สรุปหนังสือ นั่งตกปลากับบัฟเฟตต์
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่แนะนำให้อ่าน สำหรับคนเริ่มต้นศึกษาการลงทุนในหุ้น หนังสือนั่งตกปลากับบัฟเฟตต์โดย ฌอน เซีย เป็นหนังสือสอนการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เขียนโดยใช้ตัวละครสองคน ผ่านเรื่องเล่าของเม่าอยากรวย กับชายชรานักตกปลาที่มีภูมิปัญญาการเงินการลงทุนอันเฉียบแหลม
เรื่องราวของฌอนหนุ่มมือใหม่ไฟแรง ผู้ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ด้วยคำสอนของอาจารย์ที่ว่า “ไม่มีใครเอาชนะตลาดได้” ตามทฤษฎีตลาดที่มีประสิทธิภาพ แต่ฌอนก็ไม่เชื่อคำสอนของอาจารย์ เขาหวังว่าจะเอาชนะตลาดได้ จึงเข้าอบรมหลักสูตรการเทรดหุ้น ที่คนสอนอ้างว่าระบบเทรดหุ้นของเขาจะสามารถทำเงินได้หลายล้าน จนฌอนหลงเชื่อและไปชวนเพื่อนมาเทรดหุ้นด้วยระบบที่ว่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นต้องขาดทุนไปเยอะมาก
ขณะที่เขากำลังกลุ้มใจจากการเทรดขาดทุน เขาจึงหลบหน้าผู้คนไปยังท่าเรือ และแล้วเขาก็พบกับชายชราลึกลับที่กำลังตกปลาอยู่นั่น นั่นคือจุดเปลี่ยนชีวิตของนักลงทุนของเขา ฌอนได้เรียนรู้วิชาการลงทุนแบบเน้นคุณค่าจากชายชราท่านนี้ และพบว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน หรือยากกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ
ซึ่งความรู้ทางการเงินกำลังเป็นที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ความคิดเรื่องการลงทุนจึงเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยอยู่แล้ว การอ่านหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้ผู้เริ่มต้นศึกษาการลงทุน ได้รับหลักคิด และมุมมองที่ถูกต้องต่อการลงทุนเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองสู่นักลงทุนที่ดีได้ในอนาคต
ภาค 1 เหยื่อ
บทที่ 1 ร่วง
ฌอนชายหนุ่มวัย 26 ปี เดินอยู่ริมท่าเรือพร้อมกับคิดว่า ทำไมทุกสิ่งทุกอย่างต้องมาเกิดกับเรา ทำไมเราไม่ฟังที่ศาสตราจารย์สอน คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ ดังนั้นอย่าได้ลอง เป็นคำพูดของศาสตราจารย์ที่สอนฌอนตอนเรียนปริญญาตรี ประโยคนี้ดังก้องเต็มสองหู แต่เขาไม่ยอมให้ความหวังที่จะเป็นนักลงทุน ที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นต้องถูกทำลายไป เพียงเพราะคำพูดแค่นี้ ถึงแม้ว่ามันจะมาจากคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่น่าเชื่อถืออย่างยิ่ง ฌอนตัดสินใจที่จะทำวิจัยด้วยตนเอง
บทที่ 2 เอาชนะตลาดไม่ได้
ตลาดหมายถึงดัชนีตลาดหุ้น และดัชนีตลาดหุ้นนั้นมีอยู่หลายดัชนี ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นถูกคำนวณจากหุ้นหลาย ๆ ตัว โดยทั่วไปแล้วมาจากหลายอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกามีดัชนีที่รู้จักกันในชื่อดัชนีสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส หรือ S&P 500 ซึ่งคำนวณจากหุ้นขนาดใหญ่ 500 ตัวแรกในสหรัฐอเมริกา แต่ละวันเมื่อราคาหุ้น 500 ตัวนี้ เปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวของราคา หุ้นเหล่านี้จะถูกคำนวณหาค่าเฉลี่ย เพื่อเป็นตัวแทนของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทยเรามีดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) เป็นตัวแทนของตลาดหุ้นของไทย ผลการศึกษาหลายครั้งชี้ว่า กองทุนที่บริหารโดยมืออาชีพ ไม่สามารถทำผลงานได้ดีกว่าดัชนีเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ ดูเหมือนว่าตลาดจะเอาชนะกองทุนเหล่านี้ได้เกือบทั้งหมด บางทีการซื้อตลาดอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า มีกองทุนอีทีเอฟ (Exchange Traded Funds: ETF) ที่มีเป้าหมายลงทุนให้ได้ผลการดำเนินงานเช่นเดียวกับดัชนีตลาด หรือสามารถซื้อกองทุน Maybank US ETF เพื่อให้ได้ผลตอบแทนการตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เพราะกองทุนนี้ลงทุนอ้างอิงกับดัชนี S&P 500
บทที่ 3 เห็บที่ถูกทำให้เชื่อง
หลังจากจบการศึกษา ฌอนได้งานที่จ่ายเงินเดือนดี แม้จะได้คุยกับเพื่อนเรื่องตลาดหุ้นบ้าง แต่เขาก็ไม่ยอมไปเกี่ยวข้องกับมันเลย เพราะทั้งศาสตราจารย์และผลจากการค้นคว้าของเขา บอกชัดเจนว่าโอกาสที่คนธรรมดา ๆ อย่างเขา จะเอาชนะตลาดได้มันน้อยมาก ซุฟเฟียนเพื่อนคนหนึ่งของเขาเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์ เอาบัญชีซื้อขายหุ้นมาให้ดู เพราะไม่รู้จะช่วยเหลือเพื่อน ๆ ยังไง เปรียบไปก็เหมือนกับการเอารถถังและสรรพาวุธมาแสดงให้เด็ก ๆ ดูนั่นเอง ถึงแม้ว่าฌอนไม่ได้เรียนรู้อะไรอย่างชัดเจนจากซุฟเฟียน แต่เขาได้บทเรียนที่สำคัญ เขาได้เรียนรู้ว่ามันเป็นไปได้ที่จะเอาชนะตลาดหุ้นถ้ารู้วิธีที่จะทำ ฌอนหิวโหยความรู้เกี่ยวกับการลงทุน เขาเริ่มเชื่อแล้วว่ามันเป็นไปได้ เขาต้องการเพียงแค่วิธีที่จะทำเท่านั้น
ซิก ซิกลาร์ พูดไว้ว่า “เพื่อให้บรรลุเป้าหมายต้องทำตัวเป็นครูฝึกเห็บ” ถ้าเอาโถแก้วมาแล้วใส่เห็บลงในนั้น พวกมันจะพยายามกระโดดออกจากโถ จากนั้นก็เอาฝามาครอบโถ ถ้าสังเกตต่อไปจะพบว่า พวกเห็บในโถจะพยายามกระโดดออกจากโถ พวกมันกระโดดชนเพดานซึ่งก็คือฝาครอบโถ พอถึงจุดหนึ่งสามารถเปิดฝาครอบโถได้ โดยเจ้าเห็บก็ยังคงกระโดดต่อไป แต่จะไม่สามารถกระโดดออกจากโถได้อีกแล้ว เพราะถูกสร้างเงื่อนไขให้เชื่อว่ามีเพดานกั้นอยู่ข้างบน และมันจะไม่สามารถกระโดดออกมาได้ ดังนั้นเพื่อให้เป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องประเมินตัวเอง และแยกแยะให้ออกว่าอะไรช่วยเหลือ อะไรฉุดรั้งเอาไว้
บทที่ 4 จอกศักดิ์สิทธิ์
ฌอนกำลังหาคอร์สอบรมที่จะไปเข้าเรียน เขาต้องการใครสักคนมาสอน คนที่เคยอยู่ที่นั่นและทำสำเร็จมาแล้ว เขาต้องการลัดเส้นโค้งการเรียนรู้ และทำเงินล้านภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด เขาตัดสินใจเข้าเรียนคอร์สเทรดหุ้นซึ่งมีค่าเรียน 5,000 ดอลลาร์ ซึ่งสอนโดยเศรษฐีที่รวยขึ้นมาด้วยตนเอง ผู้ซึ่งหาเงินหลายล้านจากตลาดหุ้น ด้วยระบบที่เป็นความลับ หลังจากเรียนจบฌอนตื่นเต้นมาก จากความจริงที่ว่าเขาได้ติดอาวุธทางความรู้ และทักษะที่จะทำเงินจากตลาดหุ้นแล้ว จึงโทรหาเพื่อนสนิททั้งสองคนของเขาเอเดรียนและแดเนียลทันที และบอกพวกเขาว่าอยากทำเงินกันไหม เรากำลังจะเริ่มทำเงินก้อนใหญ่แล้ว เพื่อนรักทั้งคู่ไว้ใจฌอน และพวกเขาลงเงินมารวมกันได้ 100,000 ดอลลาร์ ด้วยความมั่นใจของฌอน ซึ่งมาพร้อมกับความไม่รู้ เขาก็ปักหัวตัวเองลงไปที่ตลาดหุ้น
บทที่ 5 คำโฆษณาเกินจริง
ฌอนเริ่มเสพติดกับการเทรด เมื่อเขาทำเงินได้เขาต้องการทำมันหนักขึ้น เพื่อให้ได้เงินมากขึ้นอีก และเมื่อเขาขาดทุนเขาก็ต้องการเอาทุนคืนให้เร็วที่สุด เขาศึกษาตลาดหุ้น ข่าวต่าง ๆ รวมถึงระบบและสไตล์การเทรดต่าง ๆ เขายังเข้าเรียนหลักสูตรเทรดหุ้น เพื่อหาระบบที่มันได้ผลจริง ๆ หนึ่งปีต่อมา เขาเอาเงินที่เขาหุ้นกับเพื่อน ๆ ไปเทรดและขาดทุนจนเกือบหมด แต่เขาไม่ยอมบอกเพื่อน ๆ เหตุผลหลักก็เพราะว่าเขาไม่รู้จะบอกยังไง เขาจำเป็นต้องหนีไป และหลบไปอยู่ตัวคนเดียว ทุก ๆ วันเขาต้องหาที่ซ่อนและแยกตัวออกมา ด้วยหวังว่าตัวเองจะสามารถหากลยุทธ์ที่จะเอาเงินที่ขาดทุนกลับมาได้ และนั่นก็เป็นวัน ๆ หนึ่งที่เขาเดินอย่างไร้จุดหมายอยู่บนชายหาด และกว่าที่จะรู้ตัวเขาก็อยู่ที่ท่าเรือ วันนี้คือจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา เพราะว่าเขากำลังจะพบกับชาวประมง ที่แปลกและพิเศษกว่าชาวประมงทั่วไป
ภาค 2 นักตกปลา
บทที่ 6 ความหวัง
ฌอนได้พบกับชายชราคนหนึ่งที่กำลังตกปลาอยู่ใกล้ ๆ พร้อมกับกล่าวออกมาว่า “ปลาไม่ตกลงในถังหรอกต้องออกไปหาปลา เมื่อเกิดปัญหาทางแก้ปัญหามันไม่มีทางเดินมาหาจึงต้องออกไปทำอะไรบางอย่าง” ฌอนตื่นจากภวังค์และได้คิดว่า ความวิตกกังวลไม่ช่วยให้แก้ปัญหาได้ ก่อนที่ฌอนจะรู้ตัว เขาก็พบว่าตัวเองกำลังนั่งลงข้าง ๆ ชายชรา และแบ่งปันสิ่งที่เขาพบเจอให้ได้ทราบ ชายชรากล่าวว่าเธอได้ละเมิดกฎการลงทุนข้อที่ 1 ฌอนอยากรู้เพราะเขาอยากถอนทุนคืนใจจะขาด เพื่อที่ว่าเขาจะได้ไปเจอหน้ากับคนที่เขาต้องรับผิดชอบได้ จึงขอร้องให้ชายชราช่วยสอนเขา ชายชรากล่าวว่าได้สิ เรากำลังพูดถึงกฎการลงทุนที่สำคัญที่สุด กฎการลงทุนที่สำคัญที่สุดมี 2 ข้อ ชายชราค่อย ๆ ลดเสียงลง ขณะที่ส่งสัญญาณให้ฌอนเข้ามาใกล้ ๆ เขาทำตามอย่างเชื่อฟัง และโน้มตัวเข้าหา เขาตื่นเต้นมากที่จะได้เรียนรู้กฎการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ จากชายชราชาวประมงคนนี้
บทที่ 7 กฎข้อที่ 1
ทุกครั้งที่จะลงทุน และใส่เงินลงไปเพื่อให้มันทำงาน จงจำกฎ 2 ข้อนี้ไว้เสมอ กฎการลงทุนข้อที่ 1 คือ อย่าขาดทุน กฎการลงทุนข้อที่ 2 คืออย่าลืมกฎข้อที่ 1 คนส่วนใหญ่เข้ามาในตลาดหุ้น โดยตั้งเป้าว่าจะทำเงินให้ได้มาก ๆ แต่พวกเขาไม่ได้ตระหนักว่า การขาดทุนสร้างความเสียหายขนาดไหน ถ้าเริ่มลงทุนด้วยเงิน 100,000 ดอลลาร์ ถ้าขาดทุน 50% จะเหลือเงินอยู่ 50,000 ดอลลาร์ ถ้าจะทำจาก 50,000 ดอลลาร์ไป 100,000 ดอลลาร์ ไม่ใช่ทำกำไร 50% มันต้องเป็น 100% จำเป็นต้องให้เงินทำงานหนักขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อที่จะทำให้ส่วนขาดทุนนั้นกลับมา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเมื่อเลือกที่จะลงทุน ควรจะลงทุนก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าจะไม่ละเมิดกฎข้อที่ 1
บทที่ 8 ความเสี่ยง
คนส่วนใหญ่คิดว่า เมื่อจะลงทุนในตลาดหุ้นจำเป็นต้องเสี่ยงเยอะ ๆ แต่ควรจะคิดอย่างนี้ดีกว่าว่า ความเสี่ยงเกิดจากการละเลย สำหรับบางคนที่ไม่รู้วิธีปีนเขา การปีนเขาเป็นเรื่องเสี่ยง แต่สำหรับมืออาชีพที่ฝึกฝนและเตรียมตัวมาอย่างดี ความเสี่ยงจะลดลงมาก เพราะว่าพวกเขารู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ การลงทุนเป็นเรื่องเรียบง่าย สิ่งที่เราทำคือซื้อธุรกิจที่ดีและยอดเยี่ยม โดยซื้อมันที่ราคาสมเหตุสมผล แล้วก็รอจนกว่าตลาดจะตระหนักถึงคุณค่าของธุรกิจนั้น และราคาก็พุ่งขึ้นไป ตลาดหุ้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่หลักการเรื่องลงทุนไม่เคยเปลี่ยนไป ให้ทำการซื้อธุรกิจที่ดีในราคาที่เหมาะสม และทำซ้ำ ๆ แบบเดิม ๆ ไปจนกว่าจะรวย
บทที่ 9 ทบต้น
เส้นทางสู่ความร่ำรวยจริง ๆ คือการรู้จักวิธีวิธีลงทุนและทวีคูณเงินที่มี นี่คือสิ่งที่เรียกกันว่าพลังของการทบต้น จากเงินลงทุน 1 เซนต์ ในรอบที่ 1 เมื่อใช้พลังของการทบต้นถึงรอบที่ 30 จะกลายเป็นเงิน 5,368,79.12 ดอลลาร์
ฌอนยังคงตะลึงค้างอยู่กับสิ่งที่เขาเห็น เป็นไปได้ยังไงที่เงิน 1 เซนต์ในตอนเริ่มต้น จะกลายเป็น 5 ล้านดอลลาร์ได้ เขาเคยได้ยินและเข้าใจเรื่องการทบต้น แต่ความรู้สึกนั้นแตกต่างไป เมื่อเขาได้สัมผัสผ่านการจำลองสถานการณ์ ในจิตใจจากการตกตะลึงก็เปลี่ยนเป็นความหวัง และนั่นหมายความว่า ถ้าเรียนรู้วิธีลงทุนและทบต้นเงิน เขาก็สามารถเอาเงินที่ขาดทุนกลับคืนมาได้ และยังมีโอกาสที่จะรวยมาก ๆ ด้วย
ภาค 3 ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่
บทที่ 10 การซื้อธุรกิจ
ต้องมองหุ้นว่าคือธุรกิจ เพราะว่านั่นคือสิ่งที่เป็นจริง ๆ มันไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะซื้อธุรกิจ โดยที่ไม่รู้ว่าธุรกิจนี้ทำอะไร และสร้างผลงานเป็นอย่างไร คงจะไม่ซื้อรถยนต์เพียงเพราะว่าราคามันกำลังเพิ่มขึ้น โดยไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคุณสมบัติรถยนต์ และหน้าตาของรถคันนั้นเลยใช่หรือเปล่า แล้วทำไมพอเป็นเรื่องหุ้นกลับทำอย่างนั้น ไม่รู้ว่ามันทำกำไรเท่าไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จัดเป็นปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจที่จำเป็นต้องรู้ เอาแต่คาดเดาถึงความเป็นไปได้ที่ราคามันจะเพิ่มขึ้น จึงเป็นการซื้อธุรกิจที่ผิดพลาด
บทที่ 11 ธุรกิจที่ใช่
นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) จะซื้อเฉพาะธุรกิจที่จะทำให้รวยเท่านั้น เมื่อต้องการหามูลค่าทางบัญชีของบริษัท สามารถหาได้ง่าย ๆ ด้วยการเอาสินทรัพย์ทั้งหมด (รวมเงินสด) หักด้วยหนี้สินทั้งหมด และที่ต่างจากวอร์เรนคือ เราอาจจะไม่มีเงินซื้อธุรกิจทั้งหมด เราจึงต้องดูที่มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นแทน ซึ่งก็คือมูลค่าทางบัญชีของธุรกิจ หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท แนวคิดการซื้อธุรกิจราคาถูกก็คือ การซื้อธุรกิจที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น ส่วนที่ยากก็คือความสามารถในการวิเคราะห์ และบอกมูลค่าของทรัพย์สินอย่างถูกต้อง นี่คือสาเหตุว่าทำไมมูลค่าของหุ้น มักเป็นเพียงค่าโดยประมาณ และนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะกำหนดค่าเผื่อความผิดพลาดเอาไว้ ซึ่งรู้จักกันในชื่อส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety)
บทที่ 12 การแข่งขัน
ชายชราชวนฌอนแข่งขันตกปลา โดยถ้าฌอนได้ปลามากกว่าจะได้เงินตัวละ 1,000 ดอลลาร์ หากชายชราจับปลาแต่ละตัวที่ได้มากกว่า ฌอนจะได้เลี้ยงเบอร์เกอร์ 1 ชิ้นและโค้ก 1 กระป๋อง โดยใช้เวลาในการแข่ง 1 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดฌอนตกปลาได้ 5 ตัว ชายชราตกปลาได้ 2 ตัว แล้วชายชราได้วางเบ็ดและเดินข้ามไปอีกฟากจากที่ตกปลา นั่งยองลงและดึงแหขึ้นมา จับปลาโยนใส่ถังแล้วหัวเราะ ชอนรู้สึกว่าโดนหลอกเพราะเขาใช้เบ็ดตกปลาแต่ชายชรารากลับใช้แห่ร่วมด้วย ฌอนจึงแสดงปฏิกิริยาโอดครวญ ชายชราดูนิ่ง ๆ ราวกับว่าเขารู้อยู่แล้วว่าต้องเป็นเช่นนี้ พร้อมกับบอกให้ฌอนมานั่งแล้วเขาจะบอกว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้างจากการแข่งขันในครั้งนี้
บทที่ 13 ความได้เปรียบ
ชายชรากล่าวว่า ในโลกธุรกิจความได้เปรียบอย่างชัดเจนเรียกกันว่า ความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) หรือคูเมืองทางเศรษฐกิจ (Economic moat) นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า จะซื้อเฉพาะธุรกิจที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน เพราะว่ามันจะชนะ และจะชนะอย่างต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังมีความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่ง โดยคู่แข่งแบบฌอนนั้นจะมัวแต่อ้างว่า ความได้เปรียบนั้นไม่ยุติธรรม และธุรกิจแบบนี้มันผิดกฎหมาย พวกเขายังตะโกนแบบนี้อย่างต่อเนื่องว่า มันผิดกติกา บ่นว่าธุรกิจเหล่านี้เป็นพวกผูกขาด และผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม เธอเชื่อมโยงเรื่องพวกนี้ได้ไหม? ฌอนยิ้มอย่างรู้สึกอาย และพยักหน้า
ดังนั้น กุญแจสำคัญก็คือ การซื้อเฉพาะธุรกิจที่ได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนเท่านั้น ด้วยวิธีนี้จะทำให้เป็นผู้ชนะ แต่ความได้เปรียบเหล่านี้จะมองเห็นไม่ชัด ไม่ได้ถูกเขียนไว้ในบดุลในหมวดสินทรัพย์ จึงต้องมองให้ลึกลงไปถึงจะค้นพบ
บทที่ 14 วินัย
ชายชราสอนฌอนว่า วิธีที่ทำบางเรื่อง มักจะเป็นวิธีที่จะใช้ทำมันทุกเรื่อง ถ้าไม่มีวินัยกับเรื่องเล็กน้อย ก็จะไม่มีวินัยกับทุก ๆ เรื่อง จึงต้องระมัดระวังกับรูปแบบการใช้ชีวิต ก่อนที่จะให้มันมาทำลายชีวิต ฌอนประทับใจกับสิ่งที่ชายชราพูด จากนั้นชายชราชวนฌอนไปที่รถ เพื่อเรียนรู้วิธีที่จะสามารถรู้ได้ว่า ธุรกิจใดมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน “ไปสนามรบ” ชายชราบอก
บทที่ 15 สนามรบ
พวกเขาพากันไปที่ศูนย์การค้าใหญ่แห่งหนึ่ง ชายชรากล่าวว่า ถนนจริงคือที่ตั้งของสนามรบ วอลล์สตรีทเป็นเพียงสถานที่ ที่นักวิจารณ์เขาอยู่กัน ไม่ได้เป็นที่ที่ธุรกิจเกิดขึ้นจริง ๆ เป็นสิ่งที่ต้องเตือนตัวเองในสิ่งที่น่าจะรับรู้อยู่แล้วเกี่ยวกับธุรกิจ เพื่อการวิเคราะห์ธุรกิจ ให้จดชื่อร้านค้าและข้าง ๆ ชื่อร้านค้าให้เขียนว่าขายสินค้าหรือบริการอะไร เช่น
KFC : Fast food, ไก่ทอด
Starbucks : กาแฟ
Nike : ชุดกีฬา เป็นต้น
พร้อมกับวิเคราะห์ว่า ธุรกิจใดที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันผ่านคำถามเหล่านี้
- ธุรกิจนั้นส่งมอบคุณค่า (สินค้า / บริการ) ใดให้กับลูกค้า จะยึดกับสิ่งที่รู้ ซึ่งเรียกว่า ขอบเขตความเชี่ยวชาญ (Circle of Competence)
- มีคนอื่นส่งมอบคุณค่านั้นด้วยหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ไม่ แปลว่าเราค้นพบธุรกิจที่ผูกขาดตลาดได้แล้ว
- จะเลือกรับคุณค่านั้นจากที่อื่นแทนที่จะเป็นที่นี่หรือไม่ ถ้าเลือกที่จะรับจากที่อื่น ธุรกิจนี้ไม่น่าจะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในแบบที่กำลังมองหา
- ทำไมเลือกที่จะรับคุณค่านั้นจากที่นี่แทนที่จะเป็นที่อื่น ต้องสามารถเขียนเหตุผลลงไปได้ ซึ่งเหตุผลเหล่านี้จะเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขัน
- เหตุผลที่ระบุในข้อ 4 เป็นสิ่งที่ยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่ สิ่งที่หาเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ชั่วคราว จึงต้องใช้ความได้เปรียบนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเวลานาน ๆ
สาเหตุที่ต้องทำแบบฝึกหัดนี้ ก็เพื่อต้องการให้ลงทุนในธุรกิจที่เข้าใจเท่านั้น และเข้าใจว่าธุรกิจที่ลงทุนมันจะดีได้อย่างยั่งยืนหรือเปล่า
บทที่ 16 เงินเข้าเงินออก
นอกจาก 5 คำถามนั้นแล้ว ยังต้องพิจารณาว่าเงินเข้าทางไหน และมันไหลออกไปที่ใด ถ้าลองตรองดูสักนิดจะพบว่า สิ่งเหล่านี้คืออุตสาหกรรม ซึ่งมีลูกค้าประจำ ถามตัวเองว่าต้องใช้จ่ายไปกับอะไรบ้างในแต่ละเดือน และอยากใช้เงินซื้ออะไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่หลงไหลไปกับมัน มักจะมีความรู้ความเข้าใจ อาจจะเป็นการตกปลา รถยนต์ อาหาร เป็นต้น และหาเงินได้จากเรื่องอะไร อาจเป็นงานประจำก็ได้ ดูว่างานนี้อยู่ในอุตสาหกรรมอะไร เพราะการที่ใช้เวลาเกือบทั้งหมดในงานประจำ ก็น่าจะคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมที่ทำงานอยู่มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น การทำเช่นนี้เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการลงทุนในธุรกิจที่อยู่นอกเขตความเชี่ยวชาญ เป็นสิ่งที่เตือนไม่ให้รีบเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่เข้าใจ ในการตัดสินใจว่าจะยั่งยืนหรือไม่ พิจารณาจากความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ คูเมืองทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น ปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ ปัจจัยทางการเมือง
บทที่ 17 ธุรกิจกับธุรกิจ
คนเรามีสิ่งที่ต้องการทั้งรายวันและรายเดือน ธุรกิจก็มีสิ่งที่ต้องการเช่นกัน โฆษณาเป็นหนึ่งในสิ่งที่ธุรกิจต้องการ ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องมีโฆษณาเพื่อให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งทำให้การผลิตโฆษณาเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง มั่นคง และเติบโต ลองคิดดูว่าใครคือผู้ชนะในอุตสาหกรรมโฆษณา ลองจดออกมาดู เพื่อต้องการหาธุรกิจที่ส่งมอบคุณค่าให้กับธุรกิจอื่น ๆ นี่อาจจะมองเห็นไม่ชัด อาจพิจารณาจากชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ธุรกิจโฆษณาจึงเป็นธุรกิจแบบ B2B ที่หมายถึงธุรกิจกับธุรกิจหรือ Business to Business นั่นเอง อาจจะไม่ปรากฏในรายชื่อบริษัทที่จะลงทุน แต่มันก็เป็นธุรกิจที่ดีที่สุด มอบคุณค่าให้กับธุรกิจด้วยกัน
นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมโทรคมนาคม การขนส่งคมนาคม เป็นธุรกิจที่น่าจะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนต่อไป วอร์เรน บัฟเฟตต์ มักจะอธิบายเรื่องความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน เทียบกับคูเมืองรอบปราสาท ให้จินตนาการว่า ธุรกิจเปรียบเสมือนปราสาท เพื่อให้อยู่รอดจากการถูกโจมตี นับเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีคูเมืองอยู่รอบปราสาท ปราสาทที่มีคูเมืองก็คล้ายกับธุรกิจ ที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน ประเภทของความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน หรือคูเมืองทางเศรษฐกิจมีอยู่ 5 วิธี
- ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์
- การสร้างแบรนด์
- ต้นทุนต่ำ/ผู้ผลิตของในราคาถูก
- ต้นทุนการเปลี่ยนไปใช้คู่แข่งสูง
- กำแพงทางกฎหมายที่ป้องกันรายใหม่เข้ามา
บทที่ 18 ผลงานในอดีต
เราจะหาผลงานในอดีตได้จาก Internet ทำให้เราสามารถหารายงานทางการเงินของบริษัทได้ง่ายขึ้น มีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลทางการเงิน 10 ปีย้อนหลังฟรี เว็บไซต์ของ Share Investor อาจมีข้อมูลแต่ต้องจ่ายเงินค่าสมาชิก บริษัทหลักทรัพย์อาจจะให้ข้อมูลได้ ถ้าเปิดบัญชีกับบริษัทเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียค่าเปิดบัญชี อีกวิธีหนึ่งคือไปที่เว็บไซต์ของบริษัท และลองหาหัวข้อนักลงทุนสัมพันธ์ หรือหัวข้อที่ใกล้เคียง การอ่านรายงานประจำปีของบริษัทจะทำให้เข้าใจธุรกิจมากขึ้น และช่วยให้ตัดสินใจว่าควรจะซื้อธุรกิจหรือไม่
บทที่ 19 กำไร
ถ้าธุรกิจมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน ธุรกิจจะสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่องปีแล้วปีเล่า และในฐานะผู้ซื้อกิจการนี่คือสิ่งที่ต้องการจากธุรกิจ นั่นคือกำไรอย่างต่อเนื่อง ยิ่งถ้าธุรกิจมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน ธุรกิจจะสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่อง และสามารถอยู่รอดได้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ แม้ในช่วงขาลงกำไรก็จะไม่ลดลงอย่างรุนแรง หรืออาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป ซึ่งฟังดูมีเหตุผล แต่สิ่งที่ฟังดูไม่มีเหตุผลคือ ธุรกิจที่มองว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่ดี แต่กลับไม่ทำกำไรอย่างต่อเนื่อง บางโอกาสมันอาจจะดูดี แต่ผลงานในอดีตนั้นไม่ได้ดีอย่างสม่ำเสมอ นี่คือสาเหตุว่าทำไมจึงเลือกธุรกิจที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน และมีผลการดำเนินงานในอดีตที่ดีเป็นข้อพิสูจน์
บทที่ 20 ไอพีโอ การเสนอขายหุ้นกับคนทั่วไปเป็นครั้งแรก
บริษัทบางบริษัทมีข้อมูลไม่ถึง 10 ปีควรดูผลการดำเนินงาน 5 ปีย้อนหลัง แต่เนื่องจากผลการดำเนินงานในอดีตมีไม่มาก ต้องเพิ่มส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) ให้สูงขึ้นเมื่อคำนวณราคาซื้อในภายหลัง นักลงทุนแบบเน้นคุณค่ามองหาหุ้นที่สามารถทำกำไรในการทำไอพีโอ นักวาณิชธนกิจมีความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ และเสนอราคาโดยที่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดในการกำหนดราคา มีโอกาสน้อยมากที่นักวาณิชธนกิจ จะเสนอราคาที่นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ รอจนกว่าหุ้นจะมีการซื้อขายในตลาดแล้วระยะหนึ่งเพื่อให้แน่ใจ และเมื่อตลาดกำหนดราคาผิดพลาดถึงจะเข้าซื้อแล้วทำกำไร แต่ไม่ใช่ตอนไอพีโอ เพราะมันไม่มีเหตุผล สามัญสำนึกไม่ใช่เรื่องสามัญเสมอไป การลงทุนแบบเน้นคุณค่าเป็นเรื่องของสามัญสำนึก ซื้อธุรกิจที่ดีในราคาที่สมเหตุสมผล จึงจะสามารถทำกำไรได้
บทที่ 21 ประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไร
ธุรกิจที่มีผลการดำเนินงาน ที่ทำกำไรให้เจ้าของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องการเลือกธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องการธุรกิจที่สามารถใช้ทรัพยากรที่ได้มาอย่างดีที่สุด หรือสามารถรักษาทรัพยากรนั้นให้อยู่กับธุรกิจได้ จะรู้ได้โดยดูจากอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น หรือ ROE (Return on Equity)
การคำนวณ ROE
ROE = กำไรสุทธิ ÷ จำนวนผู้ถือหุ้น
ในกรณีนี้เราต้องการธุรกิจที่มีค่าเฉลี่ย ROE มากกว่า 15% อย่างต่อเนื่อง ROE ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะว่านั่นแสดงถึงการเติบโตที่สูงกว่า และการใช้เงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า
บทที่ 22 ตรวจสอบเพิ่มเติม
มีเจ้าของธุรกิจคนหนึ่ง ต้องการจ้างผู้จัดการให้มาบริหารกิจการของเขา มีผู้สมัคร 3 ราย และเขาต้องการทดสอบผู้สมัครว่าใครเก่งที่สุด ผู้เข้าสมัครคนแรกเขาเป็นนักคณิตศาสตร์ เจ้าของธุรกิจถาม 2 + 2 = เท่าไหร่? นักคณิตศาสตร์ตอบโดยทันที 4.0000000… แล้วถามเจ้าของธุรกิจว่าคุณต้องการทศนิยมกี่ตำแหน่ง? ผู้สมัครคนต่อไปเป็นวิศวกร เจ้าของธุรกิจก็ถามคำถามเดียวกัน วิศวกรตอบอย่างสงบนิ่งว่าระหว่าง 3.9875 และ 4.01526 แล้วอธิบายต่อว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ในเชิงวิศวกรรมเราต้องคำนึงถึงค่าความเบี่ยงเบน ผู้สมัครคนที่ 3 เป็นนักบัญชี เขาก็ได้รับคำถามเดียวกัน นักบัญชีไม่ตอบแต่กลับขยับตัวเข้าไปหาเจ้าของธุรกิจช้า ๆ และถามอย่างนุ่มนวลว่า คุณอยากให้เป็นเท่าไหร่? นี่แสดงให้เห็นว่าตัวเลขสามารถถูกเล่นกลได้ ซึ่งนั่นเป็นความรับผิดชอบของผู้ซื้อกิจการที่ต้องตรวจสอบ แม้จะมีนักบัญชีและผู้บริหารที่ซื่อสัตย์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ต้องตรวจสอบด้วยตัวเอง
อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเป็นเกณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุน สำหรับใช้ตรวจสอบความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ฉะนั้นผู้บริหารของบริษัทจึงมีแรงจูงใจที่จะแสดงผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนวิธีที่ดีที่สุดก็คือเพิ่มกำไรจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีมูลค่าเท่าเดิม อีกวิธีที่สามารถทำได้ด้วยการลดส่วนของผู้ถือหุ้นลงในขณะที่กำไรเท่าเดิม ธุรกิจทุกธุรกิจต้องการสินทรัพย์จำนวนหนึ่งเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจ
สินทรัพย์เป็นได้ทั้งเงินสด อุปกรณ์ เครื่องมือ เฟอร์นิเจอร์ และอื่น ๆ สินทรัพย์เหล่านี้ได้มาจากเงินทุน หรือส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นของเจ้าของธุรกิจ หรือได้มาจากการกู้ยืมที่เรียกว่าหนี้สิน
บทที่ 23 ตรวจสุขภาพ
ถ้ามีรถและเป็นรถคันเดียวที่จะใช้ไปตลอดชีวิต แน่นอนจะต้องดูแลรักษามันเป็นอย่างดี เปลี่ยนน้ำมันเครื่องบ่อยกว่าที่จำเป็น ขับมันอย่างระมัดระวัง ทีนี้คิดดูว่าคนเรามีจิตใจเดียว และร่างกายเดียว ต้องเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อม และต้องดูแลมันให้ดี ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของเราก็คือตัวเราเอง เพราะฉะนั้นจงดูแลตัวเอง และลงทุนในตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อธุรกิจ ต้องมีการตรวจสุขภาพของธุรกิจด้วย หมายถึงสุขภาพทางการเงิน มีรายงานทางการเงินอยู่ 3 ประเภท ตอนที่เริ่มศึกษาอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ นั่นคือกำลังตรวจสุขภาพทางการเงิน ในกรณีนั้นเรากำลังตรวจสอบความแข็งแรงด้านการเงิน มุมหนึ่งเราต้องการรู้ว่าธุรกิจมีสัญญาณอันตรายหรือไม่
บทที่ 24 สัญญาณอันตรายข้อที่ 1 หนี้
ถ้าธุรกิจมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน และสามารถทำกำไรในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องด้วยแล้ว การกู้เงินเพื่อขยายธุรกิจจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของในระยะยาว นักลงทุนต้องการให้ธุรกิจกู้เงินอย่างรอบคอบ เพราะว่าเงินกู้มีต้นทุนอยู่ ซึ่งต้นทุนของการกู้เงินก็คืออัตราดอกเบี้ย มันจะทบต้นสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อธุรกิจไม่สามารถจ่ายเงินกู้คืนได้ กฎง่าย ๆ ก็คือธุรกิจไม่ควรมีหนี้สินระยะยาวเกิน 5 เท่าของกำไรจากการดำเนินงาน นั่นหมายความว่าธุรกิจควรมีความสามารถ ที่จะทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ และสามารถจ่ายหนี้สินระยะยาวได้ภายใน 5 ปี ถ้าหากมากเกินกว่า 5 ปีเห็นท่าจะไม่ค่อยดีแล้ว
บทที่ 25 สัญญาณอันตรายข้อที่ 2 เงินไม่เพียงพอหรือเปล่า?
นักลงทุนต้องการบัญชีที่ตรงไปตรงมา และแสดงข้อเท็จจริงมากที่สุด การตกแต่งบัญชีเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุน เพราะต้องอาศัยความถูกต้องของงบการเงินที่บริษัทรายงาน และทำการบ้านโดยวิเคราะห์ผลการดำเนินงานในอดีตของธุรกิจ ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมนอกจากจะดู ROE หรืออัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น เพื่อประเมินประสิทธิภาพของธุรกิจ จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมโดยดู ROA หรืออัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ด้วย โชคไม่ดีที่บริษัทสามารถบิดเบือนตัวเลขที่รายงานได้ ซึ่งรวมถึงกำไรสุทธิโดยใช้ความสร้างสรรค์ ในการตกแต่งบัญชีเพื่อหลอกผู้ถือหุ้น
ให้นักลงทุนลองดูที่กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow) ต่อหุ้นคือ เงินที่ธุรกิจได้มาจากการดำเนินงาน หักด้วยรายจ่ายลงทุน หรือ Capital Expenditure ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายเพื่อคงหรือเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ ถ้าพูดให้ง่ายคือกระแสเงินสดอิสระ เป็นตัวบอกว่าบริษัทสามารถเก็บเงินได้เท่าไหร่ แม้ธุรกิจจะสามารถรายงานผลกำไรที่เป็นเท็จ แต่มูลค่าของเงินสดที่ธุรกิจรายงาน ต้องมีที่มาจากเงินสดที่ธุรกิจถืออยู่จริง ทำการตรวจสอบเพื่อหา 2 สิ่ง กระแสเงินสดจากการดำเนินงานต้องเป็นบวกอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากธุรกิจที่กำลังศึกษาควรรายงานกำไรที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานควรจะเป็นบวก จากนั้นต้องตรวจสอบกระแสเงินสดอิสระ เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจยังมีเงินสดเข้ามา หลังจากที่หักรายจ่ายลงทุนอื่น ๆ ด้วยหลักเกณฑ์นี้ นักลงทุนกำลังมองหาสัญญาณอันตราย ที่บ่งชี้ว่าธุรกิจไม่ได้นำเงินสดที่แท้จริงกลับมาสู่ธุรกิจ
บทที่ 26 สัญญาณอันตรายข้อที่ 3 อำนาจในการตั้งราคาของธุรกิจ
สัญญาณอันตรายข้อต่อมาก็คือ ธุรกิจไม่มีอำนาจในการตั้งราคา โดยไม่สูญเสียธุรกิจเป็นธุรกิจที่ดีมากทีเดียว ในภาวะเงินเฟ้อเมื่อเวลาผ่านไปราคาจะสูงขึ้น นั่นหมายความว่าต้นทุนในการทำธุรกิจจะสูงขึ้น ถ้าธุรกิจมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ไม่สามารถขึ้นราคาได้ เพราะกลัวจะเสียลูกค้า อย่างนั้นไม่อันตรายหรือ? ลองนึกถึงสินค้าหรือบริการอะไรก็ตามที่ลดราคาปีแล้วปีเล่า เพื่อรักษาธุรกิจ แม้ว่าราคาของทุกอย่างจะเพิ่มขึ้น ให้นักลงทุนจงหลีกเลี่ยงธุรกิจพวกนี้ ธุรกิจพวกนี้อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันด้านราคา อุตสาหกรรมเหล่านี้มีราคาอย่างเดียวเป็นตัวกำหนดทุกสิ่ง และลูกค้าก็ใช้ราคาเป็นตัวตัดสินใจทั้งสิ้นเช่นกัน
บทที่ 27 ม้าหรือนักขี่ม้า
การมีคนดีและมีความสามารถ มาบริหารธุรกิจย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องระวังที่จะไม่เลือกธุรกิจ ที่ผลประกอบการขึ้นอยู่กับผู้บริหาร เป็นเพราะว่าบุคลากรที่มีความสามารถ อาจจะลาออกจากบริษัทได้ ถ้ามีที่อื่นเสนอผลตอบแทนให้สูงกว่า ต้องซื้อธุรกิจที่แม้แต่คนโง่ก็สามารถมาบริหารได้ เพราะว่าวันหนึ่งจะมีคนประเภทนั้นมาบริหาร นักลงทุนต้องการธุรกิจที่มีคุณค่าโดยตัวของมันเอง ไม่ใช่เพราะบุคคล ถ้าเกิดความคลางแคลงใจเกี่ยวกับธุรกิจ เพราะว่าสงสัยในความซื่อสัตย์ และสุจริตของผู้บริหาร ก็ไม่ควรซื้อธุรกิจนั้นเลยตั้งแต่แรก
ภาค 4 : ราคาที่สมเหตุสมผล
บทที่ 28 ราคาและมูลค่า
การซื้อธุรกิจในราคาสมเหตุสมผลหมายความว่า นักลงทุนจะจ่ายในราคาที่เหมาะสมเชิงธุรกิจเท่านั้น ต้องสอดคล้องกับกำไรที่จะได้ บ่อยครั้งที่พยายามซื้อธุรกิจ ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง อีกอย่างก็คือไม่ซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่ามูลค่าของหุ้น ราคาคือสิ่งที่จ่าย ส่วนมูลค่าคือสิ่งที่ได้รับ ในการประเมินราคาเพื่อที่จะซื้อธุรกิจ ต้องพิจารณาจากกำไรของธุรกิจ แต่ธุรกิจที่มีกำไรที่เติบโตต่อเนื่องปีแล้วปีเล่า ราคาก็เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีเช่นกัน แท้จริงแล้วถ้าธุรกิจมีผลประกอบการที่ดี คนส่วนใหญ่มักจะต้องการเหมือนกัน และราคาก็จะพุ่งทะยานไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม
บทที่ 29 นายตลาด
การที่นักลงทุนได้รู้จักดับนายตลาด มันอาจจะเป็นหัวใจหลักข้อเดียว ที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับการลงทุน เมื่อลงทุนในตลาดหุ้น ต้องจินตนาการว่ามีหุ้นส่วนชื่อนายตลาด ทุก ๆ วันนายตลาดจะมาแนะนำ และเสนอขายธุรกิจของเขา ปฏิกิริยาของนายตลาดในระยะสั้น นายตลาดไม่มีเหตุผล นายตลาดตอบสนองกับข่าว และไม่ได้ให้ความสนใจกับมูลค่าของธุรกิจ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ธุรกิจที่มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้มูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้น และความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาผ่านไป นายตลาดจะตระหนักถึงมูลค่าของธุรกิจ และตั้งราคาสูงขึ้น แต่นักลงทุนไม่สามารถรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ราคาจะสูงขึ้น
ในกรอบระยะเวลา 5-10 ปี ตลาดจะตั้งราคาธุรกิจตามมูลค่าของธุรกิจ ในระยะสั้นตลาดคือเครื่องลงคะแนนเสียง แต่ในระยะยาวตลาดคือเครื่องชั่งน้ำหนัก ตลาดอาจตั้งราคาธุรกิจสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป ซึ่งอยู่กับความรู้สึกของนักลงทุนที่มีต่อธุรกิจ เพราะฉะนั้น ตลาดสามารถออกเสียงให้ราคาขึ้นหรือต่ำลงได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริงก็คือ มูลค่าของธุรกิจ ราคาของธุรกิจ จะถูกกำหนดโดยมูลค่าของธุรกิจในที่สุด
บทที่ 30 ราคาซื้อเป้าหมาย
การหาราคาซื้อเป้าหมายจะต้องปฏิบัติตาม 5 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 หาอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีของกำไรต่อหุ้น นักลงทุนจะต้องใช้เครื่องคิดเลขคำนวณอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี เพื่อหาอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี หากไม่มีเครื่องคิดเลขการเงินก็ไม่ต้องกังวลไป มีหลายเว็บไซต์ที่มีเครื่องคิดเลขเพื่อคำนวณอัตราเติบโตเฉลี่ยนสะสมต่อปีให้ใช้ฟรี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ http://www.moneychimp.com/calculator/discount_rate_calculator.htm หรือไปที่เว็บไซต์ มันนี่ชิป
ขั้นตอนที่ 2 ประเมินกำไรต่อหุ้น 10 ปีต่อจากนี้เราสามารถประเมินกำไรต่อหุ้น 10 ปีจากนี้ โดยใช้เครื่องคิดเลขสำหรับคำนวณดอกเบี้ยทบต้น หรือไปที่เว็บไซต์ http://www.moneychimp.com/calculator/discount_rate_calculator.htm
ขั้นตอนที่ 3 ประเมินราคาหุ้น 10 ปีต่อจากนี้เราต้องใช้อัตราส่วน PE เฉลี่ยหรืออัตราส่วน PE ที่ต่ำที่สุด ในการประเมินมูลค่ากับราคาหุ้น นักลงทุนสามารถหาข้อมูลอัตราส่วน PE ในอดีต ใช้อัตราส่วน PE จะใช้ค่าเฉลี่ยตัวเลขที่ต่ำที่สุด หรือตัวเลขระหว่างค่าเฉลี่ยและตัวเลขที่ต่ำที่สุดก็ได้ คูณกับค่าประมาณการกำไรต่อหุ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากขั้นตอนที่ 2
ขั้นตอนที่ 4 กำหนดราคาซื้อเป้าหมาย ณ ปัจจุบัน จากผลตอบแทนที่ต้องการ ในการลดทอนค่าประมาณการราคาหุ้นในอนาคตย้อนหลัง 10 ปี ด้วยผลตอบแทนที่ต้องการ นักลงทุนต้องใช้เครื่องคิดเลขคำนวณมูลค่าปัจจุบัน
ขั้นตอนที่ 5 เพิ่มส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย สุดท้ายต้องเพิ่มส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยในราคาซื้อเป้าหมาย เพื่อสร้างตาข่ายความปลอดภัยสำหรับรองรับความผิดพลาด คำแนะนำก็คืออย่าดูราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน จนทำให้ได้รับอิทธิพลจากนายตลาด ควรที่จะคำนวณให้เสร็จก่อนนายตลาดเสนออะไรให้ และสิ่งที่นายตลาดเสนอให้ต่ำกว่าราคาซื้อเป้าหมาย นี้เป็นเวลาที่ควรจะต้องลงมือ แนวคิดที่พิเศษที่เป็นจุดกำเนิดของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคือ หุ้นแต่ละตัวมีมูลค่าที่เป็นตัวเลข หรือที่เรียกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) จะซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เพราะท้ายที่สุดตลาดจะกำหนดราคาหุ้นอย่างถูกต้อง นั่นหมายความว่าราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้น และจะขายได้กำไร นี่คือวิธีที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ และนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าอีกหลายคนใช้สร้างฐานะจนร่ำรวย
บทที่ 31 ได้เวลาขาย
เมื่อไหร่คือเวลาขาย สถานการณ์ที่จะขายหุ้นได้แก่
- เมื่อราคาสูงขึ้น และให้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ หรือมากกว่ากำหนดผลตอบแทนที่ต้องการ ในการคำนวณราคาซื้อเป้าหมาย เมื่อราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น ถึงจุดที่ได้ผลตอบแทนนั้น สามารถเลือกที่จะขายหุ้นเพื่อรับรู้รายได้
- 2. เมื่อมีโอกาสที่ดีกว่า สิ่งที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าให้ความสำคัญคือ การได้รับอัตราผลตอบแทนสูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสที่ดีกว่า สามารถเลือกที่จะขายธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน และซื้อธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
- เมื่อธุรกิจสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ข่าวดีก็คือ ความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนของธุรกิจ ที่ระบุมันไม่ได้หายไปง่าย ๆ ถ้าใช้หลักเกณฑ์ของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าในการวิเคราะห์ธุรกิจ จะสามารถเข้าใจธุรกิจดีพอ และรู้ว่าเมื่อไหร่ธุรกิจจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน
ภาค 5 : การนำไปใช้
บทที่ 32 เริ่มลงมือ
หุ้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลขที่ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่บนหน้าจออีกต่อไป นี่คือธุรกิจที่นายตลาดมานำเสนอในทุกวัน ใครก็ตามที่เข้าใจแนวคิดของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เขาจะเห็นโอกาสมากมาย และการใช้ชีวิตในทุกวันก็น่าสนใจมากขึ้นทีละน้อย หลังจากวิเคราะห์ธุรกิจ ระบุราคาซื้อที่สมเหตุสมผล ก่อนจะไปตรวจสอบราคาที่นายตลาดนำเสนอ นายตลาดยังเป็นคนบ้า และไม่สามารถคาดเดาได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามคาดเดา ให้นายตลาดเสนอโอกาสดี ๆ แทนที่จะให้อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ของตลาดมีผลกระทบกับการตัดสินใจ แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน ที่จะทำให้มองหุ้นเหมือนเป็นธุรกิจ จงตัดสินใจและยึดมั่นในแนวทางที่ทำ ก็จะพบกับความสำเร็จอย่างแน่นอน
บทที่ 33 การจากลา
เวลาผ่านไปหนึ่งปี หลังจากฌอนพบกับชายชราที่ท่าเรือ สถานะทางการเงินของเขาดีขึ้น และพอร์ตโฟลิโอก็เติบโต ด้วยคำแนะนำของชายชราที่ว่า ความคิดเรื่องการตัดสินใจเป็นหมู่คณะก็คือ การมองไปในกระจก ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ฌอนมุ่งมั่นที่จะเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ที่มีความมั่นใจและตัดสินใจด้วยตัวเอง ชายชรายังสอนอีกว่า เงินเป็นเพียงแค่สิ่งที่แสดงนิสัยที่แท้จริงของแต่ละคนออกมา ถ้าเป็นคนไม่ดีมาก่อน เขาก็จะเป็นคนไม่ดีที่มีเงินพันล้าน แต่ถ้าเป็นคนดี ก็จะเป็นคนดีที่มีเงินพันล้านเหมือนกัน
โชคไม่ดีที่เงินไม่ถูกมองอย่างสุดโต่ง ถ้าไม่กล่าวโทษเงิน ผู้คนก็มักใช้เงินเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จ บางครั้งเงินสามารถทำให้ไปในที่ที่น่าสนใจ แต่มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงว่า คนจะรักมากเท่าไหร่ หรือสุขภาพจะดีเพียงใด มีสิ่งที่รอเราอยู่ข้างหน้าให้คิดถึงมากมาย เกินกว่าจะคิดถึงสิ่งที่ควรจะทำในอดีต ซึ่งเปลี่ยนอะไรไม่ได้ สามารถใช้ชีวิตไปข้างหน้าเท่านั้น ในขณะที่ใช้ชีวิตจงหาสิ่งที่หลงใหล รักคนที่หวังให้เขารัก และทำแบบนั้นตั้งแต่วันนี้ ไม่มีประโยชน์ที่จะรอจนกว่าสถานะการเงินจะมั่นคง ก่อนที่จะใช้เวลาและเงินทำในสิ่งที่รักและเพื่อคนที่รัก จงออกไปเผชิญโลก สนุกกับการใช้ชีวิต และเผื่อแผ่ความดีไปยังผู้อื่น
บทที่ 34 เศรษฐีพันล้าน
หลายปีผ่านไปฌอนเริ่มมีชีวิตที่ดีขึ้น การลงทุนของเขาทำให้เขาร่ำรวยมาก และเขายังช่วยให้เพื่อนของเขาร่ำรวยมากขึ้นด้วย เขาฟุ้งเฟ้อกว่าชายชราเล็กน้อย เขาขับรถเปิดประทุนคันหรู และอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ที่สวยงาม เขาไม่เคยพบหรือได้ยินข่าวจากชายชราอีกเลย แต่เขาก็ยังคงไปตกปลาที่ท่าเรืออยู่เสมอ เขาสังเกตเห็นหญิงสาวยืนอยู่ที่ขอบท่าเรือด้วยท่าทางวิตกกังวล เขาถามเธอว่า “ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่” เพราะเธอดูเป็นกังวลจนแสดงออกทางสีหน้า เหมือนกับกำลังต้องการคนรับฟัง และรู้สึกดีใจที่ชายแปลกหน้ายินดีที่จะฟัง
เธอเล่าเรื่องที่เธอสูญเงินออมของแม่ไปกับการเทรดหุ้นในตลาดหุ้น หลังจากที่เข้าเรียนคอร์สอบรมเกี่ยวกับตลาดหุ้น ฌอนหัวเราะเบา ๆ พร้อมพูดว่า “เธอละเมิดกฎการลงทุนข้อที่ 1” เธออุทานปนประหลาดใจ “อย่างนั้นหรือ คุณรู้เรื่องการลงทุนด้วยหรือ คุณจะสอนฉันได้ไหม?” ฌอนยิ้มอย่างนุ่มนวลและตอบว่า “ถ้าเธอเต็มใจที่จะเรียน และนำสิ่งที่เธอได้เรียนไปใช้” และนอกจากตรงนั้น เรื่องราวของการตกปลาจึงดำเนินต่อไป.