การวิเคราะห์งบการเงิน [ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย]

การวิเคราะห์งบการเงิน AISA

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือของกลุ่มวิชาที่ 2: เครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์การลงทุนภายใต้หลักสูตร CISA ใหม่ระดับที่ 1 (หลักสูตรการวิเคราะห์และการจัดการลงทุนขั้นพื้นฐาน)

บทที่ 1 งบการเงินและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน

ธุรกิจมีหลายลักษณะ เช่น ธุรกิจผู้ผลิต ธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจบริการหรืออาจจะเป็นธุรกิจที่มีลักษณะผสม

ประเภทของกิจกรรมทางธุรกิจ

  • กิจกรรมดำเนินงาน – กิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้ของกิจการและกิจการอื่นที่มิใช่กิจกรรมลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงิน
  • กิจกรรมลงทุน – การได้มาและการจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวและเงินลงทุนอื่นซึ่งไม่รวมอยู่ในรายการเทียบเท่าเงินสด
  • กิจกรรมจัดหาเงิน – กิจกรรมที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขนาดและองค์ประกอบของส่วนของเจ้าของและส่วนของการกู้ยืมของกิจการ

สมการบัญชี

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น

งบการเงินและองค์ประกอบของงบการเงิน

งบการเงิน คือ รายงานที่จัดทำขึ้นอย่างมีแบบแผนเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดของกิจการ ประกอบด้วย

  • งบแสดงฐานะการเงิน
  • งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
  • งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ
  • งบกระแสเงินสด
  • หมายเหตุประกอบงบการเงิน

ข้อจำกัดของงบการเงิน

  • ข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อมูลในอดีต ซึ่งอาจแตกต่างจากปัจจุบัน
  • ข้อมูลที่นำเสนอบางรายการเป็นตัวเลขประมาณการ ไม่ใช่ตัวเลขที่แน่นอน
  • ข้อมูลที่นำเสนอใช้นโยบายบัญชีที่แตกต่างกัน ทำให้การเปรียบเทียบข้อมูลเป็นเรื่องยาก
  • ข้อมูลที่นำเสนออาจมีหรือไม่มีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนจากการลงทุนและราคาหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดสาธารณะ เป็นต้น

ผู้ใช้งบการเงินแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • ผู้ใช้ภายใน – ผู้บริหารทุกระดับทุกส่วนงานที่มีอำนาจตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน การลงทุนและการจัดหาเงินของกิจการ 
  • ผู้ใช้ภายนอก – ผู้มีส่วนได้เสียภายนอก (เจ้าของ เจ้าหนี้ นักลงทุน ฯลฯ) 

กิจการที่ต้องจัดทำงบการเงิน

  • กิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ได้แก่
    • กิจการที่มีตราสารทุนหรือตราสารหนี้ซึ่งมีการซื้อขายต่อประชาชนหรือกิจการที่อยู่ในกระบวนการนำส่งงบการเงินให้แก่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือหน่วยงานกำกับเพื่อที่จะนำตราสารทุนหรือตราสารหนี้ออกขายต่อประชาชนในอนาคต
    • กิจการที่ดำเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง เช่น สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น
    • บริษัทมหาชน
    • กิจการอื่นที่อาจจะกำหนดเพิ่มเติมภายหลัง

กิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะต้องจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานทางการเงินของประเทศไทย (TFRS) ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) อย่างเต็มรูปแบบ

  • กิจกรรมที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ – กิจการที่นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ซึ่งต้องจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

กิจกรรมที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะสามารถเลือกจัดทำงบการเงินโดยใช้มาตรฐานเดียวกับกิจกรรมที่มีส่วนได้เสียสาธารณะก็ได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามทั้งหมดและครบถ้วน

ประเภทและองค์ประกอบสำคัญของงบการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

กิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะต้องนำเสนองบการเงินฉบับสมบูรณ์เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินได้รับข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงธุรกิจ

งบการเงินฉบับสมบูรณ์

  • งบแสดงฐานะการเงิน: นำเสนอฐานะการเงินของกิจการ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง (ประกอบด้วยสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของเจ้าของ)
  • งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ: นำเสนอผลการดำเนินงานของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง (กำไรหรือขาดทุนสำหรับงวด)
  • งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้น: นำเสนอการเปลี่ยนแปลงยอดของบัญชีในส่วนของเจ้าของสำหรับรอบระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง (ประกอบด้วยทุนเรือนหุ้น กำไรสะสมและองค์ประกอบอื่นในส่วนของผู้ถือหุ้น)
  • งบกระแสเงินสด: นำเสนอกระแสเงินสดเข้าและออกที่เกิดขึ้นจากรายการค้าต่าง ๆ ในรอบระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง (ประกอบด้วยกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนและกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน)
  • หมายเหตุประกอบงบการเงิน
      • เกณฑ์การจัดทำงบการเงินและนโยบายการบัญชีที่สำคัญ
      • เปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดของมาตรฐานรายงานทางการเงิน
      • ข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่ไม่ได้นำเสนอในงบการเงิน แต่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการทำความเข้าใจงบการเงิน
  • ข้อมูลเปรียบเทียบของงวดก่อน
  • งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันต้นงวดของงวดก่อน – เมื่อกิจการได้นำนโยบายการบัญชีใหม่มาถือปฏิบัติย้อนหลัง หรือการปรับย้อนหลังรายการในงบการเงิน หรือเมื่อกิจการมีการจัดประเภทรายการใหม่ในงบการเงิน

บทที่ 2 งบแสดงฐานะการเงิน

งบแสดงฐานะการเงินนำเสนอข้อมูลฐานะการเงินของกิจการ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งฐานะการเงินมี 3 ตัวชี้วัดหลักคือ

  • สินทรัพย์: สิทธิที่มีความเป็นไปได้เพื่อการผลิตประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในปัจจุบันที่กิจการควบคุมที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในอดีต เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ เป็นต้น
  • หนี้สิน: ภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในอดีต เช่น เจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมธนาคาร ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เป็นต้น
  • ส่วนของผู้ถือหุ้น: ส่วนได้เสียคงเหลือในสินทรัพย์หลังจากหักหนี้สินออกไปแล้ว

สมการทางบัญชี: สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น

สมการทางบัญชีแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งสินทรัพย์จะต้องเท่ากับผลรวมของหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นในทุกเวลา นี่คือสาเหตุที่ชื่อเดิมของงบนี้เรียกว่า “งบดุล”

ในการนำเสนอรายการในงบการเงิน กิจการจะต้องคำนึงถึงความมีสาระสำคัญของรายการ หากรายการมีสาระสำคัญ มีลักษณะแตกต่างจากรายการอื่น มีความเสี่ยงหรือการบริหารจัดการแตกต่างจากรายการอื่น กิจการจะต้องแยกแสดงรายการเป็นบรรทัดให้ชัดเจน ไม่รวมรายการกับรายการอื่น

การจัดประเภทรายการหมุนเวียนและไม่หมุนเวียน

เมื่อกิจการนำเสนอสินทรัพย์และหนี้สินในงบแสดงฐานะการเงิน กิจการต้องจัดประเภทสินทรัพย์หมุนเวียนและสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เช่นเดียวกับหนี้สินหมุนเวียนและหนี้สินไม่หมุนเวียน

สินทรัพย์หมุนเวียนต้องเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่ง

  1. กิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์หรือตั้งใจสำหรับขายหรือใช้ภายในรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติของกิจการ
  2. กิจการถือสินทรัพย์โดยมีวัตถุประสงค์หลักถือไว้เพื่อค้าหรือเพื่อเก็งกำไรจากการถือครองระยะสั้น
  3. กิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากสินทรัพย์ภายใน 12 เดือนหลังจากรอบระยะเวลารายงาน หรือ
  4. สินทรัพย์ที่เป็นเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดและไม่มีข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนหรือการใช้ชำระหนี้สินภายในระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือนหลังจากรอบระยะเวลารายงาน

หากเงินสดมีข้อจำกัดในการถอน กิจการต้องแยกรายการเงินสดที่มีข้อจำกัดในการถอนและนำเสนอในรายการแยกอีกบรรทัดหนึ่ง

สินทรัพย์หมุนเวียนที่มักพบในงบแสดงฐานะการเงิน

  • เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
      • เงินสด – เงินสดในมือและเงินฝากธนาคารที่ไม่มีข้อจำกัดในการถอนและธนาคารต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม
      • รายการเทียบเท่าเงินสด – เงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดในจำนวนที่ทราบได้และมีความเสี่ยงที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในมูลค่า
    • เงินลงทุนชั่วคราว – เงินลงทุนที่กิจการตั้งใจจะถือไว้ไม่เกิน 1 ปี เช่น หลักทรัพย์เพื่อค้าและตราสารหนี้ที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี
    • สินทรัพย์ทางการเงิน หมายถึง
      • เงินสด
      • ตราสารทุนของกิจการอื่น
      • สิทธิตามสัญญา
        • ที่จะรับเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่นจากกิจการอื่น หรือ
        • ที่จะแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ทางการเงินหรือหนี้สินทางการเงินกับกิจการอื่นภายใต้เงื่อนไขที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการ
      • สัญญาที่จะหรืออาจได้รับชำระสัญญาด้วยตราสารทุนของกิจการเองและเป็น
        • รายการที่ไม่ใช่อนุพันธ์ ซึ่งกิจการมีหรืออาจมีภาระผูกพันในการรับตราสารทุนของกิจการเองเป็นจำนวนที่ผันแปร หรือ
        • รายการอนุพันธ์ที่จะหรืออาจจะได้รับชำระสัญญาเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่น กับตราสารทุนของกิจการเองในจำนวนคงที่
  • ลูกหนี้
    • ลูกหนี้การค้า – จำนวนเงินที่กิจการคาดว่าจะได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ
    • ตั๋วเงินรับ – สัญญาที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรที่ระบุถึงหนี้ที่มีกำหนดชำระ
    • ลูกหนี้อื่น – ลูกหนี้ของกิจการที่มิได้เกิดจากการรประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ
  • ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า – การชำระเงินล่วงหน้าสำหรับสินค้าหรือบริการที่กิจการยังไม่ได้รับหรือทยอยรับแต่ยังไม่ครบ เช่น ค่าเช่า ค่าเบี้ยประกัน เป็นต้น
  • สินค้าคงเหลือ
    • สินทรัพย์ที่มีตัวตนที่กิจการถือไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ หรือ
    • สินทรัพย์ที่มีตัวตนที่อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อขาย หรือ
    • สินทรัพย์ที่อยู่ในรูปของวัตถุดิบหรือวัสดุที่มีไว้เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าหรือให้บริการ

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนคือสินทรัพย์ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น

    • ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ – สินทรัพย์ที่มีตัวตนที่กิจการถือไว้เพื่อ
      • ใช้ประโยชน์ในการผลิต
      • ใช้ในการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ
      • ให้เช่า
      • ใช้ในการบริหารงาน
    • อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน – อสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองเพื่อหาประโยชน์จากค่าเช่าหรือจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของสินทรัพย์หรือทั้งสองอย่าง
    • สินทรัพย์ไม่มีตัวตน – สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้ แต่ไม่มีกายภาพตามที่กำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สัมปทาน เป็นต้น
    • ค่าความนิยม – สินทรัพย์ที่แสดงถึงผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่จะได้รับจากสินทรัพย์อื่นที่ได้มาจากการรวมธุรกิจที่ไม่สามารถระบุและรับรู้รายการแยกออกมาให้ชัดเจนได้
  • เงินลงทุนในบริษัทร่วม การร่วมค้าและบริษัทย่อย
      • เงินลงทุนในบริษัทร่วม – เงินลงทุนในกิจการอื่นซึ่งกิจการผู้ซื้อมีอิทธิพลอย่างมีสาระสำคัญในกิจการนั้น
      • เงินลงทุนในบริษัทย่อย – เงินลงทุนในกิจการอื่นซึ่งกิจการผู้ซื้อมีอำนาจในการควบคุมกิจการนั้น
      • เงินลงทุนในการร่วมค้า – การลงทุนเพื่อประกอบกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจของบุคคลหรือกิจการตั้งแต่สองรายขึ้นไป โดยมีการควบคุมร่วมกันตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา
    • เงินลงทุนระยะยาวอื่น – เงินลงทุนระยะยาวในกิจการอื่นที่นอกเหนือจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม เงินลงทุนในบริษัทย่อยและเงินลงทุนในการร่วมค้า
  • เงินให้กู้ยืมระยะยาว
  • สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี – จำนวนภาษีเงินได้ที่กิจการสามารถขอคืนได้ในอนาคตที่เกิดจาก
    • ผลแตกต่างชั่วคราวที่ใช้หักภาษี
    • ขาดทุนทางภาษีที่ยังไม่ได้ใช้ยกไป
    • เครดิตทางภาษีที่ยังไม่ได้ใช้ยกไป
  • สินทรัพย์ทางการเงิน – เอกสาร ตราสาร สัญญาหรือสิทธิที่ทำให้กิจการจะได้รับเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ ตามสัญญาจากกิจการในอนาคต
  • ทรัพยากรธรรมชาติ – สินทรัพย์ที่มีลักษณะทางกายภาพ เกิดขึ้นตามธรรมชาติและให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในระยะเวลายาวนาน รวมทั้งเป็นสินทรัพย์ที่ใช้แล้วหมดไป ต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการสร้างขึ้นมาทดแทน เช่น แร่ธาตุ ถ่านหิน น้ำมัน ป่าไม้ เป็นต้น

หนี้สินหมุนเวียนต้องเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  1. กิจการคาดว่าจะมีการชำระภายในรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติของกิจการ
  2. กิจการถือไว้โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นคือมีไว้เพื่อค้า
  3. หนี้สินถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากรอบระยะเวลารายงาน หรือ
  4. กิจการไม่มีสิทธิอันปราศจากเงื่อนไขให้เลื่อนการชำระหนี้ออกไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือนนับจากรอบระยะเวลารายงาน

หนี้สินหมุนเวียนที่พบในงบแสดงฐานะการเงิน

    • เจ้าหนี้การค้า – จำนวนเงินค้างชำระสำหรับการจัดซื้อวัตถุดิบ สินค้าหรือบริการที่เอามาใช้ในการดำเนินธุรกิจตามปกติ
    • ตั๋วเงินจ่าย – กิจการอาจออกตั๋วเงินให้แก่เจ้าหนี้เพื่อเป็นคำมั่นสัญญาในการจ่ายชำระเงิน ซึ่งแบ่งออกเป็น
      • ตั๋วเงินจ่ายชนิดระบุดอกเบี้ย
      • ตั๋วเงินจ่ายชนิดไม่ระบุดอกเบี้ย
  • เงินกู้ระยะสั้นและส่วนของหนี้สินระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือน
  • ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย – ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วในงวดบัญชี แต่กิจการยังมิได้จ่ายชำระ
  • รายได้รับล่วงหน้า – รายได้ที่กิจการได้รับเงินมาก่อน แต่ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าหรือบริการที่ต้องส่งมอบหรือให้บริการแก่ลูกค้า

หนี้สินไม่หมุนเวียนคือสินทรัพย์ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น

  • หนี้สินทางการเงิน – ภาระผูกพันตามสัญญาที่จะส่งมอบเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่นให้กิจการอื่นหรือที่จะแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ทางการเงินหรือหนี้สินทางการเงินกับกิจการอื่นภายใต้เงื่อนไขที่น่าจะทำให้กิจการเสียประโยชน์
  • หนี้สินเงินได้รอการตัดบัญชี – จำนวนภาษีเงินได้ที่กิจการต้องจ่ายในอนาคตที่เกิดจากผลแตกต่างชั่วคราวที่ต้องเสียภาษี
  • ภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงาน – ภาระผูกพันของกิจการในการจ่ายชำระสิ่งตอบแทนในทุก ๆ รูปแบบให้แก่พนักงานเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับบริการที่ได้รับจากพนักงานหรือการเลิกจ้างงาน
  • ประมาณการหนี้สินระยะยาว – ประมาณการหนี้สินที่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะเวลาหรือจำนวนที่ต้องจ่ายในอนาคต เช่น หนี้สินจากคดีฟ้องร้อง ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เป็นต้น
  • หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น – หนี้สินของกิจการที่ยังไม่เข้าเงื่อนไขการรับรู้รายการในงบแสดงฐานะการเงิน เช่น การถูกประเมินภาษีย้อนหลัง การค้ำประกันหนี้สินให้แก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
  • สัญญาเช่า – การเช่าเป็นข้อตกลงตามสัญญาระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่า โดยผู้ให้เช่าได้โอนการควบคุมในสินทรัพย์ที่ทำสัญญาให้แก่ผู้เช่า
  • หนี้สินนอกงบดุล – วิธีปฏิบัติทางบัญชีที่กิจการเลือกนำมาใช้เพื่อไม่รับรู้รายการหนี้สินไว้ในงบแสดงฐานะการเงิน (เพื่อรักษาระดับของหนี้สินให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา)

แนวคิดพื้นฐานในการวัดมูลค่ารายการสินทรัพย์และหนี้สิน

  1. ต้นทุนเดิม – ราคาของรายการ ณ ขณะที่เกิดรายการนั้น ๆ

ต้นทุนเดิมของสินทรัพย์คือต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์นั้น ๆ และทำให้สินทรัพย์อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งาน

ต้นทุนเดิมของหนี้สินคือมูลค่าของสิ่งตอบแทนที่ได้รับจากการเกิดหรือเข้ารับภาระหนี้สินหักด้วยต้นทุนการทำรายการ

ตัวอย่างของสินทรัพย์ที่วัดมูลค่าด้วยต้นทุนเดิมเมื่อเริ่มแรก เช่น สินค้าคงเหลือ ลูกหนี้การค้า ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นต้น

  1. มูลค่าสภาพปัจจุบัน – ต้นทุนเดิมไม่สะท้อนถึงมูลค่าสภาพปัจจุบัน ซึ่งอาจจะทำให้ข้อมูลที่นำเสนอมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจน้อยลง ดังนั้น บางกลุ่มสินทรัพย์และหนี้สินอาจวัดมูลค่าด้วยมูลค่าสภาพปัจจุบัน

2.1 มูลค่ายุติธรรม – ราคาที่จะได้รับจากการขายสินทรัพย์หรือจ่ายเพื่อโอนหนี้สินจากรายการในสถานการณ์ปกติระหว่างผู้ร่วมตลาด ณ วันที่วัดค่า

  • วิธีราคาตลาด – ใช้ข้อมูลราคาตลาดและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อการเทียบเคียง
  • วิธีราคาทุน – ใช้ราคาเปลี่ยนแทน ซึ่งจะประมาณการจากจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชำระเพื่อซื้อสินทรัพย์ที่มีสภาพในปัจจุบัน
  • วิธีรายได้ – วิธีจะใช้การประมาณการรายได้หรือกระแสเงินสดในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์และหนี้สินนั้น ๆ และคิดลดด้วยอัตราคิดลดที่เหมาะสมให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน

2.2 มูลค่าการใช้สำหรับสินทรัพย์และมูลค่าปฏิบัติตามภาระสำหรับหนี้สิน

  • มูลค่าการใช้สินทรัพย์ – คำนวณจากประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตหากกิจการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อเนื่องไปจนหมดอายุการให้ประโยชน์และคิดลดด้วยอัตราคิดลดที่เหมาะสมให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน
  • มูลค่าปฏิบัติตามภาระสำหรับหนี้สิน – คำนวณจากประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตที่กิจการต้องจ่ายหากปฏิบัติตามภาระที่กำหนดไว้สำหรับหนี้สินนั้น ๆ และคิดลดด้วยอัตราคิดลดที่เหมาะสมให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน

2.3 ต้นทุนปัจจุบัน

  • ต้นทุนปัจจุบันของสินทรัพย์ – ต้นทุนของสินทรัพย์เทียบเท่า ณ วันที่วัดมูลค่าบวกต้นทุนการทำรายการที่จะเกิดขึ้น ณ วันที่วัดมูลค่า โดยคำนึงถึงสภาพของสินทรัพย์ ณ ขณะนั้น
  • ต้นทุนปัจจุบันของหนี้สิน – สิ่งตอบแทนที่จะได้รับสำหรับหนี้สินเทียบเท่า ณ วันที่วัดมูลค่าหักต้นทุนการทำรายการที่จะเกิดขึ้น ณ วันที่วัดมูลค่า

ส่วนของเจ้าของ

ส่วนของเจ้าของหรือส่วนของผู้ถือหุ้น – ส่วนได้เสียคงเหลือในสินทรัพย์ของกิจการหลังจากหนี้สินทั้งหมดแล้ว ทำให้สิทธิเรียกร้องของผู้เป็นเจ้าของเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีลำดับการชำระเงินคืนต่ำกว่าหนี้สิน

ส่วนของผู้ถือหุ้นประกอบด้วย

    • ทุนของผู้ถือหุ้น – ทุนเรือนหุ้น (มูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ) และส่วนเกินมูลค่าหุ้นที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้
    • กำไรสะสม – จำนวนรวมของกำไรสุทธิหักด้วยจำนวนที่มีการจัดสรรไปยังผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผลนับตั้งแต่วันเริ่มต้นของธุรกิจจนถึงสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบัน
  • รายการอื่น ๆ (ถ้ามี)

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงของส่วนของเจ้าของ ข้อมูลขั้นต่ำที่ต้องนำเสนอ

  • กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวด
  • สำหรับแต่ละองค์ประกอบของส่วนของเจ้าของ ให้นำเสนอผลกระทบของการนำนโยบายการบัญชีปรับปรุงย้อนหลังหรือแก้ไขงบการเงินย้อนหลัง
  • สำหรับแต่ละองค์ประกอบของส่วนของเจ้าของ ให้นำเสนอการกระทบยอดระหว่างยอดยกมา ณ ต้นงวดและสิ้นงวด

การวิเคราะห์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับรายการที่นำเสนอในงบแสดงฐานะการเงิน

การวิเคราะห์รายการทรัพย์สิน

แต่ละรายการสินทรัพย์หมุนเวียนและสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนมีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาแตกต่างกันออกไป เช่น

ตัวอย่างรายการสินทรัพย์หมุนเวียน

เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
  • แหล่งที่มาและใช้ไปของกระแสเงินสดของกิจการ
  • สัดส่วนของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดต่อสินทรัพย์รวมของกิจการ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละกิจการและแต่ละประเภทธุรกิจ
  • ถ้ามีการนำเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดไปลงทุนระยะสั้นในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นทุน กิจการจะมีความเสี่ยงจากการที่สภาพคล่องจะลดลงถ้ามูลค่าของตลาดของหุ้นเหล่านั้นลดลง

ตัวอย่างรายการสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

สินทรัพย์ที่มีตัวตน (เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ฯลฯ)
  • อายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด
  • วิธีการรับรู้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์อย่างเป็นระบบตลอดอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ (ค่าเสื่อมราคา/ค่าตัดจำหน่าย/ค่าสูญสิ้น)
  • การกำหนดวิธีีการทางบัญชีที่แตกต่างกันจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขในงบแสดงฐานะการเงินอย่างไร

การวิเคราะห์รายการหนี้สิน

หนี้สินหมุนเวียนอาจแบ่งออกเป็น

  • หนี้สินหมุนเวียนที่เป็นตัวเงิน เช่น เงินเบิกเกินบัญชี เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เป็นต้น
  • หนี้สินหมุนเวียนที่ไม่เป็นตัวเงิน – ภาระผูกพันในปัจจุบันระยะสั้นที่ส่งผลให้กิจการต้องจัดสินค้าหรือบริการที่ระบุไว้

การวิเคราะห์หนี้สินหมุนเวียนคือการวิเคราะห์อัตราส่วนสภาพคล่องของกิจการ เช่น

  • จำนวนเงินทุนหมุนเวียน
  • อัตราส่วนทุนหมุนเวียน
  • อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว
  • อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อหนี้สินหมุนเวียน

หนี้สินไม่หมุนเวียนคือภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการที่มีระยะเวลาต้องจ่ายชำระมากกว่าหนึ่งปี

ประเด็นที่ควรพิจารณาสำหรับการวิเคราะห์หนี้สินระยะยาว ได้แก่

  • เงื่อนไขของหนี้สิน เช่น วันครบกำหนด อัตราดอกเบี้ย รูปแบบการชำระเงินและจำนวนเงิน
  • กิจการมีข้อจำกัดในการใช้ทรัพยากรและกิจกรรมการรดำเนินธุรกิจหรือไม่
  • กิจการมีความสามารถและความยืดหยุ่นในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมหรือไม่
  • ภาระผูกพันสำหรับเงินทุนหมุนเวียน หนี้สินต่อทุนและตัวเลขทางการเงินอื่น

การเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

  1. รายการที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สิน แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ
  2. รายการที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ ซึ่งในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมที่เป็นอิสระจากกันหรือแยกจากกันไม่ได้
  3. รายการที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์หรือหนี้สิน

บทที่ 3 งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ

งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ – งบการเงินที่นำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง เช่น รายไตรมาสหรือรายปี

คำนิยามของรายการที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงาน

  • รายได้ – การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์หรือการลดลงของหนี้สินที่ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของส่วนของผู้ถือหุ้น (ไม่รวมเงินทุนที่ได้รับจากผู้เป็นเจ้าของ)
  • ค่าใช้จ่าย – การลดลงของสินทรัพย์หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สินที่ส่งผลให้เกิดการลดลงของส่วนของผู้ถือหุ้น (ไม่รวมการจัดสรรคืนให้ผู้เป็นเจ้าของ)
  • กำไรหรือขาดทุน – ผลรวมของรายได้หักค่าใช้จ่าย แต่ไม่รวมองค์ประกอบของกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น
  • กำไรหรือขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น – รายการรายได้และค่าใช้จ่าย (รวมถึงการปรับปรุงและการจัดประเภทรายการใหม่) ซึ่งไม่อนุญาตให้รับรู้ในกำไรขาดทุนประจำงวด แต่อนุญาตให้รวมในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
  • กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม – การเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของระหว่างงวด อันเป็นผลมาจากรายการและเหตุการณ์อื่น ๆ นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากรายการกับเจ้าของ จากความสามารถในฐานะที่เป็นเจ้าของ

กิจการต้องรับรู้รายการรายได้และค่าใช้จ่ายทุกรายการสำหรับงวดที่นำเสนอ (ยกเว้น องค์ประกอบของกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น) ในส่วนของกำไรขาดทุน (หรือในงบกำไรขาดทุน) ทั้งนี้ กิจการต้องแสดงรายการแยกแต่ละบรรทัดพร้อมจำนวนเงินสำหรับ

  • รายได้ โดยแยกแสดงดอกเบี้ยรับตามวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง
  • ผลกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการตัดรายการ สินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย
  • ต้นทุนทางการเงิน
  • ผลขาดทุนจากการด้อยค่า รวมถึงการกลับรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่า
  • ส่วนแบ่งกำไรขาดทุนของบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ใช้วิธีส่วนได้เสีย
  • ในกรณีสินทรัพย์ทางการเงินเปลี่ยนวิธีวัดมูลค่าจาก
    • ราคาทุนตัดจำหน่าย > มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน – ผลกำไร (ขาดทุน) ที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างราคาทุนตัดจำหน่ายของสินทรัพย์ทางการเงินที่เคยบันทึกไว้กับมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่จัดประเภทใหม่
    • มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น > มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน – ผลกำไร (ขาดทุน) สะสมที่เคยบันทึกในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นที่ถูกจัดประเภทใหม่ไปยังกำไรขาดทุน
  • ค่าใช้จ่ายทางภาษี
  • ยอดรวมของการดำเนินงานที่ยกเลิกโดยนำเสนอเป็นยอดเดียว

สำหรับรายการรายได้และค่าใช้จ่ายที่มีสาระสำคัญ กิจการต้องเปิดเผยลักษณะและจำนวนเงินแยกสำหรับแต่ละรายการไว้ในงบกำไรขาดทุนและกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น หรือในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ได้แก่

  • การลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เป็นมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ
  • การปรับโครงสร้างกิจกรรมของกิจการและการกลับรายการประมาณการหนี้สินสำหรับต้นทุนในการปรับโครงสร้าง
  • การจำหน่ายที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
  • การจำหน่ายเงินลงทุน
  • การดำเนินงานที่ยกเลิก
  • การยุติของคดีทางกฎหมาย
  • การกลับรายการประมาณการหนี้สิน

การนำเสนองบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จแบบขั้นเดียวและแบบหลายขั้น

งบกำไรขาดทุนแบบขั้นเดียว – กิจการจะนำเสนอรายการรายได้ต่าง ๆ และคำนวณรายได้รวมและนำเสนอรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วคำนวณค่าใช้จ่าย แล้วนำรายได้รวมมาหักลบกับค่าใช้จ่ายรวมเพื่อคำนวณกำไร (ขาดทุน) สำหรับงวด

งบกำไรขาดทุนแบบหลายขั้น – คำนวณกำไรเป็นหลายขั้น ทำให้กิจการทราบข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กำไรขั้นต้น กำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้แสดงอย่างชัดเจนตามรูปแบบการนำเสนอแบบขั้นเดียว

การรับรู้รายได้

รายได้ หมายถึง รายได้และผลกำไร

  • รายได้ – รายได้ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมตามปกติของกิจการ เช่น รายได้จากการขาย รายได้ค่าธรรมเนียม เป็นต้น
  • ผลกำไร – การเพิ่มขึ้นของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่เกิดจากกิจกรรมตามปกติของกิจการหรือไม่ก็ได้ เช่น กำไรจากการขายเครื่องจักร กำไรจากการขายเงินลงทุน เป็นต้น

กิจการใช้เกณฑ์คงค้างในการจัดทำงบการเงิน ยกเว้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินสด ซึ่งพิจารณาจากเกณฑ์เงินสด

เมื่อรับรู้รายได้ตามหลักเกณฑ์คงค้างแล้ว จะต้องจับคู่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งรายได้นั้นและบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในงวดเดียวกับที่มีการรับรู้รายได้ เพื่อให้กำไรที่คำนวณได้สื่อให้เห็นถึงกำไรที่แท้จริงจากการดำเนินงานของกิจการ ไม่เกิดปัญหาการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายในงวดที่เหลื่อมกัน

การรับรู้รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า

การรับรู้รายได้ หมายถึง การบันทึกรายได้เข้าสู่ระบบบัญชีหรือการจดบันทึกบัญชีรายได้

การรับรู้รายได้เกิดขึ้นเมื่อ

  1. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตของรายการจะเข้าสู่กิจการ และ
  2. กิจการสามารถวัดมูลค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของรายการดังกล่าวได้อย่างน่าเชื่อถือ

หลักการรับรู้รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า

  1. ระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า
  2. ระบุภาระที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา
  3. กำหนดราคาของรายการ
  4. ปันส่วนราคาของรายการให้กับภาระที่ต้องปฏิบัติ
  5. รับรู้รายได้เมื่อ (หรือขณะที่) กิจการปฏิบัติตามภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้น

การรับรู้ค่าใช้จ่าย

กิจการต้องทำการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่รับรู้ในส่วนกำไรขาดทุนโดยใช้

  • วิธีลักษณะค่าใช้จ่าย – กิจการนำเสนอการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตามลักษณะค่าใช้จ่ายรายการนั้น ๆ ในกำไรหรือขาดทุน โดยไม่มีการปันส่วนระหว่างหน่วยงานภายในกิจการและไม่ได้ระบุว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านั้นเกี่ยวข้องกับกิจกรรมใด ๆ เช่น กิจกรรมการผลิต กิจกรรมการขาย กิจกรรมการบริหารงาน เป็นต้น 
  • วิธีหน้าที่ของค่าใช้จ่าย – จัดประเภทและปันส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามกิจกรรมหลักหรือตามหน้าที่ของค่าใช้จ่าย เช่น ต้นทุนขายเป็นยอดรวมของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตสินค้าส่วนที่ได้ขายออกไปแล้ว เป็นต้น

รายการค่าใช้จ่ายหลักที่เสนอตามหน้าที่ของค่าใช้จ่าย

  • ต้นทุนขาย
  • ค่าใช้จ่ายในการขาย
  • ค่าใช้จ่ายในการบริหาร

การแสดงรายการไม่ปกติหรือเกิดขึ้นไม่ประจำ

  1. การดำเนินงานที่ยกเลิก – กิจการต้องจัดประเภทสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (หรือกลุ่มสินทรัพย์ที่จะจำหน่าย) เป็นสินทรัพย์ที่ถือไว้เพื่อขาย หากมูลค่าตามบัญชีที่จะได้รับคืนส่วนใหญ่มาจากการขาย มิใช่มาจากการใช้สินทรัพย์นั้นต่อไป โดยจะวัดมูลค่าด้วยจำนวนที่ต่ำกว่าระหว่างมูลค่าตามบัญชีและมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย กิจการต้องหยุดการคิดค่าเสื่อมราคาที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ (ถ้ามี)

กรณีที่กิจการมีแผนจะยกเลิกส่วนประกอบของกิจการ กิจการต้องนำเสนอและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ยกเลิกเป็นจำนวนเงินในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จดังนี้

  • ผลกำไรหรือขาดทุน (หลังจากการหักภาษี) ของการดำเนินงานที่ยกเลิก และ
  • ผลกำไรหรือขาดทุน (หลังจากการหักภาษี) ที่รับรู้ในการวัดมูลค่าให้เป็นมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขายหรือในการจำหน่ายสินทรัพย์หรือกลุ่มสินทรัพย์ที่จะจำหน่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานที่ยกเลิก
  1. ผลกำไร (ขาดทุน) ที่ไม่ปกติและเกิดขึ้นไม่บ่อย – องค์ประกอบหนึ่งของกำไรจากกิจกรรมปกติ (นำเสนอเป็นรายการแยกต่างหาก) รายการนี้แสดงด้วยยอดก่อนหักภาษีเงินได้ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
  2. การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชี – ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้นโยบายการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเท่านั้น

วิธีปฏิบัติสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางบัญชี

  • ปรับย้อนหลัง
    • ปรับย้อนหลังงบการเงินที่นำมาเปรียบเทียบ และ
    • บันทึกรายการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี
  • เปลี่ยนทันทีเป็นต้นไป – กิจการจะนำมาถือปฏิบัติสำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีเฉพาะกรณีที่กิจการไม่สามารถระบุผลกระทบสะสมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี ณ วันต้นงวดของงวดปัจจุบัน
  1. รายการปรับปรุงของงวดก่อน – การเปลี่ยนแปลงจากวิธีการบัญชีที่ผิดพลาดไปสู่วิธีการบัญชีอันเป็นที่ยอมรับ หรือการใช้ข้อมูลที่ผิดพลาดเป็นข้อมูลที่ถูกต้องจะถือว่าเป็น “ข้อผิดพลาดทางบัญชี” และผลกระทบที่เกิดขึ้นจะถูกรายงานภายใต้ “รายการปรับปรุงของงวดก่อน”
  2. รายการอื่น ๆ – รายการค้าอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหลักแล้วเกิดผลต่างที่ส่งผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้น รายการเหล่านั้นเรียกว่า “ผลกำไรหรือขาดทุน” 

กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นและกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม

กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม – การเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของระหว่างงวดซึ่งเป็นผลมาจากรายการหรือเหตุการณ์อื่นใดที่มิได้มาจากผู้เป็นเจ้าของ

กำไรขาดทุน – ผลรวมของแหล่งรายได้จากการดำเนินงานของกิจการหักด้วยผลรวมของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกิจการ (ไม่รวมองค์ประกอบของกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น)

กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น – รายได้และค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้รับอนุญาตให้รับรู้ในกำไรขาดทุนตามที่กำหนดใน มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 

การรายงานกำไร (ขาดทุน) เบ็ดเสร็จอื่น และกำไรเบ็ดเสร็จรวม

กิจการอาจนำเสนอกำไร (ขาดทุน) เบ็ดเสร็จอื่นและกำไร (ขาดทุน) เบ็ดเสร็จรวมในงบเดียวกับกำไร (ขาดทุน) สำหรับงวดหรือแยกกันก็ได้ โดยรายการกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นจะต้องนำเสนอด้วยจำนวนเงินสุทธิจากผลกระทบทางภาษีที่เกี่ยวข้อง

กิจการต้องแยกรายการกำไร (ขาดทุน) เบ็ดเสร็จอื่นออกจากกันดังนี้

  • สามารถจัดประเภทรายการใหม่ไปยังกำไร (ขาดทุน) สำหรับงวดในภายหลัง เช่น
    • ผลต่างอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงค่างบการเงิน
    • กำไร (ขาดทุน) จากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของ FVOCI ที่เป็นตราสารหนี้
  • ไม่สามารถจัดประเภทรายการใหม่ไปยังกำไร (ขาดทุน) สำหรับงวดในภายหลัง เช่น
    • ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ใหม่
    • กำไร (ขาดทุน) จากการเปลี่ยนแปลงประมาณการตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยของโครงการผลประโยชน์พนักงาน
    • กำไร (ขาดทุน) จากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของ FVOCI ที่เป็นตราสารทุน

กำไรต่อหุ้น

กำไรต่อหุ้น (EPS) จำนวนกำไรของกิจการในช่วงเวลา 1 งวดสำหรับหุ้นสามัญจำนวนหนึ่งหุ้น 

ตัวเลขกำไรต่อหุ้นสามารถสะท้อนถึง

  1. ความสามารถของกิจการในการสร้างกำไรในระหว่างงวดสำหรับแต่ละหน่วยของหุ้นสามัญ และ
  2. มูลค่าของส่วนได้เสียของหุ้นสามัญแต่ละหน่วยในผลการดำเนินงานของกิจการสำหรับ 1 งวดเวลา

ในกรณีที่กิจการประสบผลขาดทุนในการดำเนินงาน กำไรต่อหุ้นยังคำนวณเหมือนเดิมแต่ถูกนำเสนอในชื่อ “ขาดทุนต่อหุ้น”

การคำนวณกำไรต่อหุ้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • กำไรต่อหุ้นพื้นฐาน
  • กำไรต่อหุ้นปรับลด

กิจการที่มีโครงสร้างเงินทุนแบบเรียบง่ายคำนวณและแสดงเฉพาะกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐานในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ

กิจการที่มีโครงสร้างเงินทุนแบบซับซ้อนคำนวณและแสดงทั้งกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐานและกำไรต่อหุ้นปรับลดในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ

โครงสร้างเงินทุนคือ องค์ประกอบของการจัดหาเงินจากแหล่งทุนและแหล่งหนี้

  • โครงสร้างทุนแบบพื้นฐานหรือเรียบง่าย
    • กิจการที่ระดมเงินทุนด้วยการออกจำหน่ายเฉพาะหุ้นสามัญ หรือ
    • กิจการที่ระดมเงินทุนด้วยการออกจำหน่ายหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ (หรือตราสารอื่นใด) ที่ไม่สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ
  • โครงสร้างทุนแบบซับซ้อน
    • กิจการที่ออกจำหน่ายหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพ
    • กิจการที่ออกจำหน่ายหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิชนิดไม่แปลงสภาพและหุ้นกู้แปลงสภาพ และ
    • กิจการที่ออกจำหน่ายหุ้นสามัญและให้สิทธิเลือกในการซื้อหุ้นแก่ผู้ถือหุ้น เพื่อเลือกใช้สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของกิจการในอนาคต

การวิเคราะห์กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น

มาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทย ได้ระบุองค์ประกอบของกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นสำหรับกำไรขาดทุนที่ยังไม่เกิดไว้ 5 เรื่องหลัก ได้แก่

  • ผลกำไรและขาดทุนจากการแปลงค่างบการเงินของการดำเนินงานในต่างประเทศ
  • ผลกำไรและขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนเผื่อขาย
  • การวัดมูลค่าใหม่ของโครงการผลประโยชน์ที่กำหนดไว้
  • การเปลี่ยนแปลงในส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพ
  • ส่วนของผลกำไรและขาดทุนที่มีประสิทธิผลจากเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงในการป้องกันความเสี่ยงในกระแสเงินสด

บทที่ 4 งบกระแสเงินสด

งบกระแสเงินสดเป็นงบการเงินหลักที่สะท้อนข้อมูลกระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายในอดีตของกิจการ

ข้อมูลที่ได้รับจากงบกระแสเงินสดและงบการเงินประเภทอื่นประกอบกับข้อมูลเพิ่มเติมที่มีการเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้งบการเงิน เช่น

  • ช่วยประเมินความสามารถของกิจการในการก่อให้เกิดเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด รวมถึงความจำเป็นในการใช้กระแสเงินสดของกิจการ
  • ช่วยในการพยากรณ์กระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายในอนาคตของกิจการ
  • ช่วยในการประเมินโครงสร้างทางการเงินของกิจการ รวมถึงสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้
  • ช่วยเพิ่มความสามารถในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกิจการที่แตกต่างกันจากมุมมองของเกณฑ์กระแสเงินสด และ
  • ช่วยในการตรวจสอบความถูกต้องของประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตที่กิจการได้ทำไว้ในอดีต

กิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะต้องจัดทำและนำเสนองบกระแสเงินสด

กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะไม่ได้กำหนดว่าจะต้องจัดทำและนำเสนองบกระแสเงินสด แต่สามารถจัดทำและนำเสนองบกระแสเงินสด

งบกระแสเงินสดเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินฉบับสมบูรณ์ ข้อมูลที่นำเสนอจึงมีความสัมพันธ์กับงบการเงินอื่น ๆ ของกิจการที่นำเสนอในงวดบัญชีนั้น ๆ อย่างมาก

รูปแบบของงบกระแสเงินสด

งบกระแสเงินสดประกอบด้วยกระแสเงินสดจาก 3 กิจกรรมหลัก

  • กิจกรรมดำเนินงาน 
  • กิจกรรมลงทุน
  • กิจกรรมจัดหาเงิน

นอกจากนี้แล้ว งบกระแสเงินสดยังนำเสนอการเปลี่ยนแปลงยอดคงเหลือของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ยอดคงเหลือของเงินสดและรายการเทียบเท่าของเงินต้นงวดและปลายงวดอีกด้วย

กิจการนิยมเลือกคำนวณกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานด้วยวิธีทางอ้อมมากกว่าวิธีทางตรง เพราะ ง่าย + สะดวกกว่า

หลักการจำแนกรายการกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุนและกิจกรรมจัดหาเงิน

กิจกรรมดำเนินงาน – กิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้ของกิจการและกิจการอื่นที่มิใช่กิจกรรมลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงิน ตัวอย่างเช่น

  • กิจการซื้อมาขายไป – รายการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและขายสินค้า การจ้างงานพนักงาน การจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้
  • สถาบันการเงิน – รายการที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้า การรับเงินค่าดอกเบี้ยและการรับคืนเงินกู้ยืมระหว่างงวด

กิจกรรมลงทุน – การได้มาและการจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวและเงินลงทุนอื่นซึ่งไม่รวมอยู่ในรายการเทียบเท่าเงินสด ตัวอย่างเช่น

  • เงินสดรับจากการขายที่ดิน อาคารและอุปกรณ์และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
  • เงินสดรับจากการขายเงินทุนในตราสารประเภทต่าง ๆ เช่น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์และตราสารทุน
  • เงินสดจ่ายจากการขายที่ดิน อาคารและอุปกรณ์และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน

กิจกรรมจัดหาเงิน – กิจกรรมที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขนาดและองค์ประกอบของส่วนของเจ้าของและส่วนของการกู้ยืมของกิจการ ตัวอย่างเช่น

  • เงินสดรับจากการออกและเสนอขายหุ้นทุน (หุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ)
  • เงินสดรับจากการออกและขายตราสารหนี้
  • เงินสดจ่ายสำหรับซื้อหุ้นทุนกลับคืน

การจัดทำงบกระแสเงินสด

ข้อมูลที่จำเป็นต่อการจัดทำงบกระแสเงินสด

  1. งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จของงวดปัจจุบัน – ข้อมูลส่วนนี้จะแสดงให้เห็นถึงรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างงวดและช่วยในการคำนวณเงินสดรับและจ่ายจากทั้งสามกิจกรรม โดยเฉพาะกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน
  2. งบแสดงฐานะการเงินของงวดปัจจุบันและงวดก่อนหน้า – คำนวณการเปลี่ยนแปลงของยอดคงเหลือของสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น
  3. ข้อมูลเพิ่มเติมที่จำเป็นต่อการจัดทำงบกระแสเงินสด – เพื่อใช้ในการคำนวณกระแสเงินสดจากทั้งสามกิจกรรม เพราะธุรกรรมการค้าที่เกิดขึ้นจากทั้งสามกิจกรรมจะมีทั้งรายการที่เกี่ยวข้องกับเงินสดและที่มิใช่เงินสด

การวิเคราะห์ข้อมูลในงบกระแสเงินสด

ข้อจำกัดของงบกระแสเงินสด

  • ในทางปฏิบัติ ไม่ได้มีการบังคับให้กิจการจะต้องเปิดเผยกระแสเงินสดที่เป็นรายการผิดปกติหรือจากการดำเนินงานที่ยกเลิก
  • เงินปันผลรับและดอกเบี้ยจ่ายถูกจัดประเภทให้อยู่ในงบกระแสเงินสด ซึ่งผู้ใช้งบการเงินจำนวนมากเห็นว่าเงินปันผลควรจัดให้อยู่ในกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน ส่วนดอกเบี้ยจ่ายควรจัดประเภทเป็นกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน
  • ภาษีเงินได้ถูกจัดประเภทเป็นกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดการบิดเบือนในการวิเคราะห์กิจกรรมต่าง ๆ หากผลประโยชน์หรือต้นทุนทางภาษีมีการปันส่วนอย่างไม่เหมาะสมและมีนัยสำคัญ
  • การที่ไม่นำกำไรหรือขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ระยะยาวหรือจากการลงทุนก่อนหักภาษีมารวมอยู่ในกิจกรรมดำเนินงาน จะบิดเบือนการวิเคราะห์ทั้งในกิจกรรมดำเนินงานและกิจกรรมการลงทุน เพราะภาษีที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ถูกจำกัดออกไปแต่จะยังค้างอยู่ในภาษีจ่ายจากการดำเนินงาน

ในการประเมินแหล่งที่มาของเงินสดและการใช้เงินสดอาจมุ่งเน้นไปที่ประเด็นคำถามดังต่อไปนี้

  • การเปลี่ยนสินทรัพย์เกิดจากการระดมทุนภายในหรือภายนอกองค์กร
  • แหล่งที่มาของเงินสดที่ใช้ไปในการดำเนินงานหรือการขยายธุรกิจ
  • กิจการมีการพึ่งพาเงินจากแหล่งภายนอกมากน้อยเพียงใด
  • กิจการมีความต้องการในการลงทุนและมีโอกาสทางธุรกิจอะไรบ้าง
  • เกณฑ์ในการระดมเงินหรือประเภทของแหล่งเงินมีอะไรบ้าง
  • นโยบายในการบริหาร (เช่น เงินปันผล) มีความอ่อนไหวต่อกระแสเงินสดมากน้อยเพียงใด

อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญสำหรับการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด

  • อัตราส่วนกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานต่อหนี้สินหมุนเวียน
  • อัตราส่วนกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานต่อหนี้สินรวม
  • อัตราส่วนกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานต่อดอกเบี้ยง่าย
  • อัตราส่วนกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานต่อรายได้รวม
  • อัตราส่วนความเพียงพอของกระแสเงินสด
  • อัตราส่วนคุณภาพของกำไร
  • อัตราส่วนการนำเงินสดไปลงทุนต่อ

บทที่ 5 แนวคิดและเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์งบการเงิน

กรอบแนวคิดในการวิเคราะห์งบการเงิน

    • ลักษณะภายในอุตสาหกรรม – ภาพรวมของห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต กระทั่งได้สินค้าสำเร็จรูป และไปยังกระบวนการจำหน่าย ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์การแข่งขันในด้านต่าง ๆ
  • ปัจจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ที่แฝงในงบการเงิน
    • อุปสงค์ของสินค้าหรือบริการ
    • อุปทานของสินค้าหรือบริการ
    • การผลิต
    • การตลาด
    • การลงทุน
    • การจัดหาเงินทุน
  • กลยุทธ์ของบริษัท – ควรทราบแนวทางการบริหารบริษัทของผู้บริหารบริษัทที่กำลังทำการวิเคราะห์ เพราะตัวเลขในงบการเงินสะท้อนกลยุทธ์ที่บริษัทเลือกใช้อยู่ในเวลานั้น

ประเด็นที่ควรพิจารณาในการวิเคราะห์งบการเงิน

  • ความแตกต่างในขนาดของกิจการและลักษณะของธุรกิจ – ควรวิเคราะห์เปรียบเทียบงบการเงินบริษัทต่าง ๆ ที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่เหมือนหรือคล้ายกันและมีขนาดใกล้เคียงกัน
  • การใช้นโยบายบัญชีที่แตกต่างกัน – บริษัทสามารถเลือกใช้นโยบายบัญชีหลายแบบ ทำให้สองบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันไม่สามารถเปรียบเทียบได้โดยตรง ต้องปรับนโยบายบัญชีของสองบริษัทให้เหมือนกันก่อน
  • คุณภาพของรายงานทางการเงิน – คุณภาพของรายการทางการเงินจากบริษัทที่ต่างกัน หรือบริษัทเดียวกันแต่จากรอบบัญชีที่ต่างกันอาจมีคุณภาพไม่ทัดเทียมกันได้
  • ข้อจำกัดของงบการเงิน – ความแตกต่างของแต่ละบริษัทอาจสำคัญและข้อจำกัดของรูปแบบมาตรฐานของงบการเงินจึงไม่สามารถระบุได้ คุณต้องใช้ข้อมูลจากหมายเหตุประกอบงบการเงินมาใช้ร่วมในการวิเคราะห์หลายสถานการณ์
  • ประเด็นอื่น ๆ เช่น กรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ – สงคราม ภัยพิบัติธรรมชาติ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น

กระบวนการในการวิเคราะห์งบการเงิน

  1. การกำหนดวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์งบการเงิน
  • เพื่อวิเคราะห์หลักทรัพย์
  • เพื่อให้สินเชื่อในฐานะธนาคาร
  • เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนบริหารจัดการต่อไปของผู้บริหารบริษัท
  • เพื่อเข้าซื้อกิจการหรือครอบงำกิจการ
  • เพื่อให้เครดิตเทอมกับลูกค้า โดยพิจารณาจากงบการเงินของลูกค้า
  • เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
  1. การรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงิน
  • ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงิน
    • ข้อมูลเชิงปริมาณ – ข้อมูลตัวเลขที่มาจากรายการทางการเงิน
    • ข้อมูลเชิงคุณภาพ – ข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเลข อยู่ในส่วนหมายเหตุประกอบงบการเงิน
  • แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงิน
    • แหล่งข้อมูลจากรายงานทางการเงิน
    • แหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่จากรายงานทางการเงิน – การแถลงข่าวของบริษัท ข่าวที่เกี่ยวข้องกับบริษัทในรอบบัญชีที่ต้องการวิเคราะห์ เป็นต้น
  1. การปรับปรุงข้อมูลก่อนทำการวิเคราะห์งบการเงิน – เพื่อให้ข้อมูลทางการเงินที่ได้มา ใช้นโยบายบัญชีที่เปรียบเทียบกันได้ รวมถึงข้อสมมติที่เหมาะสมใกล้เคียงกัน
  2. การวิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูลงบการเงิน
  • การวิเคราะห์แนวตั้ง
  • การวิเคราะห์แนวนอน
  • การวิเคราะห์แนวโน้ม
  • การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
  1. การสรุปผลและให้ข้อเสนอแนะ – สรุปผลสถานะทางการเงินของบริษัทในด้านต่าง ๆ และต้องแนะนำว่า บริษัทควรปรับปรุงในด้านใด และด้านใดที่บริษัทควรรักษาไว้

เครื่องมือสำหรับใช้ในการวิเคราะห์งบการเงิน

  1. การวิเคราะห์แนวตั้ง
  • งบแสดงฐานะการเงิน – คำนวณจำนวนแต่ละบัญชีเป็นร้อยละของยอดรวมสินทรัพย์ ทำให้เห็นว่ามูลค่าของแต่ละบัญชีในงบแสดงฐานะการเงินเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของยอดรวมสินทรัพย์ 
  • งบกำไรขาดทุน – คำนวณจำนวนแต่ละบัญชีเป็นร้อยละของรายได้ ทำให้เห็นว่ามูลค่าของแต่ละบัญชีในงบกำไรขาดทุนเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของรายได้
  1. การวิเคราะห์แนวนอน – คำนวณร้อยละการเปลี่ยนแปลงของแต่ละบัญชีในงบกำไรขาดทุนและงบแสดงฐานะการเงินจากปีที่ผ่านมา และวิเคราะห์ผลของการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของแต่ละบัญชี
  2. การวิเคราะห์แนวโน้ม – การวิเคราะห์โดยระบุปีใดปีหนึ่งให้เป็นปีฐานเพื่อนำข้อมูลในปีอื่น ๆ มาเทียบ ในลักษณะคล้ายดัชนี โดยปีฐานจะเป็นปีที่พิจารณาแล้วว่าเป็นปีที่มีการดำเนินงานปกติเพื่อใช้เป็นปีฐานเพื่อเทียบกับปีอื่น ๆ ที่ถัดมาได้

บทที่ 6 การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน

อัตราส่วนทางการเงินจะใช้ประโยชน์ได้ก็ด้วยการเปรียบเทียบ โดยเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน ฐานะการเงินและอัตราส่วนทางการเงินของกิจการจะต้องเป็นการเปรียบเทียบกับ

  • ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม – เข้าใจแนวทางการดำเนินธุรกิจตามวัฏจักร ซึ่งช่วยประมาณการผลการดำเนินงานในอนาคตของกิจการ
  • ธุรกิจหรืออุตสาหกรรม – วัดผลกระทบที่ภาวะเศรษฐกิจมหภาคมีต่อกิจการ รวมทั้งผลการดำเนินงานของกิจการเปรียบเทียบกับกิจการอื่น ๆ ในธุรกิจเดียวกัน
  • คู่แข่งสำคัญในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้น – ควรเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินกับกิจการอื่นในธุรกิจเดียวกันที่มีลักษณะหรือขนาดของธุรกิจใกล้เคียงกัน
  • ผลการดำเนินงานของกิจการในอดีต – ประเมินความก้าวหน้าและพัฒนาการหรือความถดถอยของกิจการในช่วงที่ผ่านมา

ข้อจำกัดของการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน

  • ความแตกต่างของนโยบายบัญชีของกิจการที่นำมาเปรียบเทียบ
  • ความแตกต่างภายในของกิจการ
  • ความไม่สอดคล้องของอัตราส่วนทางการเงิน
  • กิจการที่ดำเนินธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีสภาพแวดล้อมและนโยบายการดำเนินงานที่แตกต่างกัน
  • ในการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน คุณควรพิจารณาด้วยว่าอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้มีความสอดคล้องกับเหตุการณ์เชิงเศรษฐกิจ

ประเภทของอัตราส่วนทางการเงิน

  1. การวิเคราะห์สภาพคล่องภายในกิจการ – วิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้น โดยเปรียบเทียบระหว่างภาระผูกพัน/หนี้สินระยะสั้น เช่น
  • อัตราส่วนทุนหมุนเวียน
  • อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว
  • อัตราส่วนเงินสด
  • อัตราหมุนเวียนของลูกหนี้การค้า
  • อัตราหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ
  • วงจรการหมุนเวียนของเงินสด
  1. การวัดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น
  • อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม
  • อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
  • อัตราหมุนเวียนของส่วนของผู้ถือหุ้น
  • อัตราหมุนเวียนของเงินทุน
  • อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์หมุนเวียน
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
  1. อัตราส่วนวัดความสามารถในการทำกำไร – ประเมินความสามารถในการทำกำไรของกิจการและวิเคราะห์ว่ากิจการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าใด เช่น
  • อัตรากำไรขั้นต้น
  • อัตรากำไรจากการดำเนินงาน
  • อัตรากำไรสุทธิ
  • อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม
  • อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
  • การวิเคราะห์แบบ DuPont
  1. อัตราส่วนวัดภาระหนี้สินและความสามารถในการชำระหนี้สินของกิจการ – วัดระดับความเสี่ยงทางธุรกิจของกิจการ โดยกิจการที่มีระดับความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำจะสามารถแบกรับความเสี่ยงทางการเงินได้สูงและสามารถก่อภาระหนี้สินทางการเงินในสัดส่วนที่สูง
  • อัตราส่วนที่แสดงสัดส่วนของหนี้สิน
  • อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
  • อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวม
  • อัตราส่วนกระแสผลกำไรในรูปของ EBITDA
  • อัตราส่วนกระแสเงินสด
  1. อัตราส่วนมูลค่าตลาด – วิเคราะห์มูลค่าของกิจการ รวมถึงมูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของกิจการ โดยเป็นการเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าของกิจการหรือมูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของกิจการ (แล้วแต่กรณี) กับตัวแปรทางการเงินที่แสดงถึงรายได้และผลกำไร (ได้จากงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ) เช่น
  • กำไรสุทธิต่อหุ้น
  • อัตราส่วนราคาต่อกำไร
  • อัตราการจ่ายเงินปันผล
  • มูลค่าตามบัญชี
  • อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชี
  • อัตราส่วนราคาต่อยอดขาย
  • อัตราส่วนราคาต่อกระแสเงินสด
  • อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อ EBITDA
  • อัตราผลตอบแทนของเงินปันผล
  • การวิเคราะห์ศักยภาพในการเจริญเติบโตของกิจการ

อัตราส่วนทางการเงินสามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจลงทุนดังนี้

  1. การประเมินมูลค่าหุ้นสามัญ
  2. การประมาณค่าความเสี่ยงที่เป็นระบบ
  3. การกำหนดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้
  4. การคาดการณ์โอกาสที่จะเกิดปัญหาทางการเงินกับองค์กรในอนาคต

การทุจริตในการจัดทำงบการเงิน

ประเภทของการทุจริตงบการเงิน

  1. การตกแต่งกำไร
  2. การตกแต่งกระแสเงินสด
  3. การตกแต่งตัวชี้วัดสำคัญอื่น เช่น อัตราส่วนทางการเงินหรือรายงานข้อมูลต่าง ๆ (งบการเงินประจำปี/รายไตรมาส แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี เป็นต้น)

แรงจูงใจในการทุจริตงบการเงิน

  1. เงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนให้เกิดการทุจริตงบการเงิน ตัวอย่างเช่น
  • มีความกดดันทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการที่กิจการมีผลการดำเนินงานที่ลดลง
  • ผู้บริหารของกิจการมีความสามารถในการบริหารจัดการที่ลดลง
  • กิจการอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจ
  • สภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่กิจการได้ทำสัญญากับผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน
  1. โครงสร้างของกิจการหรือระบบการทำงานที่เอื้อให้เกิดการทุจริต ตัวอย่างเช่น
  • กิจการขาดกลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดี เช่น คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบขาดการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
  • ไม่มีระบบการควบคุมภายในหรือระบบควบคุมภายในไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  • กิจการเปลี่ยนแปลงผู้สอบบัญชีหรือเลือกผู้สอบบัญชีที่ไม่มีประสบการณ์
  • การลงทุนที่มากจนเกินไปหรือมีความซับซ้อนเกินจำเป็น
  1. ทางเลือกของนโยบาย – มาตรฐานการรายงานทางการเงินในปัจจุบันเปิดโอกาสให้ผู้บริหารสามารถใช้ดุลยพินิจในการเลือกวิธีปฏิบัติทางบัญชีให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่กิจการอาจใช้ช่องว่างดังกล่าวเพื่อการตกแต่งกำไรหรือไม่ก็ได้

สัญญาณเตือนภัยเกี่ยวกับการทุจริตงบการเงิน

  • สัญญาณเตือนภัยจากกลไกการกำกับดูแล ตัวอย่างเช่น
    • โครงสร้างของระบบควบคุมภายในที่ไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิผล หรือบริษัทมีจุดอ่อนในระบบการควบคุมภายใน เช่น ไม่มีกรรมการอิสระ งบการเงินไม่ได้รับการตรวจสอบหรือสอบทานโดยผู้ตรวจสอบบัญชี
    • กิจการมีการกำหนดเป้าหมายหรือนโยบายที่ไม่สามารถบรรลุได้ ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจเลือกใช้เทคนิคการทุจริตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
  • สัญญาณเตือนภัยจากรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ ตัวอย่างเช่น
    • บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่หรืออยู่ในระหว่างขั้นตอนของการเตรียมการเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจทำให้เกิดแรงจูงใจในการตกแต่งงบการเงิน เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุน
    • บริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วในขณะที่บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและภาวะอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงชะลอตัว ผู้ทุจริตอาจมีการตกแต่งงบการเงินเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน
  • สัญญาณเตือนภัยจากพฤติกรรมของผู้บริหาร ตัวอย่างเช่น
    • การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับช่วงประโยชน์หรือขายสินทรัพย์ของตนเองให้แก่กิจการในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง
    • การใช้ข้อมูลภายในเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นของบริษัท
  • สัญญาณเตือนภัยจากข้อมูลในรายงานทางการเงิน ตัวอย่างเช่น
    • อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเอง เช่น กิจการมีอัตราการเติบโตของยอดขายสูงแต่อัตรากำไรสุทธิกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง
    • กิจการแสดงงบการเงินโดยมีผลการดำเนินงานที่ตกต่ำหรือมีผลขาดทุนจำนวนมาก

ข้อควรระวังในการวิเคราะห์งบการเงิน

  • ผู้ใช้งบการเงินควรพิจารณาและศึกษาข้อมูลจากแหล่งเพิ่มเติม เช่น แบบ 56-1 รายงานของผู้สอบบัญชี เป็นต้น
  • พิจารณาอัตราส่วนทางการเงินเพื่อเปรียบเทียบทั้งภายในกิจการเอง ระหว่างกิจการหรือของอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาถึงความผิดปกติของอัตราส่วนดังกล่าว
  • ให้ความสนใจกับรายการทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เช่น การเปิดเผยภาระผูกพันหรือรายการหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น
  • ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติทางบัญชี การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีจะแสดงไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินของกิจการ
  • ความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของคณะกรรมการบริษัท หากประธานกรรมการและฝ่ายบริหารเป็นบุคคลเดียวกันอาจนำมาซึ่งปัญหาการขาดความเป็นอิสระในการบริหารงานได้

กลไกการป้องกันทุจริตในงบการเงิน

  • ผู้บริหารควรกำหนดระบบควบคุมภายในให้มีความรัดกุมและเหมาะสมต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจ
  • นโยบายการกำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหารไม่ผูกติดกับเพียงตัวเลขกำไรเพียงอย่างเดียว ผู้บริหารอาจใช้พฤติกรรมฉวยโอกาสในการตกแต่งทางบัญชีเพื่อให้ได้กำไรตามเป้าหมาย
  • ผู้บริหารควรทบทวนโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการอย่างสม่ำเสมอและสร้างจิตสำนึกให้แก่ทุกคนในกิจการให้มีการปฏิบัติงานโดยยึดถือความซื่อสัตย์สุจริต
  • การกำหนดนโยบายการสรรหาและแต่งตั้งพนักงานที่มีความซื่อสัตย์ จัดให้มีการอบรมเกี่ยวกับโทษของการทุจริต และการสร้างจิตสำนึกให้พนักงานมีความรักต่อองค์กร มีความรับผิดชอบและไม่คิดที่จะทำทุจริต
  • การกำหนดนโยบายการหมุนเวียนพนักงานที่มีการปฏิบัติงานมาอย่างยาวนาน การสับเปลี่ยนพนักงานเพื่อลดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการลดทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่
  • การกำหนดนโยบายการไม่ให้และรับสินบน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันว่ากิจการให้ความสำคัญกับการไม่ทุจริต
  • การกำหนดนโยบายเพื่อจัดกิจกรรมหรือโครงการในการรับแจ้งเหตุเกี่ยวกับการทุจริตภายในองค์กรและกำหนดให้มีรางวัลการแจ้งเหตุดังกล่าว

บทที่ 7 สินค้าคงเหลือ

สินค้าคงเหลือ หมายถึง สินทรัพย์ที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

  1. สินค้าสำเร็จรูป – สินทรัพย์ที่ถือไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ
  2. สินค้าระหว่างทำหรือสินค้าระหว่างผลิต – สินทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อขาย หรือ
  3. วัตถุดิบ – สินทรัพย์ที่อยู่ในรูปของวัตถุดิบหรือวัสดุที่มีไว้เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าหรือให้บริการ

สินค้าคงเหลือแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก

  1. สินค้าที่ซื้อมาและถือไว้เพื่อขายต่อ
  2. สินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตหรือสินค้าระหว่างผลิตโดยกิจการ วัตถุดิบหรือวัสดุที่ถือไว้เพื่อรอที่จะใช้ในกระบวนการผลิต
  3. ต้นทุนที่เกิดขึ้นในการทำให้เสร็จสิ้นตามสัญญาที่ทำกับลูกค้าที่ไม่ก่อให้เกิดสินค้าคงเหลือ

ต้นทุนของสินค้าคงเหลือ

เมื่อซื้อหรือผลิตสินค้าคงเหลือ กิจการจะต้องบันทึกมูลค่าของสินค้าคงเหลือด้วยต้นทุนหรือราคาทุนของสินค้าคงเหลือ ซึ่งประกอบด้วย

  • ต้นทุนทั้งหมดในการซื้อ
  • ต้นทุนแปลงสภาพ
  • ต้นทุนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สินค้าคงเหลืออยู่ในสถานที่และสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ยกเว้น

  1. วัตถุดิบ ค่าแรงงานหรือค่าใช้จ่ายการผลิตอื่นที่สูญเสียเกินกว่าปกติ
  2. ต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้า
  3. ค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ไม่เกี่ยวกับการทำให้สินค้าอยู่ในสถานที่และอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
  4. ต้นทุนในการขาย

วิธีบัญชีสำหรับบันทึกรายการสินค้าคงเหลือ

แบบต่อเนื่อง – ปรับยอดคงเหลือของบัญชีสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยจะปรับยอดโดยตรงไปยังบัญชีสินค้าคงเหลือทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงยอดคงเหลือของสินค้า เช่น

  • เมื่อซื้อสินค้าคงเหลือจากผู้ขายสินค้า กิจการจะบันทึกเพิ่มยอดบัญชีสินค้าคงเหลือ
  • เมื่อขายสินค้าคงเหลือให้กับลูกค้า กิจการจะบันทึกลดยอดบัญชีสินค้าคงเหลือ

เมื่อกิจการขายสินค้าคงเหลือให้กับลูกค้า นอกจากจะต้องปรับยอดบัญชีสินค้าคงเหลือแล้ว กิจการจะมีการคำนวณและบันทึกต้นทุนขายทุกครั้งที่ขาย

แบบเมื่อสิ้นงวด – ปรับยอดสินค้าคงเหลือเมื่อสิ้นงวดเพียงครั้งเดียว หากมีการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงเหลือในระหว่างงวด จะมีการตั้งบัญชีใหม่ขึ้นมาชั่วคราวเพื่อเก็บข้อมูล

เมื่อกิจการขายสินค้าคงเหลือให้กับลูกค้า กิจการจะบันทึกเฉพาะในส่วนของรายได้จากการขายและเงินสดที่ได้รับจากลูกหนี้การค้าที่เกิดขึ้นเท่านั้น จะไม่มีการบันทึกต้นทุนขายในขณะที่ขายสินค้า แต่จะบันทึกเพียงครั้งเดียวเมื่อสิ้นงวด

กิจการต้องคำนวณต้นทุนขายเมื่อนับสินค้าคงเหลือเรียบร้อยแล้วตามวิธีสินค้าคงเหลือแบบเมื่อสิ้นงวด

วิธีคำนวณต้นทุนสินค้าคงเหลือ

  • สินค้ามีลักษณะไม่แตกต่างกัน สามารถสลับสับเปลี่ยนทดแทนกันได้
    • วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน (FIFO): ต้นทุนขายสินค้าจะคำนวณจากราคาสินค้าคงเหลือที่ซื้อมาหรือผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งต่อ ๆ ไปตามลำดับ
    • วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก: ต้นทุนสินค้าคงเหลือของแต่ละรายการจะกำหนดการถัวเฉลี่ยต้นทุนสินค้าที่คล้ายคลึงกัน ณ วันต้นงวดกับต้นทุนสินค้าที่คล้ายคลึงกันที่ซื้อมาหรือผลิตในระหว่างงวด
  • สินค้ามีลักษณะแตกต่างกัน ไม่สามารถสลับสับเปลี่ยนทดแทนกันได้หรือทำขึ้นเฉพาะเจาะจง
    • วิธีราคาเจาะจง: กิจการต้องระบุเฉพาะเจาะจงว่าหน่วยใดขายออกไปให้กับลูกค้าแล้ว และหน่วยใดยังคงเหลืออยู่ปลายงวด

มาตรฐานการรายงานของประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำวิธีเข้าหลัง-ออกก่อน (LIFO) มาใช้ 

ผลกระทบของการใช้วิธีคำนวณต้นทุนสินค้าคงเหลือที่แตกต่างกันที่มีต่อการวิเคราะห์งบการเงินและอัตราส่วนทางการเงิน

ในกรณีที่ราคาทุนของสินค้าคงเหลือปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนขายตามวิธีเข้าก่อนออกก่อนจะเป็นวิธีที่มีต้นทุนขายต่ำที่สุดและมีกำไรต่องวดสูงที่สุด ส่วนวิธีเข้าหลัง-ออกก่อนจะเป็นวิธีที่มีต้นทุนขายสูงที่สุดและมีกำไรต่องวดต่ำที่สุด

วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักและวิธีราคาเจาะจงให้ผลลัพธ์กึ่งกลางระหว่างวิธีเข้าก่อน-ออกก่อนและวิธีเข้าหลัง-ออกก่อน

การนำเสนอและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ

  1. สินค้าคงเหลือต้องวัดมูลค่าด้วยราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับแล้วแต่มูลค่าจะต่ำกว่ากัน
  • มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ – ราคาโดยประมาณที่คาดว่าจะขายได้ตามลักษณะการประกอบธุรกิจปกติและหักด้วยประมาณการต้นทุนในการผลิตสินค้านั้นให้แล้วเสร็จ + ต้นทุนที่จำเป็นต้องจ่ายไปเพื่อให้ขายสินค้านั้นได้
  1. การเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงเหลือ
  • นโยบายการบัญชีที่ใช้ในการวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือ รวมถึงวิธีที่ใช้คำนวณต้นทุน
  • มูลค่าตามบัญชีรวมของสินค้าคงเหลือและมูลค่าตามบัญชีของสินค้าคงเหลือแต่ละประเภทจำแนกตามความเหมาะสมของแต่ละกิจการ
  • มูลค่าตามบัญชีของสินค้าคงเหลือที่แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย
  • มูลค่าของสินค้าคงเหลือที่รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในระหว่างงวดบัญชีนั้น
  • มูลค่าของสินค้าคงเหลือที่ปรับลดลงที่รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในงวดบัญชีนั้น
  • มูลค่าการกลับรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือ
  • สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้มีการกลับรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือ
  • มูลค่าตามบัญชีของสินค้าคงเหลือที่ใช้เป็นหลักประกันหนี้สิน

ประเด็นการวิเคราะห์สินค้าคงเหลือ

  1. วิธีการคำนวณราคาทุนของสินค้ามีผลกระทบต่อกำไรสุทธิและมูลค่าสินค้าคงเหลือในงบแสดงฐานะการเงิน
  2. มูลค่าสินค้าคงเหลือที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงินอาจได้รับผลกระทบด้วยสถานการณ์ดังต่อไปนี้
  • ความเสี่ยงที่สินค้าจะขายไม่ได้และอาจทำให้เกิดภาระขาดทุนจากสินค้าที่ล้าสมัยในอนาคต
  • ความเสี่ยงในการสูญหายของสินค้าส่งผลให้มูลค่าที่แสดงไว้ในงบการเงินและสินค้าที่มีอยู่จริงไม่ต่างกัน
  • ความเสี่ยงที่สินค้าแสดงมูลค่าไว้สูงเกินไป ทำให้มูลค่าดังกล่าวไม่ได้สะท้อนเนื้อหาทางเศรษฐกิจที่แท้จริงและอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด
  • หากเป็นกิจการที่มีกำไรน้อย อัตราการหมุนเวียนของสินค้าควรสูง หากกิจการมีอัตราส่วนดังกล่าวต่ำ ควรใช้กลยุทธ์เพื่อกระตุ้นยอดขาย

บทที่ 8 สินทรัพย์ทางการเงิน

เครื่องมือทางการเงิน หมายถึง เอกสาร ตราสารหรือสัญญาที่จัดทำขึ้นและส่งผลให้สินทรัพย์ทางการเงินของกิจการ ก และหนี้สินทางการเงินของกิจการ ข เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างเครื่องมือทางการเงิน เช่น หุ้นกู้ หุ้นสามัญและหุ้นบุริมสุทธิ สัญญาเงินกู้ เป็นต้น

สินทรัพย์ทางการเงิน: เงินสด ตราสารทุนของกิจการอื่น สิทธิตามสัญญาที่จะรับเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่นจากกิจการอื่น หรือที่จะแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ทางการเงินหรือหนี้สินทางการเงินกับกิจการอื่นภายใต้เงื่อนไขที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการ เช่น ลูกหนี้การค้า หุ้นกู้ของกิจการอื่น เป็นต้น

การจัดประเภทรายการของสินทรัพย์ทางการเงิน

การจัดประเภทรายการประเภทของเครื่องมือทางการเงินการวัดมูลค่าเริ่มแรกการวัดมูลค่าภายหลังผลกำไร/ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น
สินทรัพย์ทางการเงินวัดมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVPL)ตราสารหนี้ ตราสารทุนและตราสารอนุพันธ์มูลค่ายุติธรรมมูลค่ายุติธรรมกำไรหรือขาดทุน
สินทรัพย์ทางการเงินวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (FVOCI)ตราสารหนี้และตราสารทุนมูลค่ายุติธรรม + ต้นทุนการทำรายการมูลค่ายุติธรรมกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น
สินทรัพย์ทางการเงินวัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่ายตราสารหนี้มูลค่ายุติธรรม +/- ต้นทุนการทำรายการอื่นราคาทุนตัดจำหน่าย

 

สินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงินต้องหักกลบกันและแสดงจำนวนสุทธิในงบแสดงฐานะการเงินก็ต่อเมื่อ

  1. กิจการมีสิทธิบังคับใช้ตามกฎหมายอยู่แล้วในการหักกลบจำนวนเงินที่รับรู้จากสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงินและ
  2. กิจการตั้งใจที่จะชำระด้วยจำนวนเงินสุทธิหรือตั้งใจที่จะรับสินทรัพย์และชำระหนี้สินพร้อมกัน

การด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน

การด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน – เฉพาะสินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่ายและที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (FVOCI) เท่านั้น

กิจการต้องรับรู้ผลขาดทุนที่เกิดจากการด้อยค่าตามวิธีผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นด้วยการคาดการณ์ไปข้างหน้า

สินทรัพย์ทางการเงินจะเกิดการด้อยค่าด้านเครดิตเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตของสินทรัพย์ทางการเงิน โดยมีหลักฐานอันเที่ยงธรรมที่แสดงว่าสินทรัพย์ทางการเงินมีการด้อยค่าด้านเครดิต เช่น

  • การประสบปัญหาทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญของผู้ออกตราสารหรือหุ้นกู้
  • การไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่น การปฏิบัติผิดสัญญาหรือการค้างชำระหนี้
  • การซื้อหรือได้มาซึ่งสินทรัพย์ทางการเงินด้วยจำนวนที่มีส่วนลดจำนวนมาก อันสะท้อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่อาจเกิดขึ้น

หากกิจการไม่สามารถระบุว่าสินทรัพย์ทางการเงินมีการด้อยค่าด้านเครดิตจากเหตุการณ์เดียว แต่อาจเกิดจากหลาย ๆ เหตุการณ์รวมกัน กิจการต้องมีการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามวิธีขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยครอบคลุมถึง

  • ตราสารหนี้ที่วัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย เช่น เงินให้กู้ยืม ตราสารหนี้ เงินฝาก เป็นต้น
  • ตราสารหนี้ที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (FVOCI)
  • ลูกหนี้ตามสัญญาเช่า (ตามมาตรฐานการบัญชี เรื่อง สัญญาเช่า)
  • สินทรัพย์ทางการเงินภายใต้มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า
  • ภาระผูกพันในการให้กู้ยืมที่ไม่ได้วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน
  • สัญญาค้ำประกันทางการเงิน (ยกเว้นรายการที่เป็นสัญญาประกันภัย)

การรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินส่งผลให้กำไรสำหรับปีของกิจการลดลง ทำให้อัตราส่วนทางการเงินที่สะท้อน 

  • ความสามารถในการทำกำไรลดลง
  • ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์เพิ่มขึ้น

การตัดรายการของสินทรัพย์ทางการเงิน

การตัดรายการของสินทรัพย์ทางการเงิน – กิจการต้องตัดรายการสินทรัพย์ทางการเงินเมื่อสิทธิตามสัญญาที่จะได้รับกระแสเงินสดจากสินทรัพย์ทางการเงินหมดอายุแล้ว

นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว กิจการต้องตัดรายการสินทรัพย์ทางการเงินเมื่อกิจการได้โอนสินทรัพย์ทางการเงินแล้ว และต้องเป็นการโอนที่เข้าเงื่อนไขการตัดรายการ

หากกิจการยังไม่ได้โอนสิทธิตามสัญญาที่จะได้รับกระแสเงินสดจากสินทรัพย์ทางการเงิน แต่กิจการมีภาระผูกพันตามสัญญาที่จะต้องจ่ายกระแสเงินสดนั้นให้กับกิจการอื่นที่เป็น “ผู้รับคนสุดท้าย” ก็จะถือมีการโอนสินทรัพย์ทางการเงิน

การโอนสินทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไขการตัดรายการต้องการเป็นโอนที่กิจการได้โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนของความเป็นเจ้าของเกือบทั้งหมดของสินทรัพย์ทางการเงินแล้ว (เช่น กิจการขายสินทรัพย์ทางการเงินโดยมีสิทธิเลือกที่จะซื้อคืนด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ซื้อคืน)

ในการตัดรายการสินทรัพย์ทางการเงินทั้งจำนวน กิจการต้องรับรู้ผลต่างระหว่างมูลค่าตามบัญชี (วัดมูลค่า ณ วันที่ตัดรายการ) และสิ่งตอบแทนที่ได้รับ (รวมถึงสินทรัพย์ใหม่ใด ๆ ที่ได้มาหักด้วยหนี้สินใหม่ใด ๆ ที่รับมา) ในกำไรขาดทุน

การตัดรายการของสินทรัพย์ทางการเงินทำให้อัตราส่วนทางการเงินเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรลดลง

การบัญชีสำหรับอนุพันธ์ทางการเงินและการป้องกันความเสี่ยง

อนุพันธ์ หมายถึง เครื่องมือทางการเงินหรือสัญญาอื่นที่มีลักษณะทั้งสามข้อดังนี้

  1. มูลค่าของเครื่องมือทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของตัวแปร (รายการอ้างอิง) ที่ระบุไว้ เช่น อัตราดอกเบี้ย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ดัชนีราคา ฯลฯ โดยมีเงื่อนไขว่ากรณีที่ตัวแปรไม่ใช่ตัวแปรทางการเงิน ตัวแปรนั้นต้องไม่ใช่ตัวแปรที่เฉพาะเจาะจงกับคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
  2. ไม่มีการจ่ายเงินลงทุนสุทธิเมื่อเริ่มแรกหรือจ่ายด้วยจำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัญญาประเภทอื่น ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าในลักษณะเดียวกันต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยตลาด และ
  3. การรับหรือจ่ายชำระจะกระทำในอนาคต

หากอนุพันธ์ไม่เข้าเงื่อนไขของการบัญชีป้องกันความเสี่ยง (ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงินหรือหนี้สินทางการเงิน) อนุพันธ์นั้นต้องวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (FVPL)

หากอนุพันธ์เข้าเงื่อนไขของการบัญชีป้องกันความเสี่ยง อนุพันธ์นั้นยังต้องวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรม แต่จะรับรู้ผลกำไรหรือขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของอนุพันธ์

  • ในกำไรหรือขาดทุน หรือ
  • เป็นรายการกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น

ขึ้นอยู่กับประเภทการป้องกันความเสี่ยง

การบัญชีป้องกันความเสี่ยง

  1. การป้องกันความเสี่ยงมูลค่ายุติธรรม
  2. การป้องกันความเสี่ยงกระแสเงินสด
  3. การป้องกันความเสี่ยงของเงินลงทุนสุทธิในหน่วยงานต่างประเทศ

การป้องกันความเสี่ยงที่เข้าเงื่อนไขการป้องกันความเสี่ยงต้องมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่เริ่มทำรายการการป้องกันความเสี่ยง โดยต้องระบุอย่างชัดเจนถึงเรื่อง

  • วัตถุประสงค์ในการบริหารความเสี่ยง
  • กลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยง
  • ลักษณะของความเสี่ยงที่มีการป้องกัน
  • รายการที่มีการป้องกันความเสี่ยง
  • เครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยง
  • การประเมินความมีประสิทธิผลของการป้องกันความเสี่ยง
  • การวัดมูลค่าของความไม่มีประสิทธิภาพของการป้องกันความเสี่ยง

อนุพันธ์ทางการเงินต้องวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมและกิจการต้องรับรู้ผลกำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของอนุพันธ์ในกำไรหรือขาดทุน – กำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

หากบริษัทใช้อนุพันธ์เพื่อการป้องกันความเสี่ยงและดำเนินการตามเงื่อนไขของการบัญชีการป้องกันความเสี่ยง ผลกำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของอนุพันธ์จะรับรู้ในรอบระยะเวลารายงานเดียวกับผลกำไรหรือขาดทุนจากรายการที่ป้องกันความเสี่ยง – ลดความผันผวนจากตัวเลขกำไรของบริษัท

การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ทางการเงิน

การเปิดเผยเกี่ยวกับสินทรัพย์ทางการเงิน

งบแสดงฐานะการเงิน

  • มูลค่าตามบัญชีรวมของสินทรัพย์ทางการเงินในแต่ละประเภทในงบแสดงฐานะการเงินหรือหมายเหตุประกอบงบการเงิน
  • ข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมของเงินให้กู้ยืมและลูกหนี้
  • สินทรัพย์ทางการเงินที่จัดประเภทรายการใหม่
  • สินทรัพย์ทางการเงินที่ไม่เข้าเงื่อนไขของการตัดรายการ
  • รายละเอียดของสินทรัพย์ทางการเงินที่ใช้เป็นหลักประกัน
  • การกระทบยอดของบัญชีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต
  • เครื่องมือทางการเงินที่มีอนุพันธ์แฝง

งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ

  • ผลกำไรหรือผลขาดทุนสำหรับสินทรัพย์ทางการเงินแต่ละประเภทในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จหรือหมายเหตุประกอบงบการเงิน
  • รายได้ดอกเบี้ยรวมตามวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง
  • รายได้ค่าธรรมเนียม
  • ดอกเบี้ยจากสินทรัพย์ทางการเงินที่มีการด้อยค่า
  • จำนวนเงินของผลขาดทุนจากการด้อยค่าสำหรับแต่ละสินทรัพย์ทางการเงิน

การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและการป้องกันความเสี่ยง – เปิดเผยเกี่ยวกับลักษณะและระดับของความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือทางการเงินทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

บทที่ 9 สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่อาจจัดประเภทเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนได้ เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เป็นต้น

ประเภทของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ หมายถึง สินทรัพย์ที่มีตัวตนซึ่งเข้าเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้

  • มีไว้เพื่อประโยชน์ในการผลิต ในการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ หรือให้บริการเพื่อเช่า หรือเพื่อใช้ในการบริหารงาน และ
  • คาดว่าจะใช้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลา

การวัดมูลค่าและการบันทึกรายการเกี่ยวกับที่ดิน อาคารและอุปกรณ์

กิจการต้องรับรู้ต้นทุนของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เป็นสินทรัพย์ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้

  • มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากรายการนั้น และ
  • กิจการสามารถวัดมูลค่าต้นทุนของรายการนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ

กิจการต้องวัดมูลค่าของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์โดยใช้ราคาทุนอันประกอบด้วย

  • ราคาซื้อ (ไม่รวมภาษีที่สามารถขอคืนได้)
  • ต้นทุนทางตรงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสินทรัพย์เพื่อให้สินทรัพย์นั้นอยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมใช้งานตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร
  • ต้นทุนที่ประมาณในเบื้องต้นสำหรับการรื้อ การขนย้ายและการบูรณะสถานที่ตั้งของสินทรัพย์

ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์จะนำเสนอในงบแสดงฐานะการเงินเป็นส่วนหนึ่งของรายการสินทรัพย์หมุนเวียนด้วยมูลค่าตามบัญชี (คำนวณด้วยราคาทุนหรือมูลค่าที่ตีใหม่) หักค่าเสื่อมราคาสะสมและค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม (ถ้ามี)

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน อาคารและอุปกรณ์จะประกอบด้วยค่าเสื่อมราคาที่รับรู้เมื่อกิจการได้รับประโยชน์จากการใช้งานสินทรัพย์นั้น (ที่ดินไม่มีการตัดค่าเสื่อมราคา) และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่จะรับรู้เมื่อมูลค่าตามบัญชีสูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน

ในการรับรู้รายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ กิจการจะต้องพิจารณาประเภทของรายจ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบ่งออกเป็น

  • รายจ่ายฝ่ายทุน – รายจ่ายสำหรับการซื้อหรือก่อสร้างสินทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไขการรับรู้เป็นสินทรัพย์ประเภทที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ รายจ่ายฝ่ายทุนจะตั้งเป็นสินทรัพย์ในงวดที่มีรายจ่ายเกิดขึ้น
  • รายจ่ายฝ่ายรายได้ – รายจ่ายสำหรับการซ่อมแซมและการบำรุงรักษาสินทรัพย์ประเภทที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เพื่อให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ตามปกติ รายจ่ายฝ่ายทุนจะตั้งเป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่มีรายจ่ายเกิดขึ้น

การตั้งต้นทุนการกู้ยืมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์

กิจการต้องรวมต้นทุนการกู้ยืมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มา การก่อสร้างหรือการผลิตสินทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไข เป็นส่วนหนึ่งของราคาทุนของสินทรัพย์นั้นและกิจการต้องรับรู้ต้นทุนการกู้ยืมอื่นเป็นค่าใช้จ่ายในงวดบัญชีที่ต้นทุนนั้นเกิดขึ้น

การคิดค่าเสื่อมราคา

ค่าเสื่อมราคา – การปันส่วนราคาทุนของสินทรัพย์หรือมูลค่าอื่นที่แทนราคาทุนหักด้วยมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์อย่างมีระบบตลอดอายุการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์นั้น

กิจการต้องรับรู้ค่าเสื่อมราคาเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละงวดในกำไรหรือขาดทุน ยกเว้นกรณีที่นำค่าเสื่อมราคาไปรวมเป็นมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์อื่น

กิจการต้องคิดค่าเสื่อมราคาสำหรับส่วนของรายการอาคารและอุปกรณ์ แต่ละส่วนแยกต่างหากจากกัน เมื่อส่วนประกอบแต่ละส่วนมีต้นทุนที่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของสินทรัพย์

กิจการไม่บันทึกค่าเสื่อมราคาของที่ดิน เพราะที่ดินมีอายุการให้ประโยชน์ไม่จำกัด

ปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณค่าเสื่อมราคา

  1. ราคาทุนของสินทรัพย์ – จำนวนเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดที่กิจการจ่ายไปหรือมูลค่ายุติธรรมของสิ่งตอบแทนที่กิจการมอบให้เพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์ ณ เวลาที่ได้สินทรัพย์นั้นมา หรือ ณ เวลาที่ก่อสร้างสินทรัพย์นั้นหรือในกรณีที่เกี่ยวข้อง
  2. มูลค่าคงเหลือ – จำนวนเงินโดยประมาณที่กิจการคาดว่าจะได้รับในปัจจุบันจากการจำหน่ายสินทรัพย์ ภายหลังจากหักต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการจำหน่ายสินทรัพย์นั้น
  3. จำนวนที่คิดค่าเสื่อมราคา – ราคาทุนของสินทรัพย์หรือมูลค่าอื่นที่แทนราคาทุนหักด้วยมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์
  4. อายุการให้ประโยชน์: 4.1 หรือ 4.2

4.1 ระยะเวลาที่กิจการคาดว่าจะมีสินทรัพย์ไว้เพื่อใช้

4.2 จำนวนผลผลิตหรือจำนวนหน่วยในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับจากสินทรัพย์

วิธีการคิดเสื่อมราคา

  • วิธีเส้นตรง: ค่าเสื่อมราคามีจำนวนเท่ากันทุกปี
  • วิธียอดคงเหลือลดลง: ค่าเสื่อมราคามีจำนวนมากในปีแรก ๆ และมีจำนวนลดน้อยลงในปีหลัง ๆ
  • วิธีผลรวมจำนวนปี: ประโยชน์ที่ได้จากการใช้สินทรัพย์จะเป็นส่วนกลับกับลำดับปีที่ใช้งาน
  • วิธีจำนวนผลผลิต: ค่าเสื่อมราคาแต่ละปีแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้งานสินทรัพย์

การตัดรายการสินทรัพย์

กิจการต้องตัดรายการมูลค่าตามบัญชีของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ออกจากบัญชีเมื่อ

  • กิจการจำหน่ายสินทรัพย์ หรือ
  • กิจการคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากการใช้สินทรัพย์หรือการจำหน่ายสินทรัพย์

กิจการต้องรับรู้กำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการตัดรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ในกำไรหรือขาดทุนเมื่อมีการตัดรายการสินทรัพย์นั้นออกจากบัญชี โดยกิจการต้องไม่จัดประเภทผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการตัดรายการเป็นรายได้หลัก

การตีราคาสินทรัพย์ใหม่

  • ราคาทุน – แสดงรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ด้วยราคาทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสมและผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมของสินทรัพย์
  • ตีราคาใหม่ – แสดงราคาที่ตีใหม่ (มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่มีการตีราคาใหม่หักค่าเสื่อมราคาสะสมและผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมของสินทรัพย์ในภายหลัง)

การด้อยค่าของสินทรัพย์

หากกิจการพบว่ามีข้อบ่งชี้การด้อยค่าของสินทรัพย์ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน กิจการต้องประมาณมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์นั้น

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้ และไม่มีลักษณะทางกายภาพ

คุณสมบัติของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน

  • ต้องสามารถระบุได้
  • ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการ
  • ต้องก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต
  • ต้องวัดมูลค่าต้นทุนอย่างได้น่าเชื่อถือ

สินทรัพย์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่สามารถระบุได้ เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ สัมปทาน เป็นต้น
  • สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ไม่สามารถระบุได้ เช่น ค่าความนิยม

กิจการวัดมูลค่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเมื่อเริ่มแรกด้วยราคาทุน และภายหลังด้วยราคาทุนหรือมูลค่าที่ตีใหม่

การตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตน

  • อายุการให้ประโยชน์ทราบได้แน่นอน – กิจการต้องปันส่วนจำนวนที่คิดค่าตัดจำหน่ายของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการใช้ประโยชน์ทราบได้แน่นอนอย่างเป็นระบบ ตลอดอายุการประโยชน์ของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
  • อายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบได้แน่นอน – กิจการต้องไม่ตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบได้แน่นอน แต่จะต้องวัดการด้อยค่าของสินทรัพย์เป็นประจำทุกปีและเมื่อมีข้อบ่งชี้การด้อยค่าสินทรัพย์

ปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณค่าตัดจำหน่าย

  1. ราคาทุนของสินทรัพย์ – จำนวนเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดที่กิจการจ่ายไปหรือมูลค่ายุติธรรมของสิ่งตอบแทนที่กิจการมอบให้เพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ณ เวลาที่ได้สินทรัพย์นั้นมา หรือ ณ เวลาที่ก่อสร้างสินทรัพย์นั้นหรือในกรณีที่เกี่ยวข้อง
  2. มูลค่าคงเหลือ – ประมาณการจำนวนเงินที่กิจการคาดว่าจะได้รับในปัจจุบันจากการจำหน่ายสินทรัพย์ ภายหลังจากหักประมาณการต้นทุนจากการจำหน่าย หากสินทรัพย์มีอายุการใช้ประโยชน์และอยู่ในสภาพที่คาดว่าจะเป็น ณ วันสิ้นอายุการใช้ประโยชน์
  3. จำนวนที่คิดค่าตัดจำหน่าย – ราคาทุนของสินทรัพย์หรือมูลค่าอื่นที่แทนราคาทุนหักด้วยมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์
  4. อายุการให้ประโยชน์: 4.1 หรือ 4.2

4.1 ระยะเวลาที่กิจการคาดว่าจะมีสินทรัพย์ไว้เพื่อใช้

4.2 จำนวนผลผลิตหรือจำนวนหน่วยในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับจากสินทรัพย์

การเลิกใช้สินทรัพย์ไม่มีตัวตน

กิจการต้องเลิกรับรู้สินทรัพย์ไม่มีตัวตนเมื่อ

  • กิจการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
  • กิจการคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากการนำสินทรัพย์นั้นมาใช้ประโยชน์หรือจำหน่าย

กิจการต้องรับรู้ผลต่างระหว่างจำนวนเงินสุทธิที่จะได้รับจากการจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (ถ้ามี) และมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้นเป็นผลกำไรหรือขาดทุนจากการตัดรายการสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในกำไรหรือขาดทุน 

เมื่อเลิกรับรู้สินทรัพย์ไม่มีตัวตน กิจการต้องไม่จัดประเภทผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการตัดรายการเป็นรายได้หลัก

ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สินทรัพย์ที่มีตัวตนระยะยาวที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติที่กิจการมีไว้เพื่อใช้ในการดำเนินงานหรือการผลิตสินค้า ที่ใช้แล้วเสื่อมสิ้นหมดไป ไม่สามารถทดแทนได้หรือทดแทนได้ในระยะเวลาที่ยาวนานมาก

การวัดมูลค่าเมื่อรับรู้รายการ

สินทรัพย์ที่เกิดจากการสำรวจและการประเมินค่าต้องวัดมูลค่าโดยใช้ราคาทุน

การวัดมูลค่าภายหลัง

ราคาทุนหรือการตีราคาใหม่

การตัดค่าเสื่อมสิ้น

การตัดค่าเสื่อมสิ้น หมายถึง วิธีการบัญชีที่ใช้ในการปันส่วนต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติเป็นค่าใช้จ่ายตามอัตราส่วนหรือมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติส่วนที่ถือว่าเป็นรายได้ในแต่ละงวด

โดยปกติแล้ว กิจการมักจะใช้วิธีจำนวนหน่วยผลิตในการคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทรัพยากรธรรมชาติ

สินทรัพย์ชีวภาพ หมายถึง สัตว์หรือพืชที่มีชีวิต โดยแบ่งออกเป็น

  • สินทรัพย์ชีวภาพเพื่อการอุปโภคบริโภค
  • สินทรัพย์ชีวภาพเพื่อการให้ผลิตผล

การรับรู้สินทรัพย์ชีวภาพ

กิจการต้องรับรู้สินทรัพย์ชีวภาพเมื่อมีคุณสมบัติต่อไปนี้ครบทุกข้อ

  • กิจการควบคุมสินทรัพย์นั้นซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ในอดีต
  • มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากสินทรัพย์นั้น
  • มูลค่ายุติธรรมหรือต้นทุนของสินทรัพย์นั้นสามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ

การวัดมูลค่าสินทรัพย์ชีวภาพ

  • สินทรัพย์ชีวภาพ (ยกเว้นพืชเพื่อการให้ผลิตผล) ต้องวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขายเมื่อรับรู้รายการเริ่มแรก และ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน
  • ถ้าไม่สามารถวัดมูลค่ายุติธรรมได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการต้องวัดมูลค่าด้วยราคาทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสมและผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสม
  • ถ้าสินทรัพย์ชีวภาพประเภทไม่หมุนเวียนเข้าเงื่อนไขการจัดประเภทเป็นถือไว้เพื่อขาย จะถือว่ามูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพนั้นสามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือทันที

บทที่ 10 หนี้สินทางการเงินและสัญญาเช่า

หนี้สินทางการเงิน หมายถึง

  1. ภาระผูกพันตามสัญญา
  • ที่จะส่งมอบเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินให้แก่กิจการอื่น หรือ
  • ที่จะแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ทางการเงินหรือหนี้สินทางการเงินกับกิจการอื่น ภายใต้เงื่อนไขที่น่าจะทำให้กิจการเสียประโยชน์ หรือ
  1. สัญญาที่จะหรืออาจจะชำระสัญญาด้วยตราสารทุนของกิจการและเป็น
  • รายการที่ไม่ใช่อนุพันธ์ ซึ่งกิจการมีหรืออาจจะมีภาระผูกพันในการส่งมอบตราสารทุนของกิจการในจำนวนที่ผันแปร หรือ
  • รายการที่เป็นอนุพันธ์ที่จะหรืออาจจะชำระสัญญาเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่นกับตราสารทุนของกิจการในจำนวนคงที่

ประเภทของหนี้สินทางการเงิน

  • หนี้สินทางการเงินวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVPL)
  • หนี้สินทางการเงินวัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย

หนี้สินทางการเงินจากอนุพันธ์ต้องวัดมูลค่าด้วย FVPL เท่านั้น ยกเว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขของการบัญชีป้องกันความเสี่ยง

การวัดมูลค่าและการรับรู้รายการเมื่อเริ่มแรก

  • หนี้สินทางการเงินวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVPL) – วัดมูลค่าเริ่มแรกด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ วันรับรู้รายการเท่านั้น ส่วนต้นทุนการทำรายการให้รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทันทีในกำไรหรือขาดทุน 
  • หนี้สินทางการเงินวัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย – วัดมูลค่าเริ่มแรกด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ วันรับรู้รายการ บวกหรือหักด้วยต้นทุนการทำรายการที่เกี่ยวข้องโดยตรง

การวัดมูลค่าภายหลัง

หนี้สินทางการเงินวัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่ายต้องมีการรับรู้ในกำไรหรือขาดทุนด้วยวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง ไม่ใช่รับรู้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยตามสัญญา

หากกิจการเลือกวัดมูลค่าหนี้สินทางการเงินด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน หนี้สินทางการเงินนั้นต้องวัดมูลค่าและแสดงในงบแสดงฐานะการเงินด้วยมูลค่ายุติธรรม

หากมูลค่ายุติธรรมของหนี้สินทางการเงิน

  • เพิ่มขึ้น – กิจการต้องรับรู้ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นในกำไรหรือขาดทุน
  • ลดลง – กิจการต้องรับรู้ผลกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นในกำไรหรือขาดทุน

การตัดรายการหนี้สินทางการเงินและการเปลี่ยนแปลงกระแสเงินสดตามสัญญา

  1. รายการหนี้สินทางการเงินสิ้นสุดลง

กิจการต้องตัดรายการหนี้สินทางการเงิน (ทั้งหมดหรือบางส่วน) ออกจากงบแสดงฐานะการเงินเมื่อรายการหนี้สินทางการเงินนั้นสิ้นสุดลงหรือเมื่อ

  • กิจการได้จ่ายชำระหนี้สินทางการเงินทั้งหมดหรือบางส่วนของหนี้สินคืนให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งโดยปกติเป็นการจ่ายชำระด้วยเงินสด สินทรัพย์ทางการเงินอื่น รวมถึงเป็นสินค้าหรือบริการ หรือ
  • กิจการหลุดพ้นจากความรับผิดชอบตามกฎหมายสำหรับรายการหนี้สินทางการเงิน (ทั้งหมดหรือบางส่วน) โดยกระบวนการทางกฎหมายหรือโดยเจ้าหนี้
  1. การแลกเปลี่ยนตราสารหนี้ที่มีความแตกต่างในข้อตกลง

กิจการต้องบันทึกบัญชีของรายการดังกล่าวเป็นรายการสิ้นสุดลงของรายการหนี้สินทางการเงินรายการเดิม และต้องบันทึกบัญชีเพื่อรับรู้รายการหนี้สินทางการเงินใหม่

  1. การรับรู้ผลแตกต่างระหว่างมูลค่าตามบัญชี

กิจการต้องรับรู้ผลแตกต่างระหว่างมูลค่าตามบัญชีของหนี้สินทางการเงินหรือบางส่วนของรายการหนี้สินทางการเงินที่สิ้นสุดลง ที่ได้โอนให้แก่บุคคลอื่นและสิ่งตอบแทนที่จ่ายซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสดที่มีการโอนไปหรือหนี้สินที่รับ โดยให้รับรู้ในกำไรหรือขาดทุน

ในการหักกลบสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินระหว่างกันและแสดงจำนวนสุทธิในงบแสดงฐานะการเงิน

กิจการต้องบรรลุเงื่อนไขครบทุกข้อดังนี้

  1. กิจการมีสิทธิตามกฎหมายในการหักกลบลบหนี้ได้
  2. กิจการมีความตั้งใจที่จะรับชำระหรือจ่ายชำระด้วยยอดสุทธิ หรือตั้งใจที่จะรับประโยชน์จากสินทรัพย์และชำระหนี้สินพร้อมกัน

เงื่อนไขของสิทธิตามกฎหมายในการหักกลับหนี้ประกอบด้วย 2 เงื่อนไข

  1. ต้องไม่ใช่สิทธิที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  2. ต้องเป็นสิทธิตามกฎหมายซึ่งเข้าเงื่อนไขทุกข้อดังนี้

2.1 การดำเนินธุรกิจตามปกติ

2.2 การไม่ชำระเงินตามสัญญา

2.3 การผิดนัดชำระหนี้หรือการล้มละลายของกิจการและคู่สัญญาทุกราย

ผลกระทบของการวัดมูลค่าและรับรู้รายการหนี้สินทางการเงินที่มีต่อการวิเคราะห์งบการเงินและอัตราส่วนทางการเงิน

หากกิจการวัดมูลค่าหนี้สินทางการเงินด้วย

  • ราคาทุนตัดจำหน่าย – กิจการรับรู้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (ซึ่งอาจแตกต่างจากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา) ผลกระทบต่อตัวเลขกำไรของกิจการมีเพียงค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งไม่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของกิจการ
  • มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน – ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อมูลค่ายุติธรรมของหนี้สินทางการเงินในงบแสดงฐานะการเงิน ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของกิจการ

หนี้สินทางการเงินจากหุ้นกู้อนุพันธ์

หุ้นกู้อนุพันธ์ประกอบด้วยหุ้นกู้พื้นฐานและอนุพันธ์แฝง ซึ่งมักจะจ่ายผลตอบแทนหรือชำระเงินต้นทั้งหมดบางส่วน โดยอ้างอิงกับตัวแปรที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่น ราคาหลักทรัพย์ ดัชนีหุ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น

หุ้นกู้พื้นฐาน

  • มักวัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย โดยไม่ต้องรับรู้ผลกำไรหรือขาดทุนที่ยังไม่เกินจริงจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของหุ้นกู้พื้นฐาน
  • เลือกวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรได้

อนุพันธ์แฝง

  • วัดมูลค่าอนุพันธ์แฝงด้วยมูลค่ายุติธรรมเพื่อแสดงรายการในงบแสดงฐานะการเงิน และรับรู้ผลกำไรหรือผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมแฝงไว้ในกำไรหรือขาดทุน

สัญญาเช่า

สัญญาเช่า หมายถึง สัญญาหรือส่วนหนึ่งของสัญญาที่ให้สิทธิในการใช้สินทรัพย์สำหรับช่วงเวลาที่ตกลงกันเพื่อการแลกเปลี่ยนกับสิ่งตอบแทน

สัญญาเช่าด้านผู้เช่า

ผู้เช่าต้องรับรู้สิทธิการใช้และหนี้สินจากสัญญาเช่า ณ วันเริ่มต้นของสัญญาเช่า หลังจากนั้นจะมีการรับรู้ค่าเสื่อมราคาหรือค่าตัดจำหน่ายจากสินทรัพย์สิทธิการใช้ และรับรู้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้บจากหนี้สินจากสัญญาเช่า โดยไม่มีการรับรู้ค่าเช่าหรือสิ่งตอบแทนที่ผู้เช่าจ่ายให้แก่ผู้ให้เช่าเป็นค่าใช้จ่าย

ผู้เช่าเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้น หาก

  • อายุสัญญาเช่าไม่เกิน 12 เดือน หรือ
  • สินทรัพย์ที่เช่ามีมูลค่าต่ำ

สัญญาเช่าด้านผู้ให้เช่า

ผู้ให้เช่าต้องจัดประเภทสัญญาที่เช่าบอกเลิกไม่ได้เป็นสัญญาเช่าดำเนินงานหรือสัญญาเช่าเงินทุน

หากสัญญาเช่าทำให้เกิดอย่างน้อยหนึ่งสถานการณ์ดังต่อไปนี้ สัญญาเช่านั้นถือว่าเป็นสัญญาเช่าที่บอกเลิกไม่ได้

  1. สัญญาเช่าโอนความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ที่เช่าให้แก่ผู้เช่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาเช่า
  2. ผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อสินทรัพย์ที่เช่าด้วยราคาที่ต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมอย่างมาก ณ วันที่สิทธิเลือกเกิดขึ้น โดยราคาตามสิทธิเลือกซื้อนั้นมีจำนวนต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์อย่างมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดความแน่นอนอย่างสมเหตุสมผล ณ วันเริ่มต้นของสัญญาเช่าว่าผู้เช่าจะใช้สิทธิเลือกซื้อสินทรัพย์นั้น
  3. ระยะเวลาของสัญญาเช่าครอบคลุมอายุการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสินทรัพย์ที่เช่า แม้ว่าจะไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์เกิดขึ้น
  4. ณ วันเริ่มต้นของสัญญาเช่า มูลค่าปัจจุบันของจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องจ่ายมีจำนวนเท่ากับหรือเกือบเท่ากับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่เช่า
  5. สินทรัพย์ที่เช่ามีลักษณะเฉพาะเจาะลงจนกระทั่งมีผู้เช่าเพียงรายเดียวที่สามารถใช้สินทรัพย์นั้นโดยไม่จำเป็นต้องนำสินทรัพย์ดังกล่าวมาทำการดัดแปลงที่สำคัญ

หากสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าที่บอกเลิกได้ แม้จะเกิดอย่างน้อยหนึ่งสถานการณ์จากข้อ 1 ถึง 5 ที่กล่าวข้างต้น สัญญาที่บอกเลิกได้จะถือว่าเป็นสัญญาเช่าดำเนินงาน

บทที่ 11 งบการเงินรวม

ความหมายของงบการเงินรวม

งบการเงินรวม หมายถึง งบการเงินของกลุ่มกิจการที่มีการนำเสนอสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ รายได้ ค่าใช้จ่าย และกระแสเงินสดของบริษัทใหญ่และบริษัทย่อยเสมือนว่าเป็นหน่วยงานทางเศรษฐกิจหน่วยงานเดียว

งบการเงินเฉพาะกิจการ หมายถึง งบการเงินที่นำเสนอโดยกิจการ ซึ่งกิจการสามารถเลือกบันทึกเงินลงทุนโดยบริษัทย่อย เงินลงทุนในการร่วมค้า และเงินลงทุนบริษัทร่วมตามข้อกำหนดของมาตรฐานการบัญชี

งบการเงินประจำงวดที่บริษัทใหญ่นำเสนอจะต้องมีทั้งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ โดยการจัดทำงบการเงินเฉพาะกิจการ กิจการต้องบันทึกบัญชีเงินลงทุนในบริษัทย่อย เงินลงทุนในบริษัทร่วมและเงินลงทุนในการร่วมค้า ตามวิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้

  • วิธีราคาทุน หรือ
  • วิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน หรือ
  • วิธีส่วนได้เสีย

ความสำคัญของงบการเงินรวม

  • ผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่และนักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนจะพิจารณาข้อมูลงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ
  • เจ้าหนี้ระยะยาวจะใช้ข้อมูลจากงบการเงินรวมในการประเมินความเสี่ยงและผลประกอบการของบริษัทใหญ่ เพื่อการตัดสินใจให้สินเชื่อทางการเงินแก่บริษัทใหญ่

ข้อยกเว้นในการจัดทำงบการเงินรวม

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน

บริษัทใหญ่ หมายถึง กิจการที่ควบคุมกิจการอื่นหนึ่งแห่งหรือมากกว่านั้นผ่านการเข้าซื้อหุ้นอีกกิจการหนึ่งมากกว่า 50% หรือมีอำนาจเหนือผู้ได้รับการลงทุน

บริษัทย่อย หมายถึง กิจการที่ถูกควบคุมโดยกิจการหนึ่ง

บริษัทใหญ่ที่มีเงินลงทุนในบริษัทย่อยไม่ต้องนำเสนองบการเงินรวม หากเป็นไปตาม 4 เงื่อนไขด้านล่าง

  1. บริษัทใหญ่มีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่กิจการอื่นควบคุมส่วนได้เสียทั้งหมดหรือบางส่วน โดยที่ผู้ถือหุ้นอื่นของบริษัทใหญ่ รวมทั้งผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสิทธิออกเสียงได้รับแจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งในสถานการณ์อื่นจะไม่มีสิทธิออกเสียง และไม่คัดค้านที่บริษัทใหญ่จะไม่นำเสนองบการเงินรวม
  2. ตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของบริษัทใหญ่ไม่มีการซื้อขายในตลาดสาธารณะ (ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ในหรือต่างประเทศหรือการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งตลาดในท้องถิ่นและในภูมิภาค
  3. บริษัทใหญ่ไม่ได้นำส่งหรืออยู่ในกระบวนการของการนำส่งงบการเงินของบริษัทให้แก่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือหน่วยงานกำกับดูแลอื่นเพื่อวัตถุประสงค์ในการออกขายหลักทรัพย์ใด ๆ ในตลาดสาธารณะ และ
  4. บริษัทใหญ่ในลำดับสูงสุดหรือบริษัทใหญ่ในลำดับระหว่างกลางจัดทำงบการเงินและเผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยได้รวมบริษัทย่อยไว้ในงบการเงินหรือวัดมูลค่าของบริษัทย่อยด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน

หลักการประเมินการควบคุมกิจการ

คำนิยาม ‘การควบคุม’ คือ

“ผู้ลงทุนควบคุมผู้ได้รับการลงทุนเมื่อผู้ลงทุนมีฐานะเปิดต่อหรือมีสิทธิในผลตอบแทนที่ผันแปรจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ได้รับการลงทุน และมีความสามารถที่จะทำให้เกิดผลตอบแทนดังกล่าวจากการมีอำนาจเหนือผู้ได้รับการลงทุน”

คำนิยามที่กล่าวข้างต้นสามารถแยกการควบคุมออกเป็น 3 องค์ประกอบสำคัญ

  1. อำนาจ
  2. ผลตอบแทนผันแปร
  3. ความเชื่อมโยงระหว่างอำนาจและผลตอบแทนผันแปร

การจัดทำงบการเงินรวม

การจัดทำงบการเงินรวม ณ วันซื้อหุ้น – มีเพียงแค่งบแสดงฐานะการเงินรวม เพราะทั้งบริษัทใหญ่และบริษัทย่อยพึ่งเริ่มมีการรวมกิจการกัน จึงยังไม่มีการดำเนินงานร่วมกัน

การจัดทำงบการเงินรวมหลังวันซื้อหุ้น – ทั้งบริษัทใหญ่และบริษัทย่อยต่างบันทึกบัญชีและจัดทำงบการเงินของตน แต่บริษัทใหญ่ต้องจัดทำงบการเงินรวมเพิ่มเติมจากงบการเงินเฉพาะกิจการ

งบการเงินรวมหลังวันซื้อหุ้นประกอบด้วย

  • งบกำไรขาดทุนรวม
  • งบแสดงฐานะการเงินรวม
  • งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของรวม
  • งบกระแสเงินสดรวม

การจัดทำงบการเงินรวมกรณีบริษัทในกลุ่มกิจการมีรายการระหว่างกัน – รายการระหว่างวันต้องตัดบัญชีออกไปเสมือนว่าภายในกลุ่มกิจการต้องไม่มีรายการระหว่างกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดทำงบการเงินรวม

การจัดทำงบการเงินรวมกรณีมีโครงสร้างการถือครองหุ้นที่ซับซ้อน – หากโครงสร้างการถือครองบริษัทในกลุ่มกิจการมีความซับซ้อน เช่น

  • ถือครองส่วนได้เสียทางตรง
  • ถือครองส่วนได้เสียทางอ้อม
  • ถือครองส่วนได้เสียระหว่างกัน

ความซับซ้อนในการจัดทำงบการเงินรวมจะเพิ่มขึ้นในประเด็นที่เกี่ยวกับการคำนวณการจัดสรรกำไรสุทธิของกลุ่มกิจการให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่และผู้ที่ไม่มีอำนาจควบคุม

การจัดทำงบกระแสเงินสดรวม

รูปแบบการจัดทำงบกระแสเงินสดรวมมี 2 วิธี

  • แสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน – วิธีทางตรง
  • แสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน – วิธีทางอ้อม

ประเด็นการเปิดเผยข้อมูลสำหรับการจัดทำงบการเงินรวม

การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียในกิจการอื่น – กิจการอาจต้องทำการรวมหรือแยกการเปิดเผยข้อมูลเพื่อทำให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไม่ถูกบดบังด้วยรายละเอียดที่ไม่สำคัญจำนวนมาก หรือจากการนำรายการที่มีลักษณะที่แตกต่างกันไปรวมเข้าไว้ด้วยกัน

การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดุลยพินิจและข้อสมมติฐานที่สำคัญ

  • กิจการมีการควบคุมร่วมในการงานหรือมีอิทธิพลอย่างมีสาระสำคัญ
  • ประเภทของการร่วมการงาน ในกรณีจัดตั้งเป็นหน่วยงานแยกต่างหาก
  • กิจการเป็นตัวแทนหรือตัวการ

การแสดงรายการและเปิดเผยข้อมูลส่วนได้เสียในบริษัทย่อย

กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทย่อยแต่ละรายที่มีส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมที่มีสาระสำคัญ เช่น

  • ชื่อของบริษัทย่อย
  • สัดส่วนของส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของที่ถือโดยส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจในการควบคุม
  • กำไรหรือขาดทุนที่แบ่งให้กับส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อยในระหว่างรอบระยะเวลารายงาน
  • ส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อยสะสม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน