เพื่อให้งบการเงินมีความน่าเชื่อถือและให้มั่นใจได้ว่ากิจการหรือบริษัทต่างๆ ได้มีการจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ได้กำหนดไว้ คนกลางอย่างผู้ตรวจสอบบัญชีที่ต้องเข้ามาตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจึงมีบทบาทสำคัญ และหนึ่งในบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีชั้นนำระดับโลก หรือหนึ่งใน BIG 4 ก็คือบริษัท Ernst & Young (EY) และบทความนี้จะมาเล่าประวัติความเป็นมาของ EY และผลกระทบจากคดีฉ้อโกงของบริษัท Wirecard ให้ฟังกัน

ก่อนจะมาเป็น Ernst & Young (EY)

  • ปี 1849 บริษัทในอังกฤษชื่อ Harding & Pullein เข้าร่วมกับนักบัญชีชื่อ Frederick Whinney แล้วต่อมาเปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น Whinney Smith & Whinney (1) ในปี 1894
  • ปี 1903 บริษัท Ernst & Ernst (2) ก่อตั้งขึ้นในคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ โดย Alwin C. Ernst และ Theodore Ernst พี่ชายของเขา
  • ปี 1906 ก่อตั้งบริษัท Arthur Young & Co. (3) โดย Arthur Young นักบัญชีจากชิคาโก ต่อมากลายเป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของโลก
  • ปี 1979 บริษัท Ernst & Ernst (2) ควบรวมกับ Whinney Smith & Whinney (1) เป็น Ernst & Whinney (4) ซึ่งกลายเป็นบริษัทบัญชีที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก
  • ปี 1989 มีการควบรวมกิจการของบริษัทบัญชีระดับโลก 2 แห่ง ได้แก่ Ernst & Whinney (4) และ Arthur Young & Co. (3) กลายมาเป็น Ernst & Young (เอินส์ทแอนด์ยัง) นั่นเอง
  • ปี 1997 Ernst & Young ได้ประกาศแผนการรวมกิจการระดับโลกเข้ากับ KPMG เพื่อสร้างองค์กรบริการระดับมืออาชีพที่ใหญ่ที่สุดในโลก (การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากPrice Waterhouse และ Coopers & Lybrand ประกาศควบรวมกิจการ) แต่ปีถัดมา Ernst & Young ก็ต้องยกเลิกแผนการควบรวมกับ KPMG เพราะปัญหาการผูกขาด การคัดค้านจากลูกค้า ปัญหาต้นทุน และวัฒนธรรมของทั้งสององค์กร
  • ปี 2013 ได้มีการเปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก Ernst & Young เป็น EY เพื่อให้จดจำง่ายและทันสมัยขึ้นและตั้งชื่อสโลแกนที่เกี่ยวข้องว่า “สร้างโลกการทำงานที่ดีขึ้น”
  • EY คือหนึ่งใน BIG 4 หรือหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งBIG 4 ได้แก่ Deloitte, PricewaterhouseCoopers (PwC), Ernst & Young (EY), KPMG
  • ปัจจุบัน EY มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีพนักงานทั่วโลกเกือบ 400,000 คน ใน 150 ประเทศ

EY ให้บริการอะไรบ้าง

  • บริการสอบบัญชี ตรวจสอบงบการเงินและรับรองงบฯ
  • บริการให้คำปรึกษา เช่น บริการที่ปรึกษาการบัญชีทางการเงิน (FAAS) หรือให้คำปรึกษาด้านการทำ Due diligence ก็คือการตรวจสอบและประเมินข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจหรือโอกาสในการลงทุนก่อนตัดสินใจซื้อ ขาย หรือควบรวมกิจการ รวมไปถึงให้ ให้คำปรึกษาในด้านการบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ
  • Tax ให้คำปรึกษาด้านภาษีเพื่อให้ลูกค้าปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับด้านภาษีได้อย่างถูกต้อง เช่น ภาษีธุรกิจ ภาษีระหว่างประเทศ ภาษีธุรกรรม

ลูกค้าของ EY

ลูกค้าของ EY ในประเทศไทย เช่น DELTA, BTS, AOT, KTC

ตัวอย่างบริษัทระดับโลกที่เคยใช้บริการ EY เช่น Amazon, Facebook, Coca-Cola

เรื่องอื้อฉาวทางบัญชี

ย้อนรอยเรื่องการฉ้อโกงของ Wirecard ในปี 2020 ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในเยอรมันที่ทำธุรกิจตัวกลางระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์  (Fintech ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปในขณะนั้น) โดยบริษัทได้มีการทำสัญญากับ Supplier ที่ไม่เคยติดต่อทำธุรกิจร่วมกันจริง มีการโอนเงินระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูกข้ามประเทศไปมา โดยบันทึกเงินรับเป็นรายได้

จุดเริ่มต้นของการตรวจพบเรื่องราวฉ้อโกงในครั้งนี้คือ

ในปลายปี 2018 มีพนักงานทำ whistleblower ไปยังสำนักข่าว Financial Times (FT) เกี่ยวกับธุรกรรมที่น่าสงสัยและการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในสิงคโปร์ ซึ่ง FT ได้ follow-up และตีแผ่ข่าวนั้น

แต่สุดท้าย EY ออกหน้ารายงานปี 2018 ของ Wirecard แบบไม่มีเงื่อนไข โดยมีวรรคเน้นเกี่ยวกับการสอบสวนทุจริตที่กำลังดำเนินการอยู่ในสิงคโปร์

ระหว่างนี้ Wirecard ได้แต่งตั้งให้ KPMG ทำ Special Audit เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่น แต่เมื่อผ่านไป 6 เดือน KPMG เผยแพร่ว่าไม่สามารถยืนยันความถูกต้องในรายได้ของ Wirecard จาก Partners ต่างๆรวมถึงหลักฐานเกี่ยวกับเงินฝากได้

และต่อมางบปี 2019 EY ก็ไม่เซ็นรับรองความถูกต้อง เนื่องจากพบว่าเงินฝากบัญชีธนาคารในฟิลิปปินส์ของ Wirecard จำนวน 1,900 ล้านยูโร ไม่มีเงินอยู่จริง

สุดท้ายแล้ว Wirecard จึงไม่มีเงินชำระเจ้าหนี้ ที่เป็นหนี้อยู่ 123,556 ล้านบาท และต้องยื่นล้มละลายไปเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2020

หลายฝ่ายยังคงตั้งข้อสงสัยในวิธีปฏิบัติทางการสอบบัญชีของ EY เพราะ Wirecard เป็นลูกค้าของ EY มานานนับ 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2009) และEY ออกหน้ารายงานแบบไม่มีเงื่อนไขมาตลอด แม้จะมีกระแสข่าวใดๆมาตั้งแต่ปี 2008 ก็ตาม

ข้อผิดพลาด

EY ไม่ได้ตรวจสอบบัญชีเงินสดโดยตรงกับธนาคารในประเทศสิงคโปร์ แต่ยึดตามเอกสารที่ได้จากบุคคลที่สามและจาก Wirecard เอง ซึ่งปกติต้องมีการส่งหนังสือยืนยันยอดหรือหลักฐานอื่นๆกับธนาคารโดยตรง และ EY อาจขาดการประเมินความเสี่ยงหรือการปรับรูปแบบและความละเอียดในการตรวจสอบ

ผลกระทบ

บริษัท SoftBank จะฟ้องสำนักงานสอบบัญชี EY เพราะ SoftBank ได้เข้าลงทุนใน Wirecard ถึง 900 ล้านยูโร ในเดือนเมษายน ปี 2019

ปี 2023 หน่วยงานกำกับดูแลบัญชีของเยอรมนีสั่งปรับผู้ตรวจสอบบัญชี (ผู้เซ็นรับรองงบฯWirecard) เป็นเงิน 500,000 ยูโร (541,650.00 ดอลลาร์สหรัฐ) และห้ามไม่ให้รับทำการตรวจสอบบัญชีใหม่ให้กับบริษัทที่เป็นผลประโยชน์สาธารณะเป็นเวลา 2 ปี

EY สูญเสียอำนาจตรวจสอบบัญชีในบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งในเยอรมนี และแน่นอนว่าทำให้ภาพรวมธุรกิจในเยอรมนีเติบโตลดลง

บทสรุป

นี่คือเรื่องราวเพียงบางส่วนของ EY บริษัทตรวจสอบยักษ์ใหญ่ที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน กับกรณีศึกษา Wirecard แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า EY จะผิดพลาดเสมอไป เนื่องจาก BIG4 มักตรวจสอบงบฯบริษัทใหญ่ๆ ดังนั้นหากมีกรณีฉ้อโกงใดๆเกิดขึ้น จึงมักส่งผลกระทบรุนแรงกว่าบริษัทตรวจสอบเล็กๆอื่น .. “การสร้างชื่อเสียงอาจไม่ง่าย แต่การรักษาชื่อเสียงนั้นยากกว่ามาก”

ขอบคุณข้อมูลจาก