สรุปหนังสือ เทคนิคเปลี่ยนคุณเป็นคนไม่ผัดวันประกันพรุ่ง และลงมือทำทันที
บรรดาคนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้สำเร็จ ล้วนมีคุณสมบัติบางอย่างที่เหมือนกัน พวกเขามีแรงขับเคลื่อนที่จะลงมือทำ หรือเรียกอีกอย่างว่าพวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการลงมือทำทันทีนั่นเอง คนที่จะสร้างผลงานได้คือคนที่ลงมือทำทันทีก่อนใคร คนที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้คือคนที่ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ในทันที แน่นอนว่าความรู้เป็นเรื่องสำคัญ และวิธีการก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากปราศจากความรู้และวิธีการ ย่อมไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนังสือเล่มนี้อธิบายเรื่องการผัดวันประกันพรุ่ง แล้ววิเคราะห์สาเหตุว่าทำไมคนเราถึงเป็นแบบนั้น พร้อมทั้งแนะนำ 55 วิธีที่จะช่วยให้คนชอบผัดวันประกันพรุ่ง กลายเป็นคนที่ชอบลงมือทำทันทีในพริบตา ที่สำคัญได้มีการออกแบบให้วิธีเหล่านี้ สามารถทำตามได้อย่างง่ายดาย และส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาสั้น ๆ เพียงไม่ถึง 1 นาทีเท่านั้น
ผู้เขียน ซาซากิ โซโกะ เป็นนักเขียนหนังสือแนวจิตวิทยา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการรู้คิด ปัจจุบันเขามีผลงานหนังสือแนวจิตวิทยาออกมาหลายเล่ม และเขียนบทความแนวจิตวิทยาลงในบล็อกส่วนตัวด้วย
- อย่าคาดหวังว่าตัวเองในอนาคตจะลงมือทำ
คำพูดติดปากของคนที่ลงมือทำทันทีไม่เป็นก็คือ เดี๋ยวค่อยทำทีหลัง ถึงจะไม่ลงมือทำตอนนี้แล้วเลื่อนไปทำทีหลัง นั่นก็ไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนไปเลย สถานการณ์และความสามารถจะไม่ต่างไปจากตอนนี้แม้แต่น้อย ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องกลับมาเผชิญกับสถานการณ์เหมือนในตอนนี้อีกครั้งอยู่ดี นักผัดวันประกันพรุ่งจะคิดว่าตัวเองในอนาคตเก่งกว่าตัวเองตอนนี้เสมอ จิตใจชอบคิดว่าอนาคตจะดีกว่าปัจจุบัน และตัวเราในอนาคตจะเก่งกว่าและเยี่ยมยอดกว่าในตอนนี้
ทำไมคนเราถึงยังคาดหวังว่าตัวเองในอนาคตจะดีขึ้นกว่าเดิม คำตอบคือเพราะจิตใจของเรากำลังพยายามปกป้องตัวเรานั่นเอง การคิดว่าอนาคตย่อมดีกว่าปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้มีชีวิตอยู่ต่อไป การเตรียมตัวให้พร้อมที่จะลงมือทำได้ทุกเวลาที่ต้องการ นี่แหละคือเคล็ดลับที่ทำให้ความสุขที่รออยู่ในอนาคตอันใกล้กลายเป็นจริงขึ้นมา
- ลงมือทำในตอนเช้า
การออมเงินกับการใช้หนี้ มีโอกาสทำเรื่องไหนสำเร็จได้มากกว่ากัน หลายคนคงตอบว่าใช้หนี้ นั่นเป็นเพราะว่าเวลาที่ไม่จ่ายหนี้ ย่อมโดนคนตามจิกตามทวง แต่เวลาที่ไม่ออมเงินไม่เห็นจะมีใครมาว่าอะไรเลย พูดง่าย ๆ ก็คือการชำระหนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องสำคัญหรือเรื่องที่ต้องทำก็เลยทำได้นั่นเอง เรื่องที่ลงมือทำตอนนี้ไม่ได้คือเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องทำตอนนี้ จงลงมือทำก่อนที่จะเปรียบเทียบว่าอะไรสำคัญกว่ากัน
ควรทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ลงมือทำเรื่องที่ทำตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างแรกในตอนเช้า ถึงจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสำคัญ แต่ถ้าสักวันก็ต้องทำอยู่ดี หรือเป็นเรื่องที่อยากทำมากจริง ๆ ก็จัดการลงมือทำมันเป็นอย่างแรกในตอนเช้าเลย สิ่งสำคัญคือ ต้องลงมือทำเรื่องนั้นก่อนที่จะคิดเปรียบเทียบลำดับความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆ
- โยนปัจจุบันทิ้งไป
จริง ๆ แล้ว สาเหตุที่คนเราลงมือทำไม่ได้สักทีนั้น มักจะเป็นเพราะไม่อยากมานึกเสียใจทีหลังที่ทิ้งเรื่องที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ไปหรือพูดอีกอย่างก็คือ ความรู้สึกที่อยากจะรักษาทุกอย่างไว้ให้เหมือนเดิม การรู้สึกรักและผูกพันกับสิ่งที่เป็นเจ้าของ จะไม่รู้สึกแบบนั้นกับสิ่งของที่วางขายอยู่ในร้าน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงรู้สึกปวดใจเวลาที่ต้องปล่อยอะไรให้หลุดมือไป การปล่อยให้สิ่งที่เกือบจะตกเป็นของตัวเองหลุดมือไป เป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดอย่างยิ่ง มักกลัวกันว่าอนาคตอาจแย่กว่าที่เป็นอยู่ เลยกลายเป็นว่าไม่กล้าเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ ไปเสียอย่างนั้น
ไม่อยากปล่อยให้ความสุขสบายในตอนนี้หลุดมือไป คงเคยมีประสบการณ์ทำนองนี้ขณะที่กำลังนั่งดูโทรทัศน์อยู่บนโซฟา ก็นึกขึ้นมาได้ว่ามีงานที่ต้องทำให้เสร็จในวันพรุ่งนี้ ในสถานการณ์ดังกล่าว สิ่งที่ควรทำก็คือรีบลุกจากโซฟาแล้วตรงดิ่งไปยังโต๊ะทำงาน แต่กลับไม่สามารถทำได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกำลังสุขสบาย จึงเกิดความรู้สึกว่าทำไมจะต้องทิ้งความสุขสบายนั้นไปทำงานมันน่าจะทำให้ลำบากไม่ใช่หรือ ถ้าเกิดความรู้สึกเช่นนั้นแล้วไม่มีทางที่จะผ่านออกจากหน้าโทรทัศน์ได้แน่นอน
วิธีจะเอาตัวออกจากการเสพติดภาวะสุขสบายแบบนี้ก็คือ ต้องไม่เริ่มด้วยการหักโหมทำสิ่งที่ยากลำบากในทันที เพราะมันจะทำให้รู้สึกต่อต้านจนไม่อยากทำขึ้นมาแทนที่จะทำแบบนั้น ให้หันไปพยายามทิ้งความสบายให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก
- ทิ้งความสุขสบายไป
เวลาจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง จำเป็นต้องหยุดทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้ก่อน แล้วค่อยหันไปเริ่มทำสิ่งใหม่ โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีนิสัยเกียจคร้าน และพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องที่ไม่ชอบกับเรื่องที่ยากลำบากให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งที่ต้องทำต่อไปเป็นเรื่องที่ไม่ชอบและยากลำบาก โอกาสที่จะลงมือทำก็ยิ่งลดน้อยลงไปอีก
- กระตุ้นด้วยความตื่นกลัว
มนุษย์เรามักเพิกเฉยต่อสิ่งที่ตัวเองไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะต้องการหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้ไม่มีความสุขหรือไม่รู้สึกสนุก พูดง่าย ๆ ก็คือมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่รักสนุก จิตใจของมนุษย์นั้นน่าพิศวงมาก เมื่อมีความเป็นไปได้ต่ำว่าเรื่องบางอย่างจะเกิดขึ้น มนุษย์มักคิดว่าเรื่องนั้นจะเกิดขึ้นจริง ๆ แต่เมื่อมีความเป็นไปได้สูงมนุษย์กลับคิดว่า เรื่องนั้นจะไม่เกิดขึ้นหรอก หากต้องการใช้ความรู้สึกตื่นตัวมาเป็นแรงกระตุ้นให้ทำอะไรสักอย่าง จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเสพสื่อ คำเล่าลือ หรือแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะสิ่งเหล่านี้มีแต่จะทำให้ตื่นตระหนก จนไม่อยากลงมือทำอะไรอยู่ดี
- คาดการณ์ล่วงหน้า
ความขัดแย้งที่ผุดขึ้นในใจระหว่างความรู้สึกอยากทำกับความรู้สึกไม่อยากทำ ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถลงมือทำอะไรได้เลย สาเหตุที่คนเรากังวลเป็นเพราะไม่ต้องการรับรู้สภาพปัจจุบัน สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ารับรู้และเข้าใจสภาพปัจจุบันดีแค่ไหน เพราะต่อให้รับรู้และเข้าใจมันดี แต่สภาพปัจจุบันก็ยังคงเหมือนเดิมอยู่ดี สภาพปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อลงมือทำอะไรสักอย่างเท่านั้น ต้องรู้สึกอยากคาดการณ์ล่วงหน้าด้วย ถึงจะนำความเข้าใจสภาพปัจจุบันไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริง ๆ ได้ ดังนั้นให้ลองทำความเข้าใจสภาพปัจจุบัน แล้วคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อทำเช่นนั้นแล้วก็จะพอรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ควรทำในตอนนี้ แล้วความรู้สึกอยากทำก็จะเกิดขึ้นเอง
- อย่าหลงกลสมองที่ชอบคิดอะไรแบบรวบยอด
สมองของเรามักจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีคิดแบบรวบยอด การคิดแบบรวบยอดจะสะดวกเวลาอยู่ในหัวหรืออยู่บนกระดาษ แต่พอถึงเวลาที่ต้องนำไปลงมือทำจริง จะรู้สึกขึ้นมาว่างานนั้นทำได้ยากเหลือเกิน เป็นเหตุให้ลงมือทำทันทีไม่ได้ การเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำลงในสมุดบันทึก ไม่ได้หมายความว่าได้เริ่มลงมือทำแล้ว การได้เขียนอาจทำให้รู้สึกสนุกและพึงพอใจ แต่เมื่อไหร่ที่เคยชินกับความรู้สึกตื่นเต้นนานแล้ว สมุดก็จะมีแต่เรื่องที่ยังไม่ได้ทำอยู่เต็มไปหมด แล้วก็จะกลายเป็นคนที่ลงมือทำทันทีไม่ได้โดยไม่รู้ตัว
- ย่อยงานให้เล็กลง
สมองคนเรามีนิสัยชอบรวบเรื่องเล็กเรื่องน้อย ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องเดียว พอจะลงมือทำจริงขึ้นมาเลยยากที่จะทำได้ จึงจำเป็นต้องดึงเรื่องเล็กเรื่องน้อยออกมาจากเรื่องใหญ่ แล้วย่อยให้เล็กลงจนกลายเป็นงานที่นำไปลงมือทำได้ในทันที ถ้าย่อยเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็กจนติดเป็นนิสัย ก็จะกลายเป็นคนที่ลงมือทันทีได้แบบไม่รู้ตัว วิธีแก้ปัญหาคือต้องย่อยงานใหญ่ออกเป็นงานเล็ก ๆ สรุปก็คืออย่าคิดเป็นภาพใหญ่ ๆ ที่ไม่มีรายละเอียด แต่ให้ลองย่อยงานที่ต้องทำออกมา แล้วดูว่ามีอะไรที่สามารถลงมือทำตอนนี้เลยได้บ้าง
- ไม่ตั้งเป้าหมายยิ่งใหญ่เกินไป
การคิดถึงเป้าหมายมากเกินไป จะทำให้คนเราไม่เห็นคุณค่าของงานเล็ก ๆ ที่อยู่ตรงหน้า ความมุ่งมั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่คนที่มุ่งความสนใจไปที่เป้าหมายมากเกินไป มักจะผัดผ่อนการลงมือทำงานเล็ก ๆ ที่อยู่ตรงหน้าออกไปก่อน ในแวดวงจิตวิทยาจะเรียกคนประเภทนี้ว่าคนช่างเพ้อฝัน ซึ่งมักทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับจินตนาการมากกว่าความเป็นจริง ถ้าอยากทำให้เป้าหมายเป็นจริง จำเป็นต้องย่อยงานใหญ่ ๆ ออกเป็นงานเล็ก ๆ จนสามารถทำจริงได้ ไม่อย่างนั้นก็จะลงมือทำไม่ได้สักที อย่าฝันไปไกลกว่างานธรรมดา ๆ ที่อยู่ตรงหน้า ถึงเป้าหมายจะเป็นการสร้างโบสถ์ แต่ถ้าไม่เริ่มจากก่ออิฐที่อยู่ตรงหน้าไปทีละก้อนก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา งานพื้นฐานเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้อาจดูธรรมดาแต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ จึงจะไปถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ได้ อันที่จริงแล้วไม่ผิดหรอกที่คนเราจะฝันถึงสิ่งที่อยากทำ แต่การจะทำอะไรก็ตามให้เป็นจริงขึ้นมาได้นั้น อันดับแรกจะต้องรู้จักพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่สามารถลงมือทำได้
- อย่าปลาบปลื้มกับการวาดฝันใส่กระดาษ
การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนแล้วนึกถึงมันอยู่เสมอ ถือเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มแรงบันดาลใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าวิธีนี้จะช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจให้ได้อยู่ตลอดเวลา การคิดแบบรวบยอดเป็นขั้นตอนสำคัญในการเขียนความฝันลงบนกระดาษ ได้รวมเอาเรื่องเล็กเรื่องน้อยที่ต้องทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่เพียงเรื่องเดียว ด้วยเหตุนี้จึงต้องย่อยความฝันใหญ่ ๆ ที่ว่านี้ ออกเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ สรุปก็คือควรพยายามย่อยเรื่องใหญ่ที่ฝันเอาไว้ออกเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยให้ได้มากที่สุด เพราะมันจะช่วยให้มองเห็นสิ่งที่ต้องลงมือทำทันทีได้ชัดเจนมากขึ้น
- ใช้ตัวล่อ
สำหรับจอมผัดผ่อนที่ลงมือทำไม่ได้สักที ลองบีบบังคับตัวเองให้ต้องทำแม้จะไม่อยากทำก็ตาม โดยใช้ตัวล่อ สมมุติว่าตั้งใจจะเก็บกวาดห้อง ก่อนจะออกจากบ้านในตอนเช้า ให้นำข้าวของที่ต้องจัดเก็บมาวางกองไว้ตรงพื้นบริเวณประตู แล้วค่อยออกจากบ้าน ข้าวของที่วางขวางประตูพวกนี้ จะบังคับให้ต้องลงมือเก็บกวาดไปโดยอัตโนมัติ งานที่เป็นตัวจุดประกายให้ลงมือทำแบบนี้เรียกว่า ตัวล่อ สุดท้ายจะกลายเป็นคนที่ลงมือทำทันทีได้อย่างแน่นอน
- หยุดสะสมข้าวของ
นิสัยชอบเก็บสะสม อาจเทียบได้ว่าเป็นผลจากวิวัฒนาการที่สืบทอดกันมา แต่ปัจจุบันนิสัยแบบนี้ไม่จำเป็นสำหรับมนุษย์อีกต่อไป เพราะอยู่ในยุคสมัยที่มีทุกสิ่งทุกอย่างเหลือเฟือ จึงแทบไม่มีโอกาสได้ใช้สิ่งที่เก็บสะสมเอาไว้ให้เกิดประโยชน์ แถมยังส่งผลให้ชีวิตของคนช่างเก็บถูกแวดล้อมไปด้วยขยะ คนที่ลงมือทำได้อย่างรวดเร็วคือ คนที่มีหลักเกณฑ์ในการเลือกทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็น และลดจำนวนข้าวของได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อข้าวของไม่ขาดแคลน การเก็บสะสมจึงแทบไม่มีความสำคัญอีกต่อไป ในปัจจุบันนิสัยชอบเก็บสะสมข้าวของแบบไม่เลือก จึงกลับกลายเป็นข้อด้อยไป คนที่มีข้าวของรายล้อมมากเกินไปคือ คนที่เลือกไม่เป็น เวลามีอะไรหลาย ๆ อย่างมาอยู่ตรงหน้าจึงสับสนได้ง่าย ดังนั้นมาเริ่มลดปริมาณสิ่งของรอบตัว เพื่อให้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตแบบหนูนักเก็บกันเถอะ
- เลิกคิดถึงผลลัพธ์
คนที่นัดหมายลูกค้าทางโทรศัพท์ได้อย่างง่ายดาย จะไม่มุ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์หรือความสำเร็จ แต่จะให้ความสำคัญกับจำนวน สิ่งที่พวกเขาคิดก็คือต้องโทรหาลูกค้าให้ได้อย่างน้อยx ครั้ง ไม่ใช่จะต้องนัดหมายลูกค้าให้สำเร็จให้ได้ x คน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพวกเขารู้ดีว่า ต่อให้กังวลสักแค่ไหนก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะนัดหมายลูกค้าได้สำเร็จขึ้นมาอยู่ดี ถ้ามัวแต่มุ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์ โอกาสที่จะท้อแท้จนล้มเลิกกลางคันก็มีสูงมาก ด้วยเหตุนี้เวลาที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง จึงอยากให้มุ่งความสนใจไปที่จำนวนไม่ใช่ผลลัพธ์ การคำนึงถึงแต่ผลลัพธ์จะส่งผลเสียมากกว่าส่งผลดี เวลาที่ต้องลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
- ลดความเสี่ยง
เคยประสบเหตุการณ์ทำนองนี้ไหม มีเรื่องที่จำเป็นต้องโทรศัพท์ติดต่อ แต่กลับอิดออดไม่ยอมโทรเสียที เพราะรู้สึกว่ามันยุ่งยากจนไม่อยากทำ ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าโทรไปแล้วจะไม่เจออะไรแย่ ๆ อย่างแน่นอนก็คงไม่รีรอ และโทรไปทันทีเลย แต่คนส่วนใหญ่มักเคยมีประสบการณ์ โทรศัพท์ไปแล้วรู้สึกผิดหวัง เสียใจ หรือไม่ก็เป็นฝ่ายทำให้คนอื่นรู้สึกผิดหวังเสียใจ จึงทำใจหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรไม่ได้สักที มีความเปลี่ยนแปลงได้สูงที่ตัวเองจะเจอเรื่องที่รู้สึกแย่ สุดท้ายเลยไม่กล้าขยับตัวทำอะไรทั้งนั้น
การแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการลดความเสี่ยงลง ลองมองหาช่วงเวลาที่คู่สนทนาน่าจะสะดวก หรือพิจารณาดูว่าสามารถติดต่อทางอีเมล์แทนได้หรือไม่ การคิดถึงผลประโยชน์มากมาย ที่ตัวเองจะได้รับหลังโทรศัพท์ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกโล่งใจที่จะเกิดขึ้น หลังจากโทรศัพท์ไปหาลูกค้าแล้ว หรือความรู้สึกยินดีที่นัดหมายลูกค้าได้สำเร็จ พอคิดแบบนั้นก็จะกล้าโทรศัพท์มากขึ้น เวลาที่เริ่มต้นทำงานไม่ได้เสียที
บางคนจะหันไปใช้เทคนิคให้รางวัลตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วน้อยครั้งมาก ที่เทคนิคให้รางวัลตัวเองจะใช้ได้ผล รางวัลที่ได้รับเมื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จจะไม่มีความหมายเลย ถ้ารางวัลที่ได้ไม่มีคุณค่าพอให้อยากลงมือทำงานนั้น เวลาจะใช้วิธีนี้ให้หารางวัลพิเศษจริง ๆ ที่จะให้กับตัวเองได้ต่อเมื่อทำงานเสร็จแล้ว เพราะถ้ารางวัลไม่มีค่าพอ ก็เริ่มลงมือทำไม่ได้เสียทีอยู่ดี
- เลิกทำอะไรก็ได้ไปก่อน
การทำอะไรก็ได้ไปก่อน โดยไม่ไตร่ตรองให้ดี เป็นเพียงการสร้างความรู้สึกพอใจให้กับตัวเองว่า ได้ลงมือทำแล้วเท่านั้น ส่วนงานจะคืบหน้าหรือไม่ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องที่ควรทำมีอยู่มากมาย แต่คนประเภทนี้จะจับจุดไม่ถูกว่าควรเริ่มทำจากเรื่องไหนก่อน และไม่รู้ว่าควรทำอะไรบ้าง พวกเขาจึงเกิดความคิดว่างั้นก็เริ่มทำอะไรก็ได้ไปก่อนละกัน ความคิดแบบนี้จะนำไปสู่การกลายเป็นคนที่สักแต่ขอให้ได้ชื่อว่าทำงาน กุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้คือ ต้องเลิกพฤติกรรมทำอะไรก็ได้ไปก่อน หากพิจารณาตามหลักจิตวิทยาแล้ว อาจพูดได้ว่าตอนเช้าเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามาก เนื่องจากช่วงเวลาหลังตื่นนอน คนเราจะมีกำลังกายและกำลังใจเต็มเปี่ยม ดังนั้นตอนเช้าซึ่งเป็นโอกาสทองในการเริ่มทำงานยาก ๆ หรืองานที่ไม่ค่อยอยากทำ ถ้าลงมือทำงานโดยคิดว่าทำอะไรก็ได้ไปก่อน ก็จะยิ่งถอยหลังเข้าคลอง แทนที่จะได้ก้าวไปข้างหน้า
- กำจัดอิทธิพลของแรงกระตุ้น
ตอนนี้รู้แล้วว่าการทำอะไรก็ได้ไปก่อนไม่มีประโยชน์อะไร แล้วจะป้องกันไม่ให้ตัวเองทำแบบนั้นได้ ควรทำรายการสิ่งที่ต้องทำทั้งหมดแบบละเอียด โดยระบุลำดับของงาน หรือแผนการดำเนินงานให้ชัดเจน วิธีนี้จะช่วยให้สามารถลงมือทำงานได้อย่างถูกต้องและฉับไว ไม่เฉพาะเรื่องงานเท่านั้น ในเรื่องอื่น ๆ อย่างการลดน้ำหนัก หรือการออกกำลังกายก็เช่นกัน ถ้าคิดว่าลองวิ่งดูก่อนแล้วกันก็จะไม่สามารถวิ่งอย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตรได้ เพราะการกระทำที่เกิดจากความคิดที่ว่าลองทำไปก่อน เป็นแค่การลงมือทำเพราะแรงกระตุ้นเพียงอย่างเดียว ถ้าต้องพึ่งพาแรงกระตุ้น จะไม่มีทางลงมือทำได้เลยจนกว่าจะเกิดแรงกระตุ้นนั้นขึ้นมาอีกครั้ง สรุปก็คือต้องทำรายการสิ่งที่ต้องทำแบบละเอียด โดยกำหนดลำดับขั้นตอนการทำงานแล้วลงมือทำไปตามนั้น คราวนี้ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดแรงกระตุ้นแล้ว
- ทำต่างจากเดิมแค่เล็กน้อย
ทุกคนตระหนักดีอยู่แล้วว่า การออกกำลังกายหรือการลดน้ำหนักนั้นส่งผลดีต่อตัวเองอย่างแน่นอน แต่น่าแปลกที่คนส่วนใหญ่กลับลงมือทำไม่ได้เสียที สาเหตุเป็นเพราะพวกเขาพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ คนเรามักให้คุณค่ากับสิ่งที่มีอยู่ หรือเป็นอยู่ในปัจจุบันมากกว่า เพราะตอนนี้เป็นสิ่งที่มีความชัดเจน ในขณะที่เวลาอื่นที่ไม่ใช่ตอนนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เมื่อพิจารณาจากความโน้มเอียงที่จะยึดติดกับสภาพปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ว่ามนุษย์ต้องการรักษาสิ่งเดิม ๆ เอาไว้ และมีแนวโน้มที่จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ให้ลองทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิมเพียงเล็กน้อยดูก่อน การเปลี่ยนแปลงก็เป็นคนละเรื่องกับการเปลี่ยนไป สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืนได้หรอก และในเมื่อทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแบบทันตาเห็นไม่ได้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าก็คือ การเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยนั่นเอง
- บอกคนอื่นว่าจะทำอะไร
วิธีหนึ่งที่ช่วยให้ลงมือทำทันทีได้ก็คือ การป่าวประกาศบอกคนอื่นว่ากำลังจะทำอะไร และจะยิ่งดีหากรายงานผลหลังจากทำตามที่เคยประกาศไว้แล้วด้วย นี่เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลทีเดียว เพราะคนเรามักปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับจากคนอื่น เป้าหมายที่แท้จริงอยู่ตรงที่การทำให้รู้สึกว่ามีคนอื่นจับตามองต่างหาก วิธีนี้ไม่เพียงช่วยให้ลงมือทำทันทีได้เท่านั้น แต่ยังใช้ได้ผลในเวลาที่ต้องทำบางสิ่งให้ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
- ใช้สายตาของคุณอื่นให้เกิดประโยชน์
คนเรามักปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับ มันคือความต้องการให้ใครสักคนยอมรับในตัวเอง หากปราศจากการยอมรับจากคนอื่น ก็แทบจะไม่มีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้เวลาที่ต้องลงมือทำบางอย่างด้วยตัวคนเดียว จึงมักตกอยู่ในสภาพขาดแคลนแรงจูงใจ เพราะรู้สึกว่าทำไปก็ไม่มีใครให้การยอมรับ การทำให้ตัวเองรู้สึกว่าได้รับการยอมรับอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อการลงมือทำทันทีอย่างต่อเนื่อง จงรายงานผลแม้ว่าจะไม่มีใครถาม ตัวอย่างเช่น หลังจากบอกหัวหน้าแล้วว่าจะทำเอกสารให้เสร็จภายในเย็นนี้ หรือวันนี้จะไปบริษัทลูกค้า 5 แห่ง ก็ให้ลงมือทำแล้วรายงานผลให้หัวหน้าทราบด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ อย่ากล่าวประกาศเรื่องที่ตัวเองไม่น่าจะทำได้ให้คนอื่นฟังอยู่บ่อย ๆ เพราะมันจะส่งผลเสียต่อตัวเอง เวลาที่ทำไม่ได้ขึ้นมา จึงควรใช้วิธีนี้แค่เฉพาะกับเรื่องที่ตัวเองน่าจะทำได้เท่านั้น
- คิดถึงจุดเริ่มต้น
เรื่องงานส่วนใหญ่แล้ว งานที่ทำเสร็จมักจะออกมาแย่กว่างานที่จินตนาการไว้ จำเป็นต้องแยกแยะระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริงให้ได้เสียก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะรู้สึกผิดหวังอยู่เสมอ จนกลายเป็นคนที่ลงมือทำทันทีไม่เป็น หากทำงานโดยสนใจแค่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร หรือจะได้อะไรบ้างก็อาจจะต้องผิดหวังอยู่เสมอ จนไม่มีแก่ใจจะลงมือทำอีกต่อไป เพราะฉะนั้นต้องรู้จักปรับแค่แรงจูงใจ ควรไตร่ตรองว่าแรกเริ่มเดิมที ทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร หรือการคิดแบบนี้จะช่วยให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้นว่า อะไรคือบ่อเกิดของแรงจูงใจ การค้นหาบ่อเกิดของแรงจูงใจในขณะที่ลงมือทำไปด้วย เป็นเคล็ดลับที่จะช่วยให้ทำเรื่องที่ต้องการได้ตลอด คนเราชอบทำเวลาที่อยากทำอะไรให้สำเร็จ สิ่งที่ต้องทำก็คือปรับเปลี่ยนที่มาของแรงจูงใจ โดยลองคิดดูให้ดีว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ควรใช้แรงจูงใจแบบไหน ถึงจะมีโอกาสทำสำเร็จมากที่สุด ลองเขียนใส่กระดาษดูก็ได้
- 21. การรู้จักหยิบยืมความรู้ของคนอื่นมาใช้
หากจะเรียกว่านี่เป็นการหยิบยืมภูมิปัญญาของบรรพชนก็คงฟังดูเกินจริงไปหน่อย แต่เอาเป็นว่ามันก็คือการรู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต ทั้งของตัวเราเองและคนอื่นนั่นเอง จะพบว่ามันเป็นงานที่หินมาก ๆ หากต้องเริ่มต้นเขียนใหม่เองทั้งหมดไม่ว่าใคร ถ้าต้องเริ่มต้นจากศูนย์ก็คงรู้สึกว่ายากกันทั้งนั้น ดังนั้นเวลาจะทำงานหรือทำเรื่องอะไรก็ตาม ถ้ามีตัวอย่างหรือชิ้นงานเก่าที่คล้ายคลึงกัน ก็ให้ลองนำงานนั้นมาใช้เป็นต้นแบบดู จากนั้นปรับแก้จากของเก่าไปเรื่อย ๆ วิธีนี้จะง่ายและสบายกว่าการเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ศูนย์
การมีข้อจำกัดจะช่วยให้ลงมือทำได้เร็วกว่า คำว่าอิสระเป็นคำที่ฟังดูน่าหลงใหล แต่ก็ไม่มีอะไรที่ควบคุม และจัดการได้ยากไปกว่าเวลาที่คนเรามีอิสระอย่างเต็มที่อีก ในทางกลับกัน การมีข้อจำกัดอยู่บ้างที่ทำให้คนเราทำงานได้ดีขึ้น เวลาที่ต้องการเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนที่ลงมือทำทันที จำเป็นต้องกำหนดสิ่งที่ควรทำขึ้นมาก่อน ในขั้นตอนนี้เองที่จะพบว่าถ้าไม่มีข้อจำกัดอะไรบ้างเลย กว่าจะกำหนดได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ก็เสียเวลาไปเยอะมาก ด้วยเหตุนี้ ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขจะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่ต้องทำ มาให้โดยที่ไม่จำเป็นต้องคิดเองให้เปลืองแรง และยิ่งไม่ต้องเปลืองแรงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงมือทำในความจริงได้เร็วขึ้นเท่านั้น
- เตรียมพร้อมก่อนการบิน
ทุกคนต่างรู้ดีอยู่แล้วว่า ต้องเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง แต่พอเป็นเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันกลับชอบคิดว่าทำเลยดีกว่า ทั้งที่ยังไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ส่วนใหญ่แล้วคนที่ลงมือทำทันทีไม่เป็น มักจะเป็นคนที่เตรียมตัวไม่เป็นด้วย ดังนั้นขอแนะนำให้ลองเปลี่ยนวิธีคิดจะทำเลยดีกว่า มาเป็นเตรียมตัวก่อนดีกว่าดู เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้วค่อยออกบิน จำไว้ว่าไม่จำเป็นต้องรีบออกบิน แต่ให้ค่อย ๆ วิ่งไปบนรันเวย์ก่อน เพราะเมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะทะยานขึ้นฟ้าได้เองโดยอัตโนมัติ
- จัดหาอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพเตรียมพร้อม
ถ้าบอกให้แปรงฟัน คนส่วนใหญ่ก็คงหยิบแปรงสีฟันขึ้นมาแปลงได้ทันทีเลยใช่ไหม ส่วนหนึ่งที่ทำแบบนั้นได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำกันอยู่แล้วเป็นกิจวัตร แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการแปรงฟัน เตรียมไว้แล้วเรียบร้อยตรงอ่างล้างหน้า แค่หมุนก๊อกให้น้ำไหลออกมาก็สามารถแปรงฟันได้ในทันที พูดง่าย ๆ ก็คือเพราะทุกอย่างอยู่ในสภาพเตรียมพร้อม จึงลงมือทำได้ทันที แม้แต่เรื่องที่คิดว่าไม่น่าจะทำได้ แค่เตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อมตลอดเวลา ก็จะพบว่ามันกลายเป็นเรื่องที่สามารถลงมือทำได้ทันที อยากลงมือทำได้ทุกเมื่อที่ต้องการ จำเป็นต้องเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่าง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา
- ไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ
ปัญหาการตอบอีเมลในทันทีไม่ได้ ถือเป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจกัน แน่นอนสาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะมักคิดว่าอยากเขียนตอบอีเมล์กลับไปแบบดี ๆ จนแล้วจนรอดก็เลยไม่ได้ส่งเสียที แต่ถ้าตอบอีเมลพวกนั้นไปแบบไม่สนใจว่า ต้องออกมาดูดี ก็จะตอบกลับได้เลยทันที เหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำก็คือ ในระหว่างที่คิดว่าจะเขียนอีเมลอย่างไรให้ออกมาดีที่สุดอยู่นั่น เวลาก็ผ่านไปนานจนไม่ได้ส่งอีเมลในที่สุด
ทางแก้ปัญหานี้ด้วยการเขียนอีเมลฉบับร่างเตรียมไว้ก่อน เวลาจะส่งไปแค่เปลี่ยนชื่อผู้รับก็พอแล้ว ถ้ามัวแต่รีรอเพราะอยากส่งอีเมลที่บรรจงเขียนอย่างดี จนสุดท้ายไม่ได้ส่งแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร รังแต่จะเสียเวลาไปเปล่า ๆ เท่านั้นเอง การยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ จะทำให้ไม่สามารถลงมือทำได้ เพราะจะเอาแต่คิดอยู่อย่างนั้นไม่มีวันจบสิ้น จนไม่ได้ลงมือทำสักที เขียนให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ณ ขณะนั้นก็พอ
- อย่ากังวลจนเกินเหตุ
สำหรับผู้คนในปัจจุบัน อีเมลถือเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความรำคาญให้ด้วยเช่นกัน การตอบอีเมลไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้เวลามากมาย แต่หลายคนกลับชอบเก็บเอาไว้ตอบทีหลัง พอรู้ตัวอีกทีก็เลยกลายเป็นว่า มีอีเมลที่ยังไม่ได้ตอบค้างอยู่มากมายเสียแล้ว อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า การเขียนอีเมลที่มีเนื้อหาชวนลำบากใจ อย่างการปฏิเสธหรือขอโทษเป็นเรื่องที่ทำได้ยากจริง ๆ วิธีรับมือก็คือให้ใช้ฟังก์ชันแนะนำ ทำแบบอัตโนมัติในคอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ โดยตั้งค่าไว้ว่าเมื่อพิมพ์คำว่าปฏิเสธลงไปให้แสดงตัวอย่างประโยคสำหรับตอบปฏิเสธขึ้นมา เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างแบบร่างอีเมลปฏิเสธได้ในพริบตา การเริ่มลงมือทำจากศูนย์เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก แต่ถ้ารู้จักใช้วิธีปรับแก้จากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ก็จะทำงานได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วมากขึ้น เวลาตอบอีเมล์ที่น่าลำบากใจนั้น ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา เคล็ดลับก็คืออย่ากังวลจนเกินเหตุ และควรตระหนักว่าการคาดเดาไปก่อนว่า จะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นตามมา เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่กล้าลงมือเสียที
- บอกไปตามความจริง
เวลาที่มีคนส่งแผนโครงการมาให้ช่วยติชม คนเรามักจะพยายามคิดหาความเห็นที่เป็นประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นเรื่องยากที่จะตอบกลับไปอย่างรวดเร็ว แต่ยิ่งอยากให้คำตอบที่ยอดเยี่ยมมากเท่าไหร่ อีกฝ่ายก็ยิ่งต้องรอนานมากขึ้นเท่านั้น ในสถานการณ์แบบนี้ ควรกวาดสายตาอ่านผ่าน ๆ แล้วเขียนความคิดเห็นกว้าง ๆ ที่เป็นแง่บวกกลับไปก่อน หรือจะใช้วิธีเขียนบอกเขาไปตรง ๆ ว่ายังอ่านไม่ละเอียดเลยให้ความเห็นไม่ได้ การเขียนตอบไปตามความเป็นจริงอาจดูเหมือนเป็นการแก้ตัว แต่ในเมื่อต้องใช้เวลาอ่านจริง ๆ มันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ หากไม่อยากให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าไม่ได้ทำงานเลย ก็จำเป็นต้องแสดงให้เขารับรู้ว่ากำลังทำงานอยู่ เพราะถ้าคนอื่นไม่เห็นว่าทำงาน เขาก็จะคิดทันทีว่าไม่ได้ทำ
- กำหนดตารางงาน
ขั้นตอนสุดท้ายในการเตรียมความพร้อมคือ การกำหนดตารางงานโดยคาดคะเนว่างานที่จะลงมือทำต้องใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ จากนั้นก็กำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน การกำหนดตารางงานเป็นไม้ตายสุดท้าย เพื่อช่วยให้เลิกผัดวันประกันพรุ่งเสียที เวลาเจองานที่ประเมินระยะเวลาในการทำได้ยาก แทนที่จะคิดว่างานนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ ให้เปลี่ยนไปคิดว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะทำสำเร็จ จากนั้นก็ลองจับเวลาในตอนที่ทำไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะสนุกเพราะรู้สึกเหมือนได้แข่งขันกับตัวเอง และไม่คิดว่ามันเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องทำอีกต่อไป
- 28. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะขยับเนื้อขยับตัวทำงานในตอนที่รู้สึกผ่อนคลาย จิตใจที่ผ่อนคลายจะช่วยให้ไม่รู้สึกแย่กับงานใดงานหนึ่งมากเกินไป เวลารู้สึกเครียดหรือกังวลจะเกิดความสับสนและลังเลที่จะเริ่มลงมือทำ สาเหตุที่ทำให้คนเรารู้สึกสับสนว่าจะทำหรือไม่ทำมีอยู่ด้วยกันสองข้อ ข้อแรกคือคิดว่างานนั้นน่าจะต้องใช้เวลามาก ข้อ 2 คือคิดว่างานนั้นน่าจะเหนื่อย เวลาโกรธมักจะรู้สึกสับสนเพราะต้องตัดสินใจว่า จะระบายออกมาหรืออดกลั้นเอาไว้ดี ถ้าอยากเลิกเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง ก็ต้องเลิกเก็บความโกรธเอาไว้ในใจ ให้เขียนระบายความในใจลงไปในจดหมายให้มากที่สุด เพียงเท่านี้ความรู้สึกไม่พอใจก็จะเบาบางลงแล้ว จะทำให้รู้ถึงสาเหตุที่รู้สึกไม่พอใจด้วย มันยังทำให้ฉุกคิดถึงเรื่องที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนได้ การเขียนจดหมายจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้มองเห็นความขัดแย้งระหว่างคู่กรณีได้ดีทีเดียว
- อย่าตั้งใจมากเกินไป
สาเหตุที่ทำให้สมองส่งสัญญาณเตือนภัยจนทำอะไรไม่ได้ นี่เป็นผลจากความกังวลโดยธรรมชาติ แล้วสมองจะชอบคิดการใหญ่ เพื่อตอบสนองต่อความฝันและความหวัง แต่เมื่อถึงเวลาต้องลงมือทำจริง สมองจะรู้สึกหวั่นวิตกกับความยิ่งใหญ่เกินจริง จนส่งสัญญาณเตือนไม่ให้ลงมือทำ เวลาที่วางแผนจะทำอะไร ความคาดหวังและความเพ้อฝัน มักทำให้คนเรามีแนวโน้มที่จะคิดการใหญ่ แต่พร้อมกันนั้นก็มักรู้สึกหวาดหวั่น เวลาที่ต้องเอาแผนที่คิดไปปฏิบัติจริง ความกังวลที่เกิดขึ้น จะทำให้สมองส่งสัญญาณเตือนภัย แล้วก็จะหยุดลงมือทำทันที คนเราจะทำงานได้ราบรื่นกว่า ถ้ามีความมุ่งมั่นหรือความตั้งใจอยู่ในระดับที่พอดี คนที่ลงมือทำได้ทันทีใช่ว่าจะต้องเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นล้นเหลือเสมอไป คนที่ทำตัวสบาย ๆ ไม่คิดอะไรมาก ก็สามารถลงมือทำทันทีและสร้างผลงานได้ทุกเมื่อเช่นกัน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มีความมุ่งมั่นอะไรมากมายเลยก็ตาม
- ระวังเรื่องกลับลำ
กลับลำในที่นี้หมายถึงการเปลี่ยนความคิด หรือความตั้งใจไปง่าย ๆ ตามกาลเวลา โดยปราศจากความหนักแน่นมั่นคง เพื่อลดจำนวนสิ่งที่จะดึงดูดความสนใจไปจากการทำงาน ควรเก็บข้าวของบนโต๊ะ โดยอย่าให้มีอะไรวางอยู่มากเกินไป เพราะยิ่งมีของเยอะก็เท่ากับยิ่งมีสิ่งล่อตาล่อใจเยอะตามไปด้วยนั่นเอง การกลับลำสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้นั่นคือ ให้หันไปสร้างสิ่งล่อตาล่อใจที่จะทำให้กลับลำมาทำงาน แทนที่จะปล่อยให้มันมาทำให้กลับลำจนต้องละทิ้งงาน ตัวอย่างเช่นแปะกระดาษที่เขียนเรื่องที่ต้องทำติดไว้ที่โต๊ะคอมติวเตอร์ และเมื่อได้เห็นว่าต้องทำอะไรบ้าง โอกาสที่จะลงมือทำจริงก็จะสูงขึ้น
- อย่าเพิ่มเรื่องที่อยากทำ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไขว้เขวจนไม่สามารถทำเรื่องที่ควรทำได้ทันทีก็คือ มีเรื่องที่ต้องทำมากเกินไป โดยเฉพาะคนที่อยากพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเอง คนประเภทนี้มักมีเรื่องที่อยากทำเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา คนที่อยากก้าวหน้ามักรู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา พวกเขาจึงมีเรื่องที่ต้องทำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีโอกาสสูงที่จะไขว้เขวได้ง่าย อันที่จริงแล้วการหาอะไรมาทำเพิ่มอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ มีสาเหตุมาจากความรู้สึกไม่อยากสูญเสียนั่นเอง เหมือนอย่างที่ว่ากันว่า หากเขียนอะไรลงไปในรายการสิ่งที่ต้องทำแล้ว ก็ย่อมไม่มีทางตัดทิ้งไปได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ควรเพิ่มเรื่องที่อยากทำ เพราะเมื่อคิดหรือวางแผนว่าจะทำ แต่สุดท้ายแล้วทำไม่ได้ ความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของที่เกิดขึ้น จะทำให้ทั้งเสียดายและเจ็บใจมากเลยทีเดียว หนังสือหลายเล่มแนะนำว่า คนเราต้องทำสิ่งที่ฝันไว้ให้เป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ความจริงแล้วการทำความฝันมากมายให้เป็นจริงทั้งหมดไม่ไหวหรอก ดังนั้นสิ่งที่ควรทำมากกว่าคือ การเลือกเป็นเรื่องที่ต้องทำ ซึ่งวิธีที่จะช่วยได้ก็คือการตัดสินใจว่าเรื่องไหนบ้างที่จะไม่ทำ
- คัดเลือกให้เหลือเรื่องเดียว
เวลาที่จะทำอะไรควรเลือกทำแค่อย่างเดียว สาเหตุก็เพราะว่าคนเราสามารถทำได้ทีละอย่างเท่านั้น ถ้ากำลังทำอะไรอยู่ก็ควรลืมเรื่องอื่นไปให้หมด เพราะต่อให้พยายามสักแค่ไหน คงไม่สามารถทำหลาย ๆ อย่างไปพร้อมกันได้อยู่ดี เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะทำอะไร ก็ควรจดจ่อกับเรื่องนั้นให้เต็มที่ เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะทำอะไร การวอกแวกไปเล่นอินเทอร์เน็ต หรือทำเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องนั้น ไม่ต่างกับการไม่ได้ทำอะไรเลย มันเกิดจากสัญชาตญาณของมนุษย์ ที่ไม่อยากทำอะไรที่สร้างความลำบากให้กับตัวเอง ถ้าเป็นไปได้ก็ควรหาสภาพแวดล้อม ที่บังคับให้ต้องทำแต่สิ่งที่ตั้งใจจะทำด้วย
- ตัดสินใจให้เด็ดขาด
บางครั้งสาเหตุที่ลงมือทำไม่ได้สักที ก็เพราะยังไม่ได้ตัดสินใจให้เด็ดขาดว่า จะทำเรื่องนั้นจริง ๆ การตัดสินใจไม่ได้เสียทีว่าจะทำอะไร ทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ต่อให้ตั้งใจไว้แล้วว่าจะเลือกทำเรื่องนี้ แต่ถ้ายังไม่ได้ตัดสินใจให้เด็ดขาด เพราะอาจนึกอยากทำเรื่องอื่นขึ้นมาแทน ทำไมถึงไม่สามารถตัดสินใจให้เด็ดขาดได้นั่นก็เพราะคิดว่า อาจมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า การตัดสินใจเลือกทำอะไรสักอย่าง ย่อมมาพร้อมกับการสูญเสียอย่างอื่นไป อาจเรียกได้ว่าการตัดสินใจว่าจะทำอะไรเพียงอย่างเดียวก็คือ การตัดอย่างอื่นทิ้งไปทั้งหมดนั่นเอง แต่ถ้าไม่ตัดสินใจให้เด็ดขาดก็จะลงมือทำอะไรไม่ได้สักอย่าง สรุปก็คือ สาเหตุที่เอาแต่ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ นั้น เป็นเพราะว่ายังไม่ตัดสินใจให้เด็ดขาดว่า จะลงมือทำเรื่องนั้นในทันทีนั่นเอง
- จัดโต๊ะทำงานให้โล่ง
เอกสารที่กองทับถมอยู่บนโต๊ะทำงาน จะทำให้มองเห็นเอกสารต่าง ๆ มากมาย จนตัดสินใจไม่ได้ว่าควรทำงานชิ้นไหนก่อนดี ในกรณีนี้ขอแนะนำให้จัดโต๊ะทำงานให้โล่ง และเมื่อทำงานในแต่ละวันเสร็จก็ให้เก็บเอกสารทั้งหมดไว้ในลิ้นชักหรือตู้เอกสาร เมื่อไม่มีเอกสารมากมายกองอยู่ตรงหน้าจนเลือกไม่ถูกแล้ว ในวันรุ่งขึ้นจึงสามารถตัดสินใจได้เด็ดขาดว่าจะทำอะไรก่อน บางคนอาจรู้สึกกังวลเวลาโต๊ะทำงานโล่ง แต่ต่อให้มีเอกสารทั้งหมดวางกองอยู่บนโต๊ะ ก็สามารถทำงานได้ทีละอย่างอยู่ดี เป็นไปไม่ได้หรอกที่คนเราจะทำงาน 2 ชิ้นไปพร้อม ๆ กันในสายตาคนอื่น อาจดูเหมือนว่ากำลังทำงานอยู่แต่จริง ๆ แล้วยังจัดระเบียบความคิดไม่ได้ด้วยซ้ำ และงานที่ต้องทำก็ไม่กระเตื้องขึ้นเลย เมื่อเทียบกันแล้วการมีเอกสารน้อยชิ้นแต่สำคัญจริง ๆ ต่างหาก ที่จะช่วยให้ทำงานไปได้ลุล่วง
- ทำให้งานดูง่ายขึ้น
ความจริงแล้วงานส่วนใหญ่ที่ค้างอยู่ในรายการสิ่งที่ต้องทำ มักเป็นงานที่ยังไม่ถูกย่อยให้เล็กลง ถ้าลองย่อยออกมาก็จะเห็นเลยว่ามันไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดไว้ เนื่องจากมักจะคิดไปเองว่างานที่ต้องทำดูยุ่งยาก แต่บางทีถ้าลองย่อยออกมาให้เป็นงานเล็ก ๆ ก็จะพบว่ามันเป็นงานที่ทำให้เสร็จได้อย่างรวดเร็ว คนที่ขายสินค้าทางไปรษณีย์ จะใช้วิธีย่อยงานแบบนี้ เพื่อให้ขั้นตอนการส่งของง่ายและสะดวกขึ้น พูดอีกอย่างก็คือเป็นการลดระดับความยากของงานลง ซึ่งสามารถนำเคล็ดลับนี้ไปใช้ได้ สรุปก็คือควรย่อยงานให้เล็กลง จนอยู่ในระดับที่สามารถทำได้อย่างง่ายดาย แล้วจะพบว่าตัวเองสามารถลงมือทำได้ทันทีแบบไม่ลังเลเลย
- ยืดอกเข้าไว้
คงเคยได้ยินมาบ้างว่า การหัวเราะจะทำให้คนเรารู้สึกสนุกขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือบางครั้งพฤติกรรมเพราะสามารถชักจูงสมองได้ สมองจะรับรู้สภาพร่างกายของตัวเองผ่านทางการมองเห็น สมองอยู่ในกะโหลกศีรษะ มันจึงต้องอาศัยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การได้ยิน และที่สำคัญมากเป็นพิเศษก็คือการมองเห็น อีกเคล็ดลับหนึ่งที่ง่ายแต่ได้ผลคือการยืดอก เวลาทำท่านี้คนเราจะคิดอะไรในแง่ลบได้ยากขึ้น และถ้าเชิดหน้าขึ้นด้วยก็จะไม่อยากคิดเรื่องร้าย ๆ หรือทำตัวหม่นหมอง ดังนั้นเวลาที่เกิดหมดกำลังใจขึ้นมาดื้อ ๆ จนไม่อยากลงมือทำอะไร แนะนำให้ไปยืนหน้ากระจก จากนั้นก็ยืดอกแล้วเชิดหน้า ไม่แน่ว่ามันอาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้น และหันมามองโลกในแง่ดีได้
- ปริมาณงานที่ทำต้องกำลังดี
ถ้าอยากเลิกเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง จำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่าปริมาณงานที่น้อยที่สุดที่รู้สึกว่าทำได้แบบสบาย ๆ คือเท่าไหร่ แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะหาปริมาณที่ว่านั้นเจอ เวลาทำงานจะสัมผัสได้ว่า เมื่อทำเสร็จไปได้ประมาณหนึ่งจะรู้สึกโล่งใจ แต่ถ้าปริมาณที่ต้องทำมีมากเกินไปก็จะไม่อยากทำต่อ และถ้าน้อยเกินไปก็จะรู้สึกเหมือนมันไม่มีค่าพอที่จะทำ สรุปได้ว่าปริมาณงานที่มากหรือน้อยเกินไป ส่งผลให้เลิกการทำได้ทั้งคู่ ดังนั้นเวลาที่ต้องทำงานอะไรก็ตาม ควรประเมินว่าปริมาณงานที่พอเหมาะคือเท่าไหร่
- ถ้าชอบดองงานเอาไว้ทำในคราวเดียว
ต้องระวังให้ดี บางคนกลับชอบสระสมงานไว้เยอะ ๆ แล้วค่อยเอามาทำในคราวเดียว คนที่ชอบดองงานไว้แบบนี้ คือคนที่ชอบความตื่นเต้นท้าทาย พวกเขาชอบทำงานในภาวะที่ถูกเร่งรัดหรือกดดัน เพราะมันจะทำให้เกิดความรู้สึกกระตือรือร้นขึ้นมา และเนื่องจากคนเหล่านี้ชอบทำงานในสภาพไฟลนก้น แรงจูงใจอื่น ๆ จึงไม่มีผลในการกระตุ้นให้พวกเขารีบลงมือทำเลยแม้แต่น้อย นั่นเป็นเพราะสมองจดจำความรู้สึกพึงพอใจ หรือความรู้สึกประสบความสำเร็จที่เกิดขึ้น หลังจากทำงานทั้งหมดเสร็จในคราวเดียว พวกเขาใช้ความเสี่ยงมาเป็นตัวจุดไฟในการลงมือทำอยู่บ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย แต่วิธีนี้มักจะสร้างปัญหา แถมนิสัยที่ก่อตัวขึ้นยังกำจัดทิ้งได้ยากอีกด้วย คนเรามักชอบสะสางงานให้หมดในคราวเดียว มากกว่าค่อย ๆ ทำแบบทีละเล็กทีละน้อย ดังนั้นจึงควรกำหนดปริมาณ และระยะเวลาดองงานให้เหมาะสมกับความสามารถของตัวเอง
- วิธีทำงานโดยไม่อาศัยเส้นตาย
คนจำนวนไม่น้อยชอบกำหนดเส้นตายก่อนแล้วค่อยลงมือทำ ปัญหาก็คือพอเคยชินกับการทำงานแบบนั้นแล้ว พวกเขาก็จะกลายเป็นคนที่ลงมือทำไม่ได้ตราบใดที่ยังไม่มีเส้นตาย เรียกคนแบบนี้ว่ามีอาการของโรคเส้นตาย (Deadline Syndrome) เพราะเหตุที่คนประเภทนี้ถึงไม่สามารถทำงานได้หากไม่มีกำหนดเส้นตาย หรือไม่มีใครมาคอยกระตุ้น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาทำตามความคาดหวังของคนอื่นมากเกินไป กำหนดส่งงานหรือเส้นตายเป็นเรื่องที่คนอื่นกำหนดให้ การทำงานโดยกำหนดเส้นตาย จึงเหมือนกับการทำงานโดยพึ่งพาคนอื่น สาเหตุที่อยากให้คนอื่นกำหนดเส้นตายให้ก็เพราะว่า ถ้าทำงานเสร็จตามกำหนดก็จะรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากพวกเขานั่นเอง
- เลิกหาข้ออ้างให้ตัวเอง
การใช้ข้ออ้างแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ จะทำให้สะกดจิตตัวเองว่า เป็นคนแบบนั้นจริง ๆ จนยากที่จะสลัดภาพนั้นทิ้งไปได้ เวลาต้องทำอะไรบางอย่าง คนจำนวนไม่น้อยมักสรรหาเหตุผลที่ทำให้ตัวเองไม่สามารถลงมือทำเดี๋ยวนั้นได้ แล้วสุดท้ายพวกเขาก็จะกลายเป็นคนแบบนั้นไปจริง ๆ นั่นเป็นเพราะเขาได้ติดป้ายให้กับตัวเองไว้แล้วว่า เป็นคนที่ลงมือทำทันทีไม่ได้ สิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่สามารถลงมือทำทันทีก็คือ ความรู้สึกยินดีที่เกิดขึ้นเมื่อได้ลงมือทำทันที ดังนั้นจึงควรหาโอกาสลิ้มรสความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดจากการลงมือทำเรื่องต่าง ๆ ทันทีอยู่เสมอ
- รับฟังคำติชม
โดยทั่วไปแล้วมนุษย์จะรู้สึกยินดีเวลาได้รับคำติชม การได้รับคำติชมในที่นี้หมายถึง การได้รับปฏิกิริยาตอบสนอง ต่อสิ่งที่ตัวเองลงมือทำทันที แต่วิธีนี้จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อมีผู้สนับสนุน ดังนั้นจึงควรหาคนที่จะคอยให้คำติชม หลังจากทำเรื่องต่าง ๆ เช่น คนในครอบครัว เพื่อน เจ้านายเป็นต้น เมื่อมีคนอื่นรับรู้หรือมาแสดงความเห็น แรงจูงใจที่จะทำให้สำเร็จก็จะเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า
- เชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่ลงมือทำทันที
ความเชื่อมีอานุภาพรุนแรงจนน่ากลัว ถ้าเชื่อว่าตัวเองเป็นคนไม่เอาไหน หรือเป็นคนที่ลงมือทำอะไรทันทีไม่ได้ ก็จะกลายเป็นคนแบบนั้นจริง ๆ ที่สำคัญคือเมื่อเชื่อว่าตัวเองเป็นคนแบบนั้นคนอื่น ๆ ก็พลอยเชื่อไปด้วยว่าเป็นแบบนั้นจริง ๆ ทำให้ภาพลักษณ์ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก แค่ทำให้คนอื่นคิดว่าเป็นคนที่ชอบลงมือทำทันทีก็สิ้นเรื่อง ให้เริ่มต้นด้วยการเลิกคิดว่าตัวเองเป็นจอมขี้เกียจแสนอืดอาด แล้วหันมาเชื่อว่าตัวเองเป็นคนคล่องแคล่ว ที่ลงมือทำทุกอย่างได้ทันที ขอให้เชื่อว่าตัวเองสามารถทำงานโดยไม่ผัดผ่อนได้แน่นอน แล้วลองทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สำเร็จดู ดังนั้นนับตั้งแต่นี้ไปขอให้เชื่อว่าตัวเอง เป็นคนที่ลงมือทำทันทีแล้วก็เดินหน้าไปแบบนั้นเลย จะเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ไม่เป็นไร ขอแค่ได้เริ่มลงมือทำจนเสร็จก็พอแล้ว
- ฟังเพลง
การฟังเพลงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ลงมือทำทันทีได้ เวลาฟังเพลงจะรู้สึกตื่นตัวและกระปรี้กระเปล่ามากขึ้น โอกาสที่จะลงมือทำโดยไม่มีรอจึงมีสูงขึ้นด้วย เคล็ดลับของการลงมือทำทันทีคือ ต้องกระตุ้นให้ตื่นตัวแล้วจัดการลดปริมาณงานที่ต้องทำ การฟังดนตรีจะช่วยตอบโจทย์ข้อแรกได้ แต่จะหมดความหมายทันทีถ้าหลังจากนั้นไปทำอย่างอื่น แทนที่จะทำสิ่งที่ควรทำ ดังนั้นเมื่อกระตุ้นตัวเองสำเร็จแล้ว ต้องรู้จักเลือกเรื่องที่จะทำด้วย นอกจากเสียงเพลงแล้วสภาพแวดล้อมก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยให้เลิกผัดผ่อนและลงมือทำทันทีได้ หากหันไปสนใจเสียงรบกวนที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น เพราะอาจรู้สึกเครียดขึ้นมา และอย่างที่ได้บอกไปแล้วความเครียดถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของการลงมือทำทันที ควรทำงานในสถานที่ที่ไม่มีสิ่งรบกวน การทำงานถ้าเป็นไปได้ ก็ลองหาร้านกาแฟเงียบ ๆ ดูสักร้าน ตามหลักจิตวิทยาแล้ว สภาพแวดล้อมถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากเลย
- จงเชื่อว่าสนุก
จากนิยายเรื่อง The Adventures of Tom Sawyer ของมาร์ค ทเวน เนื้อเรื่องตอนหนึ่งมีอยู่ว่า วันหนึ่งทอมถูกป้าลงโทษให้ทาสีรั้ว จริง ๆ แล้วทอมคิดว่าการทาสีเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย และอยากจะหยุดมันเสียเดี๋ยวนั้น แต่เขาก็ยังทาสีต่อไปเรื่อย ๆ โดยทำทีเป็นเหมือนสนุกกับงาน พอเพื่อน ๆ เห็นว่าทอมทาสีอย่างสนุกสนาน จึงเอ่ยปากขอทำบ้าง แต่ทอมกลับไม่ยอมเปลี่ยนให้เพื่อนทำ สุดท้ายปรากฏว่ามีเพื่อนหลายคนมาต่อแถวรอทาสีด้วย เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้จะเป็นงานเดียวกันแต่ก็สามารถทำให้เกิดทั้งความรู้สึกสนุกและไม่สนุกได้ นี่แสดงให้เห็นว่าความคิดและจิตใจส่งผลต่อการทำงาน ในทางจิตวิทยาเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า อคติที่เกิดจากการยึดติดกับข้อมูลแรกที่ได้รู้ (Anchoring Bias) ซึ่งในกรณีนี้ข้อมูลแรกก็คือภาพแรกที่เห็นนั่นเอง การคิดว่างานทุกอย่างเป็นเรื่องสนุก อาจดูขัดกับความเป็นจริง แต่ถ้าต้องทำงานแบบเดิมซ้ำ ๆ ซาก ๆ แล้วก็การคิดแบบนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์
- 45. อย่าใช้เงินเป็นเป้าหมาย
ในการทดลองหนึ่ง ได้ให้อาจารย์อ่านบทกลอนให้นักเรียนฟัง โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอาจารย์จะเก็บเงินจากนักเรียนเป็นค่าอ่านบทกลอนให้ฟัง ส่วนกลุ่มที่ 2 อาจารย์จะจ่ายเงินให้นักเรียนเป็นค่าจ้างฟังบทกลอน หลังอ่านบทกลอนจบ อาจารย์ก็สอบถามความคิดเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับบทกลอนนั้น นักเรียนกลุ่มที่จ่ายเงินจะประเมินคุณค่าของบทกลอนสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ต้องจ่ายเงิน การทดลองนี้ทำให้รู้ว่าคนเรามักคิดว่าอะไรก็ตามที่ต้องจ่ายเงินแลกมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ส่วนเรื่องที่ต้องใช้เงินล่อถึงจะยอมทำนั้น แทบไม่มีคุณค่าอะไรเลย งานที่ทำเพื่อเงินมักเป็นงานที่สร้างแรงจูงใจได้ยาก เพราะคนมักเชื่อว่างานที่ทำเพื่อเงินเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่า ดังนั้นการทำงานโดยมีเงินเป็นเป้าหมาย จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่ช่วยให้ลงมือทำทันทีได้
- ป้องกันความเสียหายที่ร้ายแรงที่สุด
สาเหตุที่ทำให้คนเราผัดวันประกันพรุ่งนั้นมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น ปริมาณงานที่เยอะเกินไป ความวิตกกังวล ความต้องการที่จะทำให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ เป็นต้น แต่ดูเหมือนจะไม่มีสาเหตุใดสำคัญไปกว่าการตั้งความหวังเอาไว้สูง กับความกลัวว่าจะล้มเหลว วิธีแก้ไขปัญหาคือต้องลองค้นหาว่า ความเสียหายที่ร้ายแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้คืออะไร จากนั้นก็บอกตัวเองว่าสามารถรับมือกับมันได้ เพียงเท่านี้ก็จะเอาชนะความกลัวนั้นได้แล้ว เขียนเหตุผลหลักที่ทำให้ลงมือทำไม่ได้ เมื่อลองเขียนเหตุผลออกมา บางครั้งจะพบว่าสิ่งที่ทำให้ลงมือทำไม่ได้เป็นแค่เรื่องขี้ปะติ๋วเท่านั้น และเมื่อรู้แล้วก็จะลงมือทำได้ทันที หรือไม่ก็ค้นพบวิธีรับมือกับเรื่องดังกล่าวได้
- พูดคุยเรื่องงานบ่อยๆ
นี่เป็นสถานการณ์ที่พบได้บ่อย เวลาได้พูดคุยกับคนอื่นในที่ประชุม มักรู้สึกกระตือรือร้นอยากทำงาน แต่พอถึงเวลาที่ต้องทำงานซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพียงลำพัง กลับเริ่มรู้สึกไม่อยากทำขึ้นมาเสียอย่างนั้น อย่างไรก็ตามงานซ้ำ ๆ ซาก ๆ น่าเบื่อเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเอาแต่ผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ ก็จะทำอะไรไม่เสร็จเลยสักอย่างเดียว ทางหนึ่งที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ก็คือ ลองคุยเรื่องงานกับใครสักคนดู เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนเราจะให้ความสนใจ กับเรื่องที่มีคนอื่นร่วมรับรู้ด้วยมากกว่า เรื่องที่ตัวเองรู้อยู่คนเดียว นี่คือประเด็นที่สำคัญมาก เพราะถ้าสนใจเรื่องไหนขึ้นมา ก็จะมีแรงจูงใจที่จะทำเรื่องนั้นไปโดยอัตโนมัติ การพยายามชักชวนคนอื่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในงานที่ทำ ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก ลองพิจารณาดูว่า มีงานส่วนไหนที่สามารถทำร่วมกับผู้อื่นได้บ้าง
- ค้นหาสาเหตุที่ทำให้ผลัดวันประกันพรุ่ง
สาเหตุที่ทำให้คนเราชอบผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ข้อใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ 1. เลือกไม่ถูก ถ้ามัวแต่คิดว่าเรื่องนู้นก็อยากทำ เรื่องนี้ก็อยากทำ ไม่มีทางลงมือทำได้แน่นอน ต้องจำไว้ว่าคนเราสามารถทำอะไรได้แค่ทีละเรื่องเท่านั้น จึงควรเริ่มด้วยการเลือกเรื่องที่จะทำมาแค่เรื่องเดียว 2. ตัดสินใจได้ไม่เด็ดขาด เหตุผลข้อนี้คล้ายคลึงกับข้อแรก ต่างกันตรงที่จะเน้นความรู้สึกว่าไม่แน่ใจ ว่าอยากจะทำเรื่องนั้น ๆ จริง ๆ หรือเปล่า 3. ไม่ได้เตรียมตัว ทั้งที่ตัดสินใจเป็นอย่างดีแล้วแต่กลับลงมือทำไม่ได้ การเตรียมตัวเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ลงมือทำได้ทันที 4. ลงมือทำไม่ได้ ถึงตอนนี้คนที่ทำตามเคล็ดลับ ที่บอกไปในสาเหตุข้อ 1-3 แล้ว แต่ยังลงมือทำไม่ได้สักที คงเหลืออยู่น้อยมาก แต่ถ้าเป็นคนหนึ่งในนั้น ขอแนะนำให้รับมือกับการผัดวันประกันพรุ่งด้วยการ ลองทำตามวิธีทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ เพราะสาเหตุอาจเกิดจากสภาพแวดล้อม ความเครียด หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ยังมองไม่เห็น
- รู้จักประเมินเวลา
ถ้าไม่รู้จะประเมินเวลาที่จะใช้ในการทำงาน ก็มีโอกาสสูงที่จะเริ่มลงมือทำไม่ได้สักที แต่ถ้าประเมินเวลาได้ เช่น รู้ว่างานนี้น่าจะเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง หรืองานนี้ใช้เวลาแค่ 3 นาทีก็คงพอแล้ว ก็จะเริ่มลงมือทำได้ทันที ถ้าไม่ประเมินเวลาที่ต้องใช้ก็เหมือนกับการคลำทางท่ามกลางหมอกอันหนาทึบ มองไม่เห็นทางและไม่รู้ว่าจะขับไปทางไหนดี แถมยังไม่รู้ด้วยว่าจะถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไหร่ สุดท้ายเลยกลายเป็นว่าไม่คืบหน้าไปไหนเสียที ลองทำดูก่อนแล้วค่อยประเมินเวลาที่ต้องใช้ การลองทำดูก่อนเล็กน้อย จะช่วยให้เห็นภาพรวมของงาน และสามารถคำนวณเวลาได้
- สร้างเงื่อนไขเฉพาะตัว
อันที่จริงแล้วคนเราจะลงมือทำทันทีได้หรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับว่าการลงมือทำทันทีสามารถทำให้เกิดความรู้สึกยินดีได้หรือเปล่า คนเราจะลงมือทำสิ่งต่าง ๆ หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจหรือความรู้สึกอยากทำ แต่ขึ้นอยู่กับความยินดีที่ได้รับหลังจากทำเสร็จแล้วต่างหาก นิสัยลงมือทำทันทีเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ อาจเคยได้ยินว่าต้องใช้เวลาถึง 21 วันกว่าจะทำอะไรให้ติดเป็นนิสัยได้ ถ้าใช้ความรู้สึกยินดีหลังจากลงมือทำเป็นเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จะเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้โดยไม่ต้องรอถึง 21 วัน ถ้าสามารถทำให้ตัวเองได้รับความยินดี หรือได้รับรางวัลทุกครั้งหลังจากที่ลงมือทำ ก็จะเปลี่ยนมามีนิสัยชอบลงมือทำทันทีได้ในพริบตา
- จดบันทึกเรื่องที่ผลัดผ่อนออกไป
ยอมรับเถอะว่าการผัดวันประกันพรุ่งก็คือความล้มเหลวดี ๆ นี่เอง ลองคิดดูให้ดีการที่ไม่สามารถลงมือทำตามสิ่งที่วางแผนไว้ได้ หมายความว่าล้มเหลวในการทำเรื่องนั้น วิธีแก้ปัญหาก็คือให้ลองใช้วิธีเรียนรู้จากความผิดพลาด วิธีนี้พัฒนามาจากศาสตร์ด้านจิตวิทยาการรู้คิด (cognitive psychology) ซึ่งแนะนำให้บันทึกสิ่งที่ทำไม่ได้ตามที่คาดหมายเอาไว้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือการจดบันทึกความล้มเหลว วิธีที่มีประสิทธิภาพในการแก้นิสัยไม่ดีแบบนี้คือ การจดบันทึก คนเรามักจะผัดวันประกันพรุ่งโดยไม่รู้ตัว การจดบันทึกเอาไว้จะช่วยให้ตระหนักว่า ได้ทำผิดพลาดอะไรไปบ้าง แต่ถ้าไม่รีบจดบันทึกเรื่องที่ผัดผ่อนออกไปเอาไว้ ไม่นานก็จะลืมมันสนิทอย่างแน่นอน ขอแค่ให้ได้บันทึกไว้ก็พอ รับประกันว่าเพียงเท่านี้ ก็จะลดการผัดวันประกันพรุ่งลงได้แล้ว
- หยุดพักชั่วคราวแล้วลองทำอะไรที่คล้ายกันดู
งานที่ชอบผัดผ่อนออกไปใช่ว่าจะเป็นงานแบบเดียวกันเสมอไป และงานที่เคยรู้สึกว่าง่ายก็ใช่ว่าจะง่ายแบบนั้นทุกครั้ง สาเหตุก็เพราะคนเรามักจะรู้สึกว่างานที่ลงมือทำได้ง่ายคือ งานที่คล้ายกับงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่ในขณะนั้นนั่นเอง ถ้ารู้สึกอยากผัดวันประกันพรุ่งขึ้นมา ขอให้พิจารณาดูว่าอะไรคือสาเหตุ ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย แต่กลับลงมือทำไม่ได้สักที ก็ควรพิจารณาว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร เพราะมันเป็นงานที่ต้องคำนวณใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็หยุดพักสักนิด แล้วลองคำนวณอะไรง่าย ๆ ดู หรือถ้าเพราะมันเป็นงานกรอกเอกสารที่รู้สึกว่ายุ่งยาก ก็ให้พักสักครู่แล้วลองเขียนชื่อกับที่อยู่ลงในสมุดดู ก่อนที่จะตัดสินใจผัดผ่อนงานออกไป ขอให้หยุดพักและลองทำงานที่มีลักษณะใกล้เคียงกับงานนั้นก่อน แล้วจะลงมือทำได้ง่ายขึ้นเยอะ
- อย่าลังเลเมื่อเห็นรายการสิ่งที่ต้องทำ
ทำรายการสิ่งที่ต้องทำ อาจคิดว่ามีแต่นักธุรกิจที่งานล้นมือเท่านั้น ถึงจำเป็นต้องทำอะไรแบบนั้น แต่จริง ๆ แล้วมันมีประโยชน์กับทุกคน และก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรด้วย แค่เขียนสิ่งที่ควรจะทำลงไปเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามปัญหามีอยู่ว่า หลังจากที่เขียนรายการสิ่งที่ต้องทำแล้ว มักจะทิ้งมันเอาไว้แบบนั้น โดยไม่เคยกลับมาอ่านอีกเลย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักแค่ไหน นอกจากการทำรายการสิ่งที่ต้องทำแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ควรใส่ใจให้มากก็คือ ต้องเลิกลังเลว่าจะทำดีไหมหรือจะทำอย่างไรดี แทนที่จะปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ สู้เลิกคิดแล้วหันไปทยอยจัดการงานทีละอย่างตามลำดับ โดยไล่จากงานที่อยู่แถวบนสุดลงมาจะดีกว่า
- ใช้โปรแกรม Excel มาเป็นตัวช่วย
คนเรามักจะทำงานที่บริษัท หรือครอบครัวเรียกร้องให้ทำได้ แต่พอเป็นเรื่องของตัวเองอย่างทำเพื่อความฝันที่ตั้งไว้ กลับลงมือทำได้ยากเย็นแสนเข็ญเสียอย่างนั้น ต่อให้มีความมุ่งมั่น แต่ในความเป็นจริงมันก็มีข้อจำกัดอยู่ อันดับแรกคือ ไม่รู้เลยว่าตัวเองจะมีปัญญาอ่านหนังสือวันละ 1 เล่มหรือเปล่า แถมยังต้องไปทำงาน พบแต่เพื่อนฝูง เล่นอินเตอร์เน็ต รวมถึงมีเรื่องอื่น ๆ มากมายให้ทำ นอกเหนือไปจากการอ่านหนังสือ
ถ้าตั้งเป้าเอาไว้แบบนั้นคิดว่าตัวเองจะทำได้จริง ๆ หรือเปล่า ก่อนอื่นสิ่งที่ต้องทำคือประเมินว่า เป้าหมายของตัวเองใกล้เคียงกับความจริงมากแค่ไหน เวลาที่กลัวว่าตัวเองจะเพ้อฝันมากเกินไป ให้ใช้โปรแกรม excel ในการคำนวณระยะเวลาของการทำงานแต่ละชิ้น โดยสร้างไฟล์ขึ้นมาเพื่อบันทึกว่าเวลาเท่านี้ จะสามารถทำงานได้มากแค่ไหน แล้วใช้ตัวเลขที่บันทึกไว้มาเป็นฐานในการคำนวณ ว่างานชิ้นต่อไปน่าจะใช้เวลาสักเท่าไหร่
สมมุติว่าอยากอ่านหนังสือให้จบสักเล่ม ก็ควรลองจับเวลาดูว่าเมื่อหยิบหนังสือมาอ่านแต่ละครั้ง อ่านได้กี่หน้าภายในระยะเวลาเท่าไหร่ แล้วบันทึกเวลาที่ใช้ลงไปในไฟล์ Excel เพื่อคำนวณผลการคาดการณ์อนาคตที่แม่นยำ จะทำให้เกิดแรงจูงใจพูดง่าย ๆ ก็คือมาใส่รายละเอียดจำนวนหน้าของหนังสือ ที่ยังไม่ได้อ่านเอาไว้ในไฟล์ ก็จะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะอ่านจบทั้งหมดเมื่อไหร่
ถ้าอยากคาดการณ์ให้แม่นยำขึ้นไปอีก ให้ลองอ่านหนังสือที่อยากอ่านประมาณ 10 หรือ 20 นาที แล้วคำนวณระยะเวลาที่ต้องใช้ในการอ่านหนังสือเล่มนั้นจนจบ จากนั้นก็นำตัวเลขที่ได้ไปปรับใช้กับหนังสือทุกเล่มที่อยากอ่าน ไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่น ๆ ได้อีกด้วย หากคิดว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ขอบอกว่าการมองเห็นเป้าหมายอย่างชัดเจนแบบนี้ จะช่วยให้มีแรงจูงใจมากกว่าการคลำทางไปเรื่อย ๆ เยอะเลย แถมยังสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วได้ตามใจชอบอีกด้วย ตราบใดที่ความเร็วในการลงมือทำไม่หยุดนิ่งจนเหลือศูนย์ สักวันก็ต้องบรรลุเป้าหมายได้อย่างแน่นอน
- หาพื้นที่ส่วนตัว
บริษัทเป็นสถานที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้พนักงานทำงาน การกดดันพนักงานจนไม่เป็นอันทำงาน จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขกันได้ในชั่วข้ามคืน โดยส่วนตัวแล้ววิธีแก้ปัญหาที่คิดว่าน่าจะพอทำได้ก็คือ การสร้างพื้นที่ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างบ้านกับที่ทำงานขึ้นมา เวลาที่เครียดมากเกินไปจนทำงานไม่ไหว แต่ถ้าผ่อนคลายเสียจนเอาแต่นอนกลิ้งไปมาที่บ้านก็คงไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องใส่ใจก็คือการหาจุดสมดุลให้เจอนั่นเอง สามารถสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองด้วยการพักเล่น facebook บ้าง หรือไม่ก็ลองหาพื้นที่ทำงานส่วนตัวอย่างร้านกาแฟเงียบ ๆ สักแห่ง เมื่อรู้สึกผ่อนคลายในระดับที่กำลังดีก็จะมีแรงจูงใจขึ้นมาเอง
บทส่งท้าย
ในทางจิตวิทยาแล้ว จะเรียกคนเชื่อฝังหัวว่าต้องลงมือทำทันทีว่าเป็นคนประเภท A ว่ากันว่าคนประเภทนี้มีโอกาสสูงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจ แถมยังรู้สึกกดดันอยู่ทุกขณะ เพราะมักจะทำตามความต้องการของคนอื่น ยิ่งไปกว่านั้นคนประเภทนี้จะใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกว่ามีงานล้นมือ แถมยังผูกเส้นตายไล่กวดอยู่ตลอดเวลา จนคนรอบข้างมองว่าพวกเขาใช้ชีวิตแบบเร่งรีบเกินไป แต่ไม่ว่าจะเป็นคนประเภทไหน มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์จึงไม่สามารถทำงานเหมือนเครื่องจักรได้ มนุษย์มักมีความขัดแย้งในตัวเอง ตรงที่ชอบความตื่นเต้นท้าทาย ที่ได้จากการทำงานแบบเฉียดเส้นตาย แต่ในขณะเดียวกันก็ชอบความสบายใจ เวลาที่ทำงานได้ตามแผนที่วางไว้ด้วย แต่ไม่สามารถทำงาน 2 รูปแบบนี้ไปพร้อม ๆ กันได้ ต้องเลือกแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น.