ในโลกของธุรกิจทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่นิยมมองการเติบโตของบริษัท ด้วยการที่ดูรายได้,อัตรากำไรขั้นต้น และ กำไรสุทธิ เป็นต้น หากบริษัทที่มีรายได้และกำไรเติบโตดี ก็หมายความว่าบริษัทมีทิศทางในการเติบโตที่ดี แต่รู้มั้ยว่าหากเรามองแค่นี้ ก็ไม่อาจเพียงพอได้ วันนี้จึงมาบอกกุญแจที่สำคัญที่ช่วยมองธุรกิจให้รอบด้าน ด้วย วงจรเงินสด หรือ Cash Conversion Cycle (CCC) แล้วตัวเลขนี้มีความสำคัญยังไง ไปลองดูกัน
วงจรเงินสด หรือ Cash Conversion Cycle (CCC) เป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงระยะเวลาตั้งแต่การซื้อวัตถุไปจนถึงการได้รับการชำระเงินจากลูกค้า ซึ่งเงินสดถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญให้บริษัทยังคงอยู่รอดได้ เสมือนกับ ออกซิเจน หากไม่มีออกซิเจน แล้วหล่ะก็ร่างกายที่เปรียบเป็นธุรกิจย่อมแย่ลงแน่ๆ
โดยวงจรเงินสดนี้ถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีในการสะท้อนประสิทธิภาพในการดำเนินงาน,อำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์และลูกค้า และกลยุทธ์การแข่งขันในตลาด เป็นต้น หลายคนอาจกำลังงงว่าเพียงตัวเลขเดียว ทำไมถึงสะท้อนหลายอย่าง ลองไปดูกันต่อ ว่า วงจรเงินสด หรือ Cash Conversion Cycle (CCC) มีหลักการคิดยังไง
วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาชำระหนี้
ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก
- ระยะเวลาขายสินค้า (Inventory Conversion Period): ระยะเวลาเฉลี่ยที่สินค้าคงคลังอยู่ในคลังก่อนที่จะขายได้ หรือ 365/อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ
- ระยะเวลาเก็บหนี้ (Receivable Conversion Period): ระยะเวลาเฉลี่ยที่บริษัทใช้ในการเก็บเงินจากลูกหนี้ หรือ 365/อัตราหมุนเวียนลูกหนี้การค้า
- ระยะเวลาชำระหนี้ (Payable Conversion Period): ระยะเวลาเฉลี่ยที่บริษัทใช้ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรือ 365/อัตราหมุนเวียนเจ้าหนี้การค้า
ซึ่งหากบริษัทที่มีวงจรเงินสดที่น้อย หมายความว่าบริษัทจะได้รับเงินสดเร็ว ย่อมส่งผลดีต่อสภาพคล่องของบริษัท ในทางกลับกัน หากบริษัทมีวงจรเงินสดที่เยอะ แสดงว่าบริษัทได้รับเงินช้าก็อาจส่งผลต่อสภาพคล่องได้นั่นเอง
พอจะรู้จักวงจรเงินสดกันบ้างแล้ว ลองมาดูกันว่าหากบริษัทอยากลดวงจรเงินสดให้น้อยลงต้องทำอย่างไรบ้าง
- ลดระยะเวลาขายสินค้า: ควบคุมปริมาณสินค้าคงคลังให้เหมาะสม ปรับปรุงกระบวนการผลิตและการจัดจำหน่าย
- ลดระยะเวลาเก็บหนี้: กำหนดนโยบายเครดิตที่ชัดเจน เร่งรัดการเก็บเงินจากลูกหนี้
- เพิ่มระยะเวลาชำระหนี้: ขอขยายระยะเวลาเครดิตจากเจ้าหนี้
ในด้านของการลงทุนหากบริษัทมีวงจรเงินสด หรือ Cash Conversion Cycle (CCC) ที่น้อยลงเรื่อยๆ ถือว่าเป็นทิศทางที่ดีได้เลย
สุดท้ายแล้วการดูรายได้และกำไรของบริษัท ก็ถือว่าสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั่นคือการดูวงจรเงินสด เปรียบเสมือนการวัดสุขภาพของธุรกิจ ที่เป็นเครื่องมือสะท้อนถึงกลยุทธ์ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ การเข้าใจ CCC อย่างลึกซึ้งและการใช้มันเป็นเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจ จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน และดีต่อนักลงทุนอย่างแน่นอน