กฎ 21 ข้อที่ไม่มีผู้นำคนไหนปฏิเสธได้

สรุปหนังสือ กฎ 21 ข้อที่ไม่มีผู้นำคนไหนปฏิเสธได้

THE 21 IRREFUTABLE LAWS OF LEADERSHIP

การช่วยผู้คนและยกระดับความสามารถในการเป็นผู้นำไม่อาจประเมินค่าได้ การรับใช้ผู้อื่นและการชี้แนะแนวทาง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีอีก 2 เรื่องคือ

1.การเป็นผู้นำหมายถึง การปฏิบัติตามกฎแห่งความเป็นผู้นำได้เป็นอย่างดีมากกว่าหนึ่งข้อ คนที่ประสบความสำเร็จรู้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องให้ใครมาบอกว่า การจดจ่อเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จ แต่ความเป็นผู้นำซับซ้อนกว่านั้นมาก

2.ไม่มีใครปฏิบัติตามกฎทั้ง 21 ข้อได้เป็นอย่างดี จริงอยู่ว่าถ้าอยากเป็นผู้นำชั้นยอด ก็ต้องปฏิบัติตามกฎทั้ง 21 ข้อให้ได้เป็นอย่างดี แต่ความเป็นจริงคือไม่มีใครปฏิบัติตามกฎเหล่านั้นได้ดีทั้ง 21 ข้อ สิ่งที่ผู้นำต้องทำคือสร้างทีมผู้นำขึ้นมา โดยให้มองหาสมาชิกในทีมซึ่งจะเติมเต็มกันและกัน สุดท้ายทุกคนในทีมก็จะได้ประโยชน์ วิธีนี้จะช่วยให้สร้างทีมรวมดาวด้านความเป็นผู้นำขึ้นมาได้ จำไว้ว่าไม่มีใครจะฉลาดเท่ากับทุกคนรวมกัน

สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงความเป็นผู้นำยังคงหมายถึง ความเป็นผู้นำไม่ว่าจะไปที่ไหนหรือทำอะไรก็ตาม แม้วันเวลาจะผัน ผ่านเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ หรือวัฒนธรรมในแต่ละที่จะแตกต่างกันไป แต่หลักการของความเป็นผู้นำก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง อยากให้จดจำแนวคิด 4 ข้อนี้ไว้เสมอ 1.กฎเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้ 2.คนแต่ละข้อเป็นอิสระต่อกัน 3.กฎเหล่านี้ก่อให้เกิดผลลัพธ์เสมอ 4.กฎเหล่านี้เป็นพื้นฐานของความเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ตามที่เพิ่งค้นพบว่า ความเป็นผู้นำมีอิทธิพลมากแค่ไหน หรือเป็นผู้นำที่มีผู้ตามอยู่แล้ว ก็สามารถเป็นผู้นำที่ดีขึ้นได้ ขณะที่เรียนรู้กฎเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าตอนนี้จะอยู่ที่ขั้นตอนใดของกระบวนการสู่การเป็นผู้นำ สิ่งที่ต้องรู้ก็คือยิ่งเรียนรู้กฎได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งกลายเป็นผู้นำที่ดีขึ้นมากเท่านั้น หากเรียนรู้กฎเหล่านี้ทั้งหมด ผู้คนก็จะยินดีเป็นผู้ตาม

บทที่ 1 กฎแห่งเพดาน

ถ้าเข้าใจกฎข้อนี้ก็จะเห็นว่า ความเป็นผู้นำมีผลกระทบอย่างไม่น่าเชื่อต่อทุกด้านของชีวิต  ดิกและมอริช แมคโดนัลด์ ค้นพบขุมสมบัติของอเมริกา และความสำเร็จของพวกเขาก็ยิ่งใหญ่มากเสียจนมันกลายเป็นตำนาน อันที่จริงพี่น้องแมคโดนัลด์น่าจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้ จุดอ่อนด้านการเป็นผู้นำของพวกเขาเป็นเหมือนเพดาน ที่ทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถขึ้นไปสูงกว่านั้นได้ พวกเขารู้วิธีทำธุรกิจ ออกแบบระบบที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและเพิ่มกำไร พวกเขาเป็นผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ใช่ผู้นำ วิธีคิดของสองพี่น้องติดเพดานที่จำกัด สิ่งที่พวกเขาสามารถทำและเป็นได้ เมื่อถึงจุดที่พวกเขาประสบความสำเร็จสูงสุด ดิกกับมอริชก็พบว่าตัวเองปะทะกับกฎแห่งเพดานเข้าอย่างจัง

ในปี 1954 พี่น้องแมคโดนัลด์ได้รู้จักกับ เรย์ คร็อก ซึ่งเป็นผู้นำตัวจริง เมื่อได้ไปเยี่ยมชมร้านเขาก็เห็นศักยภาพของร้านแมคโดนัลด์ทันที โดยเห็นภาพว่าร้านอาหารนี้ สามารถขยายกิจการไปทั่วประเทศ ในสถานที่หลายร้อยแห่งจากนั้น เขาก็ทำสัญญากับดิกและมอริชในปี 1955 คร็อกก็ก่อตั้งแมคโดนัลด์ ซิสเต็มส์ อิงค์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นแมคโดนัลบด์ คอร์ปอเรชั่น ในภายหลัง จากนั้นเขาก็เริ่มสร้างทีมและระบบการทำงาน เพื่อทำให้ร้านแมคโดนัลด์กระจายตัวไปทั่วประเทศ เขาสรรหาและว่าจ้างพนักงานที่ฉลาดที่สุดเท่าที่จะหาได้ ในปี 1961 คร็อก ซื้อสิทธิ์การเป็นเจ้าของแมคโดนัลด์แต่เพียงผู้เดียว จากสองพี่น้องด้วยเงิน 2.7 ล้านดอลลาร์ จากนั้นเขาก็เดินหน้า เพื่อทำให้มันกลายเป็นองค์กรระดับประเทศและระดับโลก

ความสามารถในการเป็นผู้นำคือ ตัวกำหนดเพดานของศักยภาพในการประสบความสำเร็จ ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็สามารถเห็นผู้คนที่ฉลาด มีพรสวรรค์ และประสบความสำเร็จ แต่ไม่อาจก้าวหน้าไปมากกว่านี้ได้ เพราะเพดานด้านความเป็นผู้นำ ตัวอย่างเช่น ตอนที่บริษัทแอ็บเปิ้ลก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 สตีฟ วอซเนียก คือมันสมองที่อยู่เบื้องหลังคอมพิวเตอร์ของแอ็บเปิ้ล เขามีเพดานด้านความเป็นผู้นำต่ำ แต่ด้วยหุ้นส่วนของเขาซึ่งก็คือ สตีฟ จ๊อบ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพดานของจ๊อบนั้นสูงมากเสียจนเขาสามารถทำให้แอ็บเปิ้ลกลายเป็นองค์กรระดับโลก และมีมูลค่าเป็นตัวเลข 9 หลัก นั่นคือผลที่เกิดจากกฎแห่งเพดา

บทที่ 2 กฎแห่งอิทธิพล

ผู้คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ โดยคิดไปเองว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำ หรือตำแหน่งระดับสูงคือผู้นำ ความเป็นผู้นำที่แท้จริงไม่ใช่สิ่งที่สามารถยกให้ แต่งตั้ง หรือมอบหมายให้กัน แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีอิทธิพลต่อผู้อื่น มันไม่ใช่สิ่งที่จะบีบบังคับกันได้ ต้องสร้างมันขึ้นมาเอง มาตรวัดที่แท้จริงของความเป็นผู้นำคืออิทธิพล ทำไมบางคนถึงเป็นผู้นำได้ ในขณะที่บางคนไม่สามารถมีอิทธิพลต่อใครได้เลย ไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหน มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องนั่นคือ

บุคลิกภาพ การเป็นผู้นำที่แท้จริง เริ่มที่ตัวตนซึ่งดึงดูดผู้คนให้เข้ามาติดตามเขาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ความสัมพันธ์ จะเป็นผู้นำก็ต่อเมื่อมีผู้คนที่ยินดีเดินตาม ซึ่งนั่นต้องอาศัยการพัฒนาความสัมพันธ์ ยิ่งความสัมพันธ์ลึกซึ้งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นผู้นำมากขึ้นเท่านั้น

ความรู้ ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำ ต้องรู้ข้อเท็จจริง เข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และจังหวะเวลา รวมถึงมีวิสัยทัศน์สำหรับอนาคต

สัญชาตญาณ นอกจากความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลแล้ว ผู้นำยังต้องมีความสามารถในการจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นนามธรรมด้วย

ประสบการณ์ ยิ่งผ่านความยากลำบากในฐานะผู้นำมามากเท่าไร ประสบการณ์ไม่อาจรับประกันได้ว่าน่าเชื่อถือ แต่มันจะกระตุ้นผู้คนให้มอบโอกาสให้ได้พิสูจน์ตัวเองว่า มีความสามารถจริง ๆ

ความสำเร็จในอดีต ไม่มีสิ่งใดทำให้ผู้ตามเกิดความเชื่อมั่นได้ดี เท่ากับความสำเร็จที่ผ่านมา

ศักยภาพ สิ่งที่สำคัญที่สุดในความคิดของผู้ตามคือ ผู้นำมีศักยภาพแค่ไหน ความสำเร็จคือสิ่งที่จะทำให้ผู้คนยอมรับในฐานะผู้นำและฟังสิ่งที่พูด

มีสุภาษิตเกี่ยวกับความเป็นผู้นำที่ว่า คนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้นำทั้งที่ไม่มีใครเดินตามเขาเลย แท้จริงแล้วสิ่งที่เขาทำอยู่ก็เป็นเพียงการเดินไปเฉย ๆ หากไม่สามารถมีอิทธิพลต่อผู้อื่นพวกเขาก็จะไม่เดินตาม และถ้าผู้คนไม่เดินตามก็ไม่ใช่ผู้นำ นี่คือกฎแห่งอิทธิพล ไม่ว่าใครจะพูดอะไรจงจำไว้ว่า ความเป็นผู้นำคือการมีอิทธิพล ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่านั้น

บทที่ 3 กฎแห่งกระบวนการ

การเป็นผู้นำคล้ายคลึงกับการสร้างความมั่งคั่ง ด้วยการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากทีเดียว กล่าวคือไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ภายในวันเดียว แม้จะตั้งความหวังไว้เช่นนั้น คนที่พัฒนาความเป็นผู้นำด้วยวิธีคิด แบบนักลงทุนที่ซื้อขายให้จบในวันเดียว ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ สิ่งที่ทำทุกวันเป็นเวลายาวนาน ถ้าลงทุนในการพัฒนาความเป็นผู้นำอย่างสม่ำเสมอ ผลลัพธ์อันพึงปรารถนาก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อดูตารางเวลาของใครสักคน จะเห็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเขา ความปรารถนา ความสามารถ ความสัมพันธ์ ทัศนคติ ความมีวินัย วิสัยทัศน์ และอิทธิพลของเขา ถ้าดูสิ่งที่คนคนหนึ่งทำในแต่ละวันมาอย่างยาวนาน ก็จะรู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร และจะกลายเป็นคนแบบไหนในอนาคต

ผู้นำคือนักเรียนรู้ ในการศึกษาสุดยอดผู้นำจากแวดวงต่าง ๆ พบว่า การพัฒนาตัวเองกับความเป็นผู้นำมีความสัมพันธ์กัน ผู้นำที่ประสบความสำเร็จเป็นนักเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ของคนกลุ่มนี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขามีวินัยและความพากเพียร โดยเป้าหมายของพวกเขาคือการค่อย ๆ พัฒนาขึ้นในทุกวัน และต่อยอดจากความก้าวหน้าที่ทำได้เมื่อวาน พัฒนาการและความก้าวหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นระดับ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ระดับคือ

ระดับที่ 1 ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร คนจำนวนมากไม่ตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นผู้นำ บางคนไม่เห็นความสำคัญของมัน ในขณะที่หลายคนเชื่อว่าความเป็นผู้นำเป็นเรื่องของคนกลุ่มเดียว ซึ่งก็คือคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดขององค์กร การติดอยู่ในระดับนี้นับว่าน่าเสียดายมาก เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร ก็จะไม่มีทางพัฒนาได้

ระดับที่ 2 รู้ว่าจำเป็นต้องรู้ หลายคนพบว่าตัวเองอยู่ในตำแหน่งผู้นำ แต่เมื่อมองไปรอบตัวกลับไม่มีใครเดินตามพวกเขาเลย เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ก็จะตระหนักว่าจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นผู้นำ และเมื่อถึงตอนนี้ก็จะเริ่มทำตามกระบวนการที่เหมาะสม

ระดับที่ 3 รู้ว่าไม่รู้อะไร ตระหนักว่าความเป็นผู้นำเป็นกุญแจสำคัญในชีวิตการทำงาน หากไม่พัฒนาความเป็นผู้นำ สุดท้ายเส้นทางอาชีพก็จะเจอทางตัน และจะไม่มีทางบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ระดับที่ 4 รู้และลงมือพัฒนา แล้วผลลัพธ์ก็เริ่มปรากฏ เมื่อตระหนักว่าตัวเองขาดทักษะ และเริ่มมีวินัยในการพัฒนาตัวเองในแต่ละวัน สิ่งที่น่าตื่นเต้นก็จะเริ่มเกิดขึ้น

ระดับที่ 5 สิ่งที่รู้ทำให้ลงมือทำโดยอัตโนมัติ จะทำสิ่งต่าง ๆ โดยใช้ความสามารถในการเป็นผู้นำโดยอัตโนมัติ เพราะได้พัฒนาสัญชาตญาณในด้านนี้ขึ้นมาอย่างยอดเยี่ยม และเมื่อถึงตอนนี้ ก็จะได้รับผลตอบแทนอันเหลือเชื่อ วิธีเดียวที่จะช่วยให้ไปถึงจุดนั้นได้ก็คือ การปฏิบัติตามกฎแห่งกระบวนการ

ความเป็นผู้นำคือสิ่งที่ต้องค่อย ๆ พัฒนาขึ้นทีละวัน ไม่ใช่สิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้ภายในวันเดียว ความจริงข้อนี้เป็นไปตามกฎแห่งกระบวนการ ทุกคนมีศักยภาพในการเป็นผู้นำ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน ต้องอาศัยความพากเพียร และไม่อาจปฏิเสธกฎแห่งกระบวนการได้เลย

บทที่ 4 กฎแห่งการนำทาง

ในปี 1911 กลุ่มนักสำรวจ 2 กลุ่ม ได้เริ่มต้นภารกิจอันเหลือเชื่อ แม้ผู้นำของแต่ละกลุ่มจะใช้กลยุทธ์และเส้นทางที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาก็มีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ การเป็นคนกลุ่มแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ไปถึงขั้วโลกใต้ เรื่องราวของพวกเขาเป็นตัวอย่างของกฎแห่งการนำทางที่ต้องแลกด้วยชีวิต โรอัลด์ อะมุนด์เซน นักสำรวจชาวนอร์เวย์เป็นผู้นำของหนึ่งในกลุ่มนักสำรวจนั้น เขาวางแผนการเดินทางอย่างละเอียด ก่อนที่ทีมของเขาจะออกเดินทาง ความรอบคอบและความใส่ใจในรายละเอียดของ อะมุนด์เซน นั้นยอดเยี่ยมมาก เขาพิจารณาทุกแง่มุมของการเดินทาง ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ววางแผน และการทำเช่นนี้ก็ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดระหว่างการเดินทางของพวกเขาคือ สมาชิกคนหนึ่งจำเป็นต้องถอนฟันออก

ส่วนผู้นำของกลุ่มนักสำรวจอีกกลุ่มคือ โรเบิร์ต ฟอลคอน สก๊อต ทหารเรือชาวอังกฤษซึ่งเคยสำรวจพื้นที่แถบขั้วโลกใต้มาแล้ว วิธีของสก๊อตนั้นต่างจากวิธีของอะมุนด์เซน อย่างสิ้นเชิงหลังจากการเดินทางอันหฤโหดเกือบ 1,300 กิโลเมตรนาน 10 สัปดาห์ กลุ่มของสก๊อตซึ่งเหนื่อยอ่อนเต็มที ก็เดินทางถึงขั้วโลกใต้ในวันที่ 17 มกราคม 1912 แต่เมื่อไปถึงที่นั่น พวกเขาก็เห็นธงชาตินอร์เวย์โบกสะบัดอยู่ในสายลม และจดหมายจากอะมุนด์เซน ทีมที่มีการนำเป็นอย่างดีพิชิตเป้าหมายนี้ได้ก่อนพวกเขามากกว่า 1 เดือน

การเตรียมตัวสำหรับการเดินทางของสก๊อต เป็นตัวอย่างชั้นยอดของผู้นำที่ไม่สามารถนำทางให้กับผู้ตามได้ พวกเขาใช้เวลาในการเดินทางขากลับนาน 2 เดือนแล้ว และยังอยู่ห่างจากจุดหมายราว 240 กิโลเมตร สุดท้ายพวกเขาก็เสียชีวิตอยู่ตรงนั้น สก๊อตมีความกล้าหาญแต่ไม่มีความเป็นผู้นำ การที่เขาไม่สามารถปฏิบัติตามกฎแห่งการนำทางได้ ทำให้เขาและสมาชิกในทีมต้องเสียชีวิต

ผู้ตามต้องการผู้นำที่นำทางพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นความต้องการนี้อย่างชัดเจน ในยามที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์คอขาดบาดตาย แต่ถึงสถานการณ์ที่เผชิญอยู่จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ ความต้องการนั้นก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ดี ความจริงก็คือ ทุกคนสามารถขับเรือได้ แต่มีเพียงผู้นำที่สามารถนำทางได้ นี่คือกฎแห่งการนำทาง

บทที่ 5 กฎแห่งการเพิ่มเติม

ผู้นำเพิ่มคุณค่าของตัวเองด้วยการรับใช้ผู้อื่น ทุกคนต่างมีวิธีในการค้นหาคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง จงจำไว้ว่าคนเราไม่ได้อยู่บนโลกนี้เพียงลำพัง แต่ยังมีเพื่อนร่วมโลกซึ่งเป็นเหมือนพี่น้องอยู่ด้วย การรับใช้ผู้อื่นเพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขามีคุณค่ามากขึ้น ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ยังทำให้ผู้นำได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ด้วย เช่น ความยินดีที่ได้เป็นผู้นำ การเป็นผู้นำโดยมีแรงจูงใจที่เหมาะสม การมีศักยภาพในการทำสิ่งที่มีความหมายในฐานะผู้นำ พัฒนาการของทีมผู้นำ สมาชิกในทีมมีทัศนคติที่ดีต่อการรับใช้ผู้อื่น ตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้นำไม่ใช่ตำแหน่งสูงสุดเสมอไป และไม่ใช่ตำแหน่งที่โดดเด่นหรือมีอำนาจมากที่สุดด้วย แต่เป็นตำแหน่งที่เขาสามารถรับใช้ และเพิ่มคุณค่าให้กับผู้อื่นได้มากที่สุด

วิธีในการทำให้ชีวิตของผู้อื่นมีคุณค่ามากกว่าเดิมมี 4 วิธีคือ

1.เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตของผู้อื่นเมื่อให้ความสำคัญกับผู้อื่นอย่างแท้จริง ทัศนคติที่ผู้นำซึ่งเป็นผู้รับใช้ควรมีนั่นคือ พวกเขาควรเปิดกว้าง เชื่อใจ เอาใจใส่ช่วยเหลือ และกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนต่อคนอื่น ผู้นำที่รับใช้คนของตัวเองเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตของพวกเขา จะเชื่อมั่นในคนของตัวเองก่อนที่คนเหล่านั้นจะเชื่อมั่นในตัวเขา และจะรับใช้ผู้อื่นก่อนที่ผู้อื่นจะมารับใช้เขา

  1. เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตของผู้อื่นเมื่อทำให้ตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น การเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตของผู้อื่นตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ต้องมีสิ่งที่มีคุณค่าที่สามารถมอบให้ผู้อื่นได้ ไม่อาจมอบสิ่งที่ตัวเองไม่มีให้ใครได้ หากมีทักษะความสามารถที่ถ่ายทอดให้คนอื่นได้ นั่นก็เพราะศึกษาและฝึกฝนในเรื่องนั้นมา ที่ผ่านมาตั้งใจพัฒนาตัวเองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสิ่งที่จะมอบให้คนอื่นมากเท่านั้น

3.เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตของผู้อื่น เมื่อรู้และเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้อื่นให้ความสำคัญ ผู้นำที่ไร้ประสบการณ์จะลงมือทำงานโดยไม่เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับคนของตัวเองก่อน แต่ผู้นำที่มีประสบการณ์จะฟัง เรียนรู้ แล้วค่อยนำ โดยผู้นำกลุ่มนี้จะฟังเรื่องราวของผู้ตามของตัวเอง ค้นหาว่าอะไรคือความหวังและความฝันของพวกเขา ทำความเข้าใจความปรารถนา รวมทั้งใส่ใจความรู้สึกของพวกเขาด้วย สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้นำได้เรียนรู้เกี่ยวกับคนของตัวเอง และค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับพวกเขาก่อนจะนำ การทำเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกคน ทั้งองค์กร ผู้นำ และผู้ตาม

4.เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตของผู้อื่น เมื่อทำสิ่งที่พระเจ้าให้ความสำคัญ พระเจ้าไม่เพียงอยากให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างให้เกียรติ ยังอยากให้ช่วยเหลือและรับใช้ผู้อื่นอย่างเต็มที่ด้วย

ปัจจัยสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดีคือ การไม่มีความสัมพันธ์ที่มีความขัดแย้ง ทุกครั้งที่กำจัดความขัดแย้งในความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้นำได้ ก็หมายความว่าได้เปิดทางสู่ความสำเร็จอันเหลือเชื่อแล้ว

บทที่ 6 กฎแห่งรากฐานอันมั่นคง

ความเชื่อใจคือรากฐานของความเป็นผู้นำ มันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ความเชื่อใจคือรากฐานของความเป็นผู้นำ และเป็นกาวที่ยึดองค์กรเอาไว้ หากผู้นำทำลายความเชื่อใจของผู้อื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาก็จะไม่สามารถรักษาอิทธิพลที่มีต่อคนเหล่านั้นเอาไว้ได้ มันไม่มีทางเป็นไปได้เลย ความเชื่อใจเปรียบเหมือนเงินในกระเป๋าสตางค์ของผู้นำ ทุกครั้งที่ตัดสินใจได้ดีในฐานะผู้นำ คนของผู้นำก็จะมอบเงินให้ และทุกครั้งที่ตัดสินใจผิดพลาดก็ต้องคืนเงินบางส่วนให้ผู้ตาม แต่หากผู้นำตัดสินใจผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า เขาก็จะเสียเงินไปเรื่อย ๆ แล้วในที่สุดเงินก้อนนั้นก็จะหมดลง ไม่สำคัญเลยว่าการตัดสินใจผิดพลาดครั้งสุดท้ายจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ เมื่อถึงตอนนั้นทุกอย่างก็สายเกินไปแล้ว ทันทีที่เงินก้อนนั้นหมดลง ความเป็นผู้นำก็จะหมดลงเช่นกัน

ในทางตรงกันข้ามผู้นำที่ตัดสินใจถูกต้อง และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้เสมอ และมีเงินเข้ากระเป๋าอย่างต่อเนื่อง แม้สุดท้ายแล้วเขาจะทำพลาดครั้งใหญ่จนต้องคืนเงินจำนวนหนึ่ง แต่เขาก็ยังมีเงินเหลืออยู่อีกมาก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้นำสามารถสร้างความเชื่อใจได้ด้วยการแสดงให้คนของตัวเองเห็นถึงสักยภาพ ความพยายามในการสานสัมพันธ์ และบุคลิกภาพที่ดีเสมอ หากเป็นผู้นำที่มีศักยภาพและทำผิดพลาดไม่บ่อยนัก ผู้ตามก็จะให้อภัย โดยเฉพาะในกรณีที่พวกเขาเห็นว่ากำลังพัฒนาตัวเองในฐานะผู้นำ แถมพวกเขายังให้เวลาได้สานสัมพันธ์ด้วย แต่พวกเขาจะไม่เชื่อใจคนที่มีบุคลิกภาพแย่ และการทำผิดในเรื่องนี้ก็นับว่าร้ายแรงมาก ผู้นำที่มีประสิทธิภาพรู้ความจริงข้อนี้ดี

บุคลิกภาพทำให้เกิดความเชื่อใจ และความเชื่อใจทำให้เกิดผู้นำ นี่คือกฎแห่งรากฐานอันมั่นคง บุคลิกภาพสามารถบอกสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับคนคนหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว และต่อไปนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่มันสามารถบอกได้

บุคลิกภาพบ่งบอกถึงความสม่ำเสมอ ผู้นำที่ไม่มีจิตใจอันมั่นคง จะไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับผู้อื่นได้ เพราะศักยภาพในการทำงานของเขาจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

บุคลิกภาพบ่งบอกถึงศักยภาพ ลำพังพรสวรรค์เพียงอย่างเดียวยังไม่พอ ถ้าอยากไปได้ไกลต้องมีบุคลิกภาพที่ดีด้วย หากผู้นำมีบุคลิกภาพที่ดีเยี่ยม ผู้คนก็จะเชื่อใจและเชื่อมั่นว่าผู้นำคนนี้ จะดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้

บุคลิกภาพบ่งบอกถึงความนับถือที่ผู้อื่นมี การได้รับความนับถือมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นผู้นำอย่างยั่งยืน แล้วผู้นำต้องตัดสินใจได้ดี ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ ของผู้ตามและองค์กรมากกว่าของตัวเอง

ผู้นำที่ทำลายความเชื่อใจของผู้ตาม ไม่มีทางรักษาอิทธิพลที่ตัวเองมีต่อคนเหล่านั้นเอาไว้ได้ ความเชื่อใจคือรากฐานของความเป็นผู้นำ หากฝ่าฝืนกฎแห่งรากฐานอันมั่นคง ก็หมายความว่าบั่นทอนอิทธิพลของตัวเองในฐานะผู้นำ

บทที่ 7 กฎแห่งการนับถือ

ผู้คนจะเดินตามผู้นำที่แข็งแกร่งกว่าตัวเอง คนเราไม่ได้เดินตามผู้นำอย่างไร้เหตุผล แต่จะเดินตามคนที่นับถือในความเป็นผู้นำของเขามากที่สุด คนที่มีความสามารถน้อยกว่าจะเดินตามคนที่มีความสามารถและพรสวรรค์มากกว่า บางครั้งคนที่มีความเป็นผู้นำสูงกว่าก็เลือกที่จะเดินตามคนที่มีความสามารถด้อยกว่า ซึ่งเขามีเหตุผลในการทำเช่นนั้น โดยอาจเป็นเพราะต้องการให้เกียรติในตำแหน่งหรือความสำเร็จที่ผ่านมาของคน ๆ นั้น หรือทำไปตามลำดับชั้นของสายการบังคับบัญชา แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ตามจะถูกดึงดูดโดยผู้นำที่แข็งแกร่งกว่าตัวเอง นี่คือกฎแห่งการนับถือ

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันเป็นครั้งแรก ทันทีที่พวกเขาเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กัน บรรดาคนที่มีความเป็นผู้นำก็จะเริ่มทำหน้าที่ผู้นำ โดยคิดถึงทิศทางที่พวกเขาต้องการไป และคนที่อยากพาไปด้วย ตอนแรกสมาชิกในกลุ่มอาจเดินสติสะเปะสะปะไปในทิศทางต่าง ๆ แต่ไม่นานหลังจากที่รู้จักกันมากขึ้น พวกเขาก็จะรู้ว่าใครคือผู้นำที่แข็งแกร่งที่สุด แล้วพวกเขาก็จะเดินตามผู้นำคนนั้น ยิ่งคนคนหนึ่งมีความสามารถในการเป็นผู้นำมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งมองเห็นได้อย่างรวดเร็วเท่านั้นว่า คนอื่นมีความเป็นผู้นำหรือขาดทุนสมบัตินี้มากแค่ไหน ในไม่ช้าสมาชิกในกลุ่มก็จะหันมาเดินตามผู้นำที่แข็งแกร่งที่สุด ส่วนคนที่ไม่ทำเช่นนั้นก็จะออกจากกลุ่ม เพื่อเดินไปตามแนวทางของตัวเอง

การได้มาซึ่งความนับถือ คุณลักษณะที่ดีของผู้นำ กระบวนการทำงานที่ผู้นำกับผู้ตามต้องร่วมมือกันคือ สถานการณ์ต่าง ๆ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนปัจจัย 6 อย่าง ที่ทำให้ผู้นำได้รับความนับถือมากที่สุดก็คือ

1.ความสามารถในการเป็นผู้นำที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ความสามารถในการเป็นผู้นำ อาจมีความสามารถในการเป็นผู้นำมาตั้งแต่เกิด ผู้คนก็จะอยากเดินตาม โดยพวกเขาจะอยู่ใกล้ ๆ ยินดีฟังสิ่งที่พูด และกระตือรือร้นที่จะทำตามวิสัยทัศน์

2.การให้เกียรติผู้อื่น ผู้นำที่ดีจะใช้ความนับถือเพราะพวกเขาเข้าใจว่า ผู้นำทุกประเภทเกิดขึ้นจากการเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น หากผู้นำให้เกียรติคนอื่นโดยเฉพาะคนที่มีอำนาจน้อยกว่า หรืออยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเขา ก็จะได้รับความนับถือจากคนเหล่านั้น และประเด็นสำคัญคือ ผู้คนจะอยากเดินตามคนที่ตัวเองนับถือเป็นอย่างยิ่ง

3.ความกล้าหาญ ผู้นำที่ดีจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว เผชิญกับอันตรายอันใหญ่หลวง และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงไม่หยุดหย่อน ความกล้าหาญของผู้นำมีคุณค่ามาก เพราะมันทำให้พูดตามมีความหวัง

4.ความสำเร็จ ความสำเร็จเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจได้อย่างดีเยี่ยม และมันก็ดึงดูดคนเราได้โดยอัตโนมัติ ความสำเร็จเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้คนจับตาดูชีวิตของคนดัง เชียร์ทีมกีฬาโปรดของตัวเอง และความสำเร็จก็เป็นสิ่งที่สำคัญต่อผู้นำมาก คนเราจะนับถือผู้อื่นเมื่อคนคนนั้นประสบความสำเร็จในการทำอะไรสักอย่าง และหากที่ผ่านมาเขามีผลงานมากมาย ก็จะยิ่งนับถือเขามากขึ้น

5.ความจงรักภักดี ท่ามกลางวัฒนธรรมของการเปลี่ยนแปลง มีการเปลี่ยนงานและการเปลี่ยนผ่านมากมายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความจงรักภักดีคือสิ่งที่มีค่าอย่างหนึ่ง เมื่อผู้นำอยู่กับทีมเสมอจนงานเสร็จเรียบร้อย ความจงรักภักดีต่อองค์กรในยามที่องค์กรมีปัญหา และเอาใจใส่ผู้ตาม แม้การทำเช่นนั้นจะทำให้ตัวเองต้องลำบาก ผู้ตามก็จะนับถือเขาและการกระทำของเขา

6.การเพิ่มคุณค่าให้กับผู้อื่น สิ่งที่จะช่วยให้ผู้นำได้รับความนับถือมากที่สุด อาจเป็นความมุ่งมั่นในการเพิ่มคุณค่าให้กับผู้อื่น ความนับถือนั้นจะคงอยู่ไปอีกยาวนาน แม้ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม

หากเคยหงุดหงิดเพราะคนที่อยากให้เดินตามดูไม่เต็มใจที่จะทำ ก็เป็นไปได้ว่าเขามีความเป็นผู้นำมากกว่า ซึ่งนี่เป็นสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจมาก ไม่ว่าจะมีวิสัยทัศน์ที่น่าประทับใจ หรือแผนการที่ผ่านการคิดมาอย่างดีสักแค่ไหนก็ตาม จงเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ผู้ที่ต้องการพัฒนาตัวเองย่อมเติบโตขึ้นได้ สามารถพัฒนาตัวเองได้เสมอ และยิ่งพัฒนาตัวเองได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดึงดูดคนที่ดีกว่าเดิมเข้ามาในชีวิตมากขึ้น เพราะคนเราจะเดินตามผู้นำที่แข็งแกร่งกว่าตัวเอ

บทที่ 8 กฎแห่งสัญชาตญาณ

ผู้นำประเมินทุกสิ่งโดยใช้มุมมองของผู้นำ ผู้นำมองสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนคนอื่น พวกเขาประเมินทุกสิ่งโดยใช้มุมมองของผู้นำ สัญชาตญาณความเป็นผู้นำคอยชี้นำทุกการกระทำ และเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของพวกเขา ใช่ว่าทุกคนจะมีสัญชาตญาณความเป็นผู้นำ แต่ทุกคนล้วนมีสัญชาตญาณนี้ ความหมายก็คือทุกคนมีสัญชาตญาณในเรื่องที่ตัวเองถนัด สัญชาตญาณเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยาก เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปธรรมและไม่ได้เกิดจากประสบการณ์เท่านั้น กฎแห่งสัญชาตญาณไม่ได้มีแค่ข้อเท็จจริง มันคือการรวมกันของข้อเท็จจริง สัญชาตญาณ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นนามธรรม เช่น ขวัญและกำลังใจของพนักงาน แรงผลักดันในองค์กร และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

สัญชาตญาณความเป็นผู้นำ ทำให้ผู้นำประเมินทุกสิ่งด้วยมุมมองของผู้นำ คนที่มีความสามารถในการเป็นผู้นำติดตัวมาตั้งแต่เกิด จะมีสัญชาตญาณนี้สูงเป็นพิเศษ ส่วนผู้นำที่เหลือต้องทุ่มเทพยายามเพื่อบ่มเพาะและขัดเกลามันขึ้นมา สัญชาตญาณความเป็นผู้นำเกิดจากสองสิ่งรวมกัน ซึ่งก็คือความสามารถที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด หรือสิ่งที่ถนัดกับทักษะที่เรียนรู้มา มันจึงมีความรู้เป็นองค์ประกอบ และสัญชาตญาณนี้ก็ทำให้ผู้นำสังเกตเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้นำในแบบที่คนอื่นไม่เห็น

สัญชาตญาณความเป็นผู้นำคือ ความสามารถในการอ่านความเป็นไปของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จึงคิดว่าผู้นำคือนักอ่าน ผู้นำมองเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ที่อาจรอดสายตาผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ราวกับว่าพวกเขาปรับตัวเข้าสู่โหมดผู้นำ ผู้นำจำนวนมากบอกว่ามันคือความสามารถในการได้กลิ่นสิ่งต่าง ๆ ในองค์กรของตัวเอง พวกเขาสามารถสัมผัสได้ถึงทัศนะคติของผู้คน และความเข้ากันได้ของสมาชิกในทีม และรู้สึกได้ว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น ติดขัด หรือใกล้จะล้มเหลวเต็มที โดยไม่จำเป็นต้องดูสถิติ การรายงาน หรือตรวจสอบงบดุลเลย พวกเขาอ่านสถานการณ์ออกก่อนที่จะรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด นั่นเป็นผลจากสัญชาตญาณความเป็นผู้นำ คนเรามีสัญชาตญาณความเป็นผู้นำอยู่ในระดับใดระดับหนึ่งจาก 3 ระดับต่อไปนี้

1.คนที่เข้าใจความเป็นผู้นำโดยอัตโนมัติ บางคนเกิดมาพร้อมพรสวรรค์อันน่าประทับใจด้านความเป็นผู้นำ คนกลุ่มนี้เข้าใจผู้คนและรู้วิธีทำให้คนเหล่านั้นก้าวจากจุด A ไปยังจุด B ได้โดยสัญชาตญาณ

2.คนที่สามารถเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจความเป็นผู้นำได้ คนส่วนใหญ่อยู่ในระดับนี้ พวกเขามีทักษะในการรับมือกับผู้คนมากพอ และสามารถพัฒนาสัญชาตญาณความเป็นผู้นำได้ หากเปิดใจที่จะเรียนรู้เพราะความเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้

3.คนที่ไม่มีวันเข้าใจความเป็นผู้นำ คนที่ดูไม่มีเมล็ดพันธุ์ของความเป็นผู้นำอยู่ในตัว และไม่สนใจที่จะพัฒนาทักษะในการเป็นผู้นำด้วย คนประเภทนี้จะไม่อ่านหนังสือเกี่ยวกับความเป็นผู้นำเลย

แท้จริงแล้วความเป็นผู้นำเป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์ หลักการเกี่ยวกับความเป็นผู้นำนั้นตายตัว แต่การประยุกต์ใช้จะแปรเปลี่ยนไปตามผู้นำและสถานการณ์ สัญชาตญาณจึงเป็นสิ่งจำเป็น หากไม่มีสัญชาตญาณผู้นำก็จะถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัว และนั่นคือสิ่งหนึ่งในสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ถ้าอยากเป็นผู้นำได้อย่างยาวนาน นำได้ดี และก้าวหน้ากว่าผู้อื่นเสมอ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎแห่งสัญชาตญาณ

บทที่ 9 กฎแห่งการดึงดูด

การเป็นคนเช่นไรก็จะดึงดูดคนเช่นนั้นเข้ามา ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจะมองหาคนเก่งอยู่เสมอ ทุกคนต่างมีรายการคุณลักษณะที่อยากได้มาอยู่ในองค์กรหรือแผนก ลองพิจารณาคุณลักษณะต่อไปนี้ หากเคยรับคนเข้าทำงานหรือจ้างงาน จะพบว่าตัวเองกับคนเหล่านั้นมีความคล้ายกันหลายอย่าง เช่น

ช่วงวัย ผู้คนในองค์กรส่วนใหญ่ จะสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของผู้นำคนสำคัญ ซึ่งรวมถึงเรื่องอายุ ส่วนใหญ่แล้วคนที่เข้าไปทำงานในองค์กรนั้น จะมีอายุใกล้เคียงกับผู้นำที่เป็นคนคัดเลือกพนักงาน

ทัศนคติ คนที่มองว่าชีวิตเต็มไปด้วยโอกาส และความท้าทายที่น่าตื่นเต้น จะไม่อยากฟังคนที่เอาแต่พูดถึงเรื่องร้าย ๆ ทัศนคติเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของมนุษย์ ที่ติดต่อกันได้ง่ายที่สุด คนที่มีทัศนคติดี มักทำให้ผู้คนรอบข้างรู้สึกดีขึ้น ส่วนคนที่มีทัศนคติแย่ก็มักทำให้ผู้อื่นรู้สึกแย่ตามไปด้วย

ภูมิหลัง คนเราจะดึงดูดและถูกดึงดูดด้วยคนที่มีภูมิหลังคล้ายกัน คนงานมักคบหาสมาคมกันเอง นายจ้างมักจ้างคนที่มีเชื้อชาติเดียวกับตัวเอง และคนที่มีการศึกษาก็มักนับถือและให้ความสำคัญกับคนที่มีการศึกษาเหมือนกัน

ค่านิยม คนเราจะถูกดึงดูดเข้าหาผู้นำที่มีค่านิยมเหมือนตัวเอง ไม่สำคัญว่าค่านิยมที่มีร่วมกันนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย ค่านิยมทั้ง 2 แบบต่างมีแรงดึงดูดที่รุนแรงพอ ๆ กัน

ความกระตือรือร้น คนที่มีความกระตือรือร้นในระดับเดียวกันจะดึงดูดกันและกัน

ความสามารถพิเศษ คนเราจะไม่มองหาผู้นำที่มีความสามารถแค่ระดับปานกลาง แต่จะมองหาคนที่มีความสามารถยอดเยี่ยม และมีความเป็นเลิศ โดยเฉพาะในด้านที่ตรงกับความสามารถพิเศษของตัวเอง

ความสามารถในการเป็นผู้นำ ประการสุดท้าย คนที่ดึงดูดเข้ามาจะมีความสามารถในการเป็นผู้นำคล้ายกัน

ยิ่งเป็นผู้นำที่ดีมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดึงดูดผู้นำที่ดีเข้ามามากเท่านั้น ซึ่งนี่จะส่งผลต่อทุกสิ่งที่ทำอย่างไม่น่าเชื่อ คนที่ดึงดูดเข้ามาในองค์กรหรือแผนกของตัวเองในตอนนี้ พวกเขาเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง มีศักยภาพ และมีความสามารถอย่างที่ต้องการ หรือพวกเขาน่าจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ จำไว้ว่าคุณภาพของคนที่ดึงดูดเข้ามา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการคัดเลือกคน ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือคุณลักษณะที่ผู้คนในแวดวงควรมี แต่ขึ้นอยู่กับเป็นคนเช่นไรก็จะดึงดูดคนเช่นนั้นเข้ามา นี่คือกฎแห่งการดึงดูด ถ้าอยากดึงดูดคนที่ดีกว่าเดิมเข้ามา ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนแบบนั้นก่อน

บทที่ 10 กฎแห่งการเข้าถึงใจ

ผู้นำต้องเข้าถึงใจของผู้คนก่อนขอความร่วมมือ เหตุการณ์บางอย่างในชีวิต และการทำงานของผู้นำ สามารถกำหนดชีวิตการเป็นผู้นำของเขาได้ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมักแสดงให้ผู้ตามคนทั่วไป และนักประวัติศาสตร์เห็นถึงตัวตนของผู้นำ และสิ่งที่เขายึดมั่นการทำงานร่วมกับผู้คนนั้น หัวใจต้องมาก่อนสมอง จะกลายเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อเข้าถึงใจผู้คน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จึงจะขอความร่วมมือจากพวกเขาได้ ไม่อาจกระตุ้นผู้คนให้ลงมือทำจนกว่าจะกระตุ้นความรู้สึกของพวกเขาได้ นี่คือกฎแห่งการเข้าถึงใจ ผู้นำและนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยมทุกคนรู้ความจริงข้อนี้ และปฏิบัติตามแทบจะโดยอัตโนมัติ

ผู้นำที่ดีจะพยายามเข้าถึงใจผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าพวกเขาจะสื่อสารกับคนทั้งองค์กร หรือพูดคุยกับคนเพียงคนเดียว ยิ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้ตามให้แข็งแกร่งมากเท่าไหร่ การเข้าถึงใจผู้อื่นก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น และบรรดาผู้ตามก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะอยากช่วยเหลือมากขึ้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งสำหรับการเข้าถึงใจผู้อื่นคือ การตระหนักว่าแม้จะสื่อสารกับกลุ่มคนจำนวนมาก แต่ก็ต้องเข้าถึงพวกเขาแบบรายบุคคล แล้วจะเข้าถึงใจผู้อื่นได้หากสามารถนำหลักการเหล่านี้ไปใช้ได้

1.เข้าถึงใจตัวเอง ถ้าอยากเข้าถึงใจคนอื่น ต้องรู้จักและมั่นใจในตัวตนของตัวเอง ผู้คนไม่สนใจเสียงของคนที่ไม่มีความมั่นใจ

2.สื่อสารด้วยความจริงใจและความซื่อสัตย์ ผู้คนได้กลิ่นความเสแสร้งแม้จะอยู่ห่างไกลมาก

3.รู้จักผู้ฟัง ในกรณีที่สื่อสารกับคนคนเดียว การรู้จักผู้ฟังหมายถึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชื่อ ภูมิหลัง และความฝันของเขา หากต้องสื่อสารกับกลุ่มคน ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับองค์กร และเป้าหมายขององค์กรของพวกเขา ต้องพูดถึงสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ

4.ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับสิ่งที่พูดในฐานะผู้นำและนักสื่อสารสิ่งที่นับว่าสำคัญที่สุดที่จะทำได้ก็คือการปฏิบัติตามคำพูดของตัวเองนี่คือสิ่งที่จะทำให้ได้รับความเชื่อถือ

5.เข้าไปหาอีกฝ่าย วิธีสื่อสารก็สามารถกลายเป็นอุปสรรคได้ เวลาคุยกับใครสักคนพยายามพูดภาษาเดียวกับอีกฝ่าย เพื่อเข้าไปหาพวกเขา พยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรม ภูมิหลัง การศึกษา และด้านอื่น ๆ ของพวกเขา ปรับตัวเข้าหาอีกฝ่าย และไม่คาดหวังให้พวกเขาปรับตัวเข้าหา

6.ให้ความสำคัญกับอีกฝ่ายไม่ใช่ตัวเอง ปัญหาอันดับหนึ่งของผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ จะเข้าถึงใจผู้อื่นได้เร็วขึ้น เมื่อไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นหลัก

7.เชื่อในตัวอีกฝ่าย การสื่อสารกับผู้อื่นด้วยความคิดว่า กำลังจะบอกสิ่งที่มีคุณค่าต่อการสื่อสารกับผู้อื่น ด้วยความคิดว่าพวกเขามีคุณค่า

8.ชี้ทางและมอบความหวัง ผู้คนคาดหวังว่าผู้นำจะช่วยให้พวกเขาไปถึงจุดหมายที่ต้องการ แต่ผู้นำที่ดีจะไม่เพียงแค่นั้น เมื่อมอบความหวังให้ผู้อื่นก็เท่ากับว่ามอบอนาคตให้พวกเขา

ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะปฏิบัติตามกฎแห่งการเข้าถึงใจ โดยเป็นผู้เริ่มก่อนเสมอ พวกเขาจะเป็นฝ่ายก้าวเข้าไปหาผู้อื่น และพยายามสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าการทำเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรเป็นอย่างมาก ผู้นำจึงต้องทำเช่นนั้น ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากแค่ไหนก็ตาม

ผลของการเข้าถึงใจ หากผู้นำสามารถเข้าถึงใจคนของตัวเองได้เป็นอย่างดี จะสังเกตเห็นได้ทันทีจากสิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กร พนักงานจะแสดงออกว่าพวกเขาจงรักภักดี และมีจริยธรรมในการทำงานที่สูงมาก วิสัยทัศน์ของผู้นำจะกลายเป็นเป้าหมายของคนในองค์กร ผลลัพธ์ของการสื่อถึงใจนั้นเหลือเชื่อมากจริง ๆ อย่าดูถูกความสำคัญของการสร้างสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ตามเป็นอันขาด ภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า ถ้าจะนำตัวเองให้ใช้สมอง แต่หากจะนำผู้อื่นให้ใช้หัวใจ นี่คือธรรมชาติของกฎแห่งการเข้าถึงใจ จงเข้าถึงใจของคนอื่นก่อนขอความร่วมมือจากเขาเสมอ

บทที่ 11 กฎแห่งคนวงใน

ศักยภาพของผู้นำขึ้นอยู่กับผู้คนที่ใกล้ชิดกับเขามากที่สุด เมื่อเห็นใครสักคนที่มีความสามารถสูงอย่างไม่น่าเชื่อ มักคิดว่าสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จก็คือ ความสามารถของเขาเท่านั้น แต่การคิดเช่นนั้นเท่ากับเชื่อคำโกหก ไม่มีใครทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพียงลำพังได้ ผู้นำไม่ได้ประสบความสำเร็จด้วยตัวเองเพียงคนเดียว ศักยภาพของผู้นำขึ้นอยู่กับคนวงใน สิ่งที่สร้างความแตกต่างได้คือ คนวงในที่ใกล้ชิดผู้นำมากที่สุด ผู้นำต้องสร้างผลงานนี่คือสิ่งสำคัญที่ไม่มีสิ่งใดทดแทนได้ แต่หากขาดทีมที่ดีผู้นำก็มักไม่มีโอกาสสร้างผลงาน พูดง่าย ๆ ก็คือศักยภาพของผู้นำขึ้นอยู่กับผู้คนที่ใกล้ชิดกับเขามากที่สุด นี่คือกฎแห่งคนวงใน

ปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 คำยอดนิยมก็คือ ผู้นำทีม เพราะไม่มีใครที่สามารถทำทุกอย่างได้ดี ผู้นำประเภทฉายเดี่ยวไม่มีจริง ลองคิดดูดี ๆ ถ้าตัวคนเดียวก็แปลว่าไม่ได้เป็นผู้นำของใคร คนส่วนใหญ่ล้วนสร้างคนวงใน แต่พวกเขามักขาดกลยุทธ์ มีแนวโน้มจะแวดล้อมตัวเองด้วยคนที่ชอบ หรืออยู่ด้วยแล้วสบายใจ มีเพียงไม่กี่คนที่คำนึงถึงความจริงว่า คนที่ใกล้ชิดพวกเขามากที่สุดจะส่งผลต่อประสิทธิภาพ และศักยภาพในการเป็นผู้นำของตัวเอง สำหรับการปฏิบัติตามกฎแห่งคนวงใน ต้องมีเป้าหมายในการสร้างความสัมพันธ์ โดยให้ความสำคัญกับการทำเป้าหมายให้สำเร็จ และการประสบความสำเร็จของผู้ตาม ผู้นำต้องบรรลุศักยภาพก่อน ผู้ตามถึงจะมีโอกาสบรรลุศักยภาพได้ ในการพิจารณาว่าควรรับใครสักคนเข้ามาเป็นคนวงใน ให้ถามด้วยคำถามต่อไปนี้

1.พวกเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้อื่นใช่ไหม หนึ่งในกุญแจสำคัญของการเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จคือ ความสามารถในการมีอิทธิพลต่อคนที่มีอิทธิพลต่อผู้อื่น

2.พวกเขามีความสามารถที่ช่วยเติมเต็มได้หรือไม่

3.พวกเขามีบทบาทสำคัญในองค์กรใช่ไหม

4.พวกเขาเพิ่มคุณค่าให้ฉันและองค์กรได้หรือไม่ คนวงในต้องเป็นคนที่เพิ่มคุณค่าให้กับคนอื่นเท่านั้น โดยพวกเขาควรมีประวัติที่น่าเชื่อถือได้ว่า เป็นคนที่มีคุณค่าต่อองค์กร

5.พวกเขาสร้างผลกระทบดี ๆ ให้กับบรรดาคนวงในของฉันหรือไม่ ความเข้ากันได้ของคนในทีม ถ้าบรรดาคนวงในต้องทำงานร่วมกัน และทำสิ่งต่าง ๆ ในฐานะทีมเดียวกัน ก็ต้องให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนวงในด้วยกัน ประการแรกต้องแน่ใจว่าพวกเขาเข้ากันได้ดี ประการที่สองต้องช่วยกันพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่กันและกัน

แน่นอนว่าไม่มีผู้นำคนใดที่มีคนวงในที่ยอดเยี่ยมมาตั้งแต่แรก ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ผู้นำมักต้องสร้างคนวงในขึ้นมาจากศูนย์ ความสำเร็จไม่ได้เป็นผลจากสิ่งที่รู้ แต่เป็นผลจากคนที่รู้จัก และตัวตนที่แสดงให้พวกเขาแต่ละคนเห็นศักยภาพ และความสามารถในฐานะผู้นำให้ได้อย่างเต็มที่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเป็นผู้นำที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และขั้นต่อไปคือต้องแวดล้อมตัวเองด้วยบรรดาผู้นำที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ จำไว้ว่าศักยภาพของผู้นำขึ้นอยู่กับผู้คนที่ใกล้ชิดมากที่สุด นี่คือกฎแห่งคนวงใน และเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้ก้าวไปยังจุดที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

บทที่ 12 กฎแห่งการมอบอำนาจ

มีเพียงผู้นำที่มั่นใจในตัวเองที่มอบอำนาจให้ผู้อื่น การเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้หมายถึงการยกระดับตัวเอง แต่หมายถึงการมอบอำนาจให้ผู้อื่น นักวิเคราะห์ด้านความเป็นผู้นำกล่าวว่า รูปแบบการเป็นผู้นำแบบมอบอำนาจจะทำให้รูปแบบการทำงานในองค์กรเปลี่ยน จากอำนาจที่เกิดจากตำแหน่ง เป็นอำนาจที่เกิดจากคน โดยทุกคนจะได้รับบทบาทผู้นำ เพื่อให้พวกเขามีอำนาจในการใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ มีเพียงคนที่ได้รับอำนาจเท่านั้น ที่สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเองได้ หากผู้นำไม่ยอมมอบอำนาจให้ผู้อื่น หรือไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็เท่ากับเขาสร้างอุปสรรคที่ผู้ตามไม่มีวันเอาชนะได้ขึ้นมาในองค์กร และหากอุปสรรคนั้นคงอยู่อย่างยาวนาน ผู้คนก็จะถอดใจและเลิกพยายาม หรือไม่ก็ออกไปอยู่กับองค์กรอื่นที่เอื้อให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ เหตุผลสำคัญ 3 ประการที่ทำให้ผู้นำไม่มอบอำนาจให้ผู้อื่นมีดังต่อไปนี้

เหตุผลประการที่ 1 ที่ขัดขวางการมอบอำนาจ ความต้องการความมั่นคงในตำแหน่ง ศัตรูหมายเลขหนึ่งของการมอบอำนาจคือ ความกลัวว่าจะต้องสูญเสียสิ่งที่มี ผู้นำที่อ่อนแอกลัวว่าตัวเองจะหมดความสำคัญ หากมอบอำนาจให้ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ความจริงก็คือวิธีเดียวที่จะทำให้มีความสำคัญมากเสียจนไม่มีใครทดแทนได้ก็คือ การทำให้ตัวเองหมดความสำคัญ พูดง่าย ๆ ก็คือถ้ามอบอำนาจให้ผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง และช่วยให้พวกเขาพัฒนาตัวเองจนสามารถทำงานได้ ก็จะกลายเป็นคนที่มีคุณค่ามากเสียจนองค์กรไม่สามารถขาดได้แน่ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก ของกฎแห่งการมอบอำนาจ

เหตุผลประการที่ 2 ที่ขัดขวางการมอบอำนาจ การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติของการมอบอำนาจคือ มันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การมอบอำนาจจะกระตุ้นให้ผู้คนพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงก็คือสิ่งที่ต้องยอมรับให้ได้เพื่อให้เกิดการพัฒนา แม้มันจะไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ง่าย ๆ ก็ตาม คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงนั่นคือความจริง แต่หนึ่งในความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดของผู้นำคือ การพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้นำ จึงต้องฝึกตัวเองให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลง มองว่ามันเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และเปิดทางให้มัน ผู้นำที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงยินดีที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการเปลี่ยนแปลงด้วย

เหตุผลประการที่ 3 ที่ขัดขวางการมอบอำนาจ การมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง คนที่กังวลกับสายตาของคนอื่น มักไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ พวกเขาจะให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นหลัก คนกลุ่มนี้ไม่สามารถมอบอำนาจให้ใครได้ เพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ และแน่นอนว่าไม่สามารถมอบสิ่งที่ตัวเองไม่มีให้คนอื่นได้ สุดยอดผู้นำตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองเป็นอย่างดี กว่าเขาเชื่อมั่นในตัวเอง ภารกิจ และคนของตัวเอง มีเพียงผู้นำที่มั่นใจในตัวเองเท่านั้น ที่สามารถปล่อยวางเรื่องตัวเองได้ ความเป็นผู้นำต้องตั้งอยู่บนเจตนาที่ดี ซึ่งหมายถึงการมีความตั้งใจที่แน่วแน่และชัดเจนว่าจะช่วยเหลือผู้ตาม สิ่งที่ต้องการในตัวผู้นำคือ การมีหัวใจที่ชอบช่วยเหลือและส่งเสริมผู้อื่น จนถึงขั้นทำให้ตัวเองดูไม่มีความสำคัญอีกต่อไป ทว่าผู้นำประเภทนี้ไม่มีทางกลายเป็นคนไม่สำคัญ และไม่มีทางขาดผู้ตามด้วย แม้จะฟังดูแปลกแต่ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจได้ด้วยการมอบอำนาจให้คนอื่น ถ้าอยากเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎแห่งการมอบอำนาจ

พลังแห่งการมอบอำนาจ การมอบอำนาจเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก ไม่ใช่สำหรับผู้ได้รับอำนาจ ซึ่งค่อย ๆ พัฒนาตัวเองขึ้นเท่านั้น แต่รวมถึงผู้มอบอำนาจด้วย การช่วยให้ผู้อื่นเติบโตขึ้นจะทำให้ผู้นำเติบโตขึ้นเช่นกัน นี่คือผลลัพธ์ของกฎแห่งการมอบอำนาจ ในฐานะผู้นำสามารถสัมผัสพลังของมันได้ ตราบเท่าที่พร้อมที่จะเชื่อในตัวคนอื่น และมอบอำนาจให้พวกเขา

บทที่ 13 กฎแห่งภาพ

ผู้คนทำตามสิ่งที่ตัวเองเห็น นี่คือกฎแห่งภาพ หากผู้นำปฎิบัติสิ่งที่ถูกต้องให้เห็นเป็นตัวอย่าง บรรดาผู้ตามก็จะเลียนแบบ และประสบความสำเร็จในที่สุด ผู้นำที่ยิ่งใหญ่มีคุณลักษณะอันยอดเยี่ยม 2 อย่างนั่นคือ พวกเขามีความสามารถสูงในการสร้างวิสัยทัศน์ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความเป็นจริง ความมีวิสัยทัศน์ทำให้ผู้นำสามารถมองไปไกลกว่าปัจจุบัน โดยเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น และอะไรคือสิ่งที่ต้องทำ

นอกจากนี้ผู้นำยังเข้าใจเรื่องเหล่านี้ด้วย ภารกิจทำให้เกิดจุดมุ่งหมายซึ่งช่วยตอบคำถามว่าเขาทำสิ่งนั้นทำไม วิสัยทัศน์ทำให้เกิดภาพ ซึ่งช่วยตอบคำถามว่าเขาควรทำอะไร กลยุทธ์ทำให้เกิดแผนการซึ่งช่วยตอบคำถามว่าเขาควรทำอย่างไร ผู้นำก็ให้ความสำคัญกับความเป็นจริงมากพอที่จะรู้ว่า วิสัยทัศน์ที่ปราศจากการกระทำจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใด ๆ ผู้นำรับผิดชอบในการผลักดันผู้ตามให้ลงมือปฏิบัติ ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องยาก เพราะผู้ตามมักไม่สามารถจินตนาการถึงภาพของอนาคตได้เหมือนผู้นำ ผู้นำคือผู้ถ่ายทอดวิสัยทัศน์

แน่นอนว่าการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำที่ดีต้องสื่อสารกับผู้ตามเรื่องวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน สร้างสรรค์ และต่อเนื่อง การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพของผู้นำจะทำให้ภาพของวิสัยทัศน์ชัดเจน แต่แค่นั้นยังไม่พอ ผู้นำต้องทำตามวิสัยทัศน์ด้วย การที่ผู้นำทำตัวเป็นแบบอย่างสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ จะทำให้ภาพที่วาดไว้เป็นจริงขึ้นมา ผู้นำที่ดีตระหนักเสมอว่า เขาเป็นแบบอย่างของผู้ตาม และคนเหล่านั้นก็จะทำตามเขาด้วย ไม่สนใจว่าผลจะออกมาดีหรือร้าย ส่วนใหญ่แล้วยิ่งผู้นำทำผลงานได้ดีมากเท่าไหร่ คนของเขาก็จะยิ่งทำผลงานได้ดีขึ้นเท่านั้น

แน่นอนว่าคนที่เคยเป็นผู้นำในเรื่องใดก็ตามย่อมรู้เรื่องนี้ดี ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง และความสับสนวุ่นวายเข้าเล่นงาน ทุกสิ่งที่ผู้ตามต้องการมากที่สุดคือ ภาพที่ชัดเจนจากผู้นำ พวกเขาต้องการผู้นำ รู้สึกมีพลัง มีกำลังใจ และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อ

แนวคิดเรื่องการเป็นแบบอย่างสำหรับผู้นำ ถ้าอยากเป็นผู้นำที่ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะเป็นได้ ก็ไม่ควรมองข้ามกฎแห่งภาพโดยเด็ดขาด ต้องจดจำสิ่งเหล่านี้ไว้เสมอ

1.ผู้ตามจับตาดูการกระทำของผู้นำเสมอ ผู้ตามอาจไม่แน่ใจในสิ่งที่ผู้นำพูด แต่พวกเขาเชื่อในสิ่งที่ผู้นำทำและเลียนแบบเสมอ

2.การสอนสิ่งที่ควรง่ายกว่าการทำสิ่งที่ควร มาร์ก ทเวน กล่าวติดตลกไว้ว่า การทำสิ่งที่ควรนั้นยอดเยี่ยมส่วนการสอนสิ่งที่ควรนั้นยอดเยี่ยมยิ่งกว่า แถมยังง่ายกว่าด้วย ดูเหมือนว่านั่นจะเป็นความจริง การสอนสิ่งที่ควรง่ายกว่าการทำสิ่งที่ควรเสมอ นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่พ่อแม่และเจ้านายจำนวนมาก มักบอกว่าทำตามสิ่งที่บอกไม่ใช่สิ่งที่ทำ

3.ควรเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนจะพยายามพัฒนาผู้อื่น ผู้นำต้องรับผิดชอบต่อประสิทธิภาพของผู้ตามนั่นคือหน้าที่ของเขา ผู้นำจำเป็นต้องเฝ้าดูความก้าวหน้า ชี้แนะแนวทาง และทำให้คนของตัวเองมีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ผู้นำต้องเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของทีม แต่ข้อควรระวังสำหรับการเป็นผู้นำที่ดีคือ ผู้นำเปลี่ยนแปลงผู้อื่นโดยไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อน หากนำด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การทำตัวเป็นแบบอย่าง ผู้ตามก็จะไม่สามารถเห็นภาพที่ชัดเจนว่า สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างไร แต่หากพยายามพัฒนาตัวเองก่อน และมองว่านี่เป็นภารกิจหลัก ผู้ตามก็มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามมากขึ้น

4.ของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดที่ผู้นำมอบให้คนอื่นได้ก็คือการเป็นแบบอย่างที่ดี สิ่งที่พนักงานต้องการมากที่สุดคือ ผู้นำที่มีความเชื่อและการกระทำสอดคล้องกัน พวกเขาต้องการผู้นำเป็นแบบอย่างที่ดี ความเป็นผู้นำเกิดจากการสังเกตเห็นมากกว่าการสั่งสอน แล้วคนเราสังเกตเห็นความเป็นผู้นำได้ด้วยการเฝ้าดูการกระทำของผู้นำที่ดี ผู้นำส่วนใหญ่ก้าวขึ้นมาในจุดนี้ได้ เพราะได้เห็นตัวอย่างและได้รับคำแนะนำจากบรรดาผู้นำที่ได้รับการยอมรับ การใช้ชีวิตตามสิ่งที่ตัวเองสอนถึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในฐานะผู้นำ

บทที่ 14 กฎแห่งการยอมรับ

ผู้คนจะยอมรับในตัวผู้นำ แล้วค่อยยอมรับวิสัยทัศน์ หากผู้คนยอมรับใครสักคน พวกเขาก็จะยินดีเปิดรับวิสัยทัศน์ของคน ๆ นั้น คนเรามักยินดีที่จะคล้อยตามคนที่รู้สึกว่าเข้ากันได้ ไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหน ก็ไม่สามารถแยกผู้นำกับวิสัยทัศน์ออกจากกันได้ สองสิ่งนี้ไม่ได้แยกกันอยู่แบบโดด ๆ แต่อยู่คู่กันเสมอ

หากพูดตามไม่ยอมรับในตัวผู้นำหรือวิสัยทัศน์ พวกเขาจะมองหาผู้นำคนใหม่ เงื่อนไขเดียวที่จะทำให้ผู้คนยอมตามผู้นำที่พวกเขาไม่ยอมรับ และมีวิสัยทัศน์ที่พวกเขาไม่เห็นด้วยก็คือ การที่ผู้นำใช้อำนาจบีบบังคับ หากผู้ตามมีทางเลือกอื่นพวกเขาก็จะไม่เดินตามผู้นำคนนี้อย่างแน่นอน และต่อให้ไม่มีทางเลือกพวกเขาก็จะเริ่มมองหาผู้นำคนใหม่ สถานะการนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย

หากผู้ตามไม่ยอมรับในตัวผู้นำ แต่ยอมรับวิสัยทัศน์ของเขา พวกเขาจะมองหาผู้นำคนใหม่ ถึงผู้คนจะยอมรับวิสัยทัศน์ แต่หากพวกเขาไม่ยอมรับในตัวผู้นำ พวกเขาก็จะมองหาผู้นำคนใหม่ นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลว่า ทำไมโค้ชในวงการกีฬาอาชีพถึงย้ายทีมบ่อยมาก วิสัยทัศน์ของทุกทีมเหมือนเดิมเสมอนั่นคือการได้เป็นแชมป์ แต่นักกีฬาไม่ได้เชื่อในผู้นำของพวกเขาเสมอไป เจ้าของทีมย่อมไม่ไล่นักกีฬาทั้งทีมออก สิ่งที่พวกเขาจะทำคือไล่ผู้นำออก และหาคนอื่นที่นักกีฬาน่าจะยอมรับเข้ามาแทน โค้ชระดับอาชีพส่วนใหญ่ล้วนเก่ง และมีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้โค้ชแต่ละคนแตกต่างกันก็คือ ความสามารถในการเป็นผู้นำ และระดับความเชื่อถือที่ได้รับจากนักกีฬาในทีม

หากผู้ตามยอมรับในตัวผู้นำ แต่ไม่ยอมรับวิสัยทัศน์พวกเขา จะเปลี่ยนวิสัยทัศน์หากไม่เห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ของผู้นำ ผู้ตามจะตอบสนองด้วยวิธีที่ต่างกันไป โดยอาจโน้มน้าวผู้นำให้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ ยอมทิ้งความคิดของตัวเอง และยอมรับวิสัยทัศน์ของผู้นำ หรืออาจพยายามประนีประนอมกับผู้นำ แต่ตราบใดที่ยังคงยอมรับในตัวผู้นำ จะไม่ปฏิเสธเขาโดยสิ้นเชิงและเดินตามผู้นำต่อไป

หากผู้ตามเชื่อในตัวผู้นำและวิสัยทัศน์ของเขาพวกเขาก็จะเดินตามผู้นำ ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเลวร้ายเพียงใด หรือมีโอกาสประสบความสำเร็จน้อยแค่ไหนก็ตาม ในฐานะผู้นำการมีวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยม และเหตุผลที่ดียังไม่มากพอ ที่จะทำให้ผู้คนเดินตามต้องเป็นผู้นำที่ดีขึ้น และทำให้ผู้ตามยอมรับในตัวนั่นคือสิ่งที่ต้องทำ ถ้าอยากให้วิสัยทัศน์ของตัวเองกลายเป็นจริง หากมองข้ามกฎแห่งการยอมรับ จะไม่มีทางเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้

บทที่ 15 กฎแห่งชัยชนะ

ผู้นำจะหาวิธีทำให้ทีมชนะ บรรดาผู้นำที่ได้รับชัยชนะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ พวกเขาไม่ยินดีต้อนรับความพ่ายแพ้ พวกเขาไม่เปิดใจรับสิ่งใดนอกจากชัยชนะ คนกลุ่มนี้จึงหาคำตอบว่าต้องทำอะไรบ้างจึงจะคว้าชัยชนะมาได้ ผู้นำที่ดีที่สุดรู้ว่าต้องรับมือกับความยากลำบาก และทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อคว้าชัยชนะมาให้คนของตัวเอง ผู้นำมองว่าความเป็นผู้นำคือความรับผิดชอบ ความพ่ายแพ้คือสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ความปรารถนาอันแรงกล้าคือสิ่งที่ลุกโชนอยู่เสมอ ความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งสำคัญ การล้มเลิกคือสิ่งที่ไม่มีวันนึกถึง ความมุ่งมั่นคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ ชัยชนะคือสิ่งที่ต้องขอมาให้ได้อย่างแน่นอน

ผู้นำยึดมั่นในวิธีคิดเหล่านั้นและวิสัยทัศน์ แล้วฝ่าฟันความยากลำบากด้วยความแน่วแน่ว่า จะพาคนของตัวเองไปสู่ชัยชนะให้ได้ กีฬาเป็นสิ่งที่เห็นผลลัพธ์ได้ทันทีและวัดผลได้ สามารถเห็นกลไกการทำงานของกฎแห่งชัยชนะได้ ในการแข่งขันกีฬาผู้นำในวงการอื่น ๆ มักทำงานใหญ่อยู่หลังฉาก จึงไม่มีโอกาสได้เห็นกลไกนั้น แต่ในการแข่งขันกีฬา สามารถเฝ้ามองผู้นำขณะที่เขาพยายามทุ่มเทเพื่อชัยชนะได้ และเมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลงก็จะรู้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้ชนะ และเพราะอะไร ผู้นำที่ดีจะหาทางทำให้ทีมของตัวเองคว้าชัยชนะมาให้ได้ นี่คือกฎแห่งชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดใดก็ตาม โดยมีองค์ประกอบ 3 อย่างของชัยชนะดังนี้

1.การมีวิสัยทัศน์เดียวกัน ไม่ว่าสมาชิกจะมีความสามารถ หรือศักยภาพสักแค่ไหน ทีมจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อสมาชิกมีวิสัยทัศน์เดียวกัน ทีมจะไม่มีทางคว้าแชมป์ได้ หากสมาชิกมีเป้าหมายต่างกันนี่คือความจริง

2.ความสามารถอันหลากหลาย ทุกคนน่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่าทีมต้องมีสมาชิกที่มีความสามารถหลากหลาย องค์กรทุกแห่งต้องมีคนที่มีความสามารถแตกต่างกัน จึงจะประสบความสำเร็จได้ ร่างกายจะทำงานได้ดีที่สุด ก็ต่อเมื่ออวัยวะแต่ละส่วนทำหน้าที่ของตัวเอง

3.ผู้นำอุทิศตนเพื่อชัยชนะ และยกระดับผู้เล่นให้บรรลุศักยภาพของตัวเอง แน่นอนว่าการมีผู้เล่นที่ดีและมีความสามารถหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ การมีวิสัยทัศน์เช่นเดียวกันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง สมาชิกเก่ง ๆ ที่มีความสามารถหลากหลายก็ไม่ได้มารวมตัวกันเอง คนที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ก็คือผู้นำ ผู้นำต้องสร้างแรงกระตุ้น มอบอำนาจ และบอกทิศทางที่จำเป็นเพื่อคว้าชัยชนะ ผู้นำที่ปฏิบัติตามกฎแห่งชัยชนะเชื่อว่า สิ่งอื่นนอกเหนือจากความสำเร็จเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ พวกเขาไม่มีแผนสำรอง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขาสู้ไม่ถอย และเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเดินหน้าคว้าชัยชนะต่อไป

บทที่ 16 กฎแห่งแรงส่งอันยิ่งใหญ่

แรงส่งคือเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้นำ ถ้ามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในสิ่งที่ทำ เครื่องมือและผู้คนที่สามารถช่วยให้ทำตามวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ได้ครบถ้วนแล้ว แต่กลับไม่สามารถทำให้องค์กรเดินหน้า และเข้าไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ ก็หมายความว่าล้มเหลวอย่างมากในฐานะผู้นำ ต้องปฏิบัติตามกฎแห่งแรงส่งอันยิ่งใหญ่ และใช้พลังของเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้นำซึ่งก็คือแรงส่งนั่นเอง

แรงส่งคือเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้นำ เพราะบ่อยครั้งแรงส่งเป็นสิ่งเดียวที่กำหนดได้ว่าจะแพ้หรือชนะ หากไม่มีแรงส่งแม้แต่งานที่ง่ายที่สุด ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ปัญหาเล็กน้อยกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ ความหวังและกำลังใจจะตกต่ำลง อนาคตจะมืดมน องค์กรที่ไม่มีแรงส่งก็เปรียบเหมือนรถไฟที่จอดสนิท ซึ่งยากที่จะออกตัวเพื่อเดินหน้า และแม้แต่แท่งไม้เล็ก ๆ บนรางก็สามารถทำให้มันเคลื่อนที่ไปไหนไม่ได้ ในทางกลับกันหากมีแรงส่ง อนาคตก็จะดูสดใส อุปสรรคดูเป็นเรื่องง่าย และปัญหาก็ดูเป็นแค่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ องค์กรที่มีแรงส่งเปรียบเหมือนรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 96 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อให้มีกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กขวางทางอยู่ รถไฟขบวนนี้ก็จะพุ่งทะลุกำแพงไป สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับแรงส่งคือ

1.แรงส่งคือแว่นขยายชั้นยอด ที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ ดูใหญ่โตกว่าความเป็นจริง นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมผู้นำถึงควรพยายามควบคุมแรงส่งให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้ ผู้นำทั้งหลายจึงพยายามที่จะควบคุมมันให้ได้ เช่น ในการแข่งขันบาสเกตบอล โค้ชที่ดีจะขอเวลานอกทันที หากทีมคู่ต่อสู้ทำคะแนนได้อย่างต่อเนื่อง จนชวนให้รู้สึกว่าฝ่ายนั้นเริ่มมีแรงส่ง เพื่อหยุดแรงส่งของอีกทีม ก่อนที่มันจะทรงพลังมากเกินไป ถ้าไม่ทำเช่นนั้นทีมของเขาก็อาจพ่ายแพ้

2.แรงส่งทำให้ผู้นำดูดีเกินกว่าความเป็นจริง ผู้นำของทีมที่มีแรงส่งจะถูกมองว่าเป็นอัจฉริยะ ผู้คนจะมองข้ามข้อบกพร่อง และลืมความผิดพลาดที่ผ่านมาของเขา แรงส่งจะทำให้มุมมองที่ทุกคนมีต่อผู้นำเปลี่ยนแปลงไป เพราะไม่ว่าใครก็อยากคบหากับผู้ชนะกันทั้งนั้น

3.แรงสูงช่วยให้ผู้ตามทำผลงานได้ดีกว่าปกติ เมื่อผู้นำมีความเข้มแข็ง และองค์กรมีแรงส่ง ผู้คนก็จะรู้สึกมีกำลังใจ และอยากยกระดับการทำงาน สิ่งที่จะตามมาคือประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาจะสูงขึ้น ยิ่งกว่าที่พวกเขาคิดหรือคาดหวังเสียอีก

4.การควบคุมแรงส่งนั้นง่ายกว่าการสร้างมันขึ้นมา แรงส่งในการเป็นผู้นำก็เป็นแบบนั้น การสร้างมันขึ้นมาเป็นเรื่องยาก แต่ทันที่ที่ทำสำเร็จก็จะเริ่มทำสิ่งที่น่าทึ่งได้

5.แรงส่งคือตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังที่สุด หากมีแรงส่งที่ทรงพลังพอ ก็จะเปลี่ยนแปลงแทบทุกอย่างในองค์กรได้ แรงส่งจึงทำให้สามารถเอื้อมถึงชัยชนะใหม่ ๆ

6.การสร้างแรงส่งคือความรับผิดชอบของผู้นำ ผู้ตามสามารถรับรู้ได้ถึงแรงส่ง แต่ผู้นำต้องเป็นคนสร้างมันขึ้นมา เมื่อสร้างแรงส่งสำเร็จผู้นำที่ดีจะสามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ทุกคนสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากแรงส่ง แต่การสร้างแรงส่งต้องอาศัยคนที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถในการสร้างทีมที่ดี และกระตุ้นผู้อื่นได้ ผู้นำมีหน้าที่สร้างแรงส่ง และรักษาให้มันคงอยู่ต่อไป

7.แรงส่งเริ่มต้นภายในตัวผู้นำ จุดกำเนิดของแรงส่งอยู่ในตัวผู้นำ โดยเริ่มจากวิสัยทัศน์ ความปรารถนาอย่างแรงกล้าในสิ่งที่ทำ และความกระตือรือร้น

ผู้นำต้องมีพลังเต็มเปี่ยม ถ้าทำตัวเป็นแบบอย่างให้ผู้คนเห็นทุกวัน ก็จะดึงดูดคนที่มีความคิดเหมือนกัน เข้ามาในทีม แผนก หรือองค์กร รวมทั้งผลักดันให้พวกเขาประสบความสำเร็จ แล้วจะเริ่มเห็นความก้าวหน้า นั่นหมายความว่ากำลังเริ่มสร้างแรงส่ง ผู้นำที่ฉลาดจะตระหนักถึงคุณค่าของแรงส่ง มันเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้นำ เมื่อมีแรงส่งก็จะทำได้แทบทุกสิ่ง นั่นคือพลังของแรงส่งอันยิ่งใหญ่

บทที่ 17 กฎแห่งการจัดลำดับสิ่งสำคัญ

ผู้นำต้องจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ และไม่เดินหน้าทำในสิ่งที่ไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว นั่นคือสิ่งที่ผู้นำที่ดีทำ แต่ก็ใช่ว่าผู้นำทุกคนจะจัดลำดับสิ่งสำคัญในชีวิต มีเหตุผลที่เป็นไปได้อยู่สองสามประการ

เหตุผลประการแรกคือ มักคิดว่าการที่ยุ่งเพราะทำงานสารพัด อย่างนั้นหมายความว่ากำลังมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ แต่การยุ่งไม่ได้หมายถึงการมีประสิทธิภาพ และการทำอะไรสักอย่างก็ไม่ได้นำไปสู่ความสำเร็จเสมอไป

เหตุผลประการที่ 2 คือการจัดลำดับสิ่งสำคัญ ทำให้ผู้นำต้องมองกาลไกลเสมอ เพื่อหาคำตอบว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ อะไรคือสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไป และสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์โดยรวมอย่างไร ซึ่งเป็นงานที่ยากเอาการ

เหตุผลประการที่ 3 คือการจัดลำดับสิ่งสำคัญ มักบีบให้ต้องทำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ค่อยอยากทำ และบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่มาก

ผู้นำไม่สามารถคิดอยู่ในกรอบเพียงอย่างเดียว บางครั้งเขาก็ต้องสร้างกรอบขึ้นมาใหม่ หรือทำลายกรอบที่มีอยู่ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยกฎแห่งการจัดลำดับสิ่งสำคัญ เมื่อเป็นผู้นำต้องพิจารณาทุกสิ่ง อีกหนึ่งหลักการที่ใช้ในการพิจารณา เพื่อจัดลำดับสิ่งสำคัญในชีวิตคือ 3R เป็นสิ่งที่เป็นที่ต้องการมี (Requirement) ผลตอบแทน (Return) และรางวัล (Reward)  ผู้นำจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อเขาจัดระเบียบชีวิตของตัวเอง ให้สอดคล้องกับคำตอบของคำถาม 3 ข้อต่อไปนี้

1.อะไรคือสิ่งที่คนอื่นต้องการ ในการทำงานทุกคนล้วนต้องรับผิดชอบต่อใครบางคน ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง คณะกรรมการบริษัท ผู้ถือหุ้น รัฐบาล หรืออื่น ๆ นอกจากนี้ยังต้องรับผิดชอบต่อคนสำคัญในชีวิตด้วย เช่น คู่ชีวิต ลูก ๆ และพ่อแม่ ด้วยเหตุนี้การจัดลำดับสิ่งสำคัญจึงต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการจากเรา คำถามที่ถามตัวเองคือ อะไรคือสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งไม่มีใครสามารถทำแทนได้ หรือไม่ควรให้คนอื่นทำแทน หากพบว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นก็ให้เลิกทำ และหากสิ่งที่ทำอยู่นั้นมีความสำคัญ แต่ไม่จำเป็นต้องลงมือทำเอง ก็มอบหมายให้คนอื่นทำแทน

2.อะไรคือสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในฐานะผู้นำ ควรทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทำงานที่เป็นจุดแข็งที่สุด ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงสุด คนเราจะมีประสิทธิภาพ และพึงพอใจมากขึ้น เมื่อได้ทำงานที่ตรงกับพรสวรรค์และจุดแข็งของตัวเอง หากจะให้ดีที่สุด ผู้นำควรทำสิ่งที่อยู่นอกพื้นที่แห่งความสบายใจ แต่ยังอยู่ในพื้นที่แห่งจุดแข็งของตัวเอง

3.อะไรคือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คำถามข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของความพึงพอใจส่วนตัว ชีวิตนั้นสั้นเกินกว่าที่จะเสียเวลาไปกับการเอาแต่ทำสิ่งที่ไม่ได้รัก สิ่งเหล่านั้นคือเชื้อเพลิงของชีวิต มันช่วยเพิ่มพลังและทำให้ยังคงมีความปรารถนาอันแรงกล้าในการทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งความปรารถนาอันแรงกล้าคือแรงผลักดัน ที่จะทำให้ใช้ชีวิตต่อไปได้

ผู้นำต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจเรื่องยาก ๆ โดยยึดสิ่งสำคัญเป็นหลัก แม้การตัดสินใจในบางครั้งจะทำให้ไม่เป็นที่ชื่นชอบนักก็ตาม หากพิจารณาชีวิตของผู้นำที่มีประสิทธิภาพทุกคน จะพบว่าพวกเขาจะลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ เสมอ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จล้วนดำเนินชีวิตสอดคล้องกับกฎแห่งการจัดลำดับสิ่งสำคัญ พวกเขารู้ว่าการทำอะไรสักอย่างไม่ได้นำพวกเขาไปสู่ความสำเร็จเสมอไป ส่วนผู้นำที่ดีที่สุดจะใช้กฎแห่งการจัดลำดับสิ่งสำคัญให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเมื่อระบุสิ่งสำคัญของตัวเองได้ครบถ้วนแล้ว พวกเขาก็จะเลือกทำเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับสิ่งสำคัญเหล่านั้น การทำเช่นนี้ช่วยให้พวกเขาจดจ่ออยู่กับสิ่งสำคัญได้ดีขึ้น ทั้งยังลดจำนวนสิ่งที่ต้องทำลงไปด้วย

บทที่ 18 กฎแห่งการยินดีที่จะสละ

คนที่ไม่ใช่ผู้นำมักเข้าใจผิดว่าผู้นำเป็นเรื่องของตำแหน่ง ผลประโยชน์ และอำนาจ ซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าในองค์กรของคนคนนั้น ทุกวันนี้คนจำนวนมากอยากไต่เต้าขึ้นไปยังจุดสูงสุดขององค์กร เพราะเชื่อว่าอิสรภาพ อำนาจ และความร่ำรวย คือรางวัลที่รออยู่บนนั้น ชีวิตของผู้นำอาจดูงดงามสำหรับคนภายนอก แต่จริง ๆ แล้วการเป็นผู้นำหมายถึงการยินดีที่จะสละ ผู้นำต้องยินดีที่จะสละเพื่อไปให้สูงขึ้น หัวใจของการเป็นผู้นำที่ดีคือ การยินดีที่จะสละ ถ้าอยากเป็นผู้นำที่ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะเป็นได้ ก็ต้องยินดีที่จะสละ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ผู้นำได้เป็นอย่างดี และหากตั้งใจที่จะทำเช่นนั้นจริง ๆ ก็จะบอกบางสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับกฎแห่งการยินดีที่จะสละ

1.ไม่มีความสำเร็จใดที่ปราศจากการเสียสละ ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ล้วนทำเช่นนั้นได้เพราะพวกเขาสละอะไรบางอย่าง ก่อนเริ่มต้นเส้นทางอาชีพ คนทำงานจำนวนมากต้องสละเวลา 4 ปีหรือมากกว่านั้น รวมทั้งเงินในการเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้มีเครื่องมือที่จำเป็นในการทำงาน ชีวิตคือการแลกเปลี่ยนครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องยอมเสียสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้อีกสิ่งหนึ่ง ผู้นำต้องยินดีที่จะสละเพื่อไปให้สูงขึ้น นี่เป็นความจริงสำหรับผู้นำทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใดก็ตาม พวกเขาสละอะไรบางอย่างมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว ผู้นำที่มีประสิทธิภาพยินดีที่จะสละสิ่งที่ดี และอุทิศตนเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด นี่คือกลไกของกฎแห่งการยินดีที่จะสละ

2.บ่อยครั้งผู้นำก็ต้องเสียสละมากกว่าคนอื่น สิ่งสำคัญของความเป็นผู้นำคือ การให้ความสำคัญกับผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ซึ่งหมายถึงการทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทีม ตอนที่ยังไม่ต้องรับผิดชอบอะไร สามารถทำสิ่งที่อยากทำได้แทบทุกอย่าง แต่ทันทีที่ต้องรับผิดชอบอะไรสักอย่าง จะเริ่มสัมผัสได้ถึงขีดจำกัดของสิ่งที่สามารถทำได้ ยิ่งมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีทางเลือกน้อยลงเท่านั้น คนเราย่อมมีความยินดีที่จะสละมากน้อยแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่แน่นอนคือ ผู้นำทุกคนต้องสละโอกาสต่าง ๆ ของตัวเอง นอกจากนี้บางคนยังยอมสละงานอดิเรกที่รัก หลายคนยอมสละชีวิตส่วนตัวบางด้าน และบางคนก็ยอมสละชีวิต สถานการณ์ของผู้นำแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่หลักการไม่มีวันเปลี่ยนแปลง นั่นคือการเป็นผู้นำหมายถึงการยินดีที่จะสละ

3.ต้องยินดีที่จะสละเรื่อยไปจึงจะรักษาตำแหน่งที่ยืนอยู่ได้ คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า การสละอะไรบางอย่างคือสิ่งจำเป็นต่อความก้าวหน้า ในช่วงแรกของการเป็นผู้นำ พวกเขายินดีทำในสิ่งที่ไม่อยากทำเพื่อสั่งสมชื่อเสียง ทันทีที่ผู้นำคิดว่าตัวเองเสียสละมากพอแล้ว และไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นอีกต่อไป ปัญหาก็จะเกิดขึ้นทันที เพราะสำหรับผู้นำการยินดีที่จะสละเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ไม่ใช่สิ่งที่ทำครั้งเดียวจบ ผู้นำต้องยินดีที่จะสละเพื่อไปให้สูงขึ้น และต้องยินดีที่จะสละสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น จึงจะรักษาตำแหน่งที่ยืนอยู่ได้

4.ยิ่งเป็นผู้นำในระดับสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องยินดีที่จะสละมากขึ้นเท่านั้น การเป็นผู้นำยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไหร่ สิ่งที่ต้องแลกก็จะยิ่งใหญ่มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในสาขาอาชีพใดก็ตาม ต้องยินดีที่จะสละ ต้องทำเช่นนั้นจึงจะขึ้นไปสู่จุดที่สูงกว่าเดิมได้ ไม่มีความสำเร็จใดที่ปราศจากจากการเสียสละ ทุกครั้งที่เห็นความสำเร็จก็มั่นใจได้เลยว่า ใครสักคนได้สละอะไรบางอย่าง เพื่อให้เกิดความสำเร็จนั่น หากผู้นำยอมสละอะไรบางอย่างแม้ตอนนี้อาจยังไม่เห็นความสำเร็จใด ๆ แต่เชื่อเถอะว่าในอนาคต จะต้องมีใครสักคนได้รับประโยชน์จากการเสียสละอย่างแน่นอน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อผู้นำเข้าใจและดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับกฎแห่งการยินดีที่จะสละ

บทที่ 19 กฎแห่งจังหวะเวลา

ผู้นำที่ดีเข้าใจดีว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำ มีความสำคัญพอ ๆ กับสิ่งที่ควรทำและเป้าหมาย บ่อยครั้งจังหวะเวลาก็เป็นตัวตัดสินว่า จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ทุกครั้งที่ผู้นำทำอะไรสักอย่าง การตัดสินใจของเขาจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ทั้งหมด 4 แบบ

1.การทำสิ่งที่ผิดในเวลาที่ผิดนำไปสู่หายนะ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้นำ ผู้นำก็ต้องปฏิบัติตามกฎแห่งจังหวะเวลาเสมอ ทำสิ่งที่ผิดในเวลาที่ผิดผู้คนก็จะเดือดร้อน และความเป็นผู้นำก็จะถูกทำลาย

2.การทำสิ่งที่ถูกในเวลาที่ผิด ทำให้เกิดการต่อต้าน สำหรับการเป็นผู้นำที่ดี ลำพังแค่มีวิสัยทัศน์สำหรับทิศทางขององค์กรหรือทีม และรู้วิธีไปถึงจุดนั้นยังนับว่าไม่เพียงพอ หากทำสิ่งที่ถูกในเวลาที่ผิดก็อาจล้มเหลว เพราะผู้ตามจะเกิดความรู้สึกต่อต้าน การทำสิ่งที่ถูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างดังนี้ ความเข้าใจ ความเหมาะสม ความมั่นใจ ความเด็ดขาด ประสบการณ์ สัญชาตญาณ การเตรียมพร้อม

3.การทำสิ่งที่ผิดในเวลาที่ถูกคือความผิดพลาด คนที่มีความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการติดตัวมาตั้งแต่เกิด มักมีสัญชาตญาณที่ดีเรื่องจังหวะเวลา พวกเขารู้โดยอัตโนมัติว่า เมื่อไหร่ที่ควรลงมือเพื่อคว้าโอกาส แต่บางครั้งพวกเขาก็ทำพลาด

4.การทำสิ่งที่ถูกในเวลาที่ถูก ก่อให้เกิดความสำเร็จ เมื่อผู้นำทำดีกับเวลาที่ถูกมาบรรจบกัน ก็จะเกิดสิ่งที่ยอดเยี่ยมสุด ๆ ขึ้น องค์กรจะบรรลุเป้าหมายได้รับผลประโยชน์ที่เหลือเชื่อ และมีแรงส่งมากขึ้น ความสำเร็จแทบจะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

การอ่านสถานการณ์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และรู้ว่าต้องทำอะไรยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำ ถ้าอยากให้องค์กร แผนก หรือทีมก้าวหน้า ต้องใส่ใจจังหวะเวลา มีเพียงการทำสิ่งที่ถูกในเวลาที่ถูก ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ หากไม่ทำเช่นนี้ก็มีแต่จะล้มเหลว ผู้นำไม่อาจหนีพ้นพลังของกฎแห่งจังหวะเวลาได้เลย

บทที่ 20 กฎแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดด

ผู้นำมักมีความอดทนต่ำ ผู้นำต้องการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พวกเขาอยากเห็นวิสัยทัศน์กลายเป็นจริง และดีใจเมื่อเห็นความก้าวหน้า ผู้นำที่ดีจะประเมินได้อย่างรวดเร็วว่า ตอนนี้องค์กรอยู่ในจุดไหน ระบุจุดที่องค์กรต้องมุ่งไป และรู้อย่างแน่ชัดว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ปัญหาคือคนอื่นและองค์กรมักตามความคิดของผู้นำไม่ทัน ผู้นำจึงกังวลเมื่อนึกถึงจุดที่เขา และคนของเขาอยู่ กับจุดที่พวกเขาควรอยู่ เหตุการณ์เช่นนั้นไม่ว่าจะร่วมงานกับองค์กรไหน จะมีภาพที่ชัดเจนเสมอว่า องค์กรนั้นควรมุ่งไปทางใด จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจุดที่องค์กรอยู่กับจุดที่อยากให้องค์กรไปให้ถึงได้อย่างไร

กฎแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดมีคำตอบให้ ถ้าพัฒนาตัวเองจะประสบความสำเร็จเพียงคนเดียว ถ้าพัฒนาทีมองค์กรจะเติบโต ถ้าพัฒนาผู้นำองค์กรจะเติบโตแบบก้าวกระโดด สามารถเติบโตได้ด้วยการพาผู้ตามเดินไปข้างหน้า แต่ถ้าอยากพัฒนาความเป็นผู้นำของตัวเองให้ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุด และช่วยให้องค์กรบรรลุศักยภาพสูงสุดได้ ก็ต้องพัฒนาผู้นำ ไม่มีวิธีอื่นใดแล้วที่สามารถก่อให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้

การเป็นผู้นำที่พัฒนาผู้นำ ต้องอาศัยทัศนคติและการให้ความสำคัญในสิ่งที่ต่างจากการพัฒนาผู้ตาม และพาพวกเขาก้าวไปข้างหน้าอย่างสิ้นเชิง ลองมาดูความแตกต่างระหว่างผู้นำที่พัฒนาผู้ตามกับผู้นำที่พัฒนาผู้นำกันดีกว่า

ผู้นำที่พัฒนาผู้ตามอยากเป็นที่ต้องการ ผู้นำที่พัฒนาผู้นำอยากให้มีคนสานต่อความสำเร็จ

ผู้นำที่พัฒนาผู้ตามพัฒนากลุ่ม 20% ล่าง ผู้นำที่พัฒนาผู้นำพัฒนากลุ่ม 20% บน

ผู้นำที่พัฒนาผู้ตามมองจุดอ่อน ผู้นำที่พัฒนาผู้นำมองจุดแข็ง

ผู้นำที่พัฒนาผู้ตามปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนกัน ผู้นำที่พัฒนาผู้นำปฏิบัติต่อแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ผู้นำที่พัฒนาผู้ตามใช้เวลากับผู้อื่น ผู้นำที่พัฒนาผู้นำลงทุนเวลากับผู้อื่น

ผู้นำที่พัฒนาผู้ตามเติบโตทีละก้าว ผู้นำที่พัฒนาผู้นำเติบโตแบบทวีคูณ

ผู้นำที่พัฒนาผู้ตามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนใกล้ชิดเท่านั้น ผู้นำที่พัฒนาผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนที่อยู่ไกลออกไปได้

การพัฒนาผู้นำก่อให้เกิดผลลัพธ์ยิ่งใหญ่ การพัฒนาความเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องใช้เวลา พลัง และทรัพยากรจำนวนมาก ดังที่จะอธิบายต่อไปนี้

1.การมองหาผู้นำเป็นเรื่องยาก ผู้นำที่ดีต้องมีอิทธิพลทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ มองเห็นและคว้าโอกาสได้ทันท่วงที รวมทั้งสามารถดึงดูดใจ ขอความร่วมมือ และกระตุ้นให้ผู้คนทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

2.การดึงผู้นำมาอยู่ด้วยเป็นเรื่องยาก แม้จะหาผู้นำเจอแล้ว แต่การดึงเขามาอยู่ด้วยก็อาจเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะพวกเขามีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ และอยากเดินไปตามเส้นทางของตัวเอง

3.การรักษาผู้นำไว้เป็นเรื่องยาก การหาและการดึงตัวผู้นำที่ดีมาอยู่ด้วยนับเป็นเรื่องยาก แต่การรักษาผู้นำให้อยู่ด้วยกลับยากยิ่งกว่านั้นอีก วิธีเดียวที่จะช่วยให้นำผู้นำทั้งหลายได้ก็คือ ต้องเป็นผู้นำที่ดีกว่าพวกเขา

สิ่งหนึ่งที่จะสามารถบรรลุศักยภาพของตัวเอง และช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ ก็ต่อเมื่อเริ่มพัฒนาผู้นำ แทนที่จะพัฒนาผู้ตามเพียงอย่างเดียว ผู้นำที่พัฒนาผู้นำจะประสบความสำเร็จในองค์กรแบบก้าวกระโดด ไม่มีวิธีใดจะมอบผลลัพธ์แบบนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทรัพยากร การลดต้นทุน การเพิ่มอัตรากำไร การพัฒนาระบบการใช้กระบวนการควบคุมคุณภาพ หรือการทำสิ่งอื่นใดก็ตาม วิธีเดียวที่จะช่วยให้ได้สัมผัสกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดก็คือการคำนวณที่ดี ต้องใช้วิธีคำนวณแบบผู้นำ นั่นคือพลังอันเหลือเชื่อของกฎแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดด

บทที่ 21 กฎแห่งมรดก

คุณค่าที่ยั่งยืนของผู้นำวัดได้จากการสืบทอด คนเราควรให้ความสำคัญกับประโยคแห่งชีวิต นั่นก็เพราะประโยคแห่งชีวิตไม่เพียงกำหนดทิศทางของชีวิต แต่ยังเป็นตัวกำหนดว่าจะทิ้งมรดกอะไรไว้ให้ผู้อื่นด้วย ความสำเร็จจะไม่มีความหมายมากนัก หากไม่ได้ทิ้งสิ่งที่มีคุณค่าไว้ให้คนรุ่นหลังเลย และสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทิ้งไว้ได้คือมรดกแห่งความเป็นผู้นำ

ถ้าอยากเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นหลัง ต้องให้ความสำคัญกับมรดกที่จะทิ้งไว้ให้พวกเขา เชื่อว่าทุกคนทิ้งมรดกอะไรสักอย่างไว้เสมอ บางคนทิ้งมรดกที่ดีงามเอาไว้ แต่บางคนก็ทิ้งมรดกที่เลวร้ายเอาไว้ และสิ่งหนึ่งที่รู้ก็คือ สามารถเลือกได้ว่าจะทิ้งมรดกแบบไหนให้คนรุ่นหลัง โดยต้องมุ่งมั่นและลงมือทำเพื่อสร้างมรดกที่อยากทิ้งไว้ ซึ่งมีวิธีดังต่อไปนี้

1.รู้ว่าตัวเองอยากทิ้งมรดกใดเอาไว้ คนส่วนใหญ่ยอมรับชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ แต่ไม่ได้เป็นผู้นำชีวิตของตัวเอง เชื่อว่าคนเราต้องควบคุมวิถีชีวิตของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ ชีวิตก็เหมือนหนังสือ ชื่อหนังสือคือชื่อของตัวคุณเอง คำนำคือส่วนที่เกริ่นนำเพื่อเปิดตัวสู่โลกใบนี้ ส่วนเนื้อหาคือบันทึกประจำวันเกี่ยวกับการกระทำ การลองผิดลองถูก ความสุข ความผิดหวังและความสำเร็จ ความคิดและการกระทำ จะถูกบันทึกลงไปในหนังสือแห่งชีวิตเล่มนี้ทุกวัน สิ่งที่จะคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์นี้ จะถูกบันทึกอย่างละเอียดแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง เมื่อมาถึงหน้าสุดท้ายที่มีคำว่าจบบริบูรณ์ ก็หวังว่าผู้คนจะพูดถึงหนังสือว่าเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยจุดมุ่งหมายอันสูงส่ง การรับใช้ที่ยิ่งใหญ่ และความสำเร็จที่น่าประทับใจ

2.ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับมรดกที่อยากทิ้งไว้ ถ้าอยากได้รับความเชื่อถือในฐานะผู้นำ ต้องใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งที่เชื่อมั่น สิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสังคมมีอยู่ 7 อย่างนั่นคือ ศาสนา เศรษฐกิจ รัฐบาล ครอบครัว สื่อมวลชน การศึกษา และกีฬา ถ้าอยากสร้างมรดกทิ้งไว้ให้คนอื่นก็ต้องใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งนั้น ต้องทำในสิ่งที่อยากให้คนอื่นทำเสียก่อน

3.เลือกคนที่จะสืบทอดมรดก มรดกจะถูกสืบทอดโดยผู้คนไม่ใช่สิ่งของ การสืบทอดเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบหลักของผู้นำ แต่ดูเหมือนว่าจะมีผู้นำเพียงหยิบมือเดียวที่ปฏิบัติตามกฎแห่งมรดก ผู้นำมักทุ่มเทพลังให้กับองค์กร อาคาร และระบบ หรือสิ่งไร้ชีวิตอื่น ๆ แต่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ยังคงมีชีวิตต่อไปอีกยาวนาน หลังจากที่จากไปแล้ว สิ่งอื่น ๆ เป็นเพียงสิ่งที่คงอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ผู้นำมักมีการพัฒนาในเรื่องการทิ้งมรดกไว้ให้คนรุ่นหลังเป็นลำดับ โดยเริ่มจากความปรารถนาที่จะทำงานให้ลุล่วง

4.ส่งไม้ให้ดี ผู้นำที่ดีที่สุดจะนำโดยคำนึงถึงวันพรุ่งนี้ ด้วยการลงทุนในตัวผู้นำ ที่จะสืบทอดมรดกของเขาต่อไป นั่นก็เพราะคุณค่าที่ยั่งยืนของผู้นำ วัดได้จากการสืบทอด นี่คือกฎแห่งมรดก

ชีวิตนั้นแสนสั้นและเรื่องสำคัญที่ควรตระหนักเสมอก็คือ สิ่งที่จะตัดสินศักยภาพในฐานะผู้นำ ไม่ใช่สิ่งที่ทำสำเร็จ อาจสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสุดขีด แต่หลังจากผ่านไปไม่กี่ชั่วอายุคนมันก็จะถูกลืม สิ่งที่ตัดสินศักยภาพในฐานะผู้นำไม่ใช่อาคารที่สร้าง องค์กรที่ก่อตั้ง หรือความสำเร็จที่ทีมทำได้ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้นำ สิ่งที่จะตัดสินก็คือความจริงที่ว่า ผู้คนที่ลงทุนด้วยการพัฒนาพวกเขาขึ้นมานั้น ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีแค่ไหนหลังจากที่ไม่อยู่แล้ว สุดท้ายแล้วผู้คนจะตัดสินตามแนวคิดของกฎแห่งมรดกที่ว่า คุณค่าที่ยั่งยืนของผู้นำได้จากการสืบทอด ดังนั้นมาใช้ชีวิตและเป็นผู้นำในแบบที่สอดคล้องกับกฎนี้กันเถอะ

บทส่งท้าย

ทุกสิ่งรุ่งเรืองและล่มสลายได้ด้วยความเป็นผู้นำ

ตอนนี้ได้รู้กฎ 21 ข้อแห่งความเป็นผู้นำที่ไม่อาจโต้แย้งได้แล้ว จงเรียนรู้กฎเหล่านั้น ศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิต หากปฏิบัติตามกฎเหล่านั้น ผู้คนก็จะเดินตาม ทุกสิ่งรุ่งเรืองและล่มสลายได้ด้วยความเป็นผู้นำ ยิ่งพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพบว่าความเป็นผู้นำสามารถทำให้เกิดความแตกต่างได้มากเท่านั้น ทุกสิ่งที่ทำซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้อื่น และประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำ ขณะที่พัฒนาองค์กรต้องจำสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ดี บุคลากรคือตัวกำหนดศักยภาพขององค์กร ความสัมพันธ์คือตัวกำหนดขวัญและกำลังใจของผู้คนในองค์กร โครงสร้างคือตัวกำหนดขนาดขององค์กร วิสัยทัศน์คือตัวกำหนดทิศทางขององค์กร ความเป็นผู้นำคือตัวกำหนดความสำเร็จขององค์กร

เมื่อรู้และเข้าใจกฎทั้งหมดแล้ว ก็ขอให้นำกฎเหล่านี้ไปสอนคนในทีม รวมทั้งประเมินตัวเองในแง่ของกฎแต่ละข้อ แน่นอนว่าไม่มีใครปฏิบัติตามกฎทุกข้อได้เป็นอย่างดี นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องสร้างทีมขึ้นมา ขอให้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเส้นทางแห่งการเป็นผู้นำ จงไล่ตามความฝัน ทุ่มเทเพื่อความเป็นเลิศ พัฒนาตัวเองเพื่อเป็นคนอย่างที่ควรเป็น และทำทุกอย่างทุกสิ่งที่เป็นเหมือนภารกิจในชีวิตนี้ให้สำเร็จ.