หนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน ตอน มหัศจรรย์ผลตอบแทน

วัตถุประสงค์

ประเมินราคาหุ้นดีที่ราคาเหมาะสม ประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น ซึ่งจะทำให้คนอ่านต้องทึ่งกับความหัศจรรย์ของผลตอบแทนที่จะได้รับ

บทนำ

เคยมีคำถามคุณกวี ว่า “การลงทุนแบบคุณกวี หรือ VI ไม่ขายหุ้นทำกำไร แล้วจะเอาเงินไหนมาใช้” แต่ที่จริงแล้วคุณกวี “ใช้เงินปันผลต่างหาก” ไม่ได้ใช้เงินที่ได้กำไรจากการขายหุ้น

คุณกวีลงทุนในหุ้นเหมือนกับการสะสมของรักที่มีคุณค่าทางจิตใจ ที่บางครั้งมีคนให้ราคาแพงแค่ไหนก็ไม่ยอมขาย

มีเงินเพิ่มก็สะสมหุ้นเพิ่มไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเงินปันผลที่ได้รับก็เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำ

การลงทุนแนว VI ของคุณกวี คือ การลงทุนแบบเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งทำให้ความคิดแรกของการลงทุนคือ ไม่คิดจะขาย

สั่งซื้อหนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน ตอน มหัศจรรย์ผลตอบแทน คลิ๊ก

ก่อนเริ่มเข้าสู่บทต่างๆ คุณกวี ได้สรุป ความผิดพลาดของนักลงทุน ที่เคยเจอมา หลักๆ มี 5 ข้อดังนี้

  1. ไม่รู้ว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน :

คุณกวีแนะนำว่านักลงทุนทุกท่านต้องค้นหาตัวตนของตัวเองให้เจอให้ได้ ว่าเราเป็นนักลงทุนแบบไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด แต่เมื่อเราลงทุนไปสักพักหนึ่งแล้วปรากฏว่ารูปแบบนักลงทุนที่เราคิดว่าใช่ มันกลับไม่ใช่ ก็กลับมาหาตัวเองใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องยึดติด หรือบางท่านเหมาะกับการลงทุนหลายรูปแบบก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่แค่ขอให้นักลงทุนรู้จักตัวเองจริงๆ

  1. ตามไอดอล (Idol) มากเกินไป :

การมีไอดอลเป็นเรื่องที่ดีที่มีต้นแบบไว้ให้เราได้ศึกษา แต่ขอเตือนนิดนึง ว่านักลงทุนไม่ว่าประเภทไหนก็ตามมีแนวทางการลงทุนที่แตกต่างกัน ฉะนั้นคุณต้องค้นหารูปแบบที่ตัวเองถนัดด้วย

  1. ไม่รู้ว่าลงทุนอย่างไร :

เมื่อรู้ว่าเป็นนักลงทุนประเภทไหนแล้ว ก็ต้องรู้ว่าลงทุนอย่างไร ซึ่งในข้อนี้ต้องลงทุนกับความรู้หน่อย ใช้เวลาศึกษาหาความรู้ก่อนเข้ามาลงทุน เพราะความเสี่ยงที่สุดในการลงทุนหุ้น คือ ความไม่รู้

  1. เชื่อคนอื่นมากเกินไป :

เราควรฟังข้อมูลจากคนอื่นเพียงเพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อเอง ไม่ใช่เชื่อไปทั้งหมด เพราะหากคุณไม่รู้ว่าซื้อหุ้นตัวนี้เพราะอะไร แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าควรขายหรือไม่ จำไว้ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

  1. ตัดสินใจบนข้อมูลที่ผิดพลาด :

คุณกวีอยากเตือนนักลงทุนว่า เวลารับข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มา หรือข้อมูลที่บอกว่าเป็นอินไซด์ จากประสบการณ์ของคุณกวี ข่าวแบบนี้มั่วเกือบทั้งหมด นักลงทุนต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่าจริงหรือไม่

บทที่ 1  : ทบทวนกระบวนยุทธ์ลงทุนแนว VI

หลักในการประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น ไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับนักลงทุนสไตล์ VI ทุกคน  เพราะนักลงทุนสไตล์ VI ก็มีหลากหลายแบบ อย่างเช่น อ.นิเวศน์  ไม่ได้ประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้นแบบที่ใช้ทฤษฏีทางการเงินที่มากมาย แต่ใช้ประสบการณ์ในการบอกว่าหุ้นตัวไหนมีราคาถูกหรือแพง แต่หากเป็น VI แบบ เคน โสรัช หรือวอร์เรน บัฟเฟตต์ แม้กระทั่งตัวคุณกวีเองจะมองหามูลค่าพื้นฐานของหุ้นก่อนที่จะลงทุนเสมอ และมีการใช้ทฤษฎีทางการเงินบ้าง แต่ยืนยันว่าไม่ยากเกินกว่าที่จะเรียนรู้

ต้องบอกก่อนว่าวิธีการลงทุนของคุณกวี ไม่ได้เป็นการหาหุ้น Turnaround หรือหุ้นที่ฟื้นตัวจากขาดทุนมาเป็นกำไร

และก็ไม่ได้หาหุ้นที่เริ่มธุรกิจใหม่ หรือแตกไลน์ธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการขยายตัวที่สูงขึ้นในอนาคต เพราะการหาหุ้นแบบนี้ คุณต้องเป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันโดยตรง หรือมีความเชี่ยวชาญในการลงทุนมานาน ไม่อย่างนั้นคุณจะมีความสี่ยงสูงที่อาจจะมองพลาด ราคาหุ้นของบริษัทแบบนี้มักขึ้นมาเร็วและนิ่ง หรืออาจจะลงมาแรงได้ หากคุณขายไม่ทันก็มีโอกาสติดดอยยาวๆได้

ดังนั้น นักลงทุนที่หวังหลายๆเด้งในระยะเวลาอันสั้น แบบเดือนหรือหลายเดือน หนังสือทั้งสองเล่มของคุณกวี จะไม่ตอบโจทย์ในการลงทุนของท่านนะ

ต่อมาพูดถึงในส่วนของหลักการในการลงทุนแนว VI ของคุณกวี ประกอบด้วย 5 หลักการ ดังนี้

  1. เลือกหุ้นบริษัทพื้นฐานดี
  2. ซื้อเมื่อราคาหุ้นของบริษัทพื้นฐานดีที่ท่านเลือก มีราคาถูก
  3. ถือลงทุนระยะยาว
  4. กระจายความเสี่ยง
  5. ติดตามบริษัทที่ท่านลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหาบริษัทใหม่ๆ เข้ามาในลิสต์ของท่านเพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน

หนังสือเล่มนี้ จะเน้นในหลักการข้อที่ 1 คือวิธีการค้นหาบริษัทพื้นฐานดี ด้วยการอ่านบการเงินให้เป็น โดยหลักการง่ายๆในการเลือกหุ้น สรุปได้เป็น 6 ข้อ ดังนี้

  1. หาบริษัทที่มีกำไรสุทธิต่อหุ้นเติบโตสม่ำเสมอและไม่ผันผวนมากในระยะยาว

คือ ต้องดูกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning per share) ในอดีตของบริษัท ไม่ต่ำกว่า 5 ปี และหากเป็นไปได้ควรดูย้อนหลัง

10 ปี เพราะช่วงระยะเวลา 10 ปี บริษัทน่าจะมีการผ่านวิกฤติมาอย่างน้อย 1 ครั้ง ทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่าบริษัทมี ความแข็งแกร่งมากน้อยเพียงใด โดยกำไรสุทธิต่อหุ้นไม่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นตลอด แต่ไม่ควรผันผวนมาก หากบริษัทมีกำไรสุทธิต่อหุ้นเติบโตสม่ำเสมอในระยะยาว จะเป็นการสะท้อนความสามารถในการทำกำไรของบริษัท หรือบริษัทเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจ แม้กระทั่งสะท้อนถึงความสามารถของผู้บริหารที่มีความสามารถ ที่นำพาบริษัทอยู่รอดและมีกำไรแม้ในยามวิกฤติ

  1. หาบริษัทที่มีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าได้สูง

คือบริษัทที่สามารถปรับราคาขายสินค้าหรือบริการได้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าลูกค้าจะหนีไป โดยอัตราส่วนกำไรขั้นต้น สามารถเป็นตัวชี้วัดได้ ซึ่งหาได้จาก การนำกำไรขั้นต้น (กำไรหลังหักต้นทุนการผลิตสินค้าหรือบริการ) มาหารด้วยรายได้ หากอัตราส่วนนี้อยู่ที่ 30% หมายความว่า บริษัท ได้กำไรขั้นต้น 30% โดยหากบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรขั้นต้น ใน 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับสม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้นได้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีอำนาจในการปรับราคาสินค้าหรือบริการได้ ยกตัวอย่างธุรกิจเช่น โรงพยาบาล การไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน เราในฐานะลูกค้ามีอำนาจแค่ไหน ที่จะต่อรองราคาค่าบริการ ตอบได้เลยว่าไม่มี

นอกจากนั้นบริษัทที่มีแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง จะยิ่งน่าสนใจลงทุน เนื่องจากแบรนด์ที่ดีจะทำให้ลูกค้า อยากใช้สินค้าของบริษัทนั้นซ้ำๆ ซึ่งย่อมนำมารายได้ที่สม่ำเสมอ

  1. หาบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจหรือเป็นบริษัทที่ส่วนแบ่งตลาดสูงกว่าบริษัทคู่แข่ง

ซึ่งเราสามารถหาได้จาก อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการตลาดและการบริหาร  ต่อ รายได้

หากอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และไม่เพิ่มขึ้นในระยะยาว เนื่องจากการเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆ จะทำให้ได้เปรียบคู่แข่งทั้งใน ด้านบุคลากร กล่าวคือ มีแต่คนอยากมาทำงานด้วย ไม่จำเป็นต้องจ้างผู้บริหารมาในราคาแพง และอีกด้านคือการโฆษณา ไม่ต้องทุ่มงบมากเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ เพราะหากเป็นบริษัทใหญ่และมั่นคง ลูกค้าจะอยากเข้ามาใช้บริการเอง

  1. หาบริษัทที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง

หากบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ดี   ซึ่งเราสามารถดูฐานะทางการเงินบริษัทได้จาก ปริมาณหนี้สินที่มีอยู่ โดยอัตราส่วนที่นิยมใช้ดู คือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน โดยตัวเลขยิ่งต่ำยิ่งดีเพราะจะแสดงให้เห็นว่าหนี้สินน้อยเมื่อเทียบกับส่วนทุนหรือส่วนผู้ถือหุ้น

ซึ่งตัวเลขนี้ควรเปรียบเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย แต่ว่าการมีหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า 1 เท่า ก็ถือว่ามีฐานะทางการเงินที่ดี

ทั้งนี้เรายังสามารถดูว่า บริษัทมีเงินสดเป็นจำนวนมากหรือไม่ เงินสดคือราชาในยามยาก (Cash is King) โดยบริษัทที่มีเงินกองทุนก้อนโตและกำไรสม่ำเสมอจะเป็นบริษัทที่ทำให้เรารวยได้ในระยะยาว ซึ่งเราดูได้จาก ตัวเลขเงินสดสุทธิ โดยเอาเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น หักออกด้วย หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (เงินกู้ธนาคาร รวมถึงหุ้นกู้ต่างๆ) หากเงินสดสุทธิออกมาเป็นบวก แสดงว่าเป็นบริษัทที่ปราศจากหนี้สิน และ ทำให้เราเชื่อได้ว่าจะเป็นบริษัทที่ดำรงอยู่ได้ในระยะยาว แม้ว่าจะต้องเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจ

  1. หาบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง

หากเราถือหุ้นบริษัทที่ความสามารถในการทำกำไรสูง หมายถึงว่าเราได้รับผลตอบแทนคืนมาสูงและคืนทุนได้เร็ว

ซึ่งอัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรที่ดีที่สุด คือ อัตราส่วนผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity, ROE) เกิดขึ้นจากการนำ กำไรของบริษัทมาหารด้วยส่วนผู้ถือหุ้น หากสามารถเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาวก็แสดงถึง

ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง ส่วนใหญ่คุณกวีจะลงทุนหุ้นที่ให้ ROE มากกว่า 20% ซึ่งมากพอที่จะ ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากบริษัทที่ ROE ต่ำกว่า 10% คุณกวีมีความเห็นว่าไปลงทุน หุ้นกู้เอกชนดีกว่า ซึ่งความเสี่ยงต่ำกว่า แล้วได้ผลตอบแทนพอๆกัน ข้อสำคัญคือ อย่าเลือกบริษัทที่มี ROE ผันผวนมากๆ แสดงให้เห็นว่าบริษัทไม่มีความมั่นคงด้านการทำกำไร

คุณกวี แนะนำว่าต้องทำความเข้าใจกับอัตราส่วน ROE ให้ดี เพราะต้องใช้อัตราส่วนนี้ในการ ประเมินมูลค่าหุ้น แม้แต่คุณกวีเองก็ใช้ ROE ในการประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้นว่าราคาหุ้นถูกหรือแพง

  1. หาบริษัทที่มีผู้บริหารมืออาชีพและมีธรรมาภิบาล

เรื่องนี้เป็นเรื่องนามธรรม แต่เราสามารถดูได้จากผลประกอบการย้อนหลังของบริษัทนั้น ก็พอที่จะบอกได้ว่าผู้บริหาร มีความเป็นมืออาชีพหรือไม่ แต่เหนืออื่นใดแล้วผู้บริหารควรมีคุณธรรมควบคู่ไปด้วย

ใน 6 ข้อที่ผ่านมา เป็นการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินหรือการวิเคราะห์เชิงปริมาณ คือเน้นตัวเลขเป็นหลัก ซึ่งบางท่านอาจจะไม่ถนัด ดังนั้นคุณกวีเสนอการคัดเลือกหุ้นแนวการวิเคราะห์เชิงคุณภาพแทน โดยคุณกวีใช้หลัก Five Force Model (ทฤษฎีแรงกระทบทั้ง 5) หลักการวิเคราะห์ มีดังนี้

แรงที่ 1 : บริษัทนั้นๆ สามารถดูแลต้นทุนธุรกิจได้ดีแค่ไหน หรือมีอำนาจควบคุมซับพลายเออร์มากน้อยแค่ไหน

การที่บริษัทสามารถต่อรองกับซับพลายเออร์ได้ดีในการที่ได้วัตถุดิบมาผลิตสินค้าในราคาที่ไม่แพงเกินไป เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่บริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการได้ เปรียบคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน

แรงที่ 2 : บริษัทนั้นๆ สามารถขึ้นราคาสินค้าหรือบริการกับลูกค้าได้

คุณกวีให้ความสำคัญกับแรงที่ 2 มากกว่าแรงที่ 1 เพราะถ้าบริษัทสามารถขึ้นราคาสินค้าได้ โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียลูกค้ามากนัก บริษัทนั้นๆ ก็ยังสามารถที่จะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้ดี เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล จะเห็นได้ว่า เราไม่สามารถต่อราคากับโรงพยาบาลได้ หรือถ้าต้องการเช่าพื้นที่กับ CPN เขาก็ไม่มีทางที่จะลดราคาค่าเช่า ให้เรานะ ทั้งนี้ลองหันมาดูธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าโภคภัณฑ์  เช่น สินค้าเกษตร ราคาขายสินค้าเหล่านี้ล้วนแต่ถูกกำหนด โดยราคาตลาดโลก เจ้าของกิจการไม่อาจควบคุมราคาขายได้เลย

ดังนั้น แค่สองแรงแรก ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่คุณกวี ไม่เลือกลงทุนหุ้นในกลุ่ม สินค้าโภคภัณฑ์  ในฐานะ VI

แรงที่ 3 : บริษัทนั้นๆ เป็นผู้นำในธุรกิจหรือไม่

บริษัทใด ที่สามารถควบคุมแรงที่ 1 และ 2 ได้ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆ

อย่างไรก็ตามจงเลือกลงทุนกับหุ้นของบริษัทที่ควบคุม แรงที่ 1 และ แรงที่ 2 ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้นำในธุรกิจนั้น ด้วย เราจะได้บริษัทที่ยอดเยี่ยมเลย

แรงที่ 1-3  เป็นปัจจัยที่คุณกวี ใช้พิจารณาว่าควรลงทุนหุ้นบริษัทนั้นๆ หรือไม่ ต่อไปเป็นแรงที่ 4 และ 5 ซึ่งทั้ง 2 แรงกระทบนี้จะใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณาว่าจะลงทุนต่อหรือขายหุ้นออกไปหรือไม่

แรงที่ 4 : คู่แข่งที่จะเข้ามาใหม่

จงเลือกลงทุนกับอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งใหม่เข้ามาได้ยาก  (High Entry Barrier) ยกตัวอย่าง กรณีของ JAS ที่พยายามเข้ามาประกอบธุรกิจ 4G ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมนี้ป่วนทันที ดังนั้นหากคุณลงทุนบริษัทอะไรก็แล้วแต่ แล้วมีคู่แข่งที่มีศักยภาพเข้ามาให้ระวังและติดตามผลกระทบให้ดี หากเห็นว่ามีผลกระทบพื้นฐานในระยะยาว เราต้องขายทิ้งทันที เช่น กรณีที่ iPhone เข้ามาจน NOKIA หายไปจากตลาด หรือกรณีในเมืองไทย ที่การเข้ามาของ JMART

หรือ BANANA IT ที่มีผลต่อ IT city อย่างไรก็ตามการลงทุนกับผู้นำในธุรกิจก็พอที่จะลดผลกระทบนี้ลดลงได้บ้าง

แรงที่ 5 : ระวังสินค้าทดแทน

คุณกวีมองว่าแรงนี้มีผลกระทบมากที่สุดว่าเราจะขายหุ้นออกไปหรือไม่ เพราะผลกระทบจากการที่มี สินค้าใหม่มาทดแทนสินค้าดั้งเดิมนั้นรุนแรงมาก เช่น กล้องดิจิทัล มาแทนกล้องฟิล์ม หรือ แผ่นซีดี มาแทนเทปเพลง

เป็นต้น อย่างไรก็ตามในแรงนี้ เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ว่าหุ้นที่เราเลือกลงทุนนั้นไม่น่ามีสินค้าไหนมาทดแทน แต่ก็สามารถพลาดได้ เช่น เฟซบุ๊คที่ไม่มีคอนเท้นต์เป็นของตัวเอง แต่เข้ามาทดแทนโฆษณาสื่อแบบดั้งเดิมได้

โดยปกติแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีมักมีความเสี่ยงสูงที่จะมีสินค้าทดแทนเกิดขึ้น

การวิเคราะห์รูปแบบนี้จะเหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ค่อยมีเวลาหรือนักลงทุนที่ไม่ค่อยเข้าใจงบการเงิน

แต่ไม่ว่าจะวิเคราะห์หุ้นวิธีไหน เราก็ต้องติดตามหุ้นอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญหากวิเคราะห์ไม่ออกว่าแรงทั้ง 5 มีผลต่อบริษัท

ที่เราจะลงทุนอย่างไร ก็ไม่ต้องลงทุน ให้หาธุรกิจที่เราเข้าใจ เช่น อ.นิเวศน์ ส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีกเท่านั้น ส่วนคุณกวี ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล โรงแรม และค้าปลีก

ต่อมาหันมาดูบริษัทที่คุณกวีคิดหนักก่อนจะลงทุน ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของคุณกวี

  1. บริษัทที่ต้องลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างรายได้

บริษัทเหล่านี้พอจะทำอะไรชอบเพิ่มทุน ตัวอย่างบริษัท เช่น THAI พอจะเพิ่มรายได้ที ก็ต้องซื้อเครื่องบินใหม่ ซึ่งใช้เงินทุนมหาศาล หรือ TRUE พอจะทำธุรกิจใหม่เช่น 4G ก็ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต พอจะกู้เงินธนาคาร ก็กู้ไม่ได้ทั้งหมด ต้องมารบกวนผู้ถือหุ้นในการเรียกเงินเพิ่มทุน ซึ่งการเพิ่มทุนใช่ว่าจะไม่ดี ถ้าสามารถทำให้ได้ ผลตอบแทนสูงกว่าเดิม หรือทำให้ ROE สูงขึ้นได้ ก็สามารถทำได้ แต่ในมุมของคุณกวี หุ้นที่คุณกวีลงทุนมา 20 ปี แทบไม่มีบริษัทไหนเลยที่ต้องเพิ่มทุนเพื่อนำไปขยายธุรกิจ ใช้แต่เงินสดที่สร้างจากการทำธุรกิจ (Internal Cash Flow)

  1. บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

ในมุมมองของคุณกวี เห็นว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ก็ส่งผลให้ผู้นำในธุรกิจเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก

เช่นเดียวกัน ฉะนั้นบริษัทประเภทนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

  1. บริษัทที่เกี่ยวข้องกับงานประมูล

สิ่งที่ต้องระวัง คือ ความไม่แน่นอนของรายได้ บางช่วงก็มาก บางช่วงก็น้อย และการประมูล จะต้องมีการแข่งขัน ดังนั้นส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นมักจะต่ำ นี่คือความเสี่ยงที่สำคัญ ที่ผ่านมาเราเห็นกันประจำในหุ้นกลุ่ม รับเหมาก่อสร้าง งานวางระบบต่างๆ หรือการประมูลใบอนุญาตต่างๆ เช่น ใบอนุญาต 4G ที่ราคาประมูลสูงมาก

  1. บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์

กำไรของบริษัทกลุ่มนี้จะผันผวนมาก และที่สำคัญ ไม่สามารถกำหนดกำไรของบริษัทตัวเองได้เท่าที่ควร เพราะต้นทุนวัตถุดิบ และ ราคาขายสินค้า ขึ้นกับราคาตลาดโลกเป็นส่วนใหญ่ ให้ลองสังเกตกำไรของบริษัทกลุ่มนี้ดูว่าผันผวนขนาดไหน เช่น BANPU PTTEP PTTGC TOP IRPC BCP KSL TVO STA เป็นต้น ซึ่งวอเรน บัตเฟตเองได้กล่าวไว้ว่าให้หลีกเลี่ยงบริษัทที่กำไรผันผวน ซึ่งมักเป็นบริษัทใน กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

  1. บริษัทที่ต้องพึ่งพาผู้บริหารคนใดคนหนึ่งมากเกินไป

เพราะหากผู้บริหารท่านนั้น ไม่ได้อยู่บริหารแล้ว อาจทำให้ความขลัง หรือยอดขายของสินค้าลดลง จะส่งผลกระทบต่อพื้นฐานบริษัทในระยะยาว ดังนั้นเลือกบริษัทที่อยู่ได้ด้วยระบบดีกว่าที่จะไปผูกกับคนไม่กี่คน

“การประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น” นั้นมีหลายวิธีมาก อาจจะมากกว่า 10 วิธี แต่วิธีที่คุณกวีอธิบายในหนังสือเล่มนี้ จะมีเพียง 3 วิธีเท่านั้น คือ

  1. ใช้เงินปันผล (Dividend Discount Model)
  2. ใช้อัตราส่วนราคา ต่อ กำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E or Prices to Earning ratio)
  3. ใช้อัตราส่วนราคา ต่อ มูลค่าทางบัญชี (P/BV or Price to Book value ratio)

เหตุผลที่ที่คุณกวีเลือก 3 วิธีนี้ เพราะว่า

  1. ใช้ได้จริงสำหรับนักลงทุนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลมากมาย
  2. เข้าใจง่าย
  3. หุ้นที่เลือกตามวิธีคุณกวี มักไม่ใช่หุ้นที่มีความผันผวนรุนแรงของกำไรระยะยาว มักมีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ

ทำให้เหมาะกับการนำมาอธิบายต่อในเล่มนี้

บทที่ 2  : สร้างผลตอบแทนมหัศจรรย์

“บริษัทที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นที่ดี”  ดังนั้นการจะหาหุ้นที่ดี ต้องเรียนรู้การประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น ไม่งั้นเราคงไม่รู้ว่า ราคาไหนที่ราคาหุ้นถูกหรือแพง

เชื่อหรือไม่ว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทย เป็นตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ คือ ราคาหุ้นในตลาดไม่เคยสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงเลย หรือสะท้อนเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพราะมีความโลภและความกลัว

เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ แต่นี่ถือเป็นข้อดีของตลาดหุ้น ที่นักลงทุนจะสร้างผลตอบแทนแบบสูงผิดปกติได้

ซึ่งความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดนั้น เป็นโอกาสที่นักลงทุน VI ต้องฉกฉวย เพราะเห็นความกลัวเป็นโอกาส

ส่วนนักเก็งกำไร เห็นความโลภ เป็นโอกาส  หากนักลงทุนส่วนใหญ่มองโลกสดใส ราคาหุ้นก็จะเกินกว่ามูลค่าพื้นฐาน

เพราะความโลภเข้าครอบงำ และเมื่อใดที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองโลกหมองหม่น ราคาหุ้นก็จะต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานในระยะยาวของหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในปี 2011 ที่น้ำท่วมใหญ่ บมจ กรุงเทพประกันภัย ราคาปรับลดลงมาจาก 190 บาท เหลือ 140 บาท ซึ่งกำไรในปี 2011 ลดลงจริง แต่พื้นฐานระยะยาวของบริษัท ไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะน้ำท่วมคงไม่ได้มาทุกปี

จากสถิติ ทุกปีตลาดหุ้นจะมีการปรับฐานอย่างน้อย 10% หนึ่งครั้ง / ทุก 5 ปีจะมีการปรับฐานอย่างน้อย 20% และ ทุก 10 ปี จะมีการปรับฐาน 50% นั่นหมายถึง ตลาดหุ้นมีการลดราคาทุกปีมากหรือน้อยต่างกันไป ดังนั้นหากเลือกหุ้นถูกผลตอบแทนมากกว่านั้นเยอะมากๆ ลองดูตารางประกอบ

จากตาราง ขอยกตัวอย่างหุ้น CPN มาอธิบาย กล่าวคือ หากซื้อหุ้น CPN ได้ราคาต่ำสุดช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง และถือจนราคาขึ้นมาจุดสูงสุดก่อนวิกฤติซับไพรม์ จะได้ผลตอบแทน 14131%  และหากซื้อหุ้น CPN ได้ราคาต่ำสุดช่วง วิกฤติซับไพรม์ และถือหุ้นมาถึงจุดสูงสุดล่าสุด จะได้ผลตอบแทน 1523%  แต่หากเราซื้อหุ้น CPN ได้ราคาต่ำสุด ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งและไม่ขายเลย ถือมาจนถึงราคาสูงสุดช่วงปัจจุบัน เราจะได้ผลตอบแทนสูงถึง 45477%ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์เลย

อย่างไรก็ตาม หากซื้อ CPN ในจังหวะที่ผิด คือราคาสูงสุดก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง และทำพฤติกรรมเดียวเดียวกันกับก่อนหน้า กลับกลายเป็นว่ากำไรจากการลงทุนนั้น จะได้ตามตารางที่ 2 เห็นได้ว่ากำไรลดลงมาก เมื่อเทียบกับตารางที่ 1 แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราลงทุนผิดจังหวะ แต่หากลงถูกหุ้นถูกบริษัท เราก็ยังสามารถสร้างกำไรได้อยู่ดี

โดยสรุป “ผลตอบแทนมหัศจรรย์ สร้างได้ก็ต่อเมื่อลงทุนหุ้นถูกตัวและลงทุนได้ถูกจังหวะ”

มาถึงคำถามสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือ จะรู้ได้อย่างไรว่า ถึงเวลาซื้อหุ้น จะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นถูกแล้ว ซึ่งคุณกวีมีความเห็นว่า วิธีการประเมินมูลค่าพื้นฐานของหุ้น แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

  1. Top Down Approach
  2. Bottom Up Approach

บทที่ 3  : การประเมินมูลค่าหุ้นแบบ Top Down Approach

นักลงทุนส่วนใหญ่มักใช้วิธี Top Down Approach โดยไม่รู้ตัว

ซึ่งวิธี Top Down Approach คือการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจ เพื่อประเมินว่าถึงจุดที่ควรซื้อหุ้นแล้วหรือยัง หรืออีกนัย คือ เรากำลังวิเคราะห์ว่าเมื่อไรจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ที่นักลงทุนจะตื่นตระหนกเทขายหุ้น เป็นเวลาที่นักลงทุน VI ควรจะซื้อหุ้น หรือ หากเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ยุคฟองสบู่ใกล้แตก ราคาหุ้นจะขึ้นกันแบบลืมกลัวเลย  ดังนั้นสถานการณ์ แบบนี้ นักลงทุน VI ไม่ควรเข้าซื้อ

ส่วนตัวเลขที่คุณกวีใช้วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจใกล้วิกฤติหรือใกล้ภาวะฟองสบู่แตก มี 2 ตัวเลข คือ

  1. ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือตัวเลขการขยายตัวของจีดีพี (GDP, Gross Domestic Product) เพราะว่าเป็นตัวเลขที่นิ่งกว่าตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากเป็นตัวเลขที่นำตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวมาสะท้อนรวมกัน

ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน การใช้จ่าย การส่งออก การนำเข้า ฯลฯ นอกจากนั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยังมีความสัมพันธ์ที่สูงกับการเติบของกำไรบริษัทจดทะเบียนด้วย เป็นความสัมพันธ์ที่แปรผันตรงกัน

อย่างไรก็ตามเวลาเราติดตามตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากดูตัวเลขในอดีตแล้ว ตัวเลขในอนาคต ก็สำคัญมากในการกำหนดสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเราควรติดตามดูให้ทันเหตุการณ์

  1. อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นดัชนีวัดราคาสินค้าต่างๆ ทั้งอุปโภคและบริโภคว่าราคาปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยมากน้อย เพียงใด เช่น เงินเฟ้อ 3% หมายถึง ราคาสินค้าแพงขึ้น โดยเฉลี่ย 3% หากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เกิดจากความต้องการสินค้า ที่แท้จริง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะสะท้อนเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่หากเงินเฟ้อเกิดจากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เช่น ราคาสินค้า เกษตรสูงขึ้น จากภัยทางธรรมชาติ แบบนี้ไม่ดีนัก เพราะเราต้องแบกรับราคาสินค้าที่สูงขึ้น ขณะที่รายได้เราไม่เพิ่มขึ้น สุดท้ายรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขและแก้ยากมาก เพราะเงินเฟ้อเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

แต่หากเงินเฟ้อติดลบ หมายถึง ราคาจริง แสดงถึงภาวะเงินฝืด เกิดจากคน ไม่จับจ่ายใช้สอย มีความเสี่ยงที่สู่ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง โดยปกติเศรษฐกิจที่มีเงินเฟ้อเป็นบวกเล็กน้อยถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

แต่ที่รัฐบาลกลัวที่สุดคือภาวะเงินฝืด เพราะแก้ยากถึงยากที่สุด

ตามรูป เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ (เส้นประ) จะมาทีหลังการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ความต้องการสินค้าจะเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดการผลิตเริ่มไม่พอ

จนถึงจุดความต้องการมากกว่ากำลังการผลิต ทำให้ราคาสินค้าหรือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นภายหลัง

เราจึงสามารถแบ่งภาวะเศรษฐกิจ ได้เป็น 4 ช่วง ตามรูปบน  แต่ละช่วงจะมีผลอย่างมากต่อการลงทุนใน สินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงกำหนดช่วงเวลาที่เราควรซื้อหุ้นมากที่สุด นั่นคือช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ สามารถอธิบายช่วงต่างๆ จากรูป ได้ดังนี้

ช่วงที่ 1 : เศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อลดลง

ช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลังจากเผชิญภาวะถดถอยมาระยะหนึ่ง แต่เงินเฟ้อหรือราคาสินค้ากำลังลงมาทำจุดต่ำสุด

ตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยมาก่อนหน้านี้

ช่วงที่ 2 : เศรษฐกิจขยายตัว เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ช่วงเศรษฐกิจที่ผ่านช่วงฟื้นตัวและย่างเข้าสู่การขยายตัว แต่เงินเฟ้อเริ่มเพิ่มขึ้นมาจากช่วงที่ 1

ช่วงที่ 3 : เศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ช่วงเศรษฐกิจเริ่มชะลอการขยายตัว จากช่วงที่ 2 แต่เงินเฟ้อกำลังขึ้นมาทำจุดสูงสุดตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ที่มีมาก่อนหน้านี้

ช่วงที่ 4 : เศรษฐกิจหดตัว เงินเฟ้อลดลง

ช่วงเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่ภาวะหดตัวอย่างเต็มตัว และเงินเฟ้อปรับลดลงมาจากช่วงที่ 3

ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการลงทุนหุ้น คือ ช่วงที่ 1 เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่เงินเฟ้อลดลง

ซึ่งเป็นช่วงที่ให้เห็นสถานการณ์ว่า เศรษฐกิจฟื้นตัว แสดงว่าประชาชนเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อลดลง แสดงว่าราคาสินค้ากำลังลดลง นั่นคือ อำนาจซื้อของประชาชนจะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ สุดท้ายจะส่งผล ไปที่กำไรของบริษัทต่างๆในตลาดหุ้นให้เพิ่มขึ้น

หากเป็นนักลงทุนระยะยาว แบบ VI จังหวะที่เหมาะสมกับการซื้อหุ้นมากที่สุด คือ ช่วงที่ 4 เศรษฐกิจหดตัว เงินเฟ้อลดลง ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาหุ้นจะทำจุดต่ำสุด ก่อนที่จะเข้าช่วงที่ 1 ที่ตลาดหุ้นจะขึ้นและอาจจะขึ้นมากกว่า 100% การที่เงินเฟ้อเริ่มลดลงจะทำให้ผู้วางนโยบายการเงิน (ธปท.) สามารถลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ดังนั้น ช่วงเวลาตรงนี้ น่าจะเป็นเวลาที่เราควรทยอยซ้อหุ้นพื้นฐานเก็บเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องเป็นราคาต่ำสุด แต่ควรจะมีความเสี่ยงขาลง หรือ Downside risk เหลือไม่มาก

นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีที่เป็นการหาจังหวะการลงทุน และเป็นแบบ Top Down Approach คือ การศึกษา Investment clock หรือการดูนาฬิกาลงทุน ซึ่งจะแบ่งช่วงเวลารอบเศรษฐกิจเป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1 : เศรษฐกิจชะลอตัว หรือ slow down  (1นาฬิกา – 3 นาฬิกา)

มีการขึ้นดอกเบี้ย (1นาฬิกา) เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เมื่อขึ้นดอกเบี้ยไปพักหนึ่ง สิ่งที่จะตามมาคือการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น (2นาฬิกา) เพราะเศรษฐกิจจะชะลอตัวจากการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งมีผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนให้เติบโตน้อยลง นักลงทุนจึงขายหุ้นออกมาก่อน

และหลังจากเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว การบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์จะลดลง เช่น น้ำมัน อาหาร ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง (3นาฬิกา)

กำหนดกลยุทธ์การลงทุน : เมื่อเริ่มเห็นดอกเบี้ยขึ้นมา แสดงว่าราคาหุ้นอาจมีโอกาสปรับลดลงในระยะเวลาอันใกล้ ดังนั้นช่วงนี้ไม่ใช่เวลาที่ควรซื้อหุ้น โดยเฉพาะ การไล่ราคา นอกจากจะเป็นนักเก็งกำไรที่รู้จัก cut loss เท่านั้น

ระยะที่ 2 : เศรษฐกิจหดตัว หรือ Recession (4นาฬิกา – 6นาฬิกา)

เมื่อเข้าสู่ 4 นาฬิกา จะเห็นเงินสำรองระหว่างประเทศเริ่มลดลง เพราะเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยอยู่ใน ช่วงขาขึ้น ดังนั้นธนาคารกลางต้องมีมาตรการ การเงินตึงตัว (Tightening Policy) ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย สุดท้ายจะนำไปสู่ราคาอสังหาฯ ปรับลดลง ช่วงนี้ราคาหุ้นจะลงมาแรงมาก เพราะนักลงทุนจะรู้สึกกลัวมากขึ้น แต่ช่วงนี้ราคาทองคำจะปรับเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสินทรัพท์ที่คนมักถือไว้ตอนที่เศรษฐกิจตกต่ำ และโดยปกติแล้วทองคำจะวิ่งตามเงินเฟ้อ

กำหนดกลยุทธ์การลงทุน : ในระยะ2 สัญญาณที่สำคัญคือดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์ Wait and see คือ ยังไม่เร่งซื้อหุ้นคืน เน้นถือเงินสดมากขึ้น จนกว่าจะเห็นสัญญาณใหม่ๆเกิดขึ้นในระยะที่ 3

ระยะที่ 3 : เศรษฐกิจฟื้นตัว หรือ Recovery (7นาฬิกา – 9นาฬิกา)

สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดก่อนจะเข้าสู่ช่วง 7นาฬิกา คือ ราคาอสังหาฯ ลดลง นั่นทำให้ราคาสินค้าอื่นๆ ลดลงมาด้วย

เพราะความต้องการสินค้าลดลง สิ่งที่ตามมาและเป็นสัญญาณที่สำคัญมาก คือ เงินเฟ้อเริ่มลดลง และธนาคารกลางแต่ละประเทศเริ่มลดดอกเบี้ยลง (7นาฬิกา) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อช่วงเวลานี้ดอกเบี้ยต่ำ

และราคาสินค้าลดลง จะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และสุดท้ายจะทำให้หนุนกำไรของบริษัทต่างๆให้ดีขึ้น

นำไปสู่ราคาหุ้นและราคาสินค้าต่างๆ ทยอยปรับขึ้นมา (8-9นาฬิกา)

ดังนั้น ช่วงเวลาที่นักลงทุนควรเริ่มทยอยซื้อหุ้นคืน คือเมื่อเริ่มเห็นดอกเบี้ยลดลงมา ตามภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง

กำหนดกลยุทธ์การลงทุน : ช่วง 7นาฬิกา ให้เริ่มทยอยซื้อหุ้นคืนกลับมา ก่อนที่ราคาหุ้นจะรุนแรงในช่วงสุดท้าย

ของ Investment clock ก่อนจะข้ามไประยะที่ 4 สังเกตว่าจังหวะการสะสมหุ้นตามวิธี Investment clock ตรงกับวิธีดูวงจรเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ คือดูสัญญาณการลดดอกเบี้ยนโยบาย แล้วเริ่มการสะสมหุ้น

ระยะที่ 4 : เศรษฐกิจขยายตัว หรือ Boom (10นาฬิกา – 12นาฬิกา)

เป็นระยะที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขยายตัวสูงกว่าเงินเฟ้อ สภาพคล่องในโลกสูงขึ้น เพราะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานาน ตั้งแต่ช่วง7นาฬิกา และด้วยดอกเบี้ยต่ำนี่เองทำให้นักลงทุนหันมาลงทุน ในหุ้นมากขึ้น หรือรวมถึงลงทุนในอสังหาฯด้วย  ทำให้ราคาหุ้นและอสังหาฯ ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ และวิ่งไปสู่จุดสูงสุดและเข้าสู่ภาวะฟองสบู่มากขึ้น ดังนั้นหากลงทุนหุ้นในระยะนี้ นักลงทุนต้องรู้ว่ากำลังลงทุนใน จุดที่ใกล้จุดสูงสุดของเศรษฐกิจแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วง 1นาฬิกา – 3 นาฬิกา ที่หุ้นจะลง โดยในช่วง 12นาฬิกา เป็นช่วงที่นักลงทุนโลภมากที่สุด และมีความคิดที่ว่าตลาดหุ้นไม่ลงหรอก แต่สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่าหุ้นใกล้จุดสูงสุดแล้ว คือ อัตราเงินเฟ้อ

*** หากอัตราเงินเฟ้อขึ้นมาสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจเมื่อไร ให้รู้ไว้เลยว่าเศรษฐกิจกำลังจะก้าวจาก ช่วงเศรษฐกิจขยายตัวมาสู่เศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว ***

กำหนดกลยุทธ์การลงทุน : ต้องระวัง ไม่ควรซื้อหุ้นเพิ่ม เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวอีกครั้งหนึ่ง

ข้อสังเกตจากกรศึกษาวิธี Top Down Approach ทั้งสองวิธี

วิกฤติเศรษฐกิจมักเกิดขึ้นตอนดอกเบี้ยสูง ถ้าอธิบายตามทฤษฎี คือ เมื่อดอกเบี้ยสูง ภาระค่าใช้จ่ายด้าน ดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น ทำให้ผู้กู้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ นำไปสู่งการบริโภคการใช้จ่ายจะลดลง

นอกจากนั้น การที่ดอกเบี้ยสูง ทำให้การกู้เงินเพื่อลงทุนหรือบริโภคก็ลดลงตามไปด้วย สุดท้ายเศรษฐกิจจะ ชะลอตัวจนถึงขั้นวิกฤติได้ ดังนั้น นักลงทุนต้องสังเกตเรื่องดอกเบี้ยให้ดี ว่าหากขึ้นมาสูงมากแล้วระวังว่าวิกฤติเศรษฐกิจ กำลังจะเกิดขึ้น และให้มองว่าโอกาสในการซื้อหุ้นถูกใกล้มาถึงแล้ว

นอกจากวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ๆแล้ว เราไม่ควรมองข้ามวิกฤติเฉพาะตัวของแต่ละหุ้นหรือของแต่ละอุตสาหกรรมด้วย

***งานง่ายๆ ของนักลงทุน VI คือ รอให้ราคาหุ้นที่เราเลือก ลงมา 30% จากจุดสูงสุด แล้วค่อยเข้าทยอยซื้อ**

บทที่ 4  : พื้นฐานการประเมินมูลค่าหุ้นแบบ Bottom Up Approach

วัตถุประสงค์การประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น คือ ทำยังไงให้ได้ของเดิมในราคาที่ถูกกว่า

โดยการวิเคราะห์แบบ Bottom Up นั้น จะยากกว่า วิธี Top down แต่คุณกวีมองว่าการวิเคราะห์แบบ Bottom Up ทำให้เราค้นหาหุ้นดีราคาถูกได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องรอวิกฤติเราก็สามารถหาหุ้นดีราคาถูกได้ เพราะหุ้นตัวนั้น เป็นหุ้นขนาดเล็ก ยังไม่มีคนสนใจวิเคราะห์ ราคาจึงไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง

ปัจจุบันนักวิเคราะห์ มีหุ้นที่วิเคราะห์หุ้นกันอยู่ประมาณ ไม่เกิน 150 บริษัท จากบริษัททั้งหมดกว่า 500 บริษัทในตลาดหุ้นไทย หุ้นที่ถูกมองข้ามเหล่านี้ถือเป็นโอกาสของเหล่า VI เพราะบางทีอาจกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่ขึ้นมา จนเข้า SET 50 SET 100 ในอนาคตก็ได้ ซึ่งคุณกวีเจอมาเยอะแล้ว เช่น หุ้น RGR (Royal Garden Resort) ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ก่อนไปรวมกับ PIZZA  แล้วสุดท้ายไปซื้อกิจการ MINOR กลายมาเป็นหุ้น MINT ในปัจจุบัน

ซึ่งวิธี Bottom Up ยังใช้วิเคราะห์เพื่อไม่ให้ไปติดกับดักหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดี แต่ราคาแพงได้ด้วยเช่นกัน

แต่ขอย้ำว่าการประเมินมูลค่าหุ้นแบบ Bottom Up ในวิธีของคุณกวีจะใช้เฉพาะหุ้นที่ผ่านการคัดกรองตามเงื่อนไข ของคุณกวีแล้วเท่านั้น

ความยากของการประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น คือ ไม่ทราบผลตอบแทนที่ชัดๆ  แต่อย่างไรก็ตามถ้าเรารู้

1.กระแสเงินสดหรือรายได้ของบริษัท 2.รู้ว่าผลตอบแทนที่ต้องการเท่าไร ถึงจะคุ้มความเสี่ยง ดังนั้นเราถึงจะสามารถประเมิน มูลค่าหุ้นพื้นฐานได้ หากราคาหุ้นที่เราเข้าซื้อให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเสี่ยง นักลงทุนก็จะตัดสินใจลงทุน และทำยังไงเราถึงจะรู้ว่าหุ้นตัวใดมีความเสี่ยงเท่าใด และ เราต้องการผลตอบแทนเท่าไรจึงคุ้มค่ากับความเสี่ยง เราจะมาหาคำตอบกันในหนังสือเล่มนี้

พื้นฐานเริ่มต้น ของการประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น คือ เรื่องมูลค่าเงินตามระยะเวลา (Time Value of money)

ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะพื้นฐานของการประเมินมูลค่าหุ้น คือ การนำผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนหุ้นในอนาคต

เช่น เงินปันผล มาประเมินหามูลค่าหุ้นในปัจจุบัน หรือมาหาราคาวันนี้นี่เอง

เงินในอนาคตและเงินในปัจจุบัน แม้จะจำนวนเท่ากัน แต่มีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งในอนาคตจะมีค่าเท่าไร ขึ้นกับว่าเรานำเงินไปลงทุนในอะไร ผลตอบแทนเท่าไร เช่น เรารับความเสี่ยงได้น้อย เงิน 100 บาท ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ในอีก 1 ปี เงินมีค่าขึ้นเป็น 102 บาท ในอีก 2 ปีข้างหน้า เงินมีค่าขึ้นเป็น 104.04 บาท และหากรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น โดยผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เงินอนาคตเราก็จะมากขึ้นตาม

ในทางกลับกันเราสามารถบอกได้ว่า เงิน  102 บาท ใน 1 ปีข้างหน้าจะมีค่าเท่ากับ 100 บาทในวันนี้ ซึ่งเรียกว่า Discount Cash Flow (ส่วนลดกระแสเงินสด) คือการนำมูลค่าเงินในอนาคตย้อนกลับมาเป็นมูลค่าเงินในวันนี้ ซึ่งสำคัญมาก

เนื่องจากหากจะประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น เราต้องนำผลตอบแทนในอนาคตบริษัท ซึ่งอาจเป็นปันผล หรือกระแสเงินสดบริษัท มาทำกลับให้เป็นมูลค่าปัจจุบันเหมือนกัน โดยมีสูตรง่ายๆ ดังนี้

ตัวอย่าง : จะมีเงินเข้า 10 บาท ในอีก 1 ปี ข้างหน้า และเงินเข้าอีก 15 บาท ใน 2 ปีข้างหน้า จงหามูลค่าเงินวันนี้ มีผลตอบแทน 4%

ซึ่ง ค่า 23.49 บาท คือ มูลค่าพื้นฐานหุ้น

กรณี หากผลตอบแทนที่ต้องการเป็น 12%

ซึ่ง ค่า 20.89 บาท คือ มูลค่าพื้นฐานหุ้น

จากตัวอย่าง ยิ่งผลตอบแทนที่ต้องการมากขึ้นเท่าไร มูลค่าปัจจุบันจะลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น

ข้อสรุปแรก คือ หุ้นหรือบริษัทที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็จะต่ำ จะเป็นผลดี เพราะจะทำให้มูลค่าพื้นฐานของหุ้นสูง

ซึ่งจะสูงกว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง แม้ว่าจะมีกระแสเงินสดในอนาคตเท่ากัน นี่คือเหตุผลที่คุณกวีแนะนำให้เลือกบริษัทพื้นฐานดีๆ กำไรสม่ำเสมอ  สถานะทางการเงินแข็งแกร่ง เพราะบริษัทเหล่านี้ความเสี่ยงต่ำ

***บริษัทที่มีความเสี่ยงต่ำ จะต้องการผลตอบแทนต่ำและได้มูลค่าพื้นฐานสูง***

บทที่ 5  : ใช้เงินปันผลเป็นกระแสเงินสดในการประเมินมูลค่าหุ้น

เมื่อเรียนรู้ค่าเงินตามระยะเวลาไปแล้ว ต่อมาจะเริ่มเรียนรู้ การนำกระแสเงินสดของบริษัทในอนาคตมาทำเป็น มูลค่าปัจจุบัน คือ มูลค่าพื้นฐานหุ้น ส่วนตัวคุณกวีชอบเอา เงินปันผล (Dividend) มาประเมินมูลค่าหุ้น ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ

จากสูตร คือการนำกระแสเงินสด (เงินปันผล) ในอนาคต มาทำส่วนลด กลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน หรือมูลค่าพื้นฐานหุ้น หมายความว่า เป็นมูลค่าที่เราควรซื้อหุ้น เพื่อให้ได้รับผลตอบแทน (K) ที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง หากราคาหุ้นเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานนี้ ผลตอบแทนที่ได้รับจะลดลง ซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ถ้าซื้อได้ถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานนี้ ผลตอบแทนที่ได้รับจะสูงขึ้น คุ้มค่ามากขึ้นในการลงทุน

เนื่องจากการคาดการณ์เงินปันผลในอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จึงได้มีการตั้งสมมติฐานการจ่ายปันผลเป็น 3 รูปแบบ คือ

  1. เงินปันผลเท่ากันตลอดทุกปี
  2. เงินปันผลเติบโตเพิ่มขึ้นเท่ากันทุกปี เช่น เพิ่มขึ้น g% เท่ากันทุกปี (g = growth)
  3. เงินปันผลเพิ่มขึ้นไม่คงที่ทุกงวด โดยเป็นสมมติฐานที่ยากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีที่นักวิเคราะห์ใช้กัน แต่ไม่จำเป็นสำหรับนักลงทุนทั่วไปแบบเรา

สมมติฐานแรก : เงินปันผลเท่ากันตลอดทุกปี

สมมติฐานที่สอง : เงินปันผลเติบโตเพิ่มขึ้นในอัตรา g% เท่ากันตลอดในระยะยาว

สมมติฐานที่สาม : เงินปันผลเติบโตไม่เท่ากันตลอด (นักวิเคราะห์นิยมใช้ นักลงทุนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้)

มีการคาดการณ์เงินปันผลในช่วง 2-3 ปีแรก หลังจากนั้นในปีหลังๆจะกำหนดสมมติฐานว่าเงินปันผลเติบโตเท่ากันตลอด    หรือ g% เหมือนสมมติฐานที่สอง

โดยสมมติฐานนี้มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งและเป็นกลุ่มที่ใหญ่ ที่เน้นลงทุนระยะสั้นถึงกลางใช้ เพื่อคาดการณ์กำไรระยะสั้น และกำหนดกลยุทธ์การลงทุน

*** สำหรับนักลงทุน VI คุณกวีให้ใช้แค่สมมติฐานที่สองเท่านั้น***

เหตุผลที่ คุณกวีเลือกใช้ค่าการเติบโตระยะยาว (g%) สามารถดูกราฟด้านล่างประกอบได้

กำไรในแต่ละปีของทุกบริษัทมีความผันผวน ดังเส้น A แต่หากเราตั้งสมมติฐานว่าบริษัทมีกำไรเติบโต g% เราจะได้กราฟเส้นตรงดังเส้นB ซึ่งไม่ผันผวนเลย ในความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้แน่นอน แต่ในระยะยาว เราคาดหวังการใช้ค่า g% (เส้นB) นั้นจะทำกำไรในระยะยาว ณ ปีที่ 30 มาเท่ากับกำไรที่ผันผวนตามความจริง (เส้นA)

สามารถสรุปได้ว่า ค่า g% เหมาะกับการลงทุนระยะยาว

จากสูตร

เราจำเป็นต้องหา K และ g

  • การหาผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุนหุ้น (K)

K = Rf+ Risk Premium

โดย

  • K คือ  ผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุนหุ้น
  • Rf คือ Risk free rate หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุนสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง เช่น พันธบัตรรัฐบาล 10 ปี (ความเสี่ยงน้อยสุด และที่ใช้ 10 ปี เพราะสมมติฐานว่าลงทุนในหุ้นระยะยาว และพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี    สภาพคล่องมากที่สุด)
  • Risk Premium คือ ผลตอบแทนที่ต้องการเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในหุ้น ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี

หุ้นแต่ละบริษัท มี Risk Premium ไม่เท่ากัน ยิ่งหุ้นที่ความเสี่ยงมากก็ต้องการผลตอบแทนสูงขึ้น คือมี

Risk Premium มากขึ้น และตัวแปรที่ใช้บอกความเสี่ยงของหุ้นแต่ละตัวคือค่าเบต้า (beta) ยิ่งค่าเบต้ามาก ความเสี่ยงก็มาก ซึ่งค่าเบต้าคือค่าที่ใช้วัดผลตอบแทนของหุ้นรายตัว เทียบกับ SET index โดยพิจารณาค่าเบต้า ดังนี้

  1. ค่าเบต้า = 1 : หุ้นบริษัทนี้ต้องการผลตอบแทนเท่ากับผลตอบแทนของ SET index
  2. ค่าเบต้า 1 : หุ้นบริษัทนี้ ขึ้น/ลงเร็วกว่า SET index (ความเสี่ยงสูงกว่าตลาด) คือหุ้นบริษัทนี้ต้องการผลตอบแทนมากกว่าผลตอบแทนของ SET index เช่น ค่าเบต้าของหุ้นเท่ากับ 2 คือ หุ้นบริษัทนี้ต้องการผลตอบแทนมากกว่าผลตอบแทนของ SET index 2 เท่า
  1. ค่าเบต้า 1 : หุ้นบริษัทนี้ ขึ้น/ลงช้ากว่า SET index (ความเสี่ยงต่ำกว่าตลาด) คือหุ้นบริษัทนี้ต้องการผลตอบแทนน้อยกว่าผลตอบแทนของ SET index
  1. ค่าเบต้า 0 : หุ้นบริษัทนี้ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนตรงข้ามกับผลตอบแทนของ SET index ซึ่งเบต้าติดลบนั้นน้อยมากในตลาดหุ้นไทย

ใช้ ค่าเบต้า (beta) หา Risk Premium จากสูตร

        Risk Premium = (Rm – Rf) x beta

Rm = ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (ประเทศไทย = SET index) ปกติจะใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลังเป็นเวลานานๆ เช่น ตลาดหุ้นไทย เปิดมา 40 กว่าปีมีผลตอบแทนเฉลี่ย บวกกับ เงินปันผลจนถึงปัจจุบันประมาณ 12% ต่อปี

ดังนั้น สูตรการหาผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุนหุ้น (K) ได้เป็น

K = Rf + (Rm-Rf) x beta

จากสูตร สรุปได้ว่า ค่าเบต้ายิ่งสูง หุ้นยิ่งมีความเสี่ยงสูง และทำให้ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย

ยกตัวอย่างหุ้น AP : จงหาผลตอบแทนที่ต้องการ (K) ของหุ้น AP ที่มีค่าเบต้า (หาได้จากเว็บตลาดหลักทรัพย์หรือจากไฟล์ excel ของเพจกวี ชูกิจเกษม) เท่ากับ 1.23 เท่า ค่า Rm เท่ากับ 12% และ Rf เท่ากับ 3.5%

จากสูตร  K = Rf + (Rm-Rf) x beta

K = 3.5% + (12%-3.5%) x 1.23% = 13.96%

มีความหมายว่า หากต้องการลงทุนในหุ้น AP ต้องการผลตอบแทนลงทุนที่ 13.96% ส่วนผลตอบแทนที่เกินกว่า 3.5% คือ Risk Premium ของการลงทุนในหุ้น AP

  • การหาการเติบโตในระยะยาว (g) ของบริษัท

g = ROE x (1-Payout ratio)

  • Payout  ratio = สัดส่วนการจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ
  • ROE = Return on Equity (ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น) คือผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากการลงทุน โดยหาได้จาก   การนำกำไรสุทธิหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท

ค่า g หมายถึงการเติบโตเฉลี่ยในระยะยาว ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะบอกถึงการขยายตัว ของส่วนผู้ถือหุ้นในระยะยาว เช่น บริษัท A มี ROE 25% และจ่ายเงินปันผล 70% ของกำไรสุทธิ

ดังนั้น ค่า g = 25% x (1-70%) =7.5%

จะเห็นว่าค่า g นั้น ขึ้นตรงกับกับอัตราส่วนของ ROE จึงไม่แปลกใจว่านักลงทุน VI ที่ประสบความสำเร็จ

เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์  ให้ความสำคัญกับ ROE มาก โดยส่วนตัวคุณกวีไม่ลงทุนกับหุ้นที่มี ROE ต่ำกว่า 15% เลย  ยกเว้น ROE ตกต่ำชั่วคราว เช่น เกิดภัยธรรมชาติ ที่ทำให้กำไรลดลงชั่วคราว

เมื่อเราได้ตัวแปรทั้งหมด และนำไปใส่สูตรมูลค่าพื้นฐาน เมื่อทราบมูลค่าพื้นฐานหุ้นแล้ว หน้าที่ต่อไปก็คือ ตัดสินใจว่าจะซื้อหุ้นตัวนั้นหรือไม่ ราคาตลาดของหุ้นตัวที่เราสนใจสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาพื้นฐานที่เราหาได้

อย่าลืมว่าหุ้นที่เรานำมาประเมินต้องผ่านการคัดกรองของเรามาแล้ว

บทที่ 6  : การประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้อัตราส่วน P/E

ซึ่งเป็นอัตราส่วนยอดฮิตของนักลงทุน แต่คุณกวีเฉยๆกับการปะเมินมูลค่าวิธีนี้ เพราะกำไรสุทธิมักมีความผันผวน ทำให้มูลค่าพื้นฐานที่หาโดยวิธีนี้ผันผวนตามกำไรไปด้วย แต่วิธีนี้นิยมสำหรับกลุ่มนักเก็งกำไร เพราะความผันผวนของมูลค่าพื้นฐานนี่แหละที่สร้างโอกาสการลงทุนระยะสั้นสำหรับพวกเขาได้

ตัวอย่าง : ราคาหุ้น A ปัจจุบันในตลาดหุ้น คือ 20 บาท และบริษัทนี้มีกำไรสุทธิต่อหุ้น คือ 2 บาท ดังนั้นอัตราส่วน P/E ของบริษัท A เท่ากับ 10 เท่า (20/2 = 10) หมายถึงว่า ราคาหุ้นของบริษัท A ซื้อขายกันที่ 10 เท่าของกำไรสุทธิต่อหุ้น

สมมติว่ามูลค่าพื้นฐานหุ้น A ควรอยู่ที่ 15 เท่า จะได้ราคาพื้นฐานของหุ้น A ที่ 30 บาท (15×2=30) ซึ่งเราควรซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะราคาปัจจุบันอยู่ที่ 20 บาท แต่ถ้ามูลค่าพื้นฐานหุ้น A ควรอยู่ที่ 8 เท่า จะได้ราคาพื้นฐานของหุ้น A เพียง 16 บาท (8×2=16) ซึ่งเราควรขายหุ้นหรือไม่ซื้อ เพราะราคาหุ้นปัจจุบัน 20 บาท สูงกว่ามูลค่าพื้นฐานที่ 16 บาท

คำถามที่สำคัญ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นแต่ละตัว ควรซื้อขายกันที่อัตราส่วน P/E กี่เท่า คุณกวีเสนอ 3 วิธี ในการหาอัตราส่วน P/E ที่เหมาะสมสำหรับหุ้นแต่ละตัว ดังนี้

วิธีที่ 1 : ใช้อัตราส่วน P/E ของหุ้นในอดีต

วิธีนี้ง่ายสุดและนิยมใช้ แต่จุดอ่อนที่สำคัญคือ การใช้ข้อมูลในอดีต เพราะหากบริษัทนี้มีพื้นฐานเปลี่ยนไปอย่างมากไม่ว่า จะในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง บริษัทนี้ก็ควรซื้อขาย P/E ที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าในอดีตเช่นเดียวกัน

วิธีที่ 2 : ใช้อัตราส่วน P/E ของอุตสาหกรรมเดียวกันของไทยหรือของต่างประเทศ

วิธีนี้พยายามลบจุดอ่อนของวิธีแรก โดยหลีกเลี่ยงการใช้ P/E ของหุ้นแต่ละตัว แต่ใช้ P/E ของอุตสาหกรรมแทน

แต่จุดอ่อนคือ หุ้นแต่ละตัวในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทำไมต้องซื้อขายกันที่ P/E เท่ากันด้วย เพราะแต่ละบริษัท มีพื้นฐานไม่เหมือนกัน บริษัทที่ดีกว่าก็ควรซื้อขายกันที่ P/E สูงกว่าของอุตสาหกรรม

วิธีที่ 3 : ใช้สูตรในการคำนวณ

วิธีนี้พยายามลบจุดอ่อนของ 2 วิธีแรก แต่วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่เป็นวิธีที่เข้าท่าที่สุดในความคิดของคุณกวี

ใช้สูตร

ตัวอย่าง : หุ้น A มี Payout Ratio 70% มี g เท่ากับ 3% และ K เท่ากับ 7% หุ้น A ควรซื้อขายที่ P/E เท่าไร

P/E ที่เหมาะสม = 70% / (7%-3%) = 17.5 เท่า

หมายความว่า หุ้น A ควรมีราคาซื้อขายที่ 17.5 เท่าของกำไรสุทธิต่อหุ้น ดังนั้นหากหุ้น A มีกำไรสุทธิต่อหุ้น(Earning per share,E) เท่ากับ   2  บาทต่อหุ้น ราคาพื้นฐานของหุ้นตัวนี้จะเท่ากับ 35 บาท (17.5 เท่า x 2 บาทต่อหุ้น)

สรุป

จากสูตร P/E ที่เหมาะสม ของหุ้นจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น(ROE) เพราะในสูตรมีค่า g

หาก ROE สูง เราจะได้ P/E ที่เหมาะสมสูง หมายถึงเราให้มูลค่าหุ้นนั้นสูง และอีกเหตุผลหนึ่งที่คุณกวีแนะนำให้หาหุ้นที่มี ROE สูงๆ ลงทุนไว้ เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่า ROE หรืออัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นมีความสำคัญต่อมูลค่าที่เหมาะสม ของหุ้นแต่ละตัวมาก

นักลงทุน VI มองหาหุ้นถูกและดีเพื่อการลงทุน จะพยายามหาหุ้นที่มี P/E ต่ำ แต่ ROE สูง ซึ่งเราจะพบเห็นหุ้นเหล่านี้มากขึ้น เมื่อตลาดหุ้นปรับลดลงมามากๆ

บทที่ 7  : การประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้อัตราส่วน P/BV

หลักการคล้ายกับการใช้อัตราส่วน P/E แต่วิธีอัตราส่วน P/BVจะเหมาะมากเมื่อเวลาเกิดวิกฤติหนักๆ แล้วบริษัทที่ เราเล็งอยู่ขาดทุน ทำให้ อัตราส่วน P/E ใช้ไม่ได้ เนื่องจากได้ค่าติดลบ แต่วิธีอัตราส่วน P/BV สามารถแก้ปัญหานี้ได้

  • Book value per share หรือมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น หาได้จาก ส่วนผู้ถือหุ้น หารด้วย จำนวนหุ้น

ตัวอย่าง : ราคาหุ้น A ปัจจุบันในตลาดหุ้น คือ 20 บาท และบริษัทนี้มีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นอยู่ที่ 10 บาท ดังนั้นอัตราส่วน P/BV ของบริษัท A เท่ากับ 2 เท่า (20/10 = 2) หมายถึงว่า ราคาหุ้นของบริษัท A ซื้อขายกันที่ 2 เท่าของมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น

สมมติว่ามูลค่าพื้นฐานหุ้น A ควรอยู่ที่ 3 เท่า จะได้ราคาพื้นฐานของหุ้น A ที่ 30 บาท (3×10=30) ซึ่งเราควรซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะราคาปัจจุบันอยู่ที่ 20 บาท แต่ถ้ามูลค่าพื้นฐานหุ้น A ควรอยู่ที่ 1.5 เท่า จะได้ราคาพื้นฐานของหุ้น A เพียง 15 บาท (1.5×10=15) ซึ่งเราควรขายหุ้นหรือไม่ซื้อ เพราะราคาหุ้นปัจจุบัน 20 บาท สูงกว่ามูลค่าพื้นฐานที่ 15 บาท

คำถามที่สำคัญ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นแต่ละตัว ควรซื้อขายกันที่อัตราส่วน P/BV กี่เท่า คุณกวีเสนอ 3 วิธี ในการหาอัตราส่วน P/BV ที่เหมาะสมสำหรับหุ้นแต่ละตัว ดังนี้

วิธีที่ 1 : ใช้อัตราส่วน P/BV ของหุ้นในอดีต

วิธีที่ 2 : ใช้อัตราส่วน P/BV ของอุตสาหกรรมเดียวกันของไทยหรือของต่างประเทศ

วิธีที่ 3 : ใช้สูตรในการคำนวณ

จุดอ่อนและจุดแข็ง ของแต่ละวิธี สำหรับ P/E หรือ P/BV มีคำอธิบายเหมือนกัน และคุณกวีก็ยืนยันว่าใช้สูตรในการคำนวณ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด สูตรที่ใช้ในการหา

ตัวอย่าง : หุ้น A มี ROE 20% มี g เท่ากับ 5% และ K เท่ากับ 10% หุ้น A ควรซื้อขายที่เท่าไร

P/BV ที่เหมาะสม = 20% – 5% / (10%-5%) = 3 เท่า

หมายความว่า หุ้น A ควรมีราคาซื้อขายที่ 3 เท่าของมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value, BV) ดังนั้นหากหุ้น A มีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น เท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น ราคาพื้นฐานของหุ้นตัวนี้ควรซื้อขายกันที่ 30 บาท (3 เท่า x 10 บาทต่อหุ้น)

สังเกตได้ว่า หุ้นควรจะซื้อขายกันที่ P/BV เท่าไรจะขึ้นอยู่กับ ROE อีกแล้ว เพราะหุ้นที่มี ROE สูง (หุ้นที่ให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นสูง) ก็ควรซื้อขายกันที่ P/BV สูง

นักลงทุน VI จะพยายามหาหุ้นที่มี P/BV ต่ำ แต่ ROE สูง ซึ่งเราจะพบเห็นหุ้นเหล่านี้มากขึ้น เมื่อตลาดหุ้นปรับลดลงมามากๆ ยิ่งถ้าเราเห็น P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า เป็นโอกาสที่ดีมากในการเก็บหุ้นเข้าพอร์ต แต่ที่สำคัญคือต้องเป็นหุ้นพื้นฐานที่ดีนะ ไม่ใช่หุ้นบริษัทไหนซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีก็ซื้อหมด และคุณกวีขอย้ำอีกครั้งว่าให้หาหุ้นที่มี ROE มากกว่า 15% หรือให้ดีมากกว่า 20%

การประเมินมูลค่าหุ้นโดยวิธี Bottom up Approach  นั้นค่อนข้างยากและมีความซับซ้อน แต่ข้อดีคือทำให้คนที่เข้าใจ สามารถเลือกจังหวะการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องรอวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ๆ เหมือนกับวิธีของ Top Down Approach

บทที่ 8  : กลุ่มอุตสาหกรรมกับการเลือกวิธีการประเมินมูลค่าหุ้น

ที่ผ่านมา คุณกวีเลือกสอนวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นเพียง 3 วิธี เพราะคิดว่าเพียงพอแล้ว และสามารถทำได้เอง

แต่ 3 วิธีที่ผ่านมานั้น มีความเหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรมต่างกัน     ส่วนตัวคุณกวีชอบวิธีการใช้เงินปันผลเพื่อประเมินมูลค่าหุ้นมากที่สุด เพราะเงินปันผลคือผลตอบแทนที่ นักลงทุนได้รับจริงๆ ดังนั้นการนำเงินสดที่ผู้ถือหุ้นได้รับ มาหามูลค่าพื้นฐาน จึงเป็นวิธีที่เหมาะสม

และหุ้นที่ผ่านการคัดกรองของคุณกวีจะเป็นหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมมีวิธีที่เหมาะสมต่างกัน เช่น หุ้นในกลุ่มสถาบันการเงิน ทั้ง ธนาคารพาณิชย์ ประกันภัยและ ประกันชีวิต การประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้ P/BV มีความเหมาะสมมากกว่า เพราะมูลค่าทางบัญชีของสถาบันการเงิน ค่อนข้างมีความถูกต้องและแม่นยำมากกว่ามูลค่าทางบัญชีของอุตสาหกรรมอื่น เพราะมูลค่าทางบัญชี คือ ส่วนของผู้ถือหุ้น เกิดจากสินทรัพย์ลบด้วยหนี้สิน และสินทรัพย์ของธนาคารส่วนใหญ่ คือ สินเชื่อ มีมูลค่าแน่นอน ไม่ลดลงตามระยะเวลา นอกจากเป็นหนี้เสียเท่านั้น ส่วนหนี้สิน ส่วนใหญ่คือเงินฝาก มีมูลค่าไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มอสังหาฯ การประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้ P/E มีความเหมาะสมมากกว่า เพราะว่ากลุ่มอุตสาหกรรมนี้กำไรค่อนข้างผันผวนในแต่ละปี เพราะขึ้นอยู่กับงานประมูลที่ได้ หรือโครงการที่จะเปิดในแต่ละปี อย่างไรก็ตามหุ้นที่มีกำไรผันผวนในระยะยาว จะไม่ผ่านการคัดกรองหุ้นพื้นฐานดี ให้เข้ามาได้รับประเมินมูลค่าหุ้นพื้นฐานกัน

บทที่ 9  : อุปสรรคการประเมินมูลค่าหุ้น

อุปสรรคในการประเมินเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ และเกิดขึ้นบ่อยด้วย คุณกวีแบ่งอุปสรรคในการประเมินหุ้น

ออกเป็น 4 อุปสรรค คือ

อุปสรรคที่ 1 : มูลค่าพื้นฐานติดลบ เพราะค่า K-g ติดลบ

อุปสรรคนี้เจอบ่อยมาก โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดเล็ก ในสูตรที่คุณกวีสอนทุกสูตรจะมีการหารด้วย K-g ทุกสูตร

ในความเป็นจริงการมีค่าเติบโตในระยะยาว g ยิ่งสูงยิ่งดี แต่ถ้าสูงมากเกินค่า k กลับกลายเป็นว่าเราจะได้มูลค่าพื้นฐาน ติดลบ

เมื่อเจอค่า g สูง คุณกวีจะกำหนดค่า g ขึ้นมาใหม่ โดยแทนค่า g เป็น 3% 5% และ7% (ค่า g = 3% นั้นมาจากเงินเฟ้อในระยะยาวของประเทศไทย เชื่อว่าบริษัทที่เราคัดกรองมาจะเติบโตระยะยาวได้ 3% ไม่ยาก ส่วน 7% มาจากเงินเฟ้อ บวกด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของไทยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4% และสุดท้าย 5% เป็นตัวเลข ที่อยู่ตรงกลางแค่นั้น) เมื่อนำไปเข้าสูตรหามูลค่าพื้นฐานหุ้นในบทที่ผ่านมา ค่าที่ได้จะมีกรอบพื้นฐานที่กว้าง แต่คุณกวีไม่ได้ต้องการค่าที่แน่นอนอยู่แล้ว ต้องการเพียงรู้ว่าหุ้นวันนี้ถูกหรือแพง ควรลงทุนหรือควรรอซื้อมากกว่า

อุปสรรคที่ 2 : ราคาพื้นฐานต่ำมากจนน่าใจหาย

บางครั้งการประเมินมูลค่าพื้นฐานของหุ้นออกมาต่ำกว่าราคาตลาดมาก ทั้งที่เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี ทำให้เราไม่สามารถลงทุนได้ และคุณกวีมีวิธีแก้ปัญหานี้ โดย จะแทนค่า g สูงขึ้นเรื่อยๆ และดูว่าหากเราได้มูลค่าพื้นฐานของหุ้นตัวที่เราเลือกเท่ากับมูลค่าปัจจุบัน จะต้องแทนค่า g กี่เปอร์เซ็นต์ และมาดูว่าหุ้นตัวนี้ ควรมีค่า g สูงขนาดนี้หรือไม่ หากไม่ควรแสดงว่าราคาปัจจุบันนี้แพงเกินไปที่จะซื้อ หากคุณตัดสินใจซื้อเพราะเห็นว่าเป็นหุ้นพื้นฐานดีและอยากได้ เท่ากับว่าคุณติดกับดักได้หุ้นพื้นฐานดีในราคาที่แพงทันที

อุปสรรคที่ 3 : ราคาพื้นฐานสูงจนไม่น่าเชื่อ

การประเมินมูลค่าพื้นฐานได้สูงเกินไปจริงๆ คือสิ่งที่ดี  แต่หากมันสูงกว่าราคาตลาดมากเกินไปจนน่าสงสัย เราต้องพิจารณาว่ามันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

วิธีตรวจสอบว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่ จะคล้ายกับวิธีที่เราได้ราคาพื้นฐานน้อยเกินไป แต่แทนที่จะแทนค่า g สูงขึ้นเรื่อยๆ ให้เปลี่ยนมาแทนค่า g ลดลงมาเหลือ 3% 5% และ7% และดูว่า มูลค่าพื้นฐานเท่าไร หากมูลค่าพื้นฐานที่เราได้ยังคงสูงกว่าตลาด อาจพอสรุปได้ว่า หุ้นตัวนี้ราคาถูกจริงๆ น่าสนใจในการลงทุน

อุปสรรคที่ 4 : ราคาพื้นฐานลงเพราะเกิดวิกฤติ ทำให้ลงทุนไม่ได้ แม้ว่าเป็นหุ้นพื้นฐานดี

เมื่อมีการเกิดวิกฤติและวิเคราะห์แล้วว่าวิกฤติเหล่านั้นเป็นวิกฤติระยะสั้น (วิกฤติยาวเป็นปีๆ คุณกวีก็มองว่าเป็นระยะสั้น) และไม่ได้มีผลต่อพื้นฐานระยะยาวของบริษัท นั่นหมายถึงว่าถ้าวิกฤติเหล่านั้นผ่านไป บริษัทจะกลับมาทำกำไรได้เป็นปกติเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่ากลับมาไม่ได้แบบบางธุรกิจ เช่น โครงสร้างพลังงานโลกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ธุรกิจพลังงานดั้งเดิมได้รับผลกระทบจนพื้นฐานระยะยาวเปลี่ยนไป

เมื่อเกิดวิกฤติ กำไรของบริษัทก็จะได้รับผลกระทบ หากส่งผลให้อัตราส่วน ROE ลดลง ดังนั้นมูลค่าพื้นฐานลดลงแน่นอน และ บางครั้งมูลค่าพื้นฐานปรับลดลงกว่าราคาตลาดปัจจุบันอีก ทำให้เราซื้อไม่ได้ทั้งที่ราคาลดลงมาตั้งเยอะ ดังนั้นเราจะแก้ปัญหานี้ โดยใช้มูลค่าพื้นฐานก่อนเกิดวิกฤติเป็นเกณฑ์

หากเป็นบริษัทที่พื้นฐานดี วิกฤติที่เกิดขึ้นไม่ได้เปลี่ยนพื้นฐานระยะยาว ให้เราใช้มูลค่าพื้นฐานก่อนเกิดวิกฤติเป็นบรรทัดฐาน

หากราคาลงมาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานก่อนเกิดวิกฤติมากๆ เป็นโอกาสที่ดีในการซื้อเพื่อลงทุนระยะยาว

บทที่ 10  : ค่าเผื่อความปลอดภัย หรือ Margin of Safety

ความหมาย คือ หากเราประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้นได้เท่าไร เราควรเผื่อค่าความปลอดภัยไว้ ด้วยการซื้อหุ้น  ในราคาส่วนลดหรือต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่เราหาได้ โดยวอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวไว้ว่า จะซื้อหุ้นที่ส่วนลดสูงถึง 50%

ขณะที่อาจารย์ของบัฟเฟตต์ คือ เบนจามิน เกรแฮม เคยบอกไว้ที่ 20% ซึ่งแตกต่างกันพอสมควร

ในความคิดคุณกวี การรอส่วนลด 50% อาจจะมากเกินไป แต่มีคำอธิบาย ดังนี้ การประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น

ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ตั้งสมมติฐานว่าหุ้นที่ลงทุนได้ผ่านการคัดกรองมาแล้ว ทำให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำและ เลือกลงทุนระยะยาว ทำให้วอร์เรน บัฟเฟตต์กำหนดผลตอบแทนที่ต้องการ (K) โดยใช้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 30 ปี แทนการใช้ค่า K แบบที่คุณกวีสอนในหนังสือเล่มนี้ ดังนั้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 30 ปี จะต่ำกว่า ค่า K ตามแบบคุณกวี ดังนั้นมูลค่าพื้นฐานหุ้นตามวิธีวอร์เรน บัฟเฟตต์ จะออกมาสูงกว่าวิธีของคุณกวีมาก

หากเราประเมินมูลค่าพื้นฐานแบบคุณกวี มูลค่าพื้นฐานจะออกมาต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นการให้ค่าเผื่อความปลอดภัย จึงไม่จำเป็นต้องสูงมาก ซึ่งการได้ส่วนลด 10% ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว

ที่คุณกวี ไม่ใช้ค่าผลตอบแทนที่ต้องการตามวอร์เรน บัฟเฟตต์ เพราะในประเทศไทย พันธบัตร 30 ปีมีน้อยมาก

หรือหากมีก็ไม่มีการซื้อขายในตลาด ทำให้ผลตอบแทนที่เห็นไม่เป็นปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้

บทที่ 11  : อย่าลืมสิ่งที่เหลือ

ขอทบทวนหลักการลงทุนแนว VI ของคุณกวีอีกครั้ง ว่ามีหลักอยู่ 5 หลักการ ดังนี้

  1. เลือกหุ้นบริษัทพื้นฐานดี
  2. ซื้อเมื่อราคาหุ้นของบริษัทพื้นฐานดีที่ท่านเลือก มีราคาถูกเลือกหุ้นบริษัทพื้นฐานดี
  3. ถือลงทุนระยะยาว : ไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่เป็นสิบปีขึ้นไป หากเราซื้อหุ้นพื้นฐานดีได้ในราคาถูก การถือลงทุนระยะยาว จะให้ผลตอบแทนที่มหัศจรรย์อย่างแน่นอน
  4. กระจายความเสี่ยง : ควรลงทุนในหุ้นให้มีความหลากหลาย แต่ไม่ใช่ถือหุ้นที 30-40 บริษัท เพราะเราคงดูไม่ทัน ส่วนตัวคุณกวี แนะนำให้ถือไม่ควรเกิน 10 หุ้น และควรกระจายอยู่ต่างอุตสาหกรรมประมาณ 3-4 อุตสาหกรรมก็พอ และควรดูสินทรัพย์อื่นๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล อสังหาฯ ทองคำ ด้วย แต่ต้องพิจารณาความเสี่ยงที่รับได้ ของตนเองก่อน

 

จากรูปจะเห็นว่าบุคคลที่ร่ำรวย 200 อันดับแรกจากนิตยสาร Forbes มีการกระจายความเสี่ยงมากแค่ไหน

5. ติดตามบริษัทที่ท่านลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหาบริษัทใหม่ๆ เข้ามาในลิสต์ของเรา เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน

ติดตามการประกาศผลประกอบการทุกไตรมาสว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่  มีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง พื้นฐานระยะยาวหรือไม่

การศึกษาบริษัทใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในลิสต์อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เรามีโอกาสได้หุ้นพื้นฐานดีราคาถูกมากขึ้น

และเราต้องมีการปรับปรุงหรือคำนวณมูลค่าพื้นฐานของเราใหม่ทุกปี เพราะกำไรแต่ละปีเปลี่ยนไป จะมีผลต่อ

มูลค่าพื้นฐาน หากมูลค่าพื้นฐานลดลงเราต้องรู้ว่าลดเพราะอะไร หากลงเพราะปัจจัยระยะสั้น ก็ไม่จำเป็นต้องกังวล แต่หากลงเพราะพื้นฐานระยะยาวเปลี่ยน เราจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร กับหุ้นตัวนั้น

อย่าลืมว่าการลงทุนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่จุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่อยู่ที่ว่า เราจะทำการบ้านต่อเนื่องได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

สั่งซื้อหนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน ตอน มหัศจรรย์ผลตอบแทน คลิ๊ก