ในการดำเนินธุรกิจ บริษัทมีความจำเป็นต้องระดมทุนจากแหล่งต่างๆ โดยการกู้เงินและออกตราสารหนี้เป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญ หนี้ที่ขอกู้โดยบริษัทมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และสถานการณ์ทางการเงินที่แตกต่างกัน แบ่งประเภทได้ดังนี้:
หนี้สินจากธนาคาร (Bank Debt)
บริษัทส่วนใหญ่มักใช้เงินกู้จากธนาคารเป็นแหล่งเงินทุนหลัก โดยทั่วไปเป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เงินกู้จากธนาคารแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก:
1.1 เงินกู้สองฝ่าย (Bilateral Loan): เป็นการกู้ยืมจากธนาคารเพียงแห่งเดียว
1.2 เงินกู้ร่วม (Syndicated Loan): เป็นการกู้ยืมจากกลุ่มธนาคารหลายแห่ง โดยมีตลาดรองสำหรับซื้อขายส่วนแบ่งในเงินกู้ร่วม และบางครั้งมีการแปลงสภาพเป็นพันธบัตรเพื่อขายให้นักลงทุน
ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (Commercial Paper)
บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือสูงสามารถลดต้นทุนทางการเงินโดยการออกตราสารหนี้ประเภทนี้ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้ธนาคาร แต่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่องที่สูงกว่า
ลักษณะสำคัญของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นคือเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่มีหลักประกัน ในสหรัฐอเมริกา มีอายุไม่เกิน 270 วัน เพื่อได้รับยกเว้นการจดทะเบียนกับ SEC, ในยุโรปมีอายุสูงสุดถึง 364 วัน แต่ว่าส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 90 วัน บางครั้งอาจสั้นเพียง 1 วัน (Overnight Paper)
บริษัทมักใช้ตราสารหนี้ประเภทนี้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือเป็นแหล่งเงินทุนชั่วคราวก่อนการออกตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งเรียกว่า “Bridge Financing” เมื่อตั๋วเงินครบกำหนด บริษัทมักจะออกตั๋วใหม่เพื่อทดแทน (Roll Over) อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงที่เรียกว่า “Rollover Risk” หรือก็คือความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่สามารถออกตั๋วใหม่ได้ ซึ่งอาจเกิดจากความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลดลง ทำให้ต้องเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นหรือไม่สามารถขายตั๋วได้เต็มจำนวน หรือภาวะวิกฤตทางการเงินที่ทำให้ตลาดตราสารหนี้หยุดชะงัก เช่น วิกฤตการเงินปี 2008
เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความน่าเชื่อถือ บริษัทมักจะมีวงเงินสินเชื่อสำรองจากธนาคาร (Backup Lines of Credit) โดยธนาคารจะให้เงินกู้เมื่อตราสารหนี้ถึงวันครบกำหนด ยกเว้นในกรณีที่บริษัทประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก
หุ้นกู้บริษัท (Corporate Bonds)
หุ้นกู้มีโครงสร้างดอกเบี้ยที่หลากหลาย ทั้งแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่และอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อาจมีหลักประกันหรือไม่มีก็ได้ และอาจมีเงื่อนไขพิเศษ เช่น สิทธิในการไถ่ถอนก่อนกำหนด (Call Option) สิทธิในการขายคืน (Put Option) หรือสิทธิในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ (Conversion Option)
นอกจากนี้ ยังมีลักษณะพิเศษอื่นๆ เช่น:
– การทยอยไถ่ถอน (Sinking Fund Provision): เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตโดยการทยอยไถ่ถอนหุ้นกู้เป็นงวดๆ ตลอดอายุของหุ้นกู้
– การออกเป็นชุด (Serial Bond Issue): คล้ายกับ Sinking Fund แต่กำหนดวันครบกำหนดไถ่ถอนที่แตกต่างกันตั้งแต่ตอนออกหุ้นกู้ ทำให้นักลงทุนทราบล่วงหน้าว่าหุ้นกู้แต่ละชุดจะถูกไถ่ถอนเมื่อใด
– โครงสร้างการครบกำหนดแบบเดียว (Term Maturity Structure): หุ้นกู้ทั้งหมดจะครบกำหนดพร้อมกัน
โดยทั่วไป หุ้นกู้บริษัทแบ่งตามอายุได้เป็น หุ้นกู้ระยะสั้น มีอายุไม่เกิน 5 ปี, หุ้นกู้ระยะกลาง มีอายุ 5-12 ปี, และหุ้นกู้ระยะยาว มีอายุมากกว่า 12 ปี
โครงการตราสารหนี้ (Medium-Term Notes (MTNs))
เป็นตราสารหนี้ที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถออกได้หลากหลายอายุ ตั้งแต่ 9 เดือนไปจนถึง 100 ปี โดยผู้ออกจะกำหนดช่วงอายุ (เช่น 18 เดือนถึง 2 ปี) และเสนออัตราผลตอบแทนสำหรับแต่ละช่วง นักลงทุนสามารถเสนอซื้อโดยระบุมูลค่าที่ต้องการและอายุที่แน่นอนภายในช่วงที่กำหนด
MTNs อาจมีอัตราดอกเบี้ยคงที่หรือลอยตัว แต่ MTNs ระยะยาวมักเป็นอัตราคงที่ ส่วนใหญ่ออกโดยสถาบันการเงินและขายให้กับสถาบันการเงินเช่นกัน MTNs สามารถออกแบบให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของนักลงทุนได้ แม้จะมีสภาพคล่องต่ำกว่าหุ้นกู้ทั่วไป แต่ก็มักให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเล็กน้อย
สรุป
ในการเลือกออกตราสารหนี้ประเภทต่างๆ บริษัทต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้าน เช่น ต้นทุนทางการเงิน ความยืดหยุ่น ระยะเวลาการระดมทุน และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง การเข้าใจลักษณะเฉพาะของตราสารหนี้แต่ละประเภทจะช่วยให้บริษัทสามารถเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์และความต้องการของตน ส่วนทางฝั่งนักลงทุนก็สามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่ตรงกับเป้าหมายการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้