หากนึกภาพของการขนเงินเป็นปึกๆ เพื่อจะไปซื้อไข่เพียงฟองเดียว คงมีไม่กี่ประเทศที่เรานึกถึง โดยประเทศที่เราจะมาเล่าความเป็นมาของเงินเฟ้ออันดับต้นๆของโลก คือ ประเทศเวเนซุเอลา ที่เคยถูกมองว่าเป็นดาวเด่น ฝั่งลาตินอเมริกา แต่ฝันนั้นต้องจบลง ที่ดาวส่องสว่างดวงนี้นี้ กลับกลายเป็นดาวดับไปแล้ว เกิดอะไรขึ้นบ้างลองไปดูกัน
ก่อนที่เวเนซุเอลาจะเจอแหล่งนํ้ามัน เศรษฐกิจในช่วงนั้นจะเน้นการส่งออกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น กาแฟ, โกโก้ และอ้อย เป็นต้น โดยรายได้หลักของประเทศก็มาจากพืชผลทางการเกษตร แต่ทว่าในปี 1914 กลับพบจุดเปลี่ยนของประเทศ จากการค้นพบแหล่งนํ้ามัน ในขณะนั้นได้มีรัฐบาลทหารปกครองอยู่
จุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดี แต่เปลี่ยนให้แย่ลง ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งวิกฤตเลยก็ว่าได้ โดยรัฐบาลทหาร ก็ได้ขายสัมปทานให้กับบริษัทข้ามชาติ ทำให้เกิดการคอรัปชั่นมากมายในประเทศ การกระทำดังกล่าวไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศเลย
เพียงไม่กี่ปีต่อมาเวเนซุเอลาก็ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกนํ้ามันอันดับต้นๆของโลก ทำให้ความสำคัญการภาคการเกษตรในประเทศถูกลดทอนลงเรื่อย เพราะรัฐบาลก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะส่งเสริมแต่อย่างใดเลย รัฐบาลก็ได้แต่แก้ปัญหาโดยการนำเข้าพืชผลทางการเกษตรแทน
เกิดการเปลี่ยนขั่วทางการเมือง เพื่อที่จะกีดกันทหารให้ออกจากระบอบการปกครอง และจะผลักดันอุตสาหกรรมอื่นๆในประเทศ แต่ทว่าราคานํ้ามันยังคงสูงต่อเนื่อง จนทำให้การส่งออกในประเทศมากกว่า 90% มาจากนํ้ามัน
รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งในสมัยนั้น เน้นใช้งบประมาณที่เกินตัว ไปกับนโยบายประชานิยม เงินส่วนใหญ่ที่ใช้ก็มาจากรายได้จากการส่งออกนํ้ามันในช่วงนํ้ามันกำลังเป็นขาขึ้น ทุกๆอย่างกำลังไปได้ดี เพราะทุกฝ่ายได้ประโยชน์
จุดพลิกพันก็เกิดขึ้นจากราคานํ้ามันโลกเป็นขาลงและดอกเบี้ยที่กำลังจะปรับขึ้น เพื่อสกัดเงินเฟ้อ นับเป็นหายนะที่กำลังจะกลืนกินประเทศให้ค่อยๆหายไป รัฐบาลมีรายได้ลดลง แต่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมหาศาลจากการไปกู้ เพื่อมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากเกินความจำเป็น ทำให้เกิดหนี้มหาศาล
แล้วรัฐบาลขณะนั้นไม่สามารถอุ้มนโยบายต่างๆ ที่เอื้อประชาชนได้เหมือนเดิม ก็เกิดการประท้วงและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่สุด
เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาก็ได้วนลูป ตามราคานํ้ามันแบบนี้ไปเรื่อยๆ ปัญหาของนโยบายประชานิยมกำลังก่อตัวขึ้น ท่ามกลางวิกฤตที่กำลังรอในอนาคต
ในช่วง 30 ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ผลักดันภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้พัฒนา ทำให้สินค้าที่ขายภายในประเทศส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าเป็นหลัก และการกำหนดเพดานราคา ที่ทำให้เกิดตลาดมืดจำนวนมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่น ๆก็ได้ตายตามกาลเวลา
สุดท้ายแล้วการล่มสลายทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่มาจากผลพ่วงจากรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ เกิดคอรัปชั่นมากมาย เป็นผลพวงให้เกิดนโยบายประชานิยม ที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน และด้วยความที่ส่งออกนํ้ามันเป็นหลัก จนทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ตายลง จนยากจะฟื้นคืนได้ในระยะเวลาอันสั้น ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของบทสรุปนี้ จุดเริ่มต้นของวิกฤตนี้เสมือนการติดกระดุกเม็ดแรกที่ผิด เม็ดต่อมาก็ผิดไปด้วย