ทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ที่ปล่อยเงินกู้ต่างให้ความสำคัญกับระดับความเสี่ยงและอัตราการเติบโตของบริษัท แต่ว่าผู้ปล่อยกู้ต้องการให้รายได้และกำไรของบริษัทมีความมั่นคง ซึ่งเป็นหลักประกันที่จะมั่นใจได้ว่าบริษัทจะสามารถจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้ได้ตรงตามที่ตกลงเอาไว้ ในขณะที่ผู้ถือหุ้นต้องการให้กำไรของบริษัทมีการเติบโตเมื่อเวลาผ่านไป แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องความผันผวนเหมือนๆกับผู้ปล่อยเงินกู้

ระดับความเสี่ยงของบริษัทจะขึ้นกับโมเดลธุรกิจและปัจจัยอื่นๆทั้งที่เป็นปัจจัยจากภายในบริษัทเอง และปัจจัยจากภายนอก ซึ่งความเสี่ยงนี้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการขอกู้เงินและการระดมทุนอีกด้วย โดยปัจจัยภายนอกที่สำคัญมีดังนี้:

  1. การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งบริษัทที่มีรายได้แน่นอนไม่เป็นวัฏจักรจะถูกกระทบโดยสภาวะเศรษฐกิจน้อยกว่าบริษัทที่มีอุปสงค์แบบเป็นวัฏจักร
  2. การเปลี่ยนแปลงของลักษณะประชากร อาจส่งผลให้รสนิยมการใช้สินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อบางอุตสาหกรรมทั้งในทางบวกและทางลบ
  3. การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมือง, กฎหมาย, และการกำกับดูแล ส่งผลกระทบต่อทุกบริษัท

ความเสี่ยงระดับมหภาค (Macro risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยด้านการเมือง, กฎหมาย, และเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงด้านอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งภูมิภาค โดย Macro risk หลักที่บริษัทถูกผลกระทบก็คือภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งอุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆจะเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมแบบวัฏจักร (Cyclical) ส่วนอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าและบริการที่ผู้คนจำเป็นต้องใช้เช่น น้ำประปา หรือโรงพยาบาล จะจัดเป็นอุตสาหกรรมแบบไม่เป็นวัฏจักร (Non-cyclical)

ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business risk) เป็นความผันผวนของกำไรจากการดำเนินงาน (EBIT) ซึ่งมาจากทั้งความเสี่ยงเฉพาะส่วนของบริษัท และความเสี่ยงของอุตสาหกรรม โดยที่ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมประกอบด้วย:

  1. ความเป็นวัฏจักรของรายได้และผลกำไร
  2. โครงสร้างอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่มีจำนวนบริษัทเล็กอยู่เป็นจำนวนมากจะมีการแข่งขันที่สูง
  3. ระดับการแข่งขัน การแข่งขันที่สูงส่งผลให้กำไรลดลง
  4. ระดับการแข่งขันภายในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) การแข่งขันกันระหว่างซัพพลายเออร์ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท
  5. โอกาสเติบโตและคาดการณ์อุปสงค์ อุตสาหกรรมที่ตลาดคาดว่าจะเติบโตในอนาคตและมีความต้องการที่สูงจะเป็นที่สนใจของนักลงทุน แต่ก็อาจดึงดูดคู่แข่งในอนาคตด้วยเช่นกัน
  6. ความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลอุตสาหกรรม

ส่วนความเสี่ยงเฉพาะส่วนของบริษัท ประกอบด้วย:

  1. ความเสี่ยงด้านการแข่งขัน บริษัทอาจสูญเสียข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจมีบริษัทที่สามารถผลิตที่ต้นทุนทีถูกกว่า (Cost advantage) หรือการที่มีนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามารบกวนอุตสาหกรรม เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยทำงานในบางส่วน ส่งผลให้บริษัทไม่จำเป็นต้องเสียค่าจ้างพนักงาน หรือการมาของกล้องดิจิตอลที่เข้ามาแทนที่บริษัทผลิตกล้องฟิล์ม
  2. ความเสี่ยงด้านสินค้า ความต้องการซื้อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งอาจลดลงตามกาลเวลา เนื่องจากการตกยุค ดังนั้นบริษัทที่มีสินค้าหลายประเภทจึงมีความเสี่ยงด้านนี้ที่ต่ำกว่าบริษัทที่ขายสินค้าน้อยชนิด
  3. ความเสี่ยงด้านการลงทุน บริษัทมีความเสี่ยงที่จะลงทุนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้เกิดผลขาดทุนจากการลงทุนนั้นๆ
  4. ความเสี่ยงด้าน ESG บริษัทที่สร้างผลกระทบในทางลบต่อปัจจัยด้าน ESG โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใสอาจสร้างความเสียหายให้กับทั้งด้านการเงินและชื่อเสียงของบริษัท
  5. ความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายคงที่ บริษัทที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed costs) สูงจะทำให้กำไรจากการดำเนินงานมีความผันผวนสูงตามมา
  6. ความเสี่ยงด้านการเงิน เกิดจากการกู้ยืมเงินที่ส่งผลให้ผลกำไรมีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น การเช่า หรือการกู้ยืม จะเพิ่มความเสี่ยงด้านการเงินแก่บริษัท