Source: https://www.thefixedincome.com/blog/bonds-and-debt/bond-market-language/
ตราสารหนี้ (Fixed-income securities) คือหลักทรัพย์ที่จ่ายเงินให้กับผู้ถือในจำนวนคงที่ ตราสารหนี้ที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาล (Bonds) ซึ่งจ่ายอัตราดอกเบี้ยมากน้อยขึ้นกับหลายปัจจัย อาทิ ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ (Defualt) และระยะเวลาของตราสารหนี้ โดยตราสารหนี้มีองค์ประกอบดังนี้
ผู้ออกหุ้นกู้ (Issuers of Bonds)
ผู้ออกหุ้นกู้ไม่ได้มีเพียงแค่บริษัทต่างๆ แต่ประกอบด้วยองค์กรดังนี้
– บริษัทเอกชนแบ่งเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยจากบริษัทที่เป็นสถาบันการเงินและหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทในอุตสาหกรรมอื่นๆ
– รัฐบาลกลาง (Sovereign national governments) ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล
– องค์กรส่วนภูมิภาค (Non-sovereign governments) เช่น รัฐบาลของรัฐต่างๆในสหรัฐฯ
– องค์กรกึ่งรัฐบาล (Quasi-government entities) ไม่ได้เป็นองค์กรที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง
– องค์กรหลากประเทศ (Supranational entities) เป็นองค์กรที่มีการดำเนินงานทั่วโลก เช่น IMF
– องค์กรวัตถุประสงค์พิเศษ (Special purpose entities) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อออกหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Asset-backed securities)
Source: https://www.economicsonline.co.uk/competitive_markets/bonds.html/
วันกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ (Bond Maturity)
วันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้คือวันที่ผู้ออกหุ้นกู้จ่ายเงินต้นคืนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ โดยระยะเวลาที่เหลือจนกว่าจะถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เรียกว่า Term to maturity หรือ Tenor โดยระยะเวลาดังกล่าวสามารถเป็นได้ตั้งแต่ 1 วันจนถึง 100 ปี หรือมากกว่านั้น ส่วนหุ้นกู้ที่ไม่มีวันครบกำหนดไถ่ถอนเรียกว่า Perpetual bonds ซึ่งจะจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆโดยไม่มีการจ่ายเงินต้นคืน เราเรียกหุ้นกู้ที่มีอายุ 1 ปีหรือน้อยกว่าว่าหลักทรัพย์ตลาดเงิน (Money market securities) ส่วนหุ้นกู้ที่มีอายมากกว่า 1 ปีเรียกว่าหลักทรัพย์ตลาดทุน (Capital market securities)
Par Value
เป็นเงินต้นที่ผู้ออกหุ้นกู้จะจ่ายคืนในวันครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ หุ้นกู้ที่ขายในราคาที่สูงกว่า Par value เรียกว่า Premium bonds ส่วนหุ้นกู้ที่ขายราคาต่ำกว่า Par value เรียกว่า Discount bonds และหุ้นกู้ที่ขายราคาเท่ากับ Par value เรียกว่า Par bonds
ดอกเบี้ย (Coupon payments)
เป็นปริมาณดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นกู้ในแต่ละปี ไม่ว่าจะจ่ายปีละหนึ่ง, สอง, หรือสี่ครั้ง ส่วนหุ้นกู้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละงวดเรียกว่า Zero-coupon bonds ซึ่งหุ้นกู้ชนิดนี้จะขายในราคาต่ำกว่า Par value ตามจำนวนดอกเบี้ยที่ให้ หมายความว่าราคาขายก็คือมูลค่าปัจจุบันของ Par value นั่นเอง
สกุลเงิน (Currencies)
หุ้นกู้สามารถออกเป็นสกุลเงินต่างๆได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสกุลเงินของประเทศที่บริษัทนั้นอยู่เท่านั้น โดยผู้ออกหุ้นกู้ที่ใช้สกุลเงินที่มีความผันผวนสูงอาจออกหุ้นกู้ในสกุลยูโรหรือดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อดึงดูดนักลงทุนในวงที่กว้างมากขึ้น หุ้นกู้สองสกุลเงิน (Dual-currency bonds) เป็นหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยในสกุลเงินหนึ่ง แล้วจ่ายเงินต้นคืนในอีกสกุลเงินหนึ่ง หุ้นกู้สกุลเงินทางเลือก (Currency option bonds) ให้สิทธิผู้ถือหุ้นกู้ในการเลือกสกุลเงินในการรับเงิน