จากพาร์ทที่แล้วที่เราพูดถึงอัตราส่วนทางการเงินสำหรับประเมินความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น คราวนี้เราจะมาพูดถึงอัตราส่วนสำหรับวัดความสามารถดังกล่าวในระยะยาว ซึ่งอัตราส่วนเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการนำปริมาณหนี้ที่มีอยู่หารด้วยค่าต่างๆจาก Balance sheet และที่เหลือเป็นอัตราส่วนที่วัดความสามารถในจ่ายดอกเบี้ย (Coverage ratios)
สำหรับ Solvency ratio ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ Debt-to-equity ratio ซึ่งเป็นการเทียบสัดส่วนระหว่างหนี้ที่มีทั้งหมด กับปริมาณส่วนของผู้ถือหุ้น มีสูตรคำนวณดังนี้
Debt to equity ratio = Total debt / Total equity
นอกจากจะเทียบปริมาณหนี้กับส่วนของผู้ถือหุ้นแล้ว ยังสามารถเทียบปริมาณหนี้กับเงินทุนสุทธิ, สินทรัพย์รวม, และ EBITDA ได้ด้วย Debt-to-capital, Debt-to-assets, และ Debt-to-EBITDA ratio มีสูตรคำนวณดังนี้
Debt to capital ratio = (Total debt) / (Total debt + Total equity)
Debt to assets ratio = Total debt / Total assets
Debt to EBITDA ratio = Total debt / EBITDA
ค่าจากทั้ง 4 อัตราส่วนด้านบนยิ่งมีค่ามาก หมายความว่าบริษัทยิ่งมีการพึ่งพาเงินทุนจากหนี้สินมากขึ้น และส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในแต่ละอุตสาหกรรมมีค่าอัตราส่วนหนี้สินที่เหมาะสมไม่เท่ากัน จึงควรใช้เปรียบเทียบระหว่างบริษัทที่มีรูปแบบการทำธุรกิจเหมือนๆกันเท่านั้น
เมื่อบริษัทมีการสร้างหนี้สินเพิ่มเติมก็จะส่งผลให้มีปริมาณสินทรัพย์เพิ่มขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น หนี้สินที่สร้างมาได้รับในรูปแบบเงินสดก็จะทำให้สัดส่วนระหว่างสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นสูงขึ้น เกิดเป็น Financial leverage ratio มีสูตรคำนวณดังนี้
Financial leverage ratio = Average total assets / Average total equity
ซึ่งค่า Average คือค่าเฉลี่ยระหว่างช่วงต้นและสิ้นสุดของวดที่ใช้คำนวณ ยิ่งค่า Financial leverage ratio สูง แปลว่ามีการสร้างหนี้สินในปริมาณที่สูงเช่นกัน
ส่วน Solvency ratios กลุ่มสุดท้ายได้แก่ Coverage ratios ซึ่งใช้วัดความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทโดยตรง โดยมี Interest coverage ratio เป็นอัตราส่วนที่คนนิยมใช้ คำนวณโดยการนำ EBIT หารด้วยดอกเบี้ยจ่าย ดังนี้
Interest coverage ratio = EBIT / Interest payments
Coverage ratio อีกตัวหนึ่งคือ Fixed-charge coverage ratio ซึ่งมีการบวกค่าเช่าที่จ่ายไปกลับเข้ามา เหมาะใช้กับบริษัทที่มีสัดส่วนค่าเช่าสูงๆ มีสูตรคำนวณดังนี้
Fixed charge coverage ratio = (EBIT + + Lease payments) / (Interest payments + Lease payments)
ในบทความถัดไปเราจะมาอธิบายเกี่ยวกับอัตราส่วนทางการเงินกลุ่มสุดท้ายที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไร (Profitability ratios) เป็นอัตราส่วนกลุ่มแรกๆที่นักวิเคราะห์ และนักลงทุนหุ้นให้ความสำคัญ เนื่องจากบ่งบอกถึงผลลัพธ์ของการดำเนินงานหลักของแต่ละบริษัท ซึ่งก็คือกำไรนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: อัตราส่วนทางการเงิน (Part 1) บทนำ
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: อัตราส่วนทางการเงิน (Part 2) Activity Ratios
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: อัตราส่วนทางการเงิน (Part 3) Liquidity Ratios
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: อัตราส่วนทางการเงิน (Part 4) Solvency Ratios
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: อัตราส่วนทางการเงิน (Part 5) Profitability Ratios
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: อัตราส่วนทางการเงิน (Part 6) DuPont Analysis
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: อัตราส่วนทางการเงิน (Part 7) อัตราส่วนอื่นๆ