จากพาร์ทที่แล้วที่เราอธิบายเกี่ยวกับการปรับแต่งงบการเงินของบริษัทที่มีทั้งการปรับแต่งที่ยังอยู่ภายใต้มาตรฐานบัญชี เช่น Aggressive และ Coservative accounting และการตกแต่งบัญชีที่ผิดกฎหมาย (Fraudulent accounting) ซึ่งถึงแม้ว่าจะปรับแต่งงบการเงินถูกต้องตามมาตรฐานบัญชีก็อาจส่งผลให้งบการเงินมีความเป็นกลางน้อยลง (Biased)

ระดับคุณภาพงบการเงิน

Source: https://ift.world/wp-content/uploads/2020/01/wsi-imageoptim-R29.jpg

ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่ามีตัวแปรใดบ้างในงบการเงินที่ผู้บริหารสามารถปรับแต่งได้

  1. การรับรู้รายได้ (Revenue recognition) ตัวอย่างการควบคุมการรับรู้รายได้ ได้แก่ การส่งสินค้าไปยังปลายทางในจำนวนที่มากกว่าที่ลูกค้าสั่ง (Channel stuffing) โดยการเสนอสิทธิพิเศษต่างๆเพิ่มเติมให้กับลูกค้า, การขนส่งสินค้าแบบ FOB (Free-on-board) ที่บริษัทส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าดูแลต่อ ณ จุดส่งสินค้าจะรับรู้รายได้เร็วกว่าการส่งมอบ ณ จุดหมาย
  2. ประมาณการหนี้เสีย บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนเงินตั้งสำรองสำหรับหนี้เสียที่ลูกค้าจะผิดนัดชำระได้ โดยหากบริษัทตั้งสำรองเอาไว้ต่ำกว่าหนี้เสียจริงก็จะเกิดรายจ่ายหนี้เสีย (Bad debt expense) เพิ่มเติมในภายหลัง แต่หากตั้งสำรองเอาไว้มากเกินหนี้เสียจริงก็จะทำให้มีรายจ่ายลดลงและมีมูลค่าลูกหนี้การค้าสูงขึ้น
  3. Valuation allowance ทบทวนความจำจากเรื่องภาษีที่ Valuation allowance มีเอาไว้เพื่อลด Deferred tax assets ที่คาดว่าจะไม่สามารถนำมาชดเชยภาษีได้ในอนาคต การปรับ Valuation allowance ขึ้นจะส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง ซึ่งการปรับค่านี้ขึ้นลงทำให้บริษัทสามารถทำให้ตัวเลขกำไรแต่ละงวดดูรายรื่นขึ้นได้
  4. ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย (Depreciation and amortization) การใช้วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาแบบต่างๆส่งผลให้มีรายจ่ายในแต่ละงวดแตกต่างกัน โดยวิธีแบบเร่งการเสื่อม (Accelerated method) จะทำให้ในช่วงแรกของอายุสินทรัพย์มีค่าเสื่อมราคาที่สูงกว่า Straight-line method ส่งผลให้มีตัวเลขกำไรสุทธิที่ต่ำกว่าในช่วงแรก แต่จะมีกำไรที่สูงกว่าในช่วงหลังนั่นเอง ส่วนการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนก็ใช้วิธีเดียวกับการคำนวณค่าเสื่อมราคา ยกเว้นค่าความนิยม (Goodwill) ที่ไม่มีการตัดจำหน่าย แต่จะต้องถูกทดสอบการด้อยค่า (Impairment) ซึ่งผู้บริหารสามารถเลื่อนการด้อยค่าออกไปเพื่อลดรายจ่ายได้
  5. การคำนวณสินค้าคงเหลือ (Inventory method) ในกรณีที่เกิดเงินเฟ้อ ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ วิธีการบันทึกมูลค่าสินค้าในคลังแบบ FIFO (First-in first-out) จะมีมูลค่าสินค้าในคลังสูงกว่าการบันทึกแบบต้นทุนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted-average costing method) และมีต้นทุนขายที่ต่ำกว่า ซึ่งในมาตรฐานบัญชีแบบ IFRS บริษัทสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง 2 วิธีข้างต้น ผู้บริหารจึงสามารถเลือกวิธีที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากที่สุดได้
  6. ธุรกรรมระหว่างองค์การที่เกี่ยวข้องกัน (Related-party transaction) หากบริษัทที่ขายสินค้าและวัตถุดิบให้กับอีกบริษัทอยู่ในเครือเดียวกัน อาจมีการปรับแต่งราคาขายเพื่อถ่ายโอนกำไรจากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่งได้ โดยเฉพาะการถ่ายโอนกำไรไปยังบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
  7. การแปลงรายจ่ายเป็นทุน (Capitalization) ถึงแม้ว่าการแปลงค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นค่าพัฒนาสินค้า กลายมาเป็นสินทรัพย์ จะทำให้มีค่าเสื่อมราคาในระยะยาว แต่ก็ช่วยลดรายได้ก้อนใหญ่ในงวดปัจจุบันได้ ส่งผลให้มีตัวเลขกำไรสูงขึ้น จัดเป็น Aggressive accounting แบบหนึ่ง

นอกจากวิธีต่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีอื่นๆที่บริษัทสามารถปรับแต่งงบการเงินได้ เช่น การยืดระยะเวลาในการจ่ายเงินให้กับซัพพลายเออร์ออกไป (Stretching payables) ทำให้กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (CFO) สูงขึ้นได้ ซึ่งในบทความถัดไปเราจะมาพูดถึงสัญญาณเตือนต่างๆที่สามารถบอกเราได้ว่า บริษัทอาจมีการปรับแต่งบัญชี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง