พื้นฐานการเงินธุรกิจ [ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย]
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือของกลุ่มวิชาที่ 2: เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์การลงทุนภายใต้หลักสูตร CISA ใหม่ระดับที่ 1 (หลักสูตรการวิเคราะห์และการจัดการลงทุนขั้นพื้นฐาน)
บทที่ 1 หลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการเงินธุรกิจ
การเงินธุรกิจ หมายถึง การใช้หลักการบริหารในการตัดสินใจสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการวางแผน การกำกับและควบคุมกิจกรรมทางการเงิน การลงทุน การจัดหาแหล่งเงินทุนขององค์กร และการดำเนินงานตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อ
- สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้องค์กร และ
- สร้างความมั่งคั่งแก่ผู้ถือหุ้น
อาชีพและงานด้านการเงินธุรกิจ
- วาณิชธนกิจ – ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในการจัดโครงสร้างทางการเงิน รวมทั้งให้คำปรึกษาในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นและเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน
- บริหารเงินในองค์กรธุรกิจ – เกี่ยวกับการบริหารการเงินให้เหมาะสมกับบริษัท ดูแลโครงสร้างเงินทุน การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เป็นต้น
- วิเคราะห์ธุรกิจและโครงการ – เกี่ยวกับวิเคราะห์โครงการ โดยช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ด้านการเงินและตัดสินใจลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่เติบโตจากภายในและวิเคราะห์ธุรกิจเป้าหมายกรณีมีการขยายกิจการ
รูปแบบธุรกิจ
ธุรกิจเจ้าของคนเดียว – มีจำนวนมากที่สุด ก่อตั้งง่าย ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ แต่รับผิดชอบหนี้สินไม่จำกัด
ห้างหุ้นส่วนจำกัด – ประกอบด้วยเจ้าของหรือผู้จัดการที่มากกว่าหนึ่งคน แต่ความรับผิดชอบและการดำเนินกิจการคล้ายกับธุรกิจเจ้าของคนเดียว
บริษัทจำกัด – นิติบุคคลและมีสิทธิคล้ายคลึงกับธุรกิจเจ้าของคนเดียว แต่รับผิดชอบหนี้สินจำกัด อยู่ภายใต้กฎระเบียบมากกว่า เปลี่ยนมือง่ายกว่าและมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
การเงินธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การเงินธุรกิจมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป้าหมายสูงสุดทางด้านการเงินของการดำเนินธุรกิจคือการสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น ตลอดจนสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า พนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างสมดุล โดยมีผลกำไรเป็นเสมือนทางผ่านไปสู่ประโยชน์สุขร่วมกันของทุกฝ่ายในการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน
บทที่ 2 หลักการเบื้องต้นของงบประมาณลงทุน
งบประมาณลงทุน หมายถึง การจัดสรรทรัพยากร เงินทุนหรือค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีนัยสำคัญกับธุรกิจหรือองค์กร โดยคาดหวังว่าสินทรัพย์เหล่านั้นจะสามารถสร้างรายได้กระแสเงินสด ตลอดจนให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนตามที่คาดหวังในอนาคต เพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างความมั่งคั่งสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น
การจำแนกประเภทของโครงการลงทุน
- ตามลักษณะโครงการ
1.1 โครงการทดแทน
1.2 โครงการลงทุนเพื่อการขยายงาน
1.3 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าหรือให้บริการใหม่
1.4 โครงการที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบมาตรฐานที่บริษัทจำเป็นจะต้องปฏิบัติตาม
1.5 โครงการอื่น ๆ เช่น โครงการลงทุนเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือกระบวนการใหม่ เป็นต้น
- ตามลักษณะกระแสเงินสด
2.1 โครงการลงทุนที่เป็นอิสระต่อกัน – เลือกยอมรับโครงการใดโครงการหนึ่งหรือทั้งสองโครงการก็ได้
2.2 โครงการลงทุนที่ทำร่วมกันไม่ได้ – ยอมรับโครงการหนึ่ง = ปฏิเสธอีกโครงการหนึ่ง
2.3 โครงการลงทุนที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน – ยอมรับหรือปฏิเสธทั้งสองโครงการ
หลักการพิจารณางบประมาณลงทุน
- พิจารณาจากแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับกระแสเงินสดส่วนเพิ่ม ซึ่งไม่ได้พิจารณาจากแนวคิดกำไรทางบัญชี เช่น กำไรสุทธิ เป็นต้น
- เมื่อกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นในโครงการมีความสำคัญ โดยปกติผู้วิเคราะห์จะเป็นผู้ระบุว่ากระแสเงินสดนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร
- กระแสเงินสดจะตั้งอยู่สมมติฐานของต้นทุนค่าเสียโอกาส ดังนั้น กระแสเงินสดส่วนเพิ่มจากการทำโครงการจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับกระแสเงินสดหากไม่มีโครงการเกิดขึ้น
- กระแสเงินสดจะอยู่ในรูปของกระแสเงินสดหลังหักภาษี เนื่องจากภาษีจะต้องถูกสะท้อนในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับงบประมาณลงทุนเสมอ และภาษีถือเป็นกระแสเงินสดจ่ายที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
- ต้นทุนทางการเงินจะไม่ถูกนำมาพิจารณาในกระแสเงินสดของโครงการ แต่จะถูกพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังในรูปของอัตราคิดลด
กระบวนการพิจารณางบประมาณลงทุน
- การพัฒนาแนวคิดการลงทุน – พัฒนาแนวคิดในการทำโครงการ ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร
- การวิเคราะห์ข้อเสนอโครงการ – รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรของโครงการ
- การวางแผนงบประมาณลงทุน – การวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการเทียบกับกลยุทธ์ขององค์กร
- การติดตามและประเมินผลโครงการ – เปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่พยากรณ์ไว้กับผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงและอธิบายถึงสาเหตุของความแตกต่างของผลการดำเนินงาน
เกณฑ์ในการประเมินโครงการลงทุน
- ระยะเวลาคืนทุน – หากระยะเวลาคืนทุนน้อยกว่าระยะเวลาที่ตั้งเกณฑ์ไว้ โครงการนั้นลงทุนได้
- ระยะเวลาคืนทุนคิดลด – เช่นเดียวกับระยะเวลาคืนทุน
- มูลค่าปัจจุบันสุทธิ – หากมูลค่าปัจจุบันสุทธิมากกว่าศูนย์ ยอมรับโครงการนั้นได้
- อัตราผลตอบแทนภายใน – หากอัตราผลตอบแทนภายในมากกว่าต้นทุนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของเงินทุน ยอมรับโครงการนั้นได้
- ดัชนีวัดความสามารถในการทำกำไร – หากมูลค่าปัจจุบันสุทธิมากกว่าศูนย์ ดัชนีวัดความสามารถในการทำกำไรมีค่ามากกว่าหนึ่ง โครงการนั้นมีความน่าลงทุน
- อัตราผลตอบแทนทางบัญชีถัวเฉลี่ย – กำไรสุทธิเฉลี่ยหารด้วยมูลค่าตามบัญชีเฉลี่ย
บทที่ 3 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุน
โครงสร้างของเงินทุน หมายถึง เงินทุนระยะยาวของธุรกิจซึ่งอาจมาจากภายในและภายนอกบริษัท เพื่อนำมาขยายกิจการหรือใช้ในการดำเนินงาน แหล่งเงินทุนมาจาก
- ภายนอก เช่น เงินกู้ยืมหรือหนี้สินระยะยาว หุ้นกู้ หุ้นบุริมสิทธิ เป็นต้น
- ภายใน เช่น กำไรสะสม เป็นต้น
การคำนวณต้นทุนของเงินทุน
- ต้นทุนของหนี้สิน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ผู้กู้จะต้องจ่ายออกไปให้กับผู้ให้กู้ เพื่อให้ได้เงินทุนตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการก่อหนี้โดยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินหรือการออกหุ้นกู้โดยเสนอขายให้กับผู้ลงทุน ค่าใช้จ่ายคือ “ดอกเบี้ย”
- วิธี Yield-to-maturity – คำนวณหาต้นทุนหนี้สินที่เกิดจากการออกหุ้นกู้โดยเสนอขายให้กับผู้ลงทุน
- วิธี Debt-rating – คำนวณหาต้นทุนหนี้สินในกรณีที่ไม่สามารถหามูลค่าตลาดของหนี้สินได้
- วิธีภาระดอกเบี้ยตามบัญชี – กรณีที่ไม่สามารถคำนวณหาต้นทุนหนี้สินจาก 2 วิธีแรก
- ต้นทุนของหุ้นบุริมสิทธิ หมายถึง อัตราผลตอบแทนที่ต่ำที่สุดที่ธุรกิจได้รับจากการลงทุนด้วยเงินทุนที่จัดหามาจากหุ้นบุริมสิทธิ และไม่ทำให้มูลค่าของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป
- ต้นทุนของส่วนของผู้ถือหุ้น
3.1 ต้นทุนของกำไรสะสม – ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นต้องการ
- Dividend Discount Model: สมมติฐานว่ากิจการจะจ่ายเงินปันผลหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราคงที่
- Capital Asset Pricing Model: ประยุกต์ใช้แบบจำลองในการกำหนดราคาหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นสมการที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำของสินทรัพย์
- Bond Yield Risk Premium: หาต้นทุนของเงินทุนในส่วนของกำไรสะสม
3.2 ต้นทุนของหุ้นสามัญออกใหม่ – การคำนวณต้นทุนของหุ้นสามัญออกใหม่จะต้องนำค่าใช้จ่ายในการนำหุ้นออกจำหน่ายมาปรับในสูตรการคำนวณ
ต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของเงินทุนและปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของเงินทุน
ต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของเงินทุน หมายถึง ต้นทุนของเงินทุนที่คำนวณจากเงินทุนแหล่งต่าง ๆ ของโครงการธุรกิจนั้น ๆ อันเกิดจากผลรวมระหว่างผลคูณของสัดส่วนของเงินทุน กับต้นทุนหลังหักภาษีของรายการนั้น ๆ อันทำให้
- ธุรกิจสามารถทราบถึงต้นทุนรวมของเงินทุนในปัจจุบันที่เป็นอัตราผลตอบแทนต่ำที่สุดที่ธุรกิจจะได้รับจากการลงทุน
- ธุรกิจสามารถนำไปเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจในการลงทุน การประเมินโครงการลงทุน การพิจารณากำหนดนโยบายสินเชื่อ ตลอดจนการจัดหาเงินทุนในอนาคต
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของเงินทุน
ปัจจัยที่บริษัทสามารถควบคุมได้
- นโยบายของโครงสร้างเงินทุน – โครงสร้างเงินทุนของแต่ละบริษัทขึ้นอยู่กับรูปแบบการดำเนินงานของธุรกิจนั้น
- นโยบายเงินปันผล – บริษัทสามารถเลือกจ่ายเงินปันผลมาก เพื่อให้ผลประโยชน์กับผู้ถือหุ้นหรือจ่ายเงินปันผลน้อยลง เพื่อเก็บไว้เป็นกำไรสะสมสำหรับลงทุนเพิ่ม
- นโยบายการลงทุน – เพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท
ปัจจัยที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้
- อัตราดอกเบี้ย – หากระดับดอกเบี้ยสูงขึ้น ภาระการชำระหนี้ของบริษัทจะสูงขึ้นตาม
- อัตราภาษี – หากอัตราภาษีลดลง หุ้นสามัญจะมีความน่าสนใจที่จะลงทุน เพราะจะได้กำไรหลังหักภาษีแล้วสูง แต่ทำให้ต้นทุนในส่วนของหนี้สินสูงขึ้น เพราะนำไปหักภาษีได้น้อยลง
ความเสี่ยงทางธุรกิจและความเสี่ยงทางการเงิน
ความเสี่ยงทางธุรกิจ คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับบริษัท หากบริษัทระดมทุนโดยไม่มีการก่อหนี้ ความเสี่ยงประเภทนี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ทั้งกระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายที่เกิดขึ้นจริงซึ่งไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนล่วงหน้า
ปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงทางธุรกิจ
- ความผันผวนของความต้องการสินค้า
- ความผันผวนของราคา
- ความผันผวนของต้นทุนขาย
- ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงราคาขายตามต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
- ความสามารถในการรออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้รวดเร็ว โดยต้นทุนไม่สูงมากนัก
- ความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ
- ต้นทุนคงที่
ความเสี่ยงทางการเงิน คือ ความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นสามัญได้รับ หากบริษัทตัดสินใจจัดหาเงินทุนจากการก่อหนี้หรือออกหุ้นบุริมสิทธิ
ภาระผูกพันจากการดำเนินงาน ภาระผูกพันทางการเงินและภาระผูกพันรวม
ระดับภาระผูกพันจากการดำเนินงาน (DOL) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของกำไรจากการดำเนินงานต่อเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณขาย
ระดับภาระผูกพันทางการเงิน (DFL) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของกำไรสุทธิต่อหุ้นต่อเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของกำไรจากการดำเนินงาน
ภาระผูกพันรวม (DTL) แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง DOL และ DFL
ภาระผูกพันทางการเงิน กำไรสุทธิ โครงสร้างเงินทุนและผลต่อราคาหุ้น
ภาระผูกพันทางการเงิน หมายถึง การระดมทุนโดยใช้หลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ในการจัดหาเงินทุน ซึ่งการที่ธุรกิจมีการก่อหนี้ย่อมทำให้ธุรกิจเกิดภาระผูกพันทางการเงิน
ภาระผูกพันทางการเงินจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีและกำไรต่อหุ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในอัตรากำไรต่อหุ้นของบริษัทจะส่งผลสะท้อนถึงถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาดของหุ้นสามัญ
ลักษณะและประเภทของเงินปันผล
- เงินสดปันผล – การกระจายกำไรที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นในรูปของเงินสด โดยจะจ่ายออกจากบัญชีกำไรสะสม
- การแตกหุ้น – รูปแบบการจ่ายปันผลที่ทำให้จำนวนหุ้นสามัญที่ผู้ลงทุนถือหุ้นอยู่มีจำนวนมากขึ้น
- หุ้นปันผล – การกระจายกำไรที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นในรูปแบบการออกหุ้นสามัญใหม่ให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผล ณ วันปิดสมุดพักการโอนหุ้น
- การซื้อหุ้นสามัญกลับคืน – บริษัทสามารถที่จะซื้อคืนหุ้นสามัญกลับคืนจากตลาดได้ แต่ต้องได้รับการยินยอมจากตลาดหุ้นก่อนว่าจะซื้อคืนจำนวนประมาณเท่าไร ในช่วงเวลาใด
องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจ่ายเงินปันผล
วันประกาศจ่ายปันผล – วันที่คณะกรรมการบริษัทประกาศอนุมัติการจ่ายเงินปันผล
วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น – วันที่บริษัทจะบันทึกรายชื่อผู้ถือหุ้นสามัญที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในช่วงเวลาหนึ่ง หากผู้ถือหุ้นรายใหม่ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้ เขา/เธอจะไม่มีสิทธิรับเงินปันผล
วันที่ซื้อขายหุ้นโดยไม่รับเงินปันผล – วันที่ผู้ลงทุนที่ซื้อหุ้นสามัญของบริษัทจะไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล
วันจ่ายเงินปันผล – วันที่บริษัทจะดำเนินการจัดส่งเช็คไปยังผู้ถือหุ้นตามทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น
บทที่ 4 การจัดการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการวิเคราะห์บริษัท
เงินทุนหมุนเวียน หมายถึง เงินทุนระยะสั้นที่ธุรกิจจัดหามาเพื่อนำมาใช้ในการจัดหาสินทรัพย์หมุนเวียนหรือใช้ในการดำเนินกิจการ
กิจการจะต้องมีสภาพคล่องในการดำเนินงานอย่างเพียงพอ ดังนั้น การวิเคราะห์สภาพคล่องของบริษัทและเงินทุนหมุนเวียนจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ในการวิเคราะห์สภาพคล่องจากเงินทุนหมุนเวียน จะพิจารณาจากปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสภาพคล่องของบริษัท เช่น
ปัจจัยภายใน | ปัจจัยภายนอก |
|
|
สภาพคล่องของกิจการสามารถวัดได้โดยใช้
- อัตราส่วนวัดสภาพคล่อง
- อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน
- อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว
- อัตราส่วนวัดความสามารถในการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียน
- อัตราหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า
- อัตราหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ
- วงจรการดำเนินงานและวงจรเงินสด
การจัดการเงินสด
เงินสด คือ สินทรัพย์ที่กิจการเป็นเจ้าของและสามารถใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย แต่เงินสดเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
วัตถุประสงค์ของการถือเงินสด
- เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจประจำวัน
- เพื่อรอจังหวะการลงทุนในอนาคต และ
- เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
ในการจัดการเงินสด ใช้หลักการ “เข้าเร็ว-ออกช้า”
- เข้าเร็ว หมายถึง หากเป็นเงินสดรับ ให้กิจการเร่งรับเร็ว ๆ
- ออกช้า หมายถึง หากเป็นเงินสดจ่าย ให้พยายามชะลอการจ่ายเงินสด และถือเงินสดให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป
การจัดการเงินลงทุนระยะสั้น
เป้าหมายของการลงทุนระยะสั้นคือการแสวงหาอัตราผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล โดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนระยะสั้นสามารถแบ่งออกเป็น
- กลยุทธ์เชิงรับ – เน้นความปลอดภัยและสภาพคล่องมากกว่าการสร้างผลตอบแทน
- กลยุทธ์เชิงรุก – เน้นการสร้างผลตอบแทนเป็นหลัก
องค์ประกอบของนโยบายการลงทุนระยะสั้น
เป้าหมาย | แสดงรายการและอธิบายสาเหตุของพอร์ตการลงทุนและอธิบายถึงคุณลักษณะทั่วไป |
ขอบเขตอำนาจและหน้าที่ | อธิบายถึงอำนาจและหน้าที่ของผู้บริหารที่ดูแลการลงทุน (ภายในองค์กร) ผู้จัดการกองทุน (ภายนอกองค์กร) และอธิบายว่าเกิดขึ้นอะไรขึ้นหากไม่ปฏิบัติตามนโยบาย |
ข้อจำกัด | อธิบายชนิดของหลักทรัพย์ที่จะได้รับการพิจารณาในพอร์ตการลงทุนและข้อจำกัดต่าง ๆ |
คุณภาพ | ระบุคุณภาพหลักทรัพย์สำหรับการถือครอง |
ตรวจสอบและรายงาน | วิธีและรอบระยะเวลาในการตรวจสอบและรายงานสถานะของการลงทุน |
การจัดการลูกหนี้การค้า
ลูกหนี้การค้า หมายถึง ลูกหนี้ที่เป็นรายการอันเกิดมาจากการดำเนินงานตามปกติของธุรกิจการขายสินค้า โดยการให้เครดิตเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการค้าทั่วไป
การพิจารณาเงื่อนไขการให้เครดิตแก่ลูกค้าที่กิจการใช้กันทั่วไป
- เงื่อนไขสามัญ – พิจารณาเงื่อนไขการให้เครดิตแก่ลูกค้าในรูปแบบทั่วไป เช่น วันสุทธิ (net t) ซึ่ง t หมายถึง ช่วงระยะเวลาที่ลูกค้าต้องชำระเงินค่าสินค้าก่อนที่จะเกินกำหนด หรือในรูปแบบส่วนลดหากมีการชำระเงินภายในระยะเวลา
- เงินสดก่อนส่งมอบ – ตั้งข้อกำหนดในใบแจ้งหนี้ให้ลูกค้าชำระเงินสดก่อนการส่งมอบ หากชำระด้วยเช็ค เงินต้องผ่านเข้าบัญชีเรียบร้อยก่อนส่งมอบ
- เงินสดเมื่อส่งมอบ – วิธีการชำระเงินเมื่อมีการส่งมอบตามกำหนด
- Bill to Bill – วิธีการชำระเงินที่บริษัทจะต้องได้รับเงินจากใบแจ้งหนี้ในครั้งก่อนหน้าก่อนการจัดส่งครั้งถัดไป
- การเรียกเก็บเงินรายเดือน คล้ายกับเงื่อนไขชนิดสามัญ
การจัดการสินค้าคงเหลือ
สินค้าคงเหลือ (สินค้าคงคลัง) หมายถึง สินทรัพย์ วัสดุหรือสินค้าต่าง ๆ ที่เก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของกิจการ อาจเป็นการใช้เพื่อดำเนินการผลิต ดำเนินการขายหรือดำเนินงานอื่น ๆ
วัตถุประสงค์ของการจัดการสินค้าคงเหลือคือ การกำหนดและรักษาระดับสินค้าคงเหลือที่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ไม่เกินความจำเป็น
วิธีการที่นิยมนำมาใช้จัดการการถือครองสินค้าคงเหลือ
- การกำหนดปริมาณของสินค้าคงเหลือที่เหมาะสม – คำนึงถึงต้นทุนในการบริหารสินค้าคงเหลือเป็นหลักในการตัดสินใจ
- หลักทันเวลาพอดี – ระบบที่มีวัตถุประสงค์ในการลดสินค้าคงเหลือในกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบและสินค้าระหว่างทำ โดยประเมินระบบการจัดส่งวัตถุดิบและกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ
- การวางแผนวัตถุดิบหรือการวางแผนทรัพยากรการผลิต – การบริหารจัดการภายในองค์กรที่เป็นการบูรณาการระบบการผลิตเข้ามาเพื่อช่วยตัดสินใจระบบการจัดการสินค้าคงเหลือ
การจัดการเจ้าหนี้การค้า
เจ้าหนี้การค้า หมายถึง จำนวนเงินที่กิจการค้างชำระ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการที่ซื้อมาเพื่อขายใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการตามปกติ และตั๋วเงินจ่ายที่บริษัทออกให้เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการดังกล่าว
หนึ่งในนโยบายการขายที่กิจการส่วนใหญ่มักนำมาใช้เพื่อจูงใจให้ซื้อสินค้าของกิจการ คือ
- ส่วนลดการค้า – ส่วนลดที่จะหักจากราคาสินค้าตามรายการหรือแค็ตตาล็อก
- ส่วนลดเงินสด – ส่วนลดที่เจ้าหนี้จะยอดลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้การค้า เมื่อลูกหนี้การค้าได้นำเงินนสดมาชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
- ส่วนลดรับ – กิจการได้ซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อ และชำระหนี้ค่าสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด
- ส่วนลดจ่าย – กิจการได้ขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ และได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
วิธีการจัดการกระแสเงินสดจ่ายยอดนิยมคือการใช้บริการการเบิกจ่ายจากธนาคาร ซึ่งกิจการสามารถเข้าถึงและบริหารจัดการกระแสเงินสดจ่ายอย่างรวดเร็วและง่ายดาย
จำนวนวันของเจ้าหนี้การค้า – มาตรวัดสำคัญในการประเมินการจัดการเจ้าหนี้การค้า หาก
- ชำระเงินเร็วกว่าเงื่อนไขที่กำหนด – อาจเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการบริหารเงิน
- ชำระเงินช้ากว่าเงื่อนไขที่กำหนด – อาจสูญเสียความเชื่อมั่นจากคู่ค้าของกิจการ
การจัดหาเงินจากหนี้สินระยะสั้น
วัตถุประสงค์ของการจัดหาเงินจากหนี้สินระยะสั้น
- บริษัทมีเงินทุนเพียงพอ (แต่เสียค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม) และ
- ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงกับกิจการ
แหล่งที่มาของการก่อหนี้สินระยะสั้น
- เครดิตการค้า – เงินทุนระยะสั้นจากประเพณีทางการค้าหรือได้มาโดยอัตโนมัติ ได้แก่ บัญชีเงินเชื่อ ตั๋วเงินจ่ายและตั๋วแลกเงิน
- ตราสารพาณิชย์ – การจัดหาเงินทุนระยะสั้นโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีอายุสั้น (ประมาณ 3 วัน – 9 เดือน) ออกโดยบริษัทที่มีชื่อเสียง แบ่งออกเป็น
- ตลาดตราสารพาณิชย์ที่ขายผ่านผู้ค้าหลักทรัพย์
- ตลาดตราสารพาณิชย์ที่ขายโดยผู้ออกโดยตรง
- เงินกู้จากธนาคารและสถาบันทางการเงิน แบ่งออกเป็น
- กลุ่มธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
- กลุ่มธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ ธุรกิจการให้เช่าแบบลิสซิ่งและธุรกิจสินเชื่อแฟ็กเตอริง
บทที่ 5 หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนและธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนเบื้องต้น
หลักการพื้นฐานที่ธุรกิจควรคำนึงถึงและสามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ เช่น
- แนวคิดหลักความสมดุลทั้งสามด้าน – ให้ความสำคัญกับการมองคุณค่าและประเมินความสำเร็จขององค์กรอย่างสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม
- หลักการสากล 10 ประการโดย UN Global Compact – ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยครอบคลุมเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อมและการต่อต้านการทุจริต
- เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน – สะท้อนประเด็นสำคัญที่ภาครัฐบาล ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573
- หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง – แนวทางการพัฒนาบนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผลและการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
องค์ประกอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่
- เศรษฐกิจ – การที่ธุรกิจสามารถสร้างผลกำไรให้มากที่สุด โดยใช้ต้นทุนน้อยที่สุด
- สังคม – ความมุ่งหวังที่จะแสวงหาและรักษาไว้ซึ่งความมีเสถียรภาพของระบบทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
- สิ่งแวดล้อม – การรักษาหรืออนุรักษ์ระบบกายภาพและชีวภาพ รวมถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบนิเวศของโลก ซึ่งครอบคลุมถึงสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น
บทบาทของผู้มีส่วนได้เสียของกิจการต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคล องค์กร สถาบันหรือชุมชนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากการตัดสินใจหรือการที่กิจการดำเนินโครงการหรือนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง
ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการมีการปฏิสัมพันธ์กับกิจการ ทรัพยากรและความคาดหวังจะถูกแลกเปลี่ยนระหว่างกัน โดยแต่ละฝ่ายต้องการผลตอบแทนหรือความพึงพอใจในการส่งมอบทรัพยากร เช่น
- ผู้ถือหุ้น – ผู้จัดหาเงินทุนให้กับกิจการ มุ่งหวังจะได้รับผลตอบแทนจากเงินที่ลงทุนไป
- ลูกค้า – ผู้ให้รายได้แก่กิจการ โดยมุ่งหวังว่ากิจการจะให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมูลค่าของเงินที่จ่ายไป
- รัฐบาล – ผู้ให้กฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจและรักษาการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจที่ยุติธรรม โดยมุ่งหวังว่ากิจการจะทำตามกฎเกณฑ์
กิจการต้องพิจารณาแง่มุมต่าง ๆ ของความคาดหวังของผู้ที่มีส่วนได้เสียของกิจการอย่างรอบคอบในการกำหนดกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจ มิฉะนั้น
- ผู้ถือหุ้น – ขายหุ้นออก
- ลูกค้า – ซื้อสินค้าจากแหล่งอื่น
- รัฐบาล – บังคับใช้กฎหมายกับกิจการ หากมีการกระทำผิดทางแพ่งหรือทางอาญา
แนวทางการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน
- การวิเคราะห์บริบท ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพื่อกำหนดประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร
- การกำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กร
- การกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร
- การขับเคลื่อนความยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติ
- การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน
การกำกับดูแลกิจการ
การกำกับดูแลกิจการ หมายถึง ระบบที่จัดให้มีโครงสร้างและกระบวนการของความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการและผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันอันนำไปสู่การเจริญเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่น
หลักการพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ประกอบด้วย
- ความซื่อสัตย์
- ความยุติธรรม
- ความโปร่งใส
- ความรับผิดชอบ
- ภาระรับผิดชอบ
หลักการกำกับดูแลกิจการ ได้แก่
- หลักการกำกับดูแลกิจการโดย OECD
- หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน 2560 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
บทความนี้เป็นแค่สรุปหนังสือ หากคุณต้องการอ่านฉบับเต็ม คุณสามารถสั่งซื้อที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์