลาทำงาน ช่วงเช้าก่อนเวลาทำงานเป็นช่วงที่คนเราได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกน้อยที่สุด ดังนั้น ให้เลือกทำเรื่องที่ควรทำ หรือเรื่องสำคัญสำหรับตัวเอง นอกเหนือจากเรื่องงาน ยกตัวอย่างเช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ
- ช่วงเช้า เป็นช่วงที่รวบรวมสมาธิได้ค่อนข้างง่าย นำงานที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์ หรือใช้สมองมาทำในช่วงเวลานี้ให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น วางแผนระยะกลางหรือระยะยาว เขียนแผนงานโครงการให้เสร็จ วางแนวความคิดเกี่ยวกับธุรกิจใหม่ หากเวลาเหลือจะรวมลิสต์ที่ต้องจัดการเข้าไปด้วยก็ได้
- จนถึง 15:00 น. ช่วงหลังอาหารกลางวันเป็นช่วงที่สมาธิหลุดได้ง่าย จึงควรทำงานร่วมกับคนอื่นแทนที่จะทำงานคนเดียว เช่น ประชุม พูดคุยหารือ สัมภาษณ์ เจรจาธุรกิจ ปรับตารางเวลา เป็นต้น
- จนถึงเวลาเลิกงาน ช่วงเวลาหลัง 15:00 น เป็นช่วงนับถอยหลังก่อนเลิกงาน ส่งผลให้กลับมามีสมาธิอีกครั้ง ดังนั้น แนะนำให้จัดการงานที่ยุ่งยากแต่จำเป็น เช่น ทำรายงานให้เสร็จ ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ สะสางงานตามหลัง นอกจากนี้อาจจะตรวจสอบตารางงานของวันพรุ่งนี้ และจดว่าจะทำอะไรเป็นหลัก 3 ข้อ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดก็ได้
- จนถึงเวลาเข้านอน ช่วงเวลาหลังเลิกงานให้ลืมเรื่องงาน กันเวลาไว้พักผ่อน หาความสนุก หรือเติมสารอาหารให้กับจิตใจ ไปกินของอร่อย ดื่มเหล้า สนุกกับการคุยกับเพื่อน ทำงานอดิเรก แช่น้ำผ่อนคลาย เป็นต้น อีกทั้งแนะนำให้ก่อนนอนนึกถึง 3 เรื่องดี ๆ ที่ทำไปในวันนี้
จุดประสงค์ของตารางเวลาเพื่อกำหนดว่า อย่างน้อยที่สุดอยากทำอะไร ไม่ใช่เพื่อกำหนดว่าควรทำอะไรอย่างละเอียด โดยใช้เวลาที่เหลือในการจัดการลิสต์ที่ต้องทำ หรือวางกำหนดการต่าง ๆ
เคล็ดลับที่ 27
ระหว่างทำงานแบ่งเวลาออกเป็นช่วงๆ ช่วงละ 15 นาที
การทดลองทางประสาทวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า การกำหนดเวลาที่เหมาะสมสามารถกระตุ้นสมอง และช่วยให้มีสมาธิได้มากกว่าการไม่กำหนดเวลา สิ่งสำคัญคือต้องกำหนดให้ชัดว่า จะทำให้เสร็จถึงตรงนี้ภายใน 15 นาทีแล้วค่อยเริ่ม หรือจะลองท้าทายโดยคิดว่าเป็นเกม 15 นาทีจะทำได้ถึงไหนนะก็ได้ หากทำไปเรื่อย ๆ บางคนอาจจะเอ่ยว่า 15 นาทีไม่พอ 15 นาทียาวเกินไปไม่มีสมาธิก็ได้ ถึงตอนนั้นก็ลองปรับตัวเลขขยายเวลาเป็น 20 นาที หรือปรับลดเป็น 10 นาทีดูก็ได้ เมื่อทำซ้ำ ๆ จะรู้เองว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ตัวเองจึงจะมีสมาธิมากที่สุด
เคล็ดลับที่ 28
จดจ่อให้ได้ 30 นาที วันละ 2 ครั้ง
คนเราไม่สามารถมีสมาธิได้ตลอดทั้งวัน เวลาที่จะมีสมาธิจริง ๆ คงอยู่เพียงไม่นาน คุณภาพของการกระทำขึ้นอยู่กับว่า สามารถใช้เวลาเล็กน้อยนี้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่ละคนมีช่วงเวลาที่จะรวบรวมสมาธิได้ง่ายแตกต่างกัน บ้างเป็นตอนเช้า ก่อนเที่ยง หรือตอนเย็น ลองใช้เวลา 30 นาทีในช่วงนั้น ทำเรื่องสำคัญที่สุดอย่างจริงจัง หรือที่เรียกว่าเรื่องไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ 1 วันทำ 2 ครั้ง
เคล็ดลับที่ 29
ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนเป็นอารมณ์ด้วยวิธีไหน
และใช้เวลาเท่าไหร่เอาไว้ล่วงหน้า
เมื่อล้มเหลวในการทำงาน หรือเรื่องราวไม่เป็นไปตามที่คิด คนที่เปลี่ยนอารมณ์เก่งจะปรับเปลี่ยนมันได้ในทันที ในทางตรงกันข้ามคนที่เปลี่ยนอารมณ์ไม่เก่ง จะถูกสถานการณ์เลวร้ายฉุดรั้งไว้ ความแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนอารมณ์เก่งและไม่เก่งนั้นขึ้นอยู่กับว่า ตัดสินใจถึงวิธีที่จะใช้ในการเปลี่ยนอารมณ์เอาไว้ล่วงหน้าหรือไม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
กิจกรรมที่ทำได้ในเวลาไม่กี่นาที เช่น สูดหายใจเข้าลึก ๆ ยืดเส้นยืดสาย เดินเล่น กินของหวาน
กิจกรรมที่ต้องใช้เวลา 30 นาที เช่น งีบหลับ ทำความสะอาด วิ่ง อาบน้ำ
กิจกรรมที่ต้องใช้เวลาพอสมควร เช่น ไปเที่ยว หรือดูหนัง
เมื่อจำต้องรีเฟรชตัวเอง ให้เลือกทำตามสถานการณ์ เพื่อปรับเปลี่ยนอารมณ์ในทันที
บทที่ 5
ย่างก้าวไปสู่เป้าหมายและความฝัน
เรียนรู้วิธีคิดเชิงพฤติกรรม
การกระทำของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ นั่นคือการกระทำที่ทำให้สถานการณ์ด้านลบกลับมาเป็นศูนย์ (การกระทำฐานศูนย์) และการกระทำที่สร้างคุณค่าเชิงบวก (การกระทำเชิงบวก) สองคำนี้อ้างอิงตามทฤษฎีแรงจูงใจ (Motivational Theory) ซึ่งนำเสนอโดย เฟรดเดอริก เฮอร์ซเบิร์ก (Frederick Herzberg) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกัน ซึ่งคิดว่าปัจจัยที่สร้างแรงจูงใจให้กับผู้คนแบ่งออกเป็น 2 ประการ
- ปัจจัยสุขอนามัย (Hygiene Factory) คือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความไม่พอใจ ความรู้สึกขาดแคลน
- ปัจจัยจูงใจ (Motivator Factors) คือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจ ความสำเร็จ และความสุข
กล่าวอีกนัยหนึ่งการกระทำฐานศูนย์ เป็นการกระทำเพื่อขจัดความไม่พอใจ หรือความรู้สึกขาดแคลน ขณะที่การกระทำเชิงบวกเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความพึงพอใจ ความรู้สึกประสบความสำเร็จ และความสุข ใครก็ตามสามารถกระทำการเชิงบวกได้ เพียงปฏิบัติ 3 ขั้นตอนนี้ให้เชี่ยวชาญ
- ตั้งเป้าหมาย
- กำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน
- กำหนดรายละเอียดการจัดการ
เคล็ดลับที่ 30
ต้องตั้งเป้าหมายให้ทะเยอทะยาน
เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต
ชีวิตจะสมบูรณ์ได้จำเป็นต้องมีความฝันหรือเป้าหมาย ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนการกระทำเชิงบวก เช่นเดียวกับระบบนำทางรถยนต์ เมื่อกำหนดจุดหมายปลายทาง มันก็จะพาไปถึงที่หมาย หากกำหนดเป้าหมายชัดเจน จะรู้ว่าต้องทำอะไรโดยอัตโนมัติ สิ่งจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงชีวิตคือ เป้าหมายที่ทะเยอทะยาน หมายถึงเป้าหมายแท้จริงจากก้นบึ้งหัวใจที่อยากทำให้เป็นจริง โดยปราศจากข้อจำกัดของความเป็นไปได้ หรืออุปสรรคทางอารมณ์ เป้าหมายที่ทะเยอทะยานคล้ายกับการเดินทาง แม้ตอนนี้สถานการณ์จะไม่เป็นดังหวัง ไม่ได้ทำงานอย่างที่อยากทำ
หากมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน ความเหนื่อยยาก การท้าทาย การกระทำทุกสิ่งจะกลายเป็นทรัพยากรจำเป็น เพื่อสร้างอนาคตที่ตัวเองต้องการ ต้องมีสักวันที่จะคิดว่า ประสบการณ์ที่ไม่อยากนึกถึงหรือล้มเหลวในอดีตเองก็จำเป็น เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับใครสักคน เหนือสิ่งอื่นใด ทุกวันที่แสนปกติธรรมดาจะเริ่มสนุกและเติมเต็มมากขึ้น เป้าหมายที่ทะเยอทะยานจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการกระทำ การตัดสินใจ และความคิด
เคล็ดลับที่ 31
ตั้งเป้า 1 เมื่อโฟกัสที่ความปรารถนา
ก็จะมองเห็นว่าแท้จริงอยากทำอะไร
คนเราจะไม่กระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อไม่มีความปรารถนา ในทางกลับกันหากต้องการทำอะไรสักอย่างจริง ๆ ก็จะพยายามได้อย่างต่อเนื่อง และเติบโตได้ไม่สิ้นสุด เป้าหมายที่ปราศจากความปรารถนา ไม่อาจเรียกว่าเป้าหมายที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ความฝันและเป้าหมายเช่นนี้ มักจะซ่อนเร้นอยู่ลึกลงไปในใจ ไม่ปรากฏชัดแจ้งให้เห็น
ดังนั้น ขั้นตอนแรกในการค้นหาเป้าหมายที่ทะเยอทะยานคือ ต้องรู้ถึงความปรารถนาของตัวเองเสียก่อน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ต่อให้เป้าหมายชัดเจนเพียงใด หากเป็นเพียงคำพูดย่อมไม่นำไปสู่การกระทำ สภาวะนี้คือสมองรู้ดีว่าควรทำแต่กลับทำไม่ได้ คนเราทำอะไรตามอารมณ์ไม่ใช่ตรรกะ เช่นเดียวกับที่มีคำว่า ความประทับใจ แต่ไม่มีคำว่า ประทับปัญญา ถ้าอยากลงมือกระทำก็จำเป็นต้องเข้าถึงสมองส่วน Old Brain ซึ่งรับผิดชอบด้านอารมณ์และพฤติกรรม ในจุดนี้การใช้ประโยชน์จากอารมณ์ปรารถนา จะทำให้เข้าถึงสมองได้ทุกเมื่อ เพราะความปรารถนาไม่ใช่สิ่งที่คิด แต่เป็นสิ่งที่รู้สึก
เคล็ดลับที่ 32
ตั้งเป้า 2 แบ่งแยกและรับฟัง
เสียงในหัว เสียงจากร่างกาย และเสียงในใจ
เคล็ดลับที่จะทำให้ล่วงรู้ถึงความปรารถนาในใจคือ การเงี่ยหูฟังเสียงในใจ อันที่จริงความคิดของคนเราแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
- เสียงในหัว สิ่งที่คิดเป็นประจำ ความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ เรื่องที่ต้องทำ เรื่องที่ควรทำ
- เสียงจากร่างกาย สภาพร่างกาย เช่น ปวดไหล่ เจ็บคอ
- เสียงในใจ ความรู้สึกปรารถนา อยาก ต้องการ
โดยทั่วไปเมื่อคิดถึงความรู้สึกของตัวเอง ก็มักจะได้ยิน 3 เสียงนี้ผสมปนเป หรือเลือกฟังแค่เสียงใดเสียงหนึ่ง เคล็ดลับข้อใหญ่สุดเมื่อตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานคือ การให้ความสำคัญกับประเด็น อยากทำให้เป็นจริงหรือไม่ มากกว่า ทำให้เป็นจริงได้หรือไม่ การพูดคุยกับตัวเองเป็นกุญแจสำคัญ ในการดึงเสียงในใจออกมา
อธิบายอย่างเป็นรูปธรรมคือ เพียงถามตัวเองด้วยคำถามง่าย ๆ ว่า ความจริงแล้วอยากทำอะไร ละทิ้งความล้มเหลวในอดีต และความยุ่งเหยิงวุ่นวายในปัจจุบันไปก่อน ตั้งคำถามว่าความจริงแล้วตัวเราอยากทำอะไรกันแน่ แล้วจินตนาการถึงภาพในอนาคตที่ใฝ่ฝัน เคล็ดลับคือแบ่งแยกและรับฟังทั้ง 3 เสียง ด้วยวิธีนี้จะค่อย ๆ ดึงสิ่งที่เก็บซ่อนอยู่ในใจออกมาจนได้ พอเข้าใจว่าความจริงแล้วตัวเองอยากทำอะไร ก็จะไม่สับสนลังเลในการตัดสินใจ ส่งผลให้สามารถท้าทายกับเรื่องต่าง ๆ เพื่อไขว่คว้าความฝันนั่นเอง ขณะที่ยังไม่คุ้นเคยกับการถามตัวเองว่า ความจริงอยากทำอะไร ลองเริ่มจากคำถามง่าย ๆ เช่น มื้อกลางวันจะกินอะไร
เคล็ดลับที่ 33
แจกแจงจุดมุ่งหมาย และรายละเอียดการจัดการให้ชัดเจน
เมื่อรู้ตัวแล้วว่าความจริงต้องการอะไร ก็มาถึงขั้นแจกแจงจุดมุ่งหมาย และรายละเอียดการจัดการให้ชัดเจน รายละเอียดการจัดการหมายถึง ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ยกตัวอย่าง คนที่มีเป้าหมาย อยากจะพูดภาษาอังกฤษให้ได้
คนที่มีเป้าหมายชัดเจน เรียนภาษาอังกฤษเพื่อย้ายไปทำงานกับบริษัทต่างชาติภายใน 1 ปี นอกจากนี้ต้องสอบ TOEIC ให้ได้คะแนนมากกว่า 800 คะแนน เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการหางาน ดังนั้น เรื่องที่จะขาดไม่ได้เลย หรือต้องพัฒนาทักษะการฟัง จึงตัดสินเริ่มจากการทำโจทย์เก่า โดยให้ความสำคัญกับการฟังเป็นอันดับแรก เมื่อมีจุดมุ่งหมายและรายละเอียดการจัดการที่ชัดเจน ก็สามารถเริ่มเรียนได้ทันที
เคล็ดลับที่ 34
กำหนดจุดมุ่งหมาย
เมื่อเข้าใจค่านิยมของตัวเอง ก็จะมองเห็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริง
วิธีค้นหาจุดมุ่งหมาย ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าจุดมุ่งหมายที่แน่ชัด จุดมุ่งหมายที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมของคนเรา แบ่งกว้าง ๆ ได้เป็น 3 ประเภท เนื่องจากจุดมุ่งหมายที่ขับเคลื่อนพฤติกรรม มีรากฐานมาจากค่านิยมของแต่ละบุคคล ซึ่งค่านิยมนี้แบ่งกว้าง ๆ ได้ 3 ข้อ ได้แก่
- การเชื่อมโยงกับผู้คน เป็นค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการถูกชื่นชม กระชับความสัมพันธ์ หรือเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ใครที่ได้รับคำขอบคุณแล้ว ทำให้มีแรงใจมากขึ้น รู้สึกยินดีเมื่อทั้งทีมสร้างผลงาน ใส่ใจกับการพัฒนาและเติบโตของลูกน้องหรือรุ่นน้อง
- ความสำเร็จ ก็ตรงตามตัวเป็นค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมาย การก้าวข้ามปัญหาที่ยากลำบาก ใครที่รู้สึกกระตือรือร้นเมื่อต้องทำเป้าหมายให้สำเร็จ ทำสถิติใหม่เพื่อความก้าวหน้า เลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนของตัวเอง
- การแสวงหาทักษะ เป็นค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เคารพในความตั้งใจและความเป็นปัจเจกของตัวเอง ใครที่แสวงหาความเป็นเอกลักษณ์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือชอบการประดิษฐ์ พัฒนา วิจัย จะเป็นคนประเภทที่ให้ความสำคัญกับค่านิยมนี้ที่สุด
ค่านิยม 3 ประการนี้เป็นพื้นฐานในกระบวนการคิด ดังนั้น ทุกข้อจึงมีความสำคัญ และทุกคนล้วนมีค่านิยมเหล่านี้อยู่ในตัว เพียงแต่เรียงลำดับความสำคัญแตกต่างกัน การทำความเข้าใจกับค่านิยมส่วนตัวเช่นนี้ จะช่วยให้สามารถกำหนดจุดมุ่งหมายที่เหมาะสำหรับตัวเองได้
เคล็ดลับที่ 35
แจกแจงรายละเอียดการจัดการให้ชัดเจน 1
วาง 3 หลักไมล์
ทุกคนสามารถแจกแจงรายละเอียด การจัดการให้ชัดเจนได้ด้วย 2 ขั้นตอน
- วาง 3 หลักไมล์ ระหว่างตำแหน่งปัจจุบันกับเป้าหมาย
- แบ่งหลักไมล์เป็นส่วนย่อย
หลักไมล์หมายถึง หมุดหมายซึ่งเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ ระหว่างทาง เปรียบเสมือนแนวทางในการทำให้เป้าหมายเป็นจริง หลักไมล์ของเป้าหมายสอบ TOEIC ให้ได้ 800 คะแนนจะเป็นดังต่อไปนี้
- ขั้นแรก ตั้งเป้าหมายให้ได้ 650 คะแนนภายใน 3 เดือน
- ขั้นต่อไป พัฒนาทักษะการฟังให้ได้มากกว่า 800 คะแนนภายใน 6 เดือน
- ถ้าทำได้แล้ว ก็พัฒนาทักษะการอ่านให้ได้มากกว่า 800 คะแนน
แน่นอนว่ารายละเอียดของหลักไมล์ย่อมแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับบุคคลและสถานการณ์ แน่นอนหลักไมล์เหล่านี้เป็นเพียงการตัดสินใจชั่วคราว ดังนั้น หากลองทำจริงแล้วรู้สึกไม่ใช่ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การตั้งเกณฑ์หรือใช้ตัวเลข จะเห็นภาพหลักไมล์ได้ชัดเจนกว่า
เคล็ดลับที่ 36
แจกแจงรายละเอียดการจัดการให้ชัดเจน 2
แบ่งหลักไมล์เป็นส่วนย่อย
เมื่อวางหลักไมล์ระหว่างตำแหน่งปัจจุบันและเป้าหมายแล้ว ให้แยกย่อยและแจกแจงการกระทำในแต่ละวัน เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถทำได้จริง ในวงการโค้ชชิงคำว่าแยกย่อยหมายถึง แบ่งก้อนหนึ่งก้อนออกเป็นส่วนเล็ก ๆ ถ้ารายละเอียดการจัดการใหญ่เกินไปจะเริ่มต้นได้ยาก การแบ่งออกเป็นส่วนเล็ก ๆ จึงง่ายต่อการจัดการมากกว่า
หลักไมล์แรกคือ ตั้งเป้าให้ได้ 650 คะแนนภายใน 3 เดือน แต่ก็เพียงแค่วางหมุดหมาย ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไปดี การแบ่งส่วนจะเข้ามามีบทบาทตรงนี้ อธิบายอย่างเป็นรูปธรรมคือ เขียนลงไปเลยว่า ต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เป้าหมายนั้นประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น
1.ใช้ application ช่วยจดจำคำศัพท์ และกลุ่มคำที่มักใช้ร่วมกัน เพื่อทำคะแนนให้ได้ 650
- ใช้หนังสืออ้างอิงในการเรียนรู้ไวยากรณ์ที่จำเป็น เพื่อทำคะแนนให้ได้ 650
- ใช้สื่อการสอนด้วยเสียง ฝึกทักษะการฟัง เพื่อทำคะแนนให้ได้ 650
- แก้โจทย์ TOEIC เก่าๆ
- สมัครสอบ TOEIC
เมื่อเขียนออกมาเช่นนี้ ส่งผลให้สามารถจัดลำดับความสำคัญ โดยกำกับตัวเลขลงไปบนกระดาษได้เลย การแยกย่อยรายละเอียด และทำให้เป็นรูปธรรม จะช่วยแจกแจงเนื้อหาที่ควรจัดการในวันนี้ อาทิตย์นี้ เดือนนี้ จึงหลีกเลี่ยงปัญหาไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนได้นั่นเอง ยิ่งแจกแจงรายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำตามได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
เคล็ดลับที่ 37
ก่อนจะบรรลุเป้าหมาย ลองตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นไปอีกขั้น
คนที่รู้ตัวจะตั้งเป้าหมายต่อไป เมื่อใกล้จะบรรลุเป้าหมายเดิม เมื่อบรรลุเป้าหมายได้สัก 80% ให้ตั้งเป้าต่อไปจนเป็นนิสัย การกำหนดเป้าหมายใหม่ช่วยให้มองเห็นการกระทำที่จะทำให้เติบโตได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังสามารถคาดหวังถึงผลลัพธ์ของเป้าหมายเดิม โดยไม่เสียสมาธิไปก่อน การกำหนดเป้าหมายใหม่ จะเปลี่ยนเป้าหมายเดิมให้เป็นขั้นบันได นำไปสู่การเติบโต
บทส่งท้าย
ประโยคที่ว่า ต้องพยายามทำอะไรสักอย่างสุดความสามารถสักที คือเสียงในหัว ไม่ต้องฝืนทำตามก็ได้ เพราะมันเหมือนกับเรียงลำดับความสำคัญผิด ควรเริ่มจากการฟังเสียงในใจด้วยความซื่อสัตย์มากกว่าพยายามไล่ตามเสียงในหัวอย่างเอาเป็นเอาตาย เมื่อถึงจุดหนึ่ง การพยายามอย่างหนักจะนำพาให้จดจ่อกับสิ่งนั้นไปเอง อาจมองย้อนกลับไปมักจะพบว่าตัวเองได้เสียสละบางอย่าง ทั้งที่ตอนนั้นแค่หมกมุ่นอยู่กับมัน แค่พยายามอย่างเต็มที่ แต่ก็ได้ประสบการณ์มา 1 อย่างเช่นกัน นั่นคือการท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง ขีดจำกัดอาจเป็นสิ่งที่คนเราทึกทักขึ้นเอง
หากกล้าที่จะลองก้าวข้ามขีดจำกัดสักครั้ง จะตระหนักถึงความสามารถใหม่ของตัวเอง ถ้าไม่ชอบฝืนตัวเองหรือเสียสละบางอย่าง ลองพยายามอย่างสุดความสามารถในแบบของตัวเอง เช่นนี้ก็สามารถท้าทายขีดจำกัดโดยไม่ขัดกับค่านิยมส่วนตัว ขอให้การทำตามความตั้งใจของตัวเอง นำพาความหวังพร้อมกับช่วยเปิดประตูพาไปสู่อนาคต สักวันหนึ่งอนาคตอันใกล้ จะได้พูดคุยกับผู้อ่านได้โดยตรง.