การที่แต่ละบริษัทรายงานงบการเงินออกมานั้น จำเป็นที่จะต้องมีแบบแผนตามมาตรฐานบัญชีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น U.S. GAAP ของทางฝั่งสหรัฐฯ หรือ IFRS ที่เป็นมาตรฐานบัญชีทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้งบการเงินออกมามีคุณภาพได้
งบการเงินที่มีคุณภาพจะต้องเป็นงบที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ (Decision useful) ของผู้อ่าน ซึ่งจะต้องสามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจได้จริง (Relevance) และจะต้องรายงานด้วยความซื่อตรง (Faithful representation) หมายความว่างบการเงินจะต้องมีความสมบูรณ์, เป็นกลาง, และปราศจากข้อผิดพลาดนั่นเอง
นอกจากประเด็นเรื่องความถูกต้องตามมาตรฐานบัญชี และคุณภาพของงบการเงินแล้ว คุณภาพของกำไร (Quality of earnings) ก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งมันก็คือความสม่ำเสมอของกำไร, กระแสเงินสด, และมูลค่าของสิ่งต่างๆใน Balance sheet ตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากกำไรพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ก็จะไม่ส่งผลบวกต่อมูลค่าบริษัทมากเท่ากับกำไรที่เพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทมีกำไรที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืน
ในขั้นที่สามารถวิเคราะห์ได้ยากขึ้นอีกระดับหนึ่งคือ ผู้บริหารสามารถปรับแต่งตัวเลขบางอย่างในงบการเงินให้ออกมาตามต้องการได้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้:
- การบันทึกบัญชีแบบเสี่ยง (Aggressive accounting) เป็นการบันทึกบัญชีด้วยวิธีต่างๆ เช่น การเปลี่ยนรายจ่ายเป็นทุน (Capitalization), การปรับอายุสินทรัพย์ให้ยาวนานยิ่งขึ้น, หรือการลด Valuation allowance ลง เพื่อลดรายจ่ายในงวดนั้นๆ ส่งผลให้มีตัวเลขกำไรสูงขึ้น แต่ต้องชดเชยโดยรายจ่ายต่างๆที่สูงขึ้นในงวดถัดไป อาทิ ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย
Source: https://www.wallstreetmojo.com/earnings-management/
- การบันทึกบัญชีแบบอนุรักษนิยม (Conservative accounting) เป็นการบึกทึกบัญชีที่ตรงกันข้ามกับ Aggressive accounting โดยกดให้ตัวเลขกำไรในงวดปัจจุบันต่ำลง แต่จะมีกำไรที่สูงขึ้นในงวดถัดๆไป เช่น การไม่แปลงรายจ่ายเป็นทุน, การลดอายุของสินทรัพย์, และการเพิ่ม Valuation allowance เป็นต้น
เราเรียกส่วนกำไรที่จะไปชดเชยในอนาคตของ Conservative accounting ว่า “โหลคุกกี้ (Cookie jar)” จากการเก็บผลประโยชน์เอาไว้ทีหลัง
Source: https://www.wallstreetmojo.com/earnings-management/
- การบันทึกบัญชีแบบฉ้อฉล (Fraudulent accounting) เป็นการละเมิดมาตรฐานบัญชีเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การไม่เปิดเผยรายได้หรือรายจ่ายบางอย่างเพื่อปิดบัง หรือการรายงานตัวเลขกำไรที่สูงเกินจริงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ต่างๆ
การบันทึกบัญชีแบบอนุรักษ์นิยมไม่ได้แปลว่าเป็นเรื่องที่ดี และการบันทึกแบบเสี่ยงก็ไม่ได้แปลว่าไม่ดี แต่เป็นการปรับแต่งงบการเงินเพื่อจุดประสงค์ เช่น ต้องการให้กำไรสุทธิในงวดนี้สามารถเอาชนะ Benchmark ได้ หรือการลดกำไรในงวดนี้ไปโปะงวดหน้าเพราะคาดการณ์ว่างวดหน้าจะทำกำไรได้น้อยลง ซึ่งการกระทำเหล่านี้อาจไม่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ส่งผลให้งบการเงินมีคุณภาพด้อยกว่างบการเงินที่นำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง