ในการคัดเลือกหุ้นแบบ Top-down approach คือการที่เราวิเคราะห์เศรษฐกิจในภาพใหญ่ก่อน จากนั้นจึงเจาะลึกลงไปสู่การเลือกอุตสาหกรรมและหุ้นที่เหมาะสมแก่การลงทุน โดยการเลือกอุตสาหกรรมที่ดีนั้นเราจะต้องวิเคราะห์จากปัจจัยหลายๆด้านที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นหรือหดตัวลง วันนี้เราจะพามาดูกลยุทธ์ที่จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้ว่าเราควรจะเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมใด

อุตสาหกรรมวัฏจักรและไม่ใช่วัฏจักร

อุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักร (Cyclical industries) คืออุตสาหกรรมที่ผลประกอบการขึ้นกับรอบของเศรษฐกิจเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเทคโนโลยีต่างๆซึ่งเป็นสินค้าที่ยังไม่จำเป็นต้องซื้อในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ต่างจากอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่วัฏจักร (Non-cyclical industries) ที่ผลประกอบการค่อนข้างจะคงที่ในสภาวะเศรษฐกิจแบบต่างๆ เนื่องจากเป็นสินค้าและบริการที่ลูกค้าจำเป็นต้องใช้อยู่ตลอดเวลา อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการสุขภาพต่างๆ ส่งผลให้หุ้นในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่วัฏจักรมีความมั่นคงสูงกว่าในเวลาที่เศรษฐกิจถดถอยลง อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หุ้นในอุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรก็จะได้รับประโยชน์มากกว่าเนื่องจากมีความผันผวนต่อเศรษฐกิจสูงกว่านั่นเอง

วงจรชีวิตของอุตสาหกรรม

เราจำเป็นที่ต้องวิเคราะห์วงจรชีวิตของอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละช่วงของวงจรมีความเสี่ยงที่ต่างกัน ในช่วงแรกเริ่ม (Embryonic stage) บริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมจะต้องการเงินลงทุนที่สูง แต่ยังคงมีการเติบโตที่ช้าและมีความเสี่ยงที่จะไปไม่รอดสูง ต่อมาเป็นช่วงเติบโต (Growth stage) เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมมีการเติบโตเร็วที่สุด สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกลงจากการผลิตจำนวนมากและได้ผลกำไรสูง จากนั้นจะเป็นช่วงชลอตัว (Shakeout stage) ซึ่งอุตสาหกรรมจะเริ่มเติบโตช้าลงและมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีกำไรลดลงและบริษัททะยอยปิดตัวลง และเข้าสู่ช่วงอิ่มตัว (Mature stage) ซึ่งแทบไม่มีการเติบโตแล้วและเกิดการควบรวมบริษัทเพื่อลดการแข่งขัน และช่วงสุดท้ายคือช่วงถดถอย (Decline stage) ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านสู่เทรนด์ใหม่ๆ ทำให้สินค้าและบริการแบบเดิมค่อยๆหายไป

ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมที่จะมีวงจรชีวิตครบทั้ง 5 ช่วงตามที่กล่าวไว้ โดยวงจรชีวิตอาจถูกรบกวนจากปัจจัยต่างๆ เช่น เทรนด์ที่เปลี่ยนไป, นโยบายจากรัฐบาล หรือรูปแบบของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้อุตสาหกรรมนั้นๆหายจากตลาดไปอย่างรวดเร็วได้

Porter’s Five Forces

Source: https://analystprep.com/cfa-level-1-exam/equity/industry-life-cycle-models/

Porter’s Five Forces ห้าปัจจัยหลักในการวิเคราะห์การแข่งขัน

เป็นเรื่องปกติของโลกธุรกิจที่เมื่อมีการแข่งขันในอุตสาหกรรมสูงขึ้น จะทำให้แต่ละบริษัทสามารถทำกำไรได้น้อยลง ดังนั้นนักลงทุนจึงจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ระดับการแข่งขันภายในแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อเปรียบเทียบความน่าสนใจก่อนตัดสินใจลงทุน โดย Michael E Porter เสนอ 5 ปัจจัยในการวิเคราะห์ลักษณะของแต่ละอุตสาหกรรม ประกอบด้วย:

  1. การแข่งขันระหว่างคู่แข่งในอุตสาหกรรม เมื่อมีหลายบริษัทแข่งขันกัน ส่งผลให้มีการแย่งส่วนแบ่งการตลาดกัน มีการปรับลดราคาและทำให้กำไรลดลงตามมา
  2. ความยากในการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ อุตสาหกรรมใดที่ผู้แข่งขันรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจได้ยาก จะสามารถรักษาระดับการแข่งขันเอาไว้ไม่ให้สูงเกินไปได้
  3. สินค้าทดแทน การมีสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้เข้ามาในตลาด จะเป็นตัวกดราคาสินค้าเดิม เนื่องจากเป็นการเพิ่มการแข่งขันและปริมาณอุปทานขึ้น ในขณะที่ปริมาณอุปสงค์มีเท่าเดิม
  4. อำนาจต่อรองของลูกค้า หากลูกค้ารายใหญ่ เช่น รัฐบาลหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่ซื้อสินค้าในปริมาณมาก สามารถต่อรองเพื่อซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง ก็จะส่งผลต่อกำไรได้เช่นกัน
  5. อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์ ซัพพลายเออร์บางประเภทมีอำนาจในการเพิ่มราคาขาย อาทิ ซัพพายเออร์ที่ผูกขาดขายแต่เพียงรายเดียว ก็จะทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมสูงไปด้วยเช่นกัน

จากทั้ง 5 ปัจจัยข้างต้น 2 ปัจจัยแรกเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุด เพราะว่าการแข่งขันยิ่งสูงขึ้น กำไรจะยิ่งลดลง หากสามารถจำกัดไม่ให้การแข่งขันสูงขึ้นได้ ก็จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดและราคาสินค้าเอาไว้ได้นั่นเอง