ตามปกติแล้วบริษัทจะทำการวิเคราะห์เพื่อหาสัดส่วนเงินทุนที่เหมาะสมที่สุดเพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการปรับสัดส่วนในอนาคต ซึ่งสัดส่วนที่เหมาะสมนี้ก็คือสัดส่วนที่บริษัทมองว่าจะทำให้เกิดต้นทุนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (WACC) มีค่าต่ำที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าบริษัทสูงที่สุดตามมา อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงสัดส่วนโครงสร้างเงินทุนมีการผันผวนอยู่ตลอดเวลาเนื่องจาก:

– ผู้บริหารอาจมองเห็นโอกาสในการปรับโครงสร้าง เช่น หากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูง ผู้บริหารอาจทำการเพิ่มทุน ส่งผลให้สัดส่วนของหุ้นสูงขึ้น

– ในการวัดมูลค่าของโครงสร้างเงินทุนจะใช้มูลค่าตลาดเป็นหลัก ดังนั้นหากมูลค่าตลาดมีความผันผวน สัดส่วนโครงสร้างเงินทุนก็จะผันผวนไปด้วย

ตามปกติแล้วบริษัทจะไม่ได้เปิดเผยถึงโครงสร้างเงินทุนที่ต้องการปรับให้นักวิเคราะห์หรือผู้ถือหุ้นทราบ แต่ว่าเราควรที่จะใช้โครงสร้างเป้าหมายนี้ในการคำนวณสัดส่วนของทั้งหนี้, หุ้นบุริมสิทธิ, และหุ้นสามัญ เพื่อหาค่า WACC ดังนั้นเรามีตัวเลือกที่สามารถทำได้ดังนี้:

– ใช้โครงสร้างเงินทุนปัจจุบัน

– หาโครงสร้างเงินทุนจากแนวโน้มในอดีต

– ใช้ค่าเฉลี่ยโครงสร้างเงินทุนของอุตสาหกรรม

นอกจากต้นทุนจาก WACC แล้วยังมีต้นทุนแอบแผงอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าต้นทุนความไม่สมมาตรของข้อมูล (Costs of asymetric information) ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริหารมีข้อมูลมากกว่าที่ผู้ถือหุ้นหรือผู้ปล่อยเงินกู้มี ตามปกติแล้วบริษัทที่มีจำนวนสินค้าที่ซับซ้อนหรือไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินงานมักจะมีต้นทุนนี้สูง ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นและผู้ปล่อยกู้ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากความเสี่ยงที่สูงขึ้นนี้

Source: https://www.wallstreetmojo.com/asymmetric-information/

ถึงแม้ว่าบุคคลภายนอกจะไม่สามารถล่วงรู้ข้อมูลบริษัทได้มากเท่ากับผู้บริหาร แต่ก็จะมีสัญญาณบ่งบอกถึงแผนการของผู้บริหารได้ เช่น การออกหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่แปลว่าบริษัทมีความมั่นใจว่าจะมีความสามารถในการจ่ายเงินคืนได้ในอนาคต หรือหากบริษัทออกหุ้นเพิ่มทุนก็อาจเป็นสัญญาณลบจากการที่ผู้บริหารมองว่าราคาหุ้นได้ขึ้นไปสูงเกินไปแล้วและ Costs of asymetric information ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่เพิ่มขึ้น

ส่วนต้นทุนอีกชนิดหนึ่งคือ Agency costs of equity เกิดจากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ (Conflicts of interest) ระหว่างผู้บริหารและผู้ถือหุ้น โดยหากผู้บริหารได้รับเพียงแค่ค่าจ้างอย่างเดียวก็อาจบริหารบริษัทให้มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้บริษัทไม่เติบโตหรือเติบโตช้า ผู้ถือหุ้นจึงต้องควบคุมเหตุกรณ์นี้โดยใช้ต้นทุนดังนี้:

ต้นทุนสำหรับการเฝ้าติดตามฝ่ายบริหาร (Monitoring costs) เช่นค่าใช้จ่ายในการออกรายงานเพื่อให้ผู้ถือหุ้นทราบ ซึ่งบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ต้นทุนด้านพันธะ (Bonding costs) เช่นการรับประกันผลการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจว่าผู้บริหารทำงานเพื่อความต้องการของผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง

– ถึงแม้ว่าจะใช้ต้นทุนในการควบคุมไม่ให้เกิด Conflicts of interest แล้ว แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ

เป็นเรื่องปกติที่ผู้บริหารต้องการที่จะส่งสัญญาณด้านลบออกไปให้น้อยที่สุด ดังนั้นตามทฤษฎีการจัดหาเงินทุนตามลำดับขั้น (Pecking Order Theory) ระบุว่าลำดับการใช้เงินทุนที่ผู้บริหารเลือกที่จะใช้มากที่สุดไปน้อยที่สุดตามลำดับประกอบด้วย (1) เงินทุนภายในบริษัท (2) เงินกู้ (3) การออกหุ้นเพิ่มทุน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง