คนเจนเนอเรชัน Z (เกิดระหว่างปี 1997-2012) กำลังสร้างนิยามให้วงการลงทุน โดยไม่ได้รอให้ถึงวัย 30 ปีเหมือนคนรุ่นก่อน แต่เริ่มต้นลงทุนตั้งแต่อายุเฉลี่ยเพียง 19 ปี เร็วกว่ามิลเลนเนียล (เกิดระหว่างปี 1981-1996) ถึง 6 ปี และเร็วกว่าเบบี้บูมเมอร์มากถึง 16 ปี

จากการสำรวจล่าสุดในปี 2025 พบว่ากว่า 56% ของเจน Z ในสหรัฐอเมริกาที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี มีการลงทุนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่มาก ส่วนในแคนาดาสัดส่วนนี้สูงถึง 74% ขณะที่สหราชอาณาจักรอยู่ที่ 49% และจีน 57%

การเริ่มต้นลงทุนเร็วมีผลอย่างมหาศาลต่อการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว นักลงทุนที่เริ่มลงทุนปีละ 175,000 บาทตั้งแต่อายุ 19 ปี จะสะสมเงินได้มากกว่า 52.5 ล้านบาทเมื่ออายุ 65 ปี (คำนวณที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี) ซึ่งมากกว่าคนที่เริ่มต้นตอนอายุ 25 ปีถึง 17.5 ล้านบาท

คริปโตคือดาวเด่น

หากถามว่าเจน Z ลงทุนในอะไร? คำตอบก็คือ คริปโตเคอเรนซี่เป็นสินทรัพย์ยอดนิยมอันดับหนึ่ง จากการสำรวจพบว่า 55% ของนักลงทุนเจน Z ในสหรัฐฯ มีคริปโตในพอร์ตการลงทุน ตามมาด้วยหุ้น (41%) และกองทุนรวม (35%) เช่นเดียวกับในแคนาดาที่ 57% ของเจน Z ลงทุนในคริปโต

ที่น่าสนใจคือนักลงทุนเจน Z ส่วนใหญ่เริ่มต้นลงทุนด้วยคริปโตเป็นอันดับแรก และมีการลงทุนเฉลี่ยในคริปโตประมาณ 35,000 บาท ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของพอร์ตโฟลิโอ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อเทียบกับรุ่นก่อน ขณะเดียวกัน 65% ของนักลงทุนเจน Z ใช้แอปพลิเคชันการลงทุนในการจัดการเงินและซื้อขาย สัดส่วนนี้สูงกว่ามิลเลนเนียล (55%) และเจนเอ็กซ์ (38%) อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีทางการเงิน

แรงจูงใจในการลงทุน

ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เจน Z เริ่มต้นลงทุนมีหลายประการ แต่จากการสำรวจพบว่าปัจจัยที่โดดเด่นที่สุดคือ:

  1. ความสามารถในการเริ่มลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อย – 67% ของนักลงทุนเจน Z
  2. ความอยากรู้อยากเห็น – 65% เริ่มต้นลงทุนเพราะความสนใจส่วนตัว
  3. ได้รับเงินมาลงทุน – 57% เริ่มลงทุนเมื่อมีเงินพอ
  4. อิทธิพลจากครอบครัว – 54% ได้รับแรงจูงใจจากพ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัว
  5. ความง่ายในการเปิดบัญชี – 53% ชื่นชอบกระบวนการเปิดบัญชีที่ไม่ยุ่งยาก

ที่น่าสนใจคือ 41% ของนักลงทุนเจน Z ยอมรับว่า “การกลัวพลาดโอกาส” หรือ FOMO (Fear of Missing Out) เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาลงทุน และครึ่งหนึ่งของนักลงทุนเจน Z (50%) เคยตัดสินใจลงทุนเพราะ FOMO โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในคริปโต (57%) และหุ้นรายตัว (32%)

ทัศนคติต่อความเสี่ยงและความมั่นใจ

จากการสำรวจพบว่านักลงทุนเจน Z เป็นกลุ่มที่กล้าเสี่ยง โดยเกือบครึ่ง (46%) ยินดีที่จะรับความเสี่ยงสูงหรือสูงกว่าปกติเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงิน นี่อาจเป็นผลมาจาก:

  1. ความมั่นใจในความรู้ – 48% บอกว่ารู้เรื่องการลงทุนมากกว่าพ่อแม่
  2. FOMO – ความกลัวที่จะพลาดโอกาสทำกำไร
  3. มุมมองต่อสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย – 44% คิดว่าสภาพเศรษฐกิจที่พวกเขาเผชิญท้าทายกว่ารุ่นก่อน
  4. ระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนาน – เวลาเป็นข้อได้เปรียบให้พวกเขาสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่า
  5. ไม่มีภาระพึ่งพา – 78% ของนักลงทุนเจน Z ไม่มีภาระช่วงเหลือคนอื่น

อุปสรรคต่อการลงทุนและเรื่องที่กังวล

แม้อัตราการลงทุนของเจน Z จะสูง แต่อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางผู้ที่ยังไม่ได้ลงทุนคือ:

  1. การขาดเงินออม
  2. รายได้ไม่เพียงพอ
  3. ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนเพียงพอ
  4. ใช้จ่ายอย่างอื่น

ในขณะเดียวกัน ความท้าทายหลักในการบรรลุเป้าหมายทางการเงินของทั้งผู้ที่ลงทุนและไม่ได้ลงทุนคือ ค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นความกังวลของ 68-70% ของเจน Z

เทรนด์การลงทุนในอนาคต

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมด เราสามารถคาดการณ์แนวโน้มการลงทุนในอนาคตได้ดังนี้:

  1. แพลตฟอร์มดิจิทัลจะครองตลาด – บริษัทที่ให้บริการลงทุนทางแอปและเว็บไซต์ที่เข้าใจง่าย รองรับการลงทุนจำนวนน้อย จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  2. คริปโตจะผสมผสานเข้ากับการเงินกระแสหลัก – สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามามีบทบาทในระบบการเงินทั่วไป
  3. การให้ความรู้ด้านการเงินจะเติบโต – เนื้อหาเกี่ยวกับการลงทุนที่เข้าถึงง่ายบนแพลตฟอร์มดิจิทัลจะมีความสำคัญมากขึ้น
  4. ปัจจัย ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) จะมีความสำคัญมากขึ้น – เจน Z ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่สอดคล้องกับค่านิยมส่วนตัว โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
  5. AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์จะมีบทบาทเพิ่มขึ้น – เครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจลงทุนด้วย AI จะได้รับความนิยม โดย 41% ของเจน Z และมิลเลนเนียลไว้ใจให้ AI จัดการการลงทุน
  6. ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างรุ่นจะส่งผลต่อการลงทุน – การถ่ายโอนความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าใครจะสามารถลงทุนได้มากน้อย

สรุป

เจน Z กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการลงทุนด้วยการเริ่มต้นเร็ว การยอมรับเทคโนโลยี และแนวคิดที่เปิดกว้าง และยังมองการลงทุนในมุมที่แตกต่างออกไป โดยให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ดิจิทัล แพลตฟอร์มเทคโนโลยี และการลงทุนที่สอดคล้องกับค่านิยมส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ความท้าทายด้านรายได้ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และความรู้ทางการเงินยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ การให้ความรู้ด้านการเงินตั้งแต่เด็ก การพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้เริ่มต้นลงทุนได้ง่าย และการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงจะมีความสำคัญในการสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคตทางการเงินของคนรุ่นใหม่