Source: (Guo & Pan, 2022)
หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มกันไปในบทความที่แล้ว ในบทความนี้เราจะมาดูรายละเอียดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มว่ามีหลักและขั้นตอนการทำงานอย่างไรบ้าง
ผู้ถือหุ้น
บริษัทจะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งหลังจบปีงบประมาณ เพื่ออธิบายผลประกอบการในปีที่ผ่านมา รวมถึงตอบคำถามของนักลงทุน ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีกฎหมายกำหนดช่วงเวลาสำหรับจัดประชุมผู้ถือหุ้น และวิธีการสื่อสารให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ ในประเทศไทยผู้ที่ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิเข้าประชุมและออกเสียงโหวตได้ อีกทั้งยังสามารถส่งตัวแทน (Proxy) ไปประชุมแทนได้อีกด้วย
ในการโหวตเพื่อเลือกแนวทางที่บริษัทจะเดินหน้าต่อไป เช่น การเลือกกรรมการบริหาร จะใช้การโหวตเพื่อหาเสียงข้างมากตามปกติ แต่ถ้าหากเป็นการเลือกแนวทางที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น การคงบรวมกิจการ หรือการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆของบริษัท อาจจำเป็นต้องใช้คะแนนเสียงข้างมากพิเศษ โดยอาจต้องการเสียงตั้งแต่สองในสาม หรือสามในสี่ของผู้โหวตจึงจะโหวตผ่านได้ ซึ่งบริษัทสามารถจัดการประชุมวิสามัญขึ้นเมื่อใดก็ได้เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมาลงคะแนนเสียง
ในการเลือกบอร์ดบริหารคนใหม่ที่มีผู้ลงสมัครหลายคน จะเป็นการใช้การเลือกโดยผู้ที่ได้คะแนนโหวตมากที่สุด (Majority voting) จะได้ตำแหน่งไป โดยบางครั้งบริษัทอาจใช้การเลือกแบบสะสมคะแนน (Cumulative voting) ที่ผู้ถือหุ้นสามารถแบ่งคะแนนเสียงตามจำนวนหุ้นที่ตัวเองมีอยู่เพื่อแบ่งโหวตให้ผู้สมัครหลายๆคนได้
ผู้ถือหุ้นที่เป็นนักเคลื่อนไหว (Activist shareholders) เป็นผู้ที่ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อบริษัท ซึ่งผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้สามารถกดดันบริษัทให้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องการได้ โดยการฟ้องร้องผู้บริหาร หรือใช้ตัวแทนในบอร์ดบริหารในการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวทางและแจ้งปัญหาให้ผู้ถือหุ้นคนอื่นๆทราบเพื่อเรียกคะแนนเสียง หรือการเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นในราคาที่สูงกว่าตลาด (Tender offer) เพื่อให้มีอำนาจมากพอในการโหวตเปลี่ยนแปลงแนวทางบริษัท
ผู้ปล่อยเงินกู้
เมื่อบริษัทมีการออกหุ้นกู้ จะมีเอกสารข้อตกลงทางกฎหมาย (Bond indenture) ที่บอกถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น และข้อผูกมัดของบริษัท ที่อธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่บริษัทต้องทำและห้ามทำเอาไว้ ในหุ้นกู้บางประเภทจะมีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Collateral) ที่ผู้ถือหุ้นกู้สามารถยึดไปได้ในกรณีที่บริษัทเกิดการผิดนัดชำระ
ผู้ถือหุ้นกู้อาจมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองในช่วงเวลาที่บริษัทเกิดภาวะยากลำบากทางการเงิน ในบางประเทศมีกฎหมายให้จัดตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นเมื่อบริษัทขอยื่นล้มละลาย
บอร์ดและฝ่ายบริหาร
สมาชิกบอร์ดบริหารเป็นผู้ที่ถูกเลือกขึ้นมาโดยการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นเพื่อที่จะบริหารบริษัทไปในแนวทางที่ผู้ถือหุ้นต้องการ ซึ่งบอร์ดบริหารจะมีคณะกรรมการหลายด้านที่ประกอบไปด้วยสมาชิกบอร์ดที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ
คณะกรรมการต่างๆจะขึ้นตรงกับบอร์ดบริหารเพื่อให้คำปรึกษาอย่างรอบด้าน ตัวอย่างคณะกรรมการประกอบด้วย คณะกรรมการตรวจสอบบัญชี (Audit committee), คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ (Governance committee), คณะกรรมการเสนอสมาชิกบอร์ดคนใหม่ (Nomination committee), คณะกรรมการดูแลค่าตอบแทน (Compensation committee), คณะกรรมการดูแลความเสี่ยง (Risk committee), และคณะกรรมการจัดการการลงทุน (Investment committee) โดยจำนวนและขนาดของคณะกรรมการจะขึ้นอยู่กับขนาด, ประเภท, และความซับซ้อนของบริษัท
พนักงาน, ลูกค้า, และซัพพลายเออร์
กลไลหลักในการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างประกอบด้วย กฎหมายแรงงาน, สัญญาจ้างงาน, และสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ในบางประเทศมีการกำหนดให้ตัวแทนของลูกจ้างเข้าไปอยู่ในบอร์ดบริหารสำหรับในบริษัทที่มีขนาดใหญ่อีกด้วย การจัดสรรหุ้นบริษัทให้แก่ลูกจ้างก็เป็นตัวช่วยในการปรับความต้องการของลูกจ้างให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับบริษัทมากขึ้นอีกด้วย ส่วนลูกค้าและซัพพลายเออร์ของบริษัทก็จะมีสัญญาในการส่งมอบสินค้าและบริหารเป็นตัวบริหารความสัมพันธ์กับบริษัท
รัฐบาล
รัฐบาลมีหน้าที่กำกับดูแล, ออกและบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทต่างๆ มักจะมีการจัดตั้งองค์กรต่างๆเพื่อกำกับดูแลแต่ละอุตสาหกรรม เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ที่กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้รัฐบาลยังคอยสอดส่องปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของสถานที่ทำงานโดยการออกระเบียบการบริหารจัดการบริษัทเพื่อให้บริษัทต่างๆปฏิบัติตาม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: การกำกับดูแลกิจการ และ ESG (Part 1) ประเภทของ Stakeholders
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: การกำกับดูแลกิจการ และ ESG (Part 2) ความขัดแย้งระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: การกำกับดูแลกิจการ และ ESG (Part 3) Stakeholder mechanisms
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: การกำกับดูแลกิจการ และ ESG (Part 4) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำกับกิจการ