Source: https://corporatefinanceinstitute.com/resources/accounting/capital-structure-overview/

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทคือสัดส่วนขององค์ประกอบใน Balance sheet ที่เรียกว่าเงินทุน (Capital) ซึ่งประกอบด้วยหนี้สิน (Debt) และหุ้น (Equity) ซึ่งเป็นส่วนที่จัดหาเงินมาสำหรับเป็นทรัพย์สินและใช้ดำเนินงาน ตามปกติแล้วบริษัทจะพยายามใช้โครงสร้างเงินทุนที่มีต้นทุน (WACC) ต่ำที่สุด

ถึงแม้ว่าบริษัทต่างๆจะมีโครงสร้างเงินทุนที่ต่างกัน แต่บริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันมักจะมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน โดยจะมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่เป็นตัวกำหนดความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท เช่น ระดับหนี้สินที่มีอยู่, อัตราภาษีนิติบุคคล, หรือรอบของเศรษฐกิจ

ลักษณะเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรมก็เป็นตัวกำหนดความสามารถในการจ่ายหนี้ของแต่ละบริษัทเช่นกัน โดยอุตสาหกรรมที่มีรายได้และกระแสเงินสดที่คงที่และคาดเดาได้ง่ายจะมีสัดส่วนหนี้ในโครงสร้างเงินทุนได้มากกว่าอุตสาหกรรมที่มีลักษณะตรงข้ามกัน เราสามารถสังเกตได้จากปัจจัยดังนี้:

– บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นวัฏจักร (Non-cyclical) จะมีสัดส่วนหนี้ในโครงสร้างเงินทุนได้สูง

– บริษัทที่มีค่าใช้จ่ายคงที่ในปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายรวม ก็จะมีสัดส่วนหนี้ในโครงสร้างเงินทุนได้สูง

– บริษัทที่มีรายได้แบบได้ซ้ำเรื่อยๆ เช่นจาก Subscription model จะมีรายได้ที่คงที่ และคาดเดาได้ง่าย และจะมีสัดส่วนหนี้ในโครงสร้างเงินทุนได้สูง

ชนิดของสินทรัพย์ที่บริษัทมีก็ส่งผลต่อโครงสร้างเงินทุนเช่นกัน ตามปกติแล้วผู้ปล่อยเงินกู้จะมองสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible assets) เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันที่ดีกว่าสินทรัพย์ไร้ตัวตน (Intangible assets) โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่สามารถขายออกไปได้ง่ายและไม่สูญเสียมูลค่าจากเดิมมากนัก ส่วนบริษัทที่ครอบครองสินทรัพย์สำหรับการดำเนินงานเป็นของตัวเองก็จะมีสินทรัพย์สำหรับค้ำประกันมากกว่าบริษัทที่อาศัยสินทรัพย์ของคนอื่น เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ ทำให้สามารถกู้เงินได้ในปริมาณที่มากกว่าตามมา

ส่วนปริมาณหนี้สินที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันก็เป็นตัวบ่งบอกว่าบริษัทได้ใช้ปริมาณหนี้ที่สามารถกู้ได้ทั้งหมด (Debt capacity) ไปเป็นปริมาณเท่าไหร่แล้ว โดยเราสามารถใช้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆทั้ง Current ratio (สินทรัพย์หมุนเวียนหารด้วยหนี้สินหมุนเวียน) หากมีค่าที่สูงแปลว่าบริษัทมีความสามารถในการจ่ายหนี้ระยะสั้นที่สูง, Interest coverage ratio (EBIT หารด้วยดอกเบี้ยจ่าย) ที่มีค่ามากกว่า 2 บ่งบอกถึงความสามารถในการจ่ายหนี้ระยะยาวที่สูง, และอัตราส่วนแสดงความสามารถในการทำกำไรต่างๆ เช่น EBIT margin ก็เป็นตัวบอกความสามารถในการหาเงินมาใช้หนี้ที่ดีอีกตัวหนึ่งด้วย

ในบางประเทศการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้จะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ (รวมถึงประเทศไทย) ดังนั้นประเด็นนี้จึงกลางเป็นแรงจูงใจให้บริษัทกู้เงินในสัดส่วนที่สูงขึ้นเพื่อที่จะลดหย่อนภาษี และเพิ่มตัวเลขกำไร

ในแต่ละบริษัทจะมีนโยบายโครงสร้างเงินทุนในสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยอาจถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขที่ระบุในหุ้นกู้ (Covenants) หรือคะแนนเครดิต (Credit rating) ของบริษัท

คะแนนเครดิตหนี้สินของบริษัทจะถกกำหนดโดยองค์กรต่างๆ เช่น TRIS ซึ่งคะแนนจะเป็นตัวบ่งบอกระดับความเสี่ยงที่บริษัทจะผิดนัดชำระ โดยคะแนนที่ต่ำจะหมายถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระที่สูง รวมถึงความเสี่ยงของผู้ถือหุ้นที่สูงด้วยเช่นกัน แต่ก็แลกมาด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าบริษัทที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระที่ต่ำ ผู้บริหารจึงพยายามที่จะทำให้บริษัทตัวเองมีคะแนนเครดิตที่สูงเพื่อลดต้นทุนในการจัดหาหนี้สิน

Source: https://analystprep.com/study-notes/cfa-level-2/explain-the-determinants-of-the-term-structure-of-credit-spreads-and-interpret-a-term-structure-of-credit-spreads/

สภาวะเศรษฐกิจและวัฏจักรของธุรกิจก็ส่งผลต่อโครงสร้างเงินทุนเช่นกัน โดยในสภาวะที่มีอัตราดอกเบี้ยนโบายที่ต่ำและบริษัทมีส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยหุ้นกู้กับดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล (Credit spread) ที่ต่ำ จะส่งผลให้บริษัทต้องการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนในการกู้ยืมที่ต่ำ ซึ่งตามปกติแล้ว Credit spread ที่แคบจะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว

เราจะเห็นว่าในการกำหนดโครงสร้างเงินทุนของบริษัท จะขึ้นกับปัจจัยรอบด้านทั้งจากภายใน และภายนอกบริษัท ซึ่งนักลงทุนจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์โครงสร้างเหล่านี้เพื่อประเมินความเสี่ยงของบริษัทก่อนตัดสินใจลงทุน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง