Source: https://www.hivelr.com/2023/03/what-is-business-model-canvas/
ในการประกอบธุรกิจ บริษัทจำเป็นที่จะต้องมีโมเดลธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายว่าธุรกิจจะมีการสร้างสินค้าหรือบริการอย่างไร ขายอย่างไร และทำกำไรได้อย่างไร โมเดลธุรกิจควรที่จะอธิบายข้อต่างๆด้านล่างนี้ได้
- สามารถระบุกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ โดยทราบวิธีการหาลูกค้า, ต้นทุนในการหาลูกค้า, และวิธีการตรวจสอบและรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ โดยกลุ่มลูกค้าสามารถเป็นกลุ่มใดก็ได้ตามความเหมาะสม เช่น คนในพื้นที่, คนเลี้ยงสุนัข, หรือคนที่กำลังวางแผนจะสร้างบ้าน
- สามารถอธิบายสินค้าและบริการได้ ว่าจะตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างไร และมีความแตกต่างจากสินค้าและบริการของคู่แข่งอย่างไรบ้าง
- สามารถอธิบายช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการได้ ช่องทางการขายอาจเป็นการนำไปขายให้ลูกค้าโดยตรง (Direct sales) หรืออาจใช้บริษัทค้าปลีก, ค้าส่ง, ตัวแทนจำหน่าย, หรือแฟรนไชส์ หากบริษัทใช้ช่องทางจำหน่ายทั้งออนไลน์และผ่านหน้าร้านจะเรียกว่ากลยุทธ์แบบ Omnichannel ส่วนการขายให้กับธุรกิจอื่นๆเรียกว่าเป็นบริษัทแบบ B2B (Business to business) แต่ถ้าเป็นการขายให้ลูกค้าจะเรียกว่าเป็นบริษัทแบบ B2C (Business to consumer)
- สามารถระบุสินทรัพย์และซัพพลายเออร์ที่สำคัญของบริษัทได้ สำหรับบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ สินทรัพย์ที่สำคัญอาจเป็นสิทธิบัตร, ซอฟต์แวร์, และพนักงานที่มีประสบการณ์ ส่วนในกรณีของบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซัพพลายเออร์ที่สำคัญก็คือบริษัทขุดแร่สำหรับใช้ผลิตแบตเตอรีรถยนต์
- สามารถอธิบายกลยุทธ์ในการตั้งราคาได้ และสามารถอธิบายได้ว่าทำไมลูกค้าจึงตัดสินใจที่จะจ่ายในราคานี้ อาจมีการเปรียบเทียบราคากับคู่แข่งรายอื่นๆในตลาด โดยโมเดลในการตั้งราคาสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้:
– Value-based pricing เป็นการตั้งราคาตามมูลค่าที่ลูกค้ายอมรับ
– Cost-based pricing เป็นการตั้งราคาตามต้นทุนที่ใช้ ผนวกกับกำไรที่ต้องการ
– Price discrimination เป็นการตั้งราคาที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มลูกค้า เช่น เด็ก, ผู้สูงอายุ, ผู้ซื้อในปริมาณมาก, การซื้อในช่วงเวลาที่มีจำนวนลูกค้าน้อย เป็นต้น
– Bundling เป็นการซื้อสินค้าต่างชนิดพร้อมๆกัน เช่น คอนโดที่ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์พร้อมอยู่
– Razors-and-blades เป็นการขายสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน เช่น มีดโกนหนวดสำหรับเปลี่ยนในด้ามมีดโกนหนวด
ยังมีกลยุทธ์การตั้งราคาอีกมากมายที่บริษัทสามารถให้ได้ตามความเหมาะสม เช่น Subsription ที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องจ่ายซื้อสินค้าเป็นเงินก้อนใหญ่ แต่เป็นการจ่ายเป็นงวดๆตลอดการใช้งานแทน
การที่ลูกค้าซื้อสินค้าและบริการอันใดอันหนึ่ง แปลว่าสิ่งนั้นๆจะต้องให้คุณค่าแก่ตัวลูกค้า ซึ่งการที่บริษัทจะสร้างคุณค่าให้สินค้าและบริการจะต้องผ่านห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ที่เป็นการสร้างคุณค่าให้แก่สินค้าและบริหารของตัวเองจากวัตถุดิบเดิม ซึ่งอย่าสับสนกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่เป็นขั้นตอนการผลิตและส่งมอบสินค้า
Michael E. Porter นักวิชาการด้านธุรกิจชื่อดังชี้แจงว่า 5 สิ่งที่บริษัทควรที่จะทำได้เป็นอย่างดีประกอบด้วย การขนส่งวัตถุดิบเข้าบริษัท (Inbound logistics), การปฏิบัติการภายในบริษัท (Operations), การขนส่งสินค้าไปยังลูกค้า (Outbound logistics), การตลาด (Marketing), และการขายและบริการ (Sales and services)