หลักการลงทุน [ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย]
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือของกลุ่มวิชาที่ 2: เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์การลงทุนภายใต้หลักสูตร CISA ใหม่ระดับที่ 1 (หลักสูตรการวิเคราะห์และการจัดการลงทุนขั้นพื้นฐาน)
บทที่ 1 หลักการลงทุนเบื้องต้น
แนวคิดเบื้องต้นของการลงทุน
การลงทุนคือการจัดสรรเงินในปัจจุบันเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อที่จะได้มาซึ่งการบริโภคใช้จ่ายในอนาคตในระดับที่สูงขึ้น ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนสำหรับ
- เวลาที่เลื่อนการบริโภค
- อัตราที่คาดหวังของเงินเฟ้อ
- ความไม่แน่นอนของการได้รับผลตอบแทนในอนาคต
การเสียสละในปัจจุบันและการคาดหวังผลตอบแทนในอนาคตนั้นเป็นไปตามความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทน
- ผู้ลงทุนคาดหวังผลตอบแทนที่สูงจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง
- ผู้ลงทุนคาดหวังผลตอบแทนที่ต่ำจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ
วัตถุประสงค์ของการลงทุน
- ระดับบุคคล: รับผลตอบแทนเพื่อชดเชยความพึงพอใจ ค่าของเงินและความเสี่ยงที่เกิดจากการเลื่อนบริโภค
- ระดับธุรกิจและประเทศ: ธุรกิจสามารถขยายกิจการและดำเนินการผลิตมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุน
- ปัจจัยภายใน: เกี่ยวกับลักษณะส่วนบุคคลของผู้ลงทุน เช่น รายได้หรือความมั่งคั่ง, ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เป็นต้น
- ปัจจัยภายนอก: รายละเอียดหลักทรัพย์, กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เป็นต้น
ตลาดการเงินและสินทรัพย์ทุน
ตลาดการเงิน (Financial Market) คือตลาดที่ผู้ขายนำสินทรัพย์ทางการเงินมาขายและผู้ซื้อนำเงินมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ทางการเงินนั้น ผู้ขายจะสร้างหรือผลิตสินทรัพย์ทางการเงินตามวิธีการทางการเงิน
บทบาทและหน้าที่ของตลาดการเงิน
ตลาดการเงินเป็นเครื่องมือที่ภาครัฐใช้ในการบริหารจัดการภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการระดมทุนให้กับหน่วยธุรกิจที่ขาดแคลนเงินทุน และเป็นช่องทางการออมและการลงทุนสำหรับผู้ออมและผู้ลงทุน
การจัดกลุ่มของตลาดการเงิน
- แบ่งตามการนำสินทรัพย์ออกขาย
- ตลาดแรก: ผู้ระดมทุนขายสินทรัพย์ทางการเงินให้กับผู้มีเงินทุนด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านบุคคลอื่นใด
- ตลาดรอง: ซื้อขายเปลี่ยนมือสินทรัพย์ทางการเงินที่เคยซื้อขายในตลาดแรก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ที่ลงทุนในตลาดแรก
- การจัดกลุ่มตามอายุตราสารทางการเงิน
- ตลาดเงิน: ซื้อขายตราสารทางการเงินไม่เกิน 1 ปี เพื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับการทำธุรกรรมปกติในแต่ละวัน
- ตลาดทุน: ซื้อขายตราสารทางการเงินมากกว่า 1 ปี เพื่อลงทุนในโครงการระยะยาว
- การจัดกลุ่มตามคุณลักษณะของตราสารที่นำมาซื้อขาย
- ตลาดตราสารหนี้: ตราสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร เป็นต้น
- ตลาดตราสารทุน: ตราสารแสดงความเป็นเจ้าของ เช่น หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นสามัญ เป็นต้น
- การจัดกลุ่มตามเกณฑ์เวลาที่ส่งมอบและการชำระราคา
- ตลาดแบบส่งมอบทันที: จ่ายเงินและรับมอบสินทรัพย์ทางการเงินทันที
- ตลาดซื้อขายล่วงหน้า: ทำสัญญาในปัจจุบัน แต่ส่งมอบและชำระราคาในอนาคต เช่น ฟิวเจอร์ส, ฟอร์เวิร์ด, ออปชัน เป็นต้น
หนังสือเล่มนี้จำแนกประเภทของตลาดการเงินเป็น
- ตลาดเงิน: ตลาดการกู้ยืมหรือจัดหาเงินทุนระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งมักเป็นตราสารหนี้ ความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูง
- ตลาดตราสารหนี้ระยะยาว: ประกอบด้วยตราสารหนี้ที่มีอายุครบกำหนดระยะปานกลาง (3-5 ปี) และระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) ที่ออกโดยภาครัฐหรือเอกชน
- ตลาดตราสารทุน: ประกอบด้วยหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิหรือตราสารที่เกี่ยวข้อง
- ตราสารอนุพันธ์: ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิง เช่น คู่สกุลเงิน, หุ้น, ดัชนีหุ้น, ทองคำ เป็นต้น โดยตรง ทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนหรือผลขาดทุนมากกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรง
ช่องทางการลงทุน
- การซื้อขายโดยตรงในตลาดการเงิน
1.1 ตลาดเงิน: คุณไม่สามารถลงทุนโดยตรงในตลาดเงิน เนื่องจากเป็นธุรกรรมเกิดขึ้นระหว่างสถาบันการเงิน
1.2 ตลาดแรกของตราสารหนี้:
- ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประมูลตราสารหนี้ภาครัฐส่วนใหญ่
- การออกและจำหน่ายหุ้นกู้ต้องผ่านการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งสามารถเสนอขายได้ 2 แบบ
- การเสนอขายแก่ประชาชนในวงกว้าง
- การเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด
1.3 ตลาดรองของตราสารหนี้: เป็นแบบซื้อขายนอกตลาด
1.4 ตลาดแรกของตราสารทุน แบ่งออกเป็น
- การเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป
- การเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด
1.5 ตลาดรองของตราสารทุน ประกอบด้วย
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
- ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI)
1.6 ตลาดสำหรับตราสารอนุพันธ์ ประกอบด้วย
- ตลาดตราสารอนุพันธ์ที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการ: ตลาดสำหรับซื้อขายอนุพันธ์ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการเพื่อรวมศูนย์การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในรูปแบบเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ เช่น TFEX
- ตลาดโอทีซี: ตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกันและต่อรองซื้อขายตราสารอนุพันธ์โดยตรง โดยไม่มีตลาดที่เป็นทางการมารองรับการทำธุรกรรม
- การลงทุนผ่านกองทุนรวม
กองทุนรวม (Mutual Fund) คือสื่อกลางทางการเงินที่ทำหน้าที่ระดมทุนจากผู้ลงทุนหลาย ๆ คน เพื่อนำเงินมาลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้
การลงทุนผ่านกองทุนรวมมีข้อดีหลายประการ เช่น โอกาสกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนที่มากกว่า, ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี, มีการบริหารงานโดยมืออาชีพ เป็นต้น
กองทุนรวมสามารถแบ่งออกตามลักษณะการไถ่ถอนหรือขายคืนได้เป็นสองประเภท คือ
- กองทุนเปิด: ซื้อหรือขายหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทจัดการตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ทุกวัน ทุกเดือน เป็นต้น
- กองทุนปิด: จองซื้อหน่วยลงทุนได้ครั้งเดียว และขายหน่วยลงทุนเมื่อถึงวันครบกำหนดอายุโครงการ
การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
มูลค่าของหน่วยลงทุนสามารถวัดได้จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม ซึ่งคำนวณได้จากมูลค่าทรัพย์สินต่อหน่วยลบด้วยมูลค่าหนี้สินต่อหน่วยของกองทุน
กองทุนเปิด: มูลค่าของหน่วยลงทุนเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
กองทุนปิด: มูลค่าของหน่วยลงทุนในตลาดรองอาจมากกว่าหรือน้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
โครงสร้างการดำเนินงานของกองทุนรวม
กองทุนรวมถูกจัดตั้งขึ้นมาเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทจัดการ โดยบริษัทจัดการมีหน้าที่ในการกำหนดโครงการของกองทุนรวม นโยบายการลงทุนและวัตถุประสงค์ หากบริษัทจัดการล้มละลาย สินทรัพย์ของผู้ลงทุนที่อยู่ในกองทุนรวมจะไม่ได้รับผลกระทบ
เพื่อการตรวจสอบบริษัทจัดการแทนผู้ลงทุน กองทุนรวมจึงถูกกำหนดให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ ซึ่งต้องเป็นสถาบันการเงินที่ไม่มีความสัมพันธ์กับบริษัทจัดการ
ค่าธรรมเนียม
บริษัทจัดการทำหน้าที่บริหารกองทุนรวมและได้รับผลตอบแทนผ่านค่าธรรมเนียมการบริหาร (ค่าบริหารจัดการ + ค่าใช้จ่ายทั่วไป)
นอกจากนี้แล้ว บริษัทอาจคิด
- ค่านายหน้าในการซื้อหน่วยลงทุน และ/หรือ
- ค่านายหน้าในการไถ่ถอนหน่วยลงทุน
หลักการตัดสินใจลงทุน
องค์ประกอบสำคัญในการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์
การประมาณการกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคต: การคาดคะเนหรือระบุให้ได้ว่าหลักทรัพย์ที่ประเมินจะให้กระแสเงินสดในอนาคตเท่าใด ซึ่งสามารถเป็นได้หลายรูปแบบ เช่น ปันผล ดอกเบี้ย กำไรต่อหุ้น เป็นต้น
กำหนดรูปแบบกระแสเงินสดที่จะได้รับ: ทำให้ทราบเวลาที่ได้รับกระแสเงินสดนั้น ๆ เพื่อนำไปใช้คำนวณมูลค่าหลักทรัพย์
การประมาณการอัตราผลตอบแทนที่ต้องการ ประกอบด้วยอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง + อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้น + ส่วนชดเชยความเสี่ยงของหลักทรัพย์
การเปรียบเทียบมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อตัดสินใจลงทุน
- กรณีราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่คำนวณได้ ควรซื้อหลักทรัพย์นั้น
- กรณีราคาหลักทรัพย์สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่คำนวณได้ ควรขายหลักทรัพย์นั้น
- กรณีราคาหลักทรัพย์เท่ากับมูลค่าที่แท้จริงที่คำนวณได้ ตัดสินใจซื้อ/ขายหรือไม่ก็ได้
บทที่ 2 การวิเคราะห์เชิงปริมาณและการจัดการข้อมูลเพื่อการลงทุน
ความหมายและความสำคัญของการวิเคราะห์เชิงปริมาณกับการลงทุน
การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (QA) คือเทคนิคที่ใช้การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และสถิติการวัดประเมินผลการทำงาน การประเมินมูลค่าของเครื่องมือทางการเงินและการทำนายเหตุการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง
ในภาคการเงินและการลงทุน การวิเคราะห์เชิงปริมาณถูกใช้เพื่อการวิเคราะห์โอกาสในการลงทุน เช่น เมื่อใดที่ควรซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนจะใช้การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน ซึ่งมีตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูลทางสถิติอย่างง่าย เช่น รายได้ กำไร ไปจนถึงการคำนวณที่ซับซ้อน เช่น กระแสเงินสดที่มีอัตราคิดลดหรือการกำหนดราคาหลักทรัพย์ เป็นต้น
เป้าหมายสูงสุดของการวิเคราะห์เชิงปริมาณคือ การใช้สถิติและเมตริกเชิงปริมาณเพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนที่มีประสิทธิภาพ
ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ลงทุน
ข้อมูลทางการเงินมีความสำคัญต่อการตัดสินใจในการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน
หากข้อมูลที่ได้รับมีคุณภาพดี ถูกต้อง ทันเวลาและทันสมัยแล้ว ผู้ลงทุนจะสามารถออกแบบกลยุทธ์การลงทุนและลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนเหมาะสมกับความเสี่ยงตามประสงค์
หากจำแนกข้อมูลตามลักษณะและแหล่งที่มาข้อมูล สามารถจำแนกเป็น
- ข้อมูลในระดับมหภาค: มีความสำคัญมาก เพราะเศรษฐกิจมหภาคจะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของอุตสาหกรรมและบริษัท เช่น GNP, GDP, รายได้ประชาชาติ เป็นต้น
- ข้อมูลในระดับตลาดและอุตสาหกรรม:
- ข้อมูลในระดับตลาด เช่น ดัชนีหลักทรัพย์, อันดับเครดิต, ข้อมูลแนวโน้มตลาด เป็นต้น
- ข้อมูลในระดับอุตสาหกรรม – แสดงให้เห็นถึงโอกาสการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตและข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรม
- ข้อมูลในระดับบริษัท เช่น ข้อมูลองค์กร, รายงานประจำปี, สิ่งพิมพ์ของตลาดหลักทรัพย์และหนังสือเวียน เป็นต้น
แหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับใช้ในการวิเคราะห์การลงทุน
รายงานสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ สารสนเทศที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์หรือสำคัญต่อการตัดสินใจในการลงทุนหรือมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
การเปิดเผยสารสนเทศตามหน้าที่ของบริษัทจดทะเบียนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- รายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามรอบบัญชี เช่น
- งบการเงินก่อนสอบทานและก่อนตรวจสอบ: นำส่งภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันสิ้นสุดไตรมาสหรือสิ้นงวดบัญชีของบริษัท
- งบการเงินรายไตรมาสที่ผู้สอบทานได้สอบทานแล้ว: นำส่งภายใน 45 วันนับตั้งแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาส
- งบการเงินประจำงวดการบัญชีที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นแล้ว: ภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี หรือส่งงบการเงินประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีภายใน 60 วันแทนการส่งงบการเงินไตรมาสที่ 4
- แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) นำส่งภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
- สารสนเทศสำคัญตามเหตุการณ์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
- สารสนเทศหรือข้อมูลที่เข้าข่ายต้องเปิดเผยทันที ได้แก่ สารสนเทศที่มีลักษณะเข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
- มีผลต่อราคาซื้อหรือขายหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ
- ถือได้ว่าสำคัญต่อผู้ลงทุนที่ใช้ผลการวิเคราะห์สารสนเทศของนักวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญในการเลือกตัดสินใจลงทุน
- มีหรือจะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
- สารสนเทศที่ให้จัดส่งภายใน 3 วันทำการ ได้แก่
- เปลี่ยนแปลงกรรมการหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทจดทะเบียน
- เปลี่ยนแปลงแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับของบริษัท
- ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่
- บริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทย่อยเปลี่ยนผู้สอบบัญชี
- เปลี่ยนแปลงนายทะเบียนหลักทรัพย์หรือสถานที่ตั้งของนายทะเบียนหลักทรัพย์
- สารสนเทศที่ให้จัดส่งภายใน 14 วัน ได้แก่
- สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือรายชื่อผู้ถือหุ้น 10 รายการแรก ณ วันที่มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นและ ณ วันที่ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น
- รายงานการประชุมสามัญหรือประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น
- รายงานการกระจายการถือหุ้นตามแบบที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด
- สารสนเทศหรือข้อมูลที่เข้าข่ายต้องเปิดเผยทันที ได้แก่ สารสนเทศที่มีลักษณะเข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่
- ดัชนีราคาหลักทรัพย์: ค่าสถิติที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องชี้วัดที่สะท้อนภาพรวมการเคลื่อนไหวของระดับราคาซื้อขายหลักทรัพย์ว่า มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างไรในปัจจุบันเมื่อเทียบกับวันที่เริ่มมีการคำนวณดัชนีราคาหรือวันอื่น ๆ นอกจากนี้แล้ว ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบเพื่อวัดผลการบริหารของกองทุนรวม และใช้เป็นปัจจัยอ้างอิงในการออกตราสารอนุพันธ์หรือตราสารทางการเงินต่าง ๆ
- ข้อมูลราคาและสถิติการซื้อขาย: ตลาดหลักทรัพย์มีให้บริการข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูล ณ ขณะเวลาซื้อขายและข้อมูลราคาซื้อขายในอดีตของตลาดตราสารทุน (SET, MAI) และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX)
บทวิเคราะห์: ข้อมูลจากบริษัทที่เป็นนายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นบทวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์ซึ่งทำหน้าที่ประเมินศักยภาพของบริษัทจดทะเบียน ความสามารถในการทำธุรกิจ และการประเมินมูลค่าของหุ้นของบริษัทจดทะเบียน
องค์ประกอบในบทวิเคราะห์ ได้แก่
- ตารางสรุปตัวเลขการดำเนินงานในอดีต (อย่างน้อย 2 ปี) และความคาดหมาย (อย่างน้อย 2 ปี)
- ตารางข้อมูลที่สำคัญของหุ้นและบริษัท เช่น คำแนะนำ, ราคาเป้าหมาย, มูลค่าตลาด เป็นต้น
- คำแนะนำการลงทุน เช่น ควรซื้อ ขายหรือถือและเหตุผลในการแนะนำดังกล่าว
- งบการเงินในอดีต (อย่างน้อย 2 ปี) และงบการเงินประเมินในอนาคต (อย่างน้อย 2 ปี)
- สรุปโดยย่อยอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงให้เห็นสัดส่วนสภาพคล่อง สัดส่วนความสามารถในการทำกำไร สัดส่วนความสามารถในการชำระหนี้และอัตราการเติบโต
- ข้อมูลสถิติการดำเนินงานของบริษัทที่เป็นสาระสำคัญในการประกอบธุรกิจของบริษัท
บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักเขียนขึ้นเพื่อกล่าวถึงเหตุการณ์บางอย่างที่สำคัญ เช่น งบการเงินที่เพิ่งออกมา การปรับตัวเลขสมมติฐานของนักวิเคราะห์หรือข้อมูลใหม่ ๆ ที่ได้รับจากการเยี่ยมชมบริษัท บทวิเคราะห์ประเภทนี้ควร
- อธิบายเหตุการณ์ ประเมินอย่างมีเหตุผลว่า เหตุการณ์นี้มีความสำคัญอย่างไรต่อบริษัท
- แสดงการปรับตัวเลขประเมินเนื่องจากเหตุการณ์นี้
- การปรับตัวเลขราคาเป้าหมายใหม่ต้องให้สมมติฐานที่เหมาะสมและชัดเจน
- ราคาเป้าหมายควรระบุให้ชัดว่าเป็นเป้าหมาย ณ วันใด
เนื้อหาข้างต้นควรอยู่ในหน้าแรกของบทวิเคราะห์ ในกรณีที่เป็นบทวิเคราะห์เชิงลึก เช่น การออกบทวิเคราะห์ครั้งแรก องค์ประกอบของบทวิเคราะห์เชิงลึกคือ
- การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทโดยเน้นปัจจัยที่มีนัยยะในการทำกำไรของบริษัท เช่น ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ราคาน้ำมัน เป็นต้น
- การวิเคราะห์และประเมินทางด้านอุตสาหกรรมและการเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างเหมาะสมทั้งในและต่างประเทศ
- การวิเคราะห์ต้องมีสมมติฐานที่เหมาะสม ซึ่งนำไปสู่ราคาเป้าหมายที่แม่นยำยิ่งขึ้น
- การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของบริษัท: ควรนำเสนอ 3 กรณีคือดีที่สุด ปกติ แย่ที่สุดพร้อมระดับความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นของแต่ละเหตุการณ์
การจัดการข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์การลงทุน
การจัดการข้อมูลคือการปรับปรุงข้อมูลให้สามารถใช้งานอย่างเหมาะสม การประมวลข้อมูลให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีประโยชน์ที่พร้อมจะนำมาใช้ได้ทันที การจัดการข้อมูลจะเกิดประโยชน์สูงสุดหรือประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อผู้ใช้สามารถใช้ข้อมูลที่ต้องการอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นกลางมากที่สุด
การจัดการข้อมูลเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการบริหารการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลจากช่วงเวลาแตกต่างกัน ก็จำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อจะได้สามารถเปรียบเทียบและนำไปสู่การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ
บทที่ 3 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย
ดอกเบี้ยคือผลตอบแทนจากการลงทุนที่ผู้ลงทุนได้รับเป็นผลตอบแทนจากการสูญเสียโอกาสในการใช้เงินหรือสินทรัพย์ไปในการลงทุนอื่น ๆ
อัตราดอกเบี้ยคืออัตราส่วนของดอกเบี้ยที่จ่ายเมื่อครบกำหนดต่อจำนวนเงินต้น
ความสำคัญของดอกเบี้ยในวิชาการเงิน
อัตราดอกเบี้ยประเภทหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญในวิชาการเงินคือ อัตราดอกเบี้ยที่ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับตราสารหนี้ที่รัฐบาลเป็นผู้ออก อัตราดอกเบี้ยนี้เป็นอัตราพื้นฐานอ้างอิงของอัตราผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงประเภทอื่น ๆ
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยมีความสัมพันธ์ในทางเดียวกับความเสี่ยงของการลงทุน ความเสี่ยงของการลงทุนก็คือโอกาสที่จะไม่ได้รับชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยคืน ผู้ลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าสำหรับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า
ความสำคัญของอัตราดอกเบี้ยที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจและบุคคล
การปรับอัตราดอกเบี้ยมีเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่พิสัยเป้าหมายสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือจำกัดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องความเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อป้องกันแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
กรณีของธุรกิจ หากธุรกิจเป็น
- ผู้ให้กู้: ต้องการอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดเท่าที่จะเรียกได้ เพื่อรับผลตอบแทนสูงที่สุด
- ผู้กู้: ต้องการอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด เพื่อให้มั่นใจการลงทุนคุ้มค่าที่สุดและไม่กระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทมากเกินไป
กรณีบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ยมีผลต่อการตัดสินใจออม กู้ยืมและใช้จ่าย เช่น หากอัตราดอกเบี้ยสูง ผู้ออมจะได้รับดอกเบี้ยสำหรับการเลื่อนบริโภคจนถึงวันที่กำหนดมากขึ้น ในขณะที่ผู้กู้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อบริโภคมากขึ้นในปัจจุบัน
ดอกเบี้ยอย่างง่ายกับดอกเบี้ยทบต้น
อัตราดอกเบี้ยอย่างง่าย – อัตราดอกเบี้ยที่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นเท่านั้น
อัตราดอกเบี้ยทบต้น – อัตราดอกเบี้ยที่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นและดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยในแต่ละงวดจะถูกนำไปคิดรวมเป็นเงินต้นในงวดถัดไป
แกนของเวลาและกระแสเงินสด
แกนของเวลาหรือเส้นเวลาคือแผนผังแสดงการรับและจ่ายเงิน ความยาวของเส้นตามแกนนอนจะแบ่งออกเป็นช่วงที่มีระยะห่างเท่า ๆ กัน แต่ละช่วงเวลาแทนระยะเวลาที่จะแสดงการรับและจ่ายเงิน อาจจะเป็นวัน เดือนหรือปีก็ได้
กระแสเงินสดลักษณะต่าง ๆ บนแกนของเวลา
กระแสเงินสดของเงินจำนวนเดียว: มีกระแสเงินสดรับหรือจ่ายเพียงครั้งเดียว ซึ่งอาจเกิดขึ้น ณ ตอนต้นหรือตอนสิ้นสุดระยะเวลา
กระแสเงินสดของเงินงวด: มีกระแสเงินสดรับหรือจ่ายเกิดขึ้นด้วยจำนวนเท่า ๆ กัน และเกิดขึ้นงวดละ 1 ครั้ง หลาย ๆ ครั้งติดต่อกัน
กระแสเงินสดของเงินงวดที่ไม่สิ้นสุด: เงินที่จ่ายหรือรับเกิดขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุด
กระแสเงินสดของเงินงวดที่ไม่เท่ากัน: กรณีที่กระแสเงินจ่ายหรือรับในช่วงเวลาต่าง ๆ มีค่าไม่เท่ากัน จะทำการคำนวณกระแสเงินสดที่มีการจ่ายหรือรับแต่ละงวดเวลาให้เป็นมูลค่าตามเวลาที่ต้องการ และคำนวณผลรวมของค่าที่ได้นั้น
ฐานของเวลา: เวลาอนาคต เวลาปัจจุบัน เวลาระหว่างทางบนแกนของเวลา
- มูลค่าปัจจุบัน (PV) แสดงมูลค่ากระแสเงินสดที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันของจำนวนเงินที่ทั้งหมดที่จะได้รับในอนาคต
- มูลค่าอนาคต (FV) คือมูลค่าของกระแสเงินสดในอนาคตที่จะได้รับ โดยคิดเพิ่มจากกระแสเงินสดในปัจจุบัน หรือระหว่างงวด ณ อัตราผลตอบแทนระดับหนึ่ง
กระแสเงินสดตามจุดของเวลา: ต้นงวด ปลายงวด
กระแสเงินสดแบบปลายงวด เช่น เงินเดือนที่ได้รับทุกสิ้นเดือน ค่าเช่าบ้านทุกสิ้นเดือน เป็นต้น
กระแสเงินสดแบบต้นงวด เช่น จ่ายเงินกู้ค่ารถตอนต้นงวด ค่าเบี้ยประกันชีวิตรายเดือนที่จ่ายตอนต้นเดือน เป็นต้
กระแสเงินสดแบบต้นงวดจะเกิดขึ้นเร็วกว่ากระแสเงินสดแบบปลายงวด 1 งวดเวลา
บทที่ 4 มูลค่าเงินตามเวลา
ลักษณะของอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
อัตราดอกเบี้ยปราศจากความเสี่ยงที่แท้จริง – อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการเพื่อชดเชยการลงทุนที่ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถนำเงินที่ลงทุนนั้นไปบริโภคในปัจจุบัน
อัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงิน – อัตราดอกเบี้ยปราศจากความเสี่ยงที่แท้จริงที่ได้รับการปรับปรุงให้ชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ และสถานการณ์ของตลาดการเงินที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา
ประเภทและลักษณะของอัตราดอกเบี้ยที่ใช้เพื่อการบริโภค
สินเชื่อเพื่อการบริโภคสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
สินเชื่อที่จ่ายคืนครั้งเดียว: จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยในครั้งเดียว สินเชื่อประเภทนี้มักมีระยะเวลาในการกู้ยืมสั้น ไม่เกิน 1 ปี
สินเชื่อแบบผ่อนชำระ: ผ่อนชำระเงินต้น+ดอกเบี้ยในจำนวนเท่ากันเป็นงวด ๆ (ส่วนใหญ่จะเป็นรายเดือน) สินเชื่อแบบผ่อนชำระมักมีจำนวนเงินค่อนข้างสูง และมีระยะเวลาในการกู้ยืมนาน เมื่อพิจารณาจากหลักประกันในการใช้สินเชื่อเพื่อการบริโภค แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- สินเชื่อแบบมีหลักประกัน
- สินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน
นอกเหนือจากการคิดดอกเบี้ยครั้งเดียวต่องวดเวลา ในการคิดดอกเบี้ยยังมีการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคิดบ่อยครั้งและการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง
- อัตราดอกเบี้ยที่นำมาใช้คิดดอกเบี้ยครั้งเดียวใน 1 ปี เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินหรืออัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้
- อัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ต้องมาคิดดอกเบี้ยบ่อยครั้ง จำเป็นต้องคำนวณหาอัตราดอกเบี้ยทบค่า ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยทบค่าต่อปี
การใช้ประโยชน์เรื่องมูลค่าเงินในปัจจุบันและมูลค่าเงินในอนาคตเพื่อการวิเคราะห์ทางการเงิน
การวิเคราะห์ทางการเงินหมายถึงกระบวนการวิเคราะห์ความสามารถในการสร้างกำไรของการลงทุน ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางการเงินคือข้อมูลเชิงปริมาณที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน
การประเมินมูลค่าการลงทุน: การวิเคราะห์มูลค่าของเงินในปัจจุบันในกรณีที่เงินแต่ละงวดไม่เท่ากัน สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์มูลค่ากระแสเงินสด ซึ่งเงินรายงวดแต่ละงวดในกรณีนี้คือกระแสเงินสดสุทธิอันเป็นผลต่างของผลตอบแทนและค่าใช้จ่ายจากการลงทุน ณ เวลา t
การประเมินมูลค่าการลงทุนด้วยวิธีกระแสเงินสด (DCF) เป็นการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นหรือกิจการ โดยการพิจารณาจากมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต
การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการลงทุน
การลงทุนหมายถึงการได้มาของสินทรัพย์จากการใช้เงินลงทุน ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่ลงทุนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- สินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น บ้าน ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น
- สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น สินทรัพย์ทางการเงิน เช่น หุ้น พันธบัตร เป็นต้น
ในการตัดสินใจว่าควรจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด หรือว่าควรจะลงทุนในโครงการใดหรือไม่ ก่อนการลงทุนจะต้องมีการวิเคราะห์เสียก่อนว่า การลงทุนหรือโครงการที่กำลังพิจารณามีโอกาสในการสร้างกำไรเพียงใด การวิเคราะห์นี้เรียกว่าการวิเคราะห์การลงทุนด้านการเงินของโครงการ
ในการพิจารณาเปรียบเทียบและเลือกการลงทุน วิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือการวิเคราะห์และเปรียบเทียบมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของการลงทุน หมายถึงมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดของโครงการที่เกิดขึ้นทั้งหมด
ขั้นตอนการคำนวณมูลค่าปัจจุบัน
- ระบุกระแสเงินสดทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นตลอดช่วงอายุโครงการ ทั้งกระแสเงินสดเข้าและกระแสเงินสดออก
- พิจารณากำหนดอัตราคิดลดที่เหมาะสมสำหรับโครงการลงทุน เช่น
- ต้นทุนของเงินทุน
- อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่ยอมรับได้
- อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ
- ฯลฯ
- คำนวณมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นแต่ละงวด (กระแสเงินสดเข้ามีค่าเป็นบวก กระแสเงินสดออกมีค่าเป็นลบ)
- คำนวณผลรวมของมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดทั้งหมด
- ถ้ามูลค่าปัจจุบันมีค่าเป็นบวก – โครงการนั้นน่าลงทุน
- ถ้ามูลค่าปัจจุบันมีค่าเป็นลบ – ไม่ควรลงทุนในโครงการนั้น
ถ้ากำหนดให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 0 อัตราดอกเบี้ยที่คำนวณได้เรียกว่า อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งเรียกว่าอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เพราะว่าข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณอัตรานี้มาจากภายในการลงทุนนี้ทั้งหมด
บทที่ 5 การคำนวณอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยง
อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์
ผลตอบแทนจากการลงทุนหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจากการลงทุนเนื่องจากในการลงทุนใด ๆ ผู้ลงทุนเลื่อนการบริโภคในปัจจุบันออกไป เพื่อหวังว่าจะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นและบริโภคได้มากขึ้นในอนาคต
ผลตอบแทนในช่วงเวลาที่ถือครอง (HPR): ผลตอบแทนจากการลงทุน
อัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ถือครองหลักทรัพย์ (HPY): ร้อยละของผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อเทียบกับเงินลงทุนเริ่มต้น
หากการลงทุนมีช่วงระยะเวลามากกว่า 1 ปี ผู้วิเคราะห์ต้องทำผลตอบแทนในช่วงเวลาที่ถือครองหลักทรัพย์ 1 งวดให้เป็นผลตอบแทนในการถือครองหลักทรัพย์ต่อปี (Annual HPR) และอัตราผลตอบแทนในการถือครองหลักทรัพย์ต่อปี (Annual HPY)
อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย: ค่าเฉลี่ยที่คำนวณจากอัตราผลตอบแทนรายงวดย่อยแล้วเฉลี่ยต่องวดด้วยจำนวนงวดย่อย ซึ่งสามารถคำนวณโดยใช้ 2 วิธี คือวิธีค่าเฉลี่ยเลขคณิตและวิธีค่าเฉลี่ยเรขาคณิต
การคำนวณค่าเฉลี่ยทั้งสองวิธีแตกต่างตรงกันในเรื่องที่ว่ามีการนำกระแสเงินสดรับทั้งหมดกลับไปลงทุนต่อหลักทรัพย์หรือกลุ่มหลักทรัพย์หรือไม่ ซึ่ง
- สมมติว่าไม่มีการลงทุนต่อ – ใช้วิธีค่าเฉลี่ยเลขคณิต
- สมมติว่ามีการลงทุนต่อ – ใช้วิธีค่าเฉลี่ยเรขาคณิต
อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง: คาดการณ์อนาคตว่าการลงทุนในหลักทรัพย์น่าจะให้ผลตอบแทนเท่าใด
อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังคำนวณได้จากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของอัตราผลตอบแทนที่เป็นไปได้โดยน้ำหนักที่ถ่วง ได้แก่ ความน่าจะเป็นที่จะเกิดอัตราผลตอบแทนที่เป็นไปได้
อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการ ประกอบด้วย
- อัตราผลตอบแทนปราศจากความเสี่ยงที่แท้จริง: อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการเพื่อชดเชยการลงทุนที่ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถนำเงินที่ลงทุนไปบริโภคในปัจจุบันได้
- ส่วนชดเชยเงินเฟ้อที่คาด: การปรับปรุงอัตราผลตอบแทนปราศจากความเสี่ยงที่แท้จริงเพื่อชดเชยสำหรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในดัชนีราคาและสถานการณ์ของตลาดการเงิน อันเกิดขึ้นจากการคาดการณ์ของระดับเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป
- ส่วนชดเชยความเสี่ยง: อัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ผู้ลงทุนควรได้รับถ้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ส่วนชดเชยความเสี่ยงถูกกำหนดโดยปัจจัยพื้นฐานต่อไปนี้
- ความเสี่ยงด้านธุรกิจ
- ความเสี่ยงด้านการเงิน
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
- ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
- ความเสี่ยงระดับประเทศและการเมือง
การวัดความเสี่ยงของผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์
ความเสี่ยงจากการลงทุนหมายถึงความไม่แน่นอนที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนตามที่คาดหวังไว้
เราสามารถวัดความไม่แน่นอนนี้ด้วยช่วงของผลตอบแทน หากช่วงของผลตอบแทนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผลตอบแทนที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดยิ่งกว้างมากเท่าไหร่ ความไม่แน่นอนของผลตอบแทนในอนาคตก็จะมากขึ้นเท่านั้น
มาตรวัดความเสี่ยงที่เป็นรู้จักกันทั่วไปคือ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและความแปรปรวน เป็นมาตรวัดการกระจายตัวของอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่อัตราผลตอบแทนจะเกิดขึ้นจริงจะไม่เป็นไปตามอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังไว้
ยิ่งส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานหรือความแปรปรวนสูงขึ้นมากเท่าไหร่ นั่นแสดงถึงการกระจายตัวของอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังที่สูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งเท่ากับความเสี่ยงจากการลงทุนก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์
หากการลงทุนมีระดับความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนก็ควรคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มหลักทรัพย์
กลุ่มหลักทรัพย์ (Portfolio) หมายถึงการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินหลายประเภท โดยมุ่งหวังในการกระจายความเสี่ยง เช่น หุ้น, พันธบัตรและเงินสด กลุ่มหลักทรัพย์เรียกอีกอย่างว่า “พอร์ตการลงทุน”
ระดับการยอมรับความเสี่ยง วัตถุประสงค์ในการลงทุนและระยะเวลาของบุคคลคือปัจจัยสำคัญในการระบุกลุ่มหลักทรัพย์ที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลและปรับปรุงกลุ่มหลักทรัพย์ในโอกาสต่อไป
องค์ประกอบของกลุ่มหลักทรัพย์หมายถึงการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน, แตกต่างกันหรือผสมผสานระหว่างสินทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกันและแตกต่างกันก็ได้
อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์: การคำนวณอัตราผลตอบแทนจากกลุ่มหลักทรัพย์ที่ประกอบด้วยมากกว่า 1 หลักทรัพย์ ซึ่งคำนวณได้จากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของแต่ละหลักทรัพย์เดี่ยวที่ประกอบเป็นกลุ่มหลักทรัพย์
ความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์
ผู้วิเคราะห์ต้องทราบแนวคิดพื้นฐานทางสถิติเกี่ยวกับค่าความแปรปรวนร่วมระหว่างอัตราผลตอบแทนของ 2 หลักทรัพย์ก่อนการคำนวณหาค่าความแปรปรวนและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มหลักทรัพย์
ค่าความแปรปรวนร่วมระหว่างอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์เป็นค่าที่บ่งถึงทิศทางและระดับความผันผวนของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ว่ามีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน (ค่าเป็นเครื่องหมายบวก) หรือทิศทางตรงกันข้าม (ค่าเป็นเครื่องหมายลบ) และระดับการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันหรือทิศทางตรงกันข้ามมีมากน้อยเพียงใด
นอกเหนือจากค่าความแปรปรวนร่วมแล้ว ผู้วิเคราะห์สามารถใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ซึ่งเป็นค่าที่บ่งชี้ทิศทางและระดับความผันผวนของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์แต่ละคู่ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือตรงกันข้ามกัน และอยู่ในระดับสูงหรือต่ำเพียงใด
หากค่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์
- เป็นบวก: การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์คู่นั้นเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน
- เป็นลบ: การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์คู่นั้นเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม
- เป็นศูนย์: การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์คู่นั้นไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ เลย
ผู้วิเคราะห์สามารถคำนวณความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์จากค่าความแปรปรวนหรือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มหลักทรัพย์แบบเดียวกับการวัดค่าความเสี่ยงของหลักทรัพย์เดี่ยว
ผู้ลงทุนสามารถสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีพอ หากกลุ่มหลักทรัพย์ประกอบด้วยอย่างน้อย 30 หลักทรัพย์ขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงทุกชนิดในตลาดแต่อย่างใด
ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์
หากการลงทุนมีระดับความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนก็ควรคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น
การสร้างกลุ่มหลักทรัพย์เพื่อการลงทุน แบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ แนวทางดั้งเดิมและแนวทางสมัยใหม่
แนวทางดั้งเดิมในการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนพื้นฐาน คือ
- การวิเคราะห์ข้อจำกัด
- การกำหนดวัตถุประสงค์
- การเลือกพอร์ตการลงทุน
- การวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลตอบแทน
- การกระจายการลงทุน
แนวทางสมัยใหม่ในการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ (Markowitz Approach) เน้นการเลือกหลักทรัพย์โดยพิจารณาจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลตอบแทนของแต่ละบุคคลและมีความพยายามที่จะเพิ่มผลตอบแทนที่คาดหวังสำหรับระดับความเสี่ยงที่กำหนด
หลักทรัพย์ที่มีแนวโน้มผลตอบแทนดีจะถูกเลือกและมีการจัดสรรเงินอย่างเหมาะสมระหว่างหุ้นต่าง ๆ ตามความต้องการของพอร์ตการลงทุน (ความเสี่ยงและผลตอบแทน) ของผู้ลงทุน
บทที่ 6 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกลุ่มหลักทรัพย์
แนวคิดทางทฤษฎีเกี่ยวกับกลุ่มหลักทรัพย์ของ Markowitz
หลักการพื้นฐานสำหรับลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์
แบบจำลองกลุ่มหลักทรัพย์ของ Markowitz พรรณนาอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังควบคู่ไปกับค่าความแปรปรวนของกลุ่มหลักทรัพย์นั้นอาศัยสมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ผู้ลงทุนเป็นผู้ที่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจลงทุน ซึ่งสะท้อนมายังพฤติกรรมการลงทุนภายใต้สมมติฐานที่ว่า
- ผู้ลงทุนพิจารณาทางเลือกในการลงทุนโดยใช้การกระจายตัวของความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นของอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
- ผู้ลงทุนเป็นผู้แสวงหาความมั่งคั่งสูงสุด โดยผู้ลงทุนจะคาดหวังอรรถประโยชน์สูงสุดในช่วงเวลาการลงทุนที่กำหนด
- ผู้ลงทุนจะประมาณค่าความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์ โดยดูจากความแปรปรวนหรือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลตอบแทน
- ผู้ลงทุนจะใช้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงเท่านั้นในการพิจารณาเลือกลงทุน
- ผู้ลงทุนเป็นผู้พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยจะพิจารณาลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าสำหรับทางเลือกที่มีอัตราผลตอบแทนที่เท่ากัน และจะพิจารณาเลือกลงทุนในทางเลือกที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า หากมีความเสี่ยงเท่ากัน
เส้นกลุ่มหลักทรัพย์ที่ดีที่สุด
เส้นโอกาสการลงทุน: การลากเส้นเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ ที่แสดงความสัมพันธ์ของอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์ตามสัดส่วนการลงทุนต่าง ๆ ในหลักทรัพย์ทั้งสองที่มีรูปร่างคล้ายลูกปืน
เส้นโค้งกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ: การลากเส้นเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ ที่แสดงถึงกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ
กลุ่มหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ (Efficient Portfolio) คือ
- กลุ่มหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในบรรดากลุ่มหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเท่ากัน หรือ
- กลุ่มหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในบรรดากลุ่มหลักทรัพย์ที่มีผลตอบแทนเท่ากัน
ความชันของเส้นโค้งอรรถประโยชน์: เส้นโค้งที่ระบุพฤติกรรมของผู้ลงทุนในการให้ความสำคัญกับอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงในระดับต่าง ๆ โดยเส้นโค้งอรรถประโยชน์ที่สูงกว่า แสดงถึงความพึงพอใจจากความมั่งคั่งที่สูงกว่าของผู้ลงทุน
กลุ่มหลักทรัพย์ที่เหมาะสม: กลุ่มหลักทรัพย์บนเส้นโค้งกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีอรรถประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ลงทุนคนหนึ่ง
เส้นความพอใจของผู้ลงทุน
ระดับการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน (IC Curve): อธิบายพฤติกรรมของผู้ลงทุนในการพิจารณาเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองสามารถยอมรับได้
กลุ่มหลักทรัพย์ที่ดีที่สุดเพื่อการลงทุน
กรณีกลุ่มหลักทรัพย์ที่ประกอบด้วยสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและไม่มีความเสี่ยง
หลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงหมายถึงหลักทรัพย์ที่ไม่สามารถระบุผลตอบแทนในอนาคตได้อย่างแน่นอน ผู้วิเคราะห์สามารถใช้ค่าความแปรปวนหรือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของอัตราผลตอบแทนในการวัดความไม่แน่นอน
หลักทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง: อัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์นี้จะมีความแน่นอน
การคำนวณหาอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ประกอบด้วยสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและไม่มีความเสี่ยงคำนวณได้จากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและไม่มีความเสี่ยง โดยถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนของเงินลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละตัว
การนำหลักทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยงเข้ามารวมในกลุ่มหลักทรัพย์คือ การเกิดเส้นกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพใหม่ ซึ่งผสมผสานระหว่างหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและไม่มีความเสี่ยง
เส้น Capital Market Line (CML): เส้นกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพใหม่ ซึ่งเกิดจากการให้กู้หรือการกู้ยืมโดยปราศจากความเสี่ยง
Separation Theorem: สัดส่วนการลงทุนจะขึ้นอยู่กับความพอใจในอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ผู้ลงทุนคนใดที่มีความกลัวความเสี่ยงมากก็จะเลือกน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
เส้น Security Market Line (SML): เส้นที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่วัดโดยใช้ค่าความแปรปรวนร่วมระหว่างหลักทรัพย์เดี่ยวและกลุ่มหลักทรัพย์ตลาด
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแบบจำลอง CAPM
ความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่ได้จากการปรับปรุงเส้น SML จะถูกเรียกใหม่ว่า แบบจำลองในการกำหนดราคาหลักทรัพย์ (CAPM)
การประยุกต์ใช้แบบจำลอง CAPM
แบบจำลอง CAPM มีความสำคัญต่อการประเมินราคาหลักทรัพย์ในดุลยภาพ ภายใต้แบบจำลอง CAPM ผลตอบแทนของหลักทรัพย์ทั้งหมดควรจะอยู่บนเส้น Security Market Line (SML) อันแสดงถึงอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการ ณ ระดับความเสี่ยงที่เป็นระบบระดับหนึ่งที่วัดด้วยค่าเบต้า
การประเมินและวิเคราะห์ราคาหลักทรัพย์
- หากอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่พยากรณ์ไว้ – ราคาตลาดของหลักทรัพย์นั้นมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (Undervalued) > ผู้ลงทุนควรซื้อหลักทรัพย์
- หากอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการสูงกว่าอัตราผลตอบแทนที่พยากรณ์ไว้ – ราคาตลาดของหลักทรัพย์นั้นมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น (Overvalued) > ผู้ลงทุนควรขายหลักทรัพย์
- หากอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการเท่ากับอัตราผลตอบแทนที่พยากรณ์ไว้ (Fair Valued) > ผู้ลงทุนสามารถเลือกซื้อ/ขายหลักทรัพย์ก็ได้
การประมาณค่าความเสี่ยงที่เป็นระบบโดยใช้ Characteristic Line
Characteristic Line คือเส้นตรงที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์หรือกลุ่มหลักทรัพย์ และอัตราผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์ตลาดที่ได้จากการประมาณค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ด้วยวิธีสมการถดถอย เพื่อที่จะประเมินค่าความชันที่แสดงถึงความเสี่ยงที่เป็นระบบของหลักทรัพย์หรือกลุ่มหลักทรัพย์หรือก็คือ “ค่าเบต้า”
ข้อจำกัดแบบจำลอง CAPM
กรณีอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมมีความแตกต่างกับอัตราดอกเบี้ยให้ยืม
สมมติฐานภายใต้แบบจำลอง CAPM คือการที่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเท่ากับอัตราดอกเบี้ยให้ยืม ซึ่งทำให้เกิดเส้นตรงที่เรียกว่าเส้น Capital Market Line (CML)
ในความเป็นจริงแล้ว อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมมักอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยให้ยืม ซึ่งในกรณีนี้ เส้น CML จะไม่เป็นเส้นตรง กล่าวคือ เส้น CML ใหม่จะมีลักษณะเป็นเส้นตรงแล้วโค้งงอในช่วงกลางและกลับมาเป็นเส้นตรงอีกครั้ง
กรณีที่มีต้นทุนธุรกรรม
หากราคาหลักทรัพย์สูงหรือต่ำไปเพียงเล็กน้อย หลักทรัพย์นั้นอาจไม่กลับเข้าสู่จุดดุลยภาพแบบจำลอง CAPM เนื่องจากต้นทุนการทำธุรกรรมอาจมากกว่าโอกาสในการทำกำไรซึ่งผลลัพธ์คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงจะไม่เป็นเส้นตรงจะเกิดเป็นแถบของการซื้อขายใกล้ ๆ กับเส้น SML เดิม
กรณีที่มีความคาดหวังที่แตกต่างและช่วงเวลาการลงทุนหลายเวลา
หากผู้ลงทุนมีความคาดหวังเกี่ยวกับระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่แตกต่างกันและช่วงเวลาการลงทุนหลายช่วงเวลา ทำให้เกิดเส้น CML และ SML มากมาย ซึ่งทำให้เส้น SML มีหลากหลายและจะเกิดเป็นช่วงเส้น SML แบบเดียวกับกรณีที่มีต้นทุนธุรกรรม โดยช่วงห่างจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับความคาดหวังเกี่ยวกับระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่แตกต่างกันของผู้ลงทุน
กรณีที่ผู้ลงทุนต้องจ่ายภาษี
สมมติฐานของแบบจำลอง CAPM คือไม่มีภาษี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ลงทุนมีภาระต้องจ่ายภาษี ทำให้ผู้ลงทุนแต่ละคนมีความคาดหวังในอัตราผลตอบแทนหลังหักภาษีที่แตกต่างกัน อันจะมีผลทำให้เส้น CML และ SML ของผู้ลงทุนแต่ละคนแตกต่างกัน
การทดสอบแบบจำลอง CAPM เชิงประจักษ์
สองคำถามที่ผู้วิเคราะห์ควรให้ความสนใจคือ
- ค่าเบต้ามีความเสถียรเพียงใด
- ความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นเส้นตรงตามแบบจำลอง CAPM หรือไม่
การศึกษาเชิงประจักษ์เกี่ยวกับความเสถียรของค่าเบต้า
การศึกษาพบว่า ยิ่งจำนวนหลักทรัพย์ที่ประกอบเป็นกลุ่มหลักทรัพย์มากขึ้นเพียงใด ความเสถียรของค่าเบต้าของกลุ่มหลักทรัพย์ก็จะทวีค่าเพิ่มขึ้นเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น หากช่วงเวลาที่ทำการศึกษานานเพียงใด ค่าเบต้าจะมีความเสถียรมากเท่านั้น
ในการหาค่าเบต้าเพื่อมาใช้ในการประเมินราคาหลักทรัพย์ ผู้วิเคราะห์สามารถประมาณค่าเบต้าด้วยตนเองได้ ทางเลือกที่สะดวกกว่าการประมาณการค่าเบต้าด้วยตนเองคือการนำค่าเบต้าที่คำนวณโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์มาประยุกต์ใช้
อัตราผลตอบแทนที่มีการปรับค่าความเสี่ยง
การเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง เนื่องจาก
- กลุ่มหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงอาจเกิดจากการจัดสรรเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงหรือจัดสรรเงินลงทุนแบบกระจุกตัว
- กลุ่มสินทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำ แต่อาจมีความเสี่ยงต่ำด้วย
ดังนั้น อัตราผลตอบแทนที่มาเปรียบเทียบกันจึงควรเป็นอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยง
- Sharpe Model: มาตรวัดที่ใช้ประเมินผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์ โดยเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์ที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยงกับอัตราผลตอบแทนของตลาดที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยง
ความเสี่ยงที่ใช้ได้แก่ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของอัตราผลตอบแทน (มาตรวัดความเสี่ยงรวมของกลุ่มหลักทรัพย์)
- Treynor Model: มาตรวัดที่ใช้ประเมินผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์ โดยเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์ที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยงกับอัตราผลตอบแทนของตลาดที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยงแล้ว
ตัวชี้วัดความเสี่ยงที่ใช้ได้แก่ ค่าเบต้าซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเสี่ยงที่เป็นระบบ
- Jensen Model: มาตรวัดที่อาศัยแนวคิดการวัดผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริง (อัตราผลตอบแทนที่ประจักษ์) ในช่วงเวลาหนึ่งของกลุ่มหลักทรัพย์ เปรียบเทียบกับเกณฑ์ผลการดำเนินการที่ควรเป็น ซึ่งคำนวณโดยใช้ตัวแบบ CAPM
- มาตรวัดตามตัวแบบของ Treyno-Black หรือ Appraisal Ratio: อัตราส่วนระหว่างค่าอัลฟ่าของกลุ่มหลักทรัพย์กับความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบของกลุ่มหลักทรัพย์ ซึ่งวัดจากค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าความผิดพลาดเชิงสุ่มของกลุ่มหลักทรัพย์
การเลือกมาตรวัด
- ถ้าต้องการประเมินเพื่อกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหารกลุ่มหลักทรัพย์
- ใช้มาตรวัด Jensen เนื่องจากเป็นมาตรวัดที่สามารถตีค่าเป็นมูลค่าได้โดยง่าย
- ถ้าต้องการประเมินเพื่อเลือกกลุ่มหลักทรัพย์ที่เหมาะสมที่สุด
- ใช้มาตรวัด Sharpe ถ้าจะลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์เพียงกลุ่มเดียว
- ใช้มาตรวัดของ Treynor ถ้าจะเลือกกลุ่มหลักทรัพย์เป็นหนึ่งในหลายกลุ่มหลักทรัพย์ที่ต้องการบริหารเงินลงทุนเชิงรับ
- ใช้มาตรวัด Appraisal Ratio ถ้าจะเลือกกลุ่มหลักทรัพย์นี้ในฐานะที่เป็นกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรุกและเป็นหนึ่งในหลายกลุ่มหลักทรัพย์ที่จะบริหารลักษณะผสมระหว่างเชิงรุกกับเชิงรับ
คุณสามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ [Link]
บทความนี้เป็นแค่สรุปหนังสือ หากคุณต้องการอ่านฉบับเต็ม คุณสามารถสั่งซื้อที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์