กล้าที่จะถูกเกลียด

สรุปหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด

ณ ชานเมืองโบราณอายุนับพันปี มีนักปรัชญาคนหนึ่งอาศัยอยู่ เขากล่าวไว้ว่าโลกใบนี้เรียบง่ายไม่มีอะไรซับซ้อน และมนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานอย่างที่เป็น แต่สามารถมีความสุขได้ตั้งแต่วันนี้

มีชายหนุ่มคนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนั้น เขาจึงเดินทางไปสอบถามข้อเท็จจริงกับนักปรัชญาถึงบ้าน ด้วยความที่ชีวิตเขาเต็มไปด้วยปัญหา โลกในสายตาของเขาจึงมีแต่ความสับสนวุ่นวายและความขัดแย้ง ไม่มีทางที่จะมีความสุขไปได้เลย

นักปรัชญาจึงบอกชายหนุ่มว่า โลกนั้นมันไม่ได้สับสนวุ่นวายหรอก แค่ตัวของคนต่างหากที่ทำให้โลกดูสับสนวุ่นวาย ไม่มีใครอยู่ในโลกอย่างปราศจากอคติ ทุกคนต่างอยู่ในโลกส่วนตัวที่ตัวเองเป็นคนปั้นแต่งขึ้นมาทั้งนั้น ดังนั้นโลกที่เห็นกับโลกที่เป็นอยู่จึงแตกต่างกัน

แม้จะอยู่ในยุคสมัยและประเทศเดียวกัน ก็น่าจะมองเห็นอะไรที่เหมือนกัน เมื่อดูผิวเผินก็คงจะใช่ ถ้าใครเคยดื่มน้ำที่ตักขึ้นมาจากบ่อ แล้วจะรู้ว่าอุณหภูมิของน้ำในบ่อจะอยู่ที่ประมาณ 18 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี ไม่ว่าใครจะวัดก็ได้ค่าออกมาเท่ากันหมด เพราะอุณหภูมินั้นเป็นข้อเท็จจริง แต่กลับรู้สึกว่าน้ำจากบ่อในฤดูร้อนนั้นเย็นชื่นใจ พอดื่มในฤดูหนาวกลับรู้สึกว่ามันอุ่น  ทั้ง ๆ ที่อุณหภูมิของน้ำยังคงเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง อากาศในฤดูร้อนกับฤดูหนาวต่างหากที่ทำให้รู้สึกแตกต่างกันนั่นเอง ความเย็นและความอุ่นของน้ำในบ่อคือความจริง

การอยู่ในโลกของตัวเองทำให้มองมันเป็นอย่างไร เพราะไม่อาจหลีกหนีความคิด และความรู้สึกของตัวเองได้ เลยทำให้โลกในมุมมองของชายหนุ่มเป็นโลกที่สับสนวุ่นวาย แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ โลกก็จะกลับมาดูเรียบง่ายเหมือนเดิม ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่โลกเป็นอย่างไร  แต่อยู่ที่มองโลกเป็นอย่างไรต่างหาก เหมือนใส่แว่นดำมองโลก โลกก็จะดำมืดไปหมด สิ่งที่ต้องทำก็คือถอดแว่นออก ไม่เห็นต้องคร่ำครวญเลยว่าโลกนี้ช่างมืดมน ต่อจากนั้นโลกอาจสว่างจ้าจนแสบตา จึงอาจหลับตาลงโดยไม่รู้ตัว หรือถึงขั้นอยากกลับไปใส่แว่นดำอีกครั้ง แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะถอดแว่นตาดำออกได้ไหม จะมองโลกตรง ๆ โดยไม่หลับตาได้หรือเปล่า และมีความกล้าพอหรือไม่ก็เท่านั้นเอง คนเราเปลี่ยนแปลงกันได้ แถมยังสามารถมีความสุขได้อีกด้วย

นักปรัชญาบอกชายหนุ่มไม่ต้องรีบร้อน ค่อย ๆ คุยกันไปเถอะ เข้าไปคุยกันในห้อง คืนนี้คงจะคุยกันยาว

คืนที่ 1 อย่าเชื่อเรื่องแผลใจ

เมื่อเข้ามาในห้องทำงาน ชายหนุ่มก็เดินห่อไหล่แล้วนั่งลงบนเก้าอี้ ทำไมเขาถึงแสดงท่าทีต่อต้านความเห็นของนักปราชญ์อย่างรุนแรงขนาดนี้กัน คำตอบเป็นเพราะเขาขาดความมั่นใจในตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เขารู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น ในเรื่องชาติกำเนิด การศึกษา ไปจนถึงรูปร่างหน้าตา เพราะแบบนี้เขาจึงกังวลกับสายตาของคนอื่นมากเกินไป และยังรู้สึกเกลียดตัวเองอยู่ตลอดเวลาด้วย เขาไม่รู้สึกยินดีเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุข สำหรับชายหนุ่มแล้วความเห็นของนักปรัชญาเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

ผู้ยิ่งใหญ่คนที่สาม ที่ไม่มีใครรู้จัก

นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่มีโสกราติส เพลโต และอริสโตเติล ซึ่งปรัชญากรีกโบราณนั้น ล้ำลึกมากเสียจน ต่อให้ใช้เวลาศึกษาทั้งชีวิตก็ไม่มีวันเข้าใจทั้งหมด ปรัชญาอีกแนวหนึ่งคือ แนวคิดที่ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจิตแพทย์ชาวออสเตรียชื่ออัลเฟรด แอดเลอร์  เป็นหลักจิตวิทยาที่แปลกใหม่มาก จึงเอาชื่อผู้ก่อตั้งมาเรียกรวม ๆ ว่า หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนกับปรัชญากรีกโบราณ

หลักจิตวิทยาของซิกมันด์ ฟรอยด์หรือคาร์ล ยุงที่รู้จักกันดี เดิมทีแอดเลอร์เองก็เคยเป็นสมาชิกคนสำคัญ ของสมาคมจิตวิเคราะห์แห่งเวียนนาที่ฟรอยด์เป็นผู้ก่อตั้ง แต่ทั้งสองคนมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องทฤษฎี แอดเลอร์จึงแยกตัวออกมา แล้วนำเสนอทฤษฎีของตัวเองที่เรียกว่าหลักจิตวิทยาปัจเจกบุคคล ในระดับโลกแอดเลอร์จะได้รับการกล่าวถึงร่วมกับฟรอยด์และยุง ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสามนักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ เรียกได้ว่าหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ ไม่ใช่ศาสตร์ที่เข้าใจยาก แถมยังสามารถอธิบายแก่นแท้ของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง

ทำไมคนเราเปลี่ยนแปลงกันได้

ชายหนุ่มคิดว่าคนเราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเห็นเพื่อนของเขาคนหนึ่ง เอาแต่เก็บตัวอยู่ในห้องมาหลายปี เขาอยากออกจากห้อง อยากมีงานทำ และอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่เป็นอยู่ เขาเป็นคนเอาการเอางาน และสามารถทำประโยชน์ต่อสังคมได้ แต่เขากลับกลัวการออกจากห้องของตัวเอง ซึ่งอดีตเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลในใจ อดีตคือตัวกำหนดทุกสิ่งในปัจจุบัน ถูกกำหนดโดยเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ถ้าเอาแต่มองที่สาเหตุในอดีต ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย

ถ้ามองจากหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ ไม่ใช่เพราะสาเหตุในอดีต แต่เพราะเขาอยากจะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการในปัจจุบัน คนที่ไม่ออกจากห้อง เขาไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวจนออกจากห้องไม่ได้ ตรงกันข้ามเขาไม่ต้องการออกจากห้อง จึงสร้างความรู้สึกหวาดกลัวขึ้นมา แอดเลอร์เรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า การยึดเป้าหมายเป็นสำคัญ ตราบใดที่ยังใช้ชีวิตโดยยึดตามแนวคิดนี้ ก็จะไม่มีวันก้าวไปข้างหน้าได้เลยแม้แต่ก้าวเดียว

แผลใจไม่มีอยู่จริง

คนที่ยึดมั่นกับสาเหตุในอดีตอย่างหนัก นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะบอกว่า ที่ทรมานอยู่นี้เป็นเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต จากนั้นก็จะปลอบว่า มันไม่ใช่ความผิดของคุณ แล้วจบเพียงเท่านั้น ถือเป็นตัวอย่างของแนวคิดที่ว่า อดีตคือตัวกำหนดทุกสิ่ง แอดเลอร์ คัดค้านแนวคิดเรื่องแผลใจอย่างชัดเจน คนเราไม่ได้ทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงแบบที่เรียกกันว่าแผลใจ เป็นเพียงแค่การนำประสบการณ์ในอดีตมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ ดังนั้น ชีวิตของคนเราจึงไม่ได้ถูกกำหนดโดยประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ถูกกำหนดโดยความหมายที่มอบให้แก่ประสบการณ์ต่างหาก ไม่มีใครเลือกเส้นทางชีวิตให้คนอื่นได้ ตัวเองเท่านั้นที่เป็นคนเลือกเอง ทุกคนต่างก็ใช้ชีวิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการเหมือนกัน นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าการยึดเป้าหมายเป็นสำคัญ

คนเราปั้นแต่งความโกรธขึ้นมาเอง

การที่คนหนึ่งถูกความโกรธกระตุ้นจึงตะโกนด่าออกไป ทั้งที่ปกติเป็นคนสุภาพ แต่กลับระงับความโกรธเอาไว้ไม่อยู่ แล้วคิดว่าเป็นเหตุสุดวิสัยไม่สามารถควบคุมได้ การที่อาชญากรรมทั้งหลายที่เกิดจากการบันดาลโทสะ ย่อมเป็นความผิดของความโกรธ ซึ่งไม่ได้โกรธจนเลือดขึ้นหน้า แต่ทำให้ตัวเองรู้สึกโกรธ เพื่อจะได้โอกาสโวยวายเสียงดังคือเป้าหมายที่ต้องการ จึงสร้างอารมณ์โกรธขึ้นมาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ต่อให้ไม่เอะอะโวยวาย เพียงแค่อธิบายดี ๆ ก็น่าจะจัดการปัญหาได้แล้ว แต่เลือกจะโวยวายเสียงดังเพราะรู้สึกว่าการใช้คำพูดอธิบายดี ๆ เป็นเรื่องยุ่งยาก จึงเลือกใช้วิธีที่ง่ายซึ่งวิธีที่ว่าก็คือการใช้อารมณ์โกรธนั่นเอง เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าความโกรธเป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมได้ ความโกรธเป็นเครื่องมือใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ แนวคิดเรื่องการยึดเป้าหมายเป็นสำคัญบอกไว้

การดำเนินชีวิตโดยไม่ยอมให้อดีตมาครอบงำ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตไม่ได้ถูกบงการโดยอารมณ์ความรู้สึก เช่นเดียวกับที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยอดีตแอดเลอร์เชื่อแบบนี้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการไม่เห็นคุณค่าของอารมณ์ความรู้สึก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้น แต่อยู่ที่ว่าให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นอย่างไร คนเราไม่สามารถนั่งเครื่องย้อนเวลากลับไปยังอดีตได้ เข็มนาฬิกาก็ไม่อาจหมุนทวนกลับได้เช่นกัน ถ้าหากยังเชื่อในแนวคิดที่ว่า อดีตคือตัวกำหนดทุกสิ่งก็จะถูกอดีตพันธนาการเอาไว้ จนไม่อาจมีความสุขในวันข้างหน้าได้เลย ในตอนนี้ไม่สามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ สุดท้ายคงหนีไม่พ้นต้องจมอยู่กับความรู้สึกสิ้นหวังต่อโลกใบนี้ แล้วถอดใจเลิกดิ้นรนต่อสู้เหมือนกับพวกมองโลกในแง่ร้าย ลองคิดว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ต้องลองเปลี่ยนจุดยืนแล้วหันมาใช้วิธีมองโลกแบบใหม่ ที่พวกยึดติดกับอดีตไม่มีทางทำได้แทน

โสกราติสกับแอดเลอร์

ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่การตระหนักรู้คำตอบ เป็นสิ่งที่ควรออกไปค้นหาด้วยตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นบอกให้ฟัง คำตอบที่มาจากคนอื่น อย่างดีก็แค่ระงับความอยากรู้ชั่วคราว ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย ลองนึกถึงโสกราติเขาไม่มีผลงานที่เขียนด้วยตัวเองสักเล่ม เขาแค่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวเอเธนส์ตามท้องถนน โดยเฉพาะกับพวกคนหนุ่มสาว คนที่เอาปรัชญาเหล่านั้นมาเขียนเป็นหนังสือจนตกทอดมาสู่คนรุ่นหลังคือเพลโตลูกศิษย์ของเขาแอดเลอร์เองก็เหมือนกันเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจด้านงานเขียน แต่ชอบพูดคุยกับผู้คนตามร้านกาแฟในกรุงเวียนนา และจัดตั้งกลุ่ม ๆ ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หมายความว่าทั้งโสกราติสและแอตเลอร์ ต่างถ่ายทอดสิ่งที่รู้ให้คนอื่นผ่านการพูดคุย

พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แล้วหรือ

คิดว่าถ้าเป็นแบบคนอื่นแล้วจะมีความสุข หมายความว่าตอนนี้ไม่มีความสุข สาเหตุก็เพราะรักตัวเองไม่ลง เลยอยากเกิดใหม่เป็นคนอื่น เพื่อที่จะรักตัวเองลง การอยากเป็นเหมือนคนอื่นหมายความว่า อยากทิ้งตัวตนในปัจจุบันนี้ไป ต่อให้อยากเป็นคนอื่นมากแค่ไหน ก็เกิดใหม่เป็นเขาไม่ได้อยู่ดี เป็นตัวเองน่ะดีแล้ว แต่ถ้าไม่มีความสุขการที่เป็นแบบนี้ต่อไปย่อมไม่ดีแน่นอน จำเป็นต้องก้าวไปข้างหน้าสักก้าว อย่าหยุดยืนอยู่กับที่ ไม่สำคัญว่าได้หรือไม่ได้อะไรมาบ้าง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าจะใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร

ตัวคุณเองเป็นคนเลือกที่จะมีความทุกข์

โลกนี้ไม่ใช่โลกที่คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน มนุษย์มีแต่ความแตกต่างทั้งเชื้อชาติ สัญชาติ และเผ่าพันธุ์ ถ้าเอาแต่ยึดติดกับสิ่งที่ได้รับมา มันจะทำให้ความเป็นจริงเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญไม่ใช่การกลายเป็นคนอื่น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองต่างหาก จริง ๆ แล้วที่รู้สึกทุกข์อยู่ตอนนี้ เป็นเพราะเลือกที่จะมีความทุกข์เอง ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความทุกข์ ไม่ได้เกิดมาในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ไม่ได้ติดอยู่ในล่มของความทุกข์ แต่เป็นคนตัดสินใจเองว่าความทุกข์คือสิ่งที่เป็นผลดี

คนเรามักตัดสินใจว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง

หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์อธิบายนิสัยหรือสันดานด้วยคำว่าไลฟ์สไตล์ มันคือรูปแบบ พฤติกรรม หรือความคิดของคนเรา มันก็คือวิธีที่คน ๆ หนึ่งใช้มองโลก และมองตัวเองพร้อม ๆ กันให้ความหมายแก่สิ่งต่าง ๆ ไป ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ว่านี้ คล้าย ๆ กับวิธีดำเนินชีวิต แต่เรียกว่ารูปแบบการใช้ชีวิตน่าจะถูกต้องมากกว่า ทุกคนเป็นคนเลือกไลฟ์สไตล์แบบนี้ด้วยตัวเอง นอกจากจะเป็นคนเลือกที่จะมีความทุกข์เองแล้ว ยังเลือกที่จะมีนิสัยแย่ ๆ แบบนี้เองด้วย แน่นอนว่าไม่ได้เลือกตัวตนที่เป็นอยู่ด้วยความตั้งใจเต็มร้อย ครั้งแรกสุดอาจเลือกไปโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ แถมยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกที่ชอบพูดถึงบ่อย ๆ อย่างเชื้อชาติ สัญชาติ วัฒนธรรม หรือสภาพแวดล้อมอีกต่างหาก แต่ถึงอย่างนั้นคนที่เลือกตัวตนที่เป็นอยู่ในตอนนี้ก็คือตัวเอง ถ้ามองว่าไลฟ์สไตล์ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เป็นสิ่งที่เลือกเองได้ ก็ย่อมเลือกใหม่ได้อีกครั้งอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาใด หรืออยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบไหน คนเราก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันที คนเราเลือกไลฟ์สไตล์ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์คือ หลักจิตวิทยาแห่งความกล้า การที่ไม่มีความสุขไม่ได้เป็นเพราะอดีตหรือสภาพแวดล้อม และก็ไม่ใช่เพราะไม่มีความสามารถด้วย แค่มีความกล้าไม่มากพอต่างหาก หรือจะเรียกว่ายังขาดความกล้าที่จะมีความสุข

กำหนดชีวิตตัวเองวินาทีนี้

โลกนี้เรียบง่ายการที่เห็นว่าโลกใบนี้ซับซ้อนเป็นเพราะมองด้วยความรู้สึกส่วนตัวจริง ๆ แล้ว ชีวิตคนเราไม่ได้ซับซ้อน แต่เป็นเพราะตัวเราเองที่ทำให้มันซับซ้อน การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขจึงเป็นเรื่องยาก ต้องทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ได้ คำตอบก็คือตัดสินใจเลิกมีไลฟ์สไตล์ในแบบที่กำลังเป็นอยู่ จริง ๆ แล้วแนวคิดเรื่องการยึดเป้าหมายเป็นสำคัญของแอดเลอร์บอกด้วยซ้ำไปว่า ไม่ว่าจะเคยเกิดอะไรขึ้นในอดีต สิ่งเหล่านั้นก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันแม้แต่น้อย คนที่กำหนดชีวิตคือคนที่มีชีวิตอยู่วินาทีนี้ต่างหาก

คืนที่ 2 ความทุกข์ใจทั้งหมดล้วนเกิดจากความสัมพันธ์

ทำไมคนเราถึงเกลียดตัวเอง

คนที่รู้สึกว่าตัวเองมีแต่ข้อเสีย ไม่มีข้อดีอะไรเลย และก็ไม่สำคัญด้วยว่า จะเป็นอย่างที่รู้สึกจริงหรือไม่ เพราะรู้สึกแบบนั้นไปแล้ว เห็นได้ชัดว่าประเมินตัวเองไว้ต่ำมาก ปัญหาก็คือทำไมถึงรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยขนาดนั้น สาเหตุที่มองเห็นแต่ข้อเสีย ก็เพราะตัดสินใจที่จะไม่รักตัวเองอีกต่อไป ฉะนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จึงมองข้ามข้อดีและสนใจแต่ข้อเสียของตัวเอง การไม่รักตัวเองคือสิ่งที่เป็นผลดี คนที่เกลียดตัวเอง และมองเห็นแต่ข้อเสีย นั่นเป็นเพราะกลัวที่จะถูกคนอื่นเกลียด และกลัวจนเกินเหตุว่าตัวเองจะเจ็บปวด จากการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น พูดอีกอย่างก็คือ ผลลัพธ์ที่ต้องการคือการไม่ต้องเจ็บปวดจากการคบหากับคนอื่น การอยู่ในสังคมย่อมทำให้เจ็บปวดบ้างเป็นบางครั้ง เมื่อคบหากับคนอื่นก็ต้องมีเรื่องให้เจ็บปวดบ้างเป็นธรรมดา ตัวเองก็อาจทำให้คนอื่นรู้สึกแย่หรือเจ็บปวดได้เหมือนกัน แอดเลอร์บอกไว้ว่าหากอยากกำจัดความทุกข์ใจให้หมดไป ก็ต้องอยู่คนเดียวในจักรวาลเท่านั้น แต่เรื่องแบบนั้นมันเป็นไปไม่ได้

ความทุกข์ใจทั้งหมดล้วนเกิดจากความสัมพันธ์กับผู้คน

นี่เป็นแนวคิดพื้นฐานของหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ ต้องให้มนุษย์ทั้งโลกเลิกคบหามีความสัมพันธ์กันนั่นแหละ จึงจะถือว่าเป็นการอยู่คนเดียวในจักรวาล เมื่อไม่มีคนอื่นความทุกข์ใจทั้งหมดก็ย่อมจะหายไปด้วย แน่นอนว่าไม่สามารถลบความสัมพันธ์ทั้งหมดของทุกคนบนโลกทิ้งไปได้ ยังไงก็ตามมนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตระหนักถึงการมีตัวตนของคนอื่น โดยหลักการแล้วจึงไม่อาจตัดขาดจากคนอื่นได้ แล้วใช้ชีวิตเพียงลำพังได้อย่างสิ้นหวัง

ความรู้สึกต่ำต้อยเป็นสิ่งที่เราคิดไปเอง

คำว่าความรู้สึกต่ำต้อย เป็นการประเมินคุณค่าของตัวเอง เป็นความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า หรือไม่ก็มีค่าน้อยมาก ความรู้สึกต่ำต้อยที่สร้างขึ้นมาเอง มาจากการเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น นี่คือผลพวงที่เกิดจากความสัมพันธ์ หมายความว่าความรู้สึกต่ำต้อยที่ทรมานอยู่ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่เป็นสิ่งที่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวปั้นแต่งขึ้นมาเอง หรือถ้าจะพูดตรง ๆ ก็คือการคิดเองเออเอง ตัวอย่าง เพชรซึ่งเป็นของล้ำค่ามองว่าเพชร 1 กะรัตมีมูลค่ามหาศาล แต่แค่เปลี่ยนมุมมองเพชรก็จะเป็นเพียงก้อนหินชนิดหนึ่งเท่านั้น พูดง่าย ๆ ก็คือคุณค่าเป็นสิ่งที่เกิดจากบริบททางสังคม อย่างคุณค่าที่ให้กับธนบัตรหนึ่งดอลลาร์ ทุกคนต่างยอมรับว่ามันมีค่า 1 ดอลลาร์ แต่มูลค่า 1 ดอลลาร์นี้ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะถ้าคิดถึงต้นทุนของมันในฐานะกระดาษแผ่นหนึ่งแล้ว ก็คงมีมูลค่าไม่ถึง 1 ดอลลาร์แน่นอน

ข้ออ้างที่เรียกว่าปมด้อย

ทุกคนต่างก็ต้องเคยกลุ้มใจ เพราะความรู้สึกต่ำต้อยกันมาบ้างทั้งนั้น แอดเลอร์เองก็ยอมรับว่า ไม่ว่าใครต่างก็มีความรู้สึกต่ำต้อยกันทั้งนั้น  แต่ความรู้สึกต่ำต้อยไม่ใช่เรื่องแย่โดยตัวมันเอง ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ามนุษย์เราเกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้พลังอำนาจ และก็ปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากสภาพนั้น แอดเลอร์เรียกความต้องการนี้ว่า การแสวงหาความเหนือกว่า พูดง่าย ๆ ก็คือความมุ่งหวังที่จะก้าวหน้า หรือความต้องการที่จะเป็นอย่างที่ใฝ่ฝัน คนเราทุกคนต่างต้องการหลุดพ้นจากสภาพที่ไร้พลังอำนาจ และอยากก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็ถือเป็นการแสวงหาความเหนือกว่ารูปแบบหนึ่งเช่นกัน แต่หลายคนขาดความกล้าที่จะเดิน และไม่อาจยอมรับความจริงที่ว่า ความมุมานะสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ได้ คนพวกนี้จะเอาแต่อ้างแล้วยอมแพ้ไปโดยที่ยังไม่ได้ลงมือทำอะไรด้วยซ้ำ นั่นคือปมด้อยไม่ใช่ความรู้สึกต่ำต้อย คำว่าปมด้อยเป็นศัพท์ที่ใช้บ่งบอกถึงสภาพทางจิตใจที่ผิดเพี้ยนไป ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความรู้สึกต่ำต้อยเลย ปมด้อยคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเริ่มเอาความรู้สึกต่ำต้อยมาเป็นข้ออ้าง ความสมเหตุสมผลที่พูดถึงคือ สิ่งที่แอดเลอร์เรียกว่าความเป็นเหตุเป็นผลรวม มันคือการที่หยิบเอาเรื่องที่จริง ๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยมาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้ตัวเองทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้

คนขี้โอ่คือคนที่รู้สึกต่ำต้อย

ความรู้สึกต่ำต้อยคือ ภาวะที่รู้สึกว่าตอนนี้มีอะไรบางอย่างบกพร่องไป จะชดเชยส่วนที่ขาดหายไปได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการพยายามพัฒนาตัวเอง แต่คนที่ไม่มีความกล้ามักจะโยนความผิดไปที่ปมด้อย คนเหล่านี้จึงมักจะหันไปชดเชยข้อบกพร่องของตัวเองด้วยวิธีที่ง่ายกว่า เขาจะทำราวกับว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น และลุ่มหลงอยู่กับความรู้สึกเหนือกว่าแบบจอมปลอมนั้น ที่เห็นได้บ่อย ๆ ก็คือการวางอำนาจ เช่นอย่างการทำตัวเหมือนเป็นคนพิเศษ ด้วยการบอกว่าตัวเองสนิทสนมกับผู้มีอำนาจ ไล่ตั้งแต่หัวหน้าไปจนถึงคนมีชื่อเสียง การยึดติดกับเครื่องประดับ หรือเสื้อผ้าแบรนด์เนมก็เป็นการวางอำนาจแบบหนึ่ง และยังถือเป็นปมเด่นด้วย

แต่ไม่ว่าจะกรณีไหนก็ไม่ได้ช่วยให้เหนือกว่า หรือพิเศษกว่าคนอื่นขึ้นมาได้จริง ๆ มันเป็นแค่การสร้างภาพให้ดูมีอำนาจ ด้วยการเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับอำนาจเท่านั้น พูดง่าย ๆ คือความรู้สึกเหนือกว่าแบบจอมปลอม คนที่จงใจพูดโอ้อวดคือคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองต่างหาก แอดเลอร์บอกไว้อย่างชัดเจนว่า คนที่ชอบโอ้อวดคือคนที่รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย เวลาที่ความรู้สึกต่ำต้อยรุนแรงถึงขีดสุด มนุษย์จะโอ้อวดสิ่งหนึ่งที่ไม่น่าจะนำมาโอ้อวดได้เลยนั่นคือความทุกข์ คนประเภทนี้จะใช้ความทุกข์มาทำให้ตัวเองเป็นคนพิเศษและอยู่เหนือคนอื่น ตราบใดที่ยังเอาความทุกข์มาเป็นอาวุธ เพื่อทำให้ตัวเองเป็นคนพิเศษ คน ๆ นั้นก็จำเป็นต้องพึ่งพาความทุกข์ไปตลอดกาล

ชีวิตคนเราไม่ใช่การแข่งขันกับคนอื่น

การแสวงหาความเหนือกว่าคือ ความตั้งใจที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยตัวเอง ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อให้อยู่สูงกว่าคนอื่น ไม่ต้องแข่งขันกับใครแค่มุ่งที่จะก้าวไปข้างหน้าก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใครเลย ทุกคนล้วนแตกต่างกัน จึงไม่ต้องนำความแตกต่างนี้ไปตีตราว่าเป็นเรื่องดีหรือเลวเด่นหรือด้อย เพราะไม่ว่าจะแตกต่างกันมากสักแค่ไหน ก็ยังเท่าเทียมกันอยู่ดี เรื่องความรู้ ประสบการณ์ และความรับผิดชอบ ก็ย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่คุณค่าของมนุษย์ไม่ได้ตัดสินกันด้วยสิ่งเหล่านั้น แต่ปฏิบัติต่อกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ต่างหาก ควรหันหน้าเข้าหากันด้วยความจริงใจ ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่สำคัญว่าจะนำหน้าหรือตามหลัง เพราะไม่ว่าอย่างไรทุกคนก็เดินอยู่บนพื้นราบ ที่ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ไม่ได้เดินไปข้างหน้าเพื่อที่จะแข่งขันกับคนอื่น แต่เพื่อให้ก้าวไปได้ไกลกว่าจุดที่ตัวเองอยู่ในปัจจุบัน ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ตรงนี้ต่างหาก

คนที่ใส่ใจหน้าตาของแกมีแต่แกคนเดียว

หากในความสัมพันธ์มีการแข่งขัน มนุษย์ก็จะไม่อาจหลีกเลี่ยงความวิตกกังวล และไม่มีวันหลุดพ้นจากความทุกข์ได้เลย มีใจจดจ่ออยู่กับการแพ้ชนะเท่านั้น ความรู้สึกต่ำต้อยก็ย่อมตามมาเป็นธรรมดา เพราะจะคอยเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น คอยคิดว่าชนะคนโน้นแพ้คนนี้จนเกิดเป็นปมเด่นกับปมด้อยขึ้นมา คนจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จแล้ว ไม่มีความสุขอย่างแท้จริง เป็นเพราะพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในสนามแข่งขันตลอดเวลา สำหรับพวกเขาแล้วโลกคือสถานที่ซึ่งอันตราย และเต็มไปด้วยศัตรู ลองคิดดูว่าในความเป็นจริงแล้ว คนอื่นเขาจะสนใจขนาดนั้นเลยเหรอ พวกเขาจะคอยเฝ้าสังเกตตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาโอกาสเล่นงานจริง ๆ หรือ

ผู้เขียนมีเพื่อนที่อายุน้อยกว่าอยู่คนหนึ่ง ตอนยังหนุ่มเขาใช้เวลาแต่งผมอยู่หน้ากระจกนานมาก จนคุณยายของเขาพูดขึ้นมาว่า คนที่ใส่ใจหน้าตาของแกมีแต่แกคนเดียวเท่านั้นแหละ เขาบอกว่านับแต่นั้นเลยรู้สึกโล่งใจขึ้นเยอะ แต่ถ้าสามารถปลดปล่อยตัวเองจากการแข่งขันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเอาชนะใครอีก จะสามารถหลุดพ้นจากความหวาดกลัวว่า ตัวเองอาจจะกลายเป็นผู้แพ้ และยังรู้สึกยินดีได้จากใจจริง เวลาเห็นคนอื่นมีความสุข และเวลาที่ตัวเองตกระกำลำบาก คนอื่นก็จะยื่นมือมาช่วยเหลือเช่นกัน ความสัมพันธ์แบบนี้แหละที่เรียกว่ามิตรภาพ

จากการเอาชนะไปสู่การแก้แค้น

คนเราย่อมมีความไม่พอใจต่อปัญหาสังคม แต่นั่นไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก ที่จู่ ๆ ก็เกิดขึ้นแบบไม่มีที่มาที่ไป มันเป็นความรู้สึกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ความไม่พอใจในเรื่องส่วนตัว เป็นอารมณ์คนละประเภทกับความไม่พอใจต่อความขัดแย้ง หรือความไม่ถูกต้องในสังคม ซึ่งเป็นความไม่พอใจในเรื่องส่วนรวม ความโกรธสามารถสงบลงได้ในทันที ต่างจากความไม่พอใจในเรื่องส่วนรวม ที่จะคงอยู่อย่างยาวนาน ความโกรธที่ระเบิดจากความขุ่นเคืองส่วนตัวนั้น เป็นแค่เครื่องมือที่ใช้ทำให้คนอื่นยอมสยบเท่านั้น แต่การต่อสู้เพื่อเอาชนะก็ไม่จบแค่นั้น เพราะฝ่ายที่แพ้จะเริ่มทำการจู่โจมขั้นต่อไป กลายเป็นการแก้แค้นนั่นเอง ครั้งแรกเขาอาจจะยอมถอย แต่มันก็แค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเขาจะไปวางแผนเพื่อกลับมาแก้แค้นด้วยวิธีอื่นต่อ ถ้าความสัมพันธ์ของคนเราเสื่อมถอยจนถึงขั้นต้องแก้แค้นกัน โอกาสที่จะหันหน้าเข้าหากัน แล้วช่วยกันแก้ไขความขัดแย้งก็แทบจะเป็นศูนย์ ดังนั้นไม่ว่าจะถูกยั่วยุแค่ไหน ก็อย่ากระโจนเข้าไปต่อสู้เพื่อเอาชนะเด็ดขาด

การยอมรับข้อผิดพลาดไม่ใช่ความพ่ายแพ้

มีเครื่องมือสื่อสารรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ความโกรธ นั่นคือถ้อยคำซึ่งสามารถสื่อสารกันโดยอาศัยถ้อยคำได้ ในพลังของคำพูดที่สมเหตุสมผล จริง ๆ แล้วยังมีอีกประเด็นที่พูดถึงเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเอาชนะนั่นคือ ต่อให้ในกรณีที่เป็นฝ่ายถูกก็ต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก และจะเอาเรื่องนั้นมาเป็นเหตุผลในการตำหนิอีกฝ่ายไม่ได้ นี่เป็นหลุมพรางที่คนส่วนใหญ่มักตกลงไป เพราะทันทีที่เชื่อว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ก็เท่ากับว่าก้าวเท้าเข้าสู่การต่อสู้เพื่อเอาชนะแล้ว พอไม่อยากแพ้ก็เลยไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง สุดท้ายก็ตัดสินใจผิด ทั้ง ๆ ที่การยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง การกล่าวคำขอโทษ หรือการถอนตัวจากการต่อสู้นั้น ไม่ใช่ความพ่ายแพ้เลยสักนิด ความเหนือกว่าไม่ใช่สิ่งที่แสวงหามาได้ด้วยการแข่งขันกับคนอื่น ถ้ามัวแต่ยึดติดเรื่องแพ้ชนะก็จะไม่สามารถเลือกสิ่งที่ถูกต้องได้ แว่นตาที่ขุ่นมัวจะทำให้มองเห็นแต่เรื่องแพ้ชนะ จนตัดสินใจผิดพลาด ต้องถอดแว่นตานั้นออก จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไปในทิศทางที่ถูกต้องได้

จะรับมือกับภารกิจของชีวิตที่เผชิญอยู่ได้อย่างไร

ถ้าถามว่าทำไมถึงมองว่าคนอื่นเป็นศัตรู และไม่สามารถคิดว่าพวกเขาเป็นมิตรได้ สาเหตุเป็นเพราะตัวเองที่ขาดความกล้า และกำลังพยายามหลีกหนีจากภารกิจของชีวิต นั่นเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ระบุว่า มนุษย์มีเป้าหมายด้านพฤติกรรม และจิตใจที่ชัดเจน เป้าหมายด้านพฤติกรรมมีอยู่ 2 อย่างนั่นคือ พึ่งพาตัวเองได้และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ดี ส่วนเป้าหมายด้านจิตใจที่คอยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวคือ รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ และรู้สึกว่าทุกคนเป็นมิตร แอดเลอร์ได้แบ่งความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขณะที่เติบโตขึ้นออกเป็น 3 ด้านคือ ด้านการงาน ด้านการเข้าสังคม และด้านความรัก ทั้งหมดนี้เรียกว่าภารกิจของชีวิต ภารกิจด้านการงานถือว่ายุ่งยากน้อยที่สุด เพราะคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ทำงานให้สำเร็จ ต่อให้ไม่ค่อยถูกชะตากัน ก็ยังทำงานด้วยกันได้ เพราะมีเป้าหมายร่วมกัน และตราบเท่าที่ยังคบหากันเพราะเรื่องงานเพียงอย่างเดียว พวกที่ไม่ยอมทำงานทำการ คือกลุ่มคนที่มีปัญหากับภารกิจด้านนี้

ด้ายแดงกับโซ่ตรวน

ภารกิจด้านการเข้าสังคมคือ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนฝูง ความสัมพันธ์ด้านนี้จะไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องงาน แต่ยังรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย คนส่วนใหญ่คิดว่ายิ่งมีเพื่อนมากก็ยิ่งดี จำนวนเพื่อนหรือคนรู้จักไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลย สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากกว่าคือระยะห่าง และระดับความสนิทของความสัมพันธ์ต่างหาก 2 สิ่งนี้ยังเกี่ยวข้องกับภารกิจด้านความรักอีกด้วย ภารกิจด้านความรักแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือแบบคนรัก อีกระดับเป็นความรักในครอบครัวโดยเฉพาะระหว่างพ่อแม่ลูก ในบรรดาภารกิจทั้ง 3 ด้าน ด้านความรักรับมือได้ยากที่สุด ตัวอย่างเช่น ที่เห็นได้ชัดเจนคือการหยอกล้อกับเพื่อนต่างเพศ บางคนอาจถึงขั้นออกอาการหึงหวง แต่แอดเลอร์ไม่เห็นด้วยกับการผูกมัดอีกฝ่าย คนรักกันเมื่อเห็นอีกฝ่ายทำอะไรแล้วมีความสุข ก็ควรจะรู้สึกยินดีนั่นถึงจะเรียกว่าความรัก ความสัมพันธ์ที่มีแต่การผูกมัดไม่ยืนยาว ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วรู้สึกอึดอัดหรือตึงเครียด ความสัมพันธ์แบบนี้อาจไม่ใช่ความรัก แต่เป็นเพียงความใคร่ก็ได้ ในทางตรงกันข้ามเวลาที่รู้สึกว่าอยู่กับคน ๆ นี้แล้วรู้สึกเป็นอิสระ นั่นถึงจะเรียกว่าความรัก แอดเลอร์กล่าวไว้ว่าหากต้องการจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่กลมเกลียว ก็ต้องปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ในความสัมพันธ์แบบคนรักหรือสามีภรรยา ทั้งสองฝ่ายมีทางเลือกที่จะแยกทางกันได้ ถึงจะเป็นสามีภรรยากันมานาน แต่ถ้ารู้สึกว่าอยู่ด้วยกันต่อไปลำบาก ก็สามารถเลือกจะแยกทางกันได้ ต่างกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ที่ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ หากความรักใคร่แบบคนรัก เปรียบเหมือนความสัมพันธ์ที่ผูกไว้ด้วยด้ายแดง ความสัมพันธ์แบบพ่อแม่ลูกก็คงไม่ต่างกับการล่ามไว้ด้วยโซ่ตรวนอันแข็งแกร่ง โดยที่ในมือมีเครื่องมือแค่กรรไกรอันเล็ก ๆ เท่านั้น

เผชิญหน้ากับคำโกหกของตัวเอง

ในความสัมพันธ์แบบคนรักหรือสามีภรรยา บางครั้งจะเกิดกรณีที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกหงุดหงิดไปหมด ไม่ว่าคนรักจะทำอะไรก็ตาม ตัวอย่างเช่น คนบางคนรู้สึกขัดหูขัดตา กับท่าทางเวลาทานอาหารของคนรัก ไม่พอใจที่คนรักไม่จัดข้าวของในห้องให้เป็นระเบียบ แม้แต่เสียงลมหายใจยามนอนหลับก็ยังทำให้หงุดหงิด ทั้งที่เมื่อหลายเดือนก่อนยังไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย นั่นแสดงว่าคน ๆ นั้นได้ตัดสินใจแล้วว่า อยากจบความสัมพันธ์นี้ จึงหาข้ออ้างในการยุติความสัมพันธ์ และสร้างความรู้สึกไม่พอใจขึ้นมา ทั้งที่คนรักของตัวเองไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย สิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปคือเป้าหมายของตัวเขาเองต่างหาก

คนเราเวลาไม่ชอบกันขึ้นมา ก็สามารถสรรหาข้อเสียหรือจุดบกพร่องของอีกฝ่ายได้ไม่รู้จักจบจักสิ้น ด้วยเหตุนี้โลกจึงกลายเป็นสถานที่อันตรายได้ทุกเมื่อ และสามารถมองคนอื่นเป็นศัตรูได้ทุกคน สำหรับแอดเลอร์แล้ว การสร้างข้ออ้างต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อหลีกเลี่ยงภารกิจของชีวิตก็คือการโกหกตัวเอง โดยความจริงก็คือกำลังปัดความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ไปให้คนอื่น ด้วยการกล่าวโทษคนรอบตัวบ้าง หาว่าเป็นความผิดของสภาพแวดล้อมบ้าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหลบเลี่ยงภารกิจของชีวิต แอดเลอร์ไม่ได้บอกว่าการหลีกหนีภารกิจของชีวิต และการโกหกตัวเองเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความกล้า ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้

อย่าเพียงแค่ยอมรับสิ่งที่มีแต่ให้นำไปใช้ประโยชน์

หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ ไม่ใช่หลักจิตวิทยาสำหรับอธิบายถึงสิ่งที่เป็นอยู่ แต่เป็นหลักจิตวิทยาสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ แนวคิดของฟรอยด์ที่ว่าอดีตคือตัวกำหนดทุกสิ่งนั้น เป็นหลักจิตวิทยาสำหรับอธิบายถึงสิ่งที่เป็นอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่ความเชื่อที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนถูกลิขิตเอาไว้แล้วล่วงหน้า ในขณะที่หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ เป็นหลักจิตวิทยาสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งบอกว่าคนที่กำหนดทุกอย่างคือตัวเราเอง มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอจนถูกแผลใจในอดีตบงการได้ง่าย ๆ หากเชื่อในแนวคิดเรื่องการยึดเป้าหมายเป็นสำคัญแล้วก็คือ คนที่เลือกชีวิตและไลฟ์สไตล์เองกับมือ มีพลังที่จะทำแบบนั้นได้ อิสรภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องพูดถึง เมื่อคุยกันเรื่องความกล้า

คืนที่ 3 ตัดเรื่องของคนอื่นทิ้งไปเสีย

จงเลิกปรารถนาการเป็นที่ยอมรับ โลกนี้อาจมีอิสรภาพบางอย่างที่เงินซื้อได้ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเงินก็จะเป็นอิสระจากความกังวลในเรื่องปัจจัย 4 อย่างอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่คิดว่า ยิ่งมีเงินมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีอิสรภาพ อยากจะเชื่อว่าคุณค่าและความสุขของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ ในเรื่องของความสัมพันธ์ ถ้าคน ๆ หนึ่งอยู่ท่ามกลางกองสมบัติ แต่กลับไม่มีใครรัก ไม่มีคนที่สามารถเรียกว่าเพื่อนสนิทได้ แถมยังถูกคนอื่นเกลียดอีก ชีวิตแบบนั้นคงจะทุกข์ระทมน่าดู เมื่อคิดถึงประเด็นนี้ ในหัวก็มีแต่คำว่าเชือกอยู่ตลอดเลย ทุกคนเหมือนถูกพันธนาการไว้ด้วยเชือก เพราะต้องทนคบกับคนที่ไม่ชอบ หรือต้องคอยสังเกตอารมณ์เจ้านายที่เหม็นขี้หน้า ลองจินตนาการถ้าหลุดพ้นไปได้ ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นแค่ไหน แต่ไม่มีใครทำแบบนั้นได้ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มีผู้คนเต็มไปหมด ต้องใช้ชีวิตโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ต้องเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีทางหลุดไปจากบ่วงความสัมพันธ์ที่รัดแน่นอยู่ได้ แอดเลอร์จึงบอกว่าความทุกข์ทั้งหมดของมนุษย์ ล้วนเป็นความทุกข์เรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น มันเป็นคำกล่าวของคนที่เข้าใจชีวิตอย่างทะลุปรุโปร่ง มนุษย์มีชีวิตอยู่โดยปรารถนาให้คนอื่นยอมรับ แอดเลอร์บอกไว้ว่า จงปฏิเสธความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับจากคนอื่น พูดอีกอย่างก็คือ ไม่ควรปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับจากคนอื่น

อย่าใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนอื่น

จริงอยู่ที่การได้รับการยอมรับจากคนอื่นเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คนเราอยากได้รับการยอมรับจากคนอื่นไปทำไม มันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า แถมยังช่วยลบล้างความรู้สึกต่ำต้อย และทำให้กลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง นี่เป็นปัญหาเรื่องคุณค่า อันตรายของการอยากได้รับความยอมรับ ทำไมถึงอยากให้คนอื่นยอมรับ หลัก ๆ แล้วก็เพราะได้รับอิทธิพลมาจากการเลี้ยงดูแบบให้รางวัลและลงโทษนั่นเอง การชมเชยเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม และทำโทษเมื่อแสดงกิริยาไม่เหมาะสม แอดเลอร์วิพากษ์วิจารณ์การเลี้ยงดูแบบนี้อย่างรุนแรง เพราะสิ่งที่จะเกิดตามมาคือไลฟ์สไตล์ที่มีปัญหา

คนที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยวิธีนี้ จะกลายเป็นคนที่ถ้าไม่มีใครชมก็จะไม่ทำเรื่องดี ๆ หรือถ้าไม่มีใครลงโทษก็จะทำเรื่องแย่ ๆ มนุษย์ไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อทำตามความคาดหวังของคนอื่น ในคำสอนของศาสนายูดาห์มีคำกล่าวว่า ถ้าเราไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อตัวเองแล้วใครจะมาใช้ชีวิตเพื่อตัวเรา ชีวิตเป็นของตัวเองมีแต่ตัวเองคนเดียวเท่านั้นที่ใช้มันได้ ถ้าถามว่าคนเราควรใช้ชีวิตเพื่อใครคำตอบก็คือเพื่อตัวเองอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถ้าไม่ใช้ชีวิตเพื่อตัวเองแล้วใครที่ไหนจะมาใช้ชีวิต สุดท้ายแล้วคนเราก็คิดถึงแต่ตัวเอง แล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ไม่ควรทำแบบนั้นด้วย จะมีความสุขกับสิ่งที่ทำได้อย่างไร ในเมื่อต้องคอยกังวลกับสายตาของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ต้องกลัวว่าจะมีใครตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์หรือเปล่า เลยต้องสะกดตัวตนของตัวเองเอาไว้ ไม่ได้หมายความว่าให้ทำทุกอย่างที่ทำโดยไม่สนใจใคร เพื่อให้เข้าใจตรงจุดนี้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องการแยกแยะธุระของแต่ละคนออกจากกัน ตามหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์เสียก่อน

อะไรคือการแยกแยะธุระของแต่ละคนออกจากกัน

มันจำเป็นต้องแยกแยะว่าเรื่องแต่ละเรื่องเป็นธุระของใคร โดยตั้งคำถามทุกครั้งว่านี่เป็นธุระของใคร เกือบทุกปัญหาที่เกิดจากความสัมพันธ์มักมีสาเหตุมาจากการที่เข้าไปก้าวก่ายธุระของคนอื่น หรือไม่ก็คนอื่นมาก้าวก่ายธุระของเรา ขอแค่สามารถแยกแยะได้ว่า เรื่องนี้เป็นธุระของใคร ความสัมพันธ์ที่มีปัญหาก็จะเปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว วิธีแยกแยะว่าเรื่องนี้เป็นธุระของใครนั้นง่ายนิดเดียว แค่คิดว่าสุดท้ายแล้วใครเป็นคนได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจนั้นก็พอแล้ว เวลาเด็กเลือกที่จะไม่ตั้งใจเรียน คนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจนั้นก็คือตัวเด็กเอง

นักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ไม่ได้สนับสนุนให้เลี้ยงลูกแบบปล่อยปะละเลย การปล่อยปละละเลยคือการไม่รู้ว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ และไม่พยายามจะรับรู้ด้วย แอดเลอร์บอกว่าพ่อแม่ควรเฝ้าดูว่า ลูกกำลังทำอะไรและคอยชี้แจงให้เขาเข้าใจว่า การเรียนเป็นภาระที่เขาต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง หากลูกนึกอยากเรียนขึ้นมาก็ต้องพร้อมให้การสนับสนุน แต่จะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายกับธุระของลูก หากเขาไม่ได้ขอก็อย่าเข้าไปจุ่นจ้าน บังคับให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง โดยไม่สนใจว่าเจ้าตัวต้องการอะไร มันก็มีแต่จะทำให้เขาต่อต้านขึ้นมาภายหลังเท่านั้น คนที่จะเปลี่ยนแปลงได้มีแค่ตัวเราเองเท่านั้น

จงทิ้งธุระที่ไม่ใช่ของตัวเอง

การเชื่อใจคนอื่นก็คือการแยกแยะธุระของแต่ละคนออกจากกัน คนอื่นจะทำตัวอย่างไรต่อความคาดหวังและความเชื่อใจนั้นก็เป็นธุระของพวกเขา ถ้ายัดเยียดความคาดหวังของตัวเองให้คนอื่นโดยไม่ขีดเส้นแบ่งไว้บ้างเลย มันก็จะกลายเป็นการก้าวก่าย การเข้าไปก้าวก่ายธุระของคนอื่น หรือเข้าไปแบกรับความทุกข์ของคนอื่นเอาไว้ จะทำให้ชีวิตทั้งทรมานและหนักขึ้น เวลาที่รู้สึกว่าชีวิตมีความทุกข์ ก็ขอให้รู้ไว้เลยว่ามันมีต้นเหตุมาจากความสัมพันธ์ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกก็คือ ต้องรู้จักขีดเส้นแบ่งว่าเกินจากนี้ไปไม่ใช่ธุระ แล้วก็ตัดธุระของคนอื่นทิ้งไปให้หมด ทำอย่างนั้นแล้วภาระในชีวิตจะเบาลง นั่นเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ชีวิตเรียบง่ายขึ้น

วิธีกำจัดความทุกข์ใจจากความสัมพันธ์ให้หมดไปในคราวเดียว

ทุกคนล้วนต้องเผชิญกับความทุกข์ใจจากความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับพ่อแม่พี่น้องหรือคนในที่ทำงาน วิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม อันดับแรกลองคิดดูว่านี่เป็นธุระของใคร และพยายามแยกแยะธุระของแต่ละคนออกจากกันให้ได้ จากนั้นก็ขีดเส้นแบ่งว่าธุระของตัวเองไปจบที่ตรงไหน แล้วธุระของคนอื่นเริ่มต้นเมื่อไหร่ เมื่อขีดเส้นแบ่งแล้วก็ต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายกับธุระของคนอื่น และอย่ายอมให้คนอื่นเข้ามาก้าวก่ายธุระของตัวเอง นี่เป็นเคล็ดลับที่เข้าใจง่ายชัดเจน และแปลกใหม่ตามหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ มันจะช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ใจ ที่เกิดจากความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ในช่วงพริบตา

จงตัดเงื่อนกอร์เดียนทิ้งเสีย

อเล็กซานเดอร์มหาราช พระองค์เป็นกษัตริย์คนสำคัญแห่งมาซิโดเนีย เมื่อประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล ตอนนำทัพไปอาณาจักรลิเดีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิเปอร์เซีย พระองค์พบเกวียนที่ถูกมัดติดอยู่กับเสาวิหารของเมืองอย่างแน่นหนา คนที่ผูกเงื่อนคืออดีตกษัตริย์กอร์เดียน มีคำพยากรณ์ที่เล่าขานกันในแถบนั้นว่า คนที่สามารถแก้เงื่อนดังกล่าวได้ จะได้เป็นมหาจักรพรรดิที่ครองครอบครองเอเชีย ผู้คนมากมายที่มั่นใจในฝีมือต่างมาลองแก้เงื่อนดังกล่าว ทว่ามันแน่นมากจนไม่มีใครแก้ได้ หลังจากพระองค์เห็นแล้วว่าเงื่อนนั้นแน่นหนาแค่ไหน พระองค์ก็ชักดาบออกมาฟันเงื่อนนั้นขาดเป็น 2 ท่อน ในตอนนั้นพระองค์กล่าวว่า โชคชะตาไม่ได้ถูกกำหนดโดยตำนาน แต่เป็นสิ่งที่ได้มาจากการฟาดฟันด้วยดาบในมือ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังความเชื่อ ก็สามารถบุกเบิกเส้นทางแห่งโชคชะตาด้วยดาบของตัวเองได้ หลังจากนั้นพระองค์ก็กลายเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ปกครองตั้งแต่แถบตะวันออกกลางไปจนถึงเอเชียตะวันตก และเงื่อนที่พระองค์ฟันขาดก็กลายเป็นตำนานอันโด่งดัง ในชื่อเงื่อนกอร์เดียน สรุปง่าย ๆ ก็คือเงื่อนที่ผูกไว้อย่างซับซ้อนนี้ เปรียบเสมือนความสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งเป็นเชือกที่พันธนาการเอาไว้ และไม่สามารถแก้ออกได้ด้วยวิธีที่เคยทำมา จึงต้องตัดมันทิ้งด้วยวิธีใหม่

ยิ่งอยากได้รับการยอมรับก็ยิ่งไร้อิสรภาพ

จะเลือกเป็นที่ยอมรับจากคนอื่น หรือจะเลือกชีวิตที่เป็นอิสระ แต่ไม่ได้รับการยอมรับ นั่นเป็นประเด็นที่สำคัญมาก จริงอยู่ว่าการใช้ชีวิตโดยใส่ใจกับสายตา และสีหน้าของคนอื่น หรือทำตามความคาดหวังของพวกเขาตลอดเวลา อาจเป็นชีวิตที่ง่ายดายกว่า แต่ก็เป็นชีวิตที่ปราศจากอิสรภาพ แล้วทำไมคนเราถึงยังเลือกวิถีชีวิตที่ไร้อิสรภาพอยู่ การใช้ชีวิตเพื่อเติมเต็มความคาดหวัง หรือฝากชีวิตของตัวเองไว้กับคนอื่น คือการโกหกตัวเองและคนรอบข้างไปวัน ๆ เท่านั้น

อิสรภาพที่แท้จริงคืออะไร

ไม่มีใครอยากถูกคนอื่นเกลียด สะท้อนให้เห็นความต้องการของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนทีเดียว แต่ไม่สามารถห้ามไม่ให้คนอื่นเกลียดได้ ทุกคนล้วนมีคนเกลียดด้วยกันทั้งนั้น นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เวลาถูกเกลียดหรือรู้สึกสงสัยว่าถูกเกลียดอยู่หรือเปล่า รู้สึกทุกข์กลุ้มใจและครุ่นคิดอยู่ตลอดว่า ทำไมจึงถูกเกลียด พูดหรือทำไม่ดีตรงไหน ถ้าทำแบบนั้นแบบนี้แทนจะดีกว่าไหม แล้วก็คงเอาแต่โทษตัวเองไม่เลิก มนุษย์เราล้วนไม่อยากถูกเกลียดกันอยู่แล้ว นักปรัชญาสมัยใหม่ผู้ยิ่งใหญ่อย่างอิมมานูเอล คานต์ เรียกความปรารถนาในลักษณะนี้ว่า ความโน้มเอียง มันคือความปรารถนาที่เกิดจากสัญชาตญาณและแรงกระตุ้นตามธรรมชาติ แต่การใช้ชีวิตไปตามความโน้มเอียงเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ต่างอะไรกับก้อนหินที่กลิ้งลงจากเนินเขา มันไม่ใช่การเป็นอิสระแต่เป็นทาสของแรงปรารถนาเสียมากกว่า อิสรภาพที่แท้จริงคือการพยายามดันตัวเอง ที่กำลังจะกลิ้งลงมาให้กลับขึ้นไปต่างหาก ความกล้าที่จะถูกเกลียดไม่ใช่การเอาแต่ใจ หรือดื้อรั้นหัวชนฝา แต่เป็นการแยกแยะธุระของแต่ละคนออกจากกันเท่านั้น ตัวอย่างเช่น แม้จะมีคนไม่ชอบ แต่นั่นก็ไม่ใช่ธุระของเราเลย การคิดว่าเขาควรจะชอบเรา หรืออุตส่าห์ทำขนาดนี้แล้ว ทำไมยังไม่ชอบอีก เป็นความคิดแบบหวังผลตอบแทน และถือเป็นการก้าวก่ายธุระของคนอื่น การเดินไปข้างหน้าโดยไม่กลัวว่าจะถูกคนอื่นเกลียด และเลิกใช้ชีวิตเหมือนสิ่งที่กลิ้งลงมาจากเนินนี่แหละ คืออิสรภาพของมนุษย์

อำนาจในการกำหนดความสัมพันธ์อยู่ในมือของตัวเราเอง

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าอำนาจ ในการกำหนดความสัมพันธ์อยู่ในมือของคนอื่น จึงกังวลว่าเขาจะคิดกับเรายังไง สุดท้ายเลยกลายเป็นว่าต้องใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนอื่น แต่ถ้ารู้จักแยกแยะว่าเรื่องนี้เป็นธุระของใคร ก็จะรู้ว่าอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของตัวเอง หากพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น ผู้คนมักจะนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน และความสัมพันธ์กับคนหมู่มาก แต่ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบไหน อันดับแรกต้องเริ่มจากตัวเองก่อน หากผูกมัดตัวเองเข้ากับความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับจากคนอื่น อำนาจในการกำหนดความสัมพันธ์ ก็จะตกอยู่ในมือของคนอื่นตลอดไป แต่สามารถเลือกได้ว่า จะปล่อยให้เป็นอย่างนั้น หรือจะเป็นคนคุมอำนาจเอาไว้ในมือเอง

คืนที่ 4 ศูนย์กลางของโลกอยู่ตรงไหน

จิตวิทยาปัจเจกบุคคลกับแนวคิดแบบองค์รวม จิตวิทยาปัจเจกบุคคลในภาษาอังกฤษคือ individual psychology โดยคำว่าปัจเจกบุคคล มีความหมายตามรากศัพท์ว่า แบ่งแยกไม่ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือมันเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ซึ่งแบ่งแยกไม่ได้อีกแล้ว แอดเลอร์ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นคู่ตรงข้าม เช่น การแบ่งแยกร่างกายออกจากจิตใจ การแบ่งแยกเหตุผลออกจากอารมณ์ความรู้สึก และการแบ่งแยกจิตสำนึกออกจากจิตใต้สำนึก แอดเลอร์มองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ ตอนที่ด่าทอคนอื่นด้วยความอารมณ์โกรธ ตัวเราซึ่งประกอบขึ้นจากทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นผู้เลือกที่จะตะโกนด่าเสียงดัง ไม่ใช่เพราะอารมณ์เพียงอย่างเดียว นี่เป็นแนวคิดแบบองค์รวม ซึ่งเสนอว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ เพราะตัวเราคือองค์รวม การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างกันเอาไว้ระดับหนึ่ง หากใกล้กันเกินไปจะหันหน้าเข้าหากันไม่ได้ แต่ถ้าห่างกันเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน ต้องเข้าใจก่อนว่าการแยกแยะธุระของแต่ละคนออกจากกัน ไม่ใช่สิ่งที่ทำไปเพื่อตีตัวออกห่างจากคนอื่น แต่เป็นวิธีการที่ช่วยคลายปม ของความสัมพันธ์ที่พันกันยุ่งเหยิง

เป้าหมายสูงสุดของความสัมพันธ์คือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

การแยกแยะธุระของแต่ละคนออกจากกันคือ จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดี ถ้าอย่างนั้นคนเราจะสร้างความสัมพันธ์ต่อกันไปเพื่อเป้าหมายก็คือ เพื่อให้ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม นี่เป็นหัวใจสำคัญของหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ และยังเป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงที่สุดด้วย อันที่จริงตอนที่แอดเลอร์เสนอแนวคิด เรื่องความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หลายคนถึงกับเลิกเชื่อถือแนวคิดของเขาเลยทีเดียว การมองว่าคนอื่นเป็นมิตร และรู้สึกว่าตรงนี้คือที่ของเราก็คือ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่สำหรับแอดเลอร์คำว่าสังคมไม่ได้หมายถึงแค่ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน หรือบริเวณละแวกบ้านเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงประเทศ มนุษยชาติ พืช ตลอดจนสิ่งไม่มีชีวิต ทั้งในอดีตและในอนาคต ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคือ ตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดว่า จะมีความสัมพันธ์ที่เป็นสุขได้หรือไม่ ในภาษาอังกฤษคำว่าความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สามารถเทียบได้กับคำว่า social interest หรือความใส่ใจต่อสังคม หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมตามหลักสังคมวิทยาคือ สังคมเกิดขึ้นได้เมื่อมีคนอยู่ด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

ทำไมถึงได้ใส่ใจแต่ตัวเอง

เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น เปลี่ยนจากคำว่าใส่ใจแต่ตัวเองมาเป็นคำว่ายึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นคนที่มีลักษณะที่ชอบวางอำนาจ พวกที่ชอบก่อกวนความสงบสุขของคนอื่น ก็คงจะเป็นพวกยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางได้เหมือนกัน แล้วก็พวกที่ชอบทำอะไรคนเดียว ร่วมมือกับคนอื่นไม่เป็น หรือคนประเภทที่เวลามาสายหรือผิดสัญญาก็ไม่สำนึกผิด ว่าไปแล้วก็คือพวกที่ทำอะไรตามอำเภอใจ แต่จริง ๆ แล้วต้องรวมคนอีกประเภทหนึ่งเข้าไปด้วย นั่นคือคนที่ไม่สามารถแยกแยะธุระของแต่ละคนออกจากกันได้ และยึดติดกับการได้รับการยอมรับจากคนอื่น คนกลุ่มนี้ก็ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากพอกัน การเอาแต่กังวลว่าคนอื่นจะมองอย่างไรนี่แหละ คือไลฟ์สไตล์แบบยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และใส่ใจแต่ตัวเองเท่านั้น

คุณไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก

คนที่ใส่ใจแต่ตัวเอง จะคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก และมองว่าคนอื่นเป็นแค่คนที่จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเรา พวกเขาเชื่อว่าทุกคนในโลกนี้ ควรคิดถึงความรู้สึกของพวกเขาก่อนเป็นอันดับแรก คนเหล่านี้พยายามเลื่อนชั้น จากตัวเองในชีวิตของตัวเอง ไปเป็นตัวเองของโลกใบนี้ ดังนั้น เวลาที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่น พวกเขาก็จะคิดแค่ว่าคน ๆ นี้ จะให้อะไรกับฉันได้บ้าง แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามที่พวกเขาหวังไว้เสมอไป ก็เพราะคนอื่นไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อทำตามความคาดหวังของพวกเขา ทุกคนต่างก็โหยหาความรู้สึกที่ว่า ตัวเองมีพื้นที่ในสังคม แต่สำหรับแอดเลอร์แล้วความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาเพียง เพราะสักแต่อาศัยอยู่ในสังคม แต่ต้องทุ่มเทให้กับสังคมนั้นอย่างเต็มที่ มันก็คือการเผชิญหน้ากับภารกิจของชีวิต ต้องไม่หลีกเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ทั้งด้านการงาน ด้านการเข้าสังคม และด้านความรัก ต้องอ้าแขนรับสิ่งเหล่านั้น ถ้าคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก ก็จะไม่ยอมทุ่มเทให้กับโลก สังคมแม้แต่นิดเดียว จะคิดแค่ว่าทุกคนคือคนที่จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อตนเอง และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปทำอะไรให้ แต่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลก จึงต้องก้าวออกไปสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยตัวเอง ไม่ใช่เอาแต่คิดว่าคน ๆ นี้จะให้อะไรกับเราได้บ้าง แต่ต้องคิดว่าเราจะให้อะไรกับคน ๆ นี้ได้บ้าง นี่แหละคือการทุ่มเทให้กับสังคม

จงฟังเสียงของสังคมที่ใหญ่กว่า

เมื่อไหร่ที่ความสัมพันธ์มีปัญหา และมองไม่เห็นทางออก สิ่งที่ควรคิดถึงเป็นอันดับแรกคือ จงฟังเสียงของสังคมที่ใหญ่กว่า สมมุติว่าครูในโรงเรียนชอบวางอำนาจ และถือสิทธิ์ขาดไปทุกเรื่อง แต่พวกเขาก็มีอำนาจแค่ในโรงเรียนเท่านั้น ไม่สามารถเอาอำนาจนั้นไปใช้ที่อื่นได้ หากยึดตามกฎเกณฑ์ของสังคมมนุษย์แล้ว ทั้งนักเรียนและครูต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้นถ้าถูกสั่งให้ทำอะไรที่ไร้เหตุผล ก็สามารถคัดค้านไปตรง ๆ ได้เลย การใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่า ความสัมพันธ์จะพังทลายก็คือ การใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นนี่เป็นวิถีชีวิตที่ไม่มีอิสรภาพ

อย่าลงโทษ อย่าให้รางวัล

ลองนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก โดยทั่วไปแล้วการอบรมลูกมักมีสองแนวทางให้เลือกใช้ นั่นคือการลงโทษกับการให้รางวัล พื้นฐานของหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ เวลาอบรมสั่งสอนเด็กหรือเวลาสื่อสารกับใคร แอดเลอร์ บอกว่าไม่ควรให้รางวัล หรือพูดง่าย ๆ ก็คือห้ามชม แน่นอนลงโทษด้วย การทำร้ายหรือทุบตี แล้วก็ไม่เห็นด้วยกับการดุด่าเช่นกัน เขาบอกว่าต้องห้ามว่าแล้วก็ห้ามชมนี่คือจุดยืนของแอดเลอร์ ลองคิดถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมการชมดู พฤติกรรมการชมมีลักษณะของการประเมินคน ที่ไร้ความสามารถโดยคนที่มีความสามารถ คุณแม่ที่เอ่ยชมลูกว่า เก่งจังเลย ทำได้ดีมาก หรือสุดยอดเลย ได้สร้างความสัมพันธ์แบบแบ่งชนชั้นขึ้นมา ส่งผลให้เธอมองว่าลูกอยู่ในสถานะต่ำกว่าตัวเองโดยไม่รู้ตัว เรื่องการศึกษาก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญแบบแบ่งชนชั้นเช่นกัน เวลาที่ให้รางวัลหรือชมเชยคนอื่น เป้าหมายก็คือการควบคุมบงการอีกฝ่าย ที่มีความสามารถด้อยกว่า ไม่ใช่เพราะนับถือหรือชื่นชม การที่ชมเชยหรือดุด่าคนอื่น ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการควบคุม ต่างกันแค่ว่าจะเลือกใช้ไม้อ่อนหรือไม้แข็ง ด้วยเหตุนี้แอดเลอร์จึงไม่เห็นด้วยกับทั้งสองวิธี เพราะมันเป็นแค่การควบคุมอีกฝ่ายเท่านั้น

วิธีปลุกความกล้า

หากถามว่าทำไมคนเราถึงเข้าไปก้าวก่ายธุระของคุณอื่น สาเหตุเพราะมาจากความสัมพันธ์แบบแบ่งชนชั้นนั่นเอง มองว่าคนอื่นต่ำต้อยกว่าจึงเข้าไปก้าวก่ายธุระของเขา เข้าไปก้าวก่ายเพราะอยากให้เขาทำอย่างที่ต้องการ และคิดเองเออเองว่าเป็นฝ่ายถูก ส่วนเขาเป็นฝ่ายผิด การก้าวก่ายเป็นแค่การพยายามควบคุมคนอื่นเท่านั้นเอง ถ้าสร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมได้ การก้าวก่ายกันก็หายไปด้วย ในทางตรงกันข้าม ความช่วยเหลือคือสิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม และรับรู้ว่าเรื่องนี้เป็นธุระของใคร ทางที่ดีพ่อแม่หรือครูควรสนับสนุนให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง ด้วยการบอกว่า ลูกทำได้นะ และช่วยให้เขาเผชิญหน้ากับปัญหาได้ด้วยตัวเอง แอดเลอร์เรียกการให้ความช่วยเหลือบนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมว่า การปลุกความกล้า แอดเลอร์เชื่อว่าการที่คน ๆ หนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ไม่ใช่เพราะไร้ความสามารถ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องของความสามารถเลย เขาแค่ขาดความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเป็นอันดับแรกคือ ช่วยให้เขากลับมามีความกล้าอีกครั้ง เพราะการได้รับคำชมเชยจะทำให้คนเราเชื่อว่าตัวเองไร้ความสามารถ ถ้ารู้สึกดีใจที่ได้รับคำชมก็เท่ากับว่ากำลังตกอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์แบบแบ่งชนชั้น และกำลังยอมรับว่าตัวเองไร้ความสามารถ  เพราะถ้าการเอาคำชมเชยมาเป็นเป้าหมายของชีวิต ก็จะลงเอยด้วยการใช้ชีวิตในแบบที่ต้องคอยทำตามความต้องการของคนอื่น สรุปก็คืออันดับแรกต้องแยกแยะธุระของแต่ละคนออกจากกัน จากนั้นก็ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน เมื่อสร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันได้ ก็จะมาถึงขั้นตอนการปลุกความกล้า

การทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า

แค่มองว่าอีกฝ่ายไม่ใช่เด็ก แต่เป็นเพื่อนร่วมงานที่มีความเสมอภาคกัน ตัวอย่างเช่น เวลาเพื่อนมาช่วยทำความสะอาดห้อง ต้องพูดคำว่า ขอบคุณ กับเพื่อนที่มาช่วยเพื่อแสดงความซาบซึ้งใจ ไม่ก็บอกว่า ดีใจมากเลย หรือ ช่วยได้เยอะเลย นี่คือแนวทางในการปลุกความกล้าที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไม่ตัดสินคุณค่าของคนอื่น คำพูดที่แสดงถึงการตัดสินคุณค่าของคนอื่น ล้วนมีที่มาจากความสัมพันธ์แบบแบ่งชนชั้นทั้งสิ้น เพราะถ้าเป็นความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม ถ้อยคำที่พูดออกมาจะแสดงถึงความซาบซึ้ง ความเคารพนับถือ และความยินดี เวลาได้ยินคำขอบคุณ คนเราจะรู้ทันทีว่าตัวเองได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น ถ้าถามว่าทำอย่างไรคนเราจึงจะมีความกล้า แอดเลอร์คิดว่า คนเราจะมีความกล้าได้ก็ต่อเมื่อคิดว่าตัวเองมีคุณค่าเท่านั้น คนเราจะคิดว่าตัวเองมีคุณค่าก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อสังคม นี่คือคำตอบตามหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์

แค่มีชีวิตอยู่ก็มีคุณค่าแล้ว

เมื่อทำประโยชน์ให้กับใครสักคน จึงรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าแบบนี้ ถ้ามองกลับกันก็หมายความว่า คนที่ไม่มีประโยชน์กับใครเป็นคนไม่มีคุณค่า ถ้าคิดแบบนี้เด็กทารกที่เพิ่งเกิด คนป่วย หรือคนแก่ที่ได้แต่นอนอยู่เฉย ๆ ก็กลายเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าพอจะมีชีวิตอยู่ไปเลย นั่นคือกำลังมองแค่การกระทำของคนอื่นอยู่ พูดง่าย ๆ คือดูแค่ว่าคน ๆ นั้นทำอะไรบ้าง ถ้าคิดจากแง่มุมนั้นก็จะมองเห็นแต่ภาพ คุณปู่ที่นอนอยู่เฉย ๆ คอยให้คนอื่นดูแล และไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับใครเลย อย่างไรก็ตามต้องไม่มองแค่ว่าคนอื่นกำลังทำอะไร แต่ต้องมองให้ลึกลงไปถึงตัวตนของเขา ไม่ควรตัดสินคนอื่นว่าทำอะไรบ้าง แต่ควรยินดีที่เขามีตัวตนในโลกนี้ และแสดงความขอบคุณต่อการมีตัวตนของเขา ตัวอย่าง สมมุติว่าแม่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ อาการหนักถึงขั้นไม่ได้สติ และอยู่ในสภาพเป็นตายเท่ากัน ในเวลานั้นคงไม่คิดว่าแม่ทำอะไรบ้าง แต่น่าจะรู้สึกว่าแค่แม่ยังอยู่ก็ดีใจแล้ว นั่นแหละความรู้สึกขอบคุณตัวตนของใครสักคน

อย่าเลือกปฏิบัติ

แค่คนเรามีชีวิตอยู่ก็มีประโยชน์กับใครสักคนแล้ว จึงสามารถคิดว่าตัวเองมีคุณค่าได้ ถ้ามองตามหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ ก่อนอื่นต้องสร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมขึ้นมาก่อน กับแค่คนเดียวก็ยังดี แล้วเริ่มต้นจากจุดนั้น แค่สร้างความสัมพันธ์แบบแบ่งชนชั้นกับใครสักคนเข้า ความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ทั้งหมดก็จะกลายเป็นแบบแบ่งชนชั้นไปด้วยโดยที่ไม่รู้ตัว หากเริ่มสร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกับใครสักคนได้สักครั้ง ไลฟ์สไตล์ก็จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ และทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ทุกคนเปลี่ยนไปเป็นแบบเท่าเทียมทั้งหมด การให้ความเคารพคนอายุมากกว่าเป็นเรื่องสำคัญ และการที่คนในบริษัทมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกันก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้บอกให้ทำเหมือนทุกคนเป็นเพื่อน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ต้องตระหนักว่าทุกคนเท่าเทียมกัน และยึดมั่นในสิ่งที่ควรยึดมั่นอย่างหนักแน่น

คืนที่ 5 ใช้ชีวิต ณ วินาทีนี้อย่างจริงจัง

หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งถี่ถ้วน และพบว่าเป้าหมายสูงสุดของการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นก็คือ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั่นเอง ความหมายของชีวิตคืออะไร แล้วเขาควรใช้ชีวิตมุ่งหน้าไปทางไหนดี

ความพะว้าพะวังคือสิ่งที่คอยขัดขวางตัวเรา

ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ เราล้วนอยากรู้สึกว่าตรงนี้คือที่ของเรา นี่ใช่เลยมองได้ทะลุปรุโปร่งมากว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์สังคม หากเริ่มจากการทำความเข้าใจตัวเองก่อน แล้วค่อยคิดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์อีกคนหนึ่ง เริ่มมองเห็นสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ได้ การที่เอาแต่จับตามองตัวเอง ก็เพราะไม่มั่นใจในตัวเอง ถึงได้คอยพะว้าพวังกับสายตาของคนอื่น ก็อย่างเวลาประชุมแล้วไม่กล้ายกมือแสดงความเห็น เพราะมักจะคิดไปเองว่า ถ้าถามเรื่องแบบนี้ไปอาจโดนคนอื่นหัวเราะเยาะเอาได้ หรือถ้าออกความเห็นไม่เข้าท่าต้องถูกมองว่าเป็นตัวตลกแน่เลย มักหวาดระแวงจนต้องคอยห้ามตัวเองอยู่ตลอดเวลา

จงยอมรับตัวเองไม่ใช่มั่นใจในตัวเอง

การที่รู้สึกหวาดระแวงจนต้องคอยห้ามตัวเองไว้ตลอดเวลา และไม่เคยทำอะไรแบบไม่ต้องคิดมากได้เลย เป็นปัญหาของคนจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นมาลองย้อนกลับไปที่เป้าหมายกัน มาดูว่าได้อะไรจากการคอยห้ามตัวเองไม่ให้ทำตามใจคิดบ้าง เป้าหมายคือการไม่โดนหัวเราะเยาะ และไม่ถูกมองว่าโง่แปลว่าไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เลยพยายามหลีกเลี่ยงที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น คนเราทำอะไรตามใจชอบกันทั้งนั้น เมื่ออยู่คนเดียวต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พูดง่าย ๆ ก็คือต้องเลิกใส่ใจแต่ตัวเอง แล้วหันไปใส่ใจคนอื่น หากทำได้ก็จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่างไรก็ตามจะทำสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อยอมรับตัวเอง เชื่อใจคนอื่นและช่วยเหลือคนอื่นเสียก่อน ความมั่นใจในตัวเองคือการลงมือทำเรื่องที่ไม่มีทางทำได้ พร้อมกับบอกตัวเองไปด้วยว่าฉันทำได้หรือฉันเก่ง นำไปสู่การมีความเด่นและเป็นการใช้ชีวิตด้วยการโกหกตัวเอง ในทางตรงกันข้ามการยอมรับตัวเองคือ การยอมรับว่าตัวเองทำไม่ได้ในเรื่องที่ทำไม่ได้จริง ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามพัฒนาตัวเองให้สามารถทำสิ่งนั้นได้ในที่สุด ไม่มีมนุษย์คนไหนสมบูรณ์แบบ 100% เรื่องนี้ต้องยอมรับ เรียกการทำแบบนี้ว่าการเต็มใจรับสภาพ ต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และอะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การยอมรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้คือ การยอมรับตัวตนที่เป็นอยู่ ส่วนสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเช่นตัวเราเอง ก็ต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยนมัน คนเรามีความสามารถเพียงพอ จะขาดก็แค่ความกล้าเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความกล้า

ความเชื่อถือและความเชื่อใจต่างกันอย่างไร

คำว่าเชื่อแบ่งออกเป็น 2 แบบนั่นคือ เชื่อถือกับเชื่อใจ คำว่าเชื่อถือในภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า Credit และจะใช้กับเรื่องที่มีเงื่อนไขมาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น กู้เงินจากธนาคาร มักให้กู้โดยประเมินมูลค่าของหลักประกัน แล้วบอกว่าให้กู้ได้เพียงแค่นี้ หรือให้กู้แค่เท่าที่จะสามารถใช้คืนได้ นี่เรียกว่าการเชื่อถือไม่ใช่เชื่อใจ แต่ในแง่จิตวิทยาแอดเลอร์บอกว่า รากฐานของความสัมพันธ์ที่ดีไม่ใช่การเชื่อถือแต่เป็นการเชื่อใจคือ การเชื่อคนอื่นอย่างไร้เงื่อนไข แม้จะไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงเพียงพอให้เชื่อถือก็ตามคือการเชื่อใจ เหตุผลที่หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์บอกให้จงเชื่อคนอื่นอย่างไร้เงื่อนไขนั้น ไม่ใช่เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องในทางศีลธรรม แต่เพราะมันเป็นวิธีที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ราบรื่นขึ้น และยังช่วยนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมได้ด้วย ห่วงแต่ว่าเวลาที่ถูกหักหลังจะเป็นยังไง เอาแต่สนใจว่าตัวเองเจ็บปวดแค่ไหน แต่ถ้ากลัวที่จะเชื่อใจคนอื่นแล้ว ในที่สุดก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับใครไม่ได้เลย หากคบกันแค่ผิวเผิน เวลาที่มีเรื่องหมางใจกันขึ้นมา ก็คงแค่เจ็บนิด ๆ แต่ความสุขที่ได้จากความสัมพันธ์แบบนั้นก็น้อยนิดด้วยเช่นกัน ต้องกล้าพอที่จะเชื่อใจคนอื่นจนสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นมาได้ ถึงจะมีความสุขเวลาคบหากับคนอื่นมากขึ้น และชีวิตก็จะมีความสุขยิ่งขึ้นด้วย การพยายามหลบเลี่ยงความเจ็บปวด ทำให้ไม่กล้ากระดิกตัวลงมือทำอะไร จนพลอยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับใครไม่ได้ไปด้วย มนุษย์สามารถทำได้ทั้งเชื่อใจและเคลือบแคลงสงสัยคนอื่น แต่เป้าหมายคือการมองว่าทุกคนเป็นมิตร ควรจะเลือกเชื่อใจหรือเคลือบแคลงสงสัย

แก่นแท้ของการทำงานคือการช่วยเหลือผู้อื่น

หากอยากจะรู้สึกว่าตรงนี้คือที่ของเรา ก็จำเป็นต้องมองว่าคนอื่นเป็นมิตร และหากอยากมองว่าคนอื่นเป็นมิตร ก็ต้องยอมรับตัวเองและเชื่อใจคนอื่นให้ได้เสียก่อน แค่ยอมรับตัวเองและเชื่อใจคนอื่นยังไม่พอ จำเป็นต้องช่วยเหลือคนอื่นด้วย คือการทำประโยชน์ให้กับคนที่คิดว่าเป็นมิตรนั่นแหละ คือการช่วยเหลือคนอื่น การช่วยเหลือคนอื่นไม่ใช่การอุทิศตัวเอง ตรงกันข้ามเลยต่างหาก แอดเลอร์ถึงกับบอกว่า คนที่อุทิศชีวิตตัวเองเพื่อคนอื่นคือ คนที่ทำตามความต้องการของสังคมมากเกินไปด้วยซ้ำ การช่วยเหลือคนอื่นจึงไม่ใช่การอุทิศตนจนถึงขั้นละทิ้งตัวเอง แต่เป็นการทำเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่างหาก

เรื่องการทำงานเป็นตัวอย่างที่เข้าใจง่ายที่สุด การทำงานไม่ว่าจะนอกบ้านหรือในบ้าน ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อหาเงิน แต่เป็นการช่วยเหลือคนอื่น และทุ่มเทให้กับสังคม การทำงานช่วยให้รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์กับใครสักคน และยังทำให้สัมผัสถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อีกด้วย แน่นอนว่าการหาเงินก็สำคัญเหมือนอย่างที่ดอสโตเยฟสกีบอกไว้ว่า เงินนำมาซึ่งอิสรภาพนั่นแหละ แต่ถึงอย่างนั้นโลกก็มีมหาเศรษฐีมากมายที่ยังทำงานอยู่ ทั้ง ๆ ที่ร่ำรวยเงินทองขนาดใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด พวกเขาทำงานเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือคนอื่นต่างหาก และเพื่อให้ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบรรดาเศรษฐีที่ร่ำรวยมหาศาล จึงมักจะทำกิจกรรมเพื่อการกุศล หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เพราะพวกเขาต้องการเน้นย้ำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคุณค่า

คนรุ่นใหม่ต้องเดินนำหน้าคนรุ่นเก่า

ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ทำนองนี้ดู มีครอบครัวหนึ่งที่พอกินอาหารเย็นเสร็จ ลูก ๆ ก็กลับเข้าห้องของตัวเอง ส่วนสามีก็ไปนั่งดูโทรทัศน์อยู่บนโซฟา ทั้งที่จานชามยังวางอยู่บนโต๊ะอาหาร ภรรยาเลยต้องคอยเก็บล้างอยู่คนเดียว ซ้ำร้ายคนในครอบครัวยังมองว่านี่เป็นเรื่องปกติ จึงไม่เคยคิดมาช่วยเลย ถ้าภรรยาจะคิดว่าทำไมไม่มีใครมาช่วยเราบ้างเลย หรือทำไมมีเราทำอยู่คนเดียว ก็คงไม่แปลกอะไร เวลาที่เจอกับเหตุการณ์แบบนี้ ต่อให้ไม่มีใครขอบคุณ ก็ยังอยากให้คิดว่ามีประโยชน์กับครอบครัว แทนที่จะคิดว่าไม่มีใครทำอะไรให้ฉันเลย ควรคิดว่าตัวเองสามารถทำอะไรให้คนอื่นได้บ้างแล้วลงมือทำ ขอแค่มีความรู้สึกที่อยากจะช่วยเหลือคนอื่น ก็จะมองเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ต้องยอมรับตัวเองในแบบที่เป็นอยู่ให้ได้ก่อน ถึงจะเชื่อใจคนอื่นได้โดยไม่กลัวว่าจะถูกหักหลัง และเมื่อเชื่อใจคนอื่นโดยปราศจากเงื่อนไขได้แล้ว ก็จะมองว่าทุกคนเป็นมิตร และเมื่อพวกเขาเป็นมิตร ก็จะสามารถช่วยเหลือคนอื่น และรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์กับใครสักคน สุดท้ายแล้วความรู้สึกดี ๆ นั้นก็จะย้อนกลับมาทำให้ยอมรับตัวเองในแบบที่เป็นอยู่ได้ มันเป็นวัฏจักร เป้าหมายของมนุษย์ที่แอดเลอร์พูดถึง เป้าหมายด้านพฤติกรรมมี 2 อย่างคือ 1. พึ่งพาตัวเองได้ 2. ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ดี เป้าหมายด้านจิตวิทยาที่คอยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวมี 2 อย่าง 1. รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ 2. รู้สึกว่าทุกคนเป็นมิตรของเรา พูดง่าย ๆ ก็คือ พึ่งพาตัวเองได้กับรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถในข้อ 1 ของเป้าหมายทั้งสองด้านคือ เรื่องของการยอมรับตัวเอง ส่วนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ดี กับรู้สึกว่าทุกคนเป็นมิตรของเราในข้อ 2 คือ เรื่องของการเชื่อใจกับช่วยเหลือคนอื่น

กว่าจะเข้าใจหลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์อย่างถ่องแท้ จนสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้นั้น จำเป็นต้องใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย น่าจะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เร็ว ซึ่งเท่ากับว่าเดินนำหน้าคนรุ่นเก่า ๆ ไปแล้ว ถ้าอยากเปลี่ยนตัวเอง และสร้างโลกที่ดีขึ้น ต้องเดินนำหน้าออกไป แม้จะหลงทางบ้างก็ได้ จะผิดพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้ดำเนินชีวิตอย่างเป็นอิสระ ไม่หลงไปสร้างความสัมพันธ์แบบแบ่งชนชั้น และกล้าที่จะถูกเกลียดก็พอ

พวกบ้างานคือคนที่โกหกตัวเอง

แน่นอนว่าโลกนี้มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่แปลกอะไรที่จะรู้สึกไม่พอใจขึ้นมาบ้าง แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน ปัญหาก็อยู่ที่คน ๆ นั้นเพียงคนเดียว ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นคนไม่ดีไปด้วย คนที่มีปัญหาด้านจิตใจมักจะใช้คำว่าทุกคนตลอดเวลาและทุกอย่าง ตัวอย่างเช่นทุกคนเกลียดฉัน หรือมีแต่ฉันที่เสียเปรียบตลอดเวลา หรือฉันทำอะไรก็ผิดหมดทุกอย่าง ถ้าใช้คำพวกนี้จนติดปากก็ควรระวังไว้ หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์บอกว่า คนประเภทนี้จะมองชีวิตเพียงด้านเดียว กล่าวคือเขาจะมองแค่จุดเล็ก ๆ เพียงจุดเดียว แล้วใช้จุดนั้นมาตัดสินทุกอย่าง คนที่เป็นแบบนี้มักใส่ใจแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันเป็นแค่เศษเสี้ยวของเรื่องราวทั้งหมด แต่กลับเอามันมาตัดสินทุกอย่างบนโลก คนพวกนี้ก็มักจะมองชีวิตเพียงด้านเดียวเช่นกัน ส่วนคนบ้างานก็ทุ่มความสนใจทั้งหมด ไปกับด้านใดด้านหนึ่งของชีวิตเพียงอย่างเดียว คนบ้างานชอบแก้ตัวว่า เพราะงานยุ่งเลยไม่มีเวลานึกถึงครอบครัว แต่นั่นเป็นการโกหกตัวเอง และเป็นการเอางานมาเป็นข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบอื่น ๆ เท่านั้น มองว่าคนเราต้องไม่ละทิ้งเรื่องอื่น ๆ ที่ควรใส่ใจในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน การเลี้ยงดูลูก การเข้าสังคม หรือการทำงานอดิเรกก็ตาม หลีกหนีจากภารกิจของชีวิตนั่นเอง อันที่จริงการทำงานไม่ได้หมายถึงงานนอกบ้านเท่านั้น ยังรวมถึงงานในบ้าน การเลี้ยงดูลูก การช่วยเหลือเพื่อนบ้าน และงานอดิเรก ทั้งหมดนี้ถือเป็นการทำงานเช่นกัน งานที่สร้างรายได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น การทุ่มเทให้เพียงแค่งานที่สร้างรายได้ จึงถือเป็นการมองชีวิตเพียงด้านเดียว คนที่เป็นแบบนั้นคิดว่าคุณค่าของตัวเองอยู่ที่การกระทำเพียงอย่างเดียว เขาคิดว่าตัวเองทำงานหนัก เป็นคนหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว แถมสังคมก็ยอมรับเขา ชีวิตเพียงด้านเดียวของคนที่เป็นแบบนั้น คิดว่าคุณค่าของตัวเองอยู่ที่การกระทำเพียงอย่างเดียว เขาคิดว่าตัวเองทำงานหนัก เป็นคนหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว แถมสังคมก็ยอมรับเขา ฉะนั้นเขาจึงต้องเป็นคนที่มีคุณค่าที่สุดในครอบครัวอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าใครก็ต้องมีวันที่ตัวเอง ไม่สามารถหารายได้ต่อไปได้อีก จะยอมรับตัวเองแค่ในระดับการกระทำ หรือจะยอมรับตัวเองอย่างลึกซึ้ง ถึงระดับตัวตนนั้น ขึ้นอยู่กับความกล้าที่จะมีความสุข

คนเรามีความสุขได้ตั้งแต่วินาทีนี้

ความกล้าที่จะมีความสุข นี่เป็นจุดสำคัญเลยทีเดียว ความสุขของคนเราคืออะไร นี่เป็นหนึ่งในคำถามที่นักปรัชญาพยายามหาคำตอบมาตลอด ความสุขคือการรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือคนอื่น มนุษย์ทุกคนสามารถมีความสุขได้ แต่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะมีความสุข เพราะนอกจากจะต้องลงมือช่วยเหลือแล้ว เจ้าตัวยังต้องรู้สึกด้วยว่าได้ช่วยเหลือ และมีประโยชน์ต่อคนอื่น อย่าลืมประเด็นสำคัญไป ถ้าอยากช่วยเหลือเพราะต้องการการยอมรับจากคนอื่น สุดท้ายก็จะต้องใช้ชีวิตตามความคาดหวังของพวกเขาอย่างไม่มีทางเลือก ถ้าช่วยเหลือคนอื่นเพราะอยากได้รับการยอมรับ ก็จะไม่เป็นอิสระ ต่อให้มีความสุขก็สุขได้ไม่เต็มที่ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยากมีความสุข และมีอิสระภาพไปพร้อม ๆ กัน

เส้นทาง 2 เส้นที่คนอยากเป็นคนพิเศษจะมุ่งหน้าไป

ทำตัวเป็นคนที่ดีเป็นพิเศษ หรือทำตัวเป็นคนที่แย่เป็นพิเศษ พฤติกรรมทั้ง 2 แบบต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ เรียกร้องความสนใจจากคนอื่น เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากการเป็นคนธรรมดามาเป็นคนพิเศษ จุดมุ่งหมายของพวกเขามีแค่นี้ สำหรับเด็กที่ทำตัวเป็นคนที่แย่เป็นพิเศษ หรือที่มักเรียกกันว่าเด็กมีปัญหา พวกเขาจะเรียกร้องความสนใจจากคนอื่น โดยไม่พยายามทำสิ่งดี ๆ หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์เรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่า การแสวงหาความเหนือกว่าแบบมักง่าย

กล้าที่จะเป็นคนธรรมดา

ทำไมคนเราถึงอยากเป็นคนพิเศษกัน หรือนั่นเป็นเพราะพวกเขายอมรับตัวเองที่เป็นคนธรรมดาไม่ได้ และเมื่อไม่สามารถเป็นคนที่ดีเป็นพิเศษได้ เขาจึงกระโจนเข้าสู่ขั้วตรงข้าม และกลายเป็นคนที่แย่เป็นพิเศษแทน แต่การเป็นคนธรรมดา หรือคนปกติทั่วไปไม่ดีจริง ๆ อย่างนั้นหรือ มันมีข้อเสียตรงไหนกัน ที่จริงแล้วทุกคนก็เป็นคนธรรมดาไม่ใช่หรือ นี่คือสิ่งที่ต้องไตร่ตรองให้หนัก การยอมรับตัวเองเป็นก้าวแรกที่สำคัญ เมื่อกล้าที่จะเป็นคนธรรมดาแล้ว ทัศนคติที่มีต่อโลกก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การเป็นคนธรรมดาไม่ได้หมายถึงการไร้ความสามารถ ไม่จำเป็นต้องอวดอ้างว่าตัวเองเก่งกว่าหรือเหนือกว่าใครเลย การพยายามจะทำให้ตัวเอง กลายเป็นคนพิเศษให้ได้นั้นเป็นเรื่องอันตราย

ชีวิตคือจุดที่เชื่อมต่อกัน

หากเป้าหมายของชีวิตคือการไปให้ถึงยอดเขา ชีวิตที่ผ่านมาก็จะเป็นแค่ทางผ่าน พูดอีกอย่างก็คือ ชีวิตที่แท้จริงจะเริ่มขึ้นหลังจากพิชิตยอดเขาสำเร็จแล้ว ส่วนชีวิตระหว่างที่เดินขึ้นเขามาคือชีวิตชั่วคราว ที่เกิดจากตัวตนชั่วคราว แต่แอดเลอร์มองคนที่คิดว่าชีวิตเหมือนกับการปีนเขานั้น จะมองว่าชีวิตคือเส้นที่ลากขึ้นสู่ยอดเขา โดยเส้นนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่ตอนลืมตาดูโลก กว่าจะถึงยอดเขาก็วกเป็นเส้นโค้งบ้าง หักมุมบ้าง แล้วท้ายที่สุดก็ไปถึงจุดหมายปลายทางที่เรียกว่าความตาย นั่นหมายความว่าชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นแค่ทางผ่าน ให้คิดว่ามันไม่ได้เป็นเส้นแต่เป็นจุดที่เชื่อมต่อกัน เวลาที่ใช้แว่นขยายส่องดูเส้นที่เขียนด้วยช็อค จะเห็นว่าเส้นนั้นคือจุดเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกัน ฉะนั้นชีวิตที่เห็นว่าเป็นเส้น จริง ๆ แล้วเป็นจุดเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกันต่างหาก จุดหนึ่งจุดก็คือเวลาแต่ละวินาทีในตอนนี้ ซึ่งเชื่อมต่อกันไปเรื่อย ๆ เป็นเรื่องราวของชีวิต เรียกได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตก็คือ สิ่งที่กำลังทำอยู่ในวินาทีนี้

จงใช้ชีวิตให้เหมือนการเต้นรำ

ชีวิตคนเราคือจุดที่เชื่อมต่อกัน เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการเต้นรำ ที่เกิดขึ้นตามจังหวะเพลงไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวินาที ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป รู้ตัวอีกทีก็จะรู้สึกว่ามาถึงตรงนี้ได้ยังไงกัน คนบางคนฝันอยากเป็นนักไวโอลิน พอฝึกไปฝึกมาก็ได้เป็นนักไวโอลินอาชีพไปเสียอย่างนั้น หรือบางคนก็กลับกลายไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางอื่นแทน แต่ไม่ว่าจะจบแบบไหน ชีวิตคนเราก็ไม่ได้จบลงที่ทางผ่าน ขอแค่ทุ่มเทให้กับวินาทีนี้อย่างสุดกำลังก็พอแล้ว จุดมุ่งหมายของการเต้นรำคือการได้เต้นรำ คงไม่มีใครคิดล่วงหน้าว่าเต้นรำแล้วจะไปหยุดอยู่ตรงไหน แน่นอนว่าการเต้นรำนั้นจะพาออกจากจุดเริ่มต้น และเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่เรียกว่าจุดหมายของการเต้นรำไม่มีอยู่ ชีวิตที่เดินหน้าไปสู่เป้าหมายอย่างคือสิ่งที่เรียกว่าชีวิตที่ต้องได้รับการเติมเต็ม ในทางตรงช้าม ชีวิตที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ เหมือนกับการเต้นรำคือ สิ่งที่เรียกว่าชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวมันเอง

สมมุติว่ามีเป้าหมายคือการเป็นทนายความ ก็ต้องพยายามทำให้ตัวเองเป็นทนายความให้เร็วที่สุด โดยใช้วิธีที่ได้ผลสูงสุด ถ้ามองว่าชีวิตเป็นอย่างนั้น การไปไม่ถึงจุดหมายหรือหยุดอยู่กลางทางก็เท่ากับความล้มเหลว นี่คือการใช้ชีวิตแบบที่ต้องได้รับการเติมเต็ม ส่วนชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวเองคือ ชีวิตที่เน้นการทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ในขณะนี้จนสำเร็จไปเองโดยไม่รู้ตัว

จงให้ความสำคัญกับวินาทีนี้

ชีวิตของคนเราคือจุดที่เชื่อมต่อกัน ไม่ใช่เส้นที่ลากจากจุดเริ่มต้นในอดีต ไปสู่จุดหมายในอนาคต ดังนั้น ทั้งอดีตและอนาคตจึงไม่มีความสำคัญ ที่เอาแต่มองอดีตและอนาคตเป็นเพราะต้องการมองหาข้อแก้ตัวให้กับความล้มเหลว แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอดีตนั้น ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือส่งผลกับวินาทีนี้ และไม่ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องมาครุ่นคิดในวินาทีนี้เช่นกัน หากเชื่อในแนวคิดที่ว่าอดีตคือตัวกำหนดทุกสิ่ง ก็เท่ากับว่ามองชีวิตเหมือนกับละคร ที่ต้องดำเนินเรื่องตามลำดับเวลา เรื่องราวในอดีตจะส่งผลโดยตรงต่อปัจจุบันและอนาคต การมองชีวิตเป็นเหมือนละครอาจทำให้ชีวิตดูน่าสนใจ แต่มันก็สามารถลวงตาให้เชื่อว่าตัวเองมองเห็นเส้นทางที่ทอดอยู่ข้างหน้าจนหลงเดินตามไปได้ จากนั้นก็จะคิดว่าเพราะอดีตเป็นแบบนั้น ก็เลยต้องใช้ชีวิตแบบนี้ ถ้าเกิดมีอะไรผิดพลาดขึ้นมา คนผิดก็ไม่ใช่ตัวเราแต่เป็นอดีต หรือสภาพแวดล้อมต่างหาก เพราะฉะนั้นอดีตจึงเป็นสิ่งที่นำมาใช้เป็นข้อแก้ตัว หรือเอาไว้โกหกตัวเอง ควรมองว่าชีวิตต่อจากนี้ไปเป็นกระดาษสีขาว ไม่มีเส้นสีขีดไว้เพื่อให้เดินตาม ให้ความสำคัญกับวินาทีนี้ และใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องที่ทำได้ในปัจจุบันด้วยความมุ่งมั่น

การโกหกตัวเองที่เลวร้ายที่สุด

คนเราไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายหรอก การใช้ชีวิตโดยทุ่มเทให้กับวินาทีนี้อย่างจริงจัง ก็คือการใช้ชีวิตเหมือนกับการเต้นรำแล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงต้องทำอย่างเคร่งเครียด ใช้ชีวิตอย่างจริงจังกับทุกจังหวะเวลา แต่ไม่ต้องถึงกับเคร่งเครียด อีกอย่างที่ควรจำไว้ก็คือ หากมองว่าชีวิตเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวเอง ไม่ว่าจะทำอะไรในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตก็จะไม่รู้สึกเสียใจ การโกหกตัวเองที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การเอาแต่มองอดีตและอนาคต โดยไม่สนใจชีวิตในวินาทีนี้ มัวแต่หันไปมองชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาของตัวเอง ด้วยความหวังว่าจะได้พบอะไรบางอย่าง การทำแบบนั้นคือการโกหกตัวเองที่เลวร้ายมาก เป็นการไม่อยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ณ วินาทีนี้ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด คนเราควรมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ทั้งอดีตและอนาคตไม่มีความสำคัญ เมื่อวานและพรุ่งนี้ไม่ได้เป็นตัวกำหนดชีวิต แต่เป็นวินาทีนี้ต่างหากที่ต้องใส่ใจ

จงมอบความหมายให้กับชีวิตที่ไม่มีความหมาย

ถ้าชีวิตคือจุดและควรอยู่กับวินาทีนี้เท่านั้น แล้วความหมายของชีวิตคืออะไรกันแน่ แอดเลอร์ตอบว่า ชีวิตของเราไม่มีความหมาย เราเป็นคนมอบความหมายให้กับชีวิตของตัวเอง โลกใบนี้มีเรื่องที่อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ ชีวิตมนุษย์ไม่ได้มีเหตุผลหรือมีความหมายเสมอไป แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น หากเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นตรงหน้า แล้วไม่ยอมทำอะไรเลย ก็เท่ากับว่ายอมจำนนให้กับมัน ดังนั้น ไม่ว่าจะพบเจอสถานการณ์อะไร ก็ต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ต้องสู้เพื่อไม่ให้ตัวเองไหลไปตามสถานการณ์ เหมือนกับหินที่กลิ้งลงจากเนินเขา คำกล่าวของแอดเลอร์ที่ว่า เราเป็นคนมอบความหมายให้กับชีวิตของตัวเองเป็นข้อเท็จจริง จริง ๆ แล้วชีวิตไม่ได้มีความหมาย แต่มีใครบางคนมอบความหมายให้กลับมัน และคน ๆ นั้นก็คือตัวเราเอง ควรทำยังไงถึงจะมอบความหมายให้กับชีวิตที่ไม่มีความหมาย นั่นเป็นเพราะกำลังหลงทางอยู่ ถ้าถามว่าทำไมจึงหลงทาง คำตอบก็เพราะว่ากำลังหาทางที่จะใช้ชีวิตที่มีอิสระภาพอยู่ ซึ่งก็คือชีวิตที่ไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกคนอื่นเกลียด ไม่ต้องทำตามความคาดหวังของคนอื่น เวลาตัดสินใจเลือกชีวิตที่มีอิสระ ดังนั้น ให้เป็นเข็มทิศสำหรับคนที่อยากมีชีวิตที่เป็นอิสระ ชีวิตคนเราจำเป็นต้องมีดวงดาวนำทาง เหมือนกับที่นักเดินทางต้องพึ่งพาดาวเหนือ การมุ่งหน้าไปตามทิศทางใดทิศทางหนึ่งแล้ว จะไม่มีวันหลงทาง จะมีอิสรภาพและสามารถทำในสิ่งที่อยากทำ ใครจะเกลียดก็ปล่อยให้เขาเกลียดไป มาใช้ชีวิต ณ วินาทีนี้อย่างจริงจัง เลิกมองอดีตและอนาคต ใส่ใจกับชีวิตในช่วงเวลานี้ ให้เหมือนกับที่ต้องใส่ใจทุกย่างก้าวขณะเต้นรำ แล้วทำให้มันเป็นก้าวที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใคร และไม่จำเป็นต้องมีจุดหมายปลายทางด้วย เพราะการเต้นรำนั้นจะพาเราไปที่ไหนสักแห่งเอง ตัวเรานั้นมีพลังยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะประเมินได้ ถ้าตัวเราเปลี่ยนแปลงโลกก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โลกรอบตัวไม่ใช่สิ่งที่ใครคนอื่นจะเปลี่ยนแปลง จะมีก็แต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงได้.